fbpx

ปรีดีหนี ครั้งหลัง พ.ศ.2492

เป็นเวลาเกือบสองปีที่ผู้เขียนทิ้งช่วงจากบทความ ‘หลากเรื่องเล่า เมื่อปรีดีหนีครั้งแรก‘ พ.ศ.2490[1] ความเดิมจากบทความก่อนคือการหยิบยกบันทึกของผู้คนรอบกายท่านรัฐบุรุษอาวุโสที่บอกเล่าถึงการหลบลี้ภัยการเมืองออกจากประเทศไทยได้สำเร็จ ภายหลังถูกรัฐประหารเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2490 จนสามารถขึ้นฝั่งประเทศจีนในยุคปลายหมินกั๋วซึ่งปกครองโดยมิตรเก่า จอมพลเจียงไคเช็กเมื่อปลายปี พ.ศ.2490

สำหรับนักปฏิวัติอย่างปรีดี การหนีครั้งนั้นถือเป็นเพียงการหลบรักษาแผลชั่วคราวเพื่อรอเวลาหวนมา ‘เอาคืน’ อย่างไรก็ดี ความพยายามกลับสู่อำนาจด้วยปฏิบัติการที่ปรีดีนิยามว่า ‘ขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2492’ ประสบความล้มเหลวจนถูกขนานนามว่า ‘กบฏวังหลวง’ นำมาซึ่งการต้องหนีอีกครั้ง แต่ครั้งนี้ไร้ซึ่งการเกื้อกูลช่วยเหลือจากอดีตมิ่งมิตรชาวอังกฤษและอเมริกันเฉกเช่นคราวแรก ปรีดีจึงจำต้องพึ่งพาอาศัยเพียงภริยาพร้อมมิตรแท้ยามยากหาที่พักพิงชั่วคราว กระทั่งสามารถลี้ภัยการเมืองได้อย่างหวุดหวิด และมิได้กลับคืนสู่ประเทศไทยอีกเลยตราบจนวาระสุดท้ายของชีวิต


จาก ‘เมืองจีน’ สู่ ‘วังหลวง’

‘ขบวนการประชาธิปไตย’ ที่จบลงด้วยข้อหา ‘กบฏ’


 ปกหนังสืออัตชีวประวัติของอาจารย์ปรีดี ภาษาฝรั่งเศส


ภายในอัตชีวประวัติของปรีดีเล่ม ‘MA VIE MOUVEMENTÉE ET MES 21 ANS D’EXIL EN CHINE POPULAIRE’ ประพันธ์เป็นภาษาฝรั่งเศส ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ.2515 และ ‘บางส่วนได้รับการแปลเป็นภาษาไทย’ หลังอสัญกรรมของปรีดีสามปีเมื่อ พ.ศ.2529 ในชื่อ ‘ชีวิตผันผวนของข้าพเจ้าและ 21 ปีลี้ภัยในสาธารณรัฐราษฎรจีน’ เล่าถึงความพยายามครั้งนั้นไว้ว่า

“เมื่อเจียงไคเช็กได้รับแจ้งเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่สนามบินเซี่ยงไฮ้แล้ว ก็ได้แสดงความปรารถนาจะให้ข้าพเจ้าพำนักอยู่ในจีนโดยยืนยันกับข้าพเจ้าว่า ไม่เคยลืมคุณูปการของข้าพเจ้าที่มีต่อสัมพันธมิตรระหว่างสงคราม และเขาจะไม่ส่งข้าพเจ้าข้ามแดนกลับไป เนื่องจากเขาจำได้ดีว่า รัฐบาลจอมพลพิบูล ฯ (จอมพล ป.พิบูลสงคราม-ผู้เขียน) ได้ปฏิบัติต่อประเทศจีนด้วยความไม่ซื่อสัตย์และปราศจากความละอายใจ ในการนี้ เขาได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่อำนายความสะดวกแก่ข้าพเจ้าระหว่างพำนักอยู่ในจีน


เจียงไคเช็ก

วันที่ 1 ตุลาคม ในปีเดียวกัน (พ.ศ.2491-ผู้เขียน) ข้าพเจ้าก็ได้ข่าวว่า รัฐบาลจอมพลพิบูล ฯ ได้จับกุมนายทหารและนักการเมืองหลายคน ซึ่งวางแผนจะก่อการยึดอำนาจจากรัฐบาลในวันรุ่งขึ้น แต่สมาชิกกลุ่มคนหนึ่งเกิดทรยศหักหลังพรรคพวกขึ้นมา ขบวนการต่อสู้ครั้งนี้นำโดย พลตรีเนตร เขมะโยธิน (ยศในขณะนั้น) นักเรียนเก่าโรงเรียนเสนาธิการชั้นสูงแห่งฝรั่งเศส ซึ่งเคยเป็นสมาชิก “ขบวนการเสรีไทย” ระหว่างสงคราม และเพื่อนสนิทของข้าพเจ้าจำนวนหนึ่งได้เข้าร่วมขบวนการต่อสู้ครั้งนี้ การพยายามก่อกบฏครั้งนี้เรียกชื่อว่า “กบฏ 1 ตุลาคม 2491” (กบฏเสนาธิการ-ผู้เขียน)

ส่วนคนที่สามารถหลบหนีการจับกุม ได้ส่งตัวแทนของเขามาพบข้าพเจ้า เพื่อวางแผนก่อการอภิวัฒน์โค่นรัฐบาลปฏิกิริยาอีกครั้งหนึ่ง เราได้ตกลงกันว่า จะให้ข้าพเจ้าเป็นผู้นำการก่อการอีกครั้งหนึ่ง โดยร่วมมือกับเพื่อนๆ ทหารเรือ นักศึกษามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ผู้รักชาติ ประชาธิปไตยและทหารตำรวจผู้รักชาติ รวมทั้งบรรดาแม่ทัพเรือ และนายพลคนหนึ่งซึ่งเป็นอดีตหัวหน้าเสนาธิการกองทัพบก และถูกคณะรัฐประหารปลดออกจากตำแหน่ง

เมื่อมิตรของข้าพเจ้าที่เมืองไทยแจ้งให้ข้าพเจ้าทราบว่า โอกาสอำนวยแล้ว เราจึงเช่าเรือขนาด 20 ตัน เพื่อเดินทางอย่างลับๆ ออกจากฝั่งทะเลจีน ไปยังฝั่งตะวันออกของอ่าวสยาม”[2]

เรือลำที่ปรีดีล่องจากจีนเข้าน่านน้ำย่านทัพเรือสัตหีบ[3]เพื่อพบแม่ทัพเรือคนสำคัญ พลเรือตรี หลวงสังวรยุทธกิจ (สังวร สุวรรณชีพ, พ.ศ.2444 – 2515) คือเรือ “Submarine chaser ที่นาวีอเมริกันรุขายขนาดเท่าตอร์ปิโดใหญ่ของไทยนั่นเอง” ในอนุสรณ์งานศพของแม่ทัพเรือสมาชิกผู้ก่อการ 2475 บันทึกการขึ้นฝั่งครั้งนั้นของปรีดีอย่างละเอียด พร้อมถ่ายทอดความคับข้องใจของสหายรักปรีดีผ่านบางข้อความที่น่าสนใจไว้ว่า


พลเรือตรี หลวงสังวรยุทธกิจ (สังวร สุวรรรณชีพ)


“ท่านปรีดีจับข้อมือเรา จูงขึ้นสะพานเดินเรือ ปากก็พล่ามว่า โธ่คุณหลวง ผมอุตส่าห์มากัน ทีนี้ไม่เอาใครทั้งนั้น เจ้าหลวงธํารงผมก็ไม่บอกมัน คราวก่อนเรา Under ground คิดว่าคราวนี้จะ Under sea…

ผมมาคราวนี้ตั้งใจเด็ดจะไม่กลับไปจีนอีก เพราะอย่างไรก็อยู่ไม่ได้ พวกแดงมันรุกกระชั้นเข้ามาใกล้ เชื่อว่ารัฐบาลจีนซึ่งมีบุคคลที่พอจะใช้เขาได้บ้าง จะเข้าที่อับจนลงอย่างไรก็ไม่รู้ แต่น่าขอบใจที่ความดีของคุณหลวง ให้ข้าวไปเลี้ยงพลเมืองจีนเมื่อครั้งเป็นอธิบดีศุลกากร ซึ่งทําให้เจ้าหงวนมันมีหน้ามีตา พวกนายพลจีนชอบมันมาก เงินทอง เอากันได้ไม่อั้น พวกนี้มันยังแหกอาวุธที่พอใช้การได้จากคลังของรัฐบาลจีน ผมตั้งใจเอา มาฝากคุณทหารเขาบ้าง ซึ่งผมได้ทราบว่า คุณหลวงได้มอบอาวุธของเสรีไทยซึ่งอยู่ใน ปกครองให้พวกทหารเรือเขาไว้ ดีแล้วคุณหลวงผมทราบเรื่องเมื่ออยู่สิงคโปร์ นายทหารเรือเมล์เขาไปติดต่อเล่าให้ฟังว่า คุณหลวงอยู่ชลบุรีไม่เดือดร้อนอะไรก็เบาใจ อ้ายอังกฤษริยําหมาที่สุด คุณหลวงคบมันไม่ได้ มันหักหลังผมทุกอย่าง…”

ครั้นเมื่อหัวข้อวกมาถึงคดีสวรรคตที่ปรีดีกำลังเผชิญยามนั้น อดีตนายกฯ ผู้ลี้ภัยระบายความรู้สึกกับหลวงสังวรฯ ไว้ว่า

“กรณีสวรรคตนั้นใครๆ ก็รู้กันทั้งเมืองว่าแกล้งผม ผมทําแสนจะดีกับพวกเจ้าเท่าไร เมื่อเจ้าฝรั่งมันทิ้งระเบิดผมก็พาไปไว้บางปะอิน[4] เงินทองที่พวกเจ้ามีสิทธิ์ได้ผมก็เป็นผู้จัดแจง รัฐธรรมนูญที่แก้ไขกันขึ้นให้พวกเจ้ามีสิทธิ์ผมก็ทํา คุณหลวงอ้ายพวกเรานี่รวมความว่ามีกรรม ทําให้เขาเท่าไรๆ เขาก็คว่ำเรือเรา”[5]


หนังสืองานศพหลวงสังวรยุทธกิจ


ทั้งนี้ ท้ายที่สุดแล้ว หลวงสังวรฯ ต้องเผชิญชะตากรรมในฐานะกบฏคราวนั้นไปด้วยเช่นเดียวกัน โดยถูกตราค่าหัวเท่ากับองครักษ์คนสำคัญของปรีดี คือ ร.อ.วัชรชัย ชัยสิทธิเวชช ในราคา 3 หมื่นบาท!

ในทางกลับกัน อาจารย์ปรีดีก็รักและเคารพนายพลเรือท่านนี้อย่างสูง ครั้นเพื่อนร่วมตายวายชนม์ลงใน พ.ศ.2515 มิตรรักจากแดนไกลที่ขณะนั้นพำนักอยู่ในฝรั่งเศสได้เขียนคำไว้อาลัยขนาดยาวกว่า 10 หน้าเพื่อจัดพิมพ์ในหนังสืออนุสรณ์งานศพเล่มหนานี้ บทรำลึกนี้ถือว่าสำคัญในมุมของนักประวัติศาสตร์มาก นายปรีดีได้เล่าถึงเรื่องแนวคิดก่อการและแผนการปฏิวัติหลากหลายทางเลือกที่มิเคยเผยแพร่ที่ใดมาก่อน[13]


ร.อ.วัชรชัย ชัยสิทธิเวชช ร.น. (พ.ศ.2457-2539) 

 อนุสรณ์งานศพของ ‘องครักษ์พิทักษ์ปรีดี’


หนังสืองานศพ ร.อ.วัชรชัย ชัยสิทธิเวชช ร.น.


จากบทความปรีดีหนีครั้งแรก ผู้เขียนอ้างถึง ร.อ.วัชรชัย บอดี้การ์ดส่วนตัวปรีดีผู้ตามประกบลี้ภัยไปพร้อมกัน[6] ด้วยสถานะความสัมพันธ์ใกล้ชิดปรีดีมากกว่าผู้ใด ฉะนั้นเรื่องเล่าของ ‘คุณตุ๊’ (ชื่อเล่นของวัชรชัย) ผู้ใช้สรรพนาม  ‘ลุง’ จึงถ่ายทอดอัตชีวประวัติช่วงปรีดีหนีทั้งสองครั้งได้แบบลึกซึ้งมากที่สุดแด่ ‘วรรณไว พัธโนทัย’ บุตรชายของ สังข์ พัธโนทัย ซึ่งต่อมานำมาเขียนประกอบเป็นคำไว้อาลัยขนาดยาวบรรจุอยู่ในหนังสืองานศพของ ร.อ.วัชรชัย เมื่อปี พ.ศ.2539 อันถือเป็นบันทึกประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองชิ้นเอกที่หาอ่านได้ยากยิ่ง

ในภาคส่วนของปรีดีหนีครั้งแรก สามารถย้อนกลับไปอ่านในบทความแรกของผู้เขียน ในที่นี้ จะคัดสรรสืบสานเรื่องเล่าของ ร.อ.วัชรชัย นับตั้งแต่ 1.ตระเตรียม 2.ปราชัย และ 3.หนี


1.ตระเตรียม ‘ขบวนการประชาธิปไตย’

ปฐมบทส่วนนี้เปิดฉากขึ้น ณ แผ่นดินจีนในวันที่ยังไม่ปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ เริ่มขึ้นว่า

…เมื่อหลบหนีการรัฐประหารไปอยู่อย่างถาวรที่เซี่ยงไฮ้แล้ว ความเจ็บปวดของการเป็น “ผู้แพ้” ทางการเมืองจากการทับถมใส่ร้ายให้โทษอย่างไม่ปราณีของ “ผู้ชนะ” ทำให้ท่านกับท่านปรีดีจำต้องคิดการกลับคืนสู่อำนาจเพื่อลบล้าง “มลทิน” ต่างๆ ที่ “ฝ่ายชนะ” ป้ายมาให้ได้

ประวัติศาสตร์ที่เรียกว่า “กบฏวังหลวง” จึงคุกรุ่นอยู่ในสมองของ “ผู้แพ้” อยู่ตลอดเวลา

“ที่ลุงเข้าร่วมทำรัฐประหารที่วังหลวงคราวนั้น เพราะอาจารย์พูดอยู่คำหนึ่ง ถ้าเราไม่ทำเราก็กลับไม่ได้ ที่เราทำ เราทำเพื่อจะกลับ ถ้าไม่ทำก็ตาย ถ้าทำยังอาจมีทางรอด”

แล้วคุณลุงตุ๊ก็เล่าเรื่องราวการกลับจากเซี่ยงไฮ้เข้ามาทำรัฐประหาร 26 กุมภาพันธ์ 2492 หรือที่เรียกว่า “กบฏวังหลวง” ให้ฟังด้วยความตื่นเต้นระทึกใจ

“ตอนนั้น อาจารย์กับลุงพยายามติดต่อประสานงานกับบรรดาหน่วยคุมกำลังทหารเรือในประเทศและกำลังสนับสนุนจากประเทศพันธมิตรที่เคยร่วมงานเสรีไทยด้วยกันคือ จีน เจียงไคเชค กับอเมริกา”

“ระหว่างอยู่เซี่ยงไฮ้ อาจารย์บอกคุณสงวนให้ไปบอกเจียงไคเชคว่าอาจารย์มาแล้ว เจียงไคเชคก็ส่งนายนอร์ช เย ตอนนั้นเขาอยู่กรมการเมืองตะวันออกระหว่างกระทรวงการต่างประเทศ ตอนหลังตาคนนี้ได้เป็น รมต.ต่างประเทศของไต้หวัน เขามาจากนานกิงบินมาพบเรา บอกว่าจะให้ช่วยเหลืออะไรบ้างเราก็ขอให้เขาช่วยเงินหรืออาวุธก็ได้ เพราะเราจะกลับเข้าไปทำรัฐประหาร เขาก็บอกว่า ยินดีช่วยอาจารย์…เจียงไคเชค ช่วยมาห้าหมื่นเหรียญ อาจารย์ยังบอกว่า ไอ้ห้าหมื่นเหรียญนี่ เราเคยช่วยข้าวเขา ก็เท่ากับเขาเอามาคืนให้ แล้วเราก็ย้ายจากเซี่ยงไฮ้มาตั้งป้อมที่กวางโจว อเมริกันส่งคนมาติดต่อช่วยเราสองคน ชื่อไอ้โค๊กคนหนึ่ง กับอีกคนหนึ่งจำชื่อมันไม่ได้แล้ว มันช่วยปืนทอมสัน ปืนพกอะไรนี่มาสองกระเป๋าใหญ่ๆ”

“ระหว่างอยู่กวางโจว หลวงธำรงค์ฯ ขึ้นไปพบอาจารย์ แกหนีมาเหมือนกัน แกหนีไปฮ่องกงก่อน แกมาเพื่อจะมาเตาะถามว่าเราจะทำอะไรกันบ้าง เอาไหมเอา ลุงบอกไปถามอาจารย์ดูเองซิ ไอ้ผมนะไม่เอาหรอก แกก็ไปถามอาจารย์ ลุงก็แอบบอกอาจารย์ว่าอย่าเอาหลวงธำรงค์ฯ ร่วมนะ ถ้าจะทำเดี๋ยวเรื่องแตกไปถึงจอมพล ป. เพราะหลวงธำรงค์ฯ กับจอมพล ป. เขาคอหอยลูกกระเดือกกัน อาจารย์ก็ไม่ได้บอกหลวงธำรงค์ฯ กลัวเรื่องจะแตก และหลวงธำรงค์ฯ พูดไปแกก็ไม่มีกำลังอะไร” (รายละเอียดส่วนนี้ ดูเพิ่มเติม ‘ธำรงหนี’ 8 พฤศจิกายน 2490 จุดสิ้นสุดอำนาจของคณะราษฎรสายพลเรือน[7])

“พอเตรียมการเสร็จ อาจารย์ให้คุณสงวนลงมาฮ่องกง ช่วยหาเรือไปส่ง เพราะไอ้กันมันแนะว่าถ้าจะไปต้องหาเรือไป ปืนผาหน้าไม้หาเอาที่กวางโจว ซึ่งเจียงไคเชคเขาก็ให้นายทหารมาคอยประสานอยู่แล้ว เราก็ขนอาวุธจากกวางโจวมาฮ่องกงได้สบาย มันก็เยอะเหมือนกันนา ตั้งสามสี่สิบกระบอก เพื่อเอาไว้แจกพวกเราเท่านั้น ไม่ใช่มีแต่มือเปล่าไป ส่วนกำลังใหญ่อยู่กับทหารเรือในเมืองไทย ตอนนั้นเราติดต่อไปที่หลวงสังวรฯ หลวงสังวรฯ ยังเป็นปรกติไม่ได้ถูกจับหรือถูกขับออก”

“ระหว่างอยู่กวางโจว ลุงเป็นคนไปดูซื้อปืนกลเอง ปืนกลนี่เราต้องใช้ปืนกลแบบเจาะเกราะได้ ไม่ใช่ปืนกลธรรมดา คือหมายความว่าต้องยิงรถถังได้ ปืนกลธรรมดามันยิงไม่เข้า การติดต่อกับหลวงสังวรฯ ในเมืองไทย ลุงใช้พี่เล็กพี่ชายลุง ตอนนั้นพี่เล็กรู้หมดว่าลุงอยู่กันที่ไหนอย่างไร ลุงยังไม่กล้าติดต่อครอบครัว เพราะเกรงเรื่องมันจะแตก ลุงเรียกพี่เล็กไปพบที่ฮ่องกง บอกให้ไปติดต่อหลวงสังวรฯ ว่าจะเอาด้วยไหม แต่ตอนนั้นหลวงสังวรฯ แกไม่มีกำลังอะไร มีแต่กำลังของคุณทหาร ขำหิรัญ คุณทหารแกเป็นญาติกับหลวงสังวรฯ ด้วย ตอนนั้นคุณทหารแกยังเป็นผู้บัญชาการนาวิกโยธิน พอพี่เล็กไปชวนหลวงสังวรฯ ก็คิดมาก แกกลัวจะสู้ไม่ได้ จะพลอยทำให้ทหารลูกเมียลำบากไปด้วย พวกนักเรียนสารวัตรมันเรียกหลวงสังวรฯ เป็นพ่อ เรียกคุณเฉลิมเป็นแม่ แกปกครองแบบลูกหลาน แกก็เลยห่วงมาก ขอปรึกษาคุณทหารดูก่อน ถ้าคุณทหารเอาแกก็เอาด้วย ตกลงคุณทหารแกเอา”

“พอหลวงสังวรฯ ตกลงเอาด้วย ลุงก็ให้พี่เล็กคอยติดต่อประสานงานกับหลวงสังวรฯไว้ บอกหลวงสังวรฯ ว่าเราจะเข้าเมืองไทยนี่ ให้หลวงสังวรฯ ไปพบกันที่ระยองก่อนที่เกาะเสม็ด แล้วพี่เล็กก็เตรียมจัดหาเรือให้หลวงสังวรฯ นั่งไปเป็นเรือหาปลา ทางด้านเรานั้นพอคุณสงวนเช่าเรือวิหคฟ้ามาได้ เรือลำนี้เช่ามาหลายพันดอนลาร์เหมือนกัน เมื่อได้เรือแล้วระหว่างที่จะมาลงเรือ เราก็ต้องขนอาวุธ เจียงไคเชคส่งคนมาช่วยขนไม่งั้นก็ถูกจับกันหมด ตำรวจจีนเป็นคนขนให้เรา เราลงเรือจากกวางโจวมาฮ่องกง แล้วต่อมาถึงเกาะเสม็ดอีกที ตอนนั้นเรามากันสี่คนมีอาจารย์ ลุง สิงโต แล้วก็สุจิตร…”

“การวางแผนรัฐประหารนั้น เราวางแผนกันมาตั้งแต่กวางโจวแล้ว แล้วก็มาผสมผสานกับแผนในเมืองไทย จึงนัดไปประชุมหารือกันที่เกาะเสม็ดก่อน หลวงสังวรฯ เจอเราเข้าบอก โอ้โฮ นัดมาตั้งไกลไปประชุมกันที่ศรีราชาก็ได้แค่นั้นเอง ไอ้พวกรัฐบาลมันไม่รู้เรื่องหรอก เราก็บอกว่ามาที่ไกลไว้ก่อนมันจะปลอดภัยกว่า หลวงสังวรฯ แกก็เลยชวนไปประชุมกันที่ศรีราชา ไอ้ตรงวัดเขาที่เป็นกองบัญชาการเสรีไทยหน่วยสารวัตรเดิมนั่นแหละ เราก็เรียกคุณทหารมาประชุมด้วย มีการวางแผนกันว่าทหารเรือทำยังไง ทหารบกทำยังไง จะประสานกันยังไง แล้วก็มากำหนดตัวผู้จะเข้าดำรงตำแหน่งสำคัญๆ หากรัฐประหารสำเร็จ…เรากำหนดกระทำการกันวันที่ 26 กุมภาพันธ์…


2. ปราชัย ‘กบฏวังหลวง’ พ.ศ.2492


ปกหนังสือสารคดีการเมืองเมื่อครั้งเหตุการณ์ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2492

 
ร.อ.วัชรชัย ดำเนินเรื่องต่ออย่างออกรสว่า

“ก่อนลงมือกระทำการสองสามวัน ลุงกับอาจารย์ก็มาอยู่ที่บ้านของหลานอาจารย์…ใครต่อใครมากันหลายคน มาสั่งงานกำหนดให้ใครมีหน้าที่ทำอะไร”

“พอถึงวันทำ 26 กุมภาพันธ์ เวลาสามทุ่ม ลุงถูกกำหนดให้เป็นคนบุกเข้าไปยึดวังหลวง ลุงก็พากำลังไปที่อาจารย์ให้ไปยึดวังหลวงนี่ อาจารย์แกวางแผนฉลาดมากทีเดียว เท่ากับยิงนกทีเดียวสองตัว อันแรกคือเท่ากับเป็นการยึดแหล่งเงินคือกระทรวงการคลังไว้ในมือก่อน เพื่อจะได้มีเงินมาดำเนินการได้สะดวกจะรัฐประหาร นี่จะใช้ปืนอย่างเดียวไม่ได้ต้องมีเงินด้วย ลุงยังพูดเล่นกับอาจารย์เลยว่า เอ นี่เราเหมือนปล้นเขานะ ปล้นกันชัดๆ เลย ไอ้วิธีทำรัฐประหารนี่มันก็คือการปล้นเมืองกันทีเดียว อาจารย์บอกจะทำยังไงเขาบังคับให้เราต้องปล้นนี่ การยึดวังหลวง นอกจากจะคุมกองเงินไว้แล้วยังเป็นเกราะกำบังที่วิเศษอีก ฝ่ายรัฐบาลไม่กล้ายิงเข้ามาหรอก เพราะเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์เป็นที่ที่คนไทยนับถือบูชา ใครเลือกยิงถล่มเข้ามาข้างในวอดวาย เป็นได้ถูกด่าตายแน่ เราจึงเข้ายึดวังหลวงเป็นอันดับแรก…”

“ตอนแรกที่ลุงเข้าไปยึดวังหลวงนั้น อาจารย์ไม่ได้เข้าไปด้วย อาจารย์เก็บตัวอยู่ในธรรมศาสตร์เมื่อยึดได้แล้ว ตอนดึกเกือบตีหนึ่ง อาจารย์ถึงได้เข้ามา…พอลุงยึดวังหลวงได้ไม่กี่ชั่วโมง คงจะเป็นตาหลวงกาจฯ รองผู้บัญชาการทหารบกสั่งให้นายทหารยศพันโทคนหนึ่ง ชื่ออะไรจำไม่ได้แล้ว…มาที่วังหลวง มีนายสิบสองคนถือปืนทอมสันมาด้วย สิทธิชัย (สิทธิชัย สงฆรักษ์) วิ่งมารายงานว่า มีนายทหารบกมาที่หน้าประตูวิเศษไชยศรี ตอนนั้นลุงให้พวกเรารักษาประตูไว้ ใครจะผ่านเข้าออกไม่ได้ถ้าไม่ได้รับอนุญาตจากลุง ลุงก็ออกไปพบนายทหารบกคนนั้น ตอนนั้นถ้าเขาลั่นปืนขึ้นมาลุงก็ตาย ก็ไม่ได้กลัวอะไรหรอก นึกอยู่ว่าเขาลั่นได้ลุงก็ลั่นได้เหมือนกัน เขาเจอลุงเขาก็ยกมือไหว้ไม่ได้ตะเบ๊ะ เขาบอกว่าอย่าให้เกิดเรื่องเลย มีอะไรก็พูดกันดีๆ ดีกว่า ลุงบอกก็ดีซิ มีอะไรก็พูดกันก็ดี แต่เวลานี้คุณต้องรู้นะว่าพวกคุณถูกยึดหมดแล้วทุกแห่งนะ คุณกลับไปบอกนายคุณซะนะ เราประกาศแล้วว่า ขอให้อยู่ในความสงบ ถ้าใครขัดขืนต่อสู้มา เราจะระดมยิงทุกแห่งนะ นายทหารบกคนนั้นก็กลับไป เขายกมือไหว้บอก ผมลาละครับ ก็กลับไป คือเขาคงมาดูลาดเลาว่า ใครเป็นคนทำที่วังหลวง ไม่รู้ว่ามีอาจารย์ร่วมอยู่ด้วยหรือเปล่า คืนนั้นหลวงสารานุชิตก็มาสมทบที่วังหลวงด้วย พอแกมาลุงบอก เอ้าคุณหลวงช่วยติดยศให้ที แกเป็นนายพลโทแกยังยกมือไหว้ลุง ลุงบอกเดี๋ยวผมก็อายุสั้นหรอก คุณหลวงอย่าให้ผมอายุสั้นเลย เพราะตอนนั้นต้องถือว่าลุงเป็นผู้บังคับบัญชาหลวงสารานุชิต อาจารย์สั่งว่า เขตในวังหลวงนี่ให้คุณตุ๊เขาเป็นผู้บัญชาการคนเดียวที่จะสั่งการอะไรได้เด็ดขาด หมายความว่าถ้ามีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น แม้แต่หลวงสารานุชิตซึ่งเป็นรองผู้บัญชาการทหารบกก็ต้องขึ้นกับลุง พวกเสรีไทยก็เข้ามากันอีกหลายคน นายไสว นายเชื้อ ใครต่อใครมาที่วังหลวงกันหมด ไม่รู้จะมากันทำไม อะไรก็ไม่มี มากันมือเปล่าทั้งนั้น”

“ตอนนั้นพวกเราวางแผนไว้คือ ต้องหาวิธีไล่เสือให้เข้าป่าไปก่อน โดยใช้เสียงปืนยิงให้มันดังตึงตังขึ้นรอบพระนคร ให้รัฐบาลรู้ว่าเกิดเรื่องใหญ่แล้วไม่ใช่เรื่องเล็กที่วังหลวง ตอนมาจากเมืองจีน ลุงติดประทัดมาเยอะแยะ ก็ให้จุดประทัดใส่ปี๊บ เวลาดังเสียงมันดังฟังแล้วเหมือนเสียงปืนเลย เปล่าหรอกไม่ใช่ปืนแปนอะไรหรอก ประทัดดีๆ นี่แหละ เพราะเราก็ไม่อยากให้ต้องเสียเลือดเนื้อคนไทยด้วยกัน ปืนครกที่เอามาจากเมืองจีน ลุงก็ให้สุจิตรเอาไปตั้งไว้สองจุดคือ ที่วัดราชาจุดหนึ่ง ที่วัดโสมนัสฯ อีกจุดหนึ่งให้เป็นสถานที่ยิง โดยให้ระดมยิงไปตกแถวๆ บริเวณวังสวนกุหลาบซึ่งเป็นที่ตั้งของคณะรัฐมนตรีและกองบัญชาการฝ่ายรัฐบาล ให้ตกใจเล่นไปยังงั้น เป็นการขู่เพื่อไม่ให้สู้ ตอนนั้นกองกำลังหลักของเราที่ตั้งอยู่ที่กองสัญญาณทหารเรือก็คอยออกประกาศให้ตั้งอยู่ในความสงบ เราจะไม่ทำร้ายอะไร ทหารเรือก็เคลื่อนกำลังเข้ายึดพื้นที่แนวตั้งแต่ประตูน้ำมาเรื่อยตามแนวที่เขาตอกลงกันไว้กับฝ่ายทหารบก ที่จริงกองบัญชาการของเราจริงๆ นั้นอยู่ที่กองสัญญาณทหารเรือ ไม่ใช่วังหลวง”

“เรายึดวังหลวงอยู่ได้คืนหนึ่ง ตอนเช้านายถนอม (จอมพลถนอม กิตติขจร) ก็ได้รับคำสั่งให้ยกกำลังมายึดวังหลวงคืนจากเรา กลางคืนมีการยิงกันประปราย เรายิงออกมาข้างนอก เขาก็ยิงเข้าไป เขายิงซะซุ้มประตูแตกเชียวนะ ลุงเห็นท่าไม่ดีเสียแล้วเราคงต้องแตกแน่ ก็พวกเราในนั้นมีอยู่จริงๆ ไม่ถึงหกสิบคน จะไปสู้อะไรกับเขา อาวุธหนักก็มีแค่ปืนกลสองกระบอก…ตอนนั้นลุงก็เตรียมทางหนีทีไล่ไว้แล้วเหมือนกัน กะว่าถ้ามึงตีเข้ามาจริงๆ กูก็เผ่นออกข้างนอก ลุงให้บุญล้อมไปขอกุญแจจากพวกชาววังที่มีหน้าที่รักษาวังมา เพราะข้างหลังมันมีประตูเล็กๆ ประตูหนึ่ง หากไขออกไปแล้วตรงกับกองเรือรบเลย เป็นประตูเล็กนิดเดียวคล้ายๆ ประตูผี ถ้าพวกมันเข้ามาทางด้านหน้าลุงก็กะจะได้หลบออกทางประตูหลังนี้ พอเขารุกเข้ามาเราก็พากันออกทางประตูหลังที่ว่านั้น แล้วไปคอยกันอยู่ที่กองเรือรบ ไอ้พวกทหารที่กองเรือรบเห็นลุงเข้าถามกันใหญ่ว่าผู้การเข้ามาเมื่อไหร่นี่ ลุงบอกมาเดี๋ยวนี้สู้กับมัน พวกนั้นมันเคยเป็นศิษย์ลุงหลายคนเหมือนกัน พวกเขาว่าเอาครับผมสู้ด้วย ลุงก็ขึ้นไปที่ทำการของกองเรือรบ หลวงนาวาฯ ก็เข้ามาต่อว่าลุงใหญ่ ลุงบอกหลวงนาวาฯ ว่าอย่าพูดมากเลยเดี๋ยวอาจารย์ยิงตัวตายนะ เพราะตอนนั้นเรารู้ตัวจะแพ้แล้ว อาจารย์ก็ไม่ได้พูดอะไร

“พอพวกนั้นยึดวังหลวงคืนได้ ก็ยิงมาทางกองเรือรบ เลยยิงกันเปรี้ยงปร้างๆ ตอบโต้กัน เราก็อยู่กันในกองเรือรบ พวกนั้นก็ไม่กล้าเข้ามากลัวตายเหมือนกัน เราก็คอยฟังข่าวจากกองสัญญาณว่ายึดได้ที่ไหนยังไงบ้าง ตอนดึกคืนนั้นเราเห็นแล้วว่าท่าจะแพ้แน่ มนัส (น.ต.มนัส จารุภา[8]) เวลานั้นเขาเป็นนายธงของหลวงนาวาฯ เข้ามาถามว่าจะให้ไปส่งที่ไหนดี ลุงก็บอกว่าเอาไปส่งที่บ้านสีลมของอาจารย์ก็แล้วกัน เราก็ไปกับอาจารย์ไปสีลม เขาเอารถแล่นไปคลองเตยก่อน แล้วก็อ้อมมา เราก็นั่งรถจี๊ปทหารเหมือนกัน ทำเป็นกำลังออกตรวจก็ไม่มีใครกล้าเข้ามายุ่งกับเรา ที่บ้านนั้นเป็นบ้านของแม่ยายอาจารย์ เราก็คอยฟังข่าวคราวจากกองสัญญาณว่าทางทหารเรือที่กองบัญชาการเขาจะเอายังไงต่อไป ปรากฏว่าทางนั้นเขาให้หยุดรบ เพราะทางรัฐบาลขอให้หยุดยิงมาเจรจากัน พอรู้ว่าเขาหยุด เราก็ต้องเผ่นแล้ว อยู่ไม่ได้แล้ว เพราะหยุดก็เท่ากับยอมแพ้เขาแล้ว


หนีอีกครั้ง!


3. หนี ‘สู่เทียนอันเหมิน’

ในท้ายที่สุด ร.อ.วัชรชัย เล่าฉากอวสานครั้งนั้นไว้ต่อว่า


ปกหนังสือสารคดีการเมืองเมื่ออาจารย์ปรีดีลี้ภัยสู่เมืองจีนแล้ว


“คราวนี้จะหนีออกไปยังไงล่ะ คราวก่อนยังมีอังกฤษอเมริกามันช่วย ลุงบอกอาจารย์ว่า ถ้าจะออกก็ต้องออกไปทางเรือ เพราะทหารบกมันไม่ชำนาญทางเรือ อาจารย์บอกกับพวกที่หนีออกมาจากวังหลวงด้วยกันว่า ให้ทุกคนต่างคนต่างหนีเอาตัวรอดกันเอง หนีกันไปเหอะไม่ต้องห่วงกัน ยามนี้ตัวใครตัวมันกันแล้ว หลวงสารานุชิตกับใครต่อใครที่เข้ามาร่วมกับเราในวังหลวง ก็แยกย้ายกันไป ตอนนั้นทางรัฐบาลเขาประกาศจับตัวโดยให้ค่าหัวด้วย อาจารย์ห้าหมื่น ลุงสามหมื่น หลวงสังวรฯ สามหมื่น หลวงอรรถกิจกำจรหนึ่งหมื่น ค่าหัวลุงกับอาจารย์แพงมากนัก รวมกันแล้วตั้งแปดหมื่นซึ่งตอนนั้นล๊อตเตอรี่รางวัลที่หนึ่งยังแค่แสนเดียวเท่านั้นนะ

“ลุงกับอาจารย์อยู่บ้านแม่ยายอาจารย์ได้ไม่ถึงคืน พอมีประกาศจับตัว ท่านผู้หญิงพูนศุขก็บอกว่ามีบ้านอยู่หลังหนึ่งเป็นบ้านของคุณอุดร เราจะไปอยู่กันที่นั่นก่อนก็ได้ บ้านนี้อยู่ในสวนฝั่งธนเลยสาธรไปหน่อยอยู่ตรงข้ามวัดยานนาวา เราก็ไปจากสีลมไปยานนาวาแค่นั้นนิดเดียว เราก็ใช้รถที่บ้านไปส่งแล้วลงเรือจ้างข้ามฟากไป บ้านหลังนี้เจ้าของบ้านชื่อคุณอุดร เขาทำงานอยู่กระทรวงการคลัง เป็นบ้านสองชั้นเขาออกไปทำงานก็ใส่กุญแจเสีย ลุงกับอาจารย์ก็เก็บตัวเงียบอยู่ชั้นบน คนที่รู้ว่าเราหนีไปอยู่ที่นั้นก็มีเขากับเมีย แล้วเมียเขาก็ไปเอาแม่มาช่วยทำกับข้าวให้เรากิน นอกนั้นก็ไม่มีใครรู้ ลุงอยู่ในบ้านหลังนั้นกับอาจารย์แค่สองคน เจ้าของบ้านเช้าก็ไปทำงาน เย็นกลับมาก็หอบหนังสือพิมพ์มาให้เราอ่านทุกวัน ระหว่างที่อยู่บ้านหลังนั้นเคยมีตำรวจมาหนหนึ่ง อาจารย์ตกใจ ลุงบอกเฉยๆ ไว้ก่อน เวลานั้นลุงมีปืนติดตัวอยู่กระบอกหนึ่ง นึกว่ายังไงก็สู้กันจนตายข้างหนึ่งละวะ แต่ก็มานึกว่าถ้ามันจะมาจับเรา มันคงไม่มาคนเดียวหรอก มันต้องยกมากันเป็นกองพลเลย เพราะตำรวจไปจับใครที่ไหนมันมักจะต้องแห่กันไปทั้งนั้น ไม่กล้าไปจับคนเดียวหรอก แล้วก็จริงปรากฏว่าตำรวจคนนั้นมันรู้จักกับคุณอุดร มันมาหาคุณอุดรเมื่อไม่อยู่ก็กลับไป เล่นเอาใจหายใจคว่ำกันไปพักหนึ่ง”

บอกตามตรง ตอนที่แพ้ที่วังหลวงคราวนั้น ลุงเคยคิดจะฆ่าตัวตายให้รู้แล้วรู้รอดเหมือนกันนะ นึกว่าเมื่อแพ้แล้วก็ยอมตายจะไม่ถอย อาจารย์ให้บุญล้อมไปเรียกลุงลงมาจากเชิงเทินบนรั้วกำแพง อาจารย์รู้เหมือนกันว่า ลุงชักจะเลือดเข้าตาแล้ว ลุกชักปืนออกมาแล้วนะ ก็มาฉุกคิดอีกที ถ้าเราตายเสียเองตอนนี้มันก็คงนึกว่ามันยิงเราตาย ไม่ใช่เราฆ่าตัวตายเอง เสร็จแล้วมันก็ยิ่งเอาความผิดอะไรต่อมิอะไรมาทับถมให้เราหนักเข้าไปอีก เพราะเราตายแล้วพูดไม่ได้แล้วมันก็พูดข้างเดียวจะยิ่งไปกันใหญ่ ผลเสียมันมากกว่าผลดี เลยคิดยังๆ ก็หนีก่อนดีกว่าอย่าเพิ่งตายเลย ลุงกับอาจารย์ก็มาคิดกันว่าจะหนีไปยังไงถึงจะปลอดภัย ทีแรกอาจารย์คิดจะหนีออกทางช่องสิงขรไปทางใต้ออกทางพม่า โดยอาจารย์จะโกนหัวแต่งตัวเป็นพระ ให้ลุงทำตัวเป็นเณรหรือลูกศิษย์ไปด้วยกัน ลุงก็แย้งว่าอาจารย์จะเดินไหวหรืออายุก็มากแล้ว แล้วอาจารย์โกนหัวแต่งตัวเป็นพระมีหรือคนจะจำอาจารย์ไม่ได้ เพราะปรกติอาจารย์ก็ไว้ผมเกรียนอยู่แล้ว พอคัดค้านอาจารย์ก็ยอมเชื่อ ลุงกับอาจารย์อยู่ที่บ้านหลังนั้นเป็นเดือนเชียวนะ ลุงไว้ผมจนยาวประบ่า อาจารย์ก็ยาวเหมือนกัน

อาจารย์บอกจะให้ลุงไปหาหลวงสังวร ฯ ที่สัตหีบ เพราะตอนนั้นหลวงสังวรฯ หนีไปหลบในกองทหารของคุณทหารแก ลุงบอกไปก็ได้แต่ต้องปลอมตัวเป็นผู้หญิงไป หาเครื่องแต่งตัวผู้หญิงมาใส่แล้วให้ใครนั่งคุมไป อาจารย์ก็เลยไม่ให้ลุงไประหว่างนั้น ก็คิดหาทางกันเรื่อย ลุงก็คิดจะไปกันยังไง ก็มาได้เบาะแสจากหนังสือพิมพ์น่ะแหละ ลุงรู้จากหนังสือพิมพ์ว่า เมืองไทยเราที่ส่งข้าวไปขายสิงคโปร มันไปกันทางเรือแล้วไปทางเรือนี่มันหนีไปทางเกาะเกาะหนึ่งเรียกว่าเกาะคีรีมอน เกาะคีรีบูน แล้วก็ปายข้าวเถื่อน ฝิ่นเถื่อนอะไรกันที่นั่น ไอ้เกาะนี้ดูเหมือนจะเป็นของอินโดนีเซียหรือสิงคโปรก็ไม่รู้ได้ มันอยู่เลยสิงคโปรไปหน่อย ลุงก็บอกอาจารย์ว่าลุงจะเป็นคนวางแผนเอง โดยจะใช้อมฤต (อมฤต วิสุทธิธรรม) เพราะอมฤตเขาเดินเรือสิงคโปรอยู่แล้ว ลุงก็ให้อมฤตไปเอาเรือลำเก่าที่ไปรับหลวงสังวร ฯ มาพบเราที่เกาะเสม็ดนั่นน่ะ เป็นเรือหาปลาหนัก 11 ตัน เล็กมากแล้วให้เตรียมน้ำแข็งกับข้าวกระสอบหนึ่งก็พอ กับข้าวกับปลาไปหาเอาข้างหน้า อมฤตเขาก็มีลูกศิษย์อยู่คนหนึ่งชื่อไอ้นาก เป็นช่างเครื่องฝีมือดี ออกเรืออยู่กับอมฤตตลอด ก็ให้ไอ้นากเป็นคนคุมเครื่อง ตอนนั้นท่านผู้หญิงพูนศุขเป็นคนคอยติดต่อประสานงานกับอมฤต โดยอมฤตแกล้งไปนอนอยู่ที่โรงพยาบาลเลิดสิน ท่านผู้หญิงไปพบก็เหมือนไปเยี่ยมคนป่วย จะได้ไม่เป็นที่เพ่งเล็งของใคร พวกนั้นมันคอยสะกดรอยเหมือนกัน เขาถึงว่าเวลาเกิดเรื่องอย่ากลับบ้านแม่บ้านเมียเป็นอันขาด มันมักจะไปดักจับที่นั่นทั้งนั้น

ที่บ้านหัวลำโพงของลุง มันไปคอยดักอยู่หลายวัน มันคุมชอุ่มอยู่จนชอุ่มต้องไปบอกมันว่า จะไปไหนมาไหนจะไปบอกให้ไปด้วย ไม่ต้องห่วงท่านผู้หญิงจะแอบมาหาอาจารย์ยังต้องดอดมาตอนดึกๆ เพราะดึกไอ้คนเฝ้าตามมันก็ง่วงมั่ง ทิ้งงานมั่ง ไม่ค่อยได้สนใจอะไร นายเขาสั่งให้มันมามันก็มา พอลับตานายมันก็หายกันหมด ไม่ได้จริงจังอะไรกับหน้าที่นักหรอก ท่านผู้หญิงต้องเดินลัดป่าช้าสีลมวัดแขกไปหาอาจารย์แล้วก็รู้สึกจะมาแค่หนสองหนเท่านั้น ส่วนใหญ่จะให้คนอื่นเป็นคนมาติดต่อ ตอนนั้นเราก็นัดให้สุจิตรไปลงเรือพร้อมกันด้วย สุจิตรน่ะเขาไปหลบอยู่แถวสำเพ็ง พอถึงวันนัดอมฤตก็เอาเรือมารอที่หน้าโรงสีข้าวใกล้ๆ บ้านหลังนั้น ตรงข้ามกับวัดยานนาวา อาจารย์แต่งตัวเป็นช่างฟ้า โดยใช้เครื่องแบบของพนักงานไฟฟ้า ลุงก็นุ่งขาสั้น เอาผ้าขาวม้าโพกหัวแล้วก็ใส่เสื้อกล้าม ตอนนั้นฝนมันตกพรำๆ เราก็มาลงเรือพร้อมกับสุจิตรอีกคนแล้วก็เอาเรือเลาะริมฝั่งมาเรื่อยๆ”

“ระหว่างอยู่ในเรือ เรือมันลำเล็ก มีห้องเครื่องอยู่ตรงกลางลำ เนื้อที่นอนก็แคบ นอนกับสามสี่คนในที่นิดเดียว อึดอัดจะตายก็ต้องทนเอา ทำไงได้หนีเขานี่ เวลาปลาหมดเราก็แล่นเข้าไปใกล้ๆ เรือโป๊ะขอซื้อปลาจากเขายี่สิบสามสิบบาทมาต้มข้าวต้มปลากิน น้ำที่ใช้น้ำแข็งที่เตรียมมาละลายเข้า ช้อนก็ใช้ช้อนสังกสีคันเดียวกันนั่นแหละซด พอเรือแล่นมาถึงแหลมตะลุมพุก เห็นเรือรบจอดอยู่ลำหนึ่ง อมฤตบอกท่าจะเสร็จซะแล้วละ ลุงบอกไม่เป็นไรเฉยๆ ไว้ อย่าเพิ่งตกใจ ถ้าเจอมันลุงจะเป็นคนเจรจากับมันเอง เพราะว่าระหว่างที่เราหลบซ่อนอยู่ที่บ้านนั้นเราเคยติดต่อไปที่หลวงนาวาฯ เหมือนกัน หลวงนาวาฯ แกบอกให้เรารีบออกไปเสียเร็วๆ เดี๋ยวเขาจะหาว่าแกช่วยพวกกรณีสวรรคต ลุงเลยคิดว่าถ้ามันรู้ว่าเป็นเราเข้าจริงๆ ลุงก็จะให้มันโทรเลขไปรายงานหลวงนาวาฯ ก่อน อย่าเพิ่งให้เรื่องมันกระโตกกระตากขึ้นมา

ตอนนั้นหลวงนาวาฯ ยังเป็นผู้บัญชาการกองเรือรบอยู่ เวลาตอนนั้นมันจวนโพล้เพล้แล้วละซักห้าหกโมงเย็นเห็นจะได้ ลุงบอกอมฤตแล่นเข้าไปหามันเลย แล้ววันนั้นมันเป็นวันอาทิตย์ด้วย เราก็แล่นเข้าไป มันก็ไม่ได้เรียกเข้าไปตรวจอะไรและก็ผ่านพ้นไป เราก็ไปจนถึงเกาะคีรีมอนเป็นเกาะเล็กๆ ห่างจากสิงคโปรประมาณ 10 ไมล์ ที่นั่นเรือเข้าๆ ออกๆ เยอะแยะ ใช้เวลาเดินทางตั้งสิบกว่าวันแนะกว่าจะถึง พอเราเข้าไป ไอ้พวกนายทุนหรือพวกคนจีนที่คอยรับซื้อของเถื่อนอะไรเถื่อน มันก็รีบมาติดต่อทันทีโดยมันนึกว่าเราคงต้องมีอะไรมาขาย ถึงมุ่งมาที่นี่ ลุงก็ให้สุจิตรส่งภาษาจีนบอกมันว่า เดี๋ยวเราจะมีเรือใหญ่ตามมาอีกลำ เราเข้ามาดูลาดเลาก่อน พูดแค่นี้พวกนั้นมันก็รู้ว่าคงจะมีฝิ่นตามมา เราก็ไม่ได้บอกมันตรงๆ พูดให้มันเข้าใจเอาเองไปยังงั้นแหละ ลุงบอกว่าเราจะขอเข้าไปที่สิงคโปรเพื่อจะได้ไปโทรเลขให้เรือลำหลังที่ตามมาให้เข้ามาได้ ลื้อช่วยอั๊วจัดการหน่อยได้ไหม ให้อั๊วเข้าสิงคโปรได้ มันบอกได้ เรื่องง่ายนิดเดียวมันบอกให้เราไปถ่ายรูปมาจะเอาไปทำบัตรผ่านแดนเข้าสิงคโปรให้ แต่ว่าอยู่ไม่ได้นะแต่เข้าออกได้เท่านั้น ลุงก็ไปทำแล้วให้อมฤตเอาเรือเข้าสิงคโปร”

“พอถึงสิงคโปร ลุงก็ไปที่บ้านคนจีนแซ่ตั้งซึ่งมันเคยรู้จักกับเฉียบ (ไชยสงค์) ดี ให้สุจิตรไปอยู่ที่บ้านคุณหลีซินย้งที่เราเคยเจอกันแต่ครั้งก่อน อาจารย์ไปพบไสว (สุทธิพิทักษ์) เขาอยู่โฮเต็ลหรือที่พักที่ไหนในสิงคโปรไม่รู้ ไสวนี่เคยเป็นเลขาหลวงธำรงฯ ตอนนั้นเขาหนีไปอยู่สิงคโปร พอไปถึงเขาก็ไปรายงานตัวขอเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมือง ตอนนั้นไสวเข้าไปร่วมรัฐประหารวังหลวงด้วยเลยโดนด้วย จึงหนีไปสิงคโปรก่อนเรา อาจารย์ไปพักอยู่กับไสวคืนหรือสองคืนนี่แหละ เพื่อหาทางออกจากสิงคโปรไปเมืองจีน ลุงก็ถามเพื่อนคนจีนแซ่ตั้งนั้นว่า ลื๊อช่วยทำพาสปอร์ตที่สิงคโปรให้ได้ไหม มันบอกได้เพราะมันรู้จักกับเลขากงสุลไต้หวันดี ทำพาสปอร์ตก๊กมินตั๋งได้สบายง่ายมาก มันก็พาเราไปสถานกงสุลวัดส่วนสูง ถ่ายรูปเสร็จก็ส่งเรื่องขึ้นไปให้นายมันเซ็นลงมาก็เสร็จกัน ลุงใช้แซ่คู อาจารย์ไม่ยอมทำ สุจิตรทำด้วยแล้วอาจารย์ก็ขออาศัยเรือของโหงวฮกที่เคยช่วยส่งเราไปเมืองจีนครั้งก่อนเป็นพาหนะออกจากสิงคโปรไปฮ่องกงก่อน อมฤตน่ะจะขอตามไปด้วย บอกไปไหนก็ไปกัน แต่ลุงไล่อมฤตกลับ ตอนนั้นอมฤตยังไม่ได้แต่งงานกับสุมนา บอกกลับไปแต่งงานเหอะ แล้วค่อยหาโอกาสช่วยกันใหม่ทีหลังดีกว่า อมฤตถึงได้ยอมกลับเมืองไทย”

“ไปถึงฮ่องกง เรือใหญ่จอดทอดสมออยู่กลางน้ำ เรือจ้างมารับต่อไปขึ้นฝั่งได้สบาย เวลานั้นคุณสงวนแกอยู่ที่ฮ่องกง แกเช่าแฟลตไว้อยู่แล้วเราก็ไปอยู่กับแก ตอนนั้นที่เมืองจีน เจียงไคเชคแพ้หนีไปแล้ว คอมมิวนิสต์กำลังจะเข้ามาจัดตั้งรัฐบาล คุณสงวนแกยังติดต่อสัมพันธ์อยู่กับมิสเตอร์เหลียงตลอด มิสเตอร์เหลียงนี่แกเป็นคนเกิดที่เมืองไทย แล้วย้ายไปตั้งรกรากที่เมืองจีน มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดอยู่กับพวกก๊กมินตั๋ง แต่แกเป็นนักประชาธิปไตยไม่ใช่คอมมิวนิสต์ แต่เคยเป็นแนวร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์จีน เหลียงก็พยายามติดต่อกับพวกคอมมิวนิสต์ให้พวกเราได้ลี้ภัยในเมืองจีน รัฐบาลคอมมิวนิสต์จีนเขาก็ยินดีให้เราลี้ภัยในประเทสเขาได้ เราก็เลยออกเดินทางจากฮ่องกงโดยเรือใหญ่ไปขึ้นที่ท่าเรืองเมืองชิงเต่า (ชิงเต่า) ก็ไปกันสี่คน มีลุง อาจารย์ สุจิตรและคุณสงวน พอเรือไปถึงชิงเต่า รัฐบาลคอมมิวนิสต์จีนเขาก็ส่งนายคังเซิง ซึ่งเป็นหัวหน้าสันติบาลมารับพวกเราที่ท่าเรือ แล้วจัดให้เรานั่งรถไฟต่อไปปักกิ่งเมืองหลวง จำได้ว่าไปถึงปักกิ่งเป็นวันที่ 18 กันยายน 2492 ซึ่งเหลืออีก 12 วัน คอมมิวนิสต์จีนเขาก็จะประกาศตั้งรัฐบาลและประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนขึ้นใหม่แล้ว เขาจัดบ้านให้เราอยู่หลังหนึ่งอยู่ที่ซอยเสี่ยวหยังเหมา แถวประตูเจี้ยนกว๋อเหมิน เป็นบ้านที่เขาซื้อหรือยึดมาจากนักเรียนนอกฝรั่งเศสคนหนึ่งใหญ่ประมาณหนึ่งไร่เห็นจะได้ แต่นั้นมา ลุงก็กลายเป็นคนไร้ญาติขาดครอบครัว ไม่มีโอกาสได้กลับมาเหยียบแผ่นดินไทยและเห็นหน้าลูกเมียอีกเลยเป็นเวลานานถึง 20 กว่าปี…”


ส่งท้าย


หลวงกาจสงคราม (พ.ศ.2433-2510) อดีตสมาชิกผู้ก่อการ 2475 แต่กลับเข้าร่วมคณะรัฐประหารล้มล้างอาจารย์ปรีดีเมื่อ พ.ศ.2490 ภายหลังเผยความในใจแก่ นายสนิท ผิวนวล อดีตผู้ช่วยปลัดกระทรวงการคลัง ดังที่ สุพจน์ ด่านตระกูล นำมาถ่ายทอดไว้ในหนังสือ ‘ปรีดีหนี’ ว่า

“ที่ยกเอากรณีสวรรคตขึ้นมาเล่นงานอาจารย์นั้นก็เพื่อความสำเร็จในการโค่นอาจารย์เท่านั้น เพราะเหตุอื่นที่จะยกขึ้นมาโฆษณาทำลายล้างอาจารย์นั้นไม่มี และคุณงามความดีของอาจารย์อยู่ในความศรัทธาของประชาชนเหนือกว่าเหตุผลอื่นที่จะยกขึ้นมาทำลายล้างได้ นอกจากกรณีสวรรคต แต่ก็ไม่คิดว่าจะเอากันถึงอย่างนี้ ถ้าคุณสนิทมีโอกาสจะติดต่อกับอาจารย์ก็ช่วยเรียนอาจารย์ไปด้วยว่า ผมขอกราบขอขมาอาจารย์ในเรื่องที่แล้วๆ มาด้วย”[9]


ภาพปก ‘ปรีดีหนี’ โดย สุพจน์ ด่านตระกูล พิมพ์จำนวน 2 ครั้ง


นอกเหนือจากบันทึกฉากลี้ภัยการเมืองขององครักษ์พิทักษ์ท่านรัฐบุรุษอาวุโสท่านนี้ ผู้เขียนขอแนะนำอีก 2 บทความเพื่อหาอ่านควบคู่กันไป คือ หนึ่งบทสัมภาษณ์ของท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ชื่อว่า ‘การกลับมาในนาม “ขบวนการประชาธิปไตย” ของนายปรีดี[10]ซึ่งทางสถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้นำเสนอให้ศึกษาออนไลน์ สอง บทความของ กษิดิศ อนันทนาธร เรื่อง ‘สุธี โอบอ้อม ผู้เอื้ออารีต่อปรีดีในยามยาก[11]

ในแง่กาลานุกรมชีวิตของอาจารย์ปรีดี หากจดจำในรูปแบบคริสตศักราช จะสามารถเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์โลกได้ง่ายยิ่งขึ้น ลำดับกาลานุกรม[12]มีดังนี้

ค.ศ.1900 – เกิด

ค.ศ.1932 (อายุ 32 ปี) – ปฏิวัติสำเร็จ

ค.ศ.1939 (อายุ 39 ปี) – บรรลุสัญญาที่ให้ไว้กับราษฎรในหลัก 6 ประการข้อแรก “จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่นเอกราชในทางการเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง”  เมื่อสามารถเจรจาต่อรองกับเหล่าประเทศมหาอำนาจ จนสามารถแก้ไขสนธิสัญญาเดิมที่ไม่เป็นธรรมสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นผลสำเร็จ และร่วมเฉลิมฉลองสนธิสัญญาใหม่เมื่อวันชาติครั้งแรก 24 มิถุนายน พ.ศ.2482

ค.ศ.1941 (อายุ 41 ปี) – ญี่ปุ่นบุก! ประเทศไทยจำต้องเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 2 นายปรีดีได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

ค.ศ.1945 (อายุ 45 ปี) – เป็นผู้นำ “ขบวนการเสรีไทย” นำพาประเทศรอดพ้นความพ่ายแพ้หลังสงครามโลกครั้งที่สองยุติลง และ “มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ยกย่อง นายปรีดี พนมยงค์ ไว้ในฐานะรัฐบุรุษอาวุโส”[14] (เพียงคนเดียวในประวัติศาสตร์ประเทศไทยจนถึงปัจจุบัน)

ค.ศ.1946 (อายุ 46 ปี) – ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในเดือนมีนาคม และประกาศใช้หนึ่งในรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดคือฉบับ พ.ศ.2489 เมื่อเดือนพฤษภาคม แต่เพียงหนึ่งเดือนถัดมาบังเกิดกรณีสวรรคต

ค.ศ.1947 (อายุ 47 ปี) – หนีภัยการเมืองครั้งแรกด้วยรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน ค.ศ.1947

ค.ศ.1949 (อายุ 49 ปี) – หลังความพ่ายแพ้ครั้งกบฏวังหลวงจนกระทั่งหลบหนีออกนอกประเทศได้สำเร็จ ‘อีกครั้ง’ ปรีดีปรากฏกายครั้งแรกที่เทียนอันเหมิน ในเหตุการณ์พรรคคอมมิวนิสต์จีนประกาศสถาปนาประเทศ ‘สาธารณรัฐประชาชนจีน’ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม (สวนทางกับหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ที่ได้กลับเมืองไทยในเดือนเดียวกัน)

ค.ศ.1970 (อายุ 70 ปี ) – ย้ายข้ามมาฝรั่งเศสระหว่างเหตุการณ์ปฏิวัติวัฒนธรรมในจีน (รวมเวลาอยู่ในจีน 21 ปี)

ค.ศ.1983 (อายุ 83 ปี ) – ถึงแก่อสัญกรรม ณ ฝรั่งเศส (รวมเวลาอยู่ในฝรั่งเศส 13 ปี)

ค.ศ.2000 (ชาตกาล 100 ปี) – ได้รับเกียรติอันสูงจาก  ‘องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ’ (United Nations Educational Scientific and Cultural Organization) หรือที่รู้จักกันดีในชื่อย่อว่า ‘ยูเนสโก’ ประกาศยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญและเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ของโลก[15]


ภาพบน : ปรีดี พนมยงค์ ในวันสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ.1949 (พ.ศ.2492)

ภาพล่าง :ประธานเหมาจับมือท่านปรีดี เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ.1965 (พ.ศ.2508 ) 5 ปีก่อนย้ายข้ามมาฝรั่งเศส




[1] นริศ จรัสจรรยาวงศ์, หลากเรื่องเล่า เมื่อปรีดีหนีครั้งแรก จุดเชื่อมต่อ https://www.the101.world/pridi-banomyong-first-asylum/

[2] ปรีดี พนมยงค์ เขียนเป็นภาษาฝรั่งเศส, จำนงค์ ภควรวุฒิ และ พรทิพย์ โตใหญ่ ร่วมแปลเป็นภาษาไทย, ชีวิตผันผวนของข้าพเจ้า และ 21 ปีที่ลี้ภัยในสาธารณรัฐราษฎรจีน, พิมพ์ครั้งแรก 2529 (เทียนวรรณ), น.111-113.

[3] สารคดีไทยพีบีเอส, สัตหีบ เมืองแห่งฐานทัพเรือไทย | จากรากสู่เรา จุดเชื่อมต่อ https://www.youtube.com/watch?v=msTmEECmV2k

[4] กษิดิศ อนันทนาธร, บทความ • เกร็ดประวัติศาสตร์ เรื่องของสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า กับ นายปรีดี พนมยงค์ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ จุดเชื่อมต่อ https://pridi.or.th/th/content/2021/12/908

[5] พิมพ์เป็นอนุสรณ์ ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลเรือตรี หลวงสังวรยุทธกิจ (สังวร สุวรรรณชีพ) ณ เมรุวัดธาตุทอง 27 ธันวาคม 2516, (ชวนพิมพ์), น.177.

[6] การฌาปนกิจศพ ร.อ.วัชรชัย ชัยสิทธิเวชช ร.น. ณ ฌาปนสถาน เมรุ 1 วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร บางเขน วันที่ 29 กันยายน พ.ศ.2539

[7] นริศ จรัสจรรยาวงศ์, ‘ธำรงหนี’ 8 พฤศจิกายน 2490 จุดสิ้นสุดอำนาจของคณะราษฎรสายพลเรือน จุดเชื่อมต่อ https://www.the101.world/luang-dhamrong-the-exile/

[8] ต่อมาอีกสองปี คือหัวหน้าผู้การกบฏแมนฮัตตัน รายละเอียดดู นิยม สุขรองแพ่ง เขียน, นริศ จรัสจรรยาวงศ์ บรรณาธิการ, ทหารเรือกบฏแมนฮัตตัน, พิมพ์ครั้งที่สอง พ.ศ.2565, (สำนักพิมพ์มติชน).

[9] สุพจน์ ด่านตระกูล, ปรีดีหนี, พ.ศ.2527, (สำนักพิมพ์ จิรวรรณนุสรณ์), น.94-95.

[10] พูนศุข พนมยงค์, การกลับมาในนาม “ขบวนการประชาธิปไตย” ของนายปรีดี จุดเชื่อมต่อ https://pridi.or.th/th/content/2021/02/619

[11] กษิดิศ อนันทนาธร, สุธี โอบอ้อม ผู้เอื้ออารีต่อปรีดีในยามยาก จุดเชื่อมต่อ https://www.the101.world/sutee/

[12] นริศ จรัสจรรยาวงศ์, ปวัตติยานุกรมหนังสือชีวประวัติ ปรีดี พนมยงค์ (พ.ศ.2443-2526), ปาจารยสาร ปีที่ 45 ฉบับที่ 3 (กันยายน – ธันวาคม 2564), น.6-83 และ ดู https://pridi.or.th/th/content/2020/05/247

[13] ปรีดี พนมยงค์ ระลึกถึงคุณหลวงสังวรยุทธกิจ ( สังวร สุวรรณชีพ ) 20 กุมภาพันธ์ 2516, อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พลเรือตรี หลวงสังวรยุทธกิจ ณ เมรุวัดธาตุทอง วันพฤหัสบดี 27 ธันวาคม 2516, น.(7)-(15).

[14] ประกาศ อานันทมหิดล, ราชกิจจานุเบกษา 11 ธันวาคม 2488 ตอนที่ 70 เล่ม 62 หน้า 699-700 จุดเชื่อมต่อ https://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2488/A/070/699.PDF

[15] วิเชียร วัฒนกุล, บทความ เกร็ดประวัติศาสตร์ ปรีดี พนมยงค์ กับ การฉลอง 100 ปี เเห่งชาตกาล จุดเชื่อมต่อ https://pridi.or.th/th/content/2022/03/1014


บทความนี้พิสูจน์อักษรโดย ดร.สุกัญญา เจริญวีรกุล (บ.ศ.๙)

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save