fbpx

ประพาพิมพ์ ศกุนตาภัย : แม่ยาย ‘อภิสิทธิ์’ ผู้ช่วย ‘ปรีดี’ ในการซื้อบ้านอองโตนี

ประพาพิมพ์ ศกุนตาภัย ไม่เพียงมีความพิเศษในแง่ความสัมพันธ์ส่วนตัวกับอดีตนายกรัฐมนตรีไทยถึง 2 คน คือ เป็นหลานใกล้ชิดนายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส และเป็นแม่ยายของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เท่านั้น แต่ประพาพิมพ์ยังเป็นผู้หญิงเก่งที่มีความสามารถ ทั้งในทางหน้าที่การงานที่ธนาคารแห่งประเทศไทย และการสร้างความรักความอบอุ่นในครอบครัว

ชีวิตของประพาพิมพ์ปิดฉากลงไปแล้วก็จริง แต่เรื่องราวของเธอที่เป็นเรื่องระหว่างบรรทัดในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยไม่ควรจะเลือนหายไป


ประพาพิมพ์ ศกุนตาภัย
(8 มิถุนายน 2477 – 18 สิงหาคม 2564)


กำเนิดและการศึกษา


ประพาพิมพ์เกิดเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2477 เป็นธิดาคนแรกของหลวงประสาทศุภนิติ (ประมูล สุวรรณศร) กับอัมพา (สกุลเดิม ณ ป้อมเพชร์) เวลานั้น บิดาของเธอทำงานเป็นข้าหลวงยุติธรรมที่จังหวัดเชียงใหม่ จึงขอประทานนามจากเจ้าแก้วนวรัฐ จะเห็นได้ว่าชื่อ ประพาพิมพ์ มาจากการผสมชื่อของบิดามารดานั่นเอง


กับมารดา ที่เชียงใหม่


ประพาพิมพ์เริ่มเรียนหนังสือที่โรงเรียนเรยีนาเชลีวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ ต่อมา พ.ศ.2483 หลวงประสาทศุภนิติย้ายมาทำงานในกรุงเทพฯ เธอจึงย้ายมาพำนักที่บ้านป้อมเพชร์ ถนนสีลม และเข้าเรียนที่โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์ จนจบชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น


ในชั้นเรียนโรงเรียนเรยีนาเชลี ในภาพอยู่แถวหลัง ขวาสุด

ความเห็นของผู้ปกครองขณะเรียนเตรียมอุดม คือ ‘ไม่ดื้อ’ ลงชื่อผู้เป็นบิดา


เธอเป็นคนเรียนหนังสือเก่ง ต่อมาสอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาด้วยคะแนนสูง จึงได้อยู่ห้องคิง จากนั้นเข้าศึกษาต่อที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ.2495 แต่หลังจากเรียนได้ 1 ปี เธอย้ายไปเรียนต่อที่อังกฤษ และเข้าเรียนเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยน็อตติ้งแฮม จนสำเร็จเศรษฐศาสตรบัณฑิต เกียรตินิยมอันดับสอง ใน พ.ศ.2502  


กับบิดามารดาในวันเดินทางไปศึกษาต่อ ณ ประเทศอังกฤษ พ.ศ.2497


ชีวิตครอบครัว


เมื่อกลับมาทำงานที่ธนาคารแห่งประเทศไทยแล้ว ประพาพิมพ์ได้พบ พงศ์เพ็ญ ศกุนตาภัย ครั้งแรกจากการนัดกินอาหารของกลุ่มเพื่อนที่ร้านศรแดง ถนนราชดำเนิน หลังจากนั้นได้แต่งงานกันเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2504 ที่บ้านซอยสวนพลู


งานมงคลสมรส 5 มีนาคม 2504


พงศ์เพ็ญ ศกุนตาภัย สามีของเธอ เข้าทำงานเป็นอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อ พ.ศ.2503 ต่อมาย้ายมาสอนที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ.2511 จนเกษียณอายุราชการเมื่อ พ.ศ.2534 หลังจากนั้นดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์พิเศษ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และเป็นอาจารย์พิเศษในสถาบันการศึกษาอีกหลายแห่ง

ในปี 2505 ทั้งคู่ได้ลูกชายคนแรก คือ ‘อนวัช’ หรือกอล์ฟ ซึ่งได้ชื่อเล่นมาจากกีฬาโปรดของพงศ์เพ็ญ และในอีก 2 ปีถัดมา ได้ลูกสาว คือ ‘พิมพ์เพ็ญ’ หรือแตงโม อันที่มาจากไพ่ตองตัวโปรดของประพาพิมพ์ อย่างไรก็ดี เธอมักจะเรียกลูกสาวว่า ‘น้อง’ คงเพราะเป็นลูกคนสุดท้อง

ต่อมา อนวัช สมรสกับ ปริมวรา ชาลีจันทร์ ส่วนพิมพ์เพ็ญ สมรสกับ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ


กับสามี และบุตร-ธิดา

ท่านผู้หญิงพูนศุข (ซ้าย) และอัมพา (ขวา) กับคู่บ่าวสาว พิมพ์เพ็ญ-อภิสิทธิ์
ในวันรับพระราชทานน้ำสังข์ 19 สิงหาคม 2531


หน้าที่การงาน


ประพาพิมพ์เริ่มทำงานที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2503 จนเกษียณอายุราชการ รวมเวลากว่า 34 ปี

เริ่มจากตำแหน่งเศรษฐกรผู้ช่วย ชุดการค้าและการชำระเงินระหว่างประเทศ ในฝ่ายวิชาการ ภายใต้คุณหญิงสุภาพ ยศสุนทร ผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ ซึ่งประพาพิมพ์เล่าว่า “ท่านเป็นคนเก่งอย่างหาตัวจับยาก เป็นคู่คิดที่สำคัญของท่านผู้ว่าการป๋วย จนท่านผู้ว่าการป๋วยถึงกับเคยปรารภว่า บางครั้งท่านไม่แน่ใจว่า ใครเป็นนายใครกันแน่!”



และงานที่ฝ่ายวิชาการในยุคนั้นต้องทำ ก็มากตามความสนใจของผู้ว่าการ เธอเล่าอย่างเห็นภาพว่า “คงเป็นที่ทราบกันดีว่า ท่านผู้ว่าการป๋วย ท่านมีบทบาทในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมมากมายเพียงใด ขอบเขตของฝ่ายวิชาการจึงต้องขยายกว้างไปด้วย หลายคนไม่เข้าใจว่า ทำไมเราจึงต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับโครงการพัฒนาการศึกษา โครงการแก้ปัญหาจราจร โครงการท่อระบายน้ำ ฯลฯ


กับอดีตผู้ว่าการฯ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ (เสื้อขาว)


ต่อมาในปี 2515 ประพาพิมพ์ย้ายมาเป็นผู้ช่วยหัวหน้าส่วนหนี้สาธารณะ แล้วปีถัดมาก็ย้ายกลับมาอยู่ฝ่ายวิชาการยาวถึง 11 ปี จนได้รับตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักผู้ว่าการ และโฆษกของธนาคารฯ (ซึ่งเป็นผู้หญิงคนแรก) ในปี 2527 จากนั้นเป็นผู้อำนวยการฝ่ายการต่างประเทศ ผู้อำนวยการฝ่ายธุรการ ตามลำดับ

ตำแหน่งสุดท้ายของเธอ คือผู้ช่วยผู้ว่าการ สายที่ 4 ซึ่งดูแลรับผิดชอบงานสนับสนุน ทั้งฝ่ายการพนักงาน ฝ่ายการบัญชี ฝ่ายธุรการ และสถาบันฝึกอบรม โดยมีงานสำคัญ 2 เรื่อง คือการจัดการประชุมประจำปีของกองทุนการเงินระหว่างประเทศและธนาคารโลก ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพเมื่อ พ.ศ.2534 และการบูรณะวังบางขุนพรหมให้สง่างาม และเป็นพิพิธภัณฑ์ ศูนย์การเรียนรู้


หัวหน้าคณะทำงานบููรณะตำหนักวังบางขุนพรหม และประธานคณะกรรมการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ ธปท.


บ้านอองโตนี


เมื่อ พ.ศ.2513 รัฐบุรุษอาวุโสผู้ลี้ภัยอยู่ในประเทศจีนได้ย้ายไปพำนักในประเทศฝรั่งเศส ช่วงแรกอยู่ที่อพาร์ตเมนต์ย่านถนน Emile du Bois ในกรุงปารีส ต่อมาจึงไปซื้อบ้านอองโตนี ซึ่งเป็นบ้านขนาดกลางหลังหนึ่ง บนถนน Aristide Briand ย่านชานเมือง ห่างจากปารีสไม่มากนัก ด้วยเงินจากการขายบ้านพูนศุข ถนนสีลม และบ้านถนนสาทร ซึ่งได้มีการทำเรื่องขออนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทยในการนำเงินออกนอกประเทศอย่างถูกกฎหมายในเวลานั้น

ในจดหมายส่วนตัวของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยในขณะนั้น คือป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่มีไปถึง ‘ท่านอาจารย์’ ของเขา เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2513 ได้กล่าวถึงประพาพิมพ์ในเรื่องนี้ไว้ด้วยว่า

เรื่องการซื้อบ้านที่ปารีส และการส่งเงินมาจากเมืองไทย…ผมได้เรียกคุณประพาพิมพ์มาสั่งการแล้วครับ…วิธีการดำเนินการส่งเงินออกและขออนุญาตนั้น คุณประพาพิมพ์ทราบดีอยู่แล้ว และเคยทำมาก่อน ผมแน่ใจว่าจะส่งมาได้ทันตามกำหนดและตามความประสงค์ ผมได้กำชับคุณประพาพิมพ์ว่า ถ้าขัดข้องตรงไหนให้รายงานให้ผมแก้ไขทันที ฉะนั้น ขอท่านอาจารย์และคุณพูนศุขอย่าได้เป็นห่วงเลยครับ

จึงนับได้ว่า เธอเป็นตัวเชื่อมสำคัญที่ทำให้การนำเงินจากการขายบ้านของท่านผู้หญิงพูนศุขในเมืองไทย ส่งไปซื้อบ้านอองโตนีที่ฝรั่งเศสนั้น เป็นไปได้โดยราบรื่นนั่นเอง ทั้งนี้ เพราะอัมพา มารดาของเธอ เป็นน้องสาวของท่านผู้หญิงพูนศุข ภริยาปรีดี พนมยงค์ ที่สนิทสนมกันมาก ดังที่ท่านผู้หญิงพูนศุขเล่าถึงอัมพาไว้ว่า

“เมื่อครอบครัวข้าพเจ้าประสบเคราะห์กรรม ต้องพลัดพรากจากบ้านเกิดไปอยู่ต่างแดนเป็นเวลา 20 กว่าปี อัมพารับภาระดูแลลูกสาวคนโตของข้าพเจ้าที่มีสุขภาพไม่สมบูรณ์ และเป็นธุระช่วยเหลือเรื่องต่าง ๆ เช่น การทำบุญที่วัดพนมยงค์ประจำปี และช่วยจัดการขายทรัพย์สินของข้าพเจ้าที่พอมีอยู่บ้าง ส่งเงินไปให้ใช้ทันท่วงที


ปรีดี พนมยงค์ กับท่านผู้หญิงพูนศุข (ซ้าย) และอัมพา สุวรรณศร (ขวา)


ไม่เพียงเท่านั้น ในวาระสุดท้ายของรัฐบุรุษอาวุโส ณ โต๊ะทำงานในบ้านอองโตนี เมื่อปรีดีหมดสติไป บุคคลที่เป็นผู้ปั๊มหัวใจเพื่อพยายามยื้อชีวิตของเขาไว้ ก็คือ อนวัช ศกุนตาภัย ลูกชายของประพาพิมพ์นั่นเอง (ขณะนั้นเขากำลังเรียนแพทยศาสตร์) สุดา พนมยงค์ ธิดาของปรีดี กล่าวถึงความข้อนี้ไว้ว่า “แม้จะไม่ประสบความสำเร็จ เพราะคุณตา [ปรีดี – ผู้อ้าง] ได้สิ้นใจแล้ว แต่ถือว่าเป็นกุศลเจตนาที่น่าอนุโมทนาอย่างยิ่ง



งานเขียน


นอกจากงานประจำที่ธนาคารแห่งประเทศไทยแล้ว ประพาพิมพ์ยังเป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชาการเงิน การธนาคาร และเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ ที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยด้วย ดังมี แนวคำบรรยายการเงินและการธนาคาร ปรากฏอยู่เป็นพยาน ซึ่งเธอเขียนคำนำไว้อย่างถ่อมตัวว่า



นอกจากนี้ งานเขียนชิ้นสำคัญของเธอ ที่ไม่ปรากฏชื่อผู้เขียนนั้น คือเรื่องของแม่ อนุสรณ์งานศพของอัมพา สุวรรณศร มารดาของเธอนั่นเอง เป็นหนังสือที่เธอเขียนชีวประวัติของมารดาอย่างมีชีวิตชีวา มีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย ผสมผสานกับการจัดวางคำไว้อาลัยอย่างลงตัว มีภาพประกอบจำนวนมาก น่าอ่าน

และเมื่อถึงวาระที่สุดแห่งชีวิตของประพาพิมพ์ ทายาทของเธอก็จัดทำหนังสือที่ระลึกให้ในลักษณะท่วงทำนองการเรียบเรียงแบบเดียวกัน อันนับเป็นการสืบสาน รักษา ต่อยอดได้อย่างน่าทึ่ง ซึ่งแทบจะไม่ปรากฏลักษณะเช่นนี้ในบรรณพิภพเลย


เรื่องของแม่ : อัมพา สุวรรณศร กับ ประพาพิมพ์ ศกุนตาภัย 2477-2564


หลักการดำเนินชีวิต


ประพาพิมพ์เคยให้สัมภาษณ์ไว้เมื่อ พ.ศ.2527 ถึงหลักในการดำเนินชีวิตเอาไว้ว่า “ถือคติในทางสายกลาง ไม่มีความคิดทะเยอทะยาน ที่อยากเด่นอยากดังอะไร หรือตำแหน่งที่มีความโดดเด่นจนเกินไป ผู้หญิงที่มีบทบาททางการงานสูง ๆ ก็ไม่ควรละเลยหน้าที่ในครอบครัว เพื่อความอบอุ่น และเป็นแม่ที่ดีของลูก ๆ ทำงานทั้งสองด้านให้ดีที่สุด ทั้งหน้าที่การงานและบทบาทในครอบครัว ไม่ควรละเลยด้านใดด้านหนึ่ง

ซึ่งในสายตาของลูกๆ เธอก็ทำได้อย่างน่าชื่นชม ทั้งๆ ที่มีหน้าที่การงานที่ต้องรับผิดชอบสูง “คุณแม่ออกไปทำงานแต่เช้าและกลับมาเย็น ๆ จะว่างก็แค่สุดสัปดาห์ คุณแม่ก็จะแต่งบ้าน จัดสวน บ้านเราจึงสวยงาม น่าอยู่เสมอ นอกจากนี้ยังหาอะไรอร่อย ๆ มาให้ หรือบางครั้งลงมือทำอาหารเองด้วยซ้ำ ในช่วงวันหยุดก็จะพาเราไปเที่ยว” นอกจากนี้ เธอยังมักจะขับรถไปส่งลูกที่โรงเรียนเองอีกด้วย


ประพาพิมพ์-พงศ์เพ็ญ กับลูกหลาน


ลูกเขยอย่างอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เขียนถึงความอบอุ่นที่ประพาพิมพ์มีให้เขาเอาไว้ว่า “ระยะเวลาประมาณ 5 ปีก่อนที่จะแต่งงานกับแตง…มาร์คเข้าออกบ้านที่ซอยสวนพลูเกือบทุกวันเมื่อใดที่กลับมาเยี่ยมบ้านจากประเทศอังกฤษ ทั้งป้าพิมพ์และคุณยายของแตง [ถึงหมายอัมพา – ผู้อ้าง] จะเอาใจใส่ดูแลมาร์คกับแตงอยู่เสมอ หาอาหารที่เป็นของโปรดมาให้ทุกวัน ป้าพิมพ์จะแวะซื้อของ เช่น ขนมเบื้อง ที่รู้ว่ามาร์คชอบ…ทำให้มาร์ครู้สึกว่าได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นตั้งแต่ก่อนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว

กับหลานๆ ประพาพิมพ์เป็นทั้งย่าและยาย ที่หลานเรียกปนกัน จน พรีมา หลานคนโต นิยามคำเรียกใหม่ให้เป็น ‘คุณยี่’ ซึ่งอภิสิทธิ์กล่าวถึงความสัมพันธ์ในส่วนนี้ไว้อย่างกระชับว่า “ป้าพิมพ์เป็นคนคุยสนุก…มีอารมณ์ขัน ชอบให้คุยเรื่องสนุก ๆ เรื่องตลก และไม่เคยโกรธเคืองแม้เวลาที่ลูกหลานหยอกล้อ ป้าพิมพ์รักหลาน และช่วยดูแลหลานทุก ๆ คนตั้งแต่เล็กจนโต ตามใจเด็ก ๆ ไม่เคยดุ เป็นทั้งย่า ยาย และเพื่อน จนเป็นขวัญใจของหลานทุกคน

และสำหรับ ปราง หลานยาย เห็นว่า “คุณยายคือผู้ที่ให้ความรักและการสนับสนุนที่ดีที่สุด เป็นแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิต โดยเฉพาะเรื่องช่วยเหลือผู้คน การให้ที่มากกว่ารับ

ประพาพิมพ์ป่วยติดเชื้อโควิด-19 เมื่อกลางเดือนกรกฎาคม 2564 และจากไปอย่างสงบในวันที่ 18 สิงหาคม 2564

คงไม่มากเกินไปถ้าจะสรุปอย่างรวบรัดว่า ชีวิตของประพาพิมพ์นั้น ได้ทำงานทั้งสองด้านอย่างดีที่สุดแล้ว ทั้งหน้าที่การงานและบทบาทในครอบครัว


เบื้องหลังความสุขของทุกคนในครอบครัว

บรรณานุกรม

  • ประพาพิมพ์ ศกุนตาภัย 2477-2564, 2567 เข้าถึงจาก https://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:310258
  • ประพาพิมพ์ ศกุนตาภัย, แนวคำบรรยายการเงินและการธนาคาร, 2504 เข้าถึงจาก https://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:89386
  • เรื่องของแม่ : อัมพา สุวรรณศร (ไม่ปรากฏปีตีพิมพ์)
  • อนุสรณ์เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์พิเศษพงศ์เพ็ญ ศกุนตาภัย, วันเสาร์ที่ 21 ธันวาคม 2556.

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save