fbpx

‘มรณสักขีแห่งสองคอน’ กับความหวาดระแวงของรัฐไทย

การตระเวนเที่ยวไปตามเมืองริมแม่น้ำโขงในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นอกจากได้รับการต้อนรับอย่างยอดเยี่ยมจากจากมิตรสหายนักวิชาการแห่งมหาวิทยาลัยนครพนมหลายคนแล้ว ยังช่วยให้ผมได้รับความรู้ในหลายเรื่อง เช่น อาหารท้องถิ่น (ที่เขียนเล่าไปแล้ว – ดู ‘สุนทรียาหารริมโขง: สำรับเวียด’, The 101 World, 7 Mar 2022 และ ‘สุนทรียาหารริมโขง: เมนูปลา’, The 101 World, 6 Apr 2022) ชีวิตและเรื่องเล่าของคนต่างกลุ่มชาติพันธุ์ รวมไปถึงประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในบางแง่มุม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องใหม่สำหรับผม จึงทำให้ต้องขวนขวายหาความรู้เพิ่มเติม และค้นพบว่าเรื่องราวบางเรื่องมีความซับซ้อนอย่างยิ่ง

ทั้งยังพบว่าผู้คนริมโขง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ใด มิได้มีความทรงจำที่งดงามเหมือนทิวทัศน์ทางธรรมชาติเสมอไป ทว่า ในหลายกรณี เป็นความทรงจำที่เจ็บปวด อันเป็นผลมาจากการสูญเสีย ที่รวมถึงการเสียชีวิตของคนท้องถิ่นด้วย มีเรื่องเล่ามากมายที่สะท้อนถึงการทรงจำของการถูกข่มขู่ ข่มเหงรังแกจากเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นความทรงจำของความคับแค้นใจต่อความอยุติธรรมจากรัฐไทยที่มีมานานกว่าศตวรรษ

หนึ่งในตัวอย่างของความทรงจำของการใช้ความรุนแรงของรัฐไทย และความอัดอั้นตันใจต่อความอยุติธรรมที่เกิดขึ้น คือการจัดกิจกรรมในวาระครบรอบ 121 ปีการปราบกบฏผู้มีบุญ ณ​ บ้านสะพือ โนนโพธิ์ อ. ตระการพืชผล จ. อุบลราชธานี ที่มีผู้เสียชีวิตกว่า 300 ชีวิต เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา

กิจกรรมนี้ทำให้ผมนึกถึงปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ไทยในชุมชนเล็กๆ ริมลำน้ำโขง ที่นำไปสู่การเสียชีวิตของคนท้องถิ่น แม้จะไม่ได้มีจำนวนมากมายเช่นในกรณีที่บ้านสะพือ แต่ก็เป็นเรื่องที่น่าโศกเศร้า – และน่าสะพรึงกลัวอย่างยิ่ง ที่เจ้าหน้าที่รัฐได้กระทำการอันเหี้ยมโหดแต่กลับดูเป็นเรื่องชอบธรรม – ที่ทุกวันนี้รู้จักกันในนาม ‘มรณสักขีแห่งสองคอน’ ซึ่งผมจะเขียนถึงในครั้งนี้

ความหวาดกลัวของรัฐไทยต่อคนอีสาน

ลอริสตัน ชาร์ป (Lauriston Sharp) นักมานุษยวิทยาอเมริกันและหัวหน้าโครงการ ‘Cornell Thailand Program’ ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่าในสายตาของรัฐบาลไทยส่วนกลาง ภาคอีสานเป็นดินแดนแห่ง ‘ความยุ่งยาก’ เพราะเป็นทั้งบริเวณของความ ‘ลำบาก’ (ในความหมายของ ‘ความลำบากยากแค้น’ – นิติ) และแหล่งของการขัดขืน ท้าทายอำนาจรัฐ ด้วยเหตุนี้ รัฐไทยจึงใช้ทุกวิธีการเพื่อเข้าควบคุมและรักษากฏระเบียบต่างๆ ในดินแดนแห่งนี้ และเพื่อผนวกเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับโครงสร้างทางสังคมและระบบอารมณ์ความรู้สึกแห่งชาติ[1]

ข้อสังเกตของชาร์ปเป็นส่วนหนึ่งของคำนำเสนอในรายงานวิจัยของ ชาร์ลส์ คายส์ (Charles F. Keyes) นักมานุษยวิทยาอเมริกันผู้เชี่ยวชาญเรื่องสังคมไทยและคาบสมุทรเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นทั้งงานวิจัยบุกเบิกและงานระดับคลาสสิกเกี่ยวกับสังคมอีสานและประวัติศาสตร์การเมืองของภาคอีสาน โดยใช้มุมมองทางมานุษยวิทยาในการวิเคราะห์/ตีความ

นอกจากงานเขียนชิ้นนี้ คายส์ยังได้เขียนงานอีกจำนวนมาก ทั้งบทความและหนังสือ ที่ให้คำอธิบายเกี่ยวกับคนอีสานและชีวิตของกลุ่มนี้ไว้อย่างน่าสนใจ เพราะช่วยให้เราเข้าใจได้ว่าพัฒนาการของคนอีสาน ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดก็ตาม – ในภาคอีสาน ภูมิภาคอื่น เมืองหลวงของประเทศ หรือแม้แต่ในต่างแดน – ล้วนเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและการเมือง ทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับชาติและระดับโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 4-5 ทศวรรษที่ผ่านมา และก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางสังคม-วัฒนธรรม และความคิดของคนอีสาน ซึ่งในด้านหนึ่ง ก็ทำให้คนอีสานจำนวนมากหันไปพิจารณาทบทวนตนเองและสังคมของตน โดยเฉพาะในประเด็นทางการเมือง ที่นำไปสู่ความตื่นตัวทางการเมืองอย่างน่าประหลาดใจของคนอีสาน อย่างน้อยตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา

ความดื้อรั้นและการปราบปราม

ความระแวงสงสัยที่รัฐไทยมีต่อคนท้องถิ่นภาคอีสานเกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 19 ในบางกรณี เช่น ความเชื่อเรื่อง ‘ผู้มีบุญ’ หากมีผู้ติดตามหรือผู้เห็นด้วยกับผู้มีบุญ ก็อาจถูกเพ่งเล็งจากสายตาของอำนาจส่วนกลางว่ามีลักษณะของการท้าทาย ขัดขืน ต่อต้าน หรือแม้แต่เป็นการก่อกบฏต่อรัฐไทยก็ได้ ที่อาจนำไปสู่การใช้กำลังในการปราบปราม ดังตัวอย่างที่เห็นได้จากการปราบปรามกลุ่มผู้มีบุญที่บ้านสะพือ โนนโพธิ์ ในวันที่ 4 เมษายน 2444 ซึ่งตามความเห็นของ ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ แห่งคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต การปราบปรามที่บ้านสะพือ โนนโพธิ์ เป็น ‘ทุ่งสังหาร’ ที่รัฐไทยไม่เพียงแต่ใช้กำลังของ “หน่วยทหารหนึ่งกองร้อยของกรุงเทพฯ ที่เข้ามา นอกจากหน่วยทหารแล้วฝ่ายเจ้าเมืองของอุบลราชธานีก็ถูกสั่งให้มาช่วยกองร้อยนี่ด้วย” หากยังมี

“การวางแผนทำการโอบปีกกาเป็นยุทธวิธีของกองทัพไทยสมัยใหม่ ที่จะหลอกล่อและโจมตีข้าศึก ในที่สุดสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือการยิงคนที่ไม่มีอาวุธที่เท่าเทียม มันเป็นการสังหารจริงๆ ในขณะที่ฝ่ายผู้มีบุญก็เชื่อว่าตัวเองจะรอด แล้วบอกว่าอย่ายิงหรือทำอะไรให้นั่งภาวนา บันทึกนี้เป็นเอกสารของหอจดหมายเหตุ  มีการบันทึกคำของฝ่ายผีบุญว่า ใครอย่ายิง อย่าทำอะไรหมด ให้นั่งภาวนา ฝ่ายเราซึ่งหมายถึงฝ่ายเจ้าเมืองและกรุงเทพฯ ก็ยิงแต่ข้างเดียว ในที่สุดผู้คนก็ล้มตายเป็นจำนวนมาก 300 คนเศษ มันเป็นทุ่งสังหารจริง”

“นี่เป็นครั้งแรกที่ผมถูกกระตุ้นให้เห็นว่า เหตุการณครั้งนี้มีคนถูกฆ่าพร้อมกัน 300 กว่าคน นี่เป็นการตายครั้งสำคัญในการผนวกอีสานให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนกรุงเทพฯ นี่เป็นการฆ่าเพื่อยึดครองจริงๆ ผมคิดว่าผมมองข้ามเหตุการณ์นี้มา คือไม่เคยถูกบอกเล่ามาก่อน”[2]

มรณสักขีแห่งสองคอน

ทว่า อำนาจส่วนกลางหรือรัฐไทยมิได้มีปัญหาต่อเรื่องผู้มีบุญเท่านั้น แม้แต่ความเชื่อ ความศรัทธาในศาสนาอื่นที่ไม่ใช่พุทธศาสนาก็อาจถูกระแวงสงสัยได้ หรือแม้กระทั่งถูกตีความว่าเป็นการแสดงถึงการท้าทาย หรือการต่อต้านอำนาจรัฐ หนึ่งในตัวอย่างที่ชัดเจนของเรื่องนี้คือ ‘มรณสักขีแห่งสองคอน’ เมื่อคริสต์ศาสนิกชนนิกายโรมันคาทอลิกชาวไทยจำนวนเจ็ดคนถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจยิงเสียชีวิต ณ บ้านสองคอนในเขตจังหวัดมุกดาหาร เนื่องจากไม่ยอมเลิกนับถือศาสนาคริสต์ หลังจากนั้น ผู้ตายทั้งเจ็ดได้รับการยกย่องจากคริสตจักรโรมันคาทอลิกว่าเป็น ‘มรณสักขี’ และได้รับ ‘การประกาศเป็นบุญราศี’

ณรงค์ฤทธิ์ สุมาลี แห่งมหาวิทยาลัยนครพนม ได้ให้คำอธิบายของการเกิดขึ้นของชุมชนชาวคริสต์ที่บ้านสองคอนไว้ว่า

สำหรับในกรณีของบ้านสองคอนซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง โดยตั้งอยู่ระหว่างเมืองมุกดาหารและเมืองนครพนม … ตามประวัติศาสตร์การก่อตั้งชุมชนได้บันทึกไว้ว่าราวปี พ.ศ. 2425 ได้มีขุนอินหรือขุนไทยจากบ้านน้ำกำ (อยู่ในอำเภอธาตุพนมปัจจุบัน) ได้นำครอบครัวและทาสรวมกันราว 30 คนมาตั้งถิ่นฐานบริเวณที่ตั้งบ้านสองคอนในปัจจุบัน ครั้นอยู่มาระยะหนึ่งได้มีผู้คนล้มเจ็บและเล่าลือกันว่าเป็นเพราะภูติผีเจ้าที่เจ้าทางไม่พอใจ แม้จะมีการทำพิธีบวงสรวงเซ่นไหว้แต่ทุกขภัยก็ไม่ทุเลาเบาบางลง จนเกิดความสิ้นหวัง ท้อแท้และคิดจะอพยพกันไปอยู่ที่อื่น หากเวลานั้นมีเสียงร่ำลือว่าที่บ้านคำเกิ้ม บ้านหนองแสง เมืองนครพนมนั้น มีบาทหลวงฝรั่งเศสชื่อ ซาเวียร์ เกโก (Franc Xavier Marie Guego) ซึ่งเป็นผู้ไม่กลัวผี ทั้งยังสามารถปราบและขับไล่ผีได้ด้วย จึงได้ไปเชิญบาทหลวงและเดินทางมาบ้านสองคอนในปี พ.ศ. 2430 บาทหลวงได้สร้างศรัทธาด้วยการรักษาคนป่วยจนหายด้วยยาสมัยใหม่และแนะนำการใช้ชีวิตที่ถูกสุขอนามัย รวมทั้งมีการสั่งสอนศาสนาให้ยึดมั่นในพระเจ้าและเลิกกลัวผี จนทำให้สามารถก่อตั้งชุมชนคริสต์คาทอลิกอีกแห่งขึ้นมาได้[3]

ทว่า เรื่องการเจ็บไข้ได้ป่วยและความเชื่อเรื่องผีสางก็กลายเป็นปัญหาทางการเมือง เพราะรัฐบาลไทยในสมัยนั้นเกิดความหวาดระแวง ตามมาด้วยการสร้างความเกลียดชัง เพราะ “ในระหว่างที่มีข้อพิพาทดินแดนอินโดจีนนี้ วาทกรรมการเสียดินแดนเพื่อฟื้นฟูเกียรติยศของชาติ รวมทั้งรักษาสถานภาพของรัฐบาลและอำนาจของผู้นำรัฐบาล ทำให้อุดมการณ์ชาตินิยมเบ่งบาน โดยหันความเกลียดชังพุ่งตรงไปยังฝรั่งเศสในฐานะจักรวรรดินิยมผู้รุกราน โดยคาทอลิกได้กลายเป็นตัวแทนที่ชัดเจนของความเป็นอื่นที่ไม่ใช่ไทย เป็นศาสนาของฝรั่งเศสซึ่งเป็นศัตรูของชาติไทยที่ต้องกำจัดออกไปจากดินแดนของคนไทยที่มีพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ”[4]

ความเกลียดชังฝรั่งเศสและศาสนาคริสต์ส่งผลให้คนท้องถิ่น ผู้เป็นคริสต์ศาสนิกชนที่อาศัยอยู่ตามชุมชนต่างๆ ริมลำน้ำโขงกลายเป็นเหยื่อของการใช้ความรุนแรงทางการเมือง “โดยเฉพาะจังหวัดนครพนม ซึ่งเวลานั้นได้รับการควมคุมอย่างใกล้ชิดจากรัฐ มีการปฏิบัติต่อคริสตัง ทั้งการขับไล่ให้ออกนอกประเทศ การจับกุมคุมขัง สั่งห้ามประกอบพิธีกรรมทางศาสนา หรือบังคับให้เปลี่ยนศาสนา … นครพนมมีวัดคริสต์ถูกทำลายและเผาเสียหายถึงเจ็ดแห่ง ดังเช่น โบสถ์วัดคำเตยในเขตเมืองนครพนมถูกลอบวางเพลิงเผาในเดือนมิถุนายน 2485 … เช่นเดียวกับโบสถ์บ้านคำเกิ้มที่ถูกลอบเผาโดยข้าราชการในท้องถิ่นแต่ชาวบ้านสามารถดับไฟได้ก่อน”[5]

นอกจากนี้

ในส่วนของชุมชนที่มีชายแดนติดกับอินโดจีนฝรั่งเศส รัฐได้ส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจมีอาวุธปืนครบมาประจำชุมชนละ 6 คน เพื่อสอดส่องควบคุม เช่นเดียวกับคริสตังบ้านสองคอนซึ่งหลังจากมีคำสั่งให้คนฝรั่งเศสที่พำนักอยู่ในต่างจังหวัดต้องเดินทางออกนอกประเทศภายใน 48 ชั่วโมง ทำให้เจ้าอาวาสวัดคือเปาโล ฟิเกต้องอพยพข้ามแม่น้ำโขงไปที่บ้านแก่งกระเบาที่อยู่ฝั่งลาว ทำให้วัดเหลือเพียงครูสอนหนังสือ คือ ครูฟิลิป สีฟอง อ่อนพิทักษ์ และซิสเตอร์สองคน คือซิสเตอร์ อักเนส พิลา ทิพย์สุข และซิสเตอร์ ลูซีอา คำบาง สีคำฟอง นอกจากนี้ยังมีแม่ครัวชื่อ พุดทา ว่องไว รวมทั้งเด็กผู้หญิง 3 คนที่อาศัยอยู่กับซิสเตอร์ ตำรวจชุดคุ้มครองหมู่บ้านนำโดยตำรวจชื่อลือ เมืองโคตรเป็นหัวหน้าชุด ในช่วงแรกดูเหมือนจะมีความสัมพันธ์อันดีกับชาวบ้าน ต่อมาเริ่มมีพฤติกรรมคุกคามข่มขู่ โดยบังคับให้ชาวบ้านเลิกนับถือศาสนาและห้ามชุมนุมกันเกิน 3-4 คน ทั้งยังบังคับขืนใจหญิงสาวในชุมชน บรรยากาศดังกล่าวสร้างความหวาดกลัวและเกลียดชังให้ชาวบ้าน ทั้งยังขาดความมั่นคงทางจิตใจเพราะไม่มีผู้นำทางศาสนา ครูสีฟองจึงต้องรับบทบาทหน้าที่ดังกล่าวเพื่อให้ชาวบ้านรักษาศรัทธาไว้โดยนำชาวบ้านประกอบพิธีกรรมทุกวันอาทิตย์ ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวสร้างความไม่พอใจแก่ ชุดคุ้มครอง จึงได้วางแผนกำจัดด้วยการทำจดหมายหมายปลอมถึงครูสีฟองว่าส่งมาจากนายอำเภอมุกดาหารเพื่อหลอกให้เดินทางไปพบ เมื่อครูชีฟองหลงเชื่อติดตามไปจึงถูกยิงทิ้งและฝังศพไว้ที่บ้านพาลุกาตรงกับวันที่ 16 ธันวาคม 2483

หลังการตายของครูสีฟองแม้ชาวบ้านจะหวาดกลัวแต่ยังไม่ละทิ้งศาสนา เพราะมีซิสเตอร์สองคนเป็นแกนหลักให้ชาวบ้านยึด ตำรวจจึงดำเนินการข่มขู่หลอกล่อซิสเตอร์ทั้งสองด้วยอุบายต่างๆ และเรียกประชุมชาวบ้านเพื่อบังคับให้ละทิ้งความเชื่อและหันมานับถือพุทธศาสนา บรรยากาศดังกล่าวสร้างความกดดันให้กับซิสเตอร์และชาวบ้านอย่างยิ่ง ท้ายที่สุดซิสเตอร์จึงพูดคุยตกลงกับชาวบ้านที่มีศรัทธามั่นคง และตัดสินใจเขียนจดหมายถึงตำรวจแจ้งความจำนงที่จะขอตายเพื่อรักษาความเชื่อ “..ไหนๆก็ขอให้ท่านจงจัดการสำหรับพวกฉันเถิด อย่ารอช้าเลยค่ะ จงทำตามคำสั่งเถิด พวกฉันยินดีที่จะถวายชีวิตคืนให้แก่พระผู้เป็นเจ้าผู้ประทานชีวิตนี้ให้..” … ครั้นวันรุ่งขึ้นตำรวจจึงได้นำซิสเตอร์สองคนและชาวบ้านห้าคนที่พร้อมจะตายเพื่อยืนยันความเชื่อไว้ไปที่ป่าช้าหรือป่าศักดิ์สิทธิ์ของหมู่บ้าน โดยทั้งเจ็ดคนได้นั่งคุกเข่าหน้าขอนไม้ใหญ่เพื่อรอความตาย หลังเสียงปืนความเงียบเข้าครอบครองพื้นที่และเข้าใจว่าทั้งเจ็ดคนเสียชีวิตแล้วตำรวจจึงเดินจากไป แต่ปรากฏว่าเด็กหญิงสอน ว่องไว้ที่นอนฟลุบหน้ากับขอนไม้และอยู่ริมสุดกลับรอดอย่างปาฏิหารย์เพราะไม่ถูกกระสุนและกลายเป็นพยานที่ได้บอกเล่าเรื่องราวเหล่านี้ให้ได้รับรู้ จากนั้นตำรวจชุดดังกล่าวได้สั่งรื้อทำลายวัดซึ่งเป็นอาคารไม้ลง และชาวบ้านไม่สามารถทำพิธีกรรมอย่างเปิดเผยเป็นเวลานาน กระทั่งได้มีบาทหลวงคนใหม่ซึ่งได้รับคำสั่งให้มาสอบสวนเรื่องราวการสละชีวิตเพื่อพิสูจน์ความเชื่อของผู้ตายทั้งเจ็ดคน พร้อมกับได้สร้างโบสถ์ไม้หลังใหม่ขึ้นมาในปี พ.ศ. 2486[6]

พระศาสนจักรได้พยายามที่จะทำการสืบสวนเรื่องราวเกี่ยวกับการตายของคริสตังทั้งเจ็ดคนมาโดยตลอด

โดยในช่วงปี พ.ศ. 2496 บาทหลวง ยอห์นบัปติสต์ ยังเซน ชาวเบลเยี่ยมได้เข้ามารับหน้าที่เจ้าอาวาสในปี พ.ศ. 2502 และได้ดำเนินการย้ายกระดูกของครูสีฟองซึ่งถูกฝังที่บ้านผาลุกาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2483 มาบรรจุไว้ที่ป่าศักดิ์สิทธิ์บ้านสองคอน เช่นเดียวกับซิสเตอร์และชาวบ้านที่เสียชีวิตทั้งหกคนโดยได้สร้างที่บรรจุอัฐิของอย่างสมกียรติ พร้อมทั้งมีกระบวนการตั้งคณะกรรมการสอบสวนเรื่องราว เสาะหาพยานหลักฐานต่างๆ โดยได้มีการดำเนินอย่างยาวนานต่อเนื่องจนถึงปี พ.ศ. 2424 จึงมีการพิสูจน์อย่างจริงจังเพื่อยืนยันและนำเสนอให้ได้รับการแต่งตั้งเป็นบุญราศี กระทั่งในที่สุดสันตะวาติกัน โดยสมเด็จสันตปาปา ยอห์น ปอลที่ 2 จึงได้รับรองคนไทยทั้งเจ็ดคนที่สละชีวิตเพื่อยืนยันความเชื่อให้เป็นบุญราศีและการตายนั้นคือมรณสักขีเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2532 … โดยสมเด็จสันตปาปาได้ประกาศให้มีการฉลองบุญราศีทั้งเจ็ดแห่งประเทศไทยในวันที่ 16 ธันวาคมของทุกปีด้วย นับว่าเป็นการประกาศแต่งตั้งคริสตังคนไทยเป็นบุญราศีครั้งแรก[7]

ศรัทธาและความคับแค้นใจ

คายส์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสังคมไทย เคยแสดงความเห็นไว้ว่าคริสต์ศาสนามักถูกมองว่าเป็น ‘ศาสนาต่างชาติ’ ที่แข่งขันกับศาสนาพุทธที่อยู่ภายใต้การสนับสนุนของรัฐไทย แต่เขาก็ระบุถึงความล้มเหลวของศาสนาคริสต์ในการชักจูงคนไทยส่วนใหญ่ให้เปลี่ยนไปนับถือศาสนานี้

ความเห็นของคายส์อาจจะถูกต้อง แต่สิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือสายตาของรัฐไทย ศาสนาคริสต์เป็น ‘คู่แข่ง’ ที่น่ากลัว เนื่องจากสามารถดึงดูดผู้คนในประเทศไทยให้ ‘เข้ารีต’ อยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนที่อยู่ห่างไกลจากเมืองหลวง ทั้งคนตามชายแดนและ ‘คนชายขอบ’ ดังจะเห็นได้จากกรณีของชาวบ้านบ้านคำเกิ้มและบ้านหนองแสงที่เลื่อมใสศรัทธาในคริสต์ศาสนาเพราะบาทหลวงซาเวียร์ เกโกสามารถปราบ/ขับไล่ผีออกไปจากชุมชน และ ‘รักษาคนป่วยจนหายด้วยยาสมัยใหม่และแนะนำการใช้ชีวิตที่ถูกสุขอนามัย’

ความรู้ทางการแพทย์สมัยใหม่ – ที่รวมถึงความรู้ด้านสาธาณสุขและสุขอนามัยด้วย – เป็นหนึ่งในความรู้ของ ‘หมอสอนศาสนา’ (ตามคำเรียกของอานันท์ กาญจนพันธุ์ นักมานุษยวิทยาไทยผู้โด่งดัง) ที่เข้ามาเผยแพร่ศาสนาในดินแดนต่างๆ ของประเทศไทย และเป็นความรู้ที่ชาวบ้านในท้องถิ่นที่ห่างไกลต้องการอย่างยิ่ง เพราะสามารถรักษาโรคได้ จนทำให้หมอสอนศาสนาในภาคเหนือถูกเรียกว่า ‘พ่อเลี้ยง’ ในยุคสมัยหนึ่ง[8]

ทว่า เป็นความรู้ที่พระสงฆ์ในพุทธศาสนาส่วนใหญ่ไม่มี จึงไม่สามารถรักษาโรคให้ชาวบ้านด้วยความรู้ทางการแพทย์สมัยใหม่ได้

ความยากจนเป็นเงื่อนไขสำคัญประการหนึ่งที่ผลักดันให้ชาวบ้านหันไปนับถือศาสนาคริสต์ ดังกรณีตัวอย่างที่ ดร. โสรัจจ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ผู้เชี่ยวชาญด้านการส่งเสริมการเกษตรแห่งมหาวิทยาลัยนครพนม เคยเล่าให้ผมฟัง ว่า

“ผมรู้จักอยู่ครอบครัวนึง บ้านเกิดอยู่ที่เวียงคุก หนองคาย ครอบครัวนี้เป็นครอบครัวชาวนา ฐานะยากจน พ่อแม่ตายตั้งแต่เด็ก อยู่กันพี่น้อง 4 คน (ผู้ชายสามคน ส่วนพี่คนโตเป็นผู้หญิง) และทุกคนเข้ารีตหมดตอนเด็ก

เหตุผลคือ มีบาทหลวงมาชวน ว่าถ้าเข้ารีตจะได้เรียนหนังสือและมีกิน

พี่น้องผู้ชายสามคนตัดสินใจเข้ารีต และโบสถ์ (ที่หนองคาย) ส่งไปเรียน (ที่โรงเรียน) อัสสัมชัญ ศรีราชา

ส่วนพี่คนโตอยู่หนองคาย เฝ้าบ้านและทำงานให้โบสถ์

ผมเคยคุยกับทุกคน ยืนยันว่าถ้าไม่ตัดสินใจเข้ารีต ป่านนี้ไม่รู้ว่าอนาคตเป็นไง

สองในสามคน (พี่น้อง) ปัจจุบันมีอาชีพเป็นนายหน้าพาคนไทยไปทำงาน (ที่ประเทศ) ฟินแลนด์”

พี่น้องครอบครัวนี้ยังเล่าต่ออีกว่า “มีเพื่อนๆ (รุ่นราวคราวเดียวกัน) ในหมู่บ้าน ที่ตัดสินใจเข้ารีตในตอนนั้น แต่ไม่ได้เรียนหนังสือทุกคนแบบบ้านนี้ แต่มีโบสถ์เป็นที่พึ่ง บางครั้งก็ไปรับอาหาร บางครั้งก็มีการจ้างไปทำงาน” โสรัจจ์ได้ให้ความเห็นในกรณีนี้ว่า “โบสถ์ (ซึ่งหมายถึงศาสนาคริสต์) (เป็น) ที่พึ่งทางเศรษฐกิจอีกแห่งในชุมชน นอกจากวัด เป็นเหมือนสถานสงเคราะห์ … ที่เวียงคุกนี่ ทั้งตำบลเป็นคริสต์นะ เพราะชวนกันไปเข้ารีต หนีความอดอยาก”

อย่างไรก็ตาม มีกรณีตัวอย่างที่สะท้นห้เห็นว่าการเข้าเป็นคริสตศาสนิกชนแฝงไว้ด้วยนัยของการเปลี่ยน/เลื่อนสถานภาพทางสังคม ซึ่งส่งผลให้ผู้นั้นรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่าและไม่ด้อยกว่าผู้อื่น ดังคำบอกเล่าของณรงค์ฤทธิ์ สุมาลีที่ว่า “อย่างชุมชนคำเกิ้ม (จ. นครพนม) โบสถ์เก่าที่เราไปดูกัน บาทหลวงก็เอาเงินซื้อที่นาให้คนจนได้ทำกิน ก็ยิ่งดึงคนเหล่านี้เข้ามา แม้กระทั่งในปัจจุบันทึ่ผมเห็นก็มีเยอะ โดยเฉพาะคนที่ไม่มีตัวตนในสังคม ไม่มีที่พึ่งทั้งทางใจ เศรษฐกิจและสังคม พอเข้าร่วมพิธีกรรมวันอาทิตย์ที่มีกระบวนการและบรรยากาศเป็นมิตร เอื้ออาทรกัน มีมิติทางสังคมเข้ามา ก็จูงใจ (ให้นับถือศาสนาคริสต์) ได้ไม่ยาก”

ผมจึงอยากเสนอว่าแม้ว่าพุทธศาสนายังเป็นความเชื่อที่คนไทยส่วนใหญ่นับถือเลื่อมใส แต่ศาสนาคริสต์ก็มีพลังและเสน่ห์ที่น่าเกรงขาม เพราะสามารถดึงดูดจิตใจของผู้คนจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนยากจน ผู้ด้อยโอกาส ผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรที่จำเป็น ผู้ที่อยู่ห่างไกลจากศูนย์กลาง ชนกลุ่มน้อย คนชายขอบ ฯลฯ การเข้าเป็นคริสตศาสนิกชนช่วยให้คนเหล่านี้หลุดพ้นออกจากความยากจน จากสถานภาพทางสังคมเดิมที่ต่ำต้อย เข้าสู่สถานภาพทางสังคมใหม่ที่ดีกว่าเดิม เข้าสู่โอกาสใหม่ๆ ในชีวิต ในแง่นี้ ศาสนาคริสต์จึงมีนัยของ ‘ความหวัง’ ในชีวิตที่ดีกว่าเดิม

และผมอยากเสนออีกว่าการ ‘เข้ารีต’ เป็นคริสตศาสนิกชนนั้นมีนัยทางการเมืองที่สำคัญยิ่งด้วย ที่สะท้อนถึงการการถูกบังคับ ข่มเหงจากอำนาจรัฐไทย ถึงความเจ็บช้ำน้ำใจของคนท้องถิ่น ผู้ถูกกระทำด้วยการใช้กำลัง ความรุนแรงจากเจ้าหน้าที่รัฐ ที่รวมถึงการสังหารฆ่าฟันอย่างไร้ความเมตตา ไร้ความยุติธรรม – และเจ้าหน้าที่รัฐผู้ใช้ความรุนแรงก็ไม่เคยถูกลงโทษ แต่กลับลอยนวล หลุดพ้นจากความผิด

กรณีของมรณสักขีแห่งสองคอนเป็นตัวอย่างที่ดี ที่สะท้อนถึงความโกรธเคือง ความคับแค้นใจ – หรือ ‘อุกอั่ง’ ในภาษาอีสาน – ของคนท้องถิ่นต่อความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นด้วยน้ำมือของเจ้าหน้าที่รัฐไทย เป็นความคับแค้นใจที่ทำให้คนท้องถิ่นไม่เกรงกลัวสิ่งใดเลย แม้แต่ความตาย

มรณสักขีทั้งเจ็ดคนที่สองคอนจึงมิได้ยอมสละชีวิตเพื่อศรัทธาในศาสนาคริสต์เท่านั้น หากยังเป็นการสละชีวิตเพื่อประกาศให้โลกเห็นถึงความโหดร้ายและความอยุติธรรมของรัฐไทยด้วย


[1] ดู Charles F. Keyes, Isan: Regionalism in Northeastern Thailand, Data Paper: Number 65 (Ithaca, New York: Cornell University Southeast Asia Program, [second printing] 1969), p. v

[2] The Isaan Record, “เรื่องเล่าบ้านสะพือ: ทุ่งสังหารผู้มีบุญ”, กรกฎาคม 27, 2021, <https://theisaanrecord.co/2021/07/27/saphue-was-a-killing-field/>

[3] ณรงค์ฤทธิ์ สุมาลี, “บุญราศีมรณสักขีแห่งสองคอน: การสร้างความทรงจำร่วมและตัวตนทางศาสนาของคริสต์ท้องถิ่น”, เอกสารประกอบการประชุมวิชาการด้านปรัชญาและศาสนาในวาระ 50 ปี คณะอักษรศาสตร์ 25 ปี ภาควิชาปรัชญา “ศาสนากับรัฐ : Fundamentalism, Secularism และ Post-Secularism”, วันที่ 27 เมษายน 2560 ณ อาคารวชิรมงกุฏ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, น. 7, ดู <https://drive.google.com/file/d/0B_Bcepg8V9pNb2JERFp1NUF1MDQ/view?usp=drivesdk&resourcekey=0-U531bhaT8DdQOaL7QXFQ_Q>

[4] อ้างแล้ว, น. 11

[5] อ้างแล้ว, น. 12

[6] อ้างแล้ว, น. 12-13

[7] อ้างแล้ว, น. 13

[8] ดู อานันท์ กาญจนพันธุ์, “วัฒนธรรมพ่อเลี้ยง: เลี้ยงใครและใครเลี้ยง”, สมุดสังคมศาสตร์ 12:3-4 (กุมภาพันธ์–กรกฎาคม 2533), น. 152-153

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save