fbpx

อนุชิต เจริญศรีสมจิตร: 19 ปีแฟนพันธุ์แท้กรุงเทพฯ อะไรเปลี่ยนไปและอะไรยังคงเดิม

22 สิงหาคม 2546 รายการ ‘แฟนพันธุ์แท้’ -รายการเกมโชว์ที่เน้นความรอบรู้ในประเด็นต่างๆ ตามที่รายการกำหนดจากบริษัทเวิร์คพอยท์- ออกอากาศเทปที่ถือกันว่าเป็น ‘หมัดเด็ด’ ของคนเมืองอย่าง ‘แฟนพันธุ์แท้ กรุงเทพมหานคร’ ที่ผู้เข้าแข่งขันทั้งหกคนต้องมาประลองความรู้เกี่ยวกับกรุงเทพมหานครในทุกแง่มุม ซึ่งหมายรวมถึงชื่อตรอกซอกซอยลึกลับ ไปจนถึงวันและเวลาการก่อสร้างสถานที่สำคัญ

ขณะนั้น อนุชิต เจริญศรีสมจิตร เพิ่งอายุ 33 ปีและมีอาชีพเป็นข้าราชการกรุงเทพฯ ระดับ 6 เขาฝ่าคำถามแต่ละด่าน นับตั้งแต่การทายภาพบางส่วนเสี้ยวของกรุงเทพฯ (และจำแนกถนนเจริญกรุงได้หมดจด ถึงขั้นบอกได้กระทั่งว่าโรงภาพยนตร์ในย่านนั้นยังเปิดกิจการอยู่หรือไม่ และฉายหนังเรื่องอะไร!) และระบุชื่อต้นไม้ประจำกรุงเทพฯ ได้อย่างแม่นยำ ยังผลให้เขาคว้าตำแหน่งแฟนพันธุ์แท้ กรุงเทพมหานครของเทปนั้นมาครอง

ผ่านไปอีกเกือบสองทศวรรษ ในโมงยามที่กรุงเทพฯ กำลังเข้าสู่โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งผู้ว่าฯ เป็นครั้งแรกในรอบเก้าปี หลังล่าช้าอันเนื่องมาจากการรัฐประหารปี 2557 โดย คสช. ในวาระนี้ 101 จึงชวนอดีตแฟนพันธุ์แท้ที่เข้าใจเมืองแห่งนี้อย่างทะลุปรุโปร่ง มองเห็นและจดจำรายละเอียดทั้งการถือกำเนิดของสิ่งใหม่และการล่มสลายของสิ่งเก่าในกรุงเทพฯ มาคุยถึงเมืองนี้อีกครั้ง ทั้งในแง่ประวัติศาสตร์และในแง่ความเปลี่ยนแปลง ตลอดจนสิ่งที่เขาเห็นว่าควรจะเปลี่ยนแปลงในอนาคตอันใกล้นี้

ในวัย 52 อนุชิตยังทำงานกับกรุงเทพฯ เรานัดเจอเขาที่สำนักงานเขตบางเขน เช่นเดียวกับอีกหลายคน เขาเป็นเด็กต่างจังหวัด ก่อนจะเข้ามาเรียนและใช้ชีวิตในเมืองหลวงของไทย และหากจะมีสักอย่างที่ทำให้เขาต่างไปจากอีกหลายคน นั่นคือความสามารถในการจดจำสิ่งละอันพันละน้อยของเมืองแห่งนี้

ยังจำความรู้สึกตอนคว้าแชม์เมื่อ 19 ปีก่อนได้ไหม

ความรู้สึกต่างๆ มันเกิดขึ้นค่อนข้างเร็วและค่อนข้างเซอร์ไพรส์ ผมไม่คิดว่าจะไปได้ไกลขนาดนั้น

พูดตรงๆ ก็คือผมไม่เคยดูรายการแฟนพันธุ์แท้มาก่อน (หัวเราะ) ไม่รู้จักด้วย ไม่รู้ว่าออกอากาศช่องไหน เวลาไหน ตอนนั้นก็นึกในใจว่าเป็นเกมที่แข่งกันเล่นๆ เอาไว้แข่งกันสนุกๆ มากกว่า พอดีกับตอนนั้นผมก็ยังไม่ได้ซื้อโทรทัศน์เลยเพราะเพิ่งย้ายบ้าน อะไรต่ออะไรก็ยังไม่ลงตัว อาศัยมาดูโทรทัศน์ที่ทำงานซึ่งก็ดูพวกรายการข่าวต่างๆ 

ตอนนั้นมีคนมาถามว่า คุณอนุชิตลองไปแข่งหน่อยไหม ไหนๆ ก็เป็นคนชอบสนุก ชอบคุยอยู่แล้ว ผมก็ลองไปดู กล่าวได้ว่าไม่ได้สมัครไปแข่งอะไรกับเขาเลย มีคนชวนจึงไป เราก็ตามประสาคนต่างจังหวัด คิดแค่ว่าอย่างน้อยถึงตกรอบก็ได้ออกโทรทัศน์นะ (ยิ้ม) แล้วไม่ได้เตรียมตัวอะไรมาก ครีเอทีฟรายการก็เรียกผมไปคุยแถวโรงพยาบาลเซ็นทรัลเยนเนอรัล สมัยนั้นบริษัทเวิร์คพอยต์ยังอยู่ที่พหลโยธิน ซอย 50 อยู่เลย ทีมงานเขาก็บอกลักษณะรายการต่างๆ บอกลักษณะคำถามซึ่งผมฟังดูก็เหมือนการเล่มเกมสนุกๆ ฟังเหมือนปัญหาเชาว์ 

ในบรรดาคำถามทั้งหมด มีคำถามที่จำขึ้นใจไหม

ไม่มีหรอก (ยิ้ม) ผมไปตายรอบแฟนพันธุ์แท้แห่งปี ได้ที่สุดท้ายเลย คือไม่มีกะใจจะไปแข่งแล้ว มีคนโทรมาชวนไปแข่งรายการต่ออีกรอบ ผมก็บอกไปว่าไม่ไปแล้วได้ไหม ก็ไปแข่งมาแล้ว แต่สุดท้ายก็ไปแหละ ไปเจอแฟนพันธุ์แท้คนอื่นๆ ซึ่งเก่งกันมากเลย มีแฟนพันธุ์แท้พระเครื่อง แฟนพันธุ์แท้กรุงศรีอยุธยา เราดูแล้วรู้เลยว่าคนที่จะมาแข่งนั้นเขาสนใจ มุ่งมั่น ใส่ใจประเด็นนั้นจริงๆ ขณะที่ผมออกไปทางจับพลัดจับผลูเสียมากกว่า

ส่วนที่ผมได้ตำแหน่งแฟนพันธุ์แท้กรุงเทพฯ นั้น ผมว่าคำถามที่ทีมงานถามนั้นตรงกับที่ผมทำการบ้านมาพอดีด้วย และอาจไม่ได้ยากมาก บางคนพอมาดูรายการแฟนพันธุ์แท้เทปที่ผมไปแข่งย้อนหลังทางยูทูบ ยังคอมเมนต์กันเลยว่าถามง่ายจริง ถามแค่นี้ใครก็ตอบได้สิวะ 

ที่ว่าทำการบ้านคือเตรียมอะไรบ้าง

อย่างถ้าเขาจะถามเกี่ยวกับกรุงเทพฯ มันก็มีหลายประเด็นที่เขาอาจจะถาม เช่น เหตุการณ์สำคัญ สถานที่สำคัญ อาคารนี้สร้างเมื่อไหร่ วันเวลาอะไร เราเลยเตรียมตัว หาหนังสืออ่านบ้าง หรือเหตุการณ์บางอย่างมันก็ประทับอยู่ในหัวใจเรานะ เช่น เหตุการณ์เปิดสะพานพระราม 9 ซึ่งตรงกับปีที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ครบ 60 ปีพอดี

หรือเหตุการณ์ครบรอบ 200 ปีกรุงรัตนโกสินทร์ในปี 2525 มันก็มีเหตุการณ์สำคัญหลายอย่างที่เกี่ยวกับเลข 2525 เยอะมาก มีภาพยนตร์ฮอลลีวูดเข้าฉายคือเรื่อง 2525 โลกาวินาศ (Meteor, 1979) หรือหนังของคุณดอกดิน กัญญามาลย์ (ผู้กำกับหนัง) เขาก็สร้างหนังเรื่อง เฮงสองร้อยปี (2525) มีคำโปรยว่า “เฮงซะอย่างไม่มีทางจะจน มานะสร้างตนแล้วทุกคนต้องเฮง สรพงษ์เฮงจัด เนาวรัตน์ยอดเฮง หนังดอกดินเรื่องเต็ง ไปฮาให้เฮงสองร้อยปี” สร้างปี 2525 พอดีเลย 

เห็นบอกว่าเป็นคนต่างจังหวัด เป็นคนที่ไหน ทำไมเชี่ยวชาญเรื่องกรุงเทพฯ

สมัยเด็กๆ ผมเกิดที่พิจิตร โตหน่อยก็มีบ้านอยู่อยุธยา แล้วมาเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯ ปี 2532 สอบเอนทรานซ์ได้คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งแต่เด็กก็ไม่เคยคิดหรอกว่าโตแล้วจะได้มาอยู่กรุงเทพฯ แต่ก็พอรู้ว่ามีแลนด์มาร์กสำคัญๆ เช่น สนามหลวง, อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ, หัวลำโพง 

สมัยนั้นไปเรียนก็ใช้วิธีเทียวไปเทียวกลับ นั่งรถตู้ รถไฟ จากกรุงเทพฯ ไปอยุธยา นั่งทุกวันๆ เราไม่รู้สึกว่าไกลนะ ทำแบบนั้นอยู่สิบปีจนทำงาน

การเทียวไปเทียวกลับทำให้เห็นความเป็นกรุงเทพฯ มากขึ้นไหม

เห็นบางจุดเท่านั้น เช่น สถานีชุมทางบางซื่อเพราะเราผ่านบ่อย สมัยก่อนสองข้างทางมันเป็นป่าหญ้า เราก็เป็นเด็กวัยรุ่น เกาะท้ายรถไฟแล้วใช้เท้าเรี่ยยอดหญ้า (หัวเราะ) ฟินมากเลยแม้ว่าจริงๆ มันจะเสี่ยงขาหักมากเลยก็ตาม 

การนั่งรถไฟมันก็ได้เห็นอะไรต่างๆ จากสองข้างทาง สมัยก่อนพอเข้ามาถึงหลักสี่ ดอนเมือง ก็รู้สึกน่าตื่นเต้นแล้ว เมื่อก่อนนี่สถานีดอนเมืองมันโล่ง กว้าง เห็นเครื่องบินด้วย 

หลังๆ ผมก็รู้สึกกรุงเทพฯ มันเปลี่ยนไปจริงๆ นะ ทั้งทางกายภาพ ทั้งเรื่องสังคมมนุษย์ ที่เห็นเป็นรูปธรรมแน่นอนคืออาคารสถานที่ สมัยก่อนคนเขาต่อต้านคอนโดมิเนียมกันมากนะครับ เพราะมันมีภาพยนตร์เรื่อง คอนโดมีเนียม (2527) มาฉายทางช่อง 7 ฉัตรชัย เปล่งพานิช เป็นพระเอก กาญจนา จินดาวัฒน์ เป็นนางเอก ในเรื่องเขาว่า คนกำลังตื่นเต้นกับคอนโดมีเนียม ปรากฏว่าคอนโดมีเนียมนั้นถล่ม ตึกพัง แล้วในนั้นตัวละครก็ไม่ได้โฉนดอะไรเลย เพราะโฉนดมันลอยฟ้าขึ้นไปอยู่บนตึก ทำให้คนดูเขาไม่กล้าซื้อคอนโดมีเนียมเลยนะ ช่วงนั้น มีเพลงด้วยนะ (ร้องเพลง) “คอนโดมิเนียม สูงเยี่ยมเทียมฟ้า คอนโดมิเนียม บ้านกลางเวหา

แล้วในเชิงสังคมที่คุณอนุชิตเห็นว่ามันเปลี่ยนไปคืออะไร

สังคมกรุงเทพฯ ดีขึ้นนะ เมื่อก่อนคนกรุงเทพฯ เขาเป็นผู้ดีจ๋าเลย พวกสืบทอดมาจากขุนนางเก่าแก่ เขาค่อนข้างถือตัว มีทัศนคติมองคนบ้านนอกไม่ค่อยดี 

สมัยผมเรียนมหาวิทยาลัยปี 1 คือปี 2532 ไปอยู่หอพักศายาลา มหิดล เขาก็จะมองว่าพวกที่มาจากต่างจังหวัดเป็นตัวตลก ทำอะไรเปิ่นๆ หรือเชย เมื่อก่อนมันมีหนังเรื่อง บุญชูผู้น่ารัก (2531) คุณสันติสุข พรหมศิริ กับคุณจินตหรา สุขพัฒน์ แสดงนำ บุญชูเขามาจากสุพรรณบุรี เพิ่งสึกพระมา ก็จะถูกมองว่าเป็นพวกบ้านนอกเข้ากรุง เปิ่นเป๋อและพูดเหน่อ แล้วคนดูก็คงมองคนต่างจังหวัดแบบนั้น เช่นมองว่าคนต่างจังหวัดต้องพูดเสียงดัง คนกรุงเทพฯ น่ะเขาพูดกันเบาๆ ค่อยๆ กระซิบ คือเราก็มาจากทุ่งนา ต้องตะโกนถึงจะได้ยินกัน (หัวเราะ)

ในแง่การเปลี่ยนแปลงของกรุงเทพฯ ผมนึกถึงถนนรามอินทรา สมมติเรามาจากรังสิตแล้วจะไปหาพรรคพวกที่รามคำแหง เราก็นั่งรถเมล์สาย 95 เล่นสบายๆ เลยนะ แต่ปัจจุบัน ตัวเปรียบเทียบคือเวลา มันมีวิธีอื่นที่ไปถึงจุดหมายได้เร็วกว่า กรุงเทพฯ ก็มีรถขนส่งสาธารณะเร็วๆ มากมาย เช่น รถไฟฟ้า หรือวิธีชีวิตคนเดี๋ยวนี้ก็จะพบว่าคนหนุ่มคนสาวไม่อดทนรอเหมือนสมัยก่อน คือเมื่อก่อนเงินเดือนเราน้อย นั่งรถไฟ นั่งรถเมล์ก็ได้ มันถูก ไม่รู้สึกว่ามันไกลหรือช้า ตอนผมมาสอบเอนทรานซ์ ผมนั่งรถเมล์จากอยุธยา ออกจากบ้านตีห้ากว่าๆ มาถึงหมอชิตก็แปดโมง นั่งรถเมล์อีกต่อหนึ่งเพื่อไปถึงอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ไปสอบสนามโรงเรียนสันติราษฎร์วิทยาลัย เราก็วิ่งยาวเลย 

พูดรวมๆ ปัจจุบันคนเราก็เดินทางกันสะดวกมากขึ้น มีทั้งรถตู้ รถไฟฟ้า และสิ่งที่ทำให้กรุงเทพฯ เปลี่ยนไปอีกอย่างคือ ย่านเดิมๆ ที่คนเคยพักอาศัย เป็นสถานที่ติดต่อค้าขาย เดี๋ยวนี้ค่อยๆ สูญพันธุ์ไป อย่างพวกย่านวรจักร ประตูผี หรือสามย่าน

เพราะโดนห้างสรรพสินค้ากลืนหรือเปล่า

ผมว่าคนที่อยู่ตรงนั้นเป็นคนจีนเสียมาก พอเขาส่งลูกเรียน มีการศึกษามากขึ้น ไปเป็นหมอ ไปเป็นคนทำงานกินเงินเดือน เขาไม่ได้มาทำกิจการเดิมของครอบครัว อย่างเก่งก็คงรักษากิจการเดิมไว้ได้ บางคนก็ขายทิ้ง หรือพวกย่านรองเมือง เมื่อก่อนเจริญมากเลยนะ หลังสนามศุภชลาศัยนี่เป็นศูนย์กลางของหลายๆ อย่างเลย เดี๋ยวนี้คนก็รีโนเวตมาเป็นร้านกาแฟ เป็นร้านย้อนวัยบ้าง เพราะคนแก่ทำธุรกิจไม่ได้ ถนนก็ถูกบีบให้เป็นวันเวย์ (one-way) ไม่มีที่จอดรถ ที่สุดแล้วมันก็ทำให้คนไม่มีความผูกพันกับย่านเดิมๆ

จริงๆ ก็มีอีกหลายย่าน หลายพื้นที่ที่ค่อยๆ หายไปหรือไม่ค่อยยึดโยงกับคนแล้ว อย่างสนามหลวงคุณเห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างไร

สนามหลวงนี่ใช่เลย สมัยก่อนนี่นึกอะไรไม่ออกก็ไปสนามหลวงกันเพราะมีอีเวนต์บ่อย มีกิจกรรมเยอะแยะ พวกงานสัปดาห์พระพุทธศาสนา งานจัดบอร์ดสารพัด ไปวิ่ง ไปนอนกลางสนามหญ้า ทั้งเมื่อก่อนก็ถูกใช้เป็นสถานที่ในการชุมนุมทางการเมืองด้วย แล้วสนามหลวงนี่กิจกรรมเยอะ งาน ‘5 ธันวามหาราช เทิดไท้องค์ราชันย์’ มีหนังกลางแปลงฉาย 100 จอเพื่อเทิดพระเกียรติ คนรักรัชกาลที่ 9 มาก พอถึงวันที่ 5 ธันวาคม ทุกคนก็มารวมตัวกันที่สนามหลวง ไม่ต้องไปนัดเลย มีเวที มีนักร้องอะไรต่างๆ เมื่อก่อนนี่จีบสาวก็พาไปนั่งคุยกันที่สนามหลวง ดูคนเขาเล่นว่าวกัน 

สนามหลวงก่อนที่พลตรี จำลอง ศรีเมือง จะมาเป็นผู้ว่าฯ กทม. ก่อนปี 2528 สนามหลวงเป็นตลาดนัดขายข้าวขายของ พวกหมอดูเขาจะไปนั่งเฝ้าต้นมะขามกัน แล้วยุคนั้นมีปาหี่ ร้องพากย์ให้ดู มันเป็นเสน่ห์ของเมืองนัก ตั้งแต่ท่าพระจันทร์ ข้ามถนนมาเขาก็ขายปลาทอด ปลาอะไรต่างๆ ที่เอาขึ้นเรือมาจากท่าช้าง มีขายพระเครื่องอะไรต่อมิอะไร คนทุนน้อยก็มาขายได้ 

สมัยผมยังเด็ก ตอนนั้นมีหนังเรื่องหนุมานพบ 7 ยอดมนุษย์ (2517) คุณพ่อผมซื้อหน้ากากหนุมานให้ผมที่สนามหลวงนี่แหละ เอาไปใส่เล่นที่บ้าน

พื้นที่สนามหลวงมันไม่แข็ง มันมีชีวิตชีวา และการจะมีชีวิตชีวานั้นมันต้องไม่เป็นทางการ ถ้าคุณเป็นทางการเมื่อไหร่มันจะขาดตรงนี้ไป ถึงเวลาก็เอารั้วมาปิดล้อม ถึงเวลาก็เปิดรั้ว มันไม่ใช่ ของแบบนี้มันต้องเอามาใช้กันได้

แล้วมองยังไงที่ทุกวันนี้มันถูกห้ามไม่ให้ประชาชนเข้าไปใช้แล้ว

มันเป็นเรื่องที่ว่า กรุงเทพมหานครเข้าไปแสดงบทบาทให้เป็นทางการ มีรั้วเปิดปิดเป็นเวลาเท่านั้นเอง

แต่เทียบจากเมื่อก่อน ก็จะพบว่ามันเป็นพื้นที่ของประชาชนมากกว่าปัจจุบันนะ

(คิด) ผมว่าสักวันมันจะกลับมานะ 

ตอนนี้เข้าใกล้การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ แล้ว มองว่ากรุงเทพฯ ยังมีอะไรอีกบ้างที่ควรปรับ 

ผมว่ามันเปลี่ยนไปเองนะ การเปลี่ยนแปลงไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงที่เอาผู้ว่าราชการที่มาจากการเลือกตั้ง ทำงานกินเงินเดือน มาเป็นผู้เปลี่ยนแปลงนะ แต่สังคมจะเปลี่ยนแปลงได้ก็ต่อเมื่อประชาสังคมมีทัศนคติร่วมกัน แล้วผลักดันสิ่งเหล่านั้นออกมาผ่านสื่อมวลชนก็ดี หรือการชี้นำทางสังคมก็ดี

ถ้าอย่างนั้น หน้าที่ของผู้ว่าฯ สำหรับคุณคืออะไร

ผมมองไกลถึงขั้นที่ว่า ผู้ว่าฯ นั้นจะเป็นใครก็ได้นะ เอาข้าราชการประจำก็ได้ สมัยก่อนเขาก็ใช้ข้าราชการประจำกันนะ คือเป็นผู้ว่าฯ อาวุโส เป็นผู้ว่าฯ เชียงใหม่หรือชลบุรีมาแล้วก็มาเป็นผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ และเคยมีขนาดว่าเอาทหารเรือมาเป็นยังมีเลย ดังนั้น การพัฒนาต่างๆ มันไม่ได้มีตัวแปรอยู่แค่ที่ผู้ว่าฯ 

สมัยก่อน สิ่งที่คนต่างจังหวัดอย่างผมมากรุงเทพฯ แล้วใฝ่ฝันมากที่สุดคือการขึ้น MBK Hall ไปดูคอนเสิร์ต เดี๋ยวนี้ใครเขาพูดถึงกันบ้าง คนก็ไปพูดถึงเทอร์มินัล-พารากอนกันหมดแล้ว ดังนั้น การพัฒนาจากภาครัฐนั้นเอกชนก็มีส่วนสำคัญด้วย เพียงแต่มันจะสะเปะสะปะ ไปกันคนละทาง ผู้ว่าฯ จึงเหมือนแม่บ้าน เข้ามาเก็บโต๊ะ ทำงานที่คนอื่นเขาไม่ทำ 

อย่างนักการเมืองระดับปรมาจารย์ เสาหลักประชาธิปไตยอย่างหม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช พรรคกิจสังคม ท่านบอกมีสโลแกนง่ายๆ คือ ‘น้ำไหล ไฟสว่าง ทางดี มีงานทำ’ และเป็นสัจธรรมชีวิต จะกี่สิบปีก็ต้องมีสิ่งเหล่านี้อยู่ แต่กรุงเทพมหานครไม่ได้ดูการไฟฟ้า ไม่ได้ดูการประปา อาจจะแค่เป็นบอร์ดเท่านั้นเอง และเรื่องการขับเคลื่อนต่างๆ ก็ไม่ใช่งานกรุงเทพฯ อย่างเดียว งานทางหลวงก็มี กรุงเทพฯ ก็ไม่ได้ดูถนนบางสายนะ เช่น ถนนวิภาวดี-รังสิต ก็เป็นของกรมทางหลวงเขา 

คิดว่ากรุงเทพฯ ยังดีกว่านี้ได้อีกไหม

คุณอยากให้มันเป็นแบบไหน เหมือนโตเกียวหรือนิวยอร์ก เมืองหลวงพวกนั้นเองก็มีปัญหานะ ผมเคยไปวอชิงตัน ดีซี ปัญหาเยอะกว่าเราอีก เขามีพวกคนไร้บ้าน ทั้งที่เขาได้เงินสวัสดิการจากรัฐ ยังมานั่งขอทาน ทำตัวเกกมะเหรกเลย จนพวกดาวน์ทาวน์ เมืองศูนย์กลางไม่มีความหมายไปเลย 

อย่างปัจจุบันเกาะรัตนโกสินทร์ คนขายของเสร็จแล้วก็เก็บของกลับบ้านแถวพุทธมณฑล แถวนนทบุรี กรุงเทพฯ ก็กลายเป็นแค่แหล่งทำมาหากิน เป็นย่านเก่าๆ ที่ยังคงรักษาสภาพการขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบเดิมๆ เท่านั้น แต่ความเป็นย่านแบบโบราณเป็นแค่ตำนาน

จริงๆ สิ่งที่กรุงเทพฯ พัฒนาได้อาจหมายถึงเรื่องเล็กๆ ที่คนใช้กันทุกวันอย่างเรื่องทางเท้าหรือเปล่า

เมื่อก่อนเขาไม่ได้สร้างทางเท้าด้วยซ้ำไป แต่ต้องสร้างเพื่อความศิวิไลซ์ ถ้าเราไปดูทางเท้าที่สิงคโปร์ ทางเท้าเขากว้างกว่าเรามาก เวลาเขาทำถนน เขาจะเผื่อพื้นที่สำหรับปลูกต้นไม้-พื้นที่สำหรับทำทางเท้าไว้ด้วย แล้วต้นไม้เขาก็เป็นต้นใหญ่ๆ ที่แผ่รัศมีกว้างมาก แต่ต้นไม้เรามันอยู่ไม่ได้ เพราะมีเสาไฟฟ้า ต้นไม้เลยต้องโตทางดิ่ง ง่อนแง่น ไหนจะต้องโดนตัดรากเพราะข้างใต้ถนนมีทำท่อ วันดีคืนดีต้นไม้ก็ล้ม

แต่ก็ต้องดูบางที่นะครับ ไปดูทางเท้าที่สุขุมวิทสิ ดีมากเลยนะ

ทำไมทางเท้าจึงดีมากแค่บางจุด ทำไมเราทำให้ดีมากทุกที่ไม่ได้

ทางเท้าไม่ดีเพราะการเลือกวัสดุส่วนหนึ่ง และปัญหาการทรุดตัวของดิน ซึ่งมาจากการสูบน้ำใต้ดินก็ดี หรือการเจาะท่อก็ดี มันมีส่วนกัดกร่อน แล้วมาตรฐานทางเท้าเราไม่ชัดเจนด้วย คือถ้าทางเท้าดี คนที่ใช้รถเข็นต่างๆ เขาก็ใช้ทางเท้าด้วยได้ เป็น universal design 

ผมไม่อยากมองเรื่องการคอร์รัปชันอะไร นั่นมันนอกการควบคุม เอาเป็นว่าผมเห็นด้วยที่เราจะต้องทำทางเท้าให้ดี มันไม่ยากหรอก มันต้องใช้แค่เงินกับความใส่ใจ

ในบรรดาผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ ที่ผ่านมา จำใครได้แม่นที่สุด

จำได้ทุกคน (ตอบเร็ว) เพราะเขาเป็นผู้บังคับบัญชาผม และทุกคนก็ทำผลงานที่ผมตราตรึงใจมาโดยตลอด ผมเคยได้รางวัลจากคุณสมัคร สุนทรเวช (ผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ ปี 2543) จะมาบอกว่าผมประทับใจคุณสมัครคนเดียวก็ไม่ได้หรอก ผมประทับใจทุกคน แต่คุณสมัครเขามีคะแนนแห่งความรักเยอะ ผมรักความเป็นนักการเมืองและนักพูดของเขามาก ตัวผมเองยังมองว่าการเป็นนักพูดของผมยังมีคุณสมัครเป็นไอดอลเลย จำได้ว่าเขาเป็นผู้ว่าฯ ที่ ‘ทำให้มีจากสิ่งที่ไม่มี’ คือปี 2545 ผู้ว่าฯ สมัครจัดงานฉลอง ‘220 ปีกรุงเทพมหานคร’ จัดเฉลิมฉลองให้มีการเดินขบวนพาเหรด จัดนิทรรศการ อัญเชิญน้ำมนต์นครฐาน กับอีกอย่างหนึ่งคือทำสะพานพระราม 8 

สะพานพระราม 8 สร้างสมัยผู้ว่าฯ สมัคร สุนทรเวช คือคุณสมัครมีความจงรักภักดีต่อรัชกาลที่ 9 มากๆ ในปี 2538 สมเด็จย่า (สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี) ทรงพระประชวรอยู่โรงพยาบาลศิริราช และก่อนที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 จะเข้าไปเยี่ยมสมเด็จย่า ท่านจะมาพูดคุยกับข้าราชการที่มารอต้อนรับ และมีดำริว่า ทางที่จะกลับมาที่ศิริราชนั้น หากตัดถนนตรงโรงเหล้าเก่า โรงเหล้าบางยี่ขันก็จะผ่านวังบางขุนพรหมลงราชดำเนินได้เลย เมื่อเวนคืนโรงเหล้าไป ตรงนั้นจึงเป็นที่ว่างก็ตัดถนน ทำสะพานข้ามได้เลย ดังนั้นจึงเป็นที่มาของการสร้างสะพานพระราม 8 ซึ่งผมว่าเป็นผลงานของคุณสมัคร สุนทรเวช ที่ติดตราตรึงใจมากๆ และคุณสมัครทำให้รู้ว่า งานของผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ นั้นจะต้องสนองรับต่อความจำเป็นของบ้านเมือง คือการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ เช่น ความจำเป็นในการใช้รถใช้ถนน 

ผมเองก็เป็นข้าราชการมาตั้งแต่ยุคนั้น ถือว่าคุณสมัครได้รับสนองพระบรมราโชบายของล้นเกล้ารัชกาลที่ 9 ทุกอย่างเลย ทั้งสะพาน ทั้งการเฉลิมฉลอง 220 ปีกรุงเทพฯ

ประทานโทษ! 20 ปีผ่านมา วันนี้คุณมาสัมภาษณ์ผม มีการจัดงาน 240 ปีกรุงรัตนโกสินทร์ไปแล้ว ซึ่งจัดได้เงียบเชียบมาก นี่ไม่ใช่แค่การสถาปนากรุงเทพฯ นะครับ แต่เป็นหมุดหมายของการรวมกันของสองอาณาจักร คือธนบุรีกับกรุงเทพฯ เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

ส่วนตัวแล้วคุณอยากเห็นกรุงเทพฯ พัฒนาไปด้านไหน

ด้านกายภาพก็ต้องไล่ตามเขาไปเรื่อยๆ เช่น ดูว่าโตเกียวเขาไปถึงไหน มันอาจมีการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพอื่นๆ เช่นการใช้ภาพสามมิติต่างๆ เราดูตามมหานครใหญ่ๆ ของโลกก็ได้ มีตัวอย่างที่ทั้งประสบความสำเร็จและไม่สำเร็จ อันไหนไม่ดีก็อย่าไปเอาอย่างเขา

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save