fbpx

หลากรสชีวิตไรเดอร์: ‘เสี่ยง-ไม่แน่นอน’ อิสระบนข้อเสนอที่ปฏิเสธไม่ได้

เวลาราวเที่ยงคืน ณ สี่แยกแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ เป็นช่วงเวลาที่คนส่วนมากต่างอยู่บนเตียงนอนเพื่อพักผ่อนแล้วตื่นมาพบกับวันใหม่ ท้องถนนเงียบสงบไร้การจราจรที่ติดขัด กิจกรรมต่างๆ ล้วนหยุดลงชั่วคราว แต่สี่แยกแห่งนี้ยังคงเต็มไปด้วยรถมอเตอร์ไซค์ที่มีกล่องใส่อาหารหลากสีอยู่ข้างหลัง เช่นเดียวกับอีกหลายสี่แยกในเมือง คนขับบางคนดูโทรศัพท์มือถือที่ติดอยู่กับรถ บางคนรอคอยให้สัญญาณไฟเปลี่ยนเป็นสีเขียว บางคนมองเหม่อไปที่อื่นเพื่อฆ่าเวลา กลุ่มคนเหล่านี้ถูกเรียกอย่างติดปากว่า ‘ไรเดอร์’ หรือพนักงานส่งอาหารอิสระที่ทำงานให้กับแพลตฟอร์ม

อันที่จริงแล้วเมืองเชียงใหม่ที่ดูเหมือนกำลังหลับใหลอาจจะไม่ได้เป็นอย่างที่ตาเห็น เพราะยังมีผู้คนจำนวนมากที่ทำงานเพื่อขับเคลื่อนให้สิ่งต่างๆ ดำเนินไปอย่างราบรื่น ทั้งร้านค้าที่เปิดรอคำสั่งอาหารจากลูกค้าที่หิวโหยยามดึกและเหล่าไรเดอร์ซึ่งเป็นผู้นำอาหารเหล่านั้นไปส่งจนถึงมือ รวมถึงในช่วงกลางวันที่อากาศร้อนระอุ ขณะที่ใครๆ ก็อยากนั่งอยู่ในห้องปรับอากาศ แต่ไรเดอร์เหล่านี้ต้องฝ่าแดดลมฝนรวมถึงหมอกควันพิษ เพื่อทำงานหาเลี้ยงชีพ โดยเฉพาะช่วงเที่ยงที่ถือว่าเป็นเวลาทองของการทำยอดในแต่ละวัน

สำหรับไรเดอร์เหล่านี้แล้วการทำงานมากกว่า 10 ชั่วโมงต่อวันนับเป็นเรื่องปกติ นั่นทำให้พวกเขามีความเสี่ยงที่จะประสบอุบัติเหตุบนท้องถนนสูงมาก อีกทั้งยังไร้หลักประกันทางสังคมที่จะมารองรับในยามที่ประสบอุบัติเหตุขึ้นมาจริงๆ ชีวิตของไรเดอร์จึงตกอยู่ภายใต้ความเปราะบาง ความเสี่ยง และความไม่แน่นอนแทบจะตลอดเวลา

‘พาร์ตเนอร์’ รูปแบบการจ้างงานอันคลุมเครือ

เป็นเวลาเกือบ 10 ปีแล้วที่บริษัทแพลตฟอร์มส่งอาหารเข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทยอย่างจริงจัง นับตั้งแต่การเปิดตัวของฟู้ดแพนด้า (Foodpanda) ในปี 2555 จนถึงปัจจุบัน มีจำนวนแพลตฟอร์มส่งอาหารมากกว่า 5 แบรนด์ให้ผู้บริโภคได้เลือกใช้บริการ ในขณะที่แพลตฟอร์มส่งอาหารเหล่านี้ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะมีสาเหตุมาจากวิถีชีวิตในยุคการระบาดของโควิด-19 หรือความสะดวกสบายอย่างยิ่งยวดจากบริการลักษณะนี้เองก็ตาม แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดก็คือสภาพการทำงานและค่าตอบแทนของไรเดอร์กลับย่ำแย่ลง

การจ้างงานของบริษัทแพลตฟอร์มนั้นไม่ได้อยู่ในความสัมพันธ์แบบ ‘ลูกจ้าง-นายจ้าง’ แต่อ้างแนวคิด ‘พาร์ตเนอร์ (partner)’ ที่ให้ความเป็นอิสระในการทำงาน ดังนั้นในทางกฎหมายจึงเป็นที่ถกเถียงว่าจะทำอย่างไรให้พนักงานส่งอาหารเหล่านี้ได้รับการคุ้มครองหรือหลักประกันทางสังคม เมื่อพวกเขาไม่ได้มีสถานะเป็นลูกจ้างหรืออยู่ในระบบการจ้างงานที่เป็นทางการ ความคลุมเครือเหล่านี้ยังคงเป็นอุปสรรคที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกำลังหารือเพื่อหาทางออก และฝ่ายแรงงานเองก็เรียกร้องในประเด็นดังกล่าวมาโดยตลอด

อย่างไรก็ตาม ความคลุมเครือของการจ้างงานกลับเป็นสิ่งที่บริษัทแพลตฟอร์มต้องการรักษาเอาไว้ เพราะลักษณะการจ้างงานแบบนี้คือหัวใจสำคัญของแพลตฟอร์มแบบลีน (lean platform) ที่ต้องการตัดลดต้นทุนค่าดำเนินการออกไปให้ได้มากที่สุด เพราะตามหลักการแล้ว บริษัทแพลตฟอร์มไม่สามารถทำกำไรได้เลยในช่วงเริ่มต้น[1] การผลักต้นทุนไปสู่ไรเดอร์ให้ได้มากที่สุดจึงเป็นหนทางแห่งการสร้างกำไรให้กับบริษัท โดยแพลตฟอร์มทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างผู้ให้บริการ (ไรเดอร์) กับผู้บริโภคเท่านั้น นั่นหมายความว่าต้นทุนต่างๆ เช่น ค่าอุปกรณ์ ค่าสึกหรอ ค่าน้ำมัน ค่าประกันอุบัติเหตุ และต้นทุนแฝงอื่นๆ ไรเดอร์จะต้องรับผิดชอบทั้งหมด เพื่อแลกมากับการทำงานที่เป็น ‘อิสระ’ และ ‘ยืดหยุ่น’

ค่าตอบแทนที่ค่อนข้างสูงและเวลาการทำงานที่ยืดหยุ่นคือแรงดึงดูดใจชั้นยอดที่ทำให้หลายคนเลือกมาเป็นไรเดอร์ ในขณะเดียวกัน แพลตฟอร์มต่างๆ ก็ลดความเข้มงวดในการสมัครงานลง นับว่าเป็นความชาญฉลาดที่ทำให้บริษัทมีไรเดอร์ในสังกัดเป็นจำนวนมาก โบว์ (นามสมมติ) ไรเดอร์หญิงอายุ 53 ปี บอกว่า เธอออกจากงานที่ทำมาหลายปีเนื่องจากความไม่เป็นธรรมของนายจ้าง เธอมีภาระงานมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่ค่าแรงเท่าเดิม อีกทั้งยังเป็นค่าแรงรายวันที่ไม่มีความมั่นคงเลย เพื่อนของเธอจึงชวนให้มาทำงานไรเดอร์ ซึ่งรายได้ดีและคนอายุเยอะก็สมัครได้ โบว์ไม่มีทางเลือกมากนักกับอายุที่มากขนาดนี้ ทั้งยังเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวที่ลูกกำลังเรียนมหาวิทยาลัยด้วย ภาระค่าใช้จ่ายจึงมีไม่น้อย

สำหรับโบว์การทำงานเป็นไรเดอร์ในช่วงแรกไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเธอไม่มีความรู้เรื่องเทคโนโลยี ไม่รู้เส้นทาง และรู้สึกว่างานนี้ค่อนข้างเสี่ยง “ต้องยอมรับนะว่าถนนหนทางในเชียงใหม่ค่อนข้างน่ากลัว ทั้งถนนเป็นหลุมเป็นบ่อและคนขับรถกันอันตรายมาก ต่อให้เราขับช้าด้วยความระมัดระวัง แต่มีโอกาสที่คนอื่นจะมาชนเราอยู่ดี เราก็เลยเลือกขับออกมารอบนอกเมืองหน่อยรถจะได้ไม่เยอะ” เธอกล่าวเพิ่มเติมว่า “ตอนขับแรกๆ นะ ไม่รู้หรอกว่าร้านไหนอยู่ตรงไหน หลายครั้งเราไปผิดที่ก็โดนลูกค้าคอมเพลน ท้อมากเลยตอนนั้น หรือบางทีก็ต้องไปส่งอาหารในที่เปลี่ยวๆ แล้วเราเป็นผู้หญิง มันก็น่ากลัว “

ถึงแม้จะเต็มไปด้วยความเสี่ยงในการทำงาน แต่โบว์มองว่างานไรเดอร์ทำให้เธอกลายเป็นคนที่มีประสบการณ์ในชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างมาก จากเดิมที่ทำงานเป็นแม่บ้านดูแลผู้สูงอายุ ไม่ค่อยได้ออกไปใช้ชีวิตข้างนอก แต่ตอนนี้เธอมีความรู้เกี่ยวกับร้านอาหารและท้องถนนในเชียงใหม่แทบจะทั้งหมด มีเครือข่ายเพื่อนฝูงที่คอยช่วยเหลือ และมีความรู้ด้านเทคโนโลยีที่ไม่คิดว่าจะใช้เป็นมาก่อน “ตอนนี้ลูกพี่เรียนจบมหา’ลัยแล้ว เลยไม่ได้วิ่งงานเยอะเหมือนเมื่อก่อน แต่ก็คงวิ่งไปเรื่อยๆ จนกว่าจะไม่ไหว เพราะอย่างน้อยก็เป็นรายได้เสริมให้กับเรา จากที่วิ่ง 8-10 ชั่วโมง ก็ลดลงมาเหลือ 5-6 ชั่วโมง”

ความไม่เข้มงวดต่อคุณสมบัติของผู้สมัครทำให้มีผู้คนจำนวนมากหลั่งไหลเข้ามาทำงานเป็นไรเดอร์ โดยเฉพาะหลังจากการระบาดของโควิด-19 และการล็อกดาวน์ทางเศรษฐกิจที่ทำให้แรงงานจำนวนมากต้องตกงาน แพลตฟอร์มรายหนึ่งเปิดเผยข้อมูลว่าในเดือนพฤษภาคม 2563 ไรเดอร์ในสังกัดแพลตฟอร์มดังกล่าวที่มีอายุการทำงานไม่ถึง 6 เดือน มีสัดส่วนคิดเป็น 44% นั่นหมายความว่ามีไรเดอร์หน้าใหม่ที่เข้าสู่เศรษฐกิจแพลตฟอร์มเป็นจำนวนมากหลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 สอดคล้องกับผลสำรวจของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) ที่แสดงให้เห็นว่า อุปสงค์ของการใช้บริการส่งอาหารนั้นเพิ่มขึ้นเนื่องจากผู้คนหวาดกลัวการติดเชื้อถ้าต้องออกไปซื้ออาหารเอง[2]

เมื่อมีไรเดอร์อยู่ในระบบเป็นจำนวนมากก็ส่งผลให้เกิดภาวะที่มีอุปทานล้นเกิน คือมีจำนวนไรเดอร์มากกว่าคำสั่งซื้อ ทำให้การแข่งขันระหว่างแพลตฟอร์มรวมทั้งในแพลตฟอร์มเดียวกันนั้นมีสูงมาก[3] จึงส่งผลให้การทำงานค่อนข้างมีความกดดัน ตึงเครียด และไม่ได้เป็นอิสระอย่างที่แพลตฟอร์มโฆษณาเอาไว้

ชัย (นามสมมติ) ไรเดอร์ชายอายุ 46 ปี เล่าว่า “ไรเดอร์ในเชียงใหม่ส่วนมากเป็นคนหน้าเดิมทั้งนั้น คนหน้าใหม่ส่วนใหญ่ทำได้ไม่นานก็ออกไป เพราะเขาอาจจะรู้สึกว่างานนี้มันยากหรือไม่เหมาะกับตัวเขา ยิ่งช่วงแรกที่มาเป็นไรเดอร์คุณจะไม่ค่อยได้งานหรือได้แต่งานที่ต้องไปส่งไกล คนที่ทนไม่ไหวก็ยอมแพ้”

งานไรเดอร์เป็นงานที่ต้องสั่งสมประสบการณ์สูงเพื่อที่จะสามารถยืนหยัดอยู่ในอาชีพนี้ได้ เพราะผู้ที่มีประสบการณ์สูงจะมีกลยุทธ์รับมือกับความเสี่ยงและความไม่แน่นอนที่ต้องพบเจอทุกวัน เช่น ระบบการรับงานของแพลตฟอร์มไลน์แมนเป็นสิ่งที่ต้องใช้ประสบการณ์อย่างมากเพื่อให้ผลลัพธ์ออกมาดีที่สุด ระบบจ่ายงานของไลน์แมนนั้นเป็นแบบที่ไรเดอร์ต้องแย่งกันกดรับงาน และงานที่ขึ้นมาเพื่อให้กดรับนั้นจะอยู่บนหน้าจอไม่ถึง 1 วินาที ดังนั้นการตัดสินใจของไรเดอร์ว่าจะรับงานนั้นๆ หรือไม่อาจมีเวลาแค่เสี้ยววินาที

“ถ้างานเด้งขึ้นมา เราต้องรีบดูเลยว่าร้านอาหารอยู่ที่ไหน ไกลจากเราเท่าไหร่ ร้านนี้รอนานไหม แล้วต้องไปส่งที่ไหน ค่ารอบเท่าไหร่ สิ่งเหล่านี้ต้องทำด้วยความไวมากๆ ซึ่งปกติแล้วมันไม่มีใครคิดได้ทันหรอก ต่อให้มีประสบการณ์สูงก็ไม่ทัน” ชัยเล่าถึงกระบวนการประมวลผลข้อมูลที่ไรเดอร์ไลน์แมนจะต้องเจอทุกวัน พร้อมกับแสดงหน้าจอให้ดูว่างานที่ขึ้นมานั้นหายไปอย่างรวดเร็วแค่ไหน ดังนั้น ไรเดอร์หน้าใหม่ที่ประสบการณ์ไม่สูงก็อาจจะเผลอกดรับงานที่ ‘ไม่คุ้ม’ ได้ง่าย เพราะพวกเขาจะกดรับทุกงานที่เด้งขึ้นมาบนหน้าจอ หรือที่เหล่าไรเดอร์เรียกกันว่า ‘ซอยนิ้ว’ เนื่องจากไม่สามารถประมวลผลข้อมูลได้ทัน ซึ่งงานที่ไม่คุ้มที่จะรับ เช่น งานที่ร้านอาหารอยู่ไกล ร้านอาหารรอนาน ร้านอาหารบนห้างสรรพสินค้า หรือการต้องไปส่งให้ลูกค้าที่อยู่ไกลและไม่คุ้มกับค่ารอบ เป็นต้น

สำหรับคนมีประสบการณ์อย่างชัยแล้ว เขาสามารถจำแนกร้านอาหารออกเป็นเกรด A B และ C ได้อย่างไม่ยากเย็น เพื่อที่จะช่วยให้เขาสามารถตัดสินใจได้อย่างรวดเร็ว “แต่ละคนมีวิธีเลือกงานต่างกัน แต่สำหรับพี่คือจัดเกรดไปเลย เช่นเกรด A ยังไงก็ต้องรับ ถือว่าเป็นร้านที่ไม่ต้องรอนาน ไม่อยู่บนห้าง และอยู่ใกล้ เพราะเราทำงานแข่งกับเวลา แต่ก็อย่างที่บอกแหละ เอาเข้าจริงมันก็คิดไม่ทันอยู่ดี”

‘เวลา’ อาจเป็นต้นทุนที่สำคัญที่สุดสำหรับเหล่าไรเดอร์ เพราะถ้าพวกเขาบริหารเวลาได้ไม่ดี นั่นหมายความว่าจะทำรอบได้น้อยลงตามไปด้วย แต่หลายครั้งการบริหารเวลาก็ไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้ง่ายๆ เพราะนอกจากการรออาหารนานแล้ว ลูกค้ายังเป็นปัจจัยสำคัญที่อาจทำให้พวกเขาต้องเสียเวลาไปไม่น้อย

“ลูกค้าบางคนปักหมุดผิด บางคนไม่รับผิดชอบต่อการสั่งอาหารของตัวเอง ติดต่อไม่ได้ทุกช่องทาง บางคนให้ขึ้นไปส่งบนคอนโดทั้งที่มีกฎว่าห้ามขึ้น บางทีก็ไม่รู้เลยว่าเราจะเจอลูกค้าแบบไหนบ้าง ทางแก้คือต้องรัดกุมให้มากที่สุด ต้องติดต่อลูกค้าก่อนทุกครั้ง ถ้าติดต่อไม่ได้ก็แจ้งคอลเซ็นเตอร์ให้เขาเคลียร์แทน ถ้าเราเข้าไปเถียงหรือใช้อารมณ์กับลูกค้า เราก็ซวยอีก หรือถ้าเราขึ้นไปแล้วมีของหายบนคอนโด ไรเดอร์ก็จะถูกเพ่งเล็งก่อนใคร” ชัยกล่าว

ในสภาพเช่นนี้ทำให้เห็นว่า งานอิสระนั้นไม่ได้อิสระอย่างที่คิด เพราะไรเดอร์ถูกควบคุมจากแอปพลิเคชันและระบบอัลกอริทึมอยู่ฝ่ายเดียว ทำให้ขาดความโปร่งใสทางด้านข้อมูล พวกเขาไม่มีทางรู้ได้อย่างแน่ชัดว่าระบบการจ่ายงานนั้นถูกออกแบบมาอย่างไร ทำไมบางคนจึงได้งานเยอะ บางคนได้งานน้อย บางคนถูกลดลำดับชั้น บางคนถูกลงโทษ สิ่งที่ทำได้คือการคาดเดาจากประสบการณ์และการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันเองเท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นกลยุทธ์ในการรับมือกับความไม่แน่นอนได้ในระดับหนึ่งแต่ก็ไม่ครอบคลุมทั้งหมด อำนาจของบริษัทและผู้บริโภคที่เหนือกว่าไรเดอร์นี้เองที่ทำให้พวกเขารู้สึกว่า บริษัทและสังคมไม่เห็นความสำคัญของไรเดอร์เท่าที่ควรจะเป็น จนนำไปสู่การรวมตัวนัดหยุดงานเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม ที่น่าเศร้าก็คือ ข้อเรียกร้องส่วนใหญ่ไม่ได้รับการตอบสนอง

“ผมอยากให้บริษัทเห็นความสำคัญของไรเดอร์มากกว่านี้ ถ้าไม่มีไรเดอร์ บริษัทก็ไม่มีคนทำงาน บริษัทก็อยู่ไม่ได้ การที่เราไปเรียกร้องขอความเป็นธรรรมหลายครั้งเพราะมันไม่ไหวแล้ว บริษัทจะเอาแต่ลดค่ารอบ แต่ค่าครองชีพมีแต่เพิ่ม มันสวนทางกันชัดเจน แล้วพวกเราจะอยู่เฉยได้ยังไง สิ่งที่เรียกร้องมาตลอดคือขอแค่ไม่ให้ลดค่ารอบ เราไม่เคยเรียกร้องให้เพิ่มค่ารอบเลย” ชัยกล่าว

‘ตัวตนแบบผู้ประกอบการ’

หนทางรับมือ ‘ความไม่แน่นอน-ความเสี่ยง’

ถึงแม้ว่างานไรเดอร์จะเต็มไปด้วยการควบคุมของแพลตฟอร์ม การไร้หลักประกันทางสังคม ความเสี่ยง และความไม่แน่นอนในการทำงาน แต่เหตุผลเรื่องความอิสระในการทำงานก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้ไรเดอร์ส่วนมากเลือกที่จะทำอาชีพนี้ต่อไป ไรเดอร์หลายคนให้ความเห็นตรงกันว่าเลือกทำอาชีพนี้เนื่องจากความอิสระ สามารถปรับให้เหมาะสมกับวิถีชีวิตของตัวเองได้

ผู้ที่ยืนยันเรื่องนี้อย่างหนักแน่นคือ เอก (นามสมมติ) ไรเดอร์วัย 33 ปี ผู้ค้นพบว่าไรเดอร์คืออาชีพที่ทำให้เขาได้ทำในสิ่งที่ชอบ คือการขับมอเตอร์ไซค์แลได้เงินไปพร้อมๆ กัน เดิมทีเอกทำงานประจำเป็นพนักงานไอทีในบริษัทเอกชน แม้จะรายได้ดี แต่เขาไม่มีความสุขกับงานที่ทำเลย “ผมเป็นผู้ดูแลระบบ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่สำคัญมาก เพราะถ้าระบบมีปัญหาอะไรก็ต้องรีบแก้ ความรับผิดชอบมันสูง” ลักษณะการทำงานที่ต้องเตรียมพร้อมตลอดเวลาทำให้เขาเครียดและกดดันมาก “มันหลอน ลองคิดดูสิตอนตีสองกำลังจะนอนแล้ว ไลน์เด้งขึ้นมาว่าระบบมีปัญหา ก็ต้องทำตาให้สว่างแล้วไปนั่งทำงาน มันไม่ไหวจริงๆ แค่ได้ยินเสียงไลน์ต่อให้ไม่ใช่เรื่องงานก็จิตตกแล้ว พอความวิตกกังวลสะสมมากขึ้นๆ ก็เลยตัดสินใจลาออก เพราะก่อนหน้านั้นก็ขับไรเดอร์หลังเลิกงานอยู่แล้ว เรารู้สึกว่ามาขับไรเดอร์แล้วไม่เครียดเลย สบายใจมาก ก็เลยมาเป็นไรเดอร์เต็มตัว”

เอกทำงานเฉลี่ยต่อวันมากกว่า 10 ชั่วโมง ขับมอเตอร์ไซค์เฉลี่ย 200-300 กิโลเมตรต่อวัน แต่เขาไม่ได้มองว่าอาชีพนี้หนักเกินไปแต่อย่างใด “ผมชอบขับมอเตอร์ไซค์อยู่แล้ว แล้วพอเปลี่ยนมาใช้รถที่ดีขึ้นก็สบายขึ้น สำหรับคนอื่นอาจจะมองว่ารถไม่สำคัญ แต่ถ้าใครได้ขับรถที่ดีขึ้นมาหน่อยจะรู้เลยว่าต่างกันมาก เสียค่าบำรุง ค่าสึกหรอเพิ่มขึ้นมาก็ไม่เป็นไร ถือว่าเป็นการลงทุน”

เมื่อถูกถามว่าแล้วคิดยังไงกับการโดนลดค่ารอบ เอกให้คำตอบที่น่าสนใจว่า “ผมเข้าใจว่ามันเป็นวัฏจักร อย่างตอนที่ผมขับแกร็บช่วงแรกเงินดีมาก แต่สักพักก็ได้เงินน้อยลงเรื่อยๆ ตอนนี้คนก็แห่กันไปขับ ShopeeFood เพราะได้ค่ารอบเยอะ แต่เดี๋ยวมันก็ลดลง ไม่อยากโทษแต่บริษัทเพราะรู้ว่ามีต้นทุนในการดำเนินการ ด้วยความที่ผมทำงานไอทีมาก็จะเข้าใจว่าการสร้างระบบอย่างนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย มันมีวิธีการปรับตัวให้เราทำงานแล้วได้เงินเท่าเดิม ลองทำดูแล้วมันก็ได้ผล เข้าใจว่าการโดนลดค่ารอบเป็นเรื่องใหญ่ แต่ผมไม่มีปัญหา เพราะผมไม่ได้ส่งอาหารอย่างเดียว แต่ส่งของแล้วก็เป็นวินด้วย งานพวกนี้ไม่ค่อยมีคนทำทั้งที่เงินดี หลายคนมองว่าไม่คุ้ม แต่ถ้าคำนวณดูก็จะรู้เลยว่ายังไงเราก็ไม่ขาดทุน เวลาขับวินเราก็สร้างความประทับใจให้ลูกค้าจนมีลูกค้าประจำหลายคนแล้ว ถ้าเราพัฒนาการทำงานไปเรื่อยๆ เราก็จะไปต่อในอาชีพนี้ได้”

ในแง่นี้ อาชีพไรเดอร์จึงมีลักษณะคล้ายกับผู้ประกอบการ ที่ไม่ใช่ความหมายในเชิงธุรกิจเพียงอย่างเดียว แต่ครอบคลุมไปยังมิติทางสังคมด้วย เช่น พวกเขามีการคำนวณถึงความคุ้มค่าหรือมูลค่าสูงสุด (maximisation) อยู่ตลอดเวลา การเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานอย่างไม่มีสิ้นสุด การให้ความสำคัญกับอิสระและการเป็นนายตัวเอง การใช้กลยุทธ์ที่แปลกใหม่สร้างสรรค์ ซึ่งการกระทำเหล่านี้ล้วนเกิดขึ้นภายใต้สถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอน[4] หรือพูดในทางกลับกัน การทำงานในอาชีพนี้มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ไรเดอร์จะต้องสร้างตัวตนแบบผู้ประกอบการขึ้นมา เพื่อให้สามารถทำอาชีพนี้ต่อไปได้ยาวนาน เพื่อให้พวกเขาสามารถรับมือกับความไม่แน่นอนและความเสี่ยงด้วยตัวเองได้มากที่สุด และนั่นก็เป็นสิ่งที่บริษัทแพลตฟอร์มต้องการอีกด้วย เพราะยิ่งไรเดอร์มีความรู้สึกว่าตนเองเป็นผู้ประกอบการมากเท่าไหร่ พวกเขาก็จะยิ่งมีข้อเรียกร้องต่อบริษัทแพลตฟอร์มน้อยลงไปเท่านั้น จึงไม่แปลกใจว่าเหตุใดคำโฆษณาอย่างเช่น “เลือกเวลาการทำงานของคุณเอง” “งานอิสระ รายได้ดี เป็นเจ้านายตัวเอง” “ใครๆ ก็ขับได้” “ทำมากได้มาก” จึงทรงพลังอย่างยิ่งในการดึงดูดให้คนเข้ามาทำงานเป็นไรเดอร์

อย่างไรก็ตาม งานไรเดอร์ซึ่งจัดอยู่ในงานที่มีความเสี่ยง (precarious work) และงานที่ไม่เป็นทางการ (informal work) ที่ทำให้แรงงานต้องเผชิญกับความเสี่ยงและความไม่แน่นอนอย่างยิ่งยวด[5] กลับกลายเป็นงานสำหรับผู้ที่ไม่มีทางเลือกในการประกอบอาชีพมากนัก ไม่ว่าจะเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว ผู้สูงอายุ ผู้มีประวัติอาชญากรรม ผู้ที่มีการศึกษาไม่สูง ผู้ที่ตกงานจากการระบาดของโควิด-19 ซึ่งอาจไม่มีคุณสมบัติเพียงพอในการทำงานรูปแบบอื่นๆ ดังนั้น แพลตฟอร์มจึงใช้ประโยชน์จากเงื่อนไขของกลุ่มคนเหล่านี้เพื่อสร้าง ‘ข้อเสนอที่ไม่อาจปฏิเสธได้’ ขึ้นมา พร้อมทั้งผลักภาระด้านต้นทุนและความเสี่ยงไปให้พวกเขา ประกอบกับแนวโน้มของเสรีนิยมใหม่ที่พยายามเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ในการจ้างงานให้ไปสู่ความไม่เป็นทางการมากขึ้น ก็ยิ่งทำให้แรงงานเหล่านี้ไม่สามารถเข้าถึงงานที่มั่นคงได้ยิ่งขึ้นไปอีก

แม้จะกล่าวได้ว่างานที่ไม่มั่นคงกำลังจะกลายเป็นมาตรฐานการจ้างงานในอนาคต แต่สำหรับไรเดอร์ พวกเขาเผชิญปัญหานี้แล้วในปัจจุบัน นั่นคือการทำงานที่มีความเสี่ยง ไม่มั่นคง และไม่เป็นทางการ

ในขณะที่ชนชั้นและเพศสภาพ เป็นเงื่อนไขสำคัญของการขูดรีดเพื่อสร้างกำไรของทุนนิยมแบบแพลตฟอร์ม ดังจะเห็นได้จากกลุ่มคนที่มาประกอบอาชีพไรเดอร์ส่วนใหญ่มักเป็นผู้ที่ไม่มีตัวเลือกในการเข้าถึงอาชีพที่มีความมั่นคงหรืออาชีพที่สภาพการจ้างงานมีความเป็นธรรม สำหรับกลุ่มคนเหล่านี้ การเป็นไรเดอร์อาจเป็นความจำเป็น ไม่ใช่อิสระในการเลือก และการถูกเอารัดเอาเปรียบในการทำงานก็เป็นสิ่งที่พวกเขาไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือต่อต้านได้ง่ายนัก แต่การถูกขูดรีดก็ดำเนินไปบนการเมืองของความปรารถนา ในการสร้างตัวตนของผู้ประกอบการที่เป็นอิสระ ตัวตนดังกล่าวเป็นปัจจัยสำคัญในการยืนระยะทำงานเป็นไรเดอร์ได้อย่างยาวนาน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าแนวคิดแบบเสรีนิยมใหม่ที่ผลักภาระความรับผิดชอบให้กับปัจเจกกำลังแข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ ทำให้การรวมตัวเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมนั้นยากขึ้น และสุดท้ายการดำเนินธุรกิจแบบบริษัทแพลตฟอร์มจะกลายเป็นแนวทางที่ไม่ถูกตั้งคำถามอีกต่อไปในอนาคต


[1] สำหรับคำอธิบายเรื่อง Lean Platform ที่ละเอียดยิ่งขึ้น โปรดดู Nick Srnicek, Platform Capitalism, (Cambridge, UK: Polity, 2016).

[2] สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์, ETDA เผย คน Gen -Y สั่งอาหารออนไลน์มากสุด และกว่า 40% สั่งเพราะหวั่นโควิด-19 (2563).

[3] เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร และ วรดุลย์ ตุลารักษ์, รูปแบบงานใหม่ของคนขี่มอเตอร์ไซค์ส่งอาหารที่กํากับโดยแพลตฟอร์ม (มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท, 2563).

[4] Ulrich Bröckling, The Entrepreneurial Self: Fabricating a New Type of Subject (Los Angeles: SAGE Publications Ltd, 2015).

[5] กฤษฎา ธีระโกศลพงศ์, “รูปแบบของงานที่ไม่มีมาตรฐานและแรงงานที่มีความเสี่ยงในเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม,” วารสารรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ปีที่ 4 ฉบับที่ 2 (2563): 59–108.

บทความชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยเรื่อง ‘การเปลี่ยนแปลงความหมายของ ‘งาน’ ในยุคสมัยแห่งความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ’ ภายใต้โครงการวิจัย ‘ฝ่าภาวะความไม่แน่นอน: การดำรงอยู่ในห้วงเปลี่ยนผ่านของสังคมไทย’ โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) ประเภททุนส่งเสริมกลุ่มวิจัย (เมธีวิจัยอาวุโส) โดยมี รศ.ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี เป็นหัวหน้าโครงการ

MOST READ

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

Social Issues

21 Nov 2018

เมื่อโรคซึมเศร้าทำให้อยากจากไป

เรื่องราวการรับมือกับความคิด ‘อยากตาย’ ผ่านประสบการณ์ของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า คนเคียงข้าง และบทความจากจิตแพทย์

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์

21 Nov 2018

Life & Culture

1 Feb 2019

ทรมานแสนสุขสม : เปิดโลก ‘BDSM’ รสนิยมทางเพศที่ตั้งต้นจากความยินยอมพร้อมใจ

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ ชวนสำรวจรสนิยมทางเพศแบบ BDSM ผ่านการพูดคุยกับสองสาวเจ้าของเพจ Thailand BDSM : Let’s Play and Learn ว่าด้วยนิยาม รูปแบบ คำอธิบายของความสุขในความเจ็บปวด ไปจนถึงความเสี่ยงในการใช้โซเชียลมีเดียเพื่อตามหาผู้มีรสนิยมแบบเดียวกัน พร้อมเก็บบรรยากาศการแสดง ‘ชิบาริ’ โดยศิลปินชาวญี่ปุ่นมาเล่าสู่กันฟังอย่างถึงเนื้อถึงหนัง

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์

1 Feb 2019

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save