fbpx

กาลครั้งหนึ่งบนดวงจันทร์ Apollo 10 1/2 : A Space Age Adventure

อนิเมชันเรื่อง Apollo 10 1/2 A Space Age Adventure เพิ่งมาลงใน Netflix เมื่อเร็วๆ นี้ แรกเห็นผมก็ไม่ได้สนใจ และเกือบจะผ่านข้ามไปอยู่แล้วเชียว แต่เผอิญตาไวเหลือบเห็นชื่อผู้กำกับ ริชาร์ด ลิงค์เลเทอร์ เข้าเสียก่อน จึงหยุดแวะดูเพื่อสำรวจตรวจตราคร่าวๆ ว่าเป็นอย่างไรบ้าง

ตั้งใจไว้ว่าจะดูแค่ประมาณ 5 นาที มารู้ตัวอีกทีก็ดูจนจบเรื่องไปตามระเบียบเรียบร้อยแล้ว

เป็นงานสมราคา สมศักดิ์ศรีของชื่อริชาร์ด ลิงค์เลเทอร์ทุกประการ

ริชาร์ด ลิงค์เลเทอร์ เป็นผู้กำกับ คนเขียนบท และโปรดิวเซอร์ชาวอเมริกันที่มีผลงานโดดเด่นด้วยเอกลักษณ์เฉพาะตัว นิยมการเล่าเรื่องแบบไม่เน้นพล็อต ผูกเรื่องไว้หลวมๆ และมีเหตุการณ์ย่อยๆ จำนวนมาก ร้อยเรียงไปเรื่อยๆ อย่างไม่เกี่ยวเนื่องปะติดปะต่อกัน มีฉากพูดคุยกันเยอะแยะยาวเยียด (ซึ่งบ่อยครั้งเป็นการด้นสดระหว่างถ่ายทำ ไม่ได้เขียนบทกำหนดไว้ล่วงหน้า)

ลักษณะต่างๆ ข้างต้นนั้น ล้วนเป็นองค์ประกอบที่ห่างไกลจากการเป็นหนังบันเทิงดูสนุก แต่ริชาร์ด ลิงค์เลเทอร์ก็เป็นยอดนักเล่าเรื่องผู้เก่งกาจชำนิชำนาญเป็นอย่างยิ่ง ในการทำให้เหตุการณ์เรียบง่ายดำเนินไปอย่างมีชีวิตชีวาชวนติดตามตลอดเวลา และมีบทสรุปทิ้งท้ายที่น่าประทับใจ

ไตรภาคหนังรักโรแมนติกอันประกอบด้วย Before Sunrise(1995), Before Sunset (2004) และ Before Midnight (2013) คือพยานหลักฐานชั้นดีในการพิสูจน์ยืนยันถึงความสามารถของเขา

เท่านั้นยังไม่พอ ริชาร์ด ลิงค์เลเทอร์ยังทะเยอทะยานบ้าระห่ำ ทำเรื่องง่ายๆ ด้วยวิธียากๆ แบบที่ไม่มีใครกล้า ในหนังเรื่อง Boyhood (ออกฉายปี 2014) เขาใช้เวลาถ่ายทำเนิ่นนานร่วมๆ 12 ปี ด้วยเจตนาให้เป็นเช่นนั้น หนังเล่าเรื่องความสัมพันธ์ภายในครอบครัวกินระยะเวลายาวนาน 12 ปี

ในหนังปกติทั่วไป นิยมใช้นักแสดงหลายคนมารับตัวละครเดียวกันต่างช่วงวัย แต่ Boyhood ใช้ผู้แสดงชุดเดิมทั้งหมด ถ่ายทำแล้วหยุดพัก จนเวลาผ่านไปอีกปีสองปีก็กลับมาถ่ายต่อ แล้วหยุดพักอีก ทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งหนังเสร็จสมบูรณ์ กลายเป็นงานที่แสดงความเปลี่ยนแปลงและการเติบโตทางกายภาพทีละลำดับขั้นของตัวละครทั้งหมดอย่างสมจริง (วิธีทำงานเช่นนี้สุ่มเสี่ยงเหลือเกินต่อการทำหนังไม่เสร็จ เนื่องจากมีปัจจัยสารพัดสารพันที่อยู่เหนือความคาดหมายและการควบคุม เช่นว่า นักแสดงเกิดเปลี่ยนใจกลางคัน หรือถ้ามีใครสักคนล้มหายตายจากไปเสียก่อน โปรเจกต์หนังเรื่องนี้ก็พังพาบได้ทันที)

ยิ่งไปกว่านั้น Boyhood ยังเป็นหนังที่ปราศจากบท มีเพียงความคิดคร่าวๆ พอถ่ายทำจบช่วงหนึ่ง ริชาร์ด ลิงค์เลเทอร์ก็ใช้เวลาดูและทบทวนสิ่งที่ถ่ายทำมาแล้ว เพื่อค้นหาไอเดียสำหรับการถ่ายทำช่วงต่อไป

พูดได้อีกแบบว่า งานของริชาร์ด ลิงค์เลเทอร์มีจุดเด่นอีกอย่างอยู่ที่การสร้างความสมจริงและความน่าเชื่อถือ

ความสมจริงนี้ยังคงปรากฏชัด เมื่อเขาเปลี่ยนแนวไปทำหนังอนิเมชันอย่าง Wakeing Life (2001), A Scanner Darkly (2004) รวมถึง Apollo 10 1/2 : A Space Age Adventure

สรุปง่ายๆ แบบหลีกเลี่ยงศัพท์แสงทางเทคนิค มันเป็นอนิเมชันที่เริ่มต้นด้วยการถ่ายทำโดยใช้คนแสดงเหมือนหนังปกติทั่วไป แล้วจึงค่อยใช้กระบวนการขั้นตอนโพสต์โปรดักชัน ปรับแต่งภาพที่ถ่ายทำมาจนกระทั่งกลายเป็นอนิเมชัน ซึ่งให้ผลลัพธ์แตกต่างจากการวาดภาพขึ้นใหม่ทั้งหมด แลดูแปลกตาและกระเดียดไปทางสมจริงมากกว่า

ตอนที่ดู Apollo 10 1/2 :A Space Age Adventure จบลง ผมนึกเทียบเคียงไปถึงหนังเรื่อง Belfast ซึ่งเพิ่งเขียนถึงไปเมื่อคราวก่อน

ในด้านหนึ่งหนังเรื่องนี้มีความแตกต่างกับ Belfast จนผิดแผกกันไปไกล ไม่ว่าจะเป็นฉากหลัง, เหตุการณ์สังคม, สภาพชีวิตความเป็นอยู่ ปัญหาและความขัดแย้งที่ต้องพบเจอ รวมถึงบรรยากาศและอารมณ์โดยรวมของหนัง

แต่ในอีกด้าน หนังทั้ง 2 เรื่องก็มีลักษณะร่วมหลายอย่างพ้องพานกัน เช่น เหตุการณ์เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันคือ ปี 1969, เป็นงานกึ่งอัตชีวประวัติของผู้กำกับ มีทั้งการอิงอยู่กับเรื่องราวในชีวิตจริงผสมปนกับการผูกเรื่องราวขึ้นมาใหม่, เล่าถึงโลกของผู้ใหญ่ผ่านมุมมองของเด็ก, อบอวลไปด้วยอารมณ์ถวิลถึงความหลัง, เป็น coming of age ที่สะท้อนการสิ้นสุดวัยเด็กและก้าวย่างเข้าสู่วัยรุ่นของตัวเอก

Apollo 10 1/2 : A Space Age Adventure เล่าเรื่องผ่านเสียงบรรยายของตัวเอกชื่อสแตนในวัยผู้ใหญ่ ซึ่งไม่ได้ปรากฏตัวในหนัง (ให้เสียงบรรยายได้เพลิดเพลินรื่นรมย์มากโดยนักแสดงตลกอย่างแจ็ก แบล็ก) บอกเล่าเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในลักษณะรำลึกถึงความหลังเมื่อครั้งวัยเยาว์

เรื่องเริ่มต้นในฤดูใบไม้ผลิปี 1969 วันหนึ่งเด็กชายสแตน นักเรียนเกรดสี่ ได้รับการติดต่อทาบทามจากเจ้าหน้าที่องค์การนาซาให้เข้าร่วมปฏิบัติภารกิจลับสุดยอด

มูลเหตุเกิดขึ้นระหว่างเตรียมการสำหรับโครงการ Apollo 11 มีข้อผิดพลาดในการสร้างยานสำหรับลงจอดบนดวงจันทร์ ออกมาเป็นขนาดเล็กเกินไป จนผู้ใหญ่ไม่สามารถใช้งานได้ และเวลาก็เร่งกระชั้น ไม่อาจรีรอให้แก้ไขสร้างยานลำใหม่ เนื่องจากต้องแข่งขันช่วงชิงกันกับรัสเซีย เพื่อให้ภารกิจสำเร็จลุล่วงก่อนคู่แข่ง จึงจำเป็นต้องใช้เด็กทำหน้าที่นักบินอวกาศ และสแตนคือผู้ได้รับคัดเลือก ด้วยคุณสมบัติที่เหมาะสมเพียบพร้อม จากรายงานวิทยาศาสตร์ที่เขาทำส่งครูในชั้นเรียนและทักษะในการเล่นกีฬา

ปฏิบัติการดังกล่าว เรียกขานชื่อโครงการว่า Apollo 10 1/2 เป็นภารกิจลับที่ไม่มีใครล่วงรู้ และท้ายที่สุด ถูกกำชับอย่างเข้มงวดว่าเป็นปฏิบัติการที่ไม่เคยเกิดขึ้นและไม่มีอยู่จริง

สแตนต้องปิดบังทุกสิ่งไม่ให้ใครทราบ ไม่เว้นแม้กระทั่งสมาชิกครอบครัว พ่อ แม่ พี่น้อง และเพื่อนๆ ช่วงเวลาที่เขาหายหน้าหายตาเพื่อเตรียมตัวฝึก ถูกจัดฉากตบตาทุกคนว่าไปเข้าค่ายฤดูร้อน

ขณะที่หนังเล่าดำเนินเรื่องไปถึงช่วงการฝึกของสแตน จู่ๆ เสียงบรรยายก็ตะโกนสั่งหยุดภาพ และพักเหตุการณ์ทิ้งค้างไว้กลางคัน เพื่อย้อนไปสู่เรื่องราวอื่นๆ ก่อนหน้านั้น

ทั้งหมดนี้กินเวลาในหนังประมาณ 5 นาที

ช่วง 45 นาทีต่อมา เล่าย้อนกลับไปยังปี 1968 เป็น 45 นาทีที่ปราศจากพล็อตเรื่อง เต็มไปด้วยเหตุการณ์ปลีกย่อยจิปาถะสั้นๆ ที่ไม่ต่อเนื่องกัน

พูดแบบกว้างๆ เป็นการเล่าถึงสภาพครอบครัวของสแตน (ประกอบไปด้วยพ่อ ซึ่งทำงานเป็นหัวหน้าแผนกรับ-ส่งพัสดุในองค์การนาซา แม่ซึ่งทำงานบ้านควบคู่ไปกับการเรียนปริญญาโท พี่ชายและพี่สาว), ชุมชนละแวกบ้านที่พำนักอาศัย (อยู่ใกล้ที่ทำการองค์การนาซา), เหตุการณ์ทางสังคมในช่วงเวลานั้น (อย่างเช่น สงครามเวียดนาม, การชุมนุมประท้วง, การลอบสังหารผู้นำทางการเมืองหลายครั้งหลายครา), ความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (การถือกำเนิดขึ้นครั้งแรกของโทรศัพท์แบบกดปุ่มแทนการหมุนเลขหมาย, การสร้างแอสโตรโดม ซึ่งเป็นสนามกีฬารูปโดมแห่งแรกของโลก และทันสมัยล้ำยุคสุดๆ ด้วยสกอร์บอร์ดที่มีภาพอนิเมชันเคลื่อนไหวได้ และพื้นเป็นสนามหญ้าเทียม)

นี่ยังไม่นับรวมแง่มุมจุกจิกปลีกย่อยอย่างเช่น คุณย่าใจดี ซึ่งพาหลานๆ ไปดูหนังเรื่อง The Sound of Music ทุกๆ 6 เดือน, คุณยายผู้อุดมไปด้วยเรื่องราวเล่าขานเกี่ยวกับทฤษฎีสมคบคิดสารพัดสารพัน, การละเล่นระหว่างเด็กๆ ในละแวกใกล้บ้าน, หนังฮิตทางโทรทัศน์หลายต่อหลายเรื่องในช่วงเวลานั้น (ซึ่งเป็นยุคสมัยที่การดื่มแอลกอฮอล์ขณะขับรถยังเป็นสิ่งถูกกฎหมาย ขอเพียงแค่ยังสามารถครองสติได้ ไม่เมามายไปเสียก่อน)

และเรื่องใหญ่ที่อยู่ในความสนใจของคนอเมริกันขณะนั้นก็คือ โครงการอพอลโล 11 เพื่อสำรวจดวงจันทร์ ซึ่งเป็นกระแสที่แผ่อิทธิพลไปถึงกิจกรรมในชีวิตหลายๆ อย่าง ตั้งแต่ข่าวสารความคืบหน้าที่ปรากฏผ่านสื่ออยู่เป็นระยะๆ เกี่ยวกับขั้นตอน ไปจนถึงห้างสรรพสินค้าที่มีโปรโมชันลดราคามากมายนำคำว่า space มาใช้ดึงดูดลูกค้า รวมถึงรายการทีวีที่ขุดหนังเก่าๆ เกี่ยวกับการผจญภัยในอวกาศมานำเสนออีกครั้ง

เรื่องเล่าว่าด้วยสิ่งละอันพันละน้อยเหล่านี้ กินเวลาร่วมๆ ครึ่งเรื่อง จึงมาถึงจุดบรรจบพบกับเหตุการณ์ที่ทิ้งค้างไว้เมื่อตอนต้น

เหตุการณ์ที่เหลือถัดต่อจากนั้น ว่าด้วยรายละเอียดในการฝึกเตรียมพร้อมสำหรับภารกิจลับจนสำเร็จลุล่วง และการนับถอยหลังรอคอยการเดินทางสู่ดวงจันทร์ของโครงการอพอลโล 11 (ซึ่งเป็นช่วงไคลแมกซ์ของเรื่อง)

หลายย่อหน้าข้างต้น คือเนื้อเรื่องคร่าวๆ ของ Apollo 10 1/2 : A Space Age Adventure ซึ่งควรจะกล่าวว่า เป็นหนังที่ไม่มีเนื้อเรื่อง จะถูกต้องตรงกับความจริงมากกว่า

ยิ่งประกอบกับวิธีทำให้เป็นอนิเมชันทับซ้อนลงไปบนภาพที่ใช้คนจริงๆ แสดง การตัดสลับเหตุการณ์ ซึ่งใช้ภาพจำนวนมากจากหนังข่าว, สารคดี, โฮมมูฟวี, ภาพปกนิตยสาร, ภาพจำนวนมากจากหนังและรายการโทรทัศน์ รวมถึงการเล่าและดำเนินเรื่องโดยใช้เสียงบรรยายเป็นหลัก ผลรวมของหนังอนิเมชันเรื่องนี้จึงเกือบๆ จะออกมาเป็นหนังกึ่งสารคดี

อย่างไรก็ตาม จุดเด่นแรกสุดของหนังคือความบันเทิง การปราศจากพล็อตหรือเนื้อเรื่องไม่ได้เป็นปัญหาแต่อย่างใด เมื่อเหตุการณ์เบ็ดเตล็ดที่หนังนำมาเล่ามีความน่าสนใจและเปี่ยมด้วยสีสันดึงดูดมากกว่า บวกรวมกับทักษะฝีมือในการเล่าเรื่องชั้นยอดของคนทำหนังเข้าด้วยแล้ว Apollo 10 1/2 : A Space Age Adventure จึงกลายเป็นงานที่สนุก เพลิดเพลิน ชวนติดตามอยู่ตลอดเวลา เต็มไปด้วยอารมณ์ขันและความรื่นรมย์หรรษา

แต่ที่โดดเด่นเหนืออื่นใดคือ หนังนำพาผู้ชมไปสู่อารมณ์ถวิลหาอดีตได้อย่างถึงที่สุด โดยเฉพาะผู้ชมที่อยู่ในวัยใกล้เคียงกับสแตน หรือโตทันเหตุการณ์อพอลโล 11 น่าจะรู้สึกร่วมไปกับหนังได้มากเป็นพิเศษ เมื่อรายละเอียดทุกอย่างที่ปรากฏในหนัง เป็นสิ่งที่เคยผ่านพบ ล่วงเลย หลงลืม และได้รื้อฟื้นทบทวนความทรงจำนั้นอีกครั้ง

ถ้าหาก Belfast เปรียบได้กับจดหมายรักที่เคนเน็ธ บรานาห์มีต่อเมืองเบลฟาสต์ Apollo 10 1/2 : A Space Age Adventure ก็เป็นเสมือนจดหมายรักของริชาร์ด ลิงค์เลเทอร์ เขียนถึงฮุสตันในช่วงปลายทศวรรษ 1960

มีความลับของเรื่อง ซึ่งไม่ถึงกับเป็นความลับที่ต้องปกปิดมากนัก นั่นคือ โครงการ Apollo 10 1/2 มีอยู่จริงหรือเป็นเพียงแค่เรื่องที่สแตนจินตนาการขึ้นเอง? ตัวหนังไม่ได้อธิบายหรือสรุปฟันธงกระจ่างชัดว่าเป็นเช่นไร แต่เมื่อติดตามเรื่องราวไปตามลำดับ ผู้ชมก็สามารถเข้าใจได้เองว่าแท้ที่จริงแล้วเป็นเช่นไร

แง่มุมนี้เป็นส่วนหนึ่งที่หนังนำเสนอออกมาได้งดงามและจับใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตัดสลับไปมาในฉากไคลแมกซ์ ระหว่าง 3 เหตุการณ์ แรกสุดคือ นีล อาร์มสตรองออกจากยาน เพื่อก้าวลงเหยียบดวงจันทร์ ถัดมาเป็นปฏิบัติการแบบเดียวกันของสแตน และสุดท้าย ปฏิกิริยาของสมาชิกทั้งครอบครัวเมื่อนั่งดูการถ่ายทอดสดเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ครั้งนั้นหน้าจอโทรทัศน์

ฉากดังกล่าวสามารถเชื่อมโยงกับคำพูดของแม่ เกี่ยวกับการทำงานของความทรงจำซึ่งไม่ได้เป็นความจริงโดยถ่องแท้ทุกประการ แต่เป็นการหลอมรวมระหว่างสิ่งที่เคยเกิดขึ้นจริง ความคิดปรุงแต่ง และความพร่าเลือนอันเกิดจากกาลเวลา กระทั่งกลายเป็นความจริงอีกแบบในท้ายที่สุด

จุดใหญ่ใจความของหนังเป็นการมองย้อนหลังไปยังทศวรรษ 1960 พูดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นและผ่านพ้นเนิ่นนานแล้ว ด้วยอารมณ์ความรู้สึกโหยหา สุขปนเศร้า

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ในการรำลึกความหลังของสแตน เขาไม่ได้บอกเล่าเรื่องราวอดีตด้วยทัศนะความคิดเห็นเป็นปัจจุบัน ไม่ได้สรุปหรือแสดงความคิดเห็นต่อสิ่งต่างๆ ด้วยสายตาของผู้ใหญ่ แต่มองย้อนกลับไปสู่เหตุการณ์หนหลัง พร้อมๆ กับบอกกล่าวต่อผู้ชมว่า เมื่อกาลครั้งนั้นตัวเขาในวัยเด็กรู้สึกคิดเห็นอย่างไรต่อสรรพสิ่งที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัว

ข้างต้นนี้ ส่งผลให้ Apollo 10 1/2 : A Space Age Adventure เป็นงานที่ให้ภาพรายละเอียดของยุคสมัยและการสะท้อนภาพสังคมช่วงทศวรรษ 1960 อย่างถี่ถ้วน ตัวหนังไม่ได้มุ่งวิพากษ์วิจารณ์แสดงความเห็นต่อเหตุการณ์ใหญ่ๆ ทางสังคมอย่างจริงจัง ปล่อยให้เป็นวิจารณญาณของผู้ชม นำไปไตร่ตรองครุ่นคิดด้วยตนเอง

แต่ในอีกแง่หนึ่ง สแตนก็ไม่ได้เพิกเฉยต่อสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น ตรงกันข้าม เจ้าหนูแสดงความเห็นทุกเรื่องทุกอย่าง เพียงแต่ความเห็นของเขาในช่วงเวลานั้นเป็นเพียงแค่ความคิดความเข้าใจแบบเด็กๆ เท่าที่วัยของเขาจะเอื้ออำนวยให้คิดอ่านออกมาได้

สแตนในวัยเด็ก มองและรับรู้เหตุการณ์สงครามเวียดนาม, เหตุลอบสังหาร, การประท้วง, สังคมที่มีการเหยียดผิว ตลอดจนปัญหาต่างๆ เป็นเรื่องน่ากลัวไม่เจริญใจ แต่ขณะเดียวกัน ตามประสาเด็กๆ เขาก็คิดและเข้าใจไปว่า ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเฉพาะเพียงแค่ในโทรทัศน์เท่านั้น และเป็นเรื่องไกลตัวจากชีวิตละแวกชานเมืองที่เขาดำรงอยู่ (ในบรรดาพี่น้องทั้งหมด มีเพียงแค่วิคกี พี่สาวคนโตที่อายุมากพอจะเข้าใจว่าอะไรเป็นอะไรอย่างแท้จริง)

มุมมองวัยเด็กของสแตนยังผูกโยงไปสู่อีกประเด็นสำคัญของหนัง นั่นคือ การมาถึงจุดหัวเลี้ยวหัวต่อ ซึ่งอนาคตข้างหน้ากำลังจะเกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ และเกิดความรู้สึกก้ำกึ่งระคนปนกัน ระหว่างความหวาดหวั่นไม่มั่นใจต่ออนาคต ซึ่งดูเหมือนจะเต็มไปด้วยเรื่องร้ายๆ ติดลบเต็มไปหมด (เมื่อคำนึงถึงข่าวสารที่ผ่านตารู้เห็นในโทรทัศน์) ทว่าในขณะเดียวกัน เด็กชายก็เฝ้ารอการมาถึงของอนาคต ด้วยความตื่นเต้นกระตือรือร้น กำลังจะมีการเดินทางไปสู่ดวงจันทร์ เทคโนโลยีสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ เกิดขึ้นอยู่ทุกชั่วขณะ ทำให้อีกมุมมองหนึ่ง สแตนก็เชื่อว่าปัญหายุ่งยากและความเลวร้ายทั้งหลายในโลกจะหมดสิ้นไป ด้วยความเจริญก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งมีสรรพคุณเป็นยาวิเศษ สามารถขจัดปัดเป่าแก้ไขสิ่งต่างๆ ได้หมด

ตัวหนังโดยรวมมีรายละเอียดที่เต็มไปด้วยความเป็นอเมริกันสูงมาก แต่หัวใจหลักๆ ของเนื้อหาเรื่องราวและอารมณ์ความรู้สึกที่หนังนำพาผู้ชมไปพบสัมผัสมีความเป็นสากลมาก

แปลง่ายๆ ได้ว่า เป็นหนังที่ผมดูจบด้วยความรู้สึกจับอกจับใจเหลือเกิน

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save