fbpx

ผ้าโปเล็ง : สำรวจปรัชญาที่ซุกซ่อนอยู่ใต้ผ้าขาวม้าขาวดำของบาหลี

ภาพปกโดย RADEN WARDANA/AFP 


หากใครมีโอกาสไปเยือนเกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ต้องเคยพบเห็นสองสิ่งที่ปรากฏทุกที่จนชินตา อย่างแรกคือกระทงดอกไม้ที่เรียกว่าจานังซารี (canang sari) ซึ่งถูกตั้งวางตามสถานที่ต่างๆ รวมถึงตามพื้นถนนหนทางต่างๆ และสองคือผ้าขาวม้าลายตารางหมากรุกขาวดำที่นิยมสวมใส่โดยชาวบาหลี รวมถึงใช้ประดับตามวัตถุและสถานที่ต่างๆ ไม่ว่าจะพันประตูรั้วบ้าน ในวัด รูปปั้น ต้นไม้ หรือใช้เป็นธงประดับตามถนนหนทาง เป็นต้น เรียกได้ว่าผ้าขาวม้าขาวดำนี้เป็นเอกลักษณ์ของบาหลีเลยทีเดียว ผู้ไปเยือนจะสามารถพบเห็นผ้าขาวม้านี้ได้ทุกมุมของบาหลี ซึ่งผ้าขาวม้าดังกล่าวมีชื่อว่า ‘ผ้าโปเล็ง’ (poleng) ในภาษาบาหลี ‘โปเล็ง’ แปลตรงตัวว่าลายตารางหรือลายกระดานหมากรุกที่มีลักษณะสมดุล เป็นช่องเท่ากัน และเป็นระเบียบ หลายคนอาจจะเกิดคำถามว่าทำไมผ้าโปเล็งถึงถูกใช้ผูกและพันตามรูปปั้น ต้นไม้ และสถานที่ที่เป็นที่เคารพบูชาของชาวบาหลี


ปรัชญาเบื้องหลังผ้าโปเล็ง: แนวคิดเรื่อง Rwa Bhineda, ปรัชญาไตรหิตครณะ และตรีมูรติ ในบาหลี


บาหลีมีประชากรราว 4 ล้าน 3 แสนคน เป็นกลุ่มชาติพันธุ์บาหลี 90% อันดับสองได้แก่ชาวชวา ราว 5% ประชากรบาหลีนับถือศาสนาฮินดู 91.97% เป็นจังหวัดที่มีคนนับถือศาสนาฮินดูมากที่สุดในประเทศอินโดนีเซีย โดยทั้งประเทศอินโดนีเซียมีคนนับถือศาสนาฮินดูราว 1.7% ซึ่งศาสนาฮินดูได้รับการรับรองในฐานะ 1 ใน 6 ศาสนาของประเทศ (อิสลาม, โปรเตสแตนต์, คาทอลิก, ฮินดู, พุทธ และขงจื๊อ) สะท้อนถึงการยอมรับความแตกต่างหลากหลายของประเทศอินโดนีเซีย ผ้าโปเล็งที่เป็นที่นิยมใช้ในบาหลีจนกลายเป็นสัญลักษณ์ของบาหลีนั้นแฝงไปด้วยปรัชญาที่มีพื้นฐานจากศาสนาฮินดู


Rwa Bhineda

คำว่า ‘Rwa Bhineda’ มีความหมายว่า ‘สองสิ่งที่แตกต่าง’ หรือ ‘สองสิ่งที่ขัดแย้งกัน’ แนวคิดเรื่อง Rwa Bhineda ในบาหลีสะท้อนปรัชญาและโลกทัศน์ที่ฝังรากลึกในวัฒนธรรมของชาวบาหลี ที่มองโลกแบบสมดุลด้วยคู่ของสิ่งที่แตกต่างกัน แต่ก็แยกจากกันไม่ได้ หากในคติโลกทัศน์ของชาวจีนมีหยินหยาง สำหรับชาวบาหลีก็คือแนวคิด Rwa Bhineda นั่นเอง สีขาวดำในตารางบนผ้าหมายถึงด้านตรงข้าม เช่น ซ้าย-ขวา, บน-ล่าง, ขาว-ดำ, ดี-ชั่ว, จริง-เท็จ, สะอาด-สกปรก และ กลางวัน-กลางคืน เป็นต้น ซึ่งสะท้อนถึงความสมดุลของธรรมชาติของสิ่งต่างๆ บนโลกนี้ หากรูปปั้นหรือต้นไม้ใดมีผ้าโปเล็งพันรอบ นั่นหมายความว่ารูปปั้นนั้นหรือต้นไม้นั้นกำลังรักษาสมดุลของโลกเพื่อให้โลกดำเนินไปได้อย่างเป็นปกติสุข


ปรัชญาไตรหิตครณะ

ปรัชญาพื้นฐานของศาสนาฮินดูที่เป็นศาสนาหลักของชาวบาหลี คือ ปรัชญาไตรหิตครณะ (Tri Hita Karana) ซึ่งมาจากเหตุแห่งความสุขของมนุษย์สามประการ อันได้แก่ความสุขของมนุษย์ที่มาจากความสัมพันธ์อันกลมกลืนระหว่างมนุษย์กับพระเจ้า ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ และระหว่างเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน มนุษย์ต้องรักษาสมดุลความสัมพันธ์ทั้งสามอย่างนี้ไว้ให้ดี แล้วมนุษย์จะมีความสุข ต้นไม้ใหญ่ เช่น ต้นไทร ก็อยู่ในคำอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ดังนั้น เราจะเห็นต้นไม้ใหญ่ในบาหลีถูกผูกด้วยผ้าโปเล็ง สะท้อนถึงการแสดงความเคารพต่อธรรมชาติของมนุษย์


ตรีมูรติ 

ผ้าโปเล็งยังมีความหมายสอดคล้องกับคำสอนเรื่องตรีมูรติ กล่าวคือ สีขาวเป็นสัญลักษณ์ของพระศิวะในฐานะผู้หลอมละลาย ส่วนสีดำเป็นสัญลักษณ์ของพระวิษณุในฐานะผู้พิทักษ์ ทั้งสองสิ่งนี้ตีความได้ว่ามนุษย์จะต้องรักษาสมดุลเพื่อที่จะอยู่อย่างสงบสุขและสามัคคี โดยเฉพาะการรักษาสมดุลกับธรรมชาติ และหากเป็นผ้าโปเล็งที่มีสามสี สีแดงจะหมายถึงพระพรหมซึ่งเป็นพระผู้สร้าง


จริงๆ แล้วผ้าโปเล็งไม่ได้มีแค่เฉพาะสีขาวดำเท่านั้น


นอกจากผ้าโปเล็งสีขาวดำที่เราพบเห็นได้ทั่วไปแล้ว ยังมีผ้าโปเล็งสีอื่นอีกด้วย เช่น ผ้าโปเล็ง sudhamala และผ้าโปเล็ง tridatu ซึ่งทั้งสองชนิดนี้มีสีต่างกัน ผ้าโปเล็ง sudhamala มีสีขาว เทา และดำ สีเทาเป็นพื้นที่ตรงกลางระหว่างสีขาวและดำ หมายความว่าโลกไม่ได้มีแค่สองด้าน ทั้งยังสะท้อนถึงความเฉลียวฉลาด ขณะที่ผ้าโปเล็ง tridatu ประกอบไปด้วยสีดำ แดง และขาว ทั้งสามสีนี้เป็นตัวแทนของตรีธรรมะ (Tridharma) ในความเชื่อของศาสนาฮินดู สีขาวหมายถึงพระศิวะซึ่งมีลักษณะสงบและฉลาด สีแดงหมายถึงพระพรหมที่มีชีวิตชีวาและเต็มเปี่ยมไปด้วยพลัง ส่วนสีดำหมายถึงพระวิษณุ บางตำราก็อธิบายว่าผ้าโปเล็ง tridatu หมายถึงอุปนิสัยของมนุษย์ สีแดงหมายถึงแข็งแกร่ง สีดำหมายถึงยับยั้งชั่งใจ (บางที่ก็ว่าหมายถึงขี้เกียจและโง่เขลา) ส่วนสีขาวหมายถึงมีสติปัญญาเฉลียวฉลาด


ผ้าโปเล็งใช้ทำอะไรบ้างในปัจจุบัน


ในปัจจุบัน เรายังคงเห็นการผูกผ้าโปเล็งตามต้นไม้ใหญ่ๆ เนื่องจากการใช้ผ้าโปเล็งเป็นเครื่องแสดงถึงความเคารพต่อสิ่งที่ทำให้โลกมนุษย์กลายเป็นสีดำและสีขาวได้ หมายถึงสิ่งที่ดลบันดาลให้คุณให้โทษต่อโลกได้ ซึ่งตามความเชื่อของชาวบาหลี ต้นไม้เป็นที่สถิตของสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้ และชาวบาหลีก็มักจะสักการะเซ่นไหว้ต้นไม้ รวมถึงนำผ้าโปเล็งไปพันรอบต้นไม้ใหญ่ และเป็นการส่งสัญญาณว่าไม่ควรตัดต้นไม้ใหญ่ หรือแม้กระทั่งเด็ดใบไม้หรือส่วนอื่นๆ ของต้นไม้ ผลพลอยได้ก็ทำให้ต้นไม้ถูกรักษาและสร้างบรรยากาศที่ร่มรื่น 

นอกจากนั้น ชาวบาหลียังนิยมผูกผ้าโปเล็งไว้ที่ประตูบ้าน ประตูรั้ว หรือในบริเวณสนามหญ้าของบ้าน ซึ่งชาวบาหลีเชื่อว่าเป็นเกราะป้องกันพลังงานชั่วร้าย พลังด้านลบ หรือสิ่งเลวร้ายจากภายนอกที่อาจจะเข้ามาทำอันตรายหรือส่งผลในทางไม่ดีต่อสมาชิกในครอบครัวได้ หากมีผู้ส่งพลังชั่วร้ายเข้าสู่บ้าน ผู้พิทักษ์จะทำหน้าที่ปกป้องและส่งพลังชั่วร้ายนั้นกลับคืนสู่ผู้ที่ส่งพลังชั่วร้ายนั้นมา

ผ้าโปเล็งยังถูกใช้เป็นเครื่องแต่งกายของผู้ทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยในหมู่บ้านของบาหลี หรือเรียกกันว่า ‘เปอจาลัง’ (pecalang) ซึ่ง calang มีความหมายว่า ‘ระวังภัย’ หรือ ‘เตือนภัย’ เปอจาลังก็สะท้อนแนวคิดเรื่อง Rwa Bhineda โดยผู้ที่จะเป็นเปอจาลังได้ต้องสามารถแยกความสงบกับความวุ่นวายได้ แยกความดีกับความชั่วได้ แยกความฉลาดกับความโง่ได้ จึงได้รับความไว้วางใจให้ทำหน้าที่ดังกล่าว

เปอจาลังอาจเรียกได้อีกอย่างว่าเป็นตำรวจจารีตของบาหลี ทำหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยและความเรียบร้อยของหมู่บ้านทั้งในชีวิตประจำวันทั่วไป รวมถึงในงานพิธีทางจารีตและศาสนาต่างๆ เวลามีพิธีกรรมทางศาสนา เราจะเห็นเหล่าเปอจาลังแต่งกายด้วยผ้าโปเล็งอันเป็นเอกลักษณ์ นอกจากนี้ ผ้าโปเล็งยังเป็นเครื่องแต่งกายสำหรับผู้เชิดหนังตะลุง หรือผู้แสดงเป็นตัวละครหลักในหนังตะลุง ได้แก่ เซอมาร์ (Semar), กาเร็ง (Gareng), เปอตรุก (Petruk) และ โบก็อง (Bogong) ผู้แสดงในระบำเกอจัก (Kecak) ที่วัดอูลูวาตู (Pura Uluwatu) ที่เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวก็ใส่ผ้าโปเล็งเช่นกัน หากใช้เป็นเครื่องแต่งกายผ้าโปเล็งจะพันทับชั้นนอกสำหรับท่อนล่างหลังจากที่สวมใส่ผ้านุ่งหรือโสร่งแล้ว โดยผูกผ้าโปเล็งที่เอวเป็นวงกลมและต้องผูกแบบทวนเข็มนาฬิกาด้วย 

ในพื้นที่อำเภอปูรวาการ์ตา (Purwakarta) มีการใช้ผ้าโปเล็งแต่ให้ความหมายที่ต่างออกไปจากที่กล่าวมาข้างต้น กล่าวคือ สีขาวและดำหมายถึงอากาศและน้ำ ซึ่งความเชื่อนี้มีรากเหง้ามาจากวัฒนธรรมซุนดา (Sunda) ที่มีความคล้ายคลึงกับวัฒนธรรมบาหลี ชาวซุนดาที่อาศัยอยู่ที่อำเภอดังกล่าวใช้ผ้าโปเล็งโพกศีรษะ คล้ายกับที่ชาวบาหลีนิยมโพกผ้าแต่เรียกชื่อต่างกัน

นอกเหนือจากปริมณฑลของความศักดิ์สิทธิ์ที่แล้ว ผ้าโปเล็งยังกลายเป็นเทรนด์ของคนรุ่นใหม่ที่นิยมนำมาดัดแปลงสวมใส่ในชีวิตประจำวันและนำไปประดับตกแต่งบ้าน เช่น ใช้เป็นผ้าม่าน ผ้าปูโต๊ะ และสถานที่ต่างๆ โรงแรมจำนวนมากก็นิยมนำผ้าโปเล็งไปประดับตามห้องต่างๆ ของโรงแรม นอกจากนี้ ผ้าโปเล็งยังกลายเป็นของฝากยอดฮิตของเกาะบาหลีที่ผู้ไปเยือนซื้อติดไม้ติดมือไปฝากคนที่บ้านอีกด้วย

ว่ากันว่าการใช้ผ้าโปเล็งแสดงถึงความชาญฉลาดของผู้สวมใส่หรือผู้ใช้ด้วย เพราะสะท้อนว่าผู้สวมใส่สามารถแยกเรื่องที่ดี-ไม่ดี, เหมาะสม-ไม่เหมาะสม, ถูก-ผิด ตามความหมายที่ซ่อนอยู่ในผ้าโปเล็งชนิดต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรักษาสมดุล ไม่ขาดไม่เกิน สอดคล้องกับธรรมชาติ ก็จะนำความสุขสงบมาสู่ผู้สวมใส่หรือใช้ผ้าโปเล็ง หากคุณผู้อ่านได้ไปเยือนบาหลี ลองสังเกตผ้าโปเล็งดูอาจจะได้มุมมองใหม่ๆ และค้นพบปรัชญาที่ซุกซ่อนอยู่ภายใต้ผ้าโปเล็ง


ข้อมูลประกอบการเขียน

Baihaki, Imam. “Mengetahui Lebih Dalam Makna Kain Kotak-Kotak Hitam Putih di Bali.” Kintamani.id, https://www.kintamani.id/mengetahui-lebih-dalam-makna-kain-kotak-kotak-hitam-putih-di-bali/ 

Divianta, Dewi. “Makna Kain Kotak-kotak Hitam Putih Bali.” Liputan6.com, 21 February 2016, https://www.liputan6.com/regional/read/2441370/makna-kain-kotak-kotak-hitam-putih-bali 

Khairally, Elmy Tasya. “Saput Poleng (Kain Poleng) Bali: Sejarah dan Fungsinya.” Detikbali, 21 November 2022, https://www.detik.com/bali/budaya/d-6418416/saput-poleng-kain-poleng-bali-sejarah-dan-fungsinya 

Rahmadsyah, Agung. “Mengenal Pecalang, Sosok Keamanan Penjaga Khidmat.” CNNIndonesia, 15 March 2018, https://www.cnnindonesia.com/gaya-hidup/20180315175220-269-283336/mengenal-pecalang-sosok-keamanan-penjaga-khidmat 

Setyaningrum, Puspasari (ed.). “Mengenal Kain Poleng, Kain Bermotif Kotak HItam Putih yang Lekat dengan Budaya Bali.” Kompas, 8 October 2022, https://denpasar.kompas.com/read/2022/10/08/174545078/mengenal-kain-poleng-kain-bermotif-kotak-hitam-putih-yang-lekat-dengan?page=all  

Suyatra, I Putu. “Poleng, Motif Sakral dan Estetika yang Kini Jadi Tren.” Baliexpress, 6 Agustus 2017. https://baliexpress.jawapos.com/balinese/671129822/poleng-motif-sakral-dan-estetika-yang-kini-jadi-tren 

Tarubali PUPRKIM Prov.Bali MaSiKIAN. “Konsep Rwa Bhinesa di Bali.” Baliprov.go.id, 8 November 203, https://tarubali.baliprov.go.id/konsep-rwa-bhineda-di-bali/#:~:text=Dalam%20bahasa%20Jawa%2C%20istilah%20%E2%80%9CRwa,mendasar%20dalam%20pemahaman%20budaya%20Bali

Umam. “Pakaian Adat Bali: Nama, Keunikan, Jenis, dan Maknanya.” Gramedia Blog, https://www.gramedia.com/literasi/pakaian-adat-bali/

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save