ผมชอบเล่นเกมสร้างเมืองมาก เกมล่าสุดที่หมกมุ่นอยู่ได้เป็นวันๆ ก็คือเกม Cities Skylines 2
เวลาเล่นเกมประเภทนี้ มันจะมีขั้นมีตอนของมัน เร่ิมจากเป็นหมู่บ้านจิ๋ว ไล่ไปเป็นหมู่บ้านใหญ่ จนกลายเป็นเมืองเล็ก เป็นเมืองที่กำลังเติบโต แล้วค่อยๆ กลายเป็นเมืองใหญ่ที่มีหลายระดับ
เมื่อเมืองค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไป สิ่งหนึ่งที่คนเล่นเกม (ในหมวกของ ‘นักสร้างเมือง’) ต้องทำ – ก็คือการค่อยๆ เปลี่ยน ‘เนื้อเมือง’ จากพื้นที่ที่สร้างได้เฉพาะที่อยู่อาศัยแบบเบาบาง กลายไปเป็นที่อยู่อาศัยแบบหนาแน่นขึ้น หรือบางทีก็เปลี่ยนไปเป็นพื้นที่การค้าหรือสำนักงานไปเลย
แต่พอเปลี่ยนเมืองให้หนาแน่นมากขึ้นแล้ว เมืองมักจะดูแออัดจนอึดอัด บ่อยครั้งก็เลยต้อง ‘รื้อบ้าน’ เพื่อ ‘สร้างพื้นที่สีเขียว’ ขึ้นมาให้เมืองแลดู ‘สวย’ และไม่อึดอัด แถมยังดึงดูดคนกลุ่มใหม่ๆ ให้เข้ามาอยู่ในพื้นที่เมืองด้วย
อย่างไรก็ตาม ทุกครั้งที่ทำอย่างนั้น ผมจะเกิดความรู้สึกขัดแย้งบางอย่างขึ้นในตัว ผมมักคลิกเข้าไปดู ‘ตัวคน’ (เกมนี้ให้เราเข้าไปดูได้ ‘ลึก’ ถึงระดับตัวคนแต่ละคนเลย ว่าใครชื่อแซ่อะไร ฐานะและการศึกษาเป็นอย่างไร รวมทั้ง ‘มีความสุข’ กับการอยู่ในเมืองนี้มากน้อยแค่ไหน – เพราะอะไร) อยู่เสมอ ว่าเมื่อถูก ‘รื้อไล่’ แล้ว พวกเขาจัดการกับชีวิตของตัวเองอย่างไร ย้ายไปอยู่ที่ไหน และทำอย่างไรกับชีวิตที่เหลืออยู่บ้าง
เมื่อเราสร้างพื้นที่สีเขียวขึ้นมา พร้อมกับทำให้เมืองมีความเป็นเมืองที่หนาแน่นขึ้น มูลค่าที่ดินในละแวกนั้นจะสูงขึ้น ผลที่เกิดขึ้นคือการ ‘ไสส่ง’ คนที่ไม่ได้มีฐานะดีให้ย้ายออกจากพื้นที่เดิมไปอยู่ที่ใหม่ ซึ่งในบางกรณีก็ถึงขั้น ‘ย้ายออก’ จากเมือง ไปหาที่อยู่ใหม่ในเมืองอื่น
หรือพูดง่ายๆ ก็คือ – พวกเขาถูก ‘ไล่’ ออกไปจาก ‘เกมสร้างเมือง’ นี้ จนสูญหายไปจากความรับรู้ของผู้มีอำนาจในการ ‘เล่นเกม’ เลยทีเดียว
ใน Cities Skylines 1 เคยมีคนทำม็อด (Mod) หรือการปรับแต่งเกม (มาจาก Modification) แบบหนึ่งขึ้นมา เรียกว่า Slum Mod เมื่อเราติดตั้งม็อดนี้แล้ว เราจะสามารถสร้าง ‘สลัม’ ขึ้นมาในเมืองได้ มันคือพื้นที่แออัด สกปรก ไม่สวยงาม ไม่ใช่ ‘เมืองในฝัน’ ของใคร แต่ม็อดนี้ก็ได้รับความนิยมมากพอสมควรในหมู่นักเล่นเกม หลายคนใช้ม็อดสลัมนี้เพื่อทำให้เมือง ‘สมจริง’ มากที่สุด เพราะไม่มีเมืองไหนในโลกหรอกที่ปราศจากความเหลื่อมล้ำ และตัวละครสำคัญที่สุดในละครเรื่องความเหลื่อมล้ำนี้ – ก็คือคนจนเมือง
เมื่อไม่นานมานี้ อาจารย์ชาตรี ประกิตนนทการ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องสถาปัตยกรรมและเมืองจากมหาวิทยาลัยศิลปากร ได้เขียนบทความที่ผมคิดว่าสำคัญมากเกี่ยวกับการสร้างเมืองขึ้นมา ตีพิมพ์อยู่ในมติชนสุดสัปดาห์[1] บทความนั้นพูดถึงคำคำหนึ่งที่สำคัญมาก
มันคือคำว่า ‘Green Gentrification’
อาจารย์ชาตรีบอกว่า เมืองท้ังหลายย่อมต้องการพื้นที่สีเขียว และมีงานวิจัยกับตัวอย่างในอดีตมากมายที่บอกเราว่าพื้นที่สีเขียวนั้นดีต่อคุณภาพชีวิตผู้อยู่อาศัยแน่ๆ การเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้เมืองจึงเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็น
แต่ปัญหาที่ อาจารย์ชาตรีหยิบยกขึ้นมาบอกให้เรา ‘พึงระวัง’ ก็คือ – เราจะ ‘สร้าง’ พื้นที่สีเขียวเหล่านั้นขึ้นมาเพื่อใคร?
มีผู้แปล Gentrification ว่า ‘การแปลงพื้นที่เพื่อเปลี่ยนชนชั้น’ แต่คำแปลที่น่าสนใจมาก เป็นคำแปลจาก อาจารย์บุญเลิศ วิเศษปรีชา จากคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นั่นคือ ‘การทำให้เมืองเป็นย่านผู้ดี’ ซึ่งผมคิดว่าเป็นนิยามที่สอดคล้องกับ ‘ราก’ ของศัพท์ และทำให้เรา ‘เห็นภาพ’ ได้ชัดเจนเอามากๆ
ที่จริงแล้ว ‘การเปลี่ยนเมือง’ แบบ Gentrification หรือทำให้เมืองเป็น ‘ย่านผู้ดี’ นั้น ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นเป็นปรากฏการณ์ใหม่เอี่ยมในยุคปัจจุบันที่เทรนด์ Urbanization กำลังฮ็อตฮิตแต่อย่างใดนะครับ ทว่านี่คือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับกระบวนการกลายเป็นเมืองต้ังแต่สมัยกรีกและโรมันโบราณแล้วที่น่าสนใจก็คือ การเปลี่ยนแปลง ‘เนื้อเมือง’ ให้กลายเป็น ‘ย่านผู้ดี’ นี้ – เกี่ยวพันกับความเป็นประชาธิปไตยอย่างสูง!
ย้อนกลับไปในยุคกรีกโบราณ เราจะพบว่า ชาวกรีกมีวิธีสร้างเมืองที่ ‘มีสำนึก’ ประชาธิปไตยอย่างมาก – มากจนความเป็นประชาธิปไตยนั้นมัน ‘ล้นทะลัก’ ออกมาบนท้องถนน ในรูปของการ ‘ออกแบบเมือง’ โดยไม่ได้ตั้งใจกันเลยทีเดียว
หัวใจของสังคมกรีกคือคำว่า โพลิส (Polis) ซึ่งเราอาจแปลว่านครรัฐหรือ City State แต่มีผู้วิเคราะห์ว่า คำว่า Polis ของกรีกนั้นมี ‘นัย’ ที่ลึกซึ้งกว่าแค่ภาพภายนอก เพราะลึกลงไปภายใน Polis คือ ‘ที่ชุมนุม’ ของการเมือง ศาสนา การทหาร และ ‘ตลาด’ (หรือศูนย์รวมเศรษฐกิจ) โดยผู้คนที่เข้ามายุ่งเกี่ยวกับเรื่องทั้งหมดนี้ คือ ‘พลเมือง’ (ตามนัยของกรีกโบราณหมายถึงคนที่ไม่ได้เป็นทาส และเป็นผู้ชายเท่านั้น)
Polis จึงไม่ได้เป็นแค่พื้นที่ทางกายภาพ แต่คือ ‘ชุมชน’ หรือ ‘ที่รวม’ ของความคิดอันหลากหลาย ชาวกรีกเห็นว่าตัวเองเป็นอิสระและเป็นมนุษย์เต็มตัวเมื่อได้เข้าร่วมใน Polis เพราะสามารถถกเถียงออกความเห็นได้อย่างเท่าเทียมกัน เป็นเจ้า Polis นี้เอง ที่ทำให้วิธีปกครองของกรีกไม่เหมือนที่อื่น กรีกโบราณไม่ได้เป็น ‘จักรวรรดิ’ ปกครองจากศูนย์กลางเดียวที่ทรงอำนาจมหาศาล แต่เป็น ‘อารยธรรม’ ที่ประกอบขึ้นด้วย Polis หลายร้อยแห่ง จนเรียกได้ว่า Polis คือ ‘ห้องแล็บทางการเมือง’ ที่ช่วยสร้างสิ่งใหม่ๆ อันหลากหลายขึ้นมาต่อสู้กับภัยคุกคามทั้งหลาย
สิ่งเหล่านี้สะท้อนออกมาให้เห็นใน ‘เนื้อเมือง’ ของกรีก เอเธนส์โบราณไม่ได้มี ‘ถนนสายใหญ่’ (แนวบูโลวาร์ด) เอาไว้รองรับ ‘พิธีกรรม’ เช่น การขี่ม้าของจักรพรรดิหรือการสวนสนามสำแดงพลังของทหาร แต่มันเต็มไปด้วย ‘ตรอกซอกซอย’ เล็กๆ ที่ผสมผสานชีวิตชีวาของผู้คน หรือพูดอีกอย่างหนึ่งได้ว่า เอเธนส์โบราณเต็มไปด้วย ‘ความมั่ว’ ในเนื้อเมือง โดยมี ‘อะกอรา’ (Agora) หรือ ‘ตลาด’ เป็นศูนย์กลาง โดยอะกอราในเอเธนส์นั้น มีพื้นที่กว้างมากถึง 37 เอเคอร์ แต่ก็ต้องกล่าวไว้ด้วย – ว่าเอเธนส์ไม่ใช่ ‘เมืองใหญ่’ อะไรนักหนานะครับ ประมาณว่าประชากรของเอเธนส์ยุค 450 ปีก่อนคริสตกาลนั้น มีอยู่ราวห้าหมื่นคนเท่านั้นเอง
ความแออัดของเอเธนส์ทำให้คนใกล้ชิดกันมาก บ้านเรือนไม่สูงจนเกินไป ผู้คนหนีขึ้นไปซุกตัวอยู่เงียบๆ ไม่ค่อยจะได้ ชาวเอเธนส์จึงคุ้นชินกับ ‘ชีวิตสาธารณะ’ มากกว่า ‘ชีวิตส่วนตัว’ (ซึ่งต้องบอกด้วยว่ามีทั้งข้อดีและข้อเสีย) จึงทำให้เกิดการแสดงออกอย่างเสรี มีเนื้อเมืองที่มีลักษณะ ‘โปร่งใส’ ใครทำอะไรก็เห็นชัดเจน จึงเกิดการ ‘ตรวจสอบ’ โดยไม่ต้อง ‘สอดส่อง’ ตลอดเวลาอันเป็นหัวใจของประชาธิปไตย แต่ในขณะเดียวกัน ความ ‘แออัด’ ก็ทำให้เกิด ‘อึดอัด’ ด้วย เพราะผู้คนไม่มีชีวิตส่วนตัวเป็นของตัวเองมากเท่าที่ควร แต่เป็นชีวิตและเมืองแบบนี้นี่แหละครับ ที่ทำให้คนอย่างโสคราติส สามารถเดินไปเดินมาเพื่อสนทนาพูดคุยถกเถียงปรัชญาต่างๆ กับผู้คนได้ทั้งตลาด
เอเธนส์โบราณจึงไม่ใช่ ‘เมืองสวย’ มีหลายคนในยุคนั้นที่บันทึกเอาไว้ว่าเมื่อมาถึงเอเธนส์แล้วต้องตกตะลึง ไม่ใช่เพราะมันสวยงามยิ่งใหญ่ แต่เพราะเอเธนส์มีบ้านเรือนที่ก่อสร้างแบบหยาบๆ เล็ก มอซอ เต็มไปด้วยถนนแคบๆ ตรอกซอยลับๆ ไม่มีระบบระบายน้ำ โกโรโกโส และเหม็น แม้แต่บ้านของคนรวยก็ไม่ได้อยู่ในสภาพที่ดีเท่าไหร่
ในอีกด้านหนึ่ง เมืองแบบ Polis ที่มีสำนึกแบบประชาธิปไตยกรีกถกเถียงกันได้ทุกเรื่องนี้ก็เปราะบางต่อสงครามด้วย ผู้รุกรานบุกเข้ามายึดได้ง่าย แถมยังมีศึกย่อยๆ ระหว่าง Polis ต่างๆ กันเองบ่อยครั้ง เมื่อยุคของอเล็กซานเดอร์มหาราช จึงเกิดแนวคิดของการ ‘รวมชาติ’ (เรียกว่าเฮลลาหรือ Hella) เกิดการรบพุ่งเพื่อรวบรวมและขยายดินแดนมากขึ้น นักประวัติศาสตร์เมืองพบว่า ศึกสงครามเป็นส่วนสำคัญที่กระตุ้นให้เริ่มเกิดเมืองแบบ ‘กริด’ (Grid) หรือเมืองที่มีการตัดถนนเป็นสี่เหลี่ยมที่มีระเบียบขึ้นมา
ถามว่าทำไมเนื้อเมืองถึงเปลี่ยน – คำตอบก็เพราะเมืองแบบที่มีถนนตัดกันเป็นกริดนั้น ทำให้ ‘ตามตัว’ คนมาเป็นทหารได้ง่ายขึ้น เมืองที่เต็มไปด้วยตรอกซอกซอยลับๆ ล่อๆ ทำให้คน ‘หนีทหาร’ ไปซุกซ่อนตามที่ต่างๆ ได้ง่าย (ลองนึกถึงฉากวิ่งหนีกันในหนังเรื่อง Slumdog Millianair ดูก็ได้ครับ ว่าเนื้อเมืองที่ซับซ้อนนั้นจะ ‘ยาก’ ต่อการควานหาตัวมาปกครองขนาดไหน) เมืองแบบกริดจึงได้รับความนิยมมากขึ้น
และในเวลาเดียวกัน เมืองที่เคยมีสำนึกประชาธิปไตย สนุกสนานอยู่กับการถกเถียง ความโปร่งใส และพื้นที่สาธารณะ ก็เริ่มเปลี่ยนไปเป็นเมืองที่มีสำนึกแบบทหารที่มีการรวมศูนย์มากขึ้นด้วย
เรื่องหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ การสร้าง ‘สวน’ ในบ้าน ที่แต่เดิมเคยเป็นสวนแบบเปิด (เรียกว่ามีมุมมองแบบ Bellavista) พอเกิดการสู้รบมากขึ้น สำนึกประชาธิปไตยเปลี่ยนไป เพบว่าสวนแบบกรีกของ ‘คนรวย’ ยุคหลังจะมีลักษณะ ‘ปิดล้อม’ มากขึ้น กลายเป็นสวนแบบ ‘คอร์ท’ ที่อยู่ข้างในบ้านแบบวิลล่าแทน พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือมีการสร้าง ‘พื้นที่สีเขียว’ ที่เป็นส่วนตัวมากขึ้น
ในกรุงโรมที่ทำศึกสงครามเยอะกว่ากรีก จะมี Sense of Order หรือ ‘ลำดับศักดิ์’ ของถนนซับซ้อนกว่ากรีก คือมีการตัดถนนเป็นเส้นเล็กเส้นใหญ่เพื่อให้ยิ่งเรียกรวมพลหรือเกณฑ์คนไปรบได้ง่ายขึ้น ถ้าถนนมีขนาดเท่ากันหมด อาจเกิดความสับสนได้ว่าตอนนี้อยู่ตรงส่วนไหนของเมือง โดยวิลล่าแบบโรมันก็มีการสร้างสวนปิดล้อมอยู่ในบ้านเช่นเดียวกัน ต้องหมายเหตุไว้ด้วยว่า – การสร้างสวนแบบปิดล้อมนี้ดำเนินเรื่อยมาในยุโรปอีกหลายร้อยปี จนกระทั่งถึงยุคเรอเนสซองส์ถึงได้เริ่มมีการสร้างพื้นที่สีเขียวแบบ ‘เปิด’ ขึ้นภายในเมือง
ดังนั้น ‘ความเป็นระเบียบเรียบร้อย’ ของเมืองแบบโรมันโบราณ จึงต่างจาก ‘ความอีเหละเขละขละ’ ของเมืองแบบกรีกโบราณ โดยมีเหตุผลลึกลงไปถึง ‘ปรัชญา’ ในการมีชีวิตอยู่ของผู้คนกันเลยทีเดียว!
ถ้าย้อนกลับไปดู ‘รากศัพท์’ ของคำว่า Gentrification เราจะพบว่าคำนี้มีรากมาจากคำว่า Gentry ซึ่งมาจากภาษา Old French คือ Genterise หรือหมายถึง Gentle Birth โดยพจนานุกรม Oxford ให้ความหมายของคำว่า Gentry ไว้ว่า people of good social position หรือคนที่มีสถานะทางสังคมดี ซึ่งถ้าแทนคำนี้ว่า ‘ผู้ดี’ ก็เห็นจะได้เลยว่ากระบวนการ Gentrify หรือ Gentrification เป็นไปดังนิยามของ อาจารย์บุญเลิศ วิเศษปรีชา คือ ‘การทำให้เมืองเป็นย่านผู้ดี’
มีเมืองอยู่เมืองหนึ่งในโลกที่อธิบายกระบวนการขับดันของสังคมและเศรษฐกิจ จนก่อให้เกิด Gentrification ได้อย่างชัดเจนมาก
เมืองนั้นก็คือชิคาโก
ปัจจุบันชิคาโกเป็นเมืองสวยงามน่าอยู่ริมทะเลสาบใหญ่ แต่ย้อนกลับไปในศตวรรษที่สิบเก้า ชิคาโกเป็นเหมือนนรก หนังสือ Metropolis ของ Ben Wilson บอกไว้ว่าชิคาโกเป็นหนึ่งในเมืองที่อัปลักษณ์และสิ้นหวังที่สุด เพราะมันคือเมืองแห่งโรงงานฆ่าสัตว์ที่ได้ชื่อว่าเป็น Porkopolis หรือ ‘เมืองฆ่าหมู’ แทบเรียกได้ว่าเป็นเมืองหลวงแห่งโรงฆ่าสัตว์ของโลกที่ท่วมท้นไปด้วยเลือดและเครื่องในของสัตว์กว่า 3 ล้านตัวที่ถูกฆ่าทุกๆ ปีโดยไม่มีมาตรการจัดการเรื่องสุขอนามัย เมืองจึงวิกฤตมาก
คนทำงานอาศัยอยู่ใน ‘ชุมชนแออัด’ ขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในอเมริกา ที่มีชื่อเรียกว่า Packingtown (ชื่อก็มาจากกิจกรรมการฆ่าสัตว์นั่นแหละครับ) โดยอาศัยอยู่ใกล้กับโรงฆ่าสัตว์และบ่อขยะมหึมา มีพื้นที่ที่เรียกว่า Bubbly Creek หรือลำห้วยพรายฟอง เพราะบ่อขยะหมักหมมเอาก๊าซเน่าเหม็นจากเลือดและซากเครื่องในสัตว์ไว้ด้านใต้แล้วค่อยๆ ผุดขึ้นมาเป็นพรายฟองปุดๆ ตัวเมืองจึงมีสภาพที่ย่ำแย่และเหม็นคลุ้งไปหมด ทั้งยังเต็มไปด้วยแก๊งมาเฟีย อาชญากรรม และความรุนแรง
คำว่า Gentrification ของชิคาโกจึงเริ่มเกิดขึ้นอย่างน้อยก็ในทศวรรษ 1920s ซึ่งก็ก่อให้เกิดข้อถกเถียงอย่างมาก เพราะ Gentrification หมายถึงการทำให้คนที่ฐานะดีกว่า (ในกรณีของชิคาโกหมายถึง ‘คนขาว’ ด้วยนะครับ) หลั่งไหล (Influx) เข้ามาอยู่ในพื้นที่เดิมที่เคยมีแต่คนชายขอบรายได้น้อยอาศัยอยู่ แม้จะใช้เวลาเป็นร้อยปีแล้ว แต่ข้อถกเถียงเหล่านี้ไม่ได้จบสิ้นลง ยังเกิดการต่อสู้ถกเถียงในเรื่องนี้ต่อเนื่อง เพราะ Gentrification ใหม่ๆ เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ก่อให้เกิด ‘คำเรียก’ ใหม่ที่หลากหลายขึ้นตามอุดมการณ์และคุณค่าของสังคมในยุคนั้นๆ เช่นเดิมที Gentrification ทำให้เกิดชุมชนคนขาวอย่างเดียว (ซึ่งไม่ Politically Correct) จึงต้องผสมคนหลากเชื้อชาติเข้ามาด้วย มีการหาวิธีดึงดูคนผิวดำและชาวฮิสแปนิกเข้ามาในชุมชน จึงเกิดคำอย่าง Black Gentrification หรือ Latino Gentrification โดยจุดร่วมของคนเหล่านี้ก็คือ ต้องเป็นคนผิวดำหรือฮิสแปนิกที่ ‘ฐานะดี’ เพื่อที่เมืองจะได้ ‘ดูดี’ มากยิ่งขึ้น
พูดได้เลยว่า ประวัติศาสตร์ร่วมสมัยของชิคาโกคือประวัติศาสตร์ของ Gentrification นั่นเอง!
นักเศรษฐศาสตร์หลายคนบอกว่า Gentrification เป็นเรื่องที่ถือเป็น ‘วงจรธรรมชาติ’ (Natural Cycle) ของเมือง นั่นคือเมืองจะเกิดขึ้นแล้วขยายตัวออกไปเป็นชั้นๆ (เรียกว่าเป็น Ring หรือวงแหวนที่ล้อมกันออกไป) จุดแรกที่ดึงดูดให้เกิดเมืองขึ้นมาก่อน มักจะเป็นอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน (อย่างเช่นโรงฆ่าสัตว์ของชิคาโก หรือเหมืองต่างๆ เช่นเมืองที่เกิดขึ้นในยุคตื่นทองของอเมริกา หรือเหมืองที่ก่อให้เกิดเมืองบิลบาวในสเปน) ผู้คนจึงอพยพเข้ามาอยู่ตรงจุดศูนย์กลางเมือง แล้วเมืองก็ค่อยๆ ขยายออกไป เกิด New Ring เป็นที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มาใหม่
คำอธิบายหนึ่งบอกว่า เมืองที่อยู่ชั้นในนั้นมันไม่ได้อยู่ได้ไปชั่วกัลปาวสาน แต่มี ‘อายุขัย’ ของมัน เมื่อแออัดมากเกินไป เกิดอาชญากรรมมากเกินไป หรือ ‘หมดประโยชน์’ (เช่นทรัพยากรหมด สามารถเป็นแหล่งที่มาของงานได้อีกต่อไป) ก็จะเกิดสภาพเสื่อมโทรมขึ้น คนที่ยังเหลืออยู่ในนั้นคือกลุ่มคนจนที่แทบไม่มีความสามารถจะ ‘ย้ายออก’ และบางส่วนก็ยังผูกพันอยู่กับแหล่งงานเดิม แต่ด้วยความเป็นศูนย์กลางเมือง จึงมักเกิดการเปลี่ยนแปลงเนื้อเมืองเพื่อดึงเหล่าคนหน้าใหม่ที่ Gentry เข้ามาอยู่แทน แต่จะดึงคนเหล่านี้เข้ามาอยู่ได้ รัฐหรือผู้มีอำนาจก็ต้องเปลี่ยนแปลงเมืองให้ ‘น่าอยู่’ เสียก่อน
ถ้ายังจำกันได้ รูดี้ กุยลิอานี (Rudy Giuliani) ผู้ว่าฯ ของนิวยอร์ค เคยใช้ ‘ทฤษฎีกระจกแตก’ (Broken Windows Theory) ในการจัดการเมืองให้ดีขึ้น นั่นคือให้ภาครัฐดูแลเมืองไม่ให้เกิดสภาพแย่ๆ เช่นการทำลายข้าวของสาธารณะ (Vandalism) (อันเป็นที่มาของชื่อทฤษฎีกระจกแตก) คือไปจัดการกับอาชญากรรมเล็กๆ น้อยๆ ก่อนเพื่อให้เมืองดู ‘น่าอยู่’ มากขึ้น ซึ่งถือได้ว่าเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ดึงดูดเหล่า Gentry ให้เข้ามาอยู่ในเมืองเช่นกัน
หลายคนอาจจะเห็นว่า ถ้าเมืองมัน ‘เน่า’ ในระดับเดียวกับชิคาโกในศตวรรษที่ 19 สิ่งที่เรียกว่า Gentrification ก็อาจเป็นเรื่องจำเป็น แต่ในปัจจุบัน ปัญหาซับซ้อนกว่านั้นมาก
มีผู้เสนอ ‘ขั้นตอน’ ของการเปลี่ยนเนื้อเมือง (Stages of Gentrification) เอาไว้หลายแบบ แต่ที่เป็นที่ยอมรับกันก็คือ เมื่อเนื้อเมืองที่เคยเป็นแหล่งงานหมดประโยชน์ในการเป็นแหล่งงานแล้ว เนื้อเมืองเหล่านั้นจะเสื่อมโทรมลง ทำให้เหล่าศิลปิน นักศึกษา หรือแม้กระทั่ง ‘ฮิปสเตอร์’ ค่อยๆ ทยอยเข้าไปอยู่ในย่านนั้นมากขึ้นเพราะค่าเช่าถูก (เช่น ย่าน Village ของนิวยอร์คเมื่อหลายสิบปีก่อน) ระยะนี้เรียกว่า Early Stage
โดยไม่รู้ตัว เหล่าศิลปินทั้งหลายได้ Gentrify เนื้อเมืองให้มีดีกรีความ ‘น่าอยู่’ เพิ่มขึ้นด้วยความคิดสร้างสรรค์ของตัวเอง จึงจึงเริ่มดึงดูดคนกลุ่มใหม่ๆ เข้ามาเพิ่ม ตัวอย่างเช่นในหนังสือชื่อ Flat White Economy เคยเล่าถึงการที่ย่าน East London ดึงดูดกลุ่มคนทำธุรกิจสตาร์ตอัพเข้ามาเพราะค่าเช่าถูก (หมายถึงถูกสำหรับคนเริ่มทำธุรกิจสตาร์ตอัพนะครับ แต่ไม่ได้ถูกสำหรับคนจนเมืองอื่นๆ) เนื้อเมืองจึงเปลี่ยนไปอีก เกิดร้านกาแฟเก๋ๆ มากขึ้น สุดท้ายเหล่าศิลปินต้องย้ายหนี เพราะค่าเช่าเริ่มแพงขึ้น คนที่เข้ามาอยู่แทนที่กลายเป็นคนชั้นกลางถึงคนชั้นกลางระดับสูง ระยะนี้เรียกว่า Transitional Stage
แล้วสุดท้ายก็มาถึงระยะที่เรียกว่า Late Stage คือกลุ่มคนร่ำรวย เช่น นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ใหญ่ๆ จะเข้ามาจัดการพื้นที่ให้กลายเป็นย่านใจกลางเมือง เต็มไปด้วยอาคารสูง หรือแม้กระทั่งเข้าไปเกี่ยวข้องกับนโยบายของภาครัฐ เพื่อโน้มนำให้มีพื้นที่สาธารณะดีๆ เพิ่มขึ้น เช่นพื้นที่สีเขียวต่างๆ ราคาของเนื้อเมืองจึงสูงลิ่วเกินกว่าคนสองกลุ่มแรกจะอยู่ได้ มันจึงกลายเป็นพื้นที่เพื่อการพานิชย์ไป ถ้าใช้คำของ อ.ประภาส ปิ่นตบแต่ง [2] ต้องบอกว่า Gentrification คือการทำให้ ‘เมือง’ กลายเป็น ‘สินค้า’ มากกว่าการเป็น ‘ที่อยู่อาศัย’ ดังนั้น คนที่จะอยู่อาศัยในย่านนี้ได้ ต้องเป็นคน ‘รวยจริงๆ’ ที่มาอยู่แถบนี้เพราะอยากประกาศ ‘สถานภาพความรวย’ เพื่อนำไปใช้ต่อยอดความรวย (ซึ่งเท่ากับเป็นการ Commodify หรือเปลี่ยน ‘ตัวเอง’ ให้กลายเป็น ‘สินค้า’ ผ่านการประกาศสถานภาพเหล่านั้นในในตัว) และโดยมาก คนเหล่านี้มักจะเป็นเนื้อเดียวกับรัฐจนยอมรับหรือร้องขอให้มีการ ‘สอดส่อง’ จากภาครัฐเพื่อความปลอดภัย แต่ไม่ค่อยชอบการ ‘ตรวจสอบ’ สักเท่าไหร่
ในบทความเรื่อง ‘What, Exactly, Is Gentrification?’ ตีพิมพ์ใน Governing Magazine เมื่อปี 2015 ผู้เขียนคืออลัน อีห์เรนฮอลต์ (Alan Ehrenhalt) สรุปขั้นตอนการ Gentrify ไว้ง่ายๆ ว่า ช่วงแรก – ดีจัง บ้านฉันราคาสูงขึ้น, ช่วงที่สอง – เอ๊ะ! ทำไมกาแฟแถวบ้านถึงราคาแพงขึ้นแบบนี้นะ ตอนนี้เรามีสตาร์บัคส์แล้วด้วย แล้วก็ช่วงที่สาม – ฉันกับเพื่อนบ้านที่เคยอยู่แถวนี้เริ่มอยู่กันไม่ไหวแล้ว เพราะค่าเช่าและค่าครองชีพแถบนี้มันสูงเหลือเกิน ย้ายไปอยู่ที่อื่นดีกว่า
ฟังดูเหมือน Gentrification กลายเป็นผู้ร้ายไปเสียหมด แต่ที่จริงมีข้อโต้แย้งอยู่เหมือนกันนะครับ ในบทความ In Defense of Gentrification ของ The Atlantic เขาบอกว่าเคยมีการศึกษาของ Furman Center โดย NYU, การศึกษาของ Philadelphia Federal Reserve Bank และการศึกษาของมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ที่บอกว่า Gentrification มีข้อดีอยู่หลายอย่าง เช่น ทำให้อาชญากรรมลดลง เพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้คนในพื้นที่ หรือเอาเข้าจริงก็ไม่ได้ ‘ไสส่ง’ (Displacement) คนออกจากพื้นที่มากเหมือนที่คิด และคนที่ย้ายออกก็อาจไปอยู่ที่ใหม่ที่มีคุณภาพชีวิตดีขึ้นด้วย เป็นต้น แต่ ‘ข้อดี’ เหล่านี้ มักเป็นข้อดีทางเศรษฐกิจที่เอื้อประโยชน์ให้กับคนกลุ่ม ‘ผู้ดี’ (หรือ Gentry) ที่ได้รับประโยชน์จากกระบวนการ Gentrification ไปเต็มๆ
คำถามที่เกิดขึ้นจึงคือ – แล้ว Gentrification (หรือการทำเมืองให้เป็นย่านผู้ดี) มันสอดคล้องกับ Democratization (หรือการทำให้เป็นประชาธิปไตย) มากน้อยแค่ไหนกัน
ทุกวันนี้ เวลาเล่นเกม Cities Skylines แล้วต้อง Genrify หรือเปลี่ยนแปลง ‘เนื้อเมือง’ ให้เป็น ‘ย่านผู้ดี’ มากขึ้น ผมมักจะสงสัยเสมอว่า ตัวเองไม่มี ‘จินตนาการ’ ถึง ‘เมือง’ ในรูปแบบอื่นแล้วหรือ นอกเหนือไปจากการทำให้เมือง ‘มั่งคั่ง’ มากขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นเมืองใหญ่ที่เต็มไปด้วยตึกสูงและเอื้อประโยชน์ให้คนรวยยิ่งรวยมากขึ้นไปเรื่อยๆ
มีหนทางอื่นใดอีกไหม ที่เราจะสามารถผนวกจิตวิญญาณของเอเธนส์โบราณในฐานะเมืองที่มีสำนึกประชาธิปไตยที่เท่าเทียม เข้ากับการสร้าง ‘เมืองงาม’ ในรูปแบบใหม่ได้ – เพื่อไม่ให้เมืองงามเหล่านั้นลดทอนประชาธิปไตยลงไปอยู่ใต้คำว่า Gentry หรือ ‘ผู้ดี’
คำถามในการเล่นเกมยังซับซ้อนได้ขนาดนี้ แล้วในเมืองจริง ผู้คนจริง ชีวิตจริงๆ เล่า – คำถามที่เกิดขึ้นยิ่งซับซ้อนมากขนาดไหน?
และเราจำเป็นต้อง ‘เลือก’ ระหว่าง Gentrification กับ Democratization จริงหรือ!