fbpx

ถึงเวลาการศึกษาไทยพ้นหลุมดำ: ติวเข้ม ตะลุยโจทย์การศึกษาไทย กับ ครูจวง-ปารมี ไวจงเจริญ

ครูจวง-ปารมี ไวจงเจริญ เป็นชื่อที่ปรากฏอยู่ใน ส.ส. บัญชีรายชื่อ อันดับ 28 ของพรรคก้าวไกลที่หลายคนอาจไม่คุ้นหน้าคุ้นตานัก

‘คนธรรมดาๆ ที่ขออาสาเปลี่ยนแปลงการศึกษาไทย’ คือคำที่เธอใช้อธิบายตัวเองในหน้าแนะนำตัวผู้สมัครฯ ของเว็บไซต์พรรคพร้อมแนบจดหมายถึงเพื่อนครูและนักเรียน ประกาศอาสาตัวมาทำงานผลักดันการศึกษาไทยให้มีมาตรฐานเท่าเทียม เท่าทันยุคสมัย

ก่อนที่จะก้าวเข้ามาบนถนนสายการเมือง ตลอดเส้นทางชีวิตของปารมีถูกรู้จักในฐานะติวเตอร์ชื่อดัง จากการสอนพิเศษวิชาสังคมและประวัติศาสตร์มานานเกือบ 30 ปี และเป็นอาจารย์พิเศษในหลายโรงเรียนทั่วประเทศไทย

แม้ว่าในการเลือกตั้งที่ผ่านมานี้ นโยบายเรื่องการศึกษาจะไม่ได้ถูกขับเน้นความสำคัญบนเวทีดีเบตต่างๆ เท่าไรนัก แต่แน่นอนว่าการกำหนดนโยบายการศึกษามีส่วนมากต่อการสร้างความเปลี่ยนแปลงของประเทศ รวมถึงกระทรวงศึกษาธิการเป็นกระทรวงที่ได้รับงบประมาณสูงที่สุด ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการนำงบนั้นไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อแก้ปัญหาการศึกษาไทยที่หนักหนาสาหัส

ท่ามกลางโจทย์ปัญหาการศึกษาที่รอคอยวันแก้ไขและความคาดหวังต่อการปฎิรูประบบการศึกษาไทย 101 สนทนากับปารมี ส.ส. ปีกการศึกษา พรรคก้าวไกล ถึงประสบการณ์ทำงานในโลกการศึกษา ปัญหาสำคัญที่พบเจอ และภารกิจด้านการศึกษาที่รออยู่ตรงหน้า

ก่อนจะก้าวมาสู่เส้นทางการเมือง คุณอยู่ในโลกการศึกษาในฐานะติวเตอร์ ทำไมจึงไม่เลือกการเป็นครูในระบบ

ก่อนหน้าจะมาลงสมัคร ส.ส. กับพรรคก้าวไกล ดิฉันอยู่ในวงการศึกษามาเกือบ 30 ปี สอนหนังสือมาทั้งชีวิตตั้งแต่จบการศึกษาจากครุศาสตร์ จุฬาฯ จนมาเป็นอาจารย์พิเศษทั้งโรงเรียนรัฐและเอกชนและเป็นติวเตอร์สอนพิเศษวิชาสังคมศึกษาและประวัติศาสตร์

นอกจากความภาคภูมิใจที่ได้เข้ามาเป็นผู้แทนของประชาชน อีกหนึ่งความภาคภูมิใจสำคัญในชีวิตของดิฉันก็คือการเป็นครู

ส่วนเหตุผลที่ไม่บรรจุเป็นครูในระบบ นอกเหนือจากกฎกระทรวงและกฎระเบียบข้อห้ามการรับสมัครข้าราชการตอนที่เรียนจบแล้ว ยังมีแรงกดทางสังคมวัฒนธรรมและความคิดของคนในสังคม การเป็น LGBTQ+ แล้วจะบรรจุในระบบ ในยุคที่ดิฉันเรียนจบใหม่ต้องเลือกระหว่างจะแต่งหญิงหรือจะแต่งบอย ซึ่งดิฉันรับตัวเองไม่ได้ที่จะต้องไปแต่งตัวเป็นผู้ชาย ครั้งสุดท้ายและครั้งเดียวที่ใส่ชุดผู้ชายก็คือตอนรับปริญญาบัตร ด้วยเหตุนี้จึงปิดโอกาสที่จะไปสอบบรรจุเข้ารับราชการ

ณ วันนี้มีลูกศิษย์ดิฉันที่เป็น LGBTQ+ ที่ใฝ่ฝันอยากบรรจุเป็นครู แต่ยังไงก็ต้องใส่กางเกงเป็นผู้ชายไปสอบอยู่ดี จนถึงวันนี้ตัวระบบยังเป็นแบบเดิม แล้วนับประสาอะไรกับเมื่อ 30 ปีที่แล้ว การเป็น LGBTQ+ ปิดประตูตายที่จะสามารถเข้ามาเป็นครูในระบบ ดิฉันจึงเลือกทางเดินมาเป็นครูนอกระบบ เป็นครูพิเศษแทน


ในการเรียนสายครุศาสตร์ ซึ่งคนมองว่าเป็นแวดวงที่มีความอนุรักษนิยมสูง คุณเคยรู้สึกเป็น ‘คนนอก’ บ้างไหม

การเรียนครุศาสตร์เป็นศาสตร์ที่มีความคิดอนุรักษนิยมค่อนข้างสูงอยู่แล้ว แม้ว่าในปัจจุบันจะมีความคิดก้าวหน้ามากขึ้น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ายังคงมีอาจารย์ที่มีความคิดแบบอนุรักษนิยมอยู่มาก อย่างในรั้วจุฬาฯ ก็ขึ้นชื่อว่าเป็นคณะที่อนุรักษนิยมสูง เมื่อเทียบกับคณะอื่นๆ

ยิ่งไปกว่านั้นหากลองจิตนาการถึงสังคมเมื่อ 30 กว่าปีก่อน ไม่ว่ากับเพื่อน รุ่นพี่หรือรุ่นน้องที่เป็น LGBTQ+ ก็ต่างต้องเจอปัญหาสารพัด หญิงข้ามเพศอย่างดิฉันโดนกดขี่เหยียดหยามและโดนตําหนิอยู่ตลอดเวลา

ความรู้สึกเป็นกบฏ ถูกกดดันด้วยแนวคิดค่านิยมเก่าๆ จึงเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยเรียน รวมถึงถูกครหาด้วยคําโบราณเต่าล้านปีว่า “เป็นกะเทยหรือผู้ชายแต่งหญิงจะเป็นต้นแบบที่ไม่ดีของเด็ก” ซึ่งในปัจจุบันแล้วตามหลักการแพทย์เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าไม่ใช่ว่าครูแต่งหญิงแล้วจะเป็นต้นแบบที่ไม่ดีให้เด็กไปแต่งตาม หากเราเชื่อตามนี้จริงๆ ทำไมประเทศไทยที่มีครูเป็นหญิงชายตามเพศสภาพจำนวนมาก มีครูเคร่งครัดเรื่องกฎระเบียบวินัยมากขนาดนี้ แต่สภาพสังคมที่เป็นจริงก็ไม่ได้สะท้อนถึงค่านิยมคำสอนที่ส่งต่อๆ กันมาเลย


มีมุมมองที่ว่าการเรียนพิเศษเป็นสิ่งสะท้อนปัญหาระบบการศึกษา เพราะถ้าการศึกษาดี เด็กจะเรียนพิเศษไปทำไม ในฐานะครูสอนพิเศษมองเรื่องนี้อย่างไร

ต้องพูดอย่างตรงไปตรงมาว่า จากประสบการณ์การเป็นติวเตอร์ที่ผ่านมา ส่วนใหญ่จะสอนแต่เพียงกับลูกหลานคนชั้นกลางขึ้นไปจนถึงคนรวย ซึ่งแน่นอนว่าพวกเขาก็จะมีสังคมและการใช้ชีวิตอีกแบบหนึ่ง ซึ่งสามารถเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพได้ ในทางตรงกันข้าม เด็กที่ยากจนและขาดโอกาสทางการศึกษาจำนวนอีกเยอะมากในสังคมไทย ไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาที่ดีได้ ไม่ต้องไปพูดถึงการเรียนพิเศษด้วยซ้ำ

ยิ่งในห้วงเวลาปัจจุบัน ช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษายิ่งถ่างออกไปเรื่อยๆ พัฒนาการด้านการศึกษาของไทยมีแต่ลงกับลง กลายเป็นการศึกษาแบบปลายหน้าผาที่ผลักคนชายขอบและคนที่ไม่มีทรัพยากรออกไปจากระบบ

สำหรับดิฉันเองที่เกิดมาในครอบครัวคนจน ย่อมรับรู้ถึงความยากลําบากของคนจน รู้ว่าการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากที่ให้โอกาสเราได้มีชีวิตที่ดีขึ้น สามารถเลื่อนชนชั้นทางสังคมได้ โดยตัวอย่างตัวดิฉันเอง หากไม่ได้เรียนจบปริญญา มีการศึกษาที่ดี ชีวิตป่านนี้ก็คงย่ำแย่ไปแล้ว

แม้ว่าปลายทางของการศึกษาที่ใฝ่ฝันอาจจะไม่ได้เห็นในช่วงชีวิตของดิฉัน แต่อย่างน้อยก็อยากเข้ามาเป็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ให้เริ่มต้นขยับได้ นี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ดิฉันสมัครสมาชิกกับพรรคก้าวไกล เพื่อเข้ามาขจัดปัญหาเหล่านี้ให้หมดสิ้นไปในระบบการศึกษาไทย ให้มันลดและปิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำให้น้อยลงมากที่สุด


เมื่อตัดสินใจมาทำงานการเมืองแล้ว ทำไมจึงเลือกพรรคก้าวไกล

สำหรับตัวดิฉันเองเป็นคนเชื่อและยึดมั่นในอุดมการณ์เสรีนิยมโดยพื้นฐานอยู่แล้ว หากเข้ามาทํางานการเมืองก็ต้องเลือกพรรคการเมืองที่ยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตย และมีอุดมการณ์สอดคล้องกับตัวเอง ดังนั้นพรรคก้าวไกลที่ทั้งเปิดกว้างให้โอกาสกับคนใหม่ๆ รวมถึงมีอุดมการณ์ที่ชัดเจนจากผลงานที่ผ่านมาโดยตลอด จึงเป็นพรรคที่ดิฉันยึดถือและเชื่อมั่นที่จะร่วมงานด้วย

มีคําถามยอดฮิตที่ถูกถามตลอดว่าคือการอยู่ในปาร์ตี้ลิสต์ลำดับ 28 ของพรรคก้าวไกลนั้นดิฉันมีเส้นสาย หรือรู้จักใครในพรรคหรือไม่ ดิฉันก็ต้องบอกตรงๆ เลยว่าไม่ได้มีสายสัมพันธ์ใดๆ เลย เป็นเพียงประชาชนคนหนึ่งที่เข้ามาทำงานในพรรคโดยไม่รู้จักใคร เริ่มต้นจากยื่นใบสมัครทางเว็บไซต์ และผ่านการกลั่นกรองตามกระบวนการของพรรคหลายขั้นตอน ทั้งเขียนบทความ อัดคลิป และสัมภาษณ์กับทางพรรคจนกระทั่งมีโอกาสมาอยู่ตรงนี้


เด็กไปเรียนพิเศษเพื่อทำข้อสอบ ขณะที่ข้อสอบมีธงคำตอบที่ตายตัว-ติดกรอบความคิดเก่า สำหรับติวเตอร์ที่ต้องสอนให้เด็กไปกาข้อสอบเหล่านี้จะทำอย่างไรดี

ดิฉันเป็นติวเตอร์ได้เห็นข้อสอบผ่านตามาเยอะก็เห็นถึงพัฒนาการของข้อสอบที่ดีขึ้น โดยเฉพาะข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัย อย่างวิชาสังคมศาสตร์ แต่ก่อนข้อสอบออกมาแบบให้เลือกตอบได้หลายคำตอบ ให้ลังเลว่าจะตอบในมุมสมัยใหม่หรือมุมอนุรักษนิยม แต่ในระยะหลังข้อสอบแบบนี้น้อยลงไปอย่างชัดเจน เดาว่าคนออกข้อสอบน่าจะเห็นกระแสสังคมว่าจะออกข้อสอบแบบติดในกรอบความคิดเก่าๆ ไม่ได้แล้ว


เด็กไทยมีจำนวนชั่วโมงเรียนต่อวันเยอะมาก แต่ทำไมคุณภาพการศึกษาไทยกลับสวนทาง

ปัจจุบันมหาวิทยาลัยในไทยเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ทั้งภาคเอกชนและภาครัฐต่างแข่งขันกันเปิดขึ้นมาใหม่ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่บ้าปริญญาบัตร ปริญญาบัตรแปะข้างฝาบ้านเต็มไปหมด แต่ข้างในแก่นของการศึกษากลับกลวง

ในโลกที่สิ่งต่างๆ หมุนเปลี่ยนทุกวัน การศึกษาก็ต้องปรับตัวเองให้เท่าทันกับความรู้สมัยใหม่ มากกว่าเพียงการให้ความสําคัญกับใบปริญญาเท่านั้น เราจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิดคนไทยให้ได้ เพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้อย่างแท้จริง

สำหรับแนวคิดของดิฉันและพรรคก้าวไกล เราจำเป็นต้องส่งเสริม ไม่ใช่เพียงแค่กับการศึกษาในระบบระดับประถม มัธยมหรือมหาวิทยาลัยเท่านั้น แต่อนาคตเราจะต้องสามารถทําให้คนไทยทุกคนใฝ่การเรียนรู้ทั้งในและนอกห้องเรียน และสามารถเข้าถึงการเรียนรู้ได้ในทุกๆ ที่อย่างแท้จริง


แล้วมองว่าอะไรคืออุปสรรคสำคัญที่ขัดขวางการสอนในโรงเรียนให้มีคุณภาพ

ครูเป็นอาชีพที่มีงานเอกสารเยอะมาก งานเอกสารส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นเรื่องไร้สาระที่ไม่เกี่ยวกับการเรียนการสอนใดๆ เลย ดังนั้นการลดภาระงานเอกสาร คืนครูให้กลับมาอยู่ห้องเรียนจึงเป็นภารกิจของดิฉันกับพรรคก้าวไกลที่ต้องเร่งแก้ไข เพื่อให้ครูได้มีเวลาค้นคว้าหาความรู้ใหม่ๆ พัฒนาทักษะตัวเอง และใช้เวลาอยู่กับนักเรียนได้อย่างเต็มที่

ขณะเดียวกันเราก็ต้องยอมรับว่า ในปัจจุบันครูส่วนหนึ่งยังคงมีศักยภาพไม่เพียงพอ ไม่ได้ติดตามค้นคว้าองค์ความรู้ใหม่ๆ ให้เท่าทันโลก ในส่วนนี้จำเป็นต้องส่งเสริมและจัดอบรมให้กับคุณครู เพื่อเสริมสร้างทักษะในหลากหลายด้านเป็นระยะๆ

มากไปกว่านั้นสารตั้งต้นความล้มเหลวของการศึกษาไทยอย่างคณะครุศาสตร์ ซึ่งเป็นสถาบันการผลิตครูของไทยจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ได้แล้ว ภายใต้โลกที่ทุกอย่างก้าวหน้า เราไม่สามารถผลิตครูในรูปแบบเดิมๆ ที่ออกแบบการสอนได้แต่แบบทางเดียว เช่น พูดเป็นนกแก้ว นกขุนทองอยู่หน้าห้องคนเดียว โดยเด็กไม่มีส่วนร่วมใดๆ เลย แต่จำเป็นต้องสอนแบบเชิงรุก ทำให้เด็กมีส่วนร่วมโต้ตอบกับชั้นเรียนนั้นๆ ได้

แล้วยังมีเรื่องรายได้และสวัสดิการที่ต่ำของครู ตลอดจนศักดิ์ศรี มุมมองต่ออาชีพครูในสังคมไทยที่ยิ่งลดน้อยถอยลงไปกว่าเดิมในปัจจุบัน ทำให้เด็กเก่งและมีความสามารถก็ยิ่งถอยห่างออกจากสายครุศาสตร์


ในฐานะครูสอนสังคมศาสตร์ เราจะสอนเรื่องการเมืองอย่างไร ภายใต้ระบบการศึกษาไทยที่กลัวความเปลี่ยนแปลง

แม้ว่าการศึกษาของไทยมักจะติดอยู่กับชุดความคิดหรือทฤษฎีแบบเดิมๆ แต่โดยส่วนตัวดิฉันก็เลือกสอนตามกรอบทฤษฎีที่หลากหลายให้ครอบคลุมมากที่สุด  เช่น ในวิชาการเมืองการปกครองก็สอนตั้งแต่การเปรียบเทียบทฤษฎีประชาธิปไตยว่ามีรูปแบบใดบ้าง แล้วมันมีลักษณะเป็นอย่างไร ชวนคิดและตั้งคำถามถึงข้อดีข้อด้อยของแต่ละรูปแบบ ตลอดจนทฤษฎีเผด็จการว่ามีหน้าตาเป็นแบบใด

แม้ว่าดิฉันจะเชิดชูในคุณค่าเสรีประชาธิปไตยและเชื่อว่ามันเหมาะสมกับธรรมชาติของมนุษย์ในสังคมสมัยใหม่มากที่สุด แต่ในฐานะครูก็จำเป็นต้องสอนเนื้อหาที่หลากหลาย แม้ไม่เห็นด้วยกับมันก็ตาม เพราะสุดท้ายเชื่อว่าตัวนักเรียนเองก็มีวิจารณญาณมากพอที่จะตัดสินใจว่าจะเลือกเชื่อความคิดแบบไหนโดยตนเองได้

สำหรับความเชื่อของกลุ่มคนอนุรักษนิยมจำนวนหนึ่งที่ว่า ‘เด็กสมัยนี้โง่โดนหลอกง่าย’ การพูดเช่นนี้ ก็พูดกลับไปว่าคุณก็โง่เขลาเช่นกัน เพราะคุณก็ต่างโดนหลอกและโฆษณาชวนเชื่อด้วยชุดความรู้และอุดมการณ์แบบเก่า เพราะฉะนั้น หากมองในมุมดังกล่าวและเชื่อว่าก็โดนหลอกกันมาทั้งคู่ เรายิ่งควรให้แต่ละคนได้ใช้วิจารณญาณเลือกรับความเชื่อและอุดมการณ์ที่หลากหลาย และให้ความเคารพต่อการตัดสินใจซึ่งกันและกันด้วย


เราควรจะคุยเรื่องการเมืองในห้องเรียนได้ไหม หรือโรงเรียนควรจะเป็นพื้นที่ปลอดการเมือง

การเมืองอยู่ในทุกอณูของชีวิต เพราะมนุษย์เป็นสัตว์การเมืองที่หนีไม่พ้นจากอํานาจรัฐ เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่วินาทีที่เราทุกคนเกิดมา เราต่างต้องจดทะเบียนแจ้งเกิดเพื่อรับเลขบัตรประชาชน และรับสิทธิความเป็นพลเมืองของเรา

เฉกเช่นเดียวกับในรั้วโรงเรียน ดิฉันไม่เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งที่เราจะทำให้โรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดการเมือง ตรงกันข้ามด้วยซ้ำ เราควรจะสามารถถกเถียงแง่มุมทางการเมืองในทุกๆ วิชาได้ ตั้งแต่ วิชาสังคม ประวัติศาสตร์ ตลอดจนวิชาอย่างเลข ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ มันก็ถูกถกเรื่องความคิดทางการเมืองในศาสตร์เหล่านี้ได้

พื้นที่โรงเรียนในฝันของดิฉันควรเป็นพื้นที่เปิดกว้างในการถกเถียงกัน ทั้งคนที่มีความคิดอนุรักษนิยมและความคิดสมัยใหม่ แต่ในสภาพปัจจุบันกลุ่มคนอนุรักษนิยมและครูบางคนมักจะชอบพูดว่า “เด็กจะรู้ดีกว่าฉันได้ยังไง” ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงครูเองก็ย่อมสอนผิดพลาดได้หรือเป็นความรู้ที่ล้าสมัยไปแล้ว ซึ่งไม่ได้เอื้อต่อสภาพการเรียนรู้ที่ดี

จึงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลยที่นักเรียนจะมีหน้าที่เรียนอย่างเดียว แต่นักเรียนและเยาวชนทุกคนต้องไปยุ่งเกี่ยวกับการเมือง เพราะว่ามันคือบ้านเมืองที่เขาอาศัยอยู่ มันคือชีวิตในอนาคตของพวกเขา


แล้วเราจะสอบนิยามความเป็น ‘ชาติ’ อย่างไร ท่ามกลางความหมายของชาติที่ดูเหมือนจะแตกต่างกันในสังคมไทย

วิธีคิดของครูผู้สอนเป็นเรื่องสำคัญมากกว่าแบบเรียน แม้ว่าในระยะหลังแบบเรียนจะใส่เนื้อหาที่มีความอนุรักษนิยมน้อยลงกว่าอดีตแล้วก็จริง แต่ในขณะเดียวกันมันกลับมาในรูปแบบที่แนบเนียนขึ้น ซึ่งก็เห็นได้จากเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของคนจำนวนมากในสังคม

สำหรับบรรดาครูรุ่นใหม่ที่มีแนวความคิดสมัยใหม่ เขาก็จะสอนและอธิบายผ่านแบบเรียนเหล่านั้นได้หลากหลายแง่มุม เช่นตั้งคำถามว่าชาติคืออะไร ชาติกําหนดพฤติกรรมพลเมืองให้เป็นอย่างไร รวมถึงวิพากษ์ถึงชาติในแนวคิดใหม่ๆ ผ่านทฤษฎีที่หลากหลาย เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้และตัดสินใจเลือกที่จะเชื่อแบบใด

ในขณะที่ครูจำนวนหนึ่งที่ยังติดความคิดอยู่ในโลกทัศน์เก่าก็มักจะมีกรอบความคิดที่คับแคบ และชินชากับการใช้อํานาจนิยม โดยไม่เปิดให้มีการวิพากษ์และโต้แย้งได้ ครูเหล่านี้ก็ต้องยอมรับว่าก็ยังคงมีอยู่เช่นกัน ซึ่งทั้งนักเรียนและผู้ปกครองก็ต้องช่วยกันสอดส่องดูแล

ทางออกของเรื่องดังกล่าวก็คงหนีไม่พ้นเรื่อง ‘หลักสูตร’ ที่ต้องออกแบบให้เกิดการโต้เถียงโต้แย้งได้ รวมถึงเนื้อหาวิชาที่ทันสมัย โดยหากในอนาคตถึงเวลาที่จะต้องปรับถึงหลักสูตร ก็ต้องปรับการศึกษาไทยให้สู่ความเป็นสมัยใหม่ ตัวอย่างเช่น บทเรียนเรื่องศาสนาที่มักจะเน้นการท่องจำหลักธรรมเป็นหลัก อาจจะสามารถเปลี่ยนมาเป็นการเรียนศาสนาเปรียบเทียบหรือปรัชญาแทนได้


การศึกษานอกห้องเรียนบนโลกออนไลน์ดูเหมือนจะไปไกลและก้าวหน้ากว่าในห้องเรียนมาก แล้วห้องเรียนมีความสำคัญอย่างไรในยุคปัจจุบัน

วิชาการส่วนหนึ่งก็ยังจําเป็นต้องอยู่ในห้องเรียน โดยเฉพาะในการศึกษาขั้นพื้นฐาน แต่ในหลายวิชาก็ถึงเวลาที่ต้องปรับเปลี่ยนตัวเองได้แล้ว โดยพรรคก้าวไกลกําลังร่างหลักสูตรใหม่ ซึ่งดิฉันเชื่อว่าจะทําให้ห้องเรียนน่าเรียนขึ้นและตอบโจทย์สังคมสมัยใหม่ได้ดีมากขึ้น

นอกจากนี้คือเรื่องการศึกษาทางเลือก อย่างการศึกษาแบบโฮมสคูล (home school) ที่ความรู้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่เพียงในห้องเรียนแล้ว ในอนาคตเราจำเป็นต้องขจัดกฎหมายต่างๆ และจัดทํากลไกต่างๆ เพื่อเอื้อต่อผู้ปกครองและนักเรียนสามารถเข้าสู่การศึกษาทางเลือกได้ได้ง่ายและมีคุณภาพมากขึ้น


กฎกระทรวงศึกษาฯ ใหม่ว่าด้วยเรื่องการยกเลิกเรื่องระเบียบทรงผมนักเรียนที่ผ่านมา แนวโน้มมาถูกทางหรือยัง

ก็ถือได้ว่ามาถูกทางแล้ว แต่จำเป็นต้องปรับแก้อยู่พอสมควร จากกฎกระทรวงของคุณตรีนุช เทียนทอง (รัฐมนตรีว่าการศึกษาธิการ) ให้อำนาจกับสถานศึกษาสามารถใช้ดุลพินิจในการออกกฎเรื่องทรงผมเอง แต่สำหรับสังคมไทยแล้ว คำว่า ‘ดุลพินิจ’ ย่อมมีทั้งข้อดีและข้อเสีย

กฎหมายหรือกฎระเบียบใดในไทย ถ้ามีคำว่าดุลพินิจของผู้บริหารเมื่อไหร่ มันมักจะแย่เสียหมด เพราะผู้บริหารส่วนใหญ่มักจะมีแนวโน้มไปทางอํานาจนิยม ไม่รับฟังเสียงรอบข้าง โดยเฉพาะในรั้วโรงเรียน อย่างในกรณีประกาศยกเลิกทรงผมนักเรียน ก็มีหลายโรงเรียนที่รับฟังนักเรียน และจัดทำประชาพิจารณ์ในการออกกฎระเบียบ แต่ในอีกหลายโรงเรียนไม่เป็นเช่นนั้น กลับมีการลิดรอนสิทธิของเด็กโดยออกกฎระเบียบที่หนักขึ้นกว่าเดิม ทั้งลงโทษด้วยการกล้อนผม ซึ่งทำให้ปัญหากลับไปหนักกว่าอดีต


หลายคนมองว่าเด็กรุ่นใหม่มีความเปลี่ยนแปลงไปมาก การสอนเด็กรุ่นใหม่ยากไหม

ครูบางคนยังคงมีความคิดแบบอํานาจนิยมและมักจะลงโทษเด็กเมื่อพวกเขาไม่สนใจเรียน แต่กลับไม่รู้จักหากระบวนการในการกระตุ้นความสนใจให้กับเด็กในวิชาที่ตนสอน ดังนั้น คนที่บอกว่าเด็กสมัยนี้สอนยาก ก็คือคนที่คุณไม่เข้าใจและไม่รับฟังเด็ก

ในอนาคต เราต้องไปถึงจุดที่ให้นักเรียนสามารถประเมินครู ครูประเมินผู้อำนวยการได้ ซึ่งมันก็จะกลับมาให้ทุกคนในระบบการศึกษาตื่นตัวมากขึ้น โดยเฉพาะกับครูผู้สอนและตัวผู้บริหารที่จะหยุดพัฒนาตัวเองไม่ได้

ประโยคที่ว่าเด็กสมัยนี้สอนยาก ครูกับผู้บริหารคงต้องกลับมาย้อนดูตัวเองและรู้จักที่จะต้องปรับเปลี่ยนตัวเองให้ทันสมัย เพื่อจัดการเรียนรู้ที่มันสอดคล้องกับผู้เรียนในยุคนี้อย่างแท้จริง


จากการเป็นคนที่อยู่ในแวดวงการศึกษา เห็นปัญหาด้วยตัวเอง มีประเด็นการศึกษาเรื่องไหนที่อยากผลักดัน

ดิฉันกับพรรคก้าวไกลกําลังจัดทำนโยบายปฎิรูปการศึกษาไทย โดยแบ่งออกเป็นสามระยะด้วยกัน

ระยะเร่งด่วน ภารกิจใน 100 วันแรกหากเราได้เป็นรัฐบาลคือ ลดงานเอกสาร-งานธุรการของครู และคืนครูสู่ห้องเรียน ตามแผนนโยบาย 300 ข้อที่เราได้ประกาศไว้

ในระยะกลาง พรรคก้าวไกลกําลังร่าง พ.ร.บ. การศึกษาฉบับใหม่ ที่จำเป็นต้องใส่ความเป็นสมัยใหม่ในหลักสูตร และลดความแข็งตัวทางโครงสร้างการศึกษาไทยลง อย่างความเทอะทะของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเป็นสารตั้งต้นของการศึกษาไทย ต่อมาคือเรื่องหลักสูตร เราค่อนข้างเห็นด้วยกับหลักสูตรฐานสมรรถนะที่ร่างโดยกระทรวงศึกษาธิการ แล้วมีการทดลองนําใช้กับหลายโรงเรียน แต่ปัจจุบันถูกสั่งระงับเอาไว้ก่อนโดยรัฐบาลประยุทธ์ ดังนั้นหากเราเป็นรัฐบาลอาจจะมีการปรับบางส่วน โดยยึดจากหลักสูตรฐานสมรรถนะ เพื่อให้นักเรียนได้เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นและจัดการเรียนการสอนที่ประยุกต์เข้าความหลากหลายของนักเรียนได้

ในระยะยาว เราจะต้องทําให้การศึกษาไทยลดความเหลื่อมล้ำลง จากการลดเงินงบประมาณด้านความมั่นคง แบ่งมาเป็นงบทางด้านการศึกษาให้มากขึ้น รวมถึงปรับเปลี่ยนโครงสร้างของกระทรวงศึกษามีการกระจายอำนาจให้มากกว่านี้ อย่างในอนาคต โรงเรียนต้องมีอํานาจตัดสินใจภายในโรงเรียนตัวเอง ไม่ใช่ว่าต้องมารออนุมัติจากส่วนกลาง อีกทั้งงบประมาณนโยบายและโครงการต่างๆ ก็ต้องเปิดเผยสาธารณะ ชุมชนผู้ปกครองสามารถเข้ามาตรวจสอบได้

การกระจายอํานาจของพรรคก้าวไกล เป็นเรื่องที่ตั้งใจทำไม่ใช่แค่ในกระทรวงศึกษา แต่กับทุกๆ กระทรวงเลยเสียด้วยซ้ำ


หลายคนกังวลว่าเมื่อเปิดสภา ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับเก่าจะถูกนำกลับมา แล้วจะทำอย่างไรต่อดี

ถ้าเปิดสภาสมัยใหม่ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับรัฐบาลประยุทธ์ และ พ.ร.บ.การศึกษาที่พรรคเราร่างขึ้นมาใหม่จะถูกนำมาบรรจุวาระคู่กัน โดยเราอาจจะมาพิจารณาบางส่วน ข้อดีบางอย่างเราก็อาจเอามาใช้ปรับใช้ แต่ที่แน่ๆ ต้องบอกว่าคงจะพิจารณาร่างของเราเป็นหลัก

ถ้าให้พูดถึงเหตุผลที่เราหยิบเอา พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติฉบับรัฐบาลประยุทธ์มาใช้เลยไม่ได้ มีข้อวิจารณ์จำนวนมาก เรื่องใหญ่ๆ คือ พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวไม่ให้อํานาจกับผู้เรียน รวมถึงเป็นการศึกษาที่ขาดความหลากหลาย หลายมาตราออกไปในเชิงอํานาจนิยมหรือกึ่งถอยหลังลงคลองด้วยซ้ำ


กระทรวงศึกษาธิการเป็นหนึ่งในกระทรวงปราบเซียน หากก้าวไกลได้เป็นรัฐบาลจะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงในการศึกษาไทยได้จริงหรือ

ขอสื่อสารไปถึงครูทุกคนเลยว่า สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงมาถึงแล้ว เราจะยืนหยุดนิ่งให้ลมแห่งการเปลี่ยนแปลงพัดเราพังทลาย หรือจะโอนอ่อนของและปรับเปลี่ยนตามทิศทางลม

ดิฉันเชื่อมั่นว่าครูหลายท่านมีความหวังดีต่อการศึกษาไทย หากความคิดเห็นอะไรบางอย่างที่ท่านอาจจะไม่เห็นด้วยกับนโยบายของพรรคก้าวไกล เราสามารถมาพูดคุยกันได้ พรรคเรายินดีรับฟัง ถึงแม้พรรคจะยึดมั่นในอุดมการณ์และในนโยบายที่เราเสนอในการหาเสียง แต่เราก็อ่อนน้อมต่อประชาชน และอ่อนน้อมกับข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการและคุณครูทุกคน เพียงแต่ขอให้มั่นคงบนหลักการประชาธิปไตย เรายินดีที่จะรับฟังทุกภาคส่วนจริงๆ

เรามาจับมือร่วมกันผลักดัน เพื่อทําให้การศึกษาไทยพ้นจากหลุมดําเสียที

มองว่ารัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการคนต่อไปควรมีคุณสมบัติแบบใด

ไม่จําเป็นต้องเป็นครู อาจารย์มหาวิทยาลัย หรือคนในวงการการศึกษาก็ได้ จะเป็นใครก็ได้ที่เข้าใจในระบบการศึกษาอย่างแท้จริง รวมถึงเป็นคนที่มีหัวใจของนักปฏิวัติที่อยากเปลี่ยนแปลง เพื่อไม่ให้สุดท้ายจมหายไปกับระบบการศึกษาแบบเดิมๆ

นอกจากนี้ อยากให้มีใจแห่งความเป็นประชาธิปไตยด้วย เปิดกว้างรับฟังโดยเฉพาะกับนักเรียนให้มากๆ อันนี้เป็นสิ่งสําคัญที่ผู้ใหญ่ในวงการศึกษาไทยหลายสิบปีที่ผ่านมาไม่ค่อยฟังนักเรียน ทั้งๆ ที่หัวใจของการศึกษาคือต้องเป็นไปเพื่อนักเรียน


อยากฝากอะไรถึงนักเรียนไทยที่กำลังรอคอยความเปลี่ยนแปลง

พรรคก้าวไกลจะเข้ามาปักธงแห่งการเปลี่ยนแปลงและจุดไฟแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ไม่ใช่เพียงในด้านการศึกษาเท่านั้น แต่ต้องเกิดความเปลี่ยนแปลงกับสังคมไทยในทุกๆ มิติ

อยากให้นักเรียนทุกคนมีความหวัง เพียงแต่เราทุกคนต้องตั้งสติและระลึกไว้เสมอว่าการเปลี่ยนแปลงสังคมไม่ได้เกิดขึ้นโดยพลันฉับไว เพราะยิ่งตอนนี้เรากำลังอยู่ในหลุมดํามาหลายด้านหลายมิติที่ทับซ้อนกัน การจะพ้นจากหลุมดํา จึงอาจต้องค่อยๆ ตะกายขึ้นมาและอาศัยความร่วมมือกันของทุกภาคส่วน

สำหรับฝ่ายอนุรักษนิยมหรือคนรุ่นเก่า อยากให้เริ่มต้นรับฟังซึ่งกันและกัน เพราะการรับฟังและหาจุดร่วมกันเป็นหัวใจสําคัญมากของระบอบประชาธิปไตย คนรุ่นเก่าที่มีอุดมการณ์อนุรักษนิยมบางครั้งก็ต้องวางอีโก้ของท่านลงบ้าง เพราะหัวใจสําคัญประการหนึ่งของระบอบประชาธิปไตยนั้นก็คือการเปิดใจรับฟังซึ่งกันและกันและหาจุดร่วมท่ามกลางความแตกต่างหลากหลายในสังคม

ประเทศนี้เป็นของเราทุกคนและของคนทุกรุ่น ดิฉันใฝ่ฝันอยากให้รับฟังซึ่งกันและกัน ถึงเวลาแล้วที่เราต้องจับมือร่วมกันเพื่อทําให้ประเทศไทยก้าวพ้นจากหลุมดํานี้ไปด้วยกัน


ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ The101.world

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save