fbpx
‘Open Data’ กับการต่อต้านคอร์รัปชัน : ถอดบทเรียนจากฟิลิปปินส์ ไต้หวัน ถึงไทย

‘Open Data’ กับการต่อต้านคอร์รัปชัน : ถอดบทเรียนจากฟิลิปปินส์ ไต้หวัน ถึงไทย

พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล เรื่อง

Thailand Institute of Justice (TIJ) ภาพ

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

ในประเทศไทย ปัญหาเรื่องการคอร์รัปชันและความไม่โปร่งใสมีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เห็นได้จากดัชนีภาพลักษณ์การคอร์รัปชันในภาครัฐ ที่แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยถูกลดอันดับความโปร่งใสลงจากอันดับที่ 96 ในปี 2560 มาสู่อันดับที่ 99 ในปี 2561 ต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์หรือมาเลเซีย นอกจากนี้ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่าในแต่ละปี พ่อค้าและนักธุรกิจกว่า 80% ต้องสูญเสียเงินให้กับการคอร์รัปชันในประเทศไทยสูงถึงเกือบ 3 แสนล้านบาท

ช่วงหลายปีที่ผ่านมา เครื่องมือหนึ่งที่หลายประเทศนำมาใช้ในการตรวจหา ป้องกัน และต่อต้านการคอร์รัปชันในภาครัฐและเอกชน ก็คือการใช้ข้อมูลเปิด (open data) ซึ่งจะช่วยให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์สาธารณะ และช่วยกันตรวจสอบความผิดปกติหรือไม่ชอบมาพากลของข้อมูลเหล่านั้นได้

สำหรับประเทศไทยในปัจจุบัน ชุดข้อมูลเปิด (open dataset) นั้นถือว่าเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ตามกระแสของการเปลี่ยนแปลงทั่วโลก ทว่าการเข้าถึงชุดข้อมูลดังกล่าวยังเป็นเรื่องยากสำหรับประชาชนทั่วไป เนื่องจากข้อมูลเหล่านั้นกระจัดกระจายอยู่ตามเว็บไซต์และแหล่งข้อมูลบนโลกออนไลน์ และยังไม่มีการเก็บข้อมูลในมาตรฐานเดียวกัน ทำให้ไม่สามารถนำข้อมูลเหล่านั้นมาใช้งานได้จริง ขณะที่การนำข้อมูลเปิดมาใช้ตรวจหาและป้องกันการคอร์รัปชัน ก็ยังไม่เป็นที่แพร่หลายในประเทศไทยเช่นกัน

จากสถานการณ์ดังกล่าว สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ร่วมด้วย องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) สถาบันเชนจ์ฟิวชั่น และบริษัทโอเพ่นดรีม ได้ร่วมมือกันเพื่อริเริ่มสร้างฐานข้อมูล open data เพื่อการป้องกันการคอร์รัปชัน โดยจะรวบรวมข้อมูลจากแหล่งข้อมูลต่างๆ แล้วนำมาประมวลผล จัดระบบให้เป็นมาตรฐานและเชื่อมโยงกันได้

ข้อมูลดังกล่าวจะกลายเป็นข้อมูลตั้งต้นของฐานข้อมูล open data เพื่อการป้องกันคอร์รัปชันชุดแรกในประเทศไทย ที่มีการเชื่อมโยงข้อมูลจากหลากหลายแหล่งเข้าด้วยกัน ทำให้ผู้ใช้งานข้อมูลสามารถเชื่อมโยง วิเคราะห์ เพื่อตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชันได้อย่างสะดวก

เมื่อวันที่ 15 มิถุนายนที่ผ่านมา ได้มีการจัดงาน “Open Data for Anti-Corruption Workshop” ที่ TIJ โดยเป็นการสัมมนาเชิงปฏิบัติการซักฟอกข้อมูล ป้องกันคอร์รัปชัน เพื่อนำเสนอแนวทางปฏิบัติและแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากผู้ที่ใช้ open data ในการต่อต้านการคอร์รัปชันจากทั่วโลก

ต่อไปนี้คือเนื้อหาบางช่วงบางตอนที่ 101 เก็บความมาให้อ่านกัน

 

 

‘Open Contracting Data’ กรณีศึกษาจากฟิลิปปินส์

 

วิเวียน ซูเออร์เต คอร์เตซ (Vivien-Suerte Cortez) หัวหน้าฝ่ายพัฒนาโปรแกรม Open Contracting ประจำองค์กร Hivos ประเทศฟิลิปปินส์ ได้ให้เกียรติมาร่วมแลกเปลี่ยนในเรื่อง open contracting หรือข้อมูลสัญญาเปิดของภาครัฐ โดยดึงภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชัน

วิเวียนเล่าว่า เมื่อเราพูดถึง open contracting จะหมายถึงการเผยแพร่และการใช้ข้อมูลสัญญาที่เปิดเผยของรัฐ ดังนั้นมันจึงใกล้เคียงกับ open data ต่างกันตรงที่ open contracting จะไม่หยุดแค่ความโปร่งใสเท่านั้น แต่จะเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตรวจสอบความไม่ชอบมาพากลด้วย

“แน่นอนว่าเมื่อเราพูดถึงการจัดซื้อจัดจ้าง (Procurement) เราจะนึกถึงสัญญาการซื้อขายที่ใหญ่ที่สุดระหว่างรัฐกับเอกชน ที่มักตกเป็นเป้าสำหรับการคอร์รัปชันอย่างมาก ยิ่งการจัดซื้อจัดจ้างเข้าใจยากเท่าไหร่ และนโยบายต่างๆ อ่อนแอเพียงใด คอร์รัปชันก็จะยิ่งมากขึ้นเท่านั้น”

“เรามักจะได้ยินเรื่องการเข้าไปตรวจสอบว่างบประมาณของรัฐถูกใช้ไปอย่างฉลาดหรือเหมาะสมหรือไม่ แน่นอนว่าถ้างบถูกใช้อย่างมีประสิทธิภาพ การจัดซื้อจัดจ้างที่ดีจะนำไปสู่การพัฒนาที่ดีขึ้น ดังนั้น ในระยะการวางแผน คุณต้องเปิดให้ภาคประชาสังคมและประชาชนทั่วไปทราบว่าโครงการนั้นๆ จะดำเนินการอย่างไร จะประกวดราคา จะทำสัญญาอย่างไร และเมื่อทำไปแล้ว เราก็อยากให้ภาคประชาสังคมหรือใครสักคน สามารถตรวจสอบหรือมองออกว่าตึกของโรงเรียนนั้น ถนนเส้นนั้น ถูกสร้างตามคุณสมบัติและมาตรฐานที่ควรจะเป็นจริงหรือไม่”

“สรุปง่ายๆ ว่า open contracting เกี่ยวข้องกับการทำให้แน่ใจว่ารัฐจะได้ข้อเสนอที่ดีกว่า มีการโกงที่น้อยลง ตรวจสอบประสิทธิภาพของผู้รับเหมา แทนที่จะให้กับผู้รับเหมาที่ปฏิบัติได้ไม่ตรงตามมาตรฐาน” วิเวียนอธิบาย

อย่างไรก็ดี เธอเสริมการจะเข้าไปตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้าง ก็มีปัญหาที่ชวนให้ปวดหัวไม่น้อย โดยเฉพาะในแง่ของศัพท์เทคนิคและกระบวนการผลิตต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องเฉพาะทาง

“open contracting มีความซับซ้อน ในแง่ที่ว่าเราไม่ได้ใช้คุณสมบัติหรือศัพท์ทางเทคนิคกันในชีวิตประจำวัน พูดง่ายๆ คือเราไม่รู้ว่าประเภทของ ‘กระสุนปืน’ ที่รัฐต้องซื้อคืออะไร ไม่รู้ว่าสะพานแบบไหนที่จะต้องถูกสร้าง และไม่รู้ว่าพอสร้างเสร็จแล้ว จะมีรถบรรทุกประเภทไหน จำนวนเท่าไหร่ ที่จะต้องวิ่งผ่านสะพานบ้าง

“หากคุณลองถามคนที่อยู่นอกหน่วยงานรัฐ เขาจะไม่ทราบเลยว่ามีโครงการไหนอยู่ระหว่างกระบวนการไหน ตั้งแต่โครงสร้างพื้นฐาน การสร้างโรงเรียน โรงพยาบาล หรือแม้แต่ไฟบนถนน ดังนั้นสิ่งที่เราพยายามทำ คือการทำงานกับภาคประชาสังคม นักข่าว นักวิชาการ องค์กรภาคประชาสังคมในด้านเทคโนโลยี เพราะเราเห็นว่าพวกเขามีความสามารถพอ ไม่ใช่แค่สามารถแปลงข้อมูลมาได้ แต่ยังสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ เพราะโดยทั่วไปแล้ว ประชาชนอาจไม่รู้วิธีการขอข้อมูลจากรัฐ แต่คนกลุ่มนี้มีความสามารถที่จะเข้าถึงได้ ขณะเดียวกันก็สามารถแปลงข้อมูลให้นำไปใช้ต่อได้ง่าย”

อย่างไรก็ดี อีกอุปสรรคหนึ่งที่สำคัญ คือการทำให้ทุกภาคส่วนเข้าใจและเห็นถึงความสำคัญของ open data โดยเฉพาะในหน่วยงานของรัฐ รวมถึงภาคประชาสังคม

“ก่อนที่จะเริ่มต้นทำ open contracting data standard เราต้องเริ่มด้วยการเปลี่ยนวิธีการคิดของรัฐเกี่ยวกับ open contract รวมถึงให้ภาคประชาสังคมทำงานร่วมกับพวกเขา ไม่ใช่ว่าภาคประชาสังคมจะมาร่วมด้วยเพื่อจับผิด แต่เป็นส่วนหนึ่งของการพูดคุย ขณะเดียวกันในแง่ของการสร้างสภาพแวดล้อม กฎหมายนั้นสำคัญมาก เพราะถ้าไม่มีกฎหมาย มันจะเป็นเรื่องยากที่รัฐจะทำงานร่วมกับคุณ”

“พวกเรามีกฎหมายการปฏิรูปการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เป็นกฎหมายต่อต้านคอร์รัปชันในฟิลิปปินส์ แต่ขณะเดียวกันเราก็มีกฎหมายเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งรัฐเอามาใช้อ้างในการไม่เปิดเผยสัญญา โดยบอกว่ามีข้อมูลที่ระบุตัวตนอันเป็นส่วนบุคคลอยู่ ดังนั้นอีกปัจจัยที่สำคัญมากคือการที่คุณรู้จักกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือหาคนที่กล้าลุกขึ้นมาและสามารถเสี่ยงกับทุนทางการเมืองของตัวเองได้” วิเวียนอธิบาย ก่อนจะยกตัวอย่างปัญหาที่เธอพบเจอมาจากการทำงานจริง

“ในฟิลิปปินส์ สิ่งที่เราพยายามทำคือทำให้แน่ใจว่าข้อมูลพวกนั้นจะเปลี่ยนไปสู่ข้อมูลที่เครื่องคอมพิวเตอร์สามารถอ่านได้ (machine-readable) เพราะในแง่ของการสร้างขีดความสามารถของทั้งรัฐและภาคประชาสังคม มันยากมากที่จะพูดถึงเรื่อง open data รัฐอาจไม่นำมาใช้เพราะไม่เข้าใจ หรือภาคประชาสังคมเอง เมื่อพูดถึง open data ก็มักจะเข้าใจว่า ‘พูดถึงนวัตกรรม พูดถึงเว็บไซต์ใช่ไหม แต่มันมีสิ่งอื่นที่จำเป็นต้องทำมากกว่า’ ดังนั้นเราต้องทำให้พวกเขาเข้าใจว่า open data คืออะไร มันทำอะไรได้บ้าง และอะไรจะเป็นแรงผลักดันหรือความจำเป็นที่พวกเขาต้องสนับสนุนเรื่องนี้”

 

วิเวียน ซูเออร์เต คอร์เตซ (Vivien-Suerte Cortez) หัวหน้าฝ่ายพัฒนาโปรแกรม Open Contracting ประจำองค์กร Hivos ประเทศฟิลิปปินส์

 

ทั้งนี้ วิเวียนได้ยกตัวอย่างการใช้ข้อมูลสัญญาเปิด มาช่วยตรวจสอบความโปร่งใสในโครงการของรัฐ ซึ่งประเทศไทยน่าจะนำมาปรับใช้ได้

“ตัวอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นคือ บริษัทก่อสร้างซึ่งมีเจ้าของเป็นบิดาของสมาชิกวุฒิสภาคนหนึ่ง ใช้วิธีการที่น่าสนใจมาก จากการเป็นผู้รับเหมาในหลายโครงการในมินดาเนา สิ่งที่เกิดขึ้นคือ พวกเขาไม่ได้เข้าไปเป็นผู้รับเหมาหลัก แต่เป็นผู้รับเหมารอง (sub-contractor) ซึ่งกฎหมายไม่ได้บังคับให้ต้องเปิดเผยผู้รับเหมารอง แต่หากต้องการข้อมูลก็สามารถทำได้ เมื่อนักข่าวเชิงสืบสวนเห็นว่ามีหลายโครงการที่ไม่เสร็จตามเวลา และขุดลึกเข้าไปดู จึงพบข้อมูลดังกล่าวที่แสดงให้เห็นว่าบริษัทนี้ได้สัญญามามากมาย โดยที่พวกเขาเป็นผู้รับเหมารอง” วิเวียนกล่าว และเน้นย้ำว่า นี่คือความสำคัญของการเปิดเผยข้อมูล รวมถึงการที่เราสามารถเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้ เพื่อให้ผู้คนและนักข่าวสามารถติดตามและขุดลึกเข้าไปในสัญญาพวกนี้ และร่วมกันตรวจสอบได้

อีกเรื่องเกี่ยวกับการสอดส่องของประชาชน คือการตรวจสอบว่าโครงการนั้นๆ จะทำได้ตามกรอบเวลา หรือผู้รับเหมาจะดำเนินการอย่างที่ควรจะทำหรือสร้างหรือไม่ วิเวียนยกตัวอย่างที่แสดงให้เห็นข้อมูลทางภูมิศาสตร์ (geotag) ที่บอกว่าโครงการต่างๆ กำลังดำเนินอยู่ที่ไหนในฟิลิปปินส์

“จากการที่กรมโยธาธิการและทางหลวง (Department of Public Works and Highways) ไปซื้อป้ายโฆษณาขนาดใหญ่เพื่อประกาศว่าพวกเขาได้ทำโครงการเสร็จสิ้นไปทั้งหมดกี่โครงการแล้วในจังหวัดทางเหนือ แต่เรากลับพบว่าโครงการเหล่านั้นไม่ได้เกิดขึ้นจริงด้วยซ้ำ โดยตรวจสอบจากข้อมูลทางภูมิศาสตร์ที่เรามีอยู่ ประกอบกับมีสื่อออนไลน์ มันง่ายมากที่จะบอกว่าโครงการรัฐเหล่านั้นเกิดขึ้นจริงหรือไม่”

“นี่เป็นสิ่งสำคัญที่ประชาชนอยากตรวจสอบ เพราะเมื่อคุณดูข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้าง จะมีรายละเอียดต่างๆ ระบุไว้อยู่แล้ว คุณแค่เช็คดูว่าข้อมูลนั้นๆ เกี่ยวข้องกับโครงการหรือสัญญาอื่นๆ อย่างไร ราคาเหมือนกันหรือต่างกันหรือไม่ อย่างไร” วิเวียนอธิบาย และทิ้งท้ายว่า การใช้ข้อมูลเปิดแบบนี้ ไม่ใช่เรื่องราวของการที่ฝ่ายดีต่อสู้กับฝ่ายไม่ดี แต่เป็นเรื่องที่ว่า เราจะทำอย่างไรให้ธุรกิจ ภาคประชาสังคม และรัฐ ร่วมกันทำงานอย่างโปร่งใส มีประสิทธิภาพ ไม่ใช่เพื่อรัฐ แต่เพื่อประชาชนและผลประโยชน์ของประเทศ

 

Hacktivism’ กรณีศึกษาจากไต้หวัน

 

เชียไค หลิว (Chia-Kai Liu) นักวิเคราะห์ข้อมูล และผู้ก่อตั้งบริษัท DSP ประเทศไต้หวัน ได้ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับการสร้าง Ecosystem สำหรับ open data ที่ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยยกตัวอย่างของการพัฒนา open data ในไต้หวัน ซึ่งประสบทั้งปัญหาและบทเรียนที่น่าสนใจ เขาเปิดประเด็นด้วยการยกปัญหาในช่วงแรกของการนำ open data มาใช้ในไต้หวัน

“ข้อแรกคือเราไม่มี open data ข้อต่อมาคือเราไม่มีแม้แต่ข้อมูลด้วยซ้ำ เช่น บางเรื่องที่เราต้องการนำข้อมูลมาใช้ เรากลับพบว่ามันไม่มีข้อมูลเลยตั้งแต่แรก ข้อต่อมาคือข้อมูลบางอย่างมีอยู่ก็จริง แต่มีไม่มากพอที่จะนำไปทำอะไรต่อได้ และข้อสุดท้ายคือ เรายังขาดคนที่สามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้จริง”

ด้วยเหตุที่ว่ามา หลักการที่ไต้หวันนำมาใช้แก้ปัญหานี้ คือหลักการที่เรียกว่า ‘Hacktivism’ (Hack + Activism) หมายถึงการใช้เทคโนโลยีเพื่อผลักดันประเด็นทางการเมืองหรือการเปลี่ยนแปลงทางสังคม โดยหลิวได้ยกกรณีตัวอย่าง 3 กรณี ที่ได้ดำเนินการไปแล้ว และประสบผลที่น่าพอใจ

กรณีแรก คือการนำ open data ไปใช้ตรวจสอบธุรกรรมการเงินที่เกี่ยวข้องกับการรณรงค์ทางการเมือง โดยในไต้หวันนั้นจะมีกฎหมายที่กำหนดผู้สมัครที่จะลงสู่สนามเลือกตั้งใดๆ ต้องส่งบัญชีไปให้กรรมการการเลือกตั้งตรวจสอบ

“ปัญหาคือในอดีตที่ผ่านมา ข้อมูลทั้งหมดถูกเก็บไว้ในรูปแบบไฟล์ PDF และเป็น PDF ที่ไม่สามารถสืบค้นหรืออ่านแบบออนไลน์ได้ วิธีการเดียวที่จะดูข้อมูลนี้ได้คือ คุณต้องไปที่สำนักงานของคณะกรรมาธิการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อพิมพ์ไฟล์นี้ออกมาเท่านั้น”

จากกรณีดังกล่าว จุดประกายให้กลุ่มคนที่เชี่ยวชาญเรื่องเทคโนโลยี ได้รวมตัวกันไปที่ กกต. เพื่อพิมพ์เอกสารการเงินเหล่านี้ออกมาทั้งหมด จากนั้นก็แปลงไฟล์ภาพให้เป็นตัวอักษรในคอมพิวเตอร์ โดยใช้วิธี Optical Character Recognition (OCR) เพื่อให้ข้อมูลทั้งหมดสามารถถูกอ่านได้โดยคอมพิวเตอร์ (machine-readable) ทั้งนี้ สิ่งที่น่าสนใจคือ พวกเขามีวิธีจัดการกับเอกสารจำนวนมหาศาลขนาดนั้นอย่างไร

“พวกเขาปล่อยไฟล์​ PDF ของเอกสารเหล่านั้นออกมา และใช้วิธีการ ‘แบ่งแยกและเอาชนะ’ (divide and conquer) พูดง่ายๆ คือแบ่งงานกันไปทำ ผลปรากฏว่าใน 24 ชั่วโมง มีผู้คนเข้ามาช่วยกันจัดการข้อมูลเหล่านี้ จนในที่สุดได้ออกมาเป็นชุดข้อมูลราวๆ 300,000 ชุด หลังจากนั้นพวกเขาก็เผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวในรูปแบบที่มีโครงสร้างชัดเจน”

หลิวเสริมว่า หลังจากการทำงานดังกล่าวประสบผลสำเร็จในปี 2014 วิธีการแบบนี้ก็เริ่มกลายเป็นเรื่องปกติที่ทำกัน มีสื่อต่างๆ นำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ ทำเป็นรายงานเชิงลึกด้านการเงินที่เกี่ยวข้องกับการรณรงค์ต่างๆ

“ส่วนที่ดีที่สุดคือ การที่สุดท้ายแล้วรัฐบาลเล็งเห็นคุณค่าของข้อมูลทางการเงินดังกล่าว และให้การรับรองการใช้ข้อมูลเปิดในรูปแบบ machine-readable”

สำหรับกรณีที่สอง เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน โดยหลิวได้ยกตัวอย่างการร่างกฎหมายที่ประชาชนมีส่วนร่วมผ่านกระบวนการ crowdsourcing

“เราปล่อยร่างกฎหมายออกมา และให้ทุกคนขับเคลื่อนกฎหมายนี้ไปด้วยกันโดยใช้วิธี crowdsourcing ซึ่งทุกคนสามารถลบ เขียนใหม่ ทบทวนร่วมกันได้ และสุดท้ายก็ส่งไปที่ฝ่ายกฎหมายเพื่อแก้ไขการใช้ถ้อยคำถูกต้องตามหลัก จนสุดท้ายข้อบังคับที่ว่านี้ก็นำออกมาใช้ในปี 2017” หลิวกล่าว และเสริมว่า รัฐบาลใหม่ยังได้ตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ขึ้นมาโดยเฉพาะ เพื่อตรวจสอบการใช้เงินของรัฐบาลชุดก่อน คือรัฐบาลพรรคก๊กมินตั๋ง (พรรคชาตินิยมหรือ KMT) ซึ่งมีความเกี่ยวโยงกับบริษัทยักษ์ใหญ่หลายบริษัท โดยใช้ open data ในการหาความเชื่อมโยงและความไม่ชอบมาพากลได้

“ในไต้หวัน การจดทะเบียนก็เป็น open data เช่นกัน ผู้คนสามารถเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทต่างๆ ได้ คุณสามารถเชื่อมโยงสมาชิกทุกคนในโฮลดิ้งได้ และเมื่อนำข้อมูลมาประมวลผล จะสามารถเห็นได้เลยว่าโบรกเกอร์ใดในเครือข่ายที่ทรงพลังที่สุดในระบบ”

กรณีสุดท้าย เป็นเรื่องเกี่ยวกับมลพิษทางอากาศ ซึ่งเป็นปัญหาที่คล้ายคลึงกับประเทศไทย ทั้งนี้ ในไต้หวันจะมีสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศตามจุดต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งมีความแม่นยำมาก และเครื่องตรวจวัดเหล่านี้กระจายอยู่ในระดับอุตสาหกรรม ทั้งหมดหนึ่งพันกว่าเครื่อง

“ปัญหาคือเครื่องตรวจที่ว่านี้ ทำได้แค่ส่งข้อมูลค่าเฉลี่ยในแต่ละชั่วโมง ไม่ใช่ข้อมูลแบบเรียลไทม์ หมายความว่าถ้าเกิดอะไรขึ้นภายใน 5 นาทีนี้ คุณจะไม่มีทางรู้เลย

“ดังนั้น ประชาชนจึงต้องมีกล่องตรวจวัดอากาศ ขนาดเล็กพกพาได้ เป็นเกรดสำหรับผู้บริโภค เพื่อติดตั้งในบ้าน ออฟฟิศ หรือแม้แต่ในฟาร์ม ตอนนี้มีราวๆ 6,000 จุดแล้วในไต้หวัน อย่างเมื่อปีที่แล้ว มีเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงาน คุณสามารถติดตามการเคลื่อนไหวของควันโดยละเอียดได้ทันที”

จากกรณีดังกล่าว หลิวสะท้อนให้ฟังว่า บางครั้งรัฐมีข้อมูลอยู่ในมือก็จริง แต่ข้อมูลนั้นไม่เพียงพอ หรือกระจัดกระจาย วิธีการแก้ปัญหาก็คือการเชื่อมโยงข้อมูลทั้งหมดเข้าด้วยกัน

“แต่ถ้าคุณพบว่าข้อมูลที่ต้องการ ยังไม่มีชุดข้อมูลเปิดหรือ open data ก็ต้องทำให้มีข้อมูลให้ได้” หลิวกล่าว และทิ้งท้ายด้วยการแนะแนวทางในการผลักดันเรื่องนี้ในประเทศไทยว่า ประเทศไทยควรเน้นการทำงานร่วมกันเป็นหลัก เพื่อที่จะสร้างเครือข่ายจากผู้มีส่วนได้เสียหลายกลุ่ม เพื่อที่จะมีกำลังความสามารถในการทำงานในประเด็นสังคมได้จริงๆ

“คำแนะนำของผมสำหรับประเทศไทยคือ เราควรทำงานอยู่บนฐานของการร่วมมือ ไม่ใช่การเผชิญหน้า”

 


(ซ้าย) เชียไค หลิว (Chia-Kai Liu) นักวิเคราะห์ข้อมูล และผู้ก่อตั้งบริษัท DSP ประเทศไต้หวัน | (กลาง) สายใจ เลี้ยงพันธุ์สกุล Senior Tech for Change Manager จาก ‘Phandeeyar’ องค์กรด้านเทคโนโลยีในประเทศเมียนมา

 

Open Data ไม่ใช่ยาวิเศษ

 

สายใจ เลี้ยงพันธุ์สกุล Senior Tech for Change Manager จาก ‘Phandeeyar’ องค์กรด้านเทคโนโลยีในประเทศเมียนมา มาบอกเล่ามุมมองว่าจะทำอย่างไรให้สามารถนำ open data ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้จริง

“เท่าที่ฟังมา หลายคนอาจรู้สึกว่า open data เป็นเหมือนสิ่งมหัศจรรย์ เป็นเวทมนตร์ แก้ปัญหาทุกอย่างได้ แต่โดยส่วนตัวมองว่า ลำพังแค่ open data อย่างเดียวนั้นไม่พอ” สายใจกล่าว และขยายความว่า open data เป็นพื้นฐานของความโปร่งใส แต่ไม่ใช่สิ่งที่จะช่วยให้เกิดความโปร่งใสในตัวมันเอง

“แน่นอนว่า อุดมคติที่ทุกคนอยากเห็น ก็คือการใช้ open data เพื่อสร้างความโปร่งใส และหวังว่าความโปร่งใสนั้นจะนำไปสู่การต่อต้านคอร์รัปชัน แต่ในความเป็นจริง โมเดลที่ว่านี้ยังมีช่องโหว่อยู่มากมาย ดังที่วิทยากรท่านอื่นได้พูดไปบ้างแล้ว เช่น ไม่มีข้อมูล หรือบางครั้งเมื่อมีข้อมูลออกมาแล้ว แต่คนไม่เชื่อถือข้อมูลนั้น ไปจนถึงขึ้นที่ว่า มีข้อมูลแล้ว และเป็นข้อมูลที่เชื่อถือได้ แต่ไม่มีคนที่มีความรู้เพียงพอจะสามารถนำข้อมูลนั้นไปใช้ได้”

ดังนั้น สิ่งที่รัฐและหน่วยงานต่างๆ ควรตระหนักไว้ก็คือ ลำพังแค่การเปิดข้อมูล ไม่ได้แปลว่าความโปร่งใสจะตามมาทันที คำถามต่อมาคือว่า แล้วจะทำอย่างไรเพื่อให้ open data นำไปสู่ความโปร่งใสได้

สายใจเปรียบเทียบว่า open data ก็เหมือนระบบนิเวศ หมายความว่ามีหลายสิ่งที่เกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน เพื่อทำให้ระบบนิเวศนั้นคงอยู่ได้ พร้อมชี้ประเด็นว่า ในปัจจุบัน เชื่อว่ามีคนจำนวนน้อยมากที่เคยเข้าไปดูหรือสืบค้นข้อมูลต่างๆ ในเว็บไซต์ของรัฐบาลหรือหน่วยงานรัฐ โดยเธอมองว่า ปัจจัยแรกที่จะทำให้ open data ใช้การได้ คือการคำนึงถึงความต้องการของประชาชน ไม่ใช่คำนึงถึงแต่ความต้องการของเราว่าจะต้องเปิดข้อมูล

“เวลาจะทำ open data ทุกคนมักจะคิดแต่ว่า ฉันต้องเปิดข้อมูล ฉันต้องทำ data portal แต่จากประสบการณ์ในเมียนมา เราพบว่าแม้จะเปิดเผยข้อมูลออกมาแล้ว ทำแพลตฟอร์มแล้ว แต่กลับไม่มีคนเข้าไปดู ด้วยเหตุนี้ เราจึงคิดต่อไปว่า แค่การมี data portal อย่างเดียวนั้นไม่พอ ต้องมีอย่างอื่นด้วย”

สายใจเล่าต่อว่า จากปัญหาดังกล่าว จึงทำให้เกิดเป็นโปรเจ็กต์ ‘Myanmar data tada’ (tada แปลว่า สะพาน) โดยเริ่มจากการไปคุยกับหน่วยงานรัฐต่างๆ ว่ามีปัญหาอะไรบ้าง จากนั้นจึงไปค้นหาว่ามีข้อมูลอะไรบ้างที่มีอยู่แล้ว แล้วก็ให้ data scientist เข้าไปทำงานกับหน่วยงานหรือองค์กรนั้นเพื่อช่วยแก้ไขปัญหา

“ที่ต้องทำแบบนี้ เพราะเรารู้ว่า การจะรอให้รัฐบาลมาแก้ปัญหาเหล่านี้ด้วยตัวเอง มันเป็นไปไม่ได้ เพราะเขาขาดทรัพยากรคน ขาดองค์ความรู้ เราจึงส่งคนของเราเข้าไปทำงานกับรัฐบาลโดยตรง”

นอกจากปัจจัยที่ว่ามา สายใจยังชี้ว่ามีปัจจัยอื่นๆ อีก เช่น ข้อมูลที่เปิดออกมา ต้องเป็นข้อมูลที่คนอยากได้ ไม่ใช่ว่าเปิดข้อมูลที่คนไม่สนใจหรือไม่มีความสำคัญ รวมถึงต้องเพิ่มความรู้และศักยภาพในการใช้ข้อมูลของประชาชนด้วย

“สิ่งที่เราทำในประเทศเมียนมา คือการจัดเวิร์คช็อปให้คนในหน่วยงานรัฐได้มาเรียนรู้การจัดการข้อมูลต่างๆ รวมถึงการจัด Hackathon เพื่อสร้างความตื่นตัวและดึงให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจการใช้ data” สายใจกล่าว และทิ้งท้ายว่าการทำผลักดันเรื่อง open data ให้สำเร็จได้ ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างหลากหลายหน่วยงาน ตั้งแต่รัฐบาล ภาคเอกชน สื่อมวลชน เอ็นจีโอ รวมถึงภาคประชาชน

“Open data ไม่ใช่หน้าที่ของรัฐบาลอย่างเดียว แต่เป็นหน้าที่ของทุกคนที่ต้องร่วมมือกันให้เกิดขึ้น”

 

ในส่วนของประเทศไทยนั้น สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ร่วมกับภาคีเครือข่าย ได้จัดกิจกรรมเชิงปฏิบัติการ ‘Datathon : Organizing Data for Anti-Corruption’ ในวันที่ 6 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยเปิดกว้างให้ประชาชนที่มีความสนใจ รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านข้อมูล และตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐ มาช่วยกันจัดระเบียบข้อมูลของหน่วยงานรัฐ โดยกิจกรรมครั้งแรกที่จัดจะเริ่มจากการอ่านข้อมูลการชี้มูลความผิด ปปช. และคำพิพากษาของศาลฎีกาคดีทุจริตของเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยจำแนกชื่อคน ชื่อองค์กร ความผิด และความสัมพันธ์ระหว่างคนกับองค์กร เพื่อให้มีการจำแนกข้อมูลอย่างเป็นระบบ มีมาตรฐานในการจัดเก็บข้อมูล เพื่อนำไปต่อยอดสร้างระบบเชื่อมโยงข้อมูลชุดอื่นๆ เช่น ข้อมูลบริษัทและรายชื่อกรรมการ ข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้าง และแปลข้อมูลออกมาเป็นภาพ เพื่อใช้สำหรับตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชันโดยภาคประชาชนและสื่อต่อไป

สำหรับการสร้างฐานข้อมูลในระยะยาว ต้องมีการรวบรวมและจัดระบบข้อมูลทั้งหมด 5 ด้านด้วยกัน ได้แก่ 1) ข้อมูลบริษัทและรายชื่อกรรมการ 2) ข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ 3) ข้อมูลผู้ทิ้งงานภาครัฐ 4) คำตัดสินศาลฎีกา สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) และ 5) ข่าวเกี่ยวกับการทุจริต โดยเมื่อมีการรวบรวมข้อมูลครบทั้ง 5 ด้านแล้ว ข้อมูลทั้งหมดจะถูกนำมาประมวลและจัดระบบให้เชื่อมโยงกัน เพื่อสร้างฐานข้อมูล open data เพื่อการป้องกันคอร์รัปชันชุดแรกของประเทศไทย

 

ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) (TIJ) และ The101.world

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save