fbpx

ความลับบนขอบที่ราบสูง: ร่องรอยเสียงทวารวดีในเรื่องเล่าของชาวญัฮกุร

1

บนแนวเทือกเขาพังเหย สันเขาที่ทอดยาวล้อไปกับขอบแผ่นดินที่ราบสูงในจังหวัดชัยภูมิ มีกลุ่มคนที่ยังพูดภาษามอญโบราณดำรงอยู่ – ภาษาเดียวกับที่ปรากฏอยู่ในจารึกสมัยทวารวดีเมื่อประมาณ 1,500 ปีมาแล้ว พวกเขาคือชาวญัฮกุร ชื่อที่มีความหมายว่า ‘คนภูเขา’

บริเวณรอยต่อระหว่างภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีเทือกเขาทอดตัวต่อเนื่องลงจากทิศเหนือมาทางทิศใต้ ไล่เรียงตั้งแต่เทือกเขาเพชรบูรณ์ เทือกเขาดงพญาเย็น และเทือกเขาสันกำแพง แม้ปัจจุบันเทือกเขาเหล่านี้จะถูกใช้เป็นตัวแบ่งเขตแดน แต่ในอดีต เส้นทางผ่านช่องเขาเหล่านี้เป็นเส้นการเดินทางของคนโบราณที่มีไว้เพื่อการค้าและหาของป่า

เราขับรถจากกรุงเทพมหานคร ศูนย์กลางของประเทศไทยในปัจจุบัน เพื่อมุ่งสู่อำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ อำเภอที่ติดต่อกับสามจังหวัดคือ นครราชสีมา ลพบุรี และเพชรบูรณ์ หากมองตามแผนที่ประเทศไทย อำเภอเทพสถิตตั้งอยู่ตรงกลางใบขวานแทบจะพอดิบพอดี เป็นพื้นที่เชื่อมต่อของศูนย์กลางอารยธรรมหลายเมืองในอดีต และพื้นที่แห่งนี้เองคืออำเภอที่มีชาวญัฮกุรอาศัยอยู่มากที่สุด

แดดเที่ยงรอต้อนรับเราอยู่ที่คลองลำคันฉู ต.บ้านไร่ อ.เทพสถิต แต่เพราะสายน้ำที่ไหลแรงและร่มไม้ที่โค้งคลุมน้ำทำให้อากาศไม่โหดร้ายเกินไปนัก

เสียงเพลงรำปะเรเรดังผ่านลำโพงตรงลานโขดหิน มีเด็กสาวรำกันอย่างพร้อมเพรียงอยู่บนนั้น ส่วนเด็กเล็กลงเล่นน้ำ บางส่วนเดินบนไม้โถกเถกแข่งกันอยู่ใกล้ๆ ลาน อีกมุมหนึ่งมีคุณยายนั่งทอดขนมลิ้นหมา หรือที่ชาวญัฮกุรเรียกว่า ‘ฮึตากชุร’ พร้อมเสิร์ฟร้อนๆ

ภาพตรงหน้าเป็นส่วนหนึ่งของการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่คนในชุมชนร่วมออกแบบ ด้วยหวังว่าจะเป็นการรักษาและเผยแพร่วัฒนธรรมเฉพาะกลุ่มไปสู่คนนอกให้มากขึ้น และสิ่งสำคัญคือทำให้เด็กรุ่นใหม่มาทำความเข้าใจรากของตัวเองยิ่งขึ้นด้วย – รากที่ว่าไม่ใช่เพียงการร่ายรำหรืออาหารเท่านั้น แต่สิ่งสำคัญคือภาษาญัฮกุรที่มีคนพูดน้อยลงทุกวัน การส่งต่อให้คนรุ่นหลังจึงสำคัญ

ชุมชนบ้านไร่แห่งนี้คือหนึ่งในหมู่บ้านที่ยังมีการใช้ภาษาญัฮกุรกันอยู่มาก หากนับเฉพาะหมู่ 11 มีประชากรชาวญัฮกุรประมาณ 100 หลังคาเรือน จากหมู่บ้านที่มีคนอาศัยอยู่ประมาณ 300 หลังคาเรือน พวกเขาใช้ภาษาญัฮกุรเฉพาะกลุ่มคนญัฮกุรด้วยกันเอง โดยใช้ภาษาไทยถิ่นโคราชและไทยถิ่นอีสานในชีวิตประจำวันเมื่อต้องสื่อสารกับคนอื่นๆ ในพื้นที่

จากการสำรวจของโครงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย (KPEMIC) ในช่วงปี 2559-2560 พบว่ามีชาวญัฮกุรกระจายตัวอยู่ในชุมชนต่างๆ ทั้งหมด 27 ชุมชน รวมประชากรทั้งสิ้น 4,837 คน ปัจจุบันหมู่บ้านที่ยังมีการใช้ภาษาญัฮกุรกันมากที่สุด กระจายตัวอยู่ที่สามหมู่บ้าน คือ บ้านไร่ บ้านวังอ้ายคง และบ้านวังอ้ายโพธิ์ แต่นอกจากอำเภอเทพสถิตแล้ว ยังมีอีกสามอำเภอของชัยภูมิที่มีชาวญัฮกุรอาศัยอยู่ คือ บ้านเขว้า ซับใหญ่ และหนองบัวระเหว รวมไปถึงบางพื้นที่ในนครราชสีมาและเพชรบูรณ์ด้วย พื้นที่ทั้งหมดนี้อยู่ในเขตภูเขา ซึ่งลักษณะภูมิศาสตร์แบบนี้สอดคล้องกับวิถีการดำรงชีวิตแบบดั้งเดิมของชาวญัฮกุรที่ใช้ชีวิตแบบหาของป่าล่าสัตว์

“ญัฮกุรแปลว่าคนที่อาศัยอยู่บนภูเขา แต่ก็ไม่ใช่เขาสูงสุดนะ อยู่ระหว่างกลางของภูเขา” พนม จิตร์จำนงค์ ชาวญัฮกุร ปราชญ์ชุมชนบ้านไร่ เล่าถึงรากของชาวญัฮกุรให้เราฟัง เขานั่งอยู่บนเปลผ้าตรงใต้ถุนบ้านที่ลมพัดโกรก หลังเพิ่งกลับมาจากการนำท่องเที่ยวชุมชนเชิงอนุรักษ์

“สมัยก่อนชาวญัฮกุรมีภาษาและวัฒนธรรมที่แข็งแรง เนื่องจากอยู่กันเฉพาะในกลุ่ม” เขาเล่าต่อ

วัฒนธรรมที่ว่านั้นยังสะท้อนผ่านที่อยู่อาศัยของชาวญัฮกุรด้วย แม้จะมีการเปลี่ยนรูปแบบบ้านให้เข้ากับสมัยนิยมอยู่บ้าง แต่ยังมีบ้านไม้แบบชาวญัฮกุรที่ยังหลงเหลืออยู่ให้เห็น บ้านไม้ยกพื้นใต้ถุนสูง ด้านล่างเปิดโล่ง ด้านบนปะผนังข้างด้วยไม้แผ่นตีทึบ ปราศจากหน้าต่าง บ้านหลายหลังตั้งอยู่ในรั้วเดียวกันและใช้ผักสวนครัวร่วมกัน ใต้ถุนบ้านมีรถไถจอดอยู่ ซึ่งสะท้อนรูปแบบชีวิตที่ทำเกษตรกรรม

พนม จิตร์จำนงค์ ชาวญัฮกุร ปราชญ์ชุมชนบ้านไร่ อ.เทพสถิต จ.ชัยภูมิ

หากสืบสาวไปถึงจุดตั้งต้นของหมู่บ้าน พนมเล่าว่าชุมชนบ้านไร่ที่เขาอาศัยอยู่ ชาวญัฮกุรอยู่กันมาเป็นรุ่นที่สาม หมู่บ้านแห่งนี้มีอายุเกิน 70 ปี “คนรุ่นทวดอยู่มาตั้งแต่สมัยที่นี่ยังไม่ตั้งเป็นอำเภอเทพสถิต บัตรประชาชนเขียนว่าอยู่ในตำบลบ้านนายางกลัก อำเภอบำเหน็จณรงค์” พนมย้อนอดีตให้ฟัง

“ตายายเล่าว่าคนญัฮกุรอยู่แถบเทือกเขาพังเหย มีการเรียกแต่ละพื้นที่บนเขาลูกนี้ต่างกันไป เช่น เขาช่องชิด ช่องโกงกาง ช่องพริก เขาเรียกตามต้นไม้และก้อนหินที่เป็นสัญลักษณ์ เราอยู่แถบนี้ไปจนถึงอุทยานป่าหินงาม” เขาเล่าพลางชี้มือไปยังทิศของป่าหินงาม ซึ่งเป็นต้นทางของคลองลำคันฉู พนมขยายความต่อว่าจากที่ทวดเล่าให้ฟัง ชาวญัฮกุรน่าจะอพยพจากช่องตับเต่า (ปัจจุบันคือบ้านโนนสวรรค์ อยู่ใกล้ป่าหินงาม) มาอยู่ที่บ้านไร่เนื่องจากสาเหตุของโรคระบาด

นอกจากนี้ พนมยังเล่าย้อนให้ฟังถึงการหาของป่าในยุคก่อนของคนญัฮกุร เช่น น้ำผึ้ง ยาสมุนไพรพื้นบ้าน พนมย้ำว่า “ที่ขาดไม่ได้คือไต้ที่ทำมาจากน้ำมันยาง คนญัฮกุรจะเอาไต้ไปแลกเกลือที่บำเหน็จณรงค์ เพราะที่บำเหน็จณรงค์ต้มเกลือแบบโบราณ”

โรคระบาดทำให้ชาวญัฮกุรเลือกที่จะอพยพลงมาสู่ที่ราบมากขึ้น และหันจากการหาของป่าล่าสัตว์มาเป็นการทำไร่นา ซึ่งในยุคก่อนหน้า ชาวญัฮกุรนิยมทำไร่หมุนเวียน ปลูกพืชหลายชนิด

“ในไร่มีทั้งข้าว กล้วย อ้อย เผือก มัน ครบอยู่ในนั้นเลย แม้แต่ดอกไม้ก็ปลูกด้วย เพราะชาวญัฮกุรเชื่อว่าพระแม่โพสพจะดูแลพืชพันธุ์ให้ ซึ่งดอกไม้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้อากาศสดชื่น” พนมขยายความ

แม้ปัจจุบันชาวญัฮกุรจะมีวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปมาก หันไปปลูกพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยวเป็นหลัก เช่น สำปะหลัง อ้อย ฯลฯ เริ่มมีรถไถและอุปกรณ์การเกษตรทันสมัยเข้ามาช่วยให้ทำการเกษตรขนาดใหญ่ได้มากขึ้น แต่หลักคิดของคนยุคก่อนก็ยังถูกสอนและสั่งสมมาอย่างต่อเนื่อง

“ในยุคของทวด เวลาเขาจะทำไร่หรือถางป่า เขาต้องขอเจ้าป่าเจ้าเขาก่อน” พนมเล่า ก่อนลงรายละเอียดให้ฟังว่าชาวญัฮกุรขอเจ้าป่าเจ้าเขาโดยเลือกพื้นที่ที่ต้องการถาง แล้วขอเจ้าป่าเจ้าเขาว่าถ้าสามารถถางป่าตรงนี้ได้ ขอให้กลับบ้านไปแล้วนอนฝันดี “ถ้ากลับไปแล้วฝันว่าได้เนื้อได้ปลา แปลว่าตรงนั้นทำไร่ได้” เขาอธิบายให้เห็นภาพ

เมื่อผ่านขั้นตอนแรก ชาวญัฮกุรจะเริ่มฟันต้นไม้เล็กๆ บริเวณนั้นค้างไว้ และโค่นต้นไม้ใหญ่ครั้งเดียวเพื่อให้ล้มกระทบต้นไม้อื่นเป็นโดมิโน “ล้มสุดแค่ไหน เขาก็เอาแค่นั้น” พนมบอก

การล่าสัตว์ของชาวญัฮกุรเองก็มีวิธีคิดเดียวกัน คือเมื่อบอกเจ้าป่าเจ้าเขาว่าอยากล่าสัตว์อะไร ก็ต้องมุ่งเอาสัตว์ชนิดนั้นอย่างเดียว หากได้แล้วก็ไม่ล่าสัตว์ตัวอื่นอีก

“ในปัจจุบันคนญัฮกุรก็ยังถือสิ่งนี้อยู่ เช่น ถ้าเข้าป่า ก็จะขอให้เจ้าป่าเจ้าเขาคุ้มครอง ถ้าไปเอาปลา ก็เอาแต่ปลา ไม่เอาอย่างอื่น” หลังจบประโยค เสียงรถไถที่เพิ่งกลับจากไร่นาดังมาตามถนนเส้นเล็กในหมู่บ้าน

2

เมื่อแดดบ่ายเริ่มลามเลียเข้ามาตรงใต้ถุนบ้าน พนมขับรถนำเราไปที่บ้านอีกหลัง เพื่อพาไปดูหนังสือสอนภาษาญัฮกุรและสื่อการสอนภาษาสำหรับเด็ก ซึ่งได้โครงการบันทึกรวบรวม เพื่อการสงวนรักษาภาษาและภูมิปัญญาท้องถิ่นของกลุ่มชาติพันธุ์ เข้ามาร่วมทำงานกับปราชญ์ชาวบ้านทั้งหมด 16 หมู่บ้าน เพื่อสร้างรูปแบบการเขียนภาษาญัฮกุรขึ้นมา จากแต่เดิมที่มีเพียงภาษาพูดเท่านั้น

ภาษาญัฮกุรอยู่ในภาษาตระกูลออสโตรเอเชียติก สาขามอญ-เขมร สาขาย่อยโมนิก นักภาษาศาสตร์ระบุว่าเป็นภาษาเดียวกับภาษามอญโบราณที่ปรากฏอยู่ในจารึกสมัยทวารวดีเมื่อประมาณ 1,500 ปีมาแล้ว เขายกตัวอย่างภาษาญัฮกุรเทียบกับภาษามอญปัจจุบันให้ฟังว่า “คำว่า ‘กินข้าว’ มอญพูดว่า ‘เจี๊ยะเปิง’ ญัฮกุรพูดว่า ‘จาʔโปง’” (ʔ = ลงเสียงหนัก)

ขณะที่การนับเลข ก็มีความคล้ายคลึงกัน เช่น

ญัฮกุร – มวย่ บาร ปีʔ ปัน (อ่านว่า มวย บา ปี ปัน)

มอญปัจจุบัน – มฺวัว บา ปิ ปน์ (อ่านว่า มวย บา ปัน ปอน)

“เราเริ่มใช้ตัวอักษรไทยมาทดลองเขียน แต่อ่านแล้วยุ่งลายตามากเลย มีทั้งไม้ตรี จัตวา เลยต้องให้นักวิชาการมาช่วย ส่วนกลุ่มนักปราชญ์เองก็ต้องมาเลือกหาตัวอักษรไทยที่ทำให้ได้หนึ่งความหมายหนึ่งรูปภาพ เพราะภาษาญัฮกุรไม่มีตัวผันเสียง ใช้คำเดียวไปเลย” พนมอธิบาย

เขาเล่าพร้อมเปิดหนังสือภาษาญัฮกุรที่มีการบันทึกพยัญชนะไว้อย่างเป็นระบบ และชี้ให้เห็นว่าในหนึ่งพยัญชนะจะถูกใช้เป็นความหมายเพื่อเรียกสิ่งใดสิ่งหนึ่งด้วย เช่น ชุร แปลว่า หมา, รุย่ แปลว่า แมลงวัน เป็นต้น

“ยอมรับว่าตอนนี้เด็กรุ่นใหม่ใช้ภาษาญัฮกุรน้อยลง แต่เขาก็ฟังออก เพราะสมัยก่อนเวลาใครพูดภาษาญัฮกุรมักถูกมองว่าเป็นภาษาที่แปลก มักถูกล้อ ในยุคที่ผมเรียนหนังสือ คุณครูก็ไม่ให้พูด เพราะคุณครูฟังไม่รู้เรื่อง” พนมเล่าถึงวิกฤตภาษาที่กำลังเผชิญ

ด้วยความเป็นมาเช่นนี้ ทำให้เด็กชาวญัฮกุรรุ่นใหม่ๆ ที่เข้าโรงเรียนไทยและมีวิถีชีวิตแบบสมัยใหม่จึงไม่ค่อยกล้าพูดภาษาญัฮกุร “เวลาไปเดินตลาดนัด ถ้าเด็กๆ ได้ยินเสียงพ่อแม่พูดภาษาญัฮกุร จะบอกให้หยุดพูดเลย เพราะอาย” พนมลงรายละเอียด

ด้วยค่านิยมทางสังคมส่งผลให้ภาษาโบราณเกือบสูญหายไปจากโลก ซึ่งเป็นสุ้มเสียงที่เชื่อมโยงเราเข้ากับอดีตในยุคทวารวดี และอาจพาเราไปสู่เรื่องราวที่ไม่เคยรู้ แต่ด้วยความพยายามของชาวญัฮกุรร่วมกับนักวิชาการ ทำให้ภาษาญัฮกุรถูกบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร และเริ่มมีการสอนภาษาญัฮกุรให้เด็กรุ่นใหม่ในชุมชนอย่างจริงจัง

“ตอนนี้เด็กๆ เริ่มใช้ภาษาญัฮกุรในการทำงานกลุ่มด้านวัฒนธรรม ผมเลยเริ่มสอนน้องทีละรุ่น และส่งต่อไปที่เด็กให้เขาสอนต่อกันไป น่าจะเป็นรุ่นที่สี่แล้ว” พนมบอก

การสืบต่อกันของวัฒนธรรมชาวญัฮกุรยังดำเนินต่อ ขณะเดียวกันที่รากของชาวญัฮกุรก็ยังมีจิ๊กซอว์ที่ขาดหายไป เพราะแม้ภาษาญัฮกุรจะตรงกับภาษามอญโบราณที่มีอายุกว่า 1,500 ปี แต่สำหรับคนญัฮกุรเองแล้ว เพิ่งปรากฏในการสำรวจชาติพันธุ์ของประเทศไทยเมื่อประมาณร้อยปีที่แล้วจากการสำรวจของอีริค ไซเดนฟาเดน (Erik Seidenfaden) ในช่วงปี 2461-2464

จากข้อมูลทางประวัติศาสตร์และหลักฐานเส้นการเดินทาง พบว่าชาวญัฮกุรตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณเชิงเขาพนมดงรัก เขตรอยต่อจังหวัดนครราชสีมากับปราจีนบุรี เชิงเขาพังเหย จังหวัดชัยภูมิ และเชิงเขาเพชรบูรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์อยู่แล้ว โดยในพื้นที่เชิงเขาพังเหยจังหวัดชัยภูมินั้นมีการตั้งถิ่นฐานที่ตรวจสอบได้ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 17[1]

การกระจายอยู่กันตามขอบที่ราบสูงของชาวญัฮกุร สะท้อนวัฒนธรรมการเร่ร่อนหาของป่าในยุคก่อนตามที่อีริค ไซเดนฟาเดนระบุไว้ ซึ่งการกระจายนี้ยังมีการติดต่อกันภายในกลุ่ม และยังมีปฏิสัมพันธ์กับคนไทยผ่านการค้าขาย อย่างน้อยที่สุดก็ราวหนึ่งร้อยปีมาแล้ว

เมื่อชาวญัฮกุรอาศัยอยู่ตรงขอบที่ราบสูง จึงมีการติดต่อกับคนที่หลากหลาย ซึ่งลักษณะเช่นนี้อาจฉายภาพประวัติศาสตร์อันยาวนานของพวกเขา ประเด็นนี้สอดคล้องกับที่ ผศ.พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการตั้งถิ่นฐานของชาวญัฮกุรกับหลักฐานทางโบราณคดีที่อาจสัมพันธ์กับรัฐทวารวดี โดยใช้การสำรวจทางโบราณคดีและศึกษาประวัติศาสตร์บอกเล่าของชาวญัฮกุร โดยเน้นพื้นที่อำเภอเทพสถิต ทำให้เห็นเส้นทางการค้าของชาวญัฮกุรที่เชื่อมโยงกับแหล่งโบราณคดี

เขานำเสนอในบทความวิจัยเรื่อง ‘โบราณคดีและชาติพันธุ์ในเขตหมู่บ้านชาวญัฮกุร ที่ อ.เทพสถิต จ.ชัยภูมิ’ ว่ามีการค้นพบแหล่งโบราณคดีบริเวณบ้านไร่อยู่หลายแห่ง ส่วนมากอยู่ใกล้บริเวณช่องชิด ซึ่งเป็นเส้นทางที่ชาวญัฮกุรและนายฮ้อย (พ่อค้าวัว) ใช้เดินทางเพื่อขึ้นลงระหว่างที่ราบสูงโคราชกับภาคกลาง มีโบราณวัตถุประเภทเครื่องปั้นดินเผาแบบเขมรและเครื่องปั้นดินเผาจีนสมัยราชวงศ์ซ่งใต้ โดยแบ่งอายุออกเป็นสองช่วงคือ แหล่งโบราณคดีที่มีอายุระหว่างพุทธศตวรรษที่ 16-19 และแหล่งโบราณคดีที่มีอายุครึ่งหลังของพุทธศตวรรษที่ 25

ในงานวิจัยชี้ให้เห็นว่าแหล่งโบราณคดีในเขตบ้านไร่ตั้งอยู่พื้นที่กึ่งกลางของเส้นทางคมนาคมและการค้าจากที่ราบสูงโคราชไปยังเมืองศรีเทพและปรางค์นางผมหอม เพราะเขาช่องชิดเป็นจุดผ่านแดนสำคัญ เนื่องจากลักษณะที่มีความลาดชันน้อย ทั้งยังมีการถูกใช้งานจากกลุ่มนายฮ้อยในช่วง 70-80 ปีที่ผ่านมา เพื่อต้อนวัวไปขายต่อที่อำเภอชัยบาดาล สระบุรี และอยุธยา

งานวิจัยนี้ให้ข้อสรุปว่าเส้นทางการค้าในเขต อ.เทพสถิต แบ่งออกได้เป็นสองระยะคือ ระยะแรกเป็นการค้าในสมัยโบราณ มีอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 17-19 ไม่พบว่ามีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญกับกลุ่มชาวทวารวดีที่อพยพหนีสงคราม แต่กลับไปมีสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญกับการขยายอิทธิพลของอาณาจักรเขมรเมื่อพุทธศตวรรษที่ 17-19 ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ราวรัชกาลที่ 5 สยามได้ผลักดันให้เมืองนครราชสีมาเติบโตขึ้นเป็นศูนย์กลางการค้าและการเมืองในเขตอีสาน ทำให้เศรษฐกิจเติบโตขึ้น ส่งผลทำให้ชุนชาวญัฮกุรในเขตเทือกเขาพังเหยเติบโตและรวมกลุ่มเป็นหมู่บ้านก่อนที่จะมีการย้ายหมู่บ้านเพราะโรคระบาด[2]

คำถามสำคัญที่ว่าชาวญัฮกุรมาจากไหน นอกจากหาคำตอบผ่านเรื่องเล่าและการขุดค้นโบราณคดีแล้ว หนึ่งในเครื่องมือสำคัญคือวิทยาศาสตร์ที่ชื่อว่า ‘การตรวจดีเอ็นเอ’

เมื่อปี 2557 มีงานวิจัยเรื่อง การวิเคราะห์ความหลากหลายของพันธุกรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ของ รศ.ดร.วิภู กุตะนันท์ นักพันธุศาสตร์ ผลการวิจัยระบุว่าชาวบ้านในเขตอำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิเป็นกลุ่มดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ในพื้นที่แห่งนี้มาก่อนที่ชาวเขมรและกลุ่มคนที่พูดภาษาตระกูลไท-กะไดจะเข้ามาครอบครองดินแดนแห่งนี้ ชาวบนกลุ่มนี้จึงมีถิ่นกำเนิดที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยเท่านั้น

รศ.ดร.วิภู กุตะนันท์ นักพันธุศาสตร์

นอกจากประเด็นนี้แล้ว รศ.ดร.วิภู ยังศึกษาเปรียบเทียบดีเอ็นเอชาวญัฮกุรกับชาวมอญในพื้นที่อื่นของประเทศไทย เพื่อหาความแตกต่าง

“เราศึกษามอญทั่วประเทศ ทั้งมอญหนองดู่ มอญภาคกลาง มอญสังขละ มอญโคราช ฯลฯ เรามีมอญอยู่เจ็ดกลุ่ม เราพบว่ามีความแตกต่างกันระหว่างญัฮกุรกับมอญ ในมอญเองก็มีความหลากหลายมากพอสมควร แต่สิ่งที่มอญกับญัฮกุรเหมือนกันอยู่นิดเดียวคือตรงที่ได้รับดีเอ็นเอของอินเดียใต้มา แต่ความแตกต่างคืออายุแตกต่างกัน และในส่วนอื่นๆ มอญกับญัฮกุรก็มีความแตกต่างกันในเรื่องของโครงสร้างดีเอ็นเอ” รศ.ดร.วิภูอธิบาย

เมื่อมาดูเส้นทางการอพยพของชาวมอญแล้ว พบว่ามอญที่อยู่ในประเทศไทยเป็น ‘มอญไหล’ กล่าวคือมอญที่เพิ่งอพยพมาจากพม่าเมื่อสักประมาณ 400-500 ปีที่แล้ว ในช่วงหลังที่พระนเรศวรประกาศอิสรภาพ หลังจากนั้นก็มีมอญเข้ามาเรื่อยๆ จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ เมื่อเข้ามาแล้วมักอาศัยอยู่ที่ปทุมธานี นนทบุรี และบางส่วนไปที่โคราช

“มีความเป็นไปได้ว่าชาวมอญกับชาวญัฮกุรแตกต่างกันทางเชื้อสายตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว คือมอญปัจุบันในไทยอพยพมาจากพม่า ขณะที่ชาวญัฮกุรอาศัยอยู่ตรงนี้นานแล้ว” รศ.ดร.วิภูเล่า

เมื่อถูกถามถึงความเชื่อมโยงระหว่างชาวญัฮกุรกับชาวทวารวดี เขาอธิบายภายใต้ข้อจำกัดที่มีว่า “ชาวญัฮกุรเป็นประชากรโบราณแน่ๆ และมีปฏิสัมพันธ์กับคนอินเดียในช่วงสมัยทวารวดี นั่นแปลว่าชาวญัฮกุรน่าจะสืบเชื้อสายมาจากคนทวารวดีกลุ่มหนึ่ง แต่ผมไม่ฟันธง จะฟันธงได้ก็ต่อเมื่อเราศึกษาดีเอ็นเอโบราณของชาวทวารวดีเทียบกัน แต่ตอนนี้ยังไม่มีให้เทียบ ซึ่งที่บอกว่ามีดีเอ็นเออินเดียเข้ามาด้วย อันนี้เราศึกษาเปรียบเทียบกับดีเอ็นเอคนปัจจุบัน คือเอาดีเอ็นเอคนอินเดียมาเปรียบเทียบกับกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่ในประเทศไทย แล้วดูว่ามีกลุ่มชาติพันธุ์ไหนบ้างที่มีการผสมจากอินเดียเข้ามา ซึ่งญัฮกุรเป็นหนึ่งในนั้น” รศ.ดร.วิภู สรุป

3

การศึกษาประวัติศาสตร์จำเป็นต้องใช้ความพร้อมในปัจจุบันเข้ามาช่วย การขุดค้นและเสาะหาหลักฐานจึงยังจำเป็น เพื่อคลี่คลายความลับและฉากชีวิตในยุคบรรพกาลออกมา

จากเส้นทางประวัติศาสตร์อันไกลโพ้น พนมเองก็รู้เท่าที่คนรุ่นทวดเล่าให้ฟัง ขณะที่ตัวเขาเองก็กำลังสร้างประวัติศาสตร์ต่อไปให้ชาวญัฮกุรด้วยการทำงานกับคนรุ่นหลัง

หนังสือสอนภาษาญัฮกุรถูกพับเก็บเข้าชั้นหลังจากดูจนครบถ้วน พระอาทิตย์กำลังลับลงหลังเขา เขาพังเหยยังดำรงอยู่อย่างนั้น เพื่อรองรับแสงจากพระอาทิตย์ที่ขึ้นใหม่ทุกเช้า เช่นเดียวกับที่โอบกอดอารยธรรมมนุษย์อันยาวนานไว้ใต้ลอนคลื่นของตัวเอง

References
1 ชนเผ่าพื้นเมืองญัฮกุร. โครงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย. มูลนิธิชนเผ่าพื้นเมืองเพื่อการศึกษาและสิ่งแวดล้อม (ม.ก.ส.).
2 โบราณคดีและชาติพันธุ์ในเขตหมู่บ้านชาวญัฮกุร ที่ อ.เทพสถิต จ.ชัยภูมิ. พิพัฒน์ กระแจะจันทร์.

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save