fbpx

จาก ‘ไข่ดาวหนึ่งใบ’ สู่ ‘ไข่ดาวหลายใบ’: อ่านใหม่ ‘สองนคราประชาธิปไตย’ เมื่อภูมิทัศน์การเมืองไทยเปลี่ยน กับ ณพล จาตุศรีพิทักษ์

สองนคราประชาธิปไต

“คนชนบทตั้งรัฐบาล และคนเมืองล้มรัฐบาล”เป็นหนึ่งประโยคที่ถูกใช้อธิบายการเมืองไทยในหลายยุคหลายสมัย ประโยคดังกล่าวมาจากทฤษฎี ‘สองนคราประชาธิปไตย’ โดยเอนก เหล่าธรรมทัศน์ ตีพิมพ์ครั้งแรกเป็นบทความในหนังสือชื่อ วิพากษ์สังคมไทย เมื่อปี 2537 เพื่อมุ่งอธิบายสภาวะการเมืองระหว่างเมือง (กรุงเทพฯ) และชนบท (ต่างจังหวัด) ช่วงปี 2533-2536 แต่ทฤษฎีดังกล่าวก็ถูกหยิบยกมาอธิบายสภาวะทางการเมืองไทยอีกหลายครั้งในเวลาต่อมา

เอนกเคยเขียนคำนำในหนังสือ สองนคราประชาธิปไตย ว่าพรรคไทยรักไทยและทักษิณ ชินวัตร เคยเป็นพรรคการเมืองและนักการเมืองกลุ่มแรกที่เขามองว่าทฤษฎีสองนคราประชาธิปไตยหมดพลังในการอธิบายสภาวะการเมืองระหว่างเมืองกับชนบทแล้ว เพราะเปลี่ยนให้ชนบทกลายเป็นฐานนโยบายได้ อีกทั้งยังได้รับความไว้วางใจทั้งเมือง (กรุงเทพฯ) และชนบท (ต่างจังหวัด)  แต่การรัฐประหารในปี 2549 ทำให้เอนกมองว่าทฤษฎีดังกล่าวยังสามารถอธิบายความขัดแย้งในการเมืองไทยได้อยู่ และยังพิสูจน์ประโยคว่า“คนชนบทตั้งรัฐบาล และคนเมืองล้มรัฐบาล” ยังเป็นจริงในช่วงเวลานั้น

นับจากจุดเริ่มต้นของทฤษฎีสองนคราประชาธิปไตย การเมืองไทยผ่านระยะเวลามาสามทศวรรษ ประจวบเหมาะกับปีที่มีการเลือกตั้งทั่วไปอีกครั้งในปี 2566 ท่ามกลางประชาธิปไตยไทยที่ยังคงถูกตั้งคำถาม ทั้งในวันที่การเมืองไทยยังเต็มไปด้วยความขัดแย้งทางการเมืองที่นับวันก็ยิ่งซับซ้อนและร้อนระอุมากขึ้น น่าสนใจว่า ‘สองนคราประชาธิปไตย’ ยัง ‘ใหม่’ พอที่จะอธิบายการเมืองไทยได้อยู่หรือไม่

101 สนทนากับ ณพล จาตุศรีพิทักษ์ นักวิจัยแลกเปลี่ยน จากสถาบันเอเชียอาคเนย์ศึกษา ยูซุฟ อิสฮัค (ISEAS Yusof-Ishak Institute) สาธารณรัฐสิงคโปร์ ผู้ที่ตัดสินใจกลับไปอ่านและตีความทฤษฎีดังกล่าวอีกครั้ง ผ่านผลการเลือกตั้งไทยในปี 2566 ภายใต้งานศึกษาชื่อว่า ‘A new tale of two democracies? The changing urban–rural dynamics at Thailand’s 2023 general elections’ เพื่อสำรวจดูว่าเมือง-ชนบทในปี 2537 ที่เอนกศึกษา กับเมือง-ชนบท ในปี 2567 ที่ณพลตีความอีกครั้งเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง และ ‘สองนคราประชาธิปไตย’ ยังสามารถนำมาอธิบายการเมืองไทยในปัจจุบันได้หรือไม่

ณพล จาตุศรีพิทักษ์

หลังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่มีมติว่า การเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และนำไปเป็นนโยบายหาเสียงของพรรคก้าวไกล เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครอง คำวินิจฉัยนี้ส่งผลต่อการเมืองและสังคมไทยอย่างไร

เราต้องยอมรับแล้วว่าชนชั้นนำไทยเข้ามามีบทบาททางการเมืองทั้งฉากหน้าและฉากหลังอย่างสมบูรณ์แบบ ซึ่งก็มีทั้งกลุ่มที่ไม่ต้องการให้สังคมไปถึงจุดแตกหัก เพียงแต่หวังให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอ่อนแอและไร้อำนาจต่อรอง กับกลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากระบอบที่ไม่เป็นประชาธิปไตยซึ่งมองถึงการกลับไปสู่รัฐบาลทหาร โดยใช้จุดเริ่มต้นของกระบวนการพาประชาธิปไตยย้อนกลับคือคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2567

ทิศทางจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้ส่งผลให้พรรคการเมืองจะขยับเขยื้อนยากขึ้น ต่อให้นโยบายและข้อเรียกร้องเหล่านี้ของพรรคจะผ่านกระบวนการหาเสียงมาแล้ว ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องหรือความต้องการของสังคม แต่พรรคการเมืองกลับไม่สามารถผลักดันนโยบายผ่านระบบรัฐสภาได้มากนัก

นอกจากนี้ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญยังเป็นเหมือนประตูด่านแรกที่อาจนำไปสู่การยุบพรรคก้าวไกลได้ แม้หลายคนจะมองว่าการยุบพรรคไม่ใช่วิธีการที่มีประสิทธิภาพในการลดทอนความนิยมของพรรคก้าวไกล แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าหากใช้วิธีการเช่นนี้ พรรคก้าวไกลก็มีราคาที่ต้องจ่ายและไม่เป็นผลดีต่อพรรคเช่นกัน เพราะการยุบพรรคการเมืองหนึ่งครั้งต้องแลกกับบุคลากรที่มีประสิทธิภาพที่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง คนที่เข้ามาแทนที่ก็เหมือนเวลาที่นับถอยหลังหรือมีอายุขัยทันที เพราะสักวันก็อาจต้องเจอชะตากรรมเดียวกัน

บรรยากาศการทำงานการเมืองแบบนี้ไม่เป็นผลดีต่อพรรคการเมืองไม่ว่าพรรคไหน พรรคก้าวไกลอาจจะสามารถดำรงอยู่ต่อไปได้เพราะแบรนด์พรรคติดตลาด แต่ศักยภาพในการดึงดูดบุคคลากรที่ต้องการทำงานการเมืองอย่างจริงจังและยืนยาวอาจจะลดน้อยลง

หลังจากนี้พรรคก้าวไกลอาจต้องแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม โดยกลุ่มแรกก็ขับเคลื่อนประเด็นที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 112 และประเด็นการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งอาจหันไปผลักดันนโยบายด้านอื่นๆ ที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน แต่เป็นนโยบายที่ไม่ละเอียดอ่อน ไม่ล่อแหลม และไม่ต้องระแวงหลังเท่าเดิม

อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญยังเป็นการวางบรรทัดฐานด้วยว่า การเคลื่อนไหวของกลุ่มคณะราษฎรและเยาวชนที่เกิดขึ้นมาในช่วงปี 2563 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และน่าจะนำไปสู่ความพยายามในการคว่ำ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับที่รวมถึงผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 เข้าไปด้วย


ท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองไทยเช่นนี้ หลายคนมองว่าขั้วทางการเมืองไทยมีหลายรูปแบบซ้อนทับกันอยู่ ซึ่งในช่วงปี 2565 คุณ
เสนอว่าการเมืองไทยมีขั้วทางการเมืองที่หลากหลาย ทั้งขั้วเอา-ไม่เอาทหาร และ เอา-ไม่เอาทักษิณ จนถึงปัจจุบันคุณยังมองเช่นเดิมหรือไม่

ในปัจจุบันขั้ว ‘เอา-ไม่เอาทหาร’ เริ่มจางลงมาก เพราะหลายคนมองว่า ‘ระบอบสาม ป.’ ไม่มีอีกแล้ว แต่ขั้ว ‘เอา-ไม่เอาทักษิณ’ ยังคงมีอยู่ เห็นได้จากตั้งแต่การเดินทางกลับมายังประเทศไทยของคุณทักษิณ ชินวัตร กลุ่มไม่เอาคุณทักษิณก็กลับมามีปากเสียงอีกครั้ง

แต่ที่ผ่านมาการเมืองไทยก็เกิดอีกขั้วหนึ่งขึ้นมาคือ ขั้วเอา-ไม่เอากับการปฏิรูปโครงสร้างที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่าขั้วทางความคิดส่วนใหญ่ที่เราเห็นในสังคมและการเมืองไทยเป็นขั้วที่จับมือกันอย่างหลวมๆ ระหว่างชนชั้นนำและกลุ่มก้อนทางการเมือง ซึ่งขั้วในการเมืองไทยอาจไม่ได้หยั่งลึกไปจนถึงระดับของมวลชน

เราต้องตั้งคำถามต่อไปว่า อะไรคือประเด็นที่ผู้คนในสังคมให้ความสำคัญมากที่สุดในการเลือกตั้งครั้งหน้าระหว่างประเด็นกองทัพในการเมืองไทย คุณทักษิณ หรือประเด็นการปฏิรูปโครงสร้างที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์


มองบทบาทของคุณทักษิณต่อพรรคเพื่อไทยอย่างไร

ในปัจจุบันผมก็มองว่าคุณทักษิณยังมีบทบาทสำคัญต่อพรรคเพื่อไทย มีคนเคยถามผมว่า พรรคเพื่อไทยเป็นสถาบันทางการเมืองหรือไม่ ผมตอบเขาไปว่าพรรคเพื่อไทยไม่ใช่สถาบันทางการเมือง แต่คุณทักษิณต่างหากที่เป็นสถาบันทางการเมือง (หัวเราะ)

เนื่องจากกระแสความนิยมของพรรคเพื่อไทยและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของพรรคก็มาจากการบริหารจัดการพรรคภายใต้คุณทักษิณ หรือแม้แต่พรรคอื่นๆ อย่างพรรคภูมิใจไทยที่สามารถรวมกลุ่มก้อนทางการเมืองได้ ผมว่าเขาก็หยิบรูปแบบการบริหารพรรคของคุณทักษิณไปใช้ด้วยซ้ำ


ในฐานะที่คุณเป็นนักรัฐศาสตร์ที่ศึกษาทั้งระบบอุปถัมภ์และการเลือกตั้ง คุณติดตามการเมืองไทยด้วยความรู้สึกเช่นไร

ตั้งแต่หลังการเลือกตั้งเป็นต้นมา ผมติดตามด้วยความรู้สึกสนุกและหดหู่ควบคู่กัน

ผมรู้สึกสนุก เพราะการเมืองไทยมีอะไรที่เหนือความคาดหมายอยู่เสมอ ก่อนหน้านี้ช่วงก่อนเลือกตั้งผมและทีมวิจัยไปลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลในช่วงสองอาทิตย์ก่อนการเลือกตั้ง ไม่มีใครคาดคิดว่าพรรคก้าวไกลจะเป็นพรรคที่ชนะการเลือกตั้งและได้จำนวนที่นั่งในรัฐสภามากกว่าหนึ่งร้อยที่นั่ง เนื่องจากพื้นที่ที่เราลงพื้นที่ชนบทเป็นส่วนใหญ่ แต่กระแสกลับอยู่ในตัวเมือง

ท่ามกลางความสนุก ผมก็รู้สึกหดหู่ด้วยเช่นกัน เพราะหลังการเลือกตั้งทุกอย่างเป็นไปตามสิ่งที่พวกเราคิดทั้งหมด ก็คือพรรคเพื่อไทยตัดสินใจข้ามขั้วทางการเมือง

แม้ว่าการประนีประนอมนั้นเป็นสิ่งจำเป็นต่อเสถียรภาพของระบอบประชาธิปไตยและการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสันติ แต่การประนีประนอมที่ว่านี้ หมายถึงทุกฝ่ายยอมรับกฎกติกาและผลการเลือกตั้ง ทว่า การประนีประนอมที่เกิดขึ้นในปัจจุบันในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย คือ การประนีประนอมต่อหลักการและอุดมการณ์ทางการเมืองต่างหาก การประนีประนอมเช่นนี้กลับกลายเป็นการทำลายความเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยเสียมากกว่า

แม้ทิศทางของประชาธิปไตยไทยอาจไม่สดใสมากนัก แต่ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาประชาชนเริ่มมีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น ทั้งการตรวจสอบการทำงานของภาครัฐ การทำให้การเลือกตั้งมีความเป็นธรรมและชอบธรรม (electoral integrity) และการระดมผู้คนมาเป็นส่วนหนึ่งของระบบการเมือง ซึ่งในอดีตการมีส่วนร่วมทางการเมืองรูปแบบนี้เกิดขึ้นได้ยาก ทั้งจากข้อจำกัดเรื่องเทคโนโลยีและทรัพยากร แต่ในปัจจุบันเทคโนโลยีเป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญที่เข้ามามีบทบาทในการเชื่อมโยงเครือข่ายพลเมืองทั่วประเทศเข้ามารวมกัน

หากดูผิวเผินอาจจะมองว่ากระบวนการมีส่วนร่วมกระจุกเพียงในเมืองหลวง แต่เมื่อสำรวจในรายละเอียดจะพบว่าได้รับการสนับสนุนจากทั่วประเทศ ในแง่หนึ่งก็สะท้อนว่าความเข้าใจของผู้คนเกี่ยวกับเมืองและชนบทอาจเปลี่ยนไปจากเดิมอย่างมากในรอบหลายปีที่ผ่านมา จนนิยามของเมืองและชนบทเริ่มคลุมเครือมากขึ้น

ณพล จาตุศรีพิทักษ์

จากที่คุณกล่าวว่านิยามของเมืองและชนบทคลุมเครือมากขึ้น สอดคล้องกับงานที่คุณและทีมวิจัยกลับไปสำรวจผลเลือกตั้งและตีความร่วมกับทฤษฎี ‘สองนคราประชาธิปไตย’ ของเอนก เหล่าธรรมทัศน์ คุณและทีมวิจัยพบความเปลี่ยนแปลงระหว่างเมืองกับชนบทอย่างไรบ้าง

บทความเรื่อง ‘A new tale of two democracies? The changing urban–rural dynamics at Thailand’s 2023 general elections’ ใน Contemporary Southeast Asia: a journal of international and strategic affairs เป็นงานศึกษาของผม เมธิส โลหเตปานนท์ และ Allen Hicken ที่กลับไปสำรวจและตีความทฤษฎี ‘สองนคราประชาธิปไตย’ ผ่านผลการเลือกตั้งปี 2566

ทฤษฎี ‘สองนคราประชาธิปไตย’ ของอาจารย์เอนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นบทความขนาดยาวและมีความลึกซึ้งอย่างยิ่ง ผมขออธิบายแบ่งออกเป็นสองส่วน ประกอบด้วย ข้อสังเกตแรกของอาจารย์เอนกที่ชี้ว่าคนชนบทกับคนเมืองมีพฤติกรรมทางการเมืองและความคาดหวังต่อประชาธิปไตยที่ไม่เหมือนกัน

สำหรับผมข้อสังเกตแรกก็ยังอธิบายการเมืองไทยได้อยู่ แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปคือนิยามว่าชนบทและเมืองคืออะไร ก่อนหน้านี้เรามักจะเปรียบเทียบประเทศไทยเป็นเหมือน ‘ไข่ดาว’ ที่มีทั้งไข่แดง คือ กรุงเทพฯ และไข่ขาว คือ ชนบท หรือพื้นที่ต่างจังหวัด ซึ่งแปรเปลี่ยนไปสู่การเลือกใช้ยุทธศาสตร์การเมืองที่แตกต่างกัน ไข่แดงอาจเน้นนโยบายหรือการบริการผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เช่น การฉีดยุง เป็นต้น และไข่ขาวอาจต้องอาศัยเครือข่ายหัวคะแนน หรือผู้นำชุมชนเป็นหลัก

อย่างไรก็ตาม ทั้งปัจจัยจากผลพวงการพัฒนาชนบท คนชนบทเข้ามาในเมืองมากขึ้น และการเติบโตของโซเชียลมีเดีย ทำให้วิถีชีวิตและพฤติกรรมทางการเมืองของคนที่อาศัยในชนบทกลายเป็นคนเมืองมากขึ้น ส่งผลให้นิยามของความเป็นเมืองและชนบทเริ่มเปลี่ยนไป เราเริ่มเห็น ‘เมือง’ เกิดขึ้นให้เห็นในทุกจังหวัดหรือแม้แต่เขตเลือกตั้ง

จนกล่าวได้ว่าในอดีตที่ประเทศไทยเป็นเหมือนไข่ดาวหนึ่งใบกลายเป็นไข่ดาวหลายใบแบบในปัจจุบัน ซึ่งเห็นได้จากผลการเลือกตั้งในปี 2566 ที่คนเมืองและคนต่างจังหวัดในเขตเมืองมีความคล้ายคลึงกันมากขึ้น ซึ่งอาจแตกต่างกับพื้นที่ที่ไม่ใช่เมือง โดยพรรคก้าวไกลและพรรครวมไทยสร้างชาติได้รับความนิยมในพื้นที่เมือง ขณะที่พรรคพลังประชารัฐและพรรคภูมิใจไทยมาแรงในพื้นที่นอกเมือง

ข้อสังเกตที่สอง คือพฤติกรรมทางการเมืองและความคาดหวังต่อประชาธิปไตยที่ไม่เหมือนกันนำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมือง หรือที่เราเรียกว่า ‘วงจรอุบาทว์ทางการเมืองไทย’ จนเราได้ยินประโยคคุ้นหูว่า ‘คนชนบทเป็นผู้ตั้งรัฐบาล ส่วนคนเมืองเป็นผู้ล้มรัฐบาล’ คนชนบทซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ต้องการประชาธิปไตยที่กินได้ และคัดเลือกผู้สมัครโดยพิจารณาจากปัจจัยที่เป็นรูปธรรม ซึ่งในอดีตมักเกี่ยวโยงกับระบบอุปถัมภ์ภายใต้การควบคุมของผู้มีอิทธิพลในระดับท้องถิ่น ในขณะที่คนเมืองซึ่งเป็นประชากรส่วนน้อยมองประชาธิปไตยผ่านกรอบของนโยบายและอุดมการณ์

คนเมืองสนับสนุนประชาธิปไตยแบบมีเงื่อนไข พวกเขาต้องการรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่ไม่ทุจริต และสามารถส่งมอบนโยบายทางเศรษฐกิจเพื่อรักษาระดับทางเศรษฐกิจของชนชั้นกลางได้ จึงเป็นเหตุให้คนเมืองกลายเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งพวกเขามองว่าขาดความชอบธรรม ขณะที่บทบาทของการล้มรัฐบาลก็ยังไม่ได้รับการพิสูจน์มาตั้งแต่หลังการรัฐประหาร 2557

ในงานของอาจารย์เอนกเขียนไว้ว่า เขาหวังว่าสักวันหนึ่งคนเมืองจะเข้าใจคนชนบทมากขึ้น แต่ที่ผ่านมา ทฤษฎีสองนคราประชาธิปไตยมักถูกตีความไปในทางลบว่าคนชนบทไม่มีวิจารณญาณในการลงคะแนนเสียง ซึ่งเป็นการตีความที่ด้อยค่าคนชนบทอย่างยิ่ง

ความเชื่อดังกล่าวฝังรากลึกในกลุ่มคนเมืองอย่างยาวนานจนถูกใช้เป็นหนึ่งในข้ออ้างในการล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ทุกวันนี้ความเชื่อดังกล่าวถูกทำลายไปแล้วบ้าง ผมจึงคิดว่าการเลือกตั้งครั้งต่อๆ ไปก็มีโอกาสที่คนเมืองและคนชนบทจะยอมรับผลการเลือกตั้งมากขึ้น


ความเปลี่ยนแปลงของเมืองและชนบทเช่นนี้ หากในอนาคตมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คุณมองว่าระบบการเลือกตั้งแบบบัตรสองใบในปัจจุบัน สะท้อนเจตจำนงของประชาชนได้ดีแล้วหรือไม่

ผมคิดว่าระบบการเลือกตั้งแบบบัตรสองใบโอเคแล้ว เพราะหากเราย้อนกลับไปดูทฤษฎี ‘สองนคราประชาธิปไตย’ ก็แสดงให้เห็นถึงความซับซ้อนในการตัดสินใจของผู้คน เช่น บางทีประชาชนต้องการผู้แทนราษฎรที่พบง่ายใช้คล่อง หรือหากน้ำไม่ไหลหรือไฟดับก็ต้องแก้ไขปัญหาได้ ในขณะเดียวกันประชาชนก็ต้องการพรรคการเมืองที่สามารถส่งมอบนโยบายระดับชาติให้ได้ด้วย

ดังนั้น ผมจึงคิดว่าระบบการเลือกตั้งแบบปัจจุบันมีความเหมาะสมแล้ว เพราะสามารถสะท้อนเจตจำนงอันซับซ้อนของผู้คนได้

ที่สำคัญที่สุดหากแก้ไขระบบเลือกตั้งอีกครั้งจนต้องทำให้พรรคการเมืองและประชาชนต้องทำความเข้าใจกันใหม่ตั้งแต่ต้น ผมว่าเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย เราควรปล่อยให้ทั้งพรรคการเมืองและประชาชนควรได้รับโอกาสในการเรียนรู้จากประสบการณ์


ระบบการเลือกตั้งย่อมมีผลต่อจำนวนพรรคการเมืองในสภา คุณมองว่าระบบหลายพรรคกับระบบสองพรรคใหญ่ อะไรตอบโจทย์กับสังคมไทยมากกว่ากัน

ที่ผ่านมาหลายฝ่ายอาจมองว่าการมีพรรคการเมืองจำนวนมากในสนามเลือกตั้งเป็นเรื่องที่ดี เพราะสามารถสะท้อนความแตกต่างหลากหลายของอุดมการณ์ทางความคิดได้

ผมก็ตั้งคำถามกลับไปว่า ตัวเลือกจำนวนมากนั้นเป็นตัวเลือกที่มีความหมายจริงหรือไม่ เช่น พรรคการเมือง A B และ C มีจุดยืนทางการเมือง อุดมการณ์ทางความคิด และข้อเสนอทางนโยบายที่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญหรือไม่ คำตอบของผมคือ ไม่แตกต่างกัน และยังอาจนำไปสู่รัฐบาลผสมที่มีจำนวนพรรคมากจนบริหารได้ลำบาก

เห็นได้จากการเลือกตั้ง 2562 แทนที่ประชาชนจะไปเรียนรู้ว่า 16 พรรคมีจุดยืนที่แตกต่างกันอย่างไร ดีกว่าหากมีเหลือเพียง 2-3 พรรคแทน โดยที่ประชาชนเข้าใจความแตกต่างในจุดยืนและนโยบายของแต่ละพรรคอย่างลึกซึ้งมากขึ้น


จากหนึ่งในคำอธิบายอันโด่งดังว่า ‘คนต่างจังหวัดตั้งรัฐบาล และคนเมืองล้มรัฐบาล’ แต่ผลการเลือกตั้งในปี 2566 พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยที่ได้รับคะแนนเสียงจำนวนมาก ประชากรกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัดร่วมมือกันตั้งรัฐบาล คุณยังมองว่าคำอธิบายดังกล่าวยังใช้ได้ในการเมืองไทยอยู่หรือไม่

ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาเป็นเหมือน ‘สภาวะยกเว้น’ ในหลายๆ ประเด็น ครั้งหนึ่งผมเคยวิเคราะห์ไว้ว่าการเลือกตั้งในปี 2566 เป็นเหมือนการประชามติสามคำถามที่มารวมกันในการเลือกตั้งครั้งเดียว ประกอบด้วย คุณประยุทธ์ยังได้รับการยอมรับหรือไม่ สังคมไทยก้าวข้ามคุณทักษิณได้หรือยัง และประชาชนเห็นด้วยกับการปฏิรูปประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์และกองทัพหรือไม่

คำอธิบายว่า ‘คนต่างจังหวัดตั้งรัฐบาล และคนเมืองล้มรัฐบาล’ ก็อาจใช้ไม่ได้ในทุกครั้ง เห็นได้จากหลายครั้ง คนเมืองและคนนอกเมืองก็เลือกพรรคการเมืองเดียวกัน แม้ว่าเหตุผลของการเลือกพรรคการเมืองอาจจะยังแตกต่างกันบ้าง เช่น คนที่เลือกพรรคเพื่อไทยในเมืองอาจเลือกเพราะจุดยืนเชิงอุดมการณ์ ซึ่งแตกต่างจากคนนอกเมืองที่อาจเลือกจากนโยบายทางเศรษฐกิจ เป็นต้น


หลังการเลือกตั้ง คุณมองว่าผลของทั้งสามคำถามนี้เป็นอย่างไรบ้าง

จากผลคะแนนเลือกตั้งที่พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยได้รับก็สะท้อนว่าสังคมไทยไม่เอาทหาร แต่ในคำถามที่สองที่เกี่ยวกับคุณทักษิณ ชินวัตรและคำถามที่สามซึ่งเกี่ยวกับการปฏิรูปโครงสร้างก็ยังคลุมเครืออยู่

อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือ พรรคที่ได้รับอานิสงส์จากทั้งสามคำถามนี้มากที่สุดคือพรรคก้าวไกล ที่มีจุดยืนชัดเจนว่าไม่เอาประยุทธ์และระบอบ ‘3 ป.’ และพรรคก้าวไกลก็ได้ฐานเสียงเก่าของพรรคประชาธิปัตย์ที่ไม่สามารถเลือกพรรคเพื่อไทยได้เพราะคุณทักษิณ ตลอดจนพรรคก้าวไกลมีจุดยืนเกี่ยวกับการปฏิรูปโครงสร้างชัดเจนที่สุด ผมจึงมองว่าคำตอบของผลประชามติทั้งสามมาอยู่ที่พรรคก้าวไกล


ในช่วงก่อนที่รัฐบาลประยุทธ์มักถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับการดำเนินคดีทางการเมืองและการบังคับใช้กฎหมายทั้งมาตรา 112 และ 116 ว่าละเมิดสิทธิมนุษยชน คุณมองว่าในรัฐบาลภายใต้การนำของเพื่อไทย การดำเนินคดีทางการเมืองและการบังคับใช้กฎหมายจะมีทิศทางเช่นไร

พรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นแกนนำหลักของรัฐบาลในขณะนี้วางสถานะตนเองเหมือนรัฐบาลกำลังหลับตาข้างเดียวและเปิดประตูค้างไว้ เห็นได้จากที่ปล่อยให้มีการดำเนินคดีทางการเมืองต่อไปอย่างต่อเนื่อง และปล่อยให้เกิดการใช้อำนาจโดยมิชอบในการเล่นงานผู้เห็นต่างทางการเมือง รัฐบาลปัจจุบันไม่ได้ถูกตั้งข้อครหาแล้วว่าเป็นรัฐบาลเผด็จการ เพราะผู้นำรัฐบาลไม่ได้เป็นหัวหน้าคณะรัฐประหาร ส่งผลให้องค์กรนานาชาติก็ไม่ได้เพ่งเล็งเกี่ยวกับประเด็นสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยเหมือนแต่ก่อน อีกทั้งหลายคนในรัฐบาลปัจจุบันที่ต้องการให้มีการดำเนินคดีเหล่านี้อย่างเด็ดขาด เพื่อไม่ให้เกิดสถานการณ์แบบเดิมอีก

แม้ภายใต้รัฐบาลของพรรคเพื่อไทยจะมีการดำเนินคดีทางการเมืองไม่ต่างจากรัฐบาลก่อนหน้า แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ไม่ได้ส่งผลต่อความชอบธรรมของรัฐบาลเพื่อไทยแต่อย่างใด เพราะความชอบธรรมของรัฐบาลนี้ไม่ได้มาจากประเด็นการปกป้องสิทธิมนุษยชน ในทางตรงกันข้ามชะตากรรมของรัฐบาลเพื่อไทยตลอดจนถึงความปลอดภัยของตัวคุณทักษิณเอง ซึ่งมีสถานะคล้ายกับตัวประกัน อาจขึ้นอยู่กับการทำตามเงื่อนไขที่ถูกกำหนดโดยฝ่ายอนุรักษนิยม เห็นได้จากกรณีคุณเศรษฐาทวีตข้อความผ่านเอกซ์ว่า คุณเศรษฐาและคณะรัฐมนตรีไม่สนับสนุนการใช้ความรุนแรง และขอให้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดเพื่อปกป้องสถาบันฯ

อย่างไรก็ตามการหลับตาข้างเดียวและเปิดประตูค้างไว้ ราวกับว่าลอยตัวเหนือปัญหาเช่นนี้ ก็อาจถูกตีความได้ว่าพรรคเพื่อไทยกลายเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาที่ใช้เพื่อเซาะกร่อนบ่อนทำลายฝ่ายก้าวหน้า และยอมเป็นเกราะกำบังให้แก่ชนชั้นนำไทย ซึ่งก็น่ากังวลว่าจะเป็นการใช้แล้วทิ้งหรือไม่


วิธีคิดที่มองว่าประเทศไทยเป็น ‘ไข่ดาวหนึ่งใบ’ สู่ ‘ไข่ดาวหลายใบ’ ส่งผลต่อมุมมองในการทำความเข้าใจการเมืองไทยอย่างไรบ้าง

ในความจริงแล้วพรรคการเมืองก็มองการเมืองการเลือกตั้งผ่านกรอบ ‘ไข่ดาว’ เหมือนกัน ทำให้โมเดลแบบไฮบริดของพรรคการเมืองอย่างพรรคไทยรักไทยประสบความสำเร็จอย่างมาก เพราะพรรคไทยรักไทยมีลักษณะเหมือน ‘ขนมชั้น’ ที่ชั้นบนคือบุคลากรพรรคที่สามารถสร้างกระแสความนิยมได้ โดยอาศัยทั้งเรื่องของภาพลักษณ์ ทักษะการบริหาร และความเชี่ยวชาญในการจัดทำนโยบาย ในขณะที่โครงสร้างชั้นล่างของพรรคไทยรักไทย คือกลุ่มก้อนทางการเมืองแบบดั้งเดิม ซึ่งอาศัยโครงสร้างและเครือข่ายอุปถัมภ์เป็นฐานคะแนนอันเหนียวแน่น อาจจะประกอบไปด้วย บ้านใหญ่ ตระกูลการเมือง หรือผู้ที่เป็นจุดสุดยอดของเครือข่ายในระดับท้องถิ่น

แต่ในปัจจุบัน สังคมไทยเปลี่ยนไปเป็นไข่ดาวที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ นับเป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับพรรคการเมืองอย่างยิ่ง เพราะผู้สมัครไม่สามารถอาศัยเพียงเครือข่ายหัวคะแนน ความสัมพันธ์ส่วนตัว หรือลักษณะส่วนบุคคลของผู้สมัครแบบเดิมแล้ว แต่ต้องมีข้อเสนอที่ตอบโจทย์ทั้งประเด็นจุดยืนทางการเมือง อุดมการณ์ และนโยบายสำหรับการเลือกตั้งด้วย

ในบางที่แม้จะเป็นไข่แดงเหมือนกัน แต่ในวันนี้อาจจะต้องแยกแยะลักษณะไข่แดงซึ่งแปรเปลี่ยนมาเป็นประเด็นที่พวกเขาสนใจ ไข่แดงบางกลุ่มอาจสนใจนโยบายทางเศรษฐกิจที่พรรคการเมืองจะทำเช่นไรก็ได้เพียงต้องการให้เศรษฐกิจเติบโต หรือไข่แดงอีกกลุ่มอาจต้องการความเปลี่ยนแปลงในมิติอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นมิติการเมืองเชิงอุดมการณ์หรือหลักนิติธรรม

ณพล จาตุศรีพิทักษ์

ก่อนหน้านี้คุณมีงานวิจัยเรื่องระบบอุปถัมภ์ในการเมืองไทยตั้งแต่ช่วง 2540 จนถึงปัจจุบัน ในวันที่ประเทศไทยเป็นเหมือนไข่ดาวหลายใบเช่นนี้ ระบบอุปถัมภ์มีความเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง

แม้พื้นที่ชนบทจะมีความเป็นเมือง ประชาชนเข้าถึงบริการของภาครัฐมากขึ้น ตลอดจนการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ถึงชนชั้นรากหญ้า ทำให้ประชาชนที่อยู่ในฐานะผู้รับการอุปถัมภ์มีอำนาจต่อรองมากขึ้น แต่สิ่งที่สังคมไทยยังเหมือนเดิมคือมีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและการเข้าถึงโอกาสในสังคม

ประชาชนหลายคนอาจเข้าถึงบ้านที่มีน้ำไหล ไฟสว่าง หรือทางสะดวกแล้ว แต่คุณมีลูกที่ต้องเข้าเรียนในเมืองให้ได้ หรือมีภาระหนี้ ความไม่แน่นอนในชีวิตนำมาซึ่งความเปราะบางจนเป็นช่องว่างจนนำไปสู่ระบบอุปถัมภ์ให้ดำรงอยู่เหมือนเดิม

หนึ่งในโมเดลของระบบอุปถัมภ์ที่เกิดขึ้นและมีความน่าสนใจ คือ ‘บุรีรัมย์โมเดล’ ที่พัฒนามาจาก ‘บรรหารบุรี’ ของคุณบรรหาร ศิลปอาชา เพียงแต่บุรีรัมย์โมเดลเอาธุรกิจระดับชาติลงในจังหวัดตนเองมากกว่าบรรหารบุรี

คุณเชื่อไหมว่า ช่วงที่ผมทำวิจัย ผมเคยไปการสนทนากลุ่ม (focus group) หลายคนในภาคใต้อยากเห็นจังหวัดเขาพัฒนาเหมือนบางจังหวัดในภาคอีสาน และจังหวัดที่เขามักจะพูดถึงคือ ‘บุรีรัมย์’ ทั้งหมดนี้สะท้อนว่าประชาธิปไตยระดับจังหวัดที่เขาเจอไม่ได้ตอบโจทย์ชีวิตของเขาในมิติของการพัฒนาสิ่งต่างๆ ในจังหวัดได้


ที่ผ่านมา พรรคพลังประชารัฐ และ พรรครวมไทยสร้างชาติ บางส่วนก็มาจากกลุ่มก้อนทางการเมือง ทั้งบ้านใหญ่ ตระกูลการเมือง จนหลายฝ่ายมองว่าเป็น ‘พรรคการเมืองเฉพาะกิจ’ คุณมองว่าทั้งสองพรรคนี้ยังเป็นพรรคเฉพาะกิจอยู่หรือไม่ หรือพรรคสามารถจัดวางอยู่ในสนามทางการเมืองในระยะยาวได้แล้ว

พรรคการเมืองเฉพาะกิจ หมายถึง พรรคการเมืองเกิดขึ้นเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ของใครบางคน และเมื่อบรรลุวัตถุประสงค์เหล่านั้นแล้วพรรคก็จะหายไป ดังนั้น หากเราจะพิจารณาว่าทั้งพรรคพลังประชารัฐและพรรครวมไทยสร้างชาติ คำถามคือ วัตถุประสงค์ของพรรคเหล่านั้นคืออะไร ของใคร และจวบจนปัจจุบันนี้บรรลุแล้วหรือไม่

หากย้อนไปเมื่อ 2562 วัตถุประสงค์ของพรรคพลังประชารัฐมาเกิดขึ้นจากกลุ่มต่างๆ ในพรรค โดยกลุ่มแรกต้องการสืบทอดอำนาจแก่คุณประยุทธ์ และอีกกลุ่มใช้โอกาสนี้ในการสร้างฐานทางการเมืองของตนเองเพื่อส่งตนเองเข้าสภา หรือปกป้องตนเองจากคดีความโดยอาศัยอำนาจรัฐ

จากผลการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 เราต้องยอมรับว่าวัตถุประสงค์ของทั้งสองกลุ่มในพรรคพลังประชารัฐสำเร็จแล้วระดับหนึ่ง แต่หลังจากนั้นกลุ่มในพรรคพลังประชารัฐก็เกิดวัตถุประสงค์ใหม่เกิดขึ้นมา เพื่อสู้ศึกในการเลือกตั้งปี 2566 ภายใต้การบังคับบัญชาของพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ทำให้พรรคพลังประชารัฐมีความยั่งยืนในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองมากกว่าพรรคเฉพาะกิจอื่นๆ เช่น พรรคสามัคคีธรรม แต่ในท้ายที่สุดพรรคพลังประชารัฐก็ยังคงเป็นพรรคการเมืองเฉพาะกิจอยู่ดี

สำหรับพรรครวมไทยสร้างชาติ ผมเริ่มไม่แน่ใจแล้วว่าตอนนี้วัตถุประสงค์ของพรรครวมไทยสร้างชาติคืออะไร ส่วนหนึ่งคงเป็นตัวเลือกของฐานเสียงของอนุรักษนิยมที่ผิดหวังจากพรรคพลังประชารัฐและพรรคประชาธิปัตย์ เพราะคุณประยุทธ์เป็นเหมือนภาพลักษณ์สำคัญที่สะท้อนว่าพรรคมีอุดมการณ์ทางการเมืองเช่นไร แต่ในวันนี้ที่คุณประยุทธ์ออกจากหน้าฉากการเมืองไปแล้ว ความชัดเจนเรื่องอุดมการณ์ทางการเมืองที่ชัดเจนก็อาจจะน้อยลง


พรรครวมไทยสร้างชาติต้องหาจุดยืนใหม่ในวันที่ไร้ประยุทธ์หรือไม่

การหาคำตอบประเด็นนี้เป็นเรื่องที่ยากมาก ที่ผ่านมาหลายคนเคยตั้งข้อสังเกตว่า ประเทศไทยไม่มีพรรคอนุรักษนิยมที่แข็งแรง ซึ่งพรรครวมไทยสร้างชาติอาจเป็นหนึ่งในตัวเลือกของพรรคการเมืองที่มีความคิดแบบอนุรักษนิยมได้ เพียงแต่พรรคต้องสร้างแบรนด์พรรคให้แข็งแรงกว่านี้

ที่ผ่านมาประชาชนที่มีความคิดแบบอนุรักษนิยมปานกลาง (moderate conservatism) ไม่มีพรรคที่เป็นตัวแทนของเขาเมื่อเทียบกับกลุ่มอนุรักษนิยมสุดขั้ว พวกเขาอยู่ในสภาวะที่เลือกพรรคเพื่อไทยก็ไม่ได้ เลือกพรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่ลง

ผมว่าพรรครวมไทยสร้างชาติอาจจะต้องทำให้พรรคมีจุดยืนแบบอนุรักษนิยมปานกลาง (moderate conservatism) ให้ได้ เพราะเป็นเหมือนโอกาสดีที่จะดึงฐานเสียงที่เป็นกลุ่มอนุรักษนิยมปานกลางซึ่งเคยเลือกพรรคประชาธิปัตย์ เพราะพรรครวมไทยสร้างชาติมีจุดยืนเชิงอุดมการณ์ชัดเจนกว่าพรรคประชาธิปัตย์แต่ดูเหมือนทิศทางของพรรคกลับเลือกที่จะเดินไปทางขวามากขึ้น

หากวันนี้พรรครวมไทยสร้างชาติสามารถรักษาจุดยืนทางการเมืองของพรรคไม่ให้เดินไปทางขวามากกว่านี้ และเคารพต่อหลักการประชาธิปไตย อาจเป็นผลดีต่อระบอบประชาธิปไตยด้วยซ้ำ เพราะพรรครวมไทยสร้างชาติจะสามารถเป็นผู้พิทักษ์ผลประโยชน์ของฝ่ายอนุรักษนิยมไทยได้ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย ทำให้การล้มรัฐบาลโดยรัฐประหารหรือช่องทางนอกรัฐธรรมนูญหมดความหมายไปในที่สุด


ในวันที่กลุ่มอนุรักษนิยมปานกลางก็ไม่ได้เลือกประชาธิปัตย์แล้ว โจทย์ใหญ่ของพรรคประชาธิปัตย์คืออะไร

โจทย์ใหญ่ของพรรคประชาธิปัตย์คือความชัดเจนของจุดยืนเชิงอุดมการณ์และการยึดอุดมการณ์นั้นไปสู่แนวทางในการปฏิบัติจริง ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่และปัญหาหลักของพรรคมาโดยตลอด เนื่องจากบางทีจุดยืนของพรรคชัดเจนแต่ก็ไม่ได้เป็นไปตามนั้น เช่น คุณอภิสิทธิ์เคยบอกว่าพรรคเป็นเสรีนิยมประชาธิปไตย แต่ว่าพฤติกรรมและจุดยืนของพรรคที่ผ่านมากลับไม่เป็นเช่นนั้น

พรรคประชาธิปัตย์ต้องการหาจุดยืนที่สมดุลภายใต้สนามการเมืองเช่นนี้ แม้แต่ภารกิจอย่างการปราบทุจริตก็ถูกพรรคก้าวไกลเข้ามาช่วงชิงพื้นที่ไปแล้ว ทำให้คำถามสำคัญต่อพรรคประชาธิปัตย์คือพรรคจะสร้างกระแสความนิยมอย่างไรในขณะที่ทำงานเป็นฝ่ายค้าน เพราะว่าเมื่อเปรียบเทียบระหว่างพรรคก้าวไกลและพรรคประชาธิปัตย์พบว่า แม้พวกเขาจะทำงานเป็นพรรคฝ่ายค้านด้วยกัน แต่พรรคก้าวไกลสามารถสร้างคะแนนนิยมได้ ซึ่งแตกต่างจากพรรคประชาธิปัตย์ที่มีฐานเสียงบางกลุ่มคาดหวังให้พรรคเข้าไปร่วมรัฐบาล


หลังการจัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว ก็เริ่มมีหลายคนมองว่าพรรคเพื่อไทยจะกลายเป็นพรรคใหญ่ของขั้วอนุรักษนิยม และพรรคก้าวไกลจะเป็นพรรคใหญ่ของขั้วเสรีนิยม คุณมองอย่างไรกับประเด็นนี้

ผมเห็นด้วยว่าพรรคก้าวไกลจะเป็นพรรคใหญ่ในขั้วเสรีนิยม เพราะผลการเลือกตั้งในปี 2566 พรรคก้าวไกลชนะมากกว่า 100 ที่นั่ง ด้วยจุดยืนทางการเมืองและนโยบายที่เป็นเสรีนิยมโดยชัดเจนและแตกต่าง แต่ผมไม่เห็นด้วยเลยที่จะบอกว่าพรรคเพื่อไทยจะกลายเป็นตัวเลือกของฐานเสียงฝั่งอนุรักษนิยมโดยอัตโนมัติ และพรรคเพื่อไทยก็จะไม่กลายเป็นเนื้อเดียวกับอนุรักษนิยม

เนื่องจากจุดยืนของพรรคเพื่อไทยในปัจจุบันเกิดขึ้นภายใต้โครงสร้างของการเมืองที่หลงเหลืออยู่จากยุค คสช. ทำให้การสลับขั้วทางการเมืองจึงเกิดขึ้นเพื่อเข้าสู่อำนาจทางการเมืองเท่านั้น ไม่ได้มาจากจุดยืนเชิงอุดมการณ์แต่อย่างใด และเป็นไปไม่ได้เลยที่ฐานเสียงที่เป็นฝ่ายอนุรักษนิยมจะมาเลือกพรรคเพื่อไทยโดยไม่ตั้งคำถามอะไรเลย สำหรับพวกเขาพรรคเพื่อไทยก็ไม่น่าจะไว้วางใจได้ในฐานะกำแพงที่จะปกป้องสถาบันฯ และกองทัพได้ เพราะแม้แต่สัญญาที่ให้ไว้กับฐานเสียงของตนเองก็ยังไม่สามารถรักษาไว้ได้

ผมจัดประเภทพรรคเพื่อไทยหลังการเปลี่ยนขั้วทางการเมืองว่าพรรคใกล้เคียงกับพรรคภูมิใจไทยและพรรคพลังประชารัฐ ที่เป็น ‘pragmatic party’ คือพร้อมที่จะฉวยจังหวะและโอกาสโดยอาศัยโครงสร้างทางการเมืองไม่ว่าด้วยรูปแบบใดเพื่อเข้าสู่อำนาจทางการเมือง


การตัดสินใจสลับขั้วทางการเมืองของพรรคเพื่อไทยภายใต้ภูมิทัศน์ทางการเมืองที่เปลี่ยนแปลงเช่นนี้อาจทำให้คะแนนเสียงของพรรคเพื่อไทยลดลง อะไรคือโจทย์ใหญ่ของพรรคเพื่อไทยที่ต้องทำให้สำเร็จหากต้องการรักษาฐานคะแนนเสียงเดิม

ผมอยากจำแนกฐานเสียงของพรรคเพื่อไทยออกเป็นสามกลุ่มที่ทับซ้อนกัน ประกอบด้วย

กลุ่มแรก คือ กลุ่มที่เลือกพรรคเพื่อไทยด้วยจุดยืนเชิงอุดมการณ์ อาจจะเป็นอุดมการณ์ประชาธิปไตย หรือเป็นอุดมการณ์ที่เอื้อต่อวิถีชีวิตของฐานผู้คนรากหญ้าที่ทับซ้อนกับฐานมวลชนเสื้อแดง

กลุ่มฐานเสียงเหล่านี้ผิดหวังกับการตัดสินใจสลับขั้วของพรรคครั้งที่ผ่านมา และเป็นเรื่องยากที่พรรคจะดึงคะแนนเสียงของกลุ่มนี้คืนไป โอกาสเดียวที่คุณทำได้คือ ถ้าฐานเสียงกลุ่มนี้เลือกพรรคเพื่อไทยเพราะอุดมการณ์ พรรคก็ต้องส่งมอบนโยบายในเชิงอุดมการณ์ได้ เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญ การทวงคืนความยุติธรรมให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สลายการชุมนุม หรือนำกองทัพออกจากการเมือง เป็นต้น

กลุ่มที่สอง คือ ‘ฐานนโยบาย’ ที่เลือกพรรคเพื่อไทยเพราะเป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์โดยตรงจากนโยบายของพรรคเพื่อไทย หรือพรรคไทยรักไทยและพรรคพลังประชาชนในอดีต

กลุ่มนี้ภักดีต่อพรรคเพื่อไทยมากที่สุด เพราะเป็นกลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากนโยบายของพรรคเพื่อไทยมาโดยตลอด แต่ก็เป็นอุปสรรคสำหรับพรรคเพื่อไทยว่าการเป็นรัฐบาลรอบนี้จะส่งมอบนโยบายได้หรือไม่ ท่ามกลางอุปสรรคมากมาย ทั้งเงื่อนไขในการจัดตั้งและดำรงไว้ซึ่งรัฐบาล ทั้งอำนาจต่อรองที่มีอยู่อย่างจำกัดในรัฐบาลผสมที่พรรคเพื่อไทยกลายเป็นเสียงส่วนน้อย ทั้ง ป.ป.ช. หรือศาลรัฐธรรมนูญ

กลุ่มที่สาม คือ กลุ่มที่เลือกพรรคเพื่อไทยเพราะผู้สมัครของพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าผู้สมัครคนนั้นจะย้ายไปลงสมัครกับพรรคใด ฐานเสียงเหล่านั้นก็จะตามไป

กลุ่มนี้ขึ้นอยู่กับ ส.ส. ที่ยังสังกัดอยู่ในพรรคเพื่อไทย ณ ปัจจุบัน ผมจึงคิดว่าถ้าพรรคสามารถรักษาคะแนนเสียงกลุ่มแรกและกลุ่มสองได้ดี ฐานเสียงกลุ่มนี้ก็จะไม่มีปัญหา แต่เมื่อไหร่ที่พรรคเพื่อไทยเพลี่ยงพล้ำ ไม่ว่าจะเป็นจุดยืนเชิงอุดมการณ์หรือกระแสของพรรคไม่เท่าเดิม อาจต้องยกระดับการดูแล ส.ส. ให้มากขึ้น


ท้ายที่สุดแล้ว อะไรคือโจทย์ใหญ่หรือความท้าทายของพรรคการเมืองที่ต้องเผชิญก่อนเลือกตั้งครั้งต่อไป

พรรคการเมืองต้องเผชิญโจทย์ใหญ่และความท้าทายใหม่ทั้งหมด 3 ประการ ประกอบด้วย

ประการแรก คือ จุดยืนเชิงอุดมการณ์ เนื่องจากเราอยู่ในสภาพแวดล้อมทางการเมืองที่ผูกโยงกับประเด็นสถาบันกษัตริย์ แต่ด้วยข้อจำกัดทางกฎหมายส่งผลให้พรรคการเมืองไม่สามารถเสนอนโยบายที่เกี่ยวข้องกับประเด็นนี้ได้อย่างตรงไปตรงมาหากเป็นนโยบายที่อาจถูกตีความได้ว่ากระทบต่อสถานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้

นี่จะเป็นโจทย์ของพรรคการเมืองว่า หากในวันนี้ผู้คนคาดหวังนโยบายบางอย่างจากระบบพรรคการเมืองและระบบเลือกตั้ง แต่พรรคการเมืองกลับไม่สามารถนำเสนอนโยบายหรือสะท้อนอุดมการณ์ทางความคิดนี้ได้จะเป็นอย่างไร

ประการที่สอง คือ บทบาทขององค์กรอิสระและองค์กรตุลาการที่ทำให้พรรคการเมืองอาจต้องคำนึงถึงว่า แม้คุณจะชนะการเลือกตั้งได้ แต่คุณไม่สามารถทำนโยบายหรือผลักดันวาระที่คุณนำเสนอไว้กับประชาชนได้ ถ้าเราปล่อยไปเช่นนี้โดยไม่มีการปฏิรูปก็ไม่น่าจะเป็นผลดีต่อพรรคการเมืองและระบบรัฐสภาในระยะยาว

ประการสุดท้าย คือ ความเป็นสถาบันพรรคการเมืองของไทย ปัญหานี้มีมาโดยตลอดไม่ใช่แค่การเลือกตั้งที่ผ่านมา

เนื่องจากพรรคการเมืองในประเทศไทยมีความยึดโยงกับประชาชนค่อนข้างน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับหลายๆ ประเทศ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะประชาธิปไตยไทยถูกตัดตอนมาโดยตลอด ไม่ปล่อยให้พรรคการเมืองมีความยั่งยืนมากเท่าไหร่ ก็เป็นโจทย์หลักของพรรคการเมืองและสังคมไทยว่าจะทำอย่างไรให้พรรคการเมืองไทยสามารถลงหลักปักฐานได้อย่างแท้จริง เพื่อที่จะสามารถขับเคลื่อน ผลักดัน และส่งมอบนโยบายได้สำเร็จ

โจทย์ประการที่สองซึ่งเกี่ยวข้องกับบทบาทขององค์กรอิสระและองค์กรตุลาการ น่าจะเป็นเรื่องที่ปฏิรูปได้ไวที่สุดและสำคัญที่สุด เพราะองค์กรอิสระและองค์กรตุลาการเป็นช่องทางหลักที่ผู้มีอำนาจในสังคมใช้บ่อนทำลายสถาบันพรรคการเมืองของไทย หากผลักดันข้อนี้ได้สำเร็จ พรรคการเมืองไทยก็จะมีความเป็นสถาบันทางการเมืองมากขึ้น

แต่สำหรับข้อหนึ่งผมไม่แน่ใจ

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save