fbpx

“จะทำให้กรุงเทพฯ เล็กลงอย่างไร?” คำถามที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ยังไม่ได้ตอบ

ภาพรถติดยาวเหยียดบนถนนมิตรภาพที่คนพากันขับออกจากกรุงเทพฯ มุ่งสู่ภาคอีสานในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เป็นข่าวภาคบังคับที่ต้องมีให้เห็นผ่านสื่อทุกๆ ปี ควบคู่กับการรายงานยอดผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนตลอดห้วงเวลาที่ถูกเรียกว่า ‘7 วันอันตราย’

ไม่รู้ปีนี้รถราหนาแน่นน้อยกว่าหลายปีก่อนหรือไม่ สถานการณ์โควิดทำให้ผู้คนต้องลาจากเมืองใหญ่กลับไปใช้ชีวิตทำมาหากินอยู่ที่บ้านกันมากขนาดไหน ที่แน่ๆ กระแสข่าวการหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าฯ ที่อัดอั้นมากว่า 9 ปีกลบการ ‘นับศพ’ จำนวนผู้เสียชีวิต (ที่ลดลงจากค่าเฉลี่ยในรอบ 3 ปีให้หลัง) เสียสนิท

สื่อเกาะติดการเลือกตั้งผู้ว่าฯ คราวนี้กันอย่างคึกคัก จากอินโฟกราฟิกที่พรั่งพรูออกมาจากเพจข่าวต่างๆ[1] ช่วยสะท้อนแง่มุมหลากหลาย ได้เห็นถึงทรัพยากรมากมายก่ายกองที่กรุงเทพฯ มีและใช้ไป รวมถึงปัญหาสารพัดที่รอคอยการแก้ไข ซึ่งเมื่อย้อนกลับไปดูการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ ในอดีตก็มีหลายประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

สถิติเกี่ยวกับการเลือกตั้งที่ผ่านมา

  • เลือกตั้งครั้งสุดท้ายเกิดในปี 2556 ซึ่งเป็นครั้งที่มีผู้มาใช้สิทธิสูงที่สุดด้วย คิดเป็นร้อยละ 63.98
  • ผู้ว่าฯ ที่ได้คะแนนเกินหลักล้านมี 2 คน คือ สมัคร สุนทรเวช (1,016,096 คะแนน เมื่อปี 2543) กับ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร (1,256,349 คะแนน เมื่อปี 2556)  
  • เขตทวีวัฒนากับเขตสะพานสูงเป็นเขตที่มีปริมาณคนออกมาใช้สิทธิเลือกผู้ว่าฯ มากที่สุดในการเลือกตั้ง 4 หนล่าสุด ขณะที่เขตคลองเตย เขตดุสิต และเขตราชเทวีคือเขตที่มีปริมาณคนออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งกันน้อยที่สุด
  • ชาว กทม. มีแนวโน้มที่จะเลือกผู้ว่าฯ กับ ส.ก. ที่อยู่ในพรรคหรือสายการเมืองกลุ่มเดียวกันเป็นส่วนมาก

คุณลักษณะของผู้ว่าฯ ที่ได้รับเลือก

  • มีผู้สมัครประกาศตัวว่าอิสระชนะเลือกตั้งแค่ 2 ครั้ง
  • ผู้สมัครสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ได้รับการเลือกตั้งมากที่สุดรวม 5 สมัย และชนะติดต่อกัน 4 สมัยมาแล้ว นับแต่ปี 2547 โดยมีคะแนนเข้ามาเป็นอันดับ 1 ได้ถึง 40 เขตจากทั้งหมด 50 เขต
  • บรรดาผู้ว่าฯ กทม. ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดมีเพียงอภิรักษ์ โกษะโยธินคนเดียวเท่านั้นที่ก่อนเป็นผู้ว่าฯ สมัยแรกไม่ได้มีตำแหน่งสำคัญหรือประสบการณ์ทำงานสายการเมือง และไม่เคยมีผู้หญิงได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ มาก่อน ทั้งที่ก็เคยมีผู้สมัครตัวเก็งที่เป็นผู้หญิงมาแล้วก็หลายหน

สถิติเกี่ยวกับการเลือกตั้งครั้งนี้

  • จำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 4,374,131 คน ผู้สมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. 31 คน ถือว่าเป็นครั้งที่มีจำนวนผู้สมัครมากที่สุดแล้ว ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ก. 382 คน
     
  • งบประมาณจัดการเลือกตั้ง 343,646,370 บาท กกต.ให้ใช้เงินหาเสียงได้ไม่เกินคนละ 49 ล้านบาท สำหรับผู้ซึ่งลงสมัครในตำแหน่งผู้ว่าฯ

จำนวนประชากร/ผู้มีสิทธิเลือกตั้งแต่ละช่วงวัย

  • ผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรกหรือ First Time Voter อายุ 18-27 ปีมี 698,660 คน หรือ 16% ขณะที่เสียงส่วนใหญ่อยู่ในมือคน Gen Y ที่มีอายุระหว่าง 28-40 ปี คิดเป็น 23% กับ Baby Boomer วัย 60 ปีขึ้นไปที่มี 22%

รายได้/เงินเดือนของผู้ว่าฯ, ส.ก.

  • ผู้ว่าฯ มีรายได้รวมต่อเดือน 113,560 บาท ส่วน ส.ก. รวมรายได้ต่อเดือน 48,450 บาท

การสังกัดพรรคของผู้สมัครหรือลงในนามอิสระ

  • มี 5 พรรคที่ส่งผู้สมัคร ส.ก. ลงครบทั้ง 50 เขต ได้แก่ พรรคก้าวไกล พรรคไทยสร้างไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคพลังประชารัฐ และพรรคเพื่อไทย โดยในกลุ่มผู้สมัครผู้ว่าฯ ตัวเก็งมีอยู่หลายคนที่ประกาศว่าลงแบบอิสระ

ผลโพลทุกระยะจากหลายสำนัก

  • ทั้งนิด้าโพล ซุปเปอร์โพล โพลธรรมศาสตร์ สวนดุสิตโพล ยังมีกลุ่มตัวอย่างที่ตอบว่ายังไม่ได้ตัดสินใจในสัดส่วนค่อนข้างสูง

นโยบายที่ผู้ว่าฯ ในอดีตใช้หาเสียง

  • นโยบาย 3 เรื่องหลักที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ มักนำมาใช้ในการหาเสียงทุกครั้ง ได้แก่ นโยบายแก้ปัญหาการจราจร สิ่งแวดล้อม และการศึกษา โดยคราวนี้ประเด็นเรื่องพื้นที่สีเขียว และสวนสาธารณะกลายเป็นนโยบายสำคัญของผู้สมัครเกือบทุกคนก็ว่าได้

แผนพัฒนา กทม.

  • กรุงเทพฯ มีผู้ว่าฯ กทม. มาแล้ว 16 คน และมีแผนพัฒนากรุงเทพฯ 8 ฉบับ ผู้ว่าฯ ที่มีโอกาสได้ใช้แผนพัฒนาฉบับที่ตนเองลงนามมีเพียงแค่ 4 คน เนื้อหาไม่ได้แตกต่างกันมากนัก ครอบคลุมเรื่องที่ดินและผังเมือง การจราจร การระบายน้ำ การกำจัดน้ำเสีย ขยะมูลฝอย การศึกษา สาธารณสุข สิ่งแวดล้อม พัฒนาชุมชน และสวัสดิการสังคม หลายประเด็นเป็นปัญหาเรื้อรังที่ยังไม่สามารถแก้ไขให้สำเร็จได้ง่ายๆ จึงปรากฏอยู่ในแผนมาทุกฉบับจนถึงปัจจุบัน

รายได้ และการใช้จ่ายงบประมาณ

  • ปีงบประมาณ 2564 กทม. มีรายได้ 69,728.57 ล้านบาท แยกเป็นจัดเก็บเอง 5,825.79 ล้านบาท ได้มาจากภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมากที่สุด 1,802.42 ล้านบาท กับรายได้ที่ส่วนราชการอื่นจัดเก็บให้ มากที่สุดอยู่ที่ภาษีมูลค่าเพิ่ม 28,638.16 ล้านบาท
  • ขณะที่รายจ่าย ปีงบประมาณ 2565 ตั้งเอาไว้ 79,855 ล้านบาท หน่วยที่ได้งบเยอะสุดคือ สำนักการระบายน้ำ 7,004 ล้านบาท เพื่อรองรับปัญหาน้ำท่วม และนำไปใช้ในภารกิจงานเก็บขยะมูลฝอยและขนถ่ายสิ่งปฏิกูล 3,154 ล้านบาท
  • ถ้าในรอบครึ่งศตวรรษ (2516-2565) สำนักที่ใช้งบประมาณมากที่สุดคือสำนักการโยธาซึ่งทำเรื่องโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ จำนวน 173,497 ล้านบาท
  • แต่ในช่วง 10 ปีหลัง (ตั้งแต่ปี 2555) เริ่มเห็นงบประมาณของสำนักสิ่งแวดล้อมสูงขึ้นเรื่อยๆ และในหลายๆ ปีสูงกว่าสำนักการโยธา เช่นเดียวกับสำนักระบายน้ำที่ตีควบคู่กันมา

สวนสาธารณะ-พื้นที่สีเขียว

  • ปัจจุบันอัตราพื้นที่สีเขียวต่อจำนวนประชากรในกรุงเทพฯ อยู่ที่ 7.49 ตารางเมตร/คน กทม. มีสวนสาธารณะจำนวน 133 แห่ง
  • เขตที่มีจำนวนสวนสาธารณะที่เข้าถึงได้มากที่สุดก็คือ เขตพระนคร 11 แห่ง
  • เขตที่มีพื้นที่สวนสาธารณะต่อจำนวนประชากรสูงสุดคือ เขตปทุมวัน 14.78 ตารางเมตร/คน
  • สวนสาธารณะส่วนใหญ่มักกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่ชั้นในและพื้นที่เศรษฐกิจเกือบทั้งหมด และจากสวนสาธารณะหลัก 39 แห่งเป็นของ กทม.เองเพียง 10 แห่งเท่านั้น

รถเมล์

  • รถเมล์ที่วิ่งให้บริการในกรุงเทพฯ มีทั้งสิ้น 226 สาย
  • ผ่านเขตราชเทวีมากที่สุดถึง 64 สาย ขณะที่เขตคลองสามวาซึ่งมีรถเมล์ผ่านน้อยที่สุดมีเพียง 2 สาย ทั้งๆ ที่เป็นเขตที่มีประชากรมากเป็นอันดับ 2 ของกรุงเทพฯ

การจัดการขยะ

  • ในช่วงปี 2555-2562 กทม. ใช้งบจัดการขยะไปทั้งสิ้น 94,037 ล้านบาท คิดเป็น 16.18% ของงบประมาณทั้งหมด
  • ในปี 2563 กทม. สร้างขยะ 12,281 ตัน/วัน ส่วนใหญ่เป็นขยะที่ต้องนำไปกำจัด 8,609 ตัน/วัน
  • กทม.ใช้รถเก็บขนมูลฝอยจำนวน 2,140 คัน เป็นรถของ กทม. 495 คัน และรถเช่าอีก 1,571 คัน
  • เก็บขยะไปรวมไว้ที่สถานีขนถ่ายมูลฝอยหลัก 3 สถานีคือ อ่อนนุช หนองแขม และสายไหม ก่อนขนถ่ายไปฝังกลบยังบ่อขยะใน จ.นครปฐม และ จ.ฉะเชิงเทรา

กรุงเทพธนาคม

  • วิสาหกิจของ กทม. ที่ กทม. มีสัดส่วนการถือหุ้น 99.98%
  • โครงการที่กรุงเทพธนาคมจัดทำตามการว่าจ้าง และมอบหมายของ กทม. หลายโครงการไม่มีประสิทธิภาพ และไม่โปร่งใส จ้างเอกชนดำเนินการแทนหลายโครงการ โดยเฉพาะการให้สัมปทานรถไฟฟ้าแก่ BTS เจ้าเดียวยาวนานถึง 30 ปี นำมาซึ่งภาพการเอื้อประโยชน์และผูกขาดทางธุรกิจ


ข้างต้นคือข้อมูลเพียงบางส่วนของกรุงเทพฯ ที่ลองคัดสรรมานำเสนอเท่านั้น แต่สำหรับคนต่างจังหวัดแค่คิดว่าจะไปหาข้อมูลในหลายๆ ประเด็นเหล่านี้ได้จากที่ไหนยังลำบากเลย

ชัดเจนว่ากรุงเทพฯ เป็นเมืองโตเดี่ยว หรือ ‘เอกนคร’ (primate city) ที่ซึ่งมีการพัฒนากระจุกตัวมากกว่าเมืองไหนในประเทศ เป็นผลสืบเนื่องมาตั้งแต่อดีต โดยเฉพาะอย่างยิ่งนับแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติเมื่อปี 2504 ตามแนวทางในการพัฒนาประเทศภายใต้ทฤษฎีไหลล้น (Trickle-down Effect) เน้นการรวมศูนย์การพัฒนาด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ การศึกษา การท่องเที่ยว ฯลฯ และมุ่งใช้งบลงทุนภาครัฐ ณ จุดศูนย์กลางเดียว โดยเฉพาะกับด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้วยเชื่อว่าความเจริญจะกระจายไปสู่พื้นที่ชนบทที่อยู่รายล้อม เปรียบกับการรินน้ำจนล้นจากแก้วไหลลงไปสู่บริเวณข้างเคียง

แต่เมื่อกรุงเทพฯ เกินแบกรับ และเต็มไปด้วยปัญหา รูปธรรมหนึ่งก็คือการเกิดขึ้นของสลัม (ชุมชนแออัด) ในย่านต่างๆ แผนยุคต่อๆ มาต้องเริ่มกำหนดเมืองเป้าหมายในการพัฒนาของแต่ละภูมิภาคขึ้น แบ่งเป็นเมืองหลักกับเมืองรอง เพื่อให้เกิดการกระจายความเจริญออกสู่หัวเมืองในภาคต่างๆ จากนั้นจึงเน้นการพัฒนาจังหวัดอุตสาหกรรม โดยเฉพาะพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก ก่อนจะหันมาใช้นโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตามเมืองชายแดน แต่ยังไม่ประสบผลสำเร็จ ปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างกรุงเทพฯ กับต่างจังหวัดก็ยังคงมีอยู่สูง โดยเฉพาะในเชิงเศรษฐกิจ ที่เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้กรุงเทพฯ มีพลังดึงดูดประชากรจากทุกสารทิศหลายล้านหลั่งไหลเข้าไปยัดทะนานกันอยู่ ไม่ว่าจะมองมุมของรายได้เฉลี่ยต่อเดือนต่อครัวเรือน (39,459.36 บาท ข้อมูลปี 2562) หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (5,270,460 ล้านบาท ข้อมูลปี 2563) หรือปัจจัยอื่นใดทางเศรษฐกิจ

ยิ่งได้เห็นข้อมูลงบประมาณภาครัฐยิ่งชัด การจัดสรรงบประมาณของไทยย้อนหลัง 13 ปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2552-2564 พบว่าในภาพรวมการจัดสรรงบประมาณยังคงมีลักษณะของการรวมศูนย์อำนาจ มีการกระจุกตัว เน้นการบริหารงานจากส่วนกลาง (งบประมาณอาจไปลงพื้นที่จังหวัดก็จริง แต่จัดสรรให้ผ่านกระทรวง/กรม) และกรุงเทพมหานคร คิดเป็นค่าเฉลี่ยรวมสูงถึงร้อยละ 81.24 ของงบประมาณเฉลี่ยทั้งหมด ตัวเลขเฉพาะกรุงเทพฯ อยู่ที่ร้อยละ 31.04 คงเหลืองบประมาณลงพื้นที่จังหวัดเพียงร้อยละ 18.58 เฉพาะนนทบุรีกับกรุงเทพฯ ได้งบประมาณในสัดส่วนขนาดใหญ่กว่างบประมาณที่จัดสรรให้กับ 75 จังหวัดรวมกันเสียอีก นอกจากนี้ยังถือเป็น 2 จังหวัดแรกที่มีอัตราการเพิ่มขึ้นของงบประมาณเฉลี่ยสูงสุด และได้รับงบประมาณเฉลี่ยต่อหัวสูงสุดอีกเช่นกัน[2]

นโยบายการคลังเช่นนี้เองมีส่วนทำให้กรุงเทพฯ โตเอาๆ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

หากลองเทียบกับประเทศอื่นที่มีประชากรใกล้เคียงกัน แต่มีการกระจายรายได้ดีกว่าไทย พบว่าทุกประเทศมีการกระจายตัวของขนาดเมืองดีกว่าไทยทั้งสิ้น อาทิ เยอรมนี สเปน เกาหลีใต้[3]

ในเยอรมัน นอกจากเบอร์ลิน (Berlin) ที่เป็นเมืองหลวงขนาดใหญ่แล้ว เยอรมนียังมีเมืองขนาดใหญ่ใกล้เคียงกันกับเบอร์ลินอีกหลายแห่งตั้งกระจายทั่วพื้นที่ประเทศ ซึ่งเป็นเขตหลักที่ดึงดูดและเชื่อมโยงแรงงานที่หลากหลายตามบทบาททางเศรษฐกิจของแต่ละเมืองเข้าไว้ด้วยกัน ส่วนเมืองขนาดกลางถึงเล็กก็ถูกกำหนดให้มีบทบาทสำคัญร่วมด้วย อาทิ เป็นเมือง ศูนย์ราชการ เมืองหลวงทางธุรกิจ

สำหรับเกาหลีใต้ คงไม่พูดถึงเมืองแทกู (Daegu) ไม่ได้ ในฐานะเมืองอุตสาหกรรมสิ่งทอที่สามารถดึงดูดผู้คนจากชนบทเข้ามาทำงานและอาศัยอยู่เพิ่มขึ้นถึง 6 เท่าภายในระยะเวลา 40 ปี โดยในปี 1990 รัฐบาลเกาหลีใต้พยายามลดระยะห่างระหว่างเมือง เริ่มจากขยายเขตการปกครองให้ครอบคลุมถึงบริเวณพื้นที่ห่างไกลตัวเมือง พร้อมทั้งสร้างระบบขนส่งมวลชนให้ทั่วถึง และเชื่อมโยงเข้ากับเมืองอื่นในบริเวณใกล้เคียง ทำให้กิจการอุตสาหกรรมได้กระจายออกจากเมืองแทกูไปยังพื้นที่รอบนอก รัศมีไม่เกิน 90 กิโลเมตร ครอบคลุม 5 เมือง โดยแต่ละเมืองได้ปรับเปลี่ยนโอกาสให้เข้ากับศักยภาพท้องถิ่นจนกลายเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ประจำเมือง เช่น เมืองกูมิ (Gumi) ที่เชี่ยวชาญด้านอิเล็กทรอนิกส์ เมืองโปฮัง (Pohang) ที่มีโพสโคกับฮุนได บริษัทผู้ผลิตเหล็กและรถยนต์รายใหญ่ตั้งอยู่

แม้แต่ในสหรัฐอเมริกา เมืองใหญ่ที่เราคุ้นชื่อดีก็ไม่ใช่เมืองหลวงหรือศูนย์กลางราชการของหลายๆ มลรัฐ อาทิ รัฐนิวยอร์กมีเมืองหลวงคือ อัลบานี (Albany) ไม่ใช่นิวยอร์กซิตี้ แคลิฟอร์เนียเป็นซาคราเมนโต (Sacramento) ไม่ใช่แอลเอ เช่นเดียวกับอิลลินอยส์ซึ่งมิใช่ชิคาโก หากแต่เป็นสปริงฟิลด์ (Springfield)

ขณะที่กรณีของไทย ธนาคารโลกเคยเตือนไว้ตั้งแต่เมื่อ 10 กว่าปีก่อนแล้วว่าพื้นที่กรุงเทพฯ กำลังมีประชากรเข้าใกล้ 10 ล้านคน ขณะที่เขตเมืองอื่นๆ ของประเทศล้วนแต่มีประชากรไม่ถึง 500,000 คน ในรอบ 10 ปี (2543-2553) กรุงเทพฯ ขยายตัวเร็วมากจนมีขนาดใหญ่ยิ่งกว่ามหานครอื่นในเอเชีย อย่างจาการ์ตา มะนิลา และโซล พื้นที่ขยายตัวจาก 1,900 มาเป็น 2,100 ตารางกิโลเมตร และที่น่ากังวลคือ เกือบร้อยละ 80 ของพื้นที่เขตเมืองของประเทศไทยอยู่ที่กรุงเทพฯ[4]

การแก้ไขปัญหาของกรุงเทพฯ ระยะยาว จึงเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องทำให้เมืองเล็กลง กระชับขึ้น และไม่ได้เป็นทุกอย่างแบบที่เป็นอยู่ ซึ่งแน่นอนว่าไม่อาจตอบได้ด้วยการเลือกตั้งผู้ว่า กทม. ที่ผู้สมัครกำลังออกลุยหาเสียงกันอยู่ขณะนี้ หากแต่ต้องผลักดันให้เกิดการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ระดับชาติ โดยจำเป็นต้องอาศัยนโยบายของพรรคการเมืองที่เห็นแก่ความสำคัญของการกระจายอำนาจซึ่งนัยก็คือการกระจายความเจริญ และให้การเลือกตั้งใหญ่ที่จะมีขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ช่วยตอบ

ในวันที่ปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างกรุงเทพฯ กับต่างจังหวัดได้รับการแก้ไข เพลย์ลิสต์รวมเพลงแนวคิดถึงบ้าน เนื้อหาพูดถึงคนที่จากบ้านเพื่อเข้ามาทำงานหาเงินในเมืองหลวง และต้องการกำลังใจในการต่อสู้ชีวิต ที่มีให้ฟังในแอปฯ มิวสิกสตรีมมิ่งเหมือนอย่างทุกวันนี้ (ซึ่งไม่ได้มีแต่เพลงลูกทุ่ง เพลงสตริงก็เยอะ) ถึงตอนนั้นเพลงแนวนี้ก็คงจะไม่ค่อยมีใครกดฟังกันมากเท่าไรแล้ว สื่อเองก็คงต้องหันไปเล่นประเด็นอื่นแทน.


[1] ประมวลจากหลายเพจ และเรียบเรียงเข้าด้วยกัน ได้แก่ The Standard, The Matter, Thairath Plus, The Active, WeVis, Rocket Media Lab

[2] สำนักงบประมาณของรัฐสภา, ความเหลื่อมล้ำของจังหวัดกับการจัดสรรงบประมาณของไทย (ปี 2552-2564): เศรษฐกิจ สังคม และการพัฒนาคน, (กรุงเทพฯ: สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, 2564), 52-57, จาก https://www.parliament.go.th/ewtadmin/ewt/parbudget/ewt_dl_link.php?nid=959&fbclid=IwAR0b4TS3a_ZXV1mHcjJO1RKfl_0Gl0IB90g5o5A2ChIYYSuV8o2srl3mWrE

[3] ตัวอย่างเยอรมันกับเกาหลีใต้มาจาก อริสา จันทรบุญทา และจิรัฐ เจนพึ่งพร, ความเป็นเมือง (Urbanization) และนัยเชิงนโยบายของไทย, FOCUSED AND QUICK (FAQ) Issue 128 (25 June 2018), 1, 9-10, จาก

https://www.bot.or.th/Thai/MonetaryPolicy/ArticleAndResearch/FAQ/FAQ_128.pdf?fbclid=IwAR0LAPsKZKZf6kX6xjLJTf367tzrlLDyyC1huDv_4Ujhb1Lp0HuNNi0C13g

[4] “การพัฒนาเขตเมืองในประเทศไทยกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ,” The World Bank Group (26 มกราคม 2558), จาก https://www.worldbank.org/th/news/feature/2015/01/26/urbanization-in-thailand-is-dominated-by-the-bangkok-urban-area?fbclid=IwAR1QE1kocAYO8g0-ATZu2n9C3dPwDB84lKGno-R6zl997Bns3HBE7TRJu9Y

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save