fbpx

ราคาของ ‘เรื่องโง่ๆ’

“สงครามทั้งหมดเป็นเรื่องโง่เขลา

โหดร้ายและราคาแพง”

– เบนจามิน แฟรงกลิน

“ที่โลกเราวุ่นวายทุกวันนี้ เป็นเพราะคนแก่ที่ยังหลงกับอำนาจ” บารัค โอบามา เคยกล่าวไว้ตั้งแต่ช่วงแรกที่รัสเซียเริ่มการโจมตียูเครน แม้เขาไม่ได้เอ่ยชื่อใครเป็นพิเศษ แต่ในช่วงเวลาและสถานการณ์แบบนี้ ไม่ต้องบอกก็พอเดากันได้ว่าหมายถึงใคร

ตลอดวิวัฒนาการของมนุษย์ สงครามเป็นหนึ่งในเรื่องที่โง่ที่สุด ยังคงเป็นหลักฐานอันหนักแน่นว่ามนุษย์เราไม่ใช่สัตว์ผู้เจริญซึ่งวัฒนธรรมอันสูงส่ง เรายังคงหนีห่างสัญชาติดิบของเราไม่ได้อยู่ดี

ในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ สงครามถือเป็นกิจกรรมหลักอย่างหนึ่งของเรานะครับ ไปดูบันทึก ไม่ว่าของชาติไหน สงคราม การรุกรานเพื่อนบ้านล้วนเป็นส่วนสำคัญของทั้งความเสื่อมและความเจริญหลายต่อหลายอย่าง แต่กระนั้น เมื่อขึ้นชื่อว่าเป็นสงคราม ย่อมไม่มีใครเป็นผู้ชนะที่แท้จริง

เพราะการทำสงครามแต่ละครั้ง มีราคาที่ต้องจ่ายแพงสูงมาก โดยเฉพาะในยุคนี้ที่โลกเชื่อมถึงกันหมดเหมือนในภาพยนตร์ Babel (2006) คนยิ่งปืนสักนัดหนึ่ง คลื่นของความรุนแรงอาจส่งผลกระทบต่อไปมากว่าที่เราคิดไว้มาก การต้องมานั่งดูภาพสงครามในยุคที่มนุษย์เราบอกว่ากำลังวางแผนเดินทางไปตั้งรกรากที่ดาวดวงอื่น ดูเป็นเรื่องตกร้ายที่เจ็บจี๊ดเสียดแทงไปถึงขั้วหัวใจ

ไม่นานมานี้ กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารโลกเดวิด มัลพาส ออกมาประเมินความเสียหายของสงครามรัสเซีย-ยูเครน ‘แบบคร่าวๆ’ ว่ามูลค่าความเสียหายของยูเครน ณ สิ้นเดือนมีนาคม น่าจะอยู่ที่ประมาณ 6 หมื่นล้านดอลลาร์หรือราว 2 ล้านล้านบาท การประเมินนี้ธนาคารโลกพิจารณาแค่โครงสร้างและระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานที่ถูกทำลาย ยังไม่รวมถึงระบบเศรษฐกิจ ผลกระทบปลีกย่อยอื่นๆ ที่อาจต้องใช้เวลาในการประเมินมากกว่านี้ และไม่ได้สะท้อนถึงราคาทั้งหมดของสงครามจริงๆ

นั่นเป็นเพียงตัวเลขจากฝั่งเดียวนะครับ หากไปดูฝั่งรัสเซีย แม้จะประเมินความเสียหายในสนามรบได้ค่อนข้างยาก เพราะรัสเซียกลัวเสียหน้า ไม่ได้ออกมาเปิดเผยตัวเลขอย่างตรงไปตรงมา แต่ตัวเลขที่รัสเซียต้องจ่ายในการทำสงครามมีต้นทุนที่สูงกว่ายูเครนอยู่หลายขุม เพราะโดนโดดเดี่ยวในหลายมิติ ไม่มีใครช่วย รัสเซียต้องออกค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด

Centre for Economic Recovery และบริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน Civitta and EasyBusiness ร่วมกันประเมินค่าดำเนินการการก่อสงครามของรัสเซียในช่วง 5 วันแรกว่า ตกอยู่ที่ประมาณ 7 พันล้านดอลลาร์ (ประมาณ 2.3 แสนล้านบาท) โดยประเมินจากการโจมตีปูพรมทั้งทางบก ทางอากาศ การใช้อาวุธต่างๆ รวมถึงค่าพลังงาน และเมื่อสงครามยืดเยื้อ รัสเซียก็ต้องหาเงินมาทำสงครามเพิ่มซึ่งคาดว่า ค่าใช้จ่ายต่อวันนั้นสูงถึงระดับพันล้านเหรียญ ปัจจุบันไม่มีใครรู้เน่ชัดว่ารัสเซีย เสียอะไรไปบ้าง แต่หากอ้างจากโพสต์ของฮานนา มัลยา (Hanna Malyar) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงป้องกันประเทศของยูเครน โพสต์บนเฟสบุคของตัวเธอว่าช่วงสัปดาห์แรกของการโจมตี รัสเซียเสียกำลังคนไปราว 5,000 คน รถถัง 146 คัน เครื่องบิน 27 ลำและ เฮลิคอปเตอร์อีก 26 ลำ และล่าสุดก็เพิ่งเสียเรือรบมอสควา เรือรบลำคัญที่โดนขีปนาวุธถล่มจนจมลงในทะเลดำ    

ในสนามรบว่าหนักแล้ว หากถ้าประเมินจากผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ทั่วโลกกำลังรุมสกรัมรัสเซียอยู่ ความพยายามในการจะตัดรัสเซียออกจากระบบเศรษฐกิจของโลกทำให้รัสเซียเจ็บหนักกว่านั้นมาก

เริ่มจากภาคเอกชน บริษัทใหญ่ๆ ที่เข้าไปลงทุนในรัสเซียต่างหยุดทำธุรกิจ Yale School of Management รวบรวมข้อมูลมาว่า มีกว่า 309 บริษัทใหญ่ทั่วโลกในหลากหลายอุตสาหกรรมและ 21 องค์กรกีฬาที่ระงับการทำกิจกรรมต่างๆ เท่านี้ก็กระทบต่อระบบเศรษฐกิจของรัสเซียอย่างมากมายมหาศาล ตำแหน่งงานที่หายไปย่อมหมายถึงรายได้ที่หายไป 

คาดการณ์กันว่าถ้าสงครามยังยืดเยื้อต่อไปไม่มีทีว่าจะจบ สิ้นปีนี้ GDP ของรัสเซียจะหายไป 7% และอาจลงไปถึง 15% ได้ ตอนนี้ทุกฝ่ายต่างลงความเห็นเป็นเสียงเดียวกันว่า ความเสียหายทางเศรษฐกิจจากสงครามสร้างความเสียหายมากกว่ายุคเศรษฐกิจตกต่ำของรัสเซียเมื่อปี 1998 ที่กลายเป็นต้นเหตุให้สหภาพโซเวียตขณะนั้นแพแตก

การนำตัวเองเข้าสู่สงครามครั้งนี้ของผู้นำรัสเซีย อาจพารัสเซียกลับไปสู่ยุคมืดชนิดที่ว่าฟื้นยากกว่าเดิมก็เป็นได้

อีกประเด็นหนึ่งที่ถูกหยิบนำมาพูดถึงในครั้งนี้ ซึ่งนับเป็นประเด็นที่น่าสนใจก็คือ ‘ค่าตัว’ ของมนุษย์ที่เราต้องสูญเสียไปจากสงคราม

มนุษย์ถือเป็นทรัพยากรที่มีค่าที่สุด เนื่องจากว่าผลิตใหม่ได้ยาก ใช้เวลานาน และการสูญเสียมนุษย์หนึ่งคนย่อมส่งผลกระทบกับคนอื่นๆ อีกอย่างน้อยๆ 3 คนหรืออาจมากกว่านั้น โดยเฉพาะผู้ชายซึ่งถือเป็นแรงงานหลักในการทำสงครามและในครอบครัว

มีความพยายามในการประเมินความสูญเสียทางเศรษฐกิจออกมาเป็นตัวเลขว่า หากเราเสียมนุษย์หนึ่งคนในสงคราม จะมีค่าอยู่ที่ประมาณเท่าไหร่ โดยใช้ระยะเวลาในการมีชีวิตของมนุษย์หนึ่งคนกับการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ (ฟังดูเหมือนเราไม่ใช่คนนะครับ แต่ในโลกทุนนิยมมันก็เป็นเช่นนี้) คอลัมนิสต์ของนิวยอร์กไทมส์ ออสติน แฟรกต์ (Austin Frakt) เคยเขียนถึงวิธีการประเมินมูลค่าของแรงงานมนุษย์หนึ่งคนในระบบเศรษฐกิจแบบนี้ไว้ว่า หากเรามีอายุมาตรฐานตามเกณฑ์ ทำงาน มีครอบครัว และจากโลกนี้ไปในวัยอันควรตามมาตรฐานของสหประชาชาติ ประชากรในประเทศที่พัฒนาแล้วหนึ่งคน จะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจเฉลี่ยอยู่ที่ราว 2.5 ล้านดอลลาร์หรือประมาณประมาณ 77 ล้านบาท

หากเอาตัวเลขนี้มาเทียบกับชีวิตของทหารที่ต้องสูญเสียไปในสงครามในยุคปัจจุบัน มูลค่าของความเสียหายที่เกิดจากการสูญเสียประชากร ซึ่งสร้างใหม่ได้ยากกว่าอุปกรณ์ นับว่าเป็นตัวเลขที่เราไม่ควรเสีย ปัจจุบัน อ้างอิงจากตัวเลขของสหประชาชาติ รัฐบาลยูเครนและรัฐบาลเครมลินประมาณว่ามีพลเรือนและทหารเสียชีวิตจากสงครามครั้งนี้ถึงสิ้นเดือนมีนาคมอยู่ที่ราว 70,000 คน โดยยูเครนสูญเสียประชากรไปมากกว่า

ผลกระทบทางเศรษฐกิจที่จะตามมายังจะมีอีกมาก เช่น ความสั่นคลอนของสถาบันครอบครัว รายจ่ายจากการรักษาพยาบาลที่จะเกิดขึ้นจากผลกระทบของสงคราม การดูแลผู้พิการ ความรู้สึกผิดในใจ ฯลฯ มูลค่าอาจมากกว่านี้อีกมากมายหลายต่อหลายเท่า

ราคาของสงครามยังนับรวมไปถึงคนที่ไม่ได้อยู่ในสงครามแต่ต้องรับเคราะห์กรรมไปด้วย ไม่ต้องพูดถึงยูเครนที่ตอนนี้เรียกว่าอยู่ในสภาพบ้านแตกไปแล้วเรียบร้อย แต่หากมาดูคนรัสเซีย สภาพก็ย่ำแย่ การจับจ่ายทำได้ยากมากขึ้น ค่าเงินรูเบิลตกลงไปแล้วกว่า 20% ตั้งแต่เริ่มทำสงครามอัตราเงินเฟ้อเพิ่มมากขึ้นเกือบ 3% การสั่งห้ามซื้อขายเงินยิ่งส่งผลกระทบหนักต่อความน่าเชื่อถือของเงินรูเบิล ทั้งหมดนี้ทำให้ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของคนรัสเซียเพิ่มมากขึ้นราว 12.5% 

รายงานของสำนักข่าว Al Jazeera รายงานว่า แม้ว่ารัสเซียจะเป็นผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของยุโรปก็ตาม แต่ก็ไม่ได้ช่วยอะไรได้เท่าไหร่ ค่าขนส่งในประเทศเพิ่มสูงขึ้น ผลักดันให้ราคาของสินค้าสูงขึ้น ​โดยเฉพาะค่ารักษาพยาบาลที่ถีบตัวสูงขึ้นเกือบ 7% โดยรวมคนรัสเซียเองซึ่งโดยมากยังมีรายได้ต่ำก็อยู่ในสภาพที่ยากลำบากไม่แพ้กัน ที่สำคัญ ‘แบรนด์’ รัสเซียกำลังอยู่ในสถานการณ์ที่โดนท้าทายอย่างมาก

ฟีฟ่าประกาศห้ามทีมฟุตบอลรัสเซียห้ามแข่งขัน สมาพันธ์เทนนิสนานาชาติก็ห้ามนักกีฬาเทนนิสเข้าร่วมการแข่งขันรายการแกรนด์สแลม รายการวิมเบอร์ดันที่กำลังจะแข่งในเดือนมิถุนายนก็ประกาศออกมาแล้วว่า ไม่อนุญาตให้นักกีฬาที่ถือสัญชาติรัสเซียเข้าร่วมการแข่งขัน นั่นหมายความว่า แดนิอิล เมดเวเดฟ นักเทนนิสชายเดี่ยวมือวางอันดับ 2 ของโลก อันเดร รูเบลฟ นักเทนนิสชายมือวางอันดับ 8 รวมทั้งอนาสตาเซีย ปาฟลิวเชนโกวา นักเทนนิสหญิงมืออันดับ 15 ของโลก ซึ่งล้วนเป็นนักเทนนิสจากรัสเซียก็อดเข้าร่วมการแข่งขัน แม้นักกีฬารัสเซียส่วนมากออกมาเรียกร้องต่อต้านการทำสงคราม

สงครามยูเครน-รัสเซียไม่ใช่แค่เรื่องของสองประเทศ เพราะทั่วโลกต่างก็ได้รับผลกระทบจากสงคราม ไม่เว้นแม้กระทั่งผมที่นั่งเขียนต้นฉบับ เราต่างก็ได้รับผลพวงจากเหตุการณ์นี้ด้วยกันทั้งสิ้น ราคาพลังงาน วัตถุดิบทางการเกษตรและสินค้าต่างๆ ปรับราคาสูงขึ้น เงินเฟ้อพุ่งเป็นประวัติการณ์ ผู้ประกอบการไม่สามารถคาดการณ์การสั่งวัตถุดิบได้ดีเหมือนเก่า ผู้บริโภคไม่อยากควักเงินจากกระเป๋า เพราะไม่แน่ใจเรื่องสถานการณ์เศรษฐกิจในอนาคต เงินฝืดก็ตามมา       

การที่เราไม่ได้อยู่ในสนามรบ ไม่ได้หมายถึงเราไม่ได้ผลกระทบไปกับเขา สำหรับผม หากอยากหาตัวอย่างเรื่องคนรวยทำอะไรโง่ๆ ก็ให้ดูที่การทำสงครามนี่แหละครับ

ในประวัติศาสตร์ของโลก ราคาของสงครามที่แพงที่สุดยังคงเป็นสงครามโลกครั้งที่สอง เวลาเกือบ 4 ปีเราสูญเสียประชากรไปมากกว่า 5 ล้านคน เฉพาะสหรัฐอเมริกา มูลค่าของสงครามในครั้งนั้นสูงถึง 4.69 ล้านล้านดอลลาร์ หรือประาณ 156 ล้านล้านบาท (ตามค่าเงินปัจจุบัน) ถ้านับรวมกับมูลค่าของความเสียหายที่เกิดขึ้นทั่วโลก ก็เรียกได้ว่าเป็นการสูญเสียทั้งชีวิตและระบบเศรษฐกิจมากที่สุดในโลก ผลกระทบที่ตามมานั้นมีหลากหลายด้าน และหลายกรณีก็ยังส่งผลมาจนถึงทุกวันนี้เช่นกัน

ทุกวันนี้เราผลิตทหารขึ้นมาเพื่อส่งพวกเขาออกไปทำร้ายมนุษย์อีกคนที่เราไม่รู้จักกัน เราพัฒนาอาวุธเพื่อกลบความอ่อนแอของเราแล้วบอกว่านี่คือการปกป้อง การสร้างความมั่นคง ‘ขู่’ กันไปมา และคิดว่าคงไม่มีใครกล้าทำสงครามขึ้นมาจริงๆ แต่ก็ทุ่มเทเวลา เงินทองและเทคโนโลยีไปกับความแข็งแกร่งทางทหารที่ว่า…

ราคาของเรื่องโง่ๆ ที่มีแต่คนแพ้   

อ้างอิง


Research: ‘Ukraine war costs Russian military €20 billion per day’

What were the 13 most expensive wars in U.S. history?

Ukraine war’s rising cost for daily Russian lives

The cost of war: how Russia’s economy will struggle to pay the price of invading Ukraine

Putting a Dollar Value on Life? Governments Already Do

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save