fbpx

‘บรรหารบุรี’ ในวันที่ไม่มีบรรหาร ศิลปอาชา

C:\Users\USER\Desktop\377913751_10161910969696535_4911383008825669263_n.jpg

4 ปีก่อน ผมมีโอกาสแวะคารวะอนุสาวรีย์ของคุณบรรหาร ศิลปอาชา ก่อนจะผ่านไปทำงานพื้นที่อำเภออู่ทอง ซึ่งในตอนนั้นเพิ่งจัดพิธีเปิดในวันครบรอบ 3 ปีแห่งการจากไป ประทับใจการเลือกตำแหน่งที่ตั้งได้เหมาะเหม็งมาก เบื้องหน้าเป็นหอคอยบรรหาร-แจ่มใส ฉากหลังเป็นพิพิธภัณฑ์ลูกหลานพันธุ์มังกร สองสัญลักษณ์ของเมืองสุพรรณฯ ยุคใหม่ที่แกคิดริเริ่มทำทั้งสิ้น (ถ้ายุคเก่าน่าจะเป็นวัดป่าเลไลยก์วรวิหาร, พระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์)

นับแต่ครั้งนั้น ผมยังได้ไปเยือนสุพรรณบุรีอีกหลายหน ล่าสุดคือเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

“..ถ้าพณะท่านยังอยู่นะ สุพรรณบุรีคงไปได้ไกลกว่านี้..”

มักเป็นคำพูดคำกล่าวที่ผมมักได้ยินอยู่บ่อยๆ ไม่ใช่แค่จากประชาชนคนสุพรรณฯ แต่รวมถึงหมู่ข้าราชการอีกด้วย โดยมองว่าทายาททางการเมืองของคุณบรรหารไม่ได้มีบารมีในระดับเดียวกับที่ท่านเคยมี อีกทั้งเครือข่ายภายในก็ไม่ได้เป็นปึกแผ่นเหมือนก่อนแล้ว ส่งผลต่อการขับเคลื่อนจังหวัด

ย้อนนึกถึงความเห็นมากมายที่พบในสื่อสังคมออนไลน์เมื่อคราวทีมสุพรรณบุรีเอฟซีตกชั้นลงไปจากลีกสูงสุดเป็นครั้งที่ 2 ในฤดูกาล 2564/65

“..คิดถึงท่านบรรหาร ถ้ายังอยู่คงไม่ปล่อยให้ทีมตกต่ำแบบนี้..”

แฟนบอลส่วนหนึ่งมองว่าคุณวราวุธ ศิลปอาชา บุตรชายของคุณบรรหารไม่ค่อยใส่ใจสโมสรเท่าที่ควร ห่างพื้นที่ไปตั้งแต่รับตำแหน่งรัฐมนตรี และให้ภรรยาเข้ามาดูแลทำทีมต่อ บ้างบอกถึงขนาดว่าคุณท็อปไม่เคยนอนค้างที่เมืองสุพรรณฯ ด้วยซ้ำ ต่อให้งานเสร็จดึกดื่นแค่ไหนก็มักจะกลับไปนอนที่บ้านที่กรุงเทพฯ เสมอ

คุณบรรหารจึงกลายเป็นต้นแบบของผู้นำมากบารมีที่เข้าใจบริบทพื้นที่และมีบทบาทผลักดันการพัฒนาจังหวัดของตนได้

“..คุณบรรหารเป็นคนสุพรรณบุรี ไม่มีตำแหน่งหน้าที่ราชการในจังหวัด แต่โดยที่คุณบรรหารเป็นนักพัฒนา และมีความปรารถนาอย่างยิ่งที่จะพัฒนาจังหวัดสุพรรณบุรี จึงได้รับความร่วมมือกับทางราชการพัฒนาจังหวัดสุพรรณบุรีสง่างามน่าท่องเที่ยวจนคนสุพรรณบุรีเรียกจังหวัดจังหวัดสุพรรณบุรีเล่นๆ ว่าบรรหารบุรี..” 

จากคำไว้อาลัยข้างต้น พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ก็มองคล้ายกัน[1]

ทั้งๆ ที่สุพรรณบุรีเป็นจังหวัดขนาดกลาง ประชากรไม่ถึงล้านคน มิใช่จังหวัดอุตสาหกรรม ไม่ใช่หัวเมืองใหญ่ ไม่ได้เป็นจังหวัดชายแดนที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ ทว่าสุพรรณบุรีกลับเป็นที่โจษจันไปทั่ว เพราะมีทางหลวงที่กว้างใหญ่ คุณภาพสูง และเป็นโครงข่ายเชื่อมต่อ, มีหอคอยชมเมืองแบบที่เห็นในต่างประเทศก่อนหน้าทุกจังหวัด, มีอควาเรียมที่มีอุโมงค์ปลาน้ำจืดเป็นแห่งแรกของประเทศ, มีมังกรยักษ์ตั้งตระหง่านถือเป็นอีกแลนด์มาร์กของเมือง, มีศูนย์ราชการที่พร้อมสรรพ สามารถรวมเอาหน่วยงานต่างๆ จำนวนมากมาตั้งอยู่ในพื้นที่บริเวณเดียวกันได้ (ตลอดสองฝั่งถนนบางบัวทอง-สุพรรณบุรีช่วงที่ผ่านตัวจังหวัด) โดยมีอาคารศาลากลางจังหวัดที่ใช้งบประมาณร่วม 400 ล้านบาทเป็นศูนย์กลาง สภาพภูมิทัศน์สวยงาม, มีสนามกีฬากลางที่มีมาตรฐานกว่าสนามกีฬากลางของจังหวัดอื่น เช่นเป็นอัฒจรรย์รอบทิศ ความจุหลายหมื่นคน มีการซ่อมบำรุง/ปรับปรุงสนามอย่างสม่ำเสมอ, มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวทั่วทั้งจังหวัดไม่เคยว่างเว้นขาดสาย ฯลฯ

ความน่าทึ่งเหล่านี้ของเมืองสุพรรณแยกไม่ออกจากชีวิตและงานของบรรหาร

คุณบรรหารเริ่มก้าวแรกบนเส้นทางการเมืองด้วยตำแหน่งสมาชิกสภาเทศบาลเมืองสุพรรณบุรีที่มาจากการ ‘แต่งตั้ง’ ในสมัยรัฐบาลจอมพลถนอม ดำรงตำแหน่งอยู่ได้ 9 เดือนก็ลาออก (ภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 16)[2] ขณะที่นักการเมืองอายุรุ่นราวคราวเดียวกันมักจะเริ่มบทบาทจากการเป็น ส.จ. จากนั้นเขาจึงก้าวขึ้นสู่การเมืองระดับชาติผ่านระบบ ‘แต่งตั้ง’ ได้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และสมาชิกวุฒิสภาตามลำดับ

ด้วยมีพื้นฐานมาจากสายธุรกิจรับเหมาก่อสร้างที่รับงานภาครัฐ คุณบรรหารจึงเป็นนักการเมืองคนหนึ่งที่เข้าใจลักษณะความเป็นรัฐรวมศูนย์ของไทยเป็นอย่างดี โดยรู้ว่าอำนาจหน้าที่ในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาของเมืองส่วนใหญ่ล้วนอยู่ที่ส่วนกลาง การพัฒนาจังหวัดขึ้นอยู่กับการเมืองระดับชาติเป็นหลัก ไม่ใช่การเมืองท้องถิ่น (หรือราชการบริหารส่วนภูมิภาค)

คุณบรรหารลงสมัคร ‘เลือกตั้ง’ เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุพรรณบุรีสมัยแรก ปี 2519 โดยสามารถเอาชนะได้ทุกครั้งที่ลงสมัคร รวมแล้ว 11 สมัย และได้เป็นรัฐมนตรีในหลายกระทรวง โดยเฉพาะกระทรวงคมนาคมและกระทรวงมหาดไทย จนก้าวไปถึงตำแหน่งสูงสุดในชีวิตทางการเมืองคือ นายกรัฐมนตรี (ช่วงปี 2538-2539)

นักการเมืองรุ่นนั้นน้อยคนมากที่จะไม่เคยย้ายพรรค ตรงกันข้าม คุณบรรหารสังกัดพรรคชาติไทยเพียงพรรคเดียวมาตั้งแต่ต้น โดยทำหน้าที่เลขาธิการพรรคระหว่างปี 2523-2537 ภายใต้ร่มเงากลุ่มราชครู และขึ้นเป็นหัวหน้าเพื่อนำพรรคเองช่วงปี 2537-2550

พรรคชาติไทยไม่ใช่พรรคขนาดใหญ่นัก แต่มี ส.ส.จำนวนมากพอจะสร้างอำนาจต่อรองได้ จุดยืนทางอุดมการณ์ไม่สำคัญเท่ากับการเข้าร่วมรัฐบาล เพื่อให้ได้เข้าไปเกาะเกี่ยวกับอำนาจตรงกลาง ซึ่งยึดกุมทรัพยากรเอาไว้อย่างเหนียวแน่น โดยเฉพาะเรื่องการจัดสรรงบประมาณและแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ

ถ้านับเฉพาะช่วงปกติ ไม่นับช่วงรัฐประหาร นับตั้งแต่คุณบรรหารขึ้นมาคุมพรรคชาติไทยเบ็ดเสร็จเมื่อปี 2537 ในฐานะหัวหน้าพรรค จวบจนเปลี่ยนมาใช้ชื่อพรรคชาติไทยพัฒนาถึงปัจจุบัน พรรคของเขาไม่ได้ร่วมรัฐบาลเพียง 2-3 ปี จากเวลาเต็มๆ ประมาณ 23 ปี ไม่น่าเคยมีพรรคการเมืองไหนทำได้ระดับนี้อีกแล้ว

หากเจาะจงดูที่สุพรรณบุรี พรรคชาติไทย (หรือชาติไทยพัฒนา) เอาชนะเลือกตั้ง ส.ส.แบบ ‘ยกจังหวัด’ ได้เป็นครั้งแรกในปี 2531 และทำได้เช่นนี้ในทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งอีกนับสิบครั้ง ยกเว้นเมื่อปี 2554 เพียงครั้งเดียวที่ต้องเสีย 1 ที่นั่งให้กับพรรคเพื่อไทย ตลอดรอบ 3 ทศวรรษครึ่ง รวมถึงครั้งล่าสุดในปีนี้ สุพรรณบุรีจึงเป็นยิ่งกว่าเมืองหลวงของพรรคชาติไทย

ตารางผลการเลือกตั้ง ส.ส.จังหวัดสุพรรณบุรีกับการเข้าร่วมรัฐบาลของพรรคชาติไทย/ชาติไทยพัฒนา[3]

ช่วงปีบทบาทการเลือกตั้งเมื่อจำนวน ส.ส.
บรรหาร ศิลปอาชาดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคชาติไทยตั้งแต่ปี 2537 จนถึงปี 2551
2538-2539รัฐบาลบรรหาร2 กรกฎาคม 2538ยกจังหวัด 6 ที่นั่ง
2539-2540ฝ่ายค้าน (รัฐบาลชวลิต)17 พฤศจิกายน 2539ยกจังหวัด 6 ที่นั่ง
2540-2544รัฐบาลชวนเข้าร่วมรัฐบาลใหม่ หลังพลเอกชวลิตลาออก
2544-2548รัฐบาลทักษิณ6 มกราคม 2544ยกจังหวัด 6 ที่นั่ง
2548-2549ฝ่ายค้าน (รัฐบาลทักษิณ)6 กุมภาพันธ์ 2548ยกจังหวัด 6 ที่นั่ง
รัฐประหารปี 2549
2550-2551รัฐบาลสมัคร-สมชาย23 ธันวาคม 2550ยกจังหวัด 5 ที่นั่ง
พรรคชาติไทยถูกยุบโดยศาลรัฐธรรมนูญในปี 2551 และได้มีการตั้งพรรคการเมืองใหม่ขึ้นในชื่อพรรคชาติไทยพัฒนา
2551-2554รัฐบาลอภิสิทธิ์เข้าร่วมรัฐบาลใหม่ หลังนายสมชายพ้นตำแหน่ง ผลจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เลือกตั้งซ่อม 11 มกราคม 2552ยกจังหวัด 5 ที่นั่ง
2554-2557รัฐบาลยิ่งลักษณ์3 กรกฎาคม 2554ได้ 4 จาก 5 ที่นั่ง แพ้ให้กับพรรคเพื่อไทย 1 เขต
รัฐประหารปี 2557 
บรรหารเสียชีวิตในปี 2559
2562-2566รัฐบาลประยุทธ์24 มีนาคม 2562ยกจังหวัด 4 ที่นั่ง
2566-.?รัฐบาลเศรษฐา14 พฤษภาคม 2566ยกจังหวัด 5 ที่นั่ง

Yoshinori Nishizaki นักวิชาการชาวญี่ปุ่นที่สนใจศึกษาการเมืองไทย ผู้ทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเกี่ยวกับคุณบรรหารและสุพรรณบุรีโดยตรง ชี้ให้เห็นว่าปัจจัยที่ทำให้ตระกูลศิลปอาชาและเครือข่ายสามารถเอาชนะใจผู้เลือกตั้งและผูกขาดความสำเร็จในการเลือกตั้งมาได้ตลอดก็คือ การสร้างอัตลักษณ์ท้องถิ่นใหม่หรือ ‘จังหวัดนิยม’ (Provincial Identity) ผ่านโครงการพัฒนาต่างๆ ที่เกิดในพื้นที่ โดยเฉพาะด้านโครงสร้างพื้นฐานที่เห็นได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นถนน โรงเรียน โรงพยาบาล หอนาฬิกา ศาลหลักเมือง ฯลฯ เป็นผลจากทั้งการบริจาคเงินส่วนตัว ดึงเอางบประมาณแผ่นดินมาลง รวมถึงมีเครือข่ายบริวารที่ช่วยโฆษณาขยายผลกันเอิกเกริก ทำให้ผู้เลือกตั้งเกิดความภาคภูมิใจในจังหวัดของตน ช่วยเปลี่ยนภาพลักษณ์ของจังหวัดที่ล้าหลัง และถูกรัฐส่วนกลางทอดทิ้งในอดีต และมองเห็นว่านักการเมืองที่ทำสิ่งเหล่านี้ให้กับชุมชนถือเป็นผู้ที่อุทิศตนเพื่อส่วนรวม สามารถไว้วางใจได้ และน่าเคารพนับถือในฐานะผู้นำที่ดี ความนิยมทางการเมืองดังกล่าวถูกสะท้อนออกมาในรูปของผลการเลือกตั้งที่ตระกูลศิลปอาชาและเครือข่ายพรรคชาติไทยสามารถเอาชนะคู่แข่งขันได้โดยไม่ต้องพึ่งพาอาศัยการแจกจ่ายเงินและการใช้อิทธิพลมืด[4]

ขออธิบายเฉพาะเรื่องถนน คนมักเข้าใจว่าถนนหนทางในสุพรรณบุรีดี เพราะชาติไทยได้คุมกระทรวงคมนาคมมาตลอด อันที่จริงไม่ใช่ พรรคชาติไทยคุมกระทรวงคมนาคม (ในฐานะรัฐมนตรีว่าการ) สั้นมาก รวมกันเพียง 3-4 ปี (โดยมีคุณบรรหารเป็นรัฐมนตรีเองทั้งสิ้น 2 ช่วงเวลา 2529-2531, 2535)

งบประมาณก่อสร้างถนนในสุพรรณบุรีสูงมาก หากเปรียบเทียบกับจังหวัดใกล้เคียง ในช่วง 10 ปีเศษ (ปี 2528-2540) อยุธยาเป็นจังหวัดที่ได้รับงบประมาณมากที่สุดคือ เกือบถึง 12,000 ล้านบาท ขณะที่สุพรรณบุรีตามมาเป็นอันดับที่ 2 ที่ราว 8,000 ล้านบาท กรณีอยุธยาไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะเป็นเขตจังหวัดที่เชื่อมต่อไปยังภูมิภาคต่างๆ ได้ทั้งเหนือตะวันตก ตะวันออก และกรุงเทพฯ ทั้งยังเป็นที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรม แต่สุพรรณบุรีนั้นไม่มีความชัดเจนเท่าใดนัก แต่กลับได้งบประมาณสูงกว่า[5] ยิ่งไปกว่านั้น ยังพุ่งขึ้นสูงสุดๆ ในช่วงคาบเกี่ยวกับที่คุณบรรหารเป็นนายกรัฐมนตรีอีกด้วย

ดังนั้น อำนาจบารมีของคุณบรรหารจึงไม่ใช่แค่ระดับกระทรวง แต่เป็นระดับประเทศซึ่งอยู่เหนือขึ้นไปอีก คุณบรรหารจึงสามารถใช้ถนนในการสร้างเมืองได้อย่างต่อเนื่อง แม้ในช่วงที่พรรคชาติไทยไม่ได้คุมกระทรวงคมนาคมก็ตาม เพราะความสำคัญอยู่ที่การตัดสินใจของเขาเกี่ยวกับความอยู่รอดของรัฐบาล

ประกอบกับคุณลักษณะส่วนตัวของคุณบรรหารที่ควบคุมตรวจงานก่อสร้างต่างๆ ในพื้นที่อย่างใกล้ชิดด้วยตัวเอง ทั้งที่หลายโครงการไม่ได้อยู่กับกระทรวงในความดูแลโดยตรง ทำให้งานออกมาดีและได้มาตรฐาน ‘หลงจู๊ล้วงลูก’ คือที่คำหนังสือพิมพ์ใช้เรียกแบบเห็นภาพ

อย่างไรก็ดี กระทรวงที่พรรคชาติไทยได้ดูแลนานที่สุดคือ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยได้ดูกระทรวงนี้นานกว่า 10 ปี เกือบครึ่งหนึ่งของอายุขัยของกระทรวง และใช้เป็นกลไกส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองสุพรรณฯ อย่างได้ผล

แนวคิด ‘จังหวัดนิยม’ ของ Nishizaki ไม่ใช่จะอธิบายได้แค่สุพรรณบุรี แต่ใช้อธิบายปรากฏการณ์ทำนองเดียวกันที่เกิดขึ้นกับอีกหลายจังหวัดต่อมาได้ด้วย เช่น เชียงใหม่ในยุครัฐบาลไทยรักไทยที่มีทักษิณ ชินวัตรเป็นนายกฯ, บุรีรัมย์ช่วงที่กลุ่มภูมิใจไทยแยกตัวออกจากพรรคพลังประชาชนและเข้าร่วมกับรัฐบาลอภิสิทธิ์ รวมถึงช่วงที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาลประยุทธ์

การปลุกกระแสจังหวัดนิยมโดยวาดภาพสุพรรณบุรีเป็นต้นแบบได้กลายเป็นยุทธศาสตร์ซึ่งร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่านำมาใช้หาเสียงจนประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งที่จังหวัดพะเยาตลอดสองครั้งหลัง ครั้งแรกพยายามตอกย้ำว่าถ้าพะเยาจะเป็นแบบสุพรรณบุรีได้ (รวมถึงบุรีรัมย์) ก็ต้องเลือก ส.ส.ของพรรคที่มีโอกาสเป็นรัฐบาล และอ้างผลงานอันเป็นที่ประจักษ์ชัดจากการได้เข้าร่วมรัฐบาลสมัยแรกมาใช้สร้างความนิยมในครั้งที่สอง

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นนักการเมืองที่มีตำแหน่งเท่านั้น เฉกเช่นที่บุรีรัมย์มีคุณเนวิน ชิดชอบ เชียงรายมีอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ หรือน่านมีคุณบัณฑูร ล่ำซำ ในฐานะบุคคลที่หน่วยงานภาครัฐให้ความเกรงใจ และมีศักยภาพในการระดมทรัพยากรต่างๆ จากหลายภาคส่วนมาใช้พัฒนาจังหวัด

เราไม่ควรกล่าวโทษผู้เลือกตั้งที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนจังหวัด ปัญหาของเรื่องนี้ไม่ได้อยู่ที่การตัดสินใจของคน หากแต่ยึดโยงอยู่กับโครงสร้างอำนาจรัฐซึ่งถูกรวมศูนย์ไว้ที่ส่วนกลางเข้มข้น การกระจุกตัวของอำนาจส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำอย่างสุดขั้วระหว่างจังหวัด กระจายอำนาจต่างหากคือคำตอบ เพราะจะช่วยให้อำนาจสั่งการและผลประโยชน์ที่ได้จากการยึดกุมอำนาจในส่วนกลางคลี่คลายลดลง.

References
1 มังกรสุพรรณคืนสู่ฟ้า, (นนทบุรี: โรงพิมพ์มติชนปากเกร็ด, 2559) อ้างถึงใน รายการนอกBangKOK EP09 ทำไมคนสุพรรณถึงรักบรรหาร? โดยชุมพล อุ่นพัฒนาศิลป์ และรัชนีกร ศรีฟ้าวัฒนา, จาก https://youtu.be/TX2C1rNyGJM
2 ภัทระ คำพิทักษ์ และอินทรชัย พาณิชกุล, บรรหาร ศิลปอาชา: เล่าเรื่องครั้งสุดท้าย, (นนทบุรี: โรงพิมพ์มติชนปากเกร็ด, 2559), หน้า 62.
3 ข้อมูลผลการเลือกตั้งจาก วิทยา ชินบุตร, ความนิยมทางการเมืองของพรรคชาติไทยพัฒนาในจังหวัดสุพรรณบุรี, รายงานการวิจัย เสนอต่อ มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2559, หน้า 4-5.
4 ดู Yoshinori Nishizaki, Political Authority and Provincial Identity in Thailand: the Making of Banharn-buri, (Ithaca: Southeast Asia Program Publications, 2011).
5 ดู ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์, ไฮเวยาธิปไตย: อำนาจของถนนกับพลวัติการคมนาคมขนส่งของประเทศไทย, (กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2566), หน้า 64-65.

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save