fbpx

ปัญหาการผูกขาดปัญญาประดิษฐ์ ที่จะมาลิขิตชีวิตเรา

การมาของ AI ตอนนี้ เป็นเรื่องที่ทุกคนตื่นตัวกันมากถึงมากที่สุด MIT ให้เครดิตเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ว่า ปีนี้มันจะกลายเป็นเทคโนโลยีที่ถูกพูดถึงมากขึ้น และจะเป็นตัวเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมเทคโนโลยีของโลกนับจากยุคของไอโฟนเมื่อ 2 ทศวรรษก่อน

โดยทั่วไป เมื่อโลกมีนวัตกรรมใหม่ๆ เป็นเรื่องปกติครับ ที่เรามักมองด้านบวกของมันมากกว่าผลเสีย ปัญญาประดิษฐ์อาจเข้ามาช่วยให้ชีวิตความเป็นอยู่และโลกของเราดีขึ้น เราเริ่มเห็นสตาร์ตอัปในยุโรปทดลองใช้ปัญญาประดิษฐ์มาช่วยดูแลต้นไม้ บริษัทสุขภัณฑ์ในญี่ปุ่นก็มีแผนการจะนำปัญญาประดิษฐ์มาช่วยวิเคราะห์ปัสสาวะและอุจจาระของเรา เพื่อให้ครัวเรือนสามารถตรวจสุขภาพเบื้องต้นได้ง่ายขึ้น นำปัญญาประดิษฐ์มาช่วยจัดการเรียนการสอนให้เหมาะกับเด็กๆ แบบเฉพาะตัวบุคคลมากขึ้น ฯลฯ 

ทว่าในความเป็นจริง เหรียญมีสองด้านเสมอ มันมีด้านลบที่เราน่าจะต้องมาช่วยพิจารณากันให้ดีและรอบคอบกว่านี้หรือไม่?

ประเด็นแรก หากมองที่มาของการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ ปัจจุบันมันคือธุรกิจผูกขาด เพราะวนเวียนอยู่กับบริษัทไม่กี่แห่ง หากนับชื่อกันจริงๆ ทั่วโลก ณ เวลานี้ มีบริษัทที่สามารถพัฒนา Generative AI หรือปัญญาประดิษฐ์เชิงสร้างสรรค์ในระดับที่นำมาใช้งานไดในระดับหนึ่งไม่ถึง 50 บริษัททั่วโลก (นอกนั้นก็อาจซุ่มพัฒนาอยู่หรือยังไม่อยากประกาศให้คู่แข่งไหวตัวทัน)

มองลึกลงไปอีกถึงผู้เล่นคนสำคัญ โลกนี้มีไม่ถึง 10 บริษัทที่ลงทุนวิจัยเรื่องปัญญาประดิษฐ์มายาวนาน มีทรัพยากรในการพัฒนา มีเงินจ้างทีมนักวิจัยค่าตัวสูงที่สุดในโลก มีล็อบบี้ยิสต์เก่งๆ ที่มีเส้นสายกับนักการเมืองมากพอจะอำนวยความสะดวกหากมีเรื่องติดขัด ที่ว่ามาคุณก็น่าจะพอมองเห็นว่าบริษัทเหล่านี้ชื่ออะไรบ้าง แทบจะเรียกได้ว่าใช้มือข้างเดียวก็นับหมด

หากมองเป็นประเทศก็ยิ่งน่าสนใจ เพราะผู้เล่นน้อยลงไปอีก คือมีเพียงสองประเทศเท่านั้นที่แข่งขันกันอย่างเข้มข้นเอาเป็นเอาตาย ตัดแข้งตัดขากันตลอดเวลานั่นคือสหรัฐอเมริกาและสาธารณรัฐประชาชนจีน 

ฉะนั้นอย่าแปลกใจ หากเราจะเห็นท่าทีที่ไม่ยอมกัน ประเทศอื่นๆ แม้อยากจะตามให้ทัน ณ เวลานี้ก็เป็นเรื่องยาก (ทำได้ดีที่สุดก็แค่ใช้เครื่องมือทางการค้าและการเมืองเพื่อชะลอการเติบโตของสองมหาอำนาจ ซึ่งก็ไม่ได้มีผลอะไรนักต่อการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์) ทำให้เราเห็นภาพได้ชัดไปอีกว่า ถ้าหากโลกของปัญญาประดิษฐ์ที่จะเติบโตไปในอนาคต ถูกผูกขาดด้วยสองมหาอำนาจยักษ์ใหญ่ของโลก คงไม่แตกต่างจากสถานการณ์ในเมืองไทยที่เรามีผู้ให้บริการมือถือสองเจ้า ผู้บริโภคไม่มีปากมีเสียงอะไรเท่าไหร่ และหากวันหนึ่งเกิดสองประเทศนี้จะรวมหัวกันผูกขาด ผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่จะเป็นอย่างไร

ผู้นำด้านปัญญาประดิษฐ์ตั้งอยู่ในสองประเทศ สหรัฐอเมริกานำทีมโดย กูเกิล แอมะซอน แอปเปิ้ล ไอบีเอ็ม ไมโครซอฟต์ เฟซบุ๊ก (ในฝั่งฮาร์ดแวร์ ได้แก่ เอ็นวีเดีย และควัลคอม)

ในประเทศจีนประกอบด้วย ไป่ตู้ อาลีบาบาและเทนเซ็นต์ ทั้งหมดกำลังทุ่มเททรัพยากรอย่างมากในการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ ไม่ว่าจะด้วยการตั้งทีมขึ้นมาเพื่อพัฒนาโดยเฉพาะ การกว้านซื้อกิจการสตาร์ตอัปเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์ที่น่าสนใจ รวมถึงการจับมือร่วมทุนกันในฝั่งของบริษัทที่มีฐานข้อมูลบิ๊กดาต้ากับบริษัทผลิตฮาร์ดแวร์เพื่อพัฒนาให้ปัญญาประดิษฐ์สามารถเรียนรู้ได้เร็วขึ้น

ผมก็เชื่ออย่างที่หลายคนเชื่อ ว่าทุกบริษัทต่างมองในด้านดี แต่เราคาดหวังแบบเดียวกันไม่ได้จากนักลงทุนและผู้ถือหุ้นในบริษัท ที่ต่างคาดหวังเรื่องการเติบโตและเงินปันผลสวยหรู ปัจจัยนี้เราได้นำมาคิดรอบคอบหรือยัง ผมคิดว่านี่เป็นประเด็นที่น่าเป็นห่วงโดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา สิ่งเราเห็นตอนนี้ กรณีรูปธรรมก็เช่นกรณีของบริษัทแอปเปิ้ล ผู้ถือหุ้นกดดันให้ทิม คุก ต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ให้เร็วกว่านี้ แม้การตั้งทีมเอแจ็ค (Ajax) ที่มีทีมนักพัฒนากว่าพันคนก็ยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ถือหุ้นได้ไวมากพอ จนทำให้ต้องมีการเร่งกระบวนการ ด้วยการไปซื้อสตาร์ตอัปสัญชาติแคนาดา ‘ดาร์วิน เอไอ’ (Darwin AI) และเริ่มพูดคุยกับกูเกิ้ลและไมโครซอฟต์ในการเอาปัญญาประดิษฐ์ของทั้งสองแบรนด์มาใช้ให้เร็วขึ้นในไอโฟนรุ่นถัดไป      

รัฐบาลสหรัฐฯ ไม่มีการวางยุทธศาสตร์ให้กับการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์อย่างเป็นรูปธรรม แม้มีความเคลื่อนไหวจากนักพัฒนา อย่างแซม อัลท์แมน เจ้าของโอเพ่น เอไอ ที่แสดงความกังวลต่อการเติบโตอย่างรวดเร็วของปัญญาประดิษฐ์ แต่ถึงตอนนี้ก็ไม่มีการวางแผนระยะยาวอย่างชัดเจน ทั้งหมดตกอยู่ภายใต้แรงขับเคลื่อนของภาคเอกชน (ที่หลายอย่างขึ้นกับความผันผวนในตลาดหุ้น) ส่วนหนึ่งเพราะรัฐบาลสหรัฐฯ มีท่าทีกังวลเรื่องของอัตราการว่างงานที่อาจเกิดขึ้นจากการเติบโตของปัญญาประดิษฐ์ มากกว่าการมองเห็นศักยภาพและความเหมาะสมในการกำหนดทิศทาง ทำให้บริษัทยักษ์ใหญ่ส่วนมากหันมาแข่งกันเองเพื่อแย่งชิงความได้เปรียบ ไม่ใช่แค่เรื่องของธุรกิจเท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องของสายสัมพันธ์ทางการเมือง เพื่อให้ได้มาซึ่งความได้เปรียบบางอย่าง

สิ่งที่น่าเป็นห่วงในอนาคตก็คือตัวเลขการเติบโตของบริษัททั้งหลายที่กำลังแข่งขันกันเรื่องการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ ผลประโยชน์ทางการเงินของบริษัทเหล่านี้อาจไม่สอดคล้องกับเสรีภาพของปัจเจกชน ไม่มีความเกี่ยวข้องกับการเติบโตของชุมชนหรือเสริมอุดมการณ์เสรีนิยมเท่าไหร่ อธิบายให้เข้าใจง่ายๆ คือในอนาคต ปัญญาประดิษฐ์อาจเป็นต้นทุนชีวิตที่รัฐไม่ต้องมารับผิดชอบต่อการเข้าถึงบริการ แต่ขณะเดียวกัน ปัญญาประดิษฐ์เหล่านี้กลับได้ข้อมูลส่วนบุคคลของเราไปพัฒนาระบบ ผ่านการใช้งานฮาร์ดแวร์ต่างๆ โดยเฉพาะสมาร์ตโฟน แถมเสี่ยงด้วยว่าเราอาจถูกชักจูงความคิดด้วยข้อมูลที่ผิด 

มีตัวอย่างคลาสสิกที่ถูกยกมาพูดถึงในวงกว้าง คือกรณีการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ของไอบีเอ็มในโครงการวัตสัน เฮลธ์ (Watson Health) ตั้งแต่ปี 2010 โดยไอบีเอ็มไปจับมือกับโรงพยาบาลหลายแหล่ง นำข้อมูลของผู้เข้ารับการรักษามาให้ปัญญาประดิษฐ์ได้เรียนรู้ แต่ปรากฎว่าฐานข้อมูลมีขนาดไม่ใหญ่มากพอ เพราะแต่ละโรงพยาบาลไม่ยอมแชร์ข้อมูล บางแห่งมองว่าไอบีเอ็มเป็น ‘คู่แข่ง’ (เพราะใช้บริการเจ้าอื่นอยู่) ด้วยเหตุนี้ ไอบีเอ็มเลยไปจับมืออีกต่อกับมหาวิทยาลัยคาร์เนกี้ เมลลอน (Carnegie Mellon) พัฒนาชุดข้อมูลสังเคราะห์ที่เรียกว่า ‘Synthetic Medical Records’ (SMR) ประกอบด้วยบันทึกทางการแพทย์ของผู้ป่วยสมมุติ 100,000 คน เพื่อให้วัตสันได้รับการฝึกฝนด้วย SMR แต่ข้อมูลสังเคราะห์ไม่สมจริงและมีอคติ

ท้ายสุด ไอบีเอ็มได้รับรางวัลนี้จาก National Institute of Standards and Technology (NIST) สำหรับการพัฒนาวัตสัน ในหนังสือ The Big Nine ของเอมี เวบบ์ (Amu Webb) ยังอ้างถึงเรื่องที่ไอบีเอ็มต้องทำทุกทางเพื่อ ‘รักษาหน้า’ ของผู้ถือหุ้นหรือแสดงให้ผู้ถือหุ้นเห็นว่าโครงการมีความก้าวหน้า แต่วิธีการเล่นแร่แปรธาตุปัญญาประดิษฐ์แบบนี้อาจสร้างปัญหาทั้งเรื่องความแม่นยำและยังแสดงให้เราเห็นด้วยว่าแรงกดดันจากปัจจัยทางธุรกิจก็มีผลต่ออคติของปัญญาประดิษฐ์ด้วยเช่นกัน 

หลายคนมักเอาเรื่องปัญญาประดิษฐ์ไปเปรียบกับการเกิดขึ้นของอินเทอร์เน็ต แต่สำหรับผม สิ่งที่แตกต่างกัน คือการมาถึงของอินเทอร์เน็ตเปิดกว้างกว่า และเป็นโอกาสให้ธุรกิจดอทคอมของใครหลายคนได้เติบโตจากแพลตฟอร์มที่เข้าถึงได้อย่างเสรี กูเกิล อะแมซอน เฟซบุ๊ก ต่างเติบโตมาได้ก็เพราะอินเทอร์เน็ต ผิดกับปัญญาประดิษฐ์ที่เป็นธุรกิจผูกขาดกว่ามาก (ณ เวลานี้นะครับ อนาคตก็ต้องรอดูกันไป)  

หันมาดูในประเทศจีน ภาพนี้อาจแตกต่างแต่ก็น่ากังวล

ปัญญาประดิษฐ์มาพร้อมกับความต้องการของรัฐที่ต้องการเติบใหญ่เป็นชาติมหาอำนาจของโลก จีนปูรากฐานของการพัฒนาสิ่งเหล่านี้ไว้เป็นอย่างดี ไร้ผู้ต่อกร เพราะเบื้องหลังรัฐเป็นผู้จัดการเองเกือบหมด

ปี 2017 รัฐบาลจีนออก ‘แผนพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์เพื่อสังคมในอนาคต’ (Next Genration Artificial Intelligence Development Plan) จุดประสงค์คือการก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำของโลกด้านปัญญาประดิษฐ์ให้ได้ภายในปี 2030 สี จิ้นผิง ได้ประกาศต่อที่ประชุมพรรคคอมมิวนิสต์ตอนที่ออกแผนนี้ว่า ต้องการให้จีนก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศในกลุ่มที่มีเศรษฐกิจก้าวหน้าที่สุดในโลก สิ่งที่ทำให้มิสเตอร์สีกล้าฝันเช่นนี้ เพราะยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีทั้งสามบริษัท (ยังไม่รวมกับบริษัทผู้ผลิตสมาร์ตโฟนอีกเป็นจำนวนมาก) รวมถึงรวมประชากรจีนกว่า 1,400 ล้านคนต้องฟังรัฐบาลกลาง และนั่นคือฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ทำให้การพัฒนาปัญญาประดิษฐ์เติบโตอย่างรวดเร็วมากในจีน

ระบบจดจำใบหน้าเซนส์ไทม์ (SenseTime พัฒนาโดยบริษัท เซนส์ไทม์ กรุ๊ป (SenseTime Group Limited) และเมควี (Megvii) พัฒนาโดยบริษัท เฟซ++ เทคโนโลยี (Face++ Technology) เลยกลายเป็นปัญญาประดิษฐ์ที่จดจำใบหน้าได้แม่นยำที่สุดในโลก ส่วนหนึ่งก็มาจากความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของรัฐบาลจีนที่เอื้อประโยชน์อย่างมากต่อภาคเอกชนในการพัฒนานวัตกรรม

แต่ขณะเดียวกัน เมื่อรัฐมีเครื่องมืออย่างปัญญาประดิษฐ์เก่งๆ รัฐบาลก็เข้ามายุ่มย่ามจัดการกับชีวิตของประชาชนมากเกินไป การจัดตั้ง ‘ระบบตำรวจจีนแบบคลาวด์’ (China’s Police Cloud) เอาไว้ติดตามคนที่รัฐบาลสงสัยว่ามีปัญหาสุขภาพจิต คนที่ออกมาวิจารณ์รัฐบาลในแง่ลบ รวมถึงติดตามชาวมุสลิมอุยกูร์ที่รัฐบาลมองว่าเป็นคนนอก ต้องนำมา ‘ขัดเกลา’ ใหม่ แถมยังมีระบบเครติดทำดี (Social Credit System) ให้คนที่ทำดีเก็บคะแนนได้สิทธิประโยชน์ต่างๆ ฯลฯ กลายเป็นว่ามันทำลายการกระจายอำนาจและอาจทำให้ระบบเศรษฐกิจเกิดความผิดเพี้ยนไปได้จากการแทรกแซงของรัฐที่มากเกิน

ไม่ว่าจะทางไหน ตอนนี้มนุษย์เรามีทางเลือกอยู่ไม่กี่ทาง หากไม่ไปทางเลือกแบบเสรีนิยมที่ทุกอย่างขึ้นอยู่กับตัวเลขกำไรขาดทุนและการแข่งขันอย่างเสรี ก็จะต้องเลือกการผูกขาดและควบคุมผ่านโครงข่ายบิ๊กดาต้าและปัญญาประดิษฐ์ (ว่ากันว่าการพัฒนาระบบบิ๊กดาต้าและปัญญาประดิษฐ์ของจีน ทำให้จีนเป็นเผด็จการมากกว่าในอดีตเสียอีก)

เรายังรู้เรื่องราวและผลกระทบเกี่ยวกับมันน้อยมาก แต่เราก็พุ่งไปข้างหน้าด้วยความเร็วที่ไม่มีการติดเบรก การแข่งขันที่รุนแรงของสองมหาอำนาจในสองเส้นทางที่ไม่เหมือนกันยิ่งเป็นตัวกระตุ้นให้ปัญญาประดิษฐ์ต้องมาให้เร็ว แต่ดูเหมือนไม่ค่อยมีคนถามกันเท่าไหร่ว่า เราพร้อมกันจริงๆ ไหมที่จะรับแรงกระแทกจากการเปลี่ยนแปลง 

คิดในแบบที่เลวร้ายที่สุด อนาคตบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ๆ อาจเลี่ยงความรับผิดชอบต่อสังคม มุ่งเน้นกับการแสวงหาผลกำไรอย่างเดียวจากปัญญาประดิษฐ์ จนทำให้เกิดช่องว่างทางสังคมดิจิทัลแบบใหม่ก็เป็นได้ ราว 50 ปีข้างหน้า เมื่อปัญญาประดิษฐ์ที่ชาญฉลาดได้ถือกำเนิดขึ้น ท่ามกลางประชากรที่มีมากกว่าหมื่นล้านคน คนกลุ่มหนึ่งอาจเริ่มใช้กำจัดศัตรูแย่งชิงทรัพยากรที่เหลือของโลก และยุติระบอบประชาธิปไตยและสหรัฐอเมริกา

แต่นั่นก็แค่จินตนาการ มองโลกในแง่ดีนะครับว่าในอนาคต รัฐบาลทั่วโลกน่าจะตื่นตัวและเริ่มขยับตัวให้เร็วตามเทคโนโลยี เราน่าจะได้เห็นความร่วมมือใหม่ๆ ในระดับประเทศบังคับให้การทำงานของปัญญาประดิษฐ์ต้องโปร่งใสและเปิดกว้าง บริษัทเทคโนโลยีทำงานร่วมกันกับภาคสังคมเพื่อแก้ไขปัญหาของโลก เช่น ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม หรือสุขอนามัย ฯลฯ 

ขอให้ทุกอย่างเป็นไปได้ด้วยดีครับ

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save