อันวาร์ ปาตานี แม่น้ำจระเข้

อันวาร์ ปาตานี แม่น้ำจระเข้

ธิติ มีแต้ม เรื่องและภาพ

 

 

ชายหนุ่มเดินเข้ามาหาหญิงสาว ทุกอย่างรอบข้างหยุดนิ่งไปชั่วขณะ หรืออาจจะโลกทั้งใบที่หยุดหมุน เหลือแค่ความรักของคนสองคน ทั้งคู่ค่อยๆ สวมกอดกันช้าๆ เธอจับมือของเขามาจูบอย่างภักดี เขาจับแก้มเธออย่างเอ็นดู แล้วจูบที่หน้าผากเธอ เนิ่นนาน…

ถ้ามีฉากเป็นสวนดอกไม้ ริมแม่น้ำ หรือได้แสงพระอาทิตย์ตกฉาบไล้ใบหน้าให้นุ่มนวลขึ้น ทุกอย่างคงสมบูรณ์แบบ

ต่อมาแม่ของเขาเดินเข้ามาสวมกอดลูกชาย ตามด้วยพ่อ เขากอดและหอมแก้มบุพการีสลับไปสลับมา แล้วน้ำตาของทุกคนก็ไหลพราก

เราเรียกสิ่งนี้ว่าความรักได้ไหม-ได้อยู่แล้ว เพียงแต่ฉากหลังไม่ใช่สวนดอกไม้ แต่เป็นเรือนจำกลางจังหวัดปัตตานี

เกือบ 4 ปีที่คนรักของหญิงสาวและลูกชายของพ่อแม่ถูกคุมขังอยู่ข้างในนั้น เมื่อได้รับอิสรภาพแล้ว น้ำหนักของความผูกพัน โหยหา จะใช้มาตรวัดไหนชั่งตวงเพื่อหาค่าความปลื้มปิติ สมการทำนองนี้บางทีก็ตอบยาก

ยิ่งเมื่อพ้นจากการรับกรรมข้อหาคดีความมั่นคง เป็นแนวร่วมก่อการร้ายด้วยแล้ว คำพิพากษาที่โถมเข้าใส่อาจไม่ได้มีหนึ่งเดียว

บางคนบอกว่าในคุกเหมือนทะเลทราย มันจะสูบน้ำในหัวใจให้เหือดแห้ง ทว่า สำหรับเขา ทำไมยิ่งดูชุ่มชื่น ยิ่งเบิกบาน มันไม่ใช่เรื่องท้าทาย ไม่มีใครเอ็นจอยกับการติดคุก

ออกจากเรือนจำฯ เขากับคนรักมุ่งหน้าไปมัสยิดกรือเซะ ละหมาดไป น้ำตาไหลไป หรือนอกจากอ้อมกอดของครอบครัวแล้ว เขากำลังอยู่ในอ้อมกอดของพระเจ้า

 

– 1 –

 

โชเฟอร์รถตู้หาดใหญ่-ปัตตานี ลดเกียร์ต่ำชะลอความเร็วเมื่อผ่านด่านความมั่นคงตรงอำเภอหนองจิก ทหารผอมๆ 2 นายอยู่ในเสื้อกันกระสุน มือกระชับปืนเอ็ม 16 สวมแว่นดำยืนนิ่งราวกับจ่าเฉย ถามว่าสภาพแบบนี้เขารอต้อนรับอาคันตุกะไหม ไม่น่าจะใช่

ในรถ-ที่นั่งตรงกลางจับจองด้วยครอบครัวมุสลิม แม่กับลูกสาวลูกชายตัวเล็กรวม 3 คน พร้อมสัมภาระทั้งกระเป๋าเสื้อผ้าและหยูกยาอาหารอีกกระเช้า

ทางขวาริมกระจก หนุ่มฉกรรจ์ผมเกรียนในเสื้อคอโปโล กางเกงบลูยีนส์ กำลังเล่นโทรศัพท์ นานๆ ถึงเงยหน้ามองออกไปนอกกระจกสักครั้ง

ข้างทาง นอกจากการคุ้ยเขี่ยเศษอาหารของแพะและไก่ เลยออกไปเป็นลานดินกว้างโล่ง เด็กผู้ชายหลายสิบชีวิตใช้มันเป็นสนามฟุตบอล เช่นเดียวกับเด็กผู้หญิงใช้มันเป็นสนามวอลเลย์บอล

บางช่วง-โชเฟอร์พยายามเร่งความเร็วฝ่าเปลวแดดบนถนน พอเข้าช่วงฝนกระหน่ำลงมาเขาก็ลดความเร็ว

ที่นั่งขวาด้านหน้าข้างโชเฟอร์ว่าง แต่เหมือนผมเห็นเขานั่งอยู่ตรงนั้น

 

– 2 –

 

กันยายน 2010 รถตู้ทะเบียนกัมพูชา สภาพซอมซ่อสีขาวถูกฉาบสีใหม่ด้วยโคลนแดงแห้งกรัง พาคนหนุ่มสาวกว่า 10 ชีวิตวิ่งข้ามจากด่านอรัญประเทศ มุ่งหน้าสู่เมืองพนมเปญ

หนุ่มมุสลิมตัวหนากำยำ ผิวคล้ำ เคราดกครึ้ม ขนตายาว สูงไม่เกิน 165 ซม. ใส่เสื้อเชิ้ตพับแขน สวมหมวกกะปิเยาะห์ นั่งหน้าข้างโชเฟอร์ชาวเขมร

 

 

เขา-อันวาร์ หรือ มูฮาหมัดอัณวัร หะยีเต๊ะ หนุ่มอำเภอยะรัง ปัตตานี ที่กำลังปลุกปั้นสำนักข่าวออนไลน์ของตัวเองกับพรรคพวกนาม “บุหงารายานิวส์” บุหงาที่หมายถึงดอกชบา ดอกไม้ประจำถิ่นมลายูปาตานี เพื่อรายงานข่าวเหตุการณ์และทรรศนะทั้งภาษาไทยและมลายู ร่วมทริปมาด้วยความสนใจอยากแลกเปลี่ยนกับคนหนุ่มสาวเขมรที่กำลังโฟกัสชะตากรรมผู้คนรอบลุ่มน้ำโขง

อันวาร์พูดน้อย และยิ้มง่าย ยิ้มทีไรก็เห็นเขี้ยวฟันขาว ใบหน้าบ่งบอกว่าเป็นคนมลายูยากจะปลอมแปลง

ระยะทางเกือบ 2,000 กม.จากปัตตานีถึงพนมเปญ อันวาร์บอกเหตุผลที่เดินทางข้ามวันข้ามคืนครั้งนั้นว่า อยากรู้ว่าคนทำสื่อประเทศอื่นคิดอะไร สนใจอะไร อยากรู้พวกเขาจะเล่าเรื่องในบ้านตัวเองแบบไหน โดยเฉพาะคนเขมรที่มีความทรงจำต่อสงครามเขมรแดง แล้วพวกเขาก้าวข้ามความขัดแย้งได้อย่างไร

“…ไม่รู้ว่าคดีอะไร ตำรวจไม่ได้บอก ถามแต่ว่ามีใครอีกบ้างที่เกี่ยวข้องกับบีอาร์เอ็น ผมบอกไม่รู้ ตำรวจบอกใช่ ไม่ใช่ ไม่เป็นไร แค่บอกมาว่ามีใครบ้างที่คิดว่าใช่ ใครก็ได้บอกมาสักคน”

– 3 –

 

มีนาคม 2017 หนุ่มฉกรรจ์ผมเกรียนลงรถตรงหน้าค่ายอิงคยุทธบริหาร ส่วนครอบครัวแม่ลูกมุสลิมลงหน้าโรงพยาบาลปัตตานี

รถตู้ส่งผมหน้ามัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี แต่ต่อไม่ทันรถเมล์ปัตตานี-ยะลา เที่ยวสุดท้ายเวลา 17.30 น. ซึ่งจะผ่านอำเภอยะรัง-รังของครอบครัวอันวาร์

รอมละห์ ภรรยาอันวาร์ โทรมาบอกให้ไปที่สถานีวิทยุมีเดียสลาตัน ห่างจากหน้ามัสยิดกลางแค่ 500 เมตร หรือจะถ่ายรูปชิลๆ หน้ามัสยิดกลางฯ ช่วงพระอาทิตย์ตกไปพลางก่อนก็ได้ ช่วงค่ำจะมีเพื่อนเธอที่สถานีฯ อาสามาส่ง ผมตอบตกลงตามนั้น

ราวหนึ่งทุ่มเศษ อันวาร์สวมเสื้อยืด นุ่งโสร่งยืนรอรับอยู่หน้าบ้าน ผมข้ามถนนเลนสวนเล็กๆ ที่เมื่อก่อนเป็นทางหลักเชื่อมปัตตานีกับยะลา

รอยยิ้มของเขาไม่เปลี่ยน กระชับมือเนิ่นนานและหนักแน่น ส่วนรอมละห์เงยหน้ามายิ้มให้แล้วตำส้มตำให้ลูกค้าสาวสองคนที่มายืนรอหน้าร้านต่อ

พ่อกับแม่และหลานสาวอันวาร์ออกมานั่งเล่นหน้าบ้าน คงเป็นเช่นเคยที่พวกเขามักจะออกมานั่งรับลมช่วงเย็นถึงค่ำ เพียงแต่วันนี้มีเพื่อนของอันวาร์มาอาศัยหลับนอนด้วย

อันวาร์เดินข้ามถนนไปซื้อข้าวเหนียวไก่ทอดฝั่งตรงข้าม ก่อนกลับมาชงชาให้อาคันตุกะ รอมละห์ส่งถุงส้มตำให้ลูกค้าเสร็จแล้วตำเพิ่มต่ออีกจาน

กลิ่นกระเทียมโทนที่รอมละห์ใส่หอมชัด ตามด้วยแอปเปิ้ล เม็ดมะม่วงหิมพานต์ องุ่น ฯลฯ

คู่รักยะรังใช้พื้นที่หน้าบ้านตัวเองเปิดเป็นร้านบุหงา ชาและกาแฟ (Bunga Teh Tarik & Coffee) แจมด้วยส้มตำผลไม้ ร้านเปิดวันแรกกลางธันวาคม 2012 ด้วยแพสชั่นอยากให้ยะรังมีพื้นที่ของคนหนุ่มสาวนั่งถกเถียงกัน และทุกๆ 1 แก้วจะหัก 1 บาทเพื่อส่งให้กองทุนช่วยเหลือเด็กกำพร้าจากเหตุรุนแรง

 

 

– 4 –

 

แต่ก็อีกนั่นแหละ ไฟฝันท่ามกลางไฟที่กำลังมอดไหม้สามจังหวัดชายแดนใต้ อะไรๆ ก็ยากและชะงักงันไปหมด

จากวันเปิดร้าน อีก 4 เดือนต่อมา พฤษภาคม 2013 ร้านบุหงาฯ ต้องปิดกะทันหัน หนุ่มเจ้าของร้านได้รับคำพิพากษาจากศาลฏีกาให้จำคุก 12 ปี พร้อมพวกอีก 9 คน ในข้อหาอั้งยี่ ซ่องโจร เป็นแนวร่วมกลุ่มก่อความไม่สงบ เตรียมการก่อการร้าย

เป็นคำพิพากษาที่ออกมาในช่วงที่รัฐบาลไทยกับขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี (บีอาร์เอ็น) กำลังเริ่มต้นพูดคุยสันติภาพ

เวลานั้นผมอยู่ที่กัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย ติดตามเวทีพูดคุยสันติภาพในฐานะสื่อฯ คืนก่อนหน้านั้นไม่กี่วัน อันวาร์ทักเฟซบุ๊ก มาถามไถ่ทุกข์สุข และอยากรู้ว่าระดับวีไอพีเขาคุยอะไรกัน

ผมตอบไวๆ สั้นๆ กลับไปว่าฝ่ายไทยยังไม่ยอมรับข้อเสนอ 5 ข้อของบีอาร์เอ็น ทั้งสองฝ่ายนัดใหม่เดือนมิถุนาฯ

ส่วน 5 ข้อที่ว่า ได้แก่

1. นักล่าอาณานิคมสยามต้องยอมรับให้ประเทศมาเลเซียเป็นผู้ไกล่เกลี่ย (mediator) ไม่ใช่แค่ผู้อำนวยความสะดวก (facilitator)

2. การพูดคุยเกิดขึ้นระหว่างชาวปาตานีซึ่งนำโดยบีอาร์เอ็นกับนักล่าอานานิคมสยาม

3. ในการพูดคุยจำเป็นต้องมีพยานจากประเทศอาเซียน องค์กร OIC และองค์กร NGO ต่างๆ

4. นักล่าอาณานิคมสยามต้องยอมรับว่าชาวมลายูปาตานีมีสิทธิในความเป็นเจ้าของดินแดนปาตานี

5. นักล่าอาณานิคมสยามต้องปล่อยผู้ถูกคุมขังในคดีความมั่นคงทุกคนและยกเลิกหมายจับทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับคดีความมั่นคง โดยไม่มีเงื่อนไข

เช้าวันต่อมา อันวาร์ทักมาอีกครั้งว่า “Hi Good morning ตื่นยัง” ผมหลับและเตรียมตัวกลับบ้าน เลยไม่ได้ตอบกลับไป พอข้ามมาเช้าวันที่ 1 พฤษภาฯ ถึงรู้ว่าอันวาร์งานเข้า!

เป็นงานเข้าแบบฟ้าผ่า! เพราะเขาได้รับหนังสือให้ไปฟังคำตัดสินศาลฎีกาก่อนหน้าแค่วันเดียว

“เข้าเรือนจำไปวันแรกใส่ตรวน ไม่เศร้าแล้ว ไม่เครียดแล้ว ละหมาดไปด้วยใส่ตรวนไปด้วย เล่นบอลก็ใส่ พวกไม่ใส่ไม่กล้าเข้าปะทะแย่งบอล กลัวเตะเหล็ก”

– 5 –

 

ทุกอย่างดูจะเร็วไปหมด อันวาร์ไม่ได้เตรียมตัว ไม่ได้เตรียมใจ คนรักและใครต่อใครไม่คิดว่าหวยจะออกเบอร์นี้ อย่างมากที่สุดแค่ 5 นาที ที่พวกเขาได้ร่ำลากัน

“อีก 12 ปี ข้าจะออกมาเห็นผลงานของพวกท่าน อดทนไว้นะ ขอให้สำเร็จ” เป็นประโยคสุดท้ายที่อันวาร์กล่าวกับมิตรสหายที่เดินทางไปร่วมฟังคำพิพากษา ก่อนก้าวขึ้นรถเรือนจำฯไป

ตอนขึ้นเครื่องกลับจากกัวลาลัมเปอร์ ทั้งที่หูก็ไม่อื้อ แต่ข้างในมันอื้อไปหมด มืดไปหมด ทั้งที่เครื่องบินก็แลนดิ้งอย่างนุ่มนวล แต่คำถามภายในกระแทกกระทั้นรุนแรง

ใช่, มีฎีกา ก่อนหน้าก็มีอุทธรณ์ และชั้นต้น เขาเองคิดว่าเรื่องจะจบไปแล้ว แต่มันไม่จบ

 

– 6 –

 

ตั้งแต่ปี 2004 นับจากหัวปี-เหตุการณ์ปล้นปืนที่ค่ายกองพันพัฒนาที่ 4 อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส กลางปี-ล้อมฆ่าในมัสยิดกรือเซะ

จนท้ายปี-ชุมนุมตากใบไร้ลมหายใจ กฎอัยการศึก และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก็ถูกหว่านใช้ในแผ่นดินปัตตานี คำว่า “ไฟใต้” “โจรใต้” ก็ถูกใช้อย่างแพร่หลายในหน้าหนังสือพิมพ์รายวัน

นอกจากอันวาร์เป็นสื่ออิสระ ที่เปิดร้านน้ำชา และมีบ้านอยู่ที่ปาตานี บ้านซึ่งอยู่ติดกับสถานีตำรวจภูธรยะรัง ก็ถูกพ่วงคดีความมั่นคงว่าเป็นโจรเข้าไปด้วยอีกสถานะหนึ่ง

สถานะความเป็นโจรที่อันวาร์ได้รับมาจากทางการ เริ่มขึ้นในช่วงกรกฎาคม 2005

หลังจาก ด.ต.สัมพันธ์ อ้นยะลา พนักงานตำรวจ สภ.ยะรัง ถูกคนร้ายฆ่าตัดคอในสวนยางใกล้กับมัสยิดบ้านบาซาเวาะเซง และโรงเรียนบุญบันดาล หรือ ปอเนาะแนบาแด ห่างจากบ้านอันวาร์เพียง 1 กิโลเมตร

ตำรวจก็เริ่มเข้าตรวจค้นและควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยไปทีละคนสองคน จนเป็นหลายสิบคน

 

– 7 –

 

บ่ายวันที่ 17 สิงหาคม 2005 ครั้งนั้นอันวาร์ยังเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ซ้อนมอเตอร์ไซค์เพื่อนกลับมาถึงบ้าน บ้านที่เปิดเป็นร้านข้าวตามสั่ง มีพ่อเป็นกุ๊กใหญ่ มีแม่เป็นผู้ช่วยกุ๊ก

“ตำรวจนอกเครื่องแบบ 6 นายเดินออกมาจาก สภ.ยะรัง พวกเขาไม่ได้สังกัดที่นี่ มีบางคนผมจำหน้าได้ เพราะเขาเคยมากินข้าวที่ร้าน ผมถามพวกเขาว่ามากินข้าวเหรอครับ เชิญนั่งก่อนพี่”

“ไม่เป็นไรน้อง พี่รบกวนหน่อย หนึ่งในตำรวจตอบเร็ว แล้วก็เอากระดาษถ่ายเอกสารขนาดเอสี่ที่มีรูปผมให้ดู ใช่เราไหม เขาถาม ผมบอกใช่ ถามชื่อ ใช่เราไหม ใช่ รู้ไหมว่าเรื่องอะไร ไม่รู้ครับ งั้นเดี๋ยวไปคุยกันหน่อย”

อันวาร์เล่าใบหน้าเรียบนิ่ง บอกว่าตอนนั้นแม่ตกใจหน้าซีด ถามว่ามีเรื่องอะไรๆ แต่ตัวเองยังงงอยู่ เลยหันไปบอกแม่ว่าไม่เป็นไร เดี๋ยวมา เพราะตอนนั้นยังไม่เห็นหมายจับ

หนุ่มยะรังเดินตามตำรวจออกจากบ้านเลี้ยวขวาไปที่ สภ.ยะรัง มีรถยนต์ติดฟิล์มดำทึบจอดรออยู่สามคัน แล้วก็ถูกเชิญขึ้นรถไป

“ผมถูกคุมตัวอยู่ที่ สภ.หนองจิกอยู่ถึง 28 วัน แม่มาเยี่ยมทุกวัน ร้องไห้ทุกวัน ไม่รู้ว่าคดีอะไร ตำรวจไม่ได้บอก ถามแต่ว่ามีใครอีกบ้างที่เกี่ยวข้องกับบีอาร์เอ็น ผมบอกไม่รู้ ตำรวจบอกใช่ ไม่ใช่ ไม่เป็นไร แค่บอกมาว่ามีใครบ้างที่คิดว่าใช่ ใครก็ได้บอกมาสักคน”

อันวาร์พยายามคิดว่าตกลงมันเรื่องอะไร เขาคิดถึง 2 กรณีที่เกิดในท้องที่ยะรังช่วงนั้น 1. คดีฆ่าตัดคอตำรวจ กับ 2. ดักยิงอาจารย์โรงเรียนเอกชน

 

– 8 –

 

“พนักงานสอบสวนเรียกผมสอบทุกวัน ก่อนกลับตอนเย็นเขาบอกกูจะมาใหม่ กูจะรอคำตอบจากมึง จนผมหลอนทุกครั้งที่ได้ยินเสียงรถวิ่งมาจอดหน้าโรงพัก ผมคิดว่าใช่เขาแน่ พอโผล่หน้าไปดู แล้วก็ใช่จริงๆ เป็นแบบนี้อยู่ 28 วัน เป็นใครก็คงจำเสียงเครื่องยนต์ได้ หลายครั้งที่นอนๆ อยู่ผวาได้ยินเสียงรถเข้ามาจอดทั้งที่ดึกดื่นไม่มีใครมาแล้ว”

ระหว่างถูกคุมตัวไว้สอบสวน อันวาร์ถูกส่งตัวไปที่ค่ายสิริธร ทหารจับให้นั่งโต๊ะแถลงข่าวรวมทั้งหมด 4 คน ไม่มีใครรู้จักกันมาก่อน

“นักข่าวเพียบ ทหารพูดฝ่ายเดียว ผู้ต้องหา 4 คนไม่ได้พูดสักคำ รุ่งเช้ามาขอดูหนังสือพิมพ์ที่โรงพัก เดลินิวส์ลงเต็มหน้า 2 ฆ่าตัดคอตำรวจ ระเบิดยะลา เอาแล้วกู! คิดในใจ ติดคุกคงไม่ต่ำกว่า 10 ปี แล้วก็เริ่มจินตนาการในคุกคงดิบเถื่อน น่ากลัว มีการรับน้อง สวนทวาร มีแก๊งมาเฟียแบบในหนัง ตอนนั้นเริ่มจ๋อยแล้ว”

เสร็จจากแถลงข่าว อันวาร์ถูกพากลับมาขังที่โรงพักจนครบ 28 วัน พนักงานสอบสวนทำสำนวนเสร็จ ส่งต่อให้อัยการ อัยการส่งฟ้องศาล ศาลจึงอนุมัติฝากขังในเรือนจำกลางจังหวัดปัตตานี

 

 

– 9 –

 

ระหว่างนั้นแม่หาญาติที่เป็นทนายมาช่วย “ตอนทนายอยู่โรงพัก ตำรวจคุยดีด้วย พอทนายกลับ ตำรวจทุบโต๊ะบอก… แม่งมีทนายแล้วโว้ย” อันวาร์ยืดตัวหลังตรงคล้ายย้อนเหตุการณ์ไปสิบกว่าปีก่อนว่าตำรวจพูดไปทำท่านี้ไปอีกครั้ง

ระหว่างนั้นทนายทำเรื่องขอประกันตัวทุก 12 วัน แต่ศาลไม่อนุญาต “เหมือนไผ่ ดาวดิน ยื่นประกันไปศาลก็ไม่ยอม”

มาทบทวนดูเข้าใจว่าเพราะ 1. เหตุการณ์ช่วงนั้นกำลังรุนแรง จนมีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ การบุกตรวจค้น ควบคุมตัวเกิดขึ้นรายวัน และกระบวนการยุติธรรมก็ถูกปิดตาย 2. เวลานั้นยังไม่มีองค์กรที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนลงมาดู หลายต่อหลายเคสจึงอยู่ในอุ้งมือฝ่ายความมั่นคงเต็มๆ

“เข้าเรือนจำไปวันแรกพร้อมกับ 4 คนที่ถูกจับแถลงข่าวด้วยกัน คดีความมั่นคงทุกคนใส่ตรวนหมด คิดในใจน่าจะส่งมาเรือนจำตั้งแต่วันแรก มันไม่ได้น่ากลัวแบบที่คิด ช่วงนั้นคดีความมั่นคงมีอยู่ 20 กว่าคน แต่อยู่ปะปนกับคดีทั่วไป แต่ไม่มีใครมาระราน อยู่ข้างในใส่ตรวน ไม่เศร้าแล้ว ไม่เครียดแล้ว ละหมาดไปด้วยใส่ตรวนไปด้วย เล่นบอลก็ใส่ พวกไม่ใส่ไม่กล้าเข้าปะทะแย่งบอล กลัวเตะเหล็ก” อันวาร์ยิ้ม ก่อนบอกว่ารอบแรกติดคุกอยู่ 1 ปี 2 เดือนจึงได้ประกันตัว

“ก่อนได้ประกันตัว พี่หน่อย-พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ จากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม พร้อมกับทีมทนายความมุสลิม ลงมาทำงานในปัตตานี มีโอกาสเข้ามาเยี่ยม ถามผมว่ารู้จักบีอาร์เอ็นไหม ผมบอกไม่รู้จัก แกว่าอะไรวะ โดนจับคดีบีอาร์เอ็นแต่ไม่รู้จักบีอาร์เอ็น”

“อันวาร์อยู่ในคุก จะไปยิงพระตอนไหน พอบอกพี่ๆ ตำรวจไป เขาตอบว่าถ้ารู้ว่าอยู่ในคุกคงไม่มา เอ้า… แบบนี้ก็ได้เหรอ”

– 10 –

 

หลังจากได้ประกันตัวออกมา อันวาร์เริ่มศึกษาหาหนังสือมาอ่าน เพราะตอนอยู่ข้างในยังไม่รู้ว่าบีอาร์เอ็นคืออะไร และเวลานั้นในวิกิพีเดียยังไม่ปรากฏเรื่องบีอาร์เอ็น

ฟังผู้ต้องขังคดีความมั่นคงคุยกันก็ไม่เข้าใจ เพราะส่วนใหญ่เป็นคนที่จบมาจากโรงเรียนปอเนาะ พวกเขาจะคุยกันเรื่องศาสนา เรื่องคัมภีร์อัลกุรอานเป็นหลัก แต่อันวาร์เรียนมาทางสายสามัญ เลยได้แต่นั่งฟังอย่างเดียว

ความเข้าใจในบีอาร์เอ็นของอันวาร์ไม่ได้มาจากคู่มือการปฏิวัติมลายูปัตตานี เพราะไม่มีใครในบีอาร์เอ็นเขียนเผยแพร่ไว้ แต่อ่านจากงานวิจัยของ พล.อ.สำเร็จ ศรีหร่าย อดีตรองแม่ทัพภาคที่ 4 ที่เป็นคนเขียนเรื่องบีอาร์เอ็นคนแรกๆ ในสังคมไทย และอาศัยเข้าไปฟังเวทีเสวนาตามที่องค์กรสิทธิฯจัดแทบทุกอาทิตย์

ที่บ้านยะรัง, รู้ทั้งรู้อยู่แก่ใจ แม้อันวาร์จะยืนยันหนักแน่นว่าตัวเองบริสุทธิ์ แม้เคยถามใจตัวเองว่ากล้ากระโดดเข้าไปร่วมไหมกับการใช้อาวุธต่อสู้เพื่อปลดปล่อยแผ่นดินบ้านเกิดออกจากไทย อันวาร์ตอบไว “ผมไม่กล้า”

และเมื่อต้องทบทวน ก็อดถามตัวเองไม่ได้ว่าคดีทั้งหมดที่เกิดขึ้น ทำไมถึงต้องเป็นอันวาร์

เขาบอกว่าถูกซัดทอดจากเด็กปอเนาะคนหนึ่งที่ตำรวจคุมตัวไปสอบสวนช่วงเกิดคดีฆ่าตัดคอตำรวจ สภ.ยะรัง

ช่วงนั้น กอ.รมน. หรือกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ขอให้โรงเรียนปอเนาะในพื้นที่ส่งรายชื่อนักเรียนให้ทุกคน โดยเฉพาะรายชื่อของเด็กโรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ ที่มีสะแปอิง บาซอ ประธานบีอาร์เอ็นผู้ล่วงลับ เคยทำหน้าที่ครูใหญ่ และเป็น 1 ใน 7 อุสตาซ ที่ทางการไทยเคยต้องการตัวมากที่สุด

“ผมเรียนจบสายสามัญ ม.6 ที่ธรรมวิทยาฯ แล้วไปขอบาบอที่ปอเนาะแนบาแดเรียนศาสนาต่อแบบชั่วคราว เด็กคนที่ซัดทอดผมน่าจะเป็นรุ่นน้อง เขาเรียนอยู่ที่นี่ ช่วงแรกโกรธ ทำไมมึงซัดทอดกู พอผ่านมาถึงวันนี้ คิดดูว่าถ้าผมเป็นเขา ถูกเอาตัวไปสอบสวน ไม่รู้โดนอะไรบ้าง ผมอาจจะซัดทอดใครสักคนก็ได้” แววตาอันวาร์ดูคลี่คลายผ่อนปรน

เช่นเดียวกันกับหลายต่อหลายคดีที่มีเหยื่อกระบวนการยุติธรรมพยายามรื้อฟื้นคดีตัวเอง เพื่อยืนยันความบริสุทธิ์

ตอนอยู่ในคุก อันวาร์เคยคิด แต่พอออกมาแล้ว เขาไม่คิดว่าจะไปรื้อฟื้นให้ได้อะไรขึ้นมา ในเมื่อความยุติธรรมไม่เคยมีอยู่จริง

 

 

– 11 –

 

ระหว่างที่ได้ประกันตัวรอคำตัดสินจากศาลชั้นต้น อันวาร์หันหลังให้การศึกษาระดับปริญญาตรี แล้วหันหน้ามาสู้คดีของตัวเอง จนวันที่ 25 กรกฎาคม 2007 ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 12 ปี

“ไปศาลตอนเช้า ตัดสินเสร็จ จ๋อย แต่ยื่นประกันตัวได้ตอนเย็น ใช้เงินประกัน 7 แสนบาท และขอสู้คดีในชั้นอุทธรณ์ต่อ จนวันที่ 16 มิถุนายน 2009 ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง”

ช่วงนั้นมีประเด็นผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคงเสียชีวิตระหว่างถูกควบคุมตัวในค่ายอิงคยุทธบริหาร อันวาร์ติดตามมูลนิธิผสานวัฒนธรรมเข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริงข้างใน ในฐานะนักสิทธิมนุษยชนเต็มตัว

“ผมเข้าไปในห้องประชุม เจอตำรวจคนที่สอบสวนผม ไม่เจอกันมา 4 ปี จำได้แต่ยังไม่ได้ทัก เจ้าหน้าที่หญิงคนหนึ่ง น่าจะทำหน้าที่ช่วยงานราชการมองมาที่ผมด้วยความสงสัย สักพักหันไปกระซิบกับตำรวจคนนั้น สักพักแกถึงมาทักว่า จำพี่ได้ไหม ไม่เจอกันนานเลยสบายดีนะ ผมบอกสบายดี จะทักพี่แต่กลัวพี่จำไม่ได้ แกว่าเฮ้ย… จำได้สิ แล้วเป็นไงบ้างช่วงนี้ ผมบอกศาลอุทธรณ์ยกฟ้องครับ เลยตามพี่ๆ นักสิทธิมนุษยชนมา แกว่าดีๆ เล่นแบบนี้ดีกว่า ผมคิดในใจว่าแล้วเมื่อก่อนกูเล่นแบบไหนวะ” อันวาร์แค่นหัวเราะ

 

– 12 –

 

แน่นอน-พฤษภาคม 2013 อันวาร์โดนฎีกา 12 ปี แต่ติดจริง 3 ปี 8 เดือน 7 วัน ไม่ถึงตามที่ศาลตัดสินหรอก เพราะได้รับพระราชทานอภัยโทษออกมาเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2017

แต่ถ้านับตั้งแต่ปี 2005-2017 เป็น 12 ปีของชีวิตคนหนุ่มคนหนึ่ง เกือบครึ่งของอันวาร์คือใช้ชีวิตอยู่ในคุกรวม 5 ปี 7 วัน และไม่แน่ว่าจะเป็นเขาคนเดียวในแผ่นดินปาตานีที่มีชะตากรรมเช่นนี้

นี่อาจทำความเข้าใจได้ว่าทำไมการติดคุกรอบสองของอันวาร์ถึงสั่นสะเทือนความรู้สึกมิตรสหายและผู้คนไม่น้อย เพราะเขาเป็นคนหนึ่งในพื้นที่ที่ใช้เวลาหลังศาลอุทธรณ์ยกฟ้องผลักดันประเด็นสันติภาพมาตลอด

ทั้งในนามสื่ออิสระ “บุหงารายานิวส์” และ “บุหงารายาบุ๊ก” ที่เขากับเพื่อนร่วมกันก่อตั้ง ผลิตการ์ตูนนิทานสำหรับเด็กเป็นภาษามลายู

เขาใช้กราฟิกดีไซน์โปสเตอร์รณรงค์เขตปลอดอาวุธ รณรงค์ให้ยกเลิกกฎหมายความมั่นคงเผยแผร่ทางอินเทอร์เน็ต และทำสติ๊กเกอร์แจก

ชะตากรรมของอันวาร์ถูกผูกสัมพันธ์จากเรือนจำโยงออกมาข้างนอก และไปไกลถึงต่างประเทศ

ใครบางคนที่รู้เรื่องราวเปิดเฟซบุ๊กในชื่อ “เพื่อนอันวาร์-Save Anwar” และมีการแชร์กันจำนวนมาก

ข้อความ Save Anwar ไปติดอยู่ทั้งในรถไฟฟ้า ห้องเรียน ป้ายรถเมล์ ร้านหนังสือ ร้านกาแฟ ห้างสรรพสินค้า มหาวิทยาลัย และสวนสาธารณะ

ไปไกลกระทั่งกรุงลอนดอน แม้แต่ “อัลจาซีร่า” ที่รู้เรื่องก็เดินทางมาทำข่าวอันวาร์ และนักโทษคดีความมั่นคงคนอื่น

“ตอนอยู่ข้างนอก ผมใช้แป้นพิมพ์ผลักดันสันติภาพ เมื่อถูกบังคับให้อยู่ข้างใน ผมมีดินสอ กระดาษ เขียนบทกวีกระจายแนวคิดสันติวิธีออกไป ไม่ใช่เฉพาะคน 3 จังหวัดเท่านั้นหรอกที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง คนส่วนกลางก็เป็นเหยื่อของความรุนแรงจากการเสพสื่อที่สร้างความกลัว ความหวาดระแวง และอคติ สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาเรื้อรัง”

 

– 13 –

 

ตอนที่อันวาร์เข้าคุกรอบสองไปเพียงเดือนเศษๆ วันที่ 21 มิถุนาฯ เป็นวันสันติภาพสากล เขาเขียนจดหมายจากเรือนจำส่งถึง “แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล” หรือองค์การนิรโทษกรรมสากล เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลไทยนิรโทษกรรมผู้ต้องขังคดีความมั่นคงที่ได้รับผลกระทบจากการใช้กฎหมายพิเศษ

ถูกคุมขังบังคับให้ใช้ชีวิตในคุกอยู่เกือบปี พอวันที่ 22 มีนาคม 2014 กำลังตำรวจจาก สภ.ยะรัง เจ้าเก่ามาหาที่บ้าน ขอตรวจค้นและตรวจดีเอ็นเออันวาร์ เพราะมีรายงานว่าอันวาร์เป็นผู้ต้องสงสัย ก่อเหตุยิงพระสงฆ์และคนไทยพุทธเสียชีวิต 4 ราย บาดเจ็บอีก 7 คน เมื่อวันที่ 13 กุมภาฯ ปีเดียวกัน ในพื้นที่ อ.แม่ลาน ปัตตานี

“ก็ทั้งที่อันวาร์อยู่ในคุก จะไปยิงพระตอนไหน พอบอกพี่ๆ ตำรวจไป เขาตอบว่าถ้ารู้ว่าอยู่ในคุกคงไม่มา เอ้า… แบบนี้ก็ได้เหรอ แล้วคดีอื่นๆ จะรู้ได้ไงว่าการจับกุมไม่มีปัญหาถ้าข้อมูลของเจ้าหน้าที่รัฐหละหลวมแบบนี้” รอมละห์ยิ้มเจื่อน

ส่วนคดีฆ่าตัดคอตำรวจที่เป็นชนวนเหตุแห่งการจับกุมที่บ้านเมื่อปี 2005 อันวาร์บอกว่าถึงวันนี้ก็ยังจับคนร้ายไม่ได้ ข้อหาอั้งยี่ซ่องโจรที่โดนกับหลายๆ คนก็เหมือนงอกมาทีหลัง แปลว่าต่อให้ไม่มีคดีฆ่าตัดคอตำรวจ ก็อาจจะถูกเอาไปพ่วงกับคดีอื่นได้อีก

“ที่เจ็บใจคือหลายต่อหลายครั้ง ถึงวันนี้เวลาทหารพูดกับสื่อกระแสหลักก็มักย้ำว่าผมฆ่าตัดคอตำรวจ ทั้งที่ในสำนวนไม่ได้ระบุว่าเกี่ยวข้อง” อันวาร์ยิ้มเจื่อนตามภรรยา

 

“พวกจลาจลกรูกันเข้ามาประชิดตัว แต่ผู้ต้องขังคดีความมั่นคงคนหนึ่งเป็นผู้ใหญ่หน่อยบอกหยุดก่อน ใจเย็นนั่งก่อน พวกนั้นหยุดแต่ไม่นั่ง ทำท่าจะเอาตัวผู้คุม ผมคิดในใจว่าถ้ากูพูดจะฟังไหม หยิบโทรโข่งมาลองดู”

– 14 –

 

ที่บ้านยะรัง, จากทุ่มเศษๆ ขยับไปดึกดื่น ผมอาบน้ำทีหลังเพื่อน อันวาร์พาขึ้นไปที่ห้องนอนชั้นสอง แต่ดูแล้วกองโน่นนี่นั่นสุมๆ อยู่ตรงมุม เหมือนห้องเก็บของมากกว่า

ทว่ามีเตียงนุ่ม หมอนและผ้าห่มพร้อม รอมละห์บอกว่าใครมาค้างก็ให้นอนที่นี่แหละ ห้องนี้ลมเย็นกว่าเพื่อน

มองออกไปนอกหน้าต่าง เป็น สภ.ยะรัง เจ้าเก่า ไฟนีออนจากโรงพักสว่างจ้า ผมดึงม่านบังแสงที่แทงมาให้มิดชิดขึ้น นั่งฟังเสียงละหมาดของอันวาร์สักพัก เสร็จแล้วผมลงไปข้างล่างบ้าน อันวาร์ตามลง เข้าไปในครัวต้มน้ำร้อนเพื่อชงชาแล้วเติมน้ำตาลก่อนรินใส่จอกเล็ก

นอกจากสถานะโจรที่ได้รับ ระหว่างเป็นผู้ต้องขัง วันที่ 15 กรกฎาคม 2016 อันวาร์ได้รับการยกระดับเป็นแกนนำก่อจลาจลเผาเรือนจำกลางจังหวัดปัตตานีอีกสถานะหนึ่ง

ค่ำนั้นผมอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ จำได้ สื่อออนไลน์หลายสำนักลงข่าวว่าเขาเป็นแกนนำตามคำบอกเล่าของฝ่ายความมั่นคง พร้อมลงรูปเศษกระดาษยับๆ ที่มีชื่ออันวาร์เขียนด้วยลายมือ ซึ่งฝ่ายความมั่นคงระบุว่าเป็นลายมือที่อันวาร์เขียนข้อเรียกร้องส่งออกมาให้

อีกไม่กี่นาทีต่อมารอมละห์โพสต์เฟซบุ๊กโต้ว่าชื่ออันวาร์สะกดผิด และลายมือก็ไม่ใช่ของคนรัก เมื่อบอกไม่ใช่ สื่อออนไลน์ก็ยิงข่าวจากภรรยาอันวาร์ต่อไป แต่แทบไม่มีใครสนใจ หลายคอมเมนต์ต่อท้ายข่าวสนับสนุนให้ทหารเข้าสลายการชุมนุมทันที

ใช่ไหมว่าในบางสามัญสำนึก ถ้าไม่นับเขาหรือใครต่อใครเป็นคนที่มีเลือดเนื้อ มีครอบครัว ไม่ให้ราคากัน จะจัดการอะไรก็ง่ายเหมือนบี้มดแมลงเล่น เช่นเดียวกับการบอกให้ทหารยิงพวกมันทิ้งเสีย

 

 

– 15 –

 

อันวาร์ยกจอกน้ำชาเป่าไอร้อนก่อนซดครึ่งถ้วยแล้ววาง จากนั้นเขาพาผมกลับไปยังวันเกิดเหตุ

“ก่อนหน้านั้นกลุ่มผู้ต้องขังมีความเครียดสะสมมาสักพักแล้ว 2 เดือนก่อนหน้า คสช.มีคำสั่งให้ตรวจค้นทุกสัปดาห์ รวมถึงมีผู้ต้องขังที่ขัดแย้งด้วยกันเอง มีผู้ต้องขังอยู่คนหนึ่งเคยเป็นจ่าทหาร ผู้คุมให้ทำหน้าที่เป็นครูฝึกผู้ต้องขังใหม่ แกจะชอบสั่งเด็กใหม่ฝึกวินัยด้วยการถอดเสื้อแล้วกลิ้งไปกับพื้นปูนร้อน ส่วนคนที่ทำผิดวินัยแกได้รับการอนุมัติให้กระทืบได้ ทำแบบนี้นานเข้า เพื่อนผู้ต้องขังไม่พอใจ สะสมไว้ๆ หลายคนบอกนี่ไม่ใช่การฝึกหรือลงโทษ มันคือการซ้อมทรมาน”

“อีกส่วนคือช่วงนั้นเรือนจำย้ายหัวหน้าผู้คุมคนใหม่มา แล้วมีการเปลี่ยนระเบียบการปฏิบัติของผู้ต้องขังแบบกะทันหัน เช่น ในเรือนจำที่ผ่านมาจะอะลุ่มอล่วยให้ผู้ต้องขังที่ถือศีลอดนำขนมนมเนยขึ้นเรือนนอนได้ในช่วงเย็น เพราะตอนที่เขาอยู่ข้างนอกเขาไม่ได้ทำ เลยมาชดเชยข้างใน”

“วันนั้นเป็นบ่ายวันศุกร์ มีโต๊ะอิหม่ามซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากกรรมการอิสลามประจำจังหวัด แกโดนคดีความมั่นคงมาตั้งแต่ปี 2005 รวมผมกับเพื่อนเป็น 3 คน เอารายชื่อผู้ต้องขังกว่าพันคนที่ลงชื่อเรียกร้องไปยื่นให้หัวหน้าผู้คุม 1. ขอให้ทางเรือนจำค่อยๆ เปลี่ยนคำสั่ง ไม่ใช่สั่งปุบปับเปลี่ยนทันที เพื่อให้ผู้ต้องขังปรับตัวได้ 2. ขอให้ผู้ต้องขังที่ถือศีลอดนำอาหารขึ้นเรือนนอนได้ 3. การฝึกแถวของผู้ต้องขังใหม่ขอให้ปฏิบัติอย่างเหมาะสม ไม่ใช่การฝึกทหาร ส่วนผู้ต้องขังที่ทำผิดวินัยขอให้ลงโทษตามระเบียบที่เรือนจำกำหนด ไม่ใช่ซ้อมทรมาน เพราะว่าเรือนจำเคยมีบทเรียนจากการก่อจลาจลแล้วเมื่อปี 2011”

“ก่อนเกิดเหตุ 15 นาที โต๊ะอิหม่ามกลับไปเปลี่ยนเสื้อผ้าที่เรือนนอน ตั้งใจจะไปประกาศให้ผู้ต้องขังที่อยู่ในมัสยิดของเรือนจำทราบว่าหัวหน้าผู้คุมรับข้อเรียกร้องแล้วว่าจะทำให้ มัสยิดกับเรือนนอนห่างกัน 200 เมตร ผมกับเพื่อนอีกคนเลือกละหมาดอยู่ใต้ถุนเรือนนอน ปรากฏว่าแกเดินไปไม่ทัน ผมก้มละหมาดอยู่สักพักได้ยินเสียง อัลเลาะห์ อักบัร ดังผ่านลำโพงมัสยิดออกมาซ้ำๆ กัน ผมหันไปมองเพื่อน ชิบหายแล้ว”

อันวาร์บอกปกติจะได้ยินอัลเลาะห์ อักบัร ก่อนการละหมาด แต่ครั้งนี้ได้ยินหลังละหมาด สิ้นเสียงแล้วก็เงียบ เงียบแล้วก็วังเวง ไม่ถึงนาทีก็ได้ยินเสียงคนโห่ร้อง เขารีบวิ่งออกไปดู ผู้ต้องขังเป็นพันอยู่กลางสนามโพกผ้าปิดหน้า ถือก้อนอิฐก้อนหินวิ่งกรูไปที่ห้องผู้คุม แล้วกระหน่ำปาใส่ไม่ยั้งมือ ส่วนผู้ต้องขังที่อยู่ในมัสยิดทยอยออกมาทีละคนสองคน

 

– 16 –

 

เมื่อมาคิดย้อนกลับ อันวาร์บอกว่ามีกระแสมาก่อนเกิดเหตุเป็นอาทิตย์ว่าจะมีจลาจล แต่ไม่คิดว่าจะเป็นวันนี้ ถามโต๊ะอิหม่ามดู ก็ได้รับคำตอบว่า “กูก็รู้พร้อมมึงเนี่ยแหละ”

“ในห้องผู้คุมมีประตูออกไปด้านนอก ผู้คุมส่วนหนึ่งหนีออกไปได้ ผู้ต้องขังที่เป็นแนวหน้าบุกเข้าไปในห้อง เจอตัวผู้ต้องขังอีกคนที่เป็นเด็กผู้คุมเหมือนกัน โดนกระทืบตายคาห้อง พวกแนวหน้ากระทืบเสร็จเผาเลย พอไฟเริ่มลุก โต๊ะอิหม่ามบอกคุมไม่อยู่แล้ว”

“จลาจลไปสักชั่วโมง ควันไฟท่วมเรือนจำ ด้านนอกที่อาจจะเป็นสื่อหรือเจ้าหน้าที่ส่งโดรนบินเข้ามาตรวจสอบ แต่ไม่มีใครสนใจ ตอนนั้นประมาณเกือบหกโมงเย็น กลับมาดูเหตุการณ์ที่เรือนนอน พวกที่เหลือตะโกนหาจ่า ไอ้จ่าอยู่ไหน เดินล่ากันทั่วเรือนจำ แต่ไม่เจอ เพราะจ่าเป็นเป้าหลัก เข้าใจว่าหนีออกไปทันพร้อมผู้คุมคนอื่น”

โต๊ะอิหม่ามหันมาถามอันวาร์ “เอาไงต่อ” ตอนนั้นเหลือผู้คุมยังออกไปไม่ได้อีก 10 คน อยู่ที่แดนความมั่นคง 5 คน อยู่ที่ร้านชำอีก 5 คน สรุปกันว่าพาผู้คุมออกไป อย่าให้สูญเสียอีก อันวาร์บอกกลายเป็นว่าผู้ต้องขังต้องมาดูแลผู้คุมแทน

“ตอนพาเดินออกไปที่ร้านค้าใกล้สนาม พวกจลาจลกรูกันเข้ามาประชิดตัว แต่ผู้ต้องขังคดีความมั่นคงคนหนึ่งเป็นผู้ใหญ่หน่อยบอกหยุดก่อน ใจเย็นนั่งก่อน พวกนั้นหยุดแต่ไม่นั่ง ทำท่าจะเอาตัวผู้คุม ผมคิดในใจว่าถ้ากูพูดจะฟังไหม หยิบโทรโข่งมาลองดู ใกล้ๆ เป็นพวกจลาจลหลายร้อยคน ในมือกำหินแน่น”

“เลยออกไปเป็นควันไฟที่พุ่งมาจากห้องผู้คุม ผมบอกพวกเรานั่งก่อน ขอพาผู้คุมชุดนี้ออก เพื่อจะให้เขาไปบอกพวกข้างนอกส่งคนที่เราไว้ใจมาคุยกัน เอาไหม ไว้ใจไหม แล้วให้พวกเราเขียนข้อเรียกร้องมาว่าต้องการอะไรบ้าง พูดจบก็โห่ร้องดีใจกัน งั้นขอให้พวกเราเปิดทางหน่อย เพราะต้องเดินฝ่าไป พวกจลาจลกับผู้คุมหายใจรดต้นคอกัน แต่ไม่ทำอะไร”

 

– 17 –

 

ฟ้าหมดแสง แต่แรงกลุ่มจลาจลยังไม่ตก ผู้คุมชุดสุดท้ายออกไปหมดแล้ว เหลือแต่ควันไฟที่ยังโขมงอยู่

ภายในเรือนจำไร้แสงสว่าง เพราะไฟฟ้าดับ แผงควบคุมไฟฟ้าถูกไฟไหม้ไปแล้ว อันวาร์บอกรู้สึกเหมือนเวลามันยืดได้ ยาวนานเหลือเกิน

“ระหว่างนั้นเกิดศพที่สอง เป็นผู้ต้องขังแก่ๆ เฝ้าอยู่สถานพยาบาล ไม่ได้เป็นเป้า แต่มีพวกจลาจลจะเข้าไปเอายารักษา เพราะที่มาได้รับแต่พาราเซตามอล เม็ดเดียวรักษาทุกโรค ยาอื่นต้องให้หมอจ่ายให้ พวกนี้บุกเข้าไป แต่ลุงไม่ยอม เสร็จเลย โดยตีจนตายแล้วถูกลากมาเผากลางสนาม มีคนถามฆ่าแกทำไม อีกคนบอกไม่ต้องวิเคราะห์ พวกที่ไปฆ่าลุงมันเอาทินเนอร์ในโรงไม้ข้างๆ มานั่งดมแล้วดูพรรคพวกเผาห้องผู้คุม เสร็จแล้วมันก็บุกไปเอายา ลุงเลยซวย” อันวาร์ว่าน่าสงสารลุง

 

 

– 18 –

 

ราวสองทุ่มกว่า แต่อันวาร์รู้สึกเหมือนผ่านไปค่อนคืน ระหว่างนั้นมีการเรียกผู้ต้องขังไปเจรจาที่หน้าประตูใหญ่ พวกจลาจลไม่มีใครออกไป เพราะกลัวถูกมองว่าเป็นแกนนำ สักพักเจ้าหน้าที่ข้างนอกประกาศเรียกโต๊ะอิหม่าม

“แกพูดแต่ยาวี พูดไทยไม่คล่อง เลยชวนผมไปด้วย ไปถึงประตูเหล็กเป็นกรงขังใหญ่ ห่างไป 5 เมตรเป็นรั้วเหล็กอีกชั้น มีช่องประตูเล็กๆ เปิดจากข้างนอก เห็นแต่หน้าเวลาคุยกัน”

ผมอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ ข่าวออนไลน์รายงานสถานการณ์หน้าเรือนจำ เป็นภาพทหารและตำรวจปราบจลาจลหลายกองร้อยติดโล่และอาวุธครบมือ เพียงแค่รอคำสั่ง!

“ตอนเริ่มเจรจา เจ้าหน้าที่พูดผ่านไมค์ ส่วนผมใช้โทรโข่ง พวกจลาจลตามมาอยู่ข้างหลัง เพราะอยากฟังอยากมีส่วนร่วม ข้างนอกตรงประตูมีแวดือราแม มะมิงจิ ประธานกรรมการอิสลามจังหวัดปัตตานี มากับหัวหน้าผู้คุมคนเก่าที่คุยกันรู้เรื่อง ผมเรียกแกว่าบาบอแม แกพูดไปน้ำตาคลอไป ไม่คิดว่าจะทำขนาดนี้ ผมก็บอกแกว่าผมก็ไม่คิดเหมือนกันครับบาบอแม อีกคนเป็นรองผู้ว่าฯ ปัตตานี รวมทั้งหมดสามคน”

“ผมอ่านข้อเรียกร้องของผู้ต้องขังทีละข้อ หลักๆ ก็ขอให้ย้ายผู้คุมที่ปฏิบัติกับพวกเราเกินกว่าเหตุ และขอให้ไม่มีการย้ายหรือลงโทษผู้ต้องขังที่จลาจลในวันนี้ บางข้อผมเห็นว่าเสียเวลาก็ข้ามไป เช่น ขอให้ดูทีวีช่องอื่นๆ ได้นอกจากละคร พอไม่อ่าน พวกข้างหลังรู้ว่าข้าม ตะโกนบอกอ่านใหม่ๆ โต๊ะอิหม่ามบอกอ่านไปไม่ต้องคิดแทน รวมๆ ใช้เวลากว่าครึ่งชั่วโมง เจ้าหน้าที่ฟังเสร็จแล้วหายไป 15 นาที กลับมาบอกไม่ได้ ทำให้ไม่ได้ มันผิดระเบียบ ข้างในก็โห่ต่อ ไม่ยอม ต้องทำทุกข้อ”

ข้างในมืดข้างนอกสว่าง แสงสปอร์ทไลท์ฉายวาบเข้ามาด้านใน อันวาร์เห็นคนในเครื่องแบบทั้งชุดเขียวชุดดำเดินผ่านไปผ่านมาที่ช่องประตู

“หัวหน้าผู้คุมบอก วาร์ๆ แค่นี้ก่อนนะ เขาไม่ให้คุยแล้ว พูดไม่รู้ก็ไม่ต้องคุย ผมมองผ่านช่องประตูเล็กๆ เห็นไมค์ถูกแย่งจากมือหัวหน้าผู้คุม แล้วถูกพาตัวออกไปจากตรงนั้น สักพักข้างนอกไฟดับ ผมคิดในใจ ถูกสลายชัวร์ เพราะเสียงพวกจลาจลยังโห่ร้องอยู่ ผมบอกโต๊ะอิหม่ามกลับเรือนนอนเราดีกว่า แต่แกขอนั่งต่ออีก 10 นาที ไม่ทันไรมีแสงไฟฉายส่องเข้ามาอีก ผมบอกกลับเถอะ ถ้าทหารเข้ามาเราโดนก่อนนะ แกรีบลุกเลย” อันวาร์ยิ้มแห้งๆ

“ผมสงสัยว่าทำไมตอนผมเด็กๆ ถึงได้ยินว่าถ้าพระเดินผ่านหน้าบ้านต้องถุยน้ำลาย ตอนนั้นก็ทำตามผู้ใหญ่ แต่ไม่รู้ทำไปทำไม”

– 19 –

 

ทีมเจรจากลับมาถึงเรือนนอนแดนความมั่นคงตอน 5 ทุ่มกว่า พวกจลาจลยังเดินไปเดินมาอยู่ในสนาม

ผู้ต้องขังคดีความมั่นคงทั้งหมดกลับนั่งวิเคราะห์เหตุการณ์กัน ระหว่างนั้นพวกเขาได้ยินเสียงประตูเหล็กถูกเปิดดังชัด แล้วเสียงปืนก็ดัง ตามด้วยแก๊สน้ำตาที่ยิงมาตกกลางสนาม พวกข้างในเรือนนอนหมอบกันหมด

“บางคนบอกไม่ต้องกลัวแค่กระสุนยาง พูดไม่ทันขาดคำ คราวนี้ดังแน่นๆ ตึบๆ ไอ้คนเดิมบอกกระสุนจริงแล้วว่ะ ระหว่างที่หมอบ เห็นแสงไฟฉายจากปากกระบอกปืนสาดไปทั่ว ตามด้วยเสียงประกาศผ่านลำโพงว่าให้ทุกคนหมอบอยู่นิ่งๆ ห้ามเงยหัว ไม่เช่นนั้นไม่รับรองความปลอดภัย เสียงประกาศดังไปพร้อมๆกับเสียงปืนยิงเป็นชุดๆ”

วินาทีนั้นอันวาร์สงสัยทำไมวิถีกระสุนมาทางแดนความมั่นคง เพราะเห็นหัวกระสุนมันกระทบลูกกรงเป็นประกายไฟ ถ้าจะยิงไปที่พวกจลาจลกลางสนาม จากประตูเหล็กต้องยิงไปตรงๆ แต่วิถีกระสุนพุ่งมาทางซ้ายที่แดนความมั่นคง

“สักพักมีคนตะโกนเรียกอันวาร์มาดูหน่อย มีคนถูกยิง สักพักมีคนตะโกนอีก อันวาร์ เจ้าหน้าที่เรียก ผมทำท่าจะลุกไป โชคดีที่เพื่อนที่หมอบอยู่ข้างกันบอกไม่ต้องไป อยู่ที่นี่แหละ”

อันวาร์บอกว่าเขาหมอบอยู่ถึงประมาณตี 1 จนรู้ว่าเจ้าหน้าที่เข้าควบคุมเหตุการณ์ได้แล้ว พวกที่อยู่ในสนามถูกมัดมือแล้วถูกคุมตัวออกไป ส่วนพวกที่อยู่ในแดนของตัวเองถูกกันขึ้นเรือนนอน ตอนนั้นถึงรู้ว่ามีศพที่ 3 ถูกยิงเข้าที่หน้าอกตอนหลบในแดนความมั่นคง

“ผู้ต้องขังอีกคนมาเล่าให้ฟังว่าตอนที่เจ้าหน้าที่เข้าสลาย เขาถูกเอาปืนจ่อหัวแล้วถามหาว่าอันวาร์อยู่ไหน ด้วยความกลัวเขาจึงชี้มาที่แดนความมั่นคง”

 

– 20 –

 

ค่ำคืนในนรกผ่านพ้น จนเข้าช่วงสายวันรุ่งขึ้น ชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ ปลัดกระทรวงยุติธรรม มาตรวจเรือนจำและเรียกอันวาร์ไปพบ เขาคิดว่าจะถูกย้ายไปอยู่เรือนจำอื่น เพราะช่วงเช้ามีรถเรือนจำกลางจังหวัดสงขลามารับผู้ต้องขังส่วนหนึ่งไป

“เขาบอกไม่ต้องกังวล จะแก้ข่าวให้ ผมถามข่าวอะไรครับ ยังไม่รู้เรื่อง ปลัดฯ บอก กอ.รมน.บอกว่าอันวาร์เป็นแกนนำก่อจลาจลเมื่อคืน แต่ตรวจสอบแล้วอันวาร์ไม่เกี่ยว แค่ทำหน้าที่เป็นล่ามเจรจากับเจ้าหน้าที่ เพราะพูดไทยคล่อง”

อันวาร์เติมน้ำร้อนใส่กาเพิ่ม รอมละห์ใส่หูฟังส่วนตัวหยิบมือถือเปิดดูโลกออนไลน์ ผมถามอันวาร์ว่าตอนจลาจล วินาทีนั้นทำไมถึงหยิบโทรโข่งมาคุยกับพวกจลาจล

“ช่วงปี 2013 เวลามีกิจกรรมในเรือนจำ โดยเฉพาะตอนที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เข้ามาเปิดสอนตาดีกาข้างใน ผมมักจะได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่พิธีกรและกล่าวขอบคุณ พอทางเรือนจำจัดอบรมหัวข้อการฟื้นฟูสภาพจิตใจก็ให้ผมทำหน้าที่นำคุย จนเพื่อนๆ ให้ตำแหน่งผมเป็นโฆษกคุก เพื่อนผู้ต้องขังบางคนมากระซิบบอกผม กูเข้มแข็งดี จิตไม่ได้ป่วย จะฟื้นฟูทำไม”

“พอเพื่อนผู้ต้องขังพูดแบบนี้ แล้วตอนนั้นรัฐบาลไทยกับบีอาร์เอ็นคุยกันอยู่ที่มาเลเซีย ผมเลยขอทางเรือนจำเชิญวิทยากรเอง เปิดเวทีบีจารอ (เสวนา) ให้เรือนจำทำหนังสือเชิญ เช่น อาจารย์ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี อาจารย์ฮารา ชินทาโร่ เข้ามาแลกเปลี่ยนกับผู้ต้องขังในเรือนจำ”

อันวาร์บอกไม่เฉพาะผู้ต้องขัง ผู้คุมหลายคนก็สนใจ เพราะพวกเขาอยู่ข้างในไม่ได้ตามข่าวสารการพูดคุยสันติภาพ เขาอยากรู้ว่ามันจะนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงอะไรในบ้านตัวเอง แต่จัดไปได้ช่วงหนึ่งมีทหารก็เข้ามาบอกทางเรือนจำว่าประเด็นค่อนข้างอ่อนไหว ให้เลิกจัดเสีย

 

 

– 21 –

 

เสียงปืนยังไม่เงียบ เสียงระเบิดยังดัง เหตุการณ์ไม่เปลี่ยน แต่อันวาร์บอกว่าช่วงนั้นสังเกตได้ว่า ผู้ต้องขังคดีความมั่นคงเริ่มถกเถียงกันเอง จากที่เคยโฟกัสเหตุการณ์ความรุนแรง หลายคนหันมาตั้งคำถามอย่างแหลมคม

“บางคนเป็นเด็กปอเนอะ แต่โยนคำถามลงไปในวงน้ำชาว่าทั้งหมดที่รบกันมาจะจบลงที่ไหนถ้าไม่ใช่บนโต๊ะเจรจา บางคนบอกการทหารเป็นตัวชี้ขาด อีกคนบอกโลกเปลี่ยนไปแล้ว ประเทศไหนรบกันก็ถูกยูเอ็นประณาม อีกคนถามสวนเลย เฮ้ย… ติดคุกอยู่ด้วยกันแล้วเอ็งเอาข้อมูลมาจากไหนวะ” อันวาร์หัวเราะร่วน

แล้วทำไมพวกจลาจลถึงฟังอันวาร์ ผมถามอีก เขาบอกว่าตั้งแต่คุกในสามจังหวัดแดนใต้เริ่มมีผู้ต้องขังคดีความมั่นคงเพิ่มขึ้น จะมีกิจกรรมทางศาสนาทั้งการละหมาด หรือถือศีลอดกันตลอด บางคนไม่ได้ถูกคดีความมั่นคงแต่อยากร่วมประกอบศาสนกิจก็จะมาขอความรู้จากพวกคดีความมั่นคง ซึ่งส่วนใหญ่มีความรู้ด้านศาสนาดีระดับหนึ่ง พอเสร็จงานจะมีการแบ่งอาหารกัน พวกคดีความมั่นคงก็แบ่งให้ผู้ต้องขังอื่นๆ รวมทั้งผู้ต้องขังที่เป็นชาวพม่าและชาวเขมรด้วย

“อยู่ไปเรื่อยๆ ผู้ต้องขังคดีทั่วไปก็ให้เกียรติ เพราะเขามองว่าคนเหล่านี้เป็น ยูแว แปลว่านักต่อสู้ เขามองว่าการที่เข้ามาในคุกเป็นเพราะการต่อสู้ ไม่ใช่พวกค้ายา แต่ที่ตลกคือไม่ว่าจะเป็นตัวจริงหรือตัวปลอม พวกเขามักจะคิดว่าเมื่อเข้ามาแล้วก็เป็นยูแวหมด”

ไม่เฉพาะผู้ต้องขังด้วยกันที่ให้เกียรติ ผู้คุมเองก็ให้เกียรติ แต่คงมาจากความกลัวด้วยส่วนหนึ่ง อันวาร์บอกว่ามีผู้คุมบางคนมาคุยด้วย บ้านเขาอยู่พื้นที่สีแดง เลิกงานแล้วเขาต้องขับรถกลับบ้านทางนี้

“อย่าทำอะไรผมเลยนะ เขาพูด ผมเลยบอกว่าผมติดคุกอยู่จะทำอะไร เขาบอกอีกว่าช่วยบอกพรรคพวกข้างนอกให้หน่อยว่าอย่าทำอะไรเขาเลย ผมคิดในใจ อ้าว… แล้วกูพวกไหนเนี่ย” อันวาร์เผยยิ้ม

 

 

– 22 –

 

ไอแดดเดือนมีนาฯ ฉาบทาถนนสายยะรังจนสะท้อนแสบตา ดอกบุหงาในกระถางข้างบ้านดูเหมือนจะเฉาแรงแดดลงไปเล็กน้อย แต่ยังคงสีบานเย็นสดใสไม่จืดจาง

หลานชายหลานสาวของเขาอยู่ในช่วงปิดเทอม เด็กๆ เลยวิ่งเล่น วิ่งเข้าวิ่งออกอยู่หน้าบ้าน ร้านบุหงาฯกลับมาเปิดปกติทุกวันตั้งแต่อันวาร์ได้รับอิสรภาพ

“ผมวางแผนจะขยับขยายร้าน อยากทำให้มีพื้นที่กิจกรรมมากกว่านี้ อาจจะต้องหาเช่าที่ในเมือง เพราะทำที่บ้านไม่สะดวก อารมณ์เป็นร้านชาที่เป็นธนาคารหนังสือ”

อันวาร์กางความฝันลงบนโต๊ะไม้เก่าๆ หน้าบ้านตัวเอง เขาอธิบายว่า ธนาคารหนังสือเป็นรูปแบบห้องสมุด บวกร้านหนังสือ บวกบัญชีธนาคาร ถ้าใครมีหนังสือดีๆ แต่จะทิ้งก็เสียดาย จะยกให้ก็เสียดาย เอามาฝากที่เขา เขาจะทำการเปิดเป็นบัญชีหนังสือให้ ใครสนใจอ่านเล่มไหนก็มาสมัครสมาชิกแล้วเช่าไป

“ผมเชื่อว่าหนังสือมันจะชวนให้คุณรู้จักตั้งคำถาม เช่น การอ่านทำให้ผมสงสัยว่าทำไมตอนผมเด็กๆ ถึงได้ยินว่าถ้าพระเดินผ่านหน้าบ้านต้องถุยน้ำลาย ตอนนั้นก็ทำตามผู้ใหญ่ แต่ไม่รู้ทำไปทำไม พอโตมาถามบาบอ บาบอก็บอกในอัลกุรอานก็ไม่มีคำสอนนี้ ประเด็นคือต่อให้ไม่มีบีอาร์เอ็น ความเกลียดชังคนที่ต่างออกไปก็มีอยู่ดีหรือเปล่า”

“เวลาเข้าร้านค้าของคนไทยที่ไม่ใช่มลายู ผู้ใหญ่บอกขโมยของได้ไม่บาป ตอนเด็กๆ ร้านอาแปะแถวบ้านโดนผมขโมยขนมประจำ ผมมาทบทวนความเกลียดนี้ว่ามันเกิดมาได้อย่างไร ใครเป็นคนถุยน้ำลายคนแรกเมื่อพระเดินผ่าน ผมไม่มีคำตอบ แต่การอ่านทำให้ผมสงสัย”

เช่นเดียวกับทหารพรานชุดดำติดอาวุธครบมือกว่า 10 คน ที่กำลังเดินผ่านหน้าบ้านอันวาร์ไป พวกเขาแบ่งกำลังครึ่งหนึ่งเดินฝั่งซ้าย อีกครึ่งเดินฝั่งขวาของถนน คล้ายลักษณะการลาดตระเวน

นี่เป็นเรื่องปกติหรือเปล่า บางความหมายความปกติกับความชาชินก็มีเส้นบางๆ กั้นอยู่ เราไม่รู้จนกว่าได้ลองถาม

“ทหารจับมือผมอยู่ครู่หนึ่ง แถมลูบที่ฝ่ามือ แล้วถามผมเชิงทีเล่นทีจริงว่ามือด้านๆ แบบนี้เป็นมือยิงหรือมือวาง”

– 23 –

 

ต้นมีนาคม 2017 อันวาร์ตามไปแจมกับกลุ่ม Deep South Watch ที่เปิดห้องชมถ่ายสดผู้แทนรัฐบาลไทยร่วมชี้แจงข้อซักถามบนเวทีสหประชาชาติ (UN) ตามกติกาว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ที่นครเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์

วันนั้นมีทหารนอกเครื่องแบบที่คอยติดตามความเคลื่อนไหวของสื่อ-นักเขียน-นักวิชาการในพื้นที่เข้าร่วมด้วย

เสร็จการถ่ายทอดสด เขาเข้ามาหาอันวาร์พร้อมรอยยิ้มและขอจับมือ อันวาร์ยื่นมือตอบ

“ทหารจับมือผมอยู่ครู่หนึ่ง แถมลูบที่ฝ่ามือ แล้วถามผมเชิงทีเล่นทีจริงว่ามือด้านๆ แบบนี้เป็นมือยิงหรือมือวาง” อันวาร์ยิ้มแต่ขมวดคิ้วในถ้อยคำของทหารไทย

หลายต่อหลายครั้ง ทั้งที่ฟ้าเดียวกัน แต่เหมือนเหยี่ยวกับพิราบก็บินคนละฟ้า ใครต่อใครพยายามมุ่งหน้าสู่แดนศิวิไลซ์ แต่บางใครก็พยายามผลักเข้ารกเข้าพง

 

– 24 –

 

ระหว่างที่ผมซ้อนมอเตอร์ไซค์เก่าสีเทาๆ ทึมๆ ของอันวาร์ไปตามถนนสายปัตตานี-ยะลา หลังแดดล่มลมตก รถเมล์ปัตตานี-ยะลาคันสีแดงเที่ยวสุดท้ายเวลา 17.30 น. วิ่งสวนเราไป ริมทางข้างซ้ายไกลออกไปเป็นพระอาทิตย์ดวงส้มกลมโตคล้อยต่ำ ผมกลับนึกถึงวันที่เราไปพนมเปญด้วยกันเมื่อปี 2010

มีอยู่วันหนึ่งนิทานเรื่องข้ามแม่น้ำจระเข้ถูกเล่าเพื่อเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างคนหนุ่มสาวไทยกับเขมร

เรื่องมีอยู่ว่ามีจระเข้ดุร้ายอาศัยอยู่ในแม่น้ำที่คั่นระหว่างหมู่บ้านของคู่หมั้นบ่าวสาวคู่หนึ่งที่กำลังจะแต่งงานกัน เวลาจะไปหากันก็ใช้สะพานไม้ผุๆ ข้ามไป

วันดีคืนร้ายพายุเข้าซัดสะพานขาด ความที่เป็นห่วงว่าชายคู่หมั้นจะหิวข้าว เพราะไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองเนื่องจากขาหักได้แต่นอนเฉยๆ อยู่ที่บ้าน สาวคู่หมั้นคิดว่าถ้าจะรอให้สะพานซ่อมเสร็จคงไม่ไหว จึงตัดสินใจไปพบชายเฒ่าซึ่งมีเรือ

เธอขอร้องให้ชายเฒ่าพาเธอข้ามแม่น้ำเอาข้าวไปให้ชายคู่หมั้น แต่ความที่ชายเฒ่าเป็นโสดมานาน และแอบหลงรักเธออยู่ ชายเฒ่ายื่นข้อเสนอว่าขอนอนกับเธอ 1 ครั้งแล้วจะพานั่งเรือข้ามไป

สาวคู่หมั้นไม่คิดว่าจะถูกยื่นข้อแม้เช่นนี้ ราวกับคนมือแปดด้าน เธอจึงกลับไปที่หมู่บ้านเพื่อปรึกษาเพื่อนสาวของเธอว่าควรทำอย่างไร

เพื่อนสาวไม่อยากเดือดร้อนกับเรื่องที่อาจเกิดตามมา จึงตอบสาวคู่หมั้นอย่างไม่ใยดีไปว่าเรื่องของเธอจัดการเองสิ

สาวคู่หมั้นเสียใจที่เพื่อนสาวไม่อยากยุ่ง เธอคิดอยู่นานสองนานก่อนตัดสินใจกลับไปหาชายเฒ่าเจ้าของเรือและตอบตกลงข้อแม้นั้น เพราะต้องการรีบข้ามไปหาชายคู่หมั้นแล้ว

ชายเฒ่าได้สำเร็จความใคร่ สาวคู่หมั้นได้เอาข้าวมาให้คนรัก ด้วยความรู้สึกไม่มีสิ่งปิดบัง เธอเล่าให้คนรักฟังว่าข้ามแม่น้ำมาได้อย่างไร แต่ไม่รู้ว่าพอคนรักได้ยินยิ่งกลับตาลปัตร

เขาโกรธเป็นฟืนเป็นไฟและดุด่าเธอว่าทำให้เขาผิดหวัง เพราะเขาคิดว่าเธอจะหมอบพรหมจรรย์ให้เขาเป็นคนแรก

ระหว่างนั้นเพื่อนชายคู่หมั้นที่อยู่หมู่บ้านเดียวกันผ่านมาพอดี จึงเข้าไปฟังเรื่องราวที่เกิดขึ้น แต่ยิ่งกลับบานปลายกลายเป็นว่าทั้งคู่เกิดทะเลาะตัดเพื่อนกัน

สาวคู่หมั้นเกิดอาการน้อยใจคิดว่าตัวเองเป็นต้นเหตุแห่งความบาดหมางนี้ จึงตัดสินใจโดดแม่น้ำจระเข้เพื่อฆ่าตัวตาย

เรื่องราวจบลงแค่นี้ คำถามอันละเอียดอ่อนถูกโยนเข้าไปในวงคนหนุ่มสาวว่า “ตัวละครทั้ง 5 คนนี้ ใครผิดที่สุด”

วงถกเถียงใช้เวลาเป็นชั่วโมงเพื่อหาคำคอบ มุมมองทางศีลธรรมถูกประกาศก้องเพื่อพิพากษาตัวละครแต่ละตัว

ที่พนมเปญวันนั้นคำตอบมีมากกว่า 1 คำตอบ คำอธิบายมีมากกว่า 1 คำอธิบาย แต่ผมจำได้ว่าอันวาร์เลือกตอบข้อที่น่าจะผิดที่สุดคือคนแบบเพื่อนสาวที่ไม่ใยดี

 

 

– 25 –

 

6 เมษายน 2017 รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ทหารทำคลอดถูกประกาศใช้อย่างเป็นทางการ แต่เพียงข้ามคืนแผ่นดินสามจังหวัดชายแดนใต้ก็เกิดระเบิดไปทั่วกว่า 40 จุด เสาไฟฟ้าหลายต้นหักโค่น ไฟฟ้าดับทั้งเมือง ชะตากรรมคนปาตานีอยู่ในความมืด

แต่มืดยิ่งกว่ามืดคงเป็นการไร้ความหวัง และมืดยิ่งกว่าไร้ความหวัง ก็เหลือแต่การปิดหูปิดตาไม่รับรู้อะไร

คนหนุ่มหลายคนโกรธแค้นรัฐไทยทั้งในประวัติศาสตร์และปัจจุบัน เลือกเดินออกจากบ้านเข้าป่าจับอาวุธ ฝึกรบทำระเบิด แต่ดูเหมือนอันวาร์จะดีไซน์ชีวิตตัวเองอีกแบบ

เขาถามใจตัวเองถี่ถ้วนแล้วพบว่า “ไม่กล้า ผมเป็นแค่เซลล์เล็กๆ เป็นแค่หน่อที่เพิ่งจะผุดขึ้นมา แต่ถ้าเราต้องการสันติภาพ ความสร้างสรรค์ของคนรุ่นใหม่ต้องช่วยกันขุดขึ้นมา”

อันวาร์กำลังจะเปิดร้านช่วงเช้า เขาเข็นถังแก๊สออกมาหน้าบ้าน แล้วยกหม้อต้มมาวางบนเตาเพื่อเตรียมต้มน้ำ อาเยาะ (พ่อ) ของเขาลุกมายืนมอง ถามว่าทำไมไม่จุดไฟก่อนแล้วค่อยวางหม้อ เขาถามตัวเอง ทำไมล่ะ อาเยาะบอกว่ามันง่ายกว่า

“แต่ทุกครั้งผมใช้วิธีแบบผมนั่นแหละ ผมไม่เคยว่าสิ่งที่อาเยาะสอนนั้นผิด ไม่เคยวิจารณ์แกสอนโบราณ ผมเดินตามหลังแกมา โตขึ้นผมก็หาหนทางใหม่ๆ ให้ตัวเอง แต่ผมยังอยู่ในกรอบที่ครอบครัวสั่งสอน ผมไม่เคยเหลิงในความรู้ที่ตัวเองศึกษามา ก็เพราะเราต้องการเป้าหมายเดียวกัน” อันวาร์มองไปที่เปลวไฟต้มน้ำ

ท่ามกลางความมืด ผมนึกถึงที่รอมละห์เคยบอก เธอบอกว่า อันวาร์ หรือ “อัณวัร” ในภาษาอาหรับหมายถึงแสงสว่าง

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save