fbpx

การรายงานข่าวไม่ใช่อาชญากรรม หยุดสร้างบรรยากาศแห่งความกลัว

จากที่มีการจับกุม ณัฐพล เมฆโสภณ ผู้สื่อข่าวประชาไท และณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์ ช่างภาพอิสระ เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2567 จากการทำหน้าที่รายงานข่าวศิลปินพ่นสัญลักษณ์ไม่เอา 112 และสัญลักษณ์อนาธิปไตยบนกำแพงวัดพระแก้วเมื่อเดือนมีนาคม 2566 ในข้อหาเป็นผู้สนับสนุนทำให้โบราณสถานเสียหายจากการขีดเขียนข้อความ โดยมีการควบคุมตัวและไม่ให้สิทธิประกันตัว

เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นท่ามกลางการจับกุมคุมขังผู้ที่แสดงออกทางการเมืองหลายกรณี ทั้งหมดนี้ส่งผลโดยตรงต่อสิทธิและเสรีภาพการแสดงออกของประชาชน จนถึงการสร้างบรรยากาศแห่งความกลัวให้ปกคลุมสังคมไทย

101 ชวนบรรณาธิการหลายสำนักข่าวให้ความเห็นต่อเหตุการณ์ดังกล่าว เพื่อยืนยันสิทธิและเสรีภาพของสื่อมวลชนในการทำหน้าที่นำเสนอข่าว

เมื่อการรายงานข่าวไม่ใช่อาชญากรรม ผู้สื่อข่าวไม่ใช่อาชญากร สิทธิและเสรีภาพของสื่อมวลชนและประชาชนเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่อการสร้างสังคมประชาธิปไตย

“การสานต่อบทสนทนาที่ดี (healthy conversation) เป็นหัวใจสำคัญในการสร้างความเข้าใจระหว่างผู้คนในสังคมไทย โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่เกิดความเปลี่ยนทางการเมืองและเศรษฐกิจทั้งในประเทศและระดับโลก

“เสรีภาพทางความคิดและการแสดงออกเป็นสิ่งที่ควรรักษาไว้ไม่ใช่เฉพาะสื่อสารมวลชนแต่กับประชาชนทุกคน”

นภพัฒน์จักษ์ อัตตนนท์

บรรณาธิการบริหาร TODAY

“การจับกุมนักข่าวประชาไทและช่างภาพอิสระครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นปัญหา 3 เรื่องใหญ่ๆ

“1. คนไทยบางกลุ่มยังสนใจความถูกใจมากกว่าความถูกต้อง เห็นได้จากคอมเมนต์ตามเพจข่าวต่างๆ ที่สนับสนุนการจับกุมครั้งนี้ โดยคล้อยตามคำอธิบายของเจ้าหน้าที่รัฐที่ว่าการไปทำข่าวการพ่นสเปรย์บนกำแพงวัดพระแก้ว เมื่อปี 2566 เป็นการ ‘สนับสนุนการกระทำความผิด’ ทั้งที่สื่อมวลชนเป็นเพียงผู้บันทึกเหตุการณ์และนำเสนอข้อเท็จจริง ซึ่งหากยึดตามตรรกะเดียวกัน การไปทำข่าวการรัฐประหาร, ทำข่าวอาชญากรรม, ทำข่าวการใช้อำนาจโดยมิชอบ, ทำข่าวการทุจริตของผู้มีอำนาจ ก็ถือเป็นการสนับสนุนการกระทำความผิดด้วยหรือไม่ – เราอยากให้เจ้าหน้าที่สามารถใช้ข้ออ้างนี้มาจับกุมสื่อฯ ได้จริงๆ หรือ

“2. การใช้อำนาจแบบเหวี่ยงแหของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยมีคำถามเรื่องความรับผิดชอบ หากท้ายสุดแล้ว การใช้อำนาจนั้นเป็นไปอย่างไม่ถูกต้อง ใครจะเป็นผู้ต้องรับผิด ตำรวจชุดที่ไปจับกุม? นายตำรวจระดับสูง? เพราะก่อนหน้านี้ ช่างภาพอิสระที่ถูกจับกุมล่าสุดเคยถูกเจ้าหน้าที่รัฐคุกคามที่พัก แต่ถึงปัจจุบันยังไม่มีใครออกมารับผิดชอบใดๆ

“3. การมีอยู่ขององค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ที่ควรเป็นปากเสียงแทนนักข่าวและช่างภาพในสนาม แต่ปฏิกิริยาจากผู้บริหารองค์กรวิชาชีพสื่อฯ หลังเกิดเหตุ กลับโยนภาระให้สื่อฯ ที่ถูกจับกุมไปสู้คดีในชั้นศาล และหากอยากให้องค์กรวิชาชีพสื่อฯ ช่วยเหลือก็แจ้งมา ไม่แสดงให้เห็นถึงความกระตือรือร้นที่จะทำหน้าที่ของตัวเองแต่อย่างใด ทั้งที่บางคนก็อยู่ในองค์กรวิชาชีพสื่อฯ มาเป็นทศวรรษ นำไปสู่คำถามตัวโตๆ จากสื่อมวลชนผู้ปฏิบัติหน้าที่ทำข่าวจริงๆ ว่า เราจะมีองค์กรเหล่านี้ไว้ทำไม ถ้ามีแล้วไม่ทำงาน

“ปัญหาทั้งหมดที่ไล่เรียงมานี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เหตุการณ์ล่าสุดเพียงตอกย้ำว่าแม้จะผ่านเข้าสู่รัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง แต่การใช้อำนาจเพื่อลดทอนเสรีภาพในการทำงานของสื่อมวลชนก็ยังมีอยู่ เราต้องยืนยันหลักการว่า ‘การไปทำข่าวไม่ใช่อาชญากรรม’ ไม่เช่นนั้นต่อไปผู้มีอำนาจก็จะใช้ข้ออ้างนี้ในการปิดปาก ปิดหู ปิดตาประชาชน ผ่านการสร้างความหวาดกลัว ไม่ให้สื่อฯ มืออาชีพได้ทำงานตามที่สังคมคาดหวัง”

พงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์

บรรณาธิการบริหาร Nation STORY

“ความรู้สึกแรกคือ สื่อมวลชนถูกจับจากการรายงานข่าว มันเป็นไปได้อย่างไร?

“ยิ่งพอรู้ว่าเป็นการจับกุมตามหมายจับจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่กลางปี 2566 ยิ่งทำให้เกิดคำถามหลายอย่างขึ้นในหัว สิ่งที่ต้องคิดต่อในฐานะสื่อคือ กรณีแบบนี้จะกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ในการดำเนินคดีของเจ้าหน้าที่รัฐต่อการทำหน้าที่สื่อมวลชนหลังจากนี้หรือไม่

“ประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณาในเวลานี้คือ ข้อเท็จจริงที่นำมาสู่การออกหมายจับเพียงเพราะเป็นการปฏิบัติการรายงานข่าวตามขั้นตอนในสถานการณ์ปกติหรือมีพฤติการณ์อื่นๆ แวดล้อมที่นำมาประกอบการดำเนินคดีด้วย เพราะหากข้อเท็จจริงนี้ไม่ชัดเจน เส้นแบ่งไม่ชัดเจน อาจทำให้สังคมตั้งคำถามและกระทบกับการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชนในอนาคต ซึ่งอาจรวมไปถึงกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ

“ที่สำคัญ องค์กรสื่อ รวมถึงองค์กรวิชาชีพสื่อสารมวลชนต่างๆ ควรแสดงบทบาทต่อกรณีนี้ เพื่อเป็นการแสดงจุดยืนในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนหลังจากนี้”

อรุชิตา อุตมะโภคิน บรรณาธิการข่าว ศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมและนโยบายสาธารณะ (The Active) Thai PBS

“นักข่าวที่ไปทำข่าวตามหน้าที่ มิอาจเป็นอาชญากรในสายตารัฐ เราไม่ใช่คู่ขัดแย้งของฝ่ายใด แต่เราทำงานเพื่อสื่อสารทุกข้อเท็จจริงไปยังสังคม

“สังคมลงโทษสื่อได้ถ้าเราออกนอกมาตรฐานวิชาชีพ ถ้าเราไม่ช่วยกันปกป้องสื่อที่ทำหน้าที่ ผลลัพธ์ของวันนี้ อาจกลายเป็นเราเองสักวันในอนาคต”

ธนกร วงษ์ปัญญา บรรณาธิการข่าวไทย สำนักข่าว The Standard

“ผิดหวังกับการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อสื่อมวลชน

“การรายงานข่าวทั้งข้อเท็จจริงและความคิดเห็นประกอบเหตุการณ์นั้นๆ ไม่ใช่ ‘การสนับสนุน’ ให้ผู้หนึ่งผู้ใดกระทำความผิด

“การเสนอข้อเท็จจริงแล้วถูกเอาผิดจากเจ้าหน้าที่รัฐ ย่อมมีผลต่อบรรยากาศการทำงานของสื่อในภาพรวม แต่ผมคิดว่าท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ขณะนี้จะเป็นแรงกดดันให้เจ้าหน้าที่รัฐกลับมารักษาบรรยากาศและความยุติธรรมให้สังคมประชาธิปไตยเดินหน้าไปได้ดีกว่าที่เป็น”

วรรณโชค ไชยสะอาด

บรรณาธิการอาวุโส Voice Online

“กรณีนี้คล้ายกับกรณีที่ประชาชนถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 เรื่องอื่นๆ คือ มีกระบวนการที่รวบรัด ขั้นตอนการขอหมายจับ-การควบคุมตัวที่ผิดปกติ และลงท้ายบทสรุปด้วยการไม่ให้ประกันตัว ราวกับว่าพวกเขาทำอาชญากรรมร้ายแรง ทั้งที่ในความเป็นจริง ยังไม่ได้ถูกพิสูจน์ว่าพวกเขาทำอะไรที่ผิดจากมาตรฐานการทำงาน

“เรื่องต่อมาคือหากทั้งสองคนถูกกล่าวหาว่า ‘สนับสนุน’ การทำลายโบราณสถานด้วยการ ‘ทำข่าว’ ก็แปลว่าประเทศนี้ผิดปกติอย่างมาก

“ในมุมของรัฐและฝ่าย ‘ความมั่นคง’ (ซึ่งก็ไม่รู้ว่าใครมีอำนาจเต็มเรื่องนี้) ดูเหมือนต้องการใช้กรณีนี้ข่มขู่ให้สื่อมวลชนมี ‘ระยะห่าง’ กับนักกิจกรรม ให้สื่อทั้งกระแสหลัก กระแสรอง สื่อพลเมือง ระมัดระวังมากขึ้นในการรายงานความเคลื่อนไหวของนักกิจกรรม ทำให้องค์กร ทำให้กองบรรณาธิการหวาดกลัวมากขึ้นในการรายงานข่าว ซึ่งวิธีการแบบนี้ใช้มาหลากหลายครั้งในประเทศเผด็จการ แต่ยังไม่ได้ถูกใช้มากนักในประเทศไทย ดูเป็นการปิดปากสื่อ ที่ทำให้การรายงานข่าวต้อง ‘ตรวจทาน’ มากขึ้นในการนำเสนอประเด็นใดๆ รวมถึงหากเรื่องนี้เป็นขบวนการก็อาจทำให้บรรดาสื่อสำนักเล็กๆ ทำงานในสนามได้ยากขึ้น สื่อสำนักใหญ่ๆ ก็อาจมีกระบวนการเซ็นเซอร์ตัวเองสูงขึ้น

“น่าแปลกที่เป็นความเคลื่อนไหวในห้วงเวลาเดียวกัน สอดรับกันพอดีกับการจัดการฝ่ายนักกิจกรรม และการปลุกกระแส ‘ขวาพิฆาตซ้าย’ ขึ้นมาพอดี รวมถึงดูจะเป็นการทดสอบกระแสบางอย่าง ซึ่งหากสื่อมวลชนนิ่ง ยอมให้รัฐใช้วิธีการจัดการแบบนี้ ก็อาจหมายความว่ารัฐอาจใช้วิธีแบบนี้ได้ต่อไปเรื่อยๆ

“ทั้งหมดนี้ สุ่มเสี่ยงทำให้อันดับเสรีภาพสื่อมวลชนที่ปีที่แล้วอยู่ในอันดับที่ 106 ของโลก จากการจัดอันดับของ Reporters Without Borders ย่ำแย่ลงไปอีก เช่นเดียวกับดัชนีชี้วัดประชาธิปไตยของไทย (Democracy Index) ที่จัดอันดับโดย EIU ก็จะย่ำแย่ลงไปอีกเหมือนกัน แทบไม่ต้องไปคิดถึงการเป็นคณะมนตรีความมั่นคงสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติเลย

“กรณีนี้สื่อมวลชนอาจต้องรวมกันหนักแน่นขึ้น เพื่อยืนยันหลักการ ยืนยันหลักสิทธิเสรีภาพว่าการทำข่าว รายงานข่าว ไม่ใช่อาชญากรรม และตรวจสอบการทำงานของกระบวนการยุติธรรมให้หนักแน่นขึ้นว่ากำลังเป็นเครื่องมือของใคร และของอะไรหรือไม่”

สุภชาติ เล็บนาค บรรณาธิการบริหาร The Momentum

“สิ่งที่พวกเราในฐานะสื่อมวลชนควรช่วยกันส่งเสียง คือการย้ำหลักการว่าการรายงานข่าวตามข้อเท็จจริงไม่ใช่อาชญากรรม การรายงานข่าวไม่เพียงแค่เป็นเสรีภาพสื่อที่ถูกคุ้มครองโดยรัฐธรรมนูญ แต่ยังเท่ากับเสรีภาพของประชาชนที่จะได้รับข้อมูลข่าวสาร

“การจับกุมสื่อมวลชนเพราะเขาไปรายงานข่าว ไม่ควรถูกมองว่าเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นในสังคมประชาธิปไตย ถ้าหากหน้าที่ขั้นพื้นฐานอย่างการรายงานข้อเท็จจริงถูกเจ้าหน้าที่รัฐมองว่าเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย ถ้าพวกเราในฐานะสื่อมวลชนยังคงเงียบและไม่ออกมาส่งเสียงใดๆ เพดานเสรีภาพสื่อในอนาคตก็จะถูกกดลงมาเรื่อยๆ จนการตั้งคำถามต่อรัฐก็อาจจะกลายเป็นสิ่งต้องห้าม

“สื่อไม่ใช่กระบอกเสียงของรัฐและการรายงานข่าวเป็นสิทธิอันชอบธรรมของสื่อมวลชน สังคมจึงควรจะมีสิทธิที่จะได้รับรู้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รวมทั้งความคิดเห็น ข้อเรียกร้อง และเสียงของผู้ที่ถูกทำให้ไม่มีเสียงในสังคม

“เสรีภาพสื่อเป็นตัวชี้วัดสุขภาพของสังคมประชาธิปไตย ยิ่งในวันที่สังคมมีความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลาย การมีหลักประกันว่าสื่อจะสามารถทำหน้าที่ได้โดยไม่หวาดกลัวก็ยิ่งสำคัญต่อการคลี่คลายความขัดแย้ง”

ธัญวัฒน์ อิพภูดม บรรณาธิการบริหาร The MATTER

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save