fbpx

คำถามสุดท้ายของคัทลิน: ชีวิตของความชรา บ้าน และความทรงจำ

“ไกลที่สุดจากยุโรป เราทั้งจะไปไกลสุดหล้าฟ้าเขียว… พอกันทีกับสงครามโลกสองครั้ง ฆ่าล้างยิวยุโรปเป็นล้านๆๆๆๆ คน แล้วก็เสรีภาพของคนธรรมดาอย่างเราถูกจำกัดด้วยอำนาจรัฐรวมศูนย์ ไม่ว่าจะในรัสเซีย ฮังการี ยุโรปตะวันออกแทบทั้งหมดนั้นแหละ” (หน้า 12)

‘คำถามสุดท้ายของคัทลิน’ เป็นรวมเรื่องสั้นเล่มบางๆ ไม่ถึงร้อยหน้าที่ให้ความรู้สึกเหมือนอ่านนวนิยาย เพราะตัวละครทุกเรื่องเป็นตัวละครตัวเดียวกัน ชุดเดียวกัน และเป็นเรื่องเล่าของสามีภรรยาวัยหลังเกษียณคู่หนึ่งที่อพยพย้ายถิ่นมาจากคนละที่ ยูริ กรานอฟ ชาวรัสเซียในยูเครนที่อพยพจากกรุงเคียฟไปอยู่ปารีส ณ ที่แห่งนั้น ยูริได้พบรักกับหม้ายสาวฮังกาเรียน คัทลิน กรานอฟ ผู้ซึ่งอพยพมาจากฮังการี แต่ทั้งคู่ต่างเบื่อหน่ายและหดหู่กับสภาพสังคมการเมืองในยุโรป พวกเขาจึงพากันมุ่งหน้าไปเมืองที่สุดหล้าฟ้าเขียวจากยุโรปอย่างซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย แม้ตัวละครและโครงเรื่องจะมีความสัมพันธ์แต่ในทุกเรื่องก็เขียนขึ้นในทำนองของเรื่องสั้นที่ทุกเรื่องจบในตอนและแยกอ่านได้เป็นเรื่องๆ แต่หากอ่านต่อๆ กันก็จะได้อรรถรสอีกแบบหนึ่ง

เรื่องสั้นทั้งแปดเรื่องนี้เป็นผลงานของ สุกัญญา หาญตระกูล ชื่อนี้นักอ่านรุ่นใหม่อาจจะไม่รู้จักมากนัก แต่หากเป็นนักอ่านรุ่นโตขึ้นมาสักวัยกลางคนขึ้นไป หรือเป็นนักเขียน นักวิชาการ นักวรรณกรรมที่สนใจการอ่าน การวิจารณ์และวรรณกรรมอย่างเข้มข้น ชื่อของสุกัญญา หาญตระกูล อาจเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางโดยเฉพาะในช่วงทศวรรษ 2520 และโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เคยผ่านนิตยสารวรรณกรรมไทยร่วมสมัยอันเลื่องชื่ออย่าง ‘โลกหนังสือ’ นิตยสารวรรณกรรมที่เข้มข้นอย่างเคร่งครัด เป็นเวทีที่สำคัญในการเผยแพร่องค์ความรู้ด้านวรรณกรรมอย่างกว้างขวาง เช่น แนวคิด ทฤษฎีทางวรรณกรรมในโลกตะวันตก แนวโน้มและทิศทางของวรรณกรรมต่างชาติรวมไปถึงความเคลื่อนไหวของวรรณกรรมโลก นอกจากนี้ยังเป็นการแนะนำกวี นักเขียนต่างชาติไว้ด้วย

สุกัญญา หาญตระกูล เป็นนักวิจารณ์วรรณกรรมที่มีผลงานอย่างสม่ำเสมอในนิตยสารโลกหนังสือ ผลงานของเธอชี้ให้เห็นจุดเด่น จุดด้อยของนักเขียนในช่วงทศวรรษ 2520 ได้อย่างน่าสนใจ ชัดเจน ในความสนใจของผมที่มีต่องานวรรณกรรมไทยตั้งแต่หลัง 6 ตุลาคม 2519 เป็นต้นมาซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ ‘วรรณกรรมเพื่อชีวิต’ ถูกวิจารณ์และตั้งคำถามอย่างหนักหน่วงถึงความสำคัญและอิทธิพลที่มีต่อวรรณกรรมไทย งานวิจารณ์ของสุกัญญา หาญตระกูลที่มีต่อสกุลงานเพื่อชีวิตนั้นหนักหน่วงและจริงจัง นักเขียนและกวีคนสำคัญในช่วง 2520 อย่าง คมทวน คันธนู ซึ่งถูกวิจารณ์ในประเด็นความเป็น ‘สูตรสำเร็จ’ แบบวรรณกรรมเพื่อชีวิตอย่างละเอียดและจริงจังจากสุกัญญา หาญตระกูล บทบาทของสุกัญญาในแวดวงวรรณกรรมไทยนั้นจึงเป็นสิ่งที่โดดเด่นอย่างยิ่งในทศวรรษ 2520 โดยเฉพาะบทบาทที่มีต่อการวิจารณ์งานวรรณกรรมสกุลเพื่อชีวิต

สุกัญญา หาญตระกูลจบการศึกษาจากฝรั่งเศสในช่วงที่นักคิด นักปรัชญาฝรั่งเศสสายโครงสร้างนิยมจนถึงหลังโครงสร้างนิยม เช่น โรงลองต์ บาร์ต (Roland Barthes), มิแชล ฟูโกต์ Michel Foucault, ฌาคส์ ลาก็อง (Jacques Lacan) เริ่มเป็น rock stars ในฝรั่งเศสและยุโรป เมื่อกลับมาเมืองไทย สุกัญญาเขียนบทความ ‘ภาษา: สัญลักษณ์: วรรณคดี’ ลงใน ‘โลกหนังสือ’ เมื่อปี 2525 ซึ่งเป็นการปรับปรุงจากบทความ ‘ภาษามนุษย์กับสัญลักษณ์’ ที่ตีพิมพ์ในหนังสือ ‘แนวเทียน’ รวมบทความวิชาการของสมาคมนักเรียนไทยในฝรั่งเศสเมื่อปี 2518-2519 บทความชิ้นนี้ของสุกัญญานับเป็นบทความที่นำเสนอแนวคิดทฤษฎีและปรัชญาสายสกุลฝรั่งเศสเป็นชิ้นแรกๆ ในโลกวิชาการสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ที่เป็นภาษาไทยและนำไปสู่ความสนใจเรื่องโครงสร้างนิยม หลังโครงสร้างนิยมในแวดวงวิชาการไทยอย่างกว้างขวางในเวลาต่อมา

รวมเรื่องสั้น ‘คำถามสุดท้ายของคัทลิน’ เคยตีพิมพ์ในนิตยสาร ‘สตรีสาร’ ในยุคที่คุณ นิลวรรณ ปิ่นทอง เป็นบรรณาธิการ ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ ‘คำถามสุดท้ายของคัทลิน’ เป็นรวมเรื่องสั้นที่มีระยะเวลาในการเดินทางยาวนานเกือบสี่สิบปี เรื่องสั้น 5 ใน 8 เรื่องนี้ตีพิมพ์ในระหว่างปี 2528-2529 เรื่องแรกคือ ‘นางฟ้าของยูริ’ ตีพิมพ์เมื่อปี 2528 ต่อมา ‘วันกลับบ้าน’, ‘ห้องนอนแห่งใหม่’, น้ำชาถ้วยหนึ่ง’ และ ‘คำถามสุดท้ายของคัทลิน’ ตีพิมพ์ในปี 2529 ‘ดิดายะ คนเดียวของหลาน’ และ ‘คำสั่งเสียของยูริ’ ตีพิมพ์หลังจากนั้นหลายปีแต่ไม่ปรากฏว่าปีใด โดยที่สุกัญญา กล่าวว่า ตั้งใจจะให้เรื่องของ ‘ยูริ การานอฟ’ จบลงอย่างบริบูรณ์และไม่รู้ว่าจะได้ตีพิมพ์ที่ใดอีก หลังจากนั้นในปี 2566 “ในวัยที่ผู้เขียนย่างเข้าสู่วัยเดียวกับตัวละครทั้งสองที่เขียนถึง ผ่านการได้เห็นเห็นได้อ่านพินัยกรรมมาหลายฉบับรวมทั้งได้เริ่มคิดเริ่มทำพินัยกรรมของตัวเองด้วย จึงเป็นที่มาของแรงบันดาลใจให้เขียนเรื่องพินัยกรรมของคัทลิน” (หน้า 5) นอกจากนี้ เหตุการณ์สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนยังอาจเป็นแรงบันดาลใจที่สำคัญอีกประการหนึ่ง เพราะยูริตัวเอกของเรื่องเป็นชาวรัสเซียในยูเครนและต้องอพยพออกจากกรุงเคียฟด้วยเรื่องของการหนีสงครามและความไม่สงบที่เกิดขึ้น

ผมคิดว่าเรื่องสั้น ‘พินัยกรรมของคัทลิน’ นั้นทำหน้าที่ที่สำคัญของเรื่องสั้นชุดนี้ นั่นคือ การทำให้คุณลักษณะของตัวละครยูริและคัทลินนั้นเด่นชัดมากขึ้น ทั้งการบอกลักษณะนิสัยใจคอ พื้นหลังและภูมิหลังบางอย่าง เช่นเรื่องการศึกษาของยูริที่ส่งผลต่อโลกทัศน์และนิสัยของเขา แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือ หากดึงเฉพาะเรื่อง ‘พินัยกรรมของคัทลิน’ ออกมาอ่านโดดๆ ผู้อ่านก็จะได้อรรถรสที่ครบถ้วนในฐานะเรื่องสั้น แต่หากเอาเรื่องนี้กลับเข้าไปในเรื่องสั้นทั้งชุดเราก็จะเห็นความลึกของตัวละครในมิติต่างๆ ได้อย่างละเมียดละไม

แม้ว่าเรื่องสั้นชุดนี้จะมีอายุมากเกือบ 40 ปี จากเรื่องแรกจนถึงเรื่องสุดท้าย แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือความสม่ำเสมอของกลวิธีและวิธีในการเขียนและสิ่งที่ผมประทับใจมากที่สุดอย่างหนึ่งก็คือในแง่ของกลวิธีและวิธีการเขียนนั้นไม่ได้มีความล้าสมัยหรือเชยแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้ามผมคิดว่าเรื่องสั้นชุดนี้แสดงให้เห็นความละเอียดลออของนักเขียนรุ่นก่อนที่ให้ความสำคัญและเอาใจใส่ต่อการบรรยาย การพรรณนาทั้งตัวละคร อารมณ์ความรู้สึกของตัวละครได้อย่างละเมียดละไมซึ่งสัมพันธ์โดยตรงกับเนื้อหาของตัวเรื่องและส่งผลต่ออารมณ์ความรู้สึกที่ผู้อ่านมีต่อตัวเรื่องอย่างชัดเจน

กล่าวให้ง่ายกว่านั้นก็คือ ผมคิดว่าเรื่องสั้นชุดนี้เป็นตัวอย่างที่ดีทั้งกับนักเรียน นักศึกษาที่สนใจและอยากเป็นนักเขียนและนักอยากเขียน รวมไปถึงนักเขียนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะในเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างรูปแบบกับเนื้อหาที่สอดคล้องกัน ผมคิดว่าตัวอย่างของงานเขียนที่ดี (อย่างน้อยก็ในอุดมคติของผม) ก็คืองานเขียนที่ไม่ทิ้งสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปหรือเชิดชูสิ่งใดมากเกินไป นักเขียนบางคนอาจมีความคิดสร้างสรรค์ที่ยอดเยี่ยมในเรื่องของรูปแบบในการนำเสนอ แต่ไม่รู้ว่าจะเล่าอะไร ในขณะที่นักเขียนจำนวนไม่น้อยมีเรื่องมากมายอยากจะเล่าแต่ไม่รู้ว่าจะเล่าอย่างไร ในแง่หนึ่งการทำงานศิลปะและวรรณกรรมจึงอาจหมายถึงการหาจุดที่สมดุลระหว่างรูปแบบและเนื้อหา และ ‘คำถามสุดท้ายของคัทลิน’​ ก็มีจุดที่ลงตัวสำหรับผม

รวมเรื่องสั้นชุดนี้เป็นการเล่าถึงชีวิตและความสัมพันธ์ของสามีภรรยาวัยหลังเกษียณคือยูริและคัทลินและยังเป็นการเล่าถึงชีวิตช่วงท้ายๆ ก่อนจะเสียชีวิตของยูริผู้เป็นสามี สิ่งที่เราจะได้เห็นก็คือภาพชีวิตและการดูแลเอาใจใส่กันของคู่ชีวิต ดังนั้น การนำเสนออารมณ์ความรู้สึกและกิริยาอาการต่างๆ ให้พอดีกันในฐานะเป็นงานศิลปะจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น ในเรื่องเราจะได้เห็นว่า แม้ว่าจะเป็นคู่ชีวิตกันแต่การดูแลกันในยามแก่เฒ่าโดยที่อีกคนเป็นคนป่วยก็ไม่อาจเป็นสิ่งที่น่าอภิรมย์นักสำหรับอีกฝ่าย เช่นในตอนที่ยูริพูดจาดูถูกถากถางอาหารประจำชาติของคัทลินและดูเหมือนว่าการถากถางเช่นนี้จะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง

“ท่าทางเขาเหมือนพูดกับตัวเองในสภาวะไร้น้ำหนัก ไร้ความรู้สึกรู้สาใดๆ ว่าสิ่งที่พูดออกไปจะทำให้ภรรยาเจ็บปวดเพียงไหน คัทลินกลืนน้ำลายลงคอ อยากจะเถียง อย่ากจะวิ่งเข้าไปทุบสามีเสียให้หายเจ็บที่ปรามาสอาหารบรรพบุรุษของเธอ แต่ทั้งหมดที่เธอทำได้ก็คือคำตอบเงียบๆ ว่า ‘ตกลง ฉันจะเตรียมอาหารกลางวันเดี๋ยวนี้’” (หน้า 39-40)

จากตัวอย่างนี้ เราจะเห็นบุคลิกของคัทลินในฐานะคู่ชีวิตและผู้ที่ต้องดูแลคนป่วยอย่างยูริได้อย่างชัดเจน นอกจากนี้มันทำให้เราได้เห็นถึงวิถีของชีวิตคู่ที่ดำเนินมายาวนานหลายปี ความรักในช่วงท้ายของชีวิตย่อมแตกต่างไปจากความรักอันดูดดื่ม คลั่งไคล้และชวนให้หลงใหลเช่นในสมัยวัยรุ่น ความรักอาจทำให้เกิดความผูกพัน ความอดทน ความห่วงหา ความเอื้ออาทรแก่กัน มันชวนให้เราได้ขบคิดว่าในยามแก่เฒ่าสิ่งที่เราต้องการอาจไม่ใช่เงินทอง แต่เป็นคนที่พร้อมจะโอบอุ้มเราต่อให้เราจะเป็นคนที่แย่ขนาดไหนก็ตาม หรือคนอย่างคัทลินนั่นเอง

ชีวิตรักและโลกทัศน์ของคนวัยเยาว์อาจเข้าใจไม่ได้เลยว่าทำไมเราต้องอดทนกับคนบางประเภทที่จะทำให้เราเสียใจตลอดเวลา (หรือดังคำคนปัจจุบันที่ว่า toxic relationship [กรุณาใช้คำทับศัพท์จะดีกว่าแปล]) ในแง่หนึ่งอาจเป็นเพราะประสบการณ์ต่อโลกที่แตกต่างกันระหว่างคนหนุ่มสาวกับคนแก่คนเฒ่า สิ่งที่เราเห็นว่าเป็นความอดทน อาจหมายถึงความรัก ความผูกพันที่ต้องใช้ระยะเวลายาวนานมากพอที่จะตระหนักว่าแท้จริงแล้วเราต้องการใครสักคนโอบอุ้มเราในวันที่อ่อนแอที่สุดมากเพียงใด

ผมคิดว่าการเล่าเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างยูริกับคัทลินนั้นถ้าหากไม่ตีความว่าเป็นความสัมพันธ์แบบ toxic relationship ที่ผู้หญิงต้องมานั่งอดทนกับความเจ้าอารมณ์และการดูถูกถากถางจากผู้ชาย ก็อาจจะเป็นการตีความไปในเรื่องของการมองเห็นสายใยความผูกพันที่ใช้เวลาสร้างร่วมกันมายาวนานจนไม่อาจทอดทิ้งซึ่งกันและกันได้ หมายถึงว่า มันอาจเป็นมากกว่าความรักนั่นเอง และในการเล่าเรื่องความสัมพันธ์ดังกล่าวนี้ ผมคิดว่า ‘คำถามสุดท้ายของคัทลิน’ ทำได้อย่างประณีตบรรจงอย่างยิ่ง แม้ผมคิดว่านักอ่านรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยมีแนวโน้มที่จะตีความไปในแบบแรก แต่ผมก็ยังคงเห็นว่าวิธีการเล่าเรื่องความสัมพันธ์ของทั้งคู่ทำให้เราไม่อาจเกลียดยูริ การานอฟ ได้เลย

วัยชราและบ้านที่อยู่ไม่ได้

ประเด็นที่ผมสนใจในการอ่านรวมเรื่องสั้นชุดนี้ก็คือ การอพยพย้ายถิ่น การพลัดพรากจากที่อยู่ไปยังสถานที่อีกแห่งหนึ่ง ดังนั้น ‘ความทรงจำ’ จึงเป็นสิ่งที่เด่นชัดในเรื่องสั้นแต่ละเรื่อง ความทรงจำของยูริและคัทลินนั้นแตกต่างกัน ทั้งคู่จดจำอดีตไม่เหมือนกันและมันก็เป็นสิ่งที่สะท้อนคุณค่าที่ทั้งคู่ให้ความสำคัญอีกด้วย การพลัดพรากจากที่อยู่นั้นเป็นประสบการณ์ทางอารมณ์ในรูปแบบหนึ่ง ในหลายกรณีมันอาจหมายถึงความทรงจำบาดแผล (trauma memories) ความผูกพันระหว่างปัจเจกบุคคลกับสถานที่ที่เป็นถิ่นเกิดนั้นถูกหลอมรวมกันเป็นหนึ่งเดียว เมื่อมันถูกแยกออกจากกัน ความเข้มข้นและรุนแรงทางอารมณ์จึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากการต้องอพยพย้ายถิ่น ในกรณีเช่นนี้เราจะเห็นได้บ่อยครั้งจากบันทึกของผู้คนที่ต้องอพยพจากสงครามและความไม่สงบในบ้านเมืองที่เกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม สำหรับ ยูริและคัทลิน การอพยพจากถิ่นที่อยู่หมายถึงการเริ่มต้นชีวิตใหม่ เริ่มต้นสิ่งใหม่ๆ ที่จะต้องดีกว่าเดิม ในเรื่องสั้น ‘พินัยกรรมของคัทลิน’ ทั้งคู่เล่าให้ผู้เล่าเรื่องฟังว่า พวกเขา ‘กลับบ้าน’ ในทุกฤดูใบไม้ผลิตของทุกปี คัทลินเล่าว่า “ฉันอพยพหนีไปจากระบอบคอมมิวนิสต์นะจ๊ะไม่ใช่ประเทศฮังการี” ส่วนยูริผู้ซึ่งดูจะมีความทรงจำมากมายอยู่ในยุโรป เขาเล่าว่า “ฉันก็หนีออกมาจากสงครามความรุนแรงทั้งหลาย แม่หนู ฉันไม่ได้หนีจากรัสเซีย ยูเครนเป็นบ้านเกิดของฉันสมอ ภูมิทัศน์ยุโรปทั้งหมดนั่นแหละที่ฉันคิดถึง” (หน้า 14)

เราจะเห็นได้ว่า ยูริและคัทลินนั้นมีบ้านให้กลับอยู่เสมอทุกปี แต่บ้านของทั้งคู่กลับเป็นสิ่งที่อยู่และใช้เป็นเรือนตายในบั้นปลายชีวิตไม่ได้ ไม่ใช่เพราะฐานะหรือเป็นเพราะไม่มีบ้านให้เขาอยู่อาศัยจริงๆ แต่เป็นเพราะสถานการณ์ที่รุนแรงทางสังคมการเมืองทั้งคู่มีความทรงจำต่อ ‘บ้าน’ ของพวกซึ่งเล่าแทรกอยู่ในเรื่องสั้นทั้งแปดเรื่อง ความทรงจำที่ทั้งคู่มีต่อบ้านเกิดเมืองนอนของพวกเขาอาจเป็นสิ่งที่เลวร้ายและงดงามไปพร้อมๆ กัน

ผมคิดว่าสิ่งที่เรื่องสั้นทุกเรื่องกำลังเสนอก็คือการต่อรองกับอดีตของตัวละครทั้งสองตัว กาต่อรองกับอดีตมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่ทำให้ปัจเจกบุคคลสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติสุข ยูริและคัทลินไม่ได้ปฏิเสธอดีตและพยายามจะลืมความเลวร้ายที่เกิดขึ้นในบ้านเกิดเมืองนอนของตนเองที่ส่งผลกระทบต่อตนเอง แต่พวกเขายอมรับเอาปัญหาเหล่านั้นเข้ามาในชีวิตเหมือนกับปัญหาอื่นทั่วๆ ไป พวกเขายังคงคิดถึงบ้านเกิดเมืองนอน แต่ไม่อาจยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นในมาตุภูมิของพวกเขาได้ ฉะนั้นแล้ว ‘การกลับบ้าน’ ทุกปีในฐานะที่การกลับไปเยี่ยมบ้านเกิดจึงเป็นเหมือนกับการต่อรองกับตนเองของพวกเขาที่มีต่ออดีต

ความทรงจำที่แตกต่างกัน

ยูรินั้นมีความทรงจำที่น่าสนใจ ในเรื่องสั้นแทบทุกเรื่องเราจะเห็นได้ว่ายูริมีความสัมพันธ์กับยุโรปเกือบทั้งหมดมากกว่ารัสเซียและยูเครนเสียอีก นั่นเป็นเพราะความเป็นปัญญาชนของเขาเอง ดังที่ปรากฏในเรื่องสั้น ‘พินัยกรรมของคัทลิน’ ที่คัทลินเล่าว่า ยูรินั้น “ได้เรียนถึงขั้นมหาวิทยาลัย เขาถึงชอบเมืองโบโลนญานักหนาไงจ๊ะ มหาวิทยาลัยเก่าแก่ที่สุดในยุโรปอยู่ที่นี่ เขาเห็นโลกกว้างกว่าฉันมาก เขาอยู่มาหมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็น เคียฟ มอสโคว์ วอร์ซอ ปราก เวียนนา ปารีส โรม อยู่ที่ไหนเขาก็ฟังวิทยุท้องถิ่นได้หมด” (หน้า 22) หรือในเรื่องสั้นอีกหลายๆ เรื่องที่ชี้ให้เห็นว่ายูรินั้นพูดได้หลากหลายภาษาและมีนิสัยชอบฟังวิทยุจากทั่วทุกมุมของโลกเพื่อรับรู้ข่าวสาร ดังนั้น เรื่องเล่าความทรงจำของยูริที่มีต่ออดีตจึงเป็นความสัมพันธ์ของเขากับยุโรปมากกว่ายูเครน หรือรัสเซีย

ในขณะเดียวกัน คัทลินเองก็พูดได้ถึงสามภาษา แม้กระนั้นก็ยังถูกถากถางจากยูริอยู่เสมอ ความทรงจำของยูริที่ชัดเจนที่สุดในเรื่องสั้นุดนี้กลับเป็นความทรงจำที่มีต่อยูริ โดยเฉพาะช่วงเวลาแห่งการพบรักกันในปารีส ดังปรากฏในเรื่อง ‘ห้องนอนแห่งใหม่’ ที่เล่าว่า ‘ทุกคนที่สนิทสนมรู้จักคัทลินฉากรักแรกพบนี้ราวกับเป็นประสบการณ์ของตนเอง คัทลินจำได้หมดว่าวันนั้น

“สุภาพบุรุษผู้นั้นใส่สูทสีอะไรตามแบบชายฝรั่งเศสรสนิยมดี รองเท้าหนังนุ่มขัดเป็นมันเงาปลาบ เขาแนะนำตนเองอย่าสุภาพว่าเป็นวิศวกรก่อสร้าง วันนั้นเขาพาเธอไปนั่งดื่มชาในร้านขนมยุโรปตะวันออกที่ถนนบาร์แบท ก่อนจะพาเธอไปส่งโรงแรม วันรุ่งขึ้นเขามารับเธอไปดูละครที่โอเด-อง หลังจากนั้นทั้งสองก็นัดพบกันแทบจะทุกวัน” (49-50)

การจำอดีตที่ต่างกันนี้เองเป็นที่มาของบุคลิกในช่วงบั้นปลายในชีวิตทั้งคู่ ยูรินั้นมักจะถากถางคัทลินและคนอื่นๆ ว่าไม่รอบรู้ได้ดั่งใจเขา เช่น โจนส์พยาบาลที่คัทลินเรียกมาช่วยดูแลยูริ แต่แท้จริงแล้ว ยูริเองก็ต้องการอยู่กับคนที่เขารักคือคัทลิน แม้ว่าจะพูดภาษาอื่นๆ ได้น้อยกว่าเขา แต่คัทลินก็คือคนที่ดูแลเขาและอดทนกับเขาได้มากที่สุด ในขณะที่คัทลินเองเธอได้ทุ่มเทกับการดูแลยูริอย่างเต็มกำลังและอดเสมอไม่ว่าจะถูกถากถางอย่างไรและดูเหมือนว่ามีแต่คัทลินเท่านั้นที่รู้ว่าเนื้อในที่แท้จริงของยูริเป็นอย่างไร  

ไม่ว่าจะอธิบายอย่างไรก็ตาม สิ่งที่ชัดเจนที่สุดที่เราจะได้เห็นก็คือ ‘ความผูกพัน’ ที่คู่ชีวิตมีต่อกันที่จะคอยดูแลรักษาซึ่งกันและกันในยามแก่เฒ่า ไม่ว่าจะฉลาดขนาดไหน เก่งขนาดไหน สวยงามขนาดไหน สุดท้ายในบั้นปลายของชีวิตเราอาจต้องการเพียงแค่ใครสักคนที่โอบอุ้มเราได้มากที่สุดก่อนที่จะต้องจากกันยาวไกลนั่นเอง

‘คำถามสุดท้าย’

‘คำถามสุดท้ายของคัทลิน’ เป็นเรื่องสั้นเรื่องสุดท้ายในเล่มที่เล่าเรื่องราวมรณกรรมของยูริ ในเรื่องนี้ผมคิดว่าสิ่งที่ดีที่สุดคือการบรรยายถึงยูริที่วายชนม์ สัมผัสของคัทลินบนเรือนร่างไร้วิญญาณของยูรินั้นเป็นการบรรยายที่งดงาม แช่มช้าและเชื่อมโยงกับความทรงจำที่คัทลินมีต่อยูริอย่างชัดเจนราวกับเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวาน ในเรื่องเราจะได้เห็นช่วงเวลาแห่งการรำลึกที่คนเป็นมีต่อผู้วายชนม์อีกด้วย ช่วงเวลาเช่นนี้เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับผู้สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักเพราะมันคือช่วงเวลาของการไถ่ถอนอารมณ์ความรู้สึกของคนเป็นด้วยการรำรึกสิ่งที่เคยมีร่วมกันและแปรเปลี่ยน/ต่อรองความโศกเศร้าเหล่านั้นให้กลายเป็นความทรงจำของคนเป็นเพื่อทำให้คนที่ยังอยู่ดำเนินชีวิตไปได้อย่างราบรื่น ดังเราจะเห็นได้ในเรื่องสั้น ‘พินัยกรรมของคัทลิน’ เรื่องแรกของเล่มที่ฉายให้เราเห็นภาพของหญิงชราที่สูญเสียชายอันเป็นที่รักแต่ยังคงกรุ่นไปด้วยความทรงจำอันงดงามและมีชีวิตที่สดชื่นแจ่มใส

นอกจากประเด็นนี้แล้ว สิ่งที่ผมสนใจก็คือ คำถามสุดท้ายของคัทลินที่มีต่อหมอ ที่ว่า “เป็นไปได้ไหมคะหมอ ว่าเจ้ายาร้อยแปดขนานที่ยูริกาต้องกินเป็นเดือนๆ ปีๆ ทำให้เขาเปลี่ยนบุคลิกภาพ ถ้าหมออยู่ในตอนนั้น หมอจะต้องเห็นอย่างเดียวกับดิฉันแน่ๆ เทียวค่ะว่าเขาเปลี่ยนไปมากเหลือเกิน ยาสารเคมีสมัยใหม่คงจะส่งผลกระทบกระเทือนถึงสมองใช่ไหมคะ” (หน้า 94-95) จากคำถามดังกล่าว หมอตอบคัทลินว่า “ข้อสันนิษฐานของเธอเกี่ยวกับผลข้างเคียงของยาสมัยใหม่นั้นถูกต้องทุกประการอย่างไม่มีข้อสงสัยใดๆ” (หน้า 95)

จากบทสนทนาดังกล่าวชวนให้ผมคิดใคร่ครวญถึงความขัดแย้งระหว่างโลกสมัยใหม่กับผู้คนในสังคม ยูริเกิดใน ค.ศ. 1900 เสียชีวิตกลางเดือนมีนาคม ค.ศ. 1985 ชีวิตของเขาเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งต่างๆ ในโลกนี้หลากหลายครั้ง เช่นสงครามโลกถึงสองครั้ง เขาเป็นประจักษ์พยานของการเข้าสู่ยุคสมัยใหม่อย่างชัดเจนดังเห็นได้จากวิทยุ รวมถึงการรับยาสารเคมีสมัยใหม่อีกด้วย แน่ล่ะ ยาสมัยใหม่ส่งผลที่ดีในการบรรเทาทุเลาโรค อย่างน้อยก็ดีกว่ายาสมัยโบราณเป็นแน่ แต่ผลข้างเคียงของยาสมัยใหม่นี้เองเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ มันชวนให้ผมคิดต่อไปว่า โลกสมัยใหม่นั้นแม้จะถูกแก้ไขปรับปรุงให้ดีกว่าเดิม ดีกว่าโลกแบบเก่า แต่ผลข้างเคียงของโลกสมัยใหม่ก็อาจจะเหมือนกันยาที่รักษายูริก็ได้ มันทำให้เราสูญเสียตัวตนที่เคยเป็น

ผมไม่มีความเห็นว่าเรื่องนี้จะจริงเท็จมากน้อยเพียงใด เพียงแต่เรื่องสั้นเรื่องนี้ชวนให้ผมคิดในประเด็นนี้ ความคิดที่ว่าโลกสมัยใหม่อาจทำให้เราสูญเสียตัวตนไปนั้นอาจเป็นความเห็นของคนรุ่นหนึ่งที่มองเห็นความเปลี่ยนแปลงในโลกนี้ด้วยความหดหู่ แต่คนอีกจำนวนไม่น้อยเฝ้ารอความเปลี่ยนแปลงในโลกสมัยใหม่อย่างใจจดใจจ่อ เพราะมันไม่ได้ทำให้เราสูญเสียตัวตน แต่ตัวตนจำนวนมากถูกสร้างขึ้นจากโลกสมัยใหม่นี้เอง

ผมจึงไม่คิดว่าจะมีใครถูกหรือผิดไปกว่ากันในเรื่องนี้

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save