fbpx

‘หญิงคนชั่ว บ้านทรายทอง กุหลาบแดง’ นิยายชีวิตยุคผู้นำคณะราษฎร ของ ก.สุรางคนางค์

ต้นปีใหม่ ผู้เขียนได้รับเชิญให้นำเสนอหนังสือเพื่อจัดนิทรรศการในงาน ‘Knowledge Book Fair 2024 เทศกาลอ่านเต็มอิ่ม’ ที่มิวเซียมสยาม 16-18 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2567[1] จึงคิดว่าเป็นโอกาสดีที่จะได้นำเสนอวรรณกรรมหายากในยุคปฏิวัติ 2475 จำนวนมากที่ส่วนตัวสะสมไว้ หมวดแรกที่นึกถึงคือ นวนิยายของประพันธการสตรีในยุคสมัยนั้น ครั้งหนึ่งส่วนตัวเคยสวมวิญญาณเป็นแป๊ะเฮียวเซ็ง 百晓生 (ตัวละครในยุทธจักรนิยายกำลังภายในของโกวเล้ง ผู้ลือชื่อว่าเป็นนักจัดอันดับยอดฝีมือ) และลองจัดอันดับยอดนักประพันธ์หญิงยุคผู้นำคณะราษฎรระหว่าง พ.ศ.2475-2500 3 อันดับแรก โดยนึกถึง ดอกไม้สด, ก.สุรางคนางค์ และ ร.จันทพิมพะ[2]

เมื่อคิดคำนึงถึงองค์ประกอบทั้งหมด จากทั้งปริมาณและคุณภาพผลงานจนถึงชีวิตส่วนตัว อัตวิสัยของผู้เขียนเอนเอียงไปทาง ก.สุรางนางค์ เป็นที่สุด โดยเห็นพ้องกับคำสดุดีศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ (นวนิยาย) ประจำปีพุทธศักราช 2529 ที่มอบแด่เธอไว้ว่า

“งานนวนิยายของท่าน ได้สะท้อนถึงความคิดและทัศนคติของผู้คนในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ระหว่างค่านิยมเดิมกับค่านิยมใหม่ของสังคมที่กำลังพัฒนาไปตามความเปลี่ยนแปลงแห่งยุคสมัย

ผลงานของท่านจึงมีคุณค่าในฐานะเป็นวรรณกรรมที่ให้ภาพสะท้อนสังคมในช่วงนั้นๆ อันสำคัญยิ่ง ทั้งยังเป็นแบบฉบับนักประพันธ์สตรีของไทย ที่ส่งอิทธิพลสืบมาถึงปัจจุบันด้วย”[3]


 Knowledge Book Fair 2024


อีกหนึ่งเหตุผลที่ประสงค์จะเขียนถึง ก.สุรางคนางค์ ด้วยว่าเดือนกุมภาพันธ์เป็นเดือนชาตะของเธอ เมื่อวันจันทร์ที่ 26 ในปี 2454[4] (ปฏิทินเก่า)[5] และในวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง ก.สุรางนางค์ เจริญวัยได้อายุ 19 กำลังอยู่ช่วงต้นของการก้าวเข้าสู่โลกวรรณกรรม หรือหากนับถึงปัจจุบัน พ.ศ.2567 จะเป็นปีชาตกาล 112 ปี รวมถึงเดือนกุมภาพันธ์คือเดือนแห่งความรัก สำหรับนักเขียนท่านนี้ ‘ดอกกุหลาบ’ คือดอกไม้สัญลักษณ์ประจำตัว อันแทนชีวิตรักที่สุดแสนประทับใจยิ่งกว่านวนิยายที่เธอแต่ง และเป็นดอกไม้ที่นำมาใช้เป็นภาพปกในอนุสรณ์งานศพของศิลปินแห่งชาติท่านนี้


 ชีวประวัติ ก.สุรางคนางค์ ในอนุสรณ์งานศพ


สังเขปชีวประวัติ


ก.สุรางคนางค์ ได้ชื่อว่าเป็นสตรีผู้ยึดถืองานเขียนหนังสือเป็นอาชีพคนแรกของสังคมไทย[6] เกิดเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2454 ที่บ้านหลังเล็กๆ ใกล้คานเรือ ตำบลเจริญพาสน์ คลองบางกอกใหญ่ จังหวัดธนบุรี เป็นลูกสาวคนโตของพระและนางดุริยภักดี สกุลเดิม ‘วรรธนะภัฏ’ เดิมเรียกกันว่า ‘ชื้น’ ต่อมา เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ.2462 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานนามให้ใหม่ ว่า ‘กัณหา’ พร้อมทั้งพระราชทานพรว่า ‘ขอจงมีความสุขสวัสดิ์เจริญเทอญ’

บิดาซึ่งเป็นนายตำรวจหลวงเคยอธิบายให้ลูกสาวฟังว่า “กัณหาเป็นชื่อของธิดาพระเวสสันดร เป็นเด็กที่รักน้อง อยู่ในโอวาทเชื่อฟังพ่อแม่มาก…เราน่าจะต้องเชื่อฟังอยู่ในโอวาทของพ่อแม่ ให้สมกับที่ได้รับพระราชทานชื่ออันเป็นมงคลยิ่งว่า “กัณหา”…เข้าใจไหม?”


กัณหา วรรธนะภัฏ (คนกลาง) ถ่ายภาพร่วมกับครอบครัว บิดา มารดา น้องชาย และ น้องสาว


การศึกษา ในขั้นประถม เรียนที่โรงเรียนพร้อมวิทยามูล เนื่องจากสุขภาพไม่ดีจึงหยุดการเรียนเสียเกือบสามปี จากนั้นเข้าเรียนที่โรงเรียนเซนต์ฟรังซิสซาเวียร์ได้เพียงปีเดียว ก็ย้ายมาเข้าโรงเรียนราชินีบน เธอมีเพื่อนร่วมห้องที่รักกันมากจวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต คือคุณฉลบชลัยย์ พลางกูร (พ.ศ.2459-2560)[7] (ต่อมาเป็นภริยาของวีรชนเสรีไทย จำกัด พลางกูร) ภายหลังจบประโยคมัธยมบริบูรณ์เมื่อปี 2475 เข้าเป็นครูสอนที่โรงเรียนราชินี

อีกสี่ปีต่อมา ก.สุรางคนางค์ เลือกแตกหักกับบิดาด้วยการเข้าพิธีแต่งงานเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ.2479 กับ ป่วน บูรณศิลปิน (ต่อมาเปลี่ยนชื่อและนามสกุลเป็น ปกรณ์ บูรณปกรณ์[8] ชาตะ พ.ศ.2447 มรณะ พ.ศ.2495) นักเขียนชื่อดังแต่ฐานะยากจน เธอเขียนถึงงานวิวาห์ครั้งนั้นไว้ว่า “เราแต่งงานเมื่อยากจนเต็มที เจ้าบ่าวมีเงินติดตัวแปดสิบบาท เจ้าสาวสามสิบห้ากว่าบาท”[9]


ครอบครัวอันอบอุ่น ป.บูรณปกรณ์ กับ ก.สุรางคนางค์ พร้อมธิดาและบุตรชาย


ภายหลังแต่งงานเพียงหนึ่งปี ก.สุรางคนางค์ ประสบความสำเร็จในงานเขียนครั้งแรกกับนวนิยายเรื่อง ‘หญิงคนชั่ว’ และให้กำเนิดบุตรธิดาอย่างละหนึ่งคน นอกเหนือจากงานเขียนนวนิยาย เธอยังทำงานเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์รายวันเมืองทอง เป็นทั้งเจ้าของโรงพิมพ์และหนังสือพิมพ์ฉบับเดียวกันนั้น เธอเล่าว่าบางทีก็เป็นช่างพับเข้าหน้าหนังสือพิมพ์เองเสียอีกด้วย ทำเอง เขียนเอง พิมพ์เอง พับเอง และจัดจำหน่ายเอง นอกจากนี้ ยังเป็นเจ้าของสำนักพิมพ์วรรธนะศิลป์และสำนักงานนายศิลปี จำหน่ายหนังสือต่างประเทศ รวมถึงเคยถวายพระอักษรพิเศษ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สมัยทรงพระเยาว์ ขณะเสด็จพระทับแรม ณ พระตำหนักชายทะเลหัวหิน

หลังสงครามยุติ นวนิยายที่สร้างชื่อเสียงให้ ก.สุรางคนางค์ มากที่สุดคือ ‘บ้านทรายทอง’ เมื่อต้นปี 2493 แต่เป็นที่น่าเสียใจอย่างสุดซึ้งว่าในอีกสองปีต่อมาก่อนวันครบรอบแต่งงานไม่กี่วัน เธอสูญเสียสามีสุดที่รักผู้ร่วมทุกข์ร่วมสุขไปอย่างไม่มีวันหวนกลับ เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ.2495 ความรักของสองยอดนักประพันธ์คู่นี้ ยังคงความเป็นอมตะสร้างความซาบซึ้งตราบจนทุกวันนี้ ระหว่างนั้น ก.สุรางคนางค์ ได้ทำงานเป็นผู้อำนวยการ นสพ.นารีนาถ (ยุคหลัง) และเลือกสละสถานะหม้ายทิ้งด้วยการเข้าพิธีสมรสใหม่อย่างเงียบๆ กับนายเล็ก เคียงศิริ (พ.ศ.2437-2530)[10] คหบดีที่มีอายุมากกว่าเธอกว่า 17 ขวบปี เมื่อ พ.ศ.2499

พ.ศ.2529 ก.สุรางคนางค์ได้รับเกียรติคุณในฐานะศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ (นวนิยาย) แต่เป็นที่น่าเสียใจว่าเพียงหนึ่งปีถัดมา เธอสูญเสียสามีไปอีกครั้ง จนเป็นเหตุให้เธอล้มป่วยลงด้วยเส้นโลหิตในสมองตีบจนเป็นอัมพาตระหว่างเขียนหนังสืออุทิศให้สามี และรักษาตัวอยู่ที่บ้านซอยอ่อนนุชกับ ลูก หลาน เหลน จนกระทั่งถึงแก่กรรม ในวันพุธที่ 23 มิถุนายน พ.ศ.2542

ทั้งชีวิตของยอดนักประพันธ์หญิงผู้ยิ่งใหญ่นี้ สร้างผลงานนวนิยายรวมเล่มราว 50 เรื่อง และเรื่องสั้นอีกประมาณ 300 เรื่อง


ก.สุรางคนางค์ ในอิริยาบทนั่งอ่านหนังสือ


3 หนังสือสำคัญของ ก.สุรางคนางค์


“ปัจจุบันนี้ ก.สุรางคนางค์… ‘พี่เล็ก’ ของข้าพเจ้ายังคงเขียนหนังสืออยู่ทุกเช้า ที่บ้านปากซอยใจสมาน บางกะปิ เธอยังคงเขียนปากกาไม่ถนัดเหมือนอย่างเดิม ต้องเหลาดินสอแหลมเปี๊ยบไว้คราวละโหล…”[11] วิลาศ มณีวัต

นามปากกา ‘ก.สุรางคนางค์’ อุบัติขึ้นด้วยความนิยมในคำประพันธ์บางเรื่องของพระยาอุปกิตศิลปสาร เมื่อส่งเรื่องสั้นชิ้นแรกตีพิมพ์ลง ‘เดลิเมล์วันจันทร์’ เมื่อ พ.ศ.2473 ชื่อว่า ‘มาลินี’ เพราะความรักกาพย์สุรางคนางค์ จึงใช้ต่อนามย่อว่า ‘ก.สุรางคนางค์’ ครั้งนั้น เธอดีใจมากถึงขนาดเหมาหนังสือที่เหลืออยู่ทั้งหมดในร้าน โดยเล่าผ่านตัวละครสายวรุณในนวนิยายกุหลาบแดงว่า “ฉันซื้อหมดนะโกนะ เจ็ดเล่มๆ ละสามสตางค์ รวมเป็นยี่สิบเอ็ดสตางค์”[12]


ก.สุรางคนางค์ ในวัยแรกรุ่น


นิทรรศการหนังสือที่มิวเซียมสยาม ในส่วนของ ก.สุรางคนางค์ ผู้เขียนคัดหนังสือหายาก 3 เล่มที่เป็นหมุดหมายสำคัญของชีวิตผู้ประพันธ์

  1.  “หญิงคนชั่ว” เล่มแจ้งเกิด พ.ศ.2480 ด้วยวัย 25 ปี ช่วงปลายรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน)
  2. “บ้านทรายทอง” เล่มดังที่สุด พ.ศ.2493 ด้วยวัย 38 ปี ต้นการครองอำนาจครั้งที่ 2 ของจอมพล ป.พิบูลสงคราม หลังกบฏวังหลวงราวหนึ่งปี
  3. “กุหลาบแดง” เล่มที่ชอบที่สุด พ.ศ.2498 ด้วยวัย 43 ปี ยังคงอยู่ในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม

    หนังสือทั้ง 3 เล่มนี้ผู้เขียนสะสมฉบับพิมพ์แรกไว้ทั้งหมด ซึ่งในบทความนี้นอกจากภาพปกสวย ๆ อันหาชมได้ยากแล้ว ขอนำเฉพาะเกร็ดน่าสนใจของหนังสือแต่ละเล่มไว้ดังต่อไปนี้


    หญิงคนชั่ว‘ พ.ศ.2480 นิยายแจ้งเกิด


    “ใช้เวลาเขียน ‘หญิงคนชั่ว’ เพียงสามเดือนเท่านั้นก็จบเรียบร้อย แต่คลอดยากคลอดเย็น เนื่องจากหาสำนักพิมพ์ไม่ได้ เพราะชื่อน่ารังเกียจ ได้ยินแต่ชื่อก็ไม่มีใครกล้าพิมพ์แล้ว เกรงว่าจะเป็นเรื่องโป๊”


    ภาพปก ‘หญิงคนชั่ว’ ฉบับพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2480


    นวนิยายเรื่องนี้นับเป็นเรื่องฉีกแนวมากในสังคมสมัยนั้น และเป็นเรื่องยาวเล่มที่สองของผู้ประพันธ์ ก.สุรางคนางค์ ซึ่งประพันธ์ขึ้นภายหลังสมรสกับสามีได้ไม่นาน ด้วยฐานะทางการเงินฝืดเคืองแร้นแค้นยิ่ง แรกเริ่มไม่สามารถหาผู้สนับสนุนจัดพิมพ์ให้ได้ เธอถึงกับเล่าไว้ว่า “สุดท้ายพี่ต้องเที่ยวเดินหาที่พิมพ์เอง โดยได้รับเงินทุนจากเจ้านายพระองค์หนึ่ง ซึ่งเป็นญาติของลูกศิษย์ที่ประทานมาให้ด้วยความเมตตาสงสาร”

    ก.สุรางนางค์เคยให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวคนหนึ่งว่า “ขณะที่หางานทำไม่ได้และยากจน ทั้งเนื้อทั้งตัวบางวันมีอยู่แปดสตางค์ เป็นเวลาที่กำลังเขียน ‘หญิงคนชั่ว’ เรื่องที่สามารถเรียกร้อง น้ำตา จากผู้เขียนและผู้อ่านได้เป็นอย่างมากนั่นเอง”


    โฆษณาแนะนำหนังสือ ‘หญิงคนชั่ว’


    ในที่สุด ‘หญิงคนชั่ว’ พิมพ์ออกจำหน่ายครั้งแรกในปี 2480 ด้วยจำนวนสองพันเล่ม ซึ่งนับว่าเป็นจำนวนสูงทีเดียวสำหรับหนังสือประเภทเดียวกันในยุคนั้น หลายคนซื้อหามาอ่านเพราะอยากจะรู้ว่าผู้หญิงจะเขียนเรื่อง ‘หญิงคนชั่ว’ ได้ละเอียดเพียงไร อ่านแล้วก็สงสัยต่อไปอีกว่า คนแต่งแอบไปเห็นมาจากไหน?

    วิลาศ มณีวัต เฉลยถามนี้ไว้ว่า

    “ก็เห็นมาจากที่พักหากินของโสเภณีแถวๆ หลังวัดโสมนัสฯ เยื้องๆ กับบ้านของผู้แต่งนั่นแหละ

    บรรดาหนุ่มๆ เจ้าสำราญนักเที่ยวกลางคืนสมัยนั้น พอเอ่ยชื่อว่า “ไปตะพานยาวนางเลิ้ง” ก็เป็นอันรู้กันว่าหมายถึงอะไร เพราะสองข้างสะพานยาวจากโรงหนังเฉลิมธานีไปทะลุออกถนนพะเนียง มีซ่องโสเภณีเป็นเรือนไม้ชั้นเดียวเตี้ยๆ ตลอด บางซ่องก็เป็นบ้านแบบสลัมสกปรก ใต้ถุนบ้านเฉอะแฉะมีแต่น้ำครำ

    โสเภณีที่สะพานยาวนางเลิ้ง ซึ่งกว้างแค่กระดานสี่แผ่นนี้ เป็นโสเภณีที่มีค่าตัวต่ำ คืออัตราค่าตัวชั่วคราวเพียงสิบห้าสตางค์เท่านั้น ถ้าดีหน่อยก็ราคาหนึ่งบาทขาดตัว ถ้าเหมาทั้งคืนก็สองบาท

    สภาพที่สะพานยาวนั้นก็เหมือนซ่องทั่วๆ ไป คือพอตกกลางคืนสะพานยาวก็จะมีชีวิตชีวาขึ้นมาทันที เพราะมีบรรดาผู้หญิงหากินแต่งตัวเขียวๆ แดงๆ นั่งกันหน้าสลอนคอยต้อนรับแขกกลัดมันทั้งหลายอยู่ในซ่อง บรรดาหนุ่มคะนองก็จะเดินไปมากันให้ขวักไขว่เหมือนมีงานมหกรรม แต่พอตกกลางวันซ่องเหล่านี้ก็จะพากันปิดประตูเงียบ จะหาซ่องไหนเปิดประตูตื่นแต่เช้าเป็นไม่มี ก็ทำไมจะไม่ตื่นสายล่ะ…ในเมื่อซ่องเหล่านั้นกว่าจะปิดก็ปาเข้าไปตั้งตีหนึ่งตีสองของวันใหม่

    โดยปกติแล้ว สะพานยาวนี้จะมีคนเดินตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง เพราะเป็นทางเดียวที่เป็นทางลัดระหว่างตลาดและโรงหนังนางเลิ้งกับวัดแค ดังนั้นถึงแม้จะไม่ได้ไปเที่ยวซ่อง หรือเกี่ยวข้องกับซ่อง ก็จะต้องเดินผ่านสะพานยาวดังกล่าว เพราะถ้าไม่เดินผ่าน ก็จะต้องเสียเวลาเดินอ้อมไปไกลมาก

    พี่เล็กได้เห็นสภาพของดงโสเภณีดังกล่าวนี้จนชินตา และเนื่องจากเธอเป็นคนช่างคิดมานานแล้ว จึงได้ตกลงใจคิดจะแต่งขึ้นเป็นเรื่องอ่านเล่น แต่ขณะนั้นเธอยังเป็นนักเรียน จึงไม่กล้า ต่อมาแม้เมื่อเป็นครูแล้ว เธอก็ไม่อาจจะแต่งได้ในขณะที่เป็นครู เกรงจะเสื่อมเสียไปถึงโรงเรียน แต่ความคิดที่จะเขียนเรื่อง “หญิงคนชั่ว” ก็ยังคงมีอยู่ และได้มีความอยากเขียนรุนแรงขึ้นเมื่อเพื่อนครูคนหนึ่งได้เล่าให้ฟังถึงชีวิตของครอบครัวหนึ่งซึ่งฝ่ายสามีต้องโทษถึงเข้าคุก ฝ่ายภรรยาได้สละทุกอย่างแม้กระทั่งตัวเองเพื่อ ‘หากิน’ ส่งเสียสามี ฟังแล้วน้ำตาซึมไปเลย

    เมื่อลาออกจากชีวิตครูแล้ว พี่เล็กจึงแน่ใจว่าเธอมีอิสระเสรีพอที่จะเขียนเรื่องเกี่ยวกับโสเภณีได้แล้ว จึงนำเอาชีวิตของเมียผู้จงรักต่อผัวคนนั้นมาบรรยายไว้ ให้ชื่อหญิงใจงามคนนั้นว่า ‘สมร’ ซึ่งเป็นตัวละครเอกที่สามารถเรียกน้ำตา และเป็นที่ติดอกติดใจของผู้อ่านทั่วประเทศ”

    ความสำเร็จของนวนิยายเล่มนี้มิได้มาเฉพาะด้าน ‘เงิน’ แต่ยังหมายถึง ‘กล่อง’ เมื่อได้รับคำวิจารณ์ด้วยความชื่นชมอย่างสูงยิ่งจาก ‘พระองค์ชายจุล’ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ (พ.ศ.2451-2506) ดังความสำคัญบางย่อหน้าว่า

    “…ด้วยเหตุนี้ข้าพเจ้าจึงมีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้อ่านหนังสืออ่านเล่นสมัยใหม่ เรื่องหนึ่ง คือเรื่อง ‘หญิงคนชั่ว’ ของ ก.สุรางคนางค์. การที่ผู้แต่งให้ชื่อหนังสือดังนี้ ข้าพเจ้าก็ออกจะสงสัยว่าเป็นความคิดที่ถูก จริงอยู่ อาจจะทำให้หลายคนรีบซื้อหนังสืออ่าน เพราะหวังว่าเปนเรื่องชนิดที่เรียกว่า ‘โป๊’ ถ้าดังนั้นแล้วก็จะเสียใจ เพราะจะหาตอนที่นับว่าหยาบและสกปรกนั้นไม่มีเลย แต่บางคนเพราะเกรงว่าจะเปนเรื่อง ‘โป๊’ ก็เลยไม่ซื้ออ่าน ซึ่งจะเปนที่น่าเสียดายยิ่ง เพราะจะไร้โอกาสอ่านเรื่องที่ดีจับใจ และผูกใจผู้อ่านเสียด้วย.

    …สรุปรวมว่ามีข้อทุกๆ ข้อที่จะทำให้หนังสือนี้เปนหนังสืออ่านเล่นที่ดี และเปนประโยชน์ หวังว่ามีผู้ซื้ออ่านแพร่หลาย เพื่อที่จะเปนการชักนำอุดหนุนให้ ก.สุรางคนางค์ จะแสดงความสามารถของตนอีก โดยนิพนธ์เรื่องอ่านอื่นๆ มาชุมนุมในหมู่อักษรศาสตร์ของไทยเรา ซึ่งต้องการคนแต่งอยู่อีกเสมอ.

    จุลจักรพงษ์ เรือ ‘ราชปูตนะ’ ทเลแดง วันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ.2480”


    ต้นฉบับลายมือ ‘พระองค์ชายจุล’


    ‘บ้านทรายทอง’ พ.ศ.2493 ปีทองของชีวิต


    “นี่คือสถาน แห่งบ้านทรายทอง ที่ฉันปองมาสู่ ฉันยังไม่รู้ เขาจะต้อนรับ ขับสู้เพียงไหน อาจมียิ้มอาบ ฉาบบนสีหน้า ว่ามีน้ำใจ แต่สิ่งซ่อนไว้ในดวงจิต คือความริษยา”

    เนื้อร้องและท่วงทำนองเพลงบ้านทรายทอง โดย สวลี ผกาพันธุ์[13] ผู้รับบท ‘พจมาน สว่างวงศ์’ ในละครเวทีและละครโทรทัศน์ครั้งแรก[14]ยังคงได้รับนำกลับมาขับร้องในเวทีการประกวดร้องเพลงอย่างมิรู้หน่าย ก.สุรางคนางค์ เริ่มลงมือเขียน ‘บ้านทรายทอง’ ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ ‘ปิยะมิตร’ รายสัปดาห์ เมื่อ พ.ศ.2493 ลงไปได้เพียง 4 ตอนเท่านั้นคนอ่านก็เริ่มติด วิลาศ มณีวัตเล่าเป็นเกร็ดไว้ว่า

    “พี่เล็กจะเขียนต้นฉบับในตอนเช้า พอสิบเอ็ดโมงก็เสร็จเรียบร้อย หลังจากนั้นพี่อ้วนจะขับรถคันเก่า พาไปหาอะไรกินแปลก ๆ เปลี่ยนที่ไปเรื่อย ๆ เป็นการพักผ่อนคลายเครียดไปในตัว…

    เนื่องจาก “บ้านทรายทอง” เป็นนวนิยายยอดฮิตประจำปี พอเขียนจบลง ทาง ‘ปิยะมิตร’ ก็ขอให้พี่เล็กเขียนภาคสองต่อไปในทันที ซึ่งพี่เล็กได้ให้ชื่อว่า ‘พจมาน สว่างวงศ์’ เด็กสาว ๆ ในกรุงเทพตอนนั้นทำผมแบบพจมานกันเกร่อไปแล้ว ในวงสังคมต่างก็รู้จักพจมาน สว่างวงศ์ ราวกับว่าทุกคนเพิ่งจะพบปะพูดคุยกับพจมานมาเมื่อวานนี้เอง”[15]


    ภาพปก ‘บ้านทรายทอง’ ฉบับพิมพ์รวมเล่มครั้งแรก พ.ศ.2493


    บุญศิริ ภิญญาธินันท์ อักษรศาสตรบัณฑิตจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความเห็นต่อความนิยมของนางเอกเรื่องนี้คือ พจมาน สว่างวงศ์ ไว้ว่า “ในงานเลี้ยงน้ำชาที่บ้านทรายทอง เธอลุกขึ้นตอบโต้กล่าวประจานพวกที่ถือตัวเป็นผู้ดีอย่างไม่เกรงกลัว การต่อสู้และการโต้ตอบ ของพจมานมีลักษณะต่างจากตัวละครเอกฝ่ายหญิงในนวนิยายพาฝันทั่วไปที่มักจะยอมจำนนหรือเป็นฝ่ายถูกกระทำ บุคลิกภาพดังกล่าวของพจมานจึงสร้างความประทับใจแก่ผู้อ่าน”

    ความนิยมของนวนิยายเรื่องนี้พอจะประเมินได้ว่า นี่คือหนึ่งในหนังสือที่ได้รับการผลิตซ้ำมากที่สุดในโลกหนังสือ มิพักต้องเอ่ยว่านับจากที่อุตสาหกรรมภาพยนตร์เฟื่องฟูขึ้นหลังจากนั้นไม่นาน กล่าวได้ว่าเป็นหนึ่งในนวนิยายอันดับต้นๆ ที่สร้างซ้ำแล้วซ้ำอีกมากที่สุดทั้งในจอเงินและจอแก้ว เบื้องต้นลองมาดูสถิติจำนวนพิมพ์นับถึงปี พ.ศ.2513 หรือ 20 ปีหลังหนังสือเล่มนี้กำเนิดขึ้น

    พิมพ์ครั้งแรกใน ‘ปิยะมิตร’ พ.ศ.2493

    พิมพ์เป็นเล่มครั้งที่ 2 พ.ศ.2493

    พิมพ์เป็นเล่มครั้งที่ 3 พ.ศ.2493

    พิมพ์เป็นฉบับย่อยครั้งที่ 4 พ.ศ.2493

    พิมพ์เป็นเล่มครั้งที่ 5 พ.ศ.2494

    พิมพ์เป็นฉบับย่อยครั้งที่ 6 พ.ศ.2498

    แสดงเป็นละคร ณ เวทีเฉลิมไทย พ.ศ.2493

    แสดงเป็นภาพยนตร์โดย โยคีสถานการณ์ภาพยนตร์

    แสดงเป็นละครทีวีช่อง 4 โดยคณะชื่นชุมนุมศิลปิน

    พิมพ์เป็นเล่มครั้งที่ 7 พ.ศ.2510

    พิมพ์เป็นเล่มครั้งที่ 8 พ.ศ.2513

    ก.สุรางนางค์ มักนำเสนอคำนำใหม่ในการพิมพ์ครั้งใหม่เสมอ ซึ่งพอจะสะท้อนความรู้สึกภูมิใจต่อความสำเร็จของผลงานชิ้นนี้ไว้ว่า

    คำนำในการพิมพ์ครั้งที่ 5

    “ข้าพเจ้ารู้สึกว่าเป็นความชื่นชมเหนือสิ่งอื่นใด ที่แฟนพึงใจหาความสำราญจากนวนิยาย ‘บ้านทรายทอง’ เป็นจำนวนมากมาย โดยคำนวณจากบริการการพิมพ์ครั้งต่างๆ รวม 20,000 เล่ม” ก.สุรางนางค์ 10 มิถุนายน 94

    คำนำในการพิมพ์ครั้งที่ 3

    “นวนิยายเรื่อง ‘บ้านทรายทอง’ ทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกชื่นชมและประหลาดใจมากที่ได้ทราบว่าทางสำนักงาน ‘ปิยะมิตร’ ได้จัดพิมพ์จำหน่ายถึง 5,000 เล่ม ซึ่งเป็นจำนวนที่มากกว่าหนังสือพิมพ์รายวันบางฉบับ ความประหลาดใจได้ทวียิ่งขึ้นอีก เมื่อสำนักพิมพ์แห่งนั้นได้ประกาศทางวิทยุกระจายเสียงสั่งงดการสั่งซื้อและส่งเงินจากแฟนและร้านค้าในต่างจังหวัด เพราะจำนวนหนังสือ 5,000 เล่ม ได้จำหน่ายหมดสิ้นไปก่อนกำหนด โดยที่ยังมีผู้ต้องการอีกมาก” 10 ตุลาคม พ.ศ.2493

    คำนำในการพิมพ์ครั้งที่ 2

    “แต่นวนิยายเรื่อง ‘บ้านทรายทอง’ ที่ยาวที่สุดในชีวิตการประพันธ์ของข้าพเจ้าก็ได้จบลงแล้ว…จนกว่าเราจะพบกันใหม่” ก.สุรางคนางค์ บ้านรสมาลิน 12 กรกฎาคม พ.ศ.2493

    กล่าวได้ว่า นวนิยายเรื่องนี้ได้นำพาผู้ประพันธ์ขึ้นสู่จุดสูงสุดของชีวิต ไม่ว่าจะเป็น ชื่อเสียง ฐานะ และครอบครัวที่สมบูรณ์ ระยะนั้น เมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ.2494 ‘ศรีบูรพา’ หรือ กุหลาบ สายประดิษฐ์ เขียนชื่นชมถึงชื่อเสียงและวิถีชีวิตอันสมถะเรียบง่ายของ ก.สุรางนางค์ ไว้ว่า

    “…ไม่ว่าจะได้รับอิสริยาภรณ์ชั้นสูงเพียงใดจากประชาชน ก.สุรางคนางค์ ก็ยังคงทำงาน และดำเนินชีวิตอันสงบเสงี่ยมของเธอไปตามปกติ ในขณะที่ผู้อ่านกำลังจะออกจากบ้านไปทำงานประจำวันนั้น ก.สุรางคนางค์ อาจจะได้นั่งเขียนหนังสือมาแล้วสัก 2-3 ชั่วโมง และอาจเขียนบทใหม่ของ ‘พจมาน สว่างวงศ์’ จบไปครึ่งหนึ่งแล้ว ก่อนจะลงมือรับประทานอาหารเช้า ท่านย่อมจะไม่ได้พบ ก.สุรางคนางค์ ไปปรากฏตัวในงานราตรีสโมสรหรืองานรื่นเริงจับระบำรำเต้น ณ ที่ใด ๆ เลย เพราะว่ามีความสุขรื่นเริงอยู่พร้อมแล้วในบ้านน้อย ๆ ของเธอ เมื่อว่างจากเขียนหนังสือ เธอก็มี นุปกรณ์ กับ กิติปกรณ์ ที่เธอจะอบรมและเล่นหัวด้วย ที่เธอจะรักและรับรัก งานอดิเรกของเธอก็คืองานบ้านและงานของสำนักพิมพ์ ‘รสมาลิน’ ท่านอาจจะพบ ก.สุรางนางค์ ที่นอกบ้านในบางครั้งเมื่อเธอออกไปดูภาพยนตร์ หรือไปนั่งรถตากอากาศพักผ่อนสมองจากงานเขียน โดยมี ป.บูรณปกรณ์ เป็นคนขับรถและเป็นเพื่อนสนทนา

    นั่นแหละท่าน คือการครองชีวิตของนักประพันธ์คนหนึ่ง ผู้ได้รับความสำเร็จอันรุ่งโรจน์จากงานประพันธ์นวนิยายของเธอ จากความสำเร็จอันรุ่งโรจน์นั้น ไม่มีอะไรที่ดูใหญ่โตมโหฬารในการครองชีวิตของ ก.สุรางคนางค์ เลยมิใช่หรือ?

    ในความคิดของข้าพเจ้า ไม่มีอะไรน่าจับใจเท่ากับที่ได้เห็นคนคนหนึ่งใช้ชีวิตอย่างง่าย ๆ และอย่างสงบเสงี่ยม และในขณะเดียวกันได้ทำงานที่เป็นประโยชน์ เป็นความเบิกบาน เป็นความสุขแก่ผู้อื่น”


    กุหลาบแดง พ.ศ.2498 นิยายเชิงอัตชีวประวัติที่ ก.สุรางคนางค์ ชอบมากสุด


    “เมื่อถูกถามว่าในบรรดาเรื่องทั้งหมดที่เขียน เธอชอบเรื่องไหนมากที่สุด ก.สุรางคนางค์ ตอบทันทีโดยไม่ลังเลว่า ชอบเรื่อง ‘กุหลาบแดง’ มากที่สุด

    เพราะ ‘กุหลาบแดง’ คือเรื่องจริงในชีวิต ความรักและความทุกข์ของเธอเอง”[16]

    2 ปีหลัง ‘บ้านทรายทอง’ กำเนิดในบรรณพิภพ ชีวิตของ ก.สุรางคนางค์ จำต้องมาถึงจุดพลิกผันครั้งใหญ่เมื่อต้องสูญเสียสามีอันเป็นที่รักยิ่งในปลายปี 2495 ความสะเทือนใจของเธอสะท้อนผ่านคำไว้อาลัยที่เธอเขียนในอนุสรณ์งานศพ โดยยกย่อหน้าของเทยเลอร์ คาลด์เวล (Taylor Caldwell พ.ศ.2443-2528)[17] นักประพันธ์สตรีอเมริกันซึ่งกำลังมีชื่อเสียงในสมัยนั้นที่เขียนถึงสามีของเธอไว้ว่า

    “All I have and all I am

    I owe to my darling husband,

    Who has been, literally, my guide, philosopher and friend, the edits my works, argues over it and offers sensibles suggestions.”[18]


    ก.สุรางคนางค์ จัดพิมพ์หนังสืองานศพของสามี ป.บูรณปกรณ์


    ความรักของ ก.สุรางคนางค์ ที่มีต่อ ป.บูรณปกรณ์ ผู้ศึกษาชีวประวัติของทั้งสองท่านสามารถอ่านได้จากนวนิยายที่เธอรักที่สุด คือ ‘กุหลาบแดง’ ที่จัดพิมพ์ขึ้นหลังจากการสูญเสียครั้งนั้น 3 ปี คือเมื่อ พ.ศ.2498 หนังสือเล่มนี้คืออัตชีวประวัติของ ก.สุรางคนางค์ ในภาคของนวนิยายดำเนินเรื่องผ่านคู่พระนางนามว่า ‘นฤมิตร วาริชนันทน์’ กับ ‘สายวรุณ ราชบริรักษ์’


    ภาพปก ‘กุหลาบแดง’ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2498


    ดอกกุหลาบสีแดง คือสัญลักษณ์แห่งความรักที่ ป่วน บูรณศิลปิน ไหว้วานให้ สันต์ เทวรักษ์ (พ.ศ.2451-2521) นำไปเป็นของขวัญวันเกิดแด่ ก.สุรางคนางค์ ในวันเกิด 18 ปีของเธอ เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2472[19] (ปฏิทินเก่า) เพื่อบอกผ่านความรู้สึกที่ฝ่ายชายแสดงให้รับรู้เป็นครั้งแรกสุดแห่งสายสัมพันธ์อันลึกซึ้งของคู่นักประพันธ์ยอดนิยมนี้

    ก.สุรางนางค์เมื่อได้รับกุหลาบในแจกันแก้วเจียระไน เธอหยุดยืนอยู่ที่โต๊ะเล็ก พลางก้มลงสูดกลิ่นหอมจากกุหลาบแดง พร้อมกันนั้นก็ระลึกถึงคำฉันท์ใน ‘มัทนะพาธา’ ความว่า

    “หนึ่งอวยพรให้กุพชะกะสุรผกา

    คงดิลกหล้าบสูญพันธุ์

    เป็นสิ่งชวนยวนจิตตะนระสุวคันธ์

    ช่วยระงับสรรพะทุกข์หนัก

    หญิงชายยามเริ่มรู้ระสะในฤดิรัก

    ใช้กุหลาบจักระเริงใจ

    อันดวงมาลีกุพชะกะสิผิวะให้

    พึงจะรู้ได้ว่ารักแท้”[20]

    ในปี 2498 ก.สุรางคนางค์ ยังครองตนเป็นโสดและดูมีความหวังกับชีวิต เธอเริ่มและจบเรื่อง ‘กุหลาบแดง’ ด้วยฉากวันครบรอบวันเกิด 48 ปีของนางเอก สายวรุณ วาริชนันทน์ เมื่อลูกทั้งสองนำกุหลาบแดงมาให้เป็นของขวัญ และเป็นการบังเอิญว่าลูกสาวได้ไปค้นแจกันเจียระไนใบที่พระเอกเคยนำมามอบให้ในคราวแรก ก.สุรางคนางค์ ประพันธ์ไว้ว่า

    “แจกันแก้วเจียรนัยที่ใส่กุหลาบแดงยังอยู่

    สันต์ พิษณุรักษ์ (ชื่อสมมุติของ สันต์ เทวรักษ์-ผู้เขียน) ผู้เสมือนทูตแห่งกุหลาบแดงก็ยังมีชีวิตอยู่

    แต่ทว่า บุคคลซึ่งเป็นผู้ให้…ผู้เป็นต้นคิดของกุหลาบแดงในแจกันแก้วเจียรนัยนั้น ไม่มีเสียแล้ว”

    ผู้ประพันธ์ปิดฉากนวนิยายเล่มนี้อย่างดูมีความหวังจะเดินไปข้างหน้าอีกครั้ง ด้วยประโยคว่า

    “…แต่ดนตรีของชีวิตซึ่งได้บรรเลงเพลงโศกมาตลอดกำลังจะจบลง มีเสียงหัวเราะของลูกอยู่ข้างนอก สายวรุณเดินตัวตรงออกไปข้างนอก เหลือแต่สิ่งที่เธอยกไปวางไว้หน้ารูปถ่ายของนฤมิต วาริชนันทน์ สิ่งนั้นคือ…กุหลาบแดง อันเป็นอนุสสรณ์ของทุกข์และความรัก.”


     ภาพปก ‘กุหลาบแดง’ พิมพ์ พ.ศ.2512


    ป.บูรณปกรณ์  รับรู้ถึงเกียรติยศที่ภริยาของเขาได้รับ นั่นคือก่อนการเสียชีวิตเพียงไม่กี่วัน ซึ่งยังอยู่ในกลางสมัยรัฐบาลของ ฯพณฯ ท่านจอมพล ป.พิบูลสงคราม ผู้ได้สถาปนาสภาวัฒนธรรมแห่งชาติขึ้น ก.สุรางคนางค์ได้รับเชิญ และได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการของสำนักวัฒนธรรมทางระเบียบประเพณีถึงสองสาขา คือสาขาทางความประพฤติและจรรยามารยาท กับสาขาเนติธรรม และเพื่อเป็นบำเหน็จความชอบที่ได้ปฏิบัติหน้าที่เป็นคุณประโยชน์แก่ราชการ สภาวัฒนธรรมแห่งชาติ ฯพณฯ ท่านนายกรัฐมนตรี ในตำแหน่งประธานได้ขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์เบญจมาภรณ์มงกุฎให้แก่ ก.สุรางคนางค์ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีเฉลิมพระชนม์พรรษา พ.ศ.2495 ต่อมาหลังจากนั้น ก.สุรางคนางค์ ยังได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์เบญจมาภรณ์มงกุฎไทยใน พ.ศ.2497 และเบญจมาภรณ์มงกุฎไทยชั้น 4 จัตุรถาภรณ์ใน พ.ศ.2535


    ส่งท้าย


    นอกเหนือจากหนังสือ 3 เล่มดังกล่าว ยังมีหนังสืออีก 2 เล่มสำคัญที่ผู้เขียนนำไปวางประกอบเพื่อจัดวางนิทรรศการในส่วนของกรุ ก.สุรางคนางค์ ครั้งนี้

    หนึ่งคืออนุสรณ์งานศพของ ก.สุรางคนางค์ ภาพปกเป็นรูปดอกกุหลาบสีแดงบนพื้นขาว จารึกข้อความของ ป.บูรณปกรณ์ ไว้ ว่า “กุหลาบแดงของผมโรยแล้วหรือยัง ถ้ามันจะโรย ก็ขอให้โรยแต่กลีบเถิด ความหมายของกุหลาบแดงและความหวังของผมที่สอดแทรกมาในเกสรของกุหลาบนั้น ขอให้อย่ารู้จักโรยรา”  

    หนังสือความหนาขนาด 350 หน้านี้ คือหนึ่งในตัวอย่างอนุสรณ์งานศพที่ดีมากที่สุดเล่มหนึ่ง นอกเหนือจากคำไว้อาลัยจากมิตรสหายผู้มีชื่อเสียงในวงวรรณกรรมจำนวนมาก เจ้าภาพยังจัดพิมพ์นวนิยาย ‘หญิงคนชั่ว’ พร้อมต้นฉบับลายมือ Manuscript ของ ‘พระองค์ชายจุล’ ไว้ครบบริบูรณ์ ที่ล้ำค่ามากที่สุดในความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน คือบทไว้อาลัยขนาดยาวของบุตรชาย กิติปกรณ์ บูรณปกรณ์ ที่ชื่อว่า ‘ความรักของแม่…หัวเราะเยาะช่างทำกุญแจอยู่นานแล้ว’


    ภาพปกอนุสรณ์งานศพ ‘ชั่วชีวิตหนึ่ง ก.สุรางคนางค์’


    สองคือหนังสือชื่อว่า ‘รักระทมของ ก.สุรางคนางค์’ โดย วิลาศ มณีวัต (พ.ศ.2467-2549) จัดพิมพ์ขึ้นไม่นานภายหลังงานพระราชทานเพลิงศพ หนังสือเล่มนี้คือการนำเสนอชีวประวัติของ ก.สุรางคนางค์ ได้ลึกซึ้งหลากแง่มุม ประกอบด้วยเกร็ดเรื่องราวจำนวนมากที่ทำให้ผู้อ่านรู้สึกประหนึ่งดุจดั่งกำลังเสพนวนิยายชิ้นเอก แต่นี่คือเรื่องจริงของยอดประพันธกรสตรีเอกอุตม์แห่งประเทศไทยเท่าที่เคยมีมา


    ภาพปก ‘รักระทม ของ ก.สุรางคนางค์’ โดย วิลาศ มณีวัต
    สุรางคนางค์ ในอิริยาบถเขียนหนังสือ




    [1] ห้ามพลาด!! Knowledge Book Fair 2024 เทศกาลอ่านเต็มอิ่ม ที่มิวเซียมสยาม 16-18 ก.พ.นี้ https://www.matichon.co.th/book/news_4418014

    [2] นริศ จรัสจรรยาวงศ์, ร.จันทพิมพะ ยอดประพันธกรสตรีสมัยปฏิวัติ 2475 จุดเชื่อมต่อ https://www.the101.world/ruangthong-chantapimpa/

    [3] ชั่วชีวิตหนึ่ง ก.สุรางคนางค์, สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์ ครอบครัว ก.สุรางคนางค์ จัดพิมพ์เผยแพร่ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายกัณหา (บูรณปกรณ์) เคียงศิริ วันพุธที่ 13 ตุลาคม พ.ศ.2542 ณ ฌาปนสถานวัดธาตุทอง กรุงเทพ, น.10.

    [4] ขณะนั้นประเทศสยามยังนับเดือนเมษายนเป็นเดือนแรกของปี ด.ญ.ชื้น ชาตะตามปฏิทินจันทรคติเมื่อวันจันทร์ ขึ้น 10 ค่ำ เดือน 4 ปีกุน เวลาเช้า 4 โมง 30 นาที หากนับตามปฏิทินปัจจุบัน คือวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2455 เทียบปฏิทิน ดู https://www.myhora.com/ปฏิทิน/ปฏิทิน-พ.ศ.2455.aspx

    [5] ในแง่บริบทการเมืองการปกครอง เป็นช่วงที่เกิดกบฏ ร.ศ.130 ดู นริศ จรัสจรรยาวงศ์, 110 ปี ปฏิวัติครั้งแรกของประเทศไทย จุดเชื่อมต่อ https://www.the101.world/110-year-the-first-revolution/

    [6] ประกาศ วัชราพรณ์, “ก.สุรางคนางค์” หญิงคนแรก…นักเขียนมืออาชีพ “พ่อ” จุดไฟให้ริริ่มการประพันธ์ ศิลปินแห่งชาติ (วรรณศิลป์) ใน ชั่วชีวิตหนึ่ง ก.สุรางคนางค์, สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์ ครอบครัว ก.สุรางคนางค์ จัดพิมพ์เผยแพร่ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายกัณหา (บูรณปกรณ์) เคียงศิริ วันพุธที่ 13 ตุลาคม พ.ศ.2542 ณ ฌาปนสถานวัดธาตุทอง กรุงเทพ, น.116.

    [7] กษิดิศ อนันทนาธร, 100 ปีแห่งชีวิต ฉลบชลัยย์ พลางกูร : ครูผู้มีชีวิตเพื่อผู้อื่น จุดเชื่อมต่อ https://www.the101.world/100-years-of-chalobchlaya/

    [8] กัณหา บูรณปกรณ์ พิมพ์แจกในงานฌาปนกิจ ปกรณ์ บูรณปกรณ์ ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม พระนคร 19 ธันวาคม 96, (โรงพิมพ์เจริญธรรม), น.4.

    [9] กัณหา บูรณปกรณ์ พิมพ์แจกในงานฌาปนกิจ ปกรณ์ บูรณปกรณ์ ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม พระนคร 19 ธันวาคม 96, (โรงพิมพ์เจริญธรรม), น.383.

    [10] อนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพ นายเล็ก เคียงศิริ ณ เมรุวัดธาตุทอง วันจันทร์ที่ 25 มกราคม พ.ศ.2531,

    [11] ก.สุรางคนางค์, ชีวิตของผู้แต่ง ใน บ้านทรายทอง, พิมพ์ครั้งที่ 8 พ.ศ.2513, (สำนักพิมพ์คลังวิทยา), น.[11].

    [12] ก.สุรางคนางค์, กุหลาบแดง, พ.ศ.2512, (สำนักพิมพ์คลังวิทยา), น.51.

    [13] รับฟังเสียงเพลงนี้ได้ใน บ้านทรายทอง : สวลี ผกาพันธุ์ (พ.ศ. 2494) จุดเชื่อมต่อ https://www.youtube.com/watch?v=M_9bCfxYqxA

    [14] “สวลี ผกาพันธุ์ ” กับบทบาท “พจมาน” คนแรกของเมืองไทย l ตีสิบเดย์ จุดเชื่อมต่อ https://www.facebook.com/watch/?v=1166479693884428

    [15] วิลาศ มณีวัต, รักระทมของ ก.สุรางคนางค์, พ.ศ.2543, (พี.วาทิน พับลิเคชั่น), น.51-52.

    [16] วิลาศ มณีวัต, รักระทมของ ก.สุรางคนางค์, พ.ศ.2543, (พี.วาทิน พับลิเคชั่น), น.80.

    [17] Taylor Caldwell https://en.wikipedia.org/wiki/Taylor_Caldwell

    [18] กัณหา บูรณปกรณ์ พิมพ์แจกในงานฌาปนกิจ ปกรณ์ บูรณปกรณ์ ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม พระนคร 19 ธันวาคม 96, (โรงพิมพ์เจริญธรรม), น.399.

    [19] วิลาศ มณีวัต, รักระทมของ ก.สุรางคนางค์, พ.ศ.2543, (พี.วาทิน พับลิเคชั่น), น.25-27.

    [20] วิลาศ มณีวัต, รักระทมของ ก.สุรางคนางค์, พ.ศ.2543, (พี.วาทิน พับลิเคชั่น), น.27.

    บทความนี้พิสูจน์อักษรโดย ดร.สุกัญญา เจริญวีรกุล (บาลีศึกษา 9 ประโยค)

    MOST READ

    Life & Culture

    14 Jul 2022

    “ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

    คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

    ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

    14 Jul 2022

    Life & Culture

    27 Jul 2023

    วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

    เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

    เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

    พิมพ์ชนก พุกสุข

    27 Jul 2023

    Life & Culture

    4 Aug 2020

    การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

    กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

    กษิดิศ อนันทนาธร

    4 Aug 2020

    เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

    Privacy Preferences

    คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

    Allow All
    Manage Consent Preferences
    • Always Active

    Save