fbpx

ร.จันทพิมพะ ยอดประพันธกรสตรีสมัยปฏิวัติ 2475

ร.จันทพิมพะ

รำลึกรัฐธรรมนูญ


อินทรวิเชียร ๑๑

ศรีศรีสยามรัฎ- ฐพิพัฒนาปาน

เปลื้องปลิดวิกฤตกาล กลิร้ายมลายเข็ญ

คืนสู่สภาพนา- ครน่านิยมเย็น

ยามสันติภาพเพ็ญ ผลพร้อมถนอมนาม

ไทยนี้พลีชีพ สละรีบสฤษดิ์ความ-

เป็นเอกราชตาม มติราษฎร์มิขาดศูนย์

สมราชประสาทสัตย์ ผลิ ‘รัฐธรรมนูญ’

สมซึ่งนิกรปูน ปฏิวัติจรัสผล

เพื่อ “หลัก” พิทักษ์ชาติ ประลุปรารถนาดล

สุขด้วยประชาชน วุฒิชอบประกอบกัน

เกื้อ ‘รัฐธรรมนูญ’ และประมูลประมวลขวัญ

ครบขวบประจวบวัน วรชาติชะโยเทอญ[1]


ร้อยกรองรำลึกรัฐธรรมนูญ


ร้อยกรองรำลึกรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2475 ในรูปแบบอินทรวิเชียรฉันท์ข้างต้นประพันธ์ขึ้นโดยสุภาพสตรีนามว่า ‘เริ่ม จันทพิมพะ’ (พ.ศ. 2452-2497) ขณะยังทำงานเป็นครูโรงเรียนสตรี ก่อนผันตัวเองมาเป็นนักหนังสือพิมพ์และนักประพันธ์ชื่อก้องในเวลาต่อมา น้องสาวของเธอ พิมพา ย้อนรำลึกไว้หลังพี่สาวจากโลกไปแล้ว 33 ปีเมื่อปี พ.ศ. 2530 ไว้ว่า “…เป็นฉันท์ที่ได้รับรางวัลจากการประกวดงานรัฐธรรมนูญ สมัยก่อนถือว่าวันที่ 24 มิถุนา อะไรนี่เป็นวันชาติ ตอนนั้นเธอเป็นครูอยู่ที่นครราชสีมา… ได้รับรางวัล ถ้วยรางวัลที่ 1 อิฉันยังเก็บไว้เลย เป็นถ้วยเงินมีสลักไว้นะฮะว่ารางวัลที่ 1” [2] ผลงานชิ้นนี้ได้รับการจัดพิมพ์ในอนุสรณ์งานศพของ ร.จันทพิมพะ เมื่อ พ.ศ. 2498 และในหนังสือเล่มนี้ยังพบร้อยกรองอีกหนึ่งชิ้น รูปแบบโคลงสี่สุภาพชื่อว่า ’24 มิถุนายน’ จัดพิมพ์ ดังมีใจความว่า


น.ส.รวงทอง จันทพิมพะ ภาพจากอนุสรณ์งานศพ

๒๔ มิถุนายน

โคลงสี่สุภาพ

ศรี ศรีศุภมาศเมื้อ  มาดล

ยี่สิบสี่มิถุนายน เยี่ยงนี้

รัฐบุรุษเบิกระบอบวิมล ไทยใหม่

มีรัฐธรรมนูญชี้ ช่องสร้างสมัยอารย์

ไทยมานมานะพร้อม เพรียงกัน

ก่อประชาธิปไตยอัน โอ่แล้ว

บำรุงมุ่งเสกสรรค์ ไทยสุข

สืบชาติ, ศาสน์, กษัตริย์แผ้ว ผ่านพ้นภยันตราย

ไทยหมายให้ชาติยั้ง ยืนยง ยิ่งแล

อิสสระเสรีคง คู่ฟ้า

เป็นไทยไป่ยอมปลง ปลิดชาติ

ชอบที่ไทยทั่วหน้า ทะนุเชื้อชาติไทย

โดยนัยมานะเกื้อ แก่ตน

ตามคติศีลธรรมกล แว่นแก้ว

ตามหลักศึกษาฝน ฝึกสั่ง สอนแฮ

จึงจักนำชาติแพร้ว เพริดพร้อมพัฒนา[3]

หลุมศพวาสิฏฐี  เรื่องคนธรรมดา เขียนด้วยคนธรรมดา เพื่อคนธรรมดา[4]


เราลิขิต พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2494
บนหลุมศพวาสิฏฐี (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2496 ) รวมภาคแรกเราลิขิต 10 บทแรก


วงวรรณกรรมสตรีสยามภายใต้ระบอบใหม่ ชื่อของ รวงทอง จันทพิมพะ (เดิมชื่อ ‘เริ่ม’ แต่เปลี่ยนเป็น ‘รวงทอง’ ในสมัยรัฐนิยม) ย่อมต้องถูกประดับในหอเกียรติยศร่วมสมัยกับดอกไม้สด (ม.ล.บุปผา นิมมานเหมินท์ พ.ศ. 2448-2506) และ ก.สุรางคนางค์ (กัณหา เคียงศิริ พ.ศ. 2454-2542) เธอเริ่มเข้าสู่วงการนักเขียนในทศวรรษ 2480 และมีชีวิตดูโลกแสนสั้นเพียง 45 ปี ถึงจะทิ้งผลงานในวงการไม่มากมายเท่าสองศรีสตรีข้างต้น แต่มิติงานเขียนของเธอยังคงได้รับการชื่นชมอย่างสูง

หากนิยายเรื่อง ‘นี่แหละโลก’ (พ.ศ. 2484) ของ ดอกไม้สด บรรยายฉากสังคมไทยระหว่างเข้าสู่สงครามอินโดจีนและก่อนร่วมสงครามมหาเอเชียบูรพาได้ดีที่สุดเล่มหนึ่ง (ดร.ขวัญดี รักพงษ์ ผู้แต่งวิทยานิพนธ์ฉบับภาษาอังกฤษ[5]ถึงกับเคยยกให้เป็นเรื่องที่ดีที่สุดของดอกไม้สด[6])  ก็พึงพูดได้ว่านิยายเรื่อง ‘บนหลุมศพวาสิฏฐี’ (พ.ศ. 2496)[7] ของ ร.จันทพิมพะ สะท้อนภาพชีวิตผู้คนหลังสงครามมหาเอเชียบูรพาได้ยอดเยี่ยมเล่มหนึ่งเช่นกัน

ตัวเรื่องเปิดฉากตัวละครเอกจำต้องลี้ภัยสงครามขึ้นเหนือไปยังกว๊านพะเยา[8] และทั้งหมดกลับมาใช้ชีวิตในพระนครภายหลังสงครามสิ้นสุดลง ดำเนินเรื่องต่อเนื่องจนจบภาคแรกในชื่อหนังสือว่า ‘เราลิขิต’ (พ.ศ. 2494)[9] เมื่อเกิดกรณีสวรรคตวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489  จนเมื่อขึ้นภาคต่อได้เล่าถึงสภาพแวดล้อมสังคมไทยหลังเริ่มแผ่นดินใหม่ (สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ถึงกับอ้างถึงบทสนทนาของตัวละครเรื่องการแต่งชุดไว้อาลัยในหลวงองค์ก่อน[10]) มีการบรรยายฉากยุวกษัตริย์องค์ใหม่เสด็จฯ กลับสวิสเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2489[11] อย่างละเอียดที่สุดเท่านิยายเรื่องหนึ่งเคยร้อยเรียงขึ้นมา กระทั่งย้อนกลับมาขมวดบทอวสานด้วยเหตุการณ์ตัวละครสำคัญยืนรอรับเสด็จฯ กลับเพื่อประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสและบรมราชาภิเษกเมื่อต้นปี 2493

ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2541 นวนิยายเรื่องยาวที่สุดของเธอเท่าที่พบฉบับนี้ได้รับคัดเลือกจากสำนักกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) บรรจุเป็นหนึ่งใน ‘100 เล่มหนังสือดีที่คนไทยควรอ่าน’ [12] นอกเหนือจากการเขียนนวนิยายเรื่องยาว ร.จันทพิมพะ ยังผลิตเรื่องสั้นจำนวนมากตลอดเวลากว่า 15 ปีที่เธอโลดแล่นอยู่ในวงการนักเขียน เท่าที่รวบรวมได้จนปัจจุบันหลงเหลืออยู่ราว 120 ชิ้น และความยอดเยี่ยมของเรื่อง ‘ทางสุดท้าย’ ส่งผลให้ได้รับคัดเลือกเป็นหนึ่งในนักเขียนเรื่องสั้นยอดเยี่ยมของไทย 15 ท่าน จากคณะกรรมการสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ในวาระครบรอบ 100 ปี เรื่องสั้นไทย เมื่อ พ.ศ. 2528[13]


บนหลุมศพวาสิฏฐี พ.ศ. 2514
1 ใน 100 หนังสือที่คนไทยควรอ่าน ฉบับพิมพ์ครั้งล่าสุด พ.ศ. 2547


‘บนหลุมศพวาสิฏฐี’ นับเป็นผลงานที่ถูกผลิตซ้ำและมีชื่อเสียงเคียงข้างกับชื่อของ ร. จันทพิมพะ ตลอดมา กล่าวคือ พิมพ์ภาคแรก ‘เราลิขิต’ พ.ศ. 2494 (สำนักพิมพ์อุดม) และพิมพ์รวมสองภาค ‘บนหลุมศพวาสิฏฐี’ พ.ศ. 2496 (สำนักพิมพ์ผดุงศึกษา) ทั้งสองเล่มนี้พิมพ์ขณะผู้ประพันธ์ยังมีชีวิตอยู่ และต่อมาอีก 3 ครั้ง คือ พ.ศ. 2514 สำนักพิมพ์แพร่พิทยา และสำนักพิมพ์ดอกหญ้าอีกสองครั้ง พ.ศ. 2545 และ 2547 ไอดา อรุณวงศ์ เคยหยิบผลงานชิ้นนี้ขึ้นมาวิเคราะห์เป็นบทความขนาดยาวตีพิมพ์ในนิตยสารอ่าน เมื่อ พ.ศ. 2558 ในงานครบรอบ 70 ปี สุชาติ สวัสดิ์ศรี   

นอกเหนือจากนี้ยังมีการรวบรวมเรื่องสั้นของเธอจัดพิมพ์เป็นรูปเล่ม เช่น ‘ร้อยชีวิต’ พ.ศ. 2493 สำนักพิมพ์เริงรมย์ ขณะผู้เขียนยังมีชีวิต และหลังจากเธอเสียชีวิตไปแล้ว เช่น ‘รวมเรื่องสั้นเกียรติยศ ร.จันทพิมพะ’ พ.ศ. 2513 (สำนักพิมพ์สยาม) ‘จำเลยลับ’ พ.ศ. 2514 (แพร่พิทยา) และ ‘ม่านดอกไม้’ พ.ศ. 2541 (สำนักพิมพ์ดอกหญ้า) รวมถึงวิทยานิพนธ์จำนวนหนึ่งที่เขียนถึงเธอทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่นเมื่อปี พ.ศ. 2531 ปรากฏผู้ทำวิจัยเรื่องสั้นของเธอถึง 2 เล่ม คือ ปราณี พรหมจรรย์ [14] และ พรธาดา ณ ลำพูน[15] เป็นต้น


ร้อยชีวิต (รวมเรื่องสั้น) พ.ศ. 2493
รวมเรื่องสั้นเกียรติยศ ร.จันพิมพะ พ.ศ. 2513


บทความนี้จะนำเสนอเพียงข้อมูลดิบระดับชั้นต้น คือเนื้อหาบางส่วนจากอนุสรณ์งานศพที่หาอ่านได้ยากยิ่งของ ร.จันทพิมพะ จำนวน 2 เล่มชุด ณ ฌาปนสถานวัดมกุฏกษัตริยาราม เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2498

เล่มแรก ‘รวงทองรำลึก’ ประกอบด้วยภาคชีวประวัติโดย เติม รมิตานนท์ พี่สาว และคำไว้อาลัยจากสุดยอดนักเขียนร่วมสมัย คือ กุหลาบ สายประดิษฐ์ (ศรีบูรพา) และภริยา ‘จูเลียต’, มาลัย ชูพินิจ (แม่อนงค์), สันต์ เทวรักษ์, สด กูรมะโรหิต และ ภริยา ‘เนียน’, โชติ แพร่พันธุ์ (ยาขอบ)

เล่มสอง ‘ด้วยความรัก แด่ ร.จันทพิมพะ’ ประกอบแผนภูมิสาแหรกตระกูล บทไว้อาลัย จากครู คือ หลวงสำเร็จวรรณกิจ (บุญ เสขะนันทน์), จากมิตร และจากศิษย์ เนื้อหาในเล่มนี้บรรจุบทประพันธ์ร้อยกรองรวบรวมโดย พิมพา ปิณฑะสุต น้องสาวผู้วายชนม์ที่แทนตัวเองว่าในเล่มว่า ‘ศิษย์คนแรกและคนสุดท้ายของ ร.จันทพิมพะ’  ดังปรากฏรายชื่อเรื่องดังต่อไปนี้ — 24 มิถุนายน, ลานกุหลาบ, ความฝัน, วัฒนาคำนึง, เสียงไผ่แผ่วกระซิบ, สวนสวรรค์, ธุลีบาท, ประแจมือ, เดือนดวงใหม่มีอีก!, แลดูภูผาหน้าร้อน, นิรันดร, คนคืออะไร?, เวลา, รำลึกรัฐธรรมนูญ, ตำนานรัก-ลำอิง


สาระในชุดหนังสืองานศพ 2 เล่มของ ร.จันทพิมพะ


อนุสรณ์งานศพ ร.จันทพิมพะ ฉบับพิมพ์โดยเจ้าภาพ


ประวัติย่อ นางสาว รวงทอง จันทพิมพะ (ร.จันทพิมพะ)
โดย พี่สาว เติมสุข รมิตานนท์[16]


นางสาว รวงทอง จันทพิมพะ (นามเดิม ‘เริ่ม’) เป็นบุตรีคนที่สองของอำมาตย์โท พระประจำคดี (บัวรส จันทพิมพะ) กับนางประจำคดี (ตุ้ม จันทพิมพะ) เกิดเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2452 ปีระกา ณ บ้านพักอัยการจังหวัดขอนแก่น ซึ่งขณะนั้น ท่านผู้เป็นบิดารับราชการเป็นอัยการอยู่ที่จังหวัดนั้น น.ส.รวงทอง อยู่กับบิดาที่จังหวัดขอนแก่นหลายปี จนอายุสมควรที่จะเข้าโรงเรียน บิดาก็นำมาฝากให้เป็นนักเรียนอยู่โรงเรียนราชินี (ปากคลองตลาด) ได้เริ่มการศึกษาเบื้องต้นที่โรงเรียนราชินีถึงชั้นประถม 3 ต่อมาจึงได้ย้ายมาศึกษาต่อที่โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย (บางกะปิ) เรียนจบชั้น ม.8 ที่โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัยและได้เข้าทำงานเป็นครูที่โรงเรียนนั้นเป็นเวลา 1 ปีเศษ ก็ลาออกติดตามไปอยู่กับบิดา ซึ่งรับราชการเป็นอัยการมณฑลอยู่ที่จังหวัดนครราชสีมา ในระหว่างที่อยู่จังหวัดนครราชสีมานี้ ได้สมัครเข้ารับราชการเป็นครูสอนที่โรงเรียนสตรีประจำจังหวัด โดยเป็นครูพิเศษสอนวิชาภาษาอังกฤษประมาณ 6 ปี จึงได้ลาออกจากตำแหน่งครูเพราะสุขภาพเริ่มจะไม่สมบูรณ์ น.ส.รวงทอง เป็นผู้มีปฏิภาณเฉลียวฉลาด มีวาจาอ่อนหวานละมุนละไม โอบอ้อมอารี ชอบช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนอยู่เสมอ มีชีวิตเพื่อทำประโยชน์ให้แก่บิดามารดา ญาติพี่น้อง หลานและผู้อื่น ตลอดเวลาแห่งชีวิตอันสั้นของเธอ โดยเฉพาะข้าพเจ้าแล้ว น.ส.รวงทอง มีคุณแก่ข้าพเจ้าเป็นพิเศษ กล่าวคือ เมื่อข้าพเจ้ามีบุตรคนแรกคือ น.ส.สดใส รมิตานนท์ ซึ่งเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ขณะนี้ โดยเหตุที่ข้าพเจ้าต้องติดตามสามีซึ่งรับราชการอยู่ต่างจังหวัด ข้าพเจ้าได้มอบให้ น.ส.รวงทอง ปกครองดูแลตลอดมาตั้งแต่อายุ 5 ขวบ และ น.ส.รวงทอง ก็รักเด็กผู้นี้ ให้การอบรมสั่งสอนเหมือนลูกของตนเอง และเป็นที่น่าประหลาดว่า รูปร่างลักษณะท่าทางอุปนิสัยใจคอของลูกข้าพเจ้าคนนี้ก็ดูถอดแบบจากน้าของเธอทั้งสิ้น.

ในทางการประพันธ์ น.ส.รวงทอง มีนิสัยชอบการร้อยแก้วและร้อยกรองมาตั้งแต่เป็นนักเรียน ได้เขียนเรื่องสั้นและเรื่องแปลจากภาษาอังกฤษลงในจดหมายเหตุแสงอรุณ ของโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัยอยู่เสมอ จนอาจารย์เชื่อในความสามารถ ได้มอบให้เป็นผู้จัดทำหนังสือฉบับนั้นตลอดเวลาที่อยู่ในโรงเรียน นิสัยอันนี้ก็ได้ช่วยให้ตัวของเธอก้าวขึ้นสู่การเป็นประพันธกรสตรีขึ้นอีกผู้หนึ่ง ในวงการประพันธ์ของประเทศไทย โดยใช้นามปากกาว่า “ร.จันทพิมพะ” แต่ด้วยเหตุที่สุขภาพของเธอประกอบทั้งร่างกายก็บอบบางมาแต่เยาว์วัย ไม่สมบูรณ์เหมือนพี่และน้องคนอื่นๆ ทำให้เธอทวีความทรุดโทรมยิ่งขึ้น ในตอนหลังได้ตรวจพบว่าเป็นโรคหัวใจพิการเนื่องด้วยหลอดโลหิตในหัวใจตีบ ได้รับคำแนะนำจากนายแพทย์และมิตรสหายที่รักใคร่ขอให้พักผ่อน และระงับการเขียนหนังสือชั่วคราว แต่เธอก็ดูเหมือนว่าไม่มีความหวาดกลัวต่อโรคร้ายอันไม่มีหวังหายนี้เลย กลับยิ่งทุ่มเทกำลังกายกำลังใจลงในการประพันธ์นี้ยิ่งขึ้นจนถึงนาทีสุดท้าย คือไม่สามารถจะจับปากกาได้อีกแล้ว โรคนี้ทรมานเธอมาก แต่ด้วยความรักในการเขียน บางครั้งก็แอบเขียนไม่ให้เราพี่น้องแลเห็น ลายมือครั้งสุดท้ายของเธอก็คือเขียนรายงานการป่วยให้พี่ทราบ ในเส้นลายมือนั้นบอกชัดว่าเธอนั้นใกล้จะจากพี่ น้อง และหลานๆ แล้ว ทุกๆ ครั้งที่ข้าพเจ้าได้เห็นลายมือนี้ ก็อดที่จะเศร้าใจในชีวิตของผู้ที่เป็นนักประพันธ์เช่นน้องไม่ได้ เพราะวาระสุดท้ายแห่งชีวิตนั้น น้องก็ต้องถือปากกาจนสิ้นลมหายใจอยู่ในมือ

ในปลายเดือนธันวาคม 2496 น.ส.รวงทอง ก็ได้ล้มเจ็บลงอย่างชนิดที่ลุกไม่ขึ้น จึงได้ไปรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลมงกุฎเกล้าฯ (เสนารักษ์ พญาไท) พออาการทุเลาขึ้นบ้างก็กลับมาพักผ่อนที่บ้าน ตลอดระยะเวลานี้ อาการมีแต่ทรงกับทรุดลงทุกขณะ พอถึงปลายเดือนมีนาคม 2497 โรคกำเริบขึ้นอีก จึงได้กลับไปรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าฯ อีกวาระหนึ่ง คราวนี้เป็นครั้งสุดท้ายของน้อง อาการมีแต่ทรุดลงเป็นลำดับ ไม่ทุเลาขึ้นเลย จนถึงวันที่ 6 เมษายนปีเดียวกันเวลาประมาณ 06.00 น. ก็ถึงแก่กรรมด้วยอาการสงบที่โรงพยาบาล รวมอายุได้ 45 ปี ยังความเศร้าและอาลัยอย่างสุดแสนให้แก่บรรดาพี่น้อง หลาน ญาติ มิตร ตลอดจนบรรดาศิษย์ จึงได้พร้อมใจกันบำเพ็ญกุศลอุทิศส่งให้ตามประเพณีนิยมทั้งทางโลกและทางธรรม ขออุทิศส่วนกุศลต่างๆ ที่ได้ทำไปแล้วรวมทั้งผลสำเร็จในการพิมพ์หนังสือนี้ให้กับน้องรวงทองผู้ล่วงลับไปแล้ว ขอดวงวิญญาณอันบริสุทธิ์ของน้องรวงทอง แม้จะสถิตอยู่ในภพใด ก็ขอกุศลผลบุญได้ดลบันดาลความสุขความสำราญในสิ่งที่เธอประสงค์ทุกประการเทอญ.


ร.จันทพิมพะ ( ภาพจาก อาจิณ จันทรัมพร ฉบับพิมพ์ พ.ศ. 2547)


“ร.จันทพิมพะ ถูกค้นพบ” โดย ศรีบูรพา[17]


กุหลาบ สายประดิษฐ์ ใช้นามปากกา ‘ศรีบูรพา’ เขียนคำไว้อาลัยจากสถานคุมขัง (กุหลาบติดคุกกรณีกบฏสันติภาพระหว่าง พ.ศ. 2495-2500) ขนาดยาว 22 หน้ากระดาษให้เจ้าภาพงานศพ ร.จันทพิมพะ จัดพิมพ์เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2498 เนื้อหาเพียบพร้อมไปด้วยเกร็ดประวัติชีวิตช่วงต้นของการเป็นนักประพันธ์ของยอดประพันธกรสตรีท่านนี้ ดังมีใจความบางย่อหน้าดังต่อไปนี้

“ในวันหนึ่งเมื่อราว 15 ปีมาแล้ว ดูเหมือนจะเป็นต้นของสงครามยุโรป และก่อนสงครามทางด้านเอเชียบูรพาจะระเบิดขึ้น วันนั้นเป็นวันอาทิตย์ ข้าพเจ้าพักผ่อนอยู่กับบ้าน “จูเลียต” ได้นำสุภาพสตรีแน่งน้อย…มาแนะนำให้รู้จักกับข้าพเจ้า…” เป็นนักเรียนวัฒนารุ่นพี่ และเคยเป็นครูของโรงเรียนนั้น เป็นคนรักการเขียนหนังสือ เป็นศิษย์ภาษาไทยของคุณหลวงสำเร็จวรรณกิจ (ซึ่งเป็นครูของ “จูเลียต” และเป็นครูที่รักของข้าพเจ้าด้วย)…

เวลานั้นข้าพเจ้าประจำอยู่ที่สำนักพิมพ์ “ประชามิตร” และ “สุภาพบุรุษ” สหายชาวหนังสือพิมพ์เรียกสำนักของเราว่า “สำนักบางขุนพรหม” ข้าพเจ้าพอจะจัดการให้สุภาพสตรีนักเขียนจากโรงเรียนวัฒนาเข้าทำงานในสำนักหนังสือพิมพ์ของเราได้…ความบอบบางอ่อนช้อยของ “ร.จันทพิมพะ” ที่ปรากฏแก่สายตาของข้าพเจ้าในวันแรกพบนั้น ชวนให้คิดว่า เธอจะร่วมทำงานกับเราไปได้นานสักเท่าใดหนอ…นักหนังสือพิมพ์ของเรา จึงต้องอยู่ทำงานกันเย็นมาก หรือจนถึงเวลาโพล้เพล้เป็นประจำ อันเป็นงานที่ออกจะหนักตรากตรำอยู่สักหน่อย จึงสงสัยว่าสุภาพสตรีร่างเล็กบอบบาง จะทำงานในสำนักของเราไปได้นานสักเท่าใด

อีกประการหนึ่ง พวกที่ทำงานในกองบรรณาธิการก็มีแต่ผู้ชายทั้งนั้น ในขณะที่ “ร.จันทพิมพะ” เข้าไปทำงานกับเรา อาจจะมี “น.ประภาสถิต” นักประพันธ์สตรีผู้มีชื่อเสียงร่วมอยู่ด้วยในระยะหนึ่ง…และดูเหมือน “จูเลียต” จะแถมแย้มให้ฟังอีกเล็กน้อยว่า เขียนกวีได้ดี แต่การเป็นกวีหรือแม้แต่กวีเอก ก็ไม่เป็นวุฒิที่หนังสือพิมพ์รายวันต้องการ เท่ากับการแปลหนังสือได้ เพราะคอลัมน์อันมากมายของหนังสือพิมพ์รายวันต้องการคนมาช่วยทำให้เต็มทุกวัน ซึ่งแม้รัตนกวีเอกก็ช่วยทำเช่นนั้นไม่ได้ เสมอด้วยนักข่าวหรือนักแปลเรื่องต่างประเทศ ที่เป็นนักเขียนธรรมดาคนหนึ่ง.

เมื่อรับเธอเข้าทำงานแล้ว ข้าพเจ้าได้มอบ ร.จันทพิมพะให้ “แม่อนงค์” (มาลัย ชูพินิจ – ผู้เขียน) ดูแลว่า เธอจะช่วยทำคอลัมน์อะไรให้เต็มได้บ้าง ในแผนกสารคดีและบันเทิงคดี…

ภายในเวลาไม่ช้านัก “แม่อนงค์” ก็ได้พบความมีคุณค่ายิ่งของผู้ร่วมงานในตัว ร.จันทพิมพะ…บทกวีของเธอมีลีลาสง่างาม…เราได้พบว่าสำนวนโวหารของเธอกะทัดรัด คมคาย ข้อคิดของเธอก็แสดงถึงความสังเกตพิจารณาชีวิตอย่างไม่หละหลวม และไม่เอนเอียงไปในทางเพ้อฝัน เธอมีวิธีเขียนของเธอเอง ซึ่งมีพลังในการดึงดูดใจผู้อ่าน…”

นับจากได้ร่วมงานกันแล้วนั้น กุหลาบ สายประดิษฐ์ และมาลัย ชูพินิจ ได้เริ่มสนับสนุน ร.จันทพิมพะ ให้เริ่มเขียนนิยายเผยแพร่ ถึงแม้เธอจะเคยเขียนเรื่องยาวลงในหนังสือพิมพ์โรงเรียนวัฒนามาบ้างแล้ว ถึงแม้เธอจะอิดเอื้อนในเบื้องต้น แต่ก็ยินยอมนำเรื่อง ‘อวสานสวนกุหลาบ’ มาให้พิจารณา ครั้นเมื่อ มาลัย ชูพินิจ ได้อ่านนิยายขนาดยาวเรื่องแรกนี้จบลงจึงบังเกิดความตื่นเต้นไม่น้อย “ร.จันทพิมพะ ก็ได้ถูกค้นพบ…อัจฉริยภาพของเธอ ควรจะถูกนำไปใช้ในการเขียนนิยายอันจะอยู่ยั่งยืน เป็นศรีแก่วรรณกรรมไทย ยิ่งกว่าจะมานั่งเขียนเรื่องต่างๆ ในคอลัมน์หนังสือพิมพ์รายวัน ซึ่งต้องเขียนกันอย่างรีบเร่ง”[18]

ศรีบูรพา ยังรำลึกต่อไปว่า

“เมื่อการค้นพบ ร.จันทพิมพะ ได้ถูกประกาศออกไปแล้ว ด้วยเรื่อง “อวสานสวนกุหลาบ” และด้วยนิยายสั้นอีกสองสามเรื่องที่เธอได้ถูกรุกเร้าให้เขียนขึ้น ชื่อเสียงของเธอก็พลุ่งโพลงขึ้นมา เคียงข้างนามของนักเขียนสตรีที่เด่นๆ ในเวลานั้น อาทิ น.ประภาสถิต, “ก.สุรางคนางค์”, ถนอม มหาเปารยะ ฯลฯ…ร.จันทพิมพะ ก็ได้ก้าวขึ้นสู่ฐานะของนักเขียนที่ประชาชนเรียกร้องหา…

ข้าพเจ้าไม่คิดว่า ร.จันทพิมพะ จะไม่รู้จักอัจฉริยภาพในตัวเธอ เป็นแต่ว่าเธอไม่กระตือรือร้นที่จะประกาศมัน ความถ่อมตัวอ่อนโยนของเธอมีมากเกินไปจนไม่ต้องการจะประกาศมันออกมาด้วยตนเอง เมื่อคิดคำนึงถึง ร.จันทพิมพะ ข้าพเจ้าก็ปรารถนาจะได้เป็นอัจฉริยภาพทางวรรณศิลปที่มีอยู่ในบรรดาสตรีรุ่นใหม่ ได้ถูกประกาศออกมาไม่ขาดสาย และเป็นไปในทางน้อมนำมันไปใช้เพิ่มคุณค่าแก่ชีวิตของมนุษย์”

ร.จันทพิมพะ ร่วมงานกับคณะของกุหลาบ สายประดิษฐ์ ราว 10 ขวบปี จนเมื่อถึง พ.ศ. 2490 “ได้เกิดความวิบัติขึ้นแก่คณะของเรา ซึ่งเป็นเหตุให้พวกเราต้องทิ้งสำนักบางขุนพรหมไปทั้งหมด” ส่วนตัวกุหลาบกับภริยาได้ออกไปประเทศออสเตรเลียเมื่อเดือนกรกฎาคมปีนั้น[19] ด้าน ร.จันทพิมพะเข้าทำงานต่อในสำนักหนังสือพิมพ์ ‘สยามสมัย’ และเมื่อกุหลาบกลับเข้าประเทศในอีกสองปีถัดมาเมื่อต้นปี 2492 ก็มิได้ร่วมงานกันอีกจนถึงกาลอวสานแห่งชีวิตของเธอ

ระหว่างนั้นเมื่อต้นปี 2495 ร.จันทพิมพะ เคยบอกกล่าวขอร่วมทางกับกุหลาบและภริยาเดินทางไปนมัสการท่านพุทธทาส ณ สวนโมกขพลาราม สันนิษฐานว่าคงจะเนื่องด้วยสุขภาพไม่อำนวยจึงมิได้ร่วมคณะไปด้วยในครั้งนั้น กุหลาบทิ้งท้ายในคำไว้อาลัยไว้ว่า

“ข้าพเจ้ารู้สึก ร.จันทพิมพะ เหมือนญาติสนิทของเราคนหนึ่ง ข้าพเจ้ารู้สึกเธอเหมือนสามสตรีพี่น้องนักเขียนแห่งตระกูลบรอนดี้ (ซึ่งคนหนึ่งได้ประพันธ์เรื่อง “เยนแอร์”[20]) ผู้มีอัจฉริยภาพทางวรรณศิลปและผู้อาภัพซึ่งได้จากโลกนี้ไปในวัยอันควรจะอยู่ เพื่อประกอบวรรณศิลปอันยิ่งใหญ่ และทิ้งไว้ให้เป็นสมบัติของประชาชนต่อไปอีก”


บนหลุมศพวาสิฏฐี พิมพ์โดยสำนักพิมพ์ดอกหญ้า พ.ศ. 2545


“ร. จันทพิมพะ”[21]  โดย มาลัย ชูพินิจ

มาลัย ชูพินิจ ไว้อาลัยด้วยการย้อนรำลึกเหตุการณ์เมื่อแรกศรีบูรพาแนะนำ ร.จันทพิมพะ มาร่วมงานไว้ว่า

“ขณะที่คุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ พาสุภาพสตรีร่างเล็ก ลักษณะบอกว่าสุขภาพไม่สู้จะแข็งแรงผู้หนึ่ง เข้าไปในห้องทำงานส่วนตัวของข้าพเจ้าที่สำนักพิมพ์ “ประชามิตร” กว่า 10 ปีมาแล้ว และบอกว่า “นี่ผู้ช่วยคุณ” ความรู้สึกแรกทีเดียวของข้าพเจ้าก็คือ บรรณาธิการหางานให้ข้าพเจ้าเพิ่มขึ้น ในการที่จะตรวจ ในการที่จะแก้ และกล่อมเกลากันต่อไป จนกว่าข้าพเจ้าจะมอบงานแผนกหนึ่งแผนกใดให้อยู่ในความรับผิดชอบได้ แต่ภายในสัปดาห์เดียวเท่านั้น ข้าพเจ้าก็ได้คิดว่าข้าพเจ้าสำคัญผิดไปเพียงไร และแทนการเป็นภาระ ร.จันทพิมพะ กลับเป็นความช่วยเหลือ แบ่งเบางาน ซึ่งขณะนั้นล้นมือข้าพเจ้าไปได้ดีเสียยิ่งกว่าผู้ชายหลายต่อหลายคน ซึ่งเคยเป็นผู้ช่วยของเข้าพเจ้ามาแล้ว เพราะความมีระเบียบ ความตรงต่อเวลา และความประณีตของการปฏิบัติงานที่ข้าพเจ้ามอบให้ ลงท้ายแทนที่จะเป็นผู้ตรวจและแก้ไขต้นฉบับทั้งหลายที่เธอเขียน ข้าพเจ้ากลับเป็นผู้ถูกตรวจ และถูกแก้ไขอักขระพยัญชนะ เพราะความไม่พิถีพิถันในการเปลี่ยนอักษรตามสมัย มากไปกว่ามุ่งแต่ความหมายในภาษาหนังสือของข้าพเจ้า”

ยอดนักเขียนคู่นี้ระหว่างทำงานยังต่อกรกันอย่างไม่เกรงใจ มาลัยเล่าว่า “ครั้งหนึ่งเมื่อเขียนเรื่องเสร็จและส่งให้เธอดู คุณเริ่มทำหน้าชอบกล ชั้นแรกก็ไม่กล้าพูดด้วยความเกรงใจ ต่อเมื่อถามกันตรงๆ คำตอบที่ได้รับก็คือ “สับสนจนไม่เข้าใจ” ผลที่ได้รับก็คือข้าพเจ้าฉีกต้นฉบับทิ้ง และเขียนต้นฉบับใหม่ ทำนองเดียวกับที่ครั้งหนึ่งคุณเริ่มส่งบทความสำหรับลงคอลัมน์ประจำวันให้ข้าพเจ้าตรวจ และข้าพเจ้าส่งกลับคืนไป พร้อมด้วยหมายเหตุว่า “ไม่ได้ความ””

ในมุมของวรรณกรรม มาลัยชมเชย ร.จันทพิมพะว่า

“ในฐานะนักประพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นร้อยแก้วหรือร้อยกรอง เธอได้สร้างโลกใหม่อันหมดจด เฉิดฉายไปด้วยมนุษยธรรม ความละเอียดอ่อนประณีตของความรู้สึก นึกคิด ความหวัง และความฝัน สำหรับผู้อ่านทุกคนจะตามไปถึงได้”


“พี่เริ่ม” โดย จูเลียต หรือ ชนิด สายประดิษฐ์[22]


ชนิด สายประดิษฐ์ เขียนถึงชีวิตส่วนตัวของ ร.จันทพิมพะ ไว้ดังนี้

“พี่เริ่มใช้ชีวิตเป็นโสดตลอดจนสิ้นชีวิต แต่ความจริงพี่เริ่มอยู่อย่างแม่ที่มี ‘ลูก’ ผูกพัน ลูกเหล่านี้เริ่มตั้งแต่ พิมพา น้องสาวของพี่เริ่มเอง โดยที่ถิ่นฐานบ้านเดิมและคุณพ่อคุณแม่อยู่ต่างจังหวัด พี่เริ่มจึงเป็นทั้งพี่สาวและมารดาของน้องในกรุงเทพฯ น้องเติบโตมีครอบครัวไปได้ไม่นาน พี่เริ่มก็เป็นป้า น้า และมารดาของหลาน…พี่เริ่มดูแลการกินอยู่และการไปมาโรงเรียนของหลานด้วยตนเองอยู่เสมอ ข้าพเจ้าได้ทราบว่า ขณะที่เจ็บหนัก ไม่กี่วันก่อนจะสิ้นชีวิต พี่เริ่มยังคลานลงมาจากเตียงกลางดึกอย่างเคย เปิดมุ้งหลานเล็ก คลำเนื้อคลำตัวสำรวจดูว่าหลานห่มผ้าหรือเปล่า แล้วพี่เริ่มก็นั่งหอบอีกพักใหญ่ กว่าจะรวบรวมกำลังขึ้นไปนอนต่อไปได้”


“คุณเริ่ม” โดย สันต์ ท. โกมลบุตร์ (สันต์ เทวรักษ์)[23]

เนื้อหาที่สันต์ ท. โกมลบุตร์ เขียนถึง ร.จันทพิมพะ บางย่อหน้าใจความว่า

“บทประพันธ์ของ ‘ร.จันทพิมพะ’ ได้พุ่งโพลงขึ้นสู่เวหาของโลกวรรณกรรมด้วยอาการรวดเร็วประดุจดาวหาง เป็นข้อตื่นตระหนกระคนปราโมทย์ของบุคคลทั่วไปภายหลังสงครามมหาเอเชียบูรพา ด้วยลีลาอันเฉิดฉันและรัดกุม มีแผนการอันต่อเนื่องและดึงดูดอย่างอัศจรรย์ ซึ่งบางครั้งก็ล้ำยุคล้ำสมัย แต่ส่วนใหญ่เคล้าเคลียอยู่กับชีวิตประจำวันของเราท่านนี่เอง งานของ ร.จันทพิมพะ จึงกลายเป็นความเรียกร้องต้องการของประชาชนคนอ่านบรรดาที่ได้รับการศึกษาดีเริ่มแต่บัดนั้น งานของเธอเป็นงานสร้างสรรค์ ยิ่งกว่าเป็นงานที่คล้อยตามใจคนอ่านสมัยนี้…

ในฐานะที่เธอเป็นสตรี ‘ร.จันทพิมพะ’ ก็แสดงออกให้ประจักษ์ทั้งด้วยลายลักษณ์และด้วยตนเอง สามารถย่างเหยียบเข้าไปในแดนอันเป็นศักดิ์ศรีของชีวิตได้ด้วยลำแข้งของตนเอง โดยไม่เสียศักดิ์ศรีแห่งความเป็นกุลสตรีไป คุณเติมผู้พี่สาวเคยปรารภกับข้าพเจ้าว่า “น้องกลางเขาเป็นคนจองหองค่ะสำหรับเรื่องนี้ ดูหรือสุขภาพก็ไม่ค่อยจะสมบูรณ์ ให้ไปอยู่เสียกับพี่ก็ไม่ไป แกไม่ยอมงอมืองอเท้าคอยแต่พึ่งคนอื่นค่ะ แม้จะพึ่งพี่พึ่งน้องที่คลานตามกันมา แกรักจะเป็นตัวของแกเอง”


“แด่ผู้ที่ไม่กลับมา”  โดย สด กูรมะโรหิต

สด กูรมะโรหิต เขียนอุทิศหนักไปในมุมของพุทธศาสนาเชื่อว่า[24]

“คุณเริ่มเป็นผู้ที่ได้รับความทุกข์ทรมานอย่างสาหัส จากโรคหัวใจซึ่งนายแพทย์ไม่อาจจะเยียวยาได้ และโรคนี้เองได้ทำให้เธอจากโลกนี้ไป. ความทุกข์ทรมานอันแสนสาหัสนี้ เนียนกับข้าพเจ้าเป็นผู้ทราบดี เพราะเป็นผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับเธอเรื่อยมาตลอด 10 กว่าปีหลังนี้…เธอได้จากโลกนี้ไปในความบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีมลทินโทษอันใดที่จะเหนี่ยวรั้งเธอไว้ในวัฏสงสารแห่งความมืด ข้าพเจ้าขอพูดอย่างจริงใจว่า แม้ข้าพเจ้าจะกระเทือนใจมากเมื่อได้ข่าวมรณะของคุณเริ่ม, แต่ข้าพเจ้าก็ดีใจ. ข้าพเจ้าคิดว่าคุณเริ่มได้ใช้หนี้กรรมเก่าอันเต็มไปด้วยทุกข์เป็นการเสร็จสิ้นแล้ว…เธอไปสู่ดินแดนที่ไม่มีสิ่งใดจะจับต้องได้. เธอกำลังอยู่ในความว่างเปล่าอันสงบ. เธอจะไม่กลับมาอีก.”


“ร.จันทพิมพะ ผู้มีวิญญาณของกวี” โดย เนียน กูรมะโรหิต[25]


“คำพังเพยจีนได้กล่าวไว้ว่า “กวีย่อมมีจิตใจเหมือนทารกเพิ่งคลอด” คือมีจิตใจที่ผ่องใสบริสุทธิ์และขาวสะอาด เต็มไปด้วยความหวังอันสดชื่นร่าเริง มองดูโลกและชีวิตไปในแง่ของความสวยงามน่าพิสมัย ร.จันทพิมพะ เป็นผู้ที่มีจิตใจเช่นนี้ ความไม่ยอมเติบใหญ่ของจิตใจเธอ ทำให้เธอได้รับฉายาจากพวกเราผู้ซึ่งรักเธอเป็นอย่างยิ่งว่า “น้องแดง” ของพวกเรา…

บทประพันธ์ของเธอที่ข้าพเจ้าได้อ่านเป็นเรื่องแรกคือเรื่อง “ม่านดอกไม้”[26] ข้าพเจ้ารู้สึกทึ่งและสนใจต่อรสชาติ อันใหม่, แปลก, สดชื่น เต็มไปด้วยชีวิต จิตใจ และวิธีการประพันธ์ของเรื่องนั้น มันเป็น Creative work ที่เกิดจากบุคลิกลักษณะของเธอไม่ซ้ำแบบกับใคร ความสดชื่นร่าเริงที่เธอจารึกไว้ในเรื่อง “ม่านดอกไม้” ยังคงฝังอยู่ในความทรงจำของข้าพเจ้าแม้กระทั่งเดี๋ยวนี้” พญาไท 3 พ.ค. 98.


“สุดแต่ว่าดวงจิตพิศวาส ก็นับเป็นวงศ์ญาติกันได้” โดย โชติ แพร่พันธุ์ (ยาขอบ)[27]

โชติ แพร่พันธุ์ สารภาพว่าเดิมมีอคติในแง่ลบต่อการรับ ร.จันทพิมพะ เข้ามาทำงานใน ‘ประชามิตร-สุภาพบุรุษ’ แต่ต้องมาสารภาพผิดเรื่องอกุศลจิตนี้หลังได้ร่วมงาน

“ “ร.จันทพิมพะ” ในคลื่นคิดของข้าพเจ้า เดี๋ยวนี้กินน้ำพริกปลาร้าทีไรก็ให้คิดถึงแต่รวงทอง เราพูดได้ (เต็มปาก) ว่าเราเป็นไทยแท้ทั้งคู่ ไม่มีไทย (ผสม) อย่างไหนจะแท้มากไปกว่าเรา เพราะแท้กว่าไทยขึ้นไปอีกเราเป็นลาวไม่มีใครเสี้ยม ไม่มีใครสอน ปลาร้าเป็นลิ้นเง่าของเรา

เพราะเหตุกินปลาร้าอยู่เนืองๆ และนั่นเป็นเหตุหนึ่งในหลายสิบเหตุที่ทำให้คิดถึงเพื่อนผู้หญิงคนหนึ่งอยู่เป็นเนืองนิจ รวงทองเป็นชื่อใหม่ (จะด้วยรัฐหรือใครคนใดนิยมก็ตาม) ของคุณเริ่ม ข้าพเจ้าชอบชื่อ เริ่ม และ เรียกเธอติดปากมาด้วยชื่อนั้น…

ครั้งนั้น เงาสงครามจากยุโรปกำลังทอดฉายาทมึนมาทางอาเซียและทับวาบลงในที่สุด…ข้าพเจ้ารู้จักตัว ร.จันทพิมพะเป็นครั้งแรกที่หยาดฟ้าราชดำเนินในวันนั้น เพราะเธอมาประจำอยู่ในกองบรรณาธิการประชามิตรแล้ว และดังได้กล่าวแล้ว ข้าพเจ้ามิได้ให้ความผูกพันในอัธยาศัยอย่างใดตามควรแก่การได้เพื่อนคนใหม่ เพราะกำแพงเตี้ยๆ ก็ยังมีอยู่ในความรู้สึกของข้าพเจ้าในวันนี้…


ร.จันทพิมพะ ผู้ประพันธ์ “สวนกุหลาบ” 1 ใน 10 เรื่องในชีวิตที่ยาขอบเลือก

การติดตามเรื่อง “สวนกุหลาบ” อย่างพินิจ ผลของมันคือข้าพเจ้าต้องเขียนจดหมายถึงกุหลาบขึ้นไปจากเมืองเพชร จำได้ว่าได้ขอโทษเขาเสียยาวที่ได้บังอาจดูหมิ่นในใจขึ้นครั้งหนึ่งต่อความเป็นหัวหน้างานและความรู้จักดูคนของเขา ส่วนผู้เขียน ‘สวนกุหลาบ’ นั้น ข้าพเจ้าบอกมายังพี่เบิ้มของวงการหนังสือพิมพ์คนนั้นด้วยข้อเปรียบเทียบ ทำนองความจะสูงต่ำอย่างไรนั้นไม่ทราบ เพราะเป็นจดหมายส่วนตัว และใช้ตามประสาของข้าพเจ้าว่า – มีแววประหลาด นับได้ว่าถือกำเนิดจากคอกของลื้อแท้ๆ ซึ่งควรยินดี ถ้าได้ดูแลให้ดี อั๊วว่ายังไงเสียคงได้เข้าวิ่งเที่ยวถ้วยดาร์บี้แน่—ถ้าให้อั๊วเลือกเรื่องซึ่งอ่าน ๆ มา ที่เห็นว่าดีสิบเรื่อง ในชีวิตที่อั๊วเคยอ่านมาไม่น้อย ขอเลือกเรื่อง “สวนกุหลาบ” นี้ไว้เป็นเรื่องหนึ่งละ”

หลังสิ้นสุดสงครามและศรีบูรพาเดินทางไปศึกษาต่อยังประเทศออสเตรเลีย ถึงแม้สำนักพิมพ์เลิกราไปแล้ว แต่ยาขอบยังได้กินข้าวร่วมกับ ร.จันทพิมพะอย่างน้อยเดือนละสองครั้ง “คุณเริ่มไม่เพียงจะเป็นมิตรกับข้าพเจ้าเท่านั้น เธอเป็นกัลยาณมิตรของครอบครัวด้วย ซึ่งนั่นก็เป็นเหตุให้เราได้เตรียมปลาร้าปรุงรสแปลกๆ ไว้รับเธอเสมอ”

ยาขอบทิ้งท้ายยกย่อง ร.จันทพิมพะ ไว้ว่า “ไม่มีประโยชน์ที่จะจุดไม้ขีดก้านหนึ่งขึ้น เพื่อหวังจะช่วยเพิ่มความโชติช่วงให้แก่แสงจันทร์ เท่านี้ก็คงพอ”


อนุสรณ์งานศพ ร.จันทพิมพะ อุทิศโดย ครู-มิตร-ศิษย์


จากมิตร

“ร.จันทพิมพะได้เข้าศึกษาที่โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย ตั้งแต่ชั้นประถมจนจบมัธยมปีที่แปด เมื่อ พ.ศ. 2471 ซึ่งเป็นปีแรกที่หญิงมีสิทธิสมัครสอบมัธยมแปดเท่าเทียมชาย เธอเป็นผู้มีความขยันหมั่นเพียร ปราศจากความย่อท้อต่ออุปสรรคใดๆ ในการสอบมัธยมปีที่แปด ทั้งที่เธอได้คะแนนคณิตศาสตร์ศูนย์ เธอก็สามารถเอาคะแนนอื่นๆ มาช่วยให้ผ่านการสอบได้อย่างน่าสรรเสริญ”[28]


จากศิษย์


“ร.จันทพิมพะเป็นผู้รักภาษาไทยอย่างที่สุด ประกอบด้วย “นิสัยครู” ฝังแน่น เธอไม่ยอมให้ใครเรียนภาษาไทยผิดๆ ไม่ว่าในการสะกดหรือการใช้…เธอว่าเด็กสมัยนี้ไม่สนใจใยดีกับภาษาของตัว ไม่รู้ว่าการเขียนตัวสะกดผิดไปเพียงตัวเดียวนั้น เป็นการทำลายรสไพเราะของภาษา และเป็นเครื่องวัดภูมิความรู้อันต่ำของบุคคลผู้นั้น ในการประพันธ์ก็เช่นเดียวกัน ทุกครั้งที่พบว่าทางโรงพิมพ์พิมพ์เรื่องของเธฮผิดๆ เธอโกรธนักโกรธหนา ถึงตามไปเอ็ดตะโรที่โรงพิมพ์อยู่เนืองๆ…

ข้าพเจ้าได้พบสมุดบันทึกแสดงรายการบอกชื่อเรื่องที่ประพันธ์ สำนักพิมพ์ที่ลงพิมพ์-วันเดือนปี-ราคาค่าเรื่อง ฯลฯ และสิ่งสำคัญที่สุดก็คือ มีการบันทึกวางเค้าโครงเรื่อง วางจุดสำคัญของเรื่อง และวาดลักษณะของตัวละครทุกตัวไว้ มิได้เขียนวันต่อวันอย่างขอไปที…

ถ้าจะลงมือเขียนเรื่องใหม่ก็ต้องเดินทางไปดูภูมิประเทศเสียก่อน แม้ว่าจะเคยไปหลายครั้งแล้วเช่นที่หัวหินก็ดี ก่อนเขียนเรื่อง “ตื่นเถิดที่รัก” เธอได้เดินทางไปหัวหินเสียก่อนเพื่อดูสภาพในขณะนั้นว่าเป็นอย่างไร การเดินทางครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายที่ทำให้หัวใจของเธอต้องตรากตรำทำงานหนักเกินควร ก่อนล้มเจ็บถึงแก่กรรม…

ถ้ามีกิจการอะไรเกี่ยวกับการศึกษาแล้ว เธอไม่เคยหลีกเลี่ยงหรือปฏิเสธเลย ไม่ว่าสมาคมหรือโรงเรียนใดมาขอเรื่องไปลงพิมพ์ในหนังสือของตน เธอพยายามเขียนเรื่องให้จนได้ การเขียนเรื่องให้เยาวชนเหล่านั้น เธอเลือกเฟ้นแต่งให้เป็นเรื่องที่เหมาะสมกับชีวิตจิตใจของเด็กวัยนั้นๆ เรื่องที่เขียนขึ้นไม่เป็นยาพิษแก่จิตใจของผู้อ่านเลย

ในเรื่องจริยศึกษาเธอเคร่งครัดนัก พยายามที่จะอบรมให้ศิษย์ตั้งมั่นอยู่ในคุณธรรมความดีโดยไม่ท้อถอย ศิษย์รุ่นจิ๋วของเธอคือลูก ๆ ของข้าพเจ้าเธอก็พาไปสมัครเป็นสมาชิกยุวพุทธิกสมาคม พาไปพระชุมม พาไปฟังเทศน์ และนมัสการพระทุกๆ โอกาสที่สามารถจะทำได้

กุศลกรรมทั้งปวงที่เธอได้ปฏิบัติมา ได้ช่วยทำให้ดวงจิตของเธอผ่องแผ้ว ก่อนจะสิ้นใจก็รำลึกถึงคุณพระรัตนไตร ดวงจิตของเธอสว่างไสวในวินาทีสุดท้ายนั้น โดยกล่าวบอกนางพยาบาลว่า “สว่างจริง ทำไมจึงสว่างอย่างนี้

เธอจากเราไปแล้วแต่ร่างกาย ส่วนคุณงามความดียังคงอยู่ เธอได้ใช้ชีวิต 45 ปี ในภพนี้อย่างสมบูรณ์แล้ว…

เมื่อผู้แทนมิตรรักร่วมชั้นของเธอมาหาข้าพเจ้าแสดงความจำนงที่จะพิมพ์หนังสือเล่มหนึ่งร่วมแจกเป็นที่ระลึกในงานศพครั้งนี้ และมอบให้ข้าพเจ้ารับภาระเป็นผู้จัดทำขึ้นแต่ผู้เดียวนั้น เรามีเวลาเหลือก่อนวันงานเพียง 10 วัน ข้าพเจ้าจึงตกลงใจรวบรวมบทประพันธ์ร้อยกรองต่างๆ ของเธอขึ้นเป็นเล่ม ทั้งนี้เพื่อให้งานเขียนประเภทนี้ของเธอได้ปรากฎเป็นพะยานยืนยันความดีของเธอเองให้ประจักษ์ แต่เวลาที่จะจัดทำนั้นน้อยนัก จึงสามารถรวบรวมมาได้เท่าที่ปรากฏในหนังสือเล่มนี้เพียงประมาณไม่ถึงครึ่งของงานร้อยกรองทั้งหมดที่เธอได้ประพันธ์ไว้ บทร้อยกรองต่างๆ ที่เคยพิมพ์ในหนังสือวัฒนาวิทยา มักจะไม่ได้ใช้นามปากกากำกับไว้ด้วย ในที่ต่างๆ เธอมักชอบใช้นามปากกา “รวงทอง” “พิม” “พิมพะกา””[29]


ภาพน่ารักๆ จากหนังสืออนุสรณ์งานศพ


“จากครู” โดย หลวงสำเร็จวรรณกิจ (บุญ เสขะนันทน์)


หลวงสำเร็จวรรณกิจ (บุญ เสขะนันทน์)

“แม่เริ่มเขียนหนังสือไว้มาก ที่นับว่าดีถึงขนาดติดอกติดใจผู้อ่านเห็นจะไม่น้อยชิ้น แต่ละชิ้นเป็นการไว้ฝีไม้ลายมือได้ชื่อเสียงซึ่งสะท้อนไปถึงครูผู้สั่งสอน ในชีวิตข้าพเจ้าไม่เคยอิ่มเอมอะไรเท่ากับ ความดี มีชื่อเสียง ของลูกศิษย์ แม่เริ่มได้ทำหน้าที่ของศิษย์อันพึงมีต่อครูแล้วโดยสมบูรณ์ นับว่าเป็นผู้ไม่เสียทีที่ได้เกิดมา…

การขีดเขียนเป็นยาชูชีวิตขนานเอกของนักหนังสือ แม่เริ่มกินยาขนานนี้ตลอดมา ให้ความสดชื่นรื่นรมย์และสติปัญญาแก่ตนเองและเพื่อนมนุษย์ตามควรแก่อัตภาพเยี่ยงนักหนังสือทั้งหลาย ดั่งปรากฏเป็นองค์พยานอยู่ในหนังสือเล่มนี้.

มรณะไม่ยอมให้ใครเอาชนะ แต่คนฉลาดย่อมยึดเอาอมตะ คือคุณงามความดีไว้เย้ยได้[30]


ส่งท้าย


นักเขียนที่ ร.จันทพิมพะ ชื่นชอบมากคือ อุษณา เพลิงธรรม ส่วนร้อยกรองนั้น เธอชอบลีลาการเขียนของ สุนทรภู่, ชิต บุรทัต, นายผี และทวีปวร เธอเคยเผยว่าไม่เคยคิดจะเป็นนักประพันธ์มาก่อนเลย แม้เธอจะฝังใจอยู่กับวรรณคดีและวรรณกรรมต่างๆ เพราะยังรู้สึกว่าตนเอง ‘เป็นผู้เยาว์ในการเขียนอยู่เสมอ’ ในสมัยเด็กเธอใฝ่ฝันว่าจะเป็นนักละคร เพราะชอบดูละครรำมาก นอกจากนั้นเธอยังเคยเรียนไวโอลิน เรียนโน้ตสากล และเคยเล่นซออู้อยู่ในวงดนตรีไทย เมื่อครั้งยังเป็นนักเรียน[31]

เมื่อเปรียบเทียบตัวละครสตรีของ ร.จันทพิมพะ มักจะพบมิติทางจิตวิทยาที่ที่ลึกซึ้งกว่านวนิยายยอดนิยมร่วมสมัย ไม่ว่าในกรณีสองตัวเอก จิตรี รัถการ และกานดา ดิเรกกุล แห่งบนหลุมศพวาสิฏฐี (พ.ศ. 2496) ที่เกิดร่วมสมัยกับอีกสองตัวละครยอดฮิตคือ พจมาน สว่างวงศ์ แห่งบ้านทรายทอง (พ.ศ. 2493) ของ ก.สุรางคนางค์ หรือ ปริศนา สุทธากุล ในเรื่อง ปริศนา (พ.ศ. 2495) ของ ว.ณ.ประมวญมารค

แต่ไม่ว่าพล็อตเรื่องจะมีความสลับซับซ้อนและตัวละครแลดูเหมือนหัวก้าวหน้า ทนงในศักดิ์ศรีอิตถีเพศเพียงไร นิยายของ ร.จันทพิมพะ ก็ยังคงให้คุณค่ากับพรหมจรรย์สตรีก่อนการสมรส ความมั่นคงของสถาบันครอบครัว ขนบธรรมเนียมอันดีงามแบบไทย รวมถึงยังคงสมาทานความเชื่อในพระพุทธศาสนา คุณลักษณะนี้หากมองด้วยสายตาผู้คนปัจจุบันย่อมนิยามว่าเธอคือ ‘อนุรักษนิยม’ และยิ่งเห็นได้ชัดจากบทสัมภาษณ์ของเธอในวัย 42 เมื่อปี 2494 ที่เผยว่า

“ร.จันทพิมพะ มีทัศนะต่อชีวิตว่า ชีวิตสมรสเป็นชีวิตที่ดีที่สุด สมบูรณ์ที่สุดของมนุษย์ พิสูจน์ได้โดยพุทธปรัชญาที่ว่า คนเราเกิดมาโดยและด้วยธรรมชาติ เพราะธรรมชาติต้องการความสมบูรณ์ให้แก่มนุษย์ เมื่อสมรสแล้ว จึงได้สร้างเพศคู่มาเป็นมนุษยชาติ มีฉะนั้นคงไม่สร้างโดยไร้เหตุผล แม้โดยทางวิทยาศาสตร์ก็เช่นกัน ร.จันทพิมพะ มีความเห็นว่า สตรีมีอาชีพแม่บ้าน เมื่อสมรสแล้ว แต่แม่บ้านก็มีส่วนช่วยเพิ่มพูนรายได้ให้ครอบครัวได้ โดยไม่ต้องออกไปทำงานนอกบ้าน แม้เธอจะครองตัวเป็นโสด เธอก็ยังเชื่อเสมอว่าความรักและการแต่งงาน เป็นสิ่งสูงสุดของชีวิต เธอไม่เคยสิ้นศรัทธาต่อชีวิตสมรส ยังสนับสนุน ชื่นชม และ เป็นสุขด้วยกับผู้ครองเรือนเสมอ ในฐานะของผู้ที่ครองตนเป็นโสด และล่วงเข้าวัยกลางคน ซึ่งจะมีสายตาที่เป็นธรรม เปรียบเทียบชีวิตโสดและชีวิตสมรสได้อย่างเที่ยงธรรม อย่างไรก็ตาม เธอก็พอใจกับชีวิตโสดของเธอในแง่ที่ทำให้เธอเป็นอิสระ

ร.จันทพิมพะ ยึดมั่นในพุทธปรัชญา เธอเชื่อเสมอว่าชีวิตมนุษย์ขึ้นอยู่กับกรรม ไม่ว่ากรรมในชาตินี้หรือชาติปางก่อนก็ตาม การถึงนิพพานจึงจะดับการเวียนว่ายเกิดได้ เธอมองโลกในแง่ดีเสมอ และเห็นว่าความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกันและความเข้าใจดีต่อกันเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ซึ่งสังคมทุกแห่งในปัจจุบันได้ขาดไป โลกจึงได้ปั่นป่วนเช่นนี้”[32]

ก่อนหน้าการสัมภาษณ์ข้างต้นนี้หนึ่งปี เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2493 ชมรมนักประพันธ์เคยยกประเด็นอื้อฉาวว่าด้วยเรื่องเพศสังวาสระหว่างสุนัขกับมนุษย์ที่แฝงนัยยะในฉากจบบทประพันธ์ของ อ.อุดากร เรื่อง ‘สัญชาตญาณมืด’ ร.จันทพิมพะ ได้แสดงความสลดใจต่อที่ประชุมว่า

“ดิฉันเองเมื่ออ่านครั้งแรกและรู้สึกฉิวนั้น อาจจะเปนเพราะเกิดความรู้สึกลำเอียงก็ได้ เพราะตัวเองเปนหญิง เมื่อเขากล่าวว่าผู้หญิงเปนไปได้เสมอแม้แต่หมาก็โกรธไม่พอใจ เพราะนิสสัยไทยเรายกย่องผู้หญิงเสมอ นับวันแต่จะยกย่องยิ่งขึ้น ข้อสำคัญในเรื่องนี้จึงมีอยู่ว่า สังคมไทยจะยอมรับไหมว่าผู้หญิงไทยเป็นเช่นนั้น

ในกาลข้างหน้าสังคมอาจจะเละเทะ และอาจจะต้องการเรื่องทำนองนี้ก็เปนได้ นั่นเปนเรื่องของวันหน้า แต่เวลานี้สังคมไทยเรายังไม่เละเทะถึงอย่างนั้น ที่เขียนไปเช่นนั้นจึงผิดกาละ ตามธรรมดาผู้หญิงถึงอ่านแล้วไม่พอใจก็อาจจะไม่ว่าอะไร เพราะหญิงไทยชอบปิดปากตัวเอง มักไม่ชอบพูด แต่คราวนี้เห็นว่าผู้ชายโฉงเฉงมาก จึงต้องขอพูดบ้าง มีอะไรก็จะว่าเอาผู้หญิงเรื่อยๆ เปนการว่าข้างเดียว ความจริงดิฉันเองก็ไม่ชอบโต้เถียง ไม่ชอบพูด คราวหน้าอาจพูดไม่ได้ยาวๆ อย่างนี้”[33]


ชั่วชีวิต รวมผลงาน อ.อุดากร พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2594 (ฉบับประหนึ่งหนังสืองานศพของผู้เขียน)


ลาวคำหอม (คำสิงห์ ศรีนอก) เคยกล่าวไว้กับ ไอดา อรุณวงศ์ ว่า “ร. จันทพิมพะ คือคนที่มาได้ไกลที่สุดแล้วเท่าที่นักเขียนหญิงคนหนึ่งจะมาได้ของยุคสมัยนั้น”[34] ซึ่งผู้รับสาสน์ได้แสดงความเห็นไว้ว่า “ดิฉันก็ไม่ทันถามอีกเหมือนกันว่า ที่ว่าไกลเท่าที่จะมาถึงได้ของยุคนั้น คือไกลหรือใกล้จากยุคของดิฉันเท่าไหน?”


ลายเซ็น ร.จันทพิมพะ



[1] ด้วยความรัก แด่ ร.จันทพิมพะ, คณะศิษย์พิมพ์เป็นที่ระลึกในงานปลงศพ นางสาว รวงทอง จันทพิมพะ ณ ฌาปนสถาน วัดมกุฏกษัตริยาราม 7 พฤษภาคม 2498 , (ร.รัตนะ), น.33.

[2] ปราณี พรหมจรรย์, วิเคราะห์เรื่องสั้นของ “ร. จันทพิมพะ” ในแง่กลวิธีการแต่ง ศิลปะการใช้ภาษาและแนวคิด, ปริญญานิพนธ์ เสนอต่อมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สงขลา ปริญญาการศึกษามหาบัณฑิต สิงหาคม 2531, น.47.

[3] ด้วยความรัก แด่ ร.จันทพิมพะ, คณะศิษย์พิมพ์เป็นที่ระลึกในงานปลงศพ นางสาว รวงทอง จันทพิมพะ ณ ฌาปนสถาน วัดมกุฏกษัตริยาราม 7 พฤษภาคม 2498 , (ร.รัตนะ), น.8.

[4] ร.จันทพิมพะ, คำปรารภของผู้เขียน, บนหลุมศพวาสิฏฐี, พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2496, (ผดุงศึกษา), น.(2).

[5] Kwandee Rakpongse, A Study of The Novels of Mom Luang Buppha Nimmanheminda (pseud.Dokmaisot), Presented for the Degree of Doctor of Philosophy in the University of London (School of Oriental and African Studies) 1975.

[6] การอภิปรายเรื่อง รำลึกถึงดอกไม้สด ณ หอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2522 ใน รำลึกถึงดอกไม้สด, หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร จัดพิมพ์ พ.ศ.2526, น.96-103.

[7] หนังสือเล่มนี้พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2496 สำนักพิมพ์ผดุงศึกษา โดยควบรวม “เราลิขิต (พ.ศ.2494)” ที่ก่อนหน้าพิมพ์กับสำนักพิมพ์อุดมไว้ 300 หน้าแรก และเริ่มภาคต่อหน้า 301 ขึ้นหัวเรื่องว่า “บนหลุมศพวาสิฏฐี เราลิขิต-ภาคจบ” จนจบเล่มที่ความหนาทั้งสิ้น 720 หน้า สามารถอ่านแบบออนไลน์ได้เว็บไซต์  ห้องสมุดดิจิทัลวชิรญาณ เข้าถึงได้จาก https://vajirayana.org/เราลิขิต-บนหลุมศพวาสิฏฐี

[8] ชีวิตจริงของ ร.จันทพิมพะ ได้อพยพมาอยู่ที่นี่ระหว่างสงครามเป็นเวลา 3 ปี เพราะพี่ชายเป็นนายอำเภออยู่ที่นี่ ขณะนั้นยังไม่มีจังหวัดพะเยา “กว๊านพะเยา” ยังถือเป็นส่วนหนึ่งของจังหวัดเชียงราย

[9] ร.จันทพิมพะ, เราลิขิต, พิมพ์ครั้งแรก 15 มีนาคม พ.ศ.2494, (สำนักพิมพ์อุดม).

[10] https://www.facebook.com/photo/?fbid=1020379698015309&set=a.137616112958343

[11] ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงบันทึกเหตุการณ์ครั้งนั้นไว้ด้วยเช่นกัน ทั้งยังนับว่าเป็นงานพระราชนิพนธ์ชิ้นแรกที่เผยแพร่สู่สาธารณชนในวารสารวงวรรณคดี อ่านฉบับเต็มได้จาก  https://www.rdpb.go.th/th/King/พระราชนิพนธ์-c398

[12] https://th.wikipedia.org/wiki/หนังสือดี_100_เล่มที่คนไทยควรอ่าน

[13] พรธาดา ณ ลำพูน, ศึกษาเชิงวิเคราะห์เรื่องสั้นของ ร.จันทพิมพะ, วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาภาษาไทย บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ.2531, น.156.

[14] ปราณี พรหมจรรย์, วิเคราะห์เรื่องสั้นของ “ร. จันทพิมพะ” ในแง่กลวิธีการแต่ง ศิลปะการใช้ภาษาและแนวคิด, ปริญญานิพนธ์ เสนอต่อมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สงขลา ปริญญาการศึกษามหาบัณฑิต สิงหาคม 2531 สามารถโหลดอ่านได้ที่นี่

[15] พรธาดา ณ ลำพูน, ศึกษาเชิงวิเคราะห์เรื่องสั้นของ ร.จันทพิมพะ, วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาภาษาไทย บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ.2531.

[16] เติมสุข รมิตานนท์ , ประวัติย่อ นางสาว รวงทอง จันทพิมพะ (ร.จันทพิมพะ), รวงทองรำลึก เจ้าภาพพิมพ์แจกในการปลงศพ นางสาว รวงทอง จันทพิมพะ ณ ฌาปนสถานวัดมกุฏกษัตริยาราม 7 พฤษภาคม 2498, (โรงพิมพ์อุดม), น.(ก)-(ง).

[17] รวงทองรำลึก, อ้างแล้ว, น.1-22.

[18] รวงทองรำลึก, อ้างแล้ว, น.11.

[19] กุหลาบแกร่ง ในชีวิตศรีบูรพา, สัมภาษณ์ ชนิด สายประดิษฐ์ เรียบเรียงโดย ไพลิน รุ้งรัตน์, คืออิสสรชน คือคนดี คือ ศรีบูรพา รำลึก 100 ปีชาตกาล, พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2548 (โรงพิมพ์กรุงเทพ), น.71.

[20] ชนิด หลังแต่งงานกับ กุหลาบ ลงมือแปลเรื่องนี้เป็นเล่มแรกในชีวิต เมื่อ พ.ศ. 2480

[21] รวงทองรำลึก, อ้างแล้ว, น.23-29.

[22] รวงทองรำลึก, อ้างแล้ว, น.30-40.

[23] รวงทองรำลึก, อ้างแล้ว, น.35-40.

[24] รวงทองรำลึก, อ้างแล้ว, น.41-44.

[25] รวงทองรำลึก, อ้างแล้ว, น.45-48.

[26] ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร “สวนอักสร” ปีที่ 1 เล่มที่ 9 วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ.2485 ดู ร. จันทพิมพะ, ม่านดอกไม้, พ.ศ.2541, (ดอกหญ้า), น.1-21.

[27] รวงทองรำลึก, อ้างแล้ว, น.49-63.

[28] เพื่อนร่วมชั้นมัธยมแปด, ด้วยความรัก แด่ ร.จันทพิมพะ, คณะศิษย์พิมพ์เป็นที่ระลึกในงานปลงศพ นางสาว รวงทอง จันทพิมพะ ณ ฌาปนสถาน วัดมกุฏกษัตริยาราม 7 พฤษภาคม 2498 , (ร.รัตนะ), พ.ศ.2471, น.40-41.

[29] พิมพา ปิณฑะสุต, จากศิษย์ ใน ด้วยความรัก แด่ ร.จันทพิมพะ , อ้างแล้ว, น.44-56.

[30] สำเร็จวรรณกิจ, จากครู ข้าพเจ้ายังคงจำเขาได้ดี ใน ด้วยความรัก แด่ ร.จันทพิมพะ, อ้างแล้ว, น.3.

[31] พรธาดา ณ ลำพูน, ศึกษาเชิงวิเคราะห์เรื่องสั้นของ ร.จันทพิมพะ, วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาภาษาไทย บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ.2531, น.154-155.

[32] ถวัลย์วร วรดิลก, นักประพันธ์สตรี, สตรีสาร 4 (เมษายน 2494), น.57-58  อ้างใน พรธาดา ณ ลำพูน, น.155-156.

[33] น้อย อินทนนท์ (มาลัย ชูพินิจ) บรรณาธิการ, ชั่วชีวิต อ.อุดากร, จัดพิมพ์เป็นอนุสสรณ์ แด่ อ.อุดากร มกราคม พ.ศ.2493, (ไทยพณิชยการ), น.538-539.

[34] ไอดา, ร. จันทพิมพะ กับ “ผู้หญิงอย่างเดียว” ปลายสมัยรัชกาลที่ 8, วารสาร อ่าน สิงหาคม 2558, น.23.


หมายเหตุ : ขอขอบคุณ สุกัญญา เจริญวีรกุล (บาลีศึกษา 9 ประโยค) สำหรับการตรวจสอบต้นฉบับ

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save