fbpx

‘หญิงคนชั่ว’ โสเภณีที่กดทับตัวเองด้วยแอกศีลธรรม – นิยายเปลือยชีวิตชนชั้นล่างใต้เงาปฏิวัติสยาม 2475

หญิงคนชั่ว เป็นนิยายที่ได้รับการตีพิมพ์ในปี 2480 นิยายฉบับนี้เองทำให้ ก.สุรางคนางค์ แจ้งเกิดในบรรณพิภพอย่างเต็มตัว ที่ผ่านมานิยายจะวนเวียนอยู่กับสังคมชนชั้นสูงหรือชนชั้นกลางที่ใช้ชีวิตอยู่ในเขตเมือง แต่หญิงคนชั่วมิได้เป็นเช่นนั้น เสียงของนิยายสะท้อนให้ถึงสามัญชน คนธรรมดา และอาชีพที่คนดูถูกดูแคลนที่เดินตามตรอกถนนรนแคม

มิติใหม่ดังกล่าวเกิดขึ้นในยุคสมัยที่อุดมการณ์เสรีภาค เสมอภาค ภราดรภาพแบบสากลถูกเผยแพร่ ระบอบการเมืองเปลี่ยนไปตรงที่ที่มาของอำนาจอธิปไตยมิได้มาจากสมมติเทพ แต่มาจากประชาชน รัฐบาลพยายามก่อร่างสร้างฐานของระบอบใหม่ผ่านโครงสร้างสภาระดับชาติ สภาท้องถิ่น การเลือกตั้ง รวมไปถึงการเมืองวัฒนธรรมผ่านสัญลักษณ์และงานศิลปกรรมต่างๆ ที่ปฏิเสธวัฒนธรรมแบบศักดินาที่ผ่านมา แม้ว่าบทความนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของการรำลึกถึงการปฏิวัติสยาม 2475 ที่ครบ 90 ปีในวันที่ 24 มิถุนายน 2565 แต่ก็มิได้มุ่งเน้นการสรรเสริญเท่ากับชี้ให้เห็นถึงข้อจำกัดและชีวิตของคนชั้นล่างที่อยู่ชายขอบของการปฏิวัติ ทั้งในด้านอำนาจการเมือง เศรษฐกิจ และชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี

การปฏิวัติสยามไม่ได้เปลี่ยนแปลงทุกอย่างอย่างถอนรากถอนโคน เมื่อระบบกษัตริย์ยังคงอยู่ คนชั้นสูง ข้าราชการที่เปี่ยมยศถาบรรดาศักดิ์ก็ยังเป็นผู้ทรงอำนาจ สังคมชั้นสูง ชนชั้นกลาง และเหล่าพ่อค้ากระฎุมพีล้วนได้รับประโยชน์และกลายเป็นส่วนหนึ่งของระบอบใหม่ได้อย่างไม่เคอะเขินนัก

ผิดกับฝ่ายซ้ายและชนชั้นล่างที่มีพื้นที่น้อยกว่าน้อย แม้จะมีกรณี ‘แรงงานวิจารณ์เจ้า’ ที่ถวัติ ฤทธิเดชยื่นฟ้องรัชกาลที่ 7 ข้อหาหมิ่นประมาทราษฎร[1] แต่ก็ปรากฏว่า ในท้ายที่สุดก็ต้องถูกบีบให้ไปขอขมารัชกาลที่ 7 ถวัติยังมีความขัดแย้งระหว่างนายทุนที่เป็นนักการเมืองสภาอย่างมังกร สามเสน กรณีที่ถวัติเรียกร้องและสไตรก์โรงสีโดยกรรมกรกุลีจีนราว 3 พันคน มังกรโต้แย้งไปยังรัฐบาลว่า กรรมกรไม่มีสิทธิเรียกร้องกับรัฐบาล ควรไปร้องเรียนกับนายจ้างก่อน โดยอ้างว่า[2]

“ถ้านายถวัติจะลงมติเรียกเกวียนละ 1 บาท 25 สตางค์ มากกว่าที่โรงสีให้เกวียนละ 80 สตางค์ ซึ่งจะต้องเป็นเนื้อของชาวนาทั้งสิ้น การที่นายถวัติจะคิดเชือดเนื้อชาวนามาเลี้ยงกรรมกรจีน ดังนี้ รัฐบาลจะนอนใจไม่ได้ ถ้านายถวัติทำสำเร็จ ต่อไปสภาพของนายจ้างจะเป็นอย่างไร”

มังกรถึงกับเรียกร้องให้รัฐบาลจับเขา จึงส่งตำรวจไปจับกุมกรรมการราว 30 คนเพื่อส่งไปเนรเทศ ถวัติโจมตีว่ารัฐบาล “กำลังทำให้ธนานุภาพครอบคลุมสยาม และในอนาคตจะทำให้คณะราษฎรพ่ายแพ้ในระยะยาว เพราะเสียการสนับสนุนจากราษฎรและชนชั้นล่าง”

ก.สุรางคนางค์ เป็นนามปากกาของกัณหา เคียงศิริ เธอเกิดเมื่อปี 2454 ในครอบครัวตำรวจ พ่อมียศเป็นขุน ชื่อของเธอยังได้รับพระราชทานมาจากรัชกาลที่ 6 อีกด้วย (ชื่อเดิมคือ ชื้น วรรธนะภัฏ) เธอจึงไม่ใช่ไพร่สามัญชนทั่วไป เมื่อจบการศึกษา กัณหาทำงานเป็นครูอันเป็นอาชีพที่ผู้หญิงที่ได้รับการศึกษาดีช่วงนั้นนิยมกัน กัณหาเริ่มสอนหลังปฏิวัติสยามได้ 1 ปี เธอเคยเป็นครูในโรงเรียนสตรีชั้นสูงอย่างราชินีล่าง (ปากคลองตลาด) เคยกระทั่งสอนในวังสวนสุนันทา การที่เธอได้สอนสมเด็จพระเจ้าภคนีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดาฯ (พระราชธิดาของรัชกาลที่ 6) ในวัยเด็ก ณ ตำหนักชายทะเลหัวหิน ก็ย่อมแสดงให้เห็นถึงแวดวงความสัมพันธ์ของเธอกับผู้คนชั้นสูงได้เป็นอย่างดี ในเวลาต่อมาได้เบนเข็มมาสู่โลกนักเขียนและสิ่งพิมพ์ รวมถึงบรรณาธิการหนังสือพิมพ์รายวันชื่อเมืองทอง เธอยังเป็นเจ้าของสำนักพิมพ์วรรธนะศิลป์ และสำนักงานนายศิลปี อันเป็นธุรกิจจัดจำหน่ายหนังสือต่างประเทศ ฯลฯ [3]

ผลงานชิ้นแรกคือเรื่องสั้น ‘มาลินี’ ตีพิมพ์ลงเดลิเมล์วันจันทร์ ปี 2473 ขณะนั้นเธอเรียนอยู่ชั้นมัธยมปีที่ 6 พร้อมกับนามปากกา ก.สุรางคนางค์[4] แต่ผลงานที่ถูกจดจำและผลิตซ้ำอย่างกว้างขวางก็คือ บ้านทรายทอง นิยายเล่มนี้แม้จะถือกำเนิดมาในปี 2493 แต่ก็ยังเป็นที่รู้จักและมีชีวิตแทบจะเป็นอมตะในวงการบันเทิงไทย

ทศวรรษ 2470-2480 เป็นช่วงที่หนังสือพิมพ์และนิตยสารในเขตเมืองหลวงเบ่งบาน เรื่องสั้น นิยาย และบทความของนักเขียนจะผ่านสายตานักอ่านในพื้นที่ดังกล่าว เข้าใจว่าบางเรื่องที่มีโอกาสก็จะได้รับการรวมเล่มตีพิมพ์เป็นหนังสือ แต่ หญิงคนชั่ว เป็นนิยายที่นายทุนไม่สนใจ ทำให้กัณหาต้องกัดฟันพิมพ์ขายเอง ความหนานิยายที่ 420 หน้า มีราคาขาย 1 บาท 25 สตางค์ การลงทุนนั้นไม่เสียเปล่า เพราะหญิงคนชั่วขายดี จำนวน 2,000 เล่ม ขายเกลี้ยงจนต้องพิมพ์ครั้งที่ 2 ในปีเดียวกัน การจุติของนิยายเรื่องนี้จึงเป็นการเปิดตัวให้ ก.สุรางคนางค์มีที่ยืนในบรรณพิภพได้อย่างเต็มภาคภูมิ[5] ว่ากันว่านิยายเรื่อง กุหลาบแดง อันเป็นนิยายเชิงอัตชีวประวัติของเธอ แสดงเบื้องหลังการเขียนนิยายฉบับนี้ กำลังใจจากนฤมิตสามีกล่าวแก่สายวรุณใน กุหลาบแดง ที่เป็นตัวแทนของ ป.บูรณปกรณ์ สามีของกัณหาได้บอกว่า[6]

“คนอื่นเขามีชื่อเสียงด้วยการเขียนเรื่องของคนชั้นสูง เราไม่จำเป็นต้องตามอย่าง การตามอย่างเขาไม่มีทางก้าวไปสู่ความสำเร็จได้ เขาดีอย่างนั้นเราต้องคิดค้นสร้างแนวของเราใหม่ เรื่องของหญิงโสเภณี ยังไม่มีใครนักเขียนในเมืองไทยคนใดกล้าทำ ถ้าสายทำได้ พี่เชื่อว่าอย่างน้อยเวลาตายไม่มีใครลืมเรื่องนี้ได้”

การเขียนถึงโสเภณีจึงเป็นเรื่องแนวใหม่ที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง เรื่องของชนชั้นสูงที่ถูกใช้เป็นวัตถุดิบ เป็นตัวละครและฉากสร้างความบันเทิงเริงใจ เปลี่ยนไปสู่พื้นที่ที่กลับตาลปัตร ดังที่ผู้เขียนกล่าวไว้ในคำนำว่า “ข้าพเจ้าใคร่ที่จะเขียนเรื่องคนใช้ในคฤหาสน์ใหญ่ที่ต้องทนทุกข์ได้ยากแสนระกำลำบาก มากกว่าที่จะเขียนพฤติการณ์อันเต็มไปด้วยความเบิกบานสำราญใจของท่านเจ้าของหรือทายาทแห่งคฤหาสน์นั้น”[7] เรื่องของชนชั้นล่างกลายเป็นที่สนใจ แต่ที่ต้องขีดเส้นใต้ไว้ก็คือ ผู้เขียนถึงพวกเขา แม้จะเห็นอกเห็นใจชนชั้นล่างและโสเภณีเยี่ยงไร แต่เธอก็มิใช่คนในชนชั้นเดียวกัน

โสเภณีสยาม สถานภาพทางกฎหมาย และศีลธรรมจรรยากับความมีอารยะ

มีผู้เสนอว่า หลังจากการเลิกระบบทาสและไพร่ทำให้ทาสหญิงจำนวนมากถูกปลดปล่อย นำมาซึ่งการหาเลี้ยงชีพด้วยอาชีพโสเภณี[8] ภายใต้ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมเมืองที่ผู้คนเข้าไปเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจแบบเงินตรามากยิ่งขึ้น หรืออาจกล่าวได้ว่า การขยายตัวของโสเภณีสัมพันธ์กับโลกทุนนิยมที่เข้ามาผูกพันกับสังคมสยามมากขึ้น 

ในปี 2450 มีการตรากฎหมายชื่อว่า พระราชบัญญัติสัญจรโรค ร.ศ.127[9]มีจุดมุ่งหมายเพื่อควบคุมจัดระเบียบสุขอนามัยและป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ มากกว่าจะเป็นการห้ามการค้าประเวณีแบบกฎหมายพระราชบัญญัติปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2503[10] ที่ทำให้การค้าประเวณีกลายเป็นเรื่องผิดกฎหมายในทุกกรณี

ตามกฎหมายเก่าได้นิยาม ‘หญิงนครโสเภณี’ ไว้ว่า ‘หญิงที่รับจ้างทำชำเราสำส่อน โดยได้รับเงินผลประโยชน์เปนค่าจ้าง’ และผู้ควบคุมโรงหญิงนครโสเภณีที่รู้จักกันว่า ‘แม่เล้า’ นั้น ภาษากฎหมายเรียกว่า ‘นายโรง’ ที่อนุญาตให้เป็นเฉพาะผู้หญิงด้วยกัน นายโรงนี้จึงเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตให้ตั้งซ่องขึ้นมา หรืออาจกล่าวว่า ตามกฎหมาย ซ่องจะถูกควบคุมโดยรัฐ ขณะเดียวกันก็มีข้อบัญญัติที่คุ้มครองโสเภณีอยู่ เช่น ห้ามกักขังโสเภณี ควบคุมซ่องให้สะอาด หากนายโรงจัดเครื่องประดับเครื่องแต่งกายให้ใช้หรือยืมใช้ หากของสูญหายไป จะหาว่าโสเภณีลักขโมยหรือยักยอกไม่ได้ ห้ามเลี้ยงเด็กหญิงอายุต่ำกว่า 15 ปีไว้ในซ่อง และที่สำคัญต้องมี ‘โคมแขวนไว้หน้าโรงเป็นเครื่องหมาย’ การตั้งซ่องก็มิใช่ถูกๆ เพราะค่าใบอนุญาตอยู่ที่ฉบับละ 30 บาท ต้องต่ออายุทุก 3 เดือน หรือนับเป็น 120 บาทต่อปี

ในช่วงปฏิวัติสยาม 2475 ก็ยังถือว่า อาชีพโสเภณีไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมาย แต่หมิ่นเหม่ในด้านศีลธรรมและข้อครหาเสียมากกว่า การที่คณะรัฐมนตรีที่ลงมติเมื่อ 20 ตุลาคม 2480 ให้ตั้ง ‘คณะกรรมการพิจารณาหาทางผดุงจรรยาของประชาชน’ และเปลี่ยนเป็น ‘คณะกรรมการพิจารณาหาทางส่งเสริมจรรยาและคุณภาพทางใจของประชาชน’ ในเดือนต่อมา ย่อมแสดงให้เห็นการให้ความสำคัญทางด้านนี้มากขึ้น อันจะส่งต่อไปสู่การประกาศใช้ ‘รัฐนิยม’ ในปี 2482-2485[11]  อันสร้างข้อกำหนดอย่างกว้างขวางไม่ว่าจะเป็นด้านมารยาท การแต่งกาย ตลอดไปจนถึงการเปลี่ยนชื่อประเทศ

ชีวิตโสเภณีโดยปกติก็เป็นที่ดูถูกดูแคลนอยู่แล้ว แต่ในช่วงที่รัฐเริ่มให้ความสำคัญกวดขันกับลักษณะดังกล่าวก็น่าจะทำให้อาชีพนี้เผชิญหน้ากับแรงกดดันทางวัฒนธรรมไปด้วย ดังที่จะเห็นได้จากสำนึกของ ‘รื่น’ ตัวเอกของเรื่องที่มีต่ออาชีพนี้ และปรักปรำตัวเองแทบตลอดเวลาในฐานะที่ตนเป็น ‘หญิงคนชั่ว’ ‘ผู้หญิงหากิน’ อย่างไรก็ตาม เธอเป็นผู้ให้บริการที่ตอบสนองความต้องการทางเพศผู้ใช้บริการ ด้วยปากคำของ ‘วิทย์’ ตัวเอกอีกตัวได้กล่าวไว้ว่า “ชายในจำนวนร้อยจะหาที่บริสุทธิ์ไม่เกี่ยวข้องในเรื่องผู้หญิงเลยนั้นจะมีก็เพียงสิบ แต่ทว่าสิบคนนั้นจะมีร่างสมบูรณ์ดีจริงหรือไม่ ฉันไม่รับรอง”[12]

ผู้ที่มาเที่ยวซ่องมีตั้งแต่เด็กหนุ่ม ผู้พิพากษา คุณพระ กระทั่งนายแพทย์ผู้ ‘แสดงปาฐกถาให้ราษฎรเกรงกลัวกามโรค’ ความหน้าไหว้หลักหลอกของหมอคนนี้ก็คือ “เมื่อถึงคราวที่จะชวนให้ชายทุกคนละทิ้งนิสัย ‘ไปหาหญิงคนชั่ว’ เขาทำเสียงเครือหน้าเศร้า เมื่อพูดถึงความร้ายแรงของโรคชนิดนี้ว่าอาจลุกลามไปถึงบุตรหลานเป็นกรรมพันธุ์ แต่ใครจะรู้บ้างว่า ตัวหมอเองเคยไปเยี่ยมสำนักคนชั่วแทบทุกคืน”[13]

ซ่องในนิยายนี้จึงมิได้เป็นซ่องสำหรับชนชั้นล่าง แต่เป็นการให้บริการชนชั้นกลางและอาจนับรวมถึงชนชั้นสูงไปด้วย การให้บริการทางเพศของเหล่าโสเภณีเป็นดุจคำที่รื่นบอกไว้ว่า “ความชั่วที่เลี้ยงความดี!” [14]

หญิงคนชั่ว ตัวตนของโสเภณีผู้ไร้อำนาจต่อรอง

การกลายเป็นโสเภณีของรื่น น่าจะเป็นแพทเทิร์นที่ร่วมกันของเด็กผู้หญิงจำนวนมากในโลกนี้ นั่นคือ การเข้าสู่โลกมืดด้วยความไม่รู้และไร้เดียงสา ชื่อเดิมของรื่นคือ ‘หวาน’ เด็กสาววัย 19 ลูกสาวของตาเกิดและยายอิ่ม ชาวนาแห่งตำบลเทพราช ฉะเชิงเทรา ครอบครัวของเธอมิได้ถึงกับยากจนข้นแค้น เครื่องประดับที่เกิดจากการเก็บเงินจากการขายข้าว และมรดกตกทอด อย่างเช่น เข็มขัดนาก สร้อย ลูกประคำคอ แหวนข้อมะขามฝังสร้อยข้อมือเหลียวหลังเส้นใหญ่ ทองสองบาท ย่อมแสดงให้เห็นสถานะที่ไม่เลวเลยของบ้านนี้ แต่หวานกลับถูกหลอกจากวิชัย หนุ่มจากกรุงเทพฯ ให้หนีไปอยู่ด้วยกันโดยไม่บอกกล่าวพ่อแม่ เธอหยิบเครื่องประดับและสมบัติที่มีของพ่อแม่ไปด้วย เพื่อประกันกับครอบครัวว่าที่สามีว่าเธอไม่ใช่คนตัวเปล่าเล่าเปลือยที่จะมาปอกลอกฝ่ายชาย แต่สุดท้ายเธอก็ถูกขายให้กับซ่องบ้านป้าตาด แถบแพร่งสรรพศาสตร์ที่อยู่ไม่ไกลจากสนามหลวงและศาลเจ้าพ่อเสือ แล้ววิชัยก็หนีไป

ที่แห่งนี้เองได้เปลี่ยนหวานไปตลอดกาล ทั้งภายในอย่างศักดิ์ศรี เกียรติยศ ความสำนึกผิดบาป และภายนอกอย่างชื่อได้เปลี่ยนจาก ‘หวาน’ เป็น ‘รื่น’ จากนักเที่ยวผู้หนึ่ง การเปลี่ยนสภาพจากหญิงสาวที่ใสซื่อไปสู่สาวที่แต่งหน้าเข้มและแต่งกายที่ยั่วยวนเพื่อนำเสนอสินค้าของเธอ ฉากหน้าที่เธอต้องปรนเปรอชายทำให้ฉากหลังและมโนสำนึกของเธอตอกย้ำตัวเองไปแล้วว่าตนคือ ‘หญิงคนชั่ว’ การลดทอนคุณค่าตัวเองเช่นนี้ จะเป็นอะไรไปได้นอกจาก การที่เธอรับเอาคุณค่าศีลธรรมที่เธอถูกพร่ำสอนมาจากครอบครัว สังคม และอาจรวมถึงศาสนาด้วย

กลายเป็นในซ่องแห่งนี้ที่ทำให้รื่นเจอกับวิทย์ อดินันทน์ สายตระกูลเจ้าคุณอดิเทพว่ากันว่าเป็นตระกูลผู้ดีเก่าแก่แปดสาแหรก เป็นหนุ่มที่ยังไม่มีงานมีการทำ แต่ตกอยู่ในบ่วงรักกับรื่นจนพยายามจะแต่งงาน แต่ถูกขัดขวางโดยครอบครัว วิทย์กลายเป็นแขกสำคัญและแขกคนเดียวของรื่น วิทย์จ่ายหนักทำให้ป้าตาดไม่ค่อยวอแวกับรื่นมากนัก พวกเขามีสัญญาใจให้กัน ทั้งที่รื่นรู้ว่าเป็นไปไม่ได้ สุดท้ายรื่นก็ท้อง การลงเอยของทั้งคู่จบลงที่วิทย์หายหน้าไปจากชีวิตรื่นด้วยการฝากสร้อยคอทองคำมีล็อกเก็ตรูปใจไว้ ขณะที่รื่นเองก็ยังไม่ทันจะบอกว่าตนมีท้องกับวิทย์ รื่นจึงรอคอยวิทย์อย่างไร้จุดหมายภายในซ่องแห่งนั้น รื่นพยายามประวิงเวลาครองตัวไม่รับแขกเพื่อรอวิทย์ กลายเป็นว่า รื่นที่เคยไร้ศักดิ์ศรีในฐานะหญิงขายตัว ได้กลับคืนมาเป็นหวานผู้บริสุทธิ์ผุดผ่องและรักในศักดิ์ศรีอีกครั้ง เธอไม่ยอมทำแท้งแบบที่โสเภณีทั่วไปทำ ส่วนวิทย์ก็คล้ายกับว่าตายจากเธอไป

จุดแตกหักก็คือ วันหนึ่งมีผู้ชายที่น่าเกลียดน่ากลัวมาเป็นแขก รื่นถูกบังคับให้ลงมารับรอง สภาพของเขาคือ ‘ดวงหน้าใหญ่อูม ขากรรไกรกว้าง นัยน์ตาลึกแสดงว่าเป็นคนมีปัญญา แต่ดุร้ายใจเหี้ยม ร่างกายกำยำล่ำสัน ผิวเนื้อหยาบ เขาหัวเราะดังก้องและแหบห้าว พลางเดินตรงมาที่หล่อน ด้วยกิริยาอันน่าเกลียดน่ากลัวราวกับสัตว์ป่าน่าขยะแขยงเป็นที่สุด’[15] รื่นแสดงกิริยาหวาดกลัวเขา จนเตลิดหนีกลับไปในห้องจนป้าตาดออกปากด่าอย่างสาดเสียเทเสีย รื่นที่ทนมานานในที่สุดก็ระเบิดอารมณ์ใส่ โดยเฉพาะเปรียบเทียบกับลูกแกเองว่า “ลูกของตัวรู้จักรัก รู้จักถนอม หาเงินให้ได้เล่าเรียน อยากจะให้เป็นคนใหญ่คนโตต่อไปข้างหน้า แล้วมาขูดเลือดขูดเนื้อหาเงินจากผู้หญิงให้ทำงานน่าบัดสีจนไม่มีเวลาพักผ่อน เจ็บไข้ก็ไม่ต้องคิด” จากคนหงิมๆ รื่นได้ทำให้สาวๆ ที่ฟังอยู่หลายคนรู้สึกฮึดฮัดถึงความยากลำบากของตนขึ้นมา “อย่างที่ไม่เคยรู้สึกมาก่อน” โดยเฉพาะคำว่าที่ “ป้าตาดแกเอาเปรียบนัก ลูกของแกแกรู้จักรัก ทีพวกเราละก็ ให้หากินทุกวันทุกคืน”[16] จากบทสนทนาเหล่านี้เหมือนว่าจะทำให้ความสัมพันธ์เชิงอำนาจในซ่องแห่งนี้เปลี่ยนไป ‘รื่นทำให้แกเสียอำนาจสูงสุดในบ้าน เสมือนผงแปลบปลาบอยู่ในดวงตา ทั้งเคือง ทั้งปวด ยังไม่มีปัญญาเอาออกได้’

แต่เรื่องราวไม่ได้สวยงามเหมือนในเรื่องคังคุไบ รื่นตอบโต้ป้าตาดได้เพียงคำพูด แต่เธอไม่ได้สู้ต่อ และก็ไม่มีใครจะคอยช่วยสู้ สิ่งที่ทำได้ดีที่สุดก็คือหนีออกจากซ่องไปมีชีวิตใหม่ จากความช่วยเหลือของสมร รื่นได้ไปทำงานซักผ้าและคนใช้อยู่ในบ้านคุณหลวงคนหนึ่งบนถนนสุโขทัย แน่นอนว่าเธอไปแบบปกปิดตัวตน เพราะการเป็นโสเภณีมาก่อน มันหมายถึงคนที่ไม่น่าไว้วางใจ น่ารังเกียจ เมื่อความจริงถูกเปิดเผยโดยบังเอิญ รื่นก็จำต้องระหกเหินต่อไป เธอย้ายไปทำงานเป็นคนใช้อยู่ในบ้านแม่เกษรที่เป็น ‘หญิงดำเนินทางชั้นสูง มีช่องทางเป็นหลักฐาน มีเงินที่ได้จากการบำเรอชายผู้ดีมีเงิน’ ณ ที่นี้ แม้เธอจะเปิดเผยตัวตนว่ามีภูมิหลังเป็นโสเภณีได้ แต่ก็ถูกใช้งานและปฏิบัติตนอย่างดูถูกดูแคลน ถูกด่าอย่างหยาบคาย อำนาจต่อรองเธอลดต่ำจนแทบถึงที่สุด เธอทนอยู่จนถึงเวลาคลอดลูก

การมีลูกติดทำให้การตัดสินใจทำอะไรก็ลำบากไปหมด ระหว่างนั้น สมรออกมาจากซ่องป้าตาด และชวนรื่นมาเช่าห้องแถวอยู่ด้วยกันแถบวรจักร สมรเป็นเสมือนพี่สาวแท้ๆ ของรื่นเพราะดูแลกันและกันเป็นอย่างดี รื่นอยู่ห้องเช่าเลี้ยงลูกและดูแลบ้าน ส่วนสมรออกไปทำงานกลางคืนเพื่อมาหาเลี้ยงสองแม่ลูก ความสัมพันธ์แบบใหม่เกิดขึ้นมาระหว่างพวกเขาทั้งสาม สมรปฏิบัติตนราวกับเป็นหัวหน้าครอบครัว ส่วนรื่นที่ปฏิบัติตนกับสมรนั้น ‘ปฏิบัติดูแลราวกับว่า เป็นภรรยาคอยเอาใจใส่สามี เวลากลับดึกๆ มักจะหาของกิน วางหล่อน้ำไว้ให้อย่างเรียบร้อย’[17] อย่างไรก็ตาม สมรเป็นเหมือนภาพฉายชีวิตในอนาคตของรื่น การทำมาหากินด้วยเรือนร่างอย่างหักโหมเพื่อหาเงินมาเป็นค่ากินอยู่ โดยเฉพาะค่าเช่าเป็นเรื่องใหญ่ของผู้มีรายได้น้อย แม้ค่าเช่าบ้านเพียงเดือนละ 7 บาทก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เมื่อพวกเขาไม่มีรายได้เลย สมรล้มป่วย ครอบครัวขาดรายได้ รื่นก็ต้องหักอกหักใจที่หวังว่าจะครองตัวให้บริสุทธิ์เพื่อรอวิทย์อีกต่อไปแล้ว รื่นไม่มีปัญญาจะไปหารายได้ด้วยวิธีอื่น สุดท้ายก็กลับมาแต่งหน้าแต่งตัวและรับแขกอีกครั้ง ส่วนสมรไม่อาจมีชีวิตรอดได้จากโรคภัยไข้เจ็บ ทิ้งให้รื่นเผชิญโลกอยู่กับอี๊ด ลูกสาว เมื่อรื่นกลับมาเป็นโสเภณีอีกครั้ง ศีลธรรมในใจก็โบยตีรื่น เพราะรื่นสกปรกมีมลทินเกินไปที่จะเลี้ยงลูกผู้บริสุทธิ์ และเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของวิทย์ รื่นจึงได้ฝากอี๊ดไว้กับแม่เผือดผู้อยู่ห้องเช่าข้างๆ ขณะที่ตัวเองก็ออกไปหาเงินมาให้ แม้จะรู้ว่าแม่เผือดเบียดบังค่าเลี้ยงดูและค่านมไปใช้ส่วนตัวก็ตาม

การวางระยะกับลูกเช่นนี้ ทำให้เธอแทบจะกลายเป็นอิสระ พันธะอย่างเดียวคือการส่งเงินไปให้แม่เผือดเลี้ยงดู เธอจึงได้โบยบินไปหากินนอกกรุงเทพฯ ครั้งหนึ่งไปไกลถึงนครสวรรค์ แต่ในที่สุดเห็นว่าอย่างไรกรุงเทพฯ ก็เป็นแหล่งรายได้ที่ดีที่สุด แต่เธอก็มิได้เป็นอิสระจริง เพราะสำนึกบาป สำนึกถึงความเป็นหญิงคนชั่วยังตามหลอกหลอนเธออยู่ตลอดเวลา ทำให้รื่นตัดสินใจกลับไปที่บ้านของเธอที่ตำบลเทพราช หลังจากรู้ว่า พ่อแม่ของเธอได้ตายไปแล้ว แทนที่จะได้ให้บ้านปลอบใจ แต่เมื่อกลับไปบ้านก็พบว่า บ้านและที่ดินของเธอถูกขายไปเพราะพี่ชายต้องการทุนรอนไปจัดงานศพให้พ่อแม่ บ้านหลังเดิมถูกรื้อถอนออกไป เหลือเพียงต้นมะขามเก่าๆ ริมแม่น้ำที่โรยราราวกับชีวิตของรื่นเอง

สภาพของรื่นเสื่อมโทรมลง ทั้งหัวใจและเรือนร่าง ผมกรอบแห้งเป็นสีแดง บางและโหรงเหรง แก้มตอบลึกซีดเซียว เป็นฝ้าดำด่าง ดวงตาขุ่นมัวลึกของรอยช้ำเพราะตรอมตรม รีมฝีปากเขียวซีด ร่างกายซูบผอม เหลือแต่โครงกระดูกขึ้นมาเกะกะโก้งก้าง เครื่องสำอางถูกใช้อย่างหนักเพื่อปกปิดริ้วรอยความเหี่ยวย่น ยิ่งเมื่อเหงื่อไหลย้อย ของเหลวที่ปะทะกับเครื่องสำอางยิ่งทำให้สารบนใบหน้าเลอะเทอะมีสภาพอันทุเรศ จนเธอคิดว่า “ไม่ใช่ใบหน้าร่างกายของหล่อนแล้ว มันเป็นใบหน้าของภูตผีปีศาจมากกว่า”[18]

รื่นหายหน้าจากการพบปะลูกไปราว 4 ปี เหตุผลก็คือ กลัวลูกจะเป็นราคี ไม่อยากจะสร้างแผลในใจลูก “อี๊ดจะเศร้าโศกเสียใจเพียงใด ถ้าได้ทราบว่า แม่ของตัวไม่ใช่หญิงธรรมดาสามัญ หรือเป็นคุณนายคุณหญิงเหมือนแม่ของคนอื่น แม่ของอี๊ดเป็นหญิงคนชั่ว คนชั่วที่ทำมาหาเลี้ยงชีวิตมาได้โดยการค้าประเวณี”[19]

แต่ในท้ายสุด รื่นก็กลับมาเจอวิทย์อีกครั้ง สารรูปของรื่นไม่ทำให้เขาจำเธอได้เลย แต่รื่นก็จำต้องบอกความจริง เพื่อคืนความชอบธรรมให้กับอี๊ดในการที่จะได้กลับคืนสู่ครอบครัวของพ่อในสายเลือดอันสูงส่งของพ่อเธอ วิทย์พยายามช่วยเหลือโดยเสนอจะเช่าบ้านให้รื่นอยู่ แต่รื่นยืนยันในศักดิ์ศรีตัวเองว่าไม่ต้องการเรียกร้องอะไร เว้นแต่ให้ลูกสาวได้รับสิทธิ์อันชอบธรรมเท่านั้น วันที่วิทย์มารับอี๊ดบริเวณห้องเช่าแถบตรอกวัดตรี ก็เป็นวันที่รื่นหลบหน้าวิทย์ แล้วเธอก็จากโลกนี้ไปด้วยอาการป่วยที่เรื้อรังมานานพร้อมกับเสียงกระซิบอย่างแผ่วเบาว่า “อ้า ความชั่วที่เลี้ยงความดี”[20]

ตลาด และราคาของชีวิตที่ต้องหาเลี้ยง

เมืองหลวงเป็นเมืองแห่งโอกาสก็จริง แต่ก็มีราคาที่ต้องจ่ายสูงไปด้วย ราคาค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ระบุในนิยายแสดงให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำเป็นอย่างดี รื่นเคยได้จากเงินจากการมาเที่ยวของวิทย์ครั้งละ 5 บาท ในเงินจำนวนเดียวกันนี้เป็นเงินเดือนทั้งที่รื่นได้จากการไปเป็นคนใช้ในบ้านคุณหลวง ในเรตเดียวกันนี้ที่บ้านแม่เกษร จึงไม่แปลกอะไรที่ค่าเช่าห้องแถวรายเดือนย่านวรจักรที่ 7 บาท จะไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่จะจ่ายกันได้ หากรายได้น้อย ว่ากันว่าบ้านนอกแถบตำบลเทพราช ฉะเชิงเทรา เงิน 80 บาทคือค่าจ้างรายปีที่คนแถบนั้นจ้างกัน เงินเดือนของคนจบโรงเรียนช่างทางอยู่ 50 บาท[21]

การที่รื่นจะประคองชีวิตโดยเว้นระยะกับลูก ทำให้เธอต้องมีรายจ่ายเดือนละ 6 บาท เพื่อเป็นค่าเลี้ยงลูกให้เธอ เมื่อยังเล็กเธอต้องหาเงินซื้อนมกระป๋องละ 40 กว่าสตางค์ให้ เมื่อจำเป็นจริงๆ รื่นอยากซื้อเสื้อสวยๆ ให้อี๊ด ก็ต้องเอาผ้าม่วงทั้ง 4 ผืนที่มีไปจำนำ ได้เงินมา 40 กว่าบาท

เทียบกับราคาสินค้าต่างๆ ใน ประชาชาติ ฉบับวันที่ 3 กันยายน 2480 จะเห็นราคาของข้าวของต่างๆ ที่น่าสนใจ หนังสือพิมพ์ฉบับละ 5 สตางค์ ราคาสินค้าฟุ่มเฟือยอย่างรองเท้ายางรูปสปอร์ต คู่ละ 75 สตางค์ รถเด็กสามล้อขนาดกลาง 3.95 บาท ลูกฟุตบอล 5 บาท แพงกว่ากล้องถ่ายรูปที่ราคา 4.50 บาท นอกจากนั้นยังมีห้างแผ่นเสียงที่รับอัดเสียงใส่แผ่นเสียงในราคาแผ่นละ 2.50 บาท โลกของสินค้าเหล่านี้จึงเป็นการเข้าถึงได้ของผู้มีอันจะกิน ผู้มีเงินเดือนและความมั่งคั่งในระดับหนึ่ง

เมืองและชนบทยุค 2480 ก่อนคณะราษฎรพลิกโฉมถนนราชดำเนิน

นิยายฉบับนี้ยังสะท้อนความเป็นเมืองและชนบทที่ตัดกันอย่างน่าสนใจ แต่เดิมหวาน ก็มีภาพกรุงเทพฯ ที่งดงามอยู่ในหัว เพียงแค่ชื่อของคนกรุงก็ต่างกับชาวชนบทบ้านนอกอย่างลิบลับ ‘วิชัย’ ชื่อของชายที่มาหลอกเธอ เมื่อแรกได้ยินเธอคิดว่า “วิชัยเป็นชื่อที่หล่อนไม่เคยได้ยินได้พบตั้งแต่เกิดมา เคยได้ยินแต่ ฟื้น เพิ่ม อย่างวิเศษและเพราะที่สุดในตำบล ก็เห็นมีแต่ลูกชายกำนันสายคนที่ชื่อประสิทธิ์ หวานก็ยังไม่เห็นว่าใครเรียกเต็มสักทีเดียว เขาเรียกกันอย่างปรานีก็ ‘สิทธิ์'”[22]

หวานที่ใจง่ายหนีตามวิชัยเข้ากรุง ก็เนื่องด้วยภาพฝันดังกล่าวด้วย เธอมิได้ชื่นชอบบ้านนอกชนบทของเธอเท่าใดนัก เห็นได้ชัดตอนที่วิทย์ชวนเธอในนามของรื่นหนีไปอยู่บ้านนอกด้วยกันเธอก็ยิ่งไม่เห็นด้วย เพราะบ้านนอก ชนบท การทำการเกษตรเป็นงานที่หนักที่เหนื่อย[23] “เราจะไปอยู่บ้านนอกดีกว่า ไปให้ไกลพ้นหูพ้นตาพวกปากอยู่ไม่สุขทางเหนือ ทำนาทำสวนขุดดินกินหญ้าไปตามประสาหัวเมีย” วิชัยบอกเช่นนี้ รื่นตอบว่า “คุณจะไปขุดดิน!…จอบใหญ่และหนักกว่าไม้แร็กเก็ตที่คุณเคยจับ…ไกลกันนัก ชาวบ้านนอกแท้ๆ ยังแพ้ต่อความลำบากเหนื่อยยาก แล้วคุณ…” [24]

ชาวชนบทแม้จะยากลำบาก แต่ก็ไม่ได้สงบเงียบน่าอยู่ แต่เต็มไปด้วยความทะเยอทะยานในสายตาของรื่น “ชาวนาเช่นพ่อแม่ญาติพี่น้องของหล่อน ต้องอาบเหงื่อต่างน้ำตรากตรำทำนา กว่าจะได้เป็นเมล็ดข้าว แต่ว่าเขาใช้ข้าวที่หามาให้เป็นประโยชน์สมกับความเหนื่อยยากของเขาหรือเปล่า หมดการทำนาเขาก็นอนพักผ่อนอยู่กับบ้าน โดยอ้างว่าตรากตรำมาเหนื่อยพอแล้ว เขาตวงข้าวเปลือกในยุ้งข้าวออกขายเอาเงินมาซื้อเครื่องทองหยองใส่ตัว ชาวกรุงเทพฯ มีเข็มขัดนาก ชาวนาก็ขายข้าวซื้อตามอย่างเขาบ้าง บางคนยังอุตส่าห์ขายข้าวเอาเงินไปเล่นการพนัน เช่น ถั่ว โป จับยี่กี อย่างนี้ ที่ไหนจะสงบ? ที่ไหนจะไม่ทะเยอทะยาน? เห็นจะไม่มีอีกแล้ว”[25] การกลับไปมีชีวิตอยู่ที่บ้านนอกของรื่นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ นอกจากบ้านจะถูกขายไป เธอยังหวาดกลัวที่จะถูกคนในตำบลนั้นสาปส่งเพราะรู้กันว่า รื่นคือสาเหตุที่ทำให้พ่อแม่ตรอมใจตาย

เมืองจึงเป็นพื้นที่อันน่าพึงประสงค์ เพราะเป็นพื้นที่แห่งโอกาส ในเชิงภูมิศาสตร์แล้ว ชีวิตของรื่นวนเวียนอยู่ในเมืองเขตชั้นในเป็นหลัก ตั้งแต่ซ่องบ้านแม่ตาด แถวแพร่งสรรพศาสตร์, บ้านคุณหลวง ถนนสุโขทัย, บ้านแม่เกษร ถนนราชดำเนิน, ห้องเช่าแถวย่านวรจักร, ซ่องบ้านแม่เชย ถนนราชดำเนินกลาง นิยายที่เขียนขึ้นในปี 2480 นั้น ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงถนนราชดำเนินครั้งใหญ่ เพราะอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและตึกแถวที่เป็นฉากอันทันสมัยจะเกิดหลังจากนี้อีกไม่กี่ปี ดังนั้นสองข้างทางจึงยังเป็นอาคารบ้านเรือนต่างๆ เป็นที่ตั้งกระทั่งซ่องโสเภณี

ปฏิวัติสยาม 2475 ประชาธิปไตย อำนาจของชนชั้นกลางและกรุงเทพฯ ที่ต้องทบทวน

เรามิอาจปฏิเสธความยิ่งใหญ่ของการปฏิวัติที่จะครบรอบ 90 ปีในปีนี้ได้ แต่ดังที่กล่าวข้างต้นว่า ในช่วงแรกผู้ได้รับผลประโยชน์จากการปฏิวัตินี้ ยังไม่ครอบคลุมผู้คนได้มากเท่าใดนัก คนที่ได้รับผลในด้านบวกมักเป็นชนชั้นกลาง หรือผู้ที่อยู่ในเขตเมืองและเมืองหลวงมากกว่า

อาจเป็นเพราะว่า ด้วยเวลาที่จำกัดและการต่อสู้กับแรงปฏิกิริยาจากฝ่ายศักดินาทำให้คณะราษฎรเองหันขวา มุ่งไปสู่แนวคิดแบบชาตินิยมและทหารนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ จนไปถึงช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 นั่นหมายถึง การให้ความสำคัญกับศูนย์กลาง เมืองหลวง และอภิมหาโครงการมากกว่าจะสนใจเรื่องการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นที่มากขึ้น และการยกระดับคุณภาพชีวิตคนตัวเล็กตัวน้อย กลายเป็นว่า ข้าราชการกลายเป็นกลไกของรัฐที่เข้มแข็งมากขึ้น ขณะที่ราษฎรสามัญชนกลับถูกแนวคิดที่ต้องการจะสร้างประเทศให้เป็นอารยะเบียดขับผ่านการสร้างวัฒนธรรมใหม่ที่อิงวัฒนธรรมแบบตะวันตก คนตัวเล็กตัวน้อยที่ในโปสเตอร์ ‘วัฒนธรรมของไทย’ เป็นตัวอย่างที่ดี เพราะคำว่า ‘จงเลิกแต่งกายแบบนี้’ อย่าง นุ่งผ้าโสร่ง เปลือยกายท่อนบน โกนหัว ใส่หมวกแขก หรือโพกหัว ใช้ผ้าแถบคาดอก สวมเสื้อชั้นในตัวเดียว หรือทูนของศีรษะเมื่อไปในที่สาธารณะหรือตามถนน ล้วนเป็นการแต่งกายของสามัญชนคนปกติทั้งสิ้น

ทั้งที่ศิลปะคณะราษฎรให้ความสำคัญกับสามัญชนและความเท่าเทียม มิติที่ขาดหายไปในพลังของการปฏิวัติสยาม 2475 ที่ควรจะสานต่อในวาระ 90 ปีนี้ คงไม่มีอะไรดีไปกว่าการขยายพื้นที่ไปสู่ประชาธิปไตยของสามัญชน สิทธิแรงงาน การรวมตัวกันและการสร้างสหภาพแรงงานอันเป็นมิติสำคัญในระบอบประชาธิปไตยที่แทบจะขาดหายไปในทุกวันนี้ เมื่อมองกลับไปที่กฎหมายเกี่ยวกับอาชีพโสเภณี ก็ยังมีเรื่องที่ต้องถก กฎหมายที่จะต้องแก้ไขให้เป็นธรรมกับผู้ประกอบอาชีพนี้ ทำให้เป็นอาชีพที่ถูกกฎหมาย ปลอดภัย และยืนอยู่ในประเทศนี้ได้เยี่ยงพลเมืองที่มีศักดิ์ศรีคนหนึ่ง

เช่นเดียวกับการกลับมาให้ความสำคัญกับการกระจายอำนาจเพื่อลดความเหลื่อมล้ำระหว่างกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เมืองและชนบท การกระจายอำนาจที่ทำให้ท้องถิ่นเข้มแข็งทั้งทางด้านการเมือง การศึกษา และเศรษฐกิจ จะนำมาสู่ความยั่งยืนเช่นนี้อย่างน้อยก็ไม่ทำให้คนอย่างหวานหรือรื่นตกเป็นเหยื่อ อย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์และนำไปสู่โศกนาฏกรรมของชีวิตอันน่าเศร้า

ภาพที่1 โปสเตอร์วัฒนธรรมไทย / ที่มาภาพ: Government of Thailand
ภาพที่ 2 โฆษณายูเตอรอย
ภาพที่ 3 โฆษณายาน้ำหมอเหล็ง ศรีจันทร์
ที่มาภาพ: หนังสือพิมพ์ประชาชาติ (3 กันยายน 2480)

[1] กรณีนี้ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์เสนอว่าเป็นการฟ้องศาลอาญา แต่สมศักดิ์ เจียมธีรสกุลแย้งว่า เป็นการ “ยื่นฟ้องทางสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร” ไม่ใช่ฟ้องศาล ดูใน somsak’s footnotes. “ถวัต ฟ้อง พระปกเกล้า (เชิงอรรถที่ 8 – 13)”. สืบค้นเมื่อ 20 พฤษภาคม 2565 จาก http://somsakfootnotes.blogspot.com/2006/10/blog-post_16.html (16 ตุลาคม 2549)

[2] ประชาไท. “”ถวัติ ฤทธิเดช” : ปัญญาชนนอกระบบ นักวิพากษ์สถาบัน”. สืบค้นเมื่อ 20 พฤษภาคม 2565 จาก https://prachatai.com/journal/2006/07/9164 (31 กรกฎาคม 2549)

[3] “ประวัติผู้เขียน ก.สุรางคนางค์”, ทางสายใหม่แห่งวรรณกรรมไทย: ทัศนะวิจารณ์ต่อนวนิยายรุ่นแรก (กรุงเทพณ : ชมนาด), หน้า 247-249

[4] “ประวัติผู้เขียน ก.สุรางคนางค์”, หน้า 249

[5] รื่นฤทัย สัจจพันธุ์, “หญิงคนชั่ว…ความชั่วที่หล่อเลี้ยงความดี”, ทางสายใหม่แห่งวรรณกรรมไทย: ทัศนะวิจารณ์ต่อนวนิยายรุ่นแรก (กรุงเทพณ : ชมนาด), หน้า 251-252

[6] รื่นฤทัย สัจจพันธุ์, เรื่องเดียวกัน, หน้า 252-253

[7] ก.สุรางคนางค์ (นามแฝง), หญิงคนชั่ว (พิมพ์ครั้งที่ 3, กรุงเทพฯ : ณ บ้านวรรณกรรม, 2558), คำนำ

[8] ธานี ชัยวัฒน์, ข้าม เคลื่อน เลื่อน ย้าย: พลวัตผู้ค้าบริการทางเพศข้ามชาติในอาเซียน (กรุงเทพฯ : มติชน, 2564), หน้า 83

[9] “พระราชบัญญัติป้องกันสัญจรโรค ร.ศ.127”, ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 24, 23 มีนาคม ร.ศ.126, หน้า 1365-1370

[10] “พระราชบัญญัติปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2503”, ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 77 ตอนที่ 89, 1 พฤศจิกายน 2503, หน้า 894-901

[11] พินัย สิริเกียรติกุล, “ณ ที่นี้ ไม่มี “ความเสื่อม”: ถนนราชดำเนิน พ.ศ.2484-2488”, หน้าจั่ว ว่าด้วยประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมและสถาปัตยกรรมไทย,6 (กันยยน 2552- สิงหาคม 2553) : 16

[12] ก.สุรางคนางค์ (นามแฝง), เรื่องเดียวกัน, หน้า 285

[13] ก.สุรางคนางค์ (นามแฝง), เรื่องเดียวกัน, หน้า 203-204

[14] ก.สุรางคนางค์ (นามแฝง), เรื่องเดียวกัน, หน้า 181, 201, 296

[15] ก.สุรางคนางค์ (นามแฝง), เรื่องเดียวกัน, หน้า 107

[16] ก.สุรางคนางค์ (นามแฝง), เรื่องเดียวกัน, หน้า 114

[17] ก.สุรางคนางค์ (นามแฝง), เรื่องเดียวกัน, หน้า 148

[18] ก.สุรางคนางค์ (นามแฝง), เรื่องเดียวกัน, หน้า 232

[19] ก.สุรางคนางค์ (นามแฝง), เรื่องเดียวกัน, หน้า 230

[20] ก.สุรางคนางค์ (นามแฝง), เรื่องเดียวกัน, หน้า 101

[21] ประชาชาติ (3 กันยายน 2480) : 20

[22] ก.สุรางคนางค์ (นามแฝง), เรื่องเดียวกัน, หน้า 51

[23] ก.สุรางคนางค์ (นามแฝง), เรื่องเดียวกัน, หน้า 30

[24] ก.สุรางคนางค์ (นามแฝง), เรื่องเดียวกัน, หน้า 36-37

[25] ก.สุรางคนางค์ (นามแฝง), เรื่องเดียวกัน, หน้า 220

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save