fbpx

ยุติ-ธรรมอำพราง: ความไม่เป็นธรรมที่ซ่อนในกระบวนการยุติธรรมไทย

‘ยุติ-ธรรม’ เป็นคำที่สื่อถึงสภาพปัญหาในกระบวนการยุติธรรมอาญาไทยที่คนรับรู้กันเป็นวงกว้าง นั่นคือเป็นกระบวนการที่ไม่ได้คืนความเป็นธรรมแก่ผู้เสียหาย เต็มไปด้วยการดำเนินงานที่ไม่มีประสิทธิภาพและล่าช้า ซ้ำร้ายไปกว่านั้น มีหลายกรณีที่ ‘ผู้อำนวยความยุติธรรม’ ทำลายความเป็นธรรมลงเสียเองด้วย อาทิ คดีฆาตกรรมเชอร์รี่ แอน ที่มีการจับแพะและสั่งประหารในศาลชั้นต้น คดีผู้กำกับโจ้ที่คลุมถุงดำและซ้อมผู้ต้องหาจนเสียชีวิต คดีบอส อยู่วิทยาขับรถชนตำรวจเสียชีวิตซึ่งอาจมีเจ้าหน้าที่รัฐจำนวนมากช่วยเหลือจนมีคำสั่งไม่ฟ้อง หรือคดีล่าสุดอย่างคดีฆาตกรรมป้าบัวผันที่ก็มีการจับแพะ คดีฉาวเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความไม่เป็นธรรมทั้งหมดที่หลบซ่อนอยู่ภายใต้ชื่อความยุติธรรมไทย แต่ก็สั่นคลอนความเชื่อมั่นของสังคมไทยว่ากระบวนการยุติธรรมไม่อาจเป็นที่พึ่งสุดท้ายได้  

ทุกครั้งที่ความบิดเบี้ยวของยุติธรรมไทยปรากฏขึ้น ก็จะมีเสียงเรียกร้องว่าถึงเวลาปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมไทย ทั้งตำรวจ อัยการหรือแม้แต่ศาลเอง ซึ่งก็จะตามมาด้วยการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปหลากหลายชุดและข้อเสนอจำนวนมาก แต่สุดท้ายแล้ว ความพยายามปฏิรูปเหล่านั้นยังไม่สามารถยุติความไม่ธรรมได้

สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ร่วมกับ 101 PUB – 101 Public Policy Think Tank ชวนผู้อ่านสำรวจความไม่เป็นธรรมที่ซ่อนอยู่ในกระบวนการยุติธรรมไทย และวิเคราะห์หาสาเหตุที่ทำให้การปฏิรูปที่ผ่านมาไม่ประสบผลสำเร็จ 

กระบวนการยุติธรรมอาญาไทยไม่เป็นที่เชื่อใจของสังคม

กระบวนการยุติธรรมอาญาไทยไม่ค่อยเป็นที่ไว้วางใจของสังคม ถูกมองว่าด้อยประสิทธิภาพ ล่าช้าและมีการละเมิดสิทธิของผู้ต้องหาค่อนข้างมาก ดังจะเห็นได้จากดัชนีชี้วัดหลักนิติธรรม (Rule of Law Index) ที่จัดทำขึ้นจากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปและผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย ประเทศไทยมีผลคะแนนย่ำแย่ไม่ถึงครึ่งหนึ่งของคะแนนเต็มทั้งในด้านประสิทธิภาพการสอบสวน (ร้อยละ 37 ของคะแนน) ความรวดเร็วในการดำเนินคดีและพิจารณาตัดสินคดี (ร้อยละ 41) ไปจนถึงการคุ้มครองสิทธิพื้นฐานของผู้ต้องหาหรือจำเลย (ร้อยละ 42) ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลก (ที่มีคะแนนร้อยละ 43, 46, 51 ตามลำดับ)[1]

ความน่าเชื่อถือของกระบวนการยุติธรรมไทยตกต่ำถึงขั้นที่ผู้คนเชื่อมั่นในกฎแห่งกรรมมากกว่า โดยมีการสำรวจพบว่าคนเชื่อมั่นในการทำงานของฝ่ายสอบสวนและอัยการต่ำกว่ากฎแห่งกรรม มีเพียงศาลที่ได้รับความเชื่อมั่นมากกว่ากฎแห่งกรรม แต่ก็เพียงเล็กน้อยเท่านั้น[2] หมายความว่า ผู้เสียหายจำนวนมากอาจจะเลือกไม่แจ้งความดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดเพราะคิดว่าคงไม่ได้รับความเป็นธรรม ยอมปล่อยไป และรอให้กฎแห่งกรรมทำงาน หรือในอีกด้านหนึ่งก็อาจเป็นได้ว่าผู้ต้องหาจำนวนมากก็ไม่รู้สึกว่าได้รับความเป็นธรรม แต่ไม่คิดสู้คดี ทำใจยอมรับโทษโดยรอให้กฎแห่งกรรมคืนความเป็นธรรมในอนาคต[3]

กระบวนการยุติธรรมอาญาไทยไม่เป็นที่เชื่อใจของสังคม

ความบิดเบี้ยวในหลายคดีบั่นทอนความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมไทย

ความไม่ไว้วางใจในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาไทยน่าจะเป็นผลมาจากความบิดเบี้ยวที่ปรากฏเด่นชัดในหลายคดี ความบิดเบี้ยวรูปแบบแรกคือการตัดแต่งพยานหลักฐานแทนที่จะทำให้ความจริงปรากฏ เช่น ในคดีบ่อนพระรามสามที่มีเหตุยิงกันจนมีผู้เสียชีวิต มีการปล่อยให้รื้อถอนและทำลายกล้องวงจรปิดออกก่อนหน่วยพิสูจน์หลักฐานจะเข้าถึงที่เกิดเหตุ[4] หรือในคดีบอส อยู่วิทยาที่ต้องข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย มีความพยายามสร้างหลักฐานใหม่ให้ความเร็วของรถผู้ต้องหาไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แทนหลักฐานเดิมที่ 177 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งจะช่วยให้ผู้ต้องหาพ้นผิดข้อหาดังกล่าว อีกทั้งยังมีความผิดปกติที่ไม่มีการตั้งข้อหาเสพโคเคนทั้งที่มีหลักฐานตรวจทางนิติวิทยาศาสตร์[5]   

ความบิดเบี้ยวอีกแบบคือความล่าช้าในการดำเนินคดี เช่น คดีบอสยืดเยื้อนานกว่า 12 ปีจนข้อหาเกือบทั้งหมดขาดอายุความ เหลือเพียงข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และปัจจุบันก็ยังไม่สามารถจับกุมตัวผู้ต้องหาได้ หรือในบางคดีมีการตรวจพบว่าเจ้าหน้าที่ตั้งใจไม่จับตัวผู้ต้องหาเพื่อถ่วงเวลาให้คดีหมดอายุความ ในทางตรงข้าม บางคดีมีความพยายามรวบรัดตัดตอนคดีโดยมีการกล่อมหรือข่มขู่ให้ผู้ต้องหายอมรับสารภาพผิด[6]

ความบิดเบี้ยวในหลายคดีบั่นทอนความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมไทย

การข่มขู่ทำร้ายผู้ต้องหาก็สะท้อนให้เห็นด้วยว่าระบบยุติธรรมไม่ได้ความสำคัญกับการคุ้มครองสิทธิพื้นฐานของผู้ถูกกล่าวหามากที่เท่าที่ควร ในช่วง พ.ศ. 2550-2564 มีการซ้อมทรมานผู้ต้องหาอย่างน้อย 614 กรณี[7] นอกจากนี้ ยังมีการขังผู้ต้องหาระหว่างดำเนินและพิจารณาคดีซึ่งเสมือนเป็นการลงโทษล่วงหน้าก่อนการพิพากษา ทั้งที่ควรต้องถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่ามีการพิสูจน์ว่าผิดจริง โดยในปี 2566 มีจำนวนผู้ต้องขังระหว่างดำเนินคดีมากถึง 4.9 หมื่นคน[8] ซึ่งสุดท้ายมีหลายคนที่ไม่พบการกระทำผิด ในปี 2563-2565 มีผู้ต้องขังราว 2.8 พันคนที่ได้รับการปล่อยตัวหลังศาลตัดสินว่าไม่ได้กระทำผิด[9]

ความยุติธรรมไทยบกพร่องตลอดเส้นทาง 

การสอบสวนแทรกแซงง่าย-ตรวจสอบยาก

ความยุติธรรมไทยมีความบกพร่องตั้งแต่ต้นธารของกระบวนการ นั่นคือชั้นสอบสวนที่เปิดช่องให้เกิดการบิดเบือนพยานหลักฐานได้ โดยทั่วไป ฝ่ายพนักงานสอบสวนทำหน้าที่รวบรวมพยานหลักฐานเป็นหลักเพียงฝ่ายเดียว ไม่มีหน่วยงานภายนอกกำกับตรวจสอบการทำงานตั้งแต่แรก ทำให้สุ่มเสี่ยงต่อการแทรกแซงจากผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจ[10]   

ในขณะที่ฝ่ายอัยการแทบไม่มีบทบาทใดๆ จนกระทั่งได้รับสำนวนคดีจากฝ่ายสอบสวน ทำให้ตรวจสอบได้ยากว่าพยานหลักฐานในสำนวนถูกต้องและครบถ้วนหรือไม่ และแม้ว่าอัยการสามารถสั่งให้มีการสอบสวนเพิ่มเติมได้ ก็ยังมีข้อจำกัดที่ทำได้เฉพาะพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวนเท่านั้น ไม่สามารถสั่งให้หาพยานหลักฐานสำคัญอื่นที่ไม่ปรากฏในสำนวนได้

ข้อจำกัดอีกประการในการตรวจสำนวนคือเวลาที่จำกัด เพราะอัยการได้รับสำนวนในช่วงวันใกล้ครบกำหนดฝากขังครั้งสุดท้าย (ซึ่งมีระยะฝากขังสูงสุดไม่เกิน 84 วัน)[11] จากการสำรวจข้อมูลของศาลอาญารัชดาภิเษกในปี 2560[12] พบว่าฝ่ายสอบสวนใช้เวลาทำสำนวนคดีก่อนส่งให้อัยการเฉลี่ย 61.8 วันใกล้ครบกำหนดฝากขังครั้งสุดท้าย เป็นผลให้อัยการรีบสั่งฟ้องก่อนครบกำหนดฝากขังโดยใช้เวลาเฉลี่ย 11.7 วันในการพิจารณาและสั่งฟ้องเพราะไม่ต้องการปล่อยตัวผู้ต้องหาไป

ทั้งนี้ สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ฝ่ายสอบสวนทำสำนวนได้ช้าก็น่าจะเป็นเพราะแนวปฏิบัติ ‘จับมาก่อนสอบสวนทีหลัง’ ซึ่งมีข้อวิจารณ์ว่าตำรวจมักจับกุมตัวผู้ต้องหาโดยยังไม่มีหลักฐานที่พอเชื่อได้ว่าทำผิด ทำให้ต้องใช้เวลานานในการสืบหาพยานหลักฐานเพิ่มเติมภายหลัง[13] 

เห็นได้ว่าแนวปฏิบัติของไทยมีลักษณะแบ่งแยกการสอบสวนและการฟ้องคดีขาดออกจากกัน งานสอบสวนเป็นหน้าที่ของตำรวจ งานฟ้องคดีเป็นของอัยการ แตกต่างจากหลายประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็นต้นแบบของกระบวนการยุติธรรมที่ดี ที่ยึดหลักว่าการสอบสวน-การฟ้องคดีเป็นกระบวนการเดียวกัน โดยอัยการจะมีบทบาทกำกับตรวจสอบการสอบสวนตั้งแต่เริ่มจนไปถึงการสั่งฟ้องคดี พร้อมกับหลักที่เปิดให้หลายหน่วยงานเข้ามารับรู้การเก็บหลักฐานแต่แรก ทำให้ช่วยป้องกันหรือลดโอกาสบิดเบือนได้ง่าย

ตัวอย่างในต่างประเทศ เช่น ประเทศฝรั่งเศส เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องแจ้งเหตุอาชญากรรมทันทีต่อสำนักงานอัยการในพื้นที่ ฝ่ายปกครอง และหน่วยงานพิสูจน์หลักฐาน (ที่มีอิสระในการเก็บหลักฐาน ต่างจากไทยที่เป็นไปตามดุลพินิจของพนักงานสอบสวน[14]) หรือในประเทศญี่ปุ่น อัยการมีบทบาทตั้งแต่การตั้งข้อหาและออกหมายจับ โดยจะตรวจสอบพยานหลักฐานว่าควรตั้งข้อหาใดและเพียงพอที่จะออกหมายจับและสั่งฟ้องหรือไม่ ซึ่งเมื่อมีการจับกุมผู้ต้องหาแล้ว ต้องฟ้องภายใน 10 วัน แตกต่างจากไทยที่ให้ฝากขังในระหว่างดำเนินคดีได้สูงถึง 84 วัน[15]

การสอบสวนแทรกแซงง่าย-ตรวจสอบยาก
การสั่งคดีอาจไม่ได้อยู่บนความหนักแน่นของพยานหลักฐาน

การสั่งคดีอาจไม่ได้อยู่บนความหนักแน่นของพยานหลักฐาน

การแบ่งแยกงานสอบสวนและงานฟ้องคดีขาดจากกันยังส่งผลลบต่อประสิทธิภาพในการฟ้องคดีด้วย โดยเมื่ออัยการไทยไม่ได้ติดตามการสอบสวนมาตั้งแต่แรกและได้รับสำนวนคดีช้า ก็ไม่สามารถตรวจสำนวนได้ถี่ถ้วน ทำให้มีแนวโน้มจะสั่งฟ้องคดีไปก่อนแล้วค่อยไปพิสูจน์ถูกผิดกันในชั้นศาล ไม่ได้อยู่บนการพิจารณาความหนักแน่นของหลักฐาน จนมีการเปรียบเปรยว่าอัยการไทยทำหน้าที่เป็นเพียงบุรุษไปรษณีย์ที่ส่งสำนวนจากตำรวจให้ศาล[16]

ในปี 2565 อัยการไทยมีอัตราการสั่งฟ้องคดีสูงถึงร้อยละ 97.2 ของสำนวนทั้งหมด แต่มีอัตราชนะคดีเพียงร้อยละ 72[17] (อัตราชนะนี้น่าจะต่ำกว่านี้อีกหากนับเฉพาะคดีที่จำเลยไม่รับสารภาพและเลือกสู้คดี) ถือว่าต่ำมากเมื่อเทียบกับอัยการในประเทศญี่ปุ่นที่สามารถเข้ากำกับการทำงานเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตั้งแต่การตั้งข้อหาและการสอบสวน โดยอัยการญี่ปุ่นมีอัตราสั่งฟ้องเพียงร้อยละ 31.6 แต่กลับมีอัตราชนะถึงร้อยละ 96.6[18] สะท้อนให้เห็นว่าก่อนจะสั่งฟ้อง มีการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานจนมั่นใจว่าผู้ต้องหาทำผิดจริงและสามารถเอาผิดได้

อัตราการแพ้คดีของอัยการไทยก็ยังนับว่าสูงเมื่อเทียบกับประเทศในสหราชอาณาจักรที่เดิมอัยการแทบไม่ได้มีบทบาทในการสอบสวนคล้ายไทย โดยมีอัตราการฟ้องร้อยละ 67 และอัตราชนะคดีอยู่ที่ 82.5[19] ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจและอัยการตระหนักถึงปัญหาการทำงานแยกส่วนกันและได้พยายามประสานการทำงานในชั้นสอบสวนมากขึ้น[20] โดยในคดีทั่วไป ตำรวจสามารถขอปรึกษาหารือกับอัยการถึงพยานหลักฐานที่ต้องรวบรวมเพื่อให้สำนวนหนักแน่นพอที่จะสั่งฟ้อง และในคดีสำคัญ เช่น คดีที่มีการตาย เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องแจ้งเหตุและเข้าปรึกษาพนักงานอัยการทันที[21]

อัตราการแพ้คดีที่ค่อนข้างสูงของอัยการไทยก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมแก่ฝ่ายผู้ต้องหาหรือผู้เสียหายได้ เนื่องจากบางกรณีอาจเป็นการสั่งฟ้องคดีเอาผิดกับผู้บริสุทธิ์ ซึ่งหากมีการชั่งน้ำหนักหลักฐานให้รอบคอบขึ้น ผู้บริสุทธิ์ก็อาจไม่จำเป็นต้องเสียชื่อเสียง เวลา หรือเงินในการต่อสู้คดี และในกรณีที่ผิดจริงก็อาจถูกยกฟ้องเพราะสำนวนคดีอ่อนและหลักฐานไม่หนักแน่นพอ เท่ากับเป็นการปล่อยตัวจำเลยที่ทำผิดให้ลอยนวล  

อีกด้านหนึ่งของปัญหาคือการสั่งไม่ฟ้องทั้งที่มีหลักฐานแน่นหนาเพียงพอให้ฟ้องเอาผิดได้ ซึ่งกรณีเช่นนี้ตรวจสอบได้ยาก โดยปัจจุบันให้ฝ่ายตำรวจทำความเห็นแย้งได้ แต่หากฝ่ายอัยการยังยืนยันตามเดิม ก็จะให้อัยการสูงสุดเป็นผู้พิจารณาสุดท้าย กลไกนี้ก็เป็นกระบวนการภายใน ทำให้ไม่สามารถทราบได้แน่ชัดว่ามีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน แต่การที่ยังมีการออกคำสั่งไม่ฟ้องที่ไม่ชอบดังเช่นคดีบอส กระทิงแดง คดีเว็บพนันออนไลน์ มาวินเบต และคดีดังอื่นๆ[22] ก็น่าจะทำให้สังคมตั้งข้อสงสัยถึงประสิทธิภาพของกลไกนี้พอสมควร ซึ่งการตรวจสอบพบข้อผิดพลาดของคำสั่งไม่ฟ้องเหล่านี้มีที่มาจากแรงกดดันของสังคมที่ตั้งคำถามต่อสำนักงานอัยการสูงสุด จนทำให้ต้องมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเป็นการเฉพาะ

นอกจากนี้ ในกฎหมายไทย การตรวจพบว่าคำสั่งไม่ฟ้องผิดพลาดไม่สามารถนำไปสู่การกลับคำสั่งเป็นฟ้องได้ การจะกลับคำสั่งเป็นฟ้องต้องมีพยานหลักฐานใหม่หรือผู้เสียหายไปฟ้องคดีกับศาลเองซึ่งบางคนอาจไม่มีกำลังทรัพย์พอ ทำให้เกิดปัญหาการคืนความเป็นธรรมแก่ผู้เสียหาย[23]

การพิจารณาคดีนิ่งเฉยต่อความไม่เป็นธรรม

ความยุติธรรมที่บกพร่องยังเกิดขึ้นในชั้นการพิจารณาคดีอาญาด้วย แม้ศาลไทยพยายามรักษาความ ‘เป็นกลาง’ อย่างเคร่งครัด แต่ดูเหมือนว่าความเป็นกลางนี้จะกลับกลายเป็นความเพิกเฉยต่อความไม่ธรรม เพราะฝ่ายอัยการที่เป็นโจทก์ฟ้องในคดีอาญามีความได้เปรียบเหนือกว่าผู้ต้องหาทั่วไป ที่ไม่ได้รับการสนับสนุนให้สามารถต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่   

ลักษณะการพิจารณาคดีอาญาของไทยโน้มเอียงไปทางระบบกล่าวหา (Accusatorial System)[24] กล่าวคือศาลจะวางบทบาทเป็นกลางอย่างเคร่งครัด โดยพิจารณาตัดสินคดีไปตามพยานหลักฐานเท่าที่คู่ความนำเสนอ การนำเสนอพยานหลักฐานเป็นหน้าที่ของฝ่ายโจทก์ที่ต้องพิสูจน์ว่าจำเลยทำผิด และฝ่ายจำเลยที่ต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าไม่ผิดศาลจะไม่พยายามเรียกสืบพยานหลักฐานเอง[25]

อย่างไรก็ดี ความยุติธรรมในระบบกล่าวหาจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อทั้งสองฝ่ายมีความสามารถในการต่อสู้คดีเท่าเทียมกัน แต่ในทางปฏิบัติ ฝ่ายอัยการและพนักงานสอบสวนมีความสามารถเหนือกว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยโดยทั่วไปค่อนข้างมาก ทั้งในด้านความรู้กฎหมาย ทรัพยากร และอำนาจในการเข้าถึงพยานหลักฐานต่างๆ และด้วยการเป็นผู้ฟ้องคดี ก็ทำให้มีท่าทีที่มุ่งเอาผิดกับผู้ต้องหา มากกว่าที่จะช่วยหาหรือเปิดเผยความจริง ซึ่งบางกรณีอาจเป็นคุณกับผู้ต้องหา[26]  

ในขณะเดียวกัน กระบวนการยุติธรรมไทยไม่ได้สนับสนุนให้ผู้ต้องหาสามารถต่อสู้คดีได้มากเท่าที่ควรโดยเฉพาะการเข้าถึงทนายที่มีคุณภาพ แม้ว่ากฎหมายประมวลวิธีพิจารณาความอาญาได้กำหนดให้ศาลจัดหาทนายความให้ผู้ต้องหาที่ประสงค์จะมีทนาย แต่ในความเป็นจริงแล้วกลับพบว่าจำเลยจำนวนมากไม่มีทนายในระหว่างพิจารณาคดี เช่น ในปี 2561 มีการสำรวจพบว่าร้อยละ 40.5 ของนักโทษหญิงไม่มีทนายให้คำปรึกษาในชั้นศาล[27] โดยสาเหตุหนึ่งที่จำเลยมักไม่มีทนายน่าจะเป็นเพราะจำเลยหลายคนพร้อมจะให้การรับสารภาพ จึงยอมสละสิทธิการมีทนาย[28]     

การพิจารณาคดีนิ่งเฉยต่อความไม่เป็นธรรม

ปัญหาในเรื่องนี้คือการสละสิทธิของจำเลยอาจเป็นไปโดยมิได้ตระหนักถึงผลกระทบของการไม่มีทนาย โดยปกติแล้ว ศาลจะทำหน้าที่แค่ถามความประสงค์ที่จะให้รัฐจัดหาทนายให้ แต่มิได้อธิบายว่าการมีทนายความจะช่วยเหลือจำเลยอย่างไรได้บ้างแม้ในกรณีที่จำเลยรับสารภาพผิดก็ตาม เป็นผลให้จำเลยมีโอกาสยอมรับข้อกล่าวหาและโทษที่รุนแรงเกินกว่าความผิดที่ได้ทำไป เพราะไม่เข้าใจข้อกฎหมายหรือไม่ได้ยื่นคำร้องแสดงเหตุบรรเทาโทษแก่ศาล[29]    

ในขณะที่การหวังให้ศาลช่วยอธิบายรายละเอียดข้อกล่าวหาหรือให้คำแนะนำยื่นขอบรรเทาโทษแก่จำเลยก็เป็นเรื่องยากเพราะศาลต้องแสดงตัว ‘เป็นกลาง’ การช่วยอธิบายหรือให้คำแนะนำดังกล่าวอาจถูกมองเป็นการเข้าเข้าข้างจำเลยได้[30]

ปัญหาการไม่มีทนายยังก่อให้เกิดข้อสงสัยต่อความเป็นธรรมในการตัดสินของศาลตามมา ดังเช่นในคดีหนึ่งที่ในตอนแรกจำเลยได้ให้การรับสารภาพความผิดฐานพรากผู้เยาว์ไปทำอนาจารและไม่ขอทนายความในวันนัดสอบคำให้การและวันนัดสืบพยานโจทก์ หลังจากนั้น 2 เดือนได้ปฏิเสธข้อหาดังกล่าวโดยอ้างว่าไม่เข้าใจข้อกฎหมาย แต่ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าเป็นความพยายามประวิงเวลาคดีของจำเลยเพราะได้มีการอ่านและอธิบายคำฟ้องแก่จำเลยแล้ว อย่างไรก็ตาม ข้อวินิจฉัยก็เป็นที่สงสัยของผู้พิพากษาบางท่านที่มองว่าการอธิบายคำฟ้องไม่น่าจะช่วยให้จำเลยเข้าใจข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องได้[31]

ยิ่งไปกว่านั้น การวางตัวเป็นกลางอย่างเคร่งครัดเกินไปของศาลยังมีข้อวิจารณ์ว่าเป็นการเพิกเฉยต่อการค้นหาความจริง[32] โดยในบางคดี ศาลตัดสินไปตามการยอมรับสารภาพของจำเลย ทั้งที่พบข้อมูลว่าจำเลยอาจไม่ได้กระทำผิดจริง เช่น ในคดีป่าไม้คดีหนึ่ง จำเลยให้การสารภาพ หลังจากนั้น ศาลได้สั่งมีการสืบเสาะหาข้อมูลจำเลยเพื่อกำหนดโทษ ซึ่งพบว่าจำเลยรับจ้างมาสารภาพ แต่สุดท้ายศาลไม่ได้กลับคำตัดสินหรือให้กระบวนการค้นหาความจริงเพิ่ม[33]

 

คดีอาญามากล้น บีบให้ยุติความเป็นธรรม

ระบบยุติธรรมไทยยังมีปัญหากับการบริหารจัดการคดีอาญาที่มากล้น จนมีการหันไปพึ่งวิธีการลดหรือเร่งคดีที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้เสียหายหรือผู้ต้องหา โดยในปี 2565 มีจำนวนคดีรับแจ้งความมากถึง 8.3 แสนคดี มีสำนวนคดี (ที่มีตัวผู้ต้องหา) 5.9 แสนคดีเข้าสู่การพิจารณาของอัยการและมีคดีเข้าสู่การพิจารณาของศาลชั้นต้นถึง 6.6 แสนคดี[34] ซึ่งถือว่าค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับจำนวนบุคลากรที่มีอยู่ ได้แก่ พนักงานสอบสวน 1.17 หมื่นคน อัยการ 4.1 พันคน และผู้พิพากษาชั้นต้น 3.4 พันคน[35]

เมื่อนำตัวเลขข้างต้นมาคิดเป็นภาระงาน ก็จะพบว่าบุคลากรแต่ละฝ่ายมีภาระงานล้นมือ พนักงานสอบสวนแต่ละคนต้องทำคดี 71 คดีต่อปี เท่ากับโดยเฉลี่ย ต้องทำสำนวนคดีให้เสร็จภายใน 3.4 วันต่อคดี[36] ถึงจะไม่มีงานค้าง เช่นเดียวกับอัยการแต่ละคนที่ต้องพิจารณาสำนวนเพื่อสั่งฟ้องคดี 144 คดีต่อปี โดยเฉลี่ยต้องใช้เวลาไม่เกิน 1.7 วันต่อคดี ในขณะที่ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นต้องพิจารณาตัดสินคดี 195 คดีต่อปี โดยเฉลี่ยต้องใช้เวลาไม่เกิน 1.2 วันต่อคดีมิเช่นนั้นจะมีภาระงานค้างไปในปีถัดไป 

ทั้งนี้ ตัวเลขข้างต้นอาจจะมิได้สะท้อนสภาพปัญหาจริงในบางพื้นที่ที่มีภาวะขาดแคลนบุคลากรอย่างหนัก เช่น มีการรายงานว่าในสถานีตำรวจบางแห่ง พนักงานสอบสวนบางคนมีภาระงานคดีถึง 200 คดีต่อปี[37] มากกว่าหลักเกณฑ์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่กำหนดไว้ว่าไม่ควรเกิน 70 คดีต่อปี

คดีอาญามากล้น บีบให้ยุติความเป็นธรรม

สภาพภาระงานที่หนักข้างต้น ผนวกกับแรงกดดันจากฝ่ายต่างๆ ที่ต้องการให้คดีเสร็จสิ้นโดยเร็ว เป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งที่ผลักให้เจ้าหน้าที่คำนึงถึงความเร็วมากกว่าความเป็นธรรม และเอื้อหรือส่งเสริมให้ใช้วิธีการลดหรือเร่งคดีที่ไม่เป็นธรรม

ยกตัวอย่างเช่น ในชั้นการสอบสวน มีวิธีการที่เรียกว่า ‘เป่าคดี’ เพื่อลดจำนวนคดี โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจรับฟังข้อร้องทุกข์ แต่ลงบันทึกการแจ้งความในสมุดส่วนตัว ไม่ใช่ในระบบของสถานีตำรวจ หรือมีการเร่งทำสำนวนคดีมากเกินไปโดยไม่รัดกุม ทำให้การรวบรวมหลักฐานไม่ครบถ้วนหรือผิดพลาด โดยไม่ได้แจ้งสิทธิการมีทนายในชั้นสอบสวนแก่ผู้ต้องหา

ในขณะที่อัยการเองก็เร่งสั่งฟ้องไปก่อน ไม่ได้ตรวจสอบสำนวนอย่างรอบคอบ ไม่ได้สั่งสอบสวนเพิ่มในกรณีสำนวนอ่อนเกินไปหรือในกรณีที่ไม่ได้แจ้งสิทธิการมีทนาย จนเป็นผลให้ศาลสั่งยกฟ้องในหลายคดีดังเช่นในปี 2559 ที่รองอัยการสูงสุดมีหนังสือกำชับให้พนักงานอัยการตรวจสอบสำนวนในเรื่องการแจ้งสิทธิการมีทนายแก่ผู้ต้องหามากอย่างเคร่งครัดขึ้น หลังพบว่ามีหลายคดีที่ศาลยกฟ้องด้วยเหตุที่พนักงานสอบสวนไม่ได้ถามผู้ต้องหาว่ามีทนายความหรือไม่[38]

ในชั้นการพิจารณาคดีของศาลชั้นต้น ก็มีข้อวิจารณ์ต่อแนวปฏิบัติใน ‘ห้องเวรชี้’ (ห้องพิจารณาในการสอบคำให้การครั้งแรก) ว่าเน้นไปที่การตัดสินคดีจำนวนมากให้เสร็จสิ้นได้ในแต่ละวันมากกว่าการรักษาสิทธิของจำเลย โดยมีการปิดกั้นมิให้บุคคลภายนอกซึ่งรวมถึงญาติและทนายเข้าร่วมรับฟังและให้คำแนะนำกับจำเลย ทำให้จำเลยที่ไม่มีความรู้ด้านกฎหมายอาจรับสารภาพในข้อกล่าวหาที่รุนแรงกว่าความผิด หรือไม่ได้ขอลดหย่อนโทษ[39] ในขณะที่ ผู้พิพากษาหลายคนก็มักจะตัดสินโทษตามยี่ต๊อก (บัญชีมาตรฐานโทษที่เป็นแนวทางการกำหนดโทษแก่ผู้พิพากษา) ไม่ได้สั่งทำการสืบเสาะหาข้อมูลผู้ทำผิดเพื่อพิจารณากำหนดโทษอย่างเหมาะสมรายบุคคล ซึ่งต้องใช้เวลาอย่างน้อย 15 วันถึง 30 วัน ยกเว้นว่าจำเลยจะมีการขอลดหย่อนโทษ[40]

ปฏิรูปไม่คืบหน้า ติดอยู่ในความขัดแย้งระหว่างหน่วยงานยุติธรรม

ปัญหาความบิดเบี้ยวในคดีความต่างๆ ทำให้เกิดกระแสการปฏิรูปเป็นระยะ แต่ข้อเสนอหลายประการไม่ค่อยคืบหน้าเพราะหน่วยงานยุติธรรมเห็นแย้งกันและไม่เชื่อใจกันพอที่จะประสานความเห็นต่างกันได้

ในด้านการสอบสวน มีข้อเสนอให้ฝ่ายอัยการและฝ่ายปกครองเข้ามากำกับติดตามการสอบสวนคดีตั้งแต่ต้นอย่างน้อยในคดีสำคัญ จากปัจจุบันที่มีแทบไม่มีบทบาท ซึ่งคาดหวังว่าจะช่วยต้านทานการแทรกแซงจากผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจได้ ฝ่ายที่เห็นด้วยกับมาตรการนี้มีตั้งแต่ผู้กำหนดนโยบาย คณะกรรมการปฏิรูป องค์กรภาคประชาชน รวมถึงฝ่ายอัยการด้วย ซึ่งได้มีความพยายามที่แก้ไขกฎหมายให้เป็นไปตามข้อเสนอนี้ย้อนไปอย่างน้อยถึงปี 2531[41] และล่าสุดคือการพิจารณาจัดทำร่างกฎหมายอย่างน้อยสองฉบับในช่วงปี 2562-2566 ได้แก่ ร่างพระราชบัญญัติสอบสวนคดีและร่างกฎหมายแก้ไขประมวลวิธีพิจารณาความอาญา

แต่สุดท้ายก็ไม่มีการออกหรือแก้ไขกฎหมายดังกล่าวเพราะมีแรงคัดค้านหลักจากฝ่ายตำรวจ โดยมองว่าการให้อัยการมา ‘คุม’ งานสอบสวนจะไม่ช่วยลดความบิดเบี้ยวได้ เพราะอัยการก็ร่วมกับตำรวจบางนายบิดเบือนสำนวนและหลักฐานได้เช่นกัน[42] และอัยการไทยก็ไม่ได้มีความเชี่ยวชาญและทรัพยากรพอที่จะเข้ามาร่วมสอบสวน โดยปัจจุบันกฎหมายให้อัยการทำหน้าที่สอบสวนได้ในคดีความผิดซึ่งเกิดขึ้นนอกราชอาณาจักรและคดีเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี แต่ในทางปฏิบัติมักมอบหมายให้พนักงานสอบสวนดำเนินการอยู่ดี[43] ในขณะที่อัยการบางท่านเห็นว่าอุปสรรคในการปฏิรูปมาจากแรงคัดค้านของผู้มีอำนาจหรือผู้บังคับบัญชาที่ได้ประโยชน์จากการควบคุมและแทรกแซงงานสอบสวนได้[44]

อีกข้อเสนอปฏิรูปการสอบสวนมาจากฝ่ายตำรวจเอง แต่ก็พบกับความขัดแย้งกันภายในและไม่ประสบผลสำเร็จเช่นกัน โดยสมาคมพนักงานสอบสวนเสนอให้แยกการบริหารงานสอบสวนเป็นอิสระออกจากงานปรามปรามและงานส่วนอื่น ไม่ให้อยู่ภายใต้ผู้บังคับบัญชาคนเดียวกันเหมือนในปัจจุบัน ขณะที่พนักงานสอบสวนอีกกลุ่มไม่เห็นด้วยและแยกตัวออกมาเป็นจัดตั้งสมาพันธ์พนักงานสอบสวนแห่งชาติ โดยเรียกร้องให้ตั้งหน่วยงานสอบสวนที่แยกออกเป็นอิสระจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ[45]   

ปรากฏว่าแนวทางของสมาคมพนักงานสอบสวนได้รับการตอบสนองมากกว่าจากคณะกรรมการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติซึ่งมีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน โดยกำหนดให้มีสายบังคับบัญชางานสอบสวนแยกเฉพาะออกมา คู่ขนานไปกับสายบังคับบัญชาเดิม ตั้งแต่สารวัตรสอบสวน ผู้กำกับการสอบสวน ผู้บังคับการสอบสวนจนถึงผู้บัญชาการสอบสวน แต่การผลักดันร่างกฎหมายนี้สุดท้ายก็ต้องหยุดชะงักลงเพราะสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ทำหนังสือคัดค้านหลายประเด็นต่อรัฐบาล ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการแบ่งแยกการบริหารงานสอบสวน โดยอ้างว่าจะก่อให้เกิดปัญหาการบริหารงานในภาพรวมที่ต้องอาศัยการประสานงานระหว่างฝ่ายสอบสวนกับฝ่ายงานอื่น[46]

ต่อมาสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ได้จัดทำร่างกฎหมายตำรวจแห่งชาติอีกฉบับที่ไม่มีการแยกสายบังคับบัญชายื่นเสนอต่อคณะรัฐมนตรี และกลายมาเป็นร่างกฎหมายของ ครม. ที่เข้าสู่รัฐสภาแทนร่างของนายมีชัย จนออกมาเป็น พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565     

ปฏิรูปไม่คืบหน้า ติดอยู่ในความขัดแย้งระหว่างหน่วยงานยุติธรรม

ข้อเสนอการปฏิรูปอีกด้านหนึ่งที่ติดกับความขัดแย้งมาอย่างยาวนานคือการชะลอฟ้อง ซึ่งเป็นมาตรการแก้ไขปัญหาคดีอาญาล้นศาล โดยให้อำนาจอัยการสั่งไม่ฟ้องและสั่งคุมประพฤติแทนได้ ในกรณีที่เห็นว่าผู้ต้องหามีความผิดจริงแต่ไม่ได้มีเจตนาชั่วร้าย การถกเถียงเรื่องมาตรการชะลอฟ้องมีมาอย่างน้อยตั้งแต่ พ.ศ. 2520 และมีความพยายามเสนอร่างกฎหมายหลายต่อหลายครั้งที่จะใช้กับคดีที่มีโทษไม่รุนแรง แต่จนถึงปัจจุบัน ก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จเพราะมีแรงคัดค้านมาจากกลุ่มผู้พิพากษารวมถึงฝ่ายบริหารของตุลาการด้วย เช่น ในปี 2559 ประธานศาลฎีกาได้ยื่นหนังสือทักท้วงต่อประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติว่าร่างกฎหมายชะลอฟ้องมีหลักการไม่เหมาะสม โดยกลุ่มที่คัดค้านมองว่าการชะลอมีลักษณะก้าวล่วงอำนาจตุลาการ เสมือนเป็นการให้อำนาจพิจารณาตัดสินคดีถูกผิดแก่อัยการตัดสินถูกผิด และอาจเป็นการตัดทอนสิทธิจำเลยที่จะต่อสู้คดีอย่างถึงที่สุดในชั้นศาลด้วย อีกทั้งยังเป็นการเปิดช่องให้เกิดการบิดเบือนความยุติธรรมได้ง่ายขึ้น โดยการแทรกแซงการทำงานของอัยการจากฝ่ายการเมืองหรือผู้มีอำนาจ[47]  

ฝ่ายอัยการและผู้ที่สนับสนุนมาตรการชะลองฟ้องได้พยายามแก้ไขข้อขัดแย้งข้างต้น โดยเสนอให้ศาลมีอำนาจตรวจสอบการชะลอฟ้องของอัยการได้ ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นเนื้อหาในร่างกฎหมายชะลอฟ้องที่จัดทำขึ้นโดยคณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ (กพยช.) ในช่วงปี พ.ศ. 2564-2565 ที่ได้เชิญทั้งตัวแทนทั้งฝ่ายอัยการและตุลากรเข้าร่วมด้วย[48] แต่สุดท้าย สภาผู้แทนราษฎรก็หมดสมัยไปก่อนจะได้พิจารณาและในปัจจุบันก็ยังไม่ความคืบหน้าใดๆ

ปฏิรูปยุติธรรมหวังให้เป็น ’อิสระ’ แต่กลับ ‘เอกเทศ’ จากความรับผิดต่อประชาชน

แนวทางการปฏิรูปที่ผ่านมายังพยายามเพิ่ม ‘อิสระ’ ให้แก่องค์กรยุติธรรมโดยคาดหวังว่าจะช่วยให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเป็นกลาง ปราศจากการแทรกแซงจากผู้มีอำนาจทางการเมือง แต่ผลปรากฏว่าองค์กรเหล่านี้เป็นเอกเทศแยกขาดจากกัน และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ขาดจากประชาชน ซึ่งยิ่งทำให้ยากที่จะตรวจสอบและรับประกันได้ว่าไม่มีการแทรกแซงจริง       

ปัญหานี้มีสาเหตุมาจากการปฏิรูปที่เน้นแยกองค์กรตำรวจ อัยการ และศาลยุติธรรม ออกจากโครงสร้างการบริหารของฝ่ายการเมือง และดูจะหวังพึ่งกลไกกำกับและตรวจสอบกันเองภายใน มากกว่าการสร้างความรับผิดต่อประชาชนและผ่านกลไกที่เปิดให้มีการตรวจสอบจากภายนอก

ตำรวจ

ในปีพ.ศ. 2541 กรมตำรวจได้แยกออกจากกระทรวงมหาดไทย มาตั้งเป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ไม่สังกัดกระทรวงใด อยู่ภายใต้การกำกับของนายกรัฐมนตรีโดยตรง ต่อมาใน พ.ศ. 2547 มีการออกพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ ซึ่งให้จัดตั้งคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) ขึ้นทำหน้าที่กำหนดนโยบายและกำกับดูแล สตช. และมีอำนาจเห็นชอบการแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ตามที่นายกรัฐมนตรีเสนอ

แม้จะพยายามทำให้อิสระโดยบริหารงานอยู่นอกกระทรวง แต่ก็ยังคงมีการวิจารณ์ว่าฝ่ายการเมืองสามารถเข้ามาแทรกแซง สตช. ได้ ผ่านการแต่งตั้ง ผบ.ตร. จึงทำให้มีความพยายามที่จะลดอำนาจการแต่งตั้งของฝ่ายการเมือง และเพิ่มอำนาจของฝ่ายข้าราชการตำรวจแทน โดยครั้งล่าสุดคือการออก พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 ที่โอนอำนาจเห็นชอบการแต่งตั้ง ผบ.ตร. ให้คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) แทน ก.ต.ช. โดยในกรรมการ ก.ตร. มีทั้งหมด 16 คน ซึ่งมีถึง 10 คนที่เป็นหรือเคยเป็นตำรวจ มีนายกรัฐมนตรีคนเดียวที่มาจากฝ่ายการเมือง ที่เหลืออีก 5 คนเป็นข้าราชการและผู้ทรงคุณวุฒิที่ไม่เคยเป็นตำรวจ เมื่อเทียบกับ ก.ต.ช. ซึ่งมีกรรมการฝ่ายตำรวจเพียงคนเดียวจากทั้งหมด 11 คน ส่วนฝ่ายการเมืองมี 3 คน ที่เหลือเป็นข้าราชการ 3 คน และผู้ทรงคุณวุฒิ 4 คน เท่ากับว่าเป็นการปรับให้คณะกรรมการเป็นคนในองค์กรมากขึ้น

ส่วนการตรวจสอบงานสอบสวนเป็นอำนาจหน้าที่ของผู้บังคับบัญชา ซึ่งมีข้อวิจารณ์ว่าไม่ค่อยเปิดโอกาสให้หน่วยงานภายนอกเข้ามามีบทบาทมากนัก[49] และแม้ว่าตั้งแต่ปี 2541 ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบและติดตามการบริหารงานตำรวจโดยมีกรรมการจากภาคประชาชนด้วย แต่ก็พบปัญหาว่าไม่ได้มีตัวแทนประชาชนที่ทำการตรวจสอบจริง เพราะกรรมการมาจากการคัดเลือกโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ[50]) ส่วนคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจที่จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 ก็ดูจะมีข้อจำกัดที่ตรวจสอบได้เฉพาะเรื่องร้องเรียนจากประชาชนซึ่งส่วนใหญ่อาจทราบเพียงปัญหาทั่วไป เช่น การไม่รับแจ้งความ[51] แต่การบิดเบือนการสอบสวนมักเป็นกระบวนการภายในที่ไม่ค่อยเป็นที่รับรู้ของผู้เสียหายหรือผู้ต้องหา 

ปฏิรูปยุติธรรมหวังให้เป็น ’อิสระ’ 
แต่กลับ ‘เอกเทศ’ จากความรับผิดต่อประชาชน

อัยการ

กรมอัยการเองแต่เดิมอยู่สังกัดกระทรวงมหาดไทย จนกระทั่งการรัฐประหารใน พ.ศ. 2534 คณะรักษาความสงบแห่งชาติได้แยกองค์กรออกมาเป็นสำนักงานอัยการสูงสุด มีสถานะเป็นหน่วยงานราชการอิสระ ไม่สังกัดกระทรวง ภายใต้การกำกับดูแลของนายกรัฐมนตรี โดยอ้างเหตุผลสำคัญคือเพื่อมิให้อิทธิพลทางการเมืองมาก้าวก่ายการดำเนินคดี ต่อมาหลังการรัฐประหารปี 2549 และ 2557 ก็มีการอ้างเหตุผลดังกล่าวในการกำหนดให้องค์กรอัยการเป็นองค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญปี 2550 และ 2560 ที่มีอิสระด้านการบริหารจัดการ งบประมาณและบุคลากร โดยมีคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) กำกับดูแลการบริหารบุคลากร ซึ่งรวมถึงการแต่งตั้งหรือเพิกถอนอัยการสูงสุดด้วย

แต่หลักประกันอิสระข้างต้นไม่ได้มาพร้อมกับการยึดโยงกับประชาชนเท่าใดนัก โดยจากกรรมการ ก.อ. ทั้งหมด 15 มีคนจากฝ่ายอัยการถึง 12 คน แบ่งเป็นผู้บริหารองค์กรอัยการ 6 คน ผู้ทรงวุฒิที่ดำรงตำแหน่งอัยการ 4 คน ผู้ทรงคุณวุฒิอดีตอัยการอีก 2 คน และส่วนที่เหลือเป็นผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก 2 คนและประธานอีก 1 คนซึ่งเคยเป็นข้าราชการ โดยอาจเป็นอัยการหรือไม่ก็ได้ และในช่วงที่ผ่านมา วุฒิสภาที่มีอำนาจเห็นชอบการแต่งตั้งหรือเพิกถอนอัยการ ก็มีที่มาจากการแต่งตั้งที่ไม่ยึดโยงกับประชาชนเช่นกัน 

ในขณะที่การตรวจสอบคำสั่งคดีในปัจจุบันมีระบบที่เปิดให้ฝ่ายตำรวจทำความเห็นแย้งในกรณีที่เห็นว่าควรสั่งฟ้อง แต่อัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง แต่คำสั่งสุดท้ายจะขึ้นอยู่กับดุลพินิจของอัยการสูงสุด และการตรวจสอบข้อเท็จจริงในกรณีคำสั่งคดีที่ไม่ชอบหรือมีความผิดพลาดก็ยังมักทำโดยตั้งคณะกรรมการสอบสวนที่มีแต่อัยการด้วยกันเอง โดยฝ่ายอัยการอ้างว่าบุคคลภายนอกไม่มีความเข้าใจถึงการทำงานของอัยการ[52] นอกจากนี้กระบวนการต่างๆ ยังไม่มีกลไกความรับผิดโดยตรงต่อผู้เสียหาย เช่น ในกรณีมีคำสั่งไม่ฟ้อง อัยการยังไม่ต้องส่งพยานหลักฐานและอธิบายเหตุผลให้แก่ผู้เสียหายเข้าใจ[53] หรือในกรณีคำสั่งไม่ฟ้องที่มีข้อผิดพลาด ก็ยังไม่มีข้อกฎหมายที่เปิดให้เปลี่ยนเป็นคำสั่งฟ้องได้ด้วยเหตุผลว่าพบข้อผิดพลาดในคำสั่งเดิม

ศาล

ส่วนองค์กรตุลาการได้แยกออกจากกระทรวงยุติธรรมตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งเป็นไปตามหลักการแบ่งแยกอำนาจตุลาการออกจากอำนาจบริหาร แต่ในปัจจุบัน ฝ่ายตุลาการไทยแทบไม่มีจุดเกาะเกี่ยวกับประชาชนที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย

การแต่งตั้งเลือกประธานศาลฎีกาในฐานะประมุขฝ่ายตุลาการเป็นเรื่องภายในของฝ่ายตุลาการ ที่เสนอชื่อโดยคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ซึ่งประกอบไปด้วยกรรมการทั้งหมด 15 คน แบ่งเป็นประธานศาลฎีกา ตัวแทนผู้พิพากษาศาลฎีกา 6 คน ศาลอุทธรณ์ 4 คน และศาลชั้น 2 คน ซึ่งมาจากการเลือกตั้งของผู้พิพากษาในแต่ละชั้นศาล และมีผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกอีก 2 คนจากการเลือกของผู้พิพากษาทั่วประเทศ และต้องได้รับเห็นชอบจากวุฒิสภา (ที่ไม่ได้มีที่มาเชื่อมโยงกับประชาชน) ทั้งนี้ แต่เดิมนั้น ก.ต. เคยมีความเชื่อมโยงกับประชาชนมากกว่าปัจจุบัน โดยในปี 2543 กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 2 คน มีที่มาจากการคัดเลือกและเห็นชอบโดยวุฒิสภา ซึ่งมาจากการเลือกตั้งในเวลานั้น

องค์กรตุลาการยังเน้นใช้กลไกตรวจสอบภายในเช่นเดียวกับตำรวจและอัยการอีกด้วย โดยมี ก.ต. ทำหน้าที่ตรวจสอบจริยธรรมและวินัยของผู้พิพากษา และมีระบบที่ให้ผู้พิพากษาหัวหน้าตรวจร่างคำพิพากษาและให้คำแนะนำปรับปรุง ในทางตรงข้าม กลับไม่ค่อยมีกลไกสร้างความโปร่งใสหรือเอื้อให้เกิดการตรวจสอบความเหมาะสมของคำพิพากษาจากภายนอก เช่น ไม่เปิดเผยคำพิพากษาคดีเป็นการทั่วไป หรือเก็บยี่ต๊อก (บัญชีมาตรฐานโทษ) เป็นเอกสารลับภายในศาล[54]   

ปัจจัยเบื้องหลังสำคัญของการเพิ่มความเป็นเอกเทศข้างต้นก็คือชุดวิธีคิดของบุคลากรภายใน ที่มองว่าการตรวจสอบและการมีส่วนร่วมจากภายนอกไม่ได้เป็นส่วนสำคัญของเกราะป้องกันความอิสระ แต่เป็นอุปสรรคต่ออิสระในการทำงาน ดังจะเห็นจากการที่ตัวแทนองค์กรเหล่านี้ออกมาคัดค้านข้อเสนอให้เพิ่มสัดส่วนกรรมการ ‘คนนอก’ ในคณะกรรมการทั้งข้าราชการตำรวจ อัยการ และตุลาการ โดยอ้างเหตุผลที่คล้ายกันว่าบุคคลภายนอกไม่ได้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการทำงาน และอาจเป็นการเปิดช่องให้เกิดการแทรกแซงการทำงานได้ง่ายขึ้น[55]

อย่างไรก็ดี ความเป็นเอกเทศดูจะไม่สามารถรับประกันความเป็นอิสระได้ โดยเฉพาะเมื่อเป็นการแทรกแซงจาก ‘คนใน’ ซึ่งการตรวจสอบกันเองภายในอาจถูกมองได้ว่ามีการช่วยเหลือกัน ไม่เพียงพอที่จะสร้างความน่าเชื่อถือแก่สังคมได้ ดังเช่นกรณีผู้พิพากษา คณากร เพียรชนะ ที่เขียนแถลงการณ์ว่าอธิบดีผู้พิพากษาภาค 9 ผู้บังคับบัญชาของตนมีคำสั่งให้แก้คำพิพากษาในคดีที่ตนรับผิดชอบ เป็นบันทึกลับซึ่งไม่เป็นไปตามระเบียบขั้นตอน แต่สุดท้าย ก.ต. ให้ความเห็นว่าไม่มีมูล จึงไม่มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง[56] หรือในคดีบอส อยู่วิทยา คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงของอัยการมีความเห็นว่าคำสั่งไม่ฟ้องของรองอัยการสูงสุดเป็นไปตามกฎระเบียบภายในขององค์กรอัยการ[57] แต่คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่นำโดยนายวิชา มหาคุณ กลับมีบทสรุปว่าคำสั่งไม่ฟ้องเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและน่าเชื่อว่ามีเจตนาช่วยเหลือผู้ต้องหาไม่ให้รับโทษ[58] ซึ่งภายหลังนำไปสู่การสอบจริยธรรมและลงโทษอัยการที่สั่งคดีพร้อมกับมีการปรับปรุงกฎระเบียบภายในอัยการ

ปัญหาฝังในวิถีปฏิบัติ ยากที่แก้ด้วยเพียงกฎหมาย

ปัญหากระบวนการยุติธรรมทางอาญาบางประการเป็นผลมาจากวิถีปฏิบัติที่ก่อตัวขึ้นบนบริบททางประวัติศาสตร์ ซึ่งถึงแม้ภายหลังมีความพยายามจะปรับแก้ไขตัวบทกฎหมายแล้วก็ตาม วิถีปฏิบัติบางประการก็ยังคงดำรงอยู่

ตัวอย่างหนึ่งคือความโน้มเอียงไปทางระบบกล่าวหา ซึ่งได้รับอิทธิพลจากประเทศอังกฤษที่เป็นต้นแบบของระบบกล่าวหา โดยในระยะเริ่มแรกของการปฏิรูป รัชกาลที่ 5 ได้ส่งบุคลากรไปศึกษากฎหมายที่ประเทศอังกฤษและนำเอาแนวคิดระบบกล่าวหามาใช้จัดทำกฎหมายอาญาของไทย แม้ต่อมาได้มีการจัดทำประมวลวิธีพิจารณาความอาญาให้มีลักษณะไต่สวนมากขึ้น แต่วิธีคิดและแนวปฏิบัติแบบกล่าวหายังคงแฝงฝังในกระบวนการยุติธรรมไทยดังที่กล่าวถึงตอนต้น[59]

ในชั้นสอบสวน พนักงานสอบสวนยังมุ่งแสวงหาหลักฐานกล่าวโทษกับผู้ต้องหา อาจไม่ได้รวบรวมหลักฐานที่เป็นคุณต่อผู้ต้องหา ดังจะเห็นได้จากข้อบังคับกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยระเบียบการดำเนินคดีอาญา พ.ศ. 2523 ที่กำหนดว่า “ไม่จำเป็นจะต้องสอบสวนพยานของผู้ต้องหาเพราะพนักงานสอบสวนมีหน้าที่จะพิจารณาคดีว่าพอมีมูลดำเนินการฟ้องหรือไม่เป็นหลัก” และแม้ในปี 2538 มีการแก้ไขข้อบังคับให้มีสิทธิยื่นขอให้สอบสวนพยานฝ่ายผู้ต้องหา แต่จนถึงปัจจุบัน ก็ยังคงมีรายงานศึกษาที่กล่าวถึงปัญหาดังกล่าว[60]   

อัยการบางส่วนเองก็ยังเน้นมุ่งเน้นที่จะเอาผิดจำเลยเป็นหลัก โดยเลือกไม่บรรยายข้อเท็จจริงหรือหลักฐานบางชิ้นที่เป็นคุณต่อกับจำเลย หรือในขั้นการตรวจสอบพยานหลักฐานก่อนสืบพยานในชั้นศาล ก็มีความพยายามปิดบังพยานหลักฐานมิให้ฝ่ายจำเลยได้รับรู้ถึงหลักฐานที่ใช้ในชั้นศาล[61] เช่น ใช้คำที่คลุมเครือว่า “บรรดาสรรพเอกสารในสำนวนการสอบสวนคดี”[62] ทำให้ฝ่ายจำเลยไม่สามารถเตรียมสู้คดีได้อย่างเท่าเทียม ผิดกับเจตนารมณ์ของบทบัญญัติในกฎหมาย  

หรือในชั้นการพิจารณาคดี ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาให้ศาลเรียกพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้เองดังเช่นในระบบไต่สวน แต่ก็พบว่ายังไม่ใช่วิถีปฏิบัติของศาลไทย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้พิพากษายึดถือจริยธรรมแบบระบบกล่าวหาที่ต้องแสดงตัวเป็นกลางอย่างเคร่งครัด ซึ่งการเรียกหลักฐานพยานเองอาจก่อให้เกิดข้อครหาได้ว่าเป็นการช่วยเหลือฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด[63]    

ปัญหาฝังในวิถีปฏิบัติ ยากที่แก้ด้วยเพียงกฎหมาย

แน่นอนว่าปัญหาความยุติธรรมมิได้เกิดขึ้นเพียงเพราะวิถีปฏิบัติที่โน้มเอียงไปทางระบบการกล่าวหา แต่ยังเป็นผลจากการไม่ได้ให้สำคัญกับสิทธิต่างๆ ในการต่อสู้คดีอย่างเท่าเทียม ต่างจากที่เขียนไว้ในกฎหมาย

ตัวอย่างหนึ่งคือสิทธิได้รับการพิจารณาคดีโดยเปิดเผยซึ่งมีการรับรองไว้ในกฎหมายตั้งแต่ พ.ศ. 2477 แต่ในทางปฏิบัติ ห้องเวรชี้ในศาลบางแห่งเป็นเขตหวงห้ามที่ไม่เปิดให้แม้แต่ญาติและทนายของจำเลยเข้าร่วมรับฟัง เว้นแต่ต้องขออนุญาตศาลเป็นรายๆ ไป ทำให้จำเลยไม่ได้รับความช่วยเหลือจากทนายอย่างเหมาะสม[64] ทั้งนี้ดูเหมือนว่าทนายบางท่านเองยังคงเข้าใจและยอมรับว่าการปิดกั้นของห้องเวรชี้เป็นแนวปฏิบัติที่เป็นปกติ[65] หรืออัยการบางท่านตีความว่าแนวปฏิบัติห้องเวรชี้ดังกล่าวไม่ขัดกับกฎหมายที่กำหนดให้พิจารณาต่อหน้าจำเลยเท่านั้น[66]

นอกจากนี้ สิทธิที่จะได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ไว้ก่อน เป็นอีกสิทธิที่มีการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญหลายฉบับรวมถึงฉบับปัจจุบันด้วย แต่มีปัญหาค่อนข้างมากในทางปฏิบัติ โดยหลักการของสิทธินี้ไม่ควรมีการฝากขังผู้ต้องหาในระหว่างดำเนินคดี ยกเว้นว่าเจ้าหน้ารัฐมีหลักฐานที่ทำให้เชื่อได้ว่าผู้ต้องหามีโอกาสจะหลบหนีสูง ทำลายหลักฐาน หรือไปก่อความผิดอื่นเพิ่ม แต่การดำเนินงานจริงดูจะมีลักษณะแบบ ‘ขังไว้ก่อน’ โดยเฉพาะในคดีที่มีอัตราโทษสูง และกลายเป็นว่าภาระพิสูจน์ในการขอปล่อยตัวกลับตกเป็นของผู้ต้องหาที่จะต้องทำให้ศาลเชื่อได้ว่าจะไม่หลบหนีหรือไปทำลายหลักฐาน ซึ่งวิธีหลักก็ยังคงเป็นการยื่นเงินประกันตัวเพื่อเป็นหลักประกันว่าจะไม่หลบหนี[67]

ยุติธรรมที่บิดเบี้ยวคือเนื้อในของจารีต ‘รัฐเป็นใหญ่’

ปัญหากระบวนการยุติธรรมไทยหลายประการสามารถก่อตัวและดำรงอยู่ได้ภายใต้จารีตปกครองแบบ ‘ให้รัฐเป็นใหญ่’ หรือที่เรียกว่า ‘นิติรัฐอภิสิทธิ์’ ซึ่งมีแก่นหลักที่ให้รัฐมีอภิสิทธิ์ใช้อำนาจและกฎหมายลงโทษรุนแรง รวมถึงละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้เพื่อปกป้อง ‘ผลประโยชน์และความมั่นคงของรัฐ’ ตรงข้ามกับหลักนิติธรรมที่เน้นการจำกัดการใช้อำนาจรัฐโดยอำเภอใจและการปกป้องสิทธิพื้นฐานของคน[68]

ภายใต้จารีต ‘รัฐเป็นใหญ่’ กระบวนยุติธรรมทางอาญาย่อมแปลงสภาพกลายเป็นเครื่องมือของรัฐได้โดยง่าย โดยเมื่อการบรรลุ ‘ผลประโยชน์และความมั่นคงของรัฐ’ บดบังความสำคัญของการค้นหาความจริงและการให้สิทธิต่อสู้คดี รัฐก็พร้อมจะใช้กฎหมายและเจ้าหน้าที่รัฐปรามปราบ เอาผิดและลงโทษรุนแรงเกินเหตุเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ต้องการ ดังจะเห็นได้จากกรณีศึกษาต่างๆ อย่างการทำสงครามปราบยาเสพติดที่มีการฆ่าตัดตอนผู้ต้องหาจำนวนมาก[69] หรือการทวงคืนผืนป่าโดยการรุกและไล่ฟ้องชาวบ้าน[70]

ยุติธรรมที่บิดเบี้ยวคือเนื้อในของจารีต ‘รัฐเป็นใหญ่’

ศาลเองก็ดูจะพร้อมอ่อนโอนผ่อนตามสภาวะของผู้ถือครองอำนาจรัฐ ยอมรับอำนาจของคณะรัฐประหารที่ทำลายหลักนิติธรรมทั้งหมดและตีความกฎหมายให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เช่น ในคดีที่จำเลยถูกควบคุมตัวตามกฎอัยการศึก และ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2560 จำเลยได้ให้การรับสารภาพโดยพนักงานสอบสวนไม่มีการแจ้งสิทธิที่จะไม่พูด-ตอบคำถาม แต่ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าการสอบปากคำเป็นเพียงการสอบถามเบื้องต้นในชั้นสืบสวนเท่านั้น เจ้าหน้าที่ไม่จำต้องแจ้งสิทธิใดๆ และยอมรับคำให้การดังกล่าวเป็นหลักฐาน แตกต่างจากคดีอาญาทั่วไปที่ศาลฎีกาจะไม่รับคำให้การในกรณีที่ไม่มีการแจ้งสิทธิดังกล่าว[71] 

อภิสิทธิ์สำคัญของรัฐอีกประการที่มาควบคู่กันคือการให้อภิสิทธิ์พ้นผิดลอยนวลแก่บุคคลในตำแหน่งสูง เจ้าหน้าที่รัฐและเครือข่าย โดยเฉพาะในกรณีที่เป็นการปฏิบัติหน้าที่ในนามของรัฐ เพื่อปกป้องความชอบธรรมในการใช้อำนาจของรัฐ[72] โดยกระบวนการยุติธรรมดูเหมือนจะพร้อมวางเฉยให้คดีถูกหลงลืมไป ไม่สอบสวนหาผู้กระทำผิด ปล่อยให้หลักฐานต่างๆ หายไป ทั้งในกรณีสั่งสังหารหมู่ประชาชนและนักศึกษา 6 ตุลาคม 2519 การฆ่าตัดตอนในระหว่างการปราบปรามยาเสพติด หรือการซ้อมทรมานจนถึงแก่ชีวิตในค่ายทหาร[73]

เห็นได้ว่าความไม่เป็นธรรมที่ซุกซ่อนในกระบวนการยุติธรรมก่อตัวและดำรงอยู่ได้ภายใต้ปัจจัยหลายประการที่พัวพันกัน ตั้งแต่ความขัดแย้งและไม่เชื่อใจกันระหว่างองค์กรยุติธรรมที่ทำให้การปฏิรูปหลายอย่างต้องหยุดนิ่ง วิธีคิดของคนในกระบวนการยุติธรรมที่ดูจะไม่ไว้ใจการตรวจสอบจากตัวแทนทางสังคม ทำให้ขาดการตั้งคำถามถึงความไม่เป็นธรรมของวิถีปฏิบัติที่ทำกันมา ตลอดจนจารีตปกครองที่หน่วยงานต่างๆ พร้อมจะรับใช้อำนาจรัฐมากกว่าการปกป้องความเป็นธรรมแก่คนทั่วไป  

การจะฟื้นความยุติธรรมให้เป็นที่ประจักษ์แก่สังคมจึงไม่สามารถทำได้ด้วยการแก้แค่ตัวบทกฎหมายเพียงอย่างเดียวหรือแค่เรียกร้องให้สังคมไว้ใจหน่วยงานยุติธรรม แต่น่าจะต้องเริ่มจากการเปิดให้คนในสังคมได้ตรวจสอบการทำงานหรือเข้าไปตั้งคำถามและร่วมกำหนดกติกาภายในและระหว่างองค์กรต่างๆ ตลอดจนการฟื้นการดำเนินคดีความต่างๆ ที่เกี่ยวกับการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อคืนความเป็นธรรมแก่สังคม


ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) (TIJ) และ 101 PUB – 101 Public Policy Think Tank ในโครงการศึกษาเงื่อนไขเชิงระบบในการปฏิรูปกระบวนยุติธรรม (System Diagnostic Approach: the Road to Unlock Thai Justice Reform)  

 

References
1 ข้อมูลจาก World Justice Project. Rule of Index 2023, https://worldjusticeproject.org/rule-of-law-index/
2 ต่อภัสสร์ ยมนาค และคณะ. โครงการแนวทางการสร้างความยุติธรรมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง. รายงานวิจัยสนับสนุนโดยสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน). 2565
3 ธานี ชัยวัฒน์. ในวันที่ชีวิตเลวร้าย ‘ความยุติธรรม’ ต้องเป็นสวัสดิการพื้นฐานให้ทุกคนเข้าถึงได้[ภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์ ผู้สัมภาษณ์]. The 101 World. วันที่ 26 มิถุนายน 2566,  https://www.the101.world/multiverse-of-justice-thanee/(เข้าถึงเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2566)
4 กรุงเทพธุรกิจ, วันที่ 10 สิงหาคม 2563, “กล่องเซิร์ฟเวอร์วงจรปิด ‘บ่อน4ศพ’ เปิดไม่ได้-ถูกทุบทำลาย,” https://www.bangkokbiznews.com/news/892999 (เข้าถึงเมื่อวันที่ 15 พฤจิกายน 2566)
5 คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในความสนใจของประชาชน. บทสรุปรายงานผลการตรวจการสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย.2563. https://thaipublica.org/wp-content/uploads/2020/09/วรยุทธ-อยู่วิทยา.pdf
6 สุพรรณี อ่วมวงษ์. การเปลี่ยนผ่านสู่ชีวิตในเรือนจาของ “แพะ” ในคดีอาญา.วิทยานิพนธ์หลักสูตรปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต. รัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลับ.2561.
7 เจณิตตา จันทวงษา.จับตา พ.ร.บ.ทรมานอุ้มหาย: จุดจบระบอบลอยนวลพ้นผิด?. The 101 World. 23 กุมภาพันธ์ 2565, https://www.the101.world/torture-enforced-disappearance-bill/ (เข้าถึงเมื่อวันที่ 23 ธันวามคม 2566)
8 ข้อมูลจากกรมราชทัณฑ์ 2566.
9 ข้อมูลจากกรมราชทัณฑ์ 2566.
10 น้ำแท้ มีบุญสล้าง. การปฏิรูประบบสอบสวนคดีอาญาตามมาตรฐานสากล. ในรายงานการพิจารณาศึกษาเรื่องการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญาในชั้นสอบสวน ของคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร. 2563
11 ในระหว่างดำเนินคดี ตำรวจและอัยการสามารถขอฝากขังผู้ต้องหาได้แค่ฝากเดียว 7 วันในคดีที่มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ไม่เกิน 6 ฝาก (รวมไม่เกิน 48 วัน) ในคดีที่มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และไม่เกิน 8 ฝาก (รวมไม่เกิน 84 วัน) ในคดีที่มีโทษจำคุกเกิน 10 ปีขึ้นไป ซึ่งหากครบกำหนดฝากครั้งสุดท้ายแล้ว ยังไม่มีการสั่งฟ้อง จะต้องปล่อยตัวผู้ต้องหา
12 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. โครงการพัฒนาตัวชี้วัดด้านระยะเวลาเพื่อส่งเสริมหลักนิติธรรมในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา.เสนอต่อสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน). 2562.
13 อ้างแล้วนเชิงอรรถที่ 10.
14 น้ำแท้ มีบุญสล้าง. ความยุติธรรมล่าช้าราคาแพง เมื่อ “เจ้าหน้าที่บิดเบือนทำลายพยานหลักฐาน”. เอกสารเผยแพร่ข่าวสารและความรู้ด้านกระบวนการยุติธรรม สถาบันนิติวัชร์.2566
15 อ้างแล้วในเชิงอรรถที่ 10.
16 ภูมินทร์ บุตรอินทร. การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมไทย. กรุงเทพฯ:เปนไท, 2556.
17 สำนักงานกิจการยุติธรรม.รายงานสถานการณ์อาชญากรรมและกระบวนการยุติธรรมประจำปีพ.ศ. 2565
18 ข้อมูลจาก Supreme Court of Japan. Outline of Criminal Justice in JAPAN (2023)
19 ข้อมูลจาก The Crown Prosecution Service (2022), https://www.cps.gov.uk/ (เข้าถึงเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2566)
20 Hodgson, Jacqueline. The democratic accountability of prosecutors in England and Wales and France : independence, discretion and managerialism. In: Langer, Maximo and Sklansky, David Alan, (eds.) Prosecutors and Democracy: A Cross-National Study. Cambridge University Press. 2016
21 อ้างแล้วในเชิงอรรถที่ 10
22 สำนักงานข่าวอิศรา, วันที่ 22 มกราคม 2567, “ชัดๆ เปิดข้อเสนอสอบวินัยลงโทษ ‘6 บิ๊กอัยการ-พวก’ สั่งไม่ฟัองคดีรุกป่า 6 พันไร่,” https://www.isranews.org/article/isranews-scoop/125663-invesreport.html (เข้าถึงเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2567)
23 ปกป้อง ศรีสนิท. ทางออกกรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีของอัยการที่ผิดพลาด. The 101 World. 21 กันยายน 2563, https://www.the101.world/reconsidering-prosecution-decision/ (23 ธันวาคม 2566)
24 กุลพล พลวัน. ”การพิจารณาคดีระบบกล่าวหาและระบบไต่สวนในกฎหมายไทยที่มีผลกระทบต่อการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน” วารสารศาลรัฐธรรมนูญ, 5(13), 34-50. 2546
25 ระบบกล่าวหาแตกต่างจากระบบไต่สวน (Inquisitorial System) ที่ศาลจะทำงานเชิงรุกมากกว่า โดยหากมีข้อสงสัยในข้อเท็จจริงนอกเหนือจากที่คู่ความเสนอ ก็จะเรียกพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องมาไต่สวน
26 อ้างแล้วในเชิงอรรถที่ 24.
27 สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย. ผู้หญิงในโลกกำแพง: รายงานสำรวจผู้ต้องขังหญิงในประเทศไทย ปี พ.ศ. 2561. (กรุงเทพฯ: สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย
28 ศุภกิจ แย้มประชา. “ทบทวนหลักกฎหมายและแนวปฏิบัติของไทย กรณีจำเลยให้การรับสารภาพต่อศาล,” ดุลพาห. ปีที่ 63 เล่มที่ 2: 2559.
29 เพิ่งอ้าง
30 เพิ่งอ้าง.
31 เพิ่งอ้าง.
32 เพิ่งอ้าง.
33 ปกป้อง ศรีสนิท.‘ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมไทย’[ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้สัมภาษณ์].The 101 World. วันที่ 16 ตุลาคม 2562 ,https://www.youtube.com/watch?v=6eNPGrvCW4I&ab_channel=The101world (เข้าถึงเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2566)
34 สำนักงานกิจการยุติธรรม.รายงานสถานการณ์อาชญากรรมและกระบวนการยุติธรรม ประจําปีพ.ศ. 2565
35 ข้อมูลจำนวนพนักงานสอบสวนในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 จากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ข้อมูลจำนวนอัยการจากรายงานประจำปี 2564 สำนักงานอัยการสูงสุด และจำนวนผู้พิพากษาจากรายงานประจำปีงบประมาณ 2565 ศาลยุติธรรมและสำนักงานศาลยุติธรรม
36 คำนวณโดยใช้จำนวนวันทำการ 242 วัน
37 ผู้จัดการออนไลน์, วันที่ 27 กรกฎาคม 2560, “บช.น.ร้องพนักงานสอบสวนแบก 200 คดีต่อปี เกรงอัตวินิบาตกรรม,” https://mgronline.com/crime/detail/9600000076550 (เข้าถึงวันที่ 30พฤศจิกายน 2566)
38 สำนักข่าวอิศรา. 9 เมษายน 2559. “ศาลยกฟ้องคดีเพียบ! เหตุผู้ต้องหาไร้ทนาย-พนง.สอบสวน ตร.ไม่ถามก่อน,” https://www.isranews.org/content-page/item/46133-police_46133.html (9 ธันวาคม 2566)
39 งานเสวนาเรื่อง ‘ห้องเวรชี้ : ลดปริมาณคดีหรือลดทอนสิทธิ?’ วันที่ 20 พฤษภาคม 2565 จัดโดยนักศึกษาปริญญาโท รายวิชากฎหมายการบริหารงานยุติธรรม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. https://www.youtube.com/watch?v=jrF7OipDUek (เข้าถึงเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2566) และ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw). 3 ตุลาคม 2557.ห้องเวรชี้ : อุตสาหกรรมยุติธรรม. https://ilaw.or.th/node/3271 (เข้าถึงเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2566)
40 Yampracha, S. (2016) Understanding Thai Sentencing Culture Ph.D Thesis, University of Strathclyde, UK.
41 กุลพล พลวัน. อัยการจะร่วมการสอบสวน คดีอาญาด้วยวิธีใด. มติชนออนไลน์. วันที่ 1 ตุลาคม 2560, https://www.matichon.co.th/politics/news_716897 (เข้าถึงเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2566)
42 มติชนออนไลน์, วันที่ 17 ตุลาคม 2560. “5 ปมแย้งอัยการกรองสำนวนตำรวจ ‘รองผบก.กองคดีอาญา’ วิพากษ์ปฏิรูป,” https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_698178 (เข้าถึงเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2566)
43 จากการสัมภาษณ์ พันตำรวจเอก ดร.มานะ เผาะช่วย อดีตรองผู้บังคับการตำรวจนครบาล8 วันที่ 6 ธันวาคม 2566 และมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 20 – 26 ตุลาคม 2560. “โล่เงิน : มองต่างมุม “ตำรวจ-อัยการ” ให้”อัยการ” กรองก่อนแจ้งข้อหา ทำลายอิสระหรือรอบคอบ?!,” https://www.matichonweekly.com/column/article_61427 (เข้าถึงเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2566)
44 จากการสัมภาษณ์ ดร.น้ำแท้ มีบุญสล้าง วันที่ 28 กันยายน 2566
45 อารีย์ กิติสุธาธรรม. การสอบสวนกับการอำนวยความยุติธรรม: ศึกษาเฉพาะกรณีบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนและการสอบสวนความผิดที่เกิดจากการกระทำในคราวเดียวกัน. เอกสารวิชาการอบรมหลักสูตร “ผู้พิพากษาหัวหน้าศาล” รุ่นที่ 17 วิทยาลัยข้าราชการตุลาการศาลยุติธรรม สถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม สำนักงานศาลยุติธรรม พ.ศ.2561
46 หนังสือเรื่องร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. …จากสำนักงานตำรวจแห่งชาติเข้าสู่คณะรัฐมนตรี วันที่ 21 สิงหาคม 2561 และ Thai PBS, 13 กันยายน 2563, “เปิด 14 ข้อสังเกต สตช.ค้าน พ.ร.บ.ตำรวจฯ,” https://www.thaipbs.or.th/news/content/296389 (เข้าถึงเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2566)
47 มติชนออนไลน์, 26 มีนาคม 2559, “ตุลาการค้าน ร่างพ.ร.บ.ชะลอฟ้อง ประธานศาลฎีกา ยื่นหนังสือห่วงใย ถึง”พรเพชร”,” https://www.matichon.co.th/local/crime/news_84930 (เข้าถึงเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2566) และคณะอนุกรรมการศึกษาผลกระทบกฎหมายเกี่ยวกับการใช้มาตรการชะลอฟ้องและมาตรการต่อรองคำสารภาพ. “รายงานศึกษาผลกระทบกฎหมายเกี่ยวกับการใช้มาตรการชะลอฟ้องและมาตรการต่อรองคำสารภาพ,” วารสารดุลพาห.ปีที่ 52 เล่ม 1 (มกราคม-เมษายน 2548): 3-89.
48 วิพล กิติทัศนาสรชัย, จะฟ้องอยู่แล้ว ชะลอไว้ทำไม. ข่าวประชาสัมพันธ์. สถาบันนิติวัชร์ สำนักงานอัยการสูงสุด, https://www3.ago.go.th/nitivajra/pre-trial-diversion/ (เข้าถึงเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2566)
49 ศิริวรรณบุศย์ พรรณชฎา. “แนวการปฏิรูประบบงานสอบสวนของตำรวจไทย”. วารสารสังคมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 46 (2):131-46.2565
50 ยังมีข้อวิจารณ์ด้วยว่ามีการตั้งแต่ผู้อิทธิพลท้องถิ่นเข้ามาเป็น กต.ตร. ถึงการคัดเลือก ดูใน คม ชัด ลึก, 19 มีนาคม 2563. “กต.ตร. “กระเป๋าสตางค์ตำรวจ”” https://www.komchadluek.net/scoop/423109 (เข้าถึงเมื่อวันที่ 19 ธันวาม 2566
51 ไทยโพสต์. 8 ตุลาคม 2566, “กรรมการรับเรื่องร้องเรียนตำรวจ กับดาบในมือ ตรวจสอบสีกากี” https://www.thaipost.net/articles-news/462601/ (เข้าถึงเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2566)
52 โพสต์ทูเดย์.  2 มีนาคม 2566. “อสส.แจงปมไม่ตั้งคนนอกร่วมตรวจสอบคำสั่งไม่ฟ้อง 6 คดีสำคัญ” https://www.posttoday.com/politics/domestic/691310 (เข้าถึงเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2566
53 ศิริพล กุศลศิลป์วุฒิ และสุรวุฒิ รังไสย์. “มาตรการทางกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายหรือเหยื่ออาชญากรรมเนื่องจากคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาของพนักงานอัยการ,” วารสารนิติศาสตร์และสังคมท้องถิ่น. ปีที่ 2 ฉบับที่ 1: 2561.
54 ดูเพิ่มเติมใน ศุภณัฏฐ์ ศศิวุฒิวัฒน์. ‘คนล้นคุก’: การจองจำในจารีตยุติธรรมแบบไทยๆ. 101 PUB. 2566, https://101pub.org/thai-norm-overimprisonment/
55 ตัวอย่างเช่น การออกมาคัดค้านการเพิ่มสัดส่วนกรรมการคนนอกในการร่างรัฐธรรมนูญปี 2558 ดูได้ในโพสต์ทูเดย์, 23 มิถุนายน 2558. “อัยการล่าชื่อค้านร่างรธน.” https://www.posttoday.com/politics/372135 (เข้าถึงเมื่อวันที่ 13 ธันวามคม 2566) และผู้จัดการออนไลน์, 12 กรกฎาคม 2558. “ผู้พิพากษายื่นจม.เปิดผนึกวันนี้ ค้านคนนอกนั่งก.ต.การเมืองล้วง,” https://mgronline.com/daily/detail/9580000078833 (เข้าถึงเมื่อวันที่ 13 ธันวามคม 2566)
56 ผู้จัดการออนไลน์, วันที่ 18 มีนาคม 2564,“ก.ต.ยุติสอบวินัย ภายหลังผู้พิพากษา “คณากร” ยิงตัวเองดับ,” https://mgronline.com/crime/detail/9630000027214 (เข้าถึงเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2566)
57 ผู้จัดการออนไลน์. 4 สิงหาคม 2563, “อัยการแถลงผลสอบ “เนตร นาคสุข” สั่งไม่ฟ้อง “บอส” ยึดตามระเบียบ แต่ให้ตั้งข้อหาเสพโคเคน-ขับรถเร็วเพิ่ม หลังพบหลักฐานใหม่” https://mgronline.com/crime/detail/9630000079549 (เข้าถึงเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2566)
58 อ้างแล้วในเชิงอรรถที่ 5.
59 อ้างแล้วในเชิงอรรถที่ 24
60 เพิ่งอ้าง. และสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.). ข้อเสนอการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญา. 2566
61 เสกสรรค์ ศิลปะวิสุทธิ์. ปัญหาเกี่ยวกับการตรวจพยานหลักฐานในคดีอาญา.เอกสารวิชาการอบรมหลักสูตร “ผู้พิพากษาหัวหน้าศาล” รุ่นที่ 18 วิทยาลัยข้าราชการตุลาการศาลยุติธรรม สถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม สำนักงานศาลยุติธรรม พ.ศ.2562
62 แม้ว่าศาลยุติธรรมได้พยายามแก้ปัญหาการคำคลุมเครือว่าบรรดาสรรพเอกสารที่ทำให้ไม่รู้ว่ามีเอกสารใดบ้าง แต่มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 372/2553 ที่ยอมให้ใช้คำว่า “บรรดาสรรพเอกสารในสำนวนการสอบสวนคดี” และยอมให้ฝ่ายโจทก์นำเอกสารต่างๆเข้าสืบได้ ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://deka.in.th/view-497452.html
63 ศุภกิจ แย้มประชา. “การทำความเข้าใจวัฒนธรรมการกำหนดโทษอาญาของผู้พิพากษาไทย,” บทบัณฑิตย์. ปีที่ 78 ฉบับที่ 4: 2565.
64 ปกป้อง ศรีสนิท. สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอาญาโดยเปิดเผย. The 101 World. 2565, https://www.the101.world/the-right-to-a-public-hearing/ (เข้าถึงเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2566)
65 จากการสัมภาษณ์กับตัวแทนสภาทนายความในวันที่ 29 พฤจิกายน 2566
66 ความเห็นของผู้ตรวจอัยการในเสวนาวิชาการเรื่อง ‘ห้องเวรชี้ : ลดปริมาณคดีหรือลดทอนสิทธิ?’ วันที่ 20 พฤษภาคม 2565 จัดโดยนักศึกษาปริญญาโท รายวิชากฎหมายการบริหารงานยุติธรรม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. ดูได้จากสรุปสาระสำคัญงานเสวนา https://www.law.tu.ac.th/seminar-summary-arraignment-room/ (เข้าถึงเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2566)
67 ดูเพิ่มเติมใน ศุภณัฏฐ์ ศศิวุฒิวัฒน์. ‘คนล้นคุก’: การจองจำในจารีตยุติธรรมแบบไทยๆ. 101 PUB. 2566, https://101pub.org/thai-norm-overimprisonment/
68 ธงชัย วินิจจะกูล.นิติรัฐอภิสิทธิ์และราชนิติธรรม: ประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาของ Rule by Law แบบไทย. ปาฐกกาพิเศษ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ครั้งที่ 17. คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. 2563, https://www.econ.tu.ac.th/uploads/archive/file/20200826/adfopqruy469.pdf (เข้าถึงวันที่ 27 กรกฎาคม 2566)
69 พวงทอง ภวัครพันธุ์. ปฏิบัติการสงครามของการรณรงค์ปัญหายาเสพติดในประเทศไทย. ในความรุนแรงซ่อน/หาสังคมไทย, ชัยวัฒน์ สถาอานันท์, บรรณาธิการ:มติชน, 2553.
70 ประชาไท, 20 กุมภาพันธ์ 2562, “ตุลาการธิปไตย #4 นโยบายทวงคืนผืนป่าของ คสช. ผ่านกฎหมายเดิมที่อำนาจนิยมซึ่งใช้ได้ดีในยุคเผด็จการ” (เข้าถึงเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2566) และ BBC, 21 กรกฎาคม 2562, “ทวงคืนผืนป่า : เสียงจากชาวบ้านซับหวาย น้ำตาคนจนหลังถูกทวงคืนผืนป่า,” https://www.bbc.com/thai/thailand-49027185 (เข้าถึงเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2566)
71 ปกป้อง ศรีสนิท. สิทธิของปวงชนชาวไทยตามรัฐธรรมนูญ: สิทธิที่จะไม่ให้การปรักปรำตนเองหรือไม่ถูกบังคับให้สารภาพ. The 101 World. 2564, https://www.the101.world/right-to-remain-silent (เข้าถึงเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2566)
72 อ้างแล้วในเชิงอรรถที่ 68
73 สมชาย ปรีชาศิลปะกุล. “วิสามัญมรณะ: ปฏิบัติการของระบบบกฎหมายและการต่อสู้ของผู้ตกเป็นเหยื่อ,” ประชาไท. วันที่ 10 ตุลาคม 2566, https://prachatai.com/journal/2023/10/106303 (วันที่ 10 ธันวาคม 2566) และ BBC news ไทย. วันที่ 29 สิงหาคม 2561. “เสียชีวิตในกองทัพ : ประสบการณ์ติดตามคดีของเหล่าญาติ,” https://www.bbc.com/thai/thailand-45342916 (วันที่ 11 ธันวาคม 2566)

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Law

25 Aug 2022

กฎหมายยาเสพติดใหม่: 8 เดือนของการบังคับใช้ในภาวะที่ยังไร้กฎหมายลูก กับ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล

101 คุยกับอัยการ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล ถึงประโยชน์และช่องว่างที่พบในการบังคับใช้กฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ตลอด 8 เดือนที่ผ่านมา

วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา

25 Aug 2022

101PUB

2 Feb 2023

เปิดใต้พรมหนี้สาธารณะไทย ‘หนี้’ อะไรซุกซ่อนอยู่บ้าง ?

101 PUB ชวนสำรวจว่าตัวเลข ‘หนี้สาธารณะ’ ที่ถูกรายงานทุกเดือน มีความครบถ้วนและสะท้อนหนี้ของประเทศที่แท้จริงหรือไม่

กษิดิ์เดช คำพุช

2 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save