fbpx

สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอาญาโดยเปิดเผย

เวลาที่เราถูกดำเนินคดีอาญา ไม่ว่าจะตกเป็นผู้ต้องหาในชั้นการสอบสวนของตำรวจหรือถูกฟ้องเป็นจำเลยที่ศาล เราจะได้รับสิทธิที่จะได้รับการดำเนินคดีอย่างเป็นธรรม (right to a fair trial) ซึ่งมีอยู่หลายเรื่อง หนึ่งในสิทธิเหล่านั้นคือ สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอาญาโดยเปิดเผย (public hearing) ซึ่งได้รับการรับรองไว้ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ 14.1 ที่กำหนดว่า “…ในการพิจารณาคดีอาญาซึ่งตนต้องหาว่ากระทำผิด หรือคดีเกี่ยวกับสิทธิหน้าที่ของตน บุคคลทุกคนมีสิทธิได้รับการพิจารณาคดีอย่างเปิดเผยและเป็นธรรม โดยศาล…”[1]

1. เปิดเผยต่อใคร

การพิจารณาคดีอาญาในศาลโดยเปิดเผยมิใช่เพียงแค่การเปิดเผยต่อจำเลย ทนายความ หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดี แต่ต้องเป็นการเปิดเผยการพิจารณาคดีต่อสาธารณชน ดังนั้น คนที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีอาญา เช่น ประชาชนทั่วไป สื่อมวลชน ผู้สนใจ ก็สามารถเข้าไปในห้องพิจารณาคดีอาญาและรับฟังการพิจารณาและสืบพยานในศาลได้[2] ยกเว้นแต่ในคดีใดที่ศาลกำหนดให้มีการพิจารณาลับ เฉพาะผู้มีส่วนเกี่ยวข้องตามที่กฎหมายกำหนดเท่านั้นจึงมีสิทธิอยู่ในห้องพิจารณา

2. เหตุผลที่ต้องเปิดเผย

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (Human Rights Committee) ซึ่งเป็นองค์กรกำกับดูแล ICCPR ได้ให้ความเห็นว่า “การพิจารณาคดีโดยเปิดเผยเป็นการคุ้มครองประโยชน์ของคู่ความและประโยชน์สังคมในภาพรวม”[3]

นอกจากนี้ ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป (European Court of Human Rights) ในคดี Pretto and Others v. Italy อธิบายเหตุผลของการเปิดเผยการพิจารณาคดีสรุปได้ดังนี้[4]  

1) การพิจารณาคดีโดยเปิดเผยทำให้เกิดการตรวจสอบจากประชาชน ซึ่งจะไม่มีการตรวจสอบดังกล่าวหากเป็นการพิจารณาลับ

2) การพิจารณาคดีโดยเปิดเผยเป็นวิธีการรักษาไว้ซึ่งความเชื่อมั่นในศาล

3) การพิจารณาคดีโดยเปิดเผยช่วยทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม (fair trial) ซึ่งเป็นหลักพื้นฐานในสังคมประชาธิปไตย

อย่างไรก็ตาม การพิจารณาคดีอาญาโดยเปิดเผยใช้เฉพาะในศาลชั้นต้นที่ทำหน้าที่พิจารณาและสืบพยาน เพราะศาลชั้นต้นอยู่บนพื้นฐานของระบบกล่าวหา (accusatorial system) ซึ่งใช้การพิจารณาคดีโดยเปิดเผย (public) ในทางตรงกันข้าม ในชั้นการสอบสวนของตำรวจหรือชั้นอัยการที่เรียกว่าการดำเนินคดีชั้นก่อนฟ้อง (pre-trial stage) ซึ่งอยู่บนพื้นฐานของอีกระบบหนึ่ง คือระบบไต่สวน (inquisitorial system) จะใช้การดำเนินคดีโดยลับ (secret)[5] ดังนั้นหากคดีอยู่ในชั้นสอบสวนของตำรวจหรือชั้นอัยการ สาธารณชนไม่อาจเข้าไปรับฟังการสอบสวนหรือการสั่งคดีของอัยการได้

นอกจากนี้ การพิจารณาคดีในศาลอุทธรณ์ที่ใช้การพิจารณาจากเอกสารเป็นหลักอาจไม่ต้องอยู่ในหลักของการพิจารณาคดีโดยเปิดเผย[6]

3. กฎหมายไทยรับรองการพิจารณาคดีอาญาโดยเปิดเผย

การพิจารณาคดีอาญาโดยเปิดเผยได้รับการรับรองไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ตั้งแต่ พ.ศ. 2477 ในมาตรา 172 วรรค 1 ที่บัญญัติว่า “การพิจารณาและสืบพยานในศาล ให้ทำโดยเปิดเผยต่อหน้าจำเลย เว้นแต่บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น”

แม้มาตราดังกล่าวจะถูกบัญญัติมาเป็นเวลา 88 ปีแล้ว (ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาไทยมีขึ้นใน พ.ศ. 2477 หรือ ค.ศ.1934) และไม่เคยมีการแก้ไขมาตราดังกล่าวเลย แต่ก็ยังคงเป็นบทบัญญัติที่ทันสมัยมากในปัจจุบัน และสอดคล้องกับหลักการพิจารณาคดีโดยเปิดเผย (public hearing) ตามหลักสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นภายหลัง (ICCPR มีขึ้นใน พ.ศ. 2509 หรือ ค.ศ. 1966)   

อย่างไรก็ตาม มาตราดังกล่าวไม่มีผลบังคับในทางคดีมากนัก เพราะทางปฏิบัติเป็นเรื่องของแต่ละศาลโดยแท้ที่จะกำหนดว่าใครจะเข้ามาฟังการพิจารณาได้บ้าง อีกทั้งหากมีใครโต้แย้งว่าการพิจารณาคดีควรจะต้องเปิดเผย  ผลของการโต้แย้งดังกล่าวก็เป็นเรื่องทางวิธีพิจารณา ซึ่งไม่มีผลกับเนื้อหาคดีอาญา ศาลสูงคงทำได้มากที่สุดคือย้อนสำนวนให้ศาลล่างกลับไปพิจารณาใหม่โดยเปิดเผยตามกฎหมายเท่านั้น  ซึ่งไม่น่าจะเป็นแรงจูงใจให้ใครคัดค้านเรื่องดังกล่าวมากนัก

4. การพิจารณาคดีโดยลับ

แม้หลักการพิจารณาคดีอาญาจะต้องเปิดเผยต่อสาธารณชน แต่ ICCPR ก็มีข้อยกเว้นให้ศาลกำหนดให้มีการพิจารณาคดีลับได้ หากปรากฏเหตุอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้[7]  

1) เหตุแห่งประโยชน์สาธารณะ

ศาลอาจสั่งให้มีการพิจารณาคดีลับ หากการเปิดเผยอาจกระทบความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือความมั่นคงของชาติในสังคมประชาธิปไตย หรือเป็นกรณีที่จำเป็นอย่างยิ่งที่การเปิดเผยอาจกระทบกระเทือนประโยชน์แห่งความยุติธรรม

2) เหตุแห่งประโยชน์ปัจเจกชน

ในกรณีความผิดเกี่ยวกับเพศ เช่น ข่มขืนกระทำชำเรา การเปิดเผยการพิจารณาคดีต่อสาธารณชนอาจกระทบสิทธิในความเป็นส่วนตัวของผู้เสียหาย ศาลอาจกำหนดให้มีการพิจารณาคดีโดยลับได้ เช่นเดียวกับการพิจารณาคดีลับในกรณีคดีเด็กหรือเยาวชน ที่การเปิดเผยอาจกระทบสิทธิของเด็ก

แม้มีการพิจารณาลับตามเหตุข้างต้น แต่คำพิพากษาคดีอาญาจะต้องเปิดเผยอยู่นั่นเอง ตามข้อ 14.1 ของ ICCPR เว้นแต่ศาลอาจมีคำพิพากษาลับได้เพื่อประโยชน์ของเด็กหรือคดีเกี่ยวกับอำนาจปกครองเด็ก

ในกฎหมายไทย ศาลกำหนดให้มีการพิจารณาลับได้เพื่อประโยชน์แห่งความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันความลับอันเกี่ยวกับความปลอดภัยของประเทศมิให้ล่วงรู้ถึงประชาชน[8] เมื่อศาลกำหนดให้มีการพิจารณาลับ สาธารณชนก็ไม่สามารถเข้าฟังการพิจารณาได้ เฉพาะโจทก์ จำเลย ทนายความ และผู้เกี่ยวข้องที่กฎหมายกำหนดเท่านั้นที่เข้าฟังการพิจารณาได้[9]

5. การพิจารณาโดยเปิดเผยเป็นหลัก การพิจารณาลับเป็นข้อยกเว้น

เมื่อจำเลยถูกฟ้องเป็นคดีอาญา จำเลยจะพบศาลครั้งแรกที่ ‘ห้องเวรชี้’ ศาลจะอ่านคำฟ้องและอธิบายคำฟ้องให้จำเลยฟังจนเข้าใจว่าจำเลยถูกฟ้องเรื่องอะไร[10] ซึ่งถือเป็นสิทธิของจำเลยที่จะได้รับทราบข้อกล่าวหาเพื่อจะได้ต่อสู้คดีอย่างเต็มที่[11] หลังจากนั้นศาลจะถามเรื่องทนายความว่าจำเลยมีทนายความหรือไม่และต้องการทนายความหรือไม่[12] และตามด้วยการถามคำให้การจำเลยว่าจะยอมรับสารภาพหรือปฏิเสธ[13]

หากจำเลยปฏิเสธก็จะนัดหมายพิจารณาคดีกันต่อไปในวันอื่น แต่หากจำเลยรับสารภาพและเป็นคดีที่ไม่มีโทษจำคุกขั้นต่ำหรือมีโทษจำคุกขั้นต่ำไม่ถึง 5 ปี ศาลอาจพิพากษาลงโทษจำเลยตามคำรับสารภาพได้เลย โดยไม่ต้องมีการพิจารณาสืบพยานต่อไปอีก ซึ่งเท่ากับว่าในห้องเวรชี้ จำเลยบางคนอาจถูกฟ้องและถูกพิพากษาลงโทษในวันเดียวกันนั้นในห้องนั้นเลย 

สถานะของห้องเวรชี้จึงเป็นห้องพิจารณาคดีอาญาห้องหนึ่งที่อยู่ภายใต้หลักการพิจารณาคดีอาญาโดยเปิดเผยเป็นหลัก และการพิจารณาลับเป็นข้อยกเว้น

อย่างไรก็ตาม ได้รับทราบจากวิทยากรซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติวิชาชีพกฎหมายจากงานเสวนา[14] ว่า ห้องเวรชี้ในศาลไทยบางแห่งเป็นเขตหวงห้าม ห้ามประชาชนเข้า เว้นแต่ต้องขออนุญาตศาลเป็นรายๆ ไป การบริหารจัดการดังกล่าวอาจทำให้เข้าใจไปได้ว่า ห้องเวรชี้ใช้ระบบการพิจารณาคดีลับเป็นหลักในทุกคดี และการเปิดเผยเป็นข้อยกเว้นที่ต้องขออนุญาตศาลเป็นรายๆ

ห้องเวรชี้น่าจะเหมือนห้องพิจารณาคดีอาญาทั่วไปที่สาธารณชนสามารถเข้าฟังและสังเกตการณ์พิจารณาคดีในห้องเวรชี้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากจำเลยรับสารภาพและศาลลงโทษจำเลยในวันเดียวกันนั้นในห้องเวรชี้ เท่ากับว่าจำเลยคนนั้นไม่เคยได้รับการพิจารณาคดีอาญาโดยเปิดเผยเลย 

ทางออกของเรื่องนี้น่าจะอยู่ที่การกลับไปยึดหลักการพิจารณาคดีอาญาโดยเปิดเผย และนำมาใช้กับการพิจารณาคดีในห้องเวรชี้ด้วย ส่วนคดีใดในห้องเวรชี้จำเป็นต้องใช้การพิจารณาลับ ก็น่าจะบริหารจัดการให้เฉพาะคดีเหล่านั้นเข้าสู่การพิจารณาลับได้ ความกังวลเรื่องการรักษาความปลอดภัยและปริมาณคดีในห้องเวรชี้ที่มีจำนวนมากเป็นเรื่องที่เข้าใจได้และน่าเห็นใจ แต่การยึดมาตรฐานขั้นต่ำของการคุ้มครองสิทธิจำเลยด้วยการพิจารณาคดีโดยเปิดเผยเป็นหลัก และค่อยบริหารจัดการปรับระบบรักษาความปลอดภัย รวมทั้งหาทางลดปริมาณคดีในศาล น่าจะดีกว่าการประนีประนอมสิทธิของจำเลยที่จะได้รับการพิจารณาคดีโดยเปิดเผย

6. สรุป

การพิจารณาคดีอาญาโดยเปิดเผยเป็นทั้งสิทธิของจำเลยตามหลักสิทธิมนุษยชน และเป็นประโยชน์ต่อศาลเองในการบรรลุวัตถุประสงค์ของการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม (fair trial) 

ศาลใดทำให้การพิจารณาคดีโดยเปิดเผยเป็นหลัก รวมทั้งคดีในห้องเวรชี้ ศาลนั้นยิ่งได้ประโยชน์จากความโปร่งใสที่เกิดขึ้นในการพิจารณาคดีอาญา และยังเป็นการเพิ่มความเชื่อมั่นของประชาชนต่อกระบวนการยุติธรรมทางอาญาอีกด้วย


[1] ICCPR, Article 14.1 “In the determination of any criminal charge against him, or of his rights and obligations in a suit at law, everyone shall be entitled to a fair and public hearing by a competent, independent and impartial tribunal established by law. The press and the public may be excluded from all or part of a trial for reasons of morals, public order (ordre public) or national security in a democratic society, or when the interest of the private lives of the parties so requires, or to the extent strictly necessary in the opinion of the court in special circumstances where publicity would prejudice the interests of justice; but any judgement rendered in a criminal case or in a suit at law shall be made public except where the interest of juvenile persons otherwise requires or the proceedings concern matrimonial disputes or the guardianship of children.”

[2] Human Rights Committee, General Comment No. 32, CCPR/C/GC/32, 23 August 2007, para 29 อ้างถึงใน ปกป้อง ศรีสนิท, สิทธิมนุษยชนในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา” (กรุงเทพฯ:วิญญูชน, 2563), หมายเลข 35.

[3] Human Rights Committee, General Comment No. 32, CCPR/C/GC/32, 23 August 2007, para 28 อ้างถึงใน ปกป้อง ศรีสนิท, สิทธิมนุษยชนในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา” (กรุงเทพฯ :วิญญูชน, 2563), หมายเลข 36.

[4] Pretto and Others v. Italy, 8 December1983, para 21.

[5] ดู ปกป้อง ศรีสนิท, “ระบบกล่าวหาและระบบไต่สวนในวิธีพิจารณาความอาญา”  ใน ยืนหยัดบนหลักนิติธรรม 72 ปี ศาสตราจารย์ ดร. คณิต ณ นคร, (กรุงเทพฯ: คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2552)

[6] Human Rights Committee, General Comment No. 32, CCPR/C/GC/32, 23 August 2007, para 28 อ้างถึงใน ปกป้อง ศรีสนิท, สิทธิมนุษยชนในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา” (กรุงเทพฯ :วิญญูชน, 2563), หมายเลข 36.

[7] ICCPR, Article 14.1

[8] ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 177 “ศาลมีอำนาจสั่งให้พิจารณาเป็นการลับ เมื่อเห็นสมควรโดยพลการหรือโดยคำร้องขอของคู่ความฝ่ายใด แต่ต้องเพื่อประโยชน์แห่งความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันความลับอันเกี่ยวกับความปลอดภัยของประเทศมิให้ล่วงรู้ถึงประชาชน”

[9] ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 178 “เมื่อมีการพิจารณาเป็นการลับ บุคคลเหล่านี้เท่านั้นมีสิทธิอยู่ในห้องพิจารณาได้ คือ

(1) โจทก์และทนาย

(2) จำเลยและทนาย

(3) ผู้ควบคุมตัวจำเลย

(4) พยานและผู้ชำนาญการพิเศษ

(5) ล่าม

(6) บุคคลผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้องและได้รับอนุญาตจากศาล

(7) พนักงานศาลและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยแก่ศาลแล้วแต่จะเห็นสมควร”

[10] ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 172 วรรค 2 “เมื่อโจทก์หรือทนายโจทก์และจำเลยมาอยู่ต่อหน้าศาลแล้ว และศาลเชื่อว่าเป็นจำเลยจริง ให้อ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟัง และถามว่าได้กระทำผิดจริงหรือไม่ จะให้การต่อสู้อย่างไรบ้าง คำให้การของจำเลยให้จดไว้ ถ้าจำเลยไม่ยอมให้การ ก็ให้ศาลจดรายงานไว้และดำเนินการพิจารณาต่อไป”

[11] ICCPR, Article 14.3(a) “(a) To be informed promptly and in detail in a language which he understands of the nature and cause of the charge against him;”

[12] ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 173 “ ในคดีที่มีอัตราโทษประหารชีวิต หรือในคดีที่จำเลยมีอายุไม่เกินสิบแปดปีในวันที่ถูกฟ้องต่อศาล ก่อนเริ่มพิจารณาให้ศาลถามจำเลยว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีก็ให้ศาลตั้งทนายความให้

ในคดีที่มีอัตราโทษจำคุก ก่อนเริ่มพิจารณาให้ศาลถามจำเลยว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีและจำเลยต้องการทนายความ ก็ให้ศาลตั้งทนายความให้

ให้ศาลจ่ายเงินรางวัลและค่าใช้จ่ายแก่ทนายความที่ศาลตั้งตามมาตรานี้ โดยคำนึงถึงสภาพแห่งคดีและสภาวะทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ตามระเบียบที่คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมกำหนดโดยความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง”

[13] ในประเด็นนี้ ศาลควรถามจำเลยว่ามีทนายความหรือไม่ก่อนที่จะถามคำให้การ เพื่อให้สอดคล้องกับสิทธิของจำเลยที่จะได้รับความช่วยเหลือจากทนายความ ก่อนที่จำเลยจะตัดสินใจรับสารภาพหรือปฏิเสธ  

[14] เสวนาเรื่อง ‘ห้องเวรชี้ : ลดปริมาณคดีหรือลดทอนสิทธิ?’ วันที่ 20 พฤษภาคม 2565 จัดโดยนักศึกษาปริญญาโท รายวิชากฎหมายการบริหารงานยุติธรรม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

MOST READ

Law

25 Aug 2022

กฎหมายยาเสพติดใหม่: 8 เดือนของการบังคับใช้ในภาวะที่ยังไร้กฎหมายลูก กับ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล

101 คุยกับอัยการ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล ถึงประโยชน์และช่องว่างที่พบในการบังคับใช้กฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ตลอด 8 เดือนที่ผ่านมา

วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา

25 Aug 2022

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save