fbpx
Homesick Politics : การเมืองเรื่องคิดถึงบ้าน

Homesick Politics : การเมืองเรื่องคิดถึงบ้าน

ในหนังสือชื่อ Homesickness: An American History ของ ซูซาน เจ. แมตต์ (Susan J. Matt) มีตอนหนึ่งเล่าถึงผู้หญิงอเมริกันคนหนึ่งที่ย้ายบ้านจากมินนิโซตาไปนิวยอร์ก แล้วเกิดอาการ ‘โฮมซิก’ หรืออาการคิดถึงบ้านขึ้นมา 

เธอจึงไปทำเล็บเพื่อให้คลายอาการคิดถึงบ้าน และจะได้รู้สึกร่าเริงขึ้นมาบ้าง ปรากฏว่า ช่างทำเล็บเป็นหญิงเกาหลีที่อพยพมาอยู่อเมริกา แล้วเธอก็เล่าให้ช่างทำเล็บฟังว่า เธอกำลังรู้สึกคิดถึงบ้านหรือโฮมซิกอย่างหนักอยู่

ช่างทำเล็บชาวเกาหลีเงยหน้าขึ้นมามองเธอ แล้วก็พูดประโยคสั้นๆ ออกมาว่า “Don’t be big baby!” ประมาณว่า – อย่ามาทำตัวขี้แยเป็นเด็กๆ ไปเลยน่ะ!

คำพูดนี้เสียดเย้ยมากนะครับ เพราะคนพูดคือหญิงเกาหลีที่ต้องจากบ้านจากเมืองของตัวเองมาอยู่อีกประเทศหนึ่งที่ห่างไกลกันมาก แต่เธอก็อดทนต่อสู้ ทำงานหนักเป็นช่างทำเล็บโดยไม่ปริปากบ่น ในขณะที่หญิงผิวขาวผู้สุดแสนจะมี ‘พริวิเลจ’ แค่ย้ายเมืองมานิดเดียว ทำมาเป็นบ่นโฮมซิกไปได้

ในอีกด้านหนึ่ง ประโยคสั้นๆ นี้แสดงให้เห็นว่า – คนส่วนใหญ่มองคำว่า ‘โฮมซิก’ หรือคิดถึงบ้าน ถวิลหาบ้าน เป็นเรื่องของเด็กๆ เท่านั้น คนที่ ‘โตๆ แล้ว’ หรือเป็นผู้ใหญ่ เขาไม่โฮมซิกกันหรอก

แต่คุณรู้ไหมครับว่าอาการ ‘โฮมซิก’ อยากกลับบ้าน คิดถึงบ้าน ถวิลหาบ้านเสียเหลือเกิน จนต้องทำทุกวิถีทางให้ได้ ‘กลับบ้าน’ นั้น มันไม่ได้เกิดแค่กับเด็กๆ ที่หนีค่ายฤดูร้อนกลับบ้านเท่านั้นนะครับ แต่ผู้ใหญ่ – โดยเฉพาะผู้สูงวัย, ก็มีอาการ ‘โฮมซิก’ ได้เหมือนกัน

อาการโฮมซิกไม่ได้ให้นิยามง่ายนัก เพราะมันไม่ได้มีอาการเด่นชัดปรากฏให้เห็นภายนอก เช่น โฮมซิกแล้วกระดูกคอกระดูกแขนร้าว ต้องใส่เฝือกคอเฝือกแขน แต่มันคืออาการ ‘ภายใน’ หลายๆ อาการผสมกัน เช่น ซึมเศร้าและวิตกกังวล (depressive and anxious symptoms) ทำให้ไม่สามารถจะมีสมาธิพุ่งเป้าโฟกัสกับเรื่องอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับ ‘บ้าน’ ได้

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ – คนที่มีอาการโฮมซิกแบบหนักๆ นั้น ไม่ว่าจะวางแผนทำอะไรก็ตาม ล้วนแล้วแต่เป็นไปเพื่อการ ‘กลับบ้าน’ ทั้งสิ้น!

อย่างไรก็ตาม อย่าเพิ่งคิดว่าอาการโฮมซิกเป็นอาการที่เกิดขึ้นเพราะอยาก ‘กลับบ้าน’ ในความหมายของบ้านแต่ละหลังที่มีพ่อแม่อยู่หรืออะไรทำนองนั้นนะครับ เพราะคำว่า ‘คิดถึงบ้าน’ ในอาการโฮมซิกนั้น อาจหมายถึง ‘บ้านเมือง’ ซึ่งกินความรวมไปถึงวัฒนธรรมและวิถีชีวิตที่รายล้อมบ้านหลังนั้นๆ อยู่ด้วยก็ได้

ตัวอย่างอาการ ‘คิดถึงบ้าน’ ที่กินความไปถึง ‘บ้านเมือง’ นั้น มีประวัติศาสตร์เก่าแก่มากนะครับ มีผู้วิเคราะห์ว่า ในพระคัมภีร์ไบเบิล เหล่าชาวยิวที่ต้องอพยพออกจากดินแดนบ้านเกิดนั้นเกิดอาการโฮมซิก โดยมีบันทึกไว้ใน ‘หนังสือสดุดี’ (Psalm) ว่า พวกเรานั่งริมแม่น้ำร่ำร้องไห้ / ณ ที่ในบาบิโลนไกลโพ้นนั่น / ระลึกถึงศิโยนไซร้ใจตื้นตัน / แขวนพิณพลันที่ต้นไม้ใกล้มรรคา

คำว่า ‘ศิโยน’ ก็คือ Zion ซึ่งในพระคัมภีร์ภาษาฮีบรู หมายถึงเมืองเยรูซาเล็มหรือดินแดนแห่งพันธสัญญาที่พระเจ้ามอบให้แก่ชาวยิว เมื่อพวกเขาต้องอพยพมาไกลโพ้นจนมาถึงบาบิโลน ก็เกิดอาการ ‘คิดถึงบ้าน’ อย่างมากถึงขนาดต้องทรุดตัวลงนั่งร้องไห้ แต่พวกเขาไม่ได้ทำแค่คิดถึง ‘บ้าน’ อย่างเดียวนะครับ เพราะนัยของโฮมซิกในที่นี้ คือการคิดถึง ‘บ้านเมือง’ ที่ควรจะเป็น ‘ของฉัน’ ไม่ใช่ถูกพรากไปและโดนเนรเทศออกจากดินแดนของตัวเองแบบนี้

ความคั่งแค้นที่ถูก ‘ไล่ออกจากบ้าน’ และก่อให้เกิดอาการ ‘โฮมซิก’ จึงอาจหนักหนาสาหัสได้มากถึงขั้นฝังลึกอยู่ในความคิดจิตใจ วัฒนธรรม และวิถีชีวิต ยาวนานเป็นพันๆ ปีได้เลย โฮมซิกที่ยาวนานนับพันๆ ปี จึงเป็น ‘คำอธิบาย’ หนึ่งว่าทำไมชาวยิวหรืออิสราเอลถึงเป็นอย่างที่เราเห็นอยู่ในปัจจุบัน

หนังสือ Homesickness: An American History เล่าเรื่องราวการ ‘สร้างชาติ’ ของอเมริกาด้วยวิธีคิดคล้ายๆ กัน นั่นคือพวกที่อพยพมาอเมริกา ไม่ว่าจะจากไอร์แลนด์ อิตาลี เยอรมนี หรือที่อื่นๆ แล้วกลายมาเป็นผู้ตั้งอาณานิคม เป็นนักขุดทอง นักสำรวจ หรืออะไรอื่น ล้วนแล้วแต่เป็นคนที่ต้อง ‘อยู่ห่างบ้าน’ กันทั้งนั้น ทำให้พวกเขาเกิดอาการ ‘โฮมซิก’ กันขึ้นมา และใช้อาการนี้เป็นแรงผลักดันให้เกิดการสร้างชาติใหม่ คือสหรัฐอเมริกาขึ้น

มีเกร็ดเล่าว่า ตอนแรกคนเหล่านี้คิดว่าอาการโฮมซิกเกิดจากเป็นฝีในสมอง ซึ่งก็คล้ายๆ กับแนวคิดของฮิปโปคราเตส ปราชญ์กรีก – บิดาแห่งการแพทย์กรีกโบราณ ที่คิดว่าอาการโฮมซิกเกิดจากร่างกายมีน้ำดีสีดำ (black bile) มากเกินไป คือเห็นว่าอาการโฮมซิกเกิดจากพยาธิสภาพในร่างกาย ไม่ใช่อาการทางจิต ซึ่งปัจจุบันเรารู้แล้วว่าไม่ได้เป็นอย่างนั้น

อย่างไรก็ตาม อาการ ‘โฮมซิก’ ที่น่าจะพูดได้ว่ายิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาลของมนุษย์ น่าจะเป็นอาการถวิลหาบ้านเมืองที่เกิดขึ้นในมหากาพย์แห่งการเดินทางกลับบ้าน ฝีมือการรจนาของโฮเมอร์ อย่างมหากาพย์โอดิสซี (Odyssey) ที่มีผู้วิเคราะห์เอาไว้ว่า มีการบอกไว้โจ่งแจ้งตั้งแต่ต้นเลยว่า เทพีอะเธนาอยากให้โอดิสซุส – ตัวละครเอกในเรื่อง, ได้กลับบ้านหลังการรบอันยาวนาน เพราะเขา ‘คิดถึงบ้าน’

ธิดาอสูรตนนี้แหละที่กักเอาบุรุษผู้ไร้สุขไว้มิให้คืนสู่เหย้า แม้ว่าเขาจะทุกข์เทวษปานใด

-สำนวนแปลของ สุริยฉัตร ชัยมงคล

ความปรารถนาจะ ‘คืนสู่เหย้า’ ของโอดิสซุสนั้นยิ่งใหญ่มาก แม้ต้องใช้เวลาเดินทางนับสิบปี เผชิญอุปสรรคต่างๆ มากมาย เขาก็ไม่ย่อท้อ อาการโฮมซิกจึงกลายเป็นอารมณ์ความรู้สึกที่ผลักดันอยู่เบื้องหลัง ก่อให้เกิดเรื่องใหญ่ๆ ระดับ ‘พลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน’ ขึ้นมาได้

การกลับบ้านของโอดิสซุสอันเป็นมหากาพย์นั้น แม้ถูก ‘เทพ’ หลายองค์ขัดขวาง แต่ก็ได้รับความช่วยเหลือจาก ‘เทพ’ อีกหลายองค์เช่นเดียวกัน ทำให้สุดท้ายแล้วเขาก็กลับบ้านได้ประสบความสำเร็จ ก่อเกิดเป็น ‘การเมืองเรื่องคิดถึงบ้าน’ ที่ไม่ได้เกิดแก่ตัวโอดิสซุสคนเดียวเท่านั้น แต่เต็มไปด้วย ‘เรื่องเบื้องหลัง’ มากมาย เพราะเหล่าเทพที่มีความเห็นขัดแย้งกัน ต่างใช้ ‘การกลับบ้าน’ ของโอดิสซุส เป็นเวทีประลองกำลังทางการเมืองแบบเทพๆ ที่สลับซับซ้อน หากกวีโฮเมอร์ไม่รจนาออกมาแบบหมดเปลือกตามขนบวรรณกรรมกรีกโบราณ – มนุษย์ตาดำๆ อย่างเราๆ ก็คงไม่มีวันนึกถึงว่าการกลับบ้านนั้นเต็มไปด้วยการเจรจาต้าอ่วยและต่อรองทางอำนาจกันมากแค่ไหน

เมื่ออาการโฮมซิก (homesickness) เกี่ยวพันกับการคิดถึง ‘บ้านเมือง’ อย่างลึกซึ้ง จึงมีผู้วิเคราะห์เอาไว้หลายแห่งว่า อาการโฮมซิกเกี่ยวพันกับความ ‘รักชาติ’ (patriotism) อย่างใกล้ชิดด้วย และกลุ่มคนที่โฮมซิกมากที่สุดกลุ่มหนึ่งในประวัติศาสตร์โลก ก็คือเหล่าทหารหาญที่ต้องจากบ้านไปสู้รบในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและสอง ตัวอย่างเช่น ในจดหมายของทหารในสงครามโลกครั้งที่สองคนหนึ่ง ชื่อ ดาเรล นีล (Darrel Neil) เขาเขียนถึงพ่อกับแม่มีความตอนหนึ่งว่า

ธงชาติอเมริกันมีความหมายอย่างมากกับผม ผมจะดีใจหากได้กลับบ้านและพูดได้ว่าตัวเองมีส่วนร่วมในธงนั้นมากกว่าคนอื่นๆ ผมหวังว่าลูกชายของผมจะไม่ต้องมาเผชิญกับสิ่งที่ผมต้องพบเจออีก หลังกลับบ้านแล้ว ผมอยากมีลูกชาย เพราะนั่นคือสิ่งที่ผมต่อสู้เพื่อให้ได้มา

แต่ดาเรลไม่เคยได้กลับบ้านและไม่เคยได้มีลูก เขาเป็นแค่ทหารตัวเล็กๆ ที่ถูกส่งไปรบพร้อมกับปลูกฝัง ‘อุดมการณ์’ บางอย่างเอาไว้เต็มตัว เขาทรนงองอาจ ต่อสู้อย่างกล้าหาญ แม้เขาอยากกลับบ้าน ทว่าสุดท้ายแล้วก็ต้องจากโลกนี้ไปเพราะ ‘สงคราม’ ที่เกิดขึ้นระหว่างกลุ่มคนที่คิดเห็นไม่เหมือนกันและไม่อาจพูดคุยกันได้ด้วยวิธีอื่นใดนอกจากการ ‘ฆ่า’ กัน

เขากลายเป็นเพียง ‘เบี้ย’ ตัวเล็กๆ ในเกมของผู้มีอำนาจเท่านั้น 

แม้กระทั่งอาการโฮมซิกของเรา – ก็ยังอาจมีค่าไม่เท่ากัน…

อีกคนหนึ่งที่แปลงอาการ ‘โฮมซิก’ ของตัวเองออกมาเป็นงานชิ้นเอกระดับโลก – คือคีตกวีอย่าง เบลลา บาร์ต็อก (Bella Bartok) ที่ต้องหนีออกจากบ้านเกิดอย่างฮังการีไปสหรัฐอเมริกา เพราะสงครามโลกครั้งที่สองและขบวนการนาซี เขาจึงเขียนงานดนตรีไว้หลายชิ้นที่นักวิเคราะห์ทางดนตรีบอกว่าแสดงให้เห็นถึงอาการ ‘โฮมซิก’ หรือคิดถึงฮังการีมากๆ เพราะชีวิตในสหรัฐอเมริกาของเขาไม่ค่อยมีความสุขนัก ตลอดจนเขาไม่เคยรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกับอเมริกาเลย แถมยังมีข่าวร้ายจากสงครามข้ามฟากมหาสมุทรมาหาเขาอยู่เนืองๆ อีกด้วย อาการร้าวรานจากโฮมซิกจึงกลายมาเป็นชิ้นงานดนตรี

อย่างไรก็ตาม บาร์ต็อกเป็นอีกคนหนึ่งที่ต่อให้คิดถึงบ้านมากแค่ไหนก็ไม่ได้กลับบ้าน เพราะหลังสงครามโลกครั้งที่สองยุติลงได้ไม่กี่วัน – เขาก็เสียชีวิต

จะเห็นได้เลยว่า อาการโฮมซิกนั้นไม่ใช่เรื่องของ ‘เด็กขี้แย’ ที่ร่ำร้องว่า – หนูอยากกลับบ้าน, ครูจึงส่งกลับบ้าน เพราะเมื่อโฮมซิกรวมร่างเข้ากับการเมืองและอำนาจ มักกลายเป็นอารมณ์ความรู้สึกที่ละเอียดซับซ้อน และอาจส่งผลกระเพื่อมไปถึงเรื่องอื่นๆ ได้อีกมากเหมือนที่มหากาพย์โอดิสซีบอกเราเอาไว้

อาการโฮมซิกหรือ อาการ ‘คิดถึงบ้าน’ เป็นพยานยืนยันว่า อย่างน้อยที่สุด สิ่งที่เราเรียกว่า ‘บ้าน’ ก็มีคุณค่าบางอย่างอยู่ในความทรงจำ และมีพลังอำนาจดึงดูดให้เราอยากหวนคืนสู่สถานที่แห่งนั้นอยู่เสมอ โดยเฉพาะเมื่อเราต้องห่างบ้านในทางกายภาพไปเป็นเวลานานๆ

แต่กระนั้น ‘โฮมซิก’ ก็มีอีกแบบหนึ่ง ไม่ใช่โฮมซิกทางกายภาพ เพราะ ‘กาย’ อาจอยู่ในสถานที่ที่ถูกเรียกว่าบ้าน อยู่ในดินแดนที่มีวัฒนธรรมและวิธีคิดอันเคยคุ้น แต่กลับรู้สึกแปลกแยกกับสถานที่ทางกายภาพที่ถูกเรียกว่า ‘บ้าน’ ขึ้นมา เพราะค้นพบว่าบ้านที่ตนอยู่เต็มไปด้วยโครงสร้างทางอำนาจที่บิดเบี้ยวและฝังแฝงไปด้วยอยุติธรรมในระบบ

โดยปกติ อาการโฮมซิกเกิดขึ้นเพราะเราเห็นว่ามีที่ห่างไกลที่ไหนสักแห่งที่ควรค่าแก่การคิดถึง แต่หากเราอยู่ ณ ที่นั้นแล้วกลับเกิดอาการ sick กับ home หรือแปลกแยกกับดินแดนที่เราเรียกว่าบ้านเล่า – เราควรเรียกอาการแบบนี้ว่าอะไร 

ถ้าคนอเมริกันใช้อาการโฮมซิกสร้างบ้านแปงเมืองขึ้นมาได้เหมือนที่หนังสือ Homesickness: An American History ว่าเอาไว้ บางทีเราก็ควรใช้อาการ sick กับ home เพื่อสร้าง ‘บ้านเมืองที่ (ยัง) ไม่มีอยู่จริง’ ขึ้นมาด้วยเช่นเดียวกัน

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save