fbpx
Harm Reduction : วิธีมีชีวิตร่วมกับนักเสพติด

Harm Reduction : วิธีมีชีวิตร่วมกับนักเสพติด

ทุกวันนี้เราต่างเสพติด

บางคนติดสุรา บางคนติดบุหรี่ บางคนติดเซ็กซ์ บางคนติดเกม และมีอีกมากมายที่เสพติด ‘อุดมคติ’ อะไรบางอย่าง – จนเกิดอาการ ‘ฟัง’ คนอื่นได้น้อยเต็มที

การเสพติดถือเป็น syndrome อย่างหนึ่ง เพราะมันทำให้เกิดผลร้าย ถ้าใช้ภาษาอังกฤษก็ต้องใช้คำว่า harm

โดยปกติธรรมดาของมนุษย์ เวลาเกิดอะไรร้ายๆ ขึ้นมา สิ่งแรกที่เรามักคิดขึ้นก่อน ก็คือการ ‘ตัด’ สิ่งนั้นทิ้งออกไปเลย โดยเฉพาะถ้าสิ่งนั้นเกิดผลเสียต่อสังคมโดยรวม เรามักอยาก ‘กำจัด’ มันทิ้งไปเสีย คล้ายกับโลกนี้มีสองแบบ คือโลกที่ดำมืดสกปรก เต็มไปด้วยความร้ายกาจของสิ่งนั้น และโลกที่ขาวสะอาดบริสุทธิ์เมื่อปราศจากสิ่งนั้น พูดง่ายๆ ก็คือเรามองโลกแบบขาวกับดำหรือ 1 กับ 0

‘สิ่งนั้น’ อาจปรากฏกายมาได้หลายรูปแบบ ตั้งแต่ยาเสพติด บุหรี่ เหล้า หรือแม้แต่เซ็กซ์

แต่ในปัจจุบัน เริ่มมีแนวคิดใหม่ที่ไม่ได้เป็นขาวกับดำหรือ 1 กับ 0 เกิดขึ้น นั่นคือ ‘หลักการ’ อยู่ร่วมกันกับสิ่งที่ถูกมองว่าเป็นภัย (เพราะมีคนจำนวนมากที่อยากอยู่ร่วมกับมัน และเราก็ไม่อาจ ‘กำจัด’ คนเหล่านั้นออกไปอย่างสิ้นเชิงได้ เพราะถึงอย่างไรเขาก็เป็นมนุษย์) เพียงแต่จะทำอย่างไรเพื่อ ‘ลด’ ภัยที่ว่านั้นลง

หลักการนี้เรียกว่า Harm Reduction ซึ่งไม่ใช่ของใหม่ เกิดขึ้นนานหลายสิบปีแล้ว แต่เพิ่งเป็นที่พูดถึงกันอย่างกว้างขวางเมื่อมีกฎกระทรวงเกี่ยวกับการครอบครองยาเสพติดให้โทษ จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันไปทั้งเมือง

คำว่า Harm Reduction เดิมทีเป็นเรื่องของ ‘นโยบาย’ สาธารณสุข ที่ออกแบบมาเพื่อลดผลในแง่ลบของสิ่งที่อาจกระทบต่อสังคม โดย ‘สิ่งนั้น’ มักจะเกิดจากพฤติกรรมมนุษย์ ที่หากมีการปรับเปลี่ยนในบางมิติ ก็จะทำให้อันตรายลดลง ทั้งต่อตัวผู้เสพติดและต่อสังคมด้วย

ประวัติศาสตร์ของ Harm Reduction เริ่มต้นมานานหลายสิบปีแล้ว แต่ที่ก่อให้เกิดการตั้งกลุ่ม Harm Reduction Coalition กันขึ้นมาจริงจัง น่าจะเกิดขึ้นเมื่อมีการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ในทศวรรษ 1980

ในยุคนั้น นักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่า เชื้อเอชไอวีสามารถแพร่ระบาดได้ทางเข็มฉีดยาที่ใช้ซ้ำ ก็เลยเริ่มเกิดแนวคิดในการรณรงค์เรื่องการใช้เข็มฉีดยา โดยการนำเข็มฉีดยาที่ใช้แล้วมาแลกเปลี่ยนเป็นเข็มใหม่ เรียกว่า Needle Exchange Program (NEP) หรือ Syringe Exchange Program ซึ่งก็มีหลายหน่วยงานลงมือปฏิบัติ เพื่อไม่ให้เชื้อเอชไอวีแพร่กระจายด้วยการใช้เข็มฉีดยาซ้ำ

การแจกจ่ายเข็มฉีดยานี้ แรกทีเดียวได้รับเงินทุนจากรัฐและหน่วยงานรัฐบาลท้องถิ่นในสหรัฐอเมริกา (ซึ่งในปัจจุบันมีหลายร้อยโปรแกรม) โดยมีงานวิจัยที่บ่งชี้ให้เห็นว่า โปรแกรมเหล่านี้ให้ผลดียิ่งในการลดการแพร่เชื้อไวรัสเอชไอวีในหมู่คนที่ใช้ยาเสพติดประเภทฉีด มีการศึกษาพบว่า โครงการแลกเปลี่ยนเข็มนี้ ลดการติดเชื้อเอชไอวีในนิวยอร์กได้ถึง 70%

หลัก ‘ลดความร้ายกาจ’ นี้ ถูกนำมาประยุกต์ใช้กับสิ่งที่หลายคนมองว่าอันตรายมากๆ นั่นก็คือการใช้ยาเสพติด โดยเฉพาะยาเสพติดร้ายแรงที่ใช้วิธีฉีดเข้าเส้น เช่น เฮโรอีน วิธีคิดของเรื่องนี้ก็คือ – มีผู้เสนอว่า กฎหมายประเภทห้ามขาด (Prohibitionist Laws) นั้น อาจยิ่งทำให้เกิดอาชญากรรมมากขึ้นได้ เพราะคนหายาเสพติดได้ยากขึ้น ราคาจึงสูงขึ้น กลุ่มอาชญากรเลยเข้ามาเกี่ยวข้องกับการค้ายามากขึ้น และสุดท้ายก็เพิ่มความเสี่ยงในการเสพ และเอาเข้าจริงก็ไม่มีผลในการลดการแพร่ระบาดของยาเสพติด

วิธีการตามหลัก Harm Reduction ที่คิดค้นกันขึ้นมามีหลายหลากมาก อย่างแรกว่าไปแล้วคือการแลกเปลี่ยนเข็ม หรือ Needle Exchange Program (NEP) ซึ่งนอกจากจะช่วยลดการแพร่เชื้่อเอชไอวีแล้ว ยังช่วยลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อไวรัสอื่นๆ รวมไปถึงเชื้อไวรัสตับอักเสบด้วย

ในออสเตรเลีย เคยมีการศึกษาพบว่าบางย่านของเมลเบิร์นมีการใช้ยาเสพติดเพิ่มขึ้นในแบบที่ไม่อาจหยุดยั้งได้ โดยเฉพาะในเขต City of Yarra ในปี 2012 หน่วยงานที่เก็บข้อมูลเก็บหลอดและเข็มฉีดยาใช้แล้วได้มากถึง 1,550 ชิ้นต่อเดือน และมีการเรียกรถพยาบาลเพื่อไปรับผู้ป่วยที่เสพเฮโรอีนเกินขนาดสูงกว่าเขตอื่นๆ 1.5 เท่า จนในที่สุด เมลเบิร์นก็ต้องหันมาใช้วิธี NEP นี้ด้วย ทำให้การแพร่ระบาดลดลง

อังกฤษก็เช่นเดียวกัน หน่วยงาน National Institute for Health and Care Excellence ซึ่งอยู่ในสังกัดของกระทรวงสาธารณสุข เริ่มใช้วิธี NEP ในปี 2009 ที่น่าสนใจก็คือ ในช่วงแรก ไม่แนะนำให้ใช้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี แต่พอถึงปี 2014 มีการออกไกด์ไลน์ใหม่ เพื่อจัดเตรียมเข็มให้กับคนที่อายุต่ำกว่า 18 ปีด้วย เนื่องจากเห็นว่าคนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มเสี่ยงใหม่

ทั้งหมดนี้ฟังดูเหมือนการ ‘สนับสนุน’ ให้คนใช้ยาเสพติด จึงเป็นเรื่องที่หลายคนคัดค้านโต้แย้ง แต่ก็มีการสำรวจพบว่า วิธี NEP นั้นได้ผลในการยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคต่างๆ ผ่านการใช้เข็ม แม้จะไม่ได้ยับยั้งผู้เสพติดหน้าใหม่ก็ตาม

นอกจาก NEP แล้ว อีกแนวคิดหนึ่งที่อาจดู ‘สุดขั้ว’ เข้าไปอีก ก็คือการใช้ยาทดแทนที่เรียกว่า Opioid Substitution Therapy (OST) ซึ่งคือการให้ยาทดแทนที่อันตรายน้อยกว่าสารเสพติดเดิมในปริมาณน้อยที่สุดเท่าที่จะน้อยได้ (เรียกว่า Low-Threshold Treatment) เช่น การใช้เมธาโดน (Methadone) หรือ บิวพรีนอร์ฟีน (Buprenorphine) แทนยาเสพติดประเภทที่เข้าข่ายฝิ่นหรือเป็นอนุพันธ์ของฝิ่น (เช่น เฮโรอีน) โดยผู้รับยาต้องไปยังคลินิกพิเศษที่จัดไว้ เรียกว่า Drug Consumption Room (DCR) หรือบางทีก็เรียกว่า ‘ห้องฉีดยา’ หรือ Injection Room ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ดูแล

หลายคนคิดว่า เนเธอร์แลนด์เป็นประเทศที่มี ‘ห้องฉีดยา’ แบบนี้เป็นประเทศแรก แต่ที่จริงแล้ว สวิตเซอร์แลนด์ต่างหากที่จัดห้องฉีดยาแบบนี้ขึ้นตั้งแต่ปี 1986 (คือกว่า 30 ปีแล้ว!) ในขณะที่เนเธอร์แลนด์เริ่มทำอย่างถูกกฎหมายจริงจังในปี 1996 ส่วนลักเซมเบิร์ก สเปน และนอร์เวย์ เริ่มเปิดสถานที่แบบนี้ในปี 2000

ในยุโรป มีหน่วยงานที่คอยจับตา ตรวจสอบ และศึกษา DCR อยู่ตลอดเวลา เรียกว่า European Monitoring Centre for Drugs and Drug Addiction ซึ่งก็มีผลการศึกษาว่า ยังไม่พบหลักฐานว่า DCR กระตุ้นให้คนใช้ยาเสพติดเพิ่มมากขึ้น เข้ารับการรักษาตัวล่าช้าลง หรือเพิ่มปัญหายาเสพติดในท้องถิ่นมากขึ้น แต่กระนั้นก็มีข้อโต้แย้งจากหลายฝ่าย เช่น การศึกษาเหล่านี้อาจมีปัญหาเรื่องวิธีวิจัย เช่น ให้ผู้ใช้ยาเป็นผู้ประเมินตัวเอง หรือยังมีหลักฐานไม่มากพอที่จะสรุปว่าวิธีนี้มีประสิทธิภาพในการลดการแพร่ระบาดของโรคอื่นๆ เช่น ไวรัสเอชไอวีหรือไวรัสตับอักเสบ

ที่สำคัญก็คือ – นี่เป็นวิธีที่ใช้เงินมหาศาล DCR ในบางเมือง ต้องใช้งบประมาณสูงถึงปีละ 2.7 ถึง 3 ล้านเหรียญ ทำให้เกิดคำถามว่า ผู้คนทั่วไปต้องทำงานงกๆ แล้วจ่ายภาษีเพื่อนำเงินมาให้คนเหล่านี้เสพยากระนั้นหรือ?

นอกจากยาเสพติดแล้ว หลัก Harm Reduction ยังนำมาใช้กับเรื่องอื่นๆ อย่างแอลกอฮอล์หรือเหล้าด้วย ตัวอย่างเช่น ก่อนหน้านี้เคยมีการห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามบ้านพักฉุกเฉินของคนไร้บ้าน (homeless shelter) ซึ่งก็ฟังดูสมเหตุสมผลดีอยู่ เพราะการที่คนไร้บ้านจะมานั่งดื่มกันในบ้านพักฉุกเฉินก็ฟังดูแปลกๆ

แต่ราวปี 1997 เริ่มเกิดความเปลี่ยนแปลงทางความคิดขึ้น เป็นการเปลี่ยนแปลงที่นำมาซึ่งข้อโต้เถียงแบบเดียวกับยาเสพติดนั่นแหละ เมื่อรัฐบาลท้องถิ่นของโตรอนโตพบว่าคนไร้บ้านจำนวนหนึ่งเสียชีวิตเพราะโรคพิษสุราเรื้อรังในบ้านพักฉุกเฉิน พูดง่ายๆ ก็คือ แม้ห้ามดื่มในบ้านพัก ก็ไม่ได้แปลว่าคนเหล่านี้จะไม่ไปเสาะหาเครื่องดื่มจากที่อื่น

ด้วยเหตุนี้ โตรอนโตจึงเป็นเมืองแรกที่ริเริ่มเปลี่ยนบ้านพักฉุกเฉินหรือ shelter ธรรมดาๆ ให้เป็น wet shelter สำหรับผู้ป่วยที่ ‘ติดเหล้า’ โดยเฉพาะ (คนไร้บ้านที่ไม่ได้ติดเหล้าก็ไปพักในบ้านพักธรรมดา) ด้วยความเข้าใจในธรรมชาติมนุษย์ว่า การที่คนเราจะ ‘ไร้บ้าน’ ได้ แปลว่าต้องผ่านทุกข์สาหัสจนชีวิตไม่มีทางเลือกมากนัก หลายคนจึงหันหน้าเข้าหาแอลกอฮอล์ การที่เราจะไป ‘ตำหนิ’ คนเหล่านี้ และชี้นิ้วสั่งบอกพวกเขาว่าห้ามดื่ม ยิ่งเท่ากับซ้ำเติมทำร้ายพวกเขาเข้าไปอีก ดังนั้น จึงเกิดหลักการ ‘จัดการ’ เครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์’ ขึ้นมา คือให้ผู้ที่เข้ามาพำนักได้ดื่มเครื่องดื่มเหล่านี้ตามจำนวนที่กำหนดไว้ โดยมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลอย่างใกล้ชิด

หลังจากนั้น อีกหลายเมืองในแคนาดาก็รับเอาวิธีนี้ไปใช้ และมีการศึกษาที่ตีพิมพ์วารสารทางการแพทย์ของแคนาดาในปี 2006 พบว่าวิธีการนี้ส่งผลไป ‘ลด’ การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยรวมลง

นักวิจัยพบว่า ผู้เข้าร่วมโปรแกรมจะลดการดื่มจากวันละ 46 ครั้ง (ซึ่งถือว่าดื่มหนักมาก) ในตอนที่เข้าบ้านพักฉุกเฉิน มาเหลือเพียงเฉลี่ย 8 ครั้ง (ซึ่งก็ยังเยอะอยู่ดี แต่ก็น้อยลงกว่าเดิมมาก) และการถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลเพราะอาการป่วยฉุกเฉินลดจากเดือนละ 13.5 เหลือเดือนละ 8 ราย การถูกตำรวจจับก็ลดลงจากเดือนละ 18.1 ครั้ง เหลือเดือนละ 8.8 ครั้ง

ในสหรัฐอเมริกามีหลายเมืองที่ใช้วิธีนี้ เช่น ซีแอตเทิล โดยมหาวิทยาลัยแห่งรัฐวอชิงตันศึกษาพบว่า การให้คนไร้บ้านได้รับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามปริมาณที่ควบคุมนี้ โดยรวมแล้วเป็นภาระของรัฐและผู้เสียภาษีน้อยกว่าปล่อยให้คนเหล่านี้อยู่บนท้องถนน และต้องทำทุกวิถีทางเพื่อหาเงินมาซื้อเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ ซึ่งอาจหมายถึงอาชญากรรมต่างๆ ทำให้รัฐต้องใช้ภาษีมาเป็นค่าตำรวจ และค่ารักษาพยาบาลฉุกเฉินต่างๆ

นอกจากโปรแกรมที่เกี่ยวกับเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์โดยตรงแล้ว ยังมีโปรแกรมอื่นๆ ในหลายประเทศ ที่พยายามลดอันตรายจากการดื่มเครื่องดื่มเหล่านี้ เช่น หลายเมืองมีโปรแกรมจัดคนขับรถส่งคนเมากลับบ้านในช่วงวันหยุด ซึ่งฟังดูคล้ายเอาอกเอาใจนักดื่มและนักท่องราตรีมากเกินไป แต่ก็มีงานวิจัยบ่งชี้ว่า การทำเช่นนี้ช่วยลดอันตรายให้กับ ‘คนอื่น’ (เช่น บุคคลที่สามที่อาจต้องเผชิญหน้ากับนักขับที่เมามาย) ได้มากกว่าการออกกฎหมายห้ามขับรถขณะมึนเมาเฉยๆ ในบางเมืองอาจมีการคิดค่าบริการ แต่บางเมืองก็ถึงขั้นให้บริการฟรีเลย โดยมีการรวมกลุ่มอาสาสมัครขึ้นมา

เรื่องของสิงห์อมควันหรือนักสูบบุหรี่ก็ถูกจัดการด้วย Harm Reduction เช่นเดียวกัน  เพราะปัญหาของการสูบบุหรี่ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับตัวผู้สูบหรือเสพเท่านั้น แต่การสูบบุหรี่ ‘ปล่อย’ อันตรายใส่คนรอบข้างด้วย ดังนั้น การสูบบุหรี่จึงไม่เหมือนการใช้ยาเสพติดโดยการฉีดหรือกินยา ที่ในเบื้องต้นเกิดผลต่อตัวผู้เสพเท่านั้น (เว้นแต่ว่าจะเมายาแล้วลุกขึ้นมาจับใครเป็นตัวประกัน) หรือการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (เว้นแต่เมาแล้วขับรถ ซึ่งเป็นเรื่องอันตรายต่อผู้อื่นมาก) แต่การ ‘พ่นควัน’ บุหรี่ออกมาสู่คนรอบข้างขณะจุดบุหรี่สูบ ทำให้เกิดการ ‘สูบบุหรี่มือสอง’ (หรือมือสาม ในกรณีที่เหม็นติดเสื้อผ้า) ขึ้นมาในทันที

ดังนั้น เราจึงเห็นการห้ามสูบบุหรี่และรณรงค์ให้คนเลิกสูบบุหรี่ เพราะมันอันตรายในฉับพลันทั้งต่อตัวเองและผู้อื่น  แต่ก็ต้องยอมรับว่า ยังมีคนอีกมากมายที่ไม่สามารถเลิกบุหรี่ได้ การกำจัดคนเหล่าออกไปจากสังคมดูจะโหดร้ายเกินไปหน่อย วิธีการที่เป็น Harm Reduction สำหรับบุหรี่ จึงคือนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อลดอันตรายจากบุหรี่ เช่น การรณรงค์หาวิธีเลิกสูบบุหรี่ การงดใช้บุหรี่ชั่วคราว การหันไปหาสิ่งทดแทนอื่นๆ เช่น การใช้แผ่นนิโคติน หรือการใช้บุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งวิธีหลังสุดยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่าลดอันตรายได้จริงหรือ

นอกจากการใช้สารเสพติดต่างๆ แล้ว อีกเรื่องหนึ่งที่พบว่ามีผู้ ‘เสพติด’ มากในระดับโลก ก็คือการเสพติดเซ็กซ์ (sexual addiction) ซึ่งคือการหมกมุ่นหรือเข้าร่วมกิจกรรมทางเพศแบบล้นเกินจนมีผลต่อการดำเนินชีวิต เช่น หมกมุ่นกับเซ็กซ์จนไม่สามารถทำหน้าที่การงานอื่นๆ ได้ และไม่สามารถหักห้ามตัวเองจากพฤติกรรมทางเพศเหล่านี้ได้​ ซึ่งหากเป็นการเสพติดการสำเร็จความใคร่ด้วยตัวเองนั้นไม่ค่อยมีปัญหา (ต่อผู้อื่น) เท่าไหร่ จะทำมากน้อยแค่ไหนก็เกิดผลเฉพาะตัวเอง แต่การเสพติดเซ็กซ์ในแบบที่ต้องร่วมเพศกับผู้อื่น อาจนำไปสู่ปัญหาที่ใหญ่ขึ้น เช่น การล่อลวงหรือข่มขืนได้

การเสพติดเซ็กซ์มีการแยะแยกจัดประเภทไว้หลากหลายสำนัก ทั้งขององค์การอนามัยโลก (เรียกว่า International Classification of Diseases หรือ ICD ซึ่งรวมไปถึงการมีแรงขับทางเพศล้นเกินด้วย) หรือของสหรัฐอเมริกา ก็มีคู่มือที่เรียกว่า Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders (DSM) พูดถึงการเสพติดเซ็กซ์เอาไว้ชัดเจนหลายรูปแบบ โดยเฉพาะภาวะที่เรียกว่า Hypersexuality

ที่น่าสนใจก็คือ ในบรรดาการเสพติดทั้งหมด ไม่ว่าจะแอลกอฮอล์ ยาเสพติด หรือบุหรี่ อาการเสพติดเซ็กซ์ดูเหมือนจะมีความเห็นพ้องต้องกันถึงวิธีการ Harm Reduction มากที่สุด นั่นคือไม่ค่อยมีเสียงโต้แย้งเท่าไหร่ ทั้งที่โดยปกติแล้ว เรื่องเพศเป็นเรื่อง ‘ต้องห้าม’ (taboo) ของหลายสังคม

การบำบัดอาการเสพติดเซ็กซ์ทำได้หลายวิธี เช่น การปรึกษานักจิตวิทยาเพื่อใช้จิตบำบัดให้อาการลดน้อยลง ในต่างประเทศมีการเข้ากลุ่มช่วยเหลือ เช่น กลุ่ม Sex Addicts Anonymous, Sexaholics Anonymous คล้ายๆ กับกลุ่มบำบัดผู้ติดสุรา หรือในบางกรณี หากอาการหนักหนามากก็อาจต้องปรึกษาแพทย์เพื่อใช้ยาบางชนิด เพราะเอาเข้าจริง อาการเสพติดเซ็กซ์ ก็คือการเสพติดสารเคมีในสมองบางอย่างที่หลั่งออกมาเวลามีกิจกรรมทางเพศนั่นเอง หากได้ ‘สารทดแทน’ ก็อาจลดพฤติกรรมลงได้

เทคนิค Harm Reduction ในเรื่องเซ็กซ์ที่เก่าแก่ที่สุดอย่างหนึ่ง ก็คือการแจกถุงยางอนามัยฟรี คือจะมีเซ็กซ์เท่าไหร่ก็มีไป ขอแค่ใช้ถุงยางอนามัยเพื่อลดการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์และคุมกำเนิดไปด้วยในตัวเท่านั้น นอกจากนี้ อีกเทคนิคหนึ่งที่ใช้กันมาก คือให้ผู้เสพติดเซ็กซ์บันทึกพฤติกรรมของตัวเองแทนการ ‘ห้าม’ ไปเลย เช่น ถ้าได้บันทึกว่าตัวเองดูหนังโป๊บ่อยแค่ไหน สุดท้ายผู้เสพติดก็จะตระหนักได้ด้วยตัวเองว่าหมกมุ่นกับกิจกรรมนั้นๆ มากเกินไปแล้ว แม้แต่การให้เด็กๆ ได้เรียนรู้เพศศึกษาแต่เนิ่นๆ ก็ถือเป็นหนึ่งในหลักการ Harm Reduction ด้วยเหมือนกัน

นอกเหนือไปจากเรื่อง ‘เฉพาะตัว’ ของผู้เสพติดแล้ว การจัดการสังคมในวงกว้าง เช่น การทำให้การค้าประเวณีเป็นเรื่องถูกกฎหมาย โดยมีการเข้าไปจัดการดูแล ก็ถือเป็น Harm Reduction ด้วยเช่นกัน แต่สังคมไหนจะปฏิบัติได้หรือไม่ได้ ขึ้นอยู่กับว่าสังคมนั้นๆ มีปูมหลังที่มาทางวัฒนธรรมอย่างไร และเข้าใจคำว่า Harm Reduction มากน้อยแค่ไหน

คร้ังหนึ่ง คาร์ล ยุง นักจิตวิทยาคนสำคัญของโลกเคยบอกไว้ว่า

การเสพติดทุกรูปแบบล้วนเลวร้าย ไม่ว่าสารที่ส่งผลต่อระบบประสาทจะเป็นแอลกอฮอล์ มอร์ฟีน หรืออุดมคติ

เราคงต้องยอมรับว่า คาร์ล ยุง พูดไม่ผิดเลย ไม่มีใครบอกว่า การติดเหล้า บุหรี่ เซ็กซ์ หรือยาเสพติด เป็นเรื่องดี เพราะขึ้นชื่อว่าเสพติด ย่อมทำให้เกิดผลเสียทั้งนั้น

แต่เมื่อมองโลกในภาพกว้างออกมา เราจะพบว่า สังคมส่วนใหญ่เลือก ‘จัดการ’ กับการเสพติดเหล่านี้ ด้วยการ ‘เสพติด’ ในอีกระดับหนึ่ง

นั่นก็คือการ ‘เสพติดอุดมคติ’ ซึ่งบ่อยครั้งมาในนามของการ ‘เสพติดศีลธรรม’ ซึ่งมักส่งผลให้เกิดอาการ ‘มืดบอด’ ต่อข้อมูลเชิงประจักษ์

Harm Reduction เป็นแนวคิดที่ยังต้องถกเถียงกันต่อไปอีกมาก เพราะนี่คือแนวคิดที่กว้างและครอบคลุมหลากหลายด้าน แต่ละด้านต้องการการศึกษาเพื่อลงลึก และแต่ละสังคมต่างก็มีปูมหลังทางวัฒนธรรมที่แตกต่างกันไป จึงไม่น่าจะมีวิธีใดวิธีเดียวที่เป็นสากลและใช้การได้กับทุกสังคม แต่ถ้าเป้าหมายร่วม คือการลด ‘อันตราย’ ให้กับสังคมโดยรวม เราก็น่าจะสามารถหันหน้าเข้าหากัน พิจารณาร่วมกัน โดยนำหลักฐานเชิงประจักษ์มาเป็นแกนในการพิจารณาได้ เพื่อนำไปสู่วิธีแก้ปัญหาที่ยั่งยืน เข้าใจ และเปิดกว้างต่อความเป็นไปได้ใหม่ๆ

เอาเข้าจริง การเสพติดที่อาจอันตรายไม่แพ้ยาเสพติด อาจคือการเสพติดอุดมคติหรือชุดศีลธรรมของตัวเราเองโดยไม่รับฟังอุดมคติหรือชุดศีลธรรมของผู้อื่นเลยก็เป็นได้

อ่านเพิ่มเติม

Principles of Harm Reduction

What Is Harm Reduction?

Substance Use Harm Reduction

Harm Reduction

Low-threshold treatment program

Two Decades of Positive Change: A Brief History of the Harm Reduction Coalition

Harm reduction in the USA: the research perspective and an archive to David Purchase

Video Gaming Addiction and Harm Reduction

Harm Reduction for Sex Addiction

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save