fbpx

เมื่อการคุมขังคือทางตัน มองทางออกใหม่แห่งการแก้ปัญหายาเสพติด ด้วยสูตรผสมทางการแพทย์และเศรษฐศาสตร์

กว่า 20 ปีที่ประเทศไทยดำเนินมาตรการปราบปรามยาเสพติดด้วยโทษรุนแรง ด้วยเชื่อว่าจะทำให้ปัญหาหมดไป แต่ตลอดเวลาที่ผ่านมา ยาเสพติดก็ไม่เคยหายไปจากสังคมไทย ตรงกันข้ามกลับมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ไม่นับว่ายังมีปัญหาอื่นๆ ที่เป็นผลพวงของการปราบปรามยาเสพติด ไม่ว่าจะคนล้นคุก การกลับมาติดยาเสพติดซ้ำ หรืออาชญากรรมต่างๆ อย่างไรก็ตาม เรื่องเหล่านี้ไม่ได้เกิดแค่ในไทยเท่านั้น เพราะหลายประเทศทั่วโลกประสบปัญหาคล้ายกันจนนำมาสู่การประชุมสมัยพิเศษของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติว่าด้วยเรื่องยาเสพติด (The UN General Assembly Special Session – UNGASS) ในปี 2016 ซึ่งได้ข้อสรุปว่า การปราบปรามยาเสพติดด้วยวิธีรุนแรงไม่ใช่ทางออกที่ดี แต่ต้องหาแนวทางใหม่เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้ดีกว่าเดิม

นั่นจึงเป็นที่มาทำให้ไทยเกิดกฎหมายด้านยาเสพติดใหม่ 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ. ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 และ พ.ร.บ. วิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2564 ซึ่งบังคับใช้เมื่อเดือนพฤศจิกายนปี 2564 ที่ผ่านมา โดยถือเป็นหมุดหมายสำคัญที่จะเปลี่ยนมุมมองการแก้ไขปัญหายาเสพติดจากการ ‘ปราบปราม’ สู่ ‘บำบัด’ โดยเน้นรักษาผู้เสพให้กลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้ มากกว่าที่จะคุมขังในเรือนจำ และมีตราบาปติดตัวไปตลอดชีวิต

อย่างไรก็ตาม ทางเลือกของการแก้ปัญหายาเสพติดไม่ได้อยู่ที่ตัวบทกฎหมายเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เนื่องจากยาเสพติดเกี่ยวข้องโดยตรงกับการแพทย์ ทั้งยังมีการซื้อ-ขายในตลาด ซึ่งเชื่อมโยงกับมุมมองทางเศรษฐศาสตร์ งานศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับปัญหายาเสพติดหลายชิ้นทั่วโลกจึงต้องใช้องค์ความรู้ทั้งสองศาสตร์เพื่อศึกษาหาต้นตอปัญหายาเสพติด ตลอดจนนำไปสู่การมุ่งหาวิธีแก้ไขที่ครอบคลุม รอบด้าน และมีประสิทธิภาพมากขึ้น

101 ชวน ผศ.ดร.นพ. อภินันท์ อร่ามรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิชาการสารเสพติด ภาคเหนือ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ ผศ.ดร.ทองใหญ่ อัยยะวรากูล อาจารย์ประจำคณะพัฒนาเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) สนทนาถึงทิศทางการแก้ปัญหายาเสพติดของทั่วโลก รวมถึงไทย ที่เริ่มหันเหออกจากการใช้แนวทางรุนแรง พร้อมสำรวจ พ.ร.บ. ยาเสพติดฉบับใหม่ของไทย ว่าจะตอบโจทย์การแก้ปัญหาด้วยแนวทางใหม่หรือไม่

ประกาศ ‘สงครามยาเสพติด’ ด้วยการปราบปรามเด็ดขาด
อะไรคือปัญหา?

นโยบายปราบปรามยาเสพติดมีจุดเริ่มต้นย้อนกลับไปในปี 2539 ซึ่งเป็นช่วงยาเสพติดเริ่มระบาดหนักทั่วโลก ทำให้องค์การสหประชาชาติ (UN – ยูเอ็น) เรียกประเทศสมาชิกประชุมเพื่อหาทางแก้ปัญหาในปี 2541 ซึ่งได้ตั้งเป้าหมายว่าอีก 20 ปีข้างหน้า โลกจะเป็นสังคมที่ปลอดยาเสพติด

อภินันท์เล่าว่า ทิศทางของยูเอ็นทำให้หลายประเทศเชื่อว่า คนเสพยาเป็นตัวแพร่เชื้อยาเสพติดให้สังคม ถ้าหากนำพวกเขาไปขังไว้ สังคมก็จะปลอดภัย มาตรการหลายอย่างจึงวางโทษเอาไว้เด็ดขาด ในขณะที่สังคมไทยยังมีคนที่จำเป็นต้องใช้สารเสพติดเพื่อทำงานอยู่ โดยจากการสำรวจครัวเรือนในทุกๆ 3 ปี ตั้งแต่ปี 2543 พบว่า มีจำนวนผู้ใช้กัญชา กระท่อม และยาบ้าแตะหลักล้านต่อเนื่องมา 10 กว่าปี

“เคยมีกรณีหนึ่งที่ผู้หญิงวัยกลางคนที่ข้ามแม่น้ำโขงระหว่างฝั่งไทย-ลาว ถูกจับในขณะที่ข้ามจากฝั่งลาวมาฝั่งไทย พบยาบ้า 2 เม็ดครึ่ง ถูกฟ้องศาล แล้วศาลตัดสินประหารชีวิต อันนี้เป็นคดีสะเทือนวงการผู้พิพากษามาก เพราะเกิดคำถามในสังคมว่ามันไม่ได้เป็นกรณีที่จะทำให้เกิดความเสียหายต่อสังคมอย่างร้ายแรง แต่กฎหมายระบุว่า ใครนำยาเสพติดร้ายแรงเข้ามาสู่อาณาจักร แสดงว่าจะเป็นภัยร้ายแรงต่อราชอาณาจักร โทษสูงสุดคือประหารชีวิต ซึ่งเราดูจากกรณีแค่นี้ เราจะรู้ว่าเขาไม่ได้เป็นพ่อค้ายาอะไรเลย แต่เป็นคนที่ใช้ยาเสพติดเพื่อการทำงาน แล้วก็ไปแสวงหายาเสพติดเพื่อการทำงานในราคายาที่ถูกกว่าในฝั่งลาวเท่านั้น” อภินันท์กล่าว

ด้วยโทษที่ไม่ได้สัดส่วน และผลลัพธ์สุดท้ายที่ต้องจับคนครอบครองยาเสพติดไว้ในเรือนจำเพียงอย่างเดียว ยังทำให้เกิดภาวะนักโทษล้นคุก กระบวนการยุติธรรม ทั้งตำรวจ อัยการ ศาล และเรือนจำ ต้องลงแรงมาทำงานด้านนี้มากขึ้นเรื่อยๆ โดยมีสถิติระบุว่า เฉพาะปี 2564 สัดส่วนของนักโทษคดียาเสพติดในไทยคิดเป็น 66 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับจำนวนนักโทษคดีอื่นๆ ทั่วประเทศ และมีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ถึงร้อยละ 81 ที่ต้องทำหน้าที่ดูแลผู้ต้องขังที่เกี่ยวข้องกับคดียาเสพติดโดยตรง

“เมื่อคนเข้าไปในคุกมากๆ สังคมก็ไม่ได้สงบสุขอย่างที่เราวาดฝันไว้ แต่ปรากฎว่ามีอาชญากรรมมากขึ้น เรายังต้องตามเข้าไปจับผู้ค้าที่อยู่ในคุกด้วยซ้ำไป ในท้ายที่สุด กลไกจับขังคุกล้มเหลวที่จะตัดทอนวงจรการค้ายาต่างๆ นานา ผลลบกลับมากขึ้น สถานการณ์ยาเสพติดก็ไม่ได้ลดลง เช่น การระบาดของไอซ์ในช่วงที่ผ่านมา จากเริ่มแรกคนติดประมาณพันกว่าคนต่อปี ต่อมาเพิ่มขึ้นเป็นเกือบหมื่น ตอนนี้ตัวเลขขึ้นมาเป็นเรือนแสนแล้ว” อภินันท์อธิบาย

นอกจากนี้ ด้วยปัญหาสังคมและเศรษฐกิจที่อ่อนแอ ทำให้คนมีโอกาสที่จะไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติดมากขึ้น โดยเฉพาะวัยรุ่นที่อยู่ในวัยทดลอง ซึ่งนำมาสู่การทดลองยาตัวใหม่ๆ และวิธีใช้ใหม่ๆ เช่น ใช้สารเสพติดร่วมกับสุรา หรือใช้ยาทางการแพทย์ผสมกับยาเสพติด ซึ่งอาจส่งผลให้หลบเลี่ยงกระบวนการยุติธรรมได้มากขึ้น และขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดอันตรายต่อตัวผู้เสพมากขึ้น

งานวิจัยทางเศรษฐศาสตร์เกี่ยวกับยาเสพติดหลายชิ้นยังให้ข้อมูลตรงกันว่า การใช้วิธีการปราบปรามขั้นเด็ดขาดก็ไม่ใช่คำตอบ เพราะเมื่อดูหลักอุปสงค์-อุปทานแล้ว การคุมขังกลับทำให้ราคายาเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญและทำให้ผู้ค้าได้ประโยชน์จากกลไกนี้

ทองใหญ่อธิบายในประเด็นนี้ว่า “ถ้าพูดในภาพรวม ยาเสพติดเป็นสินค้าที่ไม่ได้ซื้อ-ขายเสรี เพราะคนซื้อไม่ได้มองเห็นโทษในระยะยาวของมัน ดังนั้นรัฐเลยต้องทำตัวเป็น father knows best หรือคุณพ่อรู้ดี เข้าไปห้ามไว้ ซึ่งในแนวคิดนี้ มันควรจะห้ามการซื้อ-ขายไว้ได้ แต่พอรัฐประกาศว่ายาเสพติดผิดกฎหมาย โทษที่วางไว้จึงสามารถมองได้ว่าเป็นต้นทุนแฝงของการซื้อ-ขายยาเสพติด เช่น ความน่าจะเป็นที่จะถูกจับและถูกลงโทษ ต้นทุนแฝงที่เพิ่มมาตรงนี้ทำให้ราคายาเพิ่มสูงขึ้น”

“ถ้ามองในเชิงเศรษฐศาสตร์ทั่วๆ ไป ราคาที่สูงขึ้นจะช่วยลดปริมาณการซื้อของได้ เพราะพอของแพง คนก็ซื้อน้อยลง แต่ว่ายาเสพติดเป็นสินค้าที่มีการตอบสนองต่อราคาค่อนข้างต่ำ คือต่อให้ราคาสูงยังไง คนก็ยังจะซื้อมาเสพอยู่ดี เพราะด้วยความเป็นคนติดยา ซึ่งมันเป็นธรรมชาติของยาเสพติด ส่งผลไปถึงปัญหาหนึ่งที่เราเห็นกันคือ คนที่ไม่มีเงินจะซื้อยาก็ไปลัก วิ่ง ชิง ปล้น ไปทำอาชญากรรมต่อทรัพย์ต่างๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งเงินที่จะเอาไปเสพยาที่ว่านี้” ทองใหญ่อธิบายต่อ

จากการทำงานวิจัยด้านยาเสพติดหลายปี ทองใหญ่มีโอกาสพูดคุยกับผู้ค้ายาในเรือนจำกลางเขาบิน จังหวัดราชบุรี และเรือนจำกลางเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ พบว่า เมื่อยาเสพติดผิดกฎหมาย ทำให้เกิดกลไกของลักษณะการค้าที่ ‘เป็นความลับ’ เนื่องจากผู้ซื้อ-ผู้ขายรู้ว่ามีความผิดทางกฎหมายจึงไม่มีแรงจูงใจที่จะเปิดเผยให้คนอื่นรู้ จึงไม่เห็นว่าจะได้รับโทษในทันที รวมถึงการมี ‘สาย’ ที่คอยส่งข่าวให้ทั้งผู้ซื้อ-ผู้ขาย ทำให้ผู้อยู่ในวงจรยาเสพติดเห็นข้อดีของการทำผิดกฎหมายมากกว่าการมองเห็นโทษที่จะเกิดขึ้นตามหลัง

“อีกอย่างคือ การห้ามซื้อขายยาเสพติดทำให้ราคายาสูงขึ้น มันจูงใจให้คนกลุ่มหนึ่งต้องการที่จะผันตัวเองเข้าไปอยู่ในกลุ่มธุรกิจนี้ พูดง่ายๆ ว่าไปทำงานอย่างอื่น ก็ทำเงินไม่ดีเท่านี้ ต้นทุนผลิตยาบ้าอาจจะแค่ 50 สตางค์ ช่วงที่มีการปราบปรามหนัก ราคายาบ้าขึ้นไปสูงถึงเม็ดละ 500 เท่ากับว่ามีกำไรพันเท่า ธุรกิจที่ทำกำไรได้ขนาดนี้หาไม่ได้ง่ายๆ จึงเป็นการสร้างแรงจูงใจที่บิดเบือนให้คนกลุ่มหนึ่งสนใจที่จะเข้ามาในธุรกิจนี้” ทองใหญ่กล่าว

“ผมเคยถามพ่อค้ายาตัวใหญ่ตรงๆ ในเรือนจำเขาบินว่า ‘ถ้ายาเสพติดถูกกฎหมายขึ้นมา เขาจะทำยังไง’ เขาพูดออกมาเองเลยว่า แล้วอย่างนั้นเขาจะไปทำอะไร นั่นแปลว่าเขายังอยากให้ยาเสพติดผิดกฎหมาย เพราะราคายาสูงทำให้เขามีช่องทางทำมาหากิน”  

‘ลดทอนความเป็นอาญา’ จูงใจคนเสพให้หันมา ‘บำบัด’

หลังจากที่ยูเอ็นประกาศมาตรการปราบปรามยาเสพติดในปี 2541 หลายปีต่อมา ประเทศสมาชิกกลับพบว่าวิธีแก้ปัญหาผิดทาง อภินันท์กล่าวว่า ในปี 2557 ประเทศเม็กซิโกสูญเสียทรัพยากรคนจากยาเสพติดเกือบแสนคน ทำให้รัฐบาลในสมัยนั้นยื่นเรื่องต่อยูเอ็นเพื่อให้เปิดประชุมสมัชชาสมัยพิเศษเพื่อพิจารณาเรื่องนี้กันก่อนครบกำหนดวาระในปี 2561 ซึ่งยูเอ็นตั้งเป้าไว้ว่าจะเป็นปีที่โลกพ้นภัยจากยาเสพติด

“เมื่อประชุมในเดือนเมษายนปี 2559 องค์กรสหประชาชาติก็ได้ออกแนวปฏิบัติเป็นทิศทางว่า โลกนี้จะตั้งเป้าให้ ‘โลกปลอดการใช้ยาเสพติดในทางที่ผิด’ คือไม่ได้เน้นปลอดยาเสพติด แต่เน้น ‘ปลอดภัยจากยาเสพติด’ แปลว่าอยู่กับยาเสพติดได้โดยที่สังคมปลอดภัย เพราะยอมรับแล้วว่าอย่างไรก็ไม่มีทางขจัดยาเสพติดออกไปได้ทั้งหมด ซึ่งประเทศไทยก็ขานรับกับแนวทางนี้เช่นกัน” อภินันท์กล่าว

มาตรการอย่างหนึ่งที่ทั่วโลกหันมาปรับเปลี่ยนจากปัญหายาเสพติดที่ผ่านมา คือ ‘การลดทอนความเป็นอาญา’ (decriminalization) เพื่อไปสู่การอยู่ร่วมกับยาเสพติดอย่างที่ยูเอ็นประกาศเจตนารมณ์ไว้

“decriminalize ไม่เหมือนคำว่า legalize ที่แปลว่าทำให้ถูกกฎหมาย การทำให้ไม่เป็นความผิดทางอาญา อาจจะเป็นความผิดอยู่ก็ได้ แต่ไม่ใช่ความผิดทางอาญา แต่เป็นความผิดปกครอง เช่น เราขับรถฝ่าไฟแดง ไม่เป็นความผิดทางอาญา แต่เป็นความผิดทางปกครองที่มีบทลงโทษระบุไว้” ทองใหญ่กล่าว

“ดังนั้น ความแตกต่างของความผิดทางอาญาและความผิดทางปกครองมีนัยสำคัญมาก เพราะว่าการกระทำอะไรก็แล้วแต่ที่เป็นความผิดทางอาญา มันทำให้เกิดตราบาป โดยในเชิงเศรษฐศาสตร์มันจะก่อให้เกิดผล 2 อย่าง คือ หนึ่ง ต้นทุนในการเป็นคนดีของเขาจะต่ำลง หมายความว่า โอกาสที่เขาจะกลับไปเป็นคนดียาก เพราะว่าสังคมไม่ต้อนรับเขา สอง คือโอกาสของเขาที่จะไปสู่สังคมที่ไม่ดี สูงขึ้น มันเหมือนเป็นทั้งแรงดันและแรงดึงพร้อมๆ กัน กลุ่มที่ไม่ดีก็พร้อมต้อนรับ และกลุ่มที่ดีก็ผลักเขา ฉะนั้น คนเสพยาที่ต้องโทษทางอาญา พอออกมากลับไปเสพอีก ผมรับรองได้เลย โอกาสที่ว่าจะเปลี่ยนพฤติกรรมน้อยมาก และยากที่จะเปิดเผยตัวเองออกมาเพื่อแสวงหาหรือเข้ารับการบำบัดด้วยความสมัครใจ” 

ประเทศที่นักวิชาการจากทั้งสองศาสตร์ยกตัวอย่างให้เห็นภาพว่าประสบความสำเร็จจากการใช้ทางเลือกนี้คือพื้นที่ในแถบยุโรป โดยเฉพาะประเทศที่ลดผู้เสพได้มากที่สุดคือโปรตุเกส ซึ่งปรับมุมมองทางกฎหมายให้ผู้เสพเป็นผู้ป่วยที่ต้องได้รับการบำบัด โดยมีศูนย์บำบัดรองรับอย่างทั่วถึง และไม่ให้มีความผิดทางอาญาเกิดขึ้น แต่ยังคงให้การขายเป็นความผิดทางอาญาอยู่

“เขาสามารถลดอัตราตายที่เกิดจากปัญหายาเสพติดได้ ลดปัญหาป่วยที่เกิดจากยาเสพติดได้ ท้ายที่สุด ด้วยระยะเวลาในการดำเนินงานยาวนาน เขาลดผู้เสพหน้าใหม่ได้ บางประเทศในยุโรปถึงขั้นปิดคุกได้ อันนี้เป็นปรากฏการณ์ที่เรานึกไม่ออกเลยว่าจะเกิดขึ้นในประเทศไทยได้ยังไง บางประเทศก็ไปไกลเลยคือให้คนเข้ามาฉีดสารเสพติดได้เลย เขาสอนวิธีใช้ที่ถูกต้องด้วย ซึ่งไทยคงจะไม่ไปถึงขั้นนั้นได้” อภินันท์เล่าถึงงานที่ได้ศึกษามา

นอกจากนั้น ทองใหญ่ยังให้ข้อมูลอีกมุมว่า แม้โปรตุเกสจะประสบความสำเร็จจากแนวทางลดความเป็นอาญา แต่ก็มีข้อถกเถียงในเชิงเทคนิคจากหลายฝ่ายว่า อาจจะไม่ใช่เพราะวิธีการนี้ แต่มีอีกหลายปัจจัยที่ทำให้ผู้เสพลดลง

“ยังไม่มีอะไรรับรองได้ว่าการนำนโยบายใดนโยบายหนึ่งมาใช้ในประเทศหนึ่งจะได้ผลเหมือนกัน เพราะขึ้นอยู่กับบริบทแต่ละที่ จึงต้องมีการศึกษาในเชิงประจักษ์ที่มากกว่าเดิม เพื่อให้ได้ข้อมูลตัดสินใจว่าทิศทางประเทศไทยจะเป็นอย่างไร”

เช่นเดียวกับอภินันท์ที่มองว่าการดูตัวอย่างต่างประเทศจำเป็นต้องพิจารณาจากหลายด้าน เพื่อให้การปรับใช้สอดคล้องกับบริบทสถานการณ์ในประเทศไทยได้

“เวลาเรามองแนวทาง เราต้องไม่มองด้านเดียว เราต้องเอาความพร้อมของสังคม ความพร้อมของรัฐบาล ความพร้อมในเชิงทรัพยากรต่างๆ รวมถึงความรู้ ความเข้าใจของสังคมโดยรวม แล้วก็ประสบการณ์ในอดีตของการแก้ปัญหาในสังคมนั้นมาพิจารณาหมด” อภินันท์กล่าง

“เช่น ประเทศสวิตเซอร์แลนด์เปิดอิสระเสรีให้คนมาฉีดเฮโรอีนได้ถูกกฎหมาย ถ้าเราไปดู GDP ต่อหัวของสวิตเซอร์แลนด์ ดูคุณภาพคน ดูระบบภาษี ดูระบบต่างๆ เราต้องยอมรับว่า สวิตเซอร์แลนด์มีระบบเหล่านี้ที่พัฒนาการสอดประสานกันมานานมากแล้ว แม้ว่าเขาจะเปิดอิสระเสรีให้มาฉีดเฮโรอีนได้ เขาก็ไม่ได้ทำให้สังคมเกิดความตระหนก และสังคมรู้สึกว่าวิธีการนี้ทำให้สังคมปลอดภัยมากขึ้น” 

พ.ร.บ. ยาเสพติดฉบับใหม่กับการ ‘มองผู้เสพเป็นผู้ป่วย’
หลากข้อสังเกตที่ยังต้องจับตา

  

นับจากที่ประเทศไทยตอบรับทางเลือกใหม่ในการแก้ปัญหายาเสพติดบนเวทียูเอ็น ผ่านมา 5 ปี คือปี 2564 พ.ร.บ.ยาเสพติดใหม่ 2 ฉบับก็คลอดออกมาโดยมีใจความสำคัญคือ ‘การลดทอนความเป็นอาญา’ ‘เปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย’ ซึ่งถือเป็นการขยับเส้นมุมมองต่อยาเสพติดใหม่ในสังคมไทย 

“กฎหมายใหม่นี้มองปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาเรื้อรังที่ต้องแก้ไขระยะยาว อันนี้เป็นสิ่งที่ไม่เคยมีในกฎหมายเดิม ซึ่งนับว่าเป็นทิศทางที่ดี การมองยาเสพติดเป็นปัญหาเชิงพฤติกรรม จิตใจ สังคม ที่เชื่อมผูกโยงกัน และต้องแก้ระยะยาว จึงมีกลไกในกฎหมายใหม่ที่ชื่อว่า ‘ศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคม’ มีหลักการคือ แม้จะติดยาเสพติด ทุกคนแก้ไขได้ มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์และทางการแพทย์ชี้ให้เห็นว่าถ้าสามารถแก้ไขในเชิงพฤติกรรมได้นานพอ ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในระดับที่ดีขึ้น ข้อสรุปขององค์การอนามัยโลกก็บอกว่า แก้ได้ แต่ต้องใช้เวลา” อภินันท์อธิบาย

พ.ร.บ. ยาเสพติดฉบับใหม่จึงบังคับให้รัฐบาลพัฒนาศูนย์คัดกรองในระดับตำบลทั่วประเทศ โดยกำหนดว่า เมื่อตำรวจพบผู้เสพจะต้องส่งไปยังศูนย์คัดกรองเพื่อตรวจว่ามีปัญหาอะไรที่เกี่ยวข้องกับการเสพยา และจะแก้ปัญหาเหล่านั้นได้อย่างไร มีอะไรบ้างที่จะทำได้ภายในพื้นที่ และมีอะไรบ้างที่จะต้องขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องของรัฐ

อย่างไรก็ตาม แม้ความเห็นของนักวิชาการทั้งสองต่อภาพรวม พ.ร.บ. ยาเสพติดใหม่ 2 ฉบับจะถือว่าอยู่ใน ‘ทิศทางที่ดี’ แต่ก็เห็นชัดว่ายังไม่ใช่ ‘การลดทอนความผิดทางอาญาที่สมบูรณ์’ เพราะยังมีการให้อำนาจฝ่ายกระบวนการยุติธรรมอยู่ และในรายละเอียดยังคงมีหลายข้อที่นักวิชาการทางแพทย์และเศรษฐศาสตร์คิดว่าต้องจับตาดูการใช้กฎหมายนี้ต่อไป 

“ผมว่ากฎหมายตัวนี้มีความน่าสนใจ แม้ทิศทางจะมาในทางการลดความเป็นอาญา พยายามมองผู้เสพเป็นผู้ป่วยมากกว่าเดิม แต่มันก็ยังไม่ใช่การ decriminalize ยาเสพติด เพราะในมาตราที่ 162 และ 163 ก็ยังระบุว่า การเสพยาเสพติดให้โทษตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายฉบับนี้ ยังมีโทษทางอาญาอยู่ ถึงแม้ว่าจะน้อยกว่าเดิมมาก” ทองใหญ่ตั้งข้อสังเกต

อีกประเด็นที่ทองใหญ่ให้ความสนใจ คือการให้อำนาจศาลมากขึ้นในการใช้ดุลยพินิจพิจารณาว่าการกระทำแบบใดจัดเป็นการครอบครองยาเสพติดไว้เพื่อเสพหรือจำหน่าย จากกฎหมายเดิมที่มีเกณฑ์เพื่อดูปริมาณสารในครอบครอง เช่น หากมียาเสพติดประเภทให้โทษที่ 1 อย่างแอมเฟตามีน จำนวน 375 มิลลิกรัมขึ้นไป หรือมีน้ำหนักสุทธิ 1.5 กรัมขึ้นไป ถือว่าเป็นการผลิต นำเข้า หรือส่งออก

ในขณะที่อภินันท์เห็นตรงกันว่ายังมีแนวคิดเดิมบางอย่างที่ยังคงระบุไว้ในกฎหมายอยู่ เพราะเชื่อว่าถ้าทิ้งไปทั้งหมดอาจจะทำให้ควบคุมสถานการณ์ไม่ได้ เช่น ยังให้อำนาจกับตำรวจในการบังคับใช้กฎหมายอยู่มาก 

“มีการระบุว่า ถ้าหากบำบัดด้วยระยะเวลาที่เหมาะสมแล้ว แต่พบว่าผู้เสพยังกลับไปเสพอยู่ ก็สามารถที่จะลงโทษ จับกุมคุมขังได้ นั่นแปลว่าถ้าเทียบกับกรณีเมาแล้วขับ ซึ่งเป็นคดีปกครอง เมาแล้วขับแต่ไม่ได้เกิดอุบัติเหตุที่ทำให้คนอื่นเสียหาย จะถือว่าเป็นความเสี่ยง โดนลงโทษให้บำเพ็ญประโยชน์ สมมติเราคิดแบบกฎหมายยาเสพติด อีก 3 ปีให้หลัง พบว่ายังมีการเมาแล้วขับอยู่ จับขังคุกได้ ถ้าอย่างนั้นคุกก็คงแตกอีกเหมือนกัน เพราะว่าจะทำให้เขาปลอดสิ่งเสพติดไปเลยตลอดชีวิต มันคงจะเป็นไปไม่ได้ หรือต่อให้เป็นไปได้ มันก็คงไม่ใช่ทุกคน เพราะฉะนั้น เงื่อนไขนี้ยังเป็นข้อกังวลที่คนที่พิจารณากฎหมายเลือกจะใส่ไว้อยู่” อภินันท์กล่าว

นอกจากนี้ อภินันท์มองว่ายังมีประเด็นอื่นๆ ที่อาจจะเป็นช่องโหว่ และต้องรอดูการทำงานกันต่อไป เช่น รอยต่อระหว่างหน่วยงานรัฐที่ต้องทำงานร่วมกัน อย่างกระทรวงยุติธรรมและกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งแต่ละแห่งก็มีวัฒนธรรมการทำงานที่ต่างกัน อาจจะต้องใช้เวลาในการสร้างพื้นที่ทำงานร่วมกันได้อย่างลงตัว  

“รอยต่อที่เป็นช่องกว้างกว่า คือหน่วยงานภาครัฐกับภาคประชาชน ภาคประชาชนเห็นยาเสพติดอยู่ข้างหน้า ภาครัฐบอกว่า เดี๋ยว รอก่อน งบประมาณยังมาไม่ถึง อันนี้เป็นปัญหาใหญ่มากที่เราต้องพยายามอุดช่องว่างนี้ให้ได้” อภินันท์กล่าว 

ปรับมุมมองสังคม-แก้ปัญหาที่ต้นน้ำ
อีกสิ่งสำคัญที่ต้องทำควบคู่กับกลไกกฎหมาย

นอกจากกลไกในกระบวนการยุติธรรมที่เข้ามามีบทบาทกำหนดความเป็นไปของการแก้ไขปัญหายาเสพติด อภินันท์และทองใหญ่ยังกล่าวว่า มุมมองของสังคมที่มีต่อยาเสพติดก็เป็นสิ่งจำเป็น และอาจเป็นปัจจัยที่มีผลต่อการบังคับใช้กฎหมายฉบับใหม่นี้ด้วย

“มาตราที่ 169 ระบุว่า เมื่อผู้เสพเข้ารับการบำบัดรักษาและบำบัดครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ จนกระทั่งผ่านการรับรองว่าเป็นผู้ผ่านการบำบัดเป็นที่น่าพอใจแล้ว ให้ผู้นั้นพ้นจากความผิด คำว่า ‘ให้พ้นจากความผิด’ น่าสนใจ เหมือนกับว่ามันยังเป็นความผิดอยู่ แต่ว่าถ้าได้บำบัดจนได้ใบประกาศ ก็จะกลายเป็นผู้พ้นจากความผิด ถ้าเราตีความตามตัวอักษร หมายความว่าเขาไม่เคยทำความผิดมาก่อน แต่ผลกระทบบางอย่างที่เกิดขึ้นมันไม่ใช่ที่เราตีความตามตัวอักษร แต่มันเป็นมุมมองว่า แล้วสังคมพร้อมต้อนรับคนเหล่านี้เข้ากลับสู่สังคมหรือเปล่า ถ้าเกิดสังคมพร้อม ก็จะได้ผลที่ไม่ต่างกับการ decriminalize ยาเสพติด แต่ว่าถ้าเกิดไม่พร้อม มันคงเหมือนเดิม” ทองใหญ่ตั้งข้อสังเกต ก่อนจะยกตัวอย่างให้เห็นภาพ

“ลองคิดภาพว่า ถ้าผมบอกว่าผมเคยขับรถฝ่าไฟแดง คนคงเฉยๆ แต่ว่าถ้าผมบอกผมเคยเสพยา ผมว่าคนคงไม่เฉยๆ แล้ว มุมมองสังคมที่มีต่อผู้เสพยาเสพติด ถึงอย่างไรต้องใช้เวลาพอสมควร แล้วจะทำให้เขาเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างแท้จริง” 

ทองใหญ่อธิบายต่อว่า การเปลี่ยนมุมมองในสังคมจำเป็นต้องใช้เวลา เพราะถ้าย้อนกลับไป 5 ปีที่แล้ว สังคมก็รู้จักกัญชาและกระท่อมแตกต่างจากตอนนี้ อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า พ.ร.บ. ยาเสพติดใหม่มีลักษณะเป็นการลดทอนความเป็นอาญา (decriminalize) สำหรับการเสพยาเสพติดบางชนิด ซึ่งต่างจากกรณีการปลดล็อกพืชกระท่อม ซึ่งเป็นการเปลี่ยนจากสารเสพติดให้เป็นพืชที่ถูกกฎหมาย

“ในความเห็นผม ผมไม่ได้คิดว่ายาเสพติดทุกอย่างต้องถูกกฎหมาย เพราะต้องยอมรับว่าบางอย่างก็อันตรายจริงๆ การลดทอนความเป็นอาญาแบบสุดซอยเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม แล้วเราก็ต้องมาจับตาดูกฎหมายที่ออกมาใหม่นี้กันต่อไป” ทองใหญ่กล่าว

อีกประเด็นที่อภินันท์เห็นว่าสำคัญและต้องทำควบคู่กันคือ ‘การป้องกันการใช้ยาเสพติด’ โดยไม่ใช่แค่การจัดกิจกรรมรณรงค์ต่อต้านยาเสพติดอย่างที่ประชาชนส่วนใหญ่คุ้นชินเท่านั้น แต่ต้องเข้าไปทำความเข้าใจการเติบโตของเด็กในสภาพสังคมที่แตกต่างกัน และดูแลประชากรตั้งแต่ต้นน้ำ

“สังคมเราพัฒนาไปในทางที่จะทำให้เราติดสิ่งเร้าต่างๆ ไม่ว่าทางการกิน การมองเห็น การได้ยิน และมีปัจจัยเสริมที่ทำให้สังคมเกิดความอ่อนแอหลายอย่าง ภาพใหญ่คือ เยาวชนเราถูกสังคมหล่อหลอมให้อ่อนแอลง แล้วเราไม่ได้มีมาตรการที่จะเสริมความเข้มแข็งให้เยาวชนของเรา ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเราไม่ได้พัฒนากระบวนสมองของเยาวชนเรา ทำให้เกิดการปลูกฝังวิธีการคิด การวิเคราะห์เป็นเหตุเป็นผล ตรงนี้พัฒนาได้ แต่ว่าต้องมีโปรแกรมลงไปทำอย่างเป็นระบบในเด็ก โดยเราจะเอาปัญหาของเยาวชนมาเป็นตัวตั้ง แล้วสอดแทรกวิธีการคิดวิเคราะห์เพื่อที่จะแก้ปัญหา ทั้งความเครียด ปัญหาความขัดแย้งต่างๆ” อภินันท์กล่าว

“ตรงนี้เป็นสิ่งที่ทางฝ่ายนโยบายทราบแล้ว แล้วก็เริ่มหันมาเพิ่มมาตรการ เพิ่มการลงทุน งบประมาณต่างๆ ในเรื่องการป้องกันในวัยเด็กเล็ก ป.ป.ส. (สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด) ก็ลงทุนตรงนี้มา 4-5 ปีแล้ว แต่กว่าเราจะเห็นผล คงต้องรอ 10-15 ปี ถึงจะเกิดตัวอย่างให้เห็นว่า การทำอย่างนี้จะนำไปสู่คุณภาพที่ดีในระยะยาวสำหรับทุกพื้นที่” 


ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) (TIJ) และ The101.world

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

แกะห่อ 'ยาเสพติด' พิษร้าย(?)ของสังคมไทย

18 Mar 2022

พลิกหน้ากฎหมายยาเสพติดใหม่ เปิดมิติใหม่แห่งการแก้ปัญหายาเสพติดไทย

101 ชวนพลิกหน้ากฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ ไล่เรียงประเด็นสำคัญ พร้อมวิเคราะห์ประโยชน์ มองความท้าทายข้างหน้าในการนำกฎหมายใหม่ไปปฏิบัติ เพื่อแก้ปัญหายาเสพติดในมิติใหม่

วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา

18 Mar 2022

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save