fbpx

Good Jobs Economy: การสร้างเทคโนโลยี ทักษะ และงานที่ดี คือหัวใจสำคัญของนโยบายเศรษฐกิจไทยในระยะถัดไป

 3 ความท้าทายของประเทศไทย

ประเทศไทยกำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายสำคัญ ได้แก่ ประการแรก การลดลงของอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว ในระหว่างปี 1985–1995 ประเทศไทยเคยมีอัตราการเติบโตมากกว่า 7% แต่ภายหลังจากปี 2010 เป็นต้นมาอัตราการเติบโตเฉลี่ยกลับต่ำกว่า 3% และยังไม่มีแนวโน้มดีขึ้น[2] สะท้อนว่าอุตสาหกรรมหลักที่เป็นเครื่องจักรทางเศรษฐกิจของไทยกำลังหมดแรงและต้องการการปรับตัว

ประการที่สอง ขณะนี้เกิดการปรับตัวของเทคโนโลยีครั้งใหญ่ในหลายอุตสาหกรรมของโลก เช่น การปรับจากยานยนต์สันดาปเข้าสู่ระบบพลังงานไฟฟ้าและไฮโดรเจน หรือการปฏิวัติระบบปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) และการคำนวณแบบควอนตัม เป็นต้น การพลิกผันทางเทคโนโลยีเหล่านี้กำลังสร้างผลกระทบต่ออุตสาหกรรมหลักของไทยได้แก่ ยานยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้ต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว

ประการที่สาม ความเหลื่อมล้ำที่เกิดจากงานและตลาดแรงงานสูงขึ้น กล่าวคืองานที่มีค่าตอบแทนปานกลางกำลังค่อยๆ หายไป คงเหลือไว้เพียงงานค่าจ้างต่ำและงานค่าจ้างสูงมาก จึงทำให้ค่าตอบแทนของแรงงานมีความเหลื่อมล้ำสูง รายงานล่าสุดของธนาคารโลกปี 2023 พบว่า ค่าจ้างเฉลี่ยของแรงงานวุฒิอุดมศึกษาไทยสูงกว่าผู้ที่จบชั้นมัธยมศึกษาถึงราว 92–134% (ขึ้นกับช่วงเวลา) และสถานการณ์ยิ่งเลวร้ายไปอีกเมื่อเทียบกับผู้จบชั้นประถมศึกษา[3]

บทความนี้ชวนทบทวนสูตรการพัฒนาที่ไทยเคยใช้เพื่อแก้ปัญหาทั้งสามด้าน วิจารณ์ให้เห็นถึงข้อจำกัดของสูตรการพัฒนาในอดีต และพยายามนำเข้าข้อเสนอใหม่เรื่อง Good Jobs Economy ว่าจะเข้ามาช่วยให้ทางออกที่ดีต่อเศรษฐกิจไทยในระยะยาว และรับมือความท้าทายทั้งสามด้านนี้ได้อย่างไร

2 สูตรการแก้ปัญหา 2 ท่าที่อันตราย

การแก้ไขปัญหาทั้งสามประการของไทยนั้นในอดีตมีด้วยกันสองสูตรหลัก สูตรที่ 1 คือการกระตุ้นอุปสงค์และเศรษฐกิจระยะสั้น (stimulus package) สูตรนี้มองว่าปัญหาใหญ่และใกล้ตัวที่สุดซึ่งต้องแก้ก่อนได้แก่การชะลอตัวทางเศษฐกิจ เพื่อกระตุ้นให้อัตราการเติบโตสูงขึ้นจึงต้องอัดฉีดเงินเข้าไปในระบบผ่านช่องทางต่าง ๆ

แต่สูตรนี้ไม่ยั่งยืน เพราะการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของไทยนั้นไม่ได้เกิดมาจากการขาดแคลนอุปสงค์และสภาพคล่องทางเศรษฐกิจระยะสั้นเท่านั้น แต่เกิดมาจากการขาดแคลนตำแหน่งงานที่ดีซึ่งสร้างรายได้ให้แก่แรงงานอย่างเพียงพอ อีกด้านหนึ่งการพัฒนาเทคโนโลยีที่ช้า สินค้าที่เราเคยเป็นเจ้าตลาดกำลังสูญเสียความได้เปรียบและได้รับความนิยมลดลง หรือต้นทุนการผลิตของไทยเริ่มแพงขึ้นเมื่อเทียบกับคู่แข่งหน้าใหม่ในตลาดโลก เป็นต้น ดังนั้นการกระตุ้นกำลังซื้อระยะสั้นจึงไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหา

ในระยะยาว หากไม่มีการสร้างงานคุณภาพสูงและปรับตัวทางเทคโนโลยีก็จะทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจค่อยๆ ชะลอตัวจนตกกลับมาต่ำตามธรรมชาติอยู่ดี เมื่อสูตรที่หนึ่งไม่สามารถแก้ไขความท้าทายของไทยได้ จึงมีผู้ที่เสนอสูตรที่ 2 คือการใช้เทคโนโลยีเป็นตัวนำการพัฒนา

ในอดีตนั้นเชื่อว่า หากมีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศมูลค่าสูง (FDI-led model) ก็จะทำให้ได้รับการถ่ายทอดทางเทคโนโลยีโดยอัตโนมัติ เสมือนว่าทุนข้ามชาติและเทคโนโลยีนั้นผูกติดมาด้วยกัน แต่จากประสบการณ์การลงทุนทั่วโลกพบว่า ความเชื่อนี้ไม่จริงอีกต่อไปแล้ว

การลงทุนทางตรงเหมือนการ ‘ให้ยืมเทคโนโลยี’ มากกว่า เมื่อบริษัทข้ามชาติย้ายออก เทคโนโลยีต่างๆ ก็ไหลออกตามไปด้วยและประเทศผู้รับเงินลงทุนก็อาจจะไม่ได้รับการถ่ายทอดอะไรมาก ดังนั้นการพัฒนาทางเทคโนโลยีต้องมาพร้อมกับมาตรการส่งเสริมการวิจัยภายในประเทศอย่างเป็นระบบ การส่งเสริมเอกชนไทยให้ดูดซับเทคโนโลยีจากต่างชาติให้มากและเร็ว เป็นต้น

ถึงแม้นักเศรษฐศาสตร์จะเข้าใจกระบวนการรับถ่ายทอดเทคโนโลยีมากขึ้น และสนับสนุนว่าการปรับตัวทางเทคโนโลยีเป็นปัจจัยกำหนดการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว อย่างไรก็ตาม การปรับตัวทางเทคโนโลยีที่อย่างรวดเร็ว ‘อาจ’ ก่อให้เกิดผลกระทบแง่ลบที่ไม่คาดคิดได้เช่นกัน

ดารอน อาเซโมกลู (Daron Acemoglu) นักเศรษฐศาสตร์ผู้ได้รับรางวัล John Bates Clark (2005)[4] ชี้ว่าความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในศตวรรษที่ 21 มีลักษณะลำเอียงและก่อให้เกิดประโยชน์กับแรงงานทักษะสูง (skill biases) มากกว่าแรงงานกลุ่มด้อยทักษะและทักษะปานกลาง

ดานิ รอดริก (Dani Rodrik) นักเศรษฐศาสตร์ผู้มีชื่อเสียงจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) วิเคราะห์ต่อไปว่า ปัจจุบันตำแหน่งงานทักษะปานกลางลดลงอย่างชัดเจน ส่วนทางตำแหน่งงานทักษะต่ำและสูงมีแนวโน้มขยายตัว ปรากฏการณ์เช่นนี้เรียกว่า ‘การแตกขั้วในตลาดแรงงาน’ (Labor market polarization) ซึ่งพบในประเทศจำนวนมาก เช่น ไอร์แลนด์, เดนมาร์ค, ฝรั่งเศส, สวีเดน, โปรตุเกส, นอร์เวย์, สหราชอาณาจักร ฯลฯ (ภาพที่ 1)

ภาพที่ 1: แสดงการขยายตัวของตำแหน่งงานด้อยทักษะ (Low skills) และแรงงานทักษะสูง (High skills) และแสดงการหดตัวของตำแหน่งงานแบบทักษะปานกลาง (Middle skills) ของประเทศกลุ่ม OECD
ที่มา: OECD (2019) อ้างถึงใน Rodrik and Stantcheva (2021)

แม้ว่าตำแหน่งงานค่าจ้างต่ำยังขยายตัวได้ดี แต่แรงงานเหล่านี้จะมีคุณภาพชีวิตที่เลวร้ายและเลื่อนชั้นทางเศรษฐกิจได้ยาก มองในแง่นี้ทั้งแรงงานทักษะต่ำและปานกลางต่างก็กลายเป็นผู้แพ้ในสูตรการพัฒนาแบบที่สอง ผลที่ตามมาคือความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่มากขึ้นและอาจก่อให้เกิดความตึงเครียดทางสังคม สร้างบรรยากาศต่อต้านเทคโนโลยี (เพราะกลัวจะมาทดแทนแรงงาน) โดยเฉพาะในสังคมที่ไม่ได้มีกลไกเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขหรือสวัสดิการสังคมที่ดีเพียงพอ

ในสังคมไทยซึ่งความเหลื่อมล้ำสูงอยู่เดิม[5] แรงงานมากกว่าครึ่งมีการจ้างงานแบบนอกระบบ (Informally employed) ทำให้ตำแหน่งงานไม่มั่นคง รายได้น้อย และขาดโอกาสเพิ่มทักษะ การพัฒนาตามสูตรที่สองอาจสร้างผลกระทบรุนแรงได้หากไม่มีแผนการจัดการที่เหมาะสม Rodrik ได้เสนอทางออกให้แก่ปัญหานี้ โดยเสนอสูตรการพัฒนาแบบที่ 3 โดยเขาเรียกข้อเสนอนี้ว่า การสร้างเศรษฐกิจเพื่องานที่ดี (Good jobs economy)

สูตรที่ 3 การสร้างเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับแรงงาน เสริมทักษะและตำแหน่งงานที่ดี (Good Jobs Economy)[6]

Rodrik เสนอว่าเทคโนโลยีที่ถูกผลิตขึ้นเพื่อกระตุ้นการเติบโตในระยะยาวนั้น ไม่ควรจะมีลักษณะทดแทนแรงงาน แต่ควรจะส่งเสริมและทำงานร่วมกับแรงงานได้ดี ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจะไม่ได้ทำลายตำแหน่งงาน แต่จะสร้างให้เกิดงานที่ดีมากยิ่งขึ้นในสังคม

‘งานที่ดี’ นี้หมายถึงลักษณะงานที่สามารถพาให้แรงงานเข้าถึงคุณภาพชีวิตแบบชนชั้นกลางได้อย่างมั่นคง ไม่ถอยหลังกลับไปยากจนโดยง่าย ทำให้แรงงานมีอิสระที่จะกำหนดวิถีชีวิตของตนเองได้ในระดับที่มีศักดิ์ศรี เมื่อเศรษฐกิจสามารถรักษาหรือสร้างงานที่ดีได้จำนวนมาก ก็จะทำให้กำลังซื้อภายในประเทศจากแรงงานมีความมั่นคง ทำให้ระดับรายได้ของประชาชนและเศรษฐกิจมีเสถียรภาพ

แต่เราจะสร้างงานให้เกิดเศรษฐกิจที่เต็มไปด้วยงานที่ดีได้อย่างไร? Rodrik มีข้อเสนอสำคัญสามมาตรการ

มาตรการที่ 1 การพัฒนาเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าโดยคำนึงถึงการสร้างงานที่ดีและการเสริมศักยภาพแรงงาน (Promote employment-friendly technologies) ข้อเสนอนี้น่าสนใจมากเพราะโดยทั่วไปเรามักได้ยินว่า “แรงงานต้องปรับทักษะตามเทคโนโลยีให้ทัน” โดยไม่ได้ฉุกคิดด้านกลับกันว่า แท้จริงแล้วเทคโนโลยีสามารถปรับตัวเข้าหาแรงงานได้เช่นกัน เพียงแต่การปรับเทคโนโลยีให้เป็นมิตรกับแรงงานนี้ ต้องการนโยบายภาครัฐเข้ามาช่วยส่งเสริมอย่างเป็นระบบ

เพื่อให้นึกภาพออก เราอาจจินตนาการถึงโรงงานขนาดใหญ่ที่ไร้คนมีแต่หุ่นยนต์อุตสาหกรรมขยับไปมาของ Tesla Model 3[7] แต่ก็มีโรงงานอีกรูปแบบหนึ่งที่คนยังคงมีบทบาทสำคัญ เช่น โรงงานประกอบรถยนต์ของ Toyota ซึ่งยืนยันจะยังใช้สัดส่วนแรงงานคนเอาไว้ เป็นต้น โรงงานทั้งสองแห่งนี้อาจจะมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีขั้นสูงระดับเดียวกันก็ได้ เพียงแต่เลือกลักษณะเทคโนโลยีที่ไม่เหมือนกัน โรงงานแบบแรกใช้ ‘เทคโนโลยีทดแทนแรงงาน’ แต่โรงงานที่สองใช้ ‘เทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับแรงงาน’

ตัวอย่างของเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับแรงงานและทันสมัย เช่น ชุดสูทเสริมศักยภาพภายนอกร่างกาย (exo-skeleton suit) ที่ทำให้คนสามารถยกของหนักกว่าน้ำหนักตนเองได้หลายเท่าโดยปลอดภัย หรือแว่นและอุปกรณ์กำกับแขนกลอุตสาหกรรมทางไกล ซึ่งทำให้มนุษย์ทำงานร่วมกันหุ่นยนต์ได้จากคนละตำแหน่ง เป็นต้น เหล่านี้คือเทคโนโลยีที่ใหม่และล้ำหน้า ซึ่งไม่ได้ทดแทนคนแต่สร้างงานใหม่มากขึ้น การที่คนต้องทำงานร่วมกับเทคโนโลยีสมัยใหม่เหล่านี้ทำให้เกิดสาขาวิจัยที่เรียกว่า Human-computer Interactions (HCIs) ซึ่งกำลังทวีความสำคัญมากขึ้นในปัจจุบัน

Rodrik สนับสนุนให้รัฐส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเป็นมิตรกับแรงงาน และมีมาตรการกระตุ้นให้ผู้ประกอบการเลือกใช้เทคโนโลยีดังกล่าว ด้วยมาตรการเช่นนี้จะทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจ การพัฒนาเทคโนโลยี ยังสามารถสร้างให้เกิดงานที่ดีไปพร้อมกันได้

โครงการรูปธรรมของมาตรการนี้คือ The Advanced Research Projects Agency (ARPA) ซึ่งรัฐบาลสหรัฐอเมริกาใช้ส่งเสริมเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น อุตสาหกรรมการทหาร (DARPA) พลังงานสะอาดและหมุนเวียน (ARPA-E) การแพทย์ (ARPA-H) เป็นต้น Rodrik เสนอว่าเราควรใช้แนวปฏิบัติเดิมที่ประสบความสำเร็จมาสร้างโครงการ ARPA-W (W มาจากคำว่า Work) ซึ่งมุ่งส่งเสริมเทคโนโลยีใหม่ที่สร้างศักยภาพให้แก่แรงงานและมีความท้าทายสูง โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่เอกชนลงทุนขั้นต้นเองได้ยากเพราะต้นทุนแพงหรือเสี่ยงเกินไป

มาตรการที่ 2 การสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ นายจ้าง และลูกจ้าง เพื่อส่งเสริมการปรับทักษะที่จำเป็นให้แก่ประชาชนเพื่อเข้าถึงงานที่ดี ตัวอย่างเช่น โครงการอบรมใน Greenville, South Carolina ซึ่งบริษัทจีอี และ บีเอ็มดับเบิลยู ส่งทีมวิศวกรของเข้าไปสอนในโรงเรียนของรัฐ หรือกรณี Fresno, California มีโครงการอบรมคอมพิวเตอร์ให้แก่ผู้ที่หลุดออกจากการศึกษาและคนตกงานเพื่อให้มีทักษะเพียงพอที่จะเข้าถึงงานที่ดีได้

สาระสำคัญของข้อเสนอนี้คือมาตรการสร้างทักษะต้องเข้าถึงกลุ่มแรงงานขนาดใหญ่พอจะสร้างผลกระทบ เสริมทักษะที่ตรงความต้องการ และทำได้ไวเพียงพอ ซึ่งรัฐไม่สามารถจะทำเพียงฝ่ายเดียว ต้องสร้างความร่วมมือกับภาคเอกชน สถานศึกษา และภาคประชาสังคมจึงจะทำได้สำเร็จ

มาตรการที่ 3 คือการทำโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญเพื่อสร้างงานที่ดี ได้แก่ ระบบการศึกษาที่ดี อำนาจต่อรองของแรงงานและนายจ้างที่สมดุล กฎหมายแรงงานที่ทันสมัยและเป็นธรรม และสภาพแข่งขันในอุตสาหกรรมที่เหมาะสม เป็นต้น ปัจจัยเหล่านี้เป็นมากกว่ามาตรการปลีกย่อยแต่คือ ‘ระบบนิเวศของเศรษฐกิจ’ ที่เอื้อให้เกิดการจ้างงานที่ดีซึ่งเป็นมาตรการระยะยาว

ทั้งนี้ เวลากล่าวถึงมาตรการระยะยาวมักจะถูกเข้าใจผิดๆ ว่า ‘รอได้หรือทำในอนาคต’ ความจริงแล้วมาตรการระยะยาวหมายถึง ‘การทำทันทีและต่อเนื่องเพื่อให้บรรลุผลระยะยาว’ ต่างหาก โดยผู้ที่ขับเคลื่อนมาตรการระยะยาว ยิ่งต้องเห็นออกแบบกลไกในการผลักดันที่ชัดเจน (clear mechanism design) และการประเมินผลความคืบหน้า ไม่เช่นนั้นก็เหมือนพยายามใช้ปากเป่าลมเพื่อขยับก้อนเมฆ ทั้งน่าขบขันและไม่มีผล

ข้อริเริ่มสำหรับประเทศไทย

ในบรรดาข้อเสนอของ Rodrik ปัจจุบันไทยมีมาตรการที่สามารถทำได้ทันทีเพราะมีการศึกษาและขับเคลื่อนมาสักระยะเวลาหนึ่งแล้ว คือ

1. การจัดทำนโยบายแบบ ARPA-W เพื่อสร้างสร้างเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับแรงงาน ในระดับนโยบายสามารถขับเคลื่อนผ่านสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) นโยบายจะถูกแปลงไปเป็นงบประมาณแบบมุ่งเป้า โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) หลังจากนั้น แผนงบประมาณฯ จะถูกหน่วยงานบริหารจัดการทุน (Program Management Units) นำไปขับเคลื่อนงานวิจัยต่อไป หรืออาจจะจัดทำหน่วยบริหารจัดการทุนใหม่ขึ้นมาเพื่อขับเคลื่อน ARPA-W โดยเฉพาะก็ได้

2. แพลตฟอร์มการปรับทักษะระดับชาติ ผู้เขียนและคณะ[8] ได้ทำการศึกษาโครงการ Prakerja ของอินโดนีเซีย ในการปรับสมรรถนะประชาชน 17.5 ล้านคนภายใน 3 ปี โดยใช้การทำงานร่วมกันระหว่างรัฐเอกชนและภาคประชาสังคม (ซึ่งตรงกับเงื่อนไขการปรับทักษะที่ควรมีขนาดใหญ่ ทักษะตรงความต้องการภาคเอกชนหรือสังคม และทำได้ไว) J-PAL ประเมินว่าผู้ที่เข้าร่วมโครงการมีทักษะเพิ่มขึ้น มีรายได้เพิ่มสูงขึ้นราว 10% และมีโอกาสได้งานที่ดีมากขึ้น

ผู้เขียนเชื่อว่าไทยควรจะขับเคลื่อนมาตรการปรับทักษะระดับชาติเช่นนี้อย่างจริงจังโดยนำมาปรับให้เข้ากับบริบทประเทศไทย เช่นการกำหนดทักษะที่มุ่งเน้นอุตสาหกรรมหลักของไทยโดยเฉพาะ นอกจากนี้ยังรวมถึงการจัดอบรมทักษะที่เชื่อมโยงกับสวัสดิการสังคมและภาคเอกชนลงทุนน้อยกว่าที่ควรจะเป็น เช่น ผู้ดูแลช่วยเหลือ (caregiver) สำหรับคนสูงวัยในชุมชน เป็นต้น สถานะปัจจุบันในเรื่องนี้พัฒนาไปถึงขั้นการร่างกฎหมายและออกแบบกลไกสำหรับประเทศไทยไว้ระดับหนึ่ง

3. การพัฒนาระบบนิเวศที่เอื้อให้เกิดตำแหน่งงานที่ดี รัฐบาลโดยบทบาทของนายกรัฐมนตรีควรเป็นผู้นำในการประชุมรองนายกฯ และคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ เพื่อขับเคลื่อนในเชิงระบบไปพร้อมกัน ในกรณีอินโดนีเซียมีการจัดตั้ง Coordinating Ministry for Economic Affairs ทำหน้าที่ประสานนโยบายเศรษฐกิจข้าม 8 กระทรวง (รวมถึงนโยบายการจ้างงาน) และจัดตั้งคณะกรรมการระดับชาติด้านการสร้างงาน (Job Creation Committee: JCC) โดยจะต้องมี ‘สำนักงาน’ ที่ทำงานเต็มเวลารับนโนบายจาก JCC ไปขับเคลื่อน นอกจากนี้รัฐบาลยังอาจใช้กลไก ‘งบบูรณาการ’ บริหารงบประมาณข้ามกระทรวงเพื่อบรรลุพันธกิจด้านการจ้างงานได้เช่นกัน

ส่งท้าย: เรื่องสำคัญยากเสมอ แต่เป็นไปได้

การเติบโตทางเศรษฐกิจ การพัฒนาเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว และการลดความเหลื่อมล้ำ เคยถูกมองว่าเกิดขึ้นพร้อมกันได้ยาก (Impossible Trinity) แต่บทความนี้ยืนกรานตรงกันข้าม เราเชื่อว่าหากรัฐออกแบบนโยบายและส่งเสริมอย่างเหมาะสมให้เกิดกลไกส่งเสริมเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับแรงงาน มีการพัฒนาฝีมือแรงงาน และพัฒนาระบบนิเวศของประเทศด้านแรงงานที่ดี จะทำให้ประเทศสามารถบรรลุทั้งสามเป้าหมายได้พร้อมกัน

แม้การสร้างเศรษฐกิจที่เต็มไปด้วยงานที่ดี (Good Jobs Economy) จะเป็นเรื่องยาก แต่เป็นเรื่องสำคัญสำหรับประเทศไทยและเป็นไปได้ครับ


[1] ผู้อำนวยการ สถาบันนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม (STIPI)

[2] https://data.worldbank.org/

[3] World Bank. 2023. Bridging the Gap: Inequality and Jobs in Thailand. World Bank Group Report.

[4] รางวัลอันทรงเกียรติที่มอบให้แก่นักเศรษฐศาสตร์คนสำคัญซึ่งมีอายุน้อยกว่า 40 ปี รางวัลนี้กล่าวกันว่ามีเกียรติสูงสุดในสาขาเศรษฐศาสตร์เป็นรองเพียงรางวัลโนเบลเท่านั้น

[5] แนะนำงานของ ธนสักก์ เจนมานะ (2018) https://www.the101.world/inequality-in-the-21st-century/

[6] สรุปจาก Rodrik, Dani & Stefanie Stantcheva. 2021. Fixing Capitalism’s Good Jobs Problem. Oxford Review of Economic Policy 37 (4). Pp. 824-837 และ Rodrik, Dani. 2022. Industrial Policy for Good Jobs. Brookings. 

[7] ในโมเดลถัด ๆ มาทาง Tesla ปรับนโยบายโดยลดการใช้หุ่นยนต์และแขนกลอุตสาหกรรม และหันมาเพิ่มแรงงานคนกลับเข้าไปในไลน์การผลิตมากขึ้น

[8] ดู แบ๊งค์ งามอรุณโชติ. 2566. Prakerja Model. https://www.the101.world/prakerja-model/ ข้อมูลที่ใช้ในงานชิ้นนี้เกิดจากการศึกษาดูงานโครงการ Prakerja โดยการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และเกิดจากการวิจัยร่วมกันของผู้เขียนและ นพ.สุภกร บัวสาย, ดร.รุ่งนภา จิตรโรจนรักษ์, คุณธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์, คุณวริฏฐา แก้วเกตุ และคุณกรกฎ เชาวะวณิช

MOST READ

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

Politics

16 Dec 2021

สิทธิที่จะพบศาลภายหลังถูกจับและถูกควบคุมตัว (ตอนที่ 1) : เหตุใดจึงต้องพบศาล และต้องพบศาลเมื่อใด

ปกป้อง ศรีสนิท อธิบายถึงวิธีคิดของสิทธิที่จะพบศาลภายหลังถูกจับกุมและควบคุมตัว และบทบาทของศาลในการพิทักษ์เสรีภาพปัจเจกชน

ปกป้อง ศรีสนิท

16 Dec 2021

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save