fbpx

30 ปี ‘โทษฐานที่รู้จักกัน’ : ความขำขันบนความหงุดหงิดจากหนังสือ สู่ราชันย์เดี่ยวไมโครโฟน

ทศวรรษ 2530 เป็นยุคทองของสื่อมวลชนไทย เช่นเดียวกับเศรษฐกิจที่พองโตจนเป็นกลายเป็นฟองสบู่ซึ่งบั้นปลายของมันคือวิกฤตต้มยำกุ้ง เมื่อต้นทศวรรษ 2540 ท่ามกลางรายการบันเทิงหลากหลายรายการ รายการตลกของคนหนุ่มสาวชนชั้นกลางที่มีคนเรียกว่า ‘ตลกปัญญาชน’ ได้เติบโตขึ้นมา จากรายการแบบ ‘เพชฌฆาตความเครียด’ โดยเหล่า ‘ซูโม่สำอางค์’ ศิษย์เก่าจากรั้วจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยช่วงทศวรรษ 2520 สู่ วิกศูนย์เจ็ด และ ยุทธการขยับเหงือก ในต้นทศวรรษ 2530 รายการตลกเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนจากเครือข่ายในวงการบันเทิง และยังถูกนำไปเปรียบเทียบกับตลกอีกแบบ นั่นคือ ตลกคาเฟ่ ที่เล่นแบบหยาบๆ คายๆ ด้วยมุกสัปดนทั้งหลาย ที่สำคัญ ที่ทางของพวกเขาอยู่ใน ‘คาเฟ่’ ที่ไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงความเหมาะสมที่จะถูก ‘กบว.’ เซ็นเซอร์ทางโทรทัศน์

ห้วงเวลานี้ ถือว่าเป็นยุคที่ตลกคาเฟ่รุ่งเรือง ปลายทศวรรษ 2530 นอกจากความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจแล้ว ยังนับเป็นยุคทองของความบันเทิงของตลกอีกด้วย นิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ถึงกับอุทิศเรื่องบนหน้าปกในธีม ยุค(เงิน)ทองของตลก ในเดือนกรกฎาคม 2539 นอกเหนือจากพื้นที่ทำมาหากินในสถานบันเทิงที่เรียกว่า ‘คาเฟ่’ กลางกรุงแล้ว นักแสดงตลกก็เริ่มมีการชิมลางในพื้นที่ใหม่อย่างโทรทัศน์อันเป็นสื่อที่ทรงพลังเป็นอย่างยิ่ง ตัวอย่างเห็นได้ชัดคือ โน้ต เชิญยิ้มที่เข้าไปเป็นโปรดิวเซอร์รายการ ขบวนการจี้เส้น ของเจเอสแอลที่ออกอากาศช่อง 7[1] บทความล่าสุดของของอิทธิเดช พระเพ็ชรได้อภิปรายถึงความเฟื่องฟูและการปรับตัวของตลกคาเฟ่ในรอยต่อของยุคฟองสบู่และยุคทองได้อย่างน่าสนใจ[2] ได้มีความพยายามเปรียบเทียบกันอยู่เสมอระหว่างตลกคาเฟ่ กับ ตลกปัญญาชน เห็นได้จากบทความในปี 2539[3] ที่บนหน้าเป็นภาพกราฟิกตัดแปะทั้งนักแสดงตลกคาเฟ่ และตลกปัญญาชน เราเห็นใบหน้าของโน้ต เชิญยิ้ม อยู่ไม่ไกลกับ โน้ต อุดม แต้พานิช

ความเฟื่องฟูของตลกยังมากับข้อสังเกตว่า มันมาพร้อมกับความตึงเครียดในสังคมไทยที่สูงขึ้นด้วยหรือไม่ ในช่วงฟองสบู่มีรายการวิทยุอย่าง Radio No Problem หรือ รายการโทรทัศน์บ้านเลขที่ 5 กระทั่งเคเบิ้ลทีวีก็มี ONLY THE LONELY ที่เน้นให้ผู้ชมผู้ฟังทางบ้านโทรศัพท์หรือเขียนจดหมายมาเล่าปัญหาและปรึกษาปัญหาชีวิต อย่างรายการแรกก็มีสโลแกนว่า “ทุกปัญหาที่นี่…มีคำตอบ” ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี มีคนโทรศัพท์เข้ามาในรายการเยอะมาก ปรึกษาตั้งแต่เรื่องเล็กน้อยอย่างมดเข้าบ้าน จนถึงหญิงสาวหนีออกจากบ้าน ปัญหาโรคเอดส์ หรือ ประเด็น ‘ตุ๊ด ทอม ดี้’ ขณะที่รายการบ้านเลขที่ 5 จะเปิดเวลาให้ 10 นาที โดยมีผู้เชี่ยวชาญคอยแก้ไขปัญหาที่โทรศัพท์เข้ามาหรือมีจดหมายเข้ามาซึ่งมักจะเป็นความสัมพันธ์ภายในครอบครัว เนื่องจากว่าคนมีปัญหามักไม่ปรึกษาคนใกล้ตัวเพราะเกรงว่าจะถูกซ้ำเติม[4]

ยุทธการขยับเหงือก เป็นรายการตลกบันเทิงที่เติบโตมาพร้อมกับฟองสบู่ทางเศรษฐกิจ ชื่อของรายการล้อเลียนกับแวดวงทหาร อย่าลืมว่า ต้องรอให้ถึงพฤษภาทมิฬ 2535 เสียก่อน ทหารจึงถูกลดบทบาทและกลับเข้ากรมกองไป ยุคสมัยดังกล่าวจึงเป็นยุคที่ทหารยังครองเมือง หากเพชฌฆาตความเครียด ตัวละครแต่ละตัวจะถูกนำหน้าชื่อด้วย ‘ซูโม่’ รายการนี้จะนำหน้าชื่อด้วย ‘เสนา’ ลายเซ็นของรายการคือ นำแขกรับเชิญมาแกล้งในนาม ‘หักหลัง’

‘เสนาโน้ต’ อุดม แต้พานิช คือเสนารุ่นหลังที่เข้ามาเป็นสมาชิกของรายการราวปี 2536 แม้ก่อนหน้านั้นเขาจะมีบทบาทเบื้องหลังนิตยสาร ไปยาลใหญ่ ทำโน่นทำนี่ แต่เขาก็ยังไม่ ‘แมส’ เท่ากับการแจ้งเกิดในรายการนี้ อย่างไรก็ตาม อุดมก็ถอยฉากจากรายการไปก่อนรายการจะปิดตัวลงอยู่พอสมควร[5]  

ก่อนเขาจะลาออกไปก็ได้ริเริ่มทดลองการแสดงละครเวทีอย่าง สามอันฮ่า กับ เปิ้ล-นาคร ศิลาชัย และสังข์-ธีรวัฒน์ อนุวัตรอุดม ช่วงเดือนเมษายน 2537 แม้จะโฆษณาว่าเป็นละครเวทีแต่ก็มีการแสดงอื่นๆ แทรกอยู่ เช่น ละครใบ้ มายากล ดนตรี และบทกวี การแสดงเป็นการยำรวมเอาความต้องการของแต่ละคนที่ต้องการเสนออกมา ตัวโน้ตเองก็ระบุว่า “ใฝ่ฝันมานานแล้วว่าอยากทำโปสเตอร์ที่อ่านยากๆ เอาไปแปะคนก็งงนี่คืออะไร ดูแล้วไม่รู้เรื่อง แล้วก็ด่าคนทำ เราก็มีความสุขแล้ว” นี่จึงเป็นบททดลองแรกๆ ก่อนที่เขาจะออกมาเดี่ยวไมโครโฟนในอีกหนึ่งปีต่อมา[6]  

ในเวลาไม่นาน อุดมก็ค่อยๆ เผยว่าอาจจะลาวงการบันเทิงในอีกไม่นานโดยเหตุผลก็คือ อยากดูแลมารดา อยากจะจากไปตอนยังมีชื่อเสียงให้ผู้คนยังจดจำได้ซึ่งอาจจะไปทำงานเบื้องหลังอย่างทำละครโทรทัศน์ หรือพิธีกรรายการวาไรตี้สำหรับวัยรุ่น ซึ่งขณะนี้เขากำลังเก็บเงินซื้อบ้านอยู่ด้วย[7]  

โทษฐานที่รู้จักกัน: ภาพตัดแปะของการหยอกล้อและความหงุดหงิด น่ารำคาญ

ผลงานเขียนชิ้นแรกของอุดมในปี 2537 ที่ชื่อออกแนวล้อเลียนภาษากฎหมายว่า โทษฐานที่รู้จักกัน นับเป็นงานแนวเบาสมอง มีอารมณ์ขัน หนังสือเล่มนี้ถูกวางขายในขณะที่ผู้คนยังจดจำเขาในภาพ ‘เสนาโน้ต’ แห่งยุทธการขยับเหงือกอยู่ แม้ใน ‘คำนำรุ่นพี่คนเขียน’ ก็มีชื่อของโปรดิวเซอร์ของรายการตลกนั้นอยู่ เช่นเดียวกับวัชระ แวววุฒินันท์ หรือเจ้าของนามปากกา ปินดา โสพิยะ ผู้เขียน ว้าวุ่น นิยายขายดีที่เล่าเรื่องของเหล่านิสิต สถาปัตย์ จุฬาฯ ซึ่งมีบทบาทในบริษัทเจเอสแอลช่วงนั้น

แต่เงางานเขียนของอุดมออกจะมาจากสำนักศิษย์สะดือที่เขาเคยสังกัด ซึ่งมีผลงานอย่างนิตยสาร ไปยาลใหญ่ ศุ บุญเลี้ยง ที่เป็นอดีตหัวเรือใหญ่สำนักศิษย์สะดือก็เป็นคนเขียนคำนำรุ่นพี่ให้เช่นกัน ภายในประกอบด้วยเรื่องสั้น 12 เรื่องและบทกลอนอีก 5 บทที่แทรกอยู่ภายใน เรื่องราวที่เขาเล่าเป็นการเอาสิ่งที่อยู่รอบตัวที่ฟังมาจากแม่ เพื่อน พี่ เป็นวัตถุดิบ เพื่อกลั่นออกมาเป็นสไตล์ของเขาเอง

การเล่าใช้ความสังเกตในการจับเรื่องชีวิตประจำวันมาล้อเลียน หรือการใช้พล็อตที่หักมุม  และการบิดรูปคำและประโยคที่ผิดแปร่งไปจากเดิมที่ทำให้ผู้อื่นสะดุด ราวกับอ่านวลีสำหรับงานโฆษณาที่ฉีกแนว แหวกขนบการเขียนแบบเป็นทางการที่น่าเบื่อและซ้ำซาก

ท่าทีของอุดมจึงสะท้อนโลกของพาณิชย์ศิลป์ที่อยู่ในรูปแบบของงานเขียน ในช่วงเวลาที่คนไทยอยู่กับข้อมูลข่าวสารที่ไหลบ่าอย่างรวดเร็วในยุคที่เศรษฐกิจขยายตัวอย่างที่ไม่เคยพบเคยเจอมาก่อน การใช้สำนวนโฆษณาที่เอามาปรับเปลี่ยนและกล่าวถึงผลิตภัณฑ์ต่างๆ ล้วนสะท้อนวัฒนธรรมการเสพสื่อของคนยุคนั้น ไม่ว่าจะทางโทรทัศน์ วิทยุ หรือหนังสือพิมพ์ มุกตลกของเขาจึงสัมพันธ์กับการโฆษณาสินค้าที่รุ่งเรืองและถูกเผยแพร่ซ้ำไปซ้ำมาจนคนจำได้ติดหูติดตา และถูกนำมาล้อเลียนหรือบิดปรับแต่งถ้อยคำเช่น “เล็กๆ มิต้าไม่ ใหญ่ๆ นูต้าทำ” [8] “ไม่หวั่นแม้วันเมามาก” [9] การเล่นมุกของเขายังสัมพันธ์กับการอ้างถึงชื่อสินค้าและบริการต่างๆ เช่น แหนมป้าย่น[10] ยาคูลท์[11] เซเว่น[12] ก๋วยเตี๋ยวนายฮั่ง[13] แจนซุปไก่ [14] ฯลฯ

ในอีกฝั่ง รัฐราชการเองก็ยังคงทรงพลังอยู่ ในระบบราชการ ข้าราชการยังมีอำนาจสูง นายกรัฐมนตรีอย่างชวน หลีกภัย (2535-2538, 2540-2544) ยังมีฉายาว่า ‘ปลัดประเทศ’ เราจึงเจอการพูดถึงเบาๆ ในระดับผู้มีอำนาจอย่างรัฐ เขาได้กล่าวถึงคำอย่าง “รัฐบาลชุดนั้น” [15] พูดถึง “เลือกตั้งซ่อม” [16] เล่นสำนวน “รอหนังสืออนุมัติจากแม่” [17] แซว “อธิบดีกรมอาหารและยา” [18] (อันที่จริงอาหารและยาเป็นเพียงระดับคณะกรรมการเท่านั้น ไม่ได้ถึงระดับกรม) กับอำนาจสีเทาอย่าง ‘เจ้าพ่อ’ ก็ไม่พ้นไปจากการกล่าวถึง แม้ว่าจะเป็นการกล่าวถึงแบบเล่นคำ ที่หมายถึง ‘เจ้าพ่อ’ แบบเจ้าป่าเจ้าเขา แต่ก็สะท้อนอำนาจและอิทธิพลของคนเหล่านั้นในช่วงทศวรรษ 2530 ได้เป็นอย่างดี

โดยผิวเผินแล้วในโทษฐานที่รู้จักกัน ก็เป็นงานเขียนสไตล์จิกกัดผู้คนโดยเลือกสถานการณ์ต่างๆ ที่ใกล้ตัวผู้อ่าน (เช่นเดียวกับการเดี่ยวไมโครโฟน) ในด้านหนึ่งก็คือแสดงอารมณ์ขันหยอกล้อ แต่ในอีกด้านหนึ่งก็แสดงความน่ารำคาญใจกับบางเรื่องไปด้วย หากใช้วลีของกฤษณ์พชร โสมณวัตร อาจจะกล่าวได้ว่า นั่นคือยุคแห่ง “ความรู้สึกน่ารำคาญของชนชั้นกลางไทย” [19] ที่ขยายตัวตั้งแต่ทศวรรษ 2520 ในชีวิตประจำวันมากขึ้น ซึ่งไปเกี่ยวข้องกับรัฐ และทุนที่ส่งเสียงดังอย่างอื้ออึงก่อนเศรษฐกิจจะพังทลายในไม่อีกกี่ปีต่อมา

เรื่องสั้นตอน ‘โคตรหงุดหงิดของผม’ ได้แสดงให้เห็นยุคสมัยแห่งความน่ารำคาญได้เป็นอย่างดีทีเดียว เรื่องสั้นชื่อว่า ‘สาวยาคู้ไขปัญหา’ ที่มีถึง 2 ตอน แสดงให้เห็นถึงความรู้สึกลึกๆ ของคนรุ่นใหม่ที่เผชิญความเปลี่ยนแปลงอันน่าหงุดหงิดรำคาญ ตั้งแต่เรื่องเรือนร่าง ความงามที่เป็นส่วนตัว สินค้าที่ไม่ได้ออกแบบมาตอบโจทย์ผู้ใช้ และความคาดหวังของผู้ปกครองที่มีต่อลูกหลาน

สำหรับตัวละครที่เขากล่าวถึง มักเป็นผู้คนที่เขาพบปะกันในวันธรรมดา วินมอเตอร์ไซค์ถูกกล่าวถึงมากที่สุด อาจเพราะเป็นคนธรรมดาที่มีบทสำคัญมากในกรุงเทพฯ มอเตอร์ไซค์รับจ้างเป็นฟีดเดอร์ที่สำคัญ รับส่งคนซอกแซกไปตามท้องถนนยามเมื่อรถติด และไม่เพียงส่งคนอย่างเดียวแต่ยังเป็นเมสเซนเจอร์ส่งของจากออฟฟิศหนึ่งไปยังอีกออฟฟิศหนึ่งอีกด้วย

อีกตัวละครก็คือผู้หญิงที่ถูกเขียนอยู่ใน ‘กลวิธีหลีหญิง’, ‘มารยาหญิง’ และ ‘ผู้หญิงในอุดมคติของผม’ นอกจากนั้น ยังมีเรื่อง ‘ปฏิบัติการกู้ภัยไร่แห้ว’ อาจแสดงให้เห็นถึงความหมกมุ่นของเขากับผู้หญิงและความสัมพันธ์กับเธอ ภายใต้ข้อเขียนนี้เขาได้จำแนกผู้หญิงกับการแต่งกายและเรือนร่างของหญิงในยุคนั้นไว้เป็น 4 ประเภท นั่นคือ ‘ด้วยเซอร์’ ‘ด้วยหรู’ ‘ด้วยเซ็กซี่’ และ ‘ด้วยศัลยกรรม’ [20]

บนฐานชนชั้นกลางเขาก็ยึดถือคุณค่าศีลธรรมแบบพุทธเป็นหลัก (หลายคนทราบอยู่แล้วอุดมเป็นศิษย์สำนักวัดพระธรรมกาย) ดังที่เขาเน้นถึงศีล 5 ที่ได้นิยามแบบทีเล่นทีจริงไว้ว่า “ใจดี มีเมตตา ไม่ชอบฆ่าใคร, ซื่อสัตย์ ยุติธรรม นำชาติพัฒนา, รักเดียวใจเดียว, มีสัจจะ เชื่อถือได้ไม่ตอแหล และมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ พูดจาชัดเจนไม่อ้อแอ้ การทรงตัวดี เดินเหินไม่เซ ไม่อ้วกโชว์ในย่านชุมชน” [21]

อุดม แต้พานิช จึงเป็นปัจเจกในเจน X ที่พยายามค้นหาตัวตน เกลียดระบบราชการ อยากเป็นที่ยอมรับ และตั้งคำถามกับสิ่งที่ไม่ชอบมาพากล แต่ก็หนีไม่พ้นจากบ่อปลาทุนนิยม

การจัดจำหน่ายของหนังสือเข้าใจว่าผ่านสายส่งของดอกหญ้าที่เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ในวงการหนังสือช่วงดังกล่าว ร้านหนังสือดอกหญ้าที่มีสาขาอยู่ทั่วประเทศเป็นช่องทางการกระจายสินค้าที่สำคัญ การตีพิมพ์ 3 ครั้งภายในปี 4 เดือน นอกจากแสดงให้เห็นถึงยอดขายที่ทำได้เป็นอย่างดีแล้ว ไม่อาจลืมถึงประสิทธิภาพของสายส่งและร้านหนังสือในเครือดอกหญ้าไปด้วย

การเขียนหนังสือที่ชื่อว่า โทษฐานที่รู้จักกัน ยิ่งทำให้โน้ตโด่งดังในฐานะนักแสดงที่ผันตัวมาเขียนหนังสือ จนเคยถูกปรามาสไว้ว่า “ตลกริเขียนหนังสือ”[22] ต้องเข้าใจว่า ในยุคที่สิ่งพิมพ์เติบโต แวดวงหนังสือก็ไม่แพ้กัน หนังสือจำนวนมากที่ขายดีเป็นหนังสืออ่านเพื่อการบันเทิง และเช่นเดียวกันหนังสือที่เป็นแนวซีเรียสก็มีที่ทางและตลาดของมันด้วย เราอาจเห็นได้จากรางวัลซีไรต์ (รางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน) ความเข้มข้นของรางวัลไม่ได้เป็นเพียงชื่อชั้นของรางวัล แต่มันหมายถึง บทวิจารณ์ที่เข้มข้นจากคนในแวดวงวรรณกรรม ดังที่เราเห็นเจ้าประจำอย่าง วาณิช จรุงกิจอนันต์ที่เขียนวิจารณ์ใน มติชนสุดสัปดาห์ ช่วงปลายทศวรรษ 2530 ถึงกับมีหนังสือรวมบทความที่ชื่อว่า ซอยซีไรต์[23]ในปี 2537 งานเขียนสไตล์ซีไรต์ก็ถือเป็นป้อมค่ายของการเขียนวรรณกรรมที่ซีเรียสและการวิพากษ์วิจารณ์อย่างเข้มข้น ต่างไปจากผลงานเบาสมองจำนวนมากที่เติบโตขึ้นมาในยุคเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นงานที่พวกเขาเขียนเอง หรือมีนักเขียนผีเขียนให้ดาราหรือคนดังก็ตาม จึงไม่แปลกที่การดูเบางานเขียนที่ไม่อยู่ในนิยามซีเรียสจะเกิดขึ้น

ในยุคฟองสบู่ที่จับอะไรก็เป็นเงินเป็นทอง ธุรกิจสิ่งพิมพ์ก็ถือว่าได้รับผลประโยชน์อย่างอิ่มเอมยิ่งกับก้าวกระโดดทางเศรษฐกิจของสังคมไทยในยุคนั้น

รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์เคยเขียนบทความ ‘หนังสือขายดี’ วิจารณ์การจัดอันดับหนังสือขายดีของสำนักพิมพ์ใดนั้น มักจะเป็นหนังสือที่จัดโดยสำนักพิมพ์นั้นๆ ด้วยเพราะการจัดจำหน่ายของสายส่ง และความขัดแย้งในหมู่สายส่ง ที่มีอยู่หลายราย โดยเฉพาะเมื่อสำนักพิมพ์มีธุรกิจร้านขายหนังสือด้วยแล้ว แม้แต่ในสหรัฐอเมริกาก็กำลังประสบปัญหาว่ามีการจัดอันดับที่บิดเบือนเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจ[24] แล้วหนังสือของอุดมนั้นขายดีจริงๆ หรือไม่?

ยอดขายโทษฐานที่รู้จักกัน กับ เดี่ยวไมโครโฟน

รายงานพิเศษในมติชนสุดสัปดาห์เมื่อปี 2538 ระบุถึงผลงาน โทษฐานที่รู้จักกัน ของอุดมที่ขายดิบขายดีจนว่ากันว่า “กลายเป็นหัวข้อพูดคุยยอดฮิตในวงสนทนาของผู้ใฝ่การอ่านๆ เขียนๆ ตอนนี้” ซึ่งในฐานะดาราเขียนหนังสือ เขาไม่ใช่คนแรก เคยมีคนเขียนมาก่อนทั้งที่ขายดีและดับ ในรายงานระบุถึงผลงานของดารา นักร้องและคนในวงการบันเทิงที่มีผลงานหนังสือออกมา แสดงให้เห็นยุคที่วงการหนังสือคึกคักไม่น้อย แบ่งเป็นประเภทกึ่งอัตชีวประวัติ, ประเภทบันทึกประสบการณ์, ประเภทวรรณกรรม งานของอุดมจึงเกิดขึ้นในบรรยากาศที่มีนักเขียนอย่าง แอม-เสาวลักษณ์ ลีลาบุตร, ปัทมวรรณ เค้ามูลคดี, เนาวรัตน์ ยุกตะนันท์, ญาณี จงวิสุทธิ์, วิทวัส สุนทรวิเนตร์, ศุ บุญเลี้ยง, พิง ลำพระเพลิง, คำรณ หว่างหวังศรี, จรัสพงษ์ สรัสวดี, ชูเกียรติ ฉาไธสง, สุรชัย จันทิมาธร, พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ, นฤมล เมธีสุวกุล ฯลฯ[25]

สัมพันธ์กับช่วงที่หนังสือพิมพ์มติชน มีการนำเอาการจัดอันดับหนังสือของร้านหนังสือ 3 แห่งได้แก่ ดอกหญ้า, ซีเอ็ด และศูนย์หนังสือจุฬาฯ มาเทียบเคียงกัน จะพบว่า ช่วงเดือนสิงหาคม-ตุลาคม 2538 โทษฐานที่รู้จักกัน ติดอันดับขายดี 1 ใน 10 ณ ร้านดอกหญ้าและซีเอ็ด และไม่พบการติดอันดับในศูนย์หนังสือจุฬาฯ (เฉพาะเล่มที่ผู้เขียนไปค้นคว้า[26])

ยอดขายที่ติดอันดับเกิดขึ้นหลังตีพิมพ์มาแล้วเป็นปี เกิดอะไรขึ้นในช่วงนั้น เพราะในเดือนกรกฎาคม 2538 ก็ไม่มีชื่อนี้ติดในอันดับหนังสือขายดี[27] จะติดอันดับก็ต้องย้อนไปเดือนมิถุนายน 2538 นั้นเลย[28] เมื่อย้อนไปค้นดูเหตุการณ์แวดล้อมก็จะพบว่า ช่วงนั้นมีการแสดงเดี่ยวไมโครโฟน ครั้งแรกของอุดม แต้พานิช ที่เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 23-25 สิงหาคม 2538[29] ซึ่งการแสดงครั้งนั้นเป็นกระแสในระดับ talk of the town กันเลย จากเสนาโน้ต ในรายการโทรทัศน์ เขาออกมาจัดการแสดงเดี่ยว ไม่ได้เป็นสมาชิกรวมหมู่ในรายการใดๆ อีกแล้ว

การตัดสินใจดังกล่าวของเขาเกิดในช่วงที่เศรษฐกิจไทยกำลังเป็นเสือที่ทะยานฟ้า ในเทปบันทึกการแสดงที่นำมาตัดต่อภายหลังจะเห็นว่าเขาได้แรงสนับสนุนจากเพื่อนพ้องในวงการบันเทิงอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง ก่อนหน้าการจัดแสดงเพียงหนึ่งเดือน อุดมได้ลงปกนิตยสารชื่อดังที่อ้างว่าเป็นนิตยสารผู้ชายที่มียอดผู้อ่านสูงสุดอย่าง GM[30]ภายในยังมีบทสัมภาษณ์ประจำเล่ม ว่ากันว่าไม่บ่อยครั้งที่นิตยสารนี้คนบนหน้าปกกับบทสัมภาษณ์จะเป็นคนๆ เดียวกัน แสดงให้เห็นความพิเศษและโด่งดังของอุดมได้เป็นอย่างดี ที่น่าสนใจก็คือ ครั้งนั้นอุดมสวมชุดคอสเพลย์เป็น ‘คอมมิวนิสต์’ ลงหน้าปก ซึ่งไม่ใช่ครั้งแรก ภาพที่เขาสวมหมวกดาวแดงทำหน้าอมยิ้มแต่มีหยดน้ำตาที่ไหลลงมา บนปก โทษฐานที่รู้จักกัน ที่พิมพ์ครั้งที่ 3 ในปี 2538 หลังจากที่คอมมิวนิสต์พ่ายแพ้ การแข่งขันของสองค่ายจบลง ชุดคอมมิวนิสต์จีนกลับถูกทำให้กลายเป็นสินค้า การสวมชุดเช่นนี้ยังปรากฏอยู่ในป๊อบคัลเจอร์อย่างตัวละครอูลอน ใน ดราก้อนบอล หรือตัวละครใน รันม่า 1/2 อย่างไรก็ตามช่วงนี้ถือว่าเป็นช่วงท้ายๆ แล้วของยุคฟองสบู่ที่กำลังถูกตีฟองให้อวบอ้วน

หากลงไปดูเนื้อหาในเดี่ยว 1[31] จะพบความคล้ายคลึงและต่อเนื่องกับคำถามและข้อคิดบางอย่างจาก โทษฐานที่รู้จักกัน ที่พูดถึงสิ่งที่อยู่รอบตัวของเขาอย่างวงการบันเทิงที่เติบโตอยู่ท่ามกลางอุตสาหกรรมรายการโทรทัศน์, ดนตรี, สิ่งพิมพ์, ภาพยนตร์ที่ถูกชี้นำโดยสื่อมวลชนและโฆษณา โฆษณาสินค้าทั้งหลายถูกเอ่ยขึ้นมาเพื่อล้อเลียนและแฝงไปด้วยน้ำเสียงหงุดหงิดรำคาญ และความไม่เมกเซนส์ รวมไปจนถึงการผลิตสินค้าทางวัฒนธรรมของแวดวงต่างๆ ที่ดูเหมือนสุกเอาเผากินไม่ประณีต เนื่องด้วยต้องแข่งขันกับยอดขาย ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ผี, การออกเทปเพลงเป็นนักร้องที่ถือว่า ‘ออกเทปง่ายกว่าการออกลูก’, การเข้าสู่วงการบันเทิงที่ดูเหมือนง่ายๆ, การโฆษณาแบบฮาร์ดเซลล์ตรงไปตรงมาแบบไม่ต้องมีศิลปะอะไร อุดมยังแฉเบื้องหลังของวงการบันเทิงอย่างการทำงานหามรุ่งหามค่ำอดหลับอดนอนของทีมงานเอฟเฟกต์ที่ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของการถ่ายทำ หรือเบื้องหลังของเสียงปรบมือในรายการโทรทัศน์ทั้งหลาย

เพราะอุดมเล่าถึงสิ่งรอบตัวเขา ดังนั้นเรื่องเล่าของเขาจึงมีศูนย์กลางอยู่ที่กรุงเทพฯ ชีวิตประจำวันของเขาจึงอาจจะอยู่กับป้ายรถเมล์ บนรถเมล์ หน้าโทรทัศน์ รายการวิทยุที่คนต่างจังหวัดอาจนึกไม่ออกว่า รายการไนน์ตี้ช็อกคืออะไร การยืนรอรถเมล์ประจำทางมันเป็นยังไง

ขณะที่ชวน หลีกภัย ในฐานะอดีตนายกรัฐมนตรีก็ถูกล้อเลียนด้วยบทพูดว่า “”เอ่อ กระผมคิดว่า…เราจะยังไม่ควรจะไปตัดสินใจอะไรนะครับในเรื่องนี้ คิดว่า ควรจะปรึกษาทางท่านคณะรัฐมนตรีทั้งหลายฝ่ายก่อนนะครับ ควรจะชลอการตัดสินใจไปชาติหน้านะครับ” สะท้อนให้เห็นระบบบริหารราชการบ้านเมืองที่ยังล้าหลัง ตามไม่ทันเศรษฐกิจที่ขยายตัวไปอย่างรวดเร็ว ตรรกะแบบระเบียบราชการหลายครั้งดูไม่เมกเซนส์เมื่อจับกับธุรกิจสมัยใหม่ เช่น โฆษณาเครื่องดื่มบำรุงกำลังที่จะต้องมีการอ่านคำเตือนอย่างรวดเร็วจนคนฟังไม่ทันในโฆษณาโทรทัศน์

ความสำเร็จของเดี่ยวครั้งแรกทำให้เกิดครั้งที่ 2[32] ในช่วงท้ายของเศรษฐกิจยุคทอง ช่วงที่หายไปหนึ่งปี เขาเดินทางไปออสเตรเลียเพื่อเที่ยวและใช้ชีวิตระยะหนึ่ง สะท้อนให้เห็นถึงความนิยมของผู้คนที่เดินทางไปเมืองนอกในช่วงซัมเมอร์และที่นั่นยังมีคนไทยจำนวนมากอีกด้วย มุกตลกที่เล่นกับความไม่เอาไหนทางภาษาอันที่จริงก็สะท้อนถึงปัญหาการสื่อสารภาษาอังกฤษของคนไทยอีกมากเช่นกันในวันที่เราอยากโกอินเตอร์ อยากเป็นเสือ เป็นนิคส์ (newly industrialized country: NIC)

เนื้อหาในเดี่ยว 2 อุดม โชว์ห่วย ที่รู้จักกันดีก็คือ มุก ‘เพื่อนตุ้ม’ ที่สะท้อนถึงการใช้อำนาจพวกพ้องในการเบ่งกับผู้คุมพื้นที่อย่างยามรักษาความปลอดภัยเพื่อเข้าถึงอภิสิทธิ์ต่างๆ ในสังคมไทย วลีที่ล้อว่า “คุณทักษิณจะกินไปไหน” นั้นยังเป็นการเหน็บแนมในฐานะนายทุนผู้ขายโทรศัพท์มือถือ แม้เขาจะเริ่มเข้ามาเล่นการเมืองแล้วและอยู่ในตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีของรัฐบาลบรรหาร ศิลปะอาชา ซึ่งรัฐบาลนี้มีเนื้อเพลงที่ชี้ให้เห็นความน่าเบื่อน่ารำคาญของนักการเมืองในท่อนที่ว่า “ยี้…เบื่อรัฐบาล” ตามสมยานามรัฐบาลในยุคนั้น เช่นเดียวกับเพลง “ครม.เต้าหู้ยี้” ของ คาราบาว มันจึงเป็นเสียงต่อต้านนักการเมืองที่มีภาพลักษณ์ที่ย่ำแย่มาหลายปี

เดี่ยว 3 อุดม การช่าง[33] ผู้ชมได้เปลี่ยนไปจากนักเรียน นักศึกษาเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น ในอีกด้านหนึ่งมันคือตอกย้ำความแมสของเขา เช่นเดียวกับการเริ่มมีไทอินสินค้าไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องดื่ม หรือประกันชีวิต

มุกการเหยียบตีนในผับก็เป็นคดีดังในปี 2540 ลูกชายผู้มีอิทธิพลชักปืนออกมาทุบหัว กระทืบซ้ำแล้วใช้ยิงหลานทูตจีนจนบาดเจ็บเพราะถือว่ามองหน้าบริเวณหน้าห้องน้ำในผับ เข้าใจว่าไม่พอใจที่เดินไปเหยียบเท้า[34] สะท้อนถึงความเสี่ยงของชนชั้นกลางที่แม้จะเป็นที่ไปเที่ยวแท้ๆ ยังอาจจะเจอความซวยจากการเบ่งจนเสี่ยงตายได้

นอกจากการโกอินเตอร์ของเขาในครั้งที่แล้ว ครั้งนี้อุดมก็เล่าสั้นๆ เกี่ยวกับการไปเที่ยวญี่ปุ่น และชี้ให้เห็นว่าสังคมไทยนั้นพยายามเอาตัวไปผูกกับความเป็นอินเตอร์ เห็นจากการเห่อสมรักษ์ คำสิงห์ที่ได้เหรียญทองโอลิมปิก หรือไทเกอร์ วู้ดที่มีเชื้อสายไทยจากทางแม่ ในความเปราะบางของสังคมไทยที่เริ่มมีปัญหาทางเศรษฐกิจแล้ว ร่องรอยที่แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจไม่ได้ดีเหมือนก่อนแล้วก็คือ คำพูดที่เขากล่าวว่า “ขอให้ทุกท่านรักษาสุขภาพและสู้กับสภาพเศรษฐกิจนี้ไปให้ได้” มุกตบท้ายของเขาที่เสียดสีนักการเมืองก็มีการกล่าวถึงชื่อบุคคลที่เทปบันทึกรายการได้เซ็นเซอร์ไว้ กล่าวถึงคำถามในหนังสือพิมพ์ กรุงเทพธุรกิจ ไว้ว่า ในเรือมีบุคคลที่กล่าวถึงรายชื่อที่ถูกปิดชื่ออยู่ 4 คน นั่งเรือไปกลางมหาสมุทร ถ้าเรือล่มใครจะตาย ใครจะรอด คำตอบของเขาที่ส่งไปหนังสือพิมพ์ และดันเป็นคำตอบที่ถูกต้องคือ ทุกคนตายหมด ประเทศชาติรอด

เขายังชี้ว่า คนไทยต้องการการตั้งคำถามกับสังคม ที่เสียดล้อกับการศึกษาแบบท่องจำของสังคมไทย ประเด็นนี้ทักษิณเองผู้ยังเป็นนักการเมืองหน้าใหม่ ก่อนที่จะตั้งพรรคไทยรักไทยยังจับความมาพูดต่อในส่วนสัมภาษณ์ก่อนจะมีรายการแสดง

เนื้อหาของอุดมเป็นการหยอกล้อ เสียดสีสังคมไทย ถามว่า ตลกโดยทั่วไป ตลกคาเฟ่ไม่หยอกล้อ เสียดสีหรือ ถ้าใครเคยดูวิดีโอตลกคาเฟ่จะเห็นว่า พวกเขาก็ทำคล้ายกันแต่ในเวอร์ชั่นที่แรงกว่า ดิบกว่า จนถูกวิจารณ์เรื่องความหยาบคาย ลามกอนาจารไปด้วย อุดมจึงโด่งดังขึ้นมาในฐานะตลกของชนชั้นกลางที่ชนชั้นกลางรับได้ เป็นตลกปัญญาชน-ปัจเจกชน ที่ไม่ใช่ตลกคาเฟ่ที่ดูไร้การศึกษา และไม่ได้เป็นภาพตัวแทนของพวกเขา ขณะที่โน้ตดูทะลึ่งทะเล้นที่รับได้ และเปิดการแสดงบนเวทีที่ได้มาตรฐาน มีการจัดฉาก องค์ประกอบศิลป์ แสง เสียงอย่างมืออาชีพ ทั้งยังมีเนื้อหาที่สัมผัสใจกับคนดูชนชั้นกลางที่ตามข่าวสาร อ่านหนังสือพิมพ์ดูรายการโทรทัศน์ และสนใจการวิพากษ์วิจารณ์สังคม การที่เขาจงใจสัมภาษณ์ดารา นักแสดง นักร้อง ผู้กำกับภาพยนตร์ นักการเมืองบางคนอย่างทักษิณ คนไทยที่เดินทางจากต่างประเทศมาชม แล้วลงคลิปโปรโมทก็สะท้อนให้เห็นว่าเขาเหล่านี้คือ ฐานกลุ่มเป้าหมายชนชั้นกลางได้เป็นอย่างดี

ก่อนเศรษฐกิจจะพังทลาย ชนชั้นกลางไทยยังไม่ค่อยเสียงแตกเท่าใดนัก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมืองหรือเรื่องศาสนา แต่พอมาปี 2541 ข่าววัดพระธรรมกายถูกตีและเล่นอย่างหนักจนวัดดังกล่าวเสียหลักไปมาก จากข่าวการระดมทุนก่อสร้างมหาธรรมกายเจดีย์ที่เชิญชวนบริจาคสร้างพระประจำตัวทำบุญองค์ละหมื่น ทั้งยังเผยแพร่หลักธรรมขัดแย้งกับพุทธศาสนา ทำให้ครอบครัวหลายครอบครัวแตกแยก และสูญเสียเงินอย่างมหาศาล[35] ในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังย่ำแย่จึงเป็นที่รับรู้กันได้ถึงบรรยากาศของสังคมที่หงุดหงิดไม่พอใจของวัดที่นอกรีตนอกรอยเช่นนี้ในมาตรฐานชนชั้นกลาง อุดม แต้พานิชเองก็เป็นที่รับรู้กันว่า เป็นลูกศิษย์วัดดังกล่าว[36] จึงไม่แปลกใจอะไรที่ไม่ปรากฏการล้อเลียนเสียดสีวัดดังกล่าวในเดี่ยวไมโครโฟนเลย ก็ถือว่าเป็นเรื่องตลกร้าย วัดพระธรรมกายที่ถูกชนชั้นกลางวิพากษ์วิจารณ์อย่างสาดเสียเทเสีย ล้อเลียนและเห็นเป็นตัวตลก กลับถูกเว้นที่ไว้สำหรับอุดม ตลกผู้มีชื่อเสียงในการล้อเลียนสังคมไทย

เดี่ยวไมโครโฟน ยังเป็นสักขีพยานของเศรษฐกิจที่รุ่งเรืองและล่มสลาย น่าสนใจว่า การจัดเดี่ยวต่อเนื่องกัน 3 ปี ตั้งแต่ 2538-2540 ก่อนที่จะหยุดไปถึง 2 ปี และครั้งที่ 3 อุดม การช่าง นอกจากจะเป็นปีที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจแล้ว เขายังออกเทปด้วยในนาม ‘รวมเพลงประกอบโน่นประกอบนี่ของอุดม ฟังก่อนชม อุดมการช่าง’ ในปี 2540 เฉพาะปี 2539 เขาออกหนังสืออีก 3 เล่มรวด คือ หนังสือโป๊[37]ที่เป็นดุจอัตชีวประวัติของเขาและหนังสือบันทึกการแสดงครั้งที่ 1 และ 2 ในชื่อ เดี่ยวไมโครโฟน[38] และ อุดมโชว์ห่วย[39]  ซึ่งเกือบเป็นโค้งสุดท้ายของยุคฟองสบู่แล้ว ก่อนที่เขาจะกลับมาอีกครั้งในนามเดี่ยว 4 ในปี 2542

กระแสจากเดี่ยวไมโครโฟนจึงเป็นอานิสงส์ให้หนังสือของเขาขายดียิ่งขึ้นไปอีก แม้ว่าเขาจะมีหนังสืออีกหลายเล่มในเวลาต่อมา แต่ โทษฐานที่รู้จักกัน ก็ยังเป็นหนังสือที่ขายได้มาเรื่อยๆ เท่าที่ค้นเจอครั้งล่าสุดน่าจะเป็นการตีพิมพ์ครั้งที่ 35 โดย Book Smile ในปี 2555 ช่วงนั้นใกล้เคียงกับที่อุดมจัดแสดง เดี่ยว 9 ในปี 2554 ที่มีรอบมากถึง 18 รอบ ซึ่งได้อานิสงส์จากทั้งสื่อเก่าอย่างโทรทัศน์ และสื่อใหม่อย่างโซเชียลมีเดียที่เปิดพื้นที่การอวดและแชร์ตั๋วจากผู้ชมและแฟนๆ ของเขา [40] ขณะที่เดี่ยวล่าสุด คือ เดี่ยว 13 ในปี 2565

อุดม แต้พานิช ถือเป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ในสภาพสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปร โทษฐานที่รู้จักกัน ถือว่าเป็นอนุสรณ์ของสังคมยุคนั้นในฐานะของอารมณ์ขันของชนชั้นกลางที่เป็นคนรุ่นใหม่ผู้กำลังงุนงง รำคาญตัวเองและสังคมไปพร้อมๆ กันในยุคฟองสบู่ทางเศรษฐกิจ ก่อนจะเจอมรสุมลูกใหญ่กว่านั้นภายหลังความพังพินาศของฤทธิ์ต้มยำกุ้งที่ธุรกิจสื่อทั้งหลายเจ็บหนัก บ้างก็ต้องลดกำลังผลิต บ้างก็ปิดตัวลงไป แต่ใต้มรสุมเช่นนั้น อุดมก็ยังฝ่าพายุสร้างสรรค์ผลงานของเขาต่อไป ไม่ว่าจะเป็นงานแสดงเดี่ยวไมโครโฟน การออกเทปที่เขาเคยวิจารณ์ รวมไปถึงหนังสือเล่มต่อๆ ไปที่กลายเป็นต้นทุนสำคัญในชีวิตของเขามาจนถึงปัจจุบัน ล้วนวางอยู่บนการแสดงทัศนะต่อสังคมไทยที่แม้จะน่าอยู่ แต่ก็ดูน่าหงุดหงิดอย่างยิ่งในสายตาของชนชั้นกลาง


หมายเหตุ: งานเขียนชิ้นนี้ได้รับความเอื้อเฟื้อจากหลายบุคคล ได้แก่ นนท์ บารมี สมาธิปัญญา, กุ้ง มนัส สังข์จันทร์ จาก นิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ รวมไปถึงเจ้าหน้าที่ หอสมุดปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์


[1] “ชีวิตของผมทุกวันนี้ ถือว่าได้มาถึงจุดสูงสุดของตลก โน๊ต เชิญยิ้ม”, มติชน, (30 มีนาคม 2537) : 29

[2] อิทธิเดช พระเพ็ชร, “เมื่อความฮาและเสียงหัวเราะออกเดินทาง : ‘ตลกคาเฟ่’ หลังสิ้นยุคทอง ‘คาเฟ่ตลก’”. สืบค้นเมื่อ 30 มกราคม 2567 จาก https://www.the101.world/comedy-cafe-eras/ (24 มกราคม 2567)

[3] สุรพล บัณฑุเศรณี, “วัฒนธรรมตลกร่วมสมัย ตลกคาเฟ่กับตลกปัญญาชน มองปรากฏการณ์กระจก 6 ด้าน”, ศิลปวัฒนธรรม, 18 : 9 (กรกฎาคม 2539)

[4] “สังคมไทยเครียดรายการตอบปัญหาทางวิทยุ โทรทัศน์ และเคเบิ้ลทีวี บูม!!!”, มติชน (29 มีนาคม 2537) : 29

[5] พิมพร สุขสวัสดิ์, ศิลปะของอุดม แต้พานิช วิทยานิพนธ์ศิลปะบัณฑิต ภาควิชาทฤษฎีศิลป์ คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2556, หน้า 35-37

[6] “สามอันฮ่า “ต้องการให้คนที่มาดูหัวเราะอย่างเดียว” ”, มติชน (14 เมษายน 2537) : 29

[7] “ ‘โน้ต อุดม’ วางแผนลาวงการอยู่เบื้องหลัง-ขายส้มตำกับแม่”, มติชน (19 เมษายน 2537) : 29

[8] อุดม แต้พานิช, โทษฐานที่รู้จักกัน (พิมพ์ครั้งที่ 3, กรุงเทพฯ : สามสี, 2537), หน้า 121

[9] อุดม แต้พานิช, เรื่องเดียวกัน, หน้า 28

[10] อุดม แต้พานิช, เรื่องเดียวกัน, หน้า 83

[11] อุดม แต้พานิช, เรื่องเดียวกัน, หน้า 85

[12] อุดม แต้พานิช, เรื่องเดียวกัน, หน้า 102

[13] อุดม แต้พานิช, เรื่องเดียวกัน, หน้า 68

[14] อุดม แต้พานิช, เรื่องเดียวกัน, หน้า 27

[15] อุดม แต้พานิช, เรื่องเดียวกัน, หน้า 104

[16] อุดม แต้พานิช, เรื่องเดียวกัน, หน้า 96

[17] อุดม แต้พานิช, เรื่องเดียวกัน, หน้า 104

[18] อุดม แต้พานิช, เรื่องเดียวกัน, หน้า 52

[19] กฤษณ์พชร โสมณวัตร, “พิพากษารมณ์ : ระบอบกฎหมายแห่งความรู้สึกรำคาญของชนชั้นกลางไทย”, จินตนาการใหม่ ภูมิทัศน์นิติศาสตร์ไทย ประชุมวิชาการนิติสังคมศาสตร์ระดับชาติ, 20 พฤศจิกายน 2563 ณ โรงแรมฟูราม่า เชียงใหม่

[20] อุดม แต้พานิช, เรื่องเดียวกัน, หน้า 74

[21] อุดม แต้พานิช, เรื่องเดียวกัน, หน้า 132

[22] ผู้เขียนคลับคล้ายคลับคลาในประเด็นนี้ แต่เมื่อไปค้นหาข้อมูลเก่าย้อนหลังไปเมื่อปี 2537-2538 ในหนังสือพิมพ์ มติชนรายวัน และมติชนรายสัปดาห์กลับไปเจอ สอบถามกองบรรณาธิการก็ให้ข้อมูลคล้ายๆ กันว่ามีประเด็นดังกล่าวถกเถียง ส่วนหนึ่งที่ยังเหลือร่องรอยคือ คำถาม-คำตอบ ในกระทู้พันทิป numimi (นามแฝง). “อยากทราบเรื่องหนังสือของ โน้ส อุดม ที่ถูกวิจารณ์ว่าเป็นขยะวรรณกรรม”. สืบค้นเมื่อ 28 มกราคม 2567 จาก https://pantip.com/topic/30047652 (15 มกราคม 2556)

[23] วาณิช จรุงกิจอนันต์, ซอยซีไรต์ (กรุงเทพฯ : มติชน, 2537)

[24] รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์, “หนังสือขายดี”, ผู้จัดการรายวัน (15 กันยายน 2538)

[25] “ดารา-นักเขียน ดารายุคใหม่เขียนหนังสือไฟแลบ”, มติชนสุดสัปดาห์, 15 : 791 (17 ตุลาคม 2538) : 76

[26] มติชน (20 สิงหาคม 2538) : 23, มติชน (3 กันยายน 2538) : 23, มติชน (8 ตุลาคม 2538) : 23, มติชน (15 ตุลาคม 2538) : 23, มติชน (29 ตุลาคม 2538) : 23

[27] มติชน (2 กรกฎาคม 2538) : 23

[28] มติชน (4 มิถุนายน 2538) : 23

[29] พราวตา ศรีวิชัย, ภาพสะท้อนสังคมไทยจากการสื่อสารในเดี่ยวไมโครโฟน อุดม แต้พานิช ครั้งที่ 1-12 วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการสื่อสารศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2565, หน้า 35

[30] GM,10 : 151 (กรกฎาคม 2538)

[31] เก็บความจากคลิป และ พราวตา ศรีวิชัย, เรื่องเดียวกัน, หน้า 43-47

[32] เก็บความจากเทปบันทึกการแสดงเดี่ยว 2 และ พราวตา ศรีวิชัย, เรื่องเดียวกัน, หน้า 54-63

[33] เก็บความจากเทปบันทึกการแสดงเดี่ยว 3 และ พราวตา ศรีวิชัย, เรื่องเดียวกัน, หน้า 69-74

[34] “จาก ‘ยาอี’-ยิง ‘หลานทูต’ 2540 ‘แมน’ ครองเมือง ‘ชัช เตาปูน’ กลืนเลือดหิ้วลูกชายเข้ามอบตัว”, มติชน (2 มิถุนายน 2540) : 2

[35] “ ‘อาคม’ เตรียมลุยวัดธรรมกาย พิสูจน์เผยแพร่ธรรมหลังข่าวฉาว”, มติชน (27 พฤศจิกายน 2541) : 1, 19, “กังขา ธรรมกาย ‘พุทธ’ พาณิชย์ ‘พุทธ’ พิสดาร”, มติชน (26 พฤศจิกายน 2541) : 1, 18

[36] อ่านบทสัมภาษณ์ของเขาได้ที่ คมชัดลึก. “’โน้ส อุดม’จุดเปลี่ยนศรัทธาธรรมกาย”. สืบค้นเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2567 จาก https://www.komchadluek.net/entertainment/127277 (6 เมษายน 2555)

[37] อุดม แต้พานิช, หนังสือโป๊ (กรุงเทพฯ : สามสี, 2539)

[38] อุดม แต้พานิช, เดี่ยวไมโครโฟน = One stand up comedy (กรุงเทพฯ : รูปจันทร์, 2539)

[39] อุดม แต้พานิช, อุดมโชว์ห่วย = One stand up comedy (กรุงเทพฯ : แพรว, 2539)

[40] GM,10 : 151 (กรกฎาคม 2538)

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save