fbpx

เมื่อความฮาและเสียงหัวเราะออกเดินทาง : ‘ตลกคาเฟ่’ หลังสิ้นยุคทอง ‘คาเฟ่ตลก’

– 1 –

สำหรับแฟนๆ วงการตลกไทย คงไม่ยากเกินไปที่จะนึกถึงภาพในอดีตแห่งความรุ่งเรืองหรือยุคทองของวงการตลกคาเฟ่ไทยช่วงทศวรรษ 2520-2530 ผ่านสถานที่ที่เรียกกันว่า ‘คาเฟ่ตลก’ อย่างเช่น พระรามเก้าคาเฟ่ วิลล่าคาเฟ่ ดาราคาเฟ่ กรุงธนคอมเพล็กซ์ ขณะที่คนต่างจังหวัดก็อาจนึกถึงม้วนวีดีโอตลก นึกถึงจี้เส้นคอนเสิร์ต โยโกะเอนเตอร์เทนเมนต์ นึกถึงรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ และภาพชีวิตแห่งความสนุกสนานของผู้คนที่ถูกบันทึกไว้ในแผ่นวีดีโอเทปสีดำ แต่ทว่า หลังยุควิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งในปี 2540 การเสียชีวิตของ เฮียเลี้ยง (บุญเลี้ยง อดุลยฤทธิกุล) นักธุรกิจสถานบันเทิงเจ้าของฉายา ‘เจ้าพ่อคาเฟ่’ ช่วงกลางปี 2541 รวมถึงนโนบายคุมเข้มสถานบันเทิงของรัฐบาลในช่วงประมาณปี 2545 กล่าวได้ว่า ในช่วงทศวรรษ 2540 วงการคาเฟ่ตลกของไทยก็เข้าสู่ช่วงขาลงอย่างเห็นได้ชัด[1]

การปิดกิจการและจำนวนคาเฟ่ตลกที่ลดลง ส่งผลโดยตรงทำให้ตลกคาเฟ่ต้องปรับตัวด้วยการย้ายพื้นที่ทำมาหากินมาสู่พื้นที่ของสื่อโทรทัศน์และภาพยนตร์มากยิ่งขึ้น ในส่วนของพื้นที่สื่อโทรทัศน์ กระแสความนิยมของคาเฟ่ตลกทำให้บรรดาตลกคาเฟ่บุกเข้าสู่พื้นที่รายการโทรทัศน์มาแล้วตั้งแต่ในช่วงทศวรรษ 2530 จนสามารถประชันขันแข่งกับกลุ่ม ‘ตลกปัญญาชน’ ที่ครองพื้นที่สื่อรายการโทรทัศน์ประเภทวาไรตี้ (Variety Show) และเกมโชว์ (Game Show) มาตั้งแต่ในช่วงทศวรรษ 2520 (โปรดนึกถึงรายการที่มีชื่อเสียงอย่าง ‘ยุทธการขยับเหงือก’ และ ‘เพชฌฆาตความเครียด’) ได้อย่างสูสี ดังที่ปรากฏว่า ช่วงกลางถึงปลายทศวรรษ 2530 มีรายการตลกในโทรทัศน์ซึ่งเป็นพื้นที่ของตลกคาเฟ่ในหลายช่องหลายรายการ เช่น รายการ ‘ขบวนการจี้เส้น’, ‘สมาคมคนเส้นตื้น’, ‘เฮฮา 25 น.’, ‘ตลุย ตลาด ตลก’ และ ‘ฮา 7 ดาว’

ทว่า เวทีการแสดงในโลกโทรทัศน์ก็คับแคบเกินกว่าที่ตลกคาเฟ่ทุกคนจะเข้ามาทำการแสดงเรียกเสียงฮาจากผู้ชมได้เหมือนดั่งคาเฟ่ตลก ศิลปินตลกที่เป็นตลกเบอร์ใหญ่หรือเป็นตลกที่มีความสามารถโดดเด่น ปรับตัวและได้รับโอกาสเข้าหานายทุนวงการโทรทัศน์และภาพยนตร์ได้ทันท่วงทีก็มีโอกาสประสบความสำเร็จต่อเนื่อง ตัวอย่างเช่น ช่วงรอยต่อระหว่างทศวรรษ 2530 ถึง 2540 ตลกเบอร์ใหญ่อย่าง โน้ต เชิญยิ้ม หรือ เทพ โพธิ์งาม ถือได้ว่าเป็นศิลปินตลก ‘ตัวขาย’ ในรายการโทรทัศน์ประเภทวาไรตี้ให้แก่บริษัทผลิตรายการโทรทัศน์อย่าง บริษัท เจเอสแอล จำกัด หรือในกรณีแก๊งตลกที่รู้จักกันดีอย่าง ‘แก๊ง 3 ช่า’ ก็เริ่มต้นมาจากการสร้างทีมตลกไว้คอยเรียกเสียงฮาในรายการ ‘ชิงร้อยชิงล้าน’ และ ‘ระเบิดเถิดเทิง’ ของ ปัญญา นิรันกุลดิ์ แห่งบริษัท เวิร์คพอยท์ โดยในยุคแรกมีดาวตลกอย่าง หม่ำ จ๊กม๊ก กับ เอ็ดดี้ ผีน่ารัก เป็นตัวชูโรง ก่อนต่อมาจะมีการตั้ง ‘แก๊ง 3 ช่า ชุดแรก’ ที่ประกอบด้วย หม่ำ จ๊กม๊ก เท่ง เถิดเทิง และ หนู เชิญยิ้ม (น่าเสียดายในกรณีของหนู เชิญยิ้ม ที่ว่ากันว่า หนูถือเป็นตลกระดับอัจฉริยะของวงการและหลายคนเชื่อว่าเขาจะก้าวขึ้นเทียบชั้นปรมาจารย์ตลกอย่าง ล้อต็อก) ก่อนสุดท้ายในช่วงต้นทศวรรษ 2540 จะมีการปรับสมาชิกลงตัวเป็น ‘แก๊ง 3 ช่า’ ที่ประกอบด้วย หม่ำ จ๊กม๊ก เท่ง เถิดเทิง และโหน่ง ชะชะช่า

แม้ช่วงทศวรรษ 2540 รายการตลกที่เป็นพื้นที่ของตลกคาเฟ่มีอันต้องปิดฉากลาจอแก้วไปหลายรายการ แต่ทว่า ในเมื่อพื้นที่รายการโทรทัศน์ได้กลายเป็นพื้นที่ยึดมั่นและป้อมปราการสุดท้ายของตลกคาเฟ่ จึงทำให้ในช่วงทศวรรษ 2540 ยังคงมีรายการตลกทางโทรทัศน์ซึ่งเป็นพื้นที่ของตลกคาเฟ่ไว้คอยเรียกเสียงฮาจากผู้คนอย่าง รายการ ‘ก่อนบ่ายคลายเครียด’ โดยมีกลุ่มตลกคาเฟ่สายคณะเชิญยิ้ม ที่ถือเป็นกลุ่มตลกคาเฟ่คณะใหญ่และยังเป็นกลุ่ม ‘หัวเรือใหญ่’  ของวงการตลกคาเฟ่ไทยมาตั้งแต่ในช่วงทศวรรษ 2530 นำทีมโดยศิลปินตลกชื่อดังอย่าง เป็ด โน้ต และศรีหนุ่ม เชิญยิ้ม เป็นแกนหลักสำคัญ

นอกจากนี้ ตลกคาเฟ่ยังเข้าไปเรียกรอยยิ้มและเสียงหัวเราะในรายการประเภทวาไรตี้และเกมส์โชว์หลายรายการทั้งในฐานะพิธีกรประจำและแขกรับเชิญ รวมทั้งในบางรายการก็ใช้ตลกคาเฟ่เป็นหนึ่งในจุดขายของรายการ เช่น รายการ  ‘ตีสิบ’ ‘ทไวไลท์โชว์’ และ ‘07 โชว์’

ด้วยรายการโทรทัศน์เปรียบเสมือนป้อมปราการสุดท้าย จึงเห็นได้ถึงความพยายามในการสร้างและรักษาพื้นที่เรียกรอยยิ้มและเสียงหัวเราะของตลกคาเฟ่ในช่วงปลายทศวรรษ 2540 ผ่านรายการโทรทัศน์อย่าง รายการ ‘3 ซ่า Cafe’ หรือที่ชัดเจนเป็นอย่างมากคือ รายการ ‘ชวนชื่นคาเฟ่’ (2547) ที่ให้อารมณ์และบรรยากาศแห่งการโหยหาอดีตยุคทองของคาเฟ่ตลก นำโดยกลุ่มตลกคาเฟ่สายคณะชวนชื่น อย่าง อุดม, จิ้ม, จอย, แฮ็ค และค่อม ชวนชื่น รวมทั้งในช่วงเวลาดังกล่าว ก็เป็นช่วงเวลาที่ดาวตลกอย่าง หม่ำ จ๊กม๊ก ก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในแกนหลักของวงการตลกร่วมกับ เป็ด และ โน้ต เชิญยิ้ม โดยเฉพาะภายหลังการประสบความสำเร็จอย่างสูงจากภาพยนตร์ตลกเรื่อง ‘บอดี้การ์ดหน้าเหลี่ยม’ (2547) ซึ่งด้วยการที่หม่ำ ถือเป็นศิลปินตลก ‘ตัวขาย’ ของบริษัทเวิร์คพอยท์ ทำให้หม่ำเข้าไปมีบทบาทนำในหลายรายการของเวิร์คพอยท์ โดยเฉพาะรายการ ‘หม่ำโชว์’ (2548) ที่ดูเหมือนว่าหม่ำจะมีตั้งใจในการสร้างและรักษาพื้นที่เรียกเสียงฮาของตลกคาเฟ่ในรายการโทรทัศน์อย่างมาก

นอกจากรายการโทรทัศน์ประเภทวาไรตี้และเกมโชว์แล้ว ช่วงทศวรรษ 2540 ตลกคาเฟ่หลายคนก็ยังได้รับโอกาสแสดงละครโทรทัศน์อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 2530 ทั้งในฐานะนักแสดงหลักและนักแสดงสบทบ เช่น เด๋อ ดอกสะเดา, เด่น ดอกประดู่, โน้ต เชิญยิ้ม, เทพ โพธิ์งาม, เอ็ดดี้ ผีน่ารัก, โย่ง เชิญยิ้ม, จตุรงค์ ม๊กจ๊ก, จิ้ม ชวนชื่น, โก๊ะตี๋ อารามบอย และอีกหลายๆ คน ทั้งนี้ กลุ่มตลกคาเฟ่ในละครโทรทัศน์ที่น่าจะเป็นที่จดจำของแฟนๆ ละครโทรทัศน์ (และผู้เขียน) ได้ดี คือกลุ่มตลกคาเฟ่ในละคร ‘โก๊ะจ๋า ป่านะโก๊ะ’ (2548) ที่มีศิลปินตลกไว้คอยเรียกเสียงฮาอย่าง สีหนุ่ม เชิญยิ้ม, ชูษี เชิญยิ้ม, ค่อม ชวนชื่น, โป๊งเหน่ง เชิญยิ้ม, เตี้ย พิจิตร, ขมิ้น เชิญยิ้ม และเหลือเฟือ มกจ๊ก

นอกจากนี้ ตลกคาเฟ่หลายคนก็ได้รับโอกาสเข้าไปเรียกเสียงฮาในรายการโทรทัศน์ประเภทซิตคอม (Situation Comedy) เช่น กล้วย เชิญยิ้ม และ ถั่วแระ เชิญยิ้ม ในซิทคอม ‘เฮง เฮง เฮง’ หม่ำ เท่ง โหน่ง (แก๊ง 3 ช่า) ในซิตคอม ‘โคกคูนตระกูลไข่’ ศิลปินตลกอย่าง สีหนุ่ม เชิญยิ้ม, เหลือเฟือ มกจ๊ก, ตี๋ ดอกสะเดา, เฮียหมู ในซิตคอม ‘บางรักซอย 9’ เจี๊ยบ เชิญยิ้ม ในซิตคอม ‘เป็นต่อ’ หรือช่วงปลายทศวรรษ 2540 ก็มีตลกคาเฟ่อย่าง เอ๋ เชิญยิ้ม, สุเทพ สีใส, ไจแอนท์ เชิญยิ้ม, เต๋อ เชิญยิ้ม, เอ เชิญยิ้ม และ จเร เชิญยิ้ม เป็นนักแสดงหลักในซิตคอมอย่าง ‘ผู้กองเจ้าเสน่ห์’

จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า เมื่อคาเฟ่ตลกซึ่งถือเป็นพื้นที่ทำมาหากินหลักของตลกคาเฟ่มาตั้งแต่ทศวรรษ 2520 ค่อยๆ ล่มสลายในช่วงทศวรรษ 2540 ความฮาและเสียงหัวเราะจากตลกคาเฟ่ก็จำเป็นต้องออกเดินทางสู่พื้นที่รายการโทรทัศน์มากยิ่งขึ้น แต่ทว่า รายการโทรทัศน์ (และวงการภาพยนตร์) ก็มิได้มีพื้นที่ให้แก่ตลกคาเฟ่ทุกคนมากพอ ทำให้สำหรับตลกคาเฟ่อีกหลายๆ คน ราวกับว่า พวกเขาได้ตกขบวนรถไฟเที่ยวสุดท้ายไปเสียแล้ว

– 2 –

วิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง 2540 ไม่เพียงส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจของไทย แต่ยังส่งผลต่อวงการภาพยนตร์ไทยด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะการเกิดปรากฏการณ์โหยหาอดีต (nostalgia) ในโลกภาพยนตร์ไทย จนทำในช่วงทศวรรษ 2540 กลายเป็น ‘ยุคทอง’ ของวงการภาพยนตร์ไทยอย่างที่มิได้มีใครคาดฝัน[2] ซึ่งตลกคาเฟ่ ก็ได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของหน้าประวัติศาสตร์วงการภาพยนตร์ไทยในขณะนั้นด้วยเช่นกัน

ดังได้กล่าวแล้วว่า วิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งส่งผลโดยตรงต่อธุรกิจคาเฟ่ตลกและส่งผลต่อบรรดาตลกคาเฟ่ที่จำต้องพารอยยิ้มและเสียงหัวเราะออกเดินทางมาสู่พื้นที่รายการโทรทัศน์และภาพยนตร์ ความน่าสนใจคือ การออกเดินทางของรอยยิ้มและเสียงหัวเราะของตลกคาเฟ่ได้ทำให้เกิดปรากฏการณ์ ‘ตลกเตะฝรั่ง’ ในโลกภาพยนตร์ไทย[3]

ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ฝรั่ง ในโลกภาพยนตร์ไทยหลังวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง คือภาพตัวแทน (Representation) ความเป็นตะวันตก ความเป็นโลกาภิวัตน์ ระบบเศรษฐกิจทุนนิยม หรือกระทั่งเป็น ‘ร่างทรง’ ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่รัฐบาลต้องกู้ยืมในขณะนั้น ในขณะที่ตลกคาเฟ่ คือภาพแทนของความเป็นคนไทย (ผ่านภาพลักษณ์ความสนุกสนานเฮฮา และเป็นกันเอง) และเป็น ‘ร่างทรง’ ของคนไทยที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง กระทำการ ‘เตะฝรั่ง’ เพื่อบำบัดอาการโมโหจากวิกฤตเศรษฐกิจและสังคม ดังปรากฏในภาพยนตร์เรื่อง ‘มือปืน/โลก/พระ/จัน’ (2544) และ ‘7 ประจัญบาน’ (2545)

แม้ตลกคาเฟ่ จะเข้ามาเป็นส่วนสำคัญหนึ่งของวงการภาพยนตร์ไทยตั้งแต่ทศวรรษ 2520 แต่ก็มิได้ถูกยกให้เป็นนักแสดงนำหลักของเรื่องมากเท่าใดนัก (อาจจะยกเว้นในกรณีของ ล้อต๊อก จากภาพยนตร์เรื่อง ‘หลวงตา’ เมื่อปี 2524) แต่จากความสำเร็จของภาพยนตร์เรื่อง ‘มือปืน/โลก/พระ/จัน’ ที่ผู้กำกับหน้าใหม่ในขณะนั้นอย่าง ต้อม-ยุทธเลิศ สิปปภาค นำเอาตลกคาเฟ่แถวหน้าของเมืองไทยอย่าง เทพ โพธิ์งาม, หม่ำ จ๊กม๊ก, ถั่วแระ เชิญยิ้ม และ  เท่ง เถิดเทิง มาเป็นนักแสดงนำหลักของเรื่อง และทำรายได้มากถึง 123 ล้านบาท ถือได้ว่า ‘มือปืน/โลก/พระ/จัน’ เป็นหมุดหมายสำคัญของประวัติศาสตร์วงการตลกคาเฟ่ในโลกภาพยนตร์ไทย

ปรากฏการณ์ตลกคาเฟ่ไทยในโลกภาพยนตร์ยังปรากฏในปีต่อมา เมื่อภาพยนตร์ไทยที่ทำรายได้สูงสุดในปี 2545 ด้วยรายได้ถึง 73 ล้านบาท คือ ภาพยนตร์ที่แวดวงภาพยนตร์ศึกษาของไทยอาจจะประเมินจัดอยู่ในฐานะภาพยนตร์เกรด B อย่างภาพยนตร์ตลกเรื่อง ‘ผีหัวขาด’ (2545)

‘ผีหัวขาด’ เป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรก ๆ ที่นำเอาบรรดาตลกคาเฟ่มารวมตัวแสดงมากที่สุด โดยถือเป็นหนึ่งในภาพยนตร์ไทยภายใต้บริบทอาการโหยหาอดีตอย่างเห็นได้ชัด ดังเห็นได้จากเนื้อหาของเรื่องที่เป็นการเล่าย้อนกลับไปสู่บรรยากาศแห่งความเป็นภาพยนตร์ผีไทย ภาพของเรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านต่างจังหวัด ภาพบรรยากาศงานวัด งานบุญ ประเพณีแข่งควาย ต่อยมวย รวมไปถึงภาพระบบความสัมพันธ์ของคนในชุมชนแบบ ลูกบ้าน พ่อบ้าน และพ่อกำนัน

แม้นักแสดงพระนางของเรื่องจะมีอาชีพเป็นนักร้อง/นักแสดง (ฌานิศ ใหญ่เสมอ และ นพวรรณ ศรีนิกร) แต่จุดขายของภาพยนตร์ ‘ผีหัวขาด’ คือบรรดาตลกคาเฟ่อย่างมิต้องสงสัย เนื่องจากนักแสดงส่วนใหญ่ของเรื่องประมาณ 90% คือ ตลกคาเฟ่ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น เทพ โพธิ์งาม, โน้ต เชิญยิ้ม, ถั่วแระ เชิญยิ้ม, โย่ง เชิญยิ้ม, ชูษี เชิญยิ้ม, จาตุรงค์ มกจ๊ก, ค่อม ชวนชื่น, หยอง ลูกหยี, ดอน จมูกบาน, จเร เชิญยิ้ม, จ๊อด เชิญยิ้ม, เต๋อ เชิญยิ้ม, ตูมตาม เชิญยิ้ม, โป๊งเหน่ง เชิญยิ้ม, โหน่ง ชะชะช่า, เป็ด เชิญยิ้ม, เพชร ดาราฉาย, เด๋อ ดอกสะเดา, ดู๋ ดอกกระโดน, ดี๋ ดอกมะดัน, ศรีหนุ่ม เชิญยิ้ม, น้อย โพธิ์งาม, อุดม ชวนชื่น, สุเทพ สีใส, เจ๋ง ดอกจิก, พวง เชิญยิ้ม, หน่อย เชิญยิ้ม, จอย ชวนชื่น, แป๋ว บ้านโป้ง, แดน บุรีรัมย์, เหี่ยวฟ้า, โจ้ ดอกมะดัน, เต่า เชิญยิ้ม, สายัณห์ ดอกสะเดา, หนู คลองเตย, กระรอก เชิญยิ้ม, ตี๋ ดอกสะเดา, หลุยส์ ชวนชื่น, ใส เชิญยิ้ม, อาแปะ เถิดเทิง, แดนนี่ ผีน่ารัก, บิลลี่ ผีน่ารัก, ยาว ลูกหยี, โยกเยก เชิญยิ้ม, อ่าง เถิดเทิง, เหลือเฟือ มกจ๊ก, เนงบา เชิญยิ้ม, น้องทราย คุณแม่ขอร้อง, หม่อมเหยิน นงค์ เชิญยิ้ม และ โจ๊ก เชิญยิ้ม

รายชื่อบรรดาตลกคาเฟ่ในภาพยนตร์ ‘ผีหัวขาด’ ข้างต้น คือภาพสะท้อนการเดินทางของตลกคาเฟ่ จากคาเฟ่ มาสู่พื้นที่วงการภาพยนตร์ไทยภายหลังสิ้นยุคทองคาเฟ่ตลก และก็อาจจะกล่าวได้ว่า ‘ผีหัวขาด’ คือภาพยนตร์ผีไทยแนวตลกเพียงเรื่องเดียวในทศวรรษ 2540 ที่สามารถเอาชนะภาพยนตร์ผีไทยแนวร่วมสมัยในยุคนั้นอย่าง ‘ผีสามบาท’ (2544), ‘คนเห็นผี’ (2545) หรือ ‘อารมณ์ อาถรรพ์ อาฆาต’ (2545) ก่อนทุกอย่างจะคืนหายหลังภาวะเศรษฐกิจของไทยฟื้นตัวในช่วงปลายทศวรรษ 2540 และหนังผีแบบจริตชนชั้นกลางอย่าง ‘ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ’ (2547) ได้กลายเป็นที่ชื่นชอบและนิยมของผู้ชม

หลังสิ้นยุคทองคาเฟ่ตลก วงการภาพยนตร์ไทยได้กลายเป็นอีกหนึ่งพื้นที่เรียกรอยยิ้มและเสียงหัวเราะของผู้คนในสังคม ดังเห็นได้จากภายหลังความสำเร็จของภาพยนตร์เรื่อง ‘มือปืน/โลก/พระ/จัน’ ‘ผีหัวขาด’ และ ‘7 ประจัญบาน’ ตลกคาเฟ่ถือเป็นหนึ่งในกลุ่มนักแสดงภาพยนตร์ไทยที่มีผลงานปรากฏออกมาให้รับชมอย่างต่อเนื่อง ในปี 2546 วงการภาพยนตร์ไทยมีภาพยนตร์แนวตลกเรื่อง ‘คนปีมะ’ ผลงานการกำกับเรื่องแรกของศิลปินตลกเบอร์ใหญ่อย่าง โน้ต เชิญยิ้ม ที่นำเอาตลกคาเฟ่หลายสิบชีวิตอพยพออกเดินทางจากคาเฟ่เข้าสู่พื้นที่โลกภาพยนตร์ไทยไม่แพ้ภาพยนตร์เรื่อง ‘ผีหัวขาด’ ขณะที่ต่อมาในปี 2547 หม่ำ จ๊กม๊ก ก็พาบรรดาตลกคาเฟ่อีกหลายสิบชีวิตประสบความสำเร็จไปกับภาพยนตร์เรื่อง ‘บอดี้การ์ดหน้าเหลี่ยม’ ที่ทำรายได้ไปได้ถึงราว 75 ล้านบาท

จากนั้น ในปี 2548 ถือเป็นจุดสูงสุดของตลกคาเฟ่ในวงการภาพยนตร์ไทย เมื่อ โน้ต เชิญยิ้ม พาภาพยนตร์เรื่อง ‘หลวงพี่เท่ง’ พร้อมบรรดาตลกคาเฟ่อีกหลายสิบชีวิตสร้างปรากฏการณ์ความสำเร็จของตลกคาเฟ่ในวงการภาพยนตร์ ด้วยการกวาดรายได้ไปมากถึง 140 ล้านบาท ในขณะที่ หม่ำ จ๊กม๊ก ก็พาภาพยนตร์เรื่อง ‘แหยมยโสธร’ กวาดรายได้ไปในหลักเกือบ 100 ล้านบาท รวมไปถึงภาพยนตร์เรื่อง ‘พยัคฆ์ร้ายส่ายหน้า’ (2548) ผลงานกำกับเรื่องแรกของ ฤกษ์ชัย พวงเพ็ชร์ (ยอร์ช) ที่พานักแสดงตลกคาเฟ่อย่าง เทพ โพธิ์งาม, จิ้ม ชวนชื่น, ค่อม ชวนชื่น, จตุรงค์ ม๊กจ๊ก, จอย ชวนชื่น, โก๊ะตี๋ อารามบอย, น้องพี ม๊กจ๊ก, อุดม ชวนชื่น, แจ๊ส ชวนชื่น รวมทั้งแขกรับเชิญพิเศษอย่าง หม่ำ จ๊กม๊ก และตลกคาเฟ่อีกหลายคน ประสบความสำเร็จอย่างไม่คาดฝันไปด้วยรายได้ถึง 70 ล้านบาท

เข้าสู่ปี  2549 ตลกคาเฟ่ยังคงเป็นองค์ประกอบสำคัญแห่งความสำเร็จของภาพยนตร์ตลกไทย เมื่อภาพยนตร์เรื่อง ‘โหน่ง เท่ง นักเลงภูเขาทอง’ ที่มี โหน่ง ชะชะช่า และ เท่ง เถิดเทิง เป็นตัวชูโรงทำรายได้ไปถึง 95 ล้านบาท ขณะที่ภาพยนตร์เรื่อง ‘โกยเถอะโยม’ ของ จตุรงค์ ม๊กจ๊ก ก็ทำรายได้ไปได้ถึงราว 70 ล้านบาท รวมไปถึงภาพความต่อเนื่องของ ‘แก๊งสายหน้า’ โดย ฤกษ์ชัย พวงเพ็ชร์ กับผลงานภาพยนตร์ตลกที่ได้กลายเป็นตำนานของวงการภาพยนตร์ตลกไทยไปแล้วอย่าง ‘แสบสนิท ศิษย์ส่ายหน้า’ (2549) ที่ทุกวันนี้ยังมีคนนำมุกตลกมาเล่นอย่างไม่มีวันรู้จบจากผลงานการแสดงของศิลปินตลกอย่าง ค่อม ชวนชื่น, จิ้ม ชวนชื่น, จตุรงค์ ม๊กจ๊ก, โก๊ะตี๋ อารามบอย และ แอนนา ชวนชื่น ที่ทำรายได้ไปได้มากถึง 95 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม แม้จะราวเป็นภาพแห่งการประสบความสำเร็จของตลกคาเฟ่ในวงการภาพยนตร์ไทยช่วงทศวรรษ 2540 แต่ที่กล่าวมาทั้งหมด ก็เป็นเพียงแค่ภาพส่วนหนึ่งของบรรดาตลกคาเฟ่ที่สามารถเดินทางออกจากคาเฟ่เข้าสู่พื้นที่วงการภาพยนตร์ได้สำเร็จ เนื่องจากวงการภาพยนตร์ ก็มิได้มีพื้นที่ให้แก่ตลกคาเฟ่ทุกคนมากพอ ทำให้สำหรับตลกคาเฟ่อีกหลาย ๆ คน ราวกับว่า พวกเขาได้ตกขบวนรถไฟเที่ยวสุดท้ายไปเสียแล้ว อีกเช่นกัน

– 3 –

กล่าวได้ว่า ภาพของตลกคาเฟ่ในรายการโทรทัศน์และวงการภาพยนตร์ไทยช่วงทศวรรษ 2540 สะท้อนให้เห็นถึงการล่มสลายของธุรกิจคาเฟ่ตลกที่เสมือนเป็นหัวใจของตลกคาเฟ่มาอย่างยาวนานราวสองทศวรรษ และยังแสดงให้เห็นถึงภาพการอพยพเดินทางของรอยยิ้มและเสียงหัวเราะโดยบรรดาตลกคาเฟ่ จาก คาเฟ่ มาสู่รายการโทรทัศน์และภาพยนตร์

อย่างไรก็ตาม แม้การเดินทางของตลกคาเฟ่จะปรากฏภาพแห่งความสำเร็จ แต่ก็เป็นที่ทราบกันดีว่า กลุ่มบรรดาตลกคาเฟ่ในรายการโทรทัศน์และวงการภาพยนตร์ไทยนับตั้งแต่ทศวรรษ 2540 ถึงปัจจุบัน ในด้านหนึ่งพวกเขาก็มีสถานะราวกับเป็น ‘ผู้รอดชีวิต’ หลังการสิ้นยุคทองคาเฟ่ตลก เพราะยังมีตลกคาเฟ่อีกราวนับร้อยชีวิตที่ไม่สามารถขึ้นโบกี้รถไฟรายการโทรทัศน์และภาพยนตร์ได้ทันกาล ทำให้จำเป็นต้องเปลี่ยนอาชีพและสถานะกลายเป็น ‘อดีตตลกคาเฟ่’ ดังเห็นได้จากปรากฏข่าวความลำบากของอดีตตลกคาเฟ่หลาย ๆ คนในปัจจุบัน รวมไปถึงบทสัมภาษณ์ชีวิตบรรดาอดีตตลกคาเฟ่ในช่อง ‘นายจี๊ดชาแนล’[4] ทาง Youtube โดยตลกรุ่นใหม่อย่าง นาย มงคล หรือ นาย เดอะคอมเมเดี้ยน (ซึ่งเป็นตลกรุ่นใหม่ที่พยายามจะรักษาแนวทางการเล่นตลกแบบคาเฟ่เอาไว้) ที่ล้วนแล้วแต่เล่าถึงคืนวันอันชื่นสุขในยุคทองคาเฟ่ที่เรืองรองผ่องอำไพ

ขณะเดียวกัน ความโด่งดังและกระแสความนิยมในปัจจุบันของกลุ่มตลกทีม ‘ก็มาดิคร้าบ’ ที่นำโดยกลุ่มตลกคาเฟ่อย่าง บอล เชิญยิ้ม, นุ้ย เชิญยิ้ม, เหน่ง เหม่งจ๋าย (ร็อคข้าวปุ้น) หลุยส์ ชวนชื่น และ แจ๊ส ชวนชื่น ก็เป็นทั้งเรื่องน่ายินดีว่า ตลกคาเฟ่ยังไม่ตายและยังคงได้รับความนิยมชมชอบจากผู้คนในสังคมไทย แต่ในขณะเดียวกันก็กลับอดคิดไม่ได้ว่า ดาวตลกอย่าง บอล เชิญยิ้ม และ แจ๊ส ชวนชื่น ล้วนมีสถานะราวกับเป็นตลกคาเฟ่ ‘เจนเนอเรชั่นสุดท้าย’ ของวงการตลกไทย ดังนั้น แม้จะเป็นเรื่องคาดเดาได้ยากว่า คาเฟ่ตลกจะมีวันกลับมารุ่งเรืองดังเช่นแต่ก่อนหรือไม่ แต่ถ้าหากคาเฟ่ตลกมิได้มีวันกลับมาแล้ว คาดการณ์ไม่ยากเลยว่า ศิลปินตลกอย่าง แจ๊ส ชวนชื่น จะมีสถานะเป็น ‘ตลกคาเฟ่รุ่นสุดท้าย’ ของประวัติศาสตร์วงการตลกไทย

แม้จะฟังดูเป็นเรื่องชวนเศร้าอยู่ไม่น้อย แต่ก็เป็นสัจธรรมที่ว่าเมื่อมีพบ ก็ย่อมมีจาก และตลกคาเฟ่ก็คงจะเป็นเช่นนั้น เหมือนดังเช่นเพลงปิดรายการโทรทัศน์ ‘ชวนชื่นคาเฟ่’ ที่ร้องบอกผู้ชม ผู้ฟัง และผู้เขียนในสมัยที่ยังเป็นนักเรียนหนุ่มน้อยหน้าใส ว่า

“หมดเวลาเเล้วอย่าโลเล ชวนชื่นคาเฟ่ โอเคขอลา มองไม่เห็นเเสงไฟเเรงจ้า หมดเเล้วเวลา คงต้องลาจากกัน…”


[1] ดูประเด็นนี้เพิ่มเติมใน อิทธิเดช พระเพ็ชร, เสียน้ำตาที่คาเฟ่: จาก ‘ความฮา’ ถึง ‘ความเศร้า’ ในเงาความทรงจำของตลกคาเฟ่ไทย, เข้าถึงข้อมูลใน https://www.the101.world/comedy-cafe/

[2] ดูประเด็นนี้เพิ่มเติมใน อิทธิเดช พระเพ็ชร,หมู่บ้านไทยในโลกภาพยนตร์ : ชาติไทยแบบ ‘ไมโคร’ หลังวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง 2540, เข้าถึงข้อมูลใน https://www.the101.world/thai-movie-and-micro-nation/

[3] ดูประเด็นนี้เพิ่มเติมใน อิทธิเดช พระเพ็ชร, ‘7 ประจัญบาน’: ปรากฏการณ์ ‘ตลกเตะฝรั่ง’ ในภาพยนตร์ไทยหลังวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง, เข้าถึงข้อมูลใน https://www.the101.world/heavens-seven-2545/

[4] สามารถเข้าดูได้ใน https://www.youtube.com/@ninejeedchannel/videos

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save