fbpx

เพราะมีเลือกตั้งใหม่ ประเทศไทยเลยเป็นประชาธิปไตยขึ้นมานิดหน่อย(?)

จากการรายงานของ Freedom House ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาระบุว่า ในปี 2024 มีเพียง 17 ประเทศจาก 195 ประเทศทั่วโลกที่มีคะแนนความมีเสรีภาพเพิ่มขึ้น น่าดีใจว่าประเทศไทยเองก็เป็นหนึ่งในนั้น โดยมีคะแนนเพิ่มขึ้นมาถึง 6 คะแนน จากเดิมที่ได้ 30 เพิ่มขึ้นมาเป็น 36 เต็ม 100 คะแนน และยังได้เลื่อนระดับจากประเทศ ‘ไม่เสรี’ กลายเป็นประเทศที่ ‘เสรีบางส่วน‘ ด้วย[1]

คะแนนความมีเสรีภาพของไทยสูงที่สุดในรอบ 7 ปี

การเลือกตั้งใหญ่ในเดือนพฤษภาคม ปี 2023 ที่ผ่านมาเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้คะแนนความมีเสรีภาพของไทยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในด้านสิทธิทางการเมือง หรือ political right ที่เพิ่มขึ้นมาจาก 6 คะแนนเป็น 12 คะแนน แต่ถึงอย่างนั้น คะแนนด้านเสรีภาพของพลเมืองในประเทศไทยกลับไม่เพิ่มขึ้นดังภาพ สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาด้านเสรีภาพของพลเมืองที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ไข

ภาพที่ 1: กราฟแสดงคะแนนด้านเสรีภาพของประเทศไทยตั้งแต่ปี 2018-2024
ที่มา: Freedom House 2018-2024

คะแนนด้านสิทธิทางการเมืองของไทยเพิ่มขึ้น

20232024คะแนนเต็ม
กระบวนการการเลือกตั้ง1312
ความเป็นพหุนิยมทางการเมืองและการมีส่วนร่วม3616
การทำงานของรัฐบาล2312
ตารางแสดงคะแนนด้านสิทธิทางการเมืองของไทยในปี 2023 และ 2024
ที่มา: Freedom House

คะแนนเกี่ยวกับสิทธิทางการเมืองของประเทศไทยหลังการเลือกตั้งใหญ่ที่เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากชัยชนะของแกนนำพรรคฝ่ายค้านเดิม และความพ่ายแพ้ของพรรคอนุรักษนิยม-ทหาร ทำให้ดูเหมือนว่าอำนาจของกองทัพและองค์กรในเงามืดอื่นๆ จะมีน้อยลงในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา

สัดส่วนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มีเพศสภาพเป็นหญิง หรือมีเพศวิถีหลากหลายที่เพิ่มขึ้น ยังมีส่วนช่วยให้คะแนนเกี่ยวกับสิทธิทางการเมืองของไทยเพิ่มขึ้น โดยพบว่าข้อมูลเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2023 แสดงให้เห็นถึงจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เป็นเพศหญิงอยู่ที่ 19.8% ซึ่งสูงที่สุดตั้งแต่ปี 1971 เป็นต้นมา และยังมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เป็นผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศอีก 4 คนด้วย[2]

นอกจากนี้ ไทยยังได้รับคะแนนเพิ่มขึ้นจากการที่มีนายกรัฐมนตรีและสมาชิกสภาผู้แทนฯ ที่มาจากการเลือกตั้งอย่างเสรีมีอำนาจในการกำหนดนโยบายของรัฐบาลด้วย แต่ก็ยังพบว่าการกำหนดนโยบายยังได้รับอิทธิพลจากกลุ่มขั้วอำนาจเก่าอย่างสมาชิกวุฒิสภาที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ทำให้ได้รับคะแนนเพิ่มมาเพียง 1 คะแนนเท่านั้น จากเดิมที่ได้ 0 คะแนนมาตั้งแต่ปี 2018

แม้ว่าไทยจะได้รับคะแนนในส่วนนี้เพิ่มขึ้น แต่เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียนก็พบว่าคะแนนของประเทศไทยในส่วนนี้อยู่ลำดับที่ 6 จาก 11 ประเทศ โดยคะแนนของไทยยังต่ำกว่ามาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย บรูไนดารุสซาลาม และติมอร์-เลสเต แต่สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาว ที่ได้รับเพียง 2 เต็ม 40 คะแนน หรือประเทศคู่แข่งสำคัญของไทยอย่างเวียดนาม ก็ยังได้เพียง 4 เต็ม 40 คะแนน

อย่างไรก็ดี คะแนนของ Freedom House แสดงให้เห็นว่าไทยยังต้องปรับปรุงพัฒนาระบบการเมืองอีกมาก ทั้งในเรื่องของกติกาการเลือกตั้ง สิทธิในการตั้งพรรคการเมืองของประชาชน ไปจนการทำงานที่โปร่งใสของรัฐบาลเอง ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานั้น ไทยไม่ได้รับคะแนนเพิ่มขึ้นเลยตั้งแต่ปี 2018

จุดสำคัญที่ต้องพัฒนาคือทำให้กฎหมายรัฐธรรมนูญที่เป็นร่มใหญ่ของกฎหมายทั้งประเทศถูกร่างขึ้นโดยมีประชาชนทุกกลุ่มเป็นหัวใจสำคัญผ่านองค์กรร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นตัวแทนของประชาชน โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญควรมีที่มาที่ยึดโยงกับประชาชนให้ได้มากที่สุด และยึดโยงกับประชาชนทุกเพศ วัย ไปจนถึงกลุ่มชาติพันธ์ุ นอกจากนี้ยังต้องมีการเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปเข้าไปมีส่วนร่วมตลอดกระบวนการร่าง และสุดท้าย สภาร่างรัฐธรรมนูญก็ต้องเป็นสภาที่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและไม่ถูกตีกรอบอำนาจ

เสรีภาพในการแสดงออก นิติธรรม สิทธิของปัจเจกบุคคล
คงที่มาตลอด 7 ปีหลังสุด

20232024คะแนนเต็ม
เสรีภาพในการแสดงออกและความเชื่อ6316
สิทธิในการสมาคมและสิทธิในสหภาพแรงงาน3612
หลักนิติธรรม5516
อิสระของเอกชนและสิทธิส่วนบุคคล101016
ตารางแสดงคะแนนด้านเสรีภาพของพลเมืองของไทยในปี 2023 และ 2024
ที่มา: Freedom House

ถึงแม้ว่าจะมีรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งที่ดูเหมือนว่าจะโปร่งใสกว่าการเลือกตั้งเมื่อปี 2019 ก็ตาม แต่คะแนนด้านเสรีภาพของประชาชนก็ยังคงที่อยู่ที่ 24-26 คะแนนมาตั้งแต่ปี 2018 โดยในปีล่าสุด คะแนนด้านนี้ของไทยอยู่ที่ 24 จาก 40 คะแนน และคงที่เช่นนี้มาตั้งแต่ปี 2022

เมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านอย่างประเทศในกลุ่มอาเซียน คะแนนด้านเสรีภาพของพลเมืองของประเทศไทยในปีล่าสุดก็อยู่อันดับที่ 6 จาก 11 ประเทศ เช่นเดียวกับคะแนนด้านสิทธิทางการเมือง โดยไทยมีคะแนนมากกว่าลาว พม่า เวียดนาม กัมพูชา และบรูไนดารุสซาลาม แต่ก็ยังน้อยกว่าสิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และติมอร์-เลสเต

คะแนนด้านเสรีภาพการของการแสดงออกและความเชื่อ เป็นส่วนหนึ่งที่ไม่เพิ่มขึ้นเลยตลอด 7 ปีที่ผ่านมา เรายังเห็นความพยายามของฝ่ายอนุรักษนิยมในการปิดกั้นความคิดที่ดูจะเป็นประเด็นอ่อนไหวโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถาบันการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นการฟ้องคดีในกรณีของ ณัฐพล ใจจริง และ รศ.ดร.กุลลดา เกษบุญชู มี้ด อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ โดยอ้างว่าวิทยานิพนธ์และหนังสือที่ตีพิมพ์จากวิทยานิพนธ์นั้นเป็นการบิดเบือนความจริงและทำให้เชื้อพระวงศ์ที่ถูกกล่าวถึงเสียหาย[3] หรือในกรณีของการสอบปากเปล่าในโรงเรียนมัธยมวัดธาตุทองที่ถูกกลุ่มประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบัน (ปภส.) เดินทางไปยื่นหนังสือให้ยกเลิกการสอบถึงโรงเรียน [4]

เสรีภาพในการชุมนุมก็เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนมากอีกตัวอย่างหนึ่ง แม้ว่าจะมีการรับรองเสรีภาพด้านการชุมนุมไว้ในรัฐธรรมนูญ[5] แต่ในความเป็นจริง การชุมนุมก็มักจะจบลงด้วยความรุนแรง การกดปราบผู้เห็นต่างทางการเมืองดูจะเป็นภารกิจหลักของรัฐบาลที่ผ่านมา แม้ว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันจะยังไม่ปรากฎว่ามีการใช้ความรุนแรงทางกายภาพกับผู้เห็นต่าง แต่ก็พบว่ามีการใช้กฎหมายมากดปราบผู้ที่ออกมาเรียกร้องทางการเมืองและยังไม่ปรากฎว่ามีการพยายามนำผู้ที่ใช้ความรุนแรงกับประชาชนในรัฐบาลก่อนหน้ามาลงโทษแต่อย่างใด

คะแนนด้านหลักนิติธรรมคงที่มาตลอด 7 ปี

หลักนิติธรรมในไทยที่ยังไม่มั่นคงก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงเสรีภาพของประชาชนในไทยที่ถูกกระทบได้ง่ายด้วยกระบวนการ(อ)ยุติธรรม

กระบวนการยุติธรรมทางอาญาในประเทศไทยยังไม่ได้รับความเชื่อมั่นจากคนในประเทศมากเท่ากฎแห่งกรรม ความบิดเบี้ยวในกระบวนการยุติธรรมจากการทำงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ไปจนถึงกระบวนการที่ถูกแทรกแซงได้ง่าย แต่ตรวจสอบได้ยาก และงานที่ล้นมือของศาล ทำให้ความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมของประชาชนในประเทศต่ำกว่าค่าเฉลี่ยความเชื่อมั่นในโลก

“บุคคลทุกคนย่อมเสมอกันต่อหน้ากฎหมาย…” เป็นสิ่งที่ถูกบัญญัติไว้รัฐธรรมนูญ[6] แต่ในความเป็นจริงแล้ว ผู้ที่มีเงินมากกว่า มียศถาบรรดาศักดิ์มากกว่า หรือแม้แต่มีความรู้มากกว่าย่อมได้เปรียบมากกว่าเมื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ตั้งแต่ชั้นสืบสวนสอบสวน ไปจนถึงเมื่ออยู่หน้าบัลลังก์ศาล

References
1 Fredom House, FREEDOM IN THE WORLD 2024, 2024.
2 เปิดสถิติ ความหลากหลายทางเพศสภาไทย 2566, Today, 1 มิถุนายน 2566.
3 ศาลแพ่งไต่สวนนัดแรกคดีทายาทกรมพระยาชัยนาทฯ ฟ้องนักวิชาการ-“ฟ้าเดียวกัน” เรียก 50 ล้าน, BBC News ไทย, 9 พฤศจิกายน 2021.
4 สพฐ. สั่งยกเลิกข้อสอบปากเปล่า ร.ร.มัธยมวัดธาตุทอง มอบเขตพื้นที่ฯ ตรวจสอบข้อเท็จจริง, มติชน ออนไลน์, 12 มีนาคม 2024.
5 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 44.
6 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 27.

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save