fbpx

‘สงครามรัสเซีย-ยูเครน’ ในมุมทูตยุโรป: 1 ปีที่สันติภาพยังคงเลือนราง

นับเป็นเวลาร่วมกว่า 14 เดือนแล้ว ที่สงครามรัสเซีย-ยูเครนยังไม่มีวี่แววที่จะสิ้นสุดลง การสู้รบทางภาคตะวันออกยืดเยื้อกินเวลายาวนานจนสงครามแปรสภาพไปสู่ ‘สงครามพร่ากำลัง’ ที่ไม่มีฝ่ายใดได้เปรียบเสียเปรียบอย่างชัดเจน และกลายเป็นโศกนาฏกรรมที่ความสูญเสียดำเนินต่อไปอย่างไม่สิ้นสุด

เมื่อสงครามและความรุนแรงกลับมาเยือนยุโรปอีกครั้งหลังจากช่วงเวลาแห่งสันติภาพดำเนินมาร่วมกว่า 70 ปี นี่คือจุดเปลี่ยนและบททดสอบสำคัญของความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของสหภาพยุโรปและบรรดาชาติยุโรปในการรับมือต่อการรุกรานของรัสเซีย

ตลอดกว่า 1 ปีที่ผ่านมา ยุโรปมองสงครามรัสเซีย-ยูเครนอย่างไร? สงครามได้เปลี่ยนยุโรปไปอย่างไรบ้าง? สงครามจะเป็นอย่างไรต่อไป? และอะไรที่จะเปิดโอกาสให้สันติภาพเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง? 101 ชวนอ่าน ‘สงครามรัสเซีย-ยูเครน’ ผ่านมุมมองของทูตสหภาพยุโรป โปแลนด์ เยอรมนี และฟินแลนด์

โศกนาฏกรรม-สงครามต่อหลักกฎหมายระหว่างประเทศ-การเดินหมากที่ผิดพลาดของรัสเซีย: สงครามรัสเซีย-ยูเครนในสายตาสหภาพยุโรป – เดวิด เดลี

เมื่อพิจารณาตลอดระยะเวลากว่า 1 ปีที่ผ่านมาของสงครามรัสเซีย-ยูเครน เดวิด เดลี (David Daly) เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย ได้สะท้อน 3 มุมมองต่อสงครามผ่านสายตาของสหภาพยุโรป

มุมมองแรก สงครามรัสเซีย-ยูเครนคือโศกนาฏกรรมแห่งมวลมนุษยชาติ (human tragedy) การรุกรานยูเครนโดยการใช้กำลังทางการทหารอย่างไม่ชอบธรรมโดยรัสเซียได้คร่าชีวิตพลเรือนหรือทำให้พลเรือนได้รับบาดเจ็บราวกว่า 18,000 คน ซึ่ง 1,150 คนในจำนวนนั้นคือเด็ก ชาวยูเครนราว 7-8 ล้านคนต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ กว่า 1.5 ล้านคนต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ ราว 18 ล้านคนต้องการความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม เด็กชาวยูเครนกว่า 6 ล้านคนไม่สามารถไปโรงเรียนได้ “นี่คือหลักฐานของอาชญากรรมสงครามอย่างชัดเจน” เดลีกล่าว พร้อมเสริมว่า สงครามที่รัสเซียก่อยังสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อทั้งยูเครนและโลก ไม่ว่าจะต่อโรงงาน โครงสร้างพื้นฐาน พื้นที่ทำเกษตร ไปจนถึงความมั่นคงทางอาหาร วิกฤตพลังงาน หรือวิกฤตค่าเงินเฟ้อ

“อย่างหนึ่งที่สรุปได้คือ ไม่มีอะไรที่จะสร้างความชอบธรรมให้แก่ชีวิตที่ต้องเสียไป ความเสียหายที่เกิดขึ้น หรือการทำลายล้างเหล่านี้ได้” เดลีกล่าว

มุมมองที่สอง ความห่างไกลของสงครามรัสเซีย-ยูเครนอาจกลายเป็น ‘กับดัก’ ที่ไม่ควรมีใครติดเข้าไป

“กับดักที่ว่านั้นคือ ความคิดที่ว่าสงครามในยูเครนเป็นอะไรที่อยู่ไกลออกไป เกิดขึ้นอยู่ในยุโรป ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับที่อื่นในโลก แต่ที่จริงแล้ว สงครามรัสเซีย-ยูเครนไม่ได้เป็นเพียงสงครามของยุโรปเท่านั้น แต่ยังโจมตีพวกเราทุกคน ทุกที่ในโลก”

เดลีอธิบายต่อว่า การใช้กำลังทางการทหารรุกรานยูเครนคือการละเมิดหลักกฎหมายระหว่างประเทศ อย่างกฎบัตรสหประชาชาติที่ให้ประกันหลักบูรณภาพทางดินแดนและหลักอธิปไตยแก่ทุกประเทศในโลกอย่างเท่าเทียม และที่สำคัญ นี่ยังเป็นระเบียบระหว่างประเทศที่ทุกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นประเทศในยุโรป แอฟริกา ลาตินอเมริกา หรือเอเชียสร้างขึ้นมาร่วมกันว่า ต้องการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศบนฐานของกฎกติกา หลักการ และการเจรจา ไม่ใช่การใช้กำลัง เพราะฉะนั้น การใช้กำลังทางการทหารจึงไม่ใช่วิถีที่เป็นที่ยอมรับได้ โดยเฉพาะในโลกทุกวันนี้ที่มีจุดปะทะ (hotspot) ความขัดแย้งหลายแห่ง รวมถึงในเอเชียด้วย

“คำถามคือ เราอยากให้การจัดการความขัดแย้งเหล่านี้ในเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นในทะเลจีนใต้ ทะเลจีนตะวันออก คาบสมุทรไต้หวัน หรือคาบสมุทรเกาหลีอยู่บนฐานของหลักการ กฎกติกา หรือพลังอำนาจทางการทหาร

“เพราะฉะนั้น แก่นของสงครามรัสเซีย-ยูเครนคือคำถามที่ว่า โลกต้องการอยู่ในระเบียบการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแบบไหนกันแน่ โดยเฉพาะเมื่อประเทศที่เป็นสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ซึ่งเป็นองค์กรเพื่อการประกันความมั่นคงและเสรีภาพโลก ตัดสินใจใช้กำลังรุกรานประเทศเพื่อนบ้าน และยังขู่ที่จะใช้อาวุธนิวเคลียร์ด้วย” เดลีกล่าว

มุมมองที่สาม สงครามรัสเซีย-ยูเครนสะท้อนว่า ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินอ่านเกมเชิงยุทธศาสตร์พลาดไปสามประการ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับสหภาพยุโรป

ประการแรก รัสเซียมองพลาดไปว่าสหภาพยุโรปจะสูญเสียความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ซึ่งไม่จริง เดลีชี้ให้เห็นว่า สหภาพยุโรปสามารถออกมาตรการคว่ำบาตรได้อย่างทันท่วงทีร่วม 9 มาตรการ เพื่อบั่นทอนสภาพเศรษฐกิจและศักยภาพในการทำสงครามของรัสเซีย ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของประชาคมระหว่างประเทศรวมกว่า 40 ประเทศ รวมแล้วมีสัดส่วน GDP กว่าครึ่งหนึ่งของโลก นอกจากนี้ สหภาพยุโรปยังสามารถสร้างกลไกใหม่ อย่างโครงการ European Peace Facility เพื่อความมั่นคงและการป้องกันในยูเครน ผ่านการสนับสนุนอาวุธยุทโธปกรณ์และการฝึกฝนทางการทหารให้แก่ยูเครน ยิ่งไปกว่านั้น สงครามรัสเซีย-ยูเครนยังเปลี่ยนให้สหภาพยุโรปที่ได้ชื่อว่าเป็น ‘คนแคระทางการทหาร’ ให้กลายเป็นตัวแสดงทางความมั่นคงที่แข็งแกร่งขึ้น อีกทั้งประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปทั้งหมด 27 ประเทศยังยอมรับให้ยูเครนเข้าสู่กระบวนการการสมัครเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป

ประการที่สอง รัสเซียมองพลาดไปว่า ประชาชนในสหภาพยุโรปจะปฏิเสธผู้ลี้ภัยจากยูเครน ซึ่งในความเป็นจริง ผู้ลี้ภัยชาวยูเครนได้รับการต้อนรับอย่างดีทั่วสหภาพยุโรป หลายประเทศในสหภาพยุโรป กระทั่งประเทศที่ห่างออกไปทางตะวันตกร่วมแบ่งเบาความรับผิดชอบในการรับผู้ลี้ภัยจากยูเครน แม้ว่าผู้รับภาระหลักจะเป็นประเทศสมาชิกที่เป็นประเทศเพื่อนบ้านยูเครนก็ตาม แต่ไม่มีประชาชนประเทศใดที่ปฏิเสธความรับผิดชอบในการรับผู้ลี้ภัย

ประการที่สาม รัสเซียมองพลาดไปว่า สหภาพยุโรปพึ่งพิงพลังงานจากรัสเซียมากเกินกว่าจะช่วยเหลือยูเครน หรือยอมให้เศรษฐกิจพังทลาย แต่ในความเป็นจริง เดลีชี้ให้เห็นว่า ธนาคารเพื่อการลงทุนของยุโรป (European Investment Bank) ได้ให้ความช่วยเหลือทางการเงินร่วม 5 หมื่นล้านยูโร เพื่อช่วยเหลืองบประมาณทางการคลัง ให้หน่วยงานต่างๆ ในประเทศ เช่น โรงพยาบาลหรือโรงเรียนดำเนินงานต่อไปได้ หรือเพื่อสนับสนุนความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมและทางการทหาร ยิ่งไปกว่านั้น การลดการพึ่งพิงพลังงานจากรัสเซียยิ่งเร่งให้สหภาพยุโรปเปลี่ยนผ่านไปใช้พลังงานทดแทนมากยิ่งขึ้น แม้ว่าจะเป็นเรื่องท้าทายอย่างมากก็ตาม

“นี่คือยุทธศาสตร์ที่ผิดพลาดของรัสเซีย เพราะสหภาพยุโรปไม่มีทางจะหันกลับไปพึ่งพิงพลังงานจากรัสเซียเหมือนก่อนสงครามเริ่ม และเป็นที่ชัดเจนว่าเศรษฐกิจยุโรปไม่ได้พังทลาย ปีที่แล้วอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นราว 3% อาจจะลดลง 1.5% ในปีที่จะถึงนี้ แต่ก็มีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะกลับมาเติบโตราว 2% ในปี 2025

“ในมุมของสหภาพยุโรป สงครามรัสเซีย-ยูเครนถือเป็นเรื่องที่น่าตระหนกมาก และทำให้เราต้องหันกลับมาคิดถึงความเป็นไปได้ในเรื่องที่ไม่น่าเป็นไปได้ เราเคยคิดว่าวันคืนที่ประเทศมหาอำนาจรุกรานประเทศเพื่อนบ้านและขยายเขตอิทธิพลได้สิ้นสุดลงแล้ว ยุโรปเคยเจ็บปวดอย่างมหาศาลจากความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเช่นนั้น เราใช้เวลากว่า 70 ปีเพื่อสร้างพื้นที่ให้ประเทศที่เคยขัดแย้งกันสามารถร่วมมือกันทางการเมืองและเศรษฐกิจได้ด้วยการเจรจา แทนที่จะทำสงคราม

“ประเทศสมาชิกสหประชาชาติต้องปฏิเสธความคิดที่ว่า การใช้กำลังทางการทหารจะทำให้บรรลุเป้าประสงค์ได้ ไม่เช่นนั้นผลกระทบที่ตามมาต่อโลกจะร้ายแรงอย่างมาก ไม่ว่าจะที่ไหนก็ตามที่มีจุดปะทะทางภูมิรัฐศาสตร์อยู่ รวมถึงในเอเชียด้วย เพราะฉะนั้น เราต้องสู้เพื่อให้ระเบียบระหว่างประเทศที่อยู่บนฐานของกติกาได้รับการเคารพ ไม่เช่นนั้น เราอาจกำลังมุ่งหน้าสู่อนาคตที่ต่างออกไปและอันตรายอย่างมาก

“สหภาพยุโรปและอีกหลายประเทศในประชาคมระหว่างประเทศต้องการเห็นชัยชนะและอธิปไตยที่สมบูรณ์ของยูเครน นั่นจะนำมาซึ่งการฟื้นฟูกฎหมายระหว่างประเทศอีกครั้ง”

สงครามรัสเซีย-ยูเครนจากมุม ‘โปแลนด์’ ประเทศหน้าด่านสงคราม – วาลเดอมาร์ ดูบันยอฟสกี

“ถ้ารัสเซียหยุดรบ สงครามจะจบ แต่ถ้ายูเครนหยุดสู้ ยูเครนจะหายไป”

ในมุมมองของ วาลเดอมาร์ ดูบันยอฟสกี (Waldemar Dubaniowski) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐโปแลนด์ประจำประเทศไทย นี่คือประโยคที่สะท้อนความมุ่งมั่นของยูเครน ความตั้งใจสหภาพยุโรป และสหรัฐฯ ในการสนับสนุนยูเครนได้ดีที่สุด อีกทั้งยังสะท้อนวิธีมองสงครามในภาพรวมว่า สงครามนั้นไม่ได้เกิดขึ้นจากความขัดแย้งจากทั้งสองฝ่าย แต่เริ่มจากความก้าวร้าวของรัสเซียที่ตัดสินใจรุกรานยูเครนก่อน

“ตลอดกว่า 1 ปีที่ผ่านมา ยูเครนคือหลักในการต่อสู้เพื่อระเบียบระหว่างประเทศที่อยู่บนฐานของกติกา ซึ่งแน่นอนว่าได้รับการสนับสนุนในหลากหลายรูปแบบจากประชาคมระหว่างประเทศ

“เราจะไม่ยอมให้ยูเครนหายไป เพราะไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นโดมิโนเอฟเฟกต์ในระดับโลก เพราะการใช้กำลังได้กลายเป็นทางเลือกที่เป็นไปได้ สั่นคลอนความมั่นคงและเสถียรภาพโลก เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภัยนิวเคลียร์และสงครามโลกครั้งที่สาม… ผมไม่ได้พูดเกินจริงนะ นี่เป็นสถานการณ์ที่ร้ายแรงมากจริงๆ”

อย่างไรก็ตาม ดูบันยอฟสกีมองว่า ตลอดกว่า 1 ปีที่ผ่านมา ยังไม่มีท่าทีที่เราจะได้เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ เพราะรัสเซียยังไม่มีทีท่าที่จะหลุดออกจากความคิดหลุดโลกในการรุกรานประเทศเพื่อนบ้าน

“ทุกอย่างที่ปูตินตันสินใจลงมือไปในสงครามมันบ่งบอกว่า เขาต้องการให้ความรุนแรงดำเนินต่อไป และต้องการแสดงว่ากำลังคืออำนาจ ซึ่งเป็นการประเมินที่ผิดมหันต์ ผมคิดว่าการสังหารหมู่ที่เมืองบูชา หรือการใช้ยุทธศาสตร์มุ่งโจมตีสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานพลเรือนสะท้อนชัดเจนแล้วว่า การรุกรานของรัสเซียป่าเถื่อนขนาดไหน ซึ่งเป็นเรื่องยากที่จะจินตนาการมากว่าอาชญากรรมสงครามจะเกิดขึ้นอีกในศตวรรษที่ 21”

ในฐานะประเทศเพื่อนบ้านหน้าด่านที่อยู่ใกล้สงครามที่สุดและมีประวัติศาสตร์บาดแผลกับรัสเซีย ดูบันยอฟสกีกล่าวว่า โปแลนด์เป็นประเทศแรกๆ ที่สนับสนุนยูเครนอย่างเต็มที่ โดยเปิดประเทศรับผู้ลี้ภัยสงครามจากยูเครนราวกว่า 3,000,000 คน เพิ่มงบประมาณกลาโหมเป็นกว่า 3% ของ GDP และให้ความสนับสนุนทางการทหาร ไม่ว่าจะเป็นการส่งรถถัง ปืนใหญ่ กระสุนปืนไปยังสนามรบ โน้มน้าวประเทศต่างๆ ในยุโรปให้ส่งอาวุธเสริมกำลังรบให้ยูเครน รวมทั้งเตือนพันธมิตรในยุโรปตั้งแต่ก่อนสงครามเริ่มเปิดฉากว่า โครงการท่อแก๊ส Nord Stream 2 จะกลายเป็นเครื่องมือในการสร้างอำนาจต่อรองของรัสเซียได้ด้วยการตัดการส่งแก๊สธรรมชาติและน้ำมันมายังยุโรป

กระนั้น ดูบันยอฟสกีมองว่าเรายังพอมีความหวังได้บ้างจากความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในประชาคมระหว่างประเทศ โดยเฉพาะระหว่างประเทศพันธมิตรอย่างสหภาพยุโรปและชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ เห็นได้จากการที่ทั้งสองอำนาจเป็นผู้บริจาคความช่วยเหลือแก่ยูเครนมากเป็นอันดับต้นๆ

“ขอเสริมว่าอีกอย่างที่รัสเซียประเมินพลาดไปคือ สหภาพยุโรปและสหรัฐฯ จะเห็นไม่ตรงกันว่าจะรับมือกับสงครามอย่างไร แต่ไม่ใช่เลย พันธมิตรระหว่างสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปกลับแนบแน่นกว่าเดิม เราเห็นตรงกันว่าต้องให้ความสำคัญกับการให้ความช่วยเหลือแก่ยูเครนเป็นอันดับแรกๆ”

ในการร่วมต่อสู้กับยูเครน ดูบันยอฟสกีมองว่า ไม่ใช่แค่สหรัฐฯ หรือสหภาพยุโรปเท่านั้น แต่ประชาคมระหว่างประเทศทั่วโลกต้องร่วมมือกันคว่ำบาตรและโดดเดี่ยวรัสเซียเพื่อสร้างแรงกดดันให้แก่ระบอบปูติน

“เป้าหมายของการคว่ำบาตรไม่ได้แค่มุ่งเป้าไปที่บรรดานายพลหรือกลุ่มนายทุนที่รายล้อมปูตินอยู่เท่านั้น แต่ต้องมุ่งให้ได้ผลทั่วทั้งสังคมรัสเซีย เพื่อให้ความยากลำบากทางเศรษฐกิจที่ประชาชนคนธรรมดาต้องเผชิญกลายเป็นแรงกดดันต่อระบอบปูตินทั้งหมด”

Zeitenwende: ‘จุดเปลี่ยน’ ของเยอรมนีเมื่อสงครามมาเยือนยุโรปอีกครั้ง – เกออร์ก ชมิดท์

ปฏิเสธไม่ได้ว่าสงครามรัสเซีย-ยูเครนได้กลายเป็น ‘จุดเปลี่ยน’ (Zeitenwende) ของนโยบายการต่างประเทศของมหาอำนาจภาคพื้นทวีปยุโรปอย่างเยอรมนี และพาการต่างประเทศของเยอรมนีเข้าสู่ยุคสมัยใหม่

เกออร์ก ชมิดท์ (George Schmidt) เอกอัครราชทูตเยอรมันประจำประเทศไทย อธิบาย Zeitenwende ว่า คือการตระหนักว่าเยอรมนีต้องลงงบประมาณด้านความมั่นคงและการป้องกันมากขึ้น และล้มเหลวในการใช้การค้าและพลังงานเพื่อสานสัมพันธ์กับรัสเซีย – นั่นนำไปสู่การปรับงบประมาณทางการทหารให้มีสัดส่วนถึง 2% ของ GDP ตามเป้าที่นาโตกำหนด

“เราตระหนักว่าเราต้องมีอำนาจทางการทหารมากกว่านี้ ก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเพราะประวัติศาสตร์บาดแผล หรือว่าเพราะเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่นักการเมืองจะจัดสรรงบประมาณไปลงกับโครงสร้างพื้นฐาน การศึกษา หรือที่อยู่อาศัยก็ตาม เราไม่ได้ลงงบประมาณด้านการป้องกันมากเพียงพอ และเราเชื่ออย่างมากว่า การเชื่อมสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจร่วมกับรัสเซียจะช่วยลดโอกาสที่จะเกิดความขัดแย้งรุนแรงหรืองสงคราม แต่เราก็ต้องผิดหวังอย่างมาก”

ชมิดท์เล่าต่อว่า การประกาศบุกโจมตียูเครนโดยรัสเซียได้นำไปสู่การถกเถียงว่านโยบายของเยอรมนีต่อรัสเซียตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมานั้นโอนอ่อนหรือแข็งกร้าวต่อรัสเซียเกินไป

ฝ่ายที่วิพากษ์ว่าเยอรมนีโอนอ่อนต่อรัสเซียมากเกินไปคือโปแลนด์และกลุ่มประเทศบอลติก โดยมองว่าเยอรมนีไร้เดียงสาและประเมินความก้าวร้าวของจักรวรรดินิยมรัสเซียต่ำไป ยอมอ่อนให้รัสเซียเพื่อจุดประสงค์ทางเศรษฐกิจเกินไป อย่างที่เห็นในกรณีโครงการก่อแก๊ส Nord Stream 2 ซึ่งเป็นประเด็นเสียงแตกในบรรดาประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป

ส่วนอีกฝ่ายที่มองว่าเยอรมนีแข็งกร้าวต่อรัสเซียเกินไปนั้น เป็นข้อวิพากษ์ที่พูดกันค่อนข้างมากในเยอรมนี โดยมองว่า โลกตะวันตกไม่ควรไปยั่วยุหมีขาว ปูตินเคยส่งสัญญาณหลายระลอกก่อนหน้านี้แล้วว่า นาโตต้องหยุดขยายเขตอิทธิพลไปทางตะวันออกประชิดเขตอิทธิพลของรัสเซียอย่างที่เคยกล่าวที่ Munich Security Conference ในปี 2007 และการผนวกแหลมไครเมียในปี 2014 การสนับสนุนขบวนการแบ่งแยกดินแดนในภูมิภาคดอนบาส ตลอดจนการตัดสินใจบุกโจมตียูเครนเมื่อต้นปี 2022 ก็คือผลของการ ‘แหย่’ หมีขาว

“แต่ส่วนตัว ผมมองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นพิสูจน์แล้วว่าข้อวิพากษ์ของโปแลนด์ตรงกับความเป็นจริงมากกว่า ลองย้อนดูเหตุการณ์ในยูเครน จะเห็นว่าสถานการณ์เริ่มแย่ลงเรื่อยๆ หลังจากที่คนยูเครนตัดสินใจว่าอยากให้ประเทศหันหาสหภาพยุโรปในทางเศรษฐกิจมากขึ้น

“ถ้าคุณบอกว่ารัสเซียบุกยูเครนเพราะถูกยั่วยุ นั่นหมายความว่าคุณกำลังบอกว่ายูเครนไม่มีสิทธิตัดสินใจในฐานะชาติอธิปไตยว่าต้องการจะให้ประเทศหันหายุโรปมากกว่าอยู่ภายใต้โลกรัสเซีย

“หรือในกรณีการขยายตัวของนาโต มันไม่ใช่ว่าวอชิงตันจู่ๆ คิดอยากจะขยายประเทศสมาชิกนาโตไปทางตะวันออก แต่นั่นเป็นเพราะกลุ่มประเทศบอลติก ยุโรปกลาง ยุโรปตะวันออก หรือฟินแลนด์ต้องการอยู่ในระบบป้องกันร่วม

“ประเทศเหล่านี้รู้ดีและผ่านประสบการณ์ถูกจักวรรดินิยมรัสเซียคุกคามมาก่อน จอร์เจียก็เหมือนกัน อย่างตอนที่รัสเซียส่งกองทัพเข้าไปบุกกรุงทบิลีซี เพราะฉะนั้น ก็ชอบธรรมที่ประเทศเหล่านี้ไม่เชื่อใจรัสเซีย กลัวรัสเซีย และต้องการการป้องกัน”

ในอีกแง่หนึ่ง Zeitenwende ยังสะท้อนว่า ภัยนิวเคลียร์ส่งผลให้สงครามครั้งนี้ต่างออกไปจากสงครามครั้งอื่นและมีส่วนทำให้สงครามครั้งนี้เป็นสงครามระดับโลก เพราะเมื่อประเทศที่ก่อสงครามเป็นชาติมหาอำนาจนิวเคลียร์ ขู่ที่จะใช้อาวุธนิวเคลียร์ต่อทั้งยูเครน โปแลนด์ สหรัฐฯ ฝรั่งเศส หรือสหราชอาณาจักร และมีสื่อในประเทศโหมกระแสให้ใช้อาวุธนิวเคลียร์ นั่นหมายความว่าวิธีที่ประเทศอื่นๆ จะป้องปรามการใช้อาวุธนิวเคลียร์ของรัสเซียและสร้างความปลอดภัยให้แก่ประเทศได้คือ การถือครองอาวุธนิวเคลียร์เช่นกัน “ถามว่าแบบนี้โลกจะปลอดภัยขึ้นไหม ผมว่าต้องตั้งคำถามหนักๆ เลย”

อนาคตของสงครามจะเป็นอย่างไรต่อไป? ชมิดท์มองว่า เป็นเรื่องยากที่จะคาดเดา แต่หากวิเคราะห์ฝ่ายรัสเซีย จะเห็นว่าในทางการทหาร รัสเซียยังคงมีทรัพยากรในการรบอยู่มาก ไม่ว่าจะเป็นยุทโธปกรณ์ กองเรือ เครื่องบินรบ หรือกระทั่งอาวุธนิวเคลียร์ ส่วนในทางเศรษฐกิจ เศรษฐกิจรัสเซียเสียหายจากมาตรการคว่ำบาตรก็จริง แต่ก็ยังไม่ล่มสลายและยากที่จะล่มสลายในเร็วๆ นี้ เพราะหากดูเศรษฐกิจของประเทศที่ถูกคว่ำบาตรมาเป็นเวลานานอย่างเกาหลีเหนือ หรือแอฟริกาใต้ในยุคแบ่งแยกสีผิว จะเห็นว่าเศรษฐกิจก็ยังคงอยู่รอดมาได้

อีกประเด็นหนึ่งที่ชมิดท์ตั้งข้อสังเกตคือ แม้ว่าจะมีหลายประเทศที่แสดงความเห็นอกเห็นใจต่อยูเครน แต่มีไม่หลายประเทศนักที่จะสนับสนุนยูเครนอย่างเต็มที่

“หากยูเครนไม่ได้รับการสนับสนุนจากเรา สหภาพยุโรป โปแลนด์ สหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ สถานการณ์คงต่างไปจากที่เป็นอยู่ตอนนี้มาก ทรัพยากรในการรบของกองทัพยูเครนตึงมืออย่างมาก ยูเครนต้องเผชิญสภาพเศรษฐกิจที่ท้าทายอย่างมากจากการที่โครงสร้างพื้นฐานถูกโจมตี รวมทั้งยังมีประชากรจำนวนมากที่ตัดสินใจลี้ภัยออกนอกประเทศ

“เพราะฉะนั้น ความช่วยเหลือจากประชาคมระหว่างประเทศจะช่วยให้ยูเครนต่อสู้ต่อไปได้ การช่วยเหลือในแง่หนึ่งก็เป็นกำลังใจเหมือนกัน”

ส่วนการเจรจาสันติภาพที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ชมิดท์มองว่า หากจะบรรลุซึ่งสันติภาพอย่างแท้จริงได้ การเจรจาและข้อเสนอต้องอยู่วางอยู่บนหลักอธิปไตยและบูรณภาพทางดินแดน และแน่นอนว่าการบุกโจมตีประเทศเพื่อนบ้านและผนวกดินแดนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประเทศตนเองนั้นปราศจากความชอบธรรม

“สันติภาพที่ไม่ได้มีฐานมาจากกฎหมายระหว่างประเทศ ย่อมไม่ใช่สันติภาพที่เป็นธรรมและยืนยาว เรามีความหวังว่าสันติภาพจะมาถึง แต่สันติภาพจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อไม่ได้ใช้กำลังทางการทหารเพื่อให้ได้มาซึ่งสันติภาพ เราจะยังเปิดช่องทางทางการทูต พยายามหาทางเจรจากับรัสเซีย เราจะพยายามเพื่อให้สันติภาพเป็นสิ่งที่เป็นไปได้”

จาก Neutrality สู่ NATO: ฟินแลนด์ในสงครามรัสเซีย-ยูเครน – ยูริ ยาร์วียาโฮ

นับตั้งแต่รัสเซียประกาศบุกโจมตียูเครน ฟินแลนด์ถือเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ได้รับแรงสั่นสะเทือนจากสงครามไม่น้อยในฐานะประเทศที่มีพรมแดนติดกับรัสเซีย

ยูริ ยาร์วียาโฮ (Jyri Järviaho) เอกอัครราชทูตแห่งสาธารณรัฐฟินแลนด์ประจำประเทศไทย อธิบายว่า จุดเปลี่ยนสำคัญทางการต่างประเทศของฟินแลนด์มีอยู่ 2 ครั้งด้วยกัน ครั้งแรกคือการล่มสลายลงของสหภาพโซเวียตในปี 1991 ส่วนครั้งที่สอง แน่นอนว่าคือสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งส่งผลให้ฟินแลนด์ตัดสินใจละทิ้งความเป็นกลางทาง (neutrality) และสมัครเข้าเป็นสมาชิกนาโตพร้อมสวีเดน (ฟินแลนด์เข้าเป็นสมาชิกนาโตอย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2023 และมีการคาดการณ์ว่า นาโตจะรับสวีเดนเข้าเป็นสมาชิกอย่างเป็นทางการในการประชุมผู้นำนาโตในเดือนกรกฎาคม ณ กรุงวิลนีอัส ประเทศลิทัวเนีย)

หลังสหภาพโซเวียตล่มสลายในปี 1991 และมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสถาปัตยกรรมทางการเมืองและความมั่นคงในยุโรป นั่นคือช่วงเวลาที่เปิดให้ประเทศยุโรปตะวันออกตัดสินใจว่าจะเข้าร่วมสหภาพยุโรปและนาโตหรือไม่ ยาร์วียาโฮ เล่าว่า ณ เวลานั้น ฟินแลนด์ตัดสินใจเข้าร่วมเพียงแค่สหภาพยุโรปเท่านั้น และตัดสินใจวางตัวเป็นกลางทางการทหาร ไม่ได้ตัดสินใจเข้าร่วมนาโตเหมือนอีกหลายๆ ประเทศ เช่น โปแลนด์หรือกลุ่มประเทศบอลติก

“แน่นอนว่าในทศวรรษที่ 1990 เราไม่มีทางรู้ว่ารัสเซียจะเปลี่ยนไปเป็นประเทศแบบไหนเมื่อเวลาผ่านไป ตอนนั้นเรามองว่าเราอาจจะสร้างความสัมพันธ์ สร้างความร่วมมือกับรัสเซียได้ และรัสเซียอาจจะเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นประเทศเสรีประชาธิปไตยสำเร็จก็ได้ แต่สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นยูเครนพิสูจน์แล้วว่าเราคิดผิดไป คิดแบบไร้เดียงสาเกินไป

“ฟินแลนด์มีโอกาสสมัครเข้าเป็นสมาชิกนาโต แต่ตอนนั้นเราประเมินว่าจะไม่เข้าร่วม อย่างไรก็ตาม ชัดเจนว่าเราตัดสินใจเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป และเราเป็นส่วนหนึ่งของโลกตะวันตก”

เมื่อสงครามรัสเซีย-ยูเครนปะทุขึ้น ยาร์วียาโฮเล่ามุมมองของฟินแลนด์ต่อสงครามว่า ยูเครนมีสิทธิที่จะปกป้องประเทศตน ซึ่งเป็นสิทธิที่ได้รับการรับรองในกฎบัตรสหประชาชาติ และทุกประเทศสมาชิกสหประชาชาติมีข้อผูกมัดทางศีลธรรมที่ต้องสนับสนุนหลักอธิปไตยและเอกราชของยูเครน

“ไม่เพียงแค่ว่ามีหลายชีวิตที่ต้องเสียไปจากสงคราม แต่คนยูเครนยังคงต่อสู้เพื่อปกป้องเอกราช หลักอธิปไตย ประชาธิปไตย และความมั่นคงในยุโรป ความกล้าหาญของชาวยูเครนเป็นสิ่งที่น่ายกย่องมาก และควรได้รับการสนับสนุน” ซึ่งฟินแลนด์เป็นหนึ่งในประเทศที่ให้ทั้งความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมและอาวุธยุทโธปกรณ์แก่ยูเครนราวกว่า 760 ล้านยูโร

แต่ยิ่งไปกว่านั้น สงครามส่งผลให้ฟินแลนด์ต้องเผชิญกับจุดเปลี่ยนทางการเมืองและความมั่นคงอีกครั้งหนึ่ง นั่นคือการตัดสินใจสมัครเข้าเป็นสมาชิกนาโต แม้ว่าในระยะแรกก่อนสงครามเริ่ม จะมีชาวฟินนิชราว 25-28% เท่านั้นที่สนับสนุนให้ฟินแลนด์เป็นสมาชิกนาโต แต่เมื่อสงครามผ่านไปกว่า 1 ปี เสียงสนับสนุนเพิ่มขึ้นมากถึง 80% และยาร์วียาโฮคาดว่า อาชญากรรมสงครามอันโหดร้ายโดยรัสเซียจะยิ่งเพิ่มเสียงสนับสนุนของชาวฟินนิชให้มากยิ่งขึ้นอีก

“แน่นอนว่าในประวัติศาสตร์ เราเคยมีประสบการณทำสงครามกับสหภาพโซเวียต ในปี 1939 สหโซเวียตบุกโจมตีเรา ตอนนั้นเราไม่ได้เป็นพันธมิตรทางการทหารกับประเทศไหน เราเลยรู้ว่าการเป็นประเทศเล็กๆ ที่ต้องต่อกรกับความก้าวร้าวของรัสเซียนั้นเป็นเรื่องที่ยากแค่ไหน

“เพราะฉะนั้นเราเลยรู้สึกเป็นน้ำหนึ่งในใจเดียวกับยูเครน และเข้าใจดีว่า เราไม่มีทางเอาชนะรัสเซียได้ด้วยตัวคนเดียวอย่างแน่นอน โดยเฉพาะเมื่อเราไม่ได้ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์”

ยาร์วียาโฮ อธิบายต่อว่า สาเหตุที่ฟินแลนด์ตัดสินใจเข้าร่วมเป็นสมาชิกนาโต เพราะตระหนักว่าสงครามรัสเซีย-ยูเครนได้เปลี่ยนโลกไปอย่างฉับพลัน โดยเฉพาะเมื่อมีประเทศที่ละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ ยอมเพิ่มความเสี่ยงทางการทหาร ทางการเมือง และทางเศรษฐกิจเพื่อบรรลุเป้าหมาย มีศักยภาพในการใช้กำลังกดดันรุกรานประเทศเพื่อนบ้าน และก่ออาชญากรรมสงครามอันโหดร้ายต่อพลเรือน อีกทั้งยังมีพรมแดนติดฟินแลนด์ยาวกว่า 1,300 กิโลเมตร

นอกจากนั้น ในหลักนโยบายความมั่นคงของฟินแลนด์ ยังมี ‘NATO option’ ระบุไว้เพื่อให้ฟินแลนด์มีทางเลือกนโยบายความมั่นคงในกรณีที่สภาพแวดล้อมความมั่นคงระหว่างประเทศเปลี่ยนแปลงไป

“หนึ่งในข้อเรียกร้องของรัสเซียต่อยูเครนและโลกตะวันตกคือ ต้องไม่ให้นาโตขยายเขตอิทธิพลไปทางตะวันออก แต่นี่สะท้อนว่าการเข้าร่วมนาโตเป็นการเลือกของชาติอธิปไตยที่มีสิทธิตัดสินใจเลือกเส้นทางของประเทศตนเอง

“การสมัครเข้าเป็นสมาชิกนาโตของฟินแลนด์ถือเป็นการตอบโต้รัสเซียที่พยายามบั่นทอนระบบความมั่นคงร่วมในยุโรปเพื่อสร้างเขตอิทธิพลของตนเองขึ้นมา ซึ่งทำให้ประเทศเพื่อนบ้านต่างวิตกกังวล”

ท้ายที่สุด ยาร์วียาโฮมองว่า การที่ยูเครนเอาใจออกห่างรัสเซียและหันไปหายุโรปและโลกตะวันตกแทนนั้นเป็นเพราะรัสเซียไม่ได้พัฒนาเศรษฐกิจเท่าที่ควร และการใช้กำลังทางการทหารไม่ใช่เครื่องมือที่จะเปลี่ยนใจยูเครนได้ และไม่ใช่สิ่งที่ยอมรับได้ในศตวรรษที่ 21

“อย่างไรก็ตาม ในอนาคตผมเชื่อว่ารัสเซียที่มีเสถียรภาพ และพัฒนาแล้วในทางเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรมจนสามารถบูรณาการกับเศรษฐกิจโลกได้และดำเนินความสัมพันธ์กับนานาประเทศอย่างสันติได้ จะเป็นผลประโยชน์ร่วมของฟินแลนด์และทุกฝ่าย

“แต่ ณ จุดนี้ ความไว้เนื้อเชื่อใจต่อรัสเซียได้หมดสิ้นลงไปแล้ว คำถามคือ เราจะเริ่มต้นเจรจาสันติภาพได้อย่างไรในเมื่อหมดความไว้เนื้อเชื่อใจต่อกันไปแล้ว เราได้แต่หวังว่าในช่วงเวลาที่มืดมดเช่นนี้ สุดท้ายแล้ว ณ ปลายทางจะต้องมีการเจรจาเกิดขึ้น และสันติภาพจะต้องบังเกิดแก่ยูเครน”


หมายเหตุ  – เรียบเรียงบางส่วนจากงานเสวนาAmbassadors’ Talk: One Year in Ruins – The Russo-Ukrainian War and Prospects of Peace?” จัดโดย ศูนย์ยุโรปศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันอังคารที่ 21 กุมภาพันธ์ 2023

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save