fbpx

นโยบายต่างประเทศแบบ ‘ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด’ ของอินเดียในวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน

วิกฤตความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนนั้นถือว่ามีความสำคัญอย่างมากต่อระเบียบโลก รวมไปถึงภาพรวมของภูมิรัฐศาสตร์และภูมิศาสตร์เศรษฐกิจ ความขัดแย้งที่กินเวลามาอย่างยาวนานจึงส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อหลากหลายประเทศทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นราคาพลังงาน ไปจนถึงราคาอาหารที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญหลังจากรัสเซียตัดสินใจบุกยูเครนนับตั้งแต่ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แน่นอนว่าการกระทำของรัสเซียลายเป็นวาระระดับโลกที่ถูกหยิบขึ้นมาถกเถียงในเวทีสหประชาชาติหลายครั้ง ครั้งล่าสุดก็คือการลงมติประณามการผนวกดินแดนทางภาคตะวันออกในยูเครนในที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2022 น่าสนใจว่ามีอย่างน้อย 35 ประเทศที่ตัดสินใจงดออกเสียง และหนึ่งในนั้นคือ ‘อินเดีย’

ตลอดช่วงวิกฤตที่ผ่านมา อินเดียตัดสินใจยืนกราน ‘งดออกเสียง’ ต่อกรณีรัสเซีย-ยูเครนมาโดยตลอด นักวิเคราะห์บางส่วนมองว่าอินเดียตัดสินใจเลือกข้างรัสเซีย แต่นั่นอาจเป็นการมองที่ง่ายจนเกินไป เพราะถึงแม้ว่าอินเดียจะตัดสินใจงดออกเสียง แต่คำอธิบายของอินเดียมักมาพร้อมการเรียกร้องให้รัสเซียยุติการรุกรานเสมอ

ลักษณะเช่นนี้เป็นเอกลักษณ์หนึ่งด้านนโยบายต่างประเทศของอินเดียที่ยังคงต้องการสร้างและรักษาสมดุลระหว่างมหาอำนาจ รวมถึงชาติพันธมิตรอื่นๆ ที่ยังคงสำคัญต่ออินเดีย ไม่ว่าจะเป็นรัสเซีย สหรัฐอเมริกา หรือแม้กระทั่งยุโรปภายใต้ความขัดแย้งนี้ เพราะเอาเข้าจริงแล้ว ปัญหานี้ไกลตัวอินเดียอยู่พอสมควร ครั้งนี้จึงอยากชวนวิเคราะห์จุดยืนและยุทธศาสตร์ใหญ่ด้านการต่างประเทศอินเดียผ่านวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน

เข้าใจสายสัมพันธ์อินเดีย-รัสเซีย

ก่อนทำความเข้าใจยุทธศาสตร์การต่างประเทศอินเดียเหนือวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน เราจำเป็นต้องทำความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียและรัสเซีย ซึ่งมีสายสัมพันธ์กันมาอย่างยาวนานนับตั้งแต่อินเดียได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี 1947 และรัสเซียยังมีสถานะเป็นสหภาพโซเวียต ทั้งสองประเทศมีสายสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดนับแต่เริ่มตั้งไข่ ด้วยเวลานั้นอินเดียให้ความสนใจอย่างมากต่อแนวทางการพัฒนาประเทศแบบสังคมนิยม แม้อินเดียจะยืนกรานในหลักการประชาธิปไตยก็ตาม ลักษณะเช่นนี้ส่งผลให้อินเดียมีการถอดบทเรียนและแลกเปลี่ยนผู้นำระดับสูงจำนวนมากกับสหภาพโซเวียต แบะทำให้ทั้งสองประเทศมีความใกล้ชิดกันค่อนข้างมาก

ยิ่งไปกว่านั้น แม้ว่าอินเดียจะเป็นแกนนำสำคัญของ ‘กลุ่มเคลื่อนไหวไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด’ (Non-alignment movement) ในช่วงสงครามเย็น เพื่อพยายามรักษาสมดุลกับมหาอำนาจทั้งสองของโลก ในขณะเดียวกันก็พยายามปลีกตัวเองออกจากปัญหาความขัดแย้งในระบบระหว่างประเทศเพื่อมุ่งแก้ไขปัญหาภายในประเทศ แต่หลายครั้งอินเดีย (โดยเฉพาะในสมัยอินทิรา คานธี) ก็สร้างความร่วมมือจำนวนมากกับสหภาพโซเวียตโดยเฉพาะในด้านความมั่นคงและการทหาร ยิ่งในช่วงสงครามปลดแอกบังคลาเทศให้เป็น
เอกราชด้วยแล้ว อินเดียและสหภาพโซเวียตมีการลงนามสนธิสัญญาสันติภาพและพันธมิตรร่วมกัน ทำให้ทั้งสองประเทศใกล้ชิดกันมากขึ้น

มรดกทางด้านความร่วมมือทั้งในมิติความมั่นคงและการต่างประเทศในยุคสงครามเย็นได้ส่งต่อมายังในยุคหลังสงครามเย็นด้วย ความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียและรัสเซียไม่เคยหยุดชะงัก ยิ่งในด้านการทหารด้วยแล้ว รัสเซียยังคงเป็นประเทศเบอร์ 1 ที่อินเดียนำเข้ายุทโธปกรณ์มาใช้ แม้ว่าตัวเลขสัดส่วนการนำเข้าจะลดลงจากอดีตมาก เนื่องจากอินเดียสามารถผลิตอาวุธบางส่วนได้เอง รวมถึงกระจายการจัดซื้อไปยังประเทศอื่นๆ แต่รัสเซียก็ยังมีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมความมั่นคงของอินเดียอยู่

เช่นเดียวกันในด้านการต่างประเทศ รัสเซียถือเป็นชาติหนึ่งที่ให้การสนับสนุนอินเดียในเวทีโลกหลายครั้ง ทั้งยังส่งเสริมให้อินเดียมีบทบาทมากยิ่งขึ้นทั้งในภูมิภาคเอเชียและโลกด้วย ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้การที่อินเดียจะตัดสินใจประณามรัสเซีย หรือโหวตเห็นชอบตามมติของโลกตะวันตกและสหรัฐอเมริกานั้นเป็นไปได้ค่อนข้างยาก แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าการตัดสินใจ ‘งดออกเสียง’ ของอินเดียเป็นการเลือกข้างรัสเซียหรือแม้กระทั่งกดดัน เพราะท้ายที่สุดแล้วการตัดสินใจของอินเดียนั้นมาจากฐานสำคัญของยุทธศาสตร์การต่างประเทศแบบ ‘ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด’

ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ≠ วางตัวเป็นกลางหรือนิ่งเฉย

ยุทธศาสตร์การต่างประเทศของอินเดียแบบไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ถือเป็นฐานรากและแบบแผนสำคัญของอินเดียมายาวนาน แม้นักวิเคราะห์บางส่วนมองว่าแนวคิดนี้ได้ปรับเปลี่ยนหรือไม่สามารถอธิบายนโยบายต่างประเทศและความมั่นคงของอินเดียในยุคปัจจุบันได้แล้ว แต่น่าสนใจว่านักวิเคราะห์อินเดียหลายคนกลับมองตรงกันข้าม และยังเห็นว่ากลิ่นไอของแนวคิดไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดยังสามารถพบได้ในเกือบทุกกรณีการตัดสินใจสำคัญทางด้านการต่างประเทศของอินเดีย รวมถึงกรณีความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครนด้วย

ทั้งนี้อาจต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า ‘ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด’ ในความหมายทางด้านการต่างประเทศของอินเดียไม่ได้หมายถึงการวางตัวเป็นกลางหรือนิ่งเฉยในทุกกรณี เพราะความหมายของการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดที่แท้จริงดูจะไปคนละทางกับการวางตัวเป็นกลาง ยุทธศาสตร์ดังกล่าวคือความพยายามในการรักษาผลประโยชน์สูงสุดแห่งชาติท่ามกลางการรักษาพันธมิตรและป้องปรามภัยคุกคามที่จะทำลายผลประโยชน์แห่งชาติ ฉะนั้น ‘ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด’ จึงไม่ได้หมายถึงการไม่ยุ่งกับคนอื่น หรือไม่ใกล้ชิดกับมหาอำนาจเลย แต่หมายถึงการพยายามรักษาระยะความสัมพันธ์กับชาติอื่นๆ และมหาอำนาจตามบริบทและภูมิรัฐศาสตร์ที่เปลี่ยนแปลงไป

ฉะนั้นในช่วงสงครามเย็นตลอดจนถึงปัจจุบัน อินเดียปรับเปลี่ยนท่าทีในการเข้าหามหาอำนาจอย่างต่อเนื่อง เช่นการเข้าหาสหรัฐอเมริกาในช่วงสงครามกับจีนในปี 1962 หรือการทำความร่วมมือกับสหภาพโซเวียตในสงครามปลดแอกบังคลาเทศในปี 1971 เป็นต้น ฉะนั้นการที่อินเดียดูเหมือนจะใกล้ชิดกับสหรัฐอเมริกาในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาไม่ได้หมายความว่าอินเดียจะเลือกข้างสหรัฐอเมริกา แต่มันก็เป็นไปเพื่อการดึงสหรัฐอเมริกามาคัดง้างกับ ‘จีน’ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในภัยสำคัญทั้งทางด้านความมั่นคงและการต่างประเทศของอินเดียในภูมิภาค

ในกรณีของรัสเซีย-ยูเครนเองก็เช่นกัน การตัดสินใจของอินเดียต่อกรณีดังกล่าวเป็นความพยายามในการรักษาดุลระหว่างสหรัฐอเมริกา รัสเซีย และชาติยุโรป เพราะอินเดียยังคงต้องการประเทศเหล่านี้ในการช่วยอินเดียสร้างสมดุลกับจีน แม้ว่ารัสเซียจะสำคัญกับอินเดียน้อยลงเรื่อยๆ แต่นั่นไม่ได้หมายความรัสเซียไม่สำคัญกับอินเดียเลย เพราะการปล่อยให้รัสเซียไปใกล้ชิดกับจีนมากขึ้น หรือการที่อินเดียเดินหมากเข้าข้างชาติตะวันตกและละทิ้งรัสเซีย จะยิ่งส่งผลกระทบต่อสถานะของอินเดียในภูมิภาคเอเชียที่วันนี้จีนกำลังขยายอิทธิพลอย่างต่อเนื่อง

ฉะนั้นการตัดสินใจ ‘งดออกเสียง’ ของอินเดียในวันนี้ที่ดูจะสวนทางกับหลักบูรณภาพแห่งดินแดนนั้นเป็นผลสำคัญมาจากรากฐานใหญ่ของนโยบายต่างประเทศที่ยังคงมุ้งเน้นไปที่ผลประโยชน์แห่งชาติเป็นสำคัญ ยิ่งไปกว่านั้นคือ การมองภาพรวมความมั่นคงแห่งชาติที่ จีนเป็นตัวแปรสำคัญ ดังนั้นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการตัดสินใจของอินเดียต่อความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนจึงอยู่ที่การขัดขวางไม่ให้จีนได้รับผลประโยชน์จากกรณีนี้มากจนส่งผลเสียต่ออินเดีย

‘จีน’ ตัวแปรสำคัญต่อการตัดสินใจของอินเดียต่อกรณีรัสเซีย-ยูเครน

มีนักวิเคราะห์จำนวนมากมองตรงกันว่าความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนในรอบนี้ นอกจากสหรัฐอเมริกาที่ได้รับผลประโยชน์จากการสร้างความร่วมมือที่แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้นกับชาติยุโรปแล้ว จีนเองก็ได้รับผลประโยชน์จากความขัดแย้งนี้เช่นกัน โดยเฉพาะการขยายอิทธิพลเข้าไปในภูมิภาคเอเชียกลางที่เปรียบเสมือนหลังบ้านของรัสเซีย ไปจนถึงการสร้างพันธมิตรกับบรรดาชาติที่ไม่เอาด้วยกับระบอบแบบสหรัฐอเมริกา ฉะนั้นภายใต้หน้าฉากความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ‘ตาอยู่’ อย่างสหรัฐอเมริกาและจีนต่างก็กำลังเก็บเกี่ยวผลประโยชน์อยู่รอบนอก

ตรงกันข้ามกับอินเดียที่ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนในรอบนี้ส่งผลให้ทางเลือกทางด้านการต่างประเทศและความมั่นคงของอินเดียลดน้อยลงอย่างมากเมื่อเทียบกับก่อนเกิดความขัดแย้ง เพราะอินเดียจำเป็นต้องอาศัยแสนยานุภาพทางทะเลของสหรัฐอเมริกาและชาติยุโรปในการป้องปรามอิทธิพลของจีนเหนือมหาสมุทรอินเดียและเอเชียใต้ ในขณะเดียวกันอินเดียก็ต้องการอิทธิพลของรัสเซียในภูมิภาคเอเชียกลางเพื่อแก้ไขปัญหาอัฟกานิสถาน รวมถึงสร้างสมดุลกับจีน

แต่ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครนที่เกิดขึ้นนี้ส่งผลให้สหรัฐอเมริกาและชาติยุโรปเบนเข็มความสนใจไปที่ยูเครนเกือบทั้งหมด ซึ่งเปิดช่องให้จีนขยายอิทธิพลของตัวเองได้อย่างต่อเนื่องในภูมิภาคเอเชีย เช่นเดียวกันความขัดแย้งนี้ส่งผลให้รัสเซียใกล้ชิดกับจีนมากยิ่งขึ้น แน่นอนว่าส่งผลโดยตรงต่อยุทธศาสตร์ขนาดใหญ่ของอินเดีย ในวันนี้ทางเลือกของอินเดียในการตัดสินใจเกี่ยวกับกรณีนี้จึงมีน้อยลง และทุกการตัดสินใจจะมีผลต่อการต่างประเทศของอินเดียในระยะยาว ฉะนั้นการตัดสินใจ ‘งดออกเสียง’ ของอินเดียจึงมาจากการคิดคำนวณที่ถี่ถ้วนแล้ว ไม่ใช่เพียงวางอยู่บนรากฐานความสัมพันธ์ในอดีตเท่านั้น

เพราะสุดท้ายแล้ว แม้ว่ารัสเซียจะไม่ได้สำคัญกับอินเดียเท่ากับในอดีต แต่อินเดียก็ไม่ได้อยากจะเป็นศัตรูกับรัสเซียแล้วหันไปเลือกข้างสหรัฐอเมริกาและชาติยุโรปอย่างเต็มตัว เพราะวันนี้อินเดียอยู่ในภูมิภาคที่ไม่เป็นมิตรเท่าไหร่นัก ถนนทุกสายของชาติในเอเชียกำลังมุ่งสู่จีน (แม้กระทั่งเพื่อนบ้านของอินเดียในเอเชียใต้) แน่นอนว่าสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์เช่นนี้ส่งผลในแง่ลบต่ออินเดีย การตัดสินใจของอินเดียในวันนี้จึงไม่ใช่ระหว่างเลือก ‘ขาว’ หรือ ‘ดำ’ แต่เป็น การเลือกทิศทางที่ส่งผล ‘ลบ’ น้อยที่สุดต่ออินเดีย ในห้วงเวลาที่ทุกทางเลือกเป็นลบต่ออินเดียทั้งสิ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็คือแบบแผนนโยบายต่างประเทศอินเดียแบบไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดของอินเดีย

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save