fbpx
101 One-On-One Ep. 182 : “อารมณ์กับตัวตนคนรุ่นใหม่” กับ สุวรรณา สถาอานันท์

“อารมณ์กับตัวตนคนรุ่นใหม่” กับ สุวรรณา สถาอานันท์

กองบรรณาธิการ เรื่อง

 

‘คนรุ่นใหม่’ กลายเป็นตัวละครสำคัญที่ถูกพูดถึงในทุกมิติของสังคมปัจจุบัน เพราะพวกเขาคือคนหนุ่มที่สาวที่กำลังเดินไปหาอนาคตด้วยวิธีและภาษาของเขาเอง

ท่ามกลางสายธารแห่งประชาธิปไตยและคลื่นความขัดแย้งในสังคม ผู้คนตั้งคำถามมากมายต่อความเป็นคนรุ่นใหม่

สนทนากับ ศ.ดร.สุวรรณา สถาอานันท์ จากภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งข้อสังเกตว่าด้วยความคิด อารมณ์ และตัวตนของคนรุ่นใหม่ผ่านมุมมองมนุษยศาสตร์

 

 

:: อารมณ์กับตัวตน ::

 

101 One-On-One Ep. 182 : “อารมณ์กับตัวตนคนรุ่นใหม่” กับ สุวรรณา สถาอานันท์

 

เวลาเราใช้คำว่า ‘อารมณ์’ ในภาษาไทย เรามักใช้ในทางลบ เช่น เวลาเถียงกันอย่าใช้อารมณ์ เวลาตัดสินใจอย่าใช้อารณ์ ยกเว้นเวลาบอกให้รักชาตินะ (หัวเราะ)

เวลาเราจะพูดเรื่องตัวตนของคนรุ่นใหม่เราต้องพูดเรื่องอารมณ์ เพราะอารมณ์เป็นตัวบ่งบอกตัวตนที่แท้จริง เช่น เรากลัวอะไร เรารักอะไร เราใฝ่ฝันอะไร เราวิตกเรื่องอะไร เราชื่นชมใคร เราเคารพใคร ของพวกนี้เป็นเรื่องอารมณ์ทั้งนั้น เพราะฉะนั้นอารมณ์จะไปผูกพันกับคำถามอื่นๆ เช่น เรื่องคุณธรรม เราผูกพันกับพ่อแม่เรา เราเข้าใจว่าสิ่งที่ท่านให้เราเป็นความดีงาม เราอยากตอบแทน ก็กลายเป็นความกตัญญู เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจความต่อเนื่องเชื่อมโยงของมิติอารมณ์กับคุณธรรมและตัวตนของเขา

ดิฉันเชื่อว่าอารมณ์เป็นสิ่งที่ให้ความรู้กับเรา มาร์ธา นุสบาม นักปรัชญาชาวอเมริกันคนสำคัญเขียนหนังสือเกี่ยวกับเรื่องนี้ เขาเชื่อว่าตัวอารมณ์เองมีคุณลักษณะที่ให้ความรู้และหมายรู้บางอย่าง เช่น เวลาเราเห็นฝูงหมาป่าวิ่งมาใส่เรา เรากลัว ความกลัวมีเหตุผล เพราะความกลัวมาจากการหมายรู้ว่าหมาป่าที่วิ่งมาน่าจะนำอันตรายมาสู่เรา อารมณ์มีเหตุผลของมัน

 

:: ความตึงแย้งระหว่างเสรีภาพกับความกลัว ::

 

101 One-On-One Ep. 182 : “อารมณ์กับตัวตนคนรุ่นใหม่” กับ สุวรรณา สถาอานันท์

 

ดิฉันมีข้อสังเกตว่าคนรุ่นใหม่ให้คุณค่ากับเสรีภาพสูงมาก ดิฉันกำลังพูดถึงคนอายุ 20 ต้นๆ คนพวกนี้ถ้าเป็นคนที่มีอีคิวสูง มีไอคิวดี เป็นคนใฝ่รู้ พ่อแม่เลี้ยงดูไม่เข้มงวดเกินไป ไม่ประคบประหงมเกินไป พวกเขามีวุฒิภาวะสูงมาก มีความมั่นใจในตัวเอง กล้าแสดงออก และมีความคิดที่วิพากษ์วิจารณ์ดี ตอนที่ดิฉันอายุเท่าเขายังไม่เป็นผู้ใหญ่เท่าเขา เขามีกูเกิล มีความรู้เยอะ ถ้าเขามีเสรีภาพที่จะตามไปสู่สิ่งต่างๆ ที่เขาอยากรู้ เขาจะมีวุฒิภาวะสูงมาก แล้วมีความรู้กว้างขวางกว่าตัวดิฉันเมื่อตอนอายุเท่าเขา ซึ่งอันนี้เป็นข้อที่น่าชื่นชม

ในขณะเดียวกัน ดิฉันก็รู้สึกว่าคนรุ่นใหม่มีความวิตกกังวล มีความประหวั่นพรั่นพรึง มีความกลัว เขาเห็นว่าโลกมีการแข่งขันสูง มีความไม่แน่นอนสูง ไว้ใจใครไม่ได้ สิ่งที่เคยเคารพก็พังพินาศเสียเยอะ ของพวกนี้ทำให้เขาไม่ค่อยมีจินตนาการเกี่ยวกับชีวิตระยะยาว

ดิฉันไม่เคยได้ยินคนรุ่นใหม่ที่จินตนาการว่าโตขึ้นอยากหางานที่มั่นคง ทำงานเดียวไปจนเกษียณ เขาไม่คิดถึงอนาคตที่ไกลมากขนาดนั้น สมัยที่ดิฉันเป็นคนรุ่นใหม่ เราจะถูกสอนให้ขยันอดทน เรียนหนังสือดีๆ จะได้มีงานที่มั่นคง แต่งงาน ผ่อนบ้าน มีรถใช้ แล้วก็เกษียณไป เก็บเงินให้ลูกหลาน ไปทำบุญไว้ชาติหน้า คล้ายๆ มิติของกาลเวลาทอดไกลไปเจเนอเรชันต่อไป หรือรวมทั้งภพหน้าด้วย

ถ้าเราไม่มีจินตนาการหรือไม่ไว้ใจเวลาที่ต่อเนื่องไปสู่อนาคตยาวไกล เราจะไม่ไว้ใจอะไรเลยที่เหลือในชีวิตเรา คือการที่คนรุ่นดิฉันบอกว่าอยากจะหางานที่มั่นคงไปจนวัยเกษียณ แปลว่าเราเชื่อว่าโลกจะเป็นอย่างนี้ต่อไปอีกยาวนานมาก แต่ตอนนี้มิตินี้หายไปรึเปล่า หดสั้นลงรึเปล่า ถ้าตรงนี้น้อยลง โลกข้างหน้ามีแต่ความเสี่ยง มีแต่ความไม่แน่นอน ใครกันล่ะที่อยากจะจินตนาการชีวิตตัวเองไปสู่วัยเกษียณ

 

:: คุณค่าและความดีงาม ::

 

101 One-On-One Ep. 182 : “อารมณ์กับตัวตนคนรุ่นใหม่” กับ สุวรรณา สถาอานันท์

 

ปัจจัยที่สำคัญมากในการอธิบายความเปลี่ยนแปลงเชิงคุณค่าและคุณธรรมคือความเร็ว

ดิฉันมีข้อสังเกตว่า ตอนนี้ความเร็วเป็นเกณฑ์วัดประสิทธิภาพ เป็นเกณฑ์วัดความคุ้มทุน เป็นจุดขายของเทคโนโลยีทุกสกุล ถ้าคุณลงทุนกับเรา คุณจะได้ผลตอบแทนเร็วขึ้น ถ้าคุณปลูกพืชชนิดนี้ ใช้ปุ๋ยแบบนี้คุณจะได้ผลผลิตมากขึ้น เร็วขึ้น ทุกอย่างวัดด้วยความเร็ว ทำอย่างไรให้เด็กโตเร็วๆ ลงทุนการศึกษาอย่างไรที่ใช้เวลาสั้นที่สุดแล้วได้ผลมากที่สุด วิธีการให้เหตุผลเชิงเครื่องมือ (instrumental rationality) ของทุนนิยมทำให้ความเร็วเป็นคุณธรรม

ถ้าข้อสังเกตนี้ถูก ดิฉันคิดว่าจริงหรือเปล่าที่ตอนนี้เรานับถือความเร็วเป็นเทพเจ้าองค์หนึ่งแล้ว แล้วเทพเจ้าองค์นี้บงการคุณค่าอื่นๆ ตามความศักดิ์สิทธิ์ของความเร็ว ความเร็วอยู่ทุกที่ กินข้าวเร็ว นอนเร็ว ใช้เงินเร็ว เดินทางอย่างไรให้ไปถึงที่ทำงานเร็วที่สุด ฯลฯ

ถ้าความเร็วเป็นเทพเจ้า ความรอบคอบจะฟังดูไร้สาระ ความอดทนจะฟังดูไร้สาระ สมัยก่อนเราบอกว่าความฉลาดมากับความรอบคอบ แต่การคิดว่าฉลาดกับรอบคอบไปด้วยกัน แปลว่าความฉลาดต้องอาศัยการบ่มเพาะด้วยเวลาและการคิดหลายๆ ด้าน ค่อยๆ คิดสาเหตุและผลที่สืบเนื่องยาวนาน แต่ถ้าความเร็วเป็นเทพเจ้า เราต้องเปลี่ยนเป็นความฉลาดฉับไว ไม่ใช่ความฉลาดรอบคอบ ของหลายอย่างที่บ่มเพาะจากเวลาจะได้รับคุณค่าน้อยลงถ้าเวลาเป็นเทพเจ้าสูงสุด

 

:: ภราดรภาพที่ถูกลืม ::

 

101 One-On-One Ep. 182 : “อารมณ์กับตัวตนคนรุ่นใหม่” กับ สุวรรณา สถาอานันท์

 

ปฏิวัติฝรั่งเศสให้รากฐานทางความคิดกับสังคมการเมืองที่เป็นสมัยใหม่ มีรากฐานประชาธิปไตย 3 ข้อ คือ เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ 3 ข้อนี้เป็นความพยายามที่จะปฏิเสธสังคมก่อนหน้านั้นที่อยู่กันเป็นช่วงชั้นวรรณะ คนรับสิทธิ์ไม่เท่ากัน

ตอนนี้คนรุ่นใหม่ในศตวรรษที่ 21 กลับไปสมาทานคุณค่าปฏิวัติฝรั่งเศส 2 ข้อ คือ เสรีภาพ กับ เสมอภาค แต่สิ่งที่น่าจะน้อยใจมากๆ คือภราดรภาพ เพราะถูกลืม ตรงนี้เป็นอันตรายต่อการอยู่ร่วมกันของสังคมประเทศชาติเดียวกัน ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะประเทศไทย ถ้าพูดแบบไทยๆ ภราดรภาพก็คือการนับญาติพี่น้องกัน เราเป็นคนไทยด้วยกัน เราเป็นชุมชนเดียวกัน เป็นต้น ตรงนี้มีปัญหามาก

สาเหตุที่คนรุ่นใหม่ให้คุณค่ากับเสรีภาพมาก อาจเพราะการเมืองไทยในช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมานั้นพรากเสรีภาพไปจากประชาชนเสมอ และยิ่งเข้มข้นรุนแรงขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ก็เลยต้องต่อสู้เรื่องนั้น แต่ดิฉันเป็นห่วงเรื่องภราดรภาพ เพราะเราจะอยู่ด้วยกันไม่ได้แล้ว

 

:: ความศรัทธา – คนรุ่นใหม่ไม่นับถือศาสนา ::

 

101 One-On-One Ep. 182 : “อารมณ์กับตัวตนคนรุ่นใหม่” กับ สุวรรณา สถาอานันท์

 

คนรุ่นใหม่ที่สนใจเรื่องสิทธิมนุษยชน เขาเชื่อในประเด็นสิทธิส่วนบุคคล เชื่อในสิทธิสัตว์ เชื่อในการเคารพความหลากหลายทางเพศ เชื่อในการปกป้องสิ่งแวดล้อม สรรพสิ่ง สรรพสัตว์ หรือสิทธิของแมว ฯลฯ สิ่งที่เขาให้คุณค่าไม่จำเป็นต้องผูกพันกับศาสนาในเชิงสถาบันหรือพระเจ้า

ดิฉันสงสัยว่าศาสนาในยุคโบราณใช้เพื่อความชอบธรรมให้สังคมที่ลดหลั่นเป็นช่วงชั้นด้วย ในแง่นี้การสมาทานเรื่องความเสมอภาคและเสรีภาพ ก็ทำให้ทิ้งพระเจ้าและทิ้งศรัทธาไปด้วย ถ้าเราบอกว่าในสังคมไทยเป็นพุทธ ไม่ได้นับถือพระเจ้า แต่ศาสนาพุทธในประเทศไทยก็มีความผูกพันในสังคมที่ลดหลั่นเป็นช่วงชั้นเหมือนกัน ทั้งๆ ที่ไม่ใช่ศาสนาที่เริ่มจากการเคารพบูชาพระเจ้าองค์เดียว

ดิฉันคิดว่าเรามีมนุษยธรรมที่ไม่จำเป็นต้องผูกพันกับศาสนาได้ เช่น เรารักเพื่อนมนุษย์ เราอาทรต่อกัน แต่ดิฉันไม่ได้ห่วงว่าศรัทธาในศาสนาที่มีพระเจ้ารึเปล่า แต่ห่วงว่าเวลามีศรัทธา อย่ากลายเป็น fundamentalism ดิฉันห่วงบางกลุ่มที่ศรัทธาแบบสุดโต่ง แล้วเห็นว่าความรุนแรงเป็นสิ่งชอบธรรมในการจัดการกับความเห็นต่าง ดิฉันไม่ได้ห่วงเรื่องคนรุ่นใหม่นับถือศาสนาน้อยลง เพราะเขาให้คุณค่าสูงสุดกับอีกหลายอย่าง

 

:: ความกล้าหาญแห่งยุคสมัย ::

 

101 One-On-One Ep. 182 : “อารมณ์กับตัวตนคนรุ่นใหม่” กับ สุวรรณา สถาอานันท์

 

ถ้าเราไม่ได้อยู่ในมนต์สะกดของชาตินิยม ความกล้าหาญไม่น่าจะจำกัดอยู่แค่ทหาร เป็นความเชื่อมโยงที่คับแคบเกินไป ในหลายสังคม คนรุ่นล่าสุดมักจะมีความกล้าหาญมากกว่าคนรุ่นก่อน แต่ต้องแยกแยะระหว่างความกล้าหาญกับความบ้าบิ่นด้วยนะ

ความกล้าหาญคือความกล้าที่มีเหตุผล มีความรอบคอบประกอบ ไม่ใช่ตายก็ตาย ไม่สนใจอะไรเลย ดิฉันคิดว่าคนรุ่นใหม่น่าจะกล้าแสดงออก กล้าวิพากษ์วิจารณ์บางสถาบัน คนรุ่นก่อนหน้านี้เขาเติบโตมาในสังคมที่เรารู้สึกเป็นมิตรกับสังคมนั้นมากกว่า เขารู้สึกว่าสังคมให้สิ่งดีๆ กับเขา เขารู้สึกรักและผูกพัน เขาเห็นข้อบกพร่องของสังคมเหมือนกัน แต่ด้วยความรู้สึกดีๆ ที่เขามี เลยพร้อมที่จะประนีประนอม อะลุ่มอล่วยกับข้อบกพร่องของสังคมที่เขาก็เห็น

แต่คนรุ่นใหม่ไม่ได้รู้สึกว่าสังคมให้อะไรดีๆ กับเขา แต่อาจจะเห็นว่าสังคมพรากเสรีภาพจากเขาไป ต่อเนื่องยาวนานไม่จบสักที ด้วยข้อวิเคราะห์เรื่องความเร็วและความไม่อดทน เขาก็บอกว่าฉันไม่รอแล้ว ต้องลุกขึ้นมาเปลี่ยน สำหรับสายตาของคนรุ่นก่อนหน้านั้นเขารู้สึกว่ากล้าหาญมาก ซึ่งเป็นความกล้าหาญจริง แต่ความกล้าหาญนี้จะได้ผลแค่ไหนในสิ่งที่เขาอยากจะทำ ก็ต้องเป็นเรื่องที่เขาต้องดูต่อไป

คนรุ่นใหม่ที่กล้าหาญ เขาฉลาดพอที่จะรู้ว่าเขาทำคนเดียวไม่ได้ ถึงแม้เจตนาจริงๆ อาจจะทำเพื่อเสรีภาพของเขาเอง แต่เขารู้ว่าต้องทำงานกับคนหมู่มาก ดิฉันไม่ตัดสินว่าใครมีความกล้าหาญเพื่อส่วนรวมรึเปล่า แต่ดิฉันมีข้อสังเกตว่าคนรุ่นใหม่ชาญฉลาดพอที่จะรู้ว่าถ้าเขาจะต่อสู้เพื่อเสรีภาพของเขาเอง เขาต้องร่วมมือกับคนจำนวนมาก

 

:: พื้นที่ตรงกลาง ::

 

101 One-On-One Ep. 182 : “อารมณ์กับตัวตนคนรุ่นใหม่” กับ สุวรรณา สถาอานันท์

 

ดิฉันจะไม่ตอบคำถามเชิงเนื้อหาว่าคนรุ่นนี้เห็นต่างกันอย่างไร แต่อยากตอบเชิงวิธีการว่าเราจะทะเลาะกันอย่างสุภาพได้อย่างไร

ถ้าพูดเรื่องนี้ขึ้นมาก็ต้องโควตท่านขงจื๊อ ซึ่งเขาเสนอแนะวิธีนี้มาเมื่อสองพันกว่าปีมาแล้ว ขงจื๊อบอกว่าเวลาพ่อแม่ไม่เห็นด้วยกับลูก หรือเวลาลูกหลานขัดแย้งกัน เขาเสนอ 4 ขั้นตอน ดังนี้

ขั้นที่หนึ่ง ให้ทัดทานอย่างสุภาพ

ขงจื๊อเปิดพื้นที่ให้ทะเลาะกันระหว่างวัย แต่เป็นการทะเลาะที่ลูกหลานเคารพรักพ่อแม่อยู่ เป็นการทะเลาะที่ไม่ลืมว่ายังรักและอยากจะรักษาความสัมพันธ์นี้ไว้ ถ้าไม่ทัดทานอย่างสุภาพ เช่น ชี้หน้าด่ากัน ก็อาจทำให้เสียความสัมพันธ์ ขงจื๊อกลัวการเสียความสัมพันธ์จึงให้ทัดทานอย่างสุภาพ แต่บอกว่าควรทะเลาะกัน

ขั้นที่สอง ให้ทัดทานต่อไป

ขงจื๊อรู้ว่าพ่อแม่ดื้อ เลยมีขั้นที่สอง ถ้าพ่อแม่ดื้อ เราก็ดื้อต่อ ทะเลาะต่อ แต่ทะเลาะอย่างสุภาพ

ขั้นที่สาม อย่าลดละการทัดทาน แต่ให้รับใช้เขาต่อไป

ขงจื๊อรู้ว่าพ่อแม่มักจะดื้อมาก ดังนั้นอย่าลดละการทัดทาน แต่ให้รับใช้เขาต่อไป การรับใช้คือการบำรุงเลี้ยงความสัมพันธ์ให้มีมิติอื่นนอกเหนือจากการทะเลาะกัน อย่าทะเลาะกันอย่างเดียว ให้บำรุงเลี้ยงความสัมพันธ์นี้ด้วย แล้วขงจื๊อก็รู้นะว่า พ่อแม่ก็คิดว่าอย่างไรฉันก็รู้ดีกว่าแก แกจะมาพูดอย่างไรฉันก็ไม่ฟัง

ขั้นที่สี่ อย่าบ่น

ถ้าทัดทานหลายครั้งแล้วยังไม่เสร็จ อย่างนั้นก็อย่าบ่น ดิฉันสงสัยว่าเขาน่าจะบอกให้กลับไปดูข้อ 1 ก็คือทำต่อไป อดทน

แต่คำถามที่ท้าทายคนรุ่นใหม่คือเวลาเราทะเลาะกับใคร เราให้คุณค่าแก่การรักษาความสัมพันธ์นั้นพอรึเปล่า ถ้าเราคิดว่าความเห็นเราถูกต้องกว่า เหตุผลเราสำคัญกว่า เราพร้อมที่จะทิ้งความสัมพันธ์หรือยอมให้ความสัมพันธ์แตกสลายรึเปล่า นี่คือคำถามที่คนรุ่นใหม่ต้องตอบ

ถ้าคุณคิดว่าความสัมพันธ์นั้นไม่มีคุณค่าพอให้คุณรักษาเอาไว้ ก็เป็นไปได้ง่ายที่มันจะแตกสลาย เพราะคุณอยากจะเชื่อในเหตุผลของคุณว่าดีกว่า ซึ่งอาจจะถูกก็ได้นะ ความสำคัญไม่ใช่ว่าใครถูกใครผิด แต่ความสำคัญอยู่ที่ว่าเราจัดลำดับคุณค่าความสัมพันธ์อย่างไรกับคนที่เราทะเลาะด้วย ตรงนี้เป็นโจทย์ที่ท้าทายคนรุ่นใหม่

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save