fbpx

ตัวเลขการเติบโตก็ไม่ดี คุณภาพการพัฒนาก็ไม่ได้: แนวโน้มใหญ่เศรษฐกิจไทยและโลก

เศรษฐกิจไทยที่เติบโตช้าลงอย่างต่อเนื่อง และการคาดการณ์เศรษฐกิจจากสำนักต่างๆ ระยะยาวมักจะมองบวกเกินไป มีส่วนสำคัญจากศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยที่ถดถอยลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมาจากปัญหาปัจจัยเชิงโครงสร้าง[1]

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยไม่ได้เติบโตน้อยลงอย่างโดดเดี่ยว แนวโน้มศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจลดลงเป็นปรากฏการณ์ใหญ่ที่เกิดขึ้นทั่วโลกในช่วงหลัง ซึ่งกลายเป็นธีมใหญ่ของรายงานระดับโลก การเติบโตทางเศรษฐกิจนั้นจะต้องมองมากกว่าแค่ว่าตัวเลขสวยหรือไม่ แต่ต้องมองให้ลึกถึงคุณภาพด้วย ในบทความนี้ ผู้เขียนชวนสำรวจคุณภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยที่ผ่านมาว่ามีสถานะเป็นอย่างไรบ้างเมื่อเทียบกับสากล แล้วมีเรื่องใดบ้างที่ควรหันมาให้ความสนใจเพื่อเพิ่มศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยอย่างมีคุณภาพ

ไม่ใช่แค่ไทยที่ศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจหดหายไป

ในช่วงทศวรรษแรกของศตวรรษที่ 21 ประเทศไทยมีศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจร้อยละ 3.5 ในช่วงปี 2000 ถึง 2010 ซึ่งสูงกว่าโลกและเทียบเคียงกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างไรก็ดี ในช่วงทศวรรษถัดมา ศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยเหลือเพียงร้อยละ 2.7 ในช่วงปี 2011 ถึง 2021[2] การคำนวณของ SCB EIC ด้วยข้อมูลใหม่ก็ช่วยยืนยันว่าศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2024 เหลือเพียงร้อยละ 2.7 เท่านั้น[3]

การถดถอยของศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงแค่ในประเทศไทย แต่ทั่วโลกก็กำลังประสบปัญหาดังกล่าวด้วยเช่นกัน ศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจซึ่งคำนวณด้วยวิธีปัจจัยการผลิตก็มีแนวโน้มลดลงตามไปด้วย โดยศักยภาพเฉลี่ยทั่วโลกลดลงจากร้อยละ 3.1 ในช่วงปี 2000-2010 เหลือร้อยละ 2.7 ในช่วงปี 2011-2021 ขณะที่กลุ่มประเทศรายได้ปานกลางระดับสูง (Upper-middle income countries) ลดลงจากร้อยละ 5.6 เหลือร้อยละ 5.2 ตามลำดับ อย่างไรก็ดี มีเพียงกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้[4] ที่กลับมีแนวโน้มสวนทางกันเพราะมีศักยภาพเศรษฐกิจโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 3.9 เป็นร้อยละ 4.6 ตามลำดับ (ภาพที่ 1)

เมื่อเทียบประเทศไทยกับโลกพบว่าศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยลดลงรวดเร็วกว่าทั่วโลก ยิ่งไปกว่านั้น ศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยก็ยังไม่สามารถไล่ทันกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางระดับสูงได้

ภาพที่ 1: ศักยภาพเศรษฐกิจคำนวณด้วยวิธีการคาดการณ์ความสามารถในการเติบโตจากปัจจัยการผลิต
ที่มา: 101 PUB คำนวณจากข้อมูลของ Kilic et al. (2023) และ World Bank

การถดถอยของศักยภาพเศรษฐกิจนี้เกิดขึ้นจากหลากหลายสาเหตุ ตั้งแต่การลดลงของการลงทุนและผลิตภาพโดยรวม (Total Factor Productivity: TFP) การหดหายของกำลังแรงงานเนื่องจากปัญหาสังคมสูงวัย ไปจนถึงปัญหาเศรษฐกิจต่างๆ ที่ค่อยบั่นทอนศักยภาพเศรษฐกิจในระยะยาว ซึ่งเป็นความท้าทายที่ทั่วโลกต้องหันมาให้ความสนใจ[5]

เมื่อแยกดูการลดลงของความสามารถในการเติบโตตามปัจจัยการผลิต (ทุน แรงงาน และผลิตภาพโดยรวม) แล้ว พบว่าหนึ่งในปัจจัยหลักที่ทำให้ตัวเลขศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยไม่สวยงามเหมือนกลุ่มประเทศในภูมิภาคคือ ปัจจัยด้านแรงงาน เพราะความสามารถในการเติบโตของไทยมีส่วนมาจากปัจจัยแรงงานลดลงจากร้อยละ 0.8 ในช่วงปี 2000 ถึง 2010 เหลือร้อยละ 0.3 ในช่วงปี 2011 ถึง 2021 (ภาพที่ 2) ขณะที่สาเหตุของกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ไม่รวมประเทศไทยมีแนวโน้มสวนทางกัน เพราะมีส่วนมาจากการเพิ่มขึ้นของการสะสมทุนจากร้อยละ 2.4 ในช่วงปี 2000 ถึง 2010 เป็นร้อยละ 3.5 ในช่วงปี 2011 ถึง 2021 (ภาพที่ 3)

ภาพที่ 2: ศักยภาพเศรษฐกิจของประเทศไทยแยกตามปัจจัยการผลิต
ที่มา: 101 PUB คำนวณจากข้อมูลของ Kilic et al. (2023)
ภาพที่ 3: ศักยภาพเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แยกตามปัจจัยการผลิต
ที่มา: 101 PUB คำนวณจากข้อมูลของ Kilic et al. (2023) และ World Bank

มุ่งเพิ่มตัวเลขศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจไม่พอ เพราะต้องโตอย่างมีคุณภาพด้วย

แม้การมุ่งเพิ่มศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจจะเป็นเรื่องที่ต้องหันมาพูดถึง เพราะการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นส่วนสำคัญที่ส่งผลให้เกิดการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คน อย่างไรก็ดี การเติบโตไม่ใช่เรื่องเพียงตัวเลข แต่มีมิติคุณภาพของการเติบโตด้วย

World Economic Forum ได้ประเมินวัดคุณภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ทั่วโลกใน 4 ด้านคือ ความสามารถทางนวัตกรรม (innovativeness) ความทั่วถึง (inclusiveness) ความยั่งยืน (sustainability) และความสามารถในการรับมือวิกฤต (resilience)

จากการประเมินดังกล่าว แต่ละกลุ่มประเทศต่างมีด้านเด่นและด้านที่ต้องมีการพัฒนาแตกต่างกันไป อาทิ กลุ่มประเทศรายได้สูงมีคะแนนด้านความทั่วถึง ความสามารถทางนวัตกรรม และความสามารถในการรับมือวิกฤต แต่มีด้านความยั่งยืนที่ต้องพัฒนามากเป็นพิเศษ ขณะที่กลุ่มประเทศที่มีลักษณะเศรษฐกิจใกล้เคียงกับไทยอย่างกลุ่มรายได้ปานกลางระดับสูงจะมีความสามารถในการรับมือวิกฤตและความทั่วถึงที่ดี แต่ด้านความยั่งยืนและความสามารถด้านนวัตกรรมยังคงเป็นเรื่องที่ต้องพัฒนา[6] ประเทศไทยก็มีลักษณะที่คล้ายคลึงกับกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางระดับสูง ซึ่งมีด้านความสามารถทางนวัตกรรมและความยั่งยืนที่ควรต้องพัฒนามากเป็นพิเศษ (ภาพที่ 4)

ภาพที่ 4: คะแนนคุณภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจในด้านต่างๆ
ที่มา: 101 PUB รวบรวมจากข้อมูลของ World Economic Forum (2024)

มุ่งสร้างการเติบโตที่สร้างนวัตกรรม ทั่วถึง ยั่งยืน และไม่เปราะบาง

การประเมินวัดคุณภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจโดย World Economic Forum ที่ได้กล่าวถึงข้างต้นนี้ยังมีดัชนีชี้วัดระดับย่อยในแต่ละด้าน ซึ่งตัวชี้วัดในระดับย่อยเหล่านี้ต่างเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อคุณภาพการเติบโตของเศรษฐกิจด้านต่างๆ ซึ่งจะมีความเป็นรูปธรรมจับต้องได้มากขึ้น และช่วยบ่งชี้ได้ว่าไทยควรจะต้องแก้ไขปัญหาจากจุดไหน

สำหรับด้านความสามารถทางนวัตกรรม แม้คะแนนโดยรวมของประเทศไทยจะสูงกว่ากลุ่มประเทศรายได้ปานกลางระดับสูงและโลกเล็กน้อย เนื่องจากมีคะแนนตัวชี้วัดเรื่องการศึกษา ความครอบคลุมด้านโทรคมนาคม และสภาพแวดล้อมเชิงสถาบันที่เอื้อต่อนวัตกรรมที่อยู่ในระดับดีเมื่อเทียบกับสากล อย่างไรก็ดี ยังมีอีกหลายเรื่องที่ไทยด้อยกว่าโลกและต้องเร่งแก้ไข ได้แก่ วัฒนธรรมทางธุรกิจและการแข่งขัน การส่งออกบริการขั้นสูง ตำแหน่งงานทักษะสูง และการจดลิขสิทธิ์

นอกจากนี้ ประเทศไทยมีคะแนนรวมด้านความทั่วถึงที่เทียบเคียงกับโลกและสูงกว่ากลุ่มประเทศที่มีลักษณะใกล้เคียงเล็กน้อย ซี่งมีส่วนมาจากคะแนนตัวชี้วัดเรื่องการเข้าถึงบริการพื้นฐานอย่างสาธารณูปโภคและสวัสดิการที่อยู่ในระดับที่ดีกว่าค่าเฉลี่ยโลก อย่างไรก็ดี ประเทศไทยยังทำได้ไม่ดีอย่างมากในด้านสิทธิพลเมืองและการมีส่วนร่วมทางการเมือง และความเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะการที่ประชากรครึ่งหนึ่งของประเทศเป็นเจ้าของความมั่งคั่งเพียงร้อยละ 1.5 ของทั้งหมด ยิ่งไปกว่านี้ สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำกลับมีแนวโน้มแย่ลงสวนทางกับที่สากลประเมินหากใช้ชุดข้อมูลที่แม่นยำมากขึ้น[7]

ขณะที่ด้านความยั่งยืนเป็นเรื่องที่ประเทศไทยจำเป็นต้องหันมาสนใจและพัฒนาเป็นอย่างมาก เพราะประเทศไทยมีคะแนนรวมในด้านดังกล่าวน้อยที่สุดจากทั้ง 4 ด้าน อีกทั้งยังด้อยกว่าของโลกและทุกกลุ่มประเทศ โดยตัวชี้วัดย่อยที่มีคะแนนน้อยกว่าค่าเฉลี่ยของโลกและควรได้รับความสนใจ ได้แก่ ความหลากหลายทางชีวภาพ การเกษตรที่ทำลายสิ่งแวดล้อม การบริโภคและการลงทุนในพลังงานทดแทน อีกทั้งกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับพลังงานทดแทน และการอุดหนุนพลังงานเชื้อเพลิงแบบหว่านแห

สำหรับด้านสุดท้ายคือความสามารถในการรับมือวิกฤต ประเทศไทยมีคะแนนโดยรวมที่เทียบเคียงกับระดับโลกและประเทศรายได้ปานกลางระดับสูง อย่างไรก็ดี คะแนนดังกล่าวยังคงตามหลังประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศรายได้สูง โดยเรื่องที่ควรได้รับความสนใจและแก้ไข ได้แก่ การพัฒนาทักษะของแรงงาน ความสามารถของสาธารณสุข เสถียรภาพทางการเมือง

แม้จะไม่มีคำตอบที่ตายตัวว่าการสร้างศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีคุณภาพจะต้องเริ่มจากการตั้งเป้าหมายพัฒนาเรื่องไหนก่อน อย่างไรก็ดี นโยบายพัฒนาเศรษฐกิจก็จำต้องคำนึงถึงปัจจัยย่อยใน 4 เรื่องที่ได้กล่าวไปนี้

ในด้านความสามารถทางนวัตกรรม ประเทศไทยจำเป็นต้องให้ความสนใจอย่างจริงจังในการสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่สามารถดึงดูดให้บริษัทที่มีเทคโนโลยีสูงหรือมีศักยภาพในการทำวิจัยและพัฒนาเข้ามาลงทุนในประเทศเพื่อให้เกิดการสร้างงานที่ดี[8] ซึ่งนอกจากการเปลี่ยนแนวทางการดึงดูดการลงทุนแล้ว ยังจำเป็นต้องสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจให้เอื้อต่อการแข่งขันด้วยนวัตกรรมยิ่งขึ้น ซึ่งจะต้องวางนโยบายการแข่งขันให้ชัดเจนและบังคับใช้อย่างเอาจริงเอาจัง

ในขณะเดียวกันก็จำเป็นต้องลงทุนกับคนให้สูงขึ้นและมุ่งเน้นการสร้างผลลัพธ์ที่เท่าเทียมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการลดความเหลื่อมล้ำผ่านการทบทวนนโยบายสวัสดิการต่างๆ เช่น เงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า[9] เบี้ยผู้สูงอายุ[10] การทบทวนนโยบายเพิ่มทักษะแรงงานที่ไม่เพียงอุดหนุนแค่ค่าเรียนแต่สามารถแก้ปัญหาการติดหล่มทำงานหนักในเศรษฐกิจผลิตภาพต่ำและสามารถให้ทักษะใหม่แก่แรงงานได้[11] หรือเครื่องมือการโอนทรัพยากรแบบคัดกรองอย่างบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ[12]

และที่สำคัญ จะต้องมีการปฏิรูปสถาบันทางการเมืองให้มีความยึดโยงกับประชาชนมากขึ้น รวมถึงการปรับกระบวนการนโยบายให้คนได้มีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมกันยิ่งขึ้น จึงจะสามารถสร้างนโยบายและการพัฒนาเศรษฐกิจที่ตอบโจทย์สังคมวงกว้างได้[13]

ท้ายที่สุด ที่ผ่านมานโยบายของประเทศไทยยังขาดความชัดเจนในด้านความยั่งยืน เป็นเพียงการตั้งเป้าหมายเลื่อนลอยโดยไม่มีแผนงานเป็นรูปธรรม ดังนั้นประเทศไทยต้องหันมามองปัญหาสิ่งแวดล้อมให้เป็นเรื่องเดียวกับปัญหาเศรษฐกิจและสังคม โดยดำเนินนโยบายรับมือโลกรวนไปพร้อมๆ กับการฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งสามารถทำได้โดยการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ อย่างเช่นการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานหมุนเวียน การสร้างขนส่งสาธารณะคาร์บอนต่ำ และการปรับอาคารให้ประหยัดพลังงาน[14]          

References
1 ฉัตร คำแสง, และสรวิศ มา. 2024. “เศรษฐกิจโตช้าไป หรือเราหวังไว้มากเกิน?” กุมภาพันธ์ 21, 2024. https://101pub.org/over-optimistic-forecast-gdp/.
2 World Economic Forum. 2024. The Future of Growth Report 2024.
3 SCB Economic Intelligence Center. 2024. Outlook ไตรมาส 1/2024. https://www.scbeic.com/th/detail/product/9445.
4 อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม
5 Sinem Kilic Celik & M. Ayhan Kose & Franziska Ohnsorge & F. Ulrich Ruch, 2023. “Potential Growth: A Global Database,” Koç University-TUSIAD Economic Research Forum Working Papers 2302, Koc University-TUSIAD Economic Research Forum.
6 World Economic Forum. 2024. The Future of Growth Report 2024.
7 Thanasak Jenmana. (2018). Democratisation and the Emergence of Class Conflicts Income Inequality in Thailand, 2001-2006. WID.world Working  Paper Series.
8 สรวิศ มา. 2023. “การยกเว้นภาษีของ BOI สร้างงานที่ดีแค่ไหน?” กุมภาพันธ์ 21, 2023. https://101pub.org/tax-incentives-and-decent-jobs/.
9 เจณิตตา จันทวงษา. 2022. “สังคมแบบไหนที่คนไทยอยากมีลูก?” เมษายน 12, 2023. https://101pub.org/parenting-support-policy/.
10 วรดร เลิศรัตน์. 2024. “เปลี่ยนเบี้ยผู้สูงอายุเป็น ‘บำนาญขั้นต่ำ’: สร้างหลักประกันรายได้ยามเกษียณที่ยั่งยืน.” กุมภาพันธ์ 26, 2024. https://101pub.org/old-age-allowance-reform/.
11 ศุภณัฎฐ์ ศศิวุฒิวัฒน์. 2023. “นโยบาย Upskill เติมทักษะใหม่ อุดหนุนแค่ค่าเรียนได้ผลหรือไม่.” มีนาคม 13, 2023. https://101pub.org/incomprehensive-upskill-policies/.
12 ฉัตร คำแสง. 2023. “’บัตรคนจน’ ที่คนจนจริงครึ่งหนึ่งเข้าไม่ถึง: 5 ปี นโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ.” มีนาคม 2, 2023. https://101pub.org/mistarget-welfare-card/.
13 วรดร เลิศรัตน์. 2023. “ปฏิรูปสถาบันทางการเมืองอย่างไรให้ตรงใจเยาวชน?” พฤศจิกายน 15, 2023. https://101pub.org/youth-view-on-political-reforms/.
14 เจณิตตา จันทวงษา. 2023. “รัฐบาลใหม่ต้องคิดใหญ่ ยกเครื่องประเทศไทยด้วยการลงทุนสีเขียว.” กุมภาพันธ์ 28, 2023. https://101pub.org/public-green-investment-policy/.

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

101PUB

2 Feb 2023

เปิดใต้พรมหนี้สาธารณะไทย ‘หนี้’ อะไรซุกซ่อนอยู่บ้าง ?

101 PUB ชวนสำรวจว่าตัวเลข ‘หนี้สาธารณะ’ ที่ถูกรายงานทุกเดือน มีความครบถ้วนและสะท้อนหนี้ของประเทศที่แท้จริงหรือไม่

กษิดิ์เดช คำพุช

2 Feb 2023

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save