fbpx

ดราก้อนบอล ลิขสิทธิ์ และหัวนมโกฮัง: ประวัติศาสตร์ระยะใกล้ กับป๊อบคัลเจอร์ในสังคมไทย

“อย่าตายนะ” เป็นคำพูดติดปากของตัวละครในมังงะที่เรามักจะได้ยินกันอยู่เสมอๆ เวลาที่เพื่อนกำลังจะออกไปเผชิญหน้ากับอันตรายจากการผจญภัยหรือสู้กับศัตรู ในโลกมังงะ ความตายเป็นได้ทั้งการเสียสละ การปลดปล่อย การทำร้ายจิตใจผู้อ่าน หรือกระทั่งการทำให้ตัวละครหรือมังงะนั้นกลายเป็นตำนาน

‘โทริยามะ อากิระ’ เจ้าของผลงาน ‘ดราก้อนบอล’ ได้จากโลกนี้ไปด้วยอาการเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองเมื่อช่วงต้นเดือนมีนาคม 2024 ความโศกเศร้าจากข่าวร้ายทำให้แฟนๆ ดราก้อนบอลไม่น้อย ภาวนาให้เทพเจ้ามังกรมีตัวตนอยู่จริง และฝันถึงการชุบชีวิตเขาขึ้นมาอีกครั้ง ทั้งที่รู้ว่าเป็นไปไม่ได้ คำขอเหล่านี้ แม้จะดูเป็นเรื่องเหลวไหล แต่มันได้พิสูจน์ถึงมรดกของผู้เขียนที่ส่งผลต่อจินตนาการแฟนตาซีของผู้อ่านที่เติบโตมาด้วยกันกับมังงะเลื่องชื่อเรื่องนี้

สำหรับผู้เขียน การทำให้ใครคนหนึ่งยังมีชีวิตอยู่ คงไม่ใช่การปลุกชีวิตทางชีวภาพของเขาขึ้นมาใช้ชีวิต แต่มันเป็นการเล่าขานถึงชีวิตของคนๆ นั้น ให้เขาได้อยู่ในความทรงจำ และมีตำแหน่งแห่งที่ในฐานะบทสนทนากับสังคม

บทความนี้จะพาผู้อ่านย้อนไปดูว่า ในฐานะวัฒนธรรมป๊อบและสินค้า ดราก้อนบอลมีที่ทางอย่างไร ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา เราจะสามารถอ่านดราก้อนบอลให้เห็นสังคมไทยได้หรือไม่ บทความนี้จะพาผู้อ่านไปหาคำตอบกัน

ความเกลียดชัง การต่อต้านสินค้าญี่ปุ่น และที่ทางของมังงะ กลางทศวรรษ 1970

หลายคนอาจไม่เคยรู้ว่า ครั้งหนึ่งความเป็นญี่ปุ่นเป็นเป้าหมายโจมตีทางการเมืองในบ้านเรามาก่อน ใช่ครับ ครั้งนั้นมีการต่อต้านสินค้าญี่ปุ่นโดยกลุ่มนักศึกษาไทย ชาตินิยมทางเศรษฐกิจช่วงนั้นเป็นหนึ่งในพลังการสร้างสำนึกร่วมของคนรุ่นใหม่ก่อนจะส่งกระแสไปสู่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ว่ากันว่าแนวคิดต่อต้านญี่ปุ่นมีก่อนหน้านั้น ไม่ว่าจะเป็นบทความที่คึกฤทธิ์ ปราโมชเขียนตีแผ่อิทธิพลทางเศรษฐกิจในไทย หรือการที่องค์กรนักศึกษา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก่อตั้ง ‘ชมรมต่อต้านสินค้าญี่ปุ่น’ ในปี 1970

ขณะนั้น การอ่านและการเขียนถือเป็นพลังทางตัวอักษรแบบหนึ่ง ซีรีส์ภัยหลากสีเกิดขึ้นในฐานะปากเสียงและการไหลเวียนของข้อมูลนักศึกษาได้แก่ ‘ภัยขาว’ (1971) โดยกลุ่มนักศึกษาสภาหน้าโดมแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กล่าวโจมตีท่าทีของรัฐบาลที่ไปร่วมสงครามในอินโดจีนและต่อต้านสหรัฐอเมริกา ส่วน ‘ภัยเขียว’ (1971) จัดพิมพ์โดยนักศึกษากลุ่มวลัญชทัศน์ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โจมตีการสืบทอดอำนาจในกองทัพที่ยึดครองประเทศมายาวนานโดยเผด็จการทหาร ส่วน ‘ภัยเหลือง’ เป็นธีมของสังคมศาสตร์ปริทัศน์ ฉบับเดือนเมษายน 1972 ได้ชี้ให้เห็นถึงภัยคุกคามทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น[1]  ไม่เพียงเท่านั้น หน้าปกของวารสารนี้ยังเป็นภาพการ์ตูนซามูไรอยู่บนปกที่แดงฉาน

กระแสเกลียดชังญี่ปุ่นยังถูกโหมอย่างหนักผ่านกรณี ‘โนกูจิ คิกบ๊อกซิ่ง’ ศิลปะการต่อสู้ใหม่ที่โอซามุ โนกูจิ คิดค้นขึ้นจากการผสมผสานระหว่างคาราเต้และมวยไทย โนกูจิได้เชิญมวยไทยไปแข่งที่โตเกียว และพ่ายแพ้ที่นั่น ในสายตาคนไทยแล้วนั่นคือการจัดฉาก โนกูจิยังมาเปิดกิจการค่ายคิกบ๊อกซิ่งที่ไทย แต่ได้โฆษณาดูถูกมวยไทยจนถูกประท้วงอย่างหนักจนต้องปิดค่ายไป

ความร้อนแรงดังกล่าวทำให้ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.) ออกแถลงการณ์ที่จะต่อต้านสินค้าญี่ปุ่น พร้อมร่างจดหมายยื่นนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ณ สถานทูต ทั้งยังเรียกร้องขอความร่วมมือจากประชาชน 4 ประการ คือ (1) ไม่ซื้อสินค้าญี่ปุ่นทุกชนิด ให้ใช้สินค้าไทยแทน (2) งดใช้บริการสายการบินญี่ปุ่นและใช้บริการสายการบินไทยแทน (3) งดทานอาหารในภัตตาคารญี่ปุ่น และ (4) งดเข้าห้างสรรพสินค้าญี่ปุ่นและห้างที่จำหน่ายสินค้าญี่ปุ่นมากกว่าไทย[2] การรณรงค์ดังกล่าวเกิดขึ้นช่วงพฤศจิกายน ปี 1972

อีกภาพที่ซ้อนกันอยู่คือ อิทธิพลทางวัฒนธรรมต่อเยาวชน ตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1960 การ์ตูนญี่ปุ่นหรือมังงะเริ่มถูกแปลเป็นภาษาไทยในฐานะสินค้าแล้ว มังงะเรื่องแรกๆ คือ ‘เจ้าหนูปรมาณู’ ผลงานของเทตสึกะ โอซามุ ได้รับการตีพิมพ์ใน การ์ตูนเด็ก ฉบับปฐมฤกษ์ ปี 1967 เป็นการตีพิมพ์ที่ซื้อลิขสิทธิ์มา ไม่เพียงแต่มังงะ รายการโทรทัศน์ไลฟ์แอคชั่นและแอนิเมชั่นญี่ปุ่น (ต่อไปจะเรียกว่า อนิเมะ) ก็ได้กลายเป็นรายการยอดนิยมในจอแก้วของไทยอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นอุลตร้าแมน ไอ้มดแดง ฯลฯ รายการเหล่านี้ได้รับความนิยมถึงขนาดมีการดัดแปลงรายการดังกล่าวออกมาเป็นลายเส้นการ์ตูนที่เขียนโดยคนไทย แน่นอนว่าไม่ได้ขออนุญาต และหากมองในมุมกฎหมายอันเคร่งครัดในปัจจุบันนั่นคือ การละเมิดลิขสิทธิ์[3] เสียด้วยซ้ำ การลงทุนในสิ่งพิมพ์แบบไร้ลิขสิทธิ์นี้จะเติบโตอย่างมากในทศวรรษต่อมา

ญี่ปุ่นที่รัก กับการย้ายฐานการผลิตมาไทย และยุคทองของมังงะแปล ไร้ลิขสิทธิ์ ตั้งแต่ทศวรรษ 1980

ข้อตกลง Plaza Accord ในปี 1985 ทำให้เงินเยนของญี่ปุ่นแข็งค่าขึ้นและทำให้ส่งออกได้น้อยลง ส่งผลให้ญี่ปุ่นย้ายฐานการผลิตออกนอกประเทศ โดยมีเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นเป้าหมายสำคัญ ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ร่วมกับอินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ในนาม ASEAN-4 ช่วงนั้นเงินลงทุนจากต่างประเทศซึ่งสืบเนื่องจากกรณีญี่ปุ่นไหลเข้าไทยเพิ่มขึ้น 25 เท่า ในช่วงปี 1985-1990[4] ญี่ปุ่นจึงเนื้อหอมอย่างยิ่งในสายตารัฐบาลและกลุ่มทุนในไทย ผสมผสานกับโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก (Eastern Seaboard) แถบชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทราให้กลายเป็นท่าเรือน้ำลึกที่มาแทนที่คลองเตย จนเกิดย่านนิคมอุตสาหกรรมอย่างกว้างขวางที่เริ่มตั้งแต่ปี 1982 การลงทุนของญี่ปุ่นจึงมาสวมกับโครงสร้างพื้นฐานเช่นนี้ไปด้วย[5]

ในฝั่งของมังงะ ว่ากันว่าช่วงปี 1975-1980 มังงะเป็นที่นิยมแซงการ์ตูนประเภทอื่น นั่นทำให้การแข่งขันของมังงะในตลาดมีขึ้นอย่างเข้มข้น และเป็นการแปลขายแบบละเมิดลิขสิทธิ์ ต่างจากยุคก่อนหน้านี้ มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าทำให้ตลาดการ์ตูนแบ่งเป็น 2 พื้นที่ นั่นคือ มังงะในเขตเมืองหลวง และการ์ตูนไทยเล่มละบาทในเขตชนบท งานวิจัยในปี 2526 พบว่ามังงะได้รับความนิยมสูงกว่าการ์ตูนฝรั่งและไทย นับเป็นร้อยละ 71 ทีเดียว[6]

การมีโทรทัศน์ในบ้านยังไม่ใช่เรื่องที่บ้านทุกหลังจะมีในทศวรรษ 1980 ด้วยวิกฤตการณ์น้ำมันในญี่ปุ่น สตูดิโอผู้ผลิตได้รับผลกระทบ ซีรีส์อุลตร้าแมนสิ้นสุดลง รายการถูกแทนที่ด้วยภาพยนตร์จีนชุด แม้ดูเหมือนจะเป็นขาลง แต่อนิเมะก็กลับมาได้อีกครั้งอย่างยิ่งใหญ่พร้อมกับการ์ตูนอย่าง ‘โดราเอมอน’ ที่ฉายผ่านช่อง 9 ตามมาด้วยเณรน้อยเจ้าปัญญา, คอบร้า ฯลฯ ขณะนั้นอนิเมะครองจอกว่า 2 ใน 3 จากราว 20 เรื่อง ช่วงปี 1983 ความนิยมของโดราเอมอนเพิ่มสูงขึ้น เห็นได้จากการที่มังงะฉบับแปลแบบละเมิดลิขสิทธิ์ได้ถูกตีพิมพ์โดย 7 สำนักพิมพ์ ความโด่งดังของเจ้าแมวหุ่นยนต์สีฟ้ายังเป็นที่วิตกของนักวิจารณ์ กระทั่งจากวงการนักเขียนการ์ตูนไทยก็ยังเขียนคอลัมน์ต่อต้าน แต่สิ่งที่เขาได้รับก็คือ การตอบโต้กลับจากผู้อ่านเด็กๆ ที่ชื่นชอบโดราเอมอน จนทำให้เขาไปไม่เป็น[7]

ดร.สลัมป์ กับ หนูน้อยอาราเล่ และน้าต๋อย เซมเบ้

สังคมไทย เริ่มรู้จักโทริยามะ อากิระผ่านมังงะและอนิเมะขึ้นชื่ออย่าง ดร.สลัมป์ กับ หนูน้อยอาราเล่ มาก่อน งานวิจัยในปี 1983 พบว่าในการประกวดภาพวาดในหัวข้อ ‘การ์ตูนที่ฉบับชอบ’ ที่ส่งมาจากทั่วประเทศ มีภาพการ์ตูนญี่ปุ่นมากถึง 152 ภาพ จาก 213 ภาพ เด็กๆ มักวาดรูปการ์ตูนอย่าง โดราเอมอน, อิ๊กคิวซัง, นินจาฮาโตริ, ดร.สลัมป์ และแคนดี้แคนดี้[8] และจากงานวิจัยเพื่อแสวงหาคุณค่าของอนิเมะในปี 1985 ก็ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่อง ดร.สลัมป์ว่า มีคุณค่าในองค์ประกอบด้านภาพและภาษาในเกณฑ์น้อย ทั้งยัง ‘ไม่สมควรจัดเป็นภาพยนตร์สำหรับเด็กต่อไป’[9] ในด้านภาษาพบว่า มีการพากษ์โดยใช้ศัพท์แสลงบ่อย อาจทำให้เด็กจดจำและนำไปใช้ในโอกาสที่ไม่สมควร ผู้พากษ์ไม่ควรพูดนอกบทมากนัก[10] ยิ่งเมื่อเทียบกับอิ๊กคิวซังและโดราเอมอนที่มีคุณค่าดีกว่าแล้ว ดร.สลัมป์ยิ่งถือว่ามีภาพลักษณ์ที่ย่ำแย่ไปด้วย

ยิ่งในช่วงนั้นเป็นช่วงที่สังคมไทยยังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของความเป็นไทย หลังจากผ่านสงครามเย็น การฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี (ปี 1982) และกำลังก้าวสู่ความเป็นอินเตอร์ทางด้านเศรษฐกิจ ความหมกมุ่นของผู้ใหญ่อยู่กับเยาวชนที่อยู่ในกรอบและระเบียบวินัยอันเป็นผลพวงต่อเนื่องมาจากสงครามเย็นจึงเป็นเรื่องที่เข้าใจได้

ความโด่งดังของ ดร.สลัมป์อาจสะท้อนได้จากฉายาและประวัติของ ‘น้าต๋อย เซมเบ้’ นักพากษ์การ์ตูนชื่อดัง เขาเล่าว่า มีเด็กๆ เขียนจดหมายมาที่ช่อง 9 สัปดาห์ละหลายพันฉบับ จึงต้องมาตอบจดหมายออกอากาศโทรทัศน์ก่อนฉายอนิเมะ ตอนนั้นเขายังไม่มีฉายา เด็กๆ จึงตั้งให้เขาเป็น ‘น้าต๋อย เซมเบ้’ แม้เขาจะอธิบายว่า เพราะตอนนั้นหัวจะฟูๆ เหมือนตัวละคร โนริมากิ เซมเบ้ นักวิทยาศาสตร์สติเฟื่อง[11] แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามาจากความนิยมในอนิเมะดังกล่าวด้วย ดร.สลัมป์จึงได้สร้างชื่อเสียงให้กับนักพากษ์คนสำคัญคนหนึ่งผู้จะส่งอิทธิพลต่อเด็กๆ จำนวนมากในเวลาต่อมา เขายังเป็นเจ้าของเสียงไจแอนท์ หงอคงในช่วงวัยผู้ใหญ่

เข้าใจว่าโลโก้ ‘บ้าครบสูตร’ ของ อารีเฟน นักเขียนการ์ตูนขายหัวเราะก็ได้แรงบันดาลใจมาจาก ดร.สลัมป์ด้วย โปรยหัวเขียนไว้ว่า “เฟน สตูดิโอ เสนอ การ์ตูนบ้าๆ บอๆ ที่ไร้สาระ แต่ไม่มีพิษภัย”

นั่นคือ จุดเริ่มต้นที่ทำให้คนไทยรู้จักผลงานของโทริยามะ อากิระ

สองนครา ประชาอ่าน/ดูการ์ตูนอะไร: ‘ดราก้อนบอล’ รสนิยมที่มากับความเป็นเมือง

ในตลาดมังงะของญี่ปุ่น กระบวนการการผลิตโดยทั่วไปมาจากการที่นักเขียนส่งผลงานไปตีพิมพ์ในนิตยสารที่ตีพิมพ์อย่างสม่ำเสมอ หากเรื่องไหนที่มีแววรุ่งก็รวมเล่มขายอีกที หลังจาก ดร.สลัมป์จบลงในปี 1984 ผู้เขียนก็ได้รับการกระตุ้นให้เขียนเรื่องใหม่อีกครั้ง และเริ่มเขียนในปลายปีเดียวกันลงในนิตยสารโชเน็นจั๊มพ์ รายสัปดาห์ การผลิตเช่นนี้ทำให้ผู้เขียนได้สื่อสารกับผู้อ่านอย่างสม่ำเสมอ นำมาสู่ระบบบรรณาธิการที่เคร่งครัด อันส่งผลต่อผลงานของนักเขียนแต่ละคน

กระบวนการเช่นนี้คล้ายกับที่นักเขียนนิยายเขียนเป็นตอนๆ ตีพิมพ์ในนิตยสารอย่าง สตรีสาร (พ.ศ. 2491) สกุลไทย (พ.ศ. 2497), ขวัญเรือน (พ.ศ. 2511), ลลนา (พ.ศ. 2516), แม่บ้าน (พ.ศ. 2520), ดิฉัน (พ.ศ. 2520), แพรว (พ.ศ. 2520)[12]  ฯลฯ ที่นอกจากมีการตีพิมพ์และมีบทสนทนาจากผู้อ่านแล้ว หากเรื่องใดมีแววว่าจะขายได้ก็จะรวมเป็นนิยายเล่มในเวลาต่อมา เรียกได้ว่าเป็นเวทีแจ้งเกิดของนักเขียนไปด้วย

ไม่มีข้อมูลชัดเจนนักว่า ‘ดราก้อนบอล’ ได้ถูกแปลและตีพิมพ์ครั้งแรกโดยใคร แต่ไม่นานมานี้มีผู้นำเอาปกการ์ตูนชื่อ TV แลนด์ ที่เป็นหน้าปกตัวละครดราก้อนบอลอย่าง หงอคง และบูลม่า มาโพสต์แสดงใน Facebook เขาเล่าว่า สยามสปอร์ตจัดพิมพ์ดราก้อนบอลใน TV แลนด์ต้นปี 1985[13] ซึ่งถือว่าไม่ได้ห่างไกลจากการเริ่มตีพิมพ์ของดราก้อนบอลในญี่ปุ่นมากนัก

ดราก้อนบอลยังถูกขายในรูปแบบมังงะรวมเล่ม ในฐานะมังงะขายดีจึงมีมากกว่าหนึ่งสำนักพิมพ์ที่แย่งลูกค้ากัน เริ่มจากมิตรไมตรี รวมเล่มฉบับละ 10 บาท ส่วนวิบูลย์กิจรวมเล่มฉบับละ 20 บาท บางทีมิตรไมตรีก็รวมเล่มขนาด ‘Xtra’ ตั้งราคาสูงไว้ถึง 50 บาท

‘ดรากอนบอลล์’ โดยสำนักพิมพ์มิตรไมตรี ฉบับรวมเล่ม เล่มละ 10 บาท เล่ม 1, 3, 7 และ 8 จบภาค 1 หน้าปกยังอ้างอิงถึงผลงานเดิมของผู้เขียนอย่าง ดร.สลัมป์อีกด้วย | ที่มา: Aeycartoon
‘ดรากอนบอลล์’ โดยสำนักพิมพ์วิบูลย์กิจ ฉบับรวมเล่ม เล่มละ 20 บาท ความละเอียดของวิบูลย์กิจก็คือ บริเวณสันปกจะบอกปีที่ตีพิมพ์ด้วย จะเห็นเลข 1987 (ในเล่มที่ 4-5) เลข 1988 (เล่มที่ 6-7) และเลข 1989 (เล่มที่ 8) อันเป็นยุคก่อนเคร่งครัดลิขสิทธิ์ | ที่มา: GetBookie

จากข้อเสนอที่ว่า ‘การ์ตูนญี่ปุ่นไร้ลิขสิทธิ์ตีตลาดในเขตเมือง การ์ตูนไทยเล่มละบาทตีตลาดชนบท’ ก็อาจจะเป็นจริง หากดูจากฐานทางด้านเศรษฐกิจ เนื่องจากราคาที่ต่างกันเกือบ 10 เท่า ดราก้อนบอลก็เป็นแบบนั้นเช่นกันที่เด็กในเมืองเข้าถึงได้ง่ายกว่า

วัฒนธรรมการอ่านในสังคมไทยมักจะเปิดกว้างกว่าสำหรับผู้มีรายได้พอสมควรที่จะซื้อการ์ตูนเก็บ สำหรับคนมีเงินไม่มากนัก หากไม่ยืมอ่านต่อจากเพื่อนผู้มีฐานะ ก็จะต้องเข้าร้านหนังสือเช่า พื้นที่แห่งนั้นเคยเป็นที่พึ่งพิงของแฟนๆ นิยายไทยและนิยายจีนกำลังภายในมาก่อน[14] มาถึงทศวรรษ 1980 การ์ตูนญี่ปุ่นเริ่มเข้ามาครองพื้นที่มากยิ่งขึ้น ร้านหนังสือเช่า บางครั้งก็เป็นร้านสำหรับอ่านฟรีของเด็กๆ ไปด้วย แต่ร้านหนังสือเช่าก็ยังคงเป็นพื้นที่ร้านค้าที่อยู่ในย่านเมือง ย่านตลาดเป็นหลัก

การอ่านดราก้อนบอลในฐานะมังงะ ก็ยังเป็นเพียงแพลตฟอร์มหนึ่งที่จำกัดวงอยู่ กว่าดราก้อนบอลจะแมสจริงๆ ก็คงต้องยกให้กับฟรีทีวีที่นำมาฉายออกอากาศ  

การครอบครองโทรทัศน์ในบ้านแต่ละหลังจะเริ่มเติบโตในทศวรรษ 1990 ตัวเลขจำนวนโทรทัศน์ในปี 1989 มีอยู่ 5.98 ล้านเครื่อง แต่พอมาถึงปี 1994 มีมากถึง 10.89 ล้านเครื่อง[15] เมื่อปัจจัยต่างๆ ครบถ้วน การฉายทางช่อง 9 จึงทำให้ดราก้อนบอลกลายเป็นการ์ตูนยอดนิยมที่รู้จักกันไปทั้งบ้านทั้งเมือง (ที่มีทีวีและมีสัญญาณไปถึง) เพราะมีต้นทุนการเข้าถึงที่ต่ำ ไม่จำเป็นต้องเสียค่าใช้จ่าย หรือการเข้าไปในเขตตลาดอีกต่อไป

เช่นเดียวกับการขยายตัวของสินค้าต่อเนื่อง ซึ่งส่วนใหญ่มักไม่เป็นไปตามกฎหมายลิขสิทธิ์ ไม่ว่าจะเป็นสมุดสะสมสติกเกอร์, การ์ดพลัง, หรือของเล่น นอกจากการ์ตูนจะเป็นสิ่งไร้สาระในสายตาผู้ใหญ่ สร้างความก้าวร้าวรุนแรง กระทั่งเป็นสื่อลามกอนาจาร การ์ตูนยังเป็นสิ่งฟุ่มเฟือยอย่างยิ่งที่พรากทั้งเงินและเวลาที่สมควรจะถูกใช้ไปในทางที่ถูกที่ควรมากกว่า

‘Imagined community’ โลกของคนอ่านดราก้อนบอลกึ่งเรียลไทม์

แพลตฟอร์มที่จะเข้าถึงดราก้อนบอลมีตั้งแต่นิตยสารรายสัปดาห์ มังงะรวมเล่ม และอนิเมะที่ฉายทางฟรีทีวี ในยุคแรกๆ ความทันสมัยของเนื้อหาอาจไม่สำคัญนัก การอ่านและดูเอาความเพลิดเพลิน ตลกขบขันตามแก๊กของผู้เขียนยังไม่ได้เร่งเร้าให้ผู้อ่านต้องติดตามอย่างจริงจัง เช่นเดียวกับวัยของผู้อ่านและผู้ชมด้วย

แต่ในยุคหลังๆ ไม่ใช่แบบนั้นอีกต่อไป เนื้อหาที่มีการต่อสู้เข้มข้นมากขึ้น รวมไปถึงวัยของผู้อ่านที่เติบโตเข้าสู่วัยรุ่น ได้ผลักดันความสนใจของพวกเขาไปยังแพลตฟอร์มการเข้าถึงเนื้อหาที่อัปเดตที่สุด ช่องทางนั้นก็คือนิตยสารรายสัปดาห์ สำนักพิมพ์แรกๆ ที่จัดทำนิตยสารการ์ตูนก็คือ การ์ตูนเด็ก, ธิดา, การ์ตูนทีวี, พิริยะสาสน์ มีสำนักพิมพ์หนึ่งที่เดิมไม่ได้มีฐานอยู่ที่มังงะ แต่ก็ตัดสินใจเข้าลงแข่งในสนามนี้ด้วยก็คือ ‘วิบูลย์กิจ’ สำนักพิมพ์นี้เริ่มต้นจาก ทีวีไลน์ ตั้งแต่ปี 1975 อันเป็นหนังสือซึ่งรวมเล่มการ์ตูนอย่างอุลตร้าแมน ไอ้มดแดง และกันดั้ม ที่ผลิตในระบบเก่าโดยใช้กระดาษไขลอกลายเส้นแล้วเขียนแปลไทยอีกครั้ง ความสำเร็จของทีวีไลน์ ทำให้วิบูลย์กิจขยับไปทำการ์ตูนรวมเล่มอย่างคอบร้าและโดราเอมอน

จากนั้นกระแสมังงะได้เปลี่ยนไป มังงะเรื่องใหม่ๆ มีลักษณะเป็นเรื่องราวต่อเนื่อง ไม่ใช่การ์ตูนแก๊กจบในตอน สำนักพิมพ์วิบูลย์กิจจึงตัดสินใจจัดทำ The Zero ขึ้นมาในปี 1984 ว่ากันว่า เส้นทางการ์ตูนแปลไทยแบบเดิมนั้น จะเลือกต้นฉบับจากนิตยสารการ์ตูนญี่ปุ่นหลากหลายหัว จากแผงหนังสือที่สนามหลวงบ้าง ร้านหนังสือญี่ปุ่นในเมืองไทยบ้าง จากนั้นก็จะเลือกเรื่องยอดนิยมออกมารวมเล่ม มังงะจะเป็นระบบหนังสือที่อ่านจากซ้ายไปขวา ดังนั้น เมื่อนำมาต้นฉบับมาก็ต้องนำมากลับด้าน ถ่ายเอกสารและดราฟต์เส้น แต่งเส้นให้คมชัดขึ้น รวมไปถึงการลงซาวด์เอฟเฟกต์ภาษาญี่ปุ่นและเขียนภาษาไทยทับลงไป[16]

ช่วงที่ตลาดมังงะแปลไทยแข่งขันกันอย่างหนักหน่วงก็คือ ทศวรรษ 1990 ที่เศรษฐกิจบูม หนังสือพิมพ์ขายออกมาเกลื่อนปก สำนักพิมพ์ต่างๆ ได้ผลิตนิตยสารการ์ตูนรายสัปดาห์ที่ต้องมีดราก้อนบอลเป็นเรื่องเด่นในฉบับเช่น The Zero ของวิบูลย์กิจ, The Talent ของมิตรไมตรี, Nova ของหมึกจีน, Xtra ของแนวหน้า ซึ่งเป็นทุนหนังสือพิมพ์ที่ผันตัวมาลงทุนกับตลาดมังงะ

ในยุทธจักรของการตีพิมพ์ดราก้อนบอลรุ่นนั้น The Talent อยู่ในเบอร์ต้นๆ แต่ก็ต้องกล่าวว่า ก่อนหน้านั้นมิตรไมตรีได้ออก ชิวกังวีคลี่ มาก่อน และทำมากว่า 3 ปี แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ จึงเปลี่ยนไปฟอร์มเล่มใหม่ อันเป็นที่มาของ The Talent คราวนี้ประกอบด้วยการ์ตูนดังอย่างดราก้อนบอล เซนต์เซย่า อีโต้ เจ้าหนูสิงห์สนาม ซิตี้ฮันเตอร์ ซึบาสะ และหมัดเพชฌฆาตดาวเหนือ เป็นเรื่องหลัก ซ้ำยังตั้งราคาที่ 10 บาท ต่ำกว่า The Zero ที่ปรับราคาไปแล้ว ทั้งยังตั้งใจออกให้เร็วกว่า The Zero เพียง 1 วัน The Talent เริ่มวางแผงเมื่อต้นปี 1988 คู่แข่งอย่าง The Zero จึงต้องปรับเปลี่ยนมาออกในวันพฤหัสบดีเช่นกัน แต่ The Talent ก็ปรับหนีมาเป็นวันพุธ ความรวดเร็วนี้ให้ความสำคัญกับเรื่องดราก้อนบอลเป็นหลัก โดยเฉพาะคุณภาพภาพที่ได้มาจากการส่ง fax จากญี่ปุ่นก็เพื่อเอาชนะด้านเวลา[17]

ผู้เขียนทันอ่าน The Talent ที่คุณภาพการตีพิมพ์ระดับ fax ดราก้อนบอลจัดอยู่ในขั้นเลวร้าย คนรุ่นนั้นจึงอ่าน The Talent เพื่อเอาเนื้อหาที่แทบจะตามญี่ปุ่นทันสัปดาห์ต่อสัปดาห์ คนไทยยุคนั้นจึงเข้าใกล้ภาวะการอ่านแบบ ‘realtime’ คล้ายคลึงกับการเช่าวิดีโอหนังซูมชนโรงที่มีผู้ละเมิดลิขสิทธิ์เอากล้องวิดีโอเข้าไปถ่ายในโรงภาพยนตร์เพื่อถ่ายวิดีโอมาให้เช่า ระหว่างที่ภาพยนตร์ยังฉายอยู่

เมื่อมีการพิมพ์จากต่างสำนักกัน การแปลชื่อเสียงเรียงนามของตัวละครอาจมีต่างกัน เช่นตัวละครเอกอย่าง ซุนหงอคง ซึ่งเป็นชื่อที่ทับศัพท์มาจากตัวละครเอกในไซอิ๋วที่คนไทยคุ้นเคย ซึ่งไม่แปลกนักเพราะแก่นเรื่องของดราก้อนบอลตอนแรกนั้นมีความเกี่ยวข้องกับไซอิ๋วแบบปฏิเสธไม่ได้ ต่อมาก็มีชื่อเด็กจำนวนมากเรียกกันก็คือ ‘โงกุน’ ที่มาจากช่อง 9 การ์ตูน แต่ในภายหลังก็ใช้ ‘โกคู’ ตามฉบับลิขสิทธิ์ที่ผูกขาดการพิมพ์และแปลไปแล้ว

นั่นคือ โลกาภิวัตน์ในโลกการ์ตูน ในยุคที่ลิขสิทธ์ยังเป็นคนแปลกหน้าในสังคมไทย

การเอาจริงของตลาดมังงะ กับ กฎหมายลิขสิทธิ์ 1994

จะเป็นแรงกดดันของประชาคมโลกหรือผู้มีอิทธิพลทางการเมืองหรือเศรษฐกิจก็ตาม ไทยได้ปรับเปลี่ยนกฎหมายลิขสิทธิ์ออกมาในใหม่ในนาม พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ ปี 1994 ช่วงปลายยุคทองของเศรษฐกิจไทย เรื่องลิขสิทธิ์ส่งผลกระทบต่อวงการการ์ตูนญี่ปุ่นแปลโดยตรง ทั้งมังงะรวมเล่มและมังงะที่อยู่ในนิตยสารรายสัปดาห์

มีอยู่ไม่กี่บริษัทที่จมูกไว กระโจนเข้าหาน่านน้ำใหม่ก่อนที่กฎหมายใหม่จะคลอด พวกเขาอาจไม่แน่ใจว่า กฎหมายใหม่จะสร้างความยุ่งยากให้การซื้อและจัดการลิขสิทธิ์กว่าเดิมหรือไม่ มีบริษัทหนึ่งได้ประกาศเปรี้ยงในปี 1992 ว่าเขาได้ลิขสิทธิ์ดราก้อนบอล และการ์ตูนอีกหลายเรื่องมาครอบครองแล้ว[18]

เมื่อเทียบกับสำนักพิมพ์ที่แข่งกันมา วิบูลย์กิจปรับตัวไปสู่สำนักพิมพ์ที่ซื้อลิขสิทธิ์มาแปลก่อนเพื่อน ขณะที่มิตรไมตรีและหมึกจีนนั้นไม่ได้เดินตาม วิบูลย์กิจยกเลิกการผลิตแต่เดิมทั้งหมด ออกมังงะฉบับแรกคือ จิ๋วพลังอึด และนิตยสารรายสัปดาห์ฉบับแรกคือ VIVA Friday ตามมาด้วยฉบับอื่นๆ แต่ฉบับเรือธงก็ต้องเป็น KC Weekly ส่วนเครือสยามสปอร์ตที่เห็นโอกาสก็ออกนิตยสารชื่อว่า C-Kids ขณะที่เครือเนชั่นได้จับตลาดใหม่และซื้อลิขสิทธิ์ทำนิตยสารที่ชื่อว่า Boom

ทั้งสามสำนักพิมพ์คือบิ๊กทรีของยุคใหม่แห่งมังงะลิขสิทธิ์ ดราก้อนบอลได้รับการตีพิมพ์อยู่ใน Boom ซึ่งมีไซส์ที่ใหญ่กว่าพ็อกเก็ตบุ๊ค เข้าใจว่าเป็นขนาดเดียวกับต้นฉบับที่ตีพิมพ์รายสัปดาห์ที่ญี่ปุ่น เช่นเดียวกับ C-Kids ขณะที่ KC-Weekly ยังคงขนาดเดิมแบบ The Zero

ดังนั้น ดราก้อนบอลรวมเล่มจึงถูกวางฟอร์แมตใหม่หมด และถูกผลิตมาตามข้อกำหนดของบริษัทจากญี่ปุ่น จนกระทั่งดราก้อนบอลอวสานในปี 1995 นับเวลาได้ราว 1 ทศวรรษนับจากที่พบว่ามีการแปลเป็นภาษาไทย ผู้อ่านได้เติบโตจากเด็กที่ก้าวไปสู่วัยรุ่น หลายคนอยู่ในชั้นมัธยมปลาย อีกไม่น้อยเข้าเรียนระดับมหาวิทยาลัยไปแล้ว

ดราก้อนบอลอวสานในช่วงโค้งสุดท้ายของความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจของไทยและเอเชีย วิกฤตต้มยำกุ้งในไทยและอีกหลายแห่งในภูมิภาคในปี 1997 ทำให้วงการธุรกิจระส่ำระสาย ธุรกิจสิ่งพิมพ์ก็เลี่ยงไม่พ้น

‘เซนเซอร์หัวนมโกฮัง 2012’ มรดกรัฐประหาร?

ผลกระทบของดราก้อนบอลต่อสังคมไทยน่าจะเงียบหายไปพร้อมกับการอวสานของมังงะ แต่ความจริงไม่เป็นเช่นนั้น ความวิตกว่าอนิเมะที่ฉายทางโทรทัศน์จะนำมาสู่พฤติกรรมลอกเลียนแบบและความเสื่อมเสียทางศีลธรรมยังคงอยู่เสมอ อันที่จริงความวิตกถึงภัยทางวัฒนธรรมต่างชาติ การเรียกร้องหาศีลธรรมแบบอนุรักษนิยม และการอิงตัวเองกับความเป็นชาวพุทธนั้นมีอยู่เสมอ เสียงของพวกเขาดังขึ้นเรื่อยๆ หลังรัฐประหาร 2006 การโหยหาคนดีและศีลธรรมจรรยาในสังคมเป็นเรื่องที่ถูกตอกย้ำอยู่ไม่ขาด โดยเฉพาะเมื่ออำนาจรัฐประหารทำให้การเมืองแบบประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพถอยหลัง ซึ่งเราเห็นได้ชัดอยู่แล้วทางการเมือง

สำหรับสังคมอุดมรัฐประหาร โทรทัศน์ถือว่าเป็นช่องทางสำคัญและหัวใจในการยึดอำนาจที่ทรงพลานุภาพมาหลายทศวรรษ รัฐประหาร 2006 ได้ยุบไอทีวีและก่อตั้งทีวีสาธารณะขึ้นมาด้วยความหวังดี ตรงกันข้ามกับการเกิดขึ้นของไอทีวีที่เป็นผลพวงมาจากการควบคุมสื่อตอนพฤษภาทมิฬ 1992

ผู้เขียนเห็นว่าการเซนเซอร์การ์ตูนคือภาคขยายของการเข้ามาควบคุม เช่นเดียวกับการกำหนดเรตผู้ชมรายการโทรทัศน์จากคณะรัฐประหาร ว่ารายการไหนเด็กดูได้ หรือควรระมัดวัง ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ถูกใช้กับภาพยนตร์ การขึ้นสัญลักษณ์เตือนนี้เริ่มตั้งแต่ปี 2007 ไม่นานหลังมีการรัฐประหารภายใต้รัฐบาลขิงแก่[19]  

แม้การเซนเซอร์ฉากที่ไม่เหมาะสมในฟรีทีวีอาจเป็นเรื่องเข้าใจได้ แต่หากมันมากไป ก็ทำให้กลายเป็นเรื่องตลก เราคงไม่ติดใจอะไรกับการทำภาพเบลอตอนชิซูกะอาบน้ำ แต่อาจจะรู้สึกทะแม่งๆ ต่อการเซ็นเซอร์ชินจัง แต่ที่กลายเป็นเรื่องล้อเลียนกันในวงกว้างก็คือ การเซ็นเซอร์หัวนมโกฮังเมื่อปี 2012 มันเป็นฉากที่โกฮังกำลังจะกลายร่างเป็นลิงยักษ์ ซึ่งเป็นอนิเมะ ‘Dragon Ball Z Kai’ ที่นำมาทำใหม่ตั้งแต่ภาคชาวไซย่าบุกโลก (ฉลองวาระ 20 ปีของการออกอากาศอนิเมะ Dragon Ball Z ตั้งแต่ปี 1989)

ดราก้อนบอลและโทริยามะ อากิระที่ไม่มีวันตาย บนสายพานการผลิตแบบทุนนิยม

ดราก้อนบอลภาคหลังจากนั้น ถือเป็นการสร้างสรรค์ที่แตกยอดออกมา และไม่ได้เป็นผลงานทั้งหมดของโทริยามะ อากิระ มังงะและอนิเมะดราก้อนบอลของโทริยามะ อากิระจึงเป็นตัวแทนสัญลักษณ์แห่งความเรืองโรจน์ของเศรษฐกิจญี่ปุ่นและยุคทองของเศรษฐกิจไทยก่อนฟองสบู่จะแตก เป็นป๊อบคัลเจอร์ที่จบชีวิตของมันลงไปก่อนสหัสวรรษใหม่มาเยือน เช่นเดียวกับเด็กและเยาวชนที่โตมาพร้อมกับพวกเขาที่อาจจะไม่ได้ติดตามมังงะจริงจังมากเท่าเดิมอีกแล้ว พร้อมกับกระแสเจป๊อบอื่นๆ ก็ได้เติบโตขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นเพลงหรือภาพยนตร์

แต่ชีวิตของดราก้อนบอลก็ไม่จบลงง่ายๆ ทั้งในฐานะสินค้าที่ถูกผลิตซ้ำในรูปแบบมังงะ เกม ฟิกเกอร์สินค้าพรีเมียมต่างๆ หรือการแตกหน่อออกมาในรูปแบบมังงะต่อเนื่องอย่าง Dragon Ball GT (1996-1997) Dragon Ball Super (เริ่ม 2015 ภาคนี้โทริยามะเป็นคนแต่งเนื้อหา) ดราก้อนบอลจึงเหมือนไม่ได้หนีจากเราไปไหนเลย โดยเฉพาะเมื่อไม่นานมานี้บริษัทผลิตขนมขบเคี้ยวได้นำการ์ดพลังดราก้อนบอลกลับมาเป็นของแถมขนมอีกครั้ง[20]

แม้โทริยามะ อากิระจะยังคงอยู่อย่างแข็งแกร่งในฐานะแบรนด์และเจ้าของลิขสิทธิ์ แต่เราก็มิอาจลืมวัยหนุ่มของเขาที่สร้างตัวละคร เครื่องจักร และอื่นๆ มาจากภาพยนต์ดังอย่างสตาร์วอร์ส หรือสัตว์ประหลาดไคจูต่างๆ

บัดนี้ เป็นช่วงเวลาที่ระบอบทรัพย์สินที่จับต้องไม่ได้ทรงพลังและมีอิทธิพลมากขึ้นเรื่อยๆ สิ่งที่อาจตายจากไปหลังจากนี้ก็คือ ตัวตนของโทริยามะในวัยหนุ่มที่ไต่เส้นเล่นกายกรรมอยู่บนทรัพย์สินทางปัญญา ไม่ว่าเราจะมองมัดด้วยมุมมองอะไรก็ตาม แต่ภายใต้อำนาจและอิทธิพลของระบอบลิขสิทธิ์ เรื่องเล่าในวัยหนุ่มเช่นนั้น อาจไปกันไม่ค่อยได้กับชีวิตในวัยผู้ใหญ่และการกลายเป็นเบอร์ต้นๆ ของนักเขียนมังงะไปแล้วก็ได้ เช่นเดียวกับประวัติศาสตร์ของนักเขียนการ์ตูนเงาทั้งหลายในยุคไร้ลิขสิทธิ์ในสังคมไทย ที่แทบจะเลือนหายไปแล้วจากหน้าประวัติศาสตร์


[1] สุทธิพัฒน์ กนิษฐกุล. “FROM PAGES TO THE ROAD เมื่อหน้ากระดาษพาเธอ/เขาลงถนนใน 14 ตุลาคม 2516”. CONT. สืบค้นเมื่อ 26 มีนาคม 2567 จาก https://cont-reading.com/context/14oct16/ (14 ตุลาคม 2563)

[2] อัจฉราพร แสนอาทิตย์, “อุดมการณ์ชาตินิยมของนักศึกษาไทยกับการต่อต้านสินค้าญี่ปุ่นใน พ.ศ. 2515”, วารสารญี่ปุ่นศึกษา, 30 : 2 (ตุลาคม 2556-มีนาคม 2557) : 115-117

[3] นิโคลาส เวร์สแตปเปิน, การ์ตูนไทย ศิลปะและประวัติศาสตร์, ชนิดา อรวัฒนานนท์ แปล(กรุงเทพฯ : ริเวอร์ บุ๊คส์, 2564) หน้า 212-214

[4] ประชาชาติธุรกิจ. “รู้จัก “พลาซา แอคคอร์ด” ที่ทำให้ญี่ปุ่นย้ายฐานผลิตมาอาเซียน และ “ไทย” ได้ประโยชน์สูงสุด”. สืบค้นเมื่อ 21 มีนาคม 2567 จาก https://www.prachachat.net/world-news/news-1469894 (29 ธันวาคม 2566)

[5] สุพริศร์ สุวรรณิก. “ย้อนรอยนโยบายเศรษฐกิจไทยในอดีต”. สืบค้นเมื่อ 21 มีนาคม 2567 จาก https://www.bot.or.th/th/research-and-publications/articles-and-publications/articles/Article_09Nov2020.html

[6] นิโคลาส เวร์สแตปเปิน, เรื่องเดียวกัน, หน้า 212

[7] นิโคลาส เวร์สแตปเปิน, เรื่องเดียวกัน, หน้า 215

[8] สมคิด ปลอดโปร่ง, การศึกษาคุณค่าทางการศึกษาของภาพยนตร์การ์ตูนญี่ปุ่น ที่ฉายทางโทรทัศน์ วิทยานิพนธ์ ครุศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาประถมศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2528, หน้า 3

[9] สมคิด ปลอดโปร่ง, เรื่องเดียวกัน, หน้า 132

[10] สมคิด ปลอดโปร่ง, เรื่องเดียวกัน, หน้า 123

[11] ผู้จัดการออนไลน์. “”น้าต๋อย เซมเบ้” : ชีวิตจริงยิ่งกว่าการ์ตูน”. สืบค้นเมื่อ 26 มีนาคม 2567 จาก https://mgronline.com/entertainment/detail/9580000069594 (22 มิถุนายน 2558)

[12] ผู้จัดการออนไลน์. “เรื่อง (ไม่) ลับ “สกุลไทย”..อดีต ปัจจุบัน และก้าวต่อไป”. สืบค้นเมื่อ 26 มีนาคม 2567 จาก https://mgronline.com/live/detail/9590000094943 (21 กันยายน 2559) และ อุบลวรรณ ปิติพัฒนะโฆษิต และอวยพร พานิช, 100 ปีของนิตยสารสตรีไทย (พ.ศ.2431-2531) รายงานวิจัย คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2532, หน้า 36, 39, 54, 57-58, 68, 70-71

[13] Comic2hand. “ดรากอนบอล ปกแรกที่วาด”. สืบค้นเมื่อ 22 มีนาคม 2567 จาก https://www.facebook.com/photo/?fbid=994475795369318&set=a.640489614101273 (11 มีนาคม 2567)

[14] ภิญโญ ประเสริฐสม, การดำเนินงานและการให้บริการของร้านเช่าหนังสือในกรุงเทพมหานคร วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาบรรณารักษศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2527

[15] สุพลธัช เตชะบูรณะ, จาก “โรสซาวด์ มิวสิค” สู่ “บริษัท อาร์เอส จํากัด (มหาชน)”  พ.ศ. 2525-2552 : การศึกษาประวัติศาสตร์ธุรกิจ วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2559, หน้า 41 และ 90

[16] ยอดมนุษย์..คนธรรมดา. เรื่องเดียวกัน

[17] ทำไมถึงเจ๊ง. “ถอดกรณีศึกษา TALENT การ์ตูนรายสัปดาห์ อันดับ 1 (?) ในยุคไร้ลิขสิทธิ์ เขาทำได้ไง ?”. Facebook. สืบค้นเมื่อ 26 มีนาคม 2567 จาก https://www.facebook.com/100064821906098/posts/612247519283491/ (19 มิถุนายน 2562)

[18] ยอดมนุษย์..คนธรรมดา. เรื่องเดียวกัน

[19] สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ. “สัญลักษณ์ความเหมาะสมในรายการทีวี”. สืบค้นเมื่อ 24 มีนาคม 2567 จาก https://www.thaihealth.or.th/สัญลักษณ์ความเหมาะสมใน/ (19 กรกฎาคม 2553)

[20] SME Thailand Club “โอเดงย่า ต้นตำรับขนมแถมการ์ดเกมในไทย กับ 30 ปีการกลับมาที่วันนี้มูลค่าพุ่งสูงกว่าใบละแสนบาท”. สืบค้นเมื่อ 26 มีนาคม 2567 จาก https://www.smethailandclub.com/entrepreneur/7528.html (1 พฤศจิกายน 2564)

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save