fbpx

นำเที่ยวป๋างควาย เวียงหนองหล่ม

ครั้งที่จบแพทย์แล้วไปทำงานที่จังหวัดเชียงรายเมื่อ พ.ศ. 2526 ตอนที่ไปเห็นทะเลสาบเชียงแสนครั้งแรกก็ทำให้ตกตะลึงพรึงเพริดกับความงดงาม ความสงบ ธรรมชาติเขียวขจี และอาทิตย์ตกดินที่เปลี่ยวเหงา อาจจะเพราะตัวเองเป็นคนกรุงเทพฯ เติบโตมากับสวนลุมพินีที่เดียวจึงรู้สึกประทับใจทะเลสาบเชียงแสนเป็นพิเศษ ไม่เคยเห็นแหล่งน้ำจืดอะไรจะมโหฬารและสวยเท่านี้มาก่อนเลยในชีวิต

เมื่อเริ่มต้นทำงานชีวิตก็อยู่แต่ในโรงพยาบาล นานๆ ครั้งจึงได้ออกไปดูชนบท กลับไปทะเลสาบเชียงแสนทีไรรู้สึกว่าเล็กลงทุกทีๆ ไม่รู้ว่าเล็กลงจริงๆ หรือเป็นเราคิดไปเอง เวลานั้นพบฝูงควายขนาดใหญ่บ้างบางครั้ง พบทีไรก็ตื่นตาตื่นใจเพราะเป็นฝูงใหญ่มาก มีควายทุกขนาด จอดรถนั่งดูควายนับร้อยเล่นน้ำหรือเดินไปมาหาหญ้ากินได้นานๆ ไม่รู้เบื่อ เห็นเด็กเลี้ยงควายในวันธรรมดาบ้างก็อดสงสัยมิได้ว่าไม่ต้องไปเรียนหนังสือหรืออย่างไร

จนกระทั่งเกษียณจากราชการจึงได้ขับรถสำรวจเชียงรายจริงๆ ด้วยตนเองเป็นครั้งแรก มุดเข้าออกทุกถนนที่ไปได้จนกระทั่งวันหนึ่งขับเข้าไปในป๋างควายบริเวณเกาะแม่หม้ายโดยไม่รู้ตัว คือเกาะที่แม่หม้ายผู้ไม่กินปลาไหลเผือกยังอาศัยอยู่ ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของวัดป่าหมากหน่อ คนแถวนั้นเรียกว่าป๋างควายมิใช่ปางควาย คือบริเวณที่ควายอยู่อาศัยเป็นบ้านและที่หากิน วันแรกในป๋างควายผมพบฝูงควายที่น่าจะใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยเห็นในชีวิต คะเนจำนวนเกินร้อยตัวเล่นน้ำอยู่หน้าเกาะนั้นเอง ตัวดำมะเมื่อมมากมายดำผุดดำว่ายในหนอง พอคนเลี้ยงควายเรียกขึ้นก็ขึ้นกันเป็นแพสีดำน่าดูมาก ชาวบ้านบอกว่าถ้าอยากเห็นอีกให้ขับลึกเข้าไปอีก

รถที่ใช้ขับเคลื่อนสองล้อ ฝนไม่ตกแต่ถนนลูกรังที่เห็นก็ชุ่มน้ำเห็นได้ชัด มีบริเวณกรวดหินแห้งที่พอไปได้ ด้วยไม่รู้ประสาอะไรเพราะทำเป็นอย่างเดียวคือเป็นหมอก็ขับเข้าไป ลัดเลาะไปตามพื้นที่ที่เรียกว่าพื้นที่ชุ่มน้ำเวียงหนองหล่มเป็นครั้งแรกในชีวิตแล้วก็ไค่ต๋ายอยากเขกหัวตัวเองมัวแต่ไปอยู่ไหนมากว่าจะได้มาเห็นป๋างควายนี้ก็อายุมากแล้ว พื้นที่เขียวชอุ่ม ฝูงควายหลายฝูง มีหอดูนกตั้งอยู่อ่านป้ายจึงรู้ว่าเป็นเขตดูนก เงยหน้าก็เห็นเหยี่ยว มองไปทางไหนมีแต่น้ำและสีเขียวสดใส นกตัวใหญ่ๆ ขายาวๆ บินไปมาเป็นครั้งๆ ทราบดีว่าการติดหล่มเป็นเรื่องไม่สนุกแน่ โดยเฉพาะในสถานที่ที่ไร้ผู้คนนอกจากคนเลี้ยงควายหรือเด็กเลี้ยงควายที่เห็น แต่ความตื่นเต้นก็บดบังความกลัวไปเสีย

นับจากนั้นผมพาแขกส่วนตัวไปป๋างควาย บ้านห้วยน้ำฮากทุกครั้งถ้ามีใครอยากไป คนเมืองออกเสียงว่าห้วยน้ำฮากไม่รู้หน่วยราชการที่ไหนมาเปลี่ยนเป็นห้วยน้ำรากตั้งแต่เมื่อไร แน่นอนว่าเป็นสถานที่อันซีนใช้เวลาพอสมควร หากไปกันก็จะไม่มีเวลาไปเที่ยวสถานที่เช็กอินยอดนิยมของจังหวัดเชียงราย ทุกครั้งที่ไปก็เปิดเส้นทางใหม่ทุกครั้งจึงพบว่าถนนลูกรังลัดเลาะไปได้จนถึงบริเวณรอบทะเลสาบเชียงแสนด้านเหนือและบ้านป่าสักหลวงด้านใต้ จากเดิมที่ไม่ค่อยชอบเปิดกูเกิลขับรถโดยเฉพาะในสถานที่ที่ถนนไม่ค่อยเหมือนถนนแบบนี้ วันหนึ่งก็อดเปิดดูไม่ได้แล้วก็อยากเขกหัวตัวเองอีกครั้งหนึ่งว่าไม่เคยรู้เลยว่าจากหนองใหญ่บริเวณหลังวัดหนองเกี๋ยง ตำบลจันจว้า ไปจนถึงบึงใหญ่อีกสองบึงบริเวณวัดกิ่วพร้าว ยังมีหนองน้ำเรียงรายขึ้นเหนือผ่านทะเลสาบเชียงแสนไปจนเกือบถึงวัดธาตุเขียวที่ริมแม่น้ำโขง นี่คือพื้นที่ชุ่มน้ำขนาดมโหฬารที่ธรรมชาติช่วยดูแลให้มากี่พันปีไม่ทราบได้ อย่างน้อยก็น่าจะตั้งแต่วันที่ชาวเมืองกินปลาไหลเผือก

ช่วงโควิด น่าจะประมาณ พ.ศ. 2563 เล่าลือกันว่ารองนายกรัฐมนตรีและทีมงานขึ้นลงศาลากลางฯ หลายครั้ง จะมีโครงการพัฒนาเวียงหนองหล่มมูลค่าสามพันล้านบาท สารภาพว่านาทีแรกก็มีคำถามในใจว่าสมมติประชาชนเชียงรายคนหนึ่งอยากค้าน จะให้ยกมือค้านที่ไหนหรือไปยื่นคำร้องที่ไหน โดยเฉพาะถ้าประชาชนคนนั้นมิใช่เกษตรกรผู้ใช้น้ำ มิใช่คนเลี้ยงควายผู้ใช้พื้นที่ชุ่มน้ำเลี้ยงควาย มิใช่แม้กระทั่งชนชั้นแรงงานที่ใช้แรงงานเป็นหลัก แต่เป็นชนชั้นกลางที่เรียนแพทย์และไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับแหล่งน้ำหรือวิชาการพัฒนาแหล่งน้ำ แค่รู้สึกเป็นห่วงสิ่งแวดล้อม เป็นห่วงสิ่งแวดล้อมแต่ความรู้ไม่มีนี่มีสิทธิยกมือแสดงความคิดเห็นหรือหรือตั้งคำถามได้หรือเปล่า 

แล้วจะไปทำได้ที่ไหน

สงสัยต่อไปว่าหากเรื่องนี้เกิดที่ญี่ปุ่น หรือเกิดที่อังกฤษ หรือเกิดที่เนเธอร์แลนด์ ประชาชนจะแสดงความคิดเห็นได้ที่ไหนตั้งแต่ต้นก่อนที่การพัฒนาจะเริ่มต้น

เนื่องจากช่วงโควิดไปไหนมิได้มากนัก ผมกลับเข้าไปป๋างควายบ่อยขึ้น ขับรถรอบปางฮุ้งได้จนชำนาญทาง เข้าทางวัดป่าหมากหน่อขับออกทะเลสาบเชียงแสนได้โดยไม่ต้องใช้แผนที่ ไหว้พระทุกวัดที่ตั้งอยู่กระจัดกระจายพื้นที่เก่าแก่แถบนี้ แต่พบควายน้อยลงทุกที น้อยลงทั้งความถี่ จำนวน และบริเวณหากิน เห็นคันดินที่ไม่เคยเห็นแบ่งพื้นที่น้ำเป็นส่วนๆ โดยไม่รู้ว่าเขาเรียกว่าอะไรและกำลังจะทำอะไร กลับเข้าไปทีไรคันดินใหญ่ขึ้น ยาวขึ้น และดูเหมือนจะสูงขึ้น อาจจะเป็นเพราะระดับน้ำดูเหมือนจะลดลง จำนวนรถยักษ์ขนาดใหญ่ชื่อต่างๆ เรียงรายมากขึ้น ฝุ่นแดงคละคลุ้ง สีเขียวลดลง ก็ไม่ถึงกับเป็นทะเลทรายแต่ความชุ่มชื้นของดินหายไปหมด แม้ตัวเองจะไม่เคยติดหล่มบริเวณนี้เลยเพราะขับรถด้วยความระมัดระวังสูงสุดมาโดยตลอดแต่ถึงวันนี้ไม่ต้องห่วงอะไรอีกแล้ว ดินแห้งอัดแน่นแข็งปึ้กขับรถฝุ่นตลบไม่เห็นรถตามหลัง

อ่านข่าวความเดือดร้อนของคนเลี้ยงควายก็ว่ามีการส่งคำร้องไปตามขั้นตอนราชการทีละขั้นๆ อย่างเป็นรูปธรรมแต่ความช่วยเหลือไม่มาหรือมาก็ไม่เพียงพอ

เกษตรกรส่วนใหญ่ของอำเภอแม่จันและเชียงแสนจะได้ประโยชน์ระยะยาวจากโครงการนี้จริงๆ นะ ก็ไม่รู้จะไปถามใคร 

การที่คนส่วนใหญ่ได้ประโยชน์จำเป็นต้องสร้างความเสียหายให้คนส่วนน้อยหรือธรรมชาติอย่างหลีกเลี่ยงมิได้เป็นความจริงหรือ สาขานี้ไม่มีวิชาการอะไรช่วยมิให้เรื่องนี้เกิดขึ้นเลยหรือ 

บ้างว่าคนเลี้ยงควายได้ประโยชน์จากการใช้ที่สาธารณะมาช้านานควรถึงเวลาต้องจ่ายบ้าง เราสามารถคุยกันเรื่องวิธีการจ่ายบ้างหรือจ่ายคืนได้หรือเปล่า 

และคำถามสุดท้ายคือสามพันล้านบาทนี่คุ้มค่าจริงๆ นะ ข่าวว่าโครงการใหญ่ประกอบด้วยโครงการย่อยหลายสิบโครงการ แต่ละโครงการย่อยคุยกันรู้เรื่องแน่นะ

กระจายอำนาจคืออะไร แปลว่าอะไร ไม่น่าจะแปลว่าเลือกตั้งส่วนท้องถิ่นแล้วก็เสร็จ ไม่น่าจะแปลว่ามีผู้ใหญ่บ้านและกำนันแล้วก็เสร็จ ไม่น่าจะแปลว่ามีสำนักงานของหน่วยราชการสาขาต่างๆ แล้วก็เสร็จ ไม่แม้กระทั่งแปลว่าเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดแล้วก็เสร็จ อยากได้คำอธิบายชัดๆ ชาวบ้านฟังง่ายๆ ว่ากระจายอำนาจหน้าตาเป็นอย่างไร หากย้อนเวลาไปประชาชนเชียงรายทำอะไรได้บ้างก่อนที่โครงการเมกะโปรเจ็กต์ระดับนี้จะเริ่มต้น

เป็นภาวะคุกคามที่คืบคลานเข้ามาป๋างควายในห้วงเวลาเงียบสงัดของโควิด-19 ระยะหลังเห็นฝุ่นที่ครอบคลุมพื้นที่ก็รู้สึกไม่อยากขับรถเข้าไปอีกแล้ว

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save