fbpx

150 ปี ‘ดรุโณวาท’ : สิ่งพิมพ์ของยุวชนชั้นนำและคำสอนของคนหนุ่มสยาม ในยุคแสวงหาอำนาจแบบอาณานิคม

ก่อนที่ชนชั้นนำรุ่นรัชกาลที่ 5 แห่งรัตนโกสินทร์จะยึดครองอำนาจได้อย่างเบ็ดเสร็จ พวกเขาต่างอยู่ภายใต้อิทธิพลทางการเมืองของ ‘ตระกูลบุนนาค’ ที่ครอบครองทั้งอำนาจทางการเมืองและทางเศรษฐกิจ รวมไปถึงการคุมกำลังพล กลุ่มที่อยู่รายรอบยุวกษัตริย์ที่มีพื้นฐานความรู้ภาษาอังกฤษและมีความสนใจใคร่รู้เกี่ยวกับความเป็นไปของโลกตะวันตกอย่างจริงจังก็พยายามสร้างปริมณฑลแห่งการจัดการความรู้และอำนาจขึ้นมาเพื่อแข่งขัน คนในตระกูลบุนนาคผู้เคยขึ้นชื่อว่าเป็นคนหัวก้าวหน้าในสมัยหนึ่งได้กลับกลายเป็นผู้อาวุโส ไม่เพียงเท่านั้น ในสายตาของพวกเขาแล้ว คนมากอายุเหล่านี้คือผู้ขัดขวางความเจริญก้าวหน้า เมื่อเป็นเช่นนั้น การปะทะกันทางแนวคิดและปฏิบัติการทางการเมืองจึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะเกิดขึ้น

บทความนี้จะพาผู้อ่านไปพบกับหนังสือพิมพ์ ดรุโณวาท ที่บางคนถือว่าเป็นหนังสือพิมพ์ที่พิมพ์โดยคนไทยฉบับแรก ตามหลังหนังสือพิมพ์ของชาวตะวันตก ดรุโณวาท เปรียบเสมือนโครงการทางการเมืองสยามหนุ่ม เริ่มพิมพ์ในปี 2417 แต่มีอายุแสนสั้น คืออยู่ได้เพียง 12 เดือนเท่านั้น

ที่ควรจับตาก็คือ ช่วงเวลาที่หนังสือพิมพ์นี้ถือกำเนิดคือช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของอำนาจกษัตริย์หนุ่ม สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค ต่อไปขอเรียกว่า สมเด็จช่วงฯ) เป็นผู้ทรงอิทธิพลทางการเมืองสูง คือเป็นทั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในยามที่กษัตริย์ยังไม่บรรลุนิติภาวะ และยังมีผลประโยชน์อยู่ที่การค้าและการเก็บภาษี ฉากทางการเมืองช่วงดังกล่าวจึงมิได้เกิดในเขตพระนครเท่านั้น แต่ยังสัมพันธ์กับพื้นที่สื่อและความเป็นไปในดินแดนอาณานิคม หรือกระทั่งในระดับนานาชาติ

การเห็นโลก (อาณานิคม) และการเติบโตของ ‘หนุ่มสยาม’

การเดินทางไปทัศนศึกษาดินแดนอาณานิคม อันได้แก่การเยือนสิงคโปร์ของอังกฤษ และปัตตาเวีย เสมารังของฮอลันดาในปี 2413 กินเวลา 38 วัน กับทริปในปีต่อมาอย่าง สิงคโปร์ มะละกา มะละแหม่งและย่างกุ้งแห่งพม่า และอินเดียของอังกฤษ ซึ่งใช้เวลาถึง 92 วัน มากกว่าเดิมถึงเกือบ 3 เท่า ประสบการณ์เหล่านี้ทำให้พวกเขาได้ไปพบเห็นโลกที่แปลกตา ไม่ว่าจะเป็นสถาปัตยกรรมและการทำงานของรัฐแบบอาณานิคม เช่น โรงทหาร ไปรษณีย์ โรงเรียน โรงพยาบาล ที่ทำการโทรเลข โรงกษาปณ์ โรงงานผลิตปืน สวนสัตว์ โรงงานจ่ายน้ำประปา โรงงานทอกระสอบ อู่ต่อเรือ กระทั่งเรือรบ การได้นั่งเรือกลไฟและรถไฟ[1] ขณะนั้นแม้กระทั่งในเมืองหลวงของสยามก็ยังไม่อาจเทียบเทียมได้

นอกจากสถานที่แล้ว ยังได้พบประชากรในดินแดนอาณานิคมตะวันตกอันหลากหลาย ประสบการณ์เหล่านี้จึงเป็นมากกว่าภาพหรือตัวหนังสือที่เห็นผ่านหนังสือหรือตำราที่แล้วมา ว่ากันว่ารัชกาลที่ 5 ใช้เวลารวมแล้วกว่า 200 ชั่วโมง (8 วัน) อยู่บนตู้รถไฟ เดินทางจากกัลกัตตา ฝั่งตะวันออก ไปยังบอมเบย์ ฝั่งตะวันตก และพื้นที่แถบอินเดียตอนเหนือรวมกว่า 47 วัน[2] การเป็นสักขีพยานการหดเข้าของเวลาและพื้นที่ผ่านกลจักรสมัยใหม่อย่างรถไฟยิ่งเป็นการเปิดหูเปิดตาสู่ภูมิศาสตร์แบบอาณานิคมที่ต่างจากการเดินทางในสยามอย่างฟ้ากับเหว

ผู้ที่ติดตามไปด้วยในครั้งนั้นมีเจ้านายพระราชวงศ์ 6 คน เสนาบดีและขุนนางอีก 23 คน เฉพาะเจ้านายล้วนเป็น ‘น้องชาย’ ทั้งสิ้น แต่ละคนมีอายุตามลำดับดังนี้ พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้ากฤษดาภินิหาร (16 ปี) , พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าสุขสวัสดิ์ (16 ปี), สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี (15 ปี), พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าอุณากรรณอนันตรนรไชย (15 ปี), พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงศ์ (13 ปี), สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าภาณุรังสีสว่างวงศ์ (12 ปี) ขณะนั้นรัชกาลที่ 5 เป็นหนุ่มอายุราว 18 ปี[3] รวมไปถึงขุนนางหนุ่มอย่างเจ้าพระยาภาณุวงศ์ มหาโกษาธิบดี (ท้วม บุนนาค) อายุ 41 ปี, นายราชาณัตยานุหาร (พร บุนนาค) อายุ 22 ปี, หลวงศัลยุทธวิธีกรรม์ มหาดเล็กรักษาพระองค์ (เจิม แสงชูโต) อายุ 20 ปี[4] คนกลุ่มนี้อาจกล่าวได้ว่าคือขุมกำลังคนหนุ่มช่วงต้นรัชกาลก็ว่าได้

หลังจากการเสด็จประพาสอินเดียของรัชกาลที่ 5 และเหล่าคนหนุ่ม มีการตั้ง ‘สมาคมหนุ่มสยาม’ ขึ้นมา บางคนเห็นว่า รัชกาลที่ 5 อาจได้แรงบันดาลใจมาจากกลุ่ม ‘เบงกอลหนุ่ม’ เมื่อคราวที่ไปเยือนอินเดียในปี 2414[5] สิ่งที่ต่างกันคือกลุ่มเบงกอลหนุ่มมีนัยของการตอบโต้ประเทศเจ้าอาณานิคม แต่สยามหนุ่มนั้นเรียนรู้เพื่อช่วงชิงอำนาจจากชนชั้นนำ และเปิดประตูสู่การสร้างจักรวรรดิสยามขึ้นมา การมองไปข้างหน้าของกลุ่มยุวกษัตริย์จึงมีพลังแบบตะวันตกภายใต้กลไกแบบอาณานิคมเป็นแรงขับดันสำคัญ

กลไกการเมืองใหม่ Council of State และ Privy Council กับ ความเปลี่ยนแปลงนานา

พิธีราชาภิเษกครั้งที่ 2 ปี 2416 นอกจากจะเป็นจุดเปลี่ยนในการก้าวขึ้นสู่ฐานะกษัตริย์ผู้บรรลุนิติภาวะแล้ว ยังมีความพยายามจะสร้างอำนาจต่อรองด้วยหลายกระบวนท่า ไม่ว่าจะเป็นประกาศการยกเลิกหมอบกราบ[6] เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการจัดความสัมพันธ์มูลนายกับไพร่ (ซึ่งประกาศนี้ได้ถูกนำมาเป็นข้อความต่อสู้ทางการเมืองในยุคหลังในมุมมองแบบเสรีนิยม เพื่อโต้แย้งกับการหมอบกราบในกระแสราชาชาตินิยมที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้การยืนเข้าเฝ้าอย่างเสมอหน้าถูกทำให้กลายเป็นเรื่องผิดปกติ) อย่างไรก็ตาม ในบริบทดังกล่าวก็เพื่อแสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าของพวกเขาที่เรียนรู้มาจากโลกตะวันตก โครงการที่ท้าทายคนรุ่นเก่าเยี่ยงนี้ก็มิได้เป็นเรื่องที่น่ายินดีของผู้ใหญ่ในยุคนั้น แม้กระทั่งพระสงฆ์ผู้ใหญ่ก็ยังมีท่าทีที่ไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกการหมอบกราบ ข้อเสนอดังกล่าวจึงไม่เป็นที่พอใจแก่ผู้ทรงอำนาจทั้งในปริมณฑลของอาณาจักรและพุทธจักรที่ยังยึดแน่นกับจารีตประเพณีเดิมที่สร้างสถานะอันสูงส่งให้แก่พวกเขา

การจัดตั้งหอรัษฎากรพิพัฒน์ เมื่อปี 2416 ตามแบบกระทรวงการคลังในตะวันตก ก็เพื่อสร้างกลไกที่รวมศูนย์อำนาจในการจัดเก็บรายได้เข้าสู่ศูนย์กลาง จากเดิมที่กระจัดกระจายอยู่ตามหัวเมือง ซึ่งมีเจ้าเมืองหาผลประโยชน์ภายใต้ระบบกินเมือง หรือระบบเจ้าภาษีนายอากรที่ผลประโยชน์ไม่ได้ตกสู่รัฐบาลอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ความยากของกิจการนี้ก็คือต้องพยายามต่อรองไม่ให้ตระกูลขุนนางใหญ่สูญเสียประโยชน์จนมาขัดขวางกระบวนการดังกล่าว[7]

รัฐสภาของยุโรปหลายประเทศที่เป็นระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญเป็นกลไกทางการเมืองที่แสดงความเป็นอารยะ แต่โดยแก่นแล้ว มันคือการควบคุมอำนาจกษัตริย์ผ่านสภาเพื่อปันอำนาจของกลุ่มอำนาจต่างๆ ในรัฐ แต่กรณีนี้ สยามหนุ่มใช้เพื่อต่อรองอำนาจของสมเด็จช่วงฯ เพื่อเพิ่มอำนาจของกษัตริย์ มากกว่าจะใช้เพื่อควบคุมกษัตริย์แบบชาติตะวันตก

มีการจัดตั้งสภาอยู่ 2 ส่วน ส่วนแรกคือ ‘เคาน์ซิลออฟสเตต’ (Council of state) ในฐานะสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน ที่มีสมาชิกสภาคือ ‘เคาน์ซิลลอร์ออฟสเตต’ (Councillor of state) หรือที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าน่าจะได้แนวคิดมาจาก Conseil d’etat ของฝรั่งเศสในสมัยที่นโปเลียน โบนาปาร์ตตั้งขึ้นเพื่อร่างและตีความกฎหมายต่างๆ ตลอดจนแก้ไขข้อขัดข้องทางราชการ[8] ส่วน ‘ปรีวีเคาน์ซิล’ (Privy council) หรือ สภาที่ปรึกษาราชการในพระองค์ ‘ปรีวีเคาน์ซิลลอร์’ (Privy councillor) หรือที่ปรึกษาราชการในพระองค์ เป็นที่ปรึกษาให้กษัตริย์[9] อาจกล่าวได้ว่ากลไกนี้คือความพยายามสร้างปริมณฑลทางการเมืองใหม่ขึ้นมาเพื่อถ่วงดุลอำนาจทางการเมืองกับผู้มีอิทธิพลเดิม และเสริมอำนาจให้กับเครือข่ายหนุ่มสยาม

ภายในเคาน์ซิลออฟสเตต มีข้อถกเถียงทางกฎหมายที่เกี่ยวเนื่องกับอำนาจของกลุ่มอิทธิพลต่างๆ ในสังคมสยาม ซึ่งเกี่ยวกับการปฏิรูปการคลังอันจะนำไปสู่การรวมศูนย์การจัดเก็บรายได้ที่ส่งผลกระทบต่อรายได้ของตระกูลใหญ่ หรือกฎหมายเกี่ยวกับการคุมกำลังพลอย่าง พระราชบัญญัติพิกัดเกษียณอายุลูกทาสไทย ร.ศ.93[10](พ.ศ.2417) ซึ่งในขณะนั้นไม่ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่โตอะไรนัก เพราะว่ากว่าจะส่งผลก็อีกหลายสิบปีต่อมา แต่ในเชิงสัญลักษณ์แล้ว นี่คือความสำเร็จของการสร้างภาพลักษณ์กษัตริย์หนุ่มผู้ก้าวหน้าในสายตาชาวโลก เช่นเดียวกับประกาศยกเลิกการหมอบกราบก่อนหน้านี้

‘ดรุโณวาท’ ปากกระบอกเสียงของหนุ่มสยาม ในปี 2417

หนังสือพิมพ์ที่ชื่อ ดรุโณวาท ก็เป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่ทำหน้าที่สื่อมวลชน ตรวจสอบวิจารณ์ผู้มีอำนาจที่แท้จริงในขณะนั้น ปีเดียวกันนั้นได้มีการจัดทำสิ่งพิมพ์อย่าง ราชกิจจานุเบกษา มาก่อน แต่ถือเป็นข่าวอย่างเป็นทางการของราชสำนักที่เป็นเพียงประกาศ ไม่ได้มีการตีพิมพ์บทความวิพากษ์วิจารณ์ใด (อันที่จริงสมัยรัชกาลที่ 4 ก็มีการตีพิมพ์แต่ไม่ต่อเนื่อง) ด้วยลักษณะแจ้งข่าวของมันจึงทำให้มีชีวิตยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน ต่างไปจากดรุโณวาทที่อายุแสนสั้น เนื่องจากปัญหาการวิพากษ์วิจารณ์นั้นเอง ดังจะกล่าวต่อไปในตอนจบ

พึงเข้าใจก่อนว่า สยามมีผู้จัดทำหนังสือพิมพ์ในประเทศเพียงแต่มีเจ้าของเป็นชาวตะวันตก และพบว่ามีการหมุนเวียนข้อมูลข่าวสารจากตะวันตกผ่านหนังสือพิมพ์ และสื่ออื่นๆ อยู่บ้างแล้ว แสดงให้เห็นถึงสังคมการอ่านของชนชั้นนำในยุคนั้น นอกจากหนังสือเป็นเล่มแล้ว หนังสือพิมพ์จะเป็นการอัปเดตข่าวความเคลื่อนไหวรอบโลกที่กำลังหมุนอย่างรวดเร็วในสมัยของพวกเขาไปด้วย เช่นการอ้างถึงหนังสือพิมพ์ ธิเมส (น่าจะ Times) ของลอนดอน[11]

ดรุโณวาท ถูกผลิตขึ้นโดยเจ้านายและเครือข่ายคนหนุ่มชนชั้นนำ จึงมีความพิเศษที่น่าพิจารณาควบคู่ไปกับโลกทัศน์และปฏิบัติการของพวกเขา แม้ว่าเจ้าของ ดรุโณวาท มีพระองค์เจ้าเกษมสันต์โสภาคย์เป็นบรรณาธิการและผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา แต่บุคคลสำคัญในขณะนั้นที่ว่ากันว่า ‘หัวรุนแรง’ และฝีปากกล้า ที่มักแสดงออกผ่านบทความใน ดรุโณวาท อยู่เนืองๆ ก็คือ พระยาภาสกรวงษ์ (พร บุนนาค) แม้ว่าจะเป็นคนจากสายตระกูลบุนนาค และเป็นน้องชายคนละแม่กับสมเด็จช่วงฯ แต่หากพิจารณาตำแหน่งทางราชการแล้วเขาคือราชเลขานุการ, จางวางมหาดเล็ก และผู้บังคับบัญชากรมการทหารมหาดเล็กด้วย[12] เขายังเป็นผู้ตามเสด็จคราวไปเยือนสิงคโปร์และอินเดีย

ตราสัญลักษณ์ของ ดรุโณวาท เป็นภาพวาดของเด็กที่อยู่ในท่าที่ต่างกันเรียงเป็นตัวอักษรครบทุกตัว ใต้โลโก้เป็นคำว่า “เปนหนังสือจดหมายเหตุรวบรวมข่าวในกรุง แลต่างประเทศ แลหนังสือวิชาการช่างต่างๆ ภอเปนที่ประดับปัญญาคนหนุ่ม ตีพิมพ์ออกอังคารละหน” [13] นอกจากวัตถุประสงค์ที่บรรณาธิการได้ระบุก็คือ “หวังจะให้เปนเครื่องบำรุงปัญญาแก่คนเด็กคนหนุ่ม, ที่จะเจริญในภายน่า, จะได้รับราชการฉลองพระเดชพระคุณ, ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวต่อไป” [14]

คลังคำมีน้อย เลยต้องทับศัพท์

นอกจากเนื้อหาแล้วสิ่งหนึ่งที่โดดเด่นก็คือ การ ‘ทับศัพท์’ และการ ‘แปล’ ภาษาอังกฤษมาเป็นภาษาไทย หรือบาลีสันสกฤตในยุคที่มีศัพท์ใหม่ๆ เข้ามาและสยามยังไม่มีคลังคำมากพอจะรับความเปลี่ยนแปลงนั้น เช่น โปลิติกาล (political) คือ ความในราชการ, ฟอรินย์นวิศ (foreign news) คือ ข่าวต่างประเทศ, แอดเวอร์ติศเมนต์ (advertisement) คือ การบอกราคาสินค้าและการเลหลัง, โปรเวีรบ์ (proverb) คือ หนังสือสุภาษิตเครื่องสอนใจ, ไซเอนซแอนด์ไฟน์อารต์ (science and fine art) คือ ตำราการแสดงแบบแผนวิทยาการต่างๆ, โปยตริแอนด์ดรัมมา (poetry and drama) คือ หนังสือบทกลอน กาพย์ โคลง ฉันท์, เฟเบลอ (fable) คือ นิยายและนิทานเก่าใหม่, เยเนอราลนวีศ์ (general news) คือ จดหมายเหตุการณ์เล็กน้อยซึ่งเป็นข่าวในกรุงและนอกกรุง[15]

ข่าวจาก ‘โทรเลข’ ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ช่วยเปิดช่องรับรู้ข่าวสารมาจากนอก ผู้เชี่ยวชาญบางท่านชี้ว่า ข่าวจากโทรเลขก็คือข่าวที่บอกรับบริการจากประเทศต่างๆ ที่คล้ายกับการซื้อข่าวจากสำนักข่าวต่างประเทศมาอีกที ขณะนั้น กรุงเทพฯ ยังอยู่ในช่วงตั้งไข่สำหรับรัฐบาลสยาม กว่าจะจัดตั้งกรมโทรเลขก็ล่วงมาถึงปี 2418 แล้ว[16] ดังนั้นคำว่า ‘โทรเลข’ ก็ยังไม่มีในสยาม จึงได้ทับศัพท์คำว่า telegraph เป็น ‘ตะแลบแกรบ’ [17] บ้าง ‘ตะเลกราบ’ [18] บ้าง ‘ตะเลปแครฟ’ [19] บ้าง

การแปลข่าวหรือการเรียบเรียงความรู้จากโลกภายนอกที่มีศูนย์กลางอยู่ที่ยุโรปก็นับเป็นสิ่งที่คนรุ่นใหม่ให้ความสนใจอยู่ไม่น้อย จึงไม่แปลกที่จะพบคำใหม่ๆ เสมอจากการแปลข่าวจากหนังสือพิมพ์ต่างประเทศหรือความรู้ต่างๆ การแปลความรู้จากต่างประเทศยิ่งเป็นคลังคำใหม่ที่พวกเขาไม่เคยพบ เช่น เปนิมสุลา (penisula), คอเวอร์นแมนต์ (government)[20] สัพเยก (subject), เสบเตมเบอ (September), เรือโบท (boat), โปลิด (police), สเตรตเสตเตลเมนต์ (strait settlement), เลบเตอร์แนนต์ (lieutenant)[21], ดีโปลมาติก (deplomatic), เรซิเดนต์ (resident) [22] ยีโอโลยี (geology) [23] หากไม่สังเกตดีๆ จะอ่านผ่านศัพท์บางคำที่เป็นตำแหน่งหน้าที่การงาน ซึ่งเป็นคำตะวันตกเช่น สายัน (sergeant) หรือคำที่เราคุ้นเคยอย่าง กัปตัน (captain)[24]

คลังคำศัพท์ที่จำกัดทำให้ ดรุโณวาท กลายเป็นบันทึกการเปลี่ยนผ่านของภาษาในช่วงนั้นได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้เทคนิคการเรียงพิมพ์ยุคดังกล่าวนอกจากจะมีการจัดย่อหน้าแล้ว ยังมีการใช้ ‘comma’ ใส่เข้าไปทำการเว้นวรรค ซึ่งเป็นอิทธิพลการเขียนแบบตะวันตก ที่ปัจจุบัน ในสายตาของผู้เชี่ยวชาญภาษาไทยแล้วไม่ถูกต้องตามหลักของเขา

พื้นที่และเวลาแบบเดิม กับ การเผชิญกับพื้นที่และเวลาแบบอาณานิคม

ภายหลังกลับจากการเยือนต่างประเทศอย่างสิงคโปร์ ปัตตาเวีย และเสมารัง บนเกาะชวา เมื่อปี 2413 กษัตริย์หนุ่มก็ให้สร้างพระที่นั่งหลังใหม่ นั่นคือ พระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร เป็นอาคารตึกสูงสองชั้น บริเวณหลังหมู่พระที่นั่งชุดแรกที่ยังคงอยู่ในระหว่างการก่อสร้างซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมที่มีหน้าตาและพื้นที่ภายในแบบตะวันตก อันเป็นปฐมบทก่อนจะเกิดพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทอีกหลายปีต่อมา (และเป็นประเด็นทางการเมืองกับศิลปะที่ต้องยอมเปลี่ยนแบบจากหลังคาแบบฝรั่งมาเป็นหลังคาทรงยอดด้วย) และเมื่อแล้วเสร็จก็ย้ายจากพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน[25] อันเป็นพระที่นั่งดั้งเดิมที่ใช้มาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ในจักรวาลวิทยาแบบเดิม

การตีพิมพ์ชื่อเจ้าแผ่นดินและผู้ครองแผ่นดินในประเทศต่างๆ ทั้งในยุโรป[26] และเอเชีย ที่ได้ระบุประวัติการขึ้นครองอำนาจ ได้ปรากฏการทับศัพท์และผสมศัพท์ที่แปลกตา เช่น “เอมเปเรอราชาธิราชของกรุงออศเตรีย แลกิงบรมราชาของฮังคารีแลโบฮิมเมีย” หรือ “เอมเปเรอราชาธิราชของกรุงเยอรมนี แลกิงบรมราชาของกรุงปรุศเซีย” โดยเฉพาะกลุ่มคำนี้คล้ายกับคำนิยามของกษัตริย์สยามที่ว่าด้วยดินแดนหลักของตนคือสยาม ส่วนดินแดนลาว มลายู และกะเหรี่ยงเป็นดินแดนรองลงมาดังที่เขียนไว้ในเอกสารอื่นว่า “แผ่นดินสยามเหนือใต้ แลเป็นบรมราชาธิราชในเมืองใกล้เคียง คือ ลาวเฉียง ลาวกาว มลายู กระเหรียงแลอื่นๆ” ที่กล่าวถึงไปเบื้องต้น สยามขณะนั้น จึงสามารถสร้างจุดอ้างอิงกับระบบการเมืองการปกครองระดับนานาชาติในฐานะเจ้าอธิราชแบบอาณานิคมแบบหนึ่งได้เช่นกัน แม้จะยังไม่สามารถรวบอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จได้ในขณะนั้น

เรื่องของเวลาก็เป็นประเด็นหนึ่งที่น่าสังเกต เอกสารอยู่บนฐานเวลาแบบสยามที่นับศักราชแบบ ‘จุลศักราช’ ซึ่งศักราชแบบ ‘รัตนโกสินทรศก’ ยังไม่ถูกนำมาใช้ จนกว่าจะถึงปี 2431[27] ขณะนั้น การนับปฏิทินแบบจันทรคติจึงเป็นหลักใหญ่ของหนังสือพิมพ์ ดังที่เห็นจากหัวหนังสือพิมพ์ยังนับวันแบบ วัน เดือน นับข้างขึ้นข้างแรม แล้วตามด้วยปีจุลศักราช อย่างไรก็ตาม ความลักลั่นที่มีเกิดจากการปะทะกันของการไหลเวียนของข้อมูลข่าวสารที่เชื่อมมาจากโลกอาณานิคมโดยรอบ นั่นคือ ปฏิทินแบบสุริยคติ ที่นับบนฐาน ‘คฤศตศักราช’ และเริ่มนับขึ้นปีใหม่ในวันที่ 1 มกราคม ดังนั้น การแปลเวลาของข่าวจึงต้องใช้เดือนแบบฝรั่งทับศัพท์ไป เช่น ‘วันที่ 22 เดือนยูน’ [28] ที่หมายถึง วันที่ 22 มิถุนายน

ข่าวสารที่ไหลเวียนอยู่ในหนังสือพิมพ์เล่มนี้ เผลอๆ จะมีเรื่องราวของต่างประเทศมากเสียกว่าเรื่องในดินแดนตนเสียอีก โดยเฉพาะในดินแดนประเทศราชเดิมอย่าง ‘ล้านนา’, ‘ล้านช้าง’ และ ‘ปาตานี’ ที่ถือว่าห่างไกลทั้งในเชิงกายภาพและการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร กลายเป็นว่า ดรุโณวาทสามารถเล่าเรื่องราวของการครองราชย์ของกษัตริย์ในยุโรปได้อย่างไม่เคอะเขิน ราวกับเป็นข่าวไฮโซในหน้าหนังสือพิมพ์ปัจจุบันที่จำต้องใส่ใจและมีความรู้ติดตัวไว้

การตีพิมพ์ ‘พระราชพงษาดารไท’ เป็นอีกด้านหนึ่งที่ชี้ให้เห็นถึงความเก่าแก่ของสยามที่ย้อนไปถึงจุลศักราช 712 (พ.ศ.1893) เมื่อแรกสถาปนากรุงศรีอยุธยาที่เริ่มต้นด้วยพระเจ้าอู่ทอง การมีเมืองประเทศราชที่กว้างขวางตามเอกสารว่า เมืองมะละกา, ชวา, ตะนาวศรี, ทวาย, เมาะตะมะ, เมาะลำเลิง, สุโขทัย, พิษณุโลก ฯลฯ และมีการปราบ ‘ขอมแปรภัตร’ [29] สิ่งเหล่านี้ไม่เพียงแสดงถึง ‘สำนึกทางประวัติศาสตร์’ แต่เป็นการเล่าประวัติศาสตร์ในสำนึกแบบอาณานิคมที่ย้อนไปเขียนอธิบายถึงอำนาจทางการเมืองของตนที่มีต่อดินแดนต่างๆ เพื่อสร้างความชอบธรรมไปด้วย

ข่าวการเมืองและความไม่สงบ การสังเกตการณ์บ้านเมืองระดับโลก

ชนชั้นนำสยามไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยวท่ามกลางกระแสการเมืองโลก พวกเขาติดตามข่าวสาร ส่วนหนึ่งได้รับการแปลมาอยู่ในดรุโณวาท เช่น ข่าวสงครามกลางเมืองในสเปน ที่ขณะนั้นสเปนได้เปลี่ยนมาเป็นสาธารณรัฐเป็นครั้งแรกหลังจากที่กษัตริย์สละราชบัลลังก์[30] โดยมีเนื้อความกล่าวถึงว่า “ที่เมืองสเปน พวกดิปัปบลิก (หรือ ลีพับลิก) กับ พวกดองกาโลด ยังรบกันอยู่ที่เมืองเอศเดลลา เยเนราลดอนชามีไชชะนะ แล้วตีที่สำคัญแตกที่หนึ่ง, พวกคองกาโลดเสียท่า, แล้วก็ถอยกองทัพไปที่อาลวา” [31] ในเวลาต่อมาก็เล่าเรื่องนายพลที่ต้องอาวุธตายเพื่อเข้าไปตีค่ายดองกาโลด พวกลีพับลิกแตกยับเยิน[32] รายงานข่าวนี้จากสเปนยังมีมาเรื่อยๆ  แสดงให้เห็นถึงความสนใจใคร่รู้ต่อเหตุสงครามกลางเมืองเช่นนี้

ที่อินเดีย มีการเล่าข่าวว่าด้วยข้าวยากหมากแพง เพราะขาดน้ำ เนื่องจากฝนน้อย มีผู้ทำเรื่องร้องเรียนให้รัฐบาลลงทุนขุดคลองที่เมืองมคธราฐ ที่ใช้งบราว 5 แสนชั่ง แต่กลายเป็นว่ารัฐบาลไม่เชื่อ ในที่สุดก็ต้องใช้เงินซื้อข้าวเลี้ยงราษฎรผู้อดอาหารเป็นเงินถึงล้านชั่งแทน[33]

มีข่าวจากอังกฤษว่าด้วยการรบในทวีปแอฟริกา รบกับพวก ‘อาชันตี’ และมีเหตุการณ์ข้าวยากหมากแพงที่เมือง ‘บังกะหล่า’ (เบงกอล?) ซึ่งเป็นอันตรายต่อ ‘สับเยก’ (subject) [34]

พวกเขายังเป็นสักขีพยานการเปลี่ยนโฉมการเดินเรือของโลกจากข่าวการขุดคลองสุเอซ หรือ ‘สุเอซกแนล’ ที่อิยิปต์ในฐานะ ‘คลองลัดต่อทเลแดง กับ ทเลมดิเตอร์แรเนียน’ เชื่อมยุโรปกับเอเชียแทนการเดินทางอ้อมแหลมกู๊ดโฮป อย่างไรก็ตาม มีปัญหาการเมืองขึ้น เนื่องจากการข้ามคลองคิดค่าธรรมเนียมสูงจึงถูกเรียกร้องให้ลด ไม่งั้นจะปิดคลองประท้วง[35]

ข่าวสาร ในฐานะปฏิบัติการทางการเมือง

ดรุโณวาท ก่อตั้งขึ้นมาในช่วงไล่เลี่ยกันกับเคาน์ซิลออฟสเตด จึงเป็นช่องทางเผยแพร่ข่าวสารด้วย อย่าง ‘ข่าวเคาน์ซิลลอร์ออฟสเตต’[36] ได้รายงานว่ามีการจัดทำพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒสัตยา ณ พระที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัติ แล้วแจ้งไว้ว่ามีคนขาดพิธีหนึ่งนาย นั่นคือพระยาราชเสนา เพราะติดไปราชการเมืองตาก ต่อมาก็มีพิธีถือน้ำพระพิพัฒสัตยาปรีวีเคาน์ซิล ครั้งนี้เจ้าหมื่นไวยวรนาถป่วยจึงไมได้เข้าประชุม[37] ขณะที่มีประเด็นว่า รัชกาลที่ 5 จะให้พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้ากฤดาภินิหารลาผนวชเพื่อมารับตำแหน่งปรีวีเคาน์ซิล[38] ซึ่งกลายเป็นข้อถกเถียงต่อมาระหว่างผู้ลาผนวชกับหนังสือพิมพ์ดรุโณวาทเพื่อแก้ไขข้อความให้เหมาะสมไปอีกหลายฉบับ

การลงข่าวสร้างความเป็นศูนย์กลางให้กับอำนาจของกษัตริย์ก็เป็นที่น่าสนใจ นอกจากรายงานข่าวในพระราชสำนักอย่างประปรายแล้ว ได้มีการเล่าถึงประวัติของรัชกาลที่ 5 เคียงคู่กับกษัตริย์ในเอเชียอย่างพม่า จีน ญี่ปุ่น และเปอร์เซีย มีเพียงญี่ปุ่นที่ได้เปลี่ยน “คอลสติตูชั่น, กฎหมายธรรมเนียมราชการแผ่นดินตามอย่างยุโรป” ส่วนกษัตริย์พม่านั้นยึดอำนาจพี่ชายและขับไล่จากราชสมบัติ ขณะที่ประวัติของรัชกาลที่ 5 นั้นระบุว่า “พระบรมราชวงษานุวงษ, แลท่านเสนาบดีข้าราชการทั้งปวง, พร้อมกันโวดถวายให้พระองค์สืบราชอิศยศ, แทนพระบรมชนกนารถ” คำว่า ‘โวด’ นั้นหมายถึง Vote นั่นเอง [39] การแสวงหาความรู้ทางการเมืองใหม่ๆ ยังปรากฏในบทความที่มีการนำคำแปลรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาโดยหมอบรัดเลย์ที่ลงในบางกอกรีคอร์เดอร์ โดยตัดแบ่งลงมาเป็นตอนๆ [40]

 ข่าวพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ที่ 2 แห่งรัสเซีย เยือนอังกฤษ ได้แฝงเนื้อความสนับสนุนนโยบายพัฒนาประเทศของรัชกาลที่ 5 โดยเฉพาะ ‘การเลิกทาศ’ เห็นจากเนื้อความบรรยายว่า กษัตริย์องค์นั้นได้เปลี่ยนธรรมเนียมกรุงรัสเซียให้ยุติธรรมหลายอย่าง “ท่านเหว่าเป็นมนุษด้วยกัน, มนุษย์ซึ่งเปนใหญ่ควรจะช่วยมนุษซึ่งเป็นผู้น้อยให้มีความศุขเจริญขึ้น, ถ้าจะเลิกความกดขี่แลจะเตือนปัญญา…จึ่งได้มีพระราชดำรัศสั่งให้เลิกความกดขี่, ความมีเลขมีทาษมีบ่าว…” ทั้งยังได้จัดการทหารให้แข็งแรงขึ้น การชำระโทษโดยลงอาญาก็ให้เลิก ไม่ให้ใช้ไม้หวายเฆี่ยนตี จัดโรงเรียนสอนหนังสือ เก็บภาษีเอง ไม่ใช้เจ้าภาษีอากร รวมถึงให้ราษฎรในหัวเมืองเลือกคนแทนตัวเพื่อปรึกษาเจ้าเมือง[41]

ยังได้มีการวิจารณ์ตระลาการบางคนที่ “มีใจโลภหลง, มิได้กลัวพระราชอาญาจักรแลพุทธจักร, ก็แสวงหาผลประโยชน์ใส่ตัวโดยโวหาร, ละทิ้งการยุติธรรมเสียหารังเกียจแก่บาปไม่, ตัดสินคดีเหนแก่หน้าแลอามิศ, เข้าด้วยฝ่ายโจทยฝ่ายจำเลย, เพราะยังไม่มีธรรมเนียมกระทำสัตย์สาบาลถวาย” [42]  ซึ่งนำมาเปรียบเทียบกับเคาน์ซิลลอร์ออฟสเตตและปรีวีเคาน์ซิล นั่นหมายถึงการไม่ได้ยึดโยงกับกษัตริย์นั่นเอง

ข่าวอาชญากรรม ที่ปรากฏในดรุโณวาทเป็นการลักขโมยเล็กๆ น้อยๆ เช่น วิ่งราวขวดเหล้าบรั่นดี, วิ่งราวหีบเสื้อ-หีบผ้า, วิ่งราวผ้าลาย, ลักกางเกงแพรดำ, แย่งชิงเงิน, วิ่งราวหีบใส่เงิน หรือกรณีอื่นๆ อย่างเมาสุราแล้วเที่ยวด่าคนมีชื่อ[43] แม้จะดูเหมือนเป็นข่าวทั่วไป แต่มันสะท้อนความไม่สงบสุขของบ้านเมืองในเขตกรุงเทพฯ ยิ่งข่าวที่มีการพาดพิงว่าเป็นบ่าวของผู้มีอำนาจรับผิดชอบโดยตรงยิ่งแสดงให้เห็นความพยายามวิจารณ์ผ่านหน้าหนังสือพิมพ์ เช่น จับอ้ายเอี่ยม ทาสของเจ้าพระยายมราช (เฉย ยมาภัย) ขณะนั้นเป็น ‘ประธานาธิบดี’ ในกรมพระนครบาล ถือศักดินา 10,000 ไร่ [44] ท้ายข่าวยังลงไว้ว่า

ท่านจะเหนไปว่าข้าพเจ้าแกล้งบอกชื่อคนร้ายว่าเปนบ่าวของท่าน, จะให้ชื่อท่านเสียไปเพราะท่านเลี้ยงบ่าวที่ชั่ว, ให้มีความเดือดร้อนต่อแผ่นดินนั้นหามิได้, ที่ข้าพเจ้าบอกชื่อคนร้าย, แลบอกว่าเปนบ่าวของท่านด้วยนั้น, เพราะข้าพเจ้าเข้าใจว่า ท่านทั้งปวงคงจะไม่ปราฐนาจะให้บ่าวของท่านไปเที่ยวทำร้ายแก่ราษฎรที่บ่าวของท่านกระทำความไม่ดีเช่นนี้…ก็ปรารฐนาจะให้ท่านทั้งปวงทราบ, จะได้กำชับกดขี่บ่าวไพร่ของท่าน, ไม่ให้กระทำความชั่วต่อไป, ภายน่าราษฎรจะได้อยู่เย็นเป็นศุขทั่วกัน[45]  

กระทั่งข่าวประหารชีวิตผู้ร้ายในกรมการเมืองนอกกรุง ก็มีการรายงานเพื่อชี้ให้เห็นว่าการจะลงโทษนั้นได้จะต้องได้รับอนุญาตจากกษัตริย์เสียก่อน เช่น กรณีกรมการเมืองบางละมุงลงทัณฑ์ผู้ร้ายฟันคนตาย ได้ให้ลงอาญาคนละ 3 ยก 90 ทีแล้วเอาไปประหาร เช่นเดียวกับในกรุงเทพฯ ที่ได้รับอนุญาตให้ลงอาญาก่อนประหารชีวิต[46]

ช่องทางของการวิจารณ์ ความเป็นไปได้ในนิยายและบทกวี

ลักษณะเด่นของหนังสือพิมพ์ที่ต่างไปจากสิ่งพิมพ์ของรัฐ ก็คือการสามารถวิพากษ์วิจารณ์แสดงความคิดเห็นได้ บรรณาธิการยังเชื้อเชิญให้ผู้อ่านส่ง ‘อาร์ติเกลอ’ เข้ามาเป็น ‘เครื่องประดับสติปัญญาแก่คนทั้งหลาย’ [47] เช่นกัน

บทความ ‘นายรักกับนายเรือง’ แสดงให้เห็นการวิพากษ์วิจารณ์พระมหานิกายจากมุมมองของธรรมยุกตินิกายที่ไม่สามารถแยกแยะได้ระหว่างพุทธศาสนา กับราชศาสตร์, แพทยศาสตร์ และไสยศาสตร์[48] ซึ่งนิกายใหม่นี้กำลังทวีบทบาทในยุคนี้มากขึ้นในฐานะการปฏิรูปศาสนาที่เป็นเหตุเป็นผล สอดคล้องกับพวกหนุ่มสยามที่ได้มองว่าพระสงฆ์ส่วนใหญ่ที่เป็นภาระถึงขนาดว่า “บวชอยู่ไม่ได้ทำประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งให้แก่แผ่นดิน ขี้เกียจกินแล้วก็นอน รับบำรุงของแผ่นดินเสียเปล่า”[49]

ขณะที่มีการวิจารณ์พงศาวดารจีนและชาติจีนว่า แม้จะเป็นชาติที่มีผู้คนที่มีความสามารถ แต่ก็ไม่สามารถรักษาชาติได้ ต้องเสียชาติให้แก่แมนจู ซึ่งในที่นี้เรียกว่า ‘ตาตารี่’ ทั้งมีคนมีปัญญามาก แต่กลายเป็นว่ามักทำการรบกันเอง ไม่ได้มีความคิดรักษาบ้านเมืองตัวเอง มากกว่าการชิงอำนาจกัน[50] แสดงให้เห็นถึงความคิดเรื่อง ‘ชาติ’ ที่ยิ่งใหญ่กว่าผลประโยชน์ส่วนตัวที่ผุดบังเกิดขึ้นแล้ว

พื้นที่ที่คอลัมนิสต์ฝีปากกล้าสามารถปล่อยของได้ ก็คือนิทานและบทกวี ที่สามารถแทนค่าตัวละครกับบุคคลผู้มีอิทธิพลได้อย่างอิสระ ดังที่โปรยหัวว่า “ว่าด้วยนิทานเป็นการเล่นสนุก แลเป็นคติสดับสติปัญญา” นิทานเหล่านี้ให้ชื่อผู้แต่งว่า ‘ท่านขุนศรีทนนไชย’ ที่พ้องกับตัวละครศรีธนญไชย ผู้หลักแหลมและมักท้าทายผู้มีอำนาจที่ฉ้อฉล ซึ่งเป็นตัวละครที่มีลักษณะคล้ายกันในแถบอุษาคเนย์[51]

นิทานเรื่องราชสีห์กับช้าง พบว่าช้างแก่ที่นายช้างปลดระวางแล้ว พยายามมายึดถ้ำของราชสีห์ แต่ราชสีห์ก็ไม่กลัว พยายามสู้กันด้วยการแผดเสียง ปรากฏว่าช้างแพ้เสียงร้องจนหนีออกไป ช้างเอานายช้างมาช่วยสู้ก็ตกช้างตาย เอาเพื่อนช้างมาช่วยก็แพ้ สุดท้ายก็ถูกฆ่า นิทานเรื่องนี้พยายามสรุปว่า ความโง่ ความปรารถนาร้าย และไม่รู้จักเจียมตน คอยทำตัวเจ้ายศบาตรใหญ่ไม่ได้ ต้องดูที่อำนาจที่แท้จริง ซึ่งดูเป็นการตั้งใจกระทบผู้มีอำนาจขณะนั้น ซึ่งราชสีห์น่าจะหมายถึงกษัตริย์[52] นอกจากนั้นยังมีเรื่องพระยาจักรที่ลงท้ายว่า “จะคบคนอย่าพึงคิดว่าเล็กว่าโต, ให้คบคนไว้ใช้เผื่อเลือกเปนการดี” [53]

จึงไม่น่าแปลกอะไรที่ในดรุโณวาท จะมีกระทั่งบทกลอนต่างๆ ที่อ้างว่า “เปนคติที่มีประโยชน์, ควรจะสดับสติปัญญา” โดยอ้างว่าเก็บจากหนังสือเก่า ซึ่งมีลักษณะประชดประชันผู้มีอำนาจ ดังบทนี้ที่กล่าวถึงอารักษ์ที่สูญสิ้นความศักดิ์สิทธิ์ เปรียบดังเหล่าขุนนางที่ละเว้นการว่าความเมือง

“อารักษมีทั่วไม้               รุขมูล

ที่ศักดิ์สิทธิ์บริบูรณ          เครื่องเส้น

ที่ไป่ศักดิ์สิทธิ์สูญ            สงัดลาภ

ดุจดั่งเสวกาเว้น               ว่าถ้อยความเมือง” [54]

ไม่แน่ใจนักว่าอยู่ในช่วงไหน สมเด็จช่วงฯ เคยเขียนโคลงถวายกษัตริย์มีเนื้อหาวิจารณ์การปฏิรูปของคนเด็กคนหนุ่มเปรียบว่าเหมือนต้นไม้เติบโตขึ้นบนยอดเขา หากเจอกระแสลมก็จะมีแต่หักโค่น แต่ก็ได้มีโคลงตอบโต้กลับไปว่า[55]

“เฮ้ยเฮ้ยใครอย่าเย้ย         หยันเด็ก

พริกแต่เมล็ดเล็ก              เผ็ดล้ำ

ใครเลยจะกินเหล็ก           ห่อนเล่า ลือนา

โคแกมีเขาง้ำ                   เด็กขึ้นขี่คอ”

บางคนเห็นว่าเป็นผลงานของยุวกษัตริย์ แต่บางคนก็เห็นว่าน่าจะเป็นคนอื่นที่อยู่ในกลุ่มหนุ่มสยามมากกว่า ซึ่งแสดงให้เห็นทัศนคติระหว่างผู้อาวุโสกับผู้เยาว์ในยุคนั้น และเมื่อเทียบกับสาส์นประเภทบทกลอนที่ปรากฎใน ดรุโณวาท แล้ว ย่อมแสดงให้เห็นอย่างดีถึงความตึงเครียดดังกล่าวที่ถูกระบายออกมาอย่างเป็นระบบในดรุโณวาท โดยเป็นการกล่าวลอยๆ ที่ไม่ระบุตัวตนผู้ถูกวิพากษ์วิจารณ์

นอกจากนั้นยังมีจดหมายถึงบรรณาธิการ มีจดหมายคล้ายบัตรสนเท่ห์แจ้งว่ามีพระสงฆ์สามเณรทิ้งหนังสือกล่าวโทษพระวุฒิการบดี เจ้ากรมธรรมการหลายข้อ โดยไม่ระบุผู้ฟ้อง จึงไม่สามารถเปิดเผยได้ บรรณาธิการแจ้งว่า ควรทำเรื่องร้องทุกข์ผ่านมาอย่างเป็นเรื่องเป็นราวเพื่อจะส่งต่อให้กับ ‘เกาน์ซิลลอร์’ หรือ ‘เคาน์ซิลลอร์’ [56]

ดรุโณวาท ไม่เพียงสะท้อนให้เห็นถึงพลังของสื่อมวลชนในการวิพากษ์วิจารณ์ผู้มีอำนาจ แต่ยังชี้ให้เห็นว่า การวิจารณ์ในกรณีดังกล่าวได้ ไม่ได้มาจากสังคมที่พลเมืองมีเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์ เท่ากับว่าผู้วิจารณ์คือใคร และมีใครคอยสนับสนุนอยู่หรือไม่ พลังของคนเด็กคนหนุ่มในดรุโณวาท ได้สะท้อนถึงความมุ่งหวังถึงอนาคตที่มีชาติตะวันตกเป็นต้นแบบ และมีหน่ออ่อนของแนวคิดการเมืองการปกครองที่ได้รับประสบการณ์จากประเทศเจ้าอาณานิคมและดินแดนอาณานิคมทั้งหลาย ซึ่งเป็นทั้งเวทีการแสดงทางการเมือง และ ตลาดแรงงานและสินค้า

ดรุโณวาทเป็นส่วนหนึ่งในฐานะสื่อสิ่งพิมพ์สมัยใหม่ที่รับบทบาทในการวิพากษ์วิจารณ์ผู้อำนาจทางการเมือง ในเวลาต่อมา ช่วงปลายสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หนังสือพิมพ์ที่มีเจ้าของเป็นชาติตะวันตกนี้เองที่อาศัยช่องว่างทางกฎหมายเป็นกระบอกเสียงวิจารณ์อำนาจรัฐอย่างแข็งขัน

จุดจบ ‘ดรุโณวาท’ และชีวิตหลังมรณกรรม

อย่างไรก็ตาม ดรุโณวาท ก็ถึงกาลอวสานเมื่อพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) เขียนบทความกระแนะกระแหนเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง (เพ็ง เพ็ญกุล) หนึ่งในเคาน์ซิลลอร์ออฟสเตต ความว่าเขาหลงนางละครที่ตนเองเป็นเจ้าของโรงจนเสียราชการแผ่นดิน จนทำให้คำสาบานตอนรับตำแหน่งเคาน์ซิลลอร์ผิดไป ทั้งยังเอาไปเปรียบกับหม่อมไกรสรที่ติดพันละคอนหนุ่ม[57] ดรุโณวาทจึงถือว่าลามปาม ไม่เพียงวิพากษ์เฉพาะฝ่ายตรงข้าม แต่ยังโจมตีพันธมิตรของยุวกษัตริย์ที่ดูจะมีข้อครหาอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม กรณีของเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรงยังมีปรากฏอยู่ใน นิราศหนองคาย ผลงานของทิม สุขยางค์ ด้วย เขาถูกวิจารณ์เรื่องการหลงนางละครและการกดขี่ไพร่ ดังบทความที่ผู้เขียนแสดงไว้ใน “กดขี่ไพร่กว่าจะถึงซึ่งนิพพาน”: การเดินทางของนิราศหนองคาย ผลงานของทิม สุขยางค์ ในรอบร้อยปี

เมื่อจับได้ว่าพระยาภาสกรวงศ์เป็นคนเขียน รัชกาลที่ 5 ถูกรบเร้าให้ปลดจากตำแหน่งเคาน์ซิลลอร์ แต่พระยาภาสกรวงศ์ก็ถือเป็น ‘คนโปรด’ [58] และเป็นคนที่ ‘รู้การงานมาก’ [59] จึงยังไม่ถูกลงโทษหนักขนาดนั้น ข้อสรุปคือ เขาถูกประกาศลงโทษในราชกิจจานุเบกษา จากนั้น ดรุโณวาทก็ค่อยๆ ปิดตัวลง บรรณาธิการได้แถลงไว้ในฉบับสุดท้ายว่า “ด้วยว่าหนังสือจะออกต่อไป จะไม่ขาดทุนแล้ว ข้าพเจ้าก็จะได้ทำต่อไป ถ้าการนี้เป็นขาดทุนแล้ว ข้าพเจ้าจะต้องเลิกเสีย” [60] ซึ่งน่าจะเป็นข้ออ้างมากกว่าจะเป็นเหตุผลจริง

หลังจากปิดตัวไปในปี 2418 ก็แทบไม่มีใครพูดถึงอีก จนกระทั่ง ขจร สุขพานิช เขียนในบทความ ““ดรุโณวาท” หนังสือพิมพ์ฉบับแรกของคนไทย พ.ศ.2417-2418” เมื่อปี 2508 อีก 4 ปีต่อมาก็ได้รับการตีพิมพ์บทความซ้ำ และคราวนี้ได้นำเอาต้นฉบับดรุโณวาทบางส่วนมาเผยแพร่ในหนังสืออนุสรณ์พระราชทานเพลิงศพ พันตำรวจเอก หม่อมเจ้ามนุญศิริ เกษมสันต์ และเข้มข้นมากขึ้นในบทความของณัฐวุฒิ สุทธิสงครามในชื่อว่า “พระบาทสมเด็จพระปิยมหาราช กับ หนังสือพิมพ์ดรุโณวาท เมื่อ 111 ปีมาแล้ว” เมื่อปี 2518 ยามที่พลังของคนหนุ่มสาวเติบโตขึ้นมาอีกครั้งหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ดรุโณวาท จึงกลับมาเป็นสัญลักษณ์ของพลังคนหนุ่มสาวอีกครั้ง

ชื่อ ดรุโณวาท ยังพอคุ้นหูของคนรุ่นนี้ จากการที่มันถูกจดจำว่าเป็น ‘สื่อสิ่งพิมพ์ฉบับแรกของคนไทย’ [61] และ ‘กระบอกเสียงของคนรุ่นใหม่’ [62] ตามที่บทความออนไลน์ต่างๆ เคยเขียนถึงเมื่อปี 2564 หลังจากที่พลังคนรุ่นใหม่ออกมาชุมนุมใหญ่ทางการเมือง ทั้งบนท้องถนนและในสถานศึกษาที่พวกเขาสังกัดอยู่อย่างน่าตื่นตาตื่นใจในช่วงปี 2563

ว่าแต่ พลังของหนุ่มสาวยังคงทรงพลังอยู่หรือไม่ ท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองที่เปลี่ยนผันอย่างรวดเร็วในรอบหลายปีที่ผ่านมานี้?


[1] กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม. “รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสอาณานิคมตะวันตก สิงคโปร์ ปัตตาเวีย พม่า อินเดีย”. สืบค้นเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2567 จาก https://www.silpa-mag.com/history/article_63274 (19 กันยายน 2566)

[2] สาคชิคอนันท สหาย, ร.5 เสด็จอินเดีย, กัณฐิกา ศรีอุดม, แปล (กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2546), หน้า 34-35

[3] สาคชิคอนันท สหาย, เรื่องเดียวกัน, หน้า 48-50

[4] ปรับปรุงเพิ่มเติมจาก ภาคิน นิมมานนรวงศ์, เรื่องเดียวกัน, หน้า 119-121

[5] ภาคิน นิมมานนรวงศ์, ประวัติศาสตร์เด็กและวัยเด็กช่วงต้นรัตนโกสินทร์ถึงการปฏิรูปการปกครองสมัยรัชกาลที่ 5 วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2558, หน้า 122

[6] กุลลดา เกษบุญชู มี้ด, เรื่องเดียวกัน, หน้า 86-87

[7] กุลลดา เกษบุญชู มี้ด, เรื่องเดียวกัน, หน้า 103-105

[8] ชัยอนันต์ สมุทวณิช และขัตติยา กรรณสูตร, เอกสารการเมืองการปกครองไทย (กรุงเทพฯ : สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, 2518), หน้า 17-29 และ กุลลดา เกษบุญชู มี้ด, เรื่องเดียวกัน, หน้า 106

[9] ชัยอนันต์ สมุทวณิช และขัตติยา กรรณสูตร, เรื่องเดียวกัน, หน้า 20-35

[10] กุลลดา เกษบุญชู มี้ด, เรื่องเดียวกัน, หน้า 111

[11] ดรุโณวาท, เล่มที่ 1 นำเบอร์ 1, วันอังคาร เดือน 8 แรม 9 ค่ำ ร.ศ.1236, หน้า 5 (คัดลอกอยู่ใน ดรุโณวาท พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พันตำรวจเอก หม่อมเจ้ามนุญศิริ เกษมสันต์ ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม, 11 มิถุนายน 2512

[12] ขจร สุขพานิช, “ “ดรุโณวาท” หนังสือพิมพ์ฉบับแรกของคนไทย พ.ศ.2417-2418, ก้าวแรกของหนังสือพิมพ์ในประเทศไทย พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ หลวงบุณยมานพพาณิชย์ “แสงทอง” ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม, 1 ธันวาคม 2508, หน้า 27

[13] ดรุโณวาท, เล่มที่ 1, วันอังคาร เดือน 8 แรม 9 ค่ำ ร.ศ.1236, หน้า 1  

[14] ดรุโณวาท, เล่มที่ 1, วันอังคาร เดือน 8 แรม 9 ค่ำ ร.ศ.1236, หน้า 3  

[15] ดรุโณวาท, เล่มที่ 1 นำเบอร์ 1, วันอังคาร เดือน 8 แรม 9 ค่ำ ร.ศ.1236, หน้า 2

[16] วิภัส เลิศรัตนรังษี, โทรเลขกับการรวมศูนย์อำนาจของรัฐในสมัยรัชกาลที่ 5 วิทยานิพนธ์ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2565, หน้า 96

[17] ดรุโณวาท, เล่มที่ 1, วันอังคาร เดือน 8 หลัง ขึ้น 1 ค่ำ ร.ศ.1236, หน้า 19

[18] ดรุโณวาท, เล่มที่ 1, วันอังคาร เดือน 8 หลัง ขึ้น 1 ค่ำ ร.ศ.1236, หน้า 20

[19] ดรุโณวาท, เล่มที่ 1, วันอังคาร เดือน 8 หลัง ขึ้น 8 ค่ำ ร.ศ.1236, หน้า 33

[20] ดรุโณวาท, เล่มที่ 1 นำเบอร์ 1, วันอังคาร เดือน 8 แรม 9 ค่ำ ร.ศ.1236, หน้า 6

[21] ดรุโณวาท, เล่มที่ 1 นำเบอร์ 1, วันอังคาร เดือน 8 แรม 9 ค่ำ ร.ศ.1236, หน้า 7

[22] ดรุโณวาท, เล่มที่ 1 นำเบอร์ 1, วันอังคาร เดือน 8 แรม 9 ค่ำ ร.ศ.1236, หน้า 10

[23] ดรุโณวาท, เล่มที่ 1, วันอังคาร เดือน 8 หลัง ขึ้น 8 ค่ำ ร.ศ.1236, หน้า 17

[24] ดรุโณวาท, เล่มที่ 1, วันอังคาร เดือน 8 ขึ้น 8 ค่ำ ร.ศ.1236, หน้า 15

[25] “หมู่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท (ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19)”. คิดอย่าง. สืบค้นเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2567 จาก https://www.facebook.com/Arch.kidyang/posts/pfbid0xX9ryXtzaHyeropBq1b41M8vaVomKFF6wFgyqpdRpdjHqgMzvUWntHxyFHUjnpA8l (25 กันยายน 2566)

[26] ดรุโณวาท, เล่มที่ 1, วันอังคาร เดือน 8 แรม 9 ค่ำ ร.ศ.1236, หน้า 10-12

[27] “ประกาศให้ใช้วันอย่างใหม่”, ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 5 ตอนที่ 52, วันอาทิตย์ เดือนสี่ แรมสิบห้าค่ำ ปีชวด สัมฤทธิศก 1250 (14 พฤษภาคม 2431), หน้า 451

[28] ดรุโณวาท, เล่มที่ 1, วันอังคาร เดือน 8 หลัง ขึ้น 1 ค่ำ ร.ศ.1236, หน้า 19

[29] ดรุโณวาท, เล่มที่ 1, วันอังคาร เดือน 8 แรม 7 ค่ำ ร.ศ.1236, หน้า 62-63

[30] Britannica. “The Revolution of 1868 and the Republic of 1873”. Retrieved on 23 February 2024 from https://www.britannica.com/place/Spain/The-Revolution-of-1868-and-the-Republic-of-1873#ref587762

[31] ดรุโณวาท, เล่มที่ 1, วันอังคาร เดือน 8 ขึ้น 1 ค่ำ ร.ศ.1236, หน้า 19

[32] ดรุโณวาท, เล่มที่ 1, วันอังคาร เดือน 8 ขึ้น 8 ค่ำ ร.ศ.1236, หน้า 33

[33] ดรุโณวาท, เล่มที่ 1, วันอังคาร เดือน 8 หลัง ขึ้น 8 ค่ำ ร.ศ.1236, หน้า 42

[34] ดรุโณวาท, เล่มที่ 1, วันอังคาร เดือน 9 แรม 5 ค่ำ ร.ศ.1236, หน้า 130

[35] ดรุโณวาท, เล่มที่ 1, วันอังคาร เดือน 8 หลัง ขึ้น 8 ค่ำ ร.ศ.1236, หน้า 44-45

[36] ดรุโณวาท, เล่มที่ 1, วันอังคาร เดือน 8 หลัง ขึ้น 8 ค่ำ ร.ศ.1236, หน้า 25

[37] ดรุโณวาท, เล่มที่ 1, วันอังคาร เดือน 9 ขึ้น 8 ค่ำ ร.ศ.1236, หน้า 89-91

[38] ดรุโณวาท, เล่มที่ 1, วันอังคาร เดือน 9 ขึ้น 8 ค่ำ ร.ศ.1236, หน้า 94, ดรุโณวาท, เล่มที่ 1, วันอังคาร เดือน 9 ขึ้น 8 ค่ำ ร.ศ.1236, หน้า 109-110

[39] ดรุโณวาท, เล่มที่ 1, วันอังคาร เดือน 8 หลัง ขึ้น 15 ค่ำ ร.ศ.1236, หน้า 47-49

[40] ดรุโณวาท, เล่มที่ 1, วันอังคาร เดือน 9 แรม12 ค่ำ ร.ศ.1236, หน้า 141-144

[41] ดรุโณวาท, เล่มที่ 1, วันอังคาร เดือน 8 หลัง ขึ้น 8 ค่ำ ร.ศ.1236, หน้า 29-30

[42] ดรุโณวาท, เล่มที่ 1, วันอังคาร เดือน 10 ขึ้น 5 ค่ำ ร.ศ.1236, หน้า 155-156

[43] ดรุโณวาท, เล่มที่ 1, วันอังคาร เดือน 8 หลัง ขึ้น 1 ค่ำ ร.ศ.1236, หน้า 16-17

[44] สมมตอมรพันธุ์, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ, เรื่องตั้งเจ้าพระยาในกรุงรัตนโกสินทร์ (พิมพ์ครั้งที่ 5, กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2545), หน้า 92

[45] ดรุโณวาท, เล่มที่ 1, วันอังคาร เดือน 8 หลัง ขึ้น 8 ค่ำ ร.ศ.1236, หน้า 29

[46] ดรุโณวาท, เล่มที่ 1, วันอังคาร เดือน 8 หลัง ขึ้น 8 ค่ำ ร.ศ.1236, หน้า 16

[47] ดรุโณวาท, เล่มที่ 1, วันอังคาร เดือน 8 แรม 9 ค่ำ ร.ศ.1236, หน้า 3

[48] ดรุโณวาท, เล่มที่ 1, วันอังคาร เดือน 10 ขึ้น 5 ค่ำ ร.ศ.1236, หน้า 164-167

[49] ภาคิน นิมมานนรวงศ์, เรื่องเดียวกัน, หน้า 126

[50] ดรุโณวาท, เล่มที่ 1, วันอังคาร เดือน 10 แรม 11 ค่ำ ร.ศ.1236, หน้า 215

[51] วิภา จิรภาไพศาล. ” “ศรีธนญชัย” ตัวอย่างคนฉลาดแกมโกง ต้านอำนาจที่ขาดความชอบธรรม”. ศิลปวัฒนธรรมออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2567 จาก https://www.silpa-mag.com/culture/article_114261 (3 สิงหาคม 2566)

[52] ดรุโณวาท, เล่มที่ 1, วันอังคาร เดือน 8 หลัง ขึ้น 8 ค่ำ ร.ศ.1236, 49-52

[53] ดรุโณวาท, เล่มที่ 1, วันอังคาร เดือน 9 ขึ้น 6 ค่ำ ร.ศ.1236, 99-101

[54] ดรุโณวาท, เล่มที่ 1, วันอังคาร เดือน 8 หลัง ขึ้น 8 ค่ำ ร.ศ.1236, หน้า 24

[55] ภาคิน นิมมานนรวงศ์, เรื่องเดียวกัน, หน้า 127

[56] ดรุโณวาท, เล่มที่ 1, วันอังคาร เดือน 8 หลัง ขึ้น 8 ค่ำ ร.ศ.1236, หน้า 72

[57] ณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม, “พระบาทสมเด็จพระปิยมหาราช กับ หนังสือพิมพ์ดรุโณวาท เมื่อ 111 ปีมาแล้ว”, รัฐสภาสาร, 32 : 10 (ตุลาคม 2527) : 27-28

[58] ณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม, เรื่องเดียวกัน: 58

[59] ณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม, เรื่องเดียวกัน: 59

[60] ขจร สุขพานิช, “ “ดรุโณวาท” หนังสือพิมพ์ฉบับแรกของคนไทย พ.ศ.2417-2418”, เรื่องเดียวกัน, หน้า 38

[61] “7 กรกฎาคม 2417 เปิดตัว ดรุโณวาท สื่อสิ่งพิมพ์ฉบับแรกของคนไทย”. The Standard. สืบค้นเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2567 จาก https://th-th.facebook.com/thestandardth/photos/a.1725541161072102/2789203444705863/?type=3 (7 กรกฎาคม 2564)

[62] ปัทมา เจริญกรกิจ. “‘ดรุโณวาท’ กระบอกเสียงของคนรุ่นใหม่สมัยรัชกาลที่ 5”. The Kommon. สืบค้นเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2567 จาก https://www.thekommon.co/darunowat/ (27 กรกฎาคม 2564)

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save