fbpx

“กดขี่ไพร่กว่าจะถึงซึ่งนิพพาน”: การเดินทางของนิราศหนองคาย ผลงานของทิม สุขยางค์ ในรอบร้อยปี

ชื่อของ นิราศหนองคาย วรรณกรรมประเภทนิราศที่แต่งโดยหลวงพัฒนพงศ์ภักดี (ทิม สุขยางค์) เป็นหนังสือต้องห้ามคลาสสิกเล่มหนึ่งที่ถูกแต่งขึ้นเพื่อบรรยายการยกทัพไปปราบ ‘ฮ่อ’ ของชนชั้นนำสยามเมื่อปี 2418 กองทัพฮ่อเป็นภัยคุกคามต่อรัฐบาลสยามในหลายระดับ ตั้งแต่การโจมตีในดินแดนประเทศราชของสยามแถบลุ่มน้ำโขง รวมไปถึงภัยจากจักรวรรดินิยมตะวันตกที่เข้ามาแทรกแซงโดยข้ออ้างความไร้สามารถของรัฐบาลสยาม จนนำมาสู่การ ‘เสียดินแดน’ บริเวณลุ่มน้ำโขงในที่สุด[1] สงครามปราบฮ่อยังเป็นที่รู้จักกันดีในแวดวงของสะสมจาก ‘เหรียญปราบฮ่อ’ ที่ทำมาเพื่อระลึกถึงการปราบฮ่อทั้ง 3 ครั้งในปี 2418, 2426 และ 2430[2] ซึ่งเป็นสงครามก่อนที่เหล่าสยามหนุ่มจะขึ้นมากุมอำนาจอย่างแท้จริง

นิราศหนองคาย เขียนวิจารณ์ผู้มีอำนาจอย่างถึงพริกถึงขิงชนิดที่แหกขนบวรรณกรรมทั้งหลาย ทั้งที่ที่ผ่านมานิราศเคยถูกมองเป็นเพียงนิยายประโลมโลกย์ชมนกชมไม้ ที่น่าแปลกใจคือ ผู้แต่งและเอกสารที่เหิมเกริมขนาดนั้นน่าจะถึงฆาตและถูกกำจัดไปไม่ให้เหลือร่องรอย แต่กลับเป็นว่ากวีก็ยังมีชีวิตอยู่ไปอีกยาวนาน ส่วนวรรณกรรมก็ยังโลดเต้นอยู่บนประวัติศาสตร์และตลาดหนังสือ ตั้งแต่กรมศิลปากรอนุญาตให้ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสืองานศพก็ต้องรอจนถึงปี 2498 มาจนถึงการตีพิมพ์ครั้งล่าสุดในปี 2565  

‘ทิม’ ลูกจีนที่กลายเป็นชาวสยาม กับ ความเป็นกระฏุมพีที่ทั้งรักทั้งชังศักดินา

ในอัตชีวประวัติของทิม เล่าว่าเขาเป็นลูกจีนที่มีพ่อชื่อเฮียงแซ่เหง อาศัยอยู่บนแพเปิดกิจการขายผ้าอยู่ใต้ปากคลองตลาด พระนคร ทิมเกิดเมื่อปี 2390 เข้าใจว่าเขาพอใจในการเป็นคนสยามมากกว่า ดังที่เขาปฏิเสธความเป็นจีนไว้ว่า “แต่ตัวของข้าพเจ้าไม่มีใจรักษ์เพศจีน”[3] ต้องเข้าใจว่าเขาเกิดในปลายยุครัชกาลที่ 3 พระนครเป็นเมืองท่าที่มั่งคั่ง มีโอกาสทางเศรษฐกิจและมีการขยายตัวของผู้คนอย่างกว้างขวาง หนึ่งในกวีแห่งยุคสมัยที่ทิมน่าจะรู้จักก็คือ ‘สุนทรภู่’ ผู้มีชีวิตที่เต็มไปด้วยสีสันและฝากชื่อไว้ในฐานะนักประพันธ์อันเรืองนาม[4] สุนทรภู่ตายเมื่อปี 2398[5] ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่รัฐบาลสยามลงนามสนธิสัญญาเบาว์ริ่งกับอังกฤษในรัชสมัยถัดมา ขณะนั้นทิมอายุเพียง 8 ขวบ

ทิมเข้าสู่การบวชเรียนเป็นสามเณรที่วัดราชบูรณะไม่ไกลจากแพของพ่อ เมื่ออายุ 13 ปี เขาอ้างว่าเป็นเพราะญาติทำให้ต้องสึกไปทำการค้าขายอยู่ที่กรุงเก่าหรืออยุธยาจนอายุ 21 ปี จึงกลับมาบวชเป็นพระภิกษุอยู่ที่วัดเดิม

ในเวลาใกล้เคียงกัน แซมมวล จอห์น สมิท (Samuel John Smith) หรือ ‘หมอสมิท’ ก็ตั้งโรงพิมพ์ขึ้นแถบบางคอแหลม ปลายถนนเจริญกรุงตอนใต้ นอกจากตีพิมพ์พระคัมภีร์คริสต์ศาสนาแล้ว ยังรับจ้างพิมพ์ประกาศและพิมพ์หนังสือขายด้วย ว่ากันว่าเขาเป็นคู่แข่งของ ‘หมอบรัดเลย์’ ในเรื่องโรงพิมพ์จนต้องแบ่งตลาดกัน หมอบรัดเลย์จะพิมพ์ประเภทร้อยแก้วอย่าง สามก๊ก และเรื่องจีนอื่นๆ ขณะที่หมอสมิทจะเน้นประเภทร้อยกรอง อย่าง อุณรุท อิเหนา พระอภัยมณี ซึ่งเล่มหลังนี้สร้างกำไรอย่างงามจนสามารถเอาไปลงทุนสร้างตึกได้ 1 หลัง

พ.ศ. 2411 ตรงกับปีที่ทิมอุปสมบท หมอสมิทได้ออกหนังสือพิมพ์รายวันชื่อ Siam Daily Advertiser ปีต่อมาก็มี The Siam Weekly Advertiser ที่ออกเป็นรายสัปดาห์ และ Siam Repository รายสามเดือน[6] แสดงให้เห็นถึงการขยายตัวของธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์แบบใหม่ในพระนครที่มีความหลากหลายตั้งแต่บันเทิงไปจนข่าวสาร และงานหนังสือพิมพ์ ทิมเติบโตขึ้นมาท่ามกลางสังคมที่สามารถเข้าถึงสื่อและสิ่งพิมพ์แบบใหม่เช่นนี้ โรงพิมพ์หมอสมิทนี้เองที่จะกลายเป็นต้นทางของการเผยแพร่หนังสือต้องห้ามของทิมในเวลาต่อมา

เมื่อสึกแล้วทิมมีโอกาสได้รับราชการในตำแหน่งเสมียนเอกของพระยาราชสุภาวดี (เพ็ง เพ็ญกุล ต่อมาคือ เจ้าพระยามหินทรศักดิธำรง ต่อไปจะเรียกว่า เจ้าพระยามหินทร์) มีบรรดาศักดิ์เป็น ‘ขุนพิพิธภักดี’ เมื่อปี 2413[7] จะด้วยความสามารถหรืออะไรก็แล้วแต่ ทิมได้รับมอบหมายให้ติดตามเจ้าพระยามหินทร์ไปปราบฮ่อ ในฐานะ ‘ทนายนั่งหน้าแคร่’ และได้ขึ้น ‘ท้ายช้าง’ ยิ่งไปกว่านั้นคือได้รับมอบหมายให้แต่งนิราศ แต่เมื่อนิราศมีปัญหา ถูกจับได้ว่ามีข้อความโจมตีผู้มากบารมีในปี 2421 เขาได้ยอมรับผิดไว้เพียงผู้เดียวเพื่อไม่ให้กระทบต่อเจ้าพระยามหินทร์ โทษโบยและจำคุกคือสิ่งที่เขาได้รับ แต่ก็ได้รับการช่วยเหลือให้พ้นโทษในปีต่อมา

ด้วยข้อหาร้ายแรงที่อาจถึงตายได้เพราะการวิจารณ์ผู้มีบารมีทัดเทียมกษัตริย์อย่างสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เกี่ยวกับการออกทัพในนิราศ รวมไปถึงข้อความที่บริภาษและวิพากษ์วิจารณ์การกดขี่ไพร่และทหารชั้นผู้น้อยอย่างถึงพริกถึงขิง (การวิพากษ์ไม่เว้นกระทั่งนายของตนอย่างเจ้าพระยามหินทร์) แทนที่เขาจะหัวขาด หรือจบชีวิตราชการ หลังพ้นโทษทิมกลับได้รับบรรดาศักดิ์ ‘ขุนจบพลรักษ์ ขุนหมื่นประทวน’ ในสังกัดกรมพระสุรัสวดี[8] ซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับการสักเลกควบคุมไพร่ในเขตเมืองหลวงและหัวเมืองชั้นใน (ส่วนหัวเมืองฝ่ายเหนือและหัวเมืองปักษ์ใต้รวมทั้งหัวเมืองชายทะเลภาคตะวันออกอำนาจการบังคับบัญชาและควบคุมบัญชีไพร่พลขึ้นอยู่กับสมุหนายก สมุหพระกลาโหม และเจ้าพระยาพระคลัง)[9] ซึ่งเป็นกรมที่เจ้าพระยามหินทร์คุมอยู่นั่นเอง[10] นับได้ว่าเส้นใหญ่ไม่เบา

เขาอยู่กับเจ้าพระยามหินทร์จนถึงแก่อสัญกรรม เมื่อปี 2437[11] ในเวลาต่อมาได้ออกจากกรมมาเป็นข้าใต้ปกครองชั้นหลานของเจ้าพระยามหินทร์ นั่นคือ พระองค์เจ้าจุธารัตนราชกุมารีและพระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์ พระเจ้าลูกเธอในรัชกาลที่ 5 กับ เจ้าจอมมารดามรกฎ ธิดาของพระยามหินทร์ แทนที่ชีวิตจะย่ำแย่ลงไปตามการหมดอำนาจบารมีของนาย แต่ในปี 2439 เขากลับได้รับการปูนบำเหน็จให้เป็นหลวงพัฒนพงศ์ภักดี สังกัดในกรมพระคลังข้างที่[12] บุตรชายทั้งสองของเขาได้รับการศึกษาอย่างดีในต่างประเทศ ผู้หนึ่งศึกษาด้านยนตรศาสตร์ ปัจจุบันคือวิศวกรรมศาสตร์ ต่อมาเข้ารับราชการในกรมคลองและกรมทาง เวลาต่อมาได้รับบรรดาศักดิ์ถึงพระยาสารศาสตร์ศิริลักษณ์ (สรรเสริญ สุขยางค์​) ส่วนอีกคนเรียนด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์ ในเวลาต่อมาคือ พระสาโรชรัตนนิมมานก์ (สาโรช สุขยางค์) ตระกูลนี้ได้รับพระราชทานนามสกุลในรัชกาลที่ 6 เมื่อปี 2457 ว่า ‘สุขยางค์’ [13] ก่อนหน้าที่ทิมจะเสียชีวิตเพียง 1 ปี

เจ้าพระยามหินทรศักดิธำรง: นายของทิม กับบารมีระดับลูกบุญธรรมของรัชกาลที่ 4, พ่อตา รัชกาลที่ 5 และเคาน์ซิลเลอร์

‘เจ้าพระยามหินทรศักดิธำรง’ ไม่เพียงเป็นชนชั้นสูงทั่วไป แต่ถือว่ามีศักดิ์เป็นบุตรบุญธรรมของรัชกาลที่ 4 ที่ได้รับการชุบเลี้ยงมาตั้งแต่ยังเป็นพระภิกษุ[14] ทั้งยังเป็นพ่อตาของรัชกาลที่ 5 เนื่องจากธิดาของเขาคือ ‘เจ้าจอมมรกฎ’ ทั้งยังเป็นเคาน์ซิลเลอร์ด้วย หลังจากที่มี ประกาศตั้งเกาน์ซิลที่ปฤกษาราชการ และ พระราชบัญญัติสำรับกาน์ซิลลอร์ออฟสเตต ที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน และปรีวีเกาน์ซิลลอร์ ที่ปฤกษาราชการในพระองค์ เมื่อปี 2417[15] เป็นช่วงก่อนไปทำสงครามปราบฮ่อเพียง 1 ปี

ตำแหน่งนี้ได้รับการกล่าวถึงในนิราศหนองคายด้วย ตั้งแต่เริ่มเรื่อง ในนาม ‘ท่านเจ้าพระยามหินทรเคาซิลลอ’ ข้าราชการกรมศิลปากรได้ระบุว่าคือ ‘Councillor’ และย้ำว่าเจ้าพระยามหินทร์นั้นเป็นทั้งตำแหน่งเคาน์ซิลเลอร์ออฟสเตด (ประธานที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน) และ ปรีวีเคาน์ซิล (ที่ปรึกษาราชการสำหรับพระองค์) ในรัชกาลที่ 5[16] ซึ่งเป็นโครงสร้างที่รัชกาลที่ 5 คิดค้นขึ้นมาเพื่อสร้างอำนาจทางการเมืองและถ่วงดุลอำนาจของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ไม่เพียงเท่านั้น ในฝ่ายนี้ที่ถูกเรียกว่า ‘สยามหนุ่ม’ ยังได้ออกวารสาร ดรุโณวาท เพื่อใช้เป็นปากกระบอกเสียงของพวกเขา[17] ที่ควรโน้ตไว้ด้วยคือ หมอสมิทก็เคยส่งบทความแปลมาตีพิมพ์ในวารสารนี้ด้วย[18]

เจ้าพระยามหินทร์ยังมีโรงละคร ‘ปรินซ์เทียเตอร์’ ด้วย เขาเป็นผู้บุกเบิกโรงละครอย่างตะวันตก ขณะนั้นมีละครกรมพระนราธิปพระพันธ์พงศ์ และละครดึกดำบรรพ์ของเจ้าพระยาเทเวศรวงษวิวัฒน์ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง ปรินซ์เทียเตอร์ขึ้นชื่อว่าเครื่องแต่งกายงดงาม สมจริง ตัวละครเป็นชายจริงหญิงแท้ และเป็นคณะใหญ่ มีผู้แสดงมากถึงราว 170 คน และทิม นี่เองที่เป็นผู้แต่งบทละคร

อย่างไรก็ดี เจ้าพระยามหินทร์ถูกพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสง-ชูโต) ฟ้องว่า พฤติกรรมไร้มนุษยธรรมโหดร้าย ใช้อุบายหลอกเด็กมาเป็นทาสเพื่อมาเป็นตัวละครในสังกัด มีทั้งเกลี้ยกล่อมด้วยอุบายและขโมยตัว หากจะถ่ายถอนก็คิดค่าฝึกเป็นละคร มีความเป็นอยู่ทุกข์ทรมาน ตัวละครที่ตกเป็นอนุภรรยาก็ถูกบังคับให้แสดงแม้จะมีครรภ์ เรื่องสู่การพิจารณาของเสนาบดีสภา ก่อนเจ้าพระยามหินทร์จะอสัญกรรมเพียง 2 ปี ส่วนใหญ่จะมีความเห็นว่าพระยาสุรศักดิ์มนตรีกระทำตนไม่เหมาะสมที่ทำการฟ้องร้องครั้งนี้ ทิมในบรรดาศักดิ์ขุนจบพลรักษ์เป็นทนาย คดีความยุติลงที่พระยาสุรศักดิ์ถูกตำหนิ เจ้าพระยามหินทร์ทำผิดกฎหมายว่าด้วยค่าตัวทาส และการกระทำที่ไร้มนุษยธรรม ถึงกับมีข้อความกล่าวว่า “ความเขี้ยวเขนไพร่ต่างๆ ทั้งปวง เจ้าพระยามหินธร์คงได้ทำจริง ใช่แต่พึ่งทำ เปนการทำมาช้านานจนไม่รู้สึกตัวว่าทำการชั่วร้าย”[19] การกล่าวโทษเช่นนี้ จะพบอยู่ในนิราศหนองคายที่จะกล่าวต่อไป

การเดินทางของ นิราศหนองคาย มรณกรรมของผู้ประพันธ์อันแท้จริง

น่าสนใจว่าเหตุใดหมอสมิทจึงได้รับต้นฉบับ นิราศหนองคาย ไปตีพิมพ์ หนังสือเริ่มกลายเป็นสินค้าในตลาดแบบใหม่ของผู้คนยุคดังกล่าว พร้อมกับความอยากรู้อยากเห็นและสังคมการอ่านที่เติบโตขึ้น เช่นเดียวกับการขยายตัวของหนังสือที่เรียกว่า ‘หนังสือวัดเกาะ’ ในเวลาต่อมา[20] ไม่แน่ใจนักว่าการจัดพิมพ์ นิราศหนองคาย เพื่อการค้าเป็นเจตนาของทิมเอง หรือเป็นการเชื้อเชิญของหมอสมิทที่ขณะนั้นเป็นเจ้าของโรงพิมพ์ หรือมีการวางยาจากใครหรือไม่ แต่ในที่สุด นิราศหนองคาย ก็คลอดออกมาในปี 2421 ไม่แน่ใจนักว่าเป็นผู้ใดในราชสำนักหรือในที่ประชุมขุนนางได้อ่านนิราศก่อน แต่มันนำมาสู่การกล่าวหาและชำระโทษผู้แต่งพร้อมกับหนังสือเจ้ากรรมอย่างรวดเร็ว

หลังจากฉบับพิมพ์ขายถูกทำลายไปเมื่อปี 2421 คดีและเรื่องราวของผู้คนต่างๆ ก็ค่อยๆ เลือนหายไป จนกระทั่งความตายมาเยือนทิมเมื่อปี 2458 ขณะนั้นขนบหนังสืองานศพเป็นที่นิยมกันมาระยะหนึ่งแล้ว การที่นิราศหนองคายไม่ได้ถูกเลือกให้ตีพิมพ์ก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ในความละเอียดอ่อนนั้น ดังนั้นตัวบทที่ถูกเสนอมาให้พิมพ์คือ โคลงกระทู้สุภาสิต สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในนามนายกหอพระสมุดวชิรญาณ ผู้แต่งประวัติของทิมแนบไปด้วยได้ให้เหตุผลการเลือกหนังสือไว้ว่า

อำมาตย์โท พระผดุงสาครศาสตร์ (สรรเสริญ สุขยางค์) จะทำการปลงศพสนองคุณหลวงพัฒนพงษ์ภักดี (ทิม สุขยางค์) ผู้บิดา ปรารถนาจะพิมพ์หนังสือแจก จึงมาขอให้กรรมการหอพระสมุดวชิรญาณช่วยเลือกเรื่องหนังสือซึ่งจะพิมพ์แจกนั้น ถ้าหากว่าเปนศพผู้อื่น ข้าพเจ้าก็จะช่วยเลือกหนังสือในหอพระสมุดฯ ให้พิมพ์ได้ไม่ยาก…แต่เห็นว่าการศพหลวงพัฒนพงษ์ภักดี (ทิม) นี้ จะเอาหนังสือ นอกจากหนังสือซึ่งหลวงพัฒนพงษ์ภักดีได้แต่งเองพิมพ์แจก หาสมควรไม่…ข้าพเจ้าจึงบอกความเห็นแก่พระผดุงสาครศาสตร์ ขอให้ไปรวบรวมหนังสือที่หลวงพัฒนพงษ์ภักดี ผู้บิดาได้แต่งไว้แลยังไม่ได้ลงพิมพ์นั้นส่งมาให้ ข้าพเจ้ารับจะเลือกแลจัดการพิมพ์ให้ตามประสงค์[21]  (ขีดเส้นใต้โดยผู้เขียน)

ถึงกระนั้น ในเวลาไล่เลี่ยกันก็มีข้อมูลว่าสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ขอคัดลอกนิราศหนองคายเพื่อเก็บไว้ ณ หอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร ที่ควรระบุไว้ด้วยว่าในช่วงเวลาใกล้กัน รัชกาลที่ 6 ได้สั่งให้ย้ายหอพระสมุดวชิรญาณจากเดิมที่ตั้งอยู่ที่ศาลาสหทัยสมาคมในพระบรมมหาราชวัง มาที่ตึกใหญ่ริมถนนหน้าพระธาตุ เมื่อปี 2459[22] การคัดลอกนิราศหนองคายจึงอยู่ในบริบทความเปลี่ยนแปลงนี้ด้วย เอกสารชุดนี้มีลักษณะเป็น ‘สมุดไทยดำ’ จำนวน 4 เล่ม[23] น่าสงสัยว่า การคัดลอกดังกล่าวมันเริ่มมาจากที่ครอบครัวต้องการให้ตีพิมพ์ นิราศหนองคาย จนนำมาสู่การคัดลอกต้นฉบับ พร้อมกับการปฏิเสธให้ตีพิมพ์ในฐานะหนังสืองานศพหรือไม่ ยังไม่มีหลักฐานที่จะชี้ไปเช่นนั้นให้สิ้นสงสัย อย่างไรก็ตาม ความตายของทิมจึงพ้องกับการถือกำเนิดใหม่อีกครั้งของ นิราศหนองคาย   

คำถามคือเหตุใดจึงควรเก็บ นิราศหนองคาย เอาไว้ จะเป็นไปเพื่อรักษางานเก่าๆ ที่หายากตามเจตนารมณ์ของหอพระสมุดจริงหรือไม่ อย่างไรก็ดี แม้จะมีการคัดสำเนาเกิดขึ้น แต่นิราศหนองคายก็ยังเป็นเอกสารปกปิดไม่ได้เผยแพร่สู่สาธารณะทอดเวลาออกไปอีกหลายสิบปี เมื่อพระยาสารศาสตร์ศิริลักษณ์ (สรรเสริญ สุขยางค์) บุตรของทิม ผู้เดียวกับที่ทำเรื่องขอพิมพ์หนังสืองานศพของพ่อ ถึงแก่กรรมบ้าง ก็มีความพยายามที่จะขอตีพิมพ์นิราศหนองคายอีกครั้ง ในปี 2494 แต่ก็ไม่ได้รับอนุญาต[24]

ดั่งว่าเกิดเดจาวู การคัดลอก นิราศหนองคาย ก็เกิดขึ้นอีกครั้ง ครานี้จากสมุดไทยดำลง ‘กระดาษฝรั่ง’ (ฟุลสแก๊ป) สันนิษฐานว่าเป็นการคัดลอกเพื่อเสนออธิบดีกรมศิลปากรเพื่อจัดพิมพ์เป็นหนังสืออนุสรณ์งานศพ ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจอะไรที่ต้นฉบับจะคัดลอกไม่จบ อาจเป็นเพราะอธิบดีกรมศิลปากรไม่อนุญาตให้จัดพิมพ์ ต่อมาหัวหน้ากองวรรณคดีและประวัติศาสตร์เห็นว่าน่าจะพิมพ์รักษาไว้จึงคัดลอกจนจบเรื่อง และจัดทำเป็นเล่มที่อาจเรียกว่า ‘ฉบับสมุดฝรั่ง’ แต่น่าเสียดายว่า ไม่ทราบว่าฉบับดังกล่าวถูกเก็บรักษาไว้ที่ใด (ซึ่งไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจอะไรกับการเก็บรักษาเอกสารของระบบราชการไทย อ้อ การจัดตั้งหอจดหมายเหตุแห่งชาติ เพิ่งเกิดขึ้นหลังการคัดลอกครั้งนี้เพียงปีเดียว) ทำให้คงเหลือแต่ฉบับลายมีในกระดาษฝรั่งจำนวน 148 หน้า ซึ่งเป็นต้นฉบับที่แสดงการตรวจแก้ไขข้อความ แสดงว่าต้นฉบับนี้น่าจะคัดลอกมาอีกที[25]

ในที่สุด นิราศหนองคาย ก็ได้รับการเผยแพร่ในปี 2498 การตีพิมพ์ครั้งประวัติศาสตร์นี้ปรากฏในหนังสืองานศพของรองอำมาตย์โท ขุนสันทัดวุฒิวิถี (สวน สันทัดวุฒิ) ที่เสียชีวิตเมื่อปี 2496[26] ถือเป็นต้นฉบับที่คุ้นเคยกันและแพร่หลายมากที่สุดในตลาดหนังสือไทยที่มักถูกนำไปอ่าน ตีความและพิมพ์ซ้ำ เป็นฉบับที่มีการชำระหรือแก้ไขตัดทอนอย่างมากอันจะเป็นประเด็นที่จะนำไปถกกันข้างหน้า

การฟื้นคืนชีพรอบต่อมาคือการถูกนำไปตีความโดย ‘จิตร ภูมิศักดิ์’ เมื่อปี 2504 ในบทความ ‘นิราศหนองคาย วรรณคดีที่ถูกสั่งเผา’ ในนามปากกา ‘สิทธิ ศรีสยาม’ ด้วยแว่นของมาร์กซิสต์ โดยมองว่า ทิม ผู้แต่ง คือตัวแทนของกวีชนชั้นกลางที่พยายามทำการวิพากษ์ศักดินา ซึ่งมีแนวคิดแบบเสรีชนและมองไปยังอนาคตที่ก้าวหน้ากว่า เพียงแต่ว่าทิมเองไม่สามารถไปได้ไกลกว่านั้น เพราะสุดท้ายเขาก็จำยอมต้องพึ่งพาอาศัยกับเหล่าศักดินานั้นอยู่ดี ผิดไปกับคนอย่างเทียนวรรณ (ต.ว.ส.วรรณาโภ) ที่ต่อสู้เพื่อความสำนึกตนเยี่ยงชนชั้นกลาง[27] นับเป็นครั้งแรกที่นิราศหนองคายถูกนำไปเป็นอาวุธของฝ่ายซ้าย บทความชิ้นนี้จะถูกผลิตซ้ำอีกครั้งหลัง 14 ตุลาคม 2516

เมื่อปี 2509 นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักประวัติศาสตร์ชื่อก้องที่เพิ่งจากไป ได้เขียนงานวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทชื่อว่า การปราบฮ่อและการเสียดินแดน พ.ศ.2431[28]ไม่แน่ใจนักว่าเขาได้รับอิทธิพลหรือมีการสนทนาใดๆ กับ นิราศหนองคาย หรือไม่ แต่ในเอกสารอ้างอิงเขาไม่ได้กล่าวถึงเลย ไม่ว่าจะเป็นตัวบท หรือข้อวิจารณ์จากจิตร ภูมิศักดิ์ แต่ข้อเสนอของวิทยานิพนธ์นี้ยังหนีไม่พ้นกับการอธิบายประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยม นิธิยังอยู่ใต้เงาของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพที่เขาจะทำการวิจารณ์และก้าวข้ามต่อไป 

นิราศหนองคาย ได้ถูกนำมาอ่านอีกครั้งหลัง 14 ตุลาคม 2516 เมื่อมันถูกตีพิมพ์ร่วมกับบทความของจิตร ภูมิศักดิ์ เมื่อปี 2518 เช่นเดียวกับหนังสือของจิตร และชุดหนังสือฝ่ายซ้ายทั้งหลาย ตัวบทจึงมีชีวิตชีวาท่ามกลางสถานการณ์ต่อสู้ทางการเมืองที่เผ็ดร้อนจนกระทั่งกระแสค่อยลดลงหลัง 6 ตุลาคม 2519

ความร้อนแรงของการต่อสู้ทางการเมืองได้ลดลงมากในทศวรรษ 2520 จากอารมณ์ปฏิวัติได้เปลี่ยนไปสู่การปฏิรูป ปรองดองและอยู่ร่วมกัน ประเด็นกวีกับความเป็นชนชั้นกลางจะถูกวิเคราะห์ผ่านงานบทความคลาสสิคของนิธิ เอียวศรีวงศ์อย่าง ‘สุนทรภู่: มหากวีกระฎุมพี’ เผยแพร่ต้นปี 2524 และ ‘วัฒนธรรมกระฎุมพีกับวรรณกรรมต้นรัตนโกสินทร์’ ที่เผยแพร่ช่วงปี 2525 ซึ่งต่อมาจะรวมอยู่ใน ปากไก่และใบเรือ (2527) [29] งานชุดดังกล่าววิเคราะห์ย้อนไปถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ผ่านวรรณกรรม โต้แย้งฝ่ายซ้ายที่ชี้ว่าสังคมไทยไม่ได้เปลี่ยนแปลงจากภายนอกผ่านการทำสนธิสัญญาเบาว์ริ่งเมื่อปี 2398 เพียงอย่างเดียว แต่อันที่จริงแล้ว เปลี่ยนแปลงจากภายใน จากโลกทัศน์ชนชั้นนำมาตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์แล้ว ทั้งยังชี้ให้เห็นว่าต้นรัตนโกสินทร์มีความแตกต่างจากสมัยอยุธยาอย่างไร ในเชิงเปรียบเทียบ งานเขียนของนิธิเกิดในช่วงขาลงของกระแสภูมิปัญญาฝ่ายซ้าย เขาอธิบายถึงความเปลี่ยนแปลงของสังคมที่ไม่ได้มีลำดับขั้นที่ตายตัวอย่างฝ่ายซ้ายที่เคร่งคัมภีร์ ซึ่งแบ่งเป็นวิถีการผลิตแบบชุมชนบุพกาล, สังคมทาส, ระบอบศักดินา และระบอบทุนนิยม  

หลังจากสังคมไทยไม่มีการต่อสู้ทางการเมืองที่ถึงพริกถึงขิงเช่นเดิมอีกต่อไป ฝ่ายซ้ายจบเส้นทางการต่อสู้ไปทั้งด้านการใช้กองกำลังและภูมิปัญญา นิราศหนองคาย กลับได้รับการตีพิมพ์อีกครั้งในปี 2533 ช่วงที่เศรษฐกิจกำลังเติบโต สื่อสิ่งพิมพ์ก็กำลังขยาย และกลับมาตีพิมพ์อีกครั้งหลังวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2541[30] ก็ยังไม่ได้เป็นกระแสอะไรมากมาย

จน นิราศหนองคาย กลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้งพร้อมกับโครงการวิจัย สกว. ว่าด้วย หนังสือดี 100 เล่มที่คนไทยควรอ่าน เมื่อปี 2542 น่าจะทำให้ได้รับการตีพิมพ์อีกครั้งโดย ‘ไทยวัฒนาพานิช’ เมื่อปี 2544[31] ตามงานหนังสือจะเห็นฉลากหนังสือดี 100 เล่มดังกล่าวพะหน้าปก เพื่อเรียกร้องความสนใจแก่ผู้ซื้อ นิราศหนองคายก็ได้รับเกียรตินั้น

ครั้นมาปี 2559 กรมศิลปากร ได้ตีพิมพ์ฉบับที่ต่างไปจากเดิม เนื่องจากพบต้นฉบับลายมือคัดลอกด้วยดินสอดำลงบนกระดาษฟุลสแก๊ปในเอกสารเก่าสองชุด นั่นคือ สมุดไทยเล่ม 1, 2 และ 3 (ตอนต้น) ที่คัดลอกในปี 2494 กับ เล่ม 3 (ตอนปลาย) และเล่ม 4 ที่คัดลอกไว้ปี 2496 ยังพบเอกสารต้นฉบับสำเนาพิมพ์ดีดประวัติทิมอีกด้วย[32] ล่าสุดในปี 2565 ได้มีการตีพิมพ์อีกครั้ง แต่เป็นต้นฉบับก่อนปรับปรุงปี 2559 (ซึ่งก็คือ ต้นฉบับปี 2498 นั่นเอง) พร้อมกับแนบบทวิพากษ์ของจิตร ภูมิศักดิ์ (ฉบับปี 2504)

ศิลปะของการตัดต่อ หรือบิดเบือน ข้อสนเทศที่หลายคน(ยัง)ไม่ได้อ่าน

หลังจากถูกทำลายหนังสือที่พิมพ์ขายทั้งหมดในปี 2421 ต้นฉบับนิราศหนองคาย ได้ถูกแก้ไข อย่างน้อยก็โดยทีมงานของกรมศิลปากร ฉบับปี 2498 อธิบดีกรมศิลปากรเขียนคำนำไว้ว่า “แต่เนื่องจากนิราศเรื่องนี้เกิดเป็นคดีขึ้นเกี่ยวกับผู้แต่งได้แต่งเติมข้อความที่เป็นการเสียหายแก่ผู้อื่น กรมศิลปากรจึงได้ตัดข้อความนั้นๆ ออก” [33] แต่เบื้องหลังอย่างละเอียดจะพบว่า มีการแก้ไขตั้งแต่ปี 2496 จากเอกสารของตรี อมาตยกุลได้ระบุว่า

เรื่องนิราศหนองคายนี้…มีถ้อยคำบางตอนรุนแรงถึงกับต้องเก็บหนังสือที่พิมพ์ขึ้นมาหมด และตัวหลวงพัฒนพงษ์ก็ต้องโทษ ข้าพเจ้าได้ให้นายหรีดตรวจคัดตอนที่กระทบกระเทือนผู้อื่นอย่างรุนแรงออก ขอให้ช่วยตรวจดูด้วยว่าควรจะชำระแก้ไขประการใดอีกหรือไม่ ถ้าจะมีชำระให้เขียนไว้ในช่องชำระ และตรงหัวต่อด้วย ดูว่าเชื่อมสนิทดีไหม[34]

การแก้ไขครั้งนั้นยังรวมไปถึงการตรวจสอบสัมผัสกลอนและถ้อยคำ รวมไปถึงอักขรวิธี นำไปสู่การตัดทอนแก้ไขจนแล้วเสร็จในปี 2497 ผู้ร่วมแก้ไขตัดทอนขณะนั้นคือ ธนิต อยู่โพธิ์, หรีด เรืองฤทธิ์, พวงทอง สิริสาลี และตรี อมาตยกุล[35]

แต่เราจะรู้ได้อย่างไรว่า ทีมกรมศิลปากรได้ชำระแก้ไขอะไรไปบ้าง ในชั้นต้นคือการเทียบกับต้นฉบับปี 2559 ที่ถือว่าได้ตีพิมพ์จากการคัดลอกลงกระดาษฟุลสแก๊ปที่ถูกเก็บไว้ในเอกสารเก่าที่เชื่อว่าคัดลอกจากสมุดไทยดำเมื่อปี 2494 (ซึ่งสมุดไทยดำก็เคยมาอีกทีเมื่อราวปี 2458-2459) นั่นหมายถึง หลายๆ คนที่เคยอ่านนิราศหนองคายจะพลาดข้อสนเทศนี้ไป โดยเฉพาะ จิตร ภูมิศักดิ์ ที่เคยตั้งข้อสังเกตไว้ในหลายประการ

ที่เห็นได้ชัดที่สุดก็คือบทเปิด ที่ฉบับปี 2498 เริ่มว่า “จะเริ่มเรื่องหนองคายจดหมายเหตุ” แต่ในฉบับปี 2559 จะเปิดด้วยส่วนที่ไม่ปรากฏในฉบับปี 2498 เลย นั่นหมายถึงว่าเป็นส่วนที่ถูกตัดทิ้ง อาจเป็นเพราะการกล่าวถึงชื่อบุคคลตรงๆ คือ เจ้าพระยามหินทร์

ท่านเจ้าพระยามหินทรเคาซิลลอ                        ออกหน้าหอขนพองสยองหัว

ในจิตคิดหนาวสั่นพรั่นพรึงกลัว                          ด้วยว่าตัวจะต้องแน่เป็นแม่ทัพ

ให้คิดห่วงหวงนางสาวชาวละคร                        นั่งสะท้อนถอนใจจนลมจับ

เหื่อแตกเต็มประดาเอาผ้าซับ                            เคี้ยวหมากหยับหยับแสนเสียดาย

โอ้ว่าไข่ขวัญของพี่เอ๋ย                                       กระไรเลยรู้หาย

ตัวพี่จะต้องไปหนองคาย                                   ด้วยเรื่องรายฮ่อหาญมาราญรอน

เลยบัญชาให้ข้าพเจ้านี้                                      ผู้เป็นที่เสมียนเขียนอักษร

จดหมายเหตุจำทำเป็นคำกลอน                        จะถาวรอยู่ในคุกสนุกนิ์นาน

ประชาชนจะได้ยลระยะทาง                               เป็นตัวอย่างทำเนียมคุกทุกสถาน

เหล่าฝูงคนที่อยู่ได้รู้การ                                     ผู้ใดอ่านเห็นความขลาดได้บาดใจ

ฉันคำนับรับบัญชาจดจาฤก                               คิดตรองตรึกตามบัณฑิตลิขิตไข

ปัญญาน้อยหนุ่มคะนองไม่ว่องไว                       พอทนได้ห้าสิบทีมีลายงาม ฯ[36]

หมายเหตุ: ขีดเส้นใต้โดยผูเขียน

นอกจากนั้น ยังระบุชัดว่า เป็นคนสั่งให้เขียนนิราศนี้ ซึ่งเล่มปี 2498 ไม่ปรากฏ ทำให้บทความวิจารณ์ของ จิตร ภูมิศักดิ์เองก็ตั้งข้อสงสัยไปที่เจ้าพระยามหินทร์ เพียงแต่ไม่มีหลักฐานชี้ชัด เช่น “ใครเล่าคือคนที่อยู่เบื้องหลังนายทิม คนคนนั้น มิใช่จะไม่มีใครรู้ ในครั้งนั้นใครๆ ก็รู้ สมเด็จพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ก็รู้ รัชกาลที่ 5 ก็ทรงรู้ แต่ก็เป็นเรื่องน้ำท่วมปาก” [37]

เนื้อหาบางส่วนที่ถูกปรับเปลี่ยนและตัดท้ายออกก็เช่น จาก “น้อมจิตคิดตั้งปณิธาน เจ้าอธิการคำรพจบสัพพี” [38] ทั้งที่ฉบับ 2559 เขียนวิจารณ์เจ้าพระยามหินทร์อย่างแรงกล้าว่า

น้อมจิตคิดตั้งปณิธาน                                        แม้นกาลจะอุบัติภพใดใด

ให้ได้เป็นสัสดีทั้งขี้นุ่ง                                         ให้เฟื่องฟุ้งวิปริตผิดวิสัย

เล่นละครพร่ำเพรื่อกระหน่ำไป                           กดขี่ไพร่กว่าจะถึงซึ่งนิพพาน

ให้พบกับสุดใจพิชัยเสนา                                    รับสินบนคนมาแบ่งให้ท่าน

บังเงินหลวงถ่วงไว้ได้นานนาน                            พระสูริยงเยื้องรถลงอับศรี[39]

เช่นเดียวกับการตัดส่วนหลังที่เป็นการบริภาษเจ้าพระยามหินทร์อีกครั้ง

เออเจ้าคุณแสนขี้ขลาดชาติสันดาน                    ช่างคิดการเอาสั้นสั้นขันสิ้นที

ที่ฮ่อแตกแยกไปหนีได้หมด                                ไม่ออกรสเลยหนาน่าบัดศรี

แม้นมันคุมกันมาย่ำยี                                         จะไม่ตีตอบมันฤๅฉันใด

ถ้าแม้นมันยกเข้ามาเวลานี้                                 จะมานั่งอยู่ที่นี่ได้ที่ไหน

ช่างอยากกลับเสียจริงจริงยิ่งกว่าไป                   คนอะไรขี้เค้าไม่เอาการ

เล่นลายเดานึกเอาว่าสำเร็จ                               ไม่ยอมเผ็ดฤๅจะปลิ้นไปกินหวาน[40]

ยังมีอีกหลายส่วนที่ถูกตัดทิ้งเพราะวิจารณ์ผู้คน เช่น วิจารณ์พระชาติสุเรนทร์ว่าตาบอดข้างขวาแต่ชำนาญการทุจริตคดโกง หรือหลวงภักดีจุมพลก็ทุจริตจนร่ำรวย และยังเป็นที่ไว้วางใจของเจ้าพระยามหินทร์[41]

ฉบับ 2498 ยังเข้าไปล้วงถึงการแก้ไขเนื้อความ เช่น เนื้อหากล่าวถึงกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ “ปางพระปลอมมาเปนไทยในสยาม พระกายไทยใจฝรั่งชั่งแสนงาม” เป็น “รองพระจอมจุลจักรหลักสยาม พระกายไทยใจทหารชาญสงคราม” หรือกล่าวถึงเจ้าพระยามหินทร์จาก “เปนเพราะเหตุเมาสุราพาเหหวน” เป็น “นั่งสังเกตฤกษ์นั้นไม่ผันผวน” ซึ่งเข้าใจได้เพื่อไม่เป็นการเสียดสีชนชั้นสูง[42] แต่การแก้ไขสัมผัสกลอนของกวีเพื่อให้ได้ตรงตามฉันทลักษณ์กลอนแปด[43] อาจจะเป็นการเกินเลยไปมากในฐานะการจัดการต้นฉบับเพื่อการอนุรักษ์ในนามกรมศิลปากร 

ยังมีการแก้ไขการสะกดคำให้ถูกอักขรวิธีอีกมาก รายละเอียดการตัดต่อ ปรับปรุงแก้ไข ผู้อ่านสามารถตามต่อได้ใน วิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทที่ชื่อว่า นิราศหนองคายฉบับสมุดฝรั่ง : การศึกษาเชิงวิเคราะห์ (2560) ของอรรถพร ดีที่สุด

คำถามอีกส่วนที่ผุดขึ้นมาก็คือ ทิมได้แก้ไขต้นฉบับหลังตีพิมพ์ขายเมื่อปี 2421 หรือไม่ คำตอบคือ เป็นไปได้อย่างยิ่ง มีข้อความบางอย่างที่ถือว่าถูกเขียนขึ้นหลังการลงโทษทิม นั่นหมายถึงว่า ช่องว่างการแก้ไขเอกสารจึงถือว่าเปิดกว้างตั้งแต่ปี 2421-2459 ก่อนที่ทิมจะจากไป

ข้อความบางส่วนในนิราศถือว่าไม่ได้ร่วมสมัยกับปี 2421 มีบางส่วนที่เติมเข้ามาอย่างแน่ชัด เช่น การกล่าวถึงการต้องโทษของกวีเอง ที่ระบุว่าถูกโบย 50 ที “ปัญญาน้อยหนุ่มคะนองไม่ว่องไว พอทนได้ห้าสิบทีมีลายงาม” [44] “ฉันผู้แต่งหนังสือชื่อนายทิม ถูกเฆี่ยนริมหลังขาดด้วยอาจหาญ” [45] ตรงกับเอกสารร่วมสมัยใน จดหมายเหตุพระราชกิจ รายวัน ประจำวันศุกร์ขึ้น 11 ค่ำ เดือน 9 ปี 2421 ว่า “พระยามหามนตรีถวายคำสารภาพอ้ายทิมผู้แต่งหนังสือนิราศหนองคาย ทรงเซ็นให้ลงพระราชอาญา 50 แล้วจำคุก” [46] นอกจากนั้น การกล่าวว่า “เลยบัญชาให้ข้าพเจ้านี้ ผู้เป็นที่เสมียนเขียนอักษร” [47] ข้อความนี้ถือเป็นการเปิดเผยว่าเจ้าพระยามหินทร์เป็นผู้อยู่เบื้องหลัง จากเดิมที่ขณะนั้นเขาสารภาพว่าเป็นคนทำเองทั้งหมด ก็ชี้ว่าส่วนนี้เป็นการแต่งเพิ่มขึ้นภายหลัง

การเขียนเสียดสีสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ว่าแพ้ทัพญวน ความว่า “สมเด็จท่านชาญฉลาดขลาดมาเก่า ชื่อท่านเน่าครั้งทัพญวณกระบวนหนี” ถือเป็นเรื่องใหญ่อีกประเด็น แต่ไม่พบในคำฟ้องเพราะคำฟ้องกล่าวเพียงการดัดแปลงพระนามของกษัตริย์ และการติเตียนผู้บังคับบัญชาว่าไม่รู้จักฤดูกาลที่ควรในการยกทัพ ข้อความนี้จึงน่าจะเกิดขึ้นทีหลัง[48] ส่วนการกล่าวถึงการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ ซึ่งเกิดขึ้นมาในปี 2429[49]

น่าสนใจว่า ทิมแก้ไขต้นฉบับครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ เร็วที่สุดก็น่าจะเป็นปี 2429 ที่สามารถอ้างอิงกับความตายของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ อย่างไรก็ตามอะไรคือแรงจูงใจในการแก้ไขของเขา หรือว่ามีช่วงคดีใหญ่ที่กล่าวถึงไว้ช่วงท้ายชีวิตของเจ้าพระยามหินทร์ที่ถูกฟ้องโดยพระยาสุรศักดิ์มนตรี เมื่อปี 2435 เรื่องที่ว่าด้วยการกดขี่ไพร่ที่เป็นตัวละครในวิกของเจ้าพระยามหินทร์ ขณะนั้นทิมทำหน้าที่เป็นทนายในบรรดาศักดิ์ ขุนจบพลรักษ์เสียด้วย เป็นไปได้ไหมว่า หลังการอสัญกรรมของเจ้าพระยามหินทร์ ในปี 2437 เขาจะได้กลับมาแก้ไขนิราศอันอื้อฉาวนี้อีกรอบ ดังปรากฏการพาดพิงถึงเกี่ยวการละครหลายส่วน ส่วนที่โดนตัดคือ “ให้ห่วงหวงนางสาวชาวละคร” [50] และ “เล่นละครพร่ำเพรื่อกระหน่ำไป กดขี่ไพร่กว่าจะถึงซึ่งนิพพาน” [51]

แล้วทำไมรัฐถึงยินยอมให้เอกสารเช่นนี้ดำรงอยู่ เมื่อเราไล่ดูเนื้อหาแล้ว สิ่งที่ปรากฏแม้จะมีการวิจารณ์ถึงผู้มีอำนาจและบารมี แต่แทบทั้งหมดไม่ได้แตะต้องกษัตริย์เลย การโจมตีผู้นำตระกูลบุนนาค หรืออย่างมากก็แค่การเสียดสี ‘วังหน้า’ อันเป็นตำแหน่งจารีตที่ไม่ดำรงอยู่ต่อไปแล้ว เมื่อคิดสะระตะแล้ว ไม่ได้เป็นผลเสียแก่ราชวงศ์ แต่ในอีกด้านก็ทำให้ฝ่ายตรงกันข้ามเสียรังวัดไปไม่น้อยหากเอกสารนี้ยังดำรงอยู่ นอกเหนือจากเหตุผลในฐานะการเก็บเนื้อความการเดินทัพครั้งประวัติศาสตร์เอาไว้ นิราศหนองคายจึงมีชีวิตบนความกระอักกระอ่วนของผู้มีอำนาจและสังคมที่ยังไม่แน่ใจว่า จะเอาอย่างไรกับการจัดการความทรงจำของผู้คน


[1] นิธิ เอียวศรีวงศ์, การปราบฮ่อและการเสียดินแดน พ.ศ.2431 วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต แผนกวิชาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2509

[2] ข้อสังเกตคือ ปีที่ระบุบนเหรียญกลับไม่ตรงกับการรบในปีที่ระบุในพงศาวดาร ภาคที่ 24 จดหมายเหตุปราบฮ่อ เหรียญระบุว่า 1239/2420, 1247/2428, 1249/2430 เสมียนอารีย์ (นามแฝง). ““เหรียญปราบฮ่อ” มูลค่านับล้านบาทที่ร.5 พระราชทานแก่ผู้มีความชอบ คราวสงครามปราบฮ่อ”. สืบค้นเมื่อ 7 มกราคม 2566 จาก https://www.silpa-mag.com/history/article_49250 (3 ธันวาคม 2566)

[3] นิราศหนองคาย (กรุงเทพฯ : สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2559), หน้า 23

[4] ดู “สุนทรภู่ : มหากวีกระฏุมพี” ใน นิธิ เอียวศรีวงศ์, ปากไก่และใบเรือ (พิมพ์ครั้งที่ 4, นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน, 2555)

[5] อเนก นาวิกมูล. “สุนทรภู่ตายที่ไหน? ค้นจุดสุดท้ายที่กวีอมตะมีลมหายใจ โดยเอนก นาวิกมูล”. สืบค้นเมื่อ 7 มกราคม 2566 จาก https://www.silpa-mag.com/history/article_40061 (18 ธันวาคม 2564)

[6] สมบัติ พลายน้อย, ชาวต่างชาติในประวัติศาสตร์ไทย (กรุงเทพฯ : สถาพรบุ๊คส์, 2563), หน้า 22-25

[7] นิราศหนองคาย, หน้า 24

[8] นิราศหนองคาย, หน้า 18-19

[9] สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. “กรมพระสุรัสวดี”. สืบค้นเมื่อ 7 มกราคม 2567 จาก http://legacy.orst.go.th/?knowledges=กรมพระสุรัสวดี-๒๕-สิงหาค (25 สิงหาคม 2553)

[10] กุลลดา เกษบุญชู มี้ด, ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ วิวัฒนาการรัฐไทย, อาทิตย์ เจียมรัตตัญญู แปล(นนทบุรี : ฟ้าเดียวกัน, 2562), หน้า 91

[11] อรรถพร ดีที่สุด, นิราศหนองคายฉบับสมุดฝรั่ง : การศึกษาเชิงวิเคราะห์ วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวรรณดีไทย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2560, หน้า 23

[12] นิราศหนองคาย, หน้า 21

[13] อรรถพร ดีที่สุด, เรื่องเดียวกัน, หน้า 25-26

[14] นิราศหนองคาย บทวิเคราะห์นิราศหนองคาย วรรณคดีที่ถูกสั่งเผา (กรุงเทพฯ : ไทยควอลิตี้บุ๊คส์ (2006), 2565), หน้า 86

[15] ประกาศตั้งเกาน์ซิลที่ปฤกษาราชการ เมื่อวันศุกรแรมแปดค่ำ เดือนเจด ปีจอฉศก และ พระราชบัญญัติสำรับตัว เกาน์ซิลลอร์ออฟสเตต ที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน และปรีวีเกาน์ซิลลอร์ ที่ปฤกษาราชการในพระองค์, ปีจอฉศก 1236

[16] นิราศหนองคาย, หน้า 31

[17] กุลลดา เกษบุญชู มี้ด, เรื่องเดียวกัน, หน้า 98-99

[18] กุลลดา เกษบุญชู มี้ด, เรื่องเดียวกัน, หน้า 96

[19] นิยะดา เหล่าสุนทร. “ช้างสารปะทะกัน คดีความระหว่าง 2 เสนาบดีใหญ่ เจ้าพระยามหินทรฯ-พระยาสุรศักดิ์ฯ”. สืบค้นเมื่อ 7 มกราคม 2567 จาก https://www.silpa-mag.com/history/article_40642 (11 พฤษภาคม 2564)

[20] สยามพิมพการ: ประวัติศาสตร์การพิมพ์ในประเทศไทย (กรุงเทพฯ : มติชน, 2549), หน้า 22-27

[21] โคลงกระทู้สุภาสิต พิมพ์แจกในงานปลงศพหลวงพัฒนพงษ์ภักดี (ทิม สุขยางค์) ร, ป, ฮ, ปีมโรงอัฐศก พ.ศ.2459, หน้า 11

[22] สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร. “หอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร”. สืบค้นเมื่อ 7 มกราคม 2567 จาก https://www.finearts.go.th/literatureandhistory/view/23279-หอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร

[23] นิราศหนองคาย, หน้า 11

[24] เกร็ดความรู้ของพระยาสารศาสตร์ศิริลักษณ์ พิมพ์ในการพระราชทานเพลิงศพ มหาอำมาตย์โท พระยาสารศาสตร์ศิริลักษณ์ (สรรเสริญ สุขยางค์) ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส, 5 มีนาคม 2495, หน้า (ก), 9-10 และ นิราศหนองคาย, หน้า 12

[25] อรรถพร ดีที่สุด, เรื่องเดียวกัน, หน้า 45-46

[26] อรรถพร ดีที่สุด, เรื่องเดียวกัน, หน้า 54

[27] นิราศหนองคาย บทวิเคราะห์นิราศหนองคาย วรรณคดีที่ถูกสั่งเผา, หน้า 125-215

[28] นิธิ เอียวศรีวงศ์, การปราบฮ่อและการเสียดินแดน พ.ศ.2431

[29] ดู “สุนทรภู่ : มหากวีกระฏุมพี” ใน นิธิ เอียวศรีวงศ์, ปากไก่และใบเรือ (พิมพ์ครั้งที่ 4, นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน, 2555)

[30] อรรถพร ดีที่สุด, เรื่องเดียวกัน, หน้า 4-5 

[31] อรรถพร ดีที่สุด, เรื่องเดียวกัน, หน้า 4-5 

[32] นิราศหนองคาย, หน้า 14-15

[33] นิราศหนองคาย, หน้า 28

[34] อรรถพร ดีที่สุด, เรื่องเดียวกัน, หน้า 49-50 

[35] อรรถพร ดีที่สุด, เรื่องเดียวกัน, หน้า 51 

[36] นิราศหนองคาย, หน้า 31

[37] นิราศหนองคาย บทวิเคราะห์นิราศหนองคาย วรรณคดีที่ถูกสั่งเผา, หน้า 161

[38] นิราศหนองคาย บทวิเคราะห์นิราศหนองคาย วรรณคดีที่ถูกสั่งเผา, หน้า 26

[39] นิราศหนองคาย, หน้า 42

[40] อรรถพร ดีที่สุด, เรื่องเดียวกัน, หน้า 98

[41] อรรถพร ดีที่สุด, เรื่องเดียวกัน, หน้า 101-102

[42] อรรถพร ดีที่สุด, เรื่องเดียวกัน, หน้า 94-95

[43] อรรถพร ดีที่สุด, เรื่องเดียวกัน, หน้า 89-87

[44] นิราศหนองคาย, หน้า 31

[45] นิราศหนองคาย, หน้า 33

[46] นิราศหนองคาย บทวิเคราะห์นิราศหนองคาย วรรณคดีที่ถูกสั่งเผา, หน้า 159

[47] นิราศหนองคาย, หน้า 31

[48] อรรถพร ดีที่สุด, เรื่องเดียวกัน, หน้า 71 -72

[49] อรรถพร ดีที่สุด, เรื่องเดียวกัน, หน้า 71 

[50] นิราศหนองคาย, หน้า 31

[51] นิราศหนองคาย, หน้า 42

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save