fbpx

CCCL Film Festival ในวันที่โลกป่วย เทศกาลภาพยนตร์ต้องเปลี่ยน?

cccl

‘การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ’ หรือ climate change เป็นประเด็นที่ทั่วโลกต่างพูดถึงกันมายาวนานหลายปี เห็นได้จากการจัดการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ COP โดยหวังว่าเวทีระหว่างประเทศนี้จะสามารถหาทางออกเกี่ยวกับประเด็นวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่ปรากฏให้เห็นถี่ขึ้นเรื่อยๆ ได้ ทั้งฝุ่นพิษ ไฟป่า ตลอดจนความมั่นคงทางอาหาร โดยหลายฝ่ายหวังว่าจะสามารถยกระดับวาระปัญหาของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้กลายเป็นวาระหลักของโลก และมนุษย์ทุกคนจะหาทางออกร่วมกัน

แต่ดูเหมือนสถานการณ์จริงของโลกจะไม่เป็นเช่นนั้น เรายังคงอยู่ท่ามกลางโลกที่มีฝุ่นพิษ หลายพื้นที่มีฝุ่นสูงแตะระดับสีม่วง ฤดูกาลผกผันจนมนุษย์คาดการณ์ไม่ได้ ซึ่งหลายวิกฤตมีสาเหตุมาจากมนุษย์เอง จนอาจกล่าวได้ว่า ‘โลกนี้กำลังป่วยไข้’

สถานการณ์เหล่านี้ย่อมสะท้อนให้เห็นว่า ประเด็นเรื่อง climate change อาจยังไม่ได้เป็นวาระหลักของมวลมนุษยชาติอย่างที่หลายฝ่ายคาดหวัง ทำให้การเคลื่อนไหวและสื่อสารในประเด็น climate change ยังจำเป็นต้องดำเนินต่อไป

เทศกาลหนังสั้น โลกป่วย เราต้องเปลี่ยน (CCCL Film Festival) เริ่มก่อตั้งในปี 2562 โดยหวังเป็นสะพานในการสื่อสารเรื่องผลกระทบจากวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อผู้คนและชุมชน และเสนอแนวทางการแก้ไข ปรับตัว และรับมือต่อวิกฤตนี้ในสังคมไทย ผ่านการรวบรวมและนำเสนอผลงานภาพยนตร์สั้นและผลงานทางศิลปะของเยาวชนคนรุ่นใหม่และบุคคลทั่วไป โดยพวกเขาเชื่อว่าสื่อภาพยนตร์และศิลปะมีพลังในการสื่อสารในประเด็นที่ยากและคนไม่อยากฟังอย่างประเด็นสิ่งแวดล้อมและ climate change

101 สนทนากับ บุษกร สุริยสาร ที่ปรึกษาของโครงการ CCCL Film Festival และนคร ไชยศรี program designer ผู้ออกแบบกิจกรรมและเทศกาล CCCL Film Festival ถึงแนวคิด เป้าหมาย และบทบาทของเทศกาลภาพยนตร์ที่สื่อสารประเด็นเฉพาะอย่าง climate change ว่าในวันที่โลกป่วยเช่นนี้ เทศกาลภาพยนตร์มีที่ทางอย่างไร พลังของภาพยนตร์ส่งผลต่อความเข้าใจเรื่องนี้แค่ไหน และตัวเทศกาลภาพยนตร์เองต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองอย่างไรบ้าง

‘เทศกาลหนังสั้น โลกป่วย เราต้องเปลี่ยน’ (CCCL Film Festival) มีที่มาจากไหน

บุษกร: เทศกาลภาพยนตร์ CCCL เกิดขึ้นจากความคิดของคริสโตเฟอร์ จี. มัวร์ (Christopher G. Moore) อดีตอาจารย์สอนกฎหมายและนักเขียนชาวแคนาดาที่อาศัยในประเทศไทยมากกว่า 30 ปี เขามองว่าประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ climate change มีความสำคัญอย่างยิ่งและสร้างผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของพวกเรามากที่สุด ทว่าผู้คนในสังคมกลับมีความเข้าใจต่อ climate change ค่อนข้างน้อย คุณคริสโตเฟอร์จึงอยากสร้างพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่มีส่วนร่วมและมีบทบาทในการสร้างความเข้าใจกับผู้คนในสังคม โดยเขามองว่าสื่ออย่างภาพยนตร์สั้นนั้นได้รับความสนใจในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ผลิตและเข้าถึงได้ง่ายกว่าภาพยนตร์ขนาดยาว

เทศกาล CCCL อยากเป็นดั่งสะพานที่จะเชื่อมระหว่างคนทำหนังกับผู้ชม โดยปัจจุบันนี้เราก็สามารถสร้างชุมชนของนักทำหนังรุ่นใหม่ที่สนใจในประเด็นสิ่งแวดล้อม และต้องการสร้างบทสนทนาในสังคมผ่านสื่อภาพยนตร์สั้น ทางเทศกาลทำหน้าที่เป็นเพียงพื้นที่ให้ผู้คนเหล่านี้มาแบ่งปันความคิด แบ่งปันแรงบันดาลใจ และแบ่งปันเรื่องราวที่พวกเขาต้องการจะเล่า เนื่องจากก่อนหน้านี้ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังไม่ค่อยมีเทศกาลภาพยนตร์ที่นำเสนอเกี่ยวกับ climate change เสียเท่าไหร่

นคร: เป้าหมายแรกในการทำงานของเราคือ ทำอย่างไรให้เยาวชน คนทำหนังหันมาเล่าเรื่อง climate change มากขึ้น ส่งผลให้ในช่วง 3 ปีแรกของเทศกาลมีการจัดประกวดแข่งขัน เพื่อดึงดูดให้ผู้คนต่างเข้ามาเล่าเรื่องราวต่างๆ ของเขา

นอกจากนี้เรายังพบว่าทั้งปริมาณและคุณภาพของภาพยนตร์ในโครงการนั้นมีความหลากหลายมากขึ้นในแต่ละปี อย่างปีนี้ก็มีภาพยนตร์สั้นเรื่อง ‘Life in Salt Water’ จากบังกลาเทศ ที่นำเสนอผลกระทบของ climate change ต่อผู้หญิง โดยเล่าเรื่องของผู้หญิงในชุมชนชายฝั่งของเมืองชยัมนคร ประเทศบังกลาเทศ ที่ต้องอุปโภคบริโภคน้ำเค็มซึ่งเป็นผลมาจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ทำให้กลุ่มผู้หญิงต้องเผชิญกับปัญหาทางสุขภาพ

ภาพยนตร์สารคดีเรื่อง ‘Life in Salt Water’ เป็นหนึ่งในภาพยนตร์สั้นของปีที่มีประเด็นที่น่าสนใจ และทำให้ผู้ชมไม่ได้มองปัญหา climate change เป็นเพียงปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเท่านั้น แต่ผู้ชมภาพยนตร์สามารถเชื่อมโยงไปยังประเด็นอื่นๆ ได้

โจทย์หลักสำหรับการออกแบบโปรแกรม หรือรูปแบบกิจกรรมของเทศกาลภาพยนตร์สั้น CCCL คืออะไร

นคร: ในความจริงแล้ว ทางทีมไม่เคยคิดเลยว่าจะต้องทำแบบใดแบบหนึ่งเท่านั้น ซึ่งหากมององค์ประกอบของกิจกรรมนั้น สามารถแบ่งออกเป็นสองส่วน คือ ส่วนการสนับสนุนคนทำหนัง และการจัดฉายภาพยนตร์

ส่วนแรกคือ ‘การสนับสนุนคนทำหนัง’ ซึ่งหมายความรวมตั้งแต่การให้ทุนไปจนถึงการพัฒนาโปรเจกต์ มันเหมือนเริ่มต้นจากศูนย์ในทุกๆ ครั้ง โจทย์ของเราคือทำอย่างไรให้เขาทำหนังเรื่องนี้ไปได้ตลอดรอดฝั่ง ซึ่งแต่ละปีก็จะพบเจอปัญหามากมาย และแตกต่างกัน หรือแม้แต่ปีนี้ก็เจอปัญหา เช่น ถ่ายไม่ได้ เป็นต้น

ส่วนต่อมาคือ ‘การจัดฉายภาพยนตร์’ ก่อนหน้านี้หลายคนอาจจะมองว่าสารคดีที่ว่าด้วยเรื่องสิ่งแวดล้อมคงจะน่าเบื่อ เล่าตามขนบ แต่เราไม่อยากให้เขารู้สึกเช่นนั้น โจทย์ของเราคือจะออกแบบโปรแกรมอย่างไรที่ทำให้ผู้ชมสนุกกับภาพยนตร์ที่ว่าด้วยประเด็น climate change

นคร ไชยศรี

ทำไมประเด็น climate change จึงมีความสำคัญมากจนเกิดเป็นเทศกาลภาพยนตร์ที่นำเสนอในประเด็นนี้โดยเฉพาะ และทาง CCCL จัดวางบทบาทของเทศกาลภาพยนตร์นี้อย่างไร

บุษกร: ที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ นักนโยบาย หรือแม้แต่สื่อมวลชนต่างก็มีข้อมูลเกี่ยวกับ climate change จำนวนมาก แต่เมื่อต้องอธิบายให้กับคนอื่นๆ กลับกลายเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก หรือแม้แต่ผู้คนมีความตระหนักรู้มากขึ้นก็ไม่รู้ว่า climate change กระทบต่อชีวิตอย่างไร

การสื่อสารในประเด็น climate change ให้เกิดอิมแพ็กต้องไม่นำเสนอข้อมูลให้ถึงสมองเพียงอย่างเดียว แต่ต้องนำสื่อมาประยุกต์ใช้เพื่อสร้างความรู้สึกร่วมสื่อสารให้ถึงใจ สื่ออย่างภาพยนตร์สั้นจึงตอบโจทย์ในมิตินี้ที่สามารถสื่อสารเรื่องราวเล็กๆ น้อยๆ แต่สะท้อนภาพปัญหาอื่นๆ ที่ใหญ่กว่านั้น

การสื่อสารเรื่อง climate change ในปัจจุบันนี้เป็นเหมือนภาวะ ‘กบต้ม’ (boiling frog) ที่กบหลายตัวอาจยังไม่รู้หรอกว่าหม้อที่เราอยู่ร้อนขึ้นแค่ไหน แต่ก็มีกบบางตัวเช่นกันที่เริ่มรู้สึกแล้วว่ามีเหตุการณ์แปลกๆ หรือรู้สึกไม่ค่อยสบายตัวแล้ว บทบาทของเทศกาลภาพยนตร์สิ่งแวดล้อมคือ เราจะต้องสื่อสารไปว่าพวกเรากำลังถูกต้มอยู่ จึงอยากมาชวนกบทุกตัวคุยกันว่าเราจะทำอย่างไรต่อไป

เป้าหมายของเทศกาล CCCL คือพวกเราต้องการให้คนรุ่นใหม่เข้ามามีบทบาทและส่วนร่วมในการขับเคลื่อนประเด็นดังกล่าว เรามองว่าการที่เขาผลิตภาพยนตร์สั้นออกมาหนึ่งเรื่อง เขาจะได้เรียนรู้ สืบค้น และลงพื้นที่จนเกิดเป็นองค์ความรู้ใหม่ ก่อนหน้านี้บางคนอาจไม่ได้สนใจประเด็นสิ่งแวดล้อม แต่เมื่อกระบวนการทำหนังผ่านไปเขาก็อยากมาเล่าประเด็นสิ่งแวดล้อมต่อ สะท้อนจากการที่พวกเขากลับมาขอทุนอีกครั้ง

นคร: ในช่วงปีแรกๆ ของเทศกาลภาพยนตร์ CCCL ทีมทำงานคิดเพียงว่าต้องมีสักที่ที่ฉายภาพยนตร์เกี่ยวกับ climate change เพียงเท่านั้น แต่เมื่อผ่านไปในแต่ละปี ทีมงานและองค์กรก็เติบโตขึ้นมาด้วย เราจึงปรับเปลี่ยนบทบาทที่ไม่ใช่แค่ฉายภาพยนตร์ แต่เราต้องการสร้างบทสนทนาร่วมกัน พวกเราต้องยอมรับว่าสื่อศิลปะและสื่อภาพยนตร์สั้น เป็นสื่อที่แข็งแรงมากๆ ในการสื่อสารประเด็นใดประเด็นหนึ่ง หรือเป็นภาพบรรทุกความรู้สึกของผู้คนและประวัติศาสตร์ ซึ่งจะทำให้คนดูเข้าถึงประเด็น climate change ในรูปแบบใหม่มากขึ้น

คำถามต่อไปคือ เราจะทำอย่างไรให้บทสนทนาในสังคมเกิดขึ้นในทุกๆ ปีอย่างต่อเนื่องได้ ซึ่งคำตอบของเราคือ CCCL ต้องกลับไปสนับสนุนคนทำหนังที่เขาสามารถเล่าเรื่องที่น่าสนใจและหลากหลายได้ จึงเกิดเป็น ‘ทุนสนับสนุนผลิตหนังสั้น’ (CCCL film grants) ที่ถึงแม้หากเทียบกับทุนสนับสนุนภาพยนตร์ในสถาบันอื่นๆ จะพบว่าทุนสนับสนุนที่เราให้นั้นน้อยมาก แต่เราใช้วิธีการกระจายทุนไปให้เยอะที่สุด

การทำหนังเป็นเรื่องน่ากลัวและน่ากังวลมาก บทบาทของ CCCL คือเราเป็นส่วนเล็กๆ ที่ทำให้คนทำหนังรู้สึกว่าเขาไม่ได้เดินไปอย่างโดดเดี่ยว และเราจะเดินไปพร้อมกับเขา ซึ่งหลายคนก็รู้ว่าพวกเราไม่ได้ไปเปลี่ยนแปลงหนังของเขา เพราะเราเชื่อในเรื่องราวของเขาตั้งแต่วันที่เขาขายไอเดียให้เราแล้ว

ทั้งหมดนี้เป็นกระบวนการพัฒนาคนทำหนังและคนที่สนใจงานศิลปะ เราเลยรู้สึกว่าเทศกาลภาพยนตร์นี้ไม่ได้ขับเคลื่อนเพียงประเด็น climate change เพียงอย่างเดียว แต่เป็นการพัฒนาเรื่องคนทำงานไปพร้อมกันด้วย

บุษกร สุริยสาร

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา คุณคิดว่าความสนใจแห่งยุคสมัยที่คนรุ่นใหม่ให้ความสนใจคืออะไร

นคร: ภาพยนตร์สั้นที่ส่งเข้ามาร่วมเทศกาลในปีนี้ แม้อาจจะพูดถึงเรื่องราวขยะ หรือฝุ่นเหมือนเดิมกับปีก่อนๆ แต่พวกเขากลับเริ่มตั้งคำถามมากขึ้นว่าสถานการณ์ดังกล่าวนั้นส่งผลกับพวกเราอย่างไร ไม่ใช่เพียงนำเสนอว่าทิ้งขยะไม่ลงถังเท่ากับว่าเป็นสิ่งไม่ดี แต่ตั้งคำถามต่อไปว่าถ้าทิ้งขยะไม่ลงถังแล้วอย่างไรต่อ

บุษกร: นอกจากนี้เราคิดว่าภาพยนตร์สั้นของคนรุ่นใหม่เริ่มกลับไปสำรวจภายในตัวเองมากขึ้น ว่าเขามีความรู้สึกนึกคิดเช่นไรต่อประเด็น climate change

นคร: เราคิดว่ามันคือความรู้สึกโดดเดี่ยวที่ไม่รู้ว่าอนาคตจะเกิดอะไรขึ้น ซึ่งก็ตอบไม่ได้เหมือนกันว่าความรู้สึกดังกล่าวเกิดขึ้นมาได้อย่างไร แต่เป็นความรู้สึกที่เยาวชนหลายๆ คนรู้สึกเหมือนกัน

จากที่สนทนามาราวกับว่าเทศกาลภาพยนตร์นี้เป็นเหมือนส่วนหนึ่งของการรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อม คุณมองว่าเทศกาลภาพยนตร์และสื่อภาพยนตร์สามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้จริงหรือไม่

บุษกร: คำถามนี้ก็เป็นคำถามที่สงสัยเหมือนกัน คือเราก็ไม่รู้เหมือนกันว่ามันจะเปลี่ยนแปลงสังคมได้หรือไม่ แต่เรารู้เพียงว่าสื่อภาพยนตร์นี้เดินทางไปที่ไหนบ้าง มีใครชมภาพยนตร์เรื่องนี้บ้าง และเมื่อพวกเขาดูหนังจบมีบทสนทนาต่ออย่างไร

นคร: ถ้าภาพยนตร์จะทำงานอะไรกับมนุษย์ได้สักอย่าง คงจะเป็นการเปิดโลกให้เห็นในสิ่งที่เราไม่เคยทราบ และเทศกาลภาพยนตร์สั้นอย่าง CCCL ก็ตอบสนองจุดประสงค์ดังกล่าว อย่างน้อยผู้ชมภาพยนตร์ในเทศกาลเขาก็จะเห็นว่า climate change ไม่ได้มีเพียงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่สามารถศึกษาได้จากหนังสือ แต่ในภาพยนตร์ที่สื่อสารผ่านงานภาพ ทำให้ผู้ชมเห็นถึงชีวิตของผู้คนในภาพยนตร์ที่เขาได้รับผลกระทบจาก climate change ที่ไปไกลกว่าปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่ยังมีมิติสังคม การเมือง วัฒนธรรม และเศรษฐกิจด้วย

บุษกร สุริยสาร และนคร ไชยศรี

ก้าวต่อไปของเทศกาลภาพยนตร์สั้น CCCL คืออะไร

บุษกร: ก้าวต่อไปของพวกเราคงเป็นการขยายขนาดทีมงานและเพิ่มการสนับสนุนทางการเงิน เนื่องจากที่ผ่านมาเราได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชนเพื่อให้สามารถดำเนินงานได้ในแต่ละปี

แต่หากเราต้องการขยายวัน ขยายจำนวนภาพยนตร์ ทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ เพื่อสร้างบทสนทนาเกี่ยวกับ climate change ที่หลากหลายและครอบคลุมทั่วโลกมากยิ่งขึ้น ย่อมต้องมีการหาทุนเพื่อจะสนับสนุนคนทำหนังมากขึ้น จึงเป็นก้าวต่อไปที่พวกเราอยากจะเติมเต็ม

นคร: ที่ผ่านมาการจัดเทศกาลภาพยนตร์มาจากกระทรวง หรือว่าหน่วยงานด้านวัฒนธรรมต่างๆ แต่เมื่อเวลาผ่านไปเราเห็นแนวโน้มของการเกิดและเติบโตของโรงภาพยนตร์ขนาดเล็กตามจังหวัดต่างๆ ซึ่งสะท้อนว่าคนไทยสนใจภาพยนตร์มากขึ้น คำถามต่อไปคือเราจะทำให้การจัดฉายภาพยนตร์อิสระตามพื้นที่ต่างๆ นั้นเติบโตต่อไปได้อย่างไร

หลายๆ เทศกาลเกิดขึ้นจากการกัดฟันสู้เพื่อหาทุนในการจัดงานของทีมงาน เรารู้สึกว่าถ้ามีการสนับสนุนจากภาครัฐมากขึ้น ประชาชนคนทั่วไปก็อาจจะมีโอกาสเห็นเทศกาลภาพยนตร์มากขึ้นและไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในเมืองหลวง


เทศกาลหนังสั้นโลกป่วยเราต้องเปลี่ยน ปี 2567 จัดวันที่ 15-18 กุมภาพันธ์ 2567 ที่สมาคมฝรั่งเศสกรุงเทพ และ 19-29 กุมภาพันธ์ 2567 ที่เชียงราย น่าน นครพนม อุดรธานี สงขลา และปัตตานี

ติดตามโปรแกรมฉายทั้งหมดได้ที่ : https://www.ccclfilmfestival.com/festival-2024

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save