fbpx

COP28 : เจาะประเด็นโลกเดือดกับจักรชัย โฉมทองดี

ตลอดปี 2023 สัญญาณความรุนแรงของวิกฤติสภาพภูมิอากาศปรากฏให้เห็นถี่ขึ้นเรื่อยๆ ไล่ตั้งแต่กลางปีที่องค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) ออกโรงเตือนการยุติของยุคโลกร้อน (Global Warming) และกำลังก้าวเข้าสู่ยุคโลกเดือด (Global Boiling) สอดคล้องกับข้อมูลจากรายงานขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ที่ยืนยันว่าปี 2023 จะเป็นปีที่อุณหภูมิโลกสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งจากข้อมูลจนถึงสิ้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าอุณหภูมิโลกสูงเพิ่มขึ้นประมาณ 1.4 องศาเซลเซียสจากอุณหภูมิโลกก่อนยุคอุตสาหกรรม และมีแนวโน้มที่กำลังจะไต่ขึ้นเรื่อยๆ จนทะลุเพดานการจำกัดอุณหภูมิโลกให้เพิ่มไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียสนับจากยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรมในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 28 หรือ COP28 ณ นครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ในปีนี้จึงเป็นที่จับตามองว่าจะนำไปสู่ความร่วมมือของประชาคมโลกในการหยุดยั้งวิกฤติทางสิ่งแวดล้อมครั้งใหญ่ของมวลมนุษยชาติได้จริงหรือไม่ ท่ามกลางข้อกังขานานัปการ อีกทั้งยังเป็นปีแรกที่หยิบยกประเด็นระบบอาหารและเกษตรกรรม หนึ่งในตัวการสำคัญของการผลิตก๊าซเรือนกระจกขึ้นมาระดมความคิด เพื่อรับมือและลดผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

101 ชวนคุยกับ จักรชัย โฉมทองดี ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ Madre Brava องค์กรขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงด้านความยั่งยืนของระบบอาหาร และตัวแทนภาคประชาสังคม ผู้เข้าร่วมการประชุม COP28 ถึงเป้าหมายของการประชุม COP28 โอกาสและทางรอดที่เท่าทันต่อภาวะวิกฤติสิ่งแวดล้อมผ่านการแก้ไขระบบอาหารและเกษตรกรรม พร้อมทั้งประเมินท่าทีของรัฐบาลไทยในเวทีสิ่งแวดล้อมระดับโลก

ปิดฉากพลังงานฟอสซิล? : วาระร้อน ณ COP28 เวทีแก้ปัญหาโลกเดือด

การประชุม COP เป็นการประชุมระหว่างผู้แทนอย่างเป็นทางการของรัฐบาล สถาบันด้านการศึกษา หน่วยงานวิจัย องค์กรภาคประชาสังคม และภาคธุรกิจ เพื่อแลกเปลี่ยนและร่วมหาทางออกในประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยจัดขึ้นครั้งแรกในปี 1995 ณ นครเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี และจัดต่อเนื่องกันในทุกปีจนนำมาสู่ความตกลงปารีสในเวลาต่อมาที่ชาติสมาชิก 197 ชาติรวมถึงประเทศไทยร่วมลงนามในการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม และพยายามรักษาการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกให้ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม

จักรชัยขยายความว่าอุณหภูมิโลกที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลกระทบต่อโลกค่อนข้างมาก และหากอุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นจนแตะ 2 องศาเซลเซียสจะนำไปสู่จุดพลิกผันด้านสภาพภูมิอากาศ (Climate tipping points) ที่ไม่สามารถหวนกลับได้ น้ำแข็งในขั้วโลกจะละลายและทำให้ก๊าซมีเทนที่สะสมอยู่ถูกปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศจนทำให้อุณหภูมิโลกร้อนขึ้นหมุนวนเป็นวัฏจักร นอกจากนี้ยังชี้ว่ามาตรวัดสำคัญของโลกร้อนมักจะมองย้อนกลับไปในอุณหภูมิก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม เนื่องจากว่าก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมากเกิดขึ้นจากการเผาพลังงานฟอสซิล เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ

วาระสำคัญของการประชุม COP28 จึงเน้นไปยังการพูดคุยข้อตกลงการใช้งานพลังงานฟอสซิลว่าจะเป็นลักษณะ Fade Out (ค่อยๆ ลดการใช้จนกระทั่งเลิกใช้พลังงานฟอสซิล) หรือจะเป็นลักษณะ Fade Down (ค่อยๆ ลดการใช้พลังงานฟอสซิล แต่ยังคงมีการใช้งานอยู่) ซึ่งยังอยู่ในระหว่างต่อรองและติดตามท่าทีของประเทศในแถบตะวันออกกลาง จีน อินเดีย หรือกระทั่งรัสเซีย อีกหนึ่งวาระสำคัญคือเรื่องกองทุนชดเชยความสูญเสียและเสียหาย (Loss and Damage Finance Fund) อันมีที่มาจากการที่ประเทศพัฒนาแล้วมีภาระทางประวัติศาสตร์ในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาอย่างยาวนานจึงควรจะสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านในการเอาพลังงานหมุนเวียนเข้ามาใช้ในประเทศกำลังพัฒนา และช่วยประเทศกำลังพัฒนาในการปรับตัว ทั้งทางเศรษฐกิจและระบบอาหาร เพื่อให้ทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้มากขึ้น (Climate Resilience) โดยความคืบหน้าในปัจจุบันมีการใส่เม็ดเงินเข้ากองทุนฯ เรียบร้อยแล้ว

นอกจากนี้ยังมีวาระข้อตกลงการลดมีเทน 80% ของบริษัทพลังงานขนาดใหญ่กว่า 50 บริษัท ซึ่งจักรชัยได้วิพากษ์ว่ามลพิษเหล่านี้ซึ่งเกิดจากการปล่อยมีเทนที่ปากปล่องไม่ควรจะมีอยู่แล้วตั้งแต่ต้น แต่ปรากฏว่าเกิดการปล่อยมีเทนลักษณะดังกล่าวจำนวนมากในประเทศเจ้าภาพ ในขณะเดียวกัน  การประชุม COP28 ยังมีการพูดถึงพลังงานนิวเคลียร์ที่จะมาแทนที่พลังงานฟอสซิล ซึ่งนำไปสู่การวางแผนการประชุมระดับผู้นำโลกในประเด็นดังกล่าวโดยเฉพาะในปี 2024 เนื่องจากเป็นประเด็นที่มีความเห็นหลากหลาย ทั้งในแง่ดีด้านพลังงาน ขณะเดียวกันก็มีความเสี่ยงด้านความปลอดภัยและความสบายใจของประชาชนในหลากประเทศ

ไม่เพียงเท่านั้น การประชุม COP28 ในครั้งนี้จึงเป็นปีแรกที่จะนำวาระเรื่องระบบอาหารและการเกษตรเข้ามาระดมความคิด หาทางรับมือกับสภาพภูมิอากาศแปรปรวนที่จะส่งผลต่อระบบอาหารและเสนอทางออกกันอย่างจริงจังเพื่อเข้าสู่กระบวนการของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ UNFCCC (United Nations Framework Convention on Climate Change) โดยมีเป้าหมายให้ระบบอาหาร ตั้งแต่การเพาะปลูก ปศุสัตว์ แปรรูป พัฒนาบรรจุภัณฑ์ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง มีความยั่งยืน และมนุษย์เข้าถึงอาหารที่ดีและปลอดภัย

สำหรับกระบวนการผลิตอาหารและเกษตรกรรมเชื่อมโยงกับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ทั้งในกระบวนการผลิต แปรรูปและขนส่ง รวมไปถึงเกี่ยวผันกับการปล่อยก๊าซมีเทนในสัดส่วนที่สูงมาก

“ก๊าซมีเทนส่งผลกระทบต่อโลกร้อนมากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หลายเท่าเลยนะครับ เพียงแต่ก๊าซมีเทนอยู่ในชั้นบรรยากาศสั้นกว่า แค่สิบกว่าปีแล้วหลังจากนั้นมันจะค่อยๆ ลดลงอย่างรวดเร็ว แต่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อยู่ยาวเป็นศตวรรษ” จักรชัยชี้และกล่าวว่าการลดการปล่อยก๊าซมีเทนจึงเป็นทางรอดระยะสั้นที่จะยังสามารถรักษาอุณหภูมิโลกไม่ให้ร้อนจนเกินไป

ลดเนื้อสัตว์-เพิ่มโปรตีนจากพืช: สกัดโลกเดือดด้วยอาหารในจานเรา

“1 ใน 3 ของก๊าซเรือนกระจกมาจากระบบอาหาร แต่ที่ผ่านมาเราหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึง เนื่องจากเป็นประเด็นอ่อนไหว ผู้คนในหลายภูมิภาคทั่วโลกขาดแคลนอาหารและสารอาหาร ฉะนั้นจะทำอย่างไรให้เกิดการเปลี่ยนผ่านระบบอาหารอย่างเป็นธรรม สร้างความมั่นใจได้ว่าคนสามารถเข้าถึงอาหารที่ดีและมีคุณภาพ ในขณะเดียวกันโลกไม่ร้อนไปกว่านี้จึงเป็นเรื่องสำคัญ” จักรชัยกล่าวและย้ำว่าแม้นวันนี้เราเปลี่ยนพลังงานทั้งหมดเป็นพลังงานสะอาด แต่หากไม่ปฏิรูประบบอาหารและการเกษตร ภายในสิ้นศตวรรษนี้อุณหภูมิโลกจะเพิ่มขึ้นแตะตัวเลข 2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม

ทางออกของระบบอาหารจึงมีสองระดับ ได้แก่

ระดับแรก การปรับปรุงประสิทธิภาพระบบอาหาร (1) การจัดการอาหารที่เหลือ (food waste) ตั้งแต่การผลิตไปจนถึงการบริโภค เพื่อให้เกิดเศษอาหารเหลือทิ้งให้น้อยที่สุด (2) การใช้พลังงานสะอาดในภาคการผลิต เช่น การติดตั้งโซลาร์เซลล์ในโรงเรือน (3) เพิ่มผลผลิตทางการเกษตรหรือปศุสัตว์ต่อพื้นที่ ลดการสูญเสียพื้นที่ป่าเพื่อใช้ในการเกษตร เนื่องจากพื้นที่ป่าจะช่วยดูดซับก๊าซเรือนกระจกและจะส่งผลโดยตรงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ระดับที่สอง การปรับการบริโภคอาหารให้มีความสมดุล ทั้งโปรตีนจากพืชและเนื้อสัตว์ เพื่อสุขภาพกายและสุขภาพของโลกดีไปพร้อมกัน

“ตอนนี้งานวิจัยออกมาชี้ตรงกันว่าแม้ว่าเราจะปรับปรุงระบบอาหารให้มีประสิทธิภาพที่สุดอย่างไรก็แล้วแต่ อุณหภูมิโลกยังจะเกิน 1.5 องศาเซลเซียสอยู่ดี หากเรายังบริโภคเนื้อสัตว์เป็นหลัก เพราะว่า 2 ใน 3 ของก๊าซเรือนกระจกที่มาจากระบบอาหารมาจากกระบวนการการผลิตโปรตีนจากสัตว์” จักรชัยกล่าว และเสริมว่า 80% ของพื้นที่ทางการเกษตรทั้งหมดของโลกมีไว้เพื่อผลิตโปรตีนจากสัตว์ ทั้งปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ โรงเรือนเลี้ยงสัตว์และพื้นที่แปรรูป ซึ่งล้วนแล้วแต่มีส่วนสำคัญในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก นอกจากนี้ในหลายพื้นที่ยังมีปัญหาสิ่งแวดล้อมเกี่ยวเนื่อง เช่น พื้นที่ภาคเหนือที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีปัญหาฝุ่นควัน รวมไปถึงหากยังมีการบริโภคโปรตีนจากสัตว์เป็นหลักในรูปแบบเดิม เมื่อมีการเพิ่มขึ้นของประชากรโลกจาก 7,900 ล้านคนในปัจจุบันเป็น 10,000 ล้านคน ในปี 2050 จะนำไปสู่การตัดไม้ทำลายป่า และใช้ทรัพยากรน้ำจำนวนมากในการผลิตอาหารเพื่อหล่อเลี้ยงคนอีก 2,100 ล้านคนที่จะเพิ่มขึ้นมา โดยมีการคำนวณว่าจะต้องใช้พื้นที่เทียบเท่าประเทศไทยทั้งประเทศ 12 แห่งในการทำปศุสัตว์

จักรชัยชี้ว่าโปรตีนจากพืชเป็นทางออกที่สำคัญ และให้ความเห็นโปรตีนจากสัตว์เองเป็นแหล่งที่มาของโปรตีนที่มีประสิทธิภาพค่อนข้างจะต่ำ โดยให้โปรตีนแก่มวลมนุษยชาติไม่ถึง 40% อย่างไรก็ดีมนุษย์ไม่จำเป็นจะต้องเปลี่ยนเป็นวีแกนหรือทานมังสวิรัติทั้งหมด แต่ควรบริโภคอาหารให้มีความสมดุลทั้งโปรตีนจากสัตว์เดิมและโปรตีนจากพืช ไม่ว่าจะเป็นโปรตีนทางเลือกจากพืชพื้นฐานโดยทั่วไป เช่น ธัญพืช, เห็ด, ผักบางชนิด หรืออาจจะมีการแปรรูปเบื้องต้น อย่างเต้าหู้ หรือเทมเป้ รวมถึงโปรตีนที่มาจากพืช (plant-based protein) หรือการสกัดโปรตีนจากพืชมาผลิตใหม่ให้มีลักษณะคล้ายทานเนื้ออย่างเนื้อสัตว์จากพืช (plant-based meat)

สำหรับประเทศไทย มีตัวเลขที่น่าสนใจว่าหากระบบเกษตรไทยลดการบริโภคเนื้อสัตว์ 30% จะทำให้รักษาอุณหภูมิโลกได้ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียสนับจากยุคก่อนอุตสาหกรรมได้ โดยแต่ละประเทศจะมีตัวเลขที่แตกต่างกัน ทั้งนี้ประเด็นที่สำคัญคือการส่งสัญญาณไปยังอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ทั้งในประเทศไทยเองและในสากลให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากผู้ผลิตรายย่อยปัจจุบันมีสัดส่วนน้อยมากไม่จำเป็นต้องลดการผลิตลง

ส่องโอกาสทางเศรษฐกิจของโปรตีนจากพืช

จักรชัยมองว่าโปรตีนจากพืชไม่ได้มีประโยชน์ในด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่เป็นโอกาสทางเศรษฐกิจ เนื่องจากคาดการณ์ว่าประเทศต่างๆ จะเริ่มมีมาตรการทางภาษีด้านอาหารหรือสินค้าทางการเกษตรในอนาคต เฉกเช่นเดียวกับที่มีในมาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (Carbon Border Adjustment) กำหนดราคาสินค้านำเข้าบางประเภทเพื่อป้องกันการนำเข้าสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเข้ามาในสหภาพยุโรป เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ผลิตภายในประเทศ ประเทศไทยในฐานะผู้ส่งออกอาหารที่สำคัญจึงละเลยเรื่องดังกล่าวไม่ได้

ในขณะเดียวกันการศึกษาของอาจารย์ วิษณุ อรรถวานิช อาจารย์ประจำภาควิชาเศรษฐศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ก็ชี้ให้เห็นว่าผลิตภาพทางการผลิตของภาคการเกษตรไทยลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นข้าว น้ำตาล ยางพารา จักรชัยกล่าวว่าเราจำเป็นจะต้องพิจารณาว่าพืชชนิดใดเป็นพืชโปรตีนสูงที่มีศักยภาพในการเพิ่มมูลค่า โดยองค์กร Madre Brava ทำการสำรวจใน 5 ประเทศและเริ่มเห็นแนวโน้มของการเพิ่มขึ้นการบริโภคโปรตีนที่ไม่ได้มาจากเนื้อสัตว์ ซึ่งอาจจะเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจที่สำคัญสำหรับประเทศไทยในอนาคต

4 ข้อเสนอ 2 ความน่าเสียดายของประเทศไทยในเวทีสิ่งแวดล้อมระดับโลก

เมื่อขยับการพูดคุยมาที่ที่ทางของประเทศไทยในการประชุมรัฐภาคี COP 28 นั้น พบว่าประเทศไทยเตรียมเสนอ 4 ประเด็นสำคัญ ดังนี้

1.      การขับเคลื่อนนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับโลก ระดับประเทศ ระดับจังหวัด และระดับพื้นที่

2.      เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

3.      กลไกการเงินด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผ่านการเพิ่มประสิทธิภาพของกองทุนสิ่งแวดล้อมและการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิต

4.      การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในทุกระดับ

จักรชัยเห็นด้วยกับคอนเซปต์ของการขับเคลื่อนนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในทุกระดับ การใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน แต่ค่อนข้างเสียดายในสองประการ

ประการแรก ประเทศไทยพลาดโอกาสในการแสดงวิสัยทัศน์และศักยภาพด้านนวัตกรรมอาหารบนเวทีระดับโลก การนำเสนอในที่ประชุมระดับโลกควรเป็นประเด็นที่มีความแหลมคม เพื่อสร้างพื้นที่ยืนของประเทศในระดับสากล โดยเฉพาะในประเด็น ”ปฏิญญา COP28 UAE เกี่ยวกับการเกษตรที่ยั่งยืน ระบบอาหารที่มีความยืดหยุ่น และการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ” ที่มีการประกาศในช่วงพิเศษของการประชุมสุดยอดการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศโลก (World Climate Action Summit-WCAS) นำโดยโจโก วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย จอร์เจีย เมโลนี นายกรัฐมนตรี ของอิตาลี เฟียเม นาโอมิ มาตา อาฟา นายกรัฐมนตรีซามัว และแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา ในขณะที่ประเทศไทยที่เป็นผู้เล่นรายสำคัญของการส่งออกอาหารในระดับต้นๆ ของโลก โดยเฉพาะการส่งออกเนื้อไก่ที่เป็นอันดับ 1 ของเอเชียและอันดับ 4 ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกา ยุโรปและบราซิล กลับพลาดโอกาสในการแสดงศักยภาพในประเด็นอาหารบนเวทีระดับสากล

ประการที่ 2 น่าเสียดายที่ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีของไทยไม่ได้เข้าร่วมการประชุม COP28 ซึ่งเป็นงานระดับผู้นำประเทศด้วยตัวเอง แต่มอบหมายให้ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นผู้ดูแลเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นผู้แทนการประชุมร่วมกับผู้นำโลกกว่า 200 ประเทศทั่วโลก

อย่างไรก็ดี จักรชัยแสดงความกังวลในข้อเสนอเรื่องคาร์บอนเครดิตที่มาจากหลักการเรื่องการชดเชยคาร์บอน (Carbon Offset) เปิดโอกาสให้บุคคลหรือองค์กรไม่จำเป็นต้องลดก๊าซเรือนกระจกด้วยตัวเอง แต่จ่ายเงินเพื่อซื้อสิทธิที่เกิดจากการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในแต่ละปีต่ำกว่าเกณฑ์กำหนด แม้จะเป็นโอกาสของเกษตรกรและภาคธุรกิจไทย แต่ในภาพรวมจะแน่ใจได้อย่างไรว่ามีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจริงและลดขนาดไหน หรือกระทั่งลดก๊าซเรือนกระจกอยู่แล้วเป็นปกติ และทำให้ในภาพรวมของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่เกิดความเปลี่ยนแปลง หรือไม่ เช่น กรณีดูแลป่าไม้ ซึ่งไม่ได้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือดูดซับก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้น เป็นต้น นอกจากนี้คาร์บอนเครดิตยังมีราคาที่ผันผวน กระบวนการตรวจสอบที่ซับซ้อนและไม่ชัดเจน หากโดนตรวจสอบว่าไม่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มจริงอาจจะถูกระงับทีหลังได้

ข้อกังขาต่อการประชุม COP28

หลายคนวิจารณ์ว่าการประชุม COP ที่เกิดขึ้นประจำทุกปี แต่ดูเหมือนว่าปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะยังคงรุนแรงและเลวร้ายมากกว่าเดิม จักรชัยสะท้อนมุมมองว่าเป็นเรื่องที่หลายคนมองว่าการประชุม COP ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง เนื่องจากโลกปล่อยก๊าซเรือนกระจกตั้งแต่เริ่มมีการประชุม COP ครั้งที่ 1-28 รวมกันมากกว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในช่วงก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรมจนถึงช่วงก่อนการประชุม COP ครั้งที่ 1 เสียอีก แต่ในอีกด้านหากไม่มีกลไกในการขับเคลื่อนเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระหว่างประเทศในระดับสากลเช่นนี้ สภาพภูมิอากาศอาจจะเลวร้ายยิ่งกว่าปัจจุบันก็เป็นไปได้ เนื่องจากปัจจัยเรื่องจำนวนประชากรโลกที่เพิ่มสูงขึ้น และการใช้พลังงานที่มากกว่าอดีต

อย่างไรก็ดี  มีคนตั้งคำถามว่าการหยุดยั้งการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกจะสำเร็จหรือไม่ จักรชัยให้ความเห็นว่าเป็นเรื่องยาก แต่ดีกว่าไม่ลงมือแก้ปัญหา และเป็นเรื่องของทุกคนที่จะช่วยผลักดัน ส่งเสียงและลงมือทำในระดับบุคคลที่สามารถทำได้ เช่น การลดบริโภคเนื้อสัตว์ หรือการผลักดันไปยังหน่วยงานภาครัฐ เอกชนและวิชาการให้มีบทบาทในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น

ท่ามกลางความท้าทายในทางปฏิบัติ จักรชัยให้ความเห็นถึงแนวทางการแก้ปัญหาเรื่องสภาพภูมิอากาศที่เป็นไปได้สองแนวทาง ได้แก่ การแก้ไขปัญหาเรื่องพลังงานให้เป็นพลังงานสะอาด เพียงแต่พลังงานเป็นประเด็นที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนสูง และมีเรื่องการเมืองเฉพาะหน้า เช่น บางประเทศเกรงว่าทำแล้วจะทำให้ต้นทุนพลังงานบางอย่างสูงขึ้นและจะกระทบต่อคะแนนเสียงในอนาคต เป็นต้น จักรชัยมองว่าบางทีอาจจะเป็นเรื่องความเข้าใจคาดเคลื่อน อย่างในประเทศไทยที่มีปัญหาค่าไฟแพง ซึ่งพิจารณาปัจจัยที่ราคาแพงอาจจะราคาพลังงานฟอสซิลที่เพิ่มขึ้น หรือประสิทธิภาพการบริหารจัดการเรื่องการผลิตพลังงานพร้อมจ่ายที่หากมีการปรับเป็นพลังงานสะอาดอาจจะไม่จำเป็นต้องค่าไฟที่แพงขึ้น  

“ผมคิดว่าเรื่องพลังงานสะอาดเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และควรจะเป็นพลังงานของทุกคน จริงๆ แล้วผมทำเรื่องระบบอาหาร เรื่องพลังงานอาจจะไม่ใช่เรื่องที่ผมทำสักทีเดียว แต่ผมคิดว่าถ่านหินจะต้อง fade out แล้ว ถามว่าทำให้ราคาพลังงานสูงขึ้นหรือไม่ ผมถึงเรียนว่าเป็นเรื่องประสิทธิภาพในการจัดการ และเป็นการลงทุนโดยภาครัฐที่จะต้องมาลงทุนในเรื่องพลังงานสะอาด มันมีเรื่องนวัตกรรมเยอะแยะมาก จริงๆ เราควรจะใช้ระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) ได้แล้ว ลดภาษีให้ประชาชนติดหลังคาโซลาเซลล์ รัฐบาลควรจะสนับสนุนและติดมิเตอร์กริต (ระบบออนกริต) ตอนกลางวันได้รับพลังงานแดดเยอะ มิเตอร์หมุนกลับเราจ่ายค่าไฟน้อยลง สิ้นเดือนเราอาจจะจ่ายค่าไฟนิดเดียวหรือแทบไม่จ่ายเลยก็ได้ อันนี้หลายประเทศทำแล้ว แต่บ้านเราทำไมไม่ทำกันจริงจังสักที” จักรชัยกล่าวและเสนอแนวทางที่ 2 การเปลี่ยนแปลงระบบอาหาร เพื่อให้ได้โปรตีนที่มีความยั่งยืนและราคาถูกลง

ในช่วงท้ายจักรชัยยังให้ความเห็นว่าความเป็นธรรมด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือที่เรียกว่า Climate Judgement เป็นอีกประเด็นที่ควรให้ความสำคัญว่าไม่ควรบีบคั้นทรัพยากรจากผู้มีรายได้น้อย ในขณะที่เศรษฐี กลุ่มทุนขนาดใหญ่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมากผ่านการใช้เครื่องบินส่วนตัว หรือกิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่นๆ จักรชัยเสนอว่าภาครัฐทั้งไทยและระดับสากลจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมกับการจัดการภาษีคาร์บอนที่เกี่ยวกับการบริโภคที่ล้นเกิน 

“ผมคิดว่าจำเป็นจะต้องมีกรอบร่วมกันกับภาคธุรกิจต่างๆ และหากถามว่าผู้นำจะกล้าหาญพอจะจัดการกับทุนขนาดใหญ่หรือเปล่า ผมคิดว่าก็อยู่ที่ประชาชนให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ไหม ถ้าประชาชนไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ผู้นำที่ไม่มีวิสัยทัศน์ก็ไม่ได้มีเหตุผลที่จะต้องไปกล้ากับกลุ่มทุนเหล่านี้ มันก็กลับมาสู่กลไกทางการเมืองพื้นฐานว่าประชาชนให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ขนาดไหน อันนี้เป็นเรื่องที่ประชาชนต้องเร่งกันส่งเสียง โดยที่คนไทยไม่จำเป็นต้องเสียสละความสุขเพื่อให้โลกอยู่ได้ แต่ควรจะมองว่าเราจะหาโอกาสทางเศรษฐกิจและสร้างอาชีพอย่างไร รวมถึงรัฐบาลก็ต้องมีโซลูชันนี้ออกมาและถ้าประชาชนสนับสนุนก็จะดี เพียงแต่ว่าจนถึงวันนี้ผมเสียดายอยู่นิดๆ ว่าผ่านไปหลายปี ตั้งแต่รัฐบาลที่แล้วจนมาถึงรัฐบาลนี้ยังไม่เห็นนวัตกรรมอะไรใหม่ๆ ในเรื่องนี้ออกมาเลย ทั้งๆ ที่ประเทศไทยมีศักยภาพที่สามารถทำได้” จักรชัยทิ้งท้าย

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save