fbpx

“ผมต้องละทิ้งชีวิตทั้งหมดแล้วหนีมา” เปิดใจคนพม่าลี้ภัยเข้าไทย หลังบังคับใช้กฎหมายเกณฑ์ทหาร

มันบีบให้ผมต้องละทิ้งชีวิตทั้งหมด แล้วหนีออกมาจากพม่า”

“มันบีบให้ผมต้องละทิ้งชีวิตของผมทั้งหมดไป ผมต้องตัดสินใจลาออกจากงาน ทิ้งความฝันและเป้าหมายทุกอย่างที่นี่ และหนีออกมาให้พ้นจากแผ่นดินพม่า”

หม่อง (นามสมมติ) หนุ่มชาวพม่าอายุ 30 ปี เล่าถึงจุดเปลี่ยนในชีวิตของเขา จากที่เป็นผู้มีฐานะการงานมั่นคงในแวดวงวิศวกรไอทีในนครย่างกุ้ง ต้องกลายมาเป็นผู้ลี้ภัยในชั่วเวลาเพียงไม่กี่วัน หลังจากที่คณะรัฐประหารพม่าออกคำสั่งบังคับใช้กฎหมายเกณฑ์ทหารแบบสายฟ้าแลบเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

“การประกาศบังคับใช้กฎหมายนี้สร้างแรงสั่นสะเทือนอย่างมาก มันเป็นการก้าวล่วงเสรีภาพส่วนบุคคลของประชาชนขึ้นไปอีกขั้น ขณะเดียวกันก็เพิ่มบรรยากาศความหวาดกลัวภายใต้การปกครองของกองทัพ และส่วนตัวผมเอง มันทำให้ผมรู้สึกว่าอิสรภาพและความปลอดภัยของผมกำลังถูกคุกคามด้วยกฎหมายดังกล่าว มันทำให้ผมในฐานะชายคนหนึ่งที่มีครอบครัว ต้องพลิกแผนชีวิตทั้งหมด เพื่อปกป้องความเป็นครอบครัว ปกป้องจิตวิญญาณอันมุ่งมั่นของผม ในที่สุดผมจึงตัดสินใจลี้ภัยออกนอกประเทศ” หม่องเล่าต่อ

ภายใต้กฎหมายเกณฑ์ทหารนี้ ประชาชนเพศชายที่มีอายุระหว่าง 18-35 ปี และเพศหญิงอายุระหว่าง 18-27 ปีบริบูรณ์เข้าเกณฑ์ต้องรายงานตัวเขาเกณฑ์ทหารเป็นระยะเวลา 2 ปี แต่หากเป็นผู้ที่มีทักษะวิชาชีพสูง เช่น แพทย์ และวิศวกร เกณฑ์อายุในการเข้าเกณฑ์ทหารสำหรับผู้ชายอยู่ที่ 18-45 ปี และสำหรับผู้หญิงที่ 18-35 ปี โดยมีระยะเวลารับราชการ 3 ปี แต่หากประเทศอยู่ในภาวะฉุกเฉินเช่นในปัจจุบัน ระยะเวลาเกณฑ์ทหารอาจขยายออกไปได้สูงสุดถึง 5 ปี

ด้วยข้อกำหนดเหล่านี้ ทำให้มีประชาชนที่เข้าเกณฑ์รวมกันทั้งสิ้นราว 14 ล้านคน โดยคณะรัฐประหารพม่ามีแผนจะเรียกตัวปีละ 50,000 คน และมีกำหนดประกาศชื่อล็อตแรกหลังเทศกาลตะจาน (หรือสงกรานต์) ในเดือนเมษายนนี้ 5,000 คน

กฎหมายการเกณฑ์ทหารดังกล่าวถูกประกาศใช้มาตั้งแต่ปี 2010 ภายใต้ชื่อ People’s Military Service Law เพื่อทดแทนฉบับเก่าในปี 1959 ทว่าไม่เคยมีการนำมาบังคับใช้จริงจนกระทั่งวันที่ 10 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ท่ามกลางสถานการณ์ที่กองทัพพม่ากำลังเผชิญความสูญเสียอย่างหนัก จากการสู้รบกับกลุ่มพันธมิตรภราดรภาพ (Brotherhood Alliance) ที่เริ่มปฏิบัติการโจมตียึดฐานที่มั่นกองทัพ ในชื่อปฏิบัติการ 1027 เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2023 ซึ่งถือเป็นแรงสั่นสะเทือนหนักที่สุดต่อกองทัพพม่านับตั้งแต่เข้ายึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 จึงเป็นที่เชื่อว่าการนำกฎหมายเกณฑ์ทหารมาปัดฝุ่นในตอนนี้เป็นความต้องการเติมกำลังพลทดแทนการสูญเสียที่เกิดขึ้น  

แน่นอนว่าการประกาศบังคับใช้กฎหมายนี้สร้างความตื่นตระหนกไปทั่วประเทศ ทำให้คนพม่าจำนวนมากตัดสินใจหาทางหนีออกนอกประเทศเร็วที่สุด โดยที่จุดหมายปลายทางอันดับต้นๆ ก็หนีไม่พ้นเพื่อนบ้านอย่างประเทศไทย เห็นได้จากเพียงไม่กี่วันหลังการประกาศ ที่คนพม่าหลายพันคนเดินทางไปต่อคิวหน้าสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำนครย่างกุ้ง เพื่อยื่นขอวีซ่าเดินทางเข้าสู่ประเทศไทย ขณะที่อีกจำนวนหนึ่งก็เลือกหลบหนีเข้าไทยด้วยช่องทางที่ไม่ถูกกฎหมาย รวมถึงหม่อง ชายคนที่เรามีโอกาสได้สนทนาด้วย

ชีวิตในแม่สอดห่างไกลจากที่ผมคิดไว้เยอะมาก”

“ผมโชคดีที่ผมข้ามมาถึงที่นี่ได้อย่างปลอดภัย แต่กว่าที่ผมจะมาตรงนี้ได้ มันมีอุปสรรคนับไม่ถ้วนตลอดเส้นทาง ทั้งมาตรการควบคุมที่เข้มงวด และความเสี่ยงในการเดินทางมากมาย ผมต้องเดินทางข้ามภูเขามาหลายลูก ซึ่งแน่นอนว่าถนนหนทางแย่มาก ต้องใช้รถโฟร์วีลเท่านั้น” หม่องเล่าให้เราฟังถึงความลำบากในการเดินทางหลบลี้เข้ามาในไทยด้วยช่องทางธรรมชาติ

หม่องตัดสินใจเดินทางออกจากย่างกุ้งในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และใช้เวลาทั้งสิ้น 2 วันเต็มก่อนเดินทางข้ามพรมแดนมายังฝั่งไทยได้สำเร็จ ก่อนที่สมาชิกครอบครัวของเขา คือภรรยา ลูกชายที่มีอายุเพียง 5 ขวบ และแม่วัย 65 ปีที่สุขภาพไม่ค่อยดีนัก จะเดินทางตามมาในช่วงสัปดาห์ที่สองของเดือนมีนาคม โดยปัจจุบันหม่องและครอบครัวอาศัยอยู่ที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก

แม่สอดเป็นเมืองติดชายแดนพม่าที่ถือเป็นแหล่งหลบลี้หนีภัยสงครามและภัยการเมืองของประชาชนฝั่งพม่ามาต่อเนื่องหลายทศวรรษ รวมถึงในช่วงหลังการรัฐประหารปี 2021 ที่ประชาชนและนักเคลื่อนไหวต่อต้านการรัฐประหารพากันหลบหนีเข้ามาอาศัย เช่นเดียวกับชาวบ้านตามแนวชายแดนฝั่งรัฐกะเหรี่ยงที่หนีการสู้รบเข้ามาพักพิงชั่วคราวเป็นระยะ และเมื่อมีการประกาศกฎหมายบังคับเกณฑ์ทหารเดือนกุมภาพันธ์นี้เอง แม่สอดจึงเป็นหนึ่งในพื้นที่หลักที่ต้องรับผู้หนีภัยระลอกใหม่เข้ามาอีกครั้ง

“แม่สอดเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดที่หนึ่ง นอกจากจะเป็นเพราะอยู่ใกล้และเดินทางเข้ามาง่ายที่สุดแล้ว ที่นี่ยังมีเครือข่ายชุมชนคนพม่าขนาดใหญ่ที่ให้ความช่วยเหลือเราได้ และด้วยความที่ผมเป็นนักเคลื่อนไหวขบวนการอารยขัดขืน (CDM: Civil Disobedience Movement) ต่อกองทัพ ผมเลยคิดว่าแม่สอดเป็นพื้นที่ที่จะทำให้ผมสามารถติดต่อเชื่อมโยงกับนักเคลื่อนไหวคนอื่นๆ ได้ง่ายในการที่จะต่อสู้เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยให้พม่าต่อไป” หม่องเล่าเหตุผลที่เขาและผู้หนีภัยคนอื่นๆ เลือกแม่สอดเป็นจุดหมาย

ณ ปัจจุบัน เราไม่อาจทราบตัวเลขได้แน่ชัดว่าคนพม่าที่หลบหนีการบังคับเกณฑ์ทหารเข้ามาในไทยมีจำนวนเท่าใด ขณะที่ในงาน The Launch Event of the Report on Thai Legislation and Policies Review Relating to New Arrivals from Myanmar โดยองค์กรภาคประชาสังคม Myanmar Response Network (MRN) เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2024 มีการคาดการณ์ว่ามีคนเข้ามาทั้งผ่านช่องทางธรรมชาติและผ่านการตรวจตราข้ามแดน ประมาณวันละ 1,000 คน

นอกจากนี้ New Myanmar Foundation (NMF) องค์กรภาคประชาสังคมของพม่าที่มีที่ตั้งในแม่สอด ให้ข้อมูลกับ 101 ว่า มีผู้ลี้ภัยในแม่สอดที่ติดต่อเข้ามาขอความช่วยเหลือจากองค์กรแล้ว 194 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 29 มีนาคม 2024)

แน่นอนว่าการข้ามพรมแดนมาโดยไร้ซึ่งเอกสารสถานะรับรอง ย่อมทำให้เหล่าผู้ที่หนีภัยข้ามมาไม่สามารถเข้าถึงโอกาสพื้นฐานได้หลายอย่าง และต้องเผชิญความยากลำบากหลายประการในการดำรงชีวิต

“ชีวิตความเป็นอยู่ของผมที่นี่ห่างไกลจากที่ผมคิดไว้เยอะมาก” หม่องเล่าความรู้สึก

“ต่อให้ผมสามารถหาที่พักพิงด้วยความช่วยเหลือจากเอ็นจีโอและกลุ่มนักเคลื่อนไหวร่วมอุดมการณ์ในพื้นที่แม่สอดก็จริงอยู่ แต่ผมก็ต้องเจอปัญหาและอุปสรรคหลายอย่างที่นี่ โดยเฉพาะการเข้าถึงปัจจัยพื้นฐานต่างๆ เช่น อาหาร ที่ถือเป็นเรื่องยาก และแน่นอนว่าผมหางานทำที่นี่ได้ยากมาก ยิ่งถ้าเป็นงานที่ผมถนัดอย่างงานในแวดวงไอที ก็แทบเป็นไปไม่ได้เลย” หม่องเล่าต่อ พร้อมกับบอกว่าผู้หนีภัยที่เพิ่งเข้ามาระลอกใหม่โดยส่วนก็กำลังเจอความยากลำบากคล้ายๆ กัน

ในช่วงแรกที่หม่องเดินทางมาถึงแม่สอด หม่องจึงไม่มีช่องทางหารายได้ประทังชีวิตตัวเองและครอบครัวได้เลย จนกระทั่งเอ็นจีโอในพื้นที่แห่งหนึ่งมาให้ความช่วยเหลือด้วยการให้หม่องเข้าไปช่วยทำงานในองค์กรในด้านไอทีที่หม่องถนัด รวมถึงในงานบริหารจัดการทั่วไป

ชีวิตของหม่อง ณ วันนี้ จดจ่ออยู่กับหน้าที่การงานตามที่เขาได้รับโอกาส รวมทั้งการเดินหน้าเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อคืนประชาธิปไตยให้กับประเทศพม่า โดยที่หม่องยังไม่อาจมองเห็นอนาคตของตัวเองได้เลยว่าจะเปลี่ยนแปลงไปทางไหนและจะได้กลับไปเดินตามความฝันของตัวเองหรือไม่ เขามองเห็นแต่เพียงว่าเขายังคงต้องอยู่ที่แม่สอดต่อไป

“ผมว่ามันคงแค่ชั่วคราว … ใช่ แค่ชั่วคราว” หม่องทิ้งท้ายกับเรา

‘ถูกส่งกลับ-ถูกลักพาตัวไปเกณฑ์ทหาร’
เพราะไม่ใช่ทุกคนจะมีหนทางหลีกหนี

แม้ชีวิตใหม่ของหม่องที่แม่สอดจะไม่ได้ง่ายนัก แต่อย่างน้อยที่สุด หม่องก็สามารถหนีข้ามมาได้อย่างปลอดภัย และมีหน้าที่การงานใหม่ที่ช่วยประทังชีวิต ทว่าไม่ใช่ผู้หนีภัยทุกคนที่จะโชคดีเท่าหม่อง

“หลายคนที่พยายามหนีข้ามพรมแดนไปที่ไทยถูกจับกุม และถูกส่งกลับไปที่พม่า ถือว่าสถานการณ์กำลังน่ากังวลอย่างมาก” อีชาซ มิน แข่น (Ejaz Min Khant, นามสมมติ) เจ้าหน้าที่ด้านสิทธิมนุษยชนจากองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน Fortify Rights เล่าสถานการณ์ให้ฟังเบื้องต้น โดยปัจจุบันอีชาซยังทำงานขับเคลื่อนด้านสิทธิอยู่ในประเทศพม่า

ภายหลังจากการประกาศบังคับใช้กฎหมายเกณฑ์ทหาร หน่วยลาดตระเวนของทางการไทยตามแนวชายแดนได้จับกุมผู้หลบหนีเข้ามาในไทยอย่างต่อเนื่อง โดยรายงานของสำนักข่าว Radio Free Asia (RFA) อ้างอิงจาก Joint Action Committee on Burmese Affairs ว่า ตั้งแต่วันที่ 12-20 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทางการไทยได้จับกุมคนพม่าที่พยายามหลบหนีเข้ามาตามแนวชายแดนมากกว่า 160 คน ขณะที่สำนักข่าว BBC Thai อ้างอิงข้อมูลจากกองกำลังนเรศวรว่าสามารถจับกุมคนหลบหนีเข้าเมืองได้อย่างน้อย 93 ราย ในระหว่างวันที่ 15-26 กุมภาพันธ์

อีชาซให้ข้อมูลว่าหลายคนที่พยายามหลบหนีต้องจ่ายเงินมูลค่ามหาศาลแก่นายหน้าขบวนการค้ามนุษย์เพื่อให้พาพวกเขาข้ามแดนมาไทยได้อย่างปลอดภัย โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจไทยก็ได้ให้ข้อมูลต่อ RFA ว่าคนกลุ่มหนึ่งที่ถูกจับได้นั้นเปิดเผยว่าได้จ่ายเงินให้นายหน้าไปคนละ 15,000 บาท ส่วนรายงานของ BBC Thai ให้ข้อมูลว่ามีการจ่ายเงินคนละประมาณ 10,500-25,000 บาท

อย่างไรก็ตาม ผู้หนีภัยที่ถูกจับกุมได้เหล่านี้ได้ถูกทางการไทยส่งตัวกลับไปยังประเทศพม่า ท่ามกลางการถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการละเมิดต่อหลักการระหว่างประเทศที่ห้ามส่งกลับผู้หนีภัย ที่อาจเสี่ยงกลับไปถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศต้นทาง (principle of non-refoulement)

แต่ถึงอย่างนั้น ความพยายามหลบหนีเข้ามาในไทยก็ยังคงมีอยู่ต่อเนื่อง ขณะที่คนพม่าอีกจำนวนมากที่ยังคงอยู่ในประเทศตัวเอง ก็ต้องอยู่ท่ามกลางความหวาดระแวง เมื่อมีข่าวออกมาต่อเนื่องว่ามีการลักพาตัวประชาชนในกลางดึกเพื่อบังคับให้ไปเข้าเกณฑ์ทหาร

“หลายครอบครัวเจอทหารบุกเข้าไปในบ้านพร้อมอาวุธ แล้วคุมตัวคนที่อยู่ในรายชื่อออกไป ณ ตอนนั้น โดยที่พวกเขาไม่สามารถปฏิเสธหรือทำอะไรได้เลย สิ่งที่กองทัพกำลังจึงถือว่าเป็นการก่ออาชญากรรมที่ร้ายแรงมากต่อประชาชนที่ไม่มีทางสู้” อีชาซยืนยันกระแสข่าว

นอกจากการบุกนำตัวออกจากเคหสถานแล้ว อีชาซบอกว่ายังมีบางกรณีที่ทหารลักพาตัวคนที่อยู่นอกบ้านในยามวิกาลด้วย ซึ่งทำให้คนพม่าจำนวนมากเกิดความระแวงไม่กล้าออกจากบ้านในช่วงดึกดื่น

อีชาซเล่าด้วยว่าการลักพาตัวนั้นโดยมากเกิดขึ้นในพื้นที่ชาติพันธุ์ชนกลุ่มน้อยบางพื้นที่ โดยหนึ่งในพื้นที่ที่น่ากังวลที่สุดคือรัฐยะไข่ ที่พบว่ากลุ่มเป้าหมายสำคัญที่กองทัพพม่าต้องการตัวไปฝึกทหารคือชาว ‘โรฮิงญา’

โรฮิงญา: เป้านิ่งที่ไร้ทางหลบหนี

กองทัพพม่าพยายามกดดันหัวหน้าชุมชนโรฮิงญาต่างๆ ในรัฐยะไข่ให้ส่งรายชื่อคนที่มีอายุเข้าเกณฑ์เพื่อไปเข้ารับการฝึกทหาร และที่แย่ยิ่งไปกว่านั้นคือกองทัพยังมุ่งเป้าไปที่กลุ่มผู้หนีภัยใน IDPs (ค่ายผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ) ทั่วประเทศ ซึ่งจำนวนมากเป็นชาวโรฮิงญา ทหารได้เข้าไปในค่ายเหล่านั้นและข่มขู่ให้พวกเขาต้องเข้าไปรับการฝึกทหาร” อีชาซเล่าสถานการณ์ พร้อมให้ข้อมูลว่าจนถึงปัจจุบันมีชาวโรฮิงญามากกว่า 500 คนแล้วที่ตกเป็นเหยื่อ ขณะที่รายงานของสำนักข่าว Al Jazeera บอกว่าตัวเลขอาจมากกว่า 1,000 คน

อีชาซบอกด้วยว่าในหลายกรณี ชาวโรฮิงญาก็ถูกทหารเข้าไปลักพาตัวถึงในหมู่บ้าน ซึ่งหนึ่งในนั้นรวมถึงญาติห่างๆ คนหนึ่งของอีชาซเอง

“เขาพึ่งจะเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย แต่เขาก็มาโดนทหารเข้ามาขานเรียกชื่อและคุมตัวถึงในบ้าน โดยที่แม่ของเขาก็อยู่ตรงนั้นและทำอะไรไม่ได้เลย แม่เขาก็ยังกังวลมาจนถึงวันนี้ เพราะติดต่อลูกชายไม่ได้เลย” อีชาซเล่า

“เราแค่พอรู้คร่าวๆ ว่าพวกเขาถูกนำตัวไปฝึกทหารในค่ายที่ไม่อนุญาตให้ใครเข้าออกได้ แต่เราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าอยู่ที่ไหนและเกิดอะไรขึ้นในนั้นบ้าง” อีชาซเล่าต่อ

การนำชาวโรฮิงญาเข้าเกณฑ์ทหารสะท้อนความลักลั่นย้อนแย้งของกองทัพพม่า เพราะชาวโรฮิงญาไม่เคยได้รับการยอมรับว่าเป็นชาติพันธุ์หนึ่งในประเทศพม่า จนไม่อาจมีสถานะเป็นพลเมือง ยิ่งไปกว่านั้น กองทัพยังเคยดำเนินปฏิบัติการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา โดยเฉพาะระลอกล่าสุดในปี 2017 อันส่งผลให้ชาวโรฮิงญาเสียชีวิตไปมากกว่า 25,000 คน และต้องลี้ภัยออกจากพม่ามากกว่า 700,000 คน แต่ในวันนี้ กองทัพพม่ากลับนำชาวโรฮิงญาเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกำลังพล

“กองทัพรู้ว่าชาวโรฮิงญาหนีไปไหนไม่ได้ เพราะคนโรฮิงญาไม่ได้มีสัญชาติ และถูกทางการจำกัดการเดินทาง ไม่สามารถออกนอกละแวกชุมชนของตัวเองได้ง่าย เสมือนถูกกักบริเวณมาหลายทศวรรษต่อเนื่องกัน เพราะฉะนั้นกองทัพจึงมุ่งเป้าไปที่พวกเขา” อีชาซให้ความเห็น

เมื่อยังติดพันธนาการอยู่เช่นนี้ คนโรฮิงญาจึงไม่มีทางเลือกนอกจากต้องยอมให้กองทัพนำพาตัวไป ต่างกับคนพม่าและชาติพันธุ์อื่นๆ ที่สามารถเดินทางไปไหนมาไหน และหาทางหนีเอาตัวรอดได้ ขณะเดียวกันอีชาซยังชี้ว่าชายแดนฝั่งประเทศบังคลาเทศที่มักเป็นช่องทางลี้ภัยของคนโรฮิงญา ก็ไม่อนุญาตให้อพยพข้ามแดนไปได้อีก ด้วยเหตุผลเรื่องจำนวนผู้ลี้ภัยที่ล้นทะลักนับตั้งแต่การสังหารหมู่ชาวโรฮิงญาในปี 2017 ส่งผลให้การหนีการเกณฑ์ทหารออกนอกประเทศพม่าเป็นไปได้ยากสำหรับคนโรฮิงญา จึงนับว่าชาวโรฮิงญากำลังเผชิญชะตากรรมเลวร้ายยิ่งกว่าคนกลุ่มอื่นๆ อยู่มาก โดยที่น้อยคนจะรับรู้

“กองทัพต้องการให้คนโรฮิงญาเป็นแนวหน้าในการต่อสู้กับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นในรัฐยะไข่ จึงน่ากังวลว่านี่จะยิ่งทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างชาติพันธุ์ในพื้นที่ดังกล่าวเลวร้ายลงไปอีก” อีชาซยกอีกเหตุผลที่อาจเป็นปัจจัยให้กองทัพตัดสินใจนำคนโรฮิงญาเกณฑ์ทหาร ด้วยเหตุว่ารัฐยะไข่เป็นพื้นที่ที่เกิดการสู้รบอย่างรุนแรงระหว่างกองทัพพม่ากับกลุ่มกองทัพอาระกัน (Arakan Army) อันเป็นชาติพันธุ์อาระกันพุทธ โดยที่ Arakan Army ก็คือส่วนหนึ่งของพันธมิตรภราดรภาพผู้ก่อปฏิบัติการ 1027 จึงเชื่อว่าการนำชาวโรฮิงญาเข้าเกณฑ์ทหารในกองทัพพม่า เป็นความพยายามสร้างความแตกแยกระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ซึ่งอยู่ในรัฐเดียวกันมายาวนาน อีกทั้งยังเป็นการใช้ชาวโรฮิงญาเป็น ‘โล่มนุษย์’ ท่ามกลางความรุนแรงของการสู้รบ

ไทยพร้อมไหม เมื่อผู้ลี้ภัยระลอกใหม่ทยอยเข้ามา?

“สิ่งที่กองทัพพม่ากำลังทำถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง รวมทั้งถือเป็นการก่ออาชญากรรมสงครามและอาชญากรรมฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ พวกเขาต้องรับผิดชอบในการกระทำของตัวเอง เพราะฉะนั้นผมอยากขอให้นานาประเทศ รวมถึงประเทศไทย เข้ามาแสดงบทบาทเพื่อสร้างหลักประกันความเป็นธรรมให้กับประชาชนพม่า และนำตัวกองทัพพม่ามารับผิดชอบในสิ่งที่ก่อไว้ให้ได้” อีชาซกล่าว

ภายใต้สถานการณ์ความรุนแรงที่ระอุขึ้นทุกขณะในพม่า อีชาซเสนอให้นานาชาติเข้ามามีบทบาทในการช่วยแก้ไขปัญหา ซึ่งไม่ได้หมายความเพียงการผลักดันให้กองทัพยุติการใช้ความรุนแรงต่อประชาชน รวมทั้งให้รับผิดชอบต่อการกระทำเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการให้ความช่วยเหลือต่อผู้ลี้ภัยระลอกใหม่ที่กำลังมีมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในประเทศไทย

“ผมอยากขอให้อาเซียน รวมถึงประเทศไทย ช่วยให้หนุ่มสาวชาวพม่าที่ต้องการหนีการบังคับเกณฑ์ทหารมีโอกาสได้เข้าไปอาศัยพักพิงชั่วคราวอย่างถูกกฎหมายมากขึ้น ไม่ว่าจะด้วยการผ่อนปรนกระบวนการให้วีซ่า หรือหากเป็นผู้ลี้ภัยที่ไม่มีเอกสารเข้าเมืองอย่างถูกกฎหมาย ก็ขอให้เขาได้มีสถานะผู้ลี้ภัยพร้อมกับได้รับความคุ้มครองที่พึงได้ และที่สำคัญไม่ควรผลักดันตัวพวกเขากลับไปยังพม่า ซึ่งจะทำให้พวกเขาตกอยู่ในอันตราย” อีชาซเสนอแนะ

ขณะที่ตัวผู้ลี้ภัยอย่างหม่อง บอกว่าเขาไม่ร้องขออะไรมากนัก แต่ขอเพียงให้ช่วยเหลือเรื่องโอกาสทางการศึกษาและการทำงานสำหรับผู้ลี้ภัยในไทย เพราะการเข้ามาโดยไม่ได้รับสถานะใดๆ ทำให้พวกเขาเข้าถึงโอกาสเหล่านี้ได้อย่างยากลำบาก

“การมีงานทำเป็นเรื่องสำคัญมากเพราะเป็นตัวช่วยให้ผู้ลี้ภัยสามารถดำรงชีวิตอยู่รอดได้ เช่นเดียวกับการศึกษาที่ก็สำคัญมากต่ออนาคตของเยาวชนคนรุ่นใหม่” หม่องกล่าว

นับตั้งแต่เกิดการทะลักลี้ภัยของคนพม่าเข้ามาในไทยระลอกใหม่จากการรัฐประหารในพม่าปี 2021 รัฐบาลไทยถูกตั้งคำถามถึงแนวทางการรับและบริหารจัดการผู้ลี้ภัยอยู่บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะในประเด็นการส่งตัวผู้ลี้ภัยกลับประเทศต้นทางขณะที่สถานการณ์การสู้รบยังไม่สงบดี รวมไปถึงการที่ผู้ลี้ภัยในไทยไม่สามารถเข้าถึงปัจจัยและโอกาสพื้นฐานที่พึงมี และยังมีกรณีการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้น  

อัมพิกา สายบัวใย ตัวแทนองค์กร MRN ระบุในกิจกรรม The Launch Event of the Report on Thai Legislation and Policies Review Relating to New Arrivals from Myanmar ว่า “ประเทศไทยให้ความสำคัญเรื่องความมั่นคงแห่งรัฐมากกว่าความมั่นคงของมนุษย์ มันเลยทำให้เราไม่มีกลยุทธ์และกลไกต่อการเข้ามาของผู้ลี้ภัยระลอกใหม่นี้ เพราะเรามองว่าคนกลุ่มนี้เข้าเมืองผิดกฎหมาย มองในมิติกฎหมายการเข้าเมืองอย่างเดียว แต่ไม่ได้มองในเรื่องภัยประหัตประหาร ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการให้ความคุ้มครองและความมั่นคงของมนุษย์ ทำให้คนกลุ่มนี้ต้องดิ้นรนด้วยตัวเอง เช่นในการพยายามลงทะเบียนเพื่อขอสถานะผู้ลี้ภัยหรือสถานะต่างๆ ซึ่งทำให้เขาต้องเสียเงินเป็นจำนวนมากกับช่องทางไม่เป็นทางการต่างๆ หรืออาจใช้คำว่าต้องเจอคอร์รัปชันในทุกกระบวนการที่เกิดขึ้น”

นอกจากนี้ อัมพิกายังชี้ว่าอีกปัญหาสำคัญคือการขาดบูรณาการในการทำงานเรื่องนี้อย่างเป็นเอกภาพ โดยแต่ละฝ่ายทั้งภาครัฐและภาคประชาสังคมยังคงทำงานแยกส่วนกัน จึงทำให้ยากที่จะแก้ปัญหาในเรื่องนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผู้ลี้ภัยระลอกใหม่ที่หนีการบังคับเกณฑ์ทหารกำลังทยอยเข้ามา อัมพิกาจึงมองว่าประเทศไทยอาจต้องมาขบคิดเรื่องนี้กันมากขึ้น

“เมื่อประมาณไม่กี่วันที่แล้ว รองผู้บัญชาการทหารสูงสุดของ KNU (Karen National Union หรือสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง) ได้ประกาศแล้วว่าปีนี้ทั้งปีจะเป็นปีของการสู้รบอย่างรุนแรง เพราะฉะนั้นถ้ามันเป็นไปตามนั้น แล้วเราจะตั้งรับอย่างไร ไม่ว่าจะในเรื่องการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมที่กำลังถูกวิจารณ์อย่างมากว่าไม่เหมาะสม หรือเรื่องการตั้งถิ่นฐานของผู้ลี้ภัยที่กำลังเป็นคอขวดอยู่ตอนนี้” อัมพิกากล่าว

เช่นเดียวกับ วิทิต มันตาภรณ์ ศาสตราจารย์กิตติคุณคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติ ที่กล่าวในงานเดียวกันว่า “หลังจากมีการบังคับใช้กฎหมายเกณฑ์ทหารในพม่า สิ่งที่เราต้องเตรียมสำหรับปีนี้และปีหน้า คือเราต้องเตรียมรับผู้ลี้ภัยมากกว่าที่เราคิดไว้ ซึ่งอาจจะเป็นแสนคน และไม่ใช่ว่าเราทำไม่ได้ เราเคยทำแล้ว สมัยก่อนเป็นล้านคน ในช่วงสงครามอินโดจีน ซึ่งเราก็เก่งพอและเราก็ดีพอ แต่แน่นอนโลกต้องช่วยกัน มันไม่ใช่ปัญหาของหนึ่งประเทศ”  

ในการเตรียมความพร้อมรับผู้ลี้ภัยระลอกใหม่ วิทิตเสนอให้เตรียมการในห้ามิติ ได้แก่ ช่องทางการเข้ามาลี้ภัยในประเทศ, ระบบการขึ้นทะเบียน, กลไกการให้ความคุ้มครอง, การให้ความสำคัญกับกลุ่มคนเปราะบาง เช่น เด็กและสตรี และการช่วยเหลือเยียวยาในแต่ละระยะของการพักอาศัย

นอกจากนี้ วิทิตยังฝากให้ไทยดำเนินการตามข้อตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยผู้ลี้ภัย (Global Compact on Refugees: GCR) ที่ไทยได้เห็นชอบ รวมทั้งดำเนินการตามที่ให้คำมั่นสัญญาไว้ในการประชุมเวทีผู้ลี้ภัยโลก (Global Refugee Forum: GRF) เมื่อเดือนธันวาคม 2023 โดยมีคำสัญญาทั้งสิ้นแปดด้าน ซึ่งจะถือเป็นตัวชี้วัดในการเตรียมความพร้อมรับผู้ลี้ภัยระลอกใหม่

แปดด้านที่ไทยได้ให้สัญญาไว้นั้นประกอบด้วย การพัฒนากลไกการคัดกรองระดับชาติ, การแก้ปัญหาคนไร้สัญชาติ โดยเฉพาะเด็ก, การทบทวนหาทางเลือกอื่นนอกจากการกักตัวผู้ลี้ภัย, การขยายโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาสำหรับผู้ลี้ภัย, การพัฒนาหลักประกันสุขภาพเพื่อผู้ลี้ภัย, การขยายความร่วมมือกับนานาประเทศในการหาทางออกที่ยั่งยืนสำหรับบุคคลที่ต้องการความคุ้มครองระดับนานาชาติ, การให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมต่อชาวโรฮิงญา และการถอนข้อสงวนข้อ 22 แห่งอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child) ซึ่งมีเนื้อหาเป็นการให้หลักประกันว่าเด็กที่ร้องขอสถานะผู้ลี้ภัยและเด็กที่ได้รับการพิจารณาเป็นผู้ลี้ภัยจะได้รับการคุ้มครองและช่วยเหลือทางมนุษยธรรมอย่างเหมาะสม

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save