fbpx

ปฏิบัติการ 1027 และสงครามปฏิวัติ: ในวันที่ฤดูใบไม้ผลิยังมาไม่ถึง

ปฏิบัติการ 1027 นำโดยกลุ่มภราดรภาพบุกโจมตียึดเมืองสำคัญหลายเมืองทางตอนเหนือของรัฐฉานในพม่าตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคม 2023 ทำให้เกิดความคาดหวังอย่างมากว่าจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการปฏิวัติฤดูใบไม้ผลิ (Spring Revolution) เพื่อโค่นล้มระบอบเผด็จทหารของกองทัพตัดมาดอว์ที่ควบคุมการเมืองของประเทศนี้มานานแสนนาน และจะสามารถพัฒนาไปสู่การสถาปนาสหพันธรัฐประชาธิปไตยแห่งสหภาพพม่าในอุดมคติได้ที่สุด

แต่เดี๋ยวก่อน! นั่นหวังสูงเกินไปหรือเปล่า? กองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์หลากหลายกลุ่มจับอาวุธต่อสู้กับตัดมาดอว์มาตั้งแต่พม่าได้เอกราชจากอังกฤษในปี 1948 จนกระทั่งหลายกลุ่มอ่อนแรงและถดถอยลงมากหลังจากที่ผู้นำรุ่นก่อตั้ง เช่น พวกเจ้าฟ้าไทใหญ่ หรือ ผู้นำกะเหรี่ยงชาติทรหดอย่างโบเมี๊ยะ ล้มหายตายจากไป ในขณะที่ตัดมาดอว์จัดได้ว่าเป็นกองทัพที่ใหญ่โตและเข้มแข็งที่สุดแห่งหนึ่งของภูมิภาคนี้ มีบุคลากร ทรัพยากร อาวุธยุทโธปกรณ์พร้อมมูล จะมีเหตุปัจจัยอะไรที่ทำให้ฝ่ายต่อต้านพลิกกลับมาเป็นต่อจนกระทั่งสามารถโค่นล้มระบอบทหารลงไปได้ง่ายๆ อย่างนั้นหรือ

นักสังเกตการณ์จำนวนไม่น้อย เชื่อว่าสงครามกลางเมืองที่ปะทุขึ้นหลังจากที่มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดรุ่นที่สามของตัดมาดอว์ ยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งที่ได้รับความนิยมสูงของอองซาน ซูจี เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 ทำให้ผู้ที่แม้แต่เป็นเชื้อสายพม่าด้วยกันก็รับไม่ได้จนต้องจับอาวุธร่วมต่อสู้อย่างเคียงบ่าเคียงไหล่กับกลุ่มชาติพันธุ์ เป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยมีมาก่อน

ในเวลาเดียวกัน การก่อเกิดของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ ซึ่งมาจากการรวมตัวกันของบรรดาสมาชิกรัฐสภาที่ได้รับการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน 2020 พร้อมด้วยกองกำลังติดอาวุธในชื่อ กองกำลังพิทักษ์ประชาชน ที่ประกาศตัวว่าเป็นองค์กรนำการปฏิวัติฤดูใบไม้ผลิ ดูเหมือนจะทำให้การต่อสู้ของฝ่ายต่อต้านในคราวนี้ดูจะมีธงนำและทิศทางที่ชัดเจนกว่าครั้งไหนๆ

บทความนี้โต้แย้งการวิเคราะห์เชิงอุดมคติดังที่กล่าวมาข้างต้น ด้วยการพิจารณารายละเอียดของการปฏิบัติการของฝ่ายต่อต้าน สถานะของตัดมาดอว์ และปัจจัยภายนอกที่มีส่วนกำหนดทิศทางการต่อสู้และสงครามกลางเมืองในพม่า เพื่อประเมินว่าการปฏิวัติฤดูใบไม้ผลิมีโอกาสจะประสบชัยชนะมากน้อยเพียงใด

มองฝ่ายต่อต้านเข้มแข็งเกินจริง

กลุ่มพันธมิตรภราดรภาพ (Brotherhood Alliance) ซึ่งเป็นหัวหอกในการเปิดปฏิบัติการ 1027 เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2023 ประกอบไปด้วย กองทัพพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชนชาติพม่า (Myanmar National Democratic Alliance Army-NMDAA) หรือรู้จักกันดีว่าเป็นกองทัพของชาวโกกั้ง กองทัพปลดปล่อยชนชาติดะอั้ง (Ta’ang National Liberation Army) หรือกองทัพของชาวปะหล่อง และกองทัพอาระกัน (Arakan Army) เป็นสำคัญ นอกจากนี้ยังมีกองกำลังของชนชาติพม่า เช่น กองทัพปลดปล่อยชาวพม่า (Bama Peoples Liberation Army) กองทัพปลดปล่อยของชาวคอมมิวนิสต์ (Communist People’s Liberation Army) และกองกำลังพิทักษ์ประชาชนมัณฑะเลย์ร่วมปฏิบัติการอีกด้วย

ในทำนองเดียวกัน กองกำลังของชนชาติคะยาหรือคะเรนนี ภายใต้การนำของกองกำลังพิทักษ์ชนชาติคะยา (Karenni Nationalities Defense Force) กองกำลังแนวร่วมปลดปล่อยชนชาติคะยา (Karenni National People’s Liberation Front) กองทัพคะยา (Karenni Army) และบางส่วนของกองกำลังพิทักษ์ประชาชน เปิดปฏิบัติการของตัวเองภายใต้รหัส Operation 1111 เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2023 พยายามจะยึดเมืองลอยก่อซึ่งเป็นศูนย์กลางการเมืองการปกครองของรัฐคะยา แต่จนถึงตอนที่เขียนบทความนี้ยังสามารถยึดได้เพียงป้อมปราการบางแห่งรอบๆ เมืองนี้เท่านั้น ยังไม่สามารถบรรลุเป้าหมายใหญ่ได้ แม้ทางฝ่ายคะยาจะอ้างว่ายึดพื้นที่ได้มากกว่า 60 เปอร์เซ็นต์แล้วก็ตาม

ปรากฏว่ามีการปฏิบัติการทางทหารของฝ่ายต่อต้านในพื้นที่ซึ่งเป็นจุดล่อแหลมอื่นๆ อยู่ด้วย เช่น ภาคมัณฑะเลย์และสกาย ทางตอนเหนือและพื้นที่ส่วนที่ติดกับชายแดนอินเดีย เป็นต้นโดยกองกำลังผสมของกองกำลังพิทักษ์ประชาชนและกองทัพเอกราชคะฉิ่น (Kachin Independent Army) สามารถยึดฐานที่มั่นและเมืองต่างๆ ในพื้นที่ได้แปดเมือง (ตามรายงานถึงวันที่ 8 ธันวาคม)

จะสังเกตได้ว่า กำลังหลักในการปฏิบัติการครั้งเกือบทั้งหมดเป็นของกลุ่มชาติพันธ์ุ (Ethnic Armed Organizations) ด้วยจำนวนที่ไม่แน่ชัดนัก แหล่งข่าวหลายกระแสให้ข้อมูลไม่ตรงกันตั้งแต่หลักพันไปจนถึงสูงสุด 80,000 คน[1] แต่หากพิจารณาจากพื้นฐานของการสะสมกำลังของกลุ่มต่างๆ แล้ว กำลังทั้งหมดน่าจะอยู่ที่ราวๆ 20,000 คน กองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ที่เชื่อกันว่ามีขนาดใหญ่และเข้มแข็งที่สุดคือกองทัพสหรัฐว้า (United Wa State Army – UWSA) ซึ่งมีกำลังประมาณ 30,000 คนไม่ได้เข้าร่วมด้วยอย่างเปิดเผย แม้มิน อ่อง หล่าย จะมีข้อมูลว่ากองทัพโกกั้งนั้น ฝึกซ้อมเตรียมกำลังกันในเขตของว้าก็ตาม ในส่วนของกองกำลังพิทักษ์ประชาชน ซึ่งรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติอ้างว่าเป็นกองทัพของตัวเองนั้น มีรายงานว่าได้ฝึกฝนและสะสมกำลังของตัวเองเอาไว้มากถึง 65,000 คน แต่ยังไม่ปรากฏข่าวในระยะที่ผ่านมาว่าประสบความสำเร็จสามารถยึดพื้นที่ตรงไหนได้เลย

ทางด้านยุทโธปกรณ์นั้น ส่วนใหญ่แล้วเป็นอาวุธปืนเล็กยาวประจำกายของนักรบและระเบิดโจมตี ซึ่งกองกำลังเหล่านี้สะสมเอาไว้อยู่แล้ว ไม่ปรากฏว่ามีอาวุธหนักอย่างปืนใหญ่หรือรถถัง อาวุธทันสมัยที่สุดที่ทำให้กองทัพพม่าตื่นตระหนกได้ คือ อากาศยานโจมตีแบบไร้คนขับหรือโดรน ซึ่งเชื่อว่าน่าจะหาซื้อกันในตลาดมืดชายแดน จีน อินเดีย และไทย แต่มีจำนวนมากน้อยเท่าใดไม่ปรากฏ นักวิเคราะห์ทั้งหลายไม่ว่าจะใกล้ชิดกับฝ่ายต่อต้านเพียงใดก็ไม่สามารถให้ข้อมูลที่ชัดเจนได้ว่าการส่งกำลังบำรุงทางทหารของฝ่ายต่อต้านมีมาจากทิศทางใดและมากน้อยเพียงใด ทุกคนล้วนพูดว่ามีอย่างสม่ำเสมอแต่ไม่สู้จะเพียงพอเท่าใดนัก  

การปฏิบัติการทางทหารครั้งนี้สร้างความประหลาดใจให้กับตัดมาดอว์ในแง่ที่ว่ามันเป็นปฏิบัติการโจมตีในเชิงรุกที่มีเป้าหมายในการยึดพื้นที่ โดยกองทัพโกกั้งประสบชัยชนะสามารถยึดเมืองชินฉ่วยฮ่อ (Chin Shaw Haw) ได้ในตอนเช้าของวันที่ 27 ตุลาคม หลังจากนั้นอีกกว่าสองสัปดาห์จึงสามารถยึดเมืองขุนลอง (Kunlong) ซึ่งเป็นจุดเชื่อมให้กองทัพโกกั้งเข้าถึงที่อื่นๆ ในรัฐฉานตอนเหนือได้

ถัดจากนั้นกองทัพดะอั้งจึงสามารถยึดเมืองเจ็ด (Mong Kyet) ได้ในวันที่ 23 พฤศจิกายน ก่อนที่จะมีรายงานข่าวตามสื่อต่างๆ ว่า กองกำลังติดอาวุธของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ สามารถยึดเมืองสำคัญได้หลายเมือง อาทิ ปองไส (Phuangsai) (เมืองเล็กๆ ในมูเซ) โมนีโกเอ (Monekoe) น้ำคำ (Namkham เสนนี (Hseni) กอลิง (Kawling) คำพัต (Kamphat) และรีกอดา (Rih Kaw Dar)

พื้นที่ทางภาคเหนือของรัฐฉานในส่วนที่ติดกับจีนนั้นมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์สำหรับทุกฝ่าย เพราะเป็นพื้นที่เชื่อมโยงระหว่างจีนและพม่า การควบคุมพื้นที่แถบนี้ได้จึงหมายถึงการควบคุม การคมนาคม ขนส่ง การค้าและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้ด้วย ดังนั้นเมืองเหล่านี้ตกอยู่ภาวะแย่งชิงกันมาตลอด เช่น ขุนลองนั้นเป็นที่ตั้งของที่ว่าการอำเภอล่าเซี่ยว อยู่ในความปกครองของตัดมาดอว์มาตั้งแต่ 1948 พรรคคอมมิวนิสต์พม่า (ซึ่งมีผู้นำโกกั้งหลายคนเป็นแกนนำ) ก็เคยยึดเมืองนี้ได้ในปี 1971 แต่ก็ปกครองได้ในระยะสั้นๆ ก่อนที่จะถูกยึดคืน เช่นเดียวกับอีกหลายเมืองอย่างปองไสและโมนีโกเอ ก็เคยอยู่ภายใต้การยึดครองของฝ่ายคอมมิวนิสต์มาก่อนเช่นกัน แต่เมื่ออิทธิพลของพรรคคอมมิวนิสต์หมดไป ตัดมาดอว์ก็ยึดเอามาได้และปกครองมาตั้งแต่ทศวรรษ 1990 คือในสมัยตัน ฉ่วย เป็นต้นมา

เมืองที่กลายเป็นหัวข่าวให้สื่อมวลชนมากที่สุดคือเล้าก์กาย (Laukkai) ซึ่งถือเป็นเมืองหลวงของเขตปกครองตนเองโกกั้ง ที่พัฒนาโดยกองกำลังพิทักษ์ชายแดนภายใต้การกำกับของตัดมาดอว์ด้วยพลังหนุนจากทุนจีนสีเทา ทำให้เมืองนี้กลายเป็นศูนย์กลางของอาชญากรรมนานาชนิด ตั้งแต่การพนัน โสเภณี ยาเสพติด ค้ามนุษย์ ไปจนถึงคอลเซ็นเตอร์

เล้าก์กายอยู่ในความปกครองของเผิง เจี่ยเซง (Peng Jiasheng) หรือพง จ่าเสง (Pheung Kya Shin หรือบางสะกดเป็น Phone Kyar Shin) ผู้นำกองทัพโกกั้ง MNDAA มาตั้งแต่เขาพาพวกแยกตัวออกมาจากพรรคคอมมิวนิสต์พม่าในปี 1989 กองกำลังโกกั้งกลุ่มนี้ลงนามสงบศึกกับตัดมาดอว์สมัยขิ่น ยุ้นต์ ในช่วงต้นทศวรรษ 1990 แต่ยังมีสิทธิในการคงกองกำลังติดอาวุธเอาไว้และมีอำนาจในการปกครองพื้นที่ ได้สัมปทานประกอบธุรกิจนานาชนิด ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นของผิดกฎหมาย ตัวเผิงเองได้ชื่อว่าเป็นราชาเฮโรอีนคนสำคัญคนหนึ่งแห่งรัฐฉาน

มิน อ่อง หล่ายเองก็สร้างตัวตนไต่เต้าในอาชีพทหารขึ้นมาจากเมืองเล้าก์กายนี้เหมือนกัน เนื่องจากเขาเคยเป็นแม่ทัพภาคสามเหลี่ยมทองคำ ทำหน้าที่เจรจากับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์เพื่อให้สวามิภักดิ์กับตัดมาดอว์ เข้าร่วมเป็นกองกำลังพิทักษ์ชายแดนก่อนที่จะขึ้นสู่ระบอบใหม่ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2008 แต่การเจรจากับเผิง เจี่ยเซงและ MNDAA ล้มเหลวเพราะพวกนี้มีอำนาจและอิทธิพลมาก อีกทั้งมีความสัมพันธ์กันดีกับจีนในฐานะอดีตคอมมิวนิสต์เก่า จึงไม่มีความจำเป็นอะไรที่จะต้องสวามิภักดิ์กับตัดมาดอว์ มิน อ่อง หล่ายจึงไปสนับสนุนไป่ ซูเฉียง (Bai Xuoqian หรือบางครั้งสะกดเป็น Bai Suocheng) รองผู้บัญชาการทหารของ MNDAA ให้ก่อกบฏโค่นล้มเผิงก่อนที่จะนำกำลังส่วนหนึ่งไปเข้าเป็นกองกำลังพิทักษ์ชายแดน และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ปกครองเขตปกครองตนเองโกกั้งในปี 2009

ไป่ ซูเฉียงร่วมมือกับชาวโกกั้งตระกูลอื่นอีกสามตระกูล นำโดยเว่ย จ้าวเหริน หลิว เกาสี และหลิว เซงเจียง บริหารเขตนี้ด้วยวิธีการที่ไม่ต่างจากเผิงด้วยการเชื้อเชิญการลงทุนสารพัดรูปแบบจากจีน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นทุนจีนสีเทาที่ถนัดทำธุรกิจประเภทคาสิโน สถานบันเทิง และล่าสุดคอลเซ็นเตอร์ หลอกลวงชาวจีนด้วยกันและคนต่างชาติอีกจำนวนหนึ่งให้ไปทำงานเพื่อมาต้มตุ๋นเพื่อนร่วมชาติอีกทีหนึ่ง กลายเป็นปัญหาหนักอกของทางการจีนไม่น้อยจนต้องกดดันให้มิน อ่อง หล่าย จัดการกับพวกนี้อยู่บ่อยๆ แต่ก็ไม่สำเร็จ เพราะผู้นำตัดมาดอว์เองก็ไม่อยากจะผิดใจกับพวกนี้ในสถานการณ์ที่กำลังเผชิญหน้ากับฝ่ายต่อต้านอยู่อย่างนั้น

แต่ที่สุดต้านทานแรงกดดันจากปักกิ่งไม่ได้ มิน อ่อง หลายจำต้องลงมือทลายกลุ่มทุนจีนเหล่านี้กดดันให้ผู้นำรวมทั้งไป่ซูเฉียงหนีไป บางคนไปถูกทางการจีนจับได้ บางส่วนถูกทหารพม่าจับได้และส่งให้ทางการจีนเอาตัวไปลงโทษ รัฐบาลทหารพม่าตั้งมินต์ ส่วย (Myint Swe) อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคสหสามัคคีและการพัฒนา (Union Solidarity and Development Party) ให้รักษาการผู้ปกครองเขตปกครองตนเองโกกั้ง แต่ครั้นเมื่อสถานการณ์วิกฤตเพราะฝ่ายต่อต้านกำลังมุ่งหน้าโจมตีเล้าก์กาย สภาบริหารแห่งรัฐจึงตั้งพลจัตวา ตุน ตุน มินต์ (Tun Tun Myint) แม่ทัพภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้ควบคุมเมืองนี้แทน[2]

แม้กลุ่มพันธมิตรภราดรภาพจะประกาศว่าเป้าหมายสูงสุดของปฏิบัติการ 1027 คือโค่นล้มเผด็จการทหารพม่า ปกป้องประชาชนจากการปกครองและการโจมตีที่ป่าเถื่อนโหดร้าย แต่สำหรับกองทัพโกกั้งแล้ว ปฏิบัติการครั้งนี้มีเป้าหมายส่วนตัวอยู่ไม่น้อย ด้วยว่าเผิง เจี่ยเซงเคยพยายามที่จะยึดเมืองเล้าก์กายคืนมาแล้วในปี 2015 แต่ล้มเหลวเพราะตอนนั้นมีกำลังน้อยกว่าตัดมาดอว์ ตัวเขาเองและกองกำลังที่ภักดีต่อเขาก็ต้องเร่ร่อนไปมาในพื้นที่บริเวณชายแดนจีน-พม่า จนกระทั่งเสียชีวิตเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2022 ที่เมืองลาในวัย 91 ปีก็ยังสร้างฝันไม่เป็นจริง เผิง ต้าซุน (Peng Daxun) ผู้เป็นลูกชายรับตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการกองทัพโกกั้ง MNDAA ด้วยภารกิจที่จะสานฝันของผู้เป็นพ่อให้เป็นจริงให้จงได้

ประเมินตัดมาดอว์: อ่อนแอเกินไป?

ก่อนการรัฐประหารของมิน อ่อง หล่าย เมื่อปี 2021 กองทัพพม่าหรือตัดมาดอว์ได้รับการประเมินจาก Global firepower ว่ามีความเข้มแข็งอยู่ในอันดับ 38 ของโลก (จากทั้งหมด 145) มีกำลังทหารประมาณ 400,000 คน มีอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัยจากจีนและรัสเซียใช้อย่างครบครัน ใกล้เคียงกับการประเมินของ The CIA’s World Factbook ซึ่งให้ข้อมูลว่าตัดมาดอว์น่าจะมีกำลังอยู่ที่ประมาณ 300,000-400,000 คน แต่ผู้เชี่ยวชาญจำนวนไม่น้อยเห็นว่าทั้งสองแหล่งประเมินตัดมาดอว์สูงเกินไป

แหล่งอื่นเช่น United States Institute of Peace ประเมินว่ากำลังทหารของตัดมาดอว์ลดลงอย่างมีนัยสำคัญมาตั้งแต่สมัยเต็ง เส่งทำการปฏิรูปประเทศแล้ว มีเอกสารยืนยันว่ากำลังระดับกองพันของตัดมาดอว์ลดลงจาก 777 นายต่อกองพันในปี 1988 เหลือราวๆ 200-220 นายต่อกองพันในช่วงปี 2005

หลังการยึดอำนาจตัดมาดอว์เผชิญกับปัญหาการขาดแคลนกำลังรบหนักขึ้น ทำให้มิน อ่อง หล่าย จำเป็นต้องปรับโครงสร้างกองทัพใหม่ให้สอดคล้องกับกำลังพล ปัจจุบันพบว่ากองทัพบกพม่ามี 522 กองพัน มีกำลังกองพันทหารราบทั่วไปกองพันละ 217 นาย และกองพันทหารราบอาวุธเบามีกำลังพล 305 นาย แต่โดยเฉลี่ยแล้วหน่วยระดับกองพันจะมีกำลังรบเพียง 200 นายหรือบางทีอาจจะต่ำกว่า 150 นายด้วยซ้ำไป

เอกสารภายในของตัดมาดอว์ชิ้นหนึ่งระบุว่ากองพลทหารราบที่ 10 ซึ่งจัดได้ว่าเป็นหน่วยรบที่เข้มแข็งที่สุดของกองทัพบกพม่า มีกำลังพลเพียง 16,687 นายแทนที่จะมี 20,000 นายตามมาตรฐานทั่วไป ในจำนวนนี้ 48 กองพันมีกำลังพลเฉลี่ยกองพันละ 150-200 นาย ส่วนที่เหลือ 52 กองพันมีกำลังพลเฉลี่ยกองพันละ 100-150 นายเท่านั้นเอง[3] 

การประเมินของผู้เชี่ยวชาญอย่าง Andrew Selth ชี้ให้เห็นว่าจนถึงเดือนพฤษภาคม 2023 กำลังทหารของตัดมาดอว์น่าจะมีแค่ 150,000 นายเท่านั้น และในจำนวนนี้ 70,000 นายเท่านั้นที่อยู่แนวหน้า[4]

สาเหตุสำคัญที่ทำให้กำลังรบของตัดมาดอว์ลดอย่างมากในระยะสองปีที่ผ่านมาหลังการยึดอำนาจ และเผชิญหน้ากับการต่อต้านอย่างหนักจากชาวพม่าเองและกองกำลังของกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีอยู่เดิม ส่วนหนึ่งแน่นอนว่ามาจากความสูญเสียจากการสู้รบ รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติรายงานว่าทหารตัดมาดอว์เสียชีวิตแล้วไม่ต่ำกว่า 20,000 คน แหล่งอื่นๆ ประเมินว่าตัวเลขสูญเสียระยะที่ผ่านมาน่าจะอยู่ที่ประมาณ 10,000-15,000 คน สื่อมวลชน Nikkei Asia รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวนักการทูตให้ตัวเลขว่าตัดมาดอว์น่าจะสูญเสียทหารจากการสู้รบเฉลี่ยวันละ 15 คน หรือคิดเป็นปีก็ราวๆ 5,500 คนต่อปี ถ้ารวมระยะเวลากว่าสองปีที่ผ่านมาตัวเลขความสูญเสียน่าจะอยู่ที่ประมาณ 11,000 คน[5]

นอกจากนี้ยังมีทหารแตกทัพและแปรพักตร์ไปอยู่กับฝ่ายต่อต้านอีกจำนวนหลายพันคน ฝ่ายต่อต้านอ้างว่าจำนวนทหารแตกทัพหรือแปรพักตร์น่าจะอยู่ที่ประมาณ 8,000 คน แต่ตัวเลขนี้ยังหาแหล่งอื่นที่เป็นอิสระมาอ้างอิงไม่ได้

สาเหตุสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้กำลังพลของตัดมาดอว์ลดต่ำลงอย่างรวดเร็วเพราะเกณฑ์ทหารเข้าประจำการได้น้อยลง ภาวะสงครามที่ยืดเยื้อยาวนาน ทำให้คนหนุ่มสาวในพม่าเหนื่อยล้าและเบื่อหน่ายไม่อยากเป็นทหาร แม้ว่าการเป็นทหารจะทำให้มีอภิสิทธิ์หลายอย่าง แต่นั่นก็จำกัดเอาไว้แต่เฉพาะนายทหารชั้นสูงเท่านั้น ทหารชั้นประทวนมีความเป็นอยู่ที่ลำบากยากแค้นและเสี่ยงภัยอันตรายอยู่เหมือนเดิม

ความจริงมิน อ่อง หล่าย เข้าใจสภาพนี้ได้ดีตั้งแต่เขารับตำแหน่งใหม่ๆ แล้ว และเขามีนโยบายปรับปรุงกองทัพให้ได้มาตรฐานและทันสมัย แก้ไขปัญหาการขาดแคลนกำลังพลด้วยการซื้อยุทโธปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพในการทำลายล้างสูงเข้ามาประจำการ เพื่อลดการพึ่งพิงทหารราบในการบุกโจมตีพื้นที่ของฝ่ายต่อต้านซึ่งเข้าถึงยาก

รายงานของสหประชาชาติที่ออกมาในเดือนพฤษภาคม 2023 ชี้ให้เห็นว่า ตัดมาดอว์ใช้จ่ายราว 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐนับแต่การรัฐประหารเพื่อซื้ออาวุธมาใช้ทำสงครามกับฝ่ายต่อต้าน รายการยุทโธปกรณ์ที่ซื้อเข้ามามีตั้งแต่เครื่องบินรบ โดรนโจมตี การปรับปรุงรถถังเก่าที่ตัดมาดอว์มีใช้อยู่แล้ว ระบบขีปนาวุธที่ก้าวหน้าทันสมัย เฮลิคอปเตอร์โจมตี ระบบเรดาร์ ระบบสื่อสาร อุปกรณ์สำหรับสงครามอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนประกอบและอะไหล่เรือ ชิ้นส่วนปืนเล็ก ชิ้นส่วนและอะไหล่ยานพาหนะทหาร เครื่องมือและวัสดุในการผลิตอาวุธ[6]

ดูเหมือนตอนนี้การโจมตีทางอากาศจะเป็นยุทธวิธีที่ทรงประสิทธิภาพและสร้างความเสียหายให้กับฝ่ายต่อต้านได้มากที่สุด แม้ว่านั่นจะแลกด้วยการถูกนานาชาติประณามเนื่องจากการโจมตีไม่เลือกหน้าทำให้เกิดความเสียหายต่อพลเรือนและ soft target เช่นโรงเรียนและโรงพยาบาล แต่ก็ไม่ทำให้ตัดมาดอว์ยับยั้งชั่งใจในการโจมตีแต่อย่างใด

ประการสำคัญต้องไม่ลืมว่า ตัดมาดอว์เป็นกองทัพแห่งชาติที่มีการจัดตั้งองค์กรเป็นระบบ มีสายการบังคับบัญชาชัดเจน และมีความเป็นเอกภาพพอสมควร แทบจะไม่มีข่าวกระเซ็นกระสายออกมาเลยว่านายทหารคนอื่นหรือฝักฝ่ายในตัดมาดอว์แสดงความกระด้างกระเดื่องต่อผู้บังคับบัญชาของพวกเขา กองทัพพม่าสามารถควบคุมโครงสร้างสังคมการเมืองได้อย่างเบ็ดเสร็จ อีกทั้งมีหน่วยเศรษฐกิจเป็นของตัวเอง ทำให้ยังสามารถระดมทรัพยากรทั้งหมดที่มีอยู่มาทำสงครามกับฝ่ายต่อต้านได้อีกนาน

ปัจจัยภายนอก: วุ่นวายไม่น้อย

ปฏิเสธไม่ได้ว่าปฏิบัติการ 1027 นั้นมีเพื่อนบ้านของพม่าทุกด้านมาเกี่ยวข้อง เริ่มจากจีนซึ่งมีความสัมพันธ์อันดีกับทั้งกลุ่มโกกั้งและตัดมาดอว์ และสามารถใช้อิทธิพลบีบบังคับทุกฝ่ายได้ เป็นที่ทราบกันดีว่าทางการปักกิ่งต้องการให้ตัดมาดอว์จัดการกับทุนจีนสีเทาที่ทำธุรกิจอยู่ในเมืองชายแดนของสองประเทศมานานแล้ว จะด้วยความสามารถของตัดมาดอว์หรือด้วยเกรงผลกระทบทางด้านผลประโยชน์ก็ตาม ทำให้รัฐบาลทหารพม่าไม่จัดการกับปัญหาเหล่านี้เสียที จนกลายเป็นจุดอ่อนให้กองทัพโกกั้งไปขันอาสาจัดการแทนจนเกิดภาวะระส่ำระสายอยู่ในปัจจุบัน แต่นั่นก็ทำให้ฝ่ายจีนสามารถจัดการกับกลุ่มทุนสีเทาได้ส่วนหนึ่ง ช่วยเหลือคนจีนและชาวต่างชาติออกจากเมืองคนบาปได้อีกเป็นจำนวนมาก

แต่เชื่อมั่นว่าจีนจะไม่ปล่อยให้สถานการณ์ลุกลามบานปลายจนไม่สามารถควบคุมได้ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือจะไม่อนุญาตให้ฝ่ายต่อต้านพาการปฏิบัติการ 1027 ไปไกลถึงขั้นก่อสงครามปฏิวัติโค่นล้มตัดมาดอว์ทำให้เกิดภาวะโกลาหลไร้การควบคุมอย่างเด็ดขาด เพราะจีนมีผลประโยชน์ในพื้นที่หลายส่วนในพม่า รวมทั้งระเบียงเศรษฐกิจที่เชื่อมพม่ากับมหาสมุทรอินเดียเข้ากับภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีนอันเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของจีน ซึ่งตัดมาดอว์ยังคงควบคุมได้อยู่ ไม่มีประโยชน์อะไรที่จีนจะสนับสนุนให้ฝ่ายต่อต้านที่อยู่ในโอวาทของตัวเองอยู่แล้ว ทำให้สถานะเดิมอันนั้นเปลี่ยนแปลงไป

ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่จะเห็นหวัง ยี่ รัฐมนตรีต่างประเทศของจีนพบปะสนทนากับตัน ส่วย รัฐมนตรีต่างประเทศของรัฐบาลทหารพม่าระหว่างการประชุมความร่วมมือล้านซ้าง-แม่โขง ที่กรุงปักกิ่งเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม โดยที่ฝ่ายหลังแจ้งให้เพื่อนบ้านยักษ์ใหญ่รู้ถึงความยากลำบากและออกปากขอให้จีนช่วยเหลือในการควบคุมสถานการณ์ที่เป็นเสมือนหลังบ้านของจีนเอง

แม้ หวัง ยี่จะพูดต่อสาธารณะว่าไม่ต้องการแทรกแซงกิจการภายในของพม่า แต่ก็เป็นที่เปิดเผยว่าเติ้ง สีจุน (Deng Xijun) ผู้แทนพิเศษของจีนด้านกิจการพม่า พบปะกับผู้แทนกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ที่สนิทสนมคุ้นเคยกับจีนหลายครั้ง เพื่อเป็นตัวกลางการเจรจากับตัดมาดอว์ โดยที่เป้าหมายก็ไม่ได้หวังว่าบรรดาฝ่ายที่ขัดแย้งกันทั้งหลายจะปรองดองอะไรกันได้โดยสมบูรณ์แบบ แต่ต้องการทำให้พื้นที่บริเวณชายแดนสงบลง ป้องกันไม่ให้ความขัดแย้งนั้นส่งผลกระทบไปถึงจีน

อินเดียมีปัญหาจากพม่าคล้ายกับจีนแต่ซับซ้อนมากกว่าในแง่ที่ว่า ฝ่ายต่อต้านของอินเดียเองเคลื่อนไหวในพื้นที่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ บางครั้งแลกเปลี่ยนความช่วยเหลือและร่วมมือกับฝ่ายต่อต้านของพม่าในรัฐชิน คะฉิ่น และภาคสะกายในการโจมตีทั้งรัฐบาลทหารพม่าและทางการอินเดียอยู่เสมอ ในทำนองเดียวกันอินเดียก็รับภาระผู้อพยพที่หนีภัยจากการปะทะในพม่าข้ามไปฝั่งอินเดีย จนถึงปัจจุบันอินเดียมีผู้อพยพจากพม่าอยู่ 74,000 คน ในจำนวนนี้มากกว่า 54,000 คนข้ามไปหลังจากการรัฐประหารในปี 2021[7]

เป้าหมายของอินเดียในพม่าไม่ต่างจากจีนมากนัก กล่าวคือต้องการให้พื้นที่มีความสงบเพื่อที่จะเดินหน้าพัฒนาโครงสร้างพื้นที่ฐานทางเศรษฐกิจ เชื่อมโยงภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศเข้ากับพม่า เชื่อมต่อมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เฉพาะอย่างยิ่งในประเทศลุ่มแม่น้ำโขงภายใต้โครงการความร่วมมือแม่โขง-คงคา ซึ่งริเริ่มมานานแล้วไม่มีความคืบหน้าอย่างมีนัยสำคัญ

เป็นที่ชัดเจนว่า อินเดียเลือกที่จะลงทุนและร่วมมือกับรัฐบาลทหารพม่าในการจัดการกับฝ่ายต่อต้านเพื่อแลกกับความร่วมมือที่ตัดมาดอว์จะให้ในการกดดันฝ่ายต่อต้านของอินเดียเอง มากกว่าจะส่งเสริมให้ฝ่ายต่อต้านของพม่าโค่นล้มตัดมาดอว์หรือทำให้สถานะเดิมเปลี่ยนแปลงไปจนไร้การควบคุม

ไทยเป็นอีกประเทศหนึ่งที่หนีไม่พ้นที่จะต้องยื่นมือเข้าไปเกี่ยวข้องกับวิกฤตการณ์ในพม่า หากแม้นไม่แสวงหาสันติภาพถาวรในประเทศเพื่อนบ้านก็จำเป็นที่จะต้องหาทางป้องกันไม่ให้ผลกระทบเกิดขึ้นกับประเทศไทยมากนัก มีเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลใหม่ของไทยที่เป็นพลเรือนมาจากการเลือกตั้งปรับท่าทีต่อวิกฤตการณ์ในพม่าเสียใหม่ แทนที่จะมุ่งเอาใจหรือให้ท้ายตัดมาดอว์ในการปราบปรามประชาชนเหมือนรัฐบาลก่อนมา เป็นยื่นมือเข้าไปเกี่ยวข้องอย่างน้อยที่สุดทางด้านมนุษยธรรมเพื่อบรรเทาทุกข์ให้กับคนที่เป็นเหยื่อของความขัดแย้งที่หนีร้อนมาพึ่งเย็นในฝั่งไทย

ล่าสุดเมื่อต้นเดือนธันวาคม ปานปรีย์ พหิทธานุกร รัฐมนตรีต่างประเทศของไทยพบปะกับตัน ส่วย รัฐมนตรีต่างประเทศรัฐบาลทหารพม่า และได้มีการตกลงที่จะร่วมกันตั้งชุดเฉพาะกิจเพื่อส่งมอบความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมแก่ชาวพม่าที่เดือดร้อนจากสงคราม และรัฐบาลไทยประกาศว่าจะเปิดพื้นที่ชายแดนเพื่อเป็นที่พักพิงให้กับผู้อพยพจากพม่า หลังจากที่ทางการรัฐบาลทหารพม่าได้ช่วยให้คนไทยกว่า 300 ชีวิตหลุดออกมาจากเล้าก์กายเมืองคนบาปในแดนสงครามทางภาคเหนือของรัฐฉานระหว่างเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม

เป็นที่ชัดเจนว่า รัฐบาลใหม่ของไทยจะไม่แสดงจุดยืนที่แข็งกร้าวต่อรัฐบาลทหารพม่าหรือแสดงการกดดันใดๆ ให้ตัดมาดอว์ยอมเปิดเจรจาอย่างเท่าเทียมกับฝ่ายต่อต้าน ไม่มีเจ้าหน้าที่ระดับสูงคนใดของไทยประเมินว่ารัฐบาลทหารของมิน อ่อง หล่ายจะถึงจุดจบในเร็ววันนี้ ส่วนใหญ่เชื่อว่าตัดมาดอว์จะสามารถเลี้ยงสถานการณ์แบบนี้ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งฝ่ายต่อต้านเหนื่อยอ่อนลงไปเอง

บทสรุป: ฤดูใบไม้ผลิยังมาไม่ถึง

หัวข่าวที่หวือหวาของสื่อมวลชนที่รายงานเรื่องปฏิบัติการ 1027 ในรัฐฉานตอนเหนือ และ 1111 ในรัฐคะยาใกล้ชายแดนไทย อาจจะชวนให้ตื่นเต้นเร้าใจได้บ้าง แต่ไม่น่าจะไปไกลขนาดว่าจะสามารถโค่นล้มระบอบเผด็จการทหารของตัดมาดอว์ที่หยั่งรากลึกในสังคมการเมืองพม่ามานานและนำไปสู่การสถาปนาสหพันธรัฐประชาธิปไตยแห่งสหภาพพม่าในเร็ววันนี้ ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

ประการแรก กองกำลังของฝ่ายต่อต้านมีมากมาย แตกต่างและหลากหลายเกินกว่าจะสร้างเอกภาพให้เกิดพลังเข้มแข็งเพื่อต่อสู้กับกองทัพแห่งชาติที่มีการจัดตั้งองค์กรเป็นระบบและมีสายการบังคับบัญชาชัดเจนอย่างตัดมาดอว์ได้ ต่อให้สามารถนับรวมกองกำลังทุกกลุ่มได้มากถึง 70,000-80,000 คน ดังที่มีนักวิเคราะห์หลายคนให้ตัวเลขเอาไว้ จำนวนเช่นว่านั้นก็กระจัดกระจายมากเกินไป พวกเขาอาจจะประสานงานในการโจมตีบางพื้นที่ บางเวลา แต่จะไม่มีใครยอมอยู่ภายใต้สายการบังคับบัญชาของใครคนใดคนหนึ่งหรือองค์กรหนึ่งใด กองกำลังพิทักษ์ประชาชนที่ตั้งขึ้นภายใต้การนำของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติเมื่อสองปีก่อน ไม่ได้เป็นกองทัพปลดแอกประชาชนที่ได้รับการยอมรับจากกองกำลังของกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ให้เป็นองค์กรนำหรือเป็นศูนย์กลางการบังคับบัญชาแต่อย่างใด ตรงกันข้ามกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่ม เช่น กะเหรี่ยงนั้นพูดได้เต็มปากว่าเป็นพี่เลี้ยงฝึกทหารให้กองกำลังพิทักษ์ประชาชน

ประการที่สอง ปฏิบัติการ 1027 ที่นำโดยโกกั้งนั้นมีเป้าหมายชัดเจนว่าต้องการทวงคืนเมืองหลวงและสำนักงานใหญ่ของเขามากกว่าการปฏิวัติฤดูใบไม้ผลิ แม้จะประกาศว่าต้องการโค่นล้มกับเผด็จการทหารพม่า แต่ไม่น่าจะมีขีดความสามารถที่จะทำเช่นนั้นได้ เอาแค่ว่าสามารถยึดเล้าก์กายและสามารถรักษาไว้ได้เป็นการถาวรก็ดูจะเป็นภารกิจที่หนักหน่วงไม่น้อยแล้ว ยังไม่นับว่ากองกำลังอื่นที่เข้าร่วมในพันธมิตรภราดรภาพ ไม่ว่าจะเป็นปะหล่องหรืออาระกันก็ปรารถนาจะมีพื้นที่ยึดครองเป็นของตัวเองด้วยเช่นกัน สถานการณ์เช่นนี้ยิ่งจะทำให้บรรดาเมืองที่พวกเขายึดไว้ได้อ่อนแอและเปราะบางยิ่งนัก เนื่องจากแต่ละกลุ่มไม่มีกำลังมากพอจะรักษาความมั่นคงของเมืองเอาไว้ได้นานนัก

ประการที่สาม กลุ่มที่ประกาศตัวว่าเป็นองค์กรนำทางการเมืองคือรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ ไม่ได้มีส่วนร่วมอะไรในปฏิบัติการ 1027 และ 1111 มากไปกว่าการออกมาให้กำลังใจ และออกข่าวโฆษณาว่าตัดมาดอว์และรัฐบาลทหารกำลังจะล่มสลาย ไม่สามารถจะใช้โมเมนตั้มของปฏิบัติการเช่นนี้ให้เกิดอำนาจต่อรองเพื่อการเจรจาใดๆ กับรัฐบาลทหารได้

ประการที่สี่ อาจจะเป็นเรื่องจริงที่ว่า ตัดมาดอว์ขาดแคลนกำลังพล ถึงขั้นที่เรียกได้ว่าอ่อนแอลง แต่ยังไม่มีข้อมูลอื่นใดสนับสนุนว่ากองทัพพม่าจะล่มสลายลงไปในเร็ววัน เพราะข้อเท็จจริงนั้นรัฐบาลในกรุงเนปิดอว์ยังสามารถรักษาส่วนสำคัญของประเทศเอาไว้ได้อย่างมั่นคง ไม่ว่าจะเป็นเมืองหลวง เมืองสำคัญทางธุรกิจหรือโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจอื่นๆ ดูเหมือนจะไม่ได้รับความกระทบกระเทือนจากปฏิบัติการของฝ่ายต่อต้านมากมายนัก

ประการที่ห้า บรรดาประเทศที่อยู่ติดกับพม่าที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นจีน อินเดีย ไทย ดูเหมือนจะยังเชื่อมั่นว่า ตัดมาดอว์จะสามารถรักษาสถานการณ์และควบคุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศได้ รัฐบาลเพื่อนบ้านทั้งสามยังให้การรับรองในทางพฤตินัยและติดต่อประสานกับรัฐบาลทหารพม่าตามปกติ สิ่งที่เพื่อนบ้านทั้งหลายของพม่าจะทำในตอนนี้คือ พยายามจะช่วยให้สถานการณ์กลับคืนสู่ปกติโดยเร็วที่สุด นั่นคือการหยุดยิงโดยทันทีไม่ว่าฝ่ายใดจะได้เปรียบหรือเสียเปรียบอยู่ก็ตาม


[1] Andrew Selth “Military manpower has become a critical factor for Myanmar’s junta” The Strategist December 6, 2023 (https://www.aspistrategist.org.au/military-manpower-has-become-a-critical-factor-for-myanmars-junta/)

[2] “Myanmar junta places army in charge of Kokang as resistance eyes Laukkai” The Irrawaddy November 16, 2023 (https://www.irrawaddy.com/news/burma/myanmar-junta-places-army-in-charge-of-kokang-as-resistance-eyes-laukkai.html)

[3] Ye Myo Hein “Myanmar military is smaller than commonly thought—and shrinking fast” United States Institute of Peace May 4, 2023 (https://www.usip.org/publications/2023/05/myanmars-military-smaller-commonly-thought-and-shrinking-fast)

[4] Andrew Selth “Military manpower has become a critical factor for Myanmar’s junta” The Strategist December 6, 2023 (https://www.aspistrategist.org.au/military-manpower-has-become-a-critical-factor-for-myanmars-junta/)

[5] Dominic Faulder “Myanmar military’s might fails to crush decades-old resistance” Nikkei Asia March 28, 2023 (https://asia.nikkei.com/Spotlight/Asia-Insight/Myanmar-military-s-might-fails-to-crush-decades-old-resistance)

[6] UN expert exposes $ 1 billion death trade to Myanmar military UN press release May 17, 2023 (https://www.ohchr.org/en/press-releases/2023/05/un-expert-exposes-1-billion-death-trade-myanmar-military)

[7] Kalinga Seneviratne “Myanmar’s civil war blowing up India’s act east policy – Analysis” Eurasia Review December 11, 2023 (https://www.eurasiareview.com/11122023-myanmars-civil-war-blowing-up-indias-act-east-policy-analysis/)

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save