fbpx
ถ้าไม่แก้ไข ประเทศไทยก็เหมือนเดิม: หาทางออกอย่างเป็นธรรมด้วยนิรโทษกรรมคดีการเมือง

ถ้าไม่แก้ไข ประเทศไทยก็เหมือนเดิม: หาทางออกอย่างเป็นธรรมด้วยนิรโทษกรรมคดีการเมือง

เป็นเวลาเกือบสองทศวรรษ นับตั้งแต่ความขัดแย้งทางการเมืองก่อนรัฐประหาร 2549 ที่ยืดเยื้อยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน เหตุการณ์ทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมามีทั้งความรุนแรงที่เจ้าหน้าที่รัฐกระทำต่อประชาชน เช่น การสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงที่แยกราชประสงค์ในปี 2553 และมีการดำเนินคดีประชาชนผู้เห็นต่างจากรัฐบาลในหลายข้อกล่าวหา โดยเฉพาะการใช้มาตรา 112 มากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงการประท้วงปี 2563

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มีประชาชนล้มตาย สูญหาย ลี้ภัย และถูกดำเนินคดีจำนวนมหาศาล ซึ่งหลายคดีเป็นเพียงคดีการเมืองที่อาจไม่นับเป็นอาชญากรรม ประชาชนยังคงรอคอยความยุติธรรม ในขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐยังลอยนวลพ้นผิด ในสถานการณ์เช่นนี้ สังคมไทยจึงดำเนินต่อไปอย่างยากลำบาก หากคดีทางการเมืองไม่ถูกชำระสะสางอย่างเป็นธรรม การนิรโทษกรรมจึงกลายเป็นทางออกสำคัญของความขัดแย้งยาวนาน

คำถามที่ต้องถกเถียงต่อคือการนิรโทษกรรมควรทำในรูปแบบใด รวมคดีใดบ้าง และใครบ้างที่ควรได้รับการนิรโทษกรรม

101 สรุปความจากรายการ 101 Policy Forum #20 หาทางออก ‘นิรโทษกรรม’ หาทางออกสังคมไทย พูดคุยว่าด้วยประเด็นการนิรโทษกรรมคดีการเมืองและการหาทางออกจากความขัดแย้งที่ฝังรากในสังคมไทย ร่วมเสวนาโดย ขัตติยา สวัสดิผล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย วีระ สมความคิด อดีตแนวร่วมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล เหวง โตจิราการ อดีตแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ดำเนินรายการโดย กรรณิการ์ กิจติเวชกุล

YouTube video

บรรยากาศของการปะทะ-กระทบกระทั่งในสังคมไทย?

ท่ามกลางบรรยากาศการเมืองที่คุกรุ่น ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน จัดกิจกรรม ‘ส่งรักถึงสภา #นิรโทษกรรมประชาชน’ ที่ลานประชาชน ยื่นเสนอร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฉบับประชาชน ในขณะที่รัฐสภากำลังมีการอภิปรายญัตติมาตรการอารักขาขบวนเสด็จ บรรยากาศเช่นนี้ ทำให้เกิดคำถามถึงความขัดแย้งในสังคมไทยว่าจะกลับมารุนแรงอีกหรือไม่ ต่อประเด็นนี้ นายแพทย์เหวง โตจิราการ ให้ความเห็นว่า ความคิดเห็นที่แตกต่างเป็นเรื่องปกติ ควรเคารพความเห็นต่างด้วยการสนทนาแลกเปลี่ยนภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ หลีกเลี่ยงความรุนแรงทุกประการ สถานการณ์ปัจจุบันน่าเป็นห่วง เนื่องด้วยมีความพยายามจัดตั้งกลุ่มขวาจัด คล้ายที่เกิดขึ้นในช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519  

“เราทุกคนต้องช่วยกันพยายามทําให้สังคมไทยไม่หลุดเข้าไปในหุบเหวแห่งความขัดแย้ง” เหวงเน้นย้ำ

ด้านวีระ สมความคิด กล่าวเสริมว่าสถานการณ์ในช่วงเวลานี้น่าวิตก เพราะมีการปลุกระดมและพยายามโหมกระพือให้เกิดความขัดแย้งมากขึ้น

“ในฐานะคนที่เคยผ่านเหตุการณ์ตั้งแต่ปี 2516 จนถึงปัจจุบัน ผมเห็นสถานการณ์ตอนนี้แล้วไม่อยากให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย ถ้าจะเกิดเหตุการณ์ขัดแย้งบานปลายจนต้องกลับมาเป็นขวาพิฆาตซ้าย ในยุคสมัยนี้ ผมว่าจะไม่เหมือนเมื่อก่อนนะ เพราะจะรุนแรงมากกว่าในอดีต” วีระกล่าว

ทางด้าน ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ สส. พรรคก้าวไกลผู้ซึ่งก่อนจะเข้าร่วมวงสนทนา เพิ่งเสร็จสิ้นจากการอภิปรายในรัฐสภาในญัตติมาตรการอารักขาขบวนเสด็จ กล่าวว่าตนสัมผัสได้ถึงบรรยากาศแห่งความกลัว ซึ่งคงจะส่งไปถึงภายนอกสภา

“เห็นได้ว่าพรรคก้าวไกลพยายามใช้เหตุผลให้มากและใช้อารมณ์น้อยที่สุดในการอภิปราย แต่ก็มีพรรคอื่นๆ ที่อาจเรียกได้ว่า ‘เช็กอินความจงรักภักดี’ ด้วยการพูดสิ่งที่อาจไม่ได้เกี่ยวกับญัตติ แต่คล้ายจะบอกว่า ‘ฉันจงรักภักดีกว่า’ พยายามผลักให้อีกฝ่ายหนึ่งไปอยู่ฝั่งตรงข้ามกันอย่างสิ้นเชิง ทั้งที่เราพยายามสร้างพื้นที่ตรงกลางที่เราสามารถพูดคุยกันเพื่อแก้ไขปัญหาด้วยซ้ำ” ศศินันท์กล่าว

นิรโทษกรรมคือทางออกของความขัดแย้ง?

จากความคุกรุ่นของบรรยากาศทางการเมืองตลอดหลายปีที่ผ่านมา และการเรียกร้องจากภาคประชาชนให้มีการนิรโทษกรรมนักโทษทางการเมือง คำถามสำคัญคือการนิรโทษกรรมจะเป็นทางออกของความขัดแย้งได้หรือไม่

ก่อนจะให้เหตุผลว่าเหตุใดจึงเชื่อว่านิรโทษกรรมจะเป็นทางออกของความขัดแย้ง เหวงเน้นย้ำถึงความสำคัญของการนิยามคำว่า ‘นักโทษทางการเมือง’ ให้ชัดเจน คือประชาชนที่คิดเห็นต่างจากรัฐบาล กล่าวคือเมื่อประชาชนไม่พอใจหลักการทางการเมือง ก็อาจเริ่มต้นจากการเขียนหรือจัดเสวนา ซึ่งเมื่อไม่มีการตอบสนองจากรัฐบาล ก็นำไปสู่การชุมนุมประท้วง และรัฐบาลก็เข้าปราบโดยใช้อาวุธ ไปจนถึงการจับกุมและสังหาร

“เหตุการณ์ที่ผมและคนเสื้อแดงทั้งหลายทั้งปวงถูกจับมาศาล ก็คือการชุมนุมในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งเราเพียงแต่เรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภา คืนอํานาจให้ประชาชน แต่รัฐบาลอภิสิทธิ์กลับใช้วิธีการทางการทหาร โดยกล่าวหาว่าพวกผมมีกองกําลังติดอาวุธหรือชายชุดดํา ซึ่งในความเป็นจริงแล้วไม่มี”

เหวงยกตัวอย่างถึงอีกหลายกลุ่มการเมือง ตั้งแต่แนวร่วมพันธมิตรที่เห็นต่างจากรัฐบาลทักษิณ เสื้อแดงที่ต่อต้านรัฐประหารในรัฐบาลอภิสิทธิ์ กปปส. ต่อต้านนิรโทษกรรมสุดซอยในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ และคนรุ่นใหม่ในรัฐบาลประยุทธ์ที่เรียกร้องให้ปฏิรูปการเมือง กรณีที่กล่าวมาข้างต้นนี้ เหวงเห็นว่าเป็นนักโทษการเมืองที่ควรนิรโทษกรรม

เหวงให้เหตุผลว่า “นักโทษการเมืองทุกคนไม่ได้ทําความผิดอาญา พวกเขาเพียงมีความคิดเห็นที่ต่าง ซึ่งความแตกต่างทางความคิดนี้คือคุณสมบัติของมนุษย์ เป็นเรื่องธรรมดา อย่าปฏิบัติต่อคนที่มีความเห็นแตกต่างด้วยความเกลียดชัง อาฆาตมาดร้าย ราวกับพวกเขาเป็นอาชญากร”

จากที่เหวงกล่าวถึงความจำเป็นของการนิรโทษกรรมนักโทษทางการเมือง วีระชวนย้อนพิจารณาการใช้กฎหมายลักษณะนี้ในสังคมไทย ซึ่งเคยเกิดขึ้นเมื่อครั้งมีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 นิรโทษกรรมมวลชนที่เข้าป่าไปกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ก่อนจะให้ความเห็นเกี่ยวกับนักโทษการเมืองในตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาว่า

“พวกเขาเป็นนักโทษทางความคิด ถึงแม้จะมีการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา แต่ความผิดเหล่านี้เกี่ยวกับการที่ประชาชนไม่เห็นด้วยกับผู้มีอํานาจ จึงลุกขึ้นมาประท้วงต่อต้าน แม้เป็นความผิดอาญา แต่ก็ไม่ใช่อาชญากร หรือไม่ได้กระทำอาชญากรรมที่เกี่ยวกับการทุจริต แม้แต่คดีที่เกี่ยวกับการทุจริต หนีไปแล้วกลับมาขอรับโทษ ก็ยังได้รับการอภัยโทษเลย แล้วกับคนที่เขามีความคิดเห็นทางการเมืองแตกต่างจากผู้มีอํานาจ ทําไมถึงจะต้องเอาเป็นเอาตายกัน”

แต่เมื่อถามถึงความเป็นไปได้ของการนิรโทษกรรม วีระเชื่อว่าคงทำได้ไม่ง่ายนัก เพราะยิ่งมีการโหมกระพือปลุกให้เกิดความแตกแยก ก็ยิ่งมีความขัดแย้งมากขึ้น “ในความเห็นของผม ความขัดแย้งในสังคมที่ดํารงมาโดยตลอด มีแต่ความขัดแย้งของผู้มีอํานาจกับประชาชนเท่านั้น” วีระกล่าว

ทางด้านศศินันท์ให้ความเห็นว่านิรโทษกรรมน่าจะเป็นทางออกเดียวที่ดีที่สุด “สิ่งเดียวที่รัฐบาลจะทําได้ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความจริงใจมากที่สุดว่ารัฐบาลไม่ได้จะเอาตัวรอดในการสลายความขัดแย้งพวกเดียวกันเองแค่ในระดับผู้มีอํานาจ นั่นก็คือการคืนความเป็นธรรมและคืนชีวิตปกติให้กับประชาชน”

“คนที่คดีค้างอยู่ จะไปทํามาหากินอะไรก็ลําบาก คนที่เสียชีวิตก็ยังไม่ได้ความยุติธรรม ซึ่งนอกจากการนิรโทษกรรมแล้ว ก็ต้องมีการต้องเยียวยา คือการค้นหาความจริง ถ้าเรายังอยู่แบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ ปิดหูปิดตา ทําเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น มันจะไม่มีทางยุติความขัดแย้งได้เลย อีกทั้งคนยุคนี้กับคนยุคก่อนก็ต่างกัน การพูดถึงเรื่องต่างๆ แม้กระทั่งเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ก่อนแค่จะพูดออกมายังยาก แต่ปัจจุบันนี้ คนกล้าที่จะวิพากษ์วิจารณ์หรือแสดงความคิดเห็นมากขึ้น เพราะฉะนั้น ทางเดียวที่รัฐบาลควรจะทํามากที่สุด คือต้องพยายามอย่าปิดประตูการเจรจาว่าใครจะได้เข้าสู่กระบวนการนิรโทษกรรมบ้าง” ศศินันท์เน้นย้ำ

ในประเด็นนี้ ขัตติยา สวัสดิผล ให้ความเห็นว่า “ท่ามกลางความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมานาน หลายภาคส่วนมีความเห็นว่านิรโทษกรรมจะเป็นประตูหรือเป็นการปลดโซ่ตรวนทางกฎหมาย ที่จะนำไปสู่การสร้างบรรยากาศแห่งความปรองดอง แต่เราก็ต้องยอมรับในว่ามีกลุ่มคนอีกหลายกลุ่มที่คิดว่าไม่จําเป็นต้องนิรโทษกรรมและให้คดีความนั้นว่ากันไปตามกระบวนการยุติธรรม เรื่องการนิรโทษกรรมก็มีการพูดถึงกันมาหลายครั้ง และเคยสําเร็จแล้วในอดีตเมื่อสิบกว่าปีที่ผ่านมา แต่ครั้งนั้นกลับนำไปสู่ความขัดแย้งจนเกิดเป็นการรัฐประหาร”

ขัตติยาอธิบายต่อไปว่า ปัจจุบันนี้ ถ้าเปรียบเป็นบันไดที่ขั้นแรกคือการหยิบยกเรื่องนิรโทษกรรมมาพูดคุย เวลานี้กระบวนการอยู่ในขั้นที่สอง คือการพูดคุยในกรรมาธิการวิสามัญ ซึ่งมีการตั้งคณะกรรมการที่ประกอบไปด้วยนักวิชาการและนักการเมืองทั้งพรรคฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ขั้นต่อไปคือลงรายละเอียดว่าการนิรโทษกรรมซึ่งเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายจะเป็นอย่างไร และขั้นสุดท้ายที่ต้องพึงตระหนักคือ การนิรโทษกรรมที่จะทำ ต้องไม่นำไปสู่ความขัดแย้งบานปลาย

การตั้งคณะกรรมาธิการเป็นการยื้อเวลา?

จากประเด็นการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญมีคำวิจารณ์ว่าหลายฝ่ายมีธงในใจอยู่แล้วว่าร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมจะเป็นอย่างไร รวมหรือไม่รวมคดีมาตราใดบ้าง ทำให้การตั้งคณะกรรมาธิการเป็นเหมือนการถ่วงเวลาในการผ่านร่าง พ.ร.บ.เพียงเท่านั้น สำหรับประเด็นนี้ เหวงเห็นด้วยกับคำวิจารณ์ดังกล่าว และให้เหตุผลว่าก่อนหน้านี้ ผู้มีอำนาจในรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยก็กล่าวชัดเจนแล้วว่าจะไม่รวมคดีมาตรา 112 เพราะอาจเกรงใจหรือเห็นด้วยกับพรรคร่วมรัฐบาล หากพรรคเพื่อไทยรวมมาตรา 112 เข้ามาด้วย รัฐบาลก็จะรวนและไปต่อไม่ได้ 

ในขณะที่ขัตติยา สส. พรรคเพื่อไทย ชี้แจงว่าการตั้งกรรมาธิการไม่ใช่การยื้อเวลา เพราะหากพิจารณาไปทีละร่าง การนิรโทษกรรมอาจไม่เกิดขึ้น เพราะจะมีการเห็นต่าง แต่หากใช้เวทีกรรมาธิการเพื่อหาสารตั้งต้นร่วมกัน มีโอกาสสำเร็จมากกว่า

สำหรับศศินันท์แล้ว แม้ตนจะเห็นว่าการตั้งคณะกรรมาธิการอาจไม่จำเป็น เพราะมีร่างพร้อมอยู่แล้วหลายร่าง แต่ก็เห็นว่ามีอีกมุมมองตามที่ขัตติยาได้กล่าว คือหลายร่างนั้นแตกต่างกัน การตั้งกรรมาธิการก็ทำให้ได้วิเคราะห์ สังเคราะห์ และถกเถียง

นิรโทษกรรมใคร?

ความขัดแย้งทางการเมืองตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานั้น มีนักโทษการเมืองจำนวนมาก ซึ่งแต่ละคดีมีความแตกต่างกัน จึงเกิดเป็นคำถามว่าใครและคดีใดบ้างจะอยู่รวมในการนิรโทษกรรม ต่อประเด็นนี้ เหวงกล่าวว่า คณะประชาชนทวงความยุติธรรมเรียกร้องให้มีการ ‘นิรโทษกรรมคนเป็น’ และ ‘ทวงความยุติธรรมให้คนตาย’ การนิรโทษกรรมคนเป็นนั้นรวมคดีตั้งแต่ปี 2549-2567 และรวมคดีมาตรา 112 ด้วย ส่วนการทวงความยุติธรรมให้คนตายนั้น เหวงกล่าวว่าน่าเป็นห่วง เพราะเหตุการณ์ปี 2553 ย้อนไปถึง 6 ตุลา 2519 ยังไม่มีการลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐ และมักไม่ค่อยถูกพูดถึง เหวงเห็นว่าต้องปล่อยนักโทษทางการเมืองทุกคน แต่เจ้าหน้าที่รัฐที่ทำเกินกว่าเหตุไม่ควรได้รับการนิรโทษกรรม และต้องถูกดำเนินคดีโดยศาลพลเรือน

ด้านศศินันท์ชี้แจงว่ากรอบของพรรคก้าวไกลระบุถึงคดีที่มีเหตุจูงใจทางการเมือง ตั้งแต่ช่วงก่อนรัฐประหารปี 2549 เป็นต้นมา ไม่ว่าใครก็ตาม โดยไม่ระบุมาตรา เนื่องจากมีหลายคดี จึงต้องเปิดประตูกว้างไว้ เพื่อให้เข้ามาคัดกรองก่อน แต่มีข้อยกเว้นคือกรณีเจ้าหน้าที่รัฐกระทำเกินกว่าเหตุและการรัฐประหารที่จะไม่ได้รับการพิจารณา

วีระมีความเห็นไปในทางเดียวกันกับเหวงและศศินันท์ ทั้งต่อประเด็นผู้ที่รวมและไม่รวมในการนิรโทษกรรม และกล่าวเสริมว่า “ในกรณีที่มีการกระทําความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา แล้วยิ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐมากระทํากับประชาชน จะมาตีขลุมหมายรวมในนิรโทษกรรม ผมไม่เห็นด้วย ประชาชนไทยเสียภาษีให้เขาไปเรียนจนจบ ผ่านการฝึกหนักเพื่อให้มาทําหน้าที่ดูแลความมั่นคง รักษาอธิปไตยของชาติ ป้องกันประเทศชาติจากศัตรูภายนอก เราคนไทยไม่ได้เสียภาษีให้คนเหล่านี้ใช้อาวุธยิงประชาชน ไม่มีความรู้สึกผิดชอบชั่วดี รับคำสั่งแล้วก็ปฏิบัติเหมือนกับไม่ใช่มนุษย์ ถ้าจะให้มาเหมารวมแล้วให้นิรโทษกรรมคนเหล่านี้ ผมว่าเหตุการณ์ต่อไปมันก็จะยังเกิดขึ้นอีก”

ในขณะที่ขัตติยาให้ความเห็นว่า ในเวลานี้ มีหลากหลายความเห็นและหลากหลายร่าง ไม่ว่าจะเป็นร่างของพรรคก้าวไกล พรรครวมไทยสร้างชาติ รวมถึงร่างของภาคประชาชน นี่คือสาเหตุที่พรรคเพื่อไทยเสนอญัตติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ เนื่องจากไม่มีธง และต้องการสารตั้งต้นซึ่งเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายและไม่นำไปสู่ความขัดแย้ง ซึ่งต้องพูดคุยกันว่าจะรวมคดีตั้งแต่ปีใด ฐานความผิดอะไร และใครบ้าง โดยที่ตนหวังพึ่งเวทีสภาว่าจะสกัดสิ่งที่ยอมรับร่วมกันได้ออกมาและหวังว่าจะได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย

สำหรับคดีที่ไม่รวมในการนิรโทษกรรม ขัตติยายืนยันว่า “ไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมให้กับความผิดที่ถึงแก่ชีวิต และวันนี้ก็ยังยืนยันในหลักการนั้น แต่เมื่อถึงเวลา หากมีคดีที่จําเป็นต้องนิรโทษกรรม แต่คดีนั้นยังสร้างบาดแผลในใจให้กับคนใดคนหนึ่งหรือคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งอยู่ นั่นเป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องหาทางเยียวยาแผลในใจนั้น”

การลงโทษผู้กระทำความรุนแรงต่อประชาชน

จากข้อกังวลในเรื่องการเยียวยาผู้ถูกกระทำจากรัฐ นำมาสู่ความหวังต่อการลงโทษคนสั่งการใช้ความรุนแรงกับประชาชน และหนทางที่จะผลักดันให้สำเร็จ ต่อประเด็นนี้เหวงเน้นย้ำว่า “เรื่องที่ผมมุ่งมั่นจะให้สําเร็จ คือเอาคนสั่งฆ่าและคนฆ่าในปี 2553 มาลงโทษตามกฎหมายให้ได้ มิฉะนั้นเมืองไทยก็จะต้องมีการใช้ทหาร ใช้อาวุธสงคราม ฆ่าประชาชนสองมือเปล่า ซ้ำแล้วซ้ำอีก”

“ถ้าผู้แทนราษฎรเห็นด้วยว่าต้องการเอาคนฆ่าและคนสั่งฆ่ามาลงโทษ ผมก็มีความหวัง แต่ข้อแรกคือคุณจริงใจหรือเปล่า” เหวงกล่าวพร้อมตั้งคำถาม

เหวงยกตัวอย่างคดีปี 2553 ศาลเห็นว่าอยู่ในขอบข่ายศาลทหาร แต่เมื่อกรมสอบสวนคดีพิเศษฟ้องไปยังอัยการทหาร อัยการการศาลทหารก็กลับสั่งไม่ฟ้อง เหวงชี้ให้เห็นว่า วิธีการคือต้องแก้กฎหมายให้ทหารที่ทำผิดอาญาต่อพลเรือนนั้นถูกพิจารณาคดีโดยศาลพลเรือน ซึ่งคณะประชาชนทวงความยุติธรรมก็มุ่งรณรงค์กับทางพรรคร่วมฝ่ายค้านเดิม คือพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล ให้ร่วมผลักดัน ต่อมาคือการเดินหน้าตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างภาครัฐกับญาติผู้เสียชีวิต และประเด็นสุดท้ายคือต้องมีการยอมรับเขตอำนาจศาลอาญาพิเศษระหว่างประเทศ สำหรับกรณี เมษายน-พฤษภาคม ปี 2553

การรวมมาตรา 112 ใน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม

ข้อถกเถียงสำคัญประการต่อมา คือมาตรา 112 ควรรวมอยู่ในการนิรโทษกรรมหรือไม่ ต่อประเด็นนี้ เหวงอธิบายว่า ในสมัยรัชกาลที่ 5 ยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่รุ่งเรือง แต่กฎหมายดูหมิ่นกษัตริย์ในสมัยนั้นมีโทษจำคุกสูงสุดเพียง 3 ปี ในสมัยรัชกาลที่ 6 มีโทษสูงสุด 7 ปี ส่วนสมัยปรีดี พนมยงค์ หากการกระทำนั้นเป็นประโยชน์ต่อประเทศก็จะยกความผิด 

เหวงยังกล่าวอีกว่า กฎหมายโทษขั้นสูงสุด 15 ปีนั้น มาจากคณะยึดอำนาจในสมัย 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งเป็นสมัยที่เกลียดและใส่ร้ายคนเห็นต่างว่าเป็นคอมมิวนิสต์ และนับตั้งแต่นั้นจนถึงปัจจุบัน รวมถึงเหตุการณ์ช่วงปี 2563 ฝ่ายขวาจัดก็ใช้มาตรานี้อย่างจ้าละหวั่น เพราะสามารถฟ้องโดยผู้ใดก็ได้

“น้องๆ หรือลูกหลานไม่เห็นมีใครบอกว่าจะเปลี่ยนระบอบ ไม่เห็นมีใครบอกว่าต้องการสร้างระบอบสาธารณรัฐ แต่ยังเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ยังเป็นประเทศไทยที่เป็นราชอาณาจักรหนึ่งเดียวอันแบ่งแยกมิได้ แล้วทําไมคุณไปเกลียดชังพวกเขาเข้ากระดูกดํา”

มาตรา 112 เป็นเครื่องมือทางการเมืองที่คณะรัฐประหารปี 2519 ใช้ปราบปรามผู้เห็นต่าง สำหรับเหวงแล้ว การแก้มาตรา 112 ไม่ใช่การแตะต้องพระราชอำนาจ แต่คือการแก้ไขมรดกบาปของคณะรัฐประหาร ซึ่งจากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ สามารถแก้ได้ ตามวิถีระบอบรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญโดยชอบ 

“ผมดูการแสดงความคิดเห็นการเมือง ไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองก็ดีหรือกองกําลังฝ่ายอนุรักษนิยมก็ดี เคียดแค้นชิงชังถึงขนาดจะกินเลือดกินเนื้อ ไม่ต่างอะไรกับขวาพิฆาตซ้ายในสมัย 6 ตุลา” 

“ถ้าคิดอย่างตรงไปตรงมาจริงๆ ก็ควรนิรโทษกรรมคดี 112 ด้วย แต่ผมดูแล้วความหวังริบหรี่เต็มแก่ แต่ถ้าไม่นิรโทษกรรมคดี 112 ความคุกรุ่นทางการเมืองก็จะไม่จบ กรุณาอย่าก่อกรณี 6 ตุลา ซ้ำเดิมอีกเลย” เหวงกล่าว

เขากล่าวต่อว่าเวลานี้รัฐบาลมีลานประชาชนเพื่อเป็นพื้นที่แสดงออกทางการเมือง ซึ่งนับเป็นการป้องกันการปะทะ ส่วนกรณีมาตรา 112 ควรเป็นเวทีเฉพาะ รัฐบาลควรเปิดเวทีเชิญผู้เห็นต่างทุกคนมาพูดคุยเพื่อแก้ไขมาตรา 112 กว่าจะหาข้อสรุปที่ตรงกันได้ เช่น โทษขั้นต่ำ ขั้นสูง และผู้ใดสามารถฟ้องได้ มีแง่มุมมากมายที่ผู้คนสงสัย ต้องการแสดงความคิดเห็น เพื่อไม่ให้มีโอกาสที่เป็นวิกฤตทางการเมือง

ด้านวีระอธิบายเสริมว่า มาตรา 112 ทำหน้าที่เหมือนกับกฎหมายหมิ่นประมาท ดูหมิ่น ใส่ความ อาฆาตมาดร้าย แต่มีไว้สำหรับกษัตริย์ ราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทน อย่างไรก็ตาม มาตรา 112 ไม่สามารถลดโทษได้ด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 329 ว่าการกระทำนั้นเป็นการพูดเพื่อเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ แตกต่างจากความผิดฐานหมิ่นประมาทบุคคลทั่วไป

“ผมเข้าใจว่าทุกวันนี้ที่เป็นปัญหาเพราะว่าอาจมีการใช้เกินเลยไปจากเจตนารมณ์ดั้งเดิม” วีระชี้ให้เห็นปัญหาของการใช้กฎหมายมาตรา 112

“มันก็ต้องระบุให้ชัด ไม่ใช่ใครก็ได้ลุกขึ้นมากล่าวโทษแทนพระมหากษัตริย์ นอกจากนั้น ยังมีการฟ้องหมายรวมบานปลายไปถึงอดีตกษัตริย์หรือนอกเหนือจากบุคคลที่มาตรา 112 คุ้มครอง อีกทั้งบุคลากรในการกระบวนการยุติธรรมก็ไม่ชัดเจน ใช้กันจนเกินขอบเขต ก็เลยยิ่งสร้างความขัดแย้ง ยิ่งสร้างปัญหา และยิ่งทําให้เกิดความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องในข้อกฎหมาย” 

อย่างไรก็ตาม วีระเชื่อว่าผู้มีอํานาจคงไม่ยอมให้รวมคดีมาตรา 112 ในการนิรโทษกรรม หากคดีอยู่ในกระบวนการยุติธรรมหรือถูกตัดสินแล้ว

ดีกว่าหรือไม่หากยังไม่รวม 112 ในการนิรโทษกรรม?

แม้มีการดำเนินคดี 112 กับประชาชนจำนวนมาก โดยเฉพาะตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา อย่างไรก็ตาม มีกระแสว่าหากต้องการให้ร่าง พ.ร.บ.ผ่านในครั้งนี้ อาจดีกว่าหากยังไม่รวมมาตรา 112

ต่อประเด็นนี้ ศศินันท์เชื่อว่า “ถ้าเราถอยก่อน โดยที่ยังไม่ลองในสเกลที่ประชาชนต้องการ ก็เหมือนเราเองยังไม่ได้ทําหน้าที่ของเราอย่างเต็มที่ อย่างเราที่จะต้องมีประชุม กมธ. ก็ตั้งใจว่าอยากไปอธิบายให้เห็นถึงความสําคัญของการรวมมาตรา 112 อยู่ในการนิรโทษกรรมด้วย ถึงแม้ว่าคนอาจมองว่าดูจากคนที่อยู่ใน กมธ. แล้วมันน่าจะยาก แต่ก็ยังคงมีความเชื่อ และอยากจะลองทําอย่างเต็มที่ดูก่อน” 

“ถ้าเราตัดคดี 112 ออกจากการนิรโทษกรรม เหมือนเราทิ้งการชุมนุมปี 2563 ไปเกือบ 80-90% และคดีตอนนั้นส่วนใหญ่ก็เป็นกลุ่มเยาวชนด้วย เราเป็นทนายความตั้งแต่ในช่วงลุงๆ ป้าๆ เสื้อแดง ต่อมาลูกความก็อายุน้อยลงๆ จนมาช่วงหลังๆ ปี 2563 อายุของลูกความน้อยมาก เราไม่คิดเลยว่าวันหนึ่งเราจะต้องมีบัตรที่ปรึกษาเด็ก เพราะต้องขึ้นศาลเด็ก”

“112 แทรกอยู่ในแทบทุกคดีที่ตํารวจฟ้องมา ดังนั้น ถ้าเราต้องการนิรโทษกรรมเพื่อคลายความขัดแย้งของสังคม แต่กลับนิรโทษกรรมแค่คนบางกลุ่ม โดยทิ้งคนอีกกลุ่ม อย่างไรก็ไม่มีทางที่จะแก้ไขปัญหาได้อยู่แล้ว”

ในขณะที่วีระเชื่อว่าผู้ที่ถูกดำเนินคดี 112 หลายคดีไม่เข้าองค์ประกอบความผิด แต่ถูกเหมารวม ตีความให้เข้าข่าย อยู่ในชั้นตำรวจตั้งข้อหา เป็นปัญหาที่เกิดจากการเลือกปฏิบัติ ใช้กฎหมายกลั่นแกล้งให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน แต่สำหรับเรื่องความเป็นไปได้ในการรวมมาตรานี้ในการนิรโทษกรรม วีระมั่นใจว่าผู้มีอำนาจคงไม่ยอมให้เกิดขึ้นได้ง่ายๆ หรือหากยอม ก็อาจมีการเอาคืน

อย่างไรก็ตาม ต่อประเด็นการเสนอให้รวมมาตรา 112 วีระมองว่า “ฝ่ายนั้นยังเสนอนิรโทษกรรมเครื่องมือสังหารได้เลย พวกทหารที่ฆ่าประชาชนก็ยังกล้าเสนอ ประชาชนก็น่าจะเสนอได้ มันไม่ผิดอะไร ผมว่าเสนอไปก็ไม่เห็นเสียหาย”

สำหรับขัตติยา แม้มีคำกล่าวว่าพรรคเพื่อไทยจะไม่รวมมาตรา 112 แต่ขัตติยาก็ได้ให้ความเห็นว่า ในเมื่อชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทยนั้นไม่ปิดกั้นที่จะนำมาตรา 112 มาพิจารณาในคณะกรรมาธิการ ด้วยว่ามีทั้งผู้ถูกดำเนินคดีทั้งตามเนื้อหาและตามกระบวนการ จึงไม่น่าปิดกั้นการพิจารณารายละเอียดของแต่ละคดี

กรณีขบวนเสด็จ

เมื่อกล่าวถึงคดี 112 คงเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีการเชื่อมโยงไปถึงกรณีขบวนเสด็จซึ่งเกิดขึ้นก่อนหน้าการยื่นร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับประชาชนเพียงไม่กี่วัน คำถามสำคัญคือ กรณีขบวนเสด็จจะส่งผลต่อการรวมคดีมาตรา 112 ในการนิรโทษกรรมหรือไม่ ต่อประเด็นนี้ ศศินันท์มองว่าเป็นโอกาสที่จะได้อธิบายให้เกิดความเข้าใจมากขึ้นว่าเหตุใดจึงต้องรวมคดีมาตรา 112 ใน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม

“จะเป็นนิมิตหมายที่ดีที่เราจะเห็นถึงวุฒิภาวะของของผู้แทนของประชาชน ว่าจะยอมให้เหตุการณ์เหตุการณ์เดียวมาตัดสินร้อยพันคน ปิดประตูร้อยพันคนที่กําลังรอคอยการเปิดประตูนั้นอยู่… เป็นโอกาสดีที่เราจะได้เห็นวุฒิภาวะ ความเป็นผู้ใหญ่ และความเป็นผู้นําของนักการเมือง ว่าจะวิเคราะห์ในเรื่องนี้กันแบบไหน” ศศินันท์กล่าว

ในขณะที่ขัตติยากลับให้ความสำคัญกับบรรยากาศในสังคมที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในการนิรโทษกรรม และได้ให้ความเห็นว่า “การสร้างบรรยากาศเพื่อให้นําไปสู่การนิรโทษกรรม และเห็นว่าการนิรโทษความเป็นทางออกของความขัดแย้งที่มีอยู่ เป็นสิ่งที่คนคนเดียวหรือฝ่ายเดียวไม่สามารถทําได้ แต่ต้องอาศัยหลายฝ่ายร่วมมือกันไปให้ถึงจุดนั้น”

สำหรับวีระแล้ว องค์ประกอบของกรณีขบวนเสด็จ ถือว่าไม่เข้าข่ายมาตรา 112 แต่อาจเป็นความผิดเกี่ยวกับจราจรหรือทำให้เกิดปัญหาในที่สาธารณะ “การพยายามจะโยงให้เข้าข่าย 112 นี่แหละที่เป็นปัญหา และจะเกิดปัญหาใหม่ไม่จบสิ้น อย่าไปทําเป็นเรื่องที่สร้างปัญหา ถ้าเราอยากจะให้ประเทศเดินหน้า และอยากเห็นการปรองดอง นําไปสู่การที่นิรโทษให้กับทุกฝ่ายอย่างแท้จริง อย่านําเรื่องนี้เข้ามาพูดกันในเวทีของกรรมาธิการเลย”

ปัจจัยที่จะทำให้ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมสำเร็จ

เหวงเห็นว่าประเด็นสำคัญอยู่ที่การรวมหรือการไม่รวมมาตรา 112 “จากที่ผมรับทราบจากสื่อ มีผู้หลักผู้ใหญ่หลายคนของพรรคเพื่อไทยพูดชัดเจนว่าไม่รวม 112 ผู้ใหญ่เหล่านี้เขามีศักยภาพในการชี้นําและบ่งบอกทิศทางได้ เพราะฉะนั้น ผมคิดว่าถ้าพรรคเพื่อไทยไม่รวม 112 และรวมเสียงกับรวมไทยสร้างชาติ ประชาธิปัตย์ พลังประชารัฐ และภูมิใจไทย ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมก็จะผ่านได้สบาย” เหวงกล่าว

ด้านศศินันท์เชื่อว่าปัจจัยความสําเร็จคือนักการเมือง “ตอนนี้ประชาชนได้ทําหน้าที่ของพวกเขาแล้ว  ปัจจัยสําคัญก็คือพวกเรานักการเมืองที่อยู่ในคณะกรรมาธิการจะพูดคุยกันในทิศทางไหน ถ้าเราให้ผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง ก็อาจจะผ่านได้ดี เราพยายามมองในมุมที่เป็นความหวังไว้ก่อน เพราะถ้าทุกวันเราตื่นมาด้วยความรู้สึกว่าไม่มีความหวัง มันจะไม่มีแรงทํางาน ถ้าเราคิดว่ามันเป็นไปได้ เราก็จะมีแรงตื่นทุกเช้าไปทํางานอย่างเต็มที่มากขึ้น”

สำหรับปัจจัยต่อความสำเร็จ วีระกล่าวไปในทางเดียวกันกับศศินันท์ว่า “คือการยอมรับ เปิดใจรับฟังอย่างจริงจังและจริงใจ หากรับฟังอย่างจริงจังอย่างเดียวแต่ไม่จริงใจ ก็คงไม่เกิดผลเท่าที่ควร ทั้งหมดนี้ต้องขึ้นอยู่กับวุฒิภาวะของผู้ที่เป็นตัวแทนของประชาชนเข้าไปทําหน้าที่ในสภา”

 วีระยังกล่าวอีกว่าสาเหตุที่ประเทศอื่นๆ ไม่มีปัญหาเรื่องนิรโทษกรรม คือประเทศเหล่านั้นมีความเป็นประชาธิปไตยและมีความเท่าเทียมกันของคนในชาติ ในขณะที่ประเทศไทยเป็นไปในทางตรงข้ามกัน คือผู้นำได้อำนาจมาอย่างไม่ชอบธรรมและเอารัดเอาเปรียบประชาชน

“เราคิดจะแก้แต่ปัญหาเฉพาะหน้า แต่ไม่คิดที่จะแก้ปัญหาที่แท้จริง ประเทศก็อยู่อย่างนี้ เหมือนกับที่เราเกิดการรัฐประหารซ้ำแล้วซ้ำเล่า ผมมองจากประสบการณ์และจากความเป็นจริงของชีวิต ที่ผ่านมาเป็นอย่างนั้นจริงๆ เมื่อไรที่ประชาชนรู้สึกว่ากฎหมายเป็นที่พึ่งได้ กระบวนการไม่บิดเบี้ยว ไม่รับใช้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่เป็นกระบวนการที่เป็นธรรม เมื่อนั้นปัญหาความขัดแย้งต่างๆ โดยเฉพาะความขัดแย้งทางการเมือง ก็จะลดลงอย่างมากทีเดียว และจะไม่เกิดปัญหาที่ทําให้ประเทศเกิดความเสียหายอย่างที่เป็นมา” วีระกล่าวทิ้งท้าย

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save