fbpx
ศิลปะในอนุบาล สร้างความงามให้ปรากฏในตัวเด็ก ‘แม่อุ้ย’ อภิสิรี จรัลชวนะเพท ผู้ก่อตั้งอนุบาลบ้านรัก

ศิลปะในอนุบาล สร้างความงามให้ปรากฏในตัวเด็ก ‘แม่อุ้ย’ อภิสิรี จรัลชวนะเพท ผู้ก่อตั้งอนุบาลบ้านรัก

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ เรื่อง

เมธิชัย เตียวนะ ภาพ

 

หากเปรียบเทียบ ‘วัยอนุบาล’ เป็นห้องหับ ในภาพจำของหลายหลายคนอาจนึกถึงห้องที่ผนังเต็มไปด้วยตัวอักษร ก.ไก่-ฮ.นกฮูก มีภาพฝันของการเติบใหญ่ถูกอัดใส่กรอบ ตั้งโต๊ะ วางเคียงข้างจานชามแห่งความฉลาดเฉลียว และยังไม่ทันได้เอนกาย ก็ต้องวิ่งออกจากห้อง สู่ประตูบานใหม่ที่เรียกว่าโรงเรียน

ทว่า สำหรับ แม่อุ้ย-อภิสิรี จรัลชวนะเพท ผู้ก่อตั้งอนุบาลบ้านรัก และผู้เชี่ยวชาญการศึกษาวอลดอร์ฟ อนุบาลไม่ใช่แค่ทางผ่านสู่โรงเรียน ไม่ได้อัดแน่นไปด้วยวิธีเขียนอ่าน และการท่องจำ แต่อนุบาลคือบ้านที่จะประคองกายและใจ ให้เด็กๆ เดินอย่างมั่นคงในเส้นทางชีวิต และเป็นที่ที่เด็กๆ จะได้รู้จักโลกใบนี้ไปพร้อมความสุขใจ

ที่อนุบาลบ้านรัก อนุบาลซึ่งไม่มีคำว่า ‘โรงเรียน’ นำหน้า จึงแวดล้อมไปด้วยธรรมชาติ ‘แม่’ หรือครูผู้ดูแลเด็กอนุบาล และศิลปะ ในฐานะกระบวนการสร้างความพร้อม ความสุข และพัฒนาการของเด็กทั้งด้านกายภาพและจิตวิญญาณ

ทุกรายละเอียดตั้งแต่สภาพแวดล้อม ไปจนถึงกิจกรรมที่เด็กๆ จะได้ทำ คำนึงถึงความงามและการพัฒนาที่สมวัย ตามแนวทางของศาสตร์มนุษยปรัชญา และการศึกษาแบบวอลดอร์ฟ อนุบาลแห่งนี้จึงไม่มีการหัดเขียนอ่าน ไม่ท่องจำ และไม่นับเลข แต่ที่นี่ เด็กๆ จะได้ร้องเพลง ระบายสี วิ่งและปีนป่าย สัมผัสท้องฟ้าด้วยสายตา สัมผัสดินหญ้าด้วยมือเท้าของเขาเอง

ในห้องหับของแม่อุ้ย ผนังจึงถูกทาด้วยสีและแสง สุดขอบห้องคือธรรมชาติของโลกใบใหญ่ ส่วนศิลปะที่งดงามกว่าสิ่งใด คือเด็กๆ ที่มีความสุข

 

 ‘แม่อุ้ย’ อภิสิรี จรัลชวนะเพท ผู้ก่อตั้งอนุบาลบ้านรัก 

 

ในชีวิตของแม่อุ้ยได้เห็นภาพอนุบาลแบบไหนมา เมื่อไหร่ที่รู้ว่าการทำงานกับเด็กต้องมีศิลปะมาเกี่ยวข้อง

แม่อุ้ยเกิดและเติบโตในครอบครัวที่เป็นครู และได้เห็นการทำงานด้านโรงเรียนจากผู้ใหญ่ในบ้าน มีคุณปู่เป็นอาจารย์ผู้ปกครองโรงเรียนวัดเทพศิรินทร์ ในอดีตช่วงสงครามโลก แทบไม่มีโรงเรียนไหนเปิดเลย คุณปู่ คุณย่า และลูกของท่านอีก 2 คน จึงเห็นพ้องกันว่า ในภาวะสงครามเช่นนี้ต้องมีบ้านสักบ้านเปิดเป็นโรงเรียน จึงก่อตั้งโรงเรียนขึ้นมา เด็กที่เคยวิ่งเล่นในละแวกนั้นได้มาเรียนกัน จนเมื่อสงครามหยุดแล้วก็ยังเปิดโรงเรียนต่อไปเรื่อยๆ

ตอนแม่อุ้ยเป็นเด็ก ในยุคนั้นยังไม่มีการพาเด็กเข้าอนุบาลสักเท่าไร แต่เราเคยถูกส่งไปอยู่ที่อนุบาลแห่งหนึ่งของท่านอาจารย์หม่อมดุษฎี บริพัตร เป็นอนุบาลที่เป็น Kindergarten และได้ไปอยู่อนุบาลอีกที่หนึ่งคือโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย เรารู้สึกว่าอนุบาลเป็นสถานที่ที่ทำให้เรามีความสุข พอโตขึ้นมา โรงเรียนประถมศึกษาของที่บ้านก็ได้รับดำริจากผู้ใหญ่ว่าอยากจะให้จัดตั้งแผนกอนุบาลขึ้น ญาติผู้ใหญ่ที่มีความรู้ด้านอนุบาลจึงได้เปิดแผนกอนุบาล

แม่อุ้ยอยากเป็นครูอนุบาลตั้งแต่อายุ 9-10 ขวบ ทุกๆ ปิดเทอมก็มักจะไปเจ๊าะแจ๊ะอยู่แถวๆ แผนกอนุบาลเสมอ วันหนึ่ง คุณอาที่ดูแลแผนกอนุบาลมาตลอดได้เกษียณตัวเอง เพราะท่านอายุมากแล้ว และให้ผู้ช่วยมาดูแลแทน ช่วงเวลานี้แหละเป็นจุดสำคัญมาก คือจากเดิมที่เราเคยเห็นเด็กๆ มีความสุขอยู่กับการทำงานศิลปะในอนุบาล เช่น การวาดภาพระบายสี การปั้น ร้องเพลงเล่านิทาน บรรยากาศก็เริ่มเปลี่ยนไป เราต้องคอยถามผู้ช่วยคนนั้นว่า “ทำไมพี่ไม่เอาสีเทียนมาให้น้องระบายล่ะคะ?”  “ทำไมพี่ไม่มีสีน้ำล่ะคะ?” “พี่ๆ ทำไมไม่เล่านิทานคะ?” โดยเรามักจะได้คำตอบว่า “ไม่ได้หรอกค่ะ ปีนี้เด็กซน เตรียมอุปกณ์ลำบาก” กระทั่งคำว่า “เสียเวลา” และ “ผู้ปกครองอยากให้เด็กเริ่มอ่านเขียนเตรียมเข้า ป.1”

ตอนนั้นเรารู้สึกเหมือนใจจะขาด เราชอบที่จะเห็นน้องๆ เพลิดเพลินกับงานศิลปะมากกว่า จึงไปเล่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นให้คุณอาที่เป็นครูอนุบาลและได้เกษียณตัวเองไปแล้วฟัง ถามคุณอาว่าควรทำอย่างไร ต้องซื้ออะไรมาเพิ่มเพื่อให้อนุบาลเป็นอย่างเดิม คุณอาตอบเราว่า “อย่าเพิ่งซื้ออะไรเลย สิ่งที่สำคัญของอนุบาลไม่ได้ขึ้นอยู่กับของเล่น คนที่อยู่ต่อหน้าเด็กต่างหากที่สำคัญ การเป็นครูอนุบาลนั้นไม่ยากเลย แค่ต้องเข้าใจเด็กว่าเขาต้องการอะไร” นี่เป็นสิ่งที่เราจะจำจนวันตาย

ที่เล่ามาทั้งหมดก็เพื่อจะบอกว่า เรามองเห็นความสุขและสันติสุขที่เกิดขึ้นในอนุบาลมาก่อน เรารู้สึกว่าหากใช้ชีวิตไปตามโลก เราอาจมองศิลปะเป็นสิ่งที่อยู่ข้างทาง แต่ถ้าลองมองให้ดี ชีวิตของทุกคนดำเนินด้วยศิลปะ ศิลปะเป็นการงานที่อยู่ในชีวิต และความสุขของเด็กๆ นั้นขึ้นอยู่กับผู้ใหญ่ ขึ้นอยู่กับว่าเขาจะดูแลและโอบกอดเด็กไว้อย่างไร

 

ศิลปะจำเป็นต่อเด็กอย่างไร

ก่อนหน้านั้นเราเชื่อในศิลปะก็จริง แต่ก็เข้าใจแค่เพียงกลไก รู้เพียงว่างานศิลปะเหมาะกับเด็ก ยังไม่ได้เชื่อไปถึงหัวใจ จนได้เรียนศิลปะในระดับมหาวิทยาลัย เราถูกปลูกฝังให้ทำงานกับความงามของโลก ทำสิ่งที่อยู่ตรงหน้าให้เกิดความงาม สัมผัสจากภายนอก ด้วยตาดู หูฟัง แล้วเกิดเป็นความรู้สึกดีๆ ที่เกิดขึ้นด้านใน น่าชื่นใจ ไม่ว่าจะเป็นการทำงานปั้น แกะสลัก วาดภาพด้วยสีน้ำมัน สีช็อค สีน้ำ หรืองานอะไรก็ตาม เพราะฉะนั้น เมื่อเริ่มบริหารโรงเรียนต่อจากที่บ้านและกลายเป็นครูใหญ่ตอนอายุ 22 ปี เราก็ตั้งโจทย์ว่าจะทำให้เด็กอนุบาลได้สัมผัสความงามเหล่านี้

ความจริงแล้วศิลปะไม่ใช่แค่กิจกรรมศิลปะ แต่เป็นเรื่องที่ใหญ่กว่านั้น ถ้าคุณเห็นความสำคัญของร่างกายมนุษย์ ตระหนักว่ามนุษย์ไม่ได้มีเพียงแค่ร่างกายเนื้อ (physical body) ที่เราเห็นและสัมผัสได้ แต่ยังมีร่างวิญญาณที่มองไม่เห็น แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าไม่มีอยู่ ได้แก่ ร่างกายพลังชีวิต (etheric body) ร่างกายความรู้สึก (astral body) และร่างกาย ‘ฉัน’ (ego self) คุณก็ต้องใส่ใจกับเด็กเล็กๆ ที่เพิ่งเกิดมาบนโลกนี้ และเตรียมร่างกายเนื้อของเขาให้อยู่ร่วมกับร่างจิตวิญญาณให้ได้ดีที่สุด

หากกิจกรรมในอนุบาลไม่มีหรือไม่เน้นศิลปะเลย แล้วเราจะเอาความชื่นใจจากที่ไหนมายกระดับจิตวิญญาณของเขา ศิลปะได้ทำให้ร่างกายและร่างวิญญาณทำงานสัมพันธ์กัน และยกระดับจิตวิญญาณให้ละเอียดอ่อน เพราะฉะนั้นงานศิลปะจึงอยู่กับเราทั่วไป ตั้งแต่การเตรียมบ้านและสิ่งแวดล้อมเพื่อที่จะเลี้ยงเด็ก ตั้งแต่การเชิญแสงเข้ามาในห้อง การใช้สีบนผนัง ศิลปะทั้งหลายเป็นเครื่องมือและเป็นกลไกที่ปรับเปลี่ยนจิตใจของเรา ไม่เพียงแค่เปลี่ยนสิ่งแวดล้อม แต่ภายในของเราก็รู้สึกกับสิ่งต่างๆ เปลี่ยนไปเช่นกัน ศิลปะไม่ได้เติมความรู้อะไรใหม่ เพียงแต่ช่วยประคองใจเราไว้

เราจึงยึดวิธีการทำอนุบาลแบบที่ให้ความสำคัญกับความสุขวัยเด็ก อยู่กับงานศิลปะ ได้ร้องเพลง ฟังนิทาน ได้กินข้าวอิ่ม และนอนหลับ เป็นอนุบาลที่ทำให้เด็กมีความสุขกับพัฒนาการของเขาอย่างเต็มที่ โลกรอบข้างจะเป็นยังไงก็ไม่เป็นไร เราหมายมั่นปั้นเหมาะว่าอนุบาลที่ชื่อ ‘บ้านรัก’ จะไม่มีการเขียนอ่าน จะเป็น Kindergarten สำหรับเด็กอายุต่ำว่า 7 ขวบโดยใช้ศิลปะ

 

 ‘แม่อุ้ย’ อภิสิรี จรัลชวนะเพท ผู้ก่อตั้งอนุบาลบ้านรัก

 

นอกจากยกระดับจิตใจ ศิลปะมีผลกับกายภาพของเด็กได้หรือเปล่า

เราจะสำรวจเด็กๆ โดยการให้เขาเขียนรูป แล้วดูว่าเขามีพัฒนาการสมอายุหรือไม่ พัฒนาการการวาดภาพของเด็กจะเป็นไปตามธรรมชาติ เช่นเดียวกับที่เด็กหัดเดินได้เองโดยไม่มีใครต้องสอน เด็กขีดเขียนลายเส้นต่างๆ โดยสะท้อนสิ่งที่เป็นตัวของเด็กในขณะนั้นออกมา เมื่อมองจากภายนอก เด็กเปลี่ยนแปลงทางร่างกายอย่างมาก นับจากเด็กแรกเกิดจนถึง 7 ขวบ เด็กมีพัฒนาการทางกายโตขึ้นเป็นลำดับ และอวัยวะภายในก็ค่อยๆ สร้างขึ้นจนสมบูรณ์ทุกส่วน การวาดภาพของเด็กจึงมีลำดับว่าเด็กกำลังทำอะไรกับการสร้างร่างกายของเขา เช่น จากที่เคยวาดลายเส้นไร้ทิศทาง เขาจะเริ่มวาดวงกลม เริ่มมีแขน มีขา มีตา มีเส้นผม ต่อตัวยาวขึ้นๆ เป็นรูปแบบสัญลักษณ์

การสังเกตสิ่งที่เด็กวาดต่อเติมเข้ามาจะบอกได้ว่าภายในของเขามองเห็นสิ่งต่างๆ ตามอายุหรือไม่ หากเขาเป็นเด็กพิเศษ เราก็จะรู้จากภาพได้เลยว่าเขาไม่สมบูรณ์  เช่น เขาจะวาดตามเกณฑ์อายุข้างในของเขา อาจจะอยู่ที่ประมาณ 3-4 ขวบ แต่อายุจริงๆ ของเขา 8 ขวบแล้ว

เพราะฉะนั้นอนุบาลบ้านรักจะไม่มีการเขียนอ่านเพื่อวัดความพร้อมเลย ทำอนุบาลแบบนี้ไปได้ 3 ปีก็พบกับแนวคิดการศึกษาแบบวอลดอร์ฟ ซึ่งมายืนยันในสิ่งที่เราเชื่อ คือการศึกษาที่รักษาความเป็นธรรมชาติของเด็ก

 

แต่การอ่านออกเขียนได้มักเป็นสิ่งที่โรงเรียนอนุบาลจำนวนมากในสังคมใช้วัดความพร้อมของเด็ก

เราคิดว่าเขาทำไม่ถูก ไม่ได้เป็นการศึกษาระดับอนุบาลแท้ๆ ประเทศนี้เป็นประเทศเดียวที่มีคำว่าโรงเรียนนำหน้าอนุบาล สมัยก่อนจะมีใบอนุญาตเพื่อทำโรงเรียน 2 แบบ ใบอนุญาตแบบแรกคือโรงเรียน อีกแบบคืออนุบาล ซึ่งไม่ถือว่าเป็นโรงเรียน แต่ใส่คำว่าโรงเรียนนำหน้าคำว่าอนุบาลเพื่อให้ได้สิทธิต่างๆ เท่ากับการเป็นโรงเรียน ฉะนั้นเมื่ออนุบาลกลายเป็น ‘โรงเรียนอนุบาล’ เราก็ยิ่งสื่อสารกับผู้ปกครองยาก ยากที่จะทำให้เขาเข้าใจว่าลูกคุณยังไม่ถือว่าเข้าโรงเรียน การอ่านออกเขียนได้ยังไม่เหมาะกับธรรมชาติของเด็กเล็ก

เอาเป็นว่าแค่ชื่อก็ผิดแล้ว เราเลยใช้ชื่อเป็นอนุบาลบ้านรัก ไม่มีคำว่าโรงเรียน นอกเสียจากว่าจะต้องทางการจริงๆ และเราไม่ทำหน้าที่โรงเรียน บางคนมักจะถามว่าเด็กจะอยู่ได้เหรอ เราก็จะตอบว่าที่ทำอยู่คือการรักษาความเป็นเด็กไว้ ให้โอกาสเขาได้เป็นเด็ก

เราทำงานอนุบาลตามแบบที่เราเชื่อมาเรื่อยๆ และค้นพบเพื่อนร่วมทางอีกเยอะแยะ จนวันหนึ่งก็มีการจัดประเภทโรงเรียนขึ้น อนุบาลของเรา รวมถึงโรงเรียนอื่นๆ ที่มีแนวคิดคล้ายกันถูกจัดเป็นโรงเรียนทางเลือก ตอนนั้นเราคอตกเลย รู้สึกเศร้า นึกว่าตัวเองเป็นทางหลักมาตลอด นึกว่าที่ทำอยู่มันถูกแล้ว เลี้ยงเด็กต้องเลี้ยงแบบนี้สิ ต้องตั้งใจเห็นธรรมชาติของเด็กจริงๆ สิ ไม่เคยมีใครมาบอกเราเลยว่าการศึกษากระแสหลักเป็นทางที่คนส่วนใหญ่เขาเดิน

 

 ‘แม่อุ้ย’ อภิสิรี จรัลชวนะเพท ผู้ก่อตั้งอนุบาลบ้านรัก

 

‘โรงเรียนอนุบาล’ กับ ‘อนุบาล’ ในความหมายของแม่อุ้ยแตกต่างกันอย่างไร

เอาแค่ความสุขก่อนเลย ดัชนีความสุขอย่างหนึ่งคือเรื่องพื้นที่ ธรรมชาติของเด็กจะต้องวิ่ง ต้องปีนป่าย ขึ้นๆ ลงๆ หากไปอยู่ในพื้นที่ที่มีคนมาก หรือต้องอยู่ในที่ที่มีแต่เก้าอี้กับโต๊ะ เด็กก็จะวิ่งไม่ได้

อีกเรื่องคือการรักษาจินตนาการอิสระของเด็ก เด็กเข้าใจสิ่งต่างๆ ด้วยระบบสัญลักษณ์ ผ่านการเห็นและการจำจากการใช้งาน ไม่ได้อยู่ที่ระบบการสะกดคำ เวลาที่เขาเดินไปร้านสะดวกซื้อ เขาเห็นสัญลักษณ์ของร้าน เมื่อเห็นปุ๊บเขาก็รู้อย่างง่ายดายว่า อ๋อ… นี่คือร้านสะดวกซื้อ เขาจะกินซาลาเปา เขาก็จำรูปทรงกลมๆ สีขาว ไม่ได้จำจากการสะกด คำว่า ซา-ลา-เปา

แต่โรงเรียนทั่วไปมักจะพยายามทำให้เด็กอ่านเขียนให้ได้ พยายามแจกแจงรายละเอียดก่อนที่เขาจะค้นหาวิธีอ่านเขียนได้เอง เหมือนเร่งเด็กไปสู่สิ่งที่ไวกว่าเวลา จนอาจไม่ได้พบกับความสุขของรอยยิ้ม ความสุขของการกระโดดโลดเต้นที่เป็นธรรมชาติของเด็ก ไม่เคยเห็นเลยว่าเด็กจะเป็นทุกข์ขนาดไหน

สำหรับแม่อุ้ย หากเราเอาคำว่าโรงเรียนออกไปจากอนุบาล จะทำให้เราเข้าใจในสิ่งที่ทำอยู่มากกว่า เข้าใจว่าเราไม่ได้ดูแลเด็กเพื่อแค่ผลักให้เขาเข้าโรงเรียน แต่เราต้องดูแลให้ร่างกายเขาพร้อมก่อน แล้วจึงปล่อยเขาไป

 

ความพร้อมก่อนเข้าโรงเรียน ก่อนเขียนอ่าน คือความพร้อมด้านใดบ้าง

ในการศึกษาแบบวอลดอร์ฟ จะมองว่าเด็กตั้งแต่แรกเกิดถึง 7 ขวบ เพิ่งจะมีกายใหม่ ดังนั้นสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นก่อนเขาจะเดินได้ จึงถือเป็นกระบวนการค้นพบร่างกายของตัวเอง เช่น เมื่อคลอดออกมาจากท้องแม่ เขาเริ่มใช้ปอดสูดหายใจ จากนั้นก็ค่อยๆ โผตัว บินถลาเหมือนนก เริ่มนั่งได้ เริ่มคลานได้สี่ขา แล้วจึงค่อยๆ ยืนอยู่บนเท้าเล็กๆ ที่เพิ่งต่อสู้กับแรงโน้มถ่วงได้

กายภาพของเด็ก (physical body) ในช่วง 0-7 ขวบ จะเปลี่ยนเร็วมาก บางทีผู้ปกครองก็ไม่รู้ว่าสิ่งที่เขาทำเป็นการพบร่างใหม่ เช่น เวลาเด็กเล่นอะไรแบบเดิมซ้ำๆ หลายคนคิดว่าลูกไม่มีพัฒนาการ แต่นั่นอาจเป็นสัญญาณว่าเขาเพิ่งหาแขนเจอ และกำลังสนุกกับการใช้มัน หรือเวลาเขาเอาแต่จะวิ่งเล่นอย่างเดียว ก็เป็นความรู้สึกเมื่อเขาได้ค้นพบขาของตัวเอง

สัญญาณที่จะบอกว่าเขาพร้อมไปเข้าโรงเรียน เข้า ป.1 แล้วคือการที่เขาทรงตัวได้ ตอนที่เด็กยืนตรงได้เขาไม่บอกเราหรอกว่า “แม่ หนูยืนตรงแล้ว” แต่อยู่ดีๆ เขาก็จะยืนได้เลย แขนของเขาจะเป็นอิสระจากขา แต่กว่าจะมาถึงขั้นนี้เขาฝึกมาเท่าไหร่ ผู้ใหญ่อย่างเราอาจไม่ได้สังเกต

 

เด็กเขารู้สึกอย่างไรเมื่อค้นพบร่างกายของตัวเองหรือทรงตัวได้

เมื่อทรงตัวได้ เราบอกได้คำเดียวเลยว่าเขาจะทรงใจได้ด้วย หลายคนไม่แคร์และไม่รู้สึกว่ามันมีค่า เพราะผู้ใหญ่อย่างเราทรงตัวได้อยู่แล้ว จึงข้ามสิ่งเหล่านี้ไปอย่างรวดเร็ว และส่งเขาไปเขียน อ่าน ท่องจำ โดยไม่ได้ถามเขาเลยว่าทรงตัวได้หรือยัง

แม้จะลืมไปว่าการทรงตัวได้รู้สึกอย่างไร แต่วันไหนที่เราทรงตัวไม่ได้ วันที่เราต้องให้คนอื่นเป็นมือเป็นเท้าให้ วันที่ต้องหัดเดินใหม่อีกครั้ง เราจะจดจำได้ทันทีว่าการทรงตัวสำคัญกับชีวิตแค่ไหน

ระหว่างเด็กที่สะโหลสะเหล ป่ายปีนด้วยมือไม้อ่อน กับเด็กที่ใช้มือใช้แขนขาอย่างชำนาญ ข้างในของเขาก็มีระดับความมั่นใจที่แตกต่างกัน แล้วเราจะไม่แคร์คำว่าบาลานซ์ได้อย่างไร เราจะส่งเขาไปโรงเรียนได้อย่างไรในวันที่เขายังทรงใจได้ไม่เต็ม

 

 ‘แม่อุ้ย’ อภิสิรี จรัลชวนะเพท ผู้ก่อตั้งอนุบาลบ้านรัก

 

นำศิลปะมาใช้กับเด็กอย่างไร ศิลปะมีบทบาทตรงส่วนไหนบ้างในการทำอนุบาล

ศิลปะจะเข้ามาช่วยในการทำให้เด็กได้เปิดประตูรับสัมผัส ด้วย ตา หู จมูก ลิ้น กายใจ หากสีที่อยู่ล้อมรอบเขาเหมาะกับตัวของเขา นำความงามของสีเข้ามาอยู่ใกล้เขา แค่นั้นก็ได้ช่วยเขาแล้ว

บรรยากาศของอนุบาล หากไม่ได้ให้ความสำคัญกับการนำความงามของสีมาใกล้ตัวเด็ก แต่ไปคิดเรื่องการบรรจุความจำทางสมอง ห้องทั้งห้องก็คงเต็มไปด้วยตัวอักษร A-Z หรือ ก-ฮ ละลานตาไปหมดเลย แต่เราไม่ทำแบบนั้น เราจะทำให้เขาประทับเข้าไปในความรู้สึกว่า สีต่างๆ มาอยู่ในที่ที่ถูกต้อง เหมาะสม พอดี

สีที่เหมาะกับเด็กเล็ก 0-7 ขวบ คือสีรุ่งอรุณ หรือสี Magenta (ชมพูม่วง) ถ้าทาสีอื่นเช่น สีแดง แสด จะถือว่าเร็วไปนิด เพราะสีแดงแสดคือสีสำหรับเด็ก ป.1-ป.2 สีเหลืองคือสีของเด็กประมาณ ป.3 และสีเขียวสำหรับเด็ก ป.4 คล้ายกับสีของท้องฟ้าที่ค่อยๆ สว่าง และชีวิตก็ตื่นตัวขึ้นเรื่อยๆ ผนังในห้องที่เด็กอยู่จะใช้การระบายสีที่โปร่งแสง (การลงสีแบบ Lazure) โดยที่ครูหรือพ่อแม่เป็นผู้ลงมือระบายเอง เมื่อทำไปแล้วก็จะได้รับความชื่นใจทั้งตัวคนทำ เด็กที่ถูกห้อมล้อมด้วยบรรยากาศเหล่านี้ก็จะรู้สึกว่าที่นี่เหมาะสำหรับเขา ทั้งกระตือรือร้นและสงบไปด้วย

เมื่อเราเตรียมบ้านและให้ความสำคัญกับสีแล้ว ก็ต้องมาดูอีกว่าในห้องที่เด็กอยู่ ของต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นตุ๊กตา เครื่องมือใช้สอย หรือสิ่งที่มือของเด็กจะหยิบจับเป็นอย่างไร เพราะมือเป็นอวัยวะที่สัมผัสและเป็นตัวรับสิ่งต่างๆ เข้าไป เครื่องใช้ต่างๆ จึงถูกทำโดยวัสดุที่ไม่ใช่พลาสติก แต่จะใช้ไม้ ผ้า ก้อนหิน เครื่องจักสาน ของเล่นธรรมชาติ แล้วเด็กก็จะเชื่อมโยงของเหล่านี้กับธรรมชาติทันที หยิบไม้เชื่อมไปสู่ต้นไม้ ออกไปข้างนอกเขาก็จะกล้าสัมผัสกับธรรมชาติ กล้าหยิบเมล็ดพันธุ์จากพื้น เพราะทุกอย่างเชื่อมโยงกับโลก อายุไม่เท่าไหร่ก็เรียนรู้แล้วว่าโลกให้ความรู้เขาเยอะแยะมากมาย

ของเล่นไม้เราจะขัดจนมันเนียน ให้มีความมน ความโค้ง แล้วเขาจะได้รู้ว่ามีสัมผัส รูปทรง และฟอร์มหลากหลายแบบ กลับกันถ้าให้เล่นของพลาสติก คงต้องใช้เวลามากหน่อยกว่าเด็กคนนี้จะเชื่อมติดกับโลกที่มีกายภาพแบบเดียวกับเขา

อนุบาลบ้านรักมีกิจกรรมหลายอย่าง เช่น ดูแลต้นไม้ ร้อยดอกไม้ อบขนมปัง ระบายสี ร้องเพลง ฯลฯ และบางครั้งก็มีกิจกรรมที่ให้พ่อแม่ของเด็กๆ มาเป็นอาสาสมัคร เล่านิทาน เล่นละครหุ่นให้เด็กๆ ดู เพื่อให้เขาเห็นสังคมที่ไม่ได้มีแต่ครูของเขาอย่างเดียว

นอกจากกิจกรรมเหล่านี้ เด็กๆ ก็จะได้ช่วยผู้ใหญ่ทำความสะอาด เช็ดชั้น เช็ดของเล่น (เช็ดอุปกรณ์ในห้อง) ล้างและเช็ดภาชนะอาหาร เอาผ้ามาซัก ตุ๊กตาตัวไหนขาดพังก็ช่วยกันเอาออกมา เหมือนเป็นวันเก็บบ้าน ที่ไม่ได้เน้นให้เด็กทำจนสะอาด แต่ให้โอกาสเขาได้ลงมือทำ ได้เรียนรู้ผ่านการเลียนแบบ เราไม่ได้ทำอะไรที่ไม่เหมาะกับความงามของการใช้ชีวิตเลย การซ่อมแซมอะไรที่ไม่สวยไม่ดี ก็เป็นหนึ่งในความงาม

 

เมื่อเด็กได้ใกล้ชิดกับศิลปะ เราสามารถมองเห็นอะไรจากตัวเด็กได้บ้าง

เวลาเด็กเขาเล่นอะไรสักกองหนึ่ง มันควรเป็นอะไรที่สร้างสรรค์ต่อได้ และการจะบอกได้ว่าสวยหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับว่าเขาจะได้คิดและจินตนาการต่อไปอย่างไร บางครั้งจะเห็นเลยว่า ผ้าเพียงผืนเดียว เขาจะนำไปแต่งนี่แต่งนั่น ไปโพกหัวเป็นคนนั้นคนนี้ แม้เราไม่ได้เย็บให้ เขาก็เอาผ้ามาผูกเอง เมื่อมองเห็นเด็กเล่นเราก็เห็นจินตนาการ และรู้สึกว่ามันงดงาม เหมือนเรากำลังสร้างงานศิลปะให้เกิดขึ้นต่อหน้าต่อตา

ที่อนุบาลบ้านรักมีกิจกรรมระบายสีน้ำ เด็กจะใช้สีน้ำอย่างประณีตและนิ่งมาก มองเห็นสีหนึ่งเข้ากับอีกสีหนึ่ง จะเห็นเลยว่าเขาไม่ได้ทำอย่างรวดเร็ว แต่จะใช้เวลาจนรู้สึกอิ่ม รู้สึกว่าเสร็จเรียบร้อย เราถึงบอกหลายๆ คนว่า คิดไปเองหรือเปล่าว่าเด็กซน คิดไปเองหรือเปล่าว่าเด็กต้องเร็ว มีอีกตั้งหลายวิธีที่เราดูได้ว่าจริงๆ เขาช้า เขาใส่ใจและละเอียดอ่อนกับสิ่งต่างๆ

 

ย้อนทางอ่าน ทางอ่านย้อน

 

แม่อุ้ยให้ความสำคัญกับการทำให้เด็กได้ใกล้ชิดธรรมชาติ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น

เพราะหากใครได้สัมผัสธรรมชาติ ได้นำมาเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมในชีวิต เอามาผูกไว้กับชีวิต เขาจะมีความสุข

การใกล้ชิดธรรมชาติเป็นวิธีที่เหมาะกับการรักษาธรรมชาติของตัวเด็กเอง เขาต้องอยู่กับความงาม ต้องได้สัมผัสดิน น้ำ ลม ไฟ เพราะกายภาพของเขามีดิน น้ำ ลม ไฟ อยู่ในตัวเช่นกัน หากเขาไม่ได้สัมผัสมาก่อน เขาจะไม่รู้ว่าเขามีความสัมพันธ์ทางกายภาพกับโลกใบนี้

การเรียนรู้ว่าตัวเขาเกิดมาและเชื่อมกับโลกใบนี้จะเป็นประตูที่ทำให้เขาเรียนรู้โลกได้ง่ายขึ้น โลกและเรามีชีวิตด้วยลมหายใจ ผ่านฤดูกาลเดียวกัน เรามีน้ำในตัว 3 ส่วน โลกใบนี้ก็มีน้ำอยู่ 3 ส่วน หากวันนี้น้ำเสีย อากาศเสีย ดินเสีย โลกป่วย เราก็ป่วย ฉะนั้นถ้าอยากให้เขาเข้าใจสิ่งเหล่านี้ ก็ต้องปล่อยให้เขาไปเล่นกับโลก

 

ในยุคปัจจุบันการแข่งขันกลายเป็นสิ่งหนึ่งที่มักเกิดขึ้นในโรงเรียน แล้วเวลาเด็กเล็กทำงานศิลปะหรือปลูกต้นไม้ล่ะ เขาจะเปรียบเทียบตัวเอง หรือแข่งขันกับเพื่อนไหม

เขาไม่เปรียบเทียบนะ ไม่มีใครบอกว่าอันไหนสวยกว่า ยาวกว่า ดีกว่า มันจะกลายเป็น ฉันก็มี เธอก็มี ต้นไม้นี้เราช่วยกันรด เขาเห็นในสิ่งที่ปรากฏ โดยไม่ได้มองอย่างใส่อารมณ์ เพราะวัย 0-7 ขวบ ยังไม่ใช่เวลาของอารมณ์ เด็กในวัยนี้อยู่ในจุดที่เพิ่งมาจากโลกที่บริสุทธิ์ เขายังไม่รู้เลยว่าสิ่งที่ไม่ดีเป็นอย่างไร

เหมือนนิทานหนูน้อยหมวกแดง หนูน้อยหมวกแดงยังไร้เดียงสาเกินกว่าจะรู้ว่าหมาป่าโหดร้าย เมื่อเจอกันยังถามหมาป่าเลยว่าจะไปไหน พอถูกหมาป่าถามกลับ หนูน้อยหมวกแดงก็ไม่รู้สึกกลัว เพราะเขายังไม่รู้ว่าเบื้องหลังของหมาป่าตัวนี้โหดร้าย เขาก็สนทนากันอย่างมีสุข

 

ย้อนทางอ่าน ทางอ่านย้อน

 

ย้อนทางอ่าน ทางอ่านย้อน

 

นิทานก็ถือเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง แต่จะใช้อย่างไรดีให้เหมาะกับเด็ก

นิทานที่แม่อุ้ยมักมอบให้เด็ก เหมือนเป็นภาพจำลองโลกใบเล็ก มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องทั้ง คน สัตว์ พืช ถ้าเป็นเรื่องของสัตว์ เพื่อให้เขาเรียนรู้เกี่ยวกับสัญชาตญาณและความรู้สึก ในอนุบาลเราจะมีกระต่าย ผีเสื้อ นก แมว ให้เด็กได้เห็น มีปลา มีเต่าให้เขาสัมผัส เพื่อให้เขาไม่ปฏิเสธที่จะอยู่ด้วยกับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่มีสัญชาตญาณเหมือนกับเรา เด็กจะได้เห็นว่าเมื่อเราดูแลเขา เขาก็มาหาเราด้วยความเป็นมิตร ส่วนตัวไหนไม่ดี ก็ไม่ไปยุ่ง

นิทานมีประโยชน์ต่อเด็ก เพราะเราได้บันทึกสิ่งดีๆ ลงไปในตัวเด็กผ่านจินตภาพ นิทานที่แม่อุ้ยเล่าจะใช้ตุ๊กตาหรือหุ่นตั้งโต๊ะที่ออกแบบมาให้มีสัดส่วนร่างกายเหมือนร่างกายคนจริงๆ แต่ใบหน้าจะไม่ได้สร้างให้ชัดเจนมาก เพราะเด็กจะเรียนรู้จากการมองเห็นและเลียนแบบ เลียนแบบทั้งจากการกระทำและสิ่งที่มีอยู่ในหัว เวลาได้ฟังนิทานเด็กจะสร้างภาพของเขาเองขึ้นมา ใบหน้าที่ไม่ชัดเจนของตุ๊กตาจะถูกแต่งแต้มตามจินตนาการที่เขาอยากเห็น ทำให้เขาจดจำภาพดีๆ ของตัวละครในนิทานแต่ละเรื่อง กลายเป็นภาพที่อยู่ในเนื้อตัวเขาจนถึงวันที่เขานำมันไปใช้ เมื่อเขาใคร่ครวญถึงสิ่งดีๆ ที่จำได้ วันนึงเขาอาจจะอดทน หรือเป็นคนชอบช่วยเหลือเหมือนภาพนิทานที่เขาเคยเห็น

 

สำหรับแม่อุ้ยความงามของศิลปะคืออะไร

ศิลปะเป็นสิ่งที่ยกระดับจิตใจ เป็นสิ่งที่ไม่ตกต่ำ ไม่ขุ่นมัว ถ้าเราอยู่กับสิ่งใดแล้วมีความรู้สึกว่าขุ่นมัว เศร้าหมอง แม้มันจะดูงาม ก็แปลว่าแท้จริงมันไม่งาม

อย่างเวลาเด็กไปเก็บดอกไม้สักดอก แค่เก็บไม่พอ เขายังได้ชื่นชมความงามของดอกไม้ ได้ดูสี ได้ดมกลิ่นหอมของมันอีก สิ่งเหล่านี้เป็นความงามที่เข้าถึงได้ แม้จะอธิบายลำบาก แต่เราสัมผัสถึงมันได้ และรู้สึกว่าได้ยกระดับจิตใจเราขึ้นมา รู้ว่าโลกนี้ยังมีต้นไม้ มีดอกไม้ มีกลิ่นหอม มีมนุษย์คนหนึ่งตัวเล็กๆ ที่สัมผัสความงามเหล่านี้

ความงามคือสิ่งที่นำไปใช้ประโยชน์จริงได้ เพียงใคร่ครวญว่าเราทำอะไรอยู่ หากคุณเป็นสถาปนิกก็ให้ศิลปะและความงามนั้นไปช่วยการออกแบบให้กลายเป็นบ้านที่งดงาม ถ้าเราทำงานเลี้ยงเด็ก เราก็ต้องให้มันปรากฏในเด็ก

 

ย้อนทางอ่าน ทางอ่านย้อน

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save