fbpx

เลือกตั้งอินโดนีเซีย 2024 : บททดสอบกระบวนการประชาธิปไตย และยุคสมัยใหม่ใต้ร่มเงาแห่งการลอยนวลพ้นผิด

วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2024 ที่ผ่านมาถือเป็นวันประวัติศาสตร์ของชาวอินโดนีเซีย กล่าวคือเป็นวันที่มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรงและสมาชิกสภาผู้แทนประชาชนทั้งระดับภูมิภาคและประเทศ จากผลโพลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนหลายสำนักและผล Quick Count ผู้ที่น่าจะได้รับเลือกตั้งดำรงประธานาธิบดีคนที่ 8 ของอินโดนีเซียคือ ปราโบโว ซูเบียนโต (Prabowo Subianto) วัย 72 ปี อดีตนายทหารผู้ถูกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนหลายกรณี และเป็นบุตรเขยของ ซูฮาร์โต (Suharto) อดีตประธานาธิบดีคนที่ 2 ของอินโดนีเซีย ปราโบโวลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 และเคยลงชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีหนึ่งครั้ง ผล Quick Count คะแนนของคู่ปราโบโวและ กีบรัน รากาบูมิง รากา (Gibran Rakabuming Raka) สูงเกิน 50% มีแนวโน้มว่าการเลือกตั้งประธานาธิบดีจะเสร็จสิ้นในรอบแรก ไม่มีรอบสองเพราะมีคู่ชิงตำแหน่งที่ได้เกิน 50% ตามข้อกำหนดของกฎหมายเลือกตั้ง

การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรงครั้งที่ 5 นับตั้งแต่ปี 2004 และเป็นการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนประชาชนครั้งที่ 12 นับตั้งแต่ปี 1955 ในการเลือกตั้งครั้งนี้มีพรรคการเมืองระดับชาติลงเลือกตั้ง 18 พรรคและพรรคท้องถิ่นของจังหวัดอาเจะห์อีกหกพรรค (อาเจะห์เป็นเพียงจังหวัดเดียวในประเทศอินโดนีเซียที่มีพรรคการเมืองท้องถิ่นและสามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้) ผู้มีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้งราว 204.8 ล้านเสียง ที่จะลงคะแนนเสียงใน 38 จังหวัด 514 อำเภอ/เมือง 7,277 ตำบล และ 83,771 หมู่บ้าน ชาวอินโดนีเซียผู้มีอายุตั้งแต่ 17 ปีขึ้นไปมีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ผลการนับคะแนนแบบ Real Count ชั่วคราว ณ ตอนเย็นของวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2024 ซึ่งนับไปได้ราว 3.27% จากสถานที่ลงคะแนนเสียงทั้งหมดห้าพรรคที่ได้คะแนนนำเรียงตามลำดับ ได้แก่ PDI-P ของเมกาวตี, Golkar, Gerinda, PKB และ PKS

ความนิยมในตัวโจโกวี: ปัจจัยหลักพลิกเกมแคนดิเดต

ก่อนหน้าเดือนตุลาคม 2023 เสียงสนับสนุนว่าที่ผู้สมัครลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสามคนได้แก่ อานีส บัสเวดัน (Anies Baswedan), ปราโบโว ซูเบียนโต และ กันจาร์ ปราโนโว (Ganjar Pranowo) ยังไม่เห็นเด่นชัด ยิ่งไปกว่านั้นหลายเดือนก่อนหน้าตุลาคม 2023 ดูเหมือนว่ากันจาร์จะโดดเด่น เนื่องจากได้รับการสนับสนุนจากพรรค PDI-Perjuangan ซึ่งเป็นพรรคของเมกาวตี ซูการ์โนปุตรีและประธานาธิบดีคนปัจจุบัน โจโก วีโดโด (Joko Widodo) แต่เมื่อปราโบโวประกาศว่า กีบรัน รากาบูมิง รากา (Gibran Rakabuming Raka) บุตรชายคนโตของประธานาธิบดีโจโก วีโดโดลงชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีคู่กับเขาเมื่อเดือนตุลาคม 2023 เกมพลิกโดยทันที

การลงสมัครรับเลือกตั้งตำแหน่งรองประธานาธิบดีของกีบรันเต็มไปด้วยข้อกังขาของสังคม เนื่องจากกว่ากฎหมายของอินโดนีเซียกำหนดอายุของผู้สมัครรับเลือกตั้งไม่ต่ำกว่า 40 ปี แต่กีบรันอายุเพียง 36 ปี ทำให้ต้องยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความและผลออกมาว่ากีบรันสามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้ เพราะเคยดำรงตำแหน่งทางการเมืองในฐานะนายกเทศมนตรีเมืองโซโลหรือสุราการ์ตามาแล้ว เรื่องนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักเนื่องจากว่าหัวหน้าคณะผู้พิพากษาเป็นน้องเขยของโจโก วีโดโด

อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าวไม่ส่งผลกระทบต่อความนิยมในคู่ชิงคู่นี้ แม้ว่าจะถูกตั้งคำถามมากเพียงใด แต่คะแนนความนิยมของคู่นี้กลับยิ่งพุ่งสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจัยหลักประการหนึ่งมาจากความนิยมและความชื่นชอบในตัวของประธานาธิบดีโจโกวี ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนหลายสำนักออกมาไปในทิศทางเดียวกันนั่นคือปราโบโวและกีบรีนคะแนนนำเหนือผู้สมัครอีกสองรายแบบแตกต่างอย่างมากจากก่อนหน้าจะมีการเปิดตัวกีบรันในฐานะผู้ลงชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดี

จริงๆ แล้วโจโกวีเป็นผู้ที่ทำหน้าที่เหมือนน้ำยาฟอกขาวให้กับปราโบโวตั้งแต่เมื่อคราวแต่งตั้งให้ปราโบโวดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมหลังการเลือกตั้ง หลังจากที่ปราโบโวปราชัยในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2019 ด้านหนึ่งคือสัญญาณการประนีประนอมของทั้งคู่ เนื่องจากว่าหลังรู้ผลการเลือกตั้งทั้งปราโบโวและผู้สนับสนุนไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง นำไปสู่การยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาการทุจริตในการเลือกตั้ง ผู้สนับสนุนปราโบโวลงถนนประท้วงผลการเลือกตั้งและจบลงโดยมีผู้เสียชีวิตจากการปะทะกับเจ้าหน้าที่รัฐ ส่วนอีกด้านคือการเอาปราโบโวใส่ตะกร้าล้างน้ำ กล่าวได้ว่าโจโกวีเหมือนให้กำเนิดปราโบโวใหม่ในเวทีการเมืองระดับชาติ ภาพลักษณ์ของปราโบโวดีขึ้นมากในสายตาประชาชนและอยู่ในกระแสสังคมตลอดเวลาจากตำแหน่งที่เขาดำรงอยู่ และเขายังได้อานิสงค์จากความชื่นชมของประชาชนในความสำเร็จของโจโกวีจากการบริหารประเทศและพัฒนาเศรษฐกิจ เพราะเขาก็ถูกถือว่าเป็นทีมเดียวกับโจโกวี

หลังจากการเปิดตัวแคนดิเดตทั้งสามแล้ว สื่อต่างๆ พยายามสัมภาษณ์โจโกวีว่าเขาสนับสนุนคู่ไหน แต่เขาไม่เคยตอบอย่างตรงไปตรงมา แต่การไม่ตอบนั่นคือการตอบ ทั้งๆ ที่โดยมารยาทแล้วเขาควรให้การสนับสนุนกันจาร์ผู้ที่ลงชิงตำแหน่งในนามของพรรคที่เขาสังกัด และเมื่อถูกถามมากเข้า เขาถึงตอบว่า สนับสนุนทุกคู่ การตอบเช่นนี้ผู้ที่ได้ประโยชน์ที่สุดคือปราโบโว ท่าทีและบทบาทของโจโกวีเช่นนี้เหมือนเป็นการหาเสียงให้กับปราโบโวโดยไม่ได้บอกว่ากำลังหาเสียง และเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2024 ในอินสตาแกรมของปราโบโมได้โพสต์รูปเขากับโจโกวีนั่งรับประทานกันสองคน ยิ่งตอกย้ำความเชื่อของสาธารณชนว่าโจโกวีสนับสนุนปราโบโว

ทำไมคนรุ่นใหม่เลือกปราโบโว?

ในบรรดาผู้ที่ชื่นชอบและสนับสนุนปราโบโวเป็นคนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อย ปราโบโวปรับภาพลักษณ์จากนายทหารแก่ที่ดุดัน ขึงขัง และแข็งกร้าว มาเป็นคุณลุงน่ารัก เป็นมิตร ใจดี และชอบเต้น มีรายงานข่าวว่าปราโบโวใช้งบในการลงโฆษณาผ่านเฟซบุ๊กราว 144,000 เหรียญดอลล่าร์สหรัฐฯ ในช่วงตั้งแต่เริ่มรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งราวสามเดือน งบดังกล่าวเป็นสองเท่าของกันจาร์ และสามเท่าของอานีสคู่แข่งของปราโบโว

นอกจากนี้ป้ายหาเสียงและคลิปวีดีโอของปราโบโวและกีบรันที่แพร่หลายในสื่อโซเชียลต่างๆ ล้วนถูกทำให้ดูซอฟต์ด้วยการแต่งภาพเป็นการ์ตูนและกลายเป็นไวรัลอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะใน TikTok และเป็นที่ถูกอกถูกใจของบรรดา young voters คือคนเจน Z และมิลเลเนียลส์ที่เป็นประชากรราว 56.4 % จากจำนวนเกือบ 205 ล้านคนที่มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ถือได้ว่ายุทธวิธีในการปรับภาพลักษณ์ของปราโบโวประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง

อย่างไรก็ตามในการปราศรัยหาเสียงของปราโบโว สไตล์การพูดยังเต็มไปด้วยท่าทีดุดันเช่นเดิม เขามักพูดด้วยเสียงดัง หน้าตาขึงขัง จริงจัง และลงท้ายเหมือนตะคอกผู้ฟัง แต่ทว่า ผู้ที่ไปฟังปราศรัยก็โห่ร้องแสดงความชื่นชมอยู่ดี บุคลิกภาพของปราโบโวแตกต่างจากคู่รองประธานาธิบดีของเขา กีบรันมีบุคลิกนิ่ง สุขุม พูดน้อย สุภาพ อ่อนน้อม มีลักษณะบางอย่างที่ถอดแบบออกมาจากพ่อของเขา จึงทำให้คู่แคนดิเดตนี้เป็นความต่างที่ลงตัว เพราะสามารถดึงคะแนนนิยมได้ทั้งจากคนรุ่นเก่าที่คิดถึงซูฮาร์โต จากคนที่ชื่นชอบโจโกวี ซึ่งมีเป็นจำนวนมากและถ่ายทอดความชอบนั้นมาสู่ลูก และจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งหน้าใหม่ที่เกิดไม่ทัน ไม่มีส่วนร่วม ไม่สนใจอดีตและเชื่อมั่นในตัวปราโบโว ดังนั้นในการเลือกตั้งครั้งนี้ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนก่อนการเลือกตั้ง คะแนนของปราโบโวนำทุกสำนักเพราะเหมือนได้ทั้งคะแนนเสียงผู้ชื่นชอบโจโกวีและปราโบโวรวมกัน

จากศัตรูกลายมาเป็นมิตร

พันธมิตรทางการเมืองของปราโบโวและกีบรันได้แก่พรรค Gerindra, Golkar, Demokrat, PAN, PSI, Garuda, Prima, PBB และ Gelora นอกจากนี้เขายังได้รับการสนุนจากบุคคลสำคัญและมีชื่อเสียงอีกมากมาย หนึ่งในนั้นคือ บูดีมัน ซูจัตมิโก (Budiman Sudjatmiko) อดีตนักการเมืองสังกัดพรรค PDI-P ของเมกาวตี ก่อนหน้านั้นเขาคืออดีตผู้นำขบวนการนักศึกษาผู้ซึ่งเคยต่อต้านระบอบซูฮาร์โต ผู้ต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน ในปี 1996 เขาเคยก่อตั้งพรรค Partai Rakyat Demokratik (People’s Democtatic Party – PRD) ในช่วงเวลาที่การก่อตั้งพรรคการเมืองถือว่าผิดกฎหมายในยุคสมัยของซูฮาร์โต รัฐบาลกล่าวว่า PRD มีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์และบูดีมันถูกจับเข้าคุก ในปี 1997 เขาถูกตัดสินจำคุก 13 ปี และได้รับการปล่อยตัววันที่ 10 ธันวาคม 1999 หลังการล่มสลายของยุคระเบียบใหม่ เขาเข้าร่วมเป็นสมาชิกพรรค PDI-P ในปี 2004 และถูกขับออกจากพรรคในเดือนสิงหาคม 2023 เพราะเขาแสดงตัวว่าสนับสนุนปราโบโวในการลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในการเลือกตั้ง 2024 ซึ่งขัดกับมติพรรคอย่างแรง

เขาเปิดตัวว่าสนับสนุนปราโบโวตั้งแต่ราวเดือนสิงหาคม 2023 ก่อนการรับสมัครผู้ลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการ โดยเขาให้เหตุผลว่าปราโบโวเป็นบุรุษผู้มีความคิดและเป็นปัญญาชนไม่เหมือนกับนักการเมืองคนอื่นๆ ที่กระโดดเข้าสู่เวทีการเมืองเพียงเพื่ออำนาจ ยิ่งไปกว่านั้นบูดีมันยังกล่าวว่านักกิจกรรมและนักเคลื่อนไหวปี 1998 หลายคนที่เคยออกมาประท้วงซูฮาร์โตก็สนับสนุนปราโบโว เพราะภารกิจไม่ใช่แค่ล้มล้างซูฮาร์โตเท่านั้น แต่ต้องทำให้ประเทศชาติเดินหน้าต่อไปตามนโยบายและสิ่งที่โจโกวีสร้างไว้ ซึ่งปราโบโวจะสานต่อ ท่าทีและการแสดงออกของบูดีมันช่วงส่งเสริมให้ภาพลักษณ์ของปราโบโวดูดีขึ้นในสายตาประชาชน เหมือนบูดีมันช่วยปิดจุดอ่อนของปราโบโวนั่นคือเรื่องสิทธิมนุษยชน อย่างไรก็ตามเรื่องดังกล่าวก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากบรรดานักเคลื่อนไหวปี 1998 ที่รับไม่ได้กับการที่บูดีมันไปสนับสนุนปราโบโวผู้ที่อยู่เบื้องหลังการลักพาตัวหรือบังคับสูญหายบรรดานักกิจกรรมช่วงปี 1997-8 หลายคน ที่จนถึงปัจจุบันยังไม่ได้รับความยุติธรรม

Golput: วัฒนธรรมไม่ไปใช้สิทธิในฐานะการแสดงออกทางการเมือง

ไม่ใช่คนรุ่นใหม่ทุกคนที่จะชื่นชอบและสนับสนุนปราโบโว มีคนรุ่นใหม่ที่ศึกษาประวัติศาสตร์และไม่ได้ชื่นชมกับนโยบายหลายอย่างของปราโบโว แต่อินโดนีเซียมีวัฒนธรรมทางการเมืองที่มีลักษณะเฉพาะ นั่นคือการไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ที่ในภาษาอินโดนีเซียเรียกว่า ‘กอลปุต’ หรือ golput ย่อมาจาก golongan putih หากแปลตรงตัวจะแปลว่า ‘กลุ่มสีขาว’ แต่ความหมายโดยแท้จริงคือ ‘การไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง’ หรือการนอนหลับทับสิทธินั่นเอง ปล่อยให้กระดาษลงคะแนนเสียงว่างเปล่า ซึ่งสำหรับพวกเขาอธิบายว่าคือการแสดงออกทางการเมืองว่าไม่เห็นด้วย ไม่สนับสนุน และไม่ประสงค์จะลงคะแนนเสียง

คำว่า golput นี้ปรากฏในสังคมอินโดนีเซียตั้งแต่การเลือกตั้งครั้งแรกในปี 1955 ที่มีคนไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง และคำนี้ถูกใช้อย่างจริงจังในช่วงการเลือกตั้งปี 1971 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกของยุคระเบียบใหม่ โดยผู้นำขบวนการนักศึกษาในขณะนั้นได้ออกมารณรงค์ให้ประชาชนกอลปุต เนื่องจากว่าเริ่มเห็นความไม่ชอบมาพากลและต้องการสืบทอดอำนาจของซูฮาร์โต อธิบายว่ากอลปุตเป็นการเคลื่อนไหวทางศีลธรรมที่ไม่ยอมรับการเลือกตั้งที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและไม่ได้ฟังเสียงที่แท้จริงของประชาชน ในการเลือกตั้ง 2 ครั้งหลังที่ผ่านมาของอินโดนีเซียจำนวนกอลปุตลดลง ปี 2014 กอลปุต 30.22 % คิดเป็นจำนวน 58.61 ล้านเสียง การเลือกตั้งปี 2019 กอลปุต 18.02 % คิดเป็นจำนวน 34.75 ล้านเสียง สำหรับการเลือกตั้งปี 2024 นี้ผลการสำรวจบอกว่ามีคนจะกอลปุตราว 11.8 %  (ผลเป็นทางการยังไม่ออก)

อนาคตของอินโดนีเซียหลังการเลือกตั้งปี 2024

การเลือกตั้งอินโดนีเซียเป็นที่จับตาของโลกเพราะอินโดนีเซียเป็นประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก ใหญ่เป็นอันดับหนึ่งของอาเซียนด้วยขนาดพื้นที่และประชากรราว 270 ล้านคน มีประชากรมุสลิมมากที่สุดในโลก อินโดนีเซียภายใต้การนำของปราโบโวน่าจะสานงานเก่าของโจโกวีดังเช่นที่เค้าหาเสียงมาโดยตลอด ดังที่กล่าวไปข้างต้นว่าปราโบโวก็เป็นทีมเดียวกับโจโกวีตั้งแต่จบการเลือกตั้งปี 2019 ที่ต้องจับตาดูก็น่าจะเป็นบทบาทและท่าทีของอินโดนีเซียในเวทีการเมืองระหว่างประเทศที่โจโกวีทำไว้ค่อนข้างโดดเด่น โดยเฉพาะในเรื่องการรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับทั้งสหรัฐอเมริกาและจีน ก่อนหน้านี้อินโดนีเซียพยายามวางบทบาทเป็นกลางและเป็นมิตรกับทั้งสองประเทศ หากผู้นำเป็นปราโบโวซึ่งเป็นซี้เก่ากับอเมริกาก็น่าติดตามว่าจุดยืนในเวทีโลกของอินโดนีเซียจะเปลี่ยนไปหรือไม่ อย่างไรก็ตามแม้จะมีภาพลักษณ์ชาตินิยมเข้มข้น แต่ปราโบโวเคยมีประสบการณ์ศึกษาที่ต่างประเทศ และคุ้นเคยกับวิถีชีวิตแบบสากล

ด้านที่น่าเป็นกังวลสำหรับภาคประชาสังคมอินโดนีเซียคือสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนที่คาดว่าน่าจะเสื่อมทรามลง อันเนื่องมาจากกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในอดีตหลายเหตุการณ์ยังไม่เคยถูกชำระสะสาง และผู้ที่เป็นตัวแสดงหลักและไม่เคยแสดงความรับผิดชอบต่อการกระทำของตัวเองในอดีตได้เป็นประธานาธิบดี สถานการณ์เรื่องสิทธิมนุษยชนในปัจจุบันก็น่าจะแย่ลง ยิ่งเรื่องในอดีตน่าจะยิ่งถูกตอกตะปูปิดฝาโลง

การเลือกตั้งคราวนี้เป็นบททดสอบกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยและปฏิรูปประเทศที่เริ่มต้นขึ้นในปี 1998 หลังการลาออกของอดีตประธานาธิบดีซูฮาร์โตว่ามั่นคงเพียงใด ซึ่งผลการเลือกตั้งก็บ่งชี้ว่าเป็นการปฏิรูปที่เหมือนจะกลับไปสู่จุดเดิม แต่ผู้เขียนยังมองโลกในแง่ดีว่า สังคมอินโดนีเซียจะไม่หวนกลับไปเหมือนสมัยยุคระเบียบใหม่ของซูฮาร์โต การที่ทหารจะกลับมาใช้วาทกรรม ‘หน้าที่สองด้าน’ (dwifungsi) ที่ทำให้ทหารเข้าไปมีบทบาททั้งด้านการเมือง สังคม และเศรษฐกิจของอินโดนีเซียแบบในอดีตเป็นไปได้ยาก

การเมืองอินโดนีเซียในช่วงเวลานี้นอกจากจะบอกเราว่า ไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวรในการเมืองแล้ว ยังเป็นเครื่องยืนยันว่าวัฒนธรรมข้ามขั้วและวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดก็เป็นหนึ่งในวัฒนธรรมร่วมของภูมิภาคอุษาคเนย์แบบไม่ต้องแย่งชิงกันเพราะต่างมีความลอยนวลเป็นของตนเองกันทั้งนั้น


ข้อมูลประกอบการเขียน

Inerview. Alfian Widi Santoso, Ilmu Sejarah, Fakultas Ilmu Budaya, Universitas Airlangga, 10 February 2024.

Interview. Muhammad Rizky Pradana, Lembaga Penelitian dan Pengabian Masyarakat (LPPM), Universitas Airlangga, 10 February 2024.

Al Jazeera Staff. “Indonesian elections 2024: All you need to know.” Aljazeera, 9 February 2024, https://www.aljazeera.com/news/2024/2/9/indonesian-elections-2024-all-you-need-to-know

Ernes, Yogi. “Alasan Budiman Sudjatmiko Dukung Prabowo di 2024: The Man of Idea.” Detiknews, 6 September 2023, https://news.detik.com/pemilu/d-6916711/alasan-budiman-sudjatmiko-dukung-prabowo-di-2024-the-man-of-idea

Head, Jonathan. “Indonesia election: An ‘impossible’ country tests its hard-won democracy.” BBCNews, 10 February 2024, https://www.bbc.com/news/world-asia-68213679?fbclid=IwAR0EDjwhGFaYL1hjFZgsfA_OJXjV11ZH9q_XQQF_-xUqGn49dBmxVM99Eac

Lamb, Kate. “Who is Prabowo Subianto, ex-military commander running for Indonesia president?.” Reuters, 12 February 2024, https://www.reuters.com/world/asia-pacific/once-disgraced-military-man-prabowo-eyes-indonesia-presidency-after-makeover-2024-02-08/

Maula, Erwida. “Prabowo Subianto, the 3rd-time candidate close to Indonesia’s top job.” Nikkei Asia, 1 February 2024, https://asia.nikkei.com/Politics/Indonesia-election/Prabowo-Subianto-the-3rd-time-candidate-close-to-Indonesia-s-top-job?fbclid=IwAR18UCXyG8eKDqaEjlpKONsAxGhT7zkRzf21w9qc-8xwylmEc5exBzAbuyg

Nairn, Allan. “Indonesian State Apparatus is Preparing to Throw Election to a Notorious Massacre General.” The Intercept, 10 February 2024, https://theintercept.com/2024/02/10/indonesia-election-results-prabowo-fraud-stolen-election/?fbclid=IwAR3ObJLiMx2Rodkvnzs1uxn8l5P1pwevtrOrdkVuupLB8pmH0r3yyNLTvxA

Nugroho, Riant. “Pemilu 2024: Pemenang dan Prospek ke Depan.” Kompas, https://www.kompas.id/baca/opini/2024/02/14/pemilu-2024-pemenang-dan-prospek-ke-depan

Tan, Yvette and Husada, Trisha. “Prabowo Subianto: Indonesia’s ‘cuddly grandpa’ with a bloody past.” BBCNews, 6 February 2024, https://www.bbc.com/news/world-asia-68028295

Taufani, Muhammad Reza Ilham. “Real Count KPU 17.00 WIB: Daftar 5 Partai Teratas Pemilu 2024.” CNBCIndonesia, 15 February 2024, https://www.cnbcindonesia.com/research/20240215171929-128-514799/real-count-kpu-1700-wib-daftar-5-partai-teratas-pemilu-2024

Tim Redaksi. “Apa Itu Golput? Begini Sejarah Hingga Alasannya…” CNBCIndonesia, 14 February 2024, https://www.cnbcindonesia.com/news/20240213131533-4-513798/apa-itu-golput-begini-sejarah-hingga-alasannya#:~:text=Berdasarkan%20hasil%20survei%20Centre%20for,4%20persen%20pemilih%20Pemilu%202024

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save