fbpx

ปัญหาของ 112 กับการเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร

จากคำวินิจฉัยคำร้องของศาลรัฐธรรมนูญตามเรื่องพิจารณาที่ 19/2566 ในวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2567 ในคดีที่ผู้ถูกร้องได้ถูกร้องว่ากระทำการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบการปกครองอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ศาลได้มีการยืนยันถึงสถานะของความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ไว้หลายประการด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสถานะการเป็นฐานความผิดที่ไม่อาจมีเหตุยกเว้นความผิดและยกเว้นโทษ การเป็นความผิดที่ไม่อาจถูกยุติได้ด้วยการยอมความ ตลอดจนการเป็นความผิดอาญาต่อแผ่นดินที่กระบวนการเริ่มคดีสามารถเริ่มโดยผู้ใดก็ได้โดยไม่ถูกจำกัดอำนาจดำเนินคดีไว้กับสำนักพระราชวัง

แต่ทั้งนี้ สถานะของมาตรา 112 ประการหนึ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญให้การรับรองและสะท้อนถึงการเป็นร่มคันใหญ่ที่ครอบคลุมสถานะต่างๆ ข้างต้นนี้ ก็คือสถานะการเป็น ‘ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร’ ตามภาค 2 ลักษณะ 1 หมวด 1 ของประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งส่งผลให้นโยบายข้อเสนอการแก้ไขมาตรา 112 ของผู้ถูกร้องในคดี ที่เห็นว่าควรให้มาตรา 112 ย้ายออกจากลักษณะนี้ ถูกวินิจฉัยว่าเป็นข้อเสนอการแก้ไขกฎหมายที่กระทบต่อความมั่นคงของรัฐตามไปด้วย จนกระทั่งเป็นเหตุหนึ่งที่นำไปสู่การวินิจฉัยว่าผู้ร้องใช้เสรีภาพในการล้มล้างการปกครอง ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยยืนยันถึงสถานะดังกล่าวไว้ดังนี้

โดยมาตรา 112 อยู่ในลักษณะ 1 ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งรัฐ แห่งราชอาณาจักร เนื่องจากต้องคุ้มครองทั้งความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรและเกียรติยศของประมุขของรัฐ สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญมาตรา 2 ที่บัญญัติรับรองว่าประเทศไทยมีระบอบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข สถาบันพระมหากษัตริย์จึงมีความสัมพันธ์ต่อความมั่นคงของประเทศ เพราะพระมหากษัตริย์กับประเทศไทยหรือชาติไทยดำรงอยู่คู่กันเป็นเนื้อเดียวกัน เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในชาติและธำรงความเป็นปึกแผ่นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนในประเทศ การกระทำความผิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ จึงเป็นการกระทำความผิดต่อความมั่นคงของประเทศด้วย การที่ผู้ถูกร้องทั้งสองเสนอให้มาตรา 112 ออกจากลักษณะ 1 ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงในราชอาณาจักรเป็นการกระทำเพื่อมุ่งหวังให้ความผิดตามมาตรา 112 เป็นความผิดที่ไม่มีความสำคัญ และความร้ายแรงในระดับเดียวกัน กับความผิดในหมวด 1 ของลักษณะ 1 และไม่ให้ถือว่าเป็นความผิดที่กระทบต่อความมั่นคงของประเทศอีกต่อไป มีเจตนามุ่งหมายที่จะแยกสถาบันพระมหากษัตริย์กับความเป็นชาติไทยออกจากกัน ซึ่งเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐอย่างมีนัยสำคัญ[1]

น่าประหลาดใจที่ผู้เขียนไม่พบคำอธิบายเหตุผลในทางนิติศาสตร์หรือรัฐศาสตร์ที่ลึกซึ้งมีความเชื่อมโยงอย่างเป็นเหตุเป็นผลแต่อย่างใด หากพบแต่เพียงคำอธิบายองค์ประกอบความมั่นคงของรัฐที่ผูกติดอยู่กับสถาบันพระมหากษัตริย์ที่อ้างอิงเพียงแต่ความนิยมชมชอบและความเชื่อเฉพาะกลุ่ม แล้ววินิจฉัยเหมารวมเอาเองว่าประชาชนคนไทยทุกคนหรือส่วนใหญ่คิดเหมือนกัน รู้สึกเหมือนกัน ทั้งๆ ที่ไม่เคยมีหลักฐานทางวิชาการเชิงประจักษ์ พร้อมกับการผสมผสานเหตุผลแบบกำปั้นทุบดินจนเกิดเป็นสมการว่า “เพราะความผิดมาตรา 112 อยู่ในหมวดความมั่นคงของรัฐ ดังนั้น ถ้าเอามาตรา 112 นี้ออกจากหมวดความมั่นคงของรัฐ ความมั่นคงของรัฐก็จะได้รับความกระทบกระเทือน”

อย่างไรก็ดี คำวินิจฉัยดังกล่าวก็ยังคงมีคุณูปการอยู่บ้างที่กระตุ้นต่อมความสงสัยของผู้เขียนอีกครั้ง ทำให้เป็นโอกาสอันดีที่ผู้เขียนได้ทบทวนความคิดของตัวเองและลองไปค้นคว้าถึงความหมายที่แท้จริงของสถานะการเป็นความผิดต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรนำมาเสนอแลกเปลี่ยนกับท่านผู้อ่าน

ทั้งนี้ ผู้เขียนจะนำเสนอแนวคิดเบื้องหลังของความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐเสียก่อน แล้วจะอธิบายต่อไปถึงปัญหาเกี่ยวกับสถานะการเป็นความผิดต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรของมาตรา 112 ผ่านการพิจารณาถึงความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์และความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตลอดจนการให้เหตุผลของศาลรัฐธรรมนูญในประเด็นปลีกย่อยอื่นๆ

แนวคิดเบื้องหลังของความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ

นอกจากคำอธิบายทางตำราที่เป็นไปลักษณะทำนองเดียวกับการให้เหตุผลของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญข้างต้นแล้ว[2] มีคำอธิบายที่ผู้เขียนเห็นว่าสมเหตุสมผลและน่าสนใจเกี่ยวกับแนวคิดเบื้องหลังของลักษณะความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ที่อธิบายถึงสิ่งที่ความผิดอาญาลักษณะนี้ประสงค์จะคุ้มครองผ่านฐานคิดเรื่องการรักษา ‘บูรณภาพของประเทศ’[3] โดยบูรณภาพของประเทศที่ว่านี้ก็คือ เงื่อนไขต่างๆ ทางกฎหมายที่ประกอบกันแล้วทำให้มีรัฐเกิดขึ้น[4] ซึ่งมีด้วยกัน 4 ประการ คือ

1. ดินแดน

2. อำนาจอธิปไตย

3. รัฐบาล

4. ประชากร

นั่นหมายความว่า ความผิดหมวดนี้นั้นมีความมุ่งหมายที่จะคุ้มครองมิให้องค์ประกอบต่างๆ เหล่านี้ถูกประทุษร้ายหรือบั่นทอนลงไป กล่าวคือ เพื่อคุ้มป้องกันไม่ให้บุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดมายื้อแย่งเอาดินแดนของประเทศไปได้ เพื่อธำรงไว้ซึ่งอำนาจอธิปไตยอันเป็นอำนาจสูงสุดของรัฐไม่ให้ไร้เสถียรภาพหรือถูกทำลาย ปกป้องรัฐบาลเพื่อให้สามารถบริหารประเทศได้โดยอิสระ[5] และไม่ให้ประชากรมวลรวมต้องตกอยู่ในภยันตราย ถ้าหากรัฐได้รับความเสียหายหรือสูญเสียองค์ประกอบอย่างใดอย่างหนึ่งใน 4 ประการนี้ไป ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียดินแดน การสูญเสียอำนาจอธิปไตยในการออกกฎหมาย (นิติบัญญัติ) บังคับใช้กฎหมาย (บริหาร) และอำนาจการวินิจฉัยข้อพิพาท (ตุลาการ) ตลอดจนการสูญเสียอำนาจการบริหารราชการแผ่นดิน และการสูญเสียประชากรเป็นจำนวนมากแล้ว รัฐนั้นก็ย่อมสูญเสียความเป็นรัฐตามไปด้วย หรืออย่างน้อยที่สุดก็คือสุ่มเสี่ยงที่จะสูญเสียความเป็นรัฐไป

ด้วยเหตุนี้ ความมั่นคงแห่งรัฐในทางนิติศาสตร์จึงหมายถึงการมีอยู่และความสมบูรณ์ของดินแดน อำนาจอธิปไตย รัฐบาล และประชากรนั่นเอง

สถาบันพระมหากษัตริย์และความสัมพันธ์ต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร

จากคำอธิบายเกี่ยวกับแนวคิดเบื้องหลังของความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งรัฐนั้น เราคงยังไม่อาจด่วนสรุปได้ทันทีว่า สถาบันพระมหากษัตริย์นั้นไม่มีความสัมพันธ์กับความมั่นคงของราชอาณาจักร เพราะถ้าหากสถาบันพระมหากษัตริย์เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเงื่อนไขความเป็นรัฐดังที่กล่าวข้างต้นแล้ว สถาบันพระมหากษัตริย์ก็จะสามารถมีสถานะเป็นความมั่นคงของประเทศได้อย่างเป็นเหตุเป็นผล

นั่นคือหากผู้ที่ถือครอง ‘อำนาจอธิปไตย’ (ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์ประกอบของรัฐ) คือพระมหากษัตริย์ในระบอบการปกครองสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่จะใช้พระราชอำนาจในการออกกฎหมาย บังคับใช้กฎหมาย และวินิจฉัยข้อพิพาทด้วยพระองค์เองแล้ว พระมหากษัตริย์ย่อมมีสถานะเป็นความมั่นคงของประเทศอย่างแน่นอน เพราะถ้าหากมีการกระทำของผู้ใดที่ส่งผลกระทบต่อพระชนม์ชีพ พระราชกรณียกิจ หรือแม้แต่พระเกียรติของพระองค์แล้ว การใช้อำนาจอธิปไตยเพื่อขับเคลื่อนความเป็นไปของราชอาณาจักรผ่านการออกกฎหมาย บังคับใช้กฎหมาย และวินิจฉัยข้อพิพาทก็ย่อมไม่อาจเกิดขึ้นได้หรือเป็นไปอย่างไม่ราบรื่น ซึ่งในส่วนของการกระทบกระเทือนต่อพระเกียรตินั้น สามารถอธิบายได้ว่า ถ้าหากพระเกียรติของพระมหากษัตริย์นั้นได้รับความเสียหายแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรืออาฆาตมาดร้าย ก็อาจทำให้ตัวพระองค์เองไม่อาจใช้อำนาจอธิปไตยบริหารราชการได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากพระองค์อาจสูญเสียความมั่นพระทัยในตัวพระองค์เอง หรือข้าราชบริพาร ข้าราชการ หรือประชาชนนั้นสูญเสียความมั่นใจในตัวพระองค์จากการรับรู้ข้อเท็จจริงบางอย่างที่ทำให้พระเกียรติของพระองค์มัวหมอง ซึ่งส่งผลต่อเนื่องทำให้การออกกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายเกิดความติดขัด ล่าช้า เพราะขาดความร่วมมือจากผู้ศรัทธาในพระองค์ นอกจากนี้ยังอาจทำให้ประชาชนไม่เคารพกฎหมายที่ตราโดยพระมหากษัตริย์ เพราะพระองค์ไม่ได้เป็นที่เคารพนับถือของประชาชนอีกต่อไป นั่นหมายความว่าองค์ประกอบของความเป็นรัฐในส่วน ‘อำนาจอธิปไตย’ ถูกกระทบกระเทือนนั่นเอง พระเกียรติของพระมหากษัตริย์ในสมัยก่อนจึงย่อมเข้าใจได้ว่ามีสถานะเป็นความมั่นคงของราชอาณาจักรตามไปด้วยโดยปริยาย

อย่างไรก็ตาม พระมหากษัตริย์ของประเทศไทยในยุคปัจจุบันที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั้น ทรงมิได้เป็นผู้ถืออำนาจอธิปไตยอีกต่อไปแล้วดังเช่นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หากแต่อำนาจดังกล่าวได้ถูกแบ่งแยกให้อำนาจนิติบัญญัติแก่รัฐสภา อำนาจบริหารแก่รัฐบาล และอำนาจตุลาการแก่ศาลยุติธรรม พระองค์จึงไม่ได้บริหารราชการแผ่นดินด้วยพระองค์เองอีกต่อไป[6] แต่ยังคงมีพระราชอำนาจที่เป็นพระบารมีต่างๆ ตลอดจนจารีตประเพณีทางการปกครองประเทศที่ยังคงปกเกล้าประชาชนทั่วไปในฐานะประมุขของประเทศ โดยจะต้องมีผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ พระมหากษัตริย์ทรงปกเกล้าแต่มิได้ปกครอง (The King reigns but not rule)[7] ด้วยเหตุนี้ สถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ผูกติดอยู่กับอำนาจอธิปไตยอันเป็นองค์ประกอบของความเป็นรัฐในสมัยก่อนจึงไม่มีอยู่อีกต่อไปแล้วในปัจจุบัน พระเกียรติของพระองค์จึงไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของอำนาจอธิปไตยตามไปด้วย การดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรืออาฆาตมาดร้ายพระองค์ จึงไม่อาจส่งผลกระทบกระเทือนต่อเงื่อนไขของความเป็นรัฐ 4 ประการที่เป็นความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรได้เลย

กล่าวคือไม่อาจอธิบายได้เลยว่า การที่พระเกียรติของพระมหากษัตริย์ต้องมีมลทินมัวหมองนั้น จะเป็นเหตุให้อริศัตรูเข้ามาแย่งชิงดินแดนของประเทศไทยได้อย่างไร? จะทำให้ประชาชนล้มตายเป็นจำนวนมากได้อย่างไร? จะทำให้การบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลขาดความเป็นอิสระได้อย่างไร? และที่สำคัญคือไม่สามารถอธิบายได้เลยว่าจะกระทบต่อการใช้อำนาจอธิปไตยของรัฐได้อย่างไร? พระเกียรติที่ต้องมัวหมองจากการดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้ายจะกระทบต่อการออกกฎหมายของรัฐสภาได้อย่างไร? ทำให้การบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐเกิดความติดขัดได้อย่างไร? หรือทำให้เกิดความเสียหายในกระบวนการยุติธรรมของฝ่ายตุลาการได้อย่างไร? ซึ่งคำถามเหล่านี้ไม่ได้ถูกตอบหรืออธิบายในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเลยแม้แต่น้อย

สิ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญอธิบายไว้นั้นกลับมีแต่การผูกความมั่นคงของราชอาณาจักรไว้กับความขุ่นข้องหมองใจของกลุ่มฝ่ายอนุรักษนิยม เมื่อพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ถูกกระทบกระเทือนจากการดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรืออาฆาตมาดร้ายแต่เพียงเท่านั้น ไม่ได้ให้เหตุผลอย่างมีหลักคิดโดยอธิบายความเชื่อมโยงด้วยเหตุผลจากทฤษฎีกฎหมายแต่อย่างใดเลย ทั้งที่ยังมีโอกาสที่อาจจะสามารถอธิบายเชื่อมโยงไปถึงได้ แต่กลับอธิบายด้วยเหตุผลที่ปราศจากหลักนิติศาสตร์หรือรัฐศาสตร์รับรอง และเหมารวมสรุปเอาเองว่าปัจจุบันประชาชนคนไทยในปัจจุบันส่วนใหญ่หรือทุกคนคิดเหมือนกัน มีความรู้สึกไปในทางเดียวกัน มีศูนย์รวมจิตใจเป็นอย่างเดียวกันทุกคน ทั้งๆ ที่ไม่เคยมีหลักฐานเชิงประจักษ์ที่มีความเป็นภววิสัยและน่าเชื่อถือ หากแต่มีเพียงคำอธิบายในทำนองเดียวกับที่ปรากฏอยู่ในหนังสือแบบเรียนสังคมศึกษาระดับประถมและมัธยมศึกษาที่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐ

จากเหตุผลข้างต้น ผู้เขียนจึงเห็นว่าความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามมาตรา 112 ในปัจจุบันเป็นฐานความผิดที่น่าจะแยกขาดจากแนวคิดเบื้องหลังของลักษณะความผิดต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงเป็นความผิดอาญาที่มุ่งคุ้มครองพระเกียรติขององค์พระมหากษัตริย์เพียงอย่างเดียว และไม่ควรถูกบัญญัติไว้ในลักษณะ 1 หมวด 1 ของประมวลกฎหมายอาญาอีกต่อไป การที่มาตรา 112 ยังคงถูกจัดไว้ให้เป็นลักษณะหนึ่งของความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรนั้น มีแต่จะทำให้การใช้ การตีความ หรือการดำเนินการใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 112 เป็นไปอย่างสุดโต่ง บิดเบี้ยว และไม่สมเหตุสมผล โดยมีเหตุผลเพื่อความมั่นคงแห่งรัฐให้ความชอบธรรมอยู่ข้างหลัง

ความสุดโต่ง บิดเบี้ยว และไม่สมเหตุสมผลที่ว่านี้ปรากฏออกมาอย่างเห็นชัดทั้งในแง่ของการดำเนินการทางนิติบัญญัติที่สะท้อนผ่านคำวินิจฉัยนี้ ในทำนองว่าการแก้ไขมาตรา 112 นั้นจะต้องเป็นการแก้ไขที่ทำให้เนื้อหาสาระมีความเข้มข้นขึ้นหรือกระบวนการที่เคร่งครัดมากยิ่งขึ้นเท่านั้น เพราะการแก้ไขให้อ่อนลงหรือผ่อนคลายลงจะเป็นการทำให้ความมั่นคงของรัฐลดลง[8] อีกทั้งในแง่ของการดำเนินการบังคับใช้กฎหมายนั้น เจ้าพนักงานก็จะสามารถใช้ดุลพินิจในการดำเนินการได้กว้างขวางมากขึ้นด้วยเหตุผลของความสงบเรียบร้อยของรัฐ เช่น การใช้ดุลพินิจในการไม่ปล่อยชั่วคราวเนื่องจากเห็นว่าคดีมาตรา 112 เป็นคดีความผิดต่อความมั่นคงของรัฐที่เป็นข้อร้ายแรงและการปล่อยชั่วคราวอาจจะทำให้การดำเนินคดีเสียหาย[9] ตลอดจนการดำเนินการพิจารณาพิพากษาคดีของฝ่ายตุลาการที่ศาลฎีกาเคยพิพากษาให้มาตรา 112 คุ้มครองย้อนหลังไปไกลถึงพระมหากษัตริย์ในอดีต โดยให้เหตุผลกล่าวอ้างถึงสถานะการเป็นความผิดต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรของมาตรา 112[10]

ระดับความสำคัญของฐานความผิดและการอยู่นอกลักษณะความผิดต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร

ในตอนหนึ่งของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญได้อธิบายไว้ว่า “การที่ผู้ถูกร้องทั้งสอง เสนอให้มาตรา 112 ออกจากลักษณะ 1 ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงในราชอาณาจักรเป็นการกระทำเพื่อมุ่งหวัง ให้ความผิดตามมาตรา 112 เป็นความผิดที่ไม่มีความสำคัญ และความร้ายแรงในระดับเดียวกันกับความผิดในหมวด 1 ของลักษณะ 1 และไม่ให้ถือว่าเป็นความผิดที่กระทบต่อความมั่นคงของประเทศอีกต่อไป” เป็นการให้เหตุผลอาจเรียกได้ว่าเป็นลักษณะ ‘หมัดทลายหินผา’ เลยทีเดียว (ยิ่งกว่ากำปั้นทุบดิน) ซึ่งเป็นคำอธิบายที่มีความคลาดเคลื่อนทางวิชาการอย่างร้ายแรงมาก เพราะความผิดอาญาที่มีระดับความร้ายแรงสูงที่กฎหมายอาญาให้คุณค่าเหนือทุกสิ่งนั้นไม่จำเป็นต้องอยู่ในลักษณะ 1 หมวด 1 เรื่องความมั่นคงของรัฐเสมอไป หากแต่สามารถอยู่ในลักษณะอื่นได้ด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ ประมวลกฎหมายอาญาไม่ได้จัดเรียงความร้ายแรงให้ความผิดอาญาในลักษณะต้นเป็นความผิดอาญาที่สำคัญ ส่วนลักษณะท้ายๆ เป็นความผิดอาญาที่ไม่สำคัญแต่อย่างใดเลย ตัวอย่างที่ง่ายที่สุดเลยคือความผิดฐานฆ่าผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288[11] หรือ 289[12] ที่ให้ความคุ้มครองกับคุณค่าที่สำคัญยิ่ง นั่นคือ ‘ชีวิตมนุษย์’ ซึ่งเป็นคุณค่าพื้นฐานที่เกี่ยวกับมนุษย์ที่ในทางสากลยอมรับว่าเป็นคุณค่าที่สูงที่สุด[13] โดยฐานความผิดดังกล่าวนี้อยู่ในลักษณะ 10 หมวด 1 ของประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งอยู่ไกลจากลักษณะความผิดต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรถึง 9 หมวด แต่สะท้อนถึงความสำคัญของความผิดได้อย่างชัดเจนจากการระวางโทษได้สูงถึงประหารชีวิต เพราะฉะนั้นการจะสร้างหมวดหมู่ใหม่หรือลักษณะใหม่ให้แก่มาตรา 112 เป็นการเฉพาะแยกต่างหากจากลักษณะความผิดต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร เช่น สร้างลักษณะใหม่เป็น ‘ความผิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์’ นั้นจึงไม่ได้ทำให้ความสำคัญของมาตรา 112 ลดลงไปแต่อย่างใดเลย

ในทางกลับกัน การปล่อยให้มาตรา 112 ยังคงอยู่ในลักษณะความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรต่อไปโดยไม่มีการแก้ไขอะไรเพิ่มเติมอันส่งผลให้การดำเนินคดียังคงเป็นไปอย่างรุนแรงและง่ายดายเสมือนยาพาราเซตามอลแก้อาการปวดใจของฝ่ายอนุรักษนิยมต่างหาก ที่เป็นการทำให้ความสำคัญของมาตราดังกล่าวและสถาบันพระมหากษัตริย์ถูกลดทอนลงไป เพราะมาตราดังกล่าวจะถูกลดคุณค่าเหลือเพียงแต่การมีสถานะเป็นเครื่องมือของกลุ่มบุคคลบางกลุ่มเพื่อความพึงพอใจส่วนตัว หรือหวังผลประโยชน์ในทางการเมืองแต่เพียงเท่านั้น ไม่ได้เป็นกฎหมายที่ใช้ปกป้องคุ้มครองพระเกียรติขององค์พระมหากษัตริย์และความมั่นคงของประเทศอย่างแท้จริง อีกทั้งไม่ได้ทำให้ความเคารพเทิดทูนศรัทธาของประชาชนที่มีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์นั้นมีมากขึ้นแต่อย่างใด หากมีแต่เพียงความเคารพจากความหวาดกลัวภยันตรายที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินคดีมาตรา 112 นี้เท่านั้น

บทส่งท้าย

การให้เหตุผลในส่วนการยืนยันถึงสถานะการเป็นความผิดต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรของมาตรา 112 ที่ปรากฏในคำวินิจฉัยคำร้องของศาลรัฐธรรมนูญในคดีนี้ เป็นคำอธิบายที่ยังขาดความเป็นเหตุเป็นผลบนฐานคิดทางนิติศาสตร์อยู่มาก น่าเสียดายที่ศาลรัฐธรรมนูญมีโอกาสครั้งใหญ่ที่จะอธิบายเหตุผลอันแยบคายแก่ประชาชนในคดีนี้แล้วว่าเหตุใดมาตรา 112 จึงยังคงต้องอยู่ในลักษณะความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรเท่านั้น ที่แม้แต่ตัวผู้เขียนเองก็เฝ้าติดตามและเรียนรู้เหตุผลของศาลรัฐธรรมเช่นเดียวกับประชาชนคนอื่นๆ แต่สุดท้ายแล้วศาลรัฐธรรมนูญกลับไม่ได้ใช้โอกาสนี้ในการแสดงความเป็นสถาบันที่ทรงภูมิทางด้านนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ของประเทศไทยอย่างที่ผู้เขียนคาดหวังไว้ หากกลับมีแต่คำอธิบายที่ไปได้ไกลสุดที่เข้าใจได้แต่เพียงว่ามาตรา 112 เป็น ‘ความผิดต่อความมั่นคงทางจิตใจของกลุ่มอนุรักษนิยม’ เท่านั้น

References
1 ถอดความจาก สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ, ถ่ายทอดสด ศาลรัฐธรรมนูญออกนั่งเพื่ออ่านคำวินิจฉัย;  โปรดฟังตั้งแต่นาทีที่ 17.40 ของคลิปวิดีโอ.
2 คณิต ณ นคร, กฎหมายอาญาภาคความผิด, พิมพ์ครั้งที่ 9 (กรุงเทพฯ: วิญญูชน, 2549), น. 627; ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ และ รณกรณ์ บุญมี, กฎหมายอาญาภาคความผิดและลหุโทษ, พิมพ์ครั้งที่ 18 (กรุงเทพฯ: วิญญูชน, 2564), น.26.
3 คณพล จันทน์หอม, กฎหมายอาญา ภาคความผิด เล่ม 1, พิมพ์ครั้งที่ 6 (กรุงเทพฯ: วิญญูชน, 2566), น. 31.
4 เพิ่งอ้าง; บวรศักดิ์ อุวรรณโณ, กฎหมายมหาชน เล่ม 4: รัฐ (กรุงเทพฯ: วิญญูชน, 2560), น.193.
5 คณพล จันทน์หอม (เชิงอรรถที่ 3) น. 31.
6 กิตติพงศ์ กมลธรรมวงศ์, การคุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา, (กรุงเทพฯ: วิญญูชน, 2563), น. 44-45.
7 เพิ่งอ้าง, น. 45.
8 สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ, ถ่ายทอดสด ศาลรัฐธรรมนูญออกนั่งเพื่ออ่านคำวินิจฉัย; โปรดฟังตั้งแต่นาทีที่ 26.35 – 27 ของคลิปวิดีโอ.
9 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108(1) บัญญัติว่า ในการวินิจฉัยคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราว ต้องพิจารณาข้อเหล่านี้ประกอบ (1) ความหนักเบาแห่งข้อหา; ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108/1(5) บัญญัติว่า การสั่งไม่ให้ปล่อยชั่วคราว จะกระทำได้ต่อเมื่อมีเหตุอันควรเชื่อเหตุใดเหตุหนึ่งดังต่อไปนี้ (5) การปล่อยชั่วคราวจะเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงานหรือการดำเนินคดีในศาล
10 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6374/2556.
11 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 บัญญัติว่า ผู้ใดฆ่าผู้อื่น ต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี
12 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 บัญญัติว่า ผู้ใด (1) ฆ่าบุพการี (2) ฆ่าเจ้าพนักงาน ซึ่งกระทำการตามหน้าที่ หรือเพราะเหตุที่จะกระทำ หรือได้กระทำการตามหน้าที่ (3) ฆ่าผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงาน ในการที่เจ้าพนักงานนั้นกระทำตามหน้าที่ หรือเพราะเหตุที่บุคคลนั้นจะช่วยหรือได้ช่วยเจ้าพนักงานดังกล่าวแล้ว (4) ฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน (5) ฆ่าผู้อื่นโดยทรมานหรือโดยกระทำทารุณโหดร้าย (6) ฆ่าผู้อื่นเพื่อตระเตรียมการ หรือเพื่อความสะดวกในการที่จะกระทำความผิดอย่างอื่น หรือ (7) ฆ่าผู้อื่นเพื่อจะเอา หรือเอาไว้ซึ่งผลประโยชน์อันเกิดแต่การที่ตนได้กระทำความผิดอื่น เพื่อปกปิดความผิดอื่นของตน หรือเพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้นอาญาในความผิดอื่นที่ตนได้กระทำไว้ ต้องระวางโทษประหารชีวิต.
13 คณิต ณ นคร, กฎหมายอาญาภาคความผิด, พิมพ์ครั้งที่ 11 (กรุงเทพฯ: วิญญูชน, 2559), น.97.

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save