fbpx

1 ปีที่ยังไม่สิ้นสุดของสงครามรัสเซีย-ยูเครน กับ จิตติภัทร พูนขำ

24 กุมภาพันธ์ 2022 กองทัพรัสเซียเปิดฉากปฏิบัติการทางการทหารบุกเข้าสู่ประเทศยูเครน แม้จะมีการคาดหมายในช่วงแรกว่ารัสเซียอาจปิดฉากปฏิบัติการได้ในเวลาไม่กี่วัน ทว่าการสู้รบที่แท้จริงกลับยืดเยื้อจนเวลาล่วงผ่านมาครบ 1 ปี

ระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมาไม่เพียงแต่มีความหมายต่อรัสเซียและยูเครนเองเท่านั้น แต่ยังส่งผลสะเทือนในระดับโลก และเรียกได้ว่าเป็นจุดหักเหสำคัญที่อาจทำให้ระเบียบโลกไม่มีวันเหมือนเดิมอีกต่อไป

สงครามดำเนินไปอย่างไรบ้างในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา? สงครามที่แปรเปลี่ยนไปเป็น ‘สงครามพร่ากำลัง’ จะยืดเยื้อต่อไปอีกนานแค่ไหน? ฉากทัศน์ต่อไปของสงครามคืออะไร? สงครามเปลี่ยนดุลอำนาจและสั่นสะเทือนระเบียบโลกไปอย่างไรบ้าง? 101 ชวน จิตติภัทร พูนขำ รองคณบดีฝ่ายวิชาการและวิเทศสัมพันธ์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มอง 1 ปีของสงครามรัสเซีย-ยูเครน พร้อมมองทิศทางการเปลี่ยนแปลงของระเบียบโลกนับจากนี้

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022 ซึ่งเป็นวันเปิดฉากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ตอนที่รู้ข่าวว่ารัสเซียบุกเข้ายูเครนแล้ว ณ ตอนนั้นรู้สึกอย่างไรบ้าง

รู้สึกแปลกใจในระดับหนึ่ง แต่ไม่ได้ถึงกับประหลาดใจเสียทีเดียว เนื่องด้วยปัจจัยหลายอย่าง ไม่ว่าจะก่อนหน้านั้นที่รัสเซียเริ่มระดมทหาร ส่งทหารเข้าไปบริเวณใกล้กับประเทศเบลารุส รวมถึงมีสิ่งที่ผมเรียกว่าเป็น ‘สงครามวาทกรรม’ และการที่รัสเซียมองว่ายูเครนเป็นส่วนเดียวกับรัสเซีย ซึ่งโจทย์เหล่านี้ล้วนอยู่ในบทความของวลาดิเมียร์ ปูติน ที่เผยแพร่ออกมาในปี 2021 หลังจากนั้นก็มีการเรียกร้องกับฝั่งนาโตให้ค้ำประกันว่ายูเครนจะไม่เข้าร่วมเป็นสมาชิกนาโต ทั้งยังเรียกร้องให้ถอนทหารและโครงสร้างพื้นฐานด้านอาวุธออกไปจากยุโรป เพราะฉะนั้นเราจึงเห็นเค้าลางหรือร่องรอยของประเด็นความตึงเครียดมาพอสมควร

รู้สึกแปลกใจเพราะไม่คิดว่าสถานการณ์จะมาถึงขึ้นที่รัสเซียบุกเข้ายูเครน?

ใช่ครับ ตอนแรกคิดว่าจะใช้แค่การระดมกำลังในการเจรจาต่อรอง แต่ในเมื่อฝั่งตะวันตกไม่เอาด้วย จึงเหลือแค่วิธีการบุกเข้าไป ในแง่นี้มองได้ว่าการบุกครั้งนี้อาจเป็นสงครามแบบ ‘war of choice’ มากกว่าจะเป็น ‘war of necessity’ หมายความว่าเป็นสิ่งที่ปูตินและรัฐบาลรัสเซียตัดสินใจเข้าไปเอง ซึ่งแน่นอนว่าสงครามหรือการใช้กำลังทหารเช่นนี้ไม่มีความชอบธรรมในกฎหมายระหว่างประเทศ แต่ทั้งนี้รัสเซียก็พยายามจะเลี่ยงคำว่า ‘สงคราม’ แล้วใช้คำว่า ‘ปฏิบัติการทางทหารแบบพิเศษ’ แทน

ถ้าสงครามครั้งนี้ถือเป็น ‘war of choice’ สำหรับรัสเซีย คุณคิดว่าทำไมรัสเซียถึงเลือกทำสงครามทั้งที่สามารถหลีกเลี่ยงได้

ผมคิดว่าวิธีนี้เป็นทางเลือกหนึ่งที่รัสเซียเลือกใช้ในการกดดันตะวันตก รัสเซียมองว่าเป็นโจทย์เรื่องความมั่นคงของรัสเซีย และโจทย์ใหญ่คือการที่ยูเครนจะเข้าเป็นสมาชิกของนาโต ไม่ใช่เฉพาะในเรื่องการเมือง แต่ยังมาพร้อมกับมิติด้านการทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ ที่จะตามเข้ามา มากไปกว่านั้น เราจะเห็นว่ามีโจทย์อื่นๆ ที่เป็นตัวผลักดันการบุกเข้าไปในยูเครนด้วย เช่น นโยบายต่างประเทศ นโยบายการใช้กองทัพ

มิติการเมืองเรื่องอัตลักษณ์ (identity politics) ก็เป็นอีกโจทย์หนึ่งที่รัสเซียให้ความสำคัญ เช่น ประเด็นคนเชื้อชาติรัสเซียที่มีต้นกำเนิดที่เมืองคีฟ รัสเซียยังมองว่าตัวเองมีสถานะเป็นมหาอำนาจในภูมิภาคยูเรเชีย ยิ่งในสมัยของปูตินยิ่งมีการก่อรูปความคิดว่าอยากจะสร้างโลกของรัสเซีย อาจจะไม่ถึงขนาดกลับไปเป็นสหภาพโซเวียตอีกครั้ง แต่อย่างน้อยที่สุดรัสเซียก็มองว่าตัวเองควรจะอิทธิพลหรือมีบทบาทสำคัญต่อพื้นที่ใกล้เคียง  

ในทางกลับกัน ถ้ามองจากฝั่งยูเครน แน่นอนว่ายูเครนมองว่าตัวเองเป็นรัฐเอกราช มีอำนาจอธิปไตยของตนเอง แม้ว่าจะมีรากเหง้าหรือมีวัฒนธรรมบางอย่างเชื่อมโยงกับรัสเซีย แต่ก็ยังถือว่าเป็นรัฐเอกราชตามกฎหมายระหว่างประเทศ เพราะฉะนั้นสงครามรัสเซีย-ยูเครนจึงเป็นเหมือนสงครามที่รบกันใน 2 รูปแบบ หรือเรียกได้ว่ารบกันคนละระนาบในสงคราม

ฝั่งของรัสเซียคือสงครามที่ต้องการจะรุกราน เปลี่ยนแปลง และแย่งยึด ไม่ใช่แค่ดินแดน แต่ยังหมายรวมถึงผู้คน และโครงสร้างพื้นฐานของยูเครนด้วย ในขณะที่สงครามในมุมของยูเครน เป็นสงครามตามแบบปกติที่ต้องป้องกันตัวเอง ยูเครนจึงพยายามปกป้องมาตุภูมิของตนเองและผลักรัสเซียออกไป การต่อสู้ในวันนี้จึงอยู่บนรูปแบบของสงครามที่ต่างกัน และยังมีสงครามลูกผสมที่เราจะเห็นกองทัพของทหารรับจ้างในสงครามครั้งนี้ด้วย

ถ้าให้เปรียบเทียบฉากทัศน์ตอนช่วงแรกที่เกิดสงครามขึ้น กับฉากทัศน์หลังจากสงครามดำเนินมา 1 ปี สิ่งที่เกิดขึ้นมีความเหมือนหรือต่างกันอย่างไรบ้าง

ช่วงแรกที่สงครามปะทุขึ้น ผมเสนอว่ามีฉากทัศน์อย่างน้อย 3 เรื่อง

ฉากทัศน์ที่ 1 ช่วงแรกที่เกิดสงครามผมมองว่าจะเป็นสงครามแบบจำกัดขอบเขต คือมาสั้น จบเร็ว ผมคิดว่านักวิเคราะห์หลายคนก็มองในทิศทางนี้ รวมถึงวิเคราะห์ว่าฝั่งรัฐบาลรัสเซียน่าจะมีตัวแบบในการทำสงคราม ซึ่งตัวแบบดังกล่าวก็มีที่มาที่ไปในทางประวัติศาสตร์เช่นเดียวกัน ตัวอย่างเช่นในเดือนสิงหาคม ปี 2008 รัสเซียใช้สงคราม 5 วันกับจอร์เจีย รัสเซียบุกเข้าไปเกือบจะถึงเมืองหลวงของจอร์เจียแล้วก็ถอยกลับออกมาอย่างรวดเร็ว จากนั้นก็ประกาศให้หน่วยทางการเมืองทางตอนเหนือของจอร์เจีย ได้แก่ เซาต์ออสเซเทียและอับคาเซียเป็นรัฐเอกราช แม้ว่าสุดท้ายจะไม่ได้รับการยอมรับในเวทีระหว่างประเทศ แต่เรื่องนี้ก็ถือเป็นตัวแบบการทำสงครามที่รัสเซียทำ ซึ่งมีลักษณะตรงตามคำที่รัสเซียใช้ว่าเป็น ‘ปฏิบัติการทางทหารรูปแบบพิเศษ’ เพราะสั้น เร็ว ฉับไว และได้รับชัยชนะหรือบรรลุเป้าหมายบางอย่างแล้วจึงถอยกลับ แต่สิ่งนี้ไม่เกิดขึ้นในสงครามรัสเซียยูเครน

เงื่อนไขที่ทำให้ตัวแบบนี้ไม่เกิดขึ้นในสงครามรัสเซีย-ยูเครนมี 3 ประการ

ประการที่ 1 รัสเซียคาดการณ์สูงเกินไปว่ายุทธวิธีหรือกองกำลังของตัวเองมีความยิ่งใหญ่ ทั้งที่ความจริงแล้วยังมีปัญหาในเรื่องโลจิสติก การประสานงาน และการเข้าไปในพื้นที่ต่างๆ

ประการที่ 2 ยูเครนเป็นประเทศขนาดใหญ่มาก มีภูมิประเทศที่สลับซับซ้อน และมีประชากรประมาณ 44 ล้านคน ทำให้การจัดการกับยูเครนไม่ง่าย รวมไปถึงการใช้ปฏิบัติการทางการทหารโจมตีซึ่งทำให้เกิดความรู้สึกรักชาติของประชาชนยูเครนมากขึ้นอีก

ประการที่ 3 เรื่องของนาโต เราเห็นมาตลอดว่าก่อนเกิดสงครามนาโตอาจจะไม่ได้มีความร่วมมือกันมากนัก ทำให้มีการตั้งคำถามเรื่องของอาวุธยุทโธปกรณ์และสัดส่วนของงบประมาณกลาโหม แต่สงครามครั้งนี้ทำให้เราเห็นความเป็นหนึ่งเดียวของนาโตอีกครั้ง

ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ฉากทัศน์แรกที่เคยเกิดขึ้นไม่เกิดขึ้นอีกอย่างชัดเจนในสงครามรัสเซีย-ยูเครน และทำให้เป้าหมายในการทำสงครามของรัสเซียเปลี่ยนไปด้วย

ฉากทัศน์ที่ 2 เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ก่อนหน้านี้ผมมองว่าอาจจะเกิดขึ้นได้ และสุดท้ายก็เกิดขึ้นจริงๆ คือสงครามที่ยืดเยื้อ ยาวนาน ต่างฝ่ายต่างผลักกันไปมาในการแย่งยึดพื้นที่ต่างๆ และสงครามที่ยืดเยื้อจะนำไปสู่ฉากทัศน์ย่อยอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นฉากทัศน์เรื่องนาโตสนับสนุนทางการทหารต่อยูเครน หรือไปไกลกว่านั้นคืออาจจะเกิดสงครามใหญ่

แต่ ณ ปัจจุบันสงครามรัสเซีย-ยูเครน พัฒนาไปสู่การเป็นสงครามตัวแทนที่ตะวันตกสนับสนุนอาวุธยุทโธปกรณ์ให้ยูเครนในการสู้รบ พัฒนาการเช่นนี้อาจจะมองได้ว่าเป็นข้อดีประการหนึ่ง คือสงครามมีความยืดเยื้อ แต่ยังจำกัดขอบเขตอยู่ เพราะหากยุโรปหรือนาโตสนับสนุนอาวุธยุทโธปกรณ์อย่างเต็มตัวและเข้ามาสู่สงคราม แน่นอนว่าจะยกระดับไปสู่สงครามใหญ่ หรือมีแนวโน้มที่จะเกิดสงครามโลกได้

อีกประเด็นหนึ่งที่ผมเคยพูดถึงไว้ แต่ผมคิดว่าไม่น่าจะเกิดขึ้นคือสงครามนิวเคลียร์ แต่ตอนนี้อะไรก็เป็นไปได้ในการเมืองระหว่างประเทศ เพราะวันนี้การใช้อาวุธนิวเคลียร์ยังไม่ได้ถูกถอดออกไปจากสมการการทำสงครามเสียทีเดียว ผมคิดว่านาโตและยูเครนยังมีความวิตกกังวลอยู่มากว่ารัสเซียอาจจะใช้อาวุธนิวเคลียร์ แม้แต่ดมิทรี เมดเวเดฟ อดีตประธานาธิบดีรัสเซียยังเคยออกมาบอกว่าถ้ารัสเซียที่เป็นประเทศมหาอำนาจนิวเคลียร์มีแนวโน้มจะแพ้สงคราม ก็เหลือเพียงทางเดียวคือต้องใช้อาวุธนิวเคลียร์ หมายความว่าไม่ได้ปิดประตูตายเสียทีเดียวในการจะนำอาวุธนิวเคลียร์มาใช้

ฉากทัศน์ที่ 3 คือเรื่องการทูตหรือการเจรจา สงครามยืดเยื้อที่ลดถอนกำลังของแต่ละฝ่าย ใครอ่อนแรงก่อนก็แพ้ไป สงครามรูปแบบนี้การเจรจาทางการทูตเป็นไปได้ยากพอสมควร เพราะต่างฝ่ายต่างมีเป้าหมายไม่เหมือนกัน ผมมองว่าการทูตและเจรจาจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเริ่มจะได้รับชัยชนะอย่างชัดเจน

ช่วงที่เกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครนแรกๆ คนกังวลอย่างมากว่าสถานการณ์จะลุกลามบานปลายกลายเป็นสงครามโลกครั้งที่ 3 มาจนถึงวันนี้มองว่ามีความเป็นไปได้แค่ไหนที่จะเกิดขึ้น

ผมคิดว่าสื่อไทยพูดเรื่องนี้เยอะมาก แต่ผมคิดว่าอย่างน้อยที่สุดฝั่งของนาโตพยายามจะไม่ให้ไปถึงจุดนั้น และผมมองว่ารัสเซียเองก็ไม่อยากให้ไปถึงจุดนั้น แต่อย่างที่บอกว่าในการเมืองโลก อะไรก็เกิดขึ้นได้

ถ้าถามว่าเงื่อนไขอะไรที่จะนำไปสู่จุดนั้น ผมคิดว่าเราอาจจะต้องกลับมาถามถึงประเด็นสำคัญในตอนนี้คือปัจจุบันสมรภูมิรบมีลักษณะเป็นอย่างไร โจทย์ใหญ่ที่สุดของสมรภูมิรบวันนี้ผมคิดว่ายังคงตรึงกำลังของทั้งสองฝ่ายไว้ได้ คือมีการปะทะ ต่อสู้ และแย่งยึดเมืองกัน โดยเฉพาะใน 2 บริเวณ คือบริเวณยูเครนภาคตะวันออก หรือที่เราเรียกว่าดอนบาส ซึ่งมีเมืองสำคัญคือโดเนตสก์กับลูฮานสก์ และเมืองที่อยู่ทางตอนใต้คือ เคอร์ซอนกับซาโปริซเซีย ซึ่งซาโปริซเซียก็มีส่วนสำคัญที่เป็นเมืองท่า ปัจจุบันรัสเซียยึดพื้นที่ตรงนั้นไว้ได้ ทำให้บริเวณจุดยุทธศาสตร์สำคัญตรงนั้นกลายเป็นทะเลของรัสเซีย และสามารถเชื่อมโยงระหว่างเคอร์ซอนลงไปสู่ไครเมียได้โดยที่ไม่ต้องผ่านรัสเซียอย่างเดียว ตอนนี้บริเวณนั้นจึงกำลังปะทะกันอยู่

เงื่อนไขที่ผมมองว่าจะนำไปสู่สงครามใหญ่ได้คือฝั่งตะวันตกสนับสนุนอาวุธยุทโธปกรณ์ในรูปแบบที่หลากหลาย เช่น รถถังจากประเทศต่างๆ ของตะวันตก แต่มี 2 เรื่องที่ตะวันตกยังลังเลอยู่ ประการแรกคือยังไม่ให้เครื่องบิน F-16 เข้ามา และประการที่ 2 คือยังไม่ประกาศ no-fly zone เหนือน่านฟ้าของยูเครน เพราะ 2 เรื่องนี้จะสุ่มเสี่ยงต่อการกระทบกระทั่งกับรัสเซีย และอาจจะเป็นชนวนไปสู่การขยายตัวของสงครามได้

เรื่อง no-fly zone แน่นอนว่าจะเป็นการจำกัดการโจมตีของฝั่งรัสเซีย ส่วนเรื่องเครื่องบิน F-16 หรือเครื่องบินเจ็ตต่างๆ เนื่องด้วยตอนนี้เริ่มมีการฝึกทหารของยูเครน ผมคิดว่าฝั่งตะวันตกกำลังกังวลในเชิงยุทธศาสตร์ว่า ยูเครนจะนำไปใช้ในการเข้าไปถล่มเมืองสำคัญหรือโครงสร้างพื้นฐานของรัสเซียหรือไม่ ซึ่งจะเป็นการขยายตัวสงคราม ในวันนี้อาจจะยังไม่ไปถึงจุดนั้น แต่หัวใจสำคัญตอนนี้คือเมืองบักห์มุตที่รัสเซียพยายามจะยึดครองไว้ให้ได้ เพื่อที่จะเข้าไปสู่เมืองต่างๆ ในใจกลางยูเครนมากขึ้น ตรงนี้อาจจะเป็นโจทย์ใหญ่ว่าจะนำไปสู่สงครามที่ใหญ่กว่านี้หรือไม่

Ukrainian artillery unit members get prepared to fire towards Kherson on October 28, 2022, outside of Kherson region, amid Russia’s military invasion on Ukraine. (Photo by BULENT KILIC / AFP)

คุณมองว่าตอนนี้ทั้งฝ่ายรัสเซียและยูเครนมีข้อได้เปรียบหรือข้อเสียเปรียบแตกต่างกันอย่างไรบ้าง

ตอนนี้ต่างฝ่ายต่างมีทั้งโอกาสและข้อจำกัด แน่นอนว่าฝั่งรัสเซียมีความได้เปรียบในเชิงแสนยานุภาพ แต่ตอนนี้กำลังก็เริ่มถดถอยลง ทั้งนี้ ผมมองว่าข้อจำกัดของรัสเซียเยอะกว่า โดยเฉพาะในเชิงของยุทธวิธีต่างๆ ทหารก็ลดน้อยลง ทหารที่มารบจำนวนหนึ่งก็ไม่ได้อยากมารบ รายงานข่าวบางแห่งบอกว่าทหารรับจ้างจำนวนหนึ่งเป็นการเกณฑ์มาจากกลุ่มนักโทษ เหล่านี้เป็นเงื่อนไขและข้อจำกัดของฝั่งรัสเซีย คือยังไม่มียุทธศาสตร์ที่ชัดเจน รวมถึงต้องการระดมเกณฑ์ทหารจำนวนมหาศาล

ฝั่งของยูเครนแน่นอนว่ามีข้อได้เปรียบในเชิงกำลังใจของกำลังทัพทหารและการสนับสนุนของฝั่งตะวันตกที่เข้ามา ล่าสุดเราเห็นประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐอเมริกาพึ่งไปเยือนยูเครน ผมคิดว่าเหตุการณ์นี้เป็นอีกหมุดหมายสำคัญ อย่างน้อยก็ในเชิงสัญลักษณ์ว่าสหรัฐอเมริกาจะยังสนับสนุนทางการทหารให้กับยูเครนต่อไป แต่สิ่งที่ยังเป็นความท้าทายคือยูเครนอาจจะมีความชำนาญในการรบไม่มากนัก ข้อจำกัดเรื่องอาวุธยุทโธปกรณ์ รวมถึงภาพใหญ่ของสงครามที่ยังไม่สามารถจะคุมน่านฟ้าได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เหล่านี้อาจเป็นความเสียเปรียบในเชิงยุทธวิธี

ถ้ามองในแง่ของทำเลที่ตั้งทางยุทธศาสตร์ซึ่งตอนนี้รัสเซียกำลังคุมฝั่งตะวันออกอยู่ สถานการณ์เช่นนี้ทำให้แต่ละฝ่ายมีความได้เปรียบ-เสียเปรียบมากน้อยแค่ไหน

ผมคิดว่าตอนนี้รัสเซียต้องพยายามผลักดันกำลังและต้องเป็นฝ่ายตั้งรับพอสมควร เพราะยูเครนก็พยายามจะรุกและยึดคืนพื้นที่ พูดง่ายๆ คือเส้นพรมแดนไม่สามารถอยู่นิ่งได้ ยังคงเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลาในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา แม้ว่ารัสเซียจะประกาศเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้วว่ารัสเซียมีการลงประชามติแยก 4 แคว้นออกมา แต่ในวันนี้พื้นที่เหล่านั้นก็ถูกแย่งคืนไปได้พอสมควร

ถ้ามองในภาพใหญ่กว่านั้นว่าพื้นที่ยูเครนภาคตะวันออกสำคัญต่อรัสเซียอย่างไร ผมมองว่าโจทย์ใหญ่ที่สำคัญที่สุดของรัสเซียคือไครเมีย ผมวิเคราะห์ว่าแรกเริ่มรัสเซียไม่ได้ต้องการจะแย่งยึดพื้นที่ จนกระทั่งสถานการณ์สงครามแปรเปลี่ยนไป จึงทำให้รัสเซียมุ่งจะนำชัยชนะกลับไปให้ได้ เพราะฉะนั้นความสำคัญของทางภาคตะวันออกของยูเครนประการแรกคือ เรื่องดินแดนจำนวนหนึ่งที่จะต้องได้มา แต่ถ้ามองในเชิงยุทธศาสตร์หรือในเชิงผลประโยชน์ ดินแดนเหล่านี้อาจจะไม่ได้มีผลประโยชน์มากต่อรัสเซียเทียบเท่ากับเรื่องของมิติทางด้านภาพลักษณ์และเกียรติยศของประเทศ

ประการที่ 2 สอดคล้องกับเรื่องเล่า (narrative) ของรัสเซียที่ต้องการเข้ามาปกป้องคนชาติรัสเซีย ซึ่งตรงนี้ก็เป็นความย้อนแย้งเหมือนกัน เพราะการเข้ามาในสงครามรอบนี้รัสเซียก็ทำลายคนที่ตัวเองบอกว่าจะปกป้องด้วย

ประเด็นที่ 3 คือที่ตั้งทางยุทธศาสตร์ของทะเลดำ ที่รัสเซียกำหนดบทบาทและสถานะตัวเองเป็นมหาอำนาจทางทะเล

ประเด็นที่ 4 ผมคิดว่ารัสเซียก็คงหมายตาเรื่องของพลังงานที่อยู่นอกชายฝั่งต่างๆ บริเวณทะเลดำ

ประเด็นที่ 5 คือความเชื่อมโยงทางด้านเศรษฐกิจ เราต้องไม่ลืมว่ายูเครนภาคตะวันออกก่อนสงครามเป็นบริเวณที่มีทุนอุตสาหกรรมใหญ่มาก และมีชนชั้นนำทางธุรกิจของยูเครนที่มีสายสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับรัสเซียอยู่บริเวณนั้น

ถ้ามองความท้าทายภายในประเทศรัสเซียเอง เช่น กระแสต่อต้านจากคนในประเทศ ปัญหาด้านเศรษฐกิจซึ่งเป็นผลกระทบจากการคว่ำบาตรจากนานาชาติ คุณมองว่าปัญหาภายในที่รัสเซียเผชิญอยู่ตอนนี้ถือว่าเป็นข้อจำกัดของรัสเซียด้วยไหม

ผมมองว่ารัสเซียยังสามารถคุมพลวัตภายในประเทศได้ดีพอสมควร ในความเป็นจริงการคว่ำบาตรจากนานาชาติสร้างผลกระทบต่อรัสเซียได้ไม่มากเท่าที่ฝ่ายตะวันตกอยากให้เกิดขึ้น อาจเป็นเพราะเราไม่เห็นการคว่ำบาตรจากทุกประเทศทั่วโลกพร้อมกัน เพราะฉะนั้นถึงอย่างไรรัสเซียก็ยังคงมีทางออก แต่หลายคนคิดว่าการคว่ำบาตรที่ร้ายแรงที่สุดในรอบนี้คือการขับรัสเซียออกจากระบบ SWIFT ซึ่งเป็นระบบเกี่ยวกับการเงิน หมายความว่าเราไม่สามารถใช้บัตร Visa และบัตร MasterCard ในรัสเซียได้

แต่วันนี้สิ่งที่เราเห็นคือรัสเซียหันไปพึ่งจีนแทน ซึ่งแน่นอนว่าตอบโจทย์กรอบของรัสเซีย-จีน ในเชิงความสัมพันธ์ทวิภาคีและความสัมพันธ์ในกรอบของ BRICS ที่เขาเริ่มคุยกันมาสักระยะหนึ่งในการพยายามสร้างระบบการเงินทางเลือกขึ้นมา และพยายามจะลดการใช้ค่าเงินดอลลาร์ ตรงนี้เป็นอีกโจทย์หนึ่งที่ผมคิดว่าการคว่ำบาตร รอบนี้ไม่ได้กระทบรัสเซียมากอย่างที่ตะวันตกคาดคิดไว้

ตอนนี้ระบบเศรษฐกิจของรัสเซียก็ยังพอไปได้อยู่ แต่ในระยะยาวผมคิดว่ามีปัญหาแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเงินเฟ้อ การบริการจัดการภาคส่วนต่างๆ ต้องยอมรับว่าระบบเศรษฐกิจของรัสเซียหลายอย่างยังพึ่งพิงการนำเข้าจากฝั่งตะวันตกอยู่มาก พลังงานที่ตลาดใหญ่ที่สุดของรัสเซียก็คือตะวันตก กลายเป็นวันนี้รัสเซียต้องหันไปขายให้ประเทศอื่นในราคาที่ถูกลง หรือเรียกง่ายๆ ว่าขายในราคามิตรภาพ ตรงนี้เป็นความท้าทายอย่างใหญ่หลวงของรัสเซีย

ส่วนโจทย์ใหญ่ด้านการเมืองภายในของรัสเซีย มีคนออกมาประท้วงการทำสงคราม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงต้นของสงคราม และตอนนี้ยังมีมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อรัสเซียประกาศการเกณฑ์ทหาร วันนี้รัสเซียจัดการกับขบวนการที่ออกมาต่อต้านสงครามหลายรูปแบบ ทั้งการจับกุมคุมขัง การลงโทษ ซึ่งได้ผลในระดับหนึ่ง แต่ผมคิดว่าในระยะยาวหากสงครามยังยืดเยื้อ คนจำนวนมากจะออกมามากขึ้นในการต่อต้านสงคราม

ที่ผ่านมาเห็นความเคลื่อนไหวของยุโรปในการแก้ปัญหาพึ่งพิงพลังงานจากรัสเซียอย่างไรบ้าง

โจทย์นี้เป็นโจทย์สำคัญ เพราะยุโรปพึ่งพิงพลังงานจำนวนมากจากรัสเซีย ช่วงเริ่มต้นของสงคราม ยุโรปประกาศยุติโครงการสำคัญอย่าง Nord Stream 2 ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการธำรงรักษาความมั่นคงของพลังงานในยุโรปไว้

ประเด็นที่ 2 คือเราเห็นกระบวนการพยายามหาแหล่งพลังงานภายนอกที่ไม่ใช่รัสเซีย ถามว่าปัจจุบันเพียงพอไหมก็ยังไม่เพียงพอ แต่ยุโรปเลือกจะไปเน้นกลไกที่ 3 คือการประหยัดพลังงาน พูดง่ายๆ ว่าทั้ง 3 วิธีนี้คือการพยายามลดทอนการพึ่งพิงพลังงานของรัสเซีย

ในมุมของรัสเซีย รัสเซียมองว่าพลังงานเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ยุโรปต้องกลับมาเจรจากับรัสเซีย แต่ผมคิดว่าสงครามรอบนี้อาจเป็นตัวเปลี่ยนเกมที่ยุโรปเริ่มคิดถึงพลังงานทางเลือกโดยไม่ต้องพึ่งพิงรัสเซีย หรือลดการพึ่งพิงรัสเซียให้มากที่สุด ฤดูหนาวที่ผ่านมายุโรปก็ผ่านมาได้ แม้จะมีความยากลำบาก และสิ่งหนึ่งที่เราเห็นในยุโรปคือความพยายามทำให้ยุโรปมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมากขึ้นภายใต้ภัยคุกคามที่มีร่วมกัน

Pedestrians walk past a destroyed building in Kupiansk, Kharkiv region, on February 13, 2023, amid the Russian invasion of Ukraine. (Photo by YASUYOSHI CHIBA / AFP)

ตอนนี้จีนไม่ใช่คู่ขัดแย้งในสงครามโดยตรง แต่ต้องยอมรับว่าจีนเป็นตัวแปรหนึ่งที่มีความสำคัญไม่น้อย 1 ปีที่ผ่านมา คุณมองจุดยืนและบทบาทของจีนต่อสงครามรัสเซีย-ยูเครนอย่างไร และจีนจะเข้ามามีอิทธิพลต่อทิศทางสงครามมากขึ้นขนาดไหน

ความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับจีน หลายคนคงจะเห็นภาพว่าจีนดูเหมือนจะสนับสนุนรัสเซีย หรืออย่างน้อยที่สุดจีนก็เลือกที่จะไม่วิพากษ์วิจารณ์รัสเซียตรงๆ และไม่ได้ประณามการทำสงคราม เราจะเห็นการเลือกลงมติในเวทีระหว่างประเทศหรือองค์การสหประชาชาติ (UN) ในรูปแบบของการ ‘งดออกเสียง’ เสียส่วนใหญ่ แต่หากวิเคราะห์ดีๆ ผมคิดว่าจีนก็อยู่ในภาวะกระอักกระอ่วนอยู่เหมือนกันต่อประเด็นปัญหาสงคราม พูดง่ายๆ คือสงครามไม่ได้ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจจีน

ประเด็นที่ 2 คือเราเห็นท่าทีของจีนว่าแม้จะไม่ได้ประณามรัสเซียตรงๆ แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้สนับสนุนการแย่งยึดดินแดนของรัสเซีย เราเห็นท่าทีเช่นนี้ของจีนชัดเจนมาหลายปีแล้ว ตั้งแต่ปี 2014 จีนไม่เคยรับรองสถานะของไครเมียว่าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย และครั้งนี้จีนก็ไม่ได้สนับสนุนเรื่อง 4 แคว้นที่แยกออกมาจากยูเครน ผมคิดว่าโจทย์นี้สำคัญมาก เพราะในความกระอักกระอ่วนนี้ แสดงให้เห็นว่าจีนมีท่าทีหรือการตอบโต้ที่ค่อนข้างผสมผสานกันอยู่ ไม่ได้แสดงออกอย่างชัดเจนเสียทีเดียว ส่วนตัวผมคิดว่าจีนสนับสนุนแนวนโยบายเรื่องอำนาจอธิปไตย การไม่แทรกแซงกิจการภายในของรัฐอื่น และการเคารพผลประโยชน์หลักของจีน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องไต้หวัน ฮ่องกง เป็นต้น เพราะฉะนั้นจีนจึงมองว่าเรื่องเหล่านี้คือโจทย์ใหญ่มากกว่าสำหรับตัวเอง

อีกประการหนึ่งที่สำคัญสำหรับความสัมพันธ์จีน-รัสเซีย แม้ว่าจีนจะประกาศว่าเขาเป็นหุ้นส่วนที่ไม่มีข้อจำกัดของรัสเซีย แต่ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับรัสเซียก็ไม่ใช่ความสัมพันธ์ที่เป็นพันธมิตรทางการทหารอย่างสมบูรณ์ร้อย เปอร์เซ็นต์ แต่มองได้ว่าเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ที่รอบด้าน

โจทย์สุดท้ายในความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับรัสเซียคือจีนยังคงได้ประโยชน์จากกรณีนี้ เพราะแน่นอนว่ารัสเซียหันไปพึ่งพิงจีนเยอะขึ้น หันเหไปสู่ระเบียบที่จีนพยายามสร้างและออกแบบขึ้นมา สอดคล้องกับผลประโยชน์จีนในหลายด้าน แต่ในเชิงความสัมพันธ์ทวิภาคีเราต้องยอมรับว่าคำถามตอนนี้คือใครกันแน่ที่เป็นพี่ใหญ่ (big brother) ในความสัมพันธ์จีน-รัสเซีย แต่เดิมรัสเซียมองตัวเองว่าเป็นพี่ใหญ่ แต่ในวันนี้ในเชิงอัตลักษณ์ สถานการณ์เปลี่ยนไปแล้ว ผมคิดว่าวันนี้จีนเป็นพี่ใหญ่ขึ้นมาแทน ตรงนี้อาจจะเป็นจุดหนึ่งในเชิงของความท้าทายในความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับจีน

เป็นไปได้ไหมว่าตอนนี้จีนอาจจะกำลังสนับสนุนรัสเซียในทางอาวุธยุทโธปกรณ์อยู่

ปัจจุบันในเชิงการค้าจีนก็สนับสนุนหลายเรื่อง รัสเซียพึ่งพิงการส่งออกจากจีนเยอะมาก และการนำเข้าสินค้าหลายตัวที่นำเข้าจากยุโรปไม่ได้ แต่ถามว่าเพียงพอไหมก็ยังไม่เพียงพอ พอมีเค้าลางความเป็นไปได้ในการซื้ออาวุธ แต่ต้องมาดูกันต่อว่าจีนพร้อมที่จะขายไหม เพราะถ้าขายแน่นอนว่าฝั่งตะวันตกคงจะมีมาตรการที่เข้มข้นขึ้นต่อจีน เพราะต้องไม่ลืมว่าในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาเราเริ่มเห็นข้อเรียกร้องให้กดดันรัสเซียผ่านจีน มีคนเสนอให้ sanctions เสียด้วยซ้ำ

พอจะทำนายได้ไหมว่าสงครามรัสเซีย-ยูเครนจะกินเวลาไปอีกนานแค่ไหน

เป็นคำถามที่นักวิชาการคงทำนายไม่ได้ และผมก็อาจจะคาดการณ์ผิด แต่ผมคงจะวิเคราะห์ได้เพียงแค่ว่าจะเกิดฉากทัศน์แบบไหนบ้าง และแต่ละแบบมีเงื่อนไข ข้อจำกัด หรือโอกาสของความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน ณ วันนี้ผมมองว่ามี 2 ทางเลือกใหญ่

ทางเลือกที่ 1 คือเราคงจะเห็นสงครามยืดเยื้อ เป็น ‘สงครามพร่ากำลัง’ (war of attrition) ต่อไป ลดทอนกำลังแต่ละฝ่ายต่อไป สิ่งที่เราเห็นจากฉากทัศน์นี้คือสงครามจะดำเนินต่อไป และการเจรจาจะยากขึ้นหากต่างฝ่ายต่างยังคิดว่าตัวเองจะชนะ คิดว่ายังมีกำลังเสริมและมีอาวุธยุทโธปกรณ์พร้อม

หรืออีกเงื่อนไขหนึ่งคือ สงครามที่ยืดเยื้อจะนำไปสู่การขยายตัวของสงคราม ตอนนี้สงครามยังจำกัดอยู่ในระดับหนึ่ง แต่อาจขยายตัวไปสู่สงครามที่ไม่ได้สู้กันระหว่างรัสเซียกับยูเครนเท่านั้น แต่มีตัวแสดงอื่นเข้ามาเพิ่ม ซึ่งจะนำไปสู่อีกโจทย์หนึ่งที่จะยกระดับไป วันนี้เราเห็นแนวโน้มในระดับหนึ่ง อย่างน้อยในทางสัญลักษณ์ว่าเราเห็นไบเดนไปเยือนยูเครน เห็นการสนับสนุนของนาโต และอาวุธยุทโธปกรณ์ที่มากขึ้น ซึ่งอาจมีผลให้สงครามยกระดับต่อไป

อีกทางเลือกหนึ่งคือสันติภาพและการเจรจา ถ้าเอาแค่ 2 ฝ่ายคือรัสเซียกับยูเครนผมคิดว่าการเจรจาไม่น่าจะเกิดขึ้น เพราะวันนี้ต่างคนต่างมีเป้าหมายในสงครามที่ต่างกัน และยังมีสงครามวาทกรรมของ 2 ฝ่ายที่ค่อนข้างรุนแรง แต่ผมมองว่าเงื่อนไขที่จะทำให้การเจรจาเกิดขึ้นได้

เงื่อนไขประการแรกคือหากว่ารัสเซียหรือยูเครนมีการเปลี่ยนแปลงใดขึ้น อาจจะเกิดทางลัดนำไปสู่การเจรจา ซึ่งส่วนตัวผมไม่คิดว่าจะเกิดขึ้นได้

เงื่อนไขที่ 2 คือเงื่อนไขในสมรภูมิรบ ถ้ามีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งชนะ อาจนำไปสู่การเจรจาได้

เงื่อนไขที่ 3 คือมีตัวกลางในการไกล่เกลี่ยปัญหา ซึ่งตัวกลางนี้จะต้องเป็นตัวกลางที่ทั้งรัสเซียและยูเครนยอมรับ เงื่อนไขนี้หลายคนเสนอ เช่น แอมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส บอกว่าเงื่อนไขตรงนี้อยู่ที่ยูเครนจะชนะสงคราม แต่ต้องเป็นการชนะสงครามที่ไม่กีดกันหรือทำให้รัสเซียเสียหน้ามากจนเกินไป ซึ่งข้อเสนอนี้ยูเครนก็คงไม่เอาด้วย หรือยุทธศาสตร์การขยายตัวของนาโต (NATO Enlargement) ซึ่งผมคิดว่าไม่ใช่เงื่อนไขที่รัสเซียรับได้เช่นกัน ผมคิดว่าองค์การสหประชาชาติ (UN) หรือองค์การความมั่นคงของยุโรป (OSCE) น่าจะเป็นกลไกที่สำคัญ หรือประเทศจีนที่แน่นอนว่ามีบทบาททั้ง 2 ประเทศ

Rescuers remove debris to search for survivors at a destroyed apartment building hit by a rocket during the night in downtown Kramatorsk on February 1, 2023, amid the Russian invasion of Ukraine. – At least three people were killed February 1, 2023 and 20 wounded when a Russian rocket struck a residential building in the centre of the eastern city of Kramatorsk, Ukrainian officials said. (Photo by Yasuyoshi CHIBA / AFP)

หลายคนบอกว่าสงครามรัสเซีย-ยูเครน เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการเมืองระหว่างประเทศ หากมองย้อนไปในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา จุดเปลี่ยนนี้ใหญ่และรุนแรงเทียบเท่ากับเหตุการณ์ใด

ถ้ามองจากฝั่งตะวันตก ผมคิดว่ากรณีนี้เหมือนกับประวัติศาสตร์ช่วงปี 1938-1939 ในยุโรปที่นาซีเยอรมันบุกโปแลนด์และเชโกสโลวาเกีย การเปรียบเปรยนี้มีนัยยะแบบหนึ่งคือมองว่ารัสเซียเป็นผู้ก้าวร้าว ส่งผลให้ฝั่งตะวันตก ต้องดำเนินนโยบายที่แข็งกร้าวกับรัสเซียมากขึ้น นอกจากนี้ ผมอยากจะย้อนกลับไปช่วงปี 2014 คือวิกฤตการณ์ไครเมีย เหตุการณ์ครั้งนั้นผมคิดว่าอาจจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในฝั่งรัสเซีย คือการที่รัสเซียเริ่มมองตัวเองว่าเป็นประเทศที่มีอารยธรรมเป็นของตัวเอง มีอัตลักษณ์เป็นมหาอำนาจ และหันทิศทางมาสู่ความเป็นตัวเอง และหันเหมาสู่ตะวันออกมากขึ้น

ถ้าย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ เราอาจเห็นมิติของสงครามไครเมียในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 ประมาณปี 1854-1856 ตอนนั้นรัสเซียไปยุ่งเกี่ยวกับบริเวณดังกล่าว ส่งผลให้ตะวันตกทำสงคราม และรอบนั้นรัสเซียแพ้สงคราม ทำให้รัสเซียหันเหมาสู่นโยบายที่อิงกับภายในมากขึ้น หันมาสู่ตะวันออกไกลมากขึ้น เช่น จีน และจะเห็นว่ารัสเซียเริ่มจะสร้างเส้นทางรถไฟสายทรานส์-ไซบีเรีย เพื่อจะเชื่อมมาสู่เอเชียตะวันออกมากขึ้น เพราะฉะนั้น ผมมองว่าจุดเปลี่ยนสำคัญสำหรับรัสเซียคือการถูกขับออกมาจากยุโรป

แต่สงครามรอบนี้ต่างออกไปตรงที่รัสเซียรู้สึกว่าตัวเองถูกทำให้ขายหน้าจากฝั่งตะวันตกมาก ชัยชนะจากสงครามจึงเป็นโจทย์ใหญ่มากสำหรับรัสเซีย พูดง่ายๆ คือระบอบการเมืองของปูตินจะอยู่รอดหรือไม่นั้น ส่วนหนึ่งมาจากผลลัพธ์ของสงครามครั้งนี้ หมายความว่าความชอบธรรมทางการเมืองของรัสเซียผูกโยงอยู่กับสงครามรอบนี้ เพราะฉะนั้นการนิยามชัยชนะจะมีความแหลมคมมากขึ้น เป็นชัยชนะที่ต้องได้บางสิ่งมาให้คนรัสเซีย

ในห้วงยามที่โจทย์ด้านเศรษฐกิจก็สำคัญ ผู้คนที่ไม่ต้องการสงครามก็มี พลังต่อต้านระบอบปูตินเริ่มก่อตัว ตอนนี้เราเริ่มเห็นพลังของคนรุ่นใหม่มากขึ้นในรัสเซีย ผมคิดว่านี่เป็นอีกโจทย์ที่ใหญ่มากสำหรับรัสเซีย

อยากชวนมองในภาพกว้างกว่านั้น ถ้ามองไปที่ระเบียบโลก 1 ปีที่ผ่านมาของสงครามรัสเซีย-ยูเครน พอจะมองเห็นผลของสงครามที่จะกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของระเบียบโลกอย่างไรบ้าง

ผมคิดว่าเราเห็นทิศทางหรือภาพสะท้อนหลายประการ

ประการที่ 1 ระบบระหว่างประเทศมีแนวโน้มที่จะเป็น 2 ขั้วอำนาจมากขึ้น และเป็น 2 ขั้วอำนาจที่ไม่ได้มีแค่เรื่องอำนาจหรือกำลังอาวุธอย่างเดียว แต่ยังแบ่งเป็นฝั่งของสหรัฐอเมริกากับโลกอีกฝากหนึ่งที่นำโดยจีนและรัสเซีย เป็นการแข่งขันกันของ 2 ฝาก และเราจะเห็นการปะทะกันของระเบียบโลก 2 ชุด ฝั่งหนึ่งเป็นระเบียบโลกแบบเสรีนิยมกับระเบียบโลกแบบอำนาจนิยม ประการที่ 2 ในทางเศรษฐกิจ 2 ระเบียบนี้ก็ต่างกัน คือเสรีนิยมจะเป็นเรื่องของเศรษฐกิจเสรีที่เน้นเรื่องตลาด อีกฝั่งจะเป็นเศรษฐกิจที่รัฐนำการพัฒนา เราจะเห็นการปะทะกันของ 2 ขั้วในเชิงการแข่งขัน สงครามรอบนี้ก็ถูกนำด้วยชุดวาทกรรมแบบนี้เช่นกัน แบ่งว่าเป็นสงครามระหว่างประชาธิปไตยกับอำนาจนิยมหรือเผด็จการ เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นว่าระเบียบโลกกำลังไปในทิศทางดังกล่าว

สิ่งที่อยากชวนคิดคือระเบียบโลกรูปแบบนี้มีมาก่อนจะเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครนเสียด้วยซ้ำ เพียงแต่สงครามยิ่งเป็นตัวเร่งกระบวนการที่ทำให้ระเบียบโลกนี้แบ่งเป็น 2 ขั้วชัดเจนมากขึ้น พลวัตของสงครามทำให้รัสเซียต้องพึ่งจีนมากขึ้น และการขับรัสเซียออกมาจาก SWIFT ก็ทำให้รัสเซียต้องสร้างระบบทางเลือกทางการเงินอื่น และกลไกของ de-dollarization หรือการลดการใช้เงินดอลลาร์ มิตินี้เหล่านี้ล้วนสะท้อนว่าระเบียบโลกได้รับผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน

อีกประการหนึ่งที่สำคัญในภาพใหญ่ของระเบียบโลก คือฝั่งของพันธมิตรนาโตมีความเข้มแข็งมากขึ้นอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และทุกประเทศต่างเพิ่มกำลังทางทหาร ทั้งยังเพิ่มงบประมาณด้านกลาโหมอย่างเต็มที่

อีกการเปลี่ยนแปลงหนึ่งที่สำคัญคือ สงครามรัสเซีย-ยูเครนทำให้เราต้องตั้งคำถามถึงกติกาและบรรทัดฐานระหว่างประเทศว่าด้วยการเคารพซึ่งอำนาจอธิปไตยและการไม่แทรกแซงกิจการภายในของรัฐอื่น ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางไหนมากขึ้นยังคงต้องจับตาดูกันต่อไป

ที่บอกว่าตอนนี้โลกแบ่งเป็น 2 ขั้วมากขึ้น ถ้าอย่างนั้นเราเรียกว่าเป็นสงครามเย็นได้ไหม

หลายคนมองว่าเป็นสงครามเย็นนี้ แต่ผมมองว่าตอนนี้ยังอยู่ในกระบวนการ เพราะเมื่อเราพูดถึงสงครามเย็น มันมีนัยยะของการแข่งขันกันทางด้านอุดมการณ์ ความคิด และระบบความเชื่อ ตอนนี้เราเริ่มเห็นการแข่งขันในระบบเชิงคุณค่า แต่อีกเงื่อนไขหนึ่งของสงครามเย็นคือการมีระบบที่ชัดเจน 2 ขั้ว วันนี้อาจจะเห็นชัดมากขึ้น แต่ผมมองว่ายังไม่ได้ถึงขั้นยกระดับว่าเป็น 2 ค่ายอย่างชัดเจน เพราะหลายตัวแสดงยังเลือกจะดำเนินนโยบายแบบประกันความเสี่ยงกับทุกฝ่าย แต่ถามว่าแนวโน้มของการนำไปสู่สงครามเย็นครั้งใหม่หรือไม่ ผมคิดว่าแนวโน้มเริ่มเกิดมากขึ้นเรื่อยๆ

มองดุลอำนาจภายในยุโรป มีข้อสังเกตว่าสงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้ดุลอำนาจเคลื่อนจาก ‘Old Europe’ อย่างฝรั่งเศสหรือเยอรมนี ไปทางชาติยุโรปกลางและยุโรปตะวันออกมากขึ้น มองเรื่องนี้อย่างไรบ้าง

ผมคิดว่าอาจจะยังไม่ถึงขนาดเคลื่อน แต่ถ้าย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ คำว่า ‘Old Europe’ และ ‘New Europe’ เกิดขึ้นอย่างชัดเจนช่วงสงครามอิรัก ณ ตอนนั้น ‘Old Europe’ ไม่เอากับฝั่งสหรัฐอเมริกา ในขณะที่ ‘New Europe’ หรือยุโรปกลางและยุโรปตะวันออกสนับสนุนสหรัฐฯ แต่ในวันนี้ผมคิดว่าเป็นการเคลื่อนของ 2 ฝั่งเข้ามาหากัน คือแทนที่จะเคลื่อนจากยุโรปเก่าไปสู่ยุโรปใหม่ เราอาจจะเห็นสภาวะที่ 2 ฝั่งเริ่มจะผสานกันมากขึ้น แต่วิธีการมองโลกก็จะต่างกันพอสมควร

ตัวอย่างเช่น ‘Old Europe’ อย่างประเทศฝรั่งเศสภายใต้ประธานาธิบดีมาครง แม้ว่ามาครงจะสนับสนุนว่ายูเครนควรจะชนะสงคราม แต่โจทย์ใหญ่ของของมาครงก็มีเรื่องระเบียบและเสถียรภาพของยุโรปด้วย คือต้องสร้างเสถียรภาพที่ยังมีที่ทางให้กับรัสเซีย ในขณะที่ ‘New Europe’ อย่างยุโรปกลางและยุโรปตะวันออกจำนวนมากจะตั้งคำถามกับวิธีคิดเรื่องดุลอำนาจแบบเดิมและส่งเสริมประชาธิปไตยมากขึ้น รวมถึงต้องการสร้างระเบียบในยุโรปที่อาจจะไม่จำเป็นต้องมีรัสเซียก็ได้ เพราะฉะนั้นเราจะเห็นมิติที่ทั้งผสานเข้ามาหากัน แต่ในเวลาเดียวกันก็มีการถ่วงดุลในเชิงวิธีคิดทั้ง 2 ฝั่งในยุโรปเอง

สงครามรัสเซีย-ยูเครนสร้างผลสะเทือนอะไรต่อภูมิภาคอื่นของโลกอีกบ้างไหม เช่น ความกังวลว่าการบุกยูเครนของรัสเซียจะทำให้จีนมาบุกไต้หวันบ้าง คิดว่ากรณีเช่นนี้มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน

ถ้าเราบอกว่าหากปล่อยให้รัสเซียยึดยูเครนหรือไครเมียได้ แปลว่าจีนก็คงจะยึดไต้หวันได้ด้วย ผมคิดว่า 2 กรณีนี้ไม่เหมือนกันสักทีเดียว ในมุมของจีน จีนมองว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของประเทศอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นสำหรับจีน ไต้หวันไม่ได้เป็นรัฐเอกราช และประชาคมระหว่างประเทศก็ยอมรับสถานะนี้ไม่มากก็น้อย ในแง่นี้สิ่งที่เราเห็นคือมันต่างจากกรณีของรัสเซีย-ยูเครน เพราะยูเครนเป็นรัฐเอกราช ถ้ามองในมุมจีน จีนอาจจะไม่ค่อยเห็นด้วยในกรณีรัสเซีย-ยูเครนสักเท่าไร โดยเฉพาะประเด็นที่เข้าไปยึดหรือผนวกรวมดินแดนของรัสเซีย

ในเชิงผลกระทบ ผมคิดว่าสงครามไม่ได้กระทบบริเวณอินโด-แปซิฟิกทางตรง แต่เราเห็นในทางอ้อม คือเรื่องของวิกฤตพลังงานหรือเรื่องวิกฤตอาหารที่มากขึ้น หรือในเวทีระหว่างประเทศที่เราเห็นมิติของการเลือกข้างระหว่างรัสเซียกับยูเครน เรื่องนี้เป็นอีกแรงกดดันที่ตามมา อีกประเด็นหนึ่งที่ภูมิภาคต่างๆ จะได้รับผลกระทบคือการไหลเวียนของผู้คน ทั้งผู้อพยพลี้ภัย ผู้หนีภัยสงคราม ทั้งจากฝั่งรัสเซียและยูเครน

ตอนนี้สงครามรัสเซียยูเครนไม่ได้เป็นเรื่องของ 2 ประเทศนี้เท่านั้น แต่เป็นเรื่องของคนทั้งโลก เราพูดถึงบทบาทของหลายประเทศไปแล้ว ถ้าย้อนมองประเทศไทย ที่ผ่านมาบทบาท ท่าที หรือแม้แต่จุดยืนของไทยที่มีต่อสงครามรัสเซีย-ยูเครนเป็นอย่างไรบ้าง

แน่นอนว่าไทยถูกวิพากษ์วิจารณ์ค่อนข้างมาก ทั้งจากสื่อและจากประชาคมระหว่างประเทศ เพราะเราเลือกที่จะงดออกเสียงในการประณามการรุกรานของรัสเซียในเวทีสหประชาชาติ รวมถึงการงดออกเสียงในกรณีที่รัสเซียยึดพื้นที่ 4 แคว้นของยูเครน เรื่องนี้ทำให้ไทยถูกตั้งคำถามค่อนข้างเยอะ ผมคิดว่าประเด็นนี้มองได้ในเรื่องหลักการว่า ไทยอาจจะทำได้ดีมากกว่านี้หรือไม่ เพราะนี่ไม่ใช่เรื่องความสัมพันธ์ของ 2 ประเทศ แต่เป็นเรื่องของภาพใหญ่ มีเรื่องกฎหมายระหว่างประเทศที่เราเป็นภาคีด้วย ผมมองว่ากฎหมายระหว่างประเทศก็เป็นอีกเรื่องที่น่าตั้งคำถาม

อีกประเด็นหนึ่งที่ผมคิดว่าเราน่าจะต้องย้อนกลับมาคิด คือโจทย์ที่ว่าการที่เราเป็นรัฐขนาดเล็กจะทำให้เราสามารถดำเนินนโยบายได้อย่างไรบ้าง ผมอยากให้มองกลับกันว่าทางเลือกต่างๆ ไม่ว่าจะเลือกเป็นกลาง หรือเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ล้วนเป็นทางเลือกที่เป็นผลมาจากการที่เราคิดว่าเราจะได้ผลประโยชน์อะไร พูดง่ายๆ คือผลประโยชน์แห่งชาติเราคืออะไร และเรามียุทธศาสตร์แห่งชาติในการดำเนินนโยบายต่างประเทศอย่างไร รวมถึงการดำเนินยุทธศาสตร์หรือผลประโยชน์แห่งชาตินั้นยึดหลักการระหว่างประเทศด้วยหรือไม่

ถ้าคุณจะเป็นกลาง แปลว่าคุณต้องตอบโจทย์ดังที่กล่าวมานี้ให้ได้ก่อน ต้องตอบให้ได้ว่าทำไมเราถึงเลือกนโยบายเป็นกลาง ผมคิดว่าหลายประเทศที่เลือกนโยบายเป็นกลาง เขาชัดเจนว่าเพราะอะไรถึงเลือกเช่นนั้น และตอบได้ว่านโยบายของเขาตอบรับกับผลประโยชน์ใดบ้าง เพราะฉะนั้นการที่เราจะเลือกนโยบายแบบไหน สุดท้ายต้องตอบให้ได้ว่าผลประโยชน์ของเราอยู่ไหน ยุทธศาสตร์ของเราจะได้มาซึ่งอะไร และนโยบายนั้นถูกต้องตามกฎหมายระหว่างประเทศด้วยหรือเปล่า

คุณคิดว่าสงครามรัสเซีย-ยูเครน เปลี่ยนความคิดคนในแวดวงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (International Relations) มากน้อยแค่ไหน และสำนักคิดไหนที่มีพลังในการอธิบายโลกตอนนี้มากกว่าใครเพื่อน

ผมคิดว่าสงครามรัสเซีย-ยูเครนเปลี่ยนความคิดคนแวดวง IR ไปพอสมควร อีกทั้งทฤษฎีหนึ่งที่ถูกตั้งคำถามมากคือ ทฤษฎีสัจนิยม (realism) ความน่าสนใจสำหรับคนที่ศึกษาหรือทำงานในแวดวง IR คือประเด็นหรือทฤษฎีต่างๆ ในแวดวงนี้ถูกนำมาพูดคุยและถกเถียงกันในโซเชียลมีเดียค่อนข้างร้อนแรง โดยเฉพาะในทวิตเตอร์

อีกประเด็นหนึ่งคือมีทฤษฎีที่ดูเหมือนจะได้รับความนิยมมากขึ้นคือสายเสรีนิยม (liberalism) ที่มองว่าคำอธิบายแบบเดิมเรื่องดุลอำนาจที่เกิดขึ้นระหว่างรัสเซียกับยุโรปไม่เป็นจริง มองว่าสุดท้ายมันอยู่ที่ผู้นำว่าเป็นเผด็จการหรือประชาธิปไตย คำอธิบายแบบเสรีนิยมจะมีลักษณะแบบนี้ และผมคิดว่ามีนักคิดและผู้กำหนดนโยบายที่สำคัญหลายคนมีคำอธิบายต่างๆ ออกมาในแนวเสรีนิยมมากขึ้น คือนำเสนอแนวความคิดว่าถ้าระบอบการปกครองของรัสเซียมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ผู้นำเผด็จการของรัสเซียถูกเปลี่ยนไปเป็นคนอื่น นโยบายต่างประเทศของรัสเซียก็คงจะเปลี่ยนไปด้วย

1 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่เกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน คุณมองว่าสิ่งที่เราจะเรียนรู้ได้จากเรื่องนี้คืออะไร

สิ่งที่เราน่าจะเรียนรู้ได้คือ ประเด็นที่ 1 คือความไม่แน่นอนเป็นความแน่นอนในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เราจะเห็นว่าหลายอย่างเป็นความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้น การบริหารจัดการความไม่แน่นอนเหล่านี้เป็นโจทย์และความท้าทายของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ประเด็นที่ 2 คือเราต้องเข้าใจถึงที่มาสาเหตุ ปฏิสัมพันธ์ บริบท และผลกระทบของสงคราม และเรียนรู้ว่าอะไรคือเงื่อนไขที่จะทำให้เราไปสู่สันติภาพได้ คนที่ศึกษาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอาจจะไม่สามารถให้คำตอบหรือคาดการณ์อย่างชัดเจนได้ แต่อย่างน้อยเราต้องเรียนรู้จากประวัติศาสตร์และทฤษฎี เพื่อให้เห็นว่ามีเงื่อนไขอะไรที่จะเป็นโอกาสหรือข้อจำกัดในการทำความเข้าใจสงคราม การทูต สันติภาพ และการเมืองโลก

In this photo taken on April 2, 2022, bodies of civilians lie on Yablunska street in Bucha, northwest of Kyiv, after the Russian army pulled back from the city. The first body on the picture has been identified as Mykhailo Kovalenko, who was shot dead by Russian soldiers according to relatives interviewed by AFP. (Photo by RONALDO SCHEMIDT / AFP)

หมายเหตุ – เรียบเรียงเนื้อหาจากรายการ 101 One-on-One Ep.291 ระเบียบโลกหลัง 1 ปีสงครามรัสเซีย-ยูเครน กับ จิตติภัทร พูนขำ ออกอากาศเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2023

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save