fbpx

“คุณผู้หญิง คุณจะเลือกติดป่าอยู่กับใคร ระหว่างผู้ชายกับหมี” เมื่อผู้ชายอาจ ‘ร้าย’ กว่าหมี

“ถ้าต้องเลือก คุณจะเลือกติดป่าอยู่กับใครระหว่างผู้ชายกับหมี”

ข้างต้นคือคำถามที่กลายเป็นไวรัลใน TikTok เมื่อสองสามวันที่ผ่านมา เมื่อแอคเคาต์ screenshothq ถามผู้หญิงด้วยคำถามง่ายๆ ว่าถ้าเลือกได้ พวกเธออยากเลือกติดป่าอยู่กับใคร -หมีหรือผู้ชาย

น่าสนใจที่คำตอบของผู้หญิงส่วนใหญ่คือ “หมี” และนี่เองคือเหตุผลที่ทำให้คลิปเจ้ากรรมกลายเป็นไวรัลขึ้นมา เพราะมันนำไปสู่คำถามที่ว่า ทำไมผู้หญิงถึงได้อยากติดอยู่ในป่ากับสิ่งมีชีวิตที่ฆ่าเราตายได้ด้วยการยกอุ้งเท้าตะปบเพียงครั้งเดียวล่ะ!

นั่นสิ ทำไมกันนะ

@screenshothq

The question of being stuck in a forest with a man or a bear is circulating on TikTok right now and sparking some interesting conversation…. we know what our answer would be 🐻🌳 #manvsbear #tiktok #tiktoktrend #trending #challenge #streetinterview #voxpop

♬ Terror Music (Scary Song) – IMPERIUM RECORDS

หลายคนให้ความเห็นสั้นๆ และแสนจะทิ่มแทงว่า “ก็เพราะผู้ชายน่ากลัวกว่าหมีน่ะสิ” หรือ “ว่ากันว่าถ้าเจอหมีให้แกล้งตายแล้วเราจะรอด แต่ถ้าเราเจอผู้ชายบางคน เราแกล้งตายแล้วยังไงก็ไม่รอดอยู่ดี” และ “อย่างเลวร้ายที่สุด หมีมันคงแค่ทำฉันตาย แต่ถ้าเจอผู้ชายแย่ๆ ก่อนตายฉันจะโดนอะไรบ้างก็ไม่รู้”

สำหรับใครที่เคยดู The Revenant (2015) หนังที่ดัดแปลงมาจากเรื่องจริงของบุคคลในประวัติศาสตร์ช่วงต้นศตวรรษที่ 19 หนึ่งในฉากสำคัญของหนังคือฉากที่ตัวละครสู้กับหมี -ซึ่งไม่ใช่การต่อสู้แบบมือเปล่า เพราะเขาทั้งยิงด้วยปืนยาวและทั้งแทงด้วยมีด- และเอาชีวิตรอดกลับมาได้ในสภาพแบบปางตาย (อันที่จริงก็กึ่งปาฏิหาริย์เสียด้วยซ้ำ) ก็น่าจะเห็นภาพของความโหดหินที่หมีจะพึงกระทำต่อมนุษย์ได้ อย่างนั้นแล้วทำไมยังจะเลือกอยู่กับหมีอีกล่ะ!

เคต ลิสเตอร์ คอลัมนิสต์ชาวอังกฤษเขียนบทความที่ต่อยอดจากไวรัลดังกล่าว โดยเธอทำการทดลองสนุกๆ ขึ้นมาโดยการใส่ ‘ตัวแปร’ เข้าไปในคำถามด้วย เช่น “ถ้าต้องเลือก คุณจะเลือกติดป่าอยู่กับใครระหว่าง ทอม ฮาร์ดี (Tom Hardy -นักแสดงชาวอังกฤษ) กับหมีแพนด้า” เธอพบว่าคำตอบส่วนใหญ่คือฮาร์ดี หรือเปลี่ยนเป็น “ถ้าต้องเลือก คุณจะเลือกติดป่าอยู่กับใครระหว่าง บอร์ริส จอห์นสัน (Boris Johnson -อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ) กับหมีกริซลี” และกรณีนี้เจ้ากริซลีคือคำตอบ (โถ่) ลิสเตอร์จึงพบว่า ตัวแปรคือตัวกำหนด ‘โทน’ ของคำถาม เพราะเมื่อใส่ชื่อฮาร์ดีหรือจอห์นสันเข้าไปในสมการ คำถาม -ซึ่งเดิมทีก็เป็นคำถามทีเล่นทีจริงอยู่แล้วนั้น- ก็กลายเป็นคำถามเชิงชวนหัวมากขึ้นกว่าเดิมทันที เพราะการเลือกอยู่กับหมีที่มีขนาดใหญ่สุดในโลกมากกว่าเลือกอยู่กับอดีตนายกฯ จากพรรคอนุรักษนิยมจอมฉุนเฉียวก็ดูเป็นคำตอบที่ ‘เอาฮา’ มากกว่า… แต่ถ้าถอดตัวแปรเหล่านี้ออกและกลับไปที่คำถามเดิมอย่าง “ถ้าต้องเลือก คุณจะเลือกติดป่าอยู่กับใครระหว่างผู้ชายกับหมี” คำตอบของผู้หญิงที่เลือก “หมี” ก็ดูเป็นคำตอบที่ ‘เอาจริง’ กันทั้งนั้น

ลิสเตอร์พบว่า หากใส่ตัวแปรเข้าไปในสมการ -เช่น คนมีชื่อเสียงต่างๆ- ผู้หญิงส่วนใหญ่ก็มักเลือกติดอยู่กับคนดังนั้นๆ ไม่ใช่แค่ฮาร์ดี แต่อาจเป็นคนดังจากแวดวงอื่นๆ เพราะพวกเธอต่างคุ้นหน้าค่าตาคนมีชื่อเสียงเหล่านี้ รับรู้ความเคลื่อนไหวของพวกเขา และเข้าใจในภาพกว้างว่าผู้ชายที่ถูกแทนค่าในตัวแปร -แม้แต่บอริส จอห์นสัน- ก็เป็นคนที่พูดคุยรู้เรื่อง แม้พวกเธอจะรู้จักพวกเขาผ่านจากหน้าสื่อ แต่ก็เห็นภาพและความเป็นตัวตนบางอย่างของพวกเขามาบ้าง และ ‘นึกภาพ’ ความเป็นไปได้ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ (เช่นเดียวกัน ลองนึกว่าแทนตัวแปรนี้ด้วยชื่อคนดังในไทย ไม่ว่าจะนักแสดง, นักกีฬาหรืออินฟลูเอนเซอร์ต่างๆ เราคงพบว่าเรานึกภาพสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นได้ประมาณหนึ่ง)

คำตอบเหล่านี้เองที่ทำให้ลิสเตอร์พบว่า คำถามชวนหัวอย่าง “จะเลือกติดป่ากับผู้ชายหรือหมี” เป็นคำถามที่บีบให้คนตอบต้องหาคำตอบเอาจาก ‘ค่าเฉลี่ย’ ของสมการในโจทย์ เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะเป็นฮาร์ดี และไม่ใช่ทุกคนจะเป็นที่รู้จักหรือเป็นที่คุ้นหน้าค่าตาแบบเขา

คำถามต่อมาที่แสนเศร้าคือ แล้วผู้หญิงส่วนใหญ่มีภาพจำ ‘ค่าเฉลี่ย’ ของผู้ชายรอบตัวพวกเธอแบบใด ทำไมเธอจึงเลือกเสี่ยงไปอยู่กับเจ้าหมียักษ์หนักกว่ามนุษย์เป็นสองเท่า มากกว่าอยู่กับผู้ชายที่เป็นสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์เดียวกัน

ตามสถิติ โดยเฉลี่ยแล้วหมีทำร้ายคน 40 ครั้งต่อปี ในจำนวนนี้มีกรณีได้รับบาดเจ็บสาหัส 14.3 เปอร์เซ็นต์ เหตุผลหลักๆ ที่ทำให้พวกมันจู่โจมมนุษย์นั้นอาจเพราะมันเป็นหมีแม่ลูกอ่อนและพยายามปกป้องลูก หรือแม้แต่มันอาจรู้สึกว่าตัวเองเป็นฝ่ายถูกโจมตีก่อน หากเทียบเป็นตัวเลข ก็มีโอกาสราวๆ 1 ใน 2.1 ล้านที่เราจะถูกหมีพุ่งเข้าจู่โจม ยังไม่นับว่าโดยปกติ หมีและสัตว์ป่าจำนวนมากก็พยายามหลีกเลี่ยงมนุษย์ (และสิ่งมีชีวิตแปลกปลอมอื่นๆ) ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

แน่นอนว่าหากมนุษย์ต้องเผชิญหน้ากับหมีจริงๆ คำถามคือมนุษย์มือเปล่าไม่มีเขี้ยวไม่มีเล็บ จะเอาอะไรไปสู้กับหมีที่หวดอุ้งเท้าทีเดียวก็อาจทำให้อวัยวะภายในเราป่นปี้ได้ แรงกัดของหมีตกอยู่ที่ราวๆ 1,200 PSI (pound per square inch หรือหนึ่งปอนด์ต่อตารางนิ้ว สำหรับแรงกัดของมนุษย์นั้นอยู่ที่ 162 PSI จ้า) เท่ากับว่า แค่มันออกแรงขบนิดเดียวเท่านั้น กะโหลกศีรษะมนุษย์ก็เป็นอันแหลกละเอียด และหากพูดกันแบบตรงไปตรงมา โอกาสที่มนุษย์มือเปล่าจะเอาชนะสัตว์ทั่วไปนั้นยากมาก ไม่ต้องพูดถึงสัตว์ใหญ่อย่างหมีหรือเสือ ใครเคยโดนสัตว์เล็กอย่างห่านหรือเป็ดไล่จิกนั้นคงกำซาบความสยองและเอาเป็นเอาตายของพวกมันแค่ไหน

หมีกริซลี (ภาพจาก AFP)

ในทางกลับกัน จากสถิติของสหราชอาณาจักร โดยค่าเฉลี่ยแล้วแต่ละสัปดาห์จะมีผู้หญิงสองคนถูกสังหารโดยคนรักหรืออดีตคนรักของตัวเอง (และทำให้ ‘บ้าน’ ไม่ใช่สถานที่ปลอดภัยของพวกเธอ) สหประชาชาติรายงานว่ากรณีการสังหารผู้หญิงทั่วโลกนั้นเกิดขึ้นจากคู่รักของพวกเธอหรือสมาชิกภายในบ้าน เฉลี่ยทั่วทั้งโลก แต่ละชั่วโมงจะมีผู้หญิงราวห้าคนที่ถูกผู้ชายสังหาร โดยความรุนแรงต่อผู้หญิงนั้นมักเกิดขึ้นจากสามี, อดีตสามีหรือคนใกล้ตัวเหยื่อ นอกจากนี้ ผู้หญิงอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไปกว่า 640 ล้านคนหรือคิดเป็น 26 เปอร์เซ็นต์ล้วนเคยถูกคนรักของพวกเธอใช้ความรุนแรงด้วย

องค์การเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติในสหราชอาณาจักรระบุว่า ผู้หญิง 71 เปอร์เซ็นต์ทุกช่วงอายุในสหราชอาณาจักรล้วนเคยมีประสบการณ์ถูกล่วงละเมิดทางเพศในที่สาธารณะ และในกลุ่มผู้หญิงอายุ 18-24 ปี ตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็น 86 เปอร์เซ็นต์ ขยับมาในระดับโลก ผู้หญิง 81 เปอร์เซ็นต์เคยผ่านประสบการณ์ถูกล่วงละเมิดทางเพศอย่างน้อยก็ครั้งหนึ่งในชีวิต และไม่ใช่แค่ผู้หญิงเท่านั้น เพราะผู้ชายอีก 43 เปอร์เซ็นต์ก็เคยผ่านประสบการณ์ชวนหดหู่ใจดังกล่าวเหมือนกัน องค์การสำรวจข้อมูลเหยื่ออาชญากรรมแห่งชาติ (National Crime Victimization Survey-NCVS) ระบุว่าผู้ชายอเมริกันราว 35 เปอร์เซ็นต์เคยตกเป็นเหยื่อของการถูกล่วงละเมิดทางเพศหรือถูกข่มขืนโดยผู้หญิง อาจจะตั้งแต่พวกเขายังเด็กหรือเป็นผู้ใหญ่

ดังนั้น หากจะว่าไปแล้ว นี่ก็อาจไม่ใช่แค่เรื่องระหว่าง ‘หมี’ กับ ‘ผู้ชาย’ แต่อาจเป็นเรื่องของหมีกับคนที่ถือสิทธิว่าตัวเองมีอำนาจมากกว่า และกระทำพฤติกรรมคุกคามต่อคนอื่น และหากเราเทียบในเชิงสถิติแล้ว ผู้หญิงจำนวนมหาศาลยังตกเป็นเหยื่อของการถูกล่วงละเมิดโดยผู้ชาย ซึ่งเราคงต้องลากโยงกันไปจนถึงโครงสร้างทางสังคมที่เอื้อให้ใครได้ ‘ถือสิทธิ’ ทางอำนาจมากกว่ากันด้วย การจะบอกว่าทุกคนมีโอกาสตกเป็นเหยื่อของการถูกใช้ความรุนแรงและล่วงละเมิดทางเพศนั้นก็ใช่ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ ว่าผู้หญิงนั้นมีโอกาสตกเป็นเหยื่อสูงกว่าอย่างเห็นได้ชัด และเรื่องเหล่านี้ไม่ได้ปรากฏแค่ในรูปแบบของการใช้กำลังทำร้ายหรือกดขี่ข่มเหงโดยตรง หากแต่มันซ่อนอยู่ในวัฒนธรรม ในโครงสร้างทางอำนาจที่เราอยู่ด้วยมาทั้งชีวิต

ลิสเตอร์เขียนไว้ในบทความของเธอว่า “หมีไม่ตามฉันกลับไปบ้านหรือส่งรูปไอ้จู๋ของมันมาให้ฉันดู เพราะถ้าเราพินิจแค่ค่าเฉลี่ย คงพบข้อเท็จจริงอันเรียบง่ายว่า ถ้าผู้หญิงอยู่ในป่ากับหมี ย่อมปลอดภัยกว่าอยู่กับผู้ชาย และนี่เองที่ชวนเศร้าเหลือเกิน เพราะหมีมันก็ทำพฤติกรรมอย่างหมี มันคาดเดาได้ และถ้าทำได้มันก็ไม่อยากมายุ่งกับเรา มันไม่ตื๊อเราไปออกเดตเพื่อจะพูดพล่ามไตรภาคหนัง The Godfather ให้เราฟัง มันไม่พยายามขอร้องมีเซ็กซ์กับคุณหรือทำร้ายร่างกายคุณหากคุณไม่ยอมมีเซ็กซ์ด้วย หมีไม่สะกดรอยตามเราถ้าเราเลิกรากับมัน หมีไม่ฆ่าผู้หญิงห้าคนทุกชั่วโมง และหากมันทำเช่นนั้นจริง ก็คงมีความพยายามหยุดการกระทำนั้นของมันทันที

“และเรื่องคือ หากฉันถูกหมีทำร้ายจริงๆ คงไม่มีใครมาบอกว่าฉันกุเรื่องขึ้นมา ไม่ถูกถามว่าวันนั้นแต่งตัวยังไง เมาหรือเปล่า ไปยั่วยวนเจ้าหมีมันไหม ไม่สำคัญสักนิดว่าฉันจะเคยเจอเจ้าหมีตัวนี้มาก่อนหรือเปล่า ไม่สำคัญสักนิดอีกเหมือนกันว่าฉันเป็นผู้หญิงประเภทที่ชอบเจอหมีมากหน้าหลายตาหรือไม่ ไม่มีใครมาบอกว่าฉันรนหาที่เอง และเท่าที่จำได้ ก็ไม่ยักกะเคยมีแฮชแท็ก #NotAllBears ขึ้นเทรนด์ด้วย

“ถามว่านี่หมายถึงผู้ชายทุกคนไหม คำตอบคือไม่ใช่ ไม่มีทางหมายถึงผู้ชายทุกคนแน่ๆ ล่ะ แต่ก็อีกเหมือนกัน ที่ผู้หญิง 71 เปอร์เซ็นต์เคยถูกผู้ชายลวนลามมาก่อน และผู้หญิง 26 เปอร์เซ็นต์เคยถูกคู่รักผู้ชายใช้ความรุนแรงด้วย อย่างนี้แล้วเราจะจำแนกได้อย่างไรว่าผู้ชายคนไหนที่จะทำร้ายเรา และคนไหนที่จะไม่ทำ เราบอกไม่ได้หรอก เราไม่มีทางรู้ได้ว่าใครเป็นอันตรายจนกว่าจะสายไปแล้วนั่นแหละ ดังนั้น ผู้หญิงจึงสรุปว่าผู้ชายนั้นอันตราย เช่นเดียวกับที่เราควรสรุปว่าหมีสามารถทำร้ายเราในป่าได้”

หมีขาว (ภาพจาก AFP)

แน่นอนว่ามีผู้ชายหลายคนที่รู้สึก ‘มีปัญหา’ กับคำตอบที่ว่าพวกเขามีโอกาสถูกเลือกน้อยกว่าหมี แอคเคาต์หนึ่งบอกว่า “ผมอยากให้คุณๆ ใจเย็นกันหน่อยนะ โซเชียลมีเดียไม่ใช่ชีวิตจริงเสียหน่อย คุณอ้างสถิติว่าผู้หญิง 1 ใน 6 คนเคยถูกผู้ชายคุกคาม ขณะที่มีโอกาสแค่ 1 ในไม่รู้กี่ล้านที่เราจะถูกโจมตีโดยหมี บลาๆ ใจเย็นนะครับคุณทั้งหลาย ทั้งชีวิตนี้คุณอาจเจอผู้ชายเป็นล้านคนได้มั้ง ขณะที่คุณอาจไม่เคยเดินผ่านหมีแม้แต่ครั้งเดียวเลยด้วยซ้ำ เพราะงั้นหยุดเพ้อเจ้อ! คุณจะเจอหมีสักกี่หนเชียว! ไปสวนสัตว์สิ! ไร้สาระชะมัด ผมว่าคำถามที่ควรถามจริงๆ คือ ‘ถ้าต้องเลือก คุณจะเลือกติดป่าอยู่กับใครระหว่างหมีที่อยากฆ่าคุณกับผู้ชายที่อยากฆ่าคุณ หรือหมีที่อยากทำร้ายคุณ กับผู้ชายที่อยากทำร้ายคุณ’ ถามแบบนี้สิวะคุณถึงจะได้คำตอบที่แท้จริง บอกก่อนนะว่าผมไม่เคยทำร้ายผู้หญิง ไม่เคยคุกคามผู้หญิง ไม่เคยล่วงละเมิดทางเพศผู้หญิง ไม่เคยเลย แล้วพวกคุณทำอย่างกับว่าผู้ชายน่ากลัวกว่าหมีซะงั้น! ไม่เคยดูสารคดีกันล่ะสิ หมีแม่งน่ากลัวจะตาย ไปหาสารคดีดูซะไป๊ พวกคุณแม่งโง่ว่ะ”

จากวิดีโอข้างต้น มีคนมาแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก เช่น สมมติถ้าฉันถูกหมีตะปบเข้าจริงๆ คงไม่มีใครมาบอกว่า อย่าไปกลัวหมีสิ มันไม่ได้น่ากลัวทุกตัวสักหน่อยแบบนี้หรอกมั้ง, ถ้าฉันรอดจากการถูกหมีฆ่าในป่า อย่างน้อยก็คงไม่ต้องมาเจอมันในงานรวมญาติเหมือนตอนถูกผู้ชายในบ้านล่วงละเมิดทางเพศน่ะนะ, หมีมันจะทำร้ายเราตอนที่มันจำเป็น แต่ผู้ชายทำร้ายเราแค่เพราะพวกเขาสนุก

ลิซ แพลงค์ นักเขียนชาวแคนาดาเขียนถึงประเด็นนี้ไว้น่าสนใจว่า จากฐานข้อมูลของเพนตากอน (The Pentagon -ที่ทำการของกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกา) มีรายงานว่า 1 ใน 4 ของเจ้าหน้าที่ทหารหญิงเคยถูกล่วงละเมิดทางเพศจากเจ้าหน้าที่ชายซึ่งมียศระดับเดียวกันกับพวกเธอ และมีแนวโน้มจะถูกคนในกองทัพข่มขืนมากกว่าจะถูกสังหารจากฝ่ายตรงข้ามเสียอีก “สิ่งที่แย่ที่สุดก็คือ คุณไม่ต้องไปกังวลเกี่ยวกับศัตรูหรอก สิ่งที่คุณต้องกังวลตอนอยู่ในกองทัพคือพวกทหารฝั่งเดียวกันกับคุณนี่แหละ” โดรา เฮอร์นันเดซ สมาชิกกองทัพเรือสหรัฐฯ และกองกำลังรักษาดินแดนแห่งชาติให้สัมภาษณ์

แพลงค์ชี้ว่าวัดจากสถิติที่ผู้หญิงถูกใช้ความรุนแรง -ทั้งจากคนแปลกหน้าและสมาชิกในครอบครัวตัวเอง- ก็เป็นที่เข้าใจได้ว่าทำไมพวกเธอจึงเลือกอยู่กับหมีในป่ามากกว่าผู้ชายแปลกหน้า “และหากว่าหมีจะทำร้ายเราจริงๆ มันก็คงง่ายกว่าให้ผู้ชายทำร้ายเรา อย่างน้อยหมีก็ไม่ล่วงละเมิดทางเพศฉัน ไม่ทรมานฉัน หรือไม่ขังฉันไว้ในห้องใต้ดินนาน 20 ปี การอยู่กับชายที่เชื่อมั่นในระบบปิตาธิปไตยเพียงลำพังนั้นให้ความรู้สึกเป็นเรื่องชวนเขย่าขวัญมากกว่าการติดอยู่ภายใต้กรงเล็บของสัตว์ป่าใดๆ เสียอีก

“และขอชี้ให้ชัดว่าปัญหาของเรื่องนี้ไม่ใช่ผู้ชายเลย ในอาณาจักรสัตว์ ผู้ชายไม่ได้เป็นสิ่งมีชีวิตโรคจิตหรือต่ำทรามทั้งสิ้น ว่าไปแล้วหากหมีเล่น TikTok แล้วมีคนไปถามหมีผู้หญิงว่ามันอยากอยู่กับหมีผู้ชายหรือเสือภูเขา (ที่เป็นสัตว์ไม่กี่ชนิดซึ่งออกล่าหมีได้) มากกว่ากัน หมีสาวๆ ก็อาจจะเลือกอยู่กับหมีผู้ชายมากกว่า เพราะโดยทั่วไปแล้วหมีผู้ชายไม่ล่าหมีผู้หญิงเป็นเหยื่อ หรือกล่าวคือ เพศชายไม่ได้ถูก ‘กำหนด’ มาให้ออกล่าเพศหญิงไม่ว่าจะในสัตว์สปีชีส์ใด

“หากแต่คำถามเรื่องหมีกับผู้ชายทำให้เราต้องเผชิญหน้ากับข้อเท็จจริงที่ชวนกระอักกระอ่วนใจอย่างที่สุด นั่นคือผู้ชายที่เชื่อมั่นในระบอบปิตาธิปไตยนั้นอยู่พ้นไปจากสิ่งที่สปีชีส์ตัวเองทำ กระทั่งภาษาที่พวกเขาใช้ในการพบเจอและออกเดตกับผู้หญิงสักคนก็ยังเรียกว่า ‘ออกล่าเหยื่อ’ และนี่ถือว่าเป็นวิวัฒนาการถอยหลังอันน่าอดสู มีผู้กระทำความรุนแรงในสังคมมากพอจะให้พวกผู้หญิงกังวล ทั้งยังแทบไม่มีผู้ชายด้วยกันออกมาแสดงท่าทีต่อต้านพฤติกรรมการทำร้ายคนอื่นดังกล่าวด้วย และเป็นดังที่ ฟร็องซัวซ์ เอริติเยร์ (Françoise Héritier) นักมานุษยวิทยาชาวฝรั่งเศสกล่าวไว้ว่า โดยธรรมชาติของมนุษย์นั้นไม่ได้สร้างให้ผู้ชายมุ่งทำร้ายผู้หญิง หากแต่เป็นระบบที่เรียกว่าปิตาธิปไตยต่างหากที่ทำให้พฤติกรรมสร้างความรุนแรงดังกล่าวเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เป็นเรื่องชอบธรรม และแม้มันจะฟังดูน่าทดท้อใจเพียงใด เราก็ยังสร้างความเปลี่ยนแปลงได้”

อย่างไรก็ดี ช่องโหว่อย่างหนึ่งของคำถาม “คุณจะเลือกติดป่าอยู่กับใคร ระหว่างผู้ชายกับหมี” คือเรื่องที่ว่า เราในฐานะมนุษย์ไม่ได้ใช้ชีวิตประจำวันร่วมกันกับหมี บางคนอาจไม่เคยได้เจอหมีตัวเป็นๆ แม้แต่ครั้งเดียวด้วยซ้ำไป ขณะที่เราเจอและอยู่ร่วมกับผู้ชายนับล้านคนบนโลก ว่าไปแล้ว เราจึงมีโอกาสที่จะปะทะหรือถูกคุกคามโดยมนุษย์เพศชายมากกว่า หากเทียบสมการว่า เราต้องใช้ชีวิตอยู่กับหมีหรือสัตว์ป่ากินเนื้ออื่นๆ (อาจไม่ต้องกินเนื้อก็ได้ ผู้เขียนเชื่อว่าลองจับมนุษย์ไปอยู่กับกระทิงเปลี่ยวหรือช้าง โอกาสที่เราจะถูกทำร้ายก็ไม่ได้ต่ำเตี้ยนัก) ในความถี่ใกล้เคียงกันกับที่เราเจอผู้ชาย ก็เป็นไปได้ว่าเราอาจจะถูกมันทำร้ายเช่นเดียวกัน

กระนั้น สิ่งหนึ่งที่อาจไม่เปลี่ยนแปลงนักจากสมการนี้ นั่นคือแม้มนุษย์จะต้องใช้ชีวิตร่วมกับหมีและถูกมันทำร้ายในที่สุด สิ่งเลวร้ายที่สุดคือมันแค่สังหารเราทิ้ง แต่มันจะไม่ทำอย่างอื่นเพื่อสำแดงอำนาจทางชนชั้นหรือทางสถานะใส่เรา มันจะไม่ทรมานเราหรือทำให้เรามีบาดแผลทางจิตใจใดๆ

@skylar_miftari

Hes clearly ready to be a girl dad😂😂😂 “shes gonna be the sweetest soul” 🥲 #manorbear #girldad

♬ original sound – Sky

มีแอคเคาต์หนึ่งใน TikTok ถามสามีของเธอว่า หากเลือกได้ เขาอยากให้ลูกสาวติดอยู่ในป่ากับหมีหรือชายแปลกหน้ามากกว่ากัน และด้วยท่าทีครุ่นคิด สามีของเธอตอบกลับมาว่า “หมีสิ เพราะหมีมันก็คือหมี มันอาจจะทำตัวเป็นมิตรกับลูกสาวเราก็ได้ มันอาจจะมีจิตวิญญาณที่บริสุทธิ์ แถมเธออาจจะกลายเป็นคนที่เข้าใจสัตว์ก็ได้ แล้วรู้อะไรไหม ผมคงให้เธอถูกหมีขย้ำมากกว่าเพราะอย่างน้อยมันก็จะจบลงอย่างรวดเร็ว เทียบกันกับถูกผู้ชายแปลกหน้าล่วงละเมิดทางเพศหรือคุกคามเธอน่ะ”

เรื่องเศร้าคือ ผู้เขียนลองส่งข้อความไปหาพ่อด้วยคำถามเดียวกัน ว่าหากต้องเลือก พ่อจะเลือกให้ลูกสาวตัวเองติดป่าอยู่กับหมีหรือชายแปลกหน้า

คำตอบที่ได้มาในเสี้ยววินาทีคือ “หมี” (แม้ภายหลังพ่อจะบอกว่า พ่อเชื่อว่าลูกสาวพ่อสามารถไล่หมีไปได้ก็ตาม -ซึ่งไม่จริง)

MOST READ

PopCapture

29 Jun 2022

20 ปีแห่งความอัปยศ ไบรอน มูเรโน ผู้ตัดสินจอมฉาวในแมตช์เกาหลีใต้-อิตาลี 2002

คอลัมน์ PopCapture ชวนย้อนกลับไปยัง 20 ปีก่อนในการแข่งขันฟุตบอลโลกปี 2002 กับนัดเตะสุดจะอื้อฉาวระหว่างเกาหลีใต้กับอิตาลี กับกรรมการ ไบรอน มูเรโน ที่ชีวิตกระโจนขึ้นลงตั้งแต่เป็นผู้ตัดสินที่ชาวอิตาลีหมายหัว, นักการเมือง ไปจนถึงคนส่งยา

พิมพ์ชนก พุกสุข

29 Jun 2022

PopCapture

7 Dec 2021

รวันดา : การชำระประวัติศาสตร์เหตุฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เราเรียนรู้อะไรได้บ้าง

คอลัมน์ PopCapture พิมพ์ชนก พุกสุข เขียนถึงบทเรียนจากการชำระประวัติศาสตร์เหตุฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา เมื่อการยอมรับบาดแผลและชำระประวัติศาสตร์มืดคือบันไดขั้นแรกของการก้าวไปข้างหน้า

พิมพ์ชนก พุกสุข

7 Dec 2021

PopCapture

14 Feb 2022

‘996’ ระบบทำงาน 9 โมงเช้าถึง 3 ทุ่มที่สร้างแผลทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ให้จีน

คอลัมน์ PopCapture เขียนถึงระบบการทำงานแบบ 996 หรือทำงานตั้งแต่ 9 โมงเช้าถึง 3 ทุ่มในจีน จนเกิดการลุกฮือของเหล่าพนักงานออฟฟิศก่อนจะเกิดปรากฏการณ์ที่สร้างผลสะเทือนต่อเศรษฐกิจจีนในภาพรวม

พิมพ์ชนก พุกสุข

14 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save