fbpx

20 ปีแห่งความอัปยศ ไบรอน มูเรโน ผู้ตัดสินจอมฉาวในแมตช์เกาหลีใต้-อิตาลี 2002

รุ่งเช้าวันที่ 19 มิถุนายน 2002 หนังสือพิมพ์กีฬาทุกฉบับของอิตาลี พร้อมใจกันพาดหัวอย่างกราดเกรี้ยว คอร์เรียเร เดลโล สปอร์ต อุทิศพื้นที่เกือบครึ่งหน้ากระดาษให้คำว่า ‘LADRI’ หรือ ‘ไอ้หัวขโมย’ ขณะที่ กัซเซตตา เดลโล สปอร์ต พาดหัวด้วยคำว่า ‘Vergogna!’ ที่แปลตรงตัวว่า ‘หน้าไม่อาย!’

ทั้งหมดทั้งมวลเป็นผลพวงจากการแข่งขันฟุตบอลโลกปี 2002 นัดกลางเดือนมิถุนายนที่เจ้าภาพเกาหลีใต้ (เป็นเจ้าภาพร่วมกับญี่ปุ่น) คว่ำเอาชนะอิตาลีด้วยสกอร์ 2-1 ที่กลายเป็นกึ่งข้อพิพาทและเป็นชนวนสำคัญให้อิตาลีประกาศแบนนักเตะจากเกาหลีใต้อย่างโกรธจัดเป็นเวลานานกว่าทศวรรษ แต่เหนืออื่นใดคือมูลเหตุสำคัญอย่าง ไบรอน มูเรโน กรรมการตัดสินชาวเอกวาดอร์ที่ถูกนับเป็นหนึ่งในศัตรูตลอดกาลของแฟนบอลชาวอิตาลีมานับแต่นั้น ในฐานะที่ตัดสินผลการแข่งขันได้อย่างเต็มไปด้วยข้อกังขา

ครบรอบ 20 ปีของแมตช์สำคัญ มูเรโนเพิ่งกลับมาหวนรำลึกถึงข้อพิพาทนั้นเศร้าๆ ว่า “ผมเสียใจเหลือเกิน”

มูเรโนกับ ฟรันเชสโก ต็อตติ (ภาพจาก Ruetir)

ย้อนความหลังกันอย่างคร่าวๆ ฟุตบอลโลกปี 2002 นั้นเกาหลีใต้เป็นหนึ่งในประเทศที่ตะลุยไปจนถึงด่าน 16 ทีมสุดท้าย (และคว่ำโปรตุเกสมาก่อนแล้ว) เผชิญหน้ากับทีมชาติอิตาลีในยุคที่เต็มไปด้วยผู้เล่นระดับตำนานอย่าง คริสเตียน วีเอรี กองหน้าตัวเป้า, ฟรันเชสโก ต็อตติ รวมทั้งผู้รักษาประตู จานลุยจิ บุฟฟอน ขณะที่กองทัพฝั่งเกาหลี ที่หากพูดกันอย่างตรงไปตรงมาอาจยังมีตัวละครกระดูกแข็งไม่มากเท่าฝั่งอัซซูร์รี แม้จะมีผู้เล่นที่น่าจับตาอย่าง ปาร์ค จีซอง (สามปีให้หลังจากการแข่งขันนัดนี้ เขาเข้าเซ็นสัญญาเป็นผู้เล่นให้แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด), อัน จุง-ฮวาน ที่ลงเตะให้สโมสรเปรูกาในอิตาลี ร่วมทีมอยู่ก็ตาม แต่สื่อทุกสำนักและคนดูฟุตบอลค่อนโลกต่างก็ฟันธงว่าทีมที่จะคว้าชัยในนัดนี้คงหนีไม่พ้นอิตาลี

แน่นอนว่าผิดคาด เพราะการแข่งขันที่ลากยาวไปถึงนาทีที่ 117 นั้นปรากฏว่าเกาหลีใต้เป็นฝ่ายเอาชนะไปด้วยสกอร์ 2-1 กับภาพจำอันแสนสะบักสะบอมของนักเตะทั้งสองฝั่ง

สิริรวมทั้งนัด มูเรโนแจกใบเหลืองให้ทั่งฝั่งเกาหลีใต้และอิตาลีฝั่งละสี่ใบ กับใบแดงหนึ่งใบให้ต็อตติในนาทีที่ 103 ด้วยข้อหาพุ่งล้มในเขตโทษท่ามกลางเสียงคัดค้านจากแฟนฟุตบอลในสนาม (ต็อตติได้รับใบเหลืองใบแรกตั้งแต่นาทีที่ 22 การได้ใบเหลืองอีกครั้งในเขตโทษจึงยังผลให้เขาได้ใบแดงปิดท้าย) ทั้งหมดทั้งมวลนี้ส่งให้มูเรโนกลายเป็นศัตรูอันดับหนึ่งของมวลมหาประชาชาวอิตาลีแทบจะในข้ามคืน สื่อทุกแห่งพากันกล่าวอ้างถึงชื่อเขาพร้อมคำด่าแสบสันมากที่สุดเท่าที่จะเอ่ยลงหนังสือพิมพ์ได้โดยไม่ผิดกฎหมาย “อิตาลีตกรอบฟุตบอลโลกเพราะการเล่นสกปรกของกรรมการแท้ๆ บอกเลยว่าไม่มีทีมฟุตบอลไหนในประวัติศาสตร์ที่เคยต้องเผชิญความเจ็บปวดจากความอยุติธรรมเท่าเรามาก่อนแน่ๆ” คอลัมนิสต์กีฬาของคอร์เรียเรเขียนอย่างฉุนเฉียว

พาดหัวหนังสือพิมพ์กีฬาในอิตาลี (ภาพจาก Il Nobile Calcio)

ฟรานโก แฟรตตินี รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของอิตาลีในเวลานั้นยังออกมาให้สัมภาษณ์ว่า “กรรมการคนนี้เป็นผู้ที่ไม่มีเกียรติเลย ไร้ศักดิ์ศรีโดยสิ้นเชิง บอกตรงๆ ว่าผมไม่เคยเห็นการแข่งขันนัดไหนเป็นได้ขนาดนี้มาก่อน อย่างกับว่าพวกเขาแค่นั่งแหมะอยู่ด้วยกันแล้วตัดสินใจว่าจะปัดให้เราตกรอบให้ได้” หรือไปจนถึงมีมุกตลกขำขัน (ซึ่งอันที่จริงก็ออกไปทางขันขื่นหน่อยๆ) ในกลุ่มแฟนบอลชาวอิตาลี ที่ว่ามีเด็กผู้ชายคนหนึ่งหาซื้อเสื้อฟุตบอลทีมชาติเกาหลีใต้ และพนักงานถามกลับว่า ‘อยากได้ตัวไหนล่ะ หมายถึงว่าเป็นเสื้อของผู้เล่น หรือเสื้อไอ้กรรมการนั่น’ (อูย)

พร้อมกันกับที่สหพันธ์ฟุตบอลอิตาลียื่นคำร้องขอให้ฟีฟ่าสอบสวนการทำหน้าที่เป็นกรรมการนัดนั้นของมูเรโนว่ามี ‘ลูกตุกติก’ กับเกาหลีใต้หรือไม่ ซึ่งถึงที่สุดก็ไม่มีหลักฐานใดที่ระบุว่ามูเรโนหรือเกาหลีใต้เอื้อเฟื้อกันและกันอย่างลับๆ ในเกมนี้ แม้จะถูกนักข่าวอิตาลีกัดไม่ปล่อยด้วยการตั้งข้อสังเกตว่าหลังแมตช์อื้อฉาวนั้นจบลง มูเรโนจะบินฉิวไปพักผ่อนที่สหรัฐอเมริกาแถมยังถอยรถหรูคันใหม่ในเอกวาดอร์ บ้านเกิดตัวเองด้วย มูเรโนจึงต้องแถลงอย่างใจเย็นว่าเขาไปเที่ยวที่สหรัฐฯ และค้างอ้างแรมในบ้านน้องสาว (ไม่ใช่โรงแรมหรูอะไรสักหน่อย!) และรถคันที่ว่าก็เป็นรถกลางๆ ที่ซื้อมาในราคาไม่กี่หมื่นเหรียญฯ เท่านั้น

“หลังจากนัดเตะระหว่างเกาหลีใต้กับอิตาลี มีสื่อญี่ปุ่นถามผมว่าเป็นความจริงไหมที่ผมมีเงินถุงเงินถังมากพอจะเช่าโรงแรมหรูอยู่ในไมอามี แถมถอยเชฟโรเลตคันใหม่ ซึ่งสำหรับผม การรับสินบนนี่เป็นเรื่องที่รับไม่ได้อย่างที่สุดแล้วในฐานะกรรมการ แต่เรื่องของเรื่องคือผมบินไปพักผ่อนที่ไมอามีและพักอยู่กับน้องสาว ออกรถใหม่ในราคาสองหมื่นเหรียญฯ ซึ่งก็เป็นเงินที่ผมได้จากฟีฟ่านั่นแหละ!

“ถ้าคิดว่าผมตุกติกจริงก็เอาหลักฐานมากางให้ดูสิ” เขาบอกอย่างเหลืออด “ตั้งแต่ผมทำอาชีพนี้นี่ไม่เคยเจอใครมากล่าวหาผมแบบนี้มาก่อนเหมือนกัน ไม่ว่าจะในเอกวาดอร์หรือในประเทศอื่นๆ ก็ตาม และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะไม่มีใครมาพูดอะไรแบบนี้ใส่ผมนะ ไม่งั้นได้เห็นดีกันแน่”

มูเรโนระหว่างนัดเกาหลีใต้-อิตาลี (ภาพจาก Il Nobile Calcio)

หากแต่ความกราดเกรี้ยวของแฟนบอลอิตาลีก็ไม่มีท่าทีจะลดลง ชื่อของมูเรโนกลายเป็นคำหยาบที่แค่ได้ยินผ่านๆ ก็ชวนหัวหูร้อน ตัวมูเรโนแสดงความเห็นเรื่องนี้อย่างอ่อนใจว่า “ผมว่าปัญหาหลักๆ คือคนอิตาลีไม่รู้จักยอมรับความพ่ายแพ้น่ะ พอมีอะไรไม่เป็นดั่งใจพวกเขาก็โทษกรรมการทุกทีไป” เขาบอก “ผมเห็นหนังสือพิมพ์ทั้งในสเปน ฝรั่งเศส อังกฤษ อเมริกาใต้และเอเชีย ต่างก็ชื่นชมการทำหน้าที่กรรมการของผมนะ มีก็แต่อิตาลีเนี่ยที่หวังอยากกลบเกลื่อนความล้มเหลวของตัวเอง” (แน่นอนว่าเมื่อบทสัมภาษณ์นี้ได้รับการตีพิมพ์ก็กลายเป็นการสุมไฟให้เหล่าแฟนบอลอัซซูร์รีเข้าไปอีก)

ในทางกลับกัน แดเนียล มานูเซีย บรรณาธิการนิตยสาร Vice เขียนถึงผลการตัดสินนัดนั้นของมูเรโนว่าแม้จะก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์สนั่นเมืองแค่ไหน แต่เขาก็ไม่คิดว่ามัน ‘เลวร้าย’ มากมายขนาดนั้น “อาจจะมีจังหวะที่เขายัดใบแดงให้ต็อตตินั่นแหละที่ถือได้ว่าเป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่ แต่นั่นก็ดูไม่ใช่เรื่องที่เขาตั้งใจหรือเจตนาล่วงหน้าไว้ก่อนแล้วว่าจะทำ ดูเหมือนเขาแค่พยายามทำให้เรื่องในเขตโทษมันออกมาถูกต้องอย่างที่สุดมากกว่า”

มูเรโนจึงเป็นกรรมการที่ไม่มีมลทินมัวหมอง มิหนำซ้ำยังกลายเป็นคนดังเบอร์ย่อมๆ ของเอกวาดอร์ไปแล้ว เขามองหาตำแหน่งแห่งที่ทางการเมืองด้วยการลงเลือกตั้งในเมืองกีโต เมืองหลวงของเอกวาดอร์ พร้อมแคมเปญหาเสียงแสนจะฉูดฉาดว่า “พร้อมมอบใบแดงให้แก่ทุกการคอร์รัปชันและทุจริต”

และขณะที่ทุกอย่างกำลังดูจะไปได้สวย มูเรโนหวนกลับมาเป็นกรรมการฟุตบอลให้แมตช์ในบ้านเกิด ระหว่างทีมลีกา เดอ กีโต (อันเป็นทีมลูกหม้อของเมืองกีโตที่เขากำลังง่วนหาเสียง) กับบาร์เซโลนา สปอร์ตติง คลับ กับการตัดสินอันแสนจะชวนกังขา (อีกแล้ว) เมื่อเขาอนุญาตให้ทดเวลาบาดเจ็บอีก 13 นาทีและเปิดโอกาสให้นักเตะทีมกีโตทำแต้มเอาชนะไปที่ 4-3 ซึ่งทำให้เขาถูกพิจารณาอย่างเข้มงวดว่าเปิดช่องให้ทีมกีโตได้ชนะเพื่อยังผลประโยชน์ให้แก่การหาเสียงของตัวเอง

เรื่องนี้ยังผลให้เขาถูกแบนไม่ให้ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการนานร่วมยี่สิบนัด ก่อนที่ในปี 2003 สหพันธ์ฟุตบอลเอกวาดอร์จะลงดาบเขาด้วยการถอนเขาออกจากการเป็นกรรมการฟุตบอลถาวร ชื่อเสียงของมูเรโนเลยได้มัวหมองของจริงทั้งในอิตาลีและในเอกวาดอร์ แต่เรื่องน่าขันขื่นคือ อิตาลีมองเห็นลู่ทางในการทำเงินจากความแค้นเคืองของผู้คนในบ้านเกิดที่ยัง ‘กำหมัด’ ใส่มูเรโนไม่หาย RAI สถานีโทรทัศน์ในอิตาลีที่ยังเคืองฟีฟ่า เพราะหลังจากอิตาลีตกรอบ (ซึ่งพวกเขายืนกรานว่า ‘เป็นการตกรอบที่เร็วกว่าที่ควรเป็นไปมาก’) ทั้งฟีฟ่ายังไม่จัดการข้อพิพาทใดๆ ให้ชัดเจน สถานีก็สูญเสียรายได้มหาศาลจากการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก และเพื่อการนั้น พวกเขาจึงเชิญมูเรโนมายังอิตาลี เข้าร่วมรายการเกมโชว์ในฐานะตัวตลกที่ถูกคนในห้องส่งสบถใส่ไปจนถึงเอาถังน้ำคว่ำใส่หัว รวมทั้งไปปรากฏตัวตามเทศกาลต่างๆ และยอมให้ผู้คนปาไข่ใส่เขาเพื่อแลกเงินก้อน

มูเรโนขณะถ่ายทำรายการเกมโชว์ Stupido Hotel ของอิตาลี (ภาพจาก Il Nobile Calcio)

แต่นั่นยังไม่ใช่จุดต่ำที่สุดในชีวิตของมูเรโน เพราะหลังจากนั้นเขาเลือกใช้ชีวิตด้วยการเป็นนักพากย์ฟุตบอลตามรายการโทรทัศน์และวิทยุในบ้านเกิด และหวนกลับมาอีกครั้งอย่างชวนช็อกในปี 2010 เมื่อมีข่าวว่าเขาปรากฏตัวในสนามบินจอห์น เอฟ เคนเนดีในนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา พร้อมถุงเฮโรอีนหกกิโลกรัมในกางเกงชั้นใน ยังผลให้เขาถูกส่งตัวเข้าเรือนจำ และพ้นโทษมาอีกทีในเดือนธันวาคมปี 2012

มูเรโนปรากฏตัวในหน้าสื่ออีกครั้งทางหนังสือพิมพ์ลา กัซเซตตา เดลโลในเดือนเมษายนที่ผ่านมา อันเป็นวาระครบรอบสองทศวรรษนัดเตะอื้อฉาวที่ทำให้เขาถูกชาวอิตาลีสาปส่ง ทั้งยังเป็นเสมือนหมุดหมายที่ส่งชีวิตเขาดิ่งลงเหวนับจากนั้นอีกหลายต่อหลายปี

“นับตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ ผมยังได้รับข้อความประณามด่าทอจากแฟนบอลอิตาลีทางโซเชียลมีเดียอยู่เนืองๆ” เขาบอก “และในฐานะกรรมการ โดยเฉพาะช่วงก่อนหน้าที่เราจะมี VAR (video assistant referee คือระบบการตัดสินโดยใช้ฟุตเตจจากวิดีโอเพื่อช่วยให้กรรมการตัดสินใจ) เรามีเวลาคิดและตัดสินแค่เสี้ยววินาทีเดียวเท่านั้น ซึ่งผมไม่ได้กังวลอะไร ผมรู้ดีว่าผลการตัดสินของตัวเองมันต้องส่งผลต่างๆ ต่อการแข่งขันแต่ละนัดอยู่แล้ว

“ยกตัวอย่างก็ได้ ใบแดงที่ต็อตติได้ไปนั้นเป็นการตัดสินที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนาหูที่สุด แต่ถ้าคุณกลับไปดูวิดีโอก็จะพบว่านักเตะเกาหลีใต้ได้ครองบอลก่อน ส่วนนักเตะอิตาลีสะดุดล้ม ซึ่งตามกฎนั้นก็ระบุว่าถ้าคุณพุ่งล้ม คุณก็ต้องโดนใบเหลืองและเป็นเหตุให้เขาได้ใบแดงไปในท้ายที่สุด ก็กฎมันระบุไว้แบบนั้น และผมก็เคารพกฎอย่างมากด้วย ภาพที่เห็นในเขตโทษตอนนั้นก็ชัดแจ้ง ตัวต็อตติเองไม่ได้ประท้วงอะไร แต่คนที่ประท้วงน่ะคือวีเอรีกับอันเจโล ดิ ลิวิโอ ต่างหาก มันก็ชัดอยู่แล้วว่าถ้านักเตะโดนลงโทษแล้วไม่ได้ต่อต้านอะไร ก็แปลว่าเขายอมรับแล้วว่าเขาเป็นคนผิด และนั่นแหละคือสิ่งที่ต็อตติคิดตอนเขาเห็นใบแดง”

การมอบใบแดงให้ต็อตติไม่ใช่สิ่งที่คาใจมูเรโนก็จริง หากแต่มีสิ่งหนึ่งจากการแข่งขันนั้นที่ยังรบกวนจิตใจเขาเสมอเมื่อหวนนึกถึง “ฮวัง ซุนฮง พุ่งเข้าเสียบ จันลูกา ซัมบรอตตา ในนาทีที่ 72 และทำให้ซัมบรอตตาต้องออกจากเกมเลย (ดิ ลิวิโอเข้ามาแทน) นั่นแหละเป็นเรื่องเดียวที่ผมเสียใจ หากย้อนกลับไปได้ ผมจะมอบใบแดงให้แก่นักเตะเกาหลีใต้คนนั้น”

“ผมเป็นแค่มนุษย์คนหนึ่ง ผมตัดสินใจพลาดไปก็จริง แต่ผมอยากให้คุณรู้ไว้อย่างหนึ่งว่าผมไม่ได้ลำเอียงหรือเข้าข้างทีมใดทีมหนึ่งโดยเฉพาะเลยแม้แต่นิดเดียว” อย่างไรก็ตาม มูเรโนยังมองว่านัดเตะเมื่อยี่สิบปีก่อนนั้นเป็นหนึ่งในสามแมตช์ที่เขาทำผลงานได้ดีที่สุดในฐานะกรรมการ “ผมให้คะแนนตัวเองในนัดนั้นสัก 8.5 เต็ม 10 แล้วกันนะ” เขาปิดท้าย

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save